ทอม ดันดี: ปราศรัยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คดีแรก

อัปเดตล่าสุด: 06/08/2562

ผู้ต้องหา

ธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

"ทอม ดันดี" หรือ ธานัท เป็นอดีตศิลปินและนักแสดงที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง 

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ธานัทถูกควบคุมตัว 2 ครั้ง ครั้งแรกกรณีไม่รายงานตัวตามประกาศ คสช. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หนึ่งเดือนถัดมา ธานัทถูกเจ้าหน้าที่บุกควบคุมตัวอีกครั้งที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

ธานัทถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการมีคลิปปราศรัยที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ 

ตลอดการพิจารณาคดีธานัทไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เบื้องต้นธานัทให้การปฏิเสธและขอสู้คดี ในวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ธานัทถูกแจ้งข้อกล่าวหาคดี 112 เพิ่มอีกคดีหนึ่งที่ศาลอาญา เขายังคงยืนยันที่จะสู้คดีต่อ

อย่างไรก็ตามในวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เมื่อศาลอาญานัดธานัทไปตรวจความพร้อมในคดี 112 อีกคดีหนึ่ง ธานัทตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการสู้คดีเป็นรับสารภาพ และถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปีหกเดือน

ต่อมาในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เมื่อศาลทหารนัดธานัทไปสืบพยานโจทก์ ธานัทตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาในวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ให้จำคุกธานัทเป็นเวลาสามปีสี่เดือนโดยให้นับโทษต่อจากโทษเจ็ดปีหกเดือนของอีกคดีหนึ่ง รวมแล้วธานัทจะต้องรับโทษจำคุกสิบปีสิบเดือน 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

"ทอม ดันดี" หรือ ธานัท ธนวัชรนนท์ เป็นชาว อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

สำหรับชื่อ "ทอม ดันดี" เป็นชื่อที่คนทั่วไปรู้จักในฐานะศิลปิน ก่อนถูกจับเขามีอาชีพเป็นชาวสวนปลูกไผ่ขาย

ช่วงที่การเมืองไทยทวีความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ขึ้นเวทีปราศรัยทั้งของ นปช.และเวทีย่อยต่างๆ ที่จัดโดยคนเสื้อแดงกลุ่มอิสระมากมายหลายกลุ่ม

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ธานัทถูกควบคุมตัว 2 ครั้ง ครั้งแรกกรณีไม่รายงานตัวตามประกาศ คสช. เขาถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

หนึ่งเดือนถัดมา ธานัทถูกเจ้าหน้าที่บุกควบคุมตัวอีกครั้งที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

เดือนตุลาคม 2558 ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 112 คดี คดีแรก พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องธานัทในคดี 112 ต่อศาลอาญาเป็นคดีที่ 2

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 จนถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ธานัทและเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ "วี ปรางค์" ซึ่งยังไม่ทราบตัวว่าเป็นบุคคลใดและยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ทั้งสองร่วมกันจัดรายการชื่อ "เรดการ์ดเรดิโอ" ซึ่งมีลักษณะเป็นรายการถ่ายทอดเวทีปราศรัย มีจำเลยเป็นผู้ปราศรัย ขณะที่ผู้ใช้ชื่อ "วี ปรางค์"เป็นผู้บันทึกภาพและเสียงและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์ยูทูปดอทคอม โดยมีเนื้อหาในวิดีโอคลิปหลายตอนที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 9 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (บก.ปอท.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมประมาณ 20 นายทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าจับกุมธานัทที่บ้านพักใน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

97ก./2557

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
8 มิถุนายน 2557 
 
เวลาประมาณ 21.00 น. คสช.เผยแพร่คำสั่งฉบับที่ 53/2557 ผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ ให้บุคคลไปรายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00-12.00 น. ซึ่งคำสั่งฉบับดังกล่าวมีชื่อของธานัทอยู่ด้วย
 
9 มิถุนายน 2557
 
ภรรยาของธานัทโทรแจ้งกับนายทหารขั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งว่า จะเข้าไปรายงานตัวในช่วงเย็นของวันเดียวกัน เนื่องจากธานัทเพิ่งทราบว่าตนถูกเรียกให้ไปรายงานตัวในวันนี้ 
 
เวลาประมาณ 15.00 น. ขณะธานัทเดินทางกลับมาจากป่าเพื่อเก็บหน่อไม้ไปส่ง ทหารและตำรวจได้เข้าจับกุมขณะขับรถ เนื่องจากคาดว่าจะหลบหนี
 
12 มิถุนายน 2557
 
พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ควบคุมตัวธานัท มาส่งให้พนักงานสอบสวนที่กองปราบปรามเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยมี พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. มาคอยรับตัว และถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองปราบปรามสองคืน
 
14 มิถุนายน 2557
 
เวลาประมาณ 11.00 น. ธานัทถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ควบคุมตัวจากกองปราบฯ ไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อขอฝากขัง  ขณะที่นักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฯ หลักประกัน 20,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัว
 
9 กรกฎาคม 2557
 
เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (บก.ปอท.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมประมาณ 20 นายทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าจับกุมธานัทที่บ้านพักในอ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิด มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผบก.ปอท. ร่วมกันแถลงการจับกุมตัว ธานัท ตามหมายจับของศาลอาญาและศาลทหารกรุงเทพ ในฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 
 
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากการเผยแพร่คลิปลงในเว็บไซต์ยูทูป ซึ่งมีการปราศรัยของธานัท คลิปแรกปราศรัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ที่เรดการ์ดเรดิโอ ส่วนคลิปที่สอง ปราศรัยวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 บริเวณวงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพฯ
 
10 กรกฎาคม 2557 
 
คม ชัด ลึก ออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่จาก ปอท. ควบคุมตัวธานัทมาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขอฝากขังผลัดแรกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
ทนายของธานัท ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้จะยังไม่ขอประกันตัวเพราะต้องรอหลักทรัพย์ นอกจากนี้ก็มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายเพราะการกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศเขตอำนาจศาลทหารเหนือคดีพลเรือนบางประเภท ธานัทจึงถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
14 พฤศจิกายน 2557
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารกรุงเทพ นัดสอบคำให้การในเวลา 9.00 น. ธานัท แถลงขอเลื่อนการสอบคำให้การออกไปก่อน เนื่องจากเพิ่งได้รับคำฟ้องในช่วงเช้า ศาลนัดสอบคำให้การใหม่วันที่ 7 มกราคม 2558
 
8 ธันวาคม 2557
 
ธานัท เขียนจดหมายถึง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยนชนในคดีของตน โดยระบุว่า การพิจารณาของศาลทหารไม่เป็นอิสระและไม่เป็นกลางในการอำนวยความยุติธรรม ไม่มีหลักประกันการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย
 
ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับสิทธิและเสรีภาพในด้านต่างๆ เช่น การจับกุมโดยไม่มีหมายจับ การข่มขู่ ทรมาน ระหว่างการไต่สวน การคุมขังเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมาย และไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างการต่อสู้คดี
 
ธานัทระบุด้วยว่า การจับกุมคุมขังทำให้ตนสูญเสียรายได้จากการร้องเพลงและการแสดง เดือนละ 3-4 แสนบาท ครอบครัวประสบความยากลำบาก และมีหนี้สินมากมาย
 
18 มีนาคม 2558
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลทหารกรุงเทพ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯของ ธานัท ในเวลา 8.30 น. แต่ธานัทแถลงขอให้ศาลเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน ศาลนัดวันใหม่เป็นวันที่ 18 พฤษภาคม 2558
 
18 พฤษภาคม 2558
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐานเวลา 8.30 น. แต่ธานัทถูกนำตัวมาถึงศาลเวลาในเวลาประมาณ 10.15 น. การพิจารณาคดีจึงล่าช้าออกไป เมื่อเริ่มกระบวนพิจารณา ศาลถามธานัทว่าจะให้การอย่างไร ธานัทให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลนัดสืบพยานนัดแรกในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 
 
สำหรับแนวทางคดีเบื้องต้น ทนายจำเลยเปิดเผยว่า คดีนี้จะต่อสู้ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจาก ธานัท ไม่ได้เป็นผู้อัพโหลดคลิปเสียงลงในเว็บไซต์ยูทูป จึงขอต่อสู้ในข้อหานี้ หากพิสูจน์ได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้อัพโหลดคลิปเสียง จำเลยเพียงแค่กล่าวปราศรัยเท่านั้น คดีนี้ย่อมไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องมาจนถึงหลังการรัฐประหาร คดีนี้ต้องพิจารณาที่ศาลอาญา
 
4 สิงหาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.ท.พิพัฒน์ เฉวงราษฎร์ ผู้รับแจ้งเหตุ
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์เป็นนัดแรกโดยอัยการทหารนำพ.ต.ท.พิพัฒน์ เฉวงราษฎร์ อดีตสารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี ผู้รับแจ้งเหตุเข้าเบิกความ ในวันนี้ญาติของจำเลยและผู้สังเกตการณ์จากสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) จะมาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วยแต่ศาลทหารสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับเพราะเป็นคดีที่กระทบต่อความมั่นคง
 
พ.ต.ท.พิพัฒน์เบิกความในประเด็นเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยและการแจ้งเหตุโดยสรุปได้ว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (บก.ปอท) ได้รับแจ้งทางอีเมลของหน่วยงานในวันที่ 10 เมษายน 2557 ว่า ธานัทกล่าวข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  โดยผู้ส่งอีเมลแนบลิงค์จากเว็บไซต์ยูทูปรวมหกลิงค์มาเป็นหลักฐาน
 
สำหรับความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาการปราศรัย พ.ต.ท.พิพัฒน์เห็นว่าหากดูคลิปโดยรวมจะพบว่าธานัทพูดพาดพิงถึงสถาบันฯในทางร้าย
 
พ.ต.ท.พิพัฒน์ระบุด้วยว่าวันที่คลิปถูกเผยแพร่คือวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ส่วนบัญชีผู้ใช้ยูทูปซึ่งโพสต์วิดีโอคลิปตามฟ้องถูกปิดไปแล้ว คลิปวิดีโอก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่วนจำเลยจะมีส่วนรู้เห็นในคลิปดังกล่าวหรือไม่ พ.ต.ท.พิพัฒน์ไม่ทราบ
 
19 ตุลาคม 2558
 
พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 สั่งฟ้องธานัทในคดี 112 อีกหนึ่งคดีต่อศาลอาญา
 
22 ตุลาคม 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ที่ศาลทหาร ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ปากที่สอง แต่พยานไม่มาศาลเพราะติดราชการ ศาลจึงนัดสืบพยานใหม่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 
 
12 พฤศจิกายน 2558
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พ.ต.ท.วันพิชิต วัฒนศักดิ์มณฑา ผู้ถอดเทปการปราศรัย 
 
พ.ต.ท.วันพิชิตเป็นอดีตเจ้าหน้าที่สังกัด กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ปอท.) กอง 2 เบิกความโดยสรุปได้ว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะผู้ถอดเทปคลิปวิดีโอ เมื่อพ.ต.ท.วันพิชิตได้รับคลิปมาก็นำไปเปรียบเทียบกับคลิปเดียวกันที่อยู่บนเว็บไซต์ยูทูป จากนั้นจึงถอดความเฉพาะส่วนที่เห็นว่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯออกมาแล้วจึงส่งให้ณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯของสตช.พิจารณาทำความเห็นต่อไป ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าข้อความที่ธานัทพูดเข้าข่ายความผิด 
 
ในการถามค้าน ทนายจำเลยถามถึงความรู้สึกของพ.ต.ท.วันพิชิตที่มีต่อข้อความที่ธานัทปราศรัยว่า ตามความเข้าใจของพ.ต.ท.วันพิชิต ข้อความที่ธานัทพูดหมายถึงบุคคลใด มีการยกกรณีที่ธานัทพูดถึงโครงการในพระราชดำหริโครงการหนึ่งซึ่ง พ.ต.ท.วันพิชิตเห็นว่าการปราศรัยของธานัทในเรื่องนี้มีลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่ทนายซักค้านแย้งว่าน่าจะเป็นการวิจารณ์ที่ปัญหาการดำเนินโครงการซึ่งไม่น่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทตัวพระมหากษัตริย์ 
 
26 กุมภาพันธ์ 2559 และ 11 มีนาคม 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา
 
การสืบพยานในนัดวันที่ 26 กุมภาพันธ์เป็นการถามพยานของอัยการทหาร ส่วนนัดวันที่ 11 มีนาคม เป็นการถามค้านของทนายจำเลย 
 
การสืบพยานปากพ.ต.ท.โอฬารเน้นไปที่เนื้อหาของการปราศรัยตามวิดีโอคลิป พ.ต.ท.โอฬารเบิกความต่อศาลโดยสรุปได้ว่า แม้ธานัทจะไม่ได้เอ่ยพระนามหรือชื่อของบุลลใดออกมาโดยตรงระหว่างการปราศรัย แต่เชื่อว่าหากฟังทั้งหมดจะเข้าใจได้ว่าธานัทพูดถึงพระมหากษัตริย์ 
 
ในวันที่ 11 มีนาคม 2559 ทนายของธานัทยื่นประกันตัวธานัทเป็นครั้งที่เจ้ดโดยวางหลักทรัพย์ 600,000 บาท แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีหากได้รับการปล่อยตัว
 
21 มิถุนายน 2559
 
นัดสืบพยาน
 
วันนี้ทนาย ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพและแจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่าขอเปลี่ยนคำรับสารภาพ ระหว่างที่เขาและทนายของเขากำลังพูดคุยกัน เจ้าหน้าที่ศาลก็เข้ามาแจ้งว่า ศาลจะขึ้นบัลลังก์ช้าเพราะอัยการทหารเพิ่งยื่นคำร้องต่อศาล ทนายจำเลยถามเจ้าหน้าที่ศาลที่เข้ามาแจ้งว่า อัยการยื่นคำร้องอะไร เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ทราบแต่อาจจะเป็นคำร้องขอเปลี่ยนคำให้การ
 
เวลาล่วงมาถึงประมาณ 11.00 น. อัยการทหารเดินเข้ามาในห้องทนายจำเลยถามอัยการทหารว่ายื่นคำร้องอะไรต่อศาล อัยการทหารแจ้งว่าเป็นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ศาลนับโทษของคดีนี้ต่อจากคดีที่ศาลอาญา ทนายจำเลยจึงแจ้งกับอัยการทหารว่าจะแถลงคัดค้าน หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ศาลก็เดินเข้ามาแจ้งกับคนรักของธานัทและผู้มาร่วมสังเกตการณ์คนอื่นๆว่า คดีนี้ศาลสั่งพิจารณาลับ ขอให้ทุกคนออกจากห้อง
 
ประมาณ 12.00 น. กระบวนการพิจารณาก็จบลง ทนายเผยถึงกระบวนการในห้องพิจารณาว่า ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์แต่พยานโจทก์มาไม่ได้เพราะติดราชการ อัยการจึงจะแถลงขอให้ศาลเลื่อนสืบพยานออกไป แต่ฝ่ายจำเลยแถลงขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงให้งดสืบพยาน หลังจากนั้นอัยการก็แถลงต่อศาลขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเพิ่มเติมว่า ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากคดีที่ศาลอาญาเพิ่งพิพากษาลงโทษธานัท เป็นเวลา 7 ปี  6 เดือน
 
ทนายแถลงคัดค้านระบุว่าคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลอาญาและน่าจะฟ้องรวมกัน แต่กลับแยกฟ้องเป็นสองคดีที่ศาลอาญาหนึ่งคดี ที่ศาลทหารหนึ่งคดี ทำให้จำเลยต้องประสบความยากลำบากเกินสมควร 
 
หลังทนายจำเลยคัดค้านการแก้ไขคำฟ้องให้นับโทษต่อ ศาลจึงสั่งให้ทนายทำคำร้องคัดค้านมาภายในเจ็ดวัน และนัดคู่ความฟังคำสั่งเรื่องการนับโทษในวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 
 
11 กรกฎาคม 2559
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลนัดธานัทฟังคำพิพากษาโดยสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าสังเกตการณ์ 

เนื่องจากธานัทเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตั้งแต่ในนัดที่แล้ว ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกธานัทเป็นเวลาห้าปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกสามปีสี่เดือน 
 
ในส่วนที่จำเลยแถลงคัดค้านเรื่องการนับโทษต่อไว้ในนัดที่แล้ว ศาลมีคำสั่งให้นับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกเจ็ดปีหกเดือนในคดี 112 อีกคดีหนึ่งที่ศาลอาญา โดยรวมธานัทจะต้องถูกจองจำเป็นเวลา สิบปี สิบเดือน
 
17 กรกฎาคม 2562
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ธานัทได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพแล้ว ธานัทถูกศาลพิพากษาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมสองคดีและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาสิบปีสิบเดือน 
 
เนื่องจากธานัทเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม เมื่อการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2562 เขาจึงได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่งจากจำคุกสิบปีสิบเดือน เหลือจำคุกห้าปีห้าเดือน 
 
เนื่องจากธานัทรับโทษมาแล้วห้าปีแปดวัน เขาจึงเหลือเวลารับโทษอีกไม่เกินหนึ่งปี จึงเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการปล่อยตัว

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา