อัศวิน นักธุรกิจ

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

อัศวิน

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

นางสกาวเดือน จริยากรกุล ผู้อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของโครงการเอราวัณ รีสอร์ท เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานและเข้าแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ (แต่ไม่ได้เป็นประจักษ์พยานในคดี) ในคดีนี้นายอัศวิน กล่าวอ้างว่า ตนกับนางสกาวเดือน มีความขัดแย้งกันมาก่อนในทางธุรกิจหลายประเด็น และมีการฟ้องร้องกันในศาลต่างๆ หลายคดี เช่น คดีบุกรุก คดีทำให้เสียทรัพย์ คดีฉ้อโกง

สารบัญ

อัศวินถูกคู่ค้าทางธุรกิจกล่าวหาดำเนินคดีตามมาตรา 112 สามกรรม กรรมแรกเป็นการดูหมิ่นสมเด็จพระบรมฯ กรรมที่สองและสามเป็นการแอบอ้างบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อติดต่อขอซื้อที่ดิน จำเลยปฏิเสธตลอดเชื่อว่าถูกใส่ร้าย

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายอัศวิน เป็นนักธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

นายอัศวิน ถูกกล่าวหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งหมดสามกรรม ดังนี้
 
กรรมที่หนึ่ง ช่วงเวลาระหว่างปี 2543 ถึงปี 2546 วันเวลาใดไม่ปรากฏ นายอัศวินกล่าววาจาดูหมิ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร โดยมีนางสกาวเดือนเป็นคนได้ยิน
 
กรรมที่สอง เดือนกันยายน ปี 2546 นายอัศวิน กล่าวถ้อยคำต่อนางกัลยา ตันมณีวัฒนา เป็นทำนองแอบอ้างว่าตนเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยร่วมเลยแบดมันตันด้วยกัน และตั้งใจจะพัฒนาพื้นที่บริเวณสระน้ำ ในโครงการเอราวัณ รีสอร์ท ให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น
 
กรรมที่สาม เดือนตุลาคม ปี 2546 นายอัศวิน กล่าวถ้อยคำต่อ นางอัญชลี นิลเดช ผู้ดูแลบ้านพักในโครงการเอราวัณ รีสอร์ท เป็นทำนองแอบอ้างว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยบอกว่าที่ดินในโครงการเอราวัณ รีสอร์ทนั้นสวยงามเหมาะทำเป็นที่พัก ตนจึงซื้อและปรับปรุงให้สวยงาม แล้วถามนางอัญชลีว่า จะถวายบ้านพักดังกล่าวให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่  อันเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น
 
จำเลยปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

พฤติการณ์การจับกุม

15 ธันวาคม 2549 นายอัศวินเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และได้รับการประกันตัว

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1271/2553

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

หลังจากถูกฟ้องในคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 นายอัศวิน ยื่นฟ้องพ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ วงศ์อุทัย นายวรา สุขแสน พนักงานอัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญากระทำการโดยมิชอบเพื่อให้บุคคลอื่นต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 200 วรรคสอง จากการที่สอบสวนและสั่งฟ้องนายอัศวินตามมาตรา 112 เป็นคดีนี้
 
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 ศาลพิพากษาว่า ข้อหาตามมาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้ แม้ไม่มีคำร้องทุกข์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 และพนักงานย่อมมีอิสระในการใช้ดุลพินิจสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143 จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ให้ยกฟ้องโจทก์ 
 
ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2553 นายอัศวินยื่นคำร้องให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 และ 143 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 มาตรา 40(1) (3) มาตรา 81 (1) (2) (3) และ (4)  เนื่องจากประชาชนควรได้รับความคุ้มครองตามหลักนิติธรรม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 และ 143 ให้อำนาจดุลพินิจอิสระอย่างล้นฟ้าโดยไม่มีขอบเขต ก่อให้เกิดความสะพรึงกลัวต่อวงการตำรวจและอัยการ ทั้งยังกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม 
 
23 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 5/2554 ว่า เนื่องจากคดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาไปแล้ว และยังไม่ได้มีการรับอุทธรณ์ จึงไม่มีกรณีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่จะต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 และ 143 มาบังคับใช้แก่คดี ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
 

แหล่งอ้างอิง

ศาลยกฟ้อง ม.112 นักธุรกิจเชียงใหม่ กรณีขัดแย้งซื้อขายที่ดิน, เว็บไซต์ประชาไท, 13 ธันวาคม 2556 (เข้าถึงเมื่อ 13 ธันวาคม 2556)

15 ธันวาคม 2549
นายอัศวินเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน 
 
13 กรกฎาคม 2553
ศาลจังหวัดเชียงใหม่รับฟ้องคดีนี้เป็นคดีดำ หมายเลข อ.1271/2553
 
25 กันยายน 2555
มีการส่งคดีมาสืบพยานโจทก์ที่ ศาลอาญา โดยสืบพยานโจทก์สองปาก คือ นางสกาวเดือน จริยากรกุล ผู้กล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของโครงการเอราวัณ รีสอร์ท และผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ และเจ้าพนักงานตำรวจผู้เป็นคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินคดีตามมาตรา 112 
 
4 กุมภาพันธ์ 2556
ศาลอาญาส่งคดีกลับมาสืบพยานจำเลยที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่
แต่ในนัดนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่าสำนวนที่ส่งมาจากศาลอาญา ยังมาไม่ถึง จึงเลื่อนการสืบพยานจำเลยไปเป็นวันที่ 10 มิถุนายน 2556
 
10 มิถุนายน 2556 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานจำเลยจำนวน 1 ปาก 
 
พลตรีพิชัย พิชัยณรงค์ อายุ 71 ปี เป็นข้าราชการบำนาญ อดีตผู้ชำนาญการกองทัพบก โดยพยานเป็นเพื่อนของจำเลยมาตั้งแต่ปี 2540 พลตรีพิชัยเบิกความว่าตนกับครอบครัวไปพักอาศัยอยู่กับจำเลยในช่วงปี 2546 และได้ทราบความขัดแย้งในการซื้อขายที่ดินเอราวัณรีสอร์ต ระหว่างจำเลยกับนางสกาวเดือน โดยจำเลยทำสัญญาซื้อที่ดินเอราวัณรีสอร์ตจากนางสกาวเดือน แต่ตอนหลังนางสกาวเดือนไม่สามารถออกโฉนดมาให้ได้ จึงหลบหน้าไป และมีการกลั่นแกล้งเมื่อจำเลยย้ายเข้าไปอยู่ในเอราวัณรีสอร์ต เช่น การตัดน้ำตัดไฟ ทำลายทรัพย์สิน เอานักเลงมาข่มขู่ และเกิดการฟ้องร้องในคดีต่างๆ จำนวนมาก
 
พลตรีพิชัยยังเบิกความว่านางมยุรา สฤษชสมบัติ พยานโจทก์ที่อ้างว่าได้ยินจำเลยกล่าวถ้อยคำตามป้องเป็นภรรยาของนายเล็ก สารคาม ทั้งคู่ชอบมากินดื่มที่บ้านจำเลย และขอความช่วยเหลือจากจำเลยบ่อยๆ เช่น การขอค่าซ่อมรถยนต์ที่ชนมา ตอนหลังจำเลยไม่ได้ช่วยในเรื่องบ้านที่จะถูกยึด จึงคาดว่าน่าจะเป็นเรื่องนี้ที่ทำให้ทั้งคู่ไม่พอใจจำเลย และไม่ได้มาหาที่บ้านจำเลยอีก 
 
พลตรีพิชัย เบิกความว่าไม่เคยได้ยินจำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้อง และเห็นว่าจำเลยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากต้นตระกูลของจำเลยนามสกุลบุนนาค ซึ่งทำงานรับใช้ราชบัลลังก์มานาน และถ้าหากจำเลยพูดเช่นนั้นจริง พยานก็จะยอมไม่ได้เอง หรือนางอัญชลี นิลเดช ก็ต้องแจ้งต่อตำรวจตั้งแต่ในเวลานั้นแล้ว
 
ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากต่อไป ในช่วงวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2556 และ 14 กันยายน 2556 เนื่องจากนัดในคดีอื่นๆ ของศาลมีไว้ค่อนข้างยาว และช่วยให้จำเลยไม่ต้องรอคดีอื่นๆ ถ้ามาสืบพยานในวันธรรมดา โดยในระหว่างการสืบพยานในครั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์คดีถูกศาลซักถามว่าเป็นใคร เกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่ อย่างไร และเมื่อทราบว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยตรงก็ขอให้ห้ามจดบันทึกระหว่างการพิจารณา
 
31 สิงหาคม 2556 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานจำเลยจำนวน 2 ปาก 
 
นายอัศวิน จำเลยขึ้นเบิกความ โดยเล่าถึงความขัดแย้งกับนางสกาวเดือนในการซื้อขายที่ดิน ที่มีมาตั้งแต่ปี 2546 และในปี 2547 ว่าฝ่ายนางสกาวเดือนเคยนำนักเลง มาข่มขู่และขับไล่จำเลยออกจากเอราวัณรีสอร์ต และยังได้แจ้งความจำเลยในข้อหาอื่นๆ ด้วย เช่น อนาจาร, บุกรุก, ทำให้เสียทรัพย์ จนในปี 2549 นางสกาวเดือนได้นำพรรคพวกอีกสามคน คือนางมยุรี, นางอัญชลี และนางกัลยา เข้าแจ้งความในข้อหาตามมาตรา 112 นี้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจรับฟ้อง โดยจำเลยไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 ธันวาคม 2549 และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมทั้งยังฟ้องร้องกลับในข้อหาแจ้งความเท็จ ในวันที่ 20 เมษายน 2550 (ยื่นส่งเอกสารการฟ้องร้องกลับต่อศาล)
 
พลตรี อนุธัช บุนนาค อายุ 56 ปี ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ญาติของจำเลย เบิกความถึงประวัติตระกูลของจำเลย โดยกล่าวว่าจำเลยมีเชื้อสายเกี่ยวพันกับตระกูลบุนนาค ราว 12.5 % ซึ่งทำงานรับใช้ราชวงศ์จักรีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และที่ 5 โดยบิดาของจำเลย ซึ่งนามสกุลเบิร์ด ชื่อ วิลลิส เบิร์ด ซีเนียร์ ก็เป็นอดีตเสรีไทย ทำงานให้กับชาติไทยมา นอกจากนั้นจำเลยยังทำงานในเรื่องของความมั่นคง ตามแผน Siamese Strategy 
 
โดยในระหว่างสืบพยานปากนี้ พยานจำเลยได้ขอให้ผู้สังเกตการณ์คดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกจากห้อง โดยแถลงกับศาลว่าจะเบิกความเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นความลับของสยาม 
 
 
14 กันยายน 2556 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานจำเลยจำนวน 3 ปาก 
 
นางสาว ศรีวัย อายุ 48 ปี เป็นภรรยาจำเลย เบิกความว่าอยู่กินกับจำเลยมา 28 ปีแล้ว และมีลูก 2 คน ตนรู้จักกับพี่ต๋อยหรือนางมยุรา สฤษชสมบัติ พยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งมาที่บ้านจำเลยบ่อยพร้อมกับสามี คือนายเล็ก สารคาม ที่ทำอาชีพเป็นผู้จัดรายการสถานีวิทยุ และเป็นพี่ชายของนางสกาวเดือน โดยนางมยุราจะเข้ามาช่วยทำอาหารและสนิทสนมกับตน แต่ตัวจำเลยไม่ได้สุงสิงกับนางมยุรามาก และเมื่อจำเลยไม่ได้ช่วยไถ่ถอนบ้านที่จะถูกยึดของนางมยุราและนายเล็ก ทำให้หลังจากนั้นทั้งคู่ไม่ได้มาหาที่บ้านอีก เหตุเกิดในช่วงปี 2546  นางสาวศรีวัยยืนยันว่าจำเลยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
นายธนัส เวียงคำฟ้า อายุ 41 ปี เป็นพนักงานขับรถของจำเลย เบิกความว่าทำหน้าที่ขับรถให้จำเลยมาตั้งแต่ปี 2535 ตั้งแต่ยังอยู่ที่เวียงคำฟ้ารีสอร์ต ได้ทราบว่านางสกาวเดือนได้แจ้งข้อหาลักทรัพย์ จากการตัดสายไฟ ต่อลูกจ้างของจำเลย และศาลยกฟ้องคดีนี้ไปตั้งแต่เมื่อปี 2549 พยานเคยเห็นพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มาพบกับจำเลย โดยมาดูเรื่องชาวม้ง ซึ่งจำเลยเคยทำหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิชาวไทยภูเขา ทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และพยานยืนยันว่าจำเลยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
 
นายแสงตะวัน ทับทุ่ง อายุ 37 ปี เป็นทนายจำเลย ได้เบิกความว่าตนเคยเป็นทนายของจำเลยมาตั้งแต่ปี 2547 ในคดีเรื่องชาวม้ง และการฟ้องร้องคดีแพ่งอื่นๆ โดยจำเลยกับนางสกาวเดือนมีการฟ้องกันไปมาหลายคดี พยานได้อ้างส่งเอกสารในคดีต่างๆ ซึ่งจำเลยถูกกล่าวหาจากนางสกาวเดือนต่อศาล เช่น คดีที่จำเลยถูกแจ้งข้อหาบุกรุก ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้ว หรือคดีในปี 2548 ในข้อหาการลักลอบและให้ที่พักพิงกับคนต่างด้าว ศาลก็พิพากษายกฟ้องไปแล้ว รวมแล้วทนายจำเลยยื่นส่งเอกสารต่อศาลราว 20 ฉบับ
 
ศาลได้นัดพิพากษาวันที่ 13 ธันวาคม 2556 เวลา 9.00 น. โดยศาลแจ้งคู่ความว่าคดีนี้ต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาไปให้สำนักงานอธิบดีศาลภาค 5 ตรวจก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และศาลเองก็มีคดีอื่นๆ ที่ต้องเขียนคำพิพากษาหลายคดี
 
 
13 ธันวาคม 2556
ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษา 
 
คำพิพากษาระบุว่าข้อเท็จจริงของคดีพิจารณาได้ในเบื้องต้นว่า นางสกาวเดือน จริยากรกุล เป็นเจ้าของเอราวัณรีสอร์ต และนายมานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 73/6 ในเอราวัณรีสอร์ต ในวันที่ 18 มี.ค.46 นางสกาวเดือนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างในเอราวัณรีสอร์ตให้แก่จำเลย ในราคา 120 ล้านบาท จำเลยชำระเงินให้แก่นางสกาวเดือนเป็นเงิน 12 ล้านบาท ที่เหลือจะผ่อนชำระตามสัญญา นางสกาวเดือนได้กล่าวโทษจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และรัชทายาท โดยในวันที่ 15 ธ.ค.49 จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
 
คำพิพากษาระบุว่าประเด็นที่ต้องพิจารณามีว่าจำเลยได้กล่าวข้อความตามฟ้องหรือไม่ โดยฝ่ายโจทก์ คือนางมยุรา สฤษชสมบัติ ให้การในชั้นสอบสวนว่าระหว่างที่จำเลยพูดหมิ่นประมาทองค์รัชทายาท มีคนอื่นอยู่ด้วย แต่บุคคลเหล่านั้นไม่ขอมาให้ปากคำ จึงไม่ขอเอ่ยชื่อ ศาลเห็นว่าหากจำเลยพูดข้อความตามที่กล่าวอ้างจริง พยานก็น่าจะบอกชื่อหรือตำแหน่งรูปพรรณของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อติดตามบุคคลเหล่านั้นมาเป็นพยาน ซึ่งอยู่วิสัยที่พยานสามารถบอกได้ แต่หาได้กระทำไม่ และเมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติม พยานกลับให้การว่าไม่ทราบชื่อบุคคลเหล่านั้น อันเป็นการชี้ให้เห็นว่าพยานให้การไม่อยู่กับร่องกับรอย จึงมีแต่คำเบิกความของนางมยุราเพียงคนเดียว ขาดพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทำให้คำเบิกความมีพิรุธ มีน้ำหนักน้อย
 
สำหรับนางกัลยา ตันมณีวัฒนา เบิกความว่าพยานเป็นที่ปรึกษานางสกาวเดือน ต่อมาพยานได้รับแจ้งจากนางสกาวเดือนจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในเอราวัณรีสอร์ตให้แก่จำเลย โดยพยานเบิกความว่าพยานเพิ่งพบกับจำเลยเป็นครั้งแรกประมาณเดือนกันยายน 46 และพูดคุยกันสองต่อสองเป็นเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ย่อมมีความหมายว่าพยานไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ตามปกติวิสัยวิญญูชนทั่วไป หากจะพูดข้อความในความผิดข้อหาฉกรรจ์ให้บุคคลอื่นฟัง จะพูดกับคนที่ตนสนิทสนมไว้เนื้อเชื่อใจเป็นพิเศษ ไม่พูดกับบุคคลทั่วไป เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีอาญา จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จำเลยจะพูดถ้อยคำดังกล่าวให้พยานฟัง คำเบิกความของนางกัลยาจึงไม่สมเหตุสมผล
 
ส่วนพยานโจทก์ปากนางอัญชลี นิลเดช เบิกความว่าพยานได้รับมอบหมายจากมานะศักดิ์ ให้ช่วยดูแลบ้านและที่ดิน ประมาณเดือนกันยายน 2546 พยานพบชาวเขาเผ่าม้งหลายคน อยู่ในบ้านของนายมานะศักดิ์ โดยบอกว่าจำเลยใช้ให้มาปรับปรุงบ้าน พยานจึงแจ้งความกับตำรวจ ต่อมาเดือนตุลาคม 46 พยานและเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยในเอราวัณรีสอร์ต พบจำเลย กับพลเอกวินัย ทันศรี และพลตรีพิชัย พิชัยณรงค์ พยานถามจำเลยว่าให้คนเข้ามาทำอะไรในบ้าน จำเลยบอกว่าทำเป็นโรงเรียนของชาวเขา พยานบอกว่าทำไม่ได้เพราะบ้านเป็นของนายมานะศักดิ์ แล้วจำเลยได้แอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
ศาลเห็นว่าพยานกับจำเลยมีความขัดแย้งกันเรื่องชาวเขาเข้าไปอยู่ในบ้านนายมานะศักดิ์ การรับฟังพยานโจทก์ปากนี้จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง ตามปกติวิสัยของวิญญูชนทั่วไปจะไม่พูดข้อความใส่ร้ายบุคคลอื่น ให้กับบุคคลที่ตนมีความขัดแย้งฟัง หากจำเลยพูดข้อความตามที่กล่าวอ้างจริง พยานก็น่าจะแจ้งให้กับเจ้าพนักงานที่ร่วมเดินทางไปกับพยานทราบทันที ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ แต่หาได้กระทำไม่
 
แม้พยานเบิกความว่าจำเลยพูดถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าพลเอกวินัยและพลตรีพิชัย แต่พลเอกวินัย พยานโจทก์ เบิกความว่าพยานไม่ได้ยินข้อความตามที่นางอัญชลีกล่าวอ้าง ส่วนพลตรีพิชัย พยานจำเลย เบิกความว่าจำเลยไม่ได้พูดข้อความดังที่นางอัญชลีกล่าวอ้าง ศาลเห็นว่าพลเอกวินัยและพลตรีพิชัยเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ย่อมมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ หากจำเลยพูดข้อความดังที่กล่าวอ้างจริง พลเอกวินัยและพลตรีพิชัยจะต้องได้ยิน และต้องมีความรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของจำเลย แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ คำเบิกความของนางอัญชลีจึงมีพิรุธน่าสงสัย
 
ทั้งนางมยุรา นางกัลยา และนางอัญชลี ก็มิได้เป็นผู้กล่าวโทษดำเนินคดีแก่จำเลย แต่กลับได้ความว่านางสกาวเดือน ซึ่งมีความขัดแย้งกับจำเลย และเป็นเพียงพยานบอกเล่า เป็นผู้ไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเสียเอง นับเป็นเรื่องผิดปกติ พยานบุคคลที่เหลือล้วนเป็นพยานบอกเล่า ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน และไม่มีเหตุเป็นข้อยกเว้นให้รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/3 วรรค 2 ทั้งจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้พูดข้อความตามฟ้อง
 
ดังนั้น ตามรูปคดีจึงมีความสงสัยว่าจำเลยได้พูดข้อความตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แก่ความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย
 
10 กรกฎาคม 2557 
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นัดฟังคำพิพากษา เวลา 9.00 น.
ฝ่ายจำเลยไม่ทราบหมายนัดในวันดังกล่าว เพราะส่งหมายไปยังที่อยู่ซึ่งจำเลยไม่ได้อยู่อาศัยแล้ว ฝ่ายจำเลยจึงไม่มีใครมาศาล 
 
ผู้สังเกตการณ์คดีได้ช่วยประสานงานแจ้งให้ทนายจำเลยรับทราบถึงหมายนัด ทนายจำเลยจึงได้ทำคำแถลงชี้แจงต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ถึงสาเหตุที่ไม่ได้มาตามหมายนัด และแฟกซ์คำแถลงส่งมาจากศาลอาญา กรุงเทพมหานคร
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าชื่อจำเลยยังอยู่ในทะเบียนบ้านเก่า โดยศาลส่งหมายไปยังภูมิลำเนาเดิม หมายนัดก็เป็นแบบปิดหมาย ในทางกฎหมายถือได้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาสองที่ น่าจะได้รับทราบนัดแล้ว จึงให้ออกหมายจับไปก่อน พร้อมนัดฟังคำพิพากษาใหม่ในอีกหนึ่งเดือน แต่ในช่วงหนึ่งเดือนนี้ฝ่ายจำเลยสะดวกวันไหนก็สามารถนัดเข้ามาฟังคำพิพากษาได้ทันที
 
15 กรกฎาคม 2557 
เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ห้องพิจาณาคดีที่ 5 ฝ่ายจำเลยขอนัดเข้าฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยทนายจำเลย จำเลย และครอบครัวของจำเลยมาศาล ส่วนอัยการโจทก์ไม่มาศาล
 
เวลา 13.45 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ และได้แจ้งฝ่ายจำเลยว่าเมื่อจำเลยมาศาลแล้ว จึงให้งดหมายจับที่ออกไปในวันก่อนหน้านี้ ก่อนที่ศาลจะเริ่มเปิดซองคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และก่อนเริ่มอ่าน ได้ให้ตำรวจศาลใส่กุญแจมือจำเลยไว้ก่อน โดยศาลกล่าวว่าทำไปตามระเบียบ
 
เมื่อศาลเริ่มต้นอ่านคำพิพากษาไปได้ราวหนึ่งนาที ศาลได้หยุดอ่าน ก่อนแจ้งกับผู้เข้าฟังการพิจารณาว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ดังนั้นจึงขออ่านคำพิพากษาเป็นการลับ โดยให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกจากห้องพิจารณา จึงเหลือแต่เพียงจำเลยและทนายความในห้องพิจารณา
 
เวลา 14.10 น. ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ โดยเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จึงกลับพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี จำเลยจึงถูกนำตัวลงไปยังเรือนจำใต้ถุนศาล
 
ทนายยื่นประกันตัวตามหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ประกันตัวมาในชั้นสอบสวนและศาลชั้นต้น เป็นโฉนดที่ดินราคาราว 1.5 ล้านบาท 
 
เวลาประมาณ 17.20 น. ศาลชั้นต้นจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาเรื่องการประกันตัวให้เป็นดุลยพินิจของศาลฎีกาแทน ทำให้จำเลยถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำกลางเชียงใหม่ก่อนเป็นเวลาราว 3 วัน จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งอีกครั้ง
 
คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์สรุปได้ว่า ศาลได้วินิจฉัยในประเด็นว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำต่างๆ ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้พูดถ้อยคำตามที่โจทก์ฟ้องจริง 
 
ศาลพิเคราะห์ว่าในขณะที่นางสกาวเดือนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงพฤติการณ์แอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของจำเลย เมื่อวันที่ 25 ม.ค.47 นั้น ยังไม่ปรากฏว่านางสกาวเดือนมีปัญหากับจำเลยเรื่องการซื้อขายที่ดินในโครงการเอราวัณรีสอร์ทแต่อย่างใด ทั้งข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าขณะนั้นนางสกาวเดือนกับพลตรีพิชัยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันด้วยเรื่องใด จึงเชื่อได้ว่านางสกาวเดือนแจ้งตามความเป็นจริงที่ได้รับคำบอกเล่ามา โดยไม่ได้มีเจตนาจะกลั่นแกล้งจำเลยและพลตรีพิชัย 
 
พยานโจทก์ทั้งสองคน คือนางกัลยาและนางอัญชลีเบิกความยืนยันว่า ทั้งสองได้ยินจำเลยกล่าวถ้อยคำตามที่พยานทั้งสองเบิกความจริง คำเบิกความของพยานทั้งสองตรงกับถ้อยคำที่นางสกาวเดือนแจ้งความไว้ และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่พยานทั้งสองจะเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษในข้อหาที่ร้ายแรงเช่นนี้ ทั้งหากข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงพยานทั้งสองอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จได้อีกด้วย 
 
และแม้จำเลยจะไม่เคยรู้จักกับนางกัลยามาก่อน แต่ลักษณะที่จำเลยพูดกับนางกัลยานั้นก็เนื่องจากนางกัลยาเป็นที่ปรึกษาโครงการเอราวัณรีสอร์ท คำกล่าวของจำเลยก็คงประสงค์ให้นางกัลยามีความรู้สึกเชื่อถือศรัทธาและนับถือในตัวจำเลย ในการที่จำเลยเป็นผู้ซื้อโครงการจากนางสกาวเดือนนั่นเอง กรณีดังกล่าวไม่เป็นข้อพิรุธให้ระแวงสงสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นต่อนางกัลยาตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
 
ส่วนพยานฝ่ายจำเลย ทั้งพลตรีพิชัย พิชัยณรงค์ และพลเอกวินัย ทันศรี ศาลเห็นว่าเป็นผู้มีความสนิทสนมกับจำเลย จึงย่อมเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย ทั้งคำเบิกความของพยานทั้งสองเป็นการเบิกความลอยๆ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ และคำเบิกความของพลเอกวินัยยังขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวน จึงไม่อาจรับฟังเอาเป็นความจริงได้ 
 
ศาลได้วินิจฉัยถึงถ้อยคำที่จำเลยถูกกล่าวหาว่า ได้กล่าวกับนางมยุรา ซึ่งนางมยุราเบิกความว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำเมื่อประมาณปี 2543-2546 ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางมยุราเพิ่งไปให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 25 พ.ค.49 อันเป็นการให้การหลังจากเวลาล่วงเลยไปนานประมาณ 3 ปี ถึง 6 ปี และในขณะที่นางสกาวเดือนแจ้งความไว้เมื่อปี 2547 ไม่ปรากฏว่าได้แจ้งเรื่องที่นางมยุราเบิกความไว้ดังกล่าวด้วย คำเบิกความของนางมยุราจึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
 
ส่วนถ้อยคำที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับนางกัลยา ในเรื่องการปรับปรุงบริเวณสระน้ำ คงเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลย นางกัลยาไม่ได้มีส่วนได้เสียกับการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งนางกัลยาได้เบิกความว่าเมื่อได้ฟังจำเลยพูดเช่นนั้น รู้สึกว่าเป็นการพูดด้วยอารมณ์เพ้อเจ้อและเป็นการสร้างความสำคัญให้ตัวจำเลยเอง จึงไม่ทำให้นางกัลยารู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
 
สำหรับถ้อยคำที่จำเลยถูกกล่าวหาว่า กล่าวกับนางอัญชลีนั้น ศาลเห็นว่ามีลักษณะเป็นการแอบอ้างเพื่อข่มขู่ให้นางอัญชลียอมยกบ้านให้จำเลย ทั้งจำเลยยังโทรศัพท์สอบถามนายมานะศักดิ์ เจ้าของบ้านอีกคนหนึ่งในเอราวัณรีสอร์ต ในลักษณะเดียวกันอีก พฤติการณ์ของจำเลยอาจทำให้นางอัญชลีและนายมานะศักดิ์ซึ่งจะต้องเสียผลประโยชน์ในบ้านหลังดังกล่าว เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับนางอัญชลีจึงเป็นข้อความที่เป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์แล้ว 
 
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์มาทั้งหมด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กระทงเดียว ให้จำคุก 5 ปี
 
 
18 กรกฎาคม 2557
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ประกันตัวอัศวิน โดยให้เพิ่มวงเงินประกันตัวเป็น 2 ล้านบาท 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา