แกนนำกวป. : หมิ่นประมาทตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

นายพงษ์พิสิษฐ์ พงษ์เสนา

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2556

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

สารบัญ

กลุ่มวิทยุประชาชนประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประท้วงการทำงานของตุลาการ แกนนำขึ้นปราศรัยพาดพิงตุลาการ ต่อมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีแกนนำกลุ่มฐานหมิ่นประมาท

ภูมิหลังผู้ต้องหา

กลุ่มวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. เป็นการรวมตัวของกลุ่มสื่อวิทยุชุมชนเสื้อแดง เพื่อโดยมาชุมนุมประท้วงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2556 เนื่องจากไม่พอใจการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ ที่กวป.เห็นว่าก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายบริหาร และรวมทั้งการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนมีที่มาไม่ชอบธรรม 
 
กวป. มีผู้นำหรือผู้มีบทบาทในการชุมนุมดังนี้
 
นายพงษ์พิสิษฐ์ พงษ์เสนา หรือ  เล็ก บ้านดอน ประธานกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) เป็นหนึ่งในองคาพยพเสื้อแดงที่เป็นแกนนำในการชุมนุมหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 
 
นายธนชัย สีหิน หรือ ดีเจ.หนุ่มวีคลอง11 ผู้ดำเนินรายการวิทยุชุมชนเอฟเอ็ม 107.4 เมกกะเฮิร์ตตัวแทนกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
 
นายมาลัยรักษ์ ทองชัย หรือศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษกกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  เป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชนในจ.ปทุมธานี 
 
นายมงคล หนองบัวลำภู
 
นายชาญ ไชยะ หรือ หนุ่ม โคราช ประธานกลุ่มผู้กล้าประชาธิปไตยและผอ.สถานีวิทยุ FM 90.25  รองประธานกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.)
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ศาลรธน.แจ้งความ 4 แกนนำเสื้อแดง ชุมนุมหน้าศาลฐานร่วมกันดูหมิ่นตุลาการ, เว็บไซต์ข่าวสด, 26 เมษายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

เพี้ยนไปแล้ว! เสื้อแดงแจ้งจับ “จรัญ” หมิ่นเบื้องสูง, เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์, 20 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

ม็อบประท้วง 9 ตุลาการ, เว็บไซต์ข่าวสด, 23 เมษายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

ม็อบวิทยุเสื้อแดง ยื่นถอดถอน 5 ตลก.รธน. พ่วง ม.157 ยุติชุมนุมแน่คืนนี้, เว็บไซต์ไทยรัฐ, 8 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

วิทยุเสื้อแดง วางพวงหรีด ประท้วง 9 ตุลาการศาลรธน., เว็บไซต์ไทยรัฐ, 29 เมษายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

"แดง" ล่ารายชื่อถอดตุลาการศาลรธน., เว็บไซต์เดลินิวส์, 2 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

ไม่จบ! ม็อบสื่อฯวิทยุเสื้อแดงร้องศาลรธน. อ้างตลก.รับฟ้องแก้รธน. ชี้ขัดกม., เว็บไซต์ไทยรัฐ, 9 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

ศาลรธน.รับคำร้องแก้รายมาตราขัดม.68, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, 1 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

กวป.จี้ศาลยกคำร้องแก้รธน.มาตรา68, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, 29 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

"กวป." ยื่นหนังสือร้องวินัย 3 ตุลาการฯ, เว็บไซต์เดลินิวส์, 14 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

โฆษก กวป.ฟ้อง"จรัญ"ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ-หมิ่นสถาบัน, เว็บไซต์มติชน, 29 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2556)

กวป.บุกบ้านตุลาการศาล รธน.จี้ไขก๊อก, เว็บไซต์มติชน, 31 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 3 มิภุนายน 2556)

สำนักงานศาล รธน.แจ้งความเอาผิดกับ 3 แกนนำ กวป., เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ, 10 พฤษภาคม 2556 (3 มิถุนายน 2556)

กวป.แจ้งความกลับตลก.ศาลรัฐธรรมนูญ, เว็บไซต์เดลินิวส์, 13 พฤษภาคม 2556 (3 มิถุนายน 2556)

กวป.แจ้งความกลับศาล รธน.ฐานแจ้งความเท็จ ยันไม่มีประกาศให้จับตัวตุลาการ, เว็บไซต์มติชน, 27 เมษายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2556)

กวป.แจ้งจับ"3ตุลาการรธน.", เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, 9 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2556)

กวป.บุกบ้าน "จรัญ"จี้ยุติบทบาทตุลาการ, เว็บไซต์เดลินิวส์, 31 พฤษภาคม 2556 (3 มิถุนายน 2556)

ม็อบ กวป.จี้รัฐบาลตัดงบศาล รธน.พร้อมตั้งกรรมการสอบทำผิดอาญา, เว็บไซต์มติชน, 3 มิถุนายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2556)

"แดง" ล่ารายชื่อถอดตุลาการศาลรธน., เว็บไซต์เดลินิวส์, 2 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2556)

กวป.ยุติการชุมนุม แต่ยังเดินหน้าติดตามถอดถอนตุลาการศาล รธน., เว็บไซต์ MCOT, 8 พฤษภาคม 2556 (6 มิถุนายน 2556)

แดง กวป.ยื่นหนังสือจี้ 'ประยุทธ' จี้ ทบ.ยืนยันไม่ปฏิวัติ, เว็บไซต์ไทยรัฐ, 13 มิถุนายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 14 มิถุนายน 2556)

"เพื่อไทย" ลุ้นระทึก ! 29 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญ นัดถกคำร้อง มาตรา 68, เว็บไซต์มติชน, 23 พฤษภาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 14 มิถุนายน 2556)

กวป. เรียกร้อง ปธ.รัฐสภาเปิดประชุมด่วน เพื่อยกเลิก รธน.ม.309 จี้ ผบ.ทบ.อย่าปฏิวัติ, เว็บไซต์ประชาไท, 13 มิถุนายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 14 มิถุนายน 2556)

มติ 3 ต่อ 2 ศาลรธน.รับคำร้อง ‘สมชาย แสวงการ’ ระงับแก้ รธน. แต่ไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราว, เว็บไซต์ประชาไท, 3 เมษายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 14 มิถุนายน 2556)

ศาล รธน.มีมติรับคำร้อง ส.ว.ระงับแก้ไข รธน.มาตรา 68, เว็บไซต์วอยซ์ทีวี, 3 เมษายน 2556 (เข้าถึงเมื่อ 14 มิถุนายน 2556)

 

3 เมษายน 2556  
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า "นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับคณะ(ส.ว.และส.ส. 311 คน) กระทำการที่ส่อไปในทางกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือไม่" จากการที่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 311 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่(แห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. …) ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นร่างฯ ที่แก้ไขมาตรา 68 ให้ยกเลิกสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนโดยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงออกไป เหลือเพียงแต่ให้ผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น และให้สิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไปนอกเหนือจากนี้ 
 
โดยคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ระบุขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา 3 แนวทาง คือ
 
1.ให้ยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237
 
2.เสนอให้ยุบพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าว คือ พรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล เพราะถือได้ประโยชน์จากมาตรา 237 ด้วย 
 
3.ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะพิจารณาเสร็จสิ้น
 
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ว่าคำร้องนี้มีมูล โดยที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามมาตรา 68 วรรค 2 กรณีนี้จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 17 (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิฉัย
 
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากยังไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าว  พร้อมให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องจำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง และผู้ถูกร้องต้องชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้ง หากไม่ยื่นภายในเวลากำหนดถือว่าไม่ติดใจ
 
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 204 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ  1  คน  และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน  รวมเป็น  9  คน  และตาม มาตรา 216 ได้กำหนดองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทําคําวินิจฉัยคดีใด  จะต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน
 
 
 
22 เมษายน 2556 
เวลา 12.00 น. กลุ่มคนเสื้อแดงในนามกลุ่มผู้กล้าประชาธิปไตย ประมาณ 200 คน นำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน ผอ.สถานีวิทยุคนไทยหัวใจเดียวกัน มาชุมนุมที่บริเวณเกาะกลางถนนใต้สะพานข้ามแยก อาคารศาลรัฐธรรมนูญ หน้าศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จึงมีที่มาไม่ถูกต้อง แต่กลับใช้อำนาจก้าวก่ายฝ่ายบริหารและกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารประเทศ ขัดขวางไม่ให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาได้และสร้างความแตกแยกในสังคม โดยทางผู้ชุมนุมประกาศว่าจะชุมนุมที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยเป็นเวลา 3 วัน โดยมีการปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงด้วย
 
 
 
26 เมษายน 2556  
เวลา 12.30 น. นายภัทรพงษ์พันธ์ ศรีสะอาด เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 4 รับมอบอำนาจจากนายปัญญา อุดชาชน รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เข้าพบ พ.ต.อ.ปิยะ เจริญสุข ผู้กำกับ 1 กองบังคับการปราบปรามเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นายพงษ์พิสิษฐ์ พงษ์เสนา  นายธนชัย สีหิน  นายมงคล หนองบัวลำภู และนายมาลัยรักษ์ ทองชัย (ศรรักษ์ มาลัยทอง) ในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และมาตรา 198 โดยใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวพาดพิงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและมีพฤติการณ์ยั่วยุ ปลุกระดมมวลชนให้เกิดการกระด้างกระเดื่องและเข้าข่ายหมิ่นประมาทศาลรัฐธรรมนูญ  พร้อมยื่นแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงคำปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มกวป. หน้าศาลรัฐธรรมนูญ ให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาดำเนินคดี 
 
 
27 เมษายน 2556  
มวลชนกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ประมาณ 200 คน เดินทางไปยังกองปราบปราม (บก.ป.) เพื่อแจ้งความกลับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในข้อหาแจ้งความเท็จ หลังจากเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เดินทางไปแจ้งความกับบก.ป. เพื่อดำเนินคดีกับ 4 แกนนำ กวป. ในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136  และมาตรา 198 
 
 
 
1 พฤษภาคม 2556 
 
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 3 รับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 68 ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับส.ส.และส.ว.รวม 312 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่ หลังจากที่ได้เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำร้องต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 และเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ตัดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนที่ทราบการกระทำในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียงสิทธิยื่นเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
 
 
2 พฤษภาคม 2556 
การชุมนุมของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ยังปักหลักชุมนุมต่อเป็นวันที่ 11 เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที่ เนื่องจากมีตำแหน่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีท่าทีนิ่งเฉย แกนนำกลุ่มกวป.แถลงว่า จะมีการยกระดับการชุมนุม และได้แถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีความนิ่งเฉย จึงประกาศยกระดับการชุมนุม  และประกาศล่ารายชื่อให้ได้หนึ่งแสนรายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ภายในสัปดาห์หน้า
 
 
8 พฤษภาคม 2556  
กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ยังปักหลักชุมนุมกันอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 17 แล้ว โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ทยอยเดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ กว่า 1,000 คนและ ร่วมเคลื่อนขบวนไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ได้ไม่น้อยกว่า 20,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการขาดจริยธรรม เนื่องจากเป็นตุลาการเสียงข้างมากที่รับคำร้องกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ของพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา    
         
เวลา 09.30 น. กวป.และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนออกจากบริเวณหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปยังรัฐสภา โดยใช้เส้นทางถนนแจ้งวัฒนะ ออกไปยังถนนวิภาวดี ห้าแยกลาดพร้าว เลี้ยวเข้าถนนพหลโยธิน และมุ่งหน้าไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นถนนราชวิถี และเลี้ยวเข้าถนนอู่ทองใน 
 
หลังจากยื่นหนังสือถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมก็ทยอยกลับมารวมตัวที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง จนเมื่อเวลา 17.00 น. แกนนำกวป.ก็ประกาศยุติการชุมนุม แต่ยังเดินหน้าถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยจะรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้หนึ่งล้านชื่อเพื่อยื่นถอดถอน และจะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีอาญากับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ
 
 
9 พฤษภาคม 2556
แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) พร้อมด้วยทนายความเดินทางมายื่นหนังสือต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คน ยกเว้นนายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ พิจารณาว่า การรับคำร้องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากทั้ง 3 คน กรณีมีมติรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ กระทำการผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบกฎหมายอาญา มาตรา 113 และมาตรา 157 ในข้อหากระทำการไม่เป็นไปตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 ระบุให้บุคคลหรือพรรคการเมืองที่ทราบการกระทำ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ใช่เป็นกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมือง จึงสามารถยื่นคำร้องได้
ดังนั้นการที่ตุลาการ 3 คน รับคำร้อง ถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและละเมิด มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญว่าเรื่องอำนาจบริหาร ตุลาการและนิติบัญญัติ กลุ่มกวป.จึงเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 6 คน เร่งพิจารณาว่าการกระทำของตุลาการทั้ง 3 คน กระทำการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งหากเร่งพิจารณาก็จะทำให้กระบวนการของฝ่ายบริหารสามารถดำเนินหน้าต่อไปได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่ค้างการพิจารณาในวาระ 3 เหมือนที่ผ่านมา
 
ต่อมา นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) พร้อมกลุ่มแกนนำ และทนายความ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อให้ดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามคน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล  นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ในข้อหากบฏล้มล้างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 113 และ83 และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 
 
ทั้งนี้ แกนนำ กวป.ยังระบุว่า จะมีการทำสำเนาคำร้องแจกให้เครือข่ายกวป.ทั่วประเทศ เพื่อนำเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ 
 
 
10 พฤษภาคม 2556  
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวถึงสื่อมวลชน ระบุว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งความ กล่าวโทษนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน นายมาลัยรักษ์ ทองชัย หรือ ศรรักษ์ มาลัยทอง และนายชาญ ไชยะ แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. ต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน  ขอให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 173 ประกอบมาตรา 83 และ 83 หลังจากที่แกนนำทั้งสามคน ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อให้ดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามคน ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ ในข้อหากบฏล้มล้างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 113 และ 83 และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
 
 
13 พฤษภาคม 2556  
นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา (เล็ก บ้านดอน) ประธานกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) นายมาลัยรักษ์ ทองชัย (ศรรักษ์ มาลัยทอง) โฆษกกลุ่มกวป. นายชาญ ไชยยะ รองประธานกลุ่มกวป. พร้อมนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ทนายความ เดินทางมาที่สน.ทุ่งสองห้อง และเข้าแจ้งความกับ ร.ต.ท.อนุชิต ชาติชูเหลี่ยม พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ  อินทจาร นายสุพจน์ ไข่มุกต์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในข้อหา แจ้งความเท็จ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เจ้าหน้าที่ สำนักงานศาลฯ เดินทางมาแจ้งความกับกลุ่มกวป. ในข้อหาแจ้งความเท็จ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
 
 
14 พฤษภาคม 2556  
นายมาลัยรักษ์ ทองชัย โฆษกกวป. พร้อมนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ทนายความ เดินทางมาที่สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นคำร้องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องวินัยกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกระทำการขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมพ.ศ. 2543 ในมาตรา 57 ข้าราชการตุลาการต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหายแก่ราชการ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม  ข้าราชการตุลาการต้องไม่รายงานเท็จต่อข้าราชการตุลาการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเหนือตนขึ้นไป การรายงานโดยปกปิดข้อความที่ควรต้องบอกถือว่าเป็นการรายงานเท็จด้วย  และมาตรา 60 กำหนดว่าข้าราชการตุลาการต้องรักษาชื่อเสียงมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว  มาตรา 62 ข้าราชการตุลาการต้องถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการ และจริยธรรมของข้าราชการตุลาการตามที่ ก.ต. กำหนด แต่ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายวินัยได้แจ้งมาว่า อำนาจในการพิจารณาโทษวินัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ก.ต.เพราะเป็นคนละส่วนกัน
 
 
20 พฤษภาคม 2556  
นายชาญ ไชยะ รองประธานกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) นายมาลัยรักษ์ ทองชัย (ศรรักษ์ มาลัยทอง) โฆษก กวป. และนายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีกับ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ว่า ตนเองไม่มีมวลชน ไม่มีทหารเป็นกองกำลัง มีเพียงปากกา และจำเป็นต้องทำงานเพื่อรักษาสังคม ซึ่งเข้าข่ายเป็นการอ้างว่าสามารถดำเนินการในหน้าที่ตามพระปรมาภิไธย ลักษณะเหมือนเป็นการข่มขู่ประชาชน และต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด
 
 
23 พฤษภาคม 2556  
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องของแกนนำกลุ่มกวป. ที่ขอให้วินิจฉัยว่าตุลาการทั้งสามคน ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างมากที่มีมติให้รับคำร้องของนายสมชาย โดยกล่าวหาว่าการรับคำร้องดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มีผลการพิจารณาว่าคำร้องของกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่มีมูล จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
 
 
29 พฤษภาคม 2556  
กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ได้นำมวลชนมาปักหลักบริเวณลานหน้าเสาธงหน้าที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อติดตามผลการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 68  ที่ระบุว่า ประธานรัฐสภา และคณะ ส.ส. และส.ว. 312 คน ใช้อำนาจหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  
 
ต่อมาเวลา  11.00 น. นายมาลัยรักษ์ ทองชัย  โฆษก กวป.พร้อมแกนนำกลุ่ม ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญการยกคำร้องทั้งหมดที่ให้ตีความเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ทุกกรณี  มิเช่นนั้นจะดำเนินการให้ประชาชนทั่วประเทศแจ้งความจับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะในข้อหาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีนายพงพิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน มาร่วมด้วย เนื่องจากนายพงษ์พิสิษฐ์ลาออกจากการเป็นประธาน กวป.แล้ว
 
จากนั้น นายมาลัยรักษ์ เดินทางไปศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อเป็นโจทก์ฟ้องนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นจำเลยฐานดูหมิ่นสถาบันและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 
 
โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 จำเลยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ศาลทำอะไรไม่ได้ แต่อย่าให้พูดถึงหัวใจของศาลเลย เดี๋ยวจะเป็นเกม ถ้าประเทศนี้ไม่ต้องการไปทำอะไร เพราะศาลไม่มีกองกำลัง ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีสื่อ นอกจากปากกา จำเลยย่อมทราบว่า คำว่าปากกาของจำเลยที่ปฏิบัติหน้าที่ตุลาการศาลนั้น กระทำในนามพระปรมาภิไธย ปากกาของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ปากกาธรรมดาของจำเลย ดังนั้น จำเลยมิควรนำพระปรมาภิไธยมากล่าวในเชิงล้อเล่น แม้จะมีเจตนาให้มวลชนเห็นใจจำเลยและศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่มีอำนาจอันใดที่จะไปต่อกรกับคนเสื้อแดง ที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นคนละเรื่องกับการกดดันจากการชุมนุม และคำว่า นอกจากปากกา มีเจตนาดูหมิ่นพระราชอำนาจ การให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของจำเลยและจำเลยไม่มีอำนาจแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนได้ การให้สัมภาษณ์ไม่เหมาะสมและไม่สมควร จึงเป็นการกระทำผิด ถือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และยังฝ่าฝืนประเพณีปฏิบัติของราชการ คำฟ้องโจทก์ยังกล่าวอ้างถึงการกระทำของนายจรัญ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ใช้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปกล่าวโทษต่อตำรวจ สน.ทุ่งสองห้องให้ดำเนินคดีกับคนเสื้อแดงฐานแจ้งความเท็จ ทั้งที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวของจำเลย ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสียหาย การใช้ศาลรัฐธรรมนูญไปกล่าวโทษดังกล่าว ยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกด้วย ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างการกระทำของนายจรัญอีกหลายครั้งว่า มีการกระทำดูหมิ่นสถาบัน ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามกฎหมาย 
 
ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาและนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อไป
 
 
31 พฤษภาคม 2556  
เมื่อเวลา 14.00 น.นายมาลัยรักษ์ ทองชัย โฆษกกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) นำกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 100 คน เดินทางมายังบ้านพักของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่เขตวัฒนา เพื่อยื่นหนังสือให้นายจรัญยุติการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ เนื่องจากนายจรัญเคยวินิจฉัยผิดพลาดหลายคดี ทำให้ประชาชนและประเทศเสียหาย และองค์กรศาลรัฐธรรมนูญก็หมดความน่าเชื่อถือ โดยนายมาลัยรักษ์มอบหนังสือดังกล่าวให้กับ พ.ต.ท.กิติพัทธ์ เที่ยงน้อย รอง ผกก.สส.สน.คลองตัน เป็นตัวแทนเพื่อนำส่งให้นายจรัญต่อไป 
 
 
3 มิถุนายน 2556  
เมื่อเวลา 12.00 น. กลุ่มมวลชน กวป.จำนวนหนึ่ง นำโดยนายมาลัยรักษ์ ทองชัย ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล และส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลตัดลดงบประมาณศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก 6 ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้งบประมาณมากเกินความจำเป็น และเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำความผิดข้อหากบฏ ล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.113 ซึ่งขณะนี้ กวป.กำลังรวบรวมรายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอ โดยนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือแทน จากนั้นกลุ่ม กวป.ได้เดินทางกลับมายังหน้าศาลรัฐธรรมนูญ สถานที่ชุมนุม
 
 
6 มิถุนายน 2556 
กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ประกาศยกระดับการชุมนุมด้วยการเคลื่อนขบวนแรลลี่ รอบศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออก จากนั้นเคลื่อนขบวนต่อไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ นำโดยนายมาลัยรักษ์ ทองชัย เพื่อยื่นหนังสือถึง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เรียกร้องให้พลเอกเปรมให้คำแนะนำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาออกจากตำแหน่งเพื่อยุติความขัดแย้งที่สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยพ.ต.อ.ชูศักดิ์ เตชะรักษ์พงษ์ รองผู้บังคับการนครบาล 2 เป็นผู้รับหนังสือแทน 
 
 
13 มิถุนายน 2556  
ขณะที่มีการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องต่างๆ นายมาลัยรักษ์ ทองชัย โฆษกกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) นำประชาชนกว่า 150 คน ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อขับไล่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน โดยการนำผ้าดำคลุมป้ายสำนักงานศาลรัฐธรรมและใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นข้อความ "ศาลรัฐธรรมนูญของประชาชน" พร้อมทั้งตะโกนให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกไป โดยนายมาลัยรักษ์กล่าวว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนแล้ว
 
ต่อมา กลุ่มผู้ชุมนุม กวป. จำนวน 50 คน นำโดยนายมาลัยรักษ์ ทองชัย เดินทางไปรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขอให้เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 โดยกลุ่ม กวป.ให้เหตุผลว่า มาตรา 309 เป็นการคุ้มครองคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหาร ตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ ให้ได้รับประโยชน์มาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรานี้แต่ แต่กลับก่อให้เกิดมิหนำซ้ามาตรานี้ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงลิดรอนอำนาจของประชาชน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นกลุ่ม กวป.จึงมีมติเสนอความเห็นต่อรัฐสภาให้ยกเลิกมาตรา 309 ก่อนมาตราใดๆ เพื่อให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าทำตามนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน โดยขอให้พิจารณาในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญด่วน เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไป  ในการนี้นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนรับหนังสือ
 
ในวันเดียวกัน เวลา 14.45 น. กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) เคลื่อนขบวนจากหน้ารัฐสภามายังบริเวณหน้ากองทัพบก เพื่อยื่นหนังสือเรื่องขอคำยืนยันในการรักษาประชาธิปไตยจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า กวป.และคนไทยหวาดระแวงข่าวสารจากสื่อมวลชนหลายแขนง เช่น ข่าวการปฏิวัติยึดอำนาจ และการใช้องค์กรอิสระในการแทรกแซงการบริหารงานของรัฐบาลและการตัดสินคดีความต่างๆ กวป.จึงต้องการขอคำยืนยันจากกองทัพบกว่าจะอยู่เคียงข้างประชาชน ขอให้กองทัพบกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อความมั่นใจของประชาชนทั้งประเทศ 
 
ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มารับหนังสือด้วยตนเอง แต่มี ร.อ.เสกสรรค์ กาศยปนันท์ นายทหารเวรรับหนังสือแทน
 
ในเวลาเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว ภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรับธรรมนูญในวันนี้ ระบุว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 รับคำร้องที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพวกรวม 6 คน และคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ของสมาชิกรัฐสภา และให้ยุบพรรคการเมือง 6 พรรค ที่ร่วมเข้าชื่อเสนอแก้ไขไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 2 คำร้อง ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง แต่ไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าว และมีคำสั่งให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 312 ชุดเพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง และให้ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวถือว่าไม่ติดใจ
 
 
14 มิถุนายน 2556  
นายมาลัยรักษ์ ทองชัย โฆษกของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) พร้อมทีมทนายความ เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปราม แจ้งความดำเนินคดีกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามมาตรา 112 และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยนำเอกสารคำร้องทุกข์กล่าวโทษมอบไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาดำเนินคดี หลังเมื่อวานนี้ คณะตุลาการทั้ง 9 คน ได้ร่วมกันมีมติรับคำร้อง ระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพวก 6 คน รวมทั้งคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์  โดยไม่เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งในคดีกบฏ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักปฏิบัติ ขั้นตอนให้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดก่อน ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เท่ากับเป็นการใช้อำนาจล้มล้างระบบปกครองระบอบประชาธิปไตย  ขณะที่พนักงานสอบสวนรับเรื่องไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา