สันต์ ศรุตานนท์ vs ทิชา ณ นคร

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

ทิชา ณ นคร

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2546

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติ เป็นโจทก์ร่วม

สารบัญ

ทิชา ณ นคร เขียนบทความและให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งมีข่าวพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับนักข่าวหญิง เมื่อปี 2546 ต่อมาถูก พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ศาลทั้งสามชั้นพิพากษายกฟ้อง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ทิชา ณ นคร หรือที่รู้จักในชื่อ ป้ามล ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นสถานพินิจที่มีแนวคิดเป็นบ้านทดแทนชั่วคราวของวัยรุ่นที่ก้าวพลาด ไม่ใช่คุกที่กักขัง และเยาวชนก็ไม่ใช่นักโทษ แต่บำบัดฟื้นฟูเยาวชนได้อย่างมีคุณภาพและคืนคนดีกลับสู่สังคม ศูนย์ฝึกฯ นี้จึงไม่มีกำแพงและประตู แต่เยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ก็ไม่ได้หลบหนี
 
ทิชา ณ นคร เคยทำงานในองค์เกี่ยวกับสตรี เช่น เป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา และกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เกิดคดีนี้

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ระหว่างวันที่ 6 – 20 มิถุนายน 2546 จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยให้สัมภาษณ์และลงบทความ เรื่อง จดหมายจากองค์กรผู้หญิงถึงนายกรัฐมนตรี อันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมให้ได้รับความเสียหาย

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ด.5213/2548

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นอกจากถูกดำเนินคดีอาญา พล.ต.อ.สันต์ยังฟ้องคดีแพ่ง ข้อหาละเมิดด้วย รายละเอียดการดำเนินคดีแพ่งมีดังนี้

20 กรกฎาคม 2547
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร. เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ได้แจ้งความดำเนินคดีนางทิชากรเพิ่มอีก 1 ข้อหา เป็นคดีแพ่ง ความผิดละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 100 ล้านบาท โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งได้ส่งหมายเรียกดังกล่าวให้กับนางทิชา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2547 
 
กรณีการนำเสนอข่าวดังกล่าวนี้ มีสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก รวมถึง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และ ยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ถูกฟ้องฐานละเมิดด้วย โดยมีจำเลยในคดีแพ่งถึง 17 คน ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายคนละ 100 ล้านบาท โดยทิชาถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 13
 
 
30 พฤศจิกายน 2548
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), บริษัท ข่าวสด จำกัด ,บริษัท แมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป จำกัด, บริษัท ไทยเจอร์นัล กรุ๊ป จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, บริษัท บางกอกเอ็กซ์เพรส พลับลิชชิ่ง เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์, บริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง กับพวก ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา รวม 17 คนเป็นจำเลย ในความผิดเรื่องละเมิดจากการหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2,500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีที่จำเลยทั้ง 17 ทำการเผยแพร่ ตีพิมพ์ ข้อความ อันเป็นเท็จพาดพิงถึงโจทก์ว่าเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีพฤติการณ์พูดจาลวนลามนักข่าว และเป็นนายพลหื่นกาม
 
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า ฝ่ายจำเลย มีนางสาวเกวลิน กังวานธนวัต ผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นผู้เสียหายจากเหตุการณ์ถูกลวนลาม น่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าการที่พวกจำเลยให้สัมภาษณ์และเขียนบทความรวมทั้งการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ตามฟ้องโจทก์นั้น ถือว่าเป็นการเสนอข่าวไปตามเหตุการณ์ที่เชื่อโดยสุจริตว่ามีเหตุจริง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการชี้แนะตักเตือนนักข่าวผู้หญิงให้ระมัดระวังต่อการปฏิบัติหน้าที่ และยังเป็นการทักท้วงการปฏิบัติตัวของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งโจทก์ก็อยู่ในฐานะ ผบ.ตร.ที่ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ประชาชนและสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ได้หากเห็นว่า ผบ.ตร.ประพฤติตัวไม่เหมาะสม เมื่อฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-17 เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งอยู่ในวิสัยที่ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถกระทำได้แล้ว
 
พิพากษายกฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ยืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า บทความของทิชาไม่ได้มีข้อความใดระบุถึงตัวโจทก์ โจทก์จึงไม่มีความเสียหาย และพยานจำเลย (นักข่าวที่ถูกคุกคาม) เบิกความว่า พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ เรียกไปพบและสอบถามเรื่องส่วนตัวว่า ทำไมตัดผมสั้น เรียนจบอะไรมา สูงเท่าไหร่ พร้อมชักชวนให้เดินทางกลับด้วยเครื่องบินตำรวจ อีกทั้งบทความได้ชี้ให้เห็นปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อให้สังคมเข้าใจปัญหา และช่วยกันแก้ไขเพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม มิได้มีเจตนาใส่ความโจทก์

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
มิถุนายน 2546
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2546 ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ความคิดเห็นของ ทิชา ณ นคร ต่อข่าวข้าราชการระดับสูงมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมส่อเจตนาชู้สาวกับนักข่าวหญิงคนหนึ่ง และหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน 2546 ตีพิมพ์บทความชื่อ "จากองค์กรผู้หญิงถึง…นายกฯ" ซึ่งเขียนโดย ทิชา ณ นคร ซึ่งเป็นบทความที่เป็นความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว
 
14 ตุลาคม 2546
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มอบอำนาจให้ พล.ต.ต.พจนารถ หวลมานพ แจ้งความดำเนินคดีกับ ทิชา ณ นคร ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร
 
30 ตุลาคม 2546
ทิชาเข้ามอบตัวกับ สน.ปทุมวัน
 
30 ธันวาคม 2546
พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการ กองอาญากรุงเทพใต้ 4 และให้ไปพบอัยการวันที่ 15 มกราคม 2547
 
14 มกราคม 2547
องค์กรผู้หญิงเข้าพบอัยการสูงสุดขอความเป็นธรรม
 
15 มกราคม 2547
ทิชา พร้อม นคร ชมพูชาติ ทนายความ และ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภาขณะนั้น เข้าพบอัยการกองอาญา 4 เพื่อรับฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ อัยการเลื่อนนัด
 
16 มกราคม 2547
ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรผู้หญิง เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ คุณหญิงอัมพร มีศุข คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
 
5 กุมภาพันธ์ 2547-16 กันยายน 2548
ทิชาไปพบอัยการ 14 ครั้ง เพื่อรับฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่มีการเลื่อนรวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง
 
 
10 พฤศจิกายน 2548
ทิชาเข้าพบอัยการเป็นครั้งที่ 15 อธิบดีอัยการอาญาใต้ส่งฟ้อง
 
 
19 ธันาวาคม 2548
นัดพร้อม
 
1,5,6,7,8 และ 12 กันยายน 2549 
นัดสืบพยานโจทก์
 
13-15 กันยายน 2549 
นัดสืบพยานจำเลย 
 
19 ตุลาคม 2549
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำพิพากษา
 
ศาลพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำให้การจำเลย จำต้องพิจารณาเสียก่อนว่าที่พล.ต.อ.สันต์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมนั้นเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่าจากบทความดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดกล่าวพาดพิงถึงตัวโจทก์ร่วมโดยตรง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมดและสภาพแวดล้อมว่าจำเลยเขียนพาดพิงถึงใคร เมื่ออ่านจากข้อความทั้งหมดแล้ว ก็ยังไม่อาจเข้าใจว่าหมายถึงใคร ส่วนข้อความที่ระบุว่ามีนายตำรวจใหญ่ทำตัวเสื่อมเสีย ก็ไม่ได้ระบุชื่อโจทก์ร่วม คำว่า ตำรวจใหญ่ นั้น ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีหลายคน
 
ส่วนคำว่า ผู้นำองค์กรตำรวจ เมื่ออ่านรวมๆ แล้ว ก็ไม่ได้มุ่งหมายไปที่ตัวโจทก์ร่วมโดยตรง แม้ตัวโจทก์ร่วมก็เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเป็นผู้นำองค์กรด้วยคนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่ผู้เสียหายตามฟ้อง ดังนั้น จึงไม่จำต้องพิจารณาต่อไปว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่ พิพากษายกฟ้อง
 
ต่อมาโจทก์อุทธรณ์
 
 
10 กันยายน 2551
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์  ศาลอาญากรุงเทพใต้  เวลา 9.30 น.
 
คดีนี้พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ และ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร. เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 6 – 20 มิถุนายน 2546 จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยให้สัมภาษณ์และลงบทความ เรื่อง จดหมายจากองค์กรผู้หญิงถึงนายกรัฐมนตรี อันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมให้ได้รับความเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมหารือแล้วเห็นว่า โจทก์ร่วมไปปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ารักษาความปลอดภัยในการประชุม ครม.ที่ จ.ภูเก็ต และ จ.อุบลราชธานี ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2546 หนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงข่าวกรณีที่โจทก์ร่วมมีพฤติการณ์ส่อไปในทางชู้สาวกับนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง โดย หนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงบทสัมภาษณ์ของจำเลยในวันที่ 6 มิถุนายน 2546 และลงบทความของจำเลยในวันที่ 20 มิถุนายน 2546
 
เห็นว่าทั้งบทสัมภาษณ์และบทความของจำเลย ระบุพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมที่ส่อเจตนาในทางชู้สาวกับนักข่าวผู้หญิง โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาระหน้าที่แม้แต่น้อย แม้ในบทความจะไม่ได้ระบุชื่อตัวโจทก์ร่วมโดยตรง  แต่ช่วงเวลานั้น ประชาชนต่างทราบว่า หมายถึงโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาสังคม จึงพยายามชี้ให้เห็นปัญหา เพื่อร่วมกันแก้ไข โดยแสดงความเห็นในมุมของสตรี โดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม
 
อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น  ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
 
โจทก์ฎีกา
 
 
24 กรกฎาคม 2556
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดโจทก์ (ทนายความ) และจำเลย (ทิชา) ไกล่เกลี่ย แต่ทิชาปฏิเสธการไกล่เกลี่ย โดยขอให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ และให้จบลงที่การอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา และไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไรก็ยินดีรับ
 
22 เมษายน 2557
นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ห้อง 405 ศาลอาญากรุงเทพใต้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาสรุปได้ว่า ก่อนที่จำเลยจะให้สัมภาษณ์และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ มีข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่เริ่มจากบทสัมภาษณ์และบทความของจำเลยเป็นคนแรก อีกทั้งจำเลยก็ทำงานในองค์กรที่เกี่ยวกับสตรี ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อปกป้องสิทธิของสตรีไม่ให้ถูกคุกคามทางเพศ และเนื้อหาในบทสัมภาษณ์และบทความก็เป็นเรื่องที่มุ่งนำเสนอปัญหาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่าพฤติกรรมตามข่าวที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นทางสังคมที่คุกคามต่อความปลอดภัยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง แม้จะมีการอ้างพฤติกรรมในทำนองชู้สาว แต่ก็เป็นการอ้างจากข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์มาก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยอ้างขึ้นมาเอง การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา