จาตุรนต์ : จัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

ผู้ต้องหา

จาตุรนต์ ฉายแสง

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

เมื่อคสช.ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 1/2557 เรียกจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเข้ารายงานตัว จาตุรนต์ไม่เข้ารายงานตัวตามกำหนดพร้อมทั้งโพสต์เฟซบุ๊กว่า เขาไม่ยอมรับการรัฐประหาร ต่อมาจาตุรนต์นัดหมายแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 หลังเขาแถลงข่าวไปได้ครู่หนึ่งก็ถูกทหารจับกุมตัว

จาตุรนต์ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารสองคืน หลังจากนั้นในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เขาถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามเพื่อตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จาตุรนต์ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเวลา 9 วัน จึงได้รับการประกันตัว 

ในวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เมื่อขึ้นศาลทหารจาตุรนต์ยื่นคำร้องคัดค้านว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีของเขา คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาล ซึ่งมีสั่งว่า ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช.ให้อยู่ในอำนาจศาลปกติ ส่วนความผิดข้อหามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร คดีที่ศาลทหารพิจารณาไปอย่างช้าๆ เริ่มสืบพยานนัดแรก 24 มกราคม 256024 มกราคม 2560 ส่วนคดีฐานไม่รายงานตัวเมื่อจำหน่ายแล้วก็ไม่มีความคืบหน้า

หลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 คสช. สั่งให้ย้ายคดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกติ ศาลอาญาจึงนัดสืบพยานต่อเนื่อง และมีคำพิพากษาในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 สรุปได้ว่าการแถลงข่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ผิดมาตรา 116 การจับกุมดำเนินคดีก่อนแสวงหาพยานหลักฐานครั้งนี้ขัดต่อหลักนิติธรรม และโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าจาตุรนต์โพสเฟซบุ๊กเอง จึงยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

   

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จาตุรนต์  จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจากนั้น สอบเข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งทำกิจกรรมนักศึกษาไปด้วยจนได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 ขณะที่ยังเรียนชั้นปีที่ 4 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการกวาดล้างผู้นำนักศึกษา ทำให้เขาต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าระยะหนึ่ง ใช้ชื่อจัดตั้งว่า "สหายสุภาพ" ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับเข้าเมืองและตัดสินใจไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่บัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา 
 
และกลับประเทศไทยเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2529 และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. บทบาททางการเมือง เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, ฝ่าฝืนประกาศคสช. 41/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือน ได้กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และตามความผิดตามประกาศ และคำสั่งคสช.อันเป็นความผิดที่ประกาศให้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร เพื่อให้การรักษาความสงบและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศคสช. ที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ทั้งอยู่ในระหว่างวันเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจาก สถานการณ์สถานการณ์ในขณะนั้นเกิดเกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศหลายๆพื้นที่ เป็นผลให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงชองชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของปราชนโดยรวม ซึ่งคสช.ได้ออกประกาศและคำสั่งให้บุคคลมารายงานตัวและรายงานตัวเพิ่มเติม โดยกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนฯ การที่จำเลยจัดแถลงข่าวด้วยถ้วยคำดังกล่าวให้กับผู้สื่อข่าว ทั้งผู้สื่อข่าวสำนักข่าวในประเทศไทยและผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ รวมทั้งการพิมพ์แล้วส่งข้อความของจำเลยเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชานด้วยตัวหนังสือโดยการนำข้อความดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยจำเลยมีเจตนาให้มีการเผยแพร่ถ้อยคำของจำเลยดังกล่าวให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟัง ทั้งนี้จำเลยซึ่งเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง และเป็นอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ย่อมเป็นที่สนใจของนักการเมืองและประชาชนทั่วไป คำแถลงดังกล่าวของจำเลยย่อมมีผู้คล้อยตามจำเลยต้องการให้ประชาชนรับรู้ถึงการที่จำเลยต่อต้านการเข้าควบคุมอำนาจของคสช. โดยให้ประชาชนเห็นว่าการเข้าควบคุมอำนาจของคสช.เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและคำสั่งหรือประกาศที่ออกโดยคสช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำให้ปรากกฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด เพื่อต่อต้านการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคสช. อันเป็นการยุยงปลุกปั่นทำลายความน่าเชื่อถือของคสช. เพื่อให้เกิดการปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และให้เพื่อให้ประชาชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของคสช. อันเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินซึ่งมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  ขอให้ลงโทษความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 368 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

พฤติการณ์การจับกุม

27 พฤษภาคม 2557

ข่าวสดอนไลน์  รายงานว่า เวลาประมาณ  14.15 น. จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวของคสช. แต่ไม่ได้ไปรายงานตัว เดินทางไปเป็นวิทยากร พูดเรื่องผลกระทบของการรัฐประหาร ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย

ต่อมาในเวลาประมาณ 15.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมตัวจาตุรนต์ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ ท่ามกลางผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก ที่บันทึกภาพการจับกุม และเผยแพร่เหตุการณ์ไปทั่วโลก จาตุรนต์ตะโกนบอกผู้ที่มาร่วมงานแถลงข่าวเป็นคำสุดท้ายว่า "ไม่ต้องห่วงผมครับ"  

จาตุรนต์ถูกควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับซึ่งน่าจะเป็นค่ายทหารเป็นเวลาสองคืน เขาปรากฎตัวอีกครั้งในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเขามาตั้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปราม 

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.3055/2562

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ, ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
22 พฤษภาคม 2557
 
คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 1/2557 เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว ภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ชื่อของจาตุรนต์ปรากฎในคำสั่งฉบับดังกล่าวด้วยแต่จาตุรนต์ไม่ได้มารายงานตัวตามวันเวลาที่ประกาศไว้
 
23 พฤษภาคม 2557
 
เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า จาตุรนต์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ้กส่วนตัว ต่อกรณีการไม่เข้ารายงานตัวว่า

"ความเห็นต่อการยึดอำนาจ และการรายงานตัว
 
สวัสดีครับทุกท่าน ในหลายสิบปีมานี้ผมได้แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาตลอด และยังได้เคยให้ความเห็นไว้หลายครั้งว่าไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในสังคม การรัฐประหารจะยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้นเสมอ วันนี้ผมก็ยังมีความเห็นอย่างเดิมคือไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ และเห็นว่าการยึดอำนาจไม่ใช่ทางออกของประเทศ หากมีแต่จะยิ่งทำให้ประเทศมีปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ และจะเรียกร้องผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการใด ๆ ของผมจะยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ผลประโยชน์ของประเทศชาติและโดยสันติวิธี
 
สำหรับกรณีที่มีการให้ผมกับนักการเมืองและบุคคลจำนวนมากไปรายงานตัวต่อ คสช.นั้น ขอเรียนว่าเมื่อผมไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ และเห็นว่าการยึดอำนาจนี้ไม่เป็นการแก้ปัญหาของบ้านเมือง และไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ผมจึงไม่อาจไปรายงานตัวต่อ คสช.ได้ ทั้งนี้มิใช่ว่าผมต้องการจะไปกระทำการอะไรที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองตามปรกติ และก็มิได้ต้องการจะก่อความไม่สงบใด ๆ ทราบจากเพื่อนรัฐมนตรีบางคนที่เข้าไปรายงานตัวว่าบางท่านได้รับแจ้งว่า รมต.ที่ถูกกักตัวไว้จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อ รมต.ทุกคนมารายงานตัวกันครบแล้ว ผมก็เลยกลายเป็นภาระต่อท่านเหล่านั้น
 
หากกรณีเป็นเช่นนั้นจริงผมก็ไม่ขัดข้องที่จะไปพบกับ คสช. เพียงแต่ว่าคงต้องขอที่จะไม่ไป"รายงานตัว" หากคสช.จะกรุณาก็ขอให้ช่วยมารับตัวหรือจะเรียกว่าคุมตัวไปพบกับ คสช.ก็ได้ ในเวลาที่เหมาะสม ผมจะได้ประสานติดต่อเพื่อการนี้ต่อไป
 
อยากจะเรียนยืนยันต่อทุกฝ่ายทุกท่านด้วยความเคารพว่าในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีมานี้ รวมทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผมไม่มีความผิดหรือข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายใด ๆติดตัวอยู่เลยแม้แตเรื่องเดียว และก็ไม่ต้องการที่จะทำผิดกฎหมาย (ปรกติและที่ชอบธรรม)ใด ๆด้วย ผมจึงมิได้คิดจะหลบหนีเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายแต่อย่างใด
 
จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน"
 
24 พฤษภาคม 2557
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า คสช.ออกคำสั่ง ฉบับที่ 10/2557 ห้ามมิให้นายจาตุรนต์ทำธุรกรรมทางการเงินทุกทาง เพื่อป้องกัน ระงับ มิให้กระทำการช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านการเงินแก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการ หรือมีการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
 
27 พฤษภาคม 2557
 
ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า จาตุรนต์ถูกจับกุมตัว ระหว่างการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 
 
29 พฤษภาคม 2557
 
สารวัตรทหารควบคุมตัวจาตุรนต์ไปยังกองปราบปราม และเมื่อไปถึงก็ให้ขึ้นไปยังห้องประชุมทันที ไม่อนุญาตให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ต่อมาพนักงานสอบสวนต่างทยอยกันเข้าปฏิบัติหน้าที่
 
เวลาประมาณ 18.30 น. สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปราม นำตัวจาตุรนต์ มายังศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผลัดที่ 1 ระยะเวลา 12 วัน ระหว่างการพิจารณาคดี ในฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และความผิดตามาตรา 116 สร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
 
จาตุรนต์ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลทหารกรุงเทพฯ
 
ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากจาตุรนต์เป็นผลัดที่หนึ่ง เป็นเวลา 12 วัน โดยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
 
6 มิถุนายน 2557
 
เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพนำตัวจาตุรนต์ไปฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ฐิติมา ฉายแสง น้องสาวของจาตุรนต์ พร้อมทนายความจากสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเดินทางไปที่ศาลทหาร เพื่อยื่นคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกัน
 
เวลา 10.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ไต่การคัดค้านคำร้องขอฝากขัง ที่พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการกองปราบปรามยื่นขอฝากขังจาตุรนต์ ต่อเป็นผลัดที่สอง
 
พนักงานสอบสวนชี้แจงต่อศาลว่า ขณะนี้ยังสอบพยานบุคคลยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ก็ต้องรอผลการตรวจสอบพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นคลิปคำแถลงของจาตุรนต์ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ จากกองพิสูจน์หลักฐานกลาง และต้องรอการตรวจสอบ ประวัติอาชญากรรมด้วย
 
ศาลถามพนักงานสอบสวนว่า ในช่วงที่ผ่านมาดำเนินการสอบสวนจาตุรนต์แล้วเสร็จหรือไม่ พร้อมกับขอให้ยืนยันเหตุผล ของการขอฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง พนักงานสอบสวนตอบว่าสอบสวนจาตุรนต์เสร็จแล้ว และขอยืนยันเหตุผลในการฝากขัง
 
ศาลถามจาตุรนต์ว่า จะคัดค้านการขอฝากขังเป็นผลัดที่สองหรือไม่ จาตุรนต์ลุกขึ้นยืนชี้แจงว่า ขอคัดค้านการฝากผลัดที่สอง เพราะเห็นว่าระหว่างการฝากครั้งผลัดแรกจำนวน 12 วัน พนักงานสอบสวนสามารถตรวจสอบพยานให้แล้วเสร็จได้
 
สำหรับการรอผลจากกองพิสูจน์หลักฐานกลางนั้น ตนเห็นว่าเจ้าหน้าที่ควรตรวจสอบคลิปให้เสร็จก่อน แล้วจึงแจ้งข้อกล่าวหา  
 
สำหรับการตรวจสอบทะเบียนประวัติอาชญากรรม ตนมีอาชีพเป็นนักการเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาหลายสมัย จึงไม่มีประวัติทางอาชญากรรมอย่างแน่นอน จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องฝากขังต่อไป
 
การแจ้งข้อกล่าวหาทั้งการคัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การรายงานตัวฉบับที่ 1/2557 และข้อกล่าวหาว่าการแถลงข่าวเป็นการยุยง ส่งเสริมถือเป็นข้อหาที่หนัก ตนจำเป็นต้องมีทนายความ และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในการต่อสู้คดี เพราะตนถือเป็นพลเรือนคนแรกในรอบ สิบปีที่ขึ้นศาลทหาร หากถูกควบคุมตัว จะทำให้เสียสิทธิในการต่อสู้คดี และที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี จะเห็นได้ว่าในวันแถลงข่าวตนยอมให้เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว
 
ในเวลาต่อมา ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังจาตุรนต์ต่อเป็นผลัดที่สอง ระหว่างวันที่ 9-20 มิถุนายน เป็นเวลา 12 วัน ในเวลา14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวจาตุรนต์ชั่วคราว ด้วยวงเงินประกัน 400,000 บาท พร้อมห้ามออกนอกประเทศ ห้ามร่วมชุมนุมและแสดงความเห็นทางการเมือง
 
15 ตุลาคม 2557
 
นัดสอบคำให้การ
 
จาตุรนต์เดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.30 น. โดยก่อนหน้านั้นมีผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่ง ประมาณ 20-30คนมายืนรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อจาตุรนต์มาถึง ผู้สนับสนุนก็มอบดอกไม้ให้ จาตุรนต์ทักทายผู้มาให้กำลังใจอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว และเดินเข้าไปในอาคารกรมพระธรรมนูญทันที
 
จาตุรนต์เดินเข้าห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.30 น. ในห้องพิจารณาคดีนอกจากจะมีคู่ความและผู้ติดตามของจาตุรนต์แล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน และแคนาดา รวมทั้งตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลอยู่ด้วย 
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 11.25 น. ศาลแจ้งว่าที่ขึ้นบัลลังก์ช้า เป็นเพราะจำเลยเดินทางมาถึงสายและยื่นเอกสารคำร้องซึ่งมีหลายหน้า ทำให้ศาลต้องใช้เวลาในการพิจารณา
 
ศาลแจ้งกับโจทก์ว่า จำเลยยื่นคำร้องสองข้อ ข้อแรก จำเลยขอคัดค้านอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร ข้อที่สอง จำเลยร้องว่า ประกาศคสช ฉบับที่ 37 และ 38 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ศาลถามโจทก์ว่าจะคัดค้านคำร้องของจำเลยหรือไม่ โจทก์แจ้งต่อศาลว่าจะยื่นคัดค้าน โดยจะยื่นเอกสารต่อศาลภายใน 30 วัน ทนายจำเลยก็แจ้งต่อศาลว่าจะขอยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายในสามสิบวันเช่นกัน
 
ศาลจึงสั่งว่าให้คู่ความทั้งสองยื่นเอกสารภายใน 30 วัน เพื่อที่ศาลทหารจะได้ส่งคำร้องของทั้งสองฝ่ายไปให้ศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อทราบคำวินิจฉัยจะมีการนัดฟังคำสั่งอีกครั้ง 
 
สำหรับกรณีที่จาตุรนต์ขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศนั้น ศาลอนุญาตแต่ขอให้มารายงานตัวหลังจากที่เดินทางกลับมาแล้ว
 
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา ตัวแทนคณะทนายความของจาตุรนต์ แถลงข่าวที่หน้าอาคารกรมพระธรรมนูญ สรุปความได้ว่า
 
เหตุที่คณะทนายความเห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารเป็นเพราะ
 
1. การกระทำของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 และวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 และสิ้นสุดลงก่อนที่ประกาศคสช. ฉบับที่ 37 และ 38 (เรื่องคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร)จะมีผลบังคับใช้ โดยประกาศทั้งสองฉบับ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 คดีของจำเลยจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลทหาร
 
2. ประกาศคสช. ฉบับที่ 37 และ 38 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพราะมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว
 
ข้อนี้ ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตั้งแต่เดือนมกราคม 2540 ซึ่งกติกาดังกล่าว กำหนดให้พลเมืองมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย เป็นธรรม โดยคณะตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง รวมทั้งสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกาได้
 
การดำเนิคดีต่อจำเลยซึ่งเป็นพลเรือน ในศาลทหาร ระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งมีการพิจารณาเพียงชั้นเดียว ไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกา ถือว่าขัดต่อทั้งมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
จากเหตุผลที่ชี้แจงมาทั้งสองข้อข้างต้น จาตุรนต์จะยังไม่ให้การในวันนี้ แต่จะขอให้ศาลทหารกรุงเทพ ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อให้มีคำวินิจฉัย และจะให้การภายหลังจากมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้ว   
 
25 เมษายน 2559
 
ศาลทหารนัดจาตุรนต์ฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลซึ่งสรุปได้ว่า ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คดีอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลยุติธรรม (ศาลพลเรือน) แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กและการจัดแถลงข่าวเรื่องการไม่เข้ารายงานตัวนั้นอยู่ในอำนาจศาลทหาร
 
1 มิถุนายน 2559 
 
นัดสอบคำให้การ
 
เวลา 08.30 น. ศาลทหารกรุงเทพฯ จาตุรนต์เดินทางมา พร้อมนรินท์พงศ์  นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อสอบคำให้การ  ศาลทหารได้นัดตรวจคำให้การที่ฝ่ายจาตุรนต์ยื่นไปประมาณ 3-4 หน้า และอ่านคำฟ้องให้ฟังอย่างละเอียด  หลังจากนั้นจาตุรนต์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าว ก่อนที่ศาลจะนัดตรวจพยายานอีกทีวันที่ 25 สิงหาคม 2559  นี้ เวลา 08.30 น.
 
ซึ่งบรรยากาศที่ศาลวันนี้ มีกลุ่มประชาชนประมาณ 20-30 คน เดินทางมาให้กำลังใจจาตุรนต์ โดยมอบดอกกุหลาบสีแดง ก่อนที่จาตุรนต์จะเดินเข้าไปในศาล  นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่สถานทูต และองค์กรสิทธิมนุษยชนได้มาสังเกตการคดีอีกด้วย
 
25 สิงหาคม 2559
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
24 มกราคม 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ในการสืบพยานโจทก์นัดแรกมีผู้สนใจมาเข้าร่วมฟังการสืบพยานครั้งนี้ประมาณ 15 คน โดยมีผู้แทนจากสถานทูตอังกฤษ สวีเดน และเยอรมันนี รวมอยู่ด้วย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.วิทยา สังฆบุญชู สังกัดฝ่ายวิชาการ กรมพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหา
 
พ.ต.วิทยา เบิกความว่า ช่วงปี 2553 – 2558 รับราชการเป็นนายทหารพระธรรมนูญประจำกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ มีหน้าที่สืบสวนคดีอาญาและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ขณะเกิดเหตุมีอำนาจพิเศษตามกฎอัยการศึก เกี่ยวกับคดีนี้พ.ต.วิทยาเป็นผู้กล่าวหาจาตุรนต์ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว ขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ แสดงความเห็นไปในทางส่อทุจริตและเข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ในขณะที่เบิกความเรื่องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พ.ต.วิทยาตอบวกไปวนมาเหมือนจำเนื้อความของกฎหมายไม่ได้ อัยการทหารจึงให้บอกมาตราเลย) รวมทั้งความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากนั้นพ.ต.วิทยาหันไปชี้ตัวจาตุรนต์ที่นังอยู่ในห้องพิจารณาคดี
 
พ.ต.วิทยาเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นทำการยึดอำนาจและออกประกาศคำสั่งต่างๆ เพื่อบริหารประเทศ มีการประกาศกฎอัยการศึกและประกาศใช้กฎหมายพิเศษอื่นๆ เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 1/2557 สั่งให้บุคคลที่มีรายชื่อตามคำสั่งเข้ารายงานตัวที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งมีชื่อจาตุรนต์รวมอยู่ด้วย 
 
อัยการทหารให้พ.ต.วิทยาดูใบลงทะเบียนรับรายงานตัว พ.ต.วิทยาเบิกความยืนยันว่าจาตุรนต์ไม่ได้ลงชื่อเข้ารายงานตัวในเอกสารดังกล่าว พ.ต.วิทยาเบิกความต่อว่า ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 2/2557 เปลี่ยนสถานที่รายงานตัวเป็นหอประชุมกองทัพบกเทเวศน์ และสั่งให้ผู้ที่ยังไม่เข้ารายงานตัวเข้ารายงานตัว หลังจากนั้นคสช.ก็ออกประกาศฉบับที่ 25/2557 (เฉพาะ) ให้ผู้ที่ยังไม่เข้ารายงานตัวแจ้งเหตุขัดข้องและกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง
 
อัยการทหารถามพ.ต.วิทยาว่าประกาศคำสั่งคสช.เผยแพร่ทางไหนบ้าง พ.ต.วิทยาตอบว่าเผยแพร่ผ่านทั้งโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง สิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ต่างๆ อัยการทหารถามต่อว่านอกจากมีการออกคำสั่งเรียกตัวจาตุรนต์หรือบุคคลสำคัญอื่นๆรายงานตัวแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศใดเพื่อควบคุมสถานการณ์อีกบ้าง พ.ต.วิทยาตอบว่ามีการออกประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยสถานการณ์ในขณะนั้นมีประชาชนออกมาชุมนุมทั้งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการจับผู้ชุมนุมและแกนนำบางส่วน 
 
พ.ต.วิทยา เล่าต่อว่า ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 จาตุรนต์จัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยโดยแถลงข่าวเป็นภาษาอังกฤษสรุปความได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของคสช. อัยการทหารขออนุญาตศาลเปิดคลิปการแถลงข่าว ศาลอนุญาต เมื่อเปิดไปได้ครู่หนึ่งอัยการทหารถามศาลว่าจะเปิดคลิปจนจบหรือจะปิดเลย ทนายจำเลยแถลงขอให้เปิดจนจบ อัยการทหารไม่ค้าน ศาลจึงให้เปิดคลิปต่อจนจบ 
 
หลังเทปการแถลงข่าวจบ อัยการทหารถามพ.ต.วิทยาว่านอกจากการแถลงข่าวจาตุรนต์มีการดำเนินการอย่างอื่นหรือไม่ พ.ต.วิทยาตอบว่าจาตุรนต์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กชื่อ Chaturon Chaisang ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ในทำนองให้ประชาชนต่อต้าน คสช. รวมทั้งประกาศคำสั่งต่างๆ และเรียกร้องให้มีการคืนอำนาจ ข้อความที่จาตุรนต์โพสต์ทำให้ผู้อื่นเชื่อเพราะจาตุรนต์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ผู้อ่านจึงคล้อยตาม ซึ่งในช่วงที่จาตุรนต์โพสต์ข้อความและแถลงข่าว บ้านเมืองก็วุ่นวายไม่มีความสงบ การโพสต์ข้อความของจาตุรนต์จึงเข้าข่ายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ทำให้เกิดความวุ่นวาย เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน ไม่ใช่การติชมโดยสุจริต เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 
 
อัยการทหารถามว่าเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมจาตุรนต์โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด พ.ต.วิทยาตอบว่า อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก โดยจับกุมหลังการแถลงข่าว อัยการทหารให้พ.ต.วิทยายืนยันภาพถ่ายขณะเจ้าหน้าที่ทำการจับกุม พ.ต.วิทยารับรองว่าเป็นตามนั้น สำหรับคดีนี้ พ.ต.วิทยารับมอบอำนาจจากทาง คสช. มาดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษจาตุรนต์ 
 
เนื่องจากการสืบพยานดำเนินมาถึงเวลาใกล้เที่ยง ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าขอให้ไปสืบพยานต่อในช่วงบ่ายเพราะทนายมีคำถามหลายข้อจะใช้เวลานาน แต่พ.ต.วิทยาแจ้งศาลว่ามีราชการไม่สามารถอยู่เบิกความในช่วงบ่ายได้ และไม่สามารถมาศาลได้จนถึงเดือนเมษายน ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ปากนี้นัดต่อไปในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 โดยศาลให้เวลาสืบนัดหน้าเต็มวัน
 
17 พฤษภาคม 2560
  
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.วิทยา สังฆบุญชู สังกัดฝ่ายวิชาการ กรมพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหา
 
เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลทหารกรุงเทพเริ่มสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.วิทยาต่อโดยในนัดนี้เป็นการการถามค้านของทนายจำเลย ในวันนี้มีผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตฝรั่งเศส เยอรมัน โปแลนด์ และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมาร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งมีผู้สังเกตการณ์ซึ่งเป็นเพื่อนของจาตุรนต์มาด้วยอีกประมาณสิบกว่าคน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.วิทยาเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ในช่วงปี 2553 – 2558 รับราชการเป็นนายทหารพระธรรมนูญที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายให้กับผู้บังคับบัญชาทั้งกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา และมีหน้าที่สอบสวนคดีอาญาที่ผู้กระทำเป็นทหารไม่ใช่พลเรือน 
 
ทนายจำเลยถามว่า กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์เป็นกำลังหลักในการรัฐประหารใช่หรือไม่ พ.ต.วิทยาตอบว่ากรมทหารราบที่ 21 สังกัดกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งกองพลดังกล่าวเป็นกองกำลังส่วนหนึ่งที่ร่วมยึดอำนาจแต่จะเป็นกำลังหลักหรือไม่ ตนไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าการยึดอำนาจหรือทำรัฐประหารของคสช.เป็นการเข้าสู่อำนาจเป็นการเข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางประชาธิปไตยหรือไม่ พ.ต.วิทยารับว่า ไม่ใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าเมื่อคสช.ยึดอำนาจก็ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลถูกต้องหรือไม่ พ.ต.วิทยารับว่า ใช่ ศาลแย้งทนายจำเลยว่าคำถามที่ถามเป็นประเด็นในคดีหรือไม่ ทนายจำเลยตอบศาลว่ามีความจำเป็นที่จะต้องถามเพื่อโยงเข้าสู้ประเด็นแห่งคดี
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.วิทยาว่า การยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 หรือความผิดฐานกบฎหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ.2557 ที่ระบุให้การกระทำทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการยึดอำนาจวันที่ 22พฤษภาคม 2557 ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ พึ่งจะออกมาในภายหลัง
 
อัยการทหารแย้งว่า คำถามของทนายจำเลยเป็นการสอบถามความคิดเห็นของพยาน ส่วนศาลก็เตือนให้ทนายจำเลยถามให้เข้าประเด็น ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าจำเป็นต้องถามคำถามนี้เพื่อโยงเข้าสู่ประเด็นแห่งคดี จากนั้นจึงถามพ.ต.วิทยาอีกครั้ง พ.ต.วิทยาตอบว่าตามความเห็นของตนเอง การยึดอำนาจอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่ในภายหลังรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้บัญญัติให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิด
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.วิทยาว่า กฎหมายฉบับใดที่ให้อำนาจผู้ที่ยึดอำนาจสำเร็จในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ พ.ต.วิทยาตอบว่า จำไม่ว่ากฎหมายใดให้อำนาจไว้ แต่ทราบว่าผู้ที่ยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฎฐาธิปัตย์และออกประกาศคำสั่งที่มีสถานะเป็นกฎหมาย 
 
ทนายจำเลยถามว่าทราบหรือไม่ว่าก่อนเกิดการรัฐประหารจาตุรงค์ดำรงตำแหน่งใด พ.ต.วิทยาตอบว่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
 
ทนายจำเลยขอให้พ.ต.วิทยาเล่าถึงขั้นตอนการร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย พ.ต.วิทยาตอบว่า หลังการยึดอำนาจ กรมทหารราบที่  21 ต้นสังกัดของตนเข้ามาตั้งหน่อยเคลื่อนที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีการประชุมเรื่องการควบคุมสถานการณ์ระหว่างหน่วยของตนกับหน่วยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยในขณะนั้นจำเลยในคดีนี้ถูกควบคุมตัว เนื่องจากกรมทหารราบที่ 21 เป็นหน่วยงานที่ปฎิบัติการควบคุมตัวจำเลย ตนจึงได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในคดีนี้
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.วิทยาว่าในวันที่ไปร้องทุกข์ครั้งแรกเป็นการร้องทุกข์เฉพาะข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวใช่หรือไม่ พ.ต.วิทยารับว่า ใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าตอนไปร้องทุกข์มีเอกสารหลักฐานใดไปมอบให้พนักงานสอบสวนหรือไม่ พ.ต.วิทยาตอบว่า ไม่มี
 
ทนายจำเลยขอให้พ.ต.วิทยาเล่าถึงการร้องทุกข์จำเลยเพิ่มเติมในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ต.วิทยาตอบว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปดูพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่าจำเลยทำความผิดทางอาญาอื่นอีกหรือไม่

เมื่อตรวจสอบจากเฟซบุ๊กชื่อ 'Chaturon Chaisang' ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยและมีภาพของจำเลยโพสต์ข้อความว่าจะไม่เข้ารายงานตัว จึงทำการตรวจสอบและบันทึกหน้าจอไว้ รวมทั้งยังได้รับแผ่นบันทึกภาพเคลื่อนไหวที่จำเลยไปแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยมาเป็นหลักฐานด้วย จึงมีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีจำเลยเพิ่มเติม 
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.วิทยาว่า ใครเป็นผู้จัดทำแผ่นบันทึกการแถลงข่าว พ.ต.วิทยาตอบว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดทำและจำไม่ได้ว่าบุคคลใดเอามาให้ ทนายจำเลยถามว่าเหตุใดจึงเชื่อว่าเฟซบุ๊กบันทึกภาพหน้าจอมาเป็นเฟซบุ๊กของจำเลย พ.ต.วิทยาตอบว่าเพราะเป็นชื่อและภาพของจำเลยและเห็นจากที่คนมาคอมเมนท์ ทนายจำเลยถามต่อว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์กับข้อความที่จำเลยแถลงข่าวเหมือนกันหรือไม่ พ.ต.วิทยาตอบว่า ไม่ทราบเหมือนกันหรือไม่เพราะการแถลงข่าวเป็นภาษาอังกฤษ
 
ทนายจำเลยถามว่า ในการทำความเห็นว่าจะร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยหลังมีการรวบรวมหลักฐานใช้เวลานานแค่ไหน พ.ต.วิทยาตอบว่ามีการนำหลักฐานมาปรึกษาพูดคุยระหว่างนายทหารพระธรรมนูญประมาณหนึ่งถึงสองวัน จึงมีความเห็นว่าสมควรดำเนินคดีกับจำเลย ตนเองจึงได้ทำความเห็นเสนอต่อผู้บังคับบัญชาต่อไป
 
การสืบพยานดำเนินมาถึงเวลาประมาณเกือบ 12.00 น. ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่ามีคำถามที่ต้องการซักค้านพยานปากนี้อีกจำนวนมาก จึงขอให้ศาลพักการพิจารณาไว้ก่อนแล้วไปสืบพยานต่อในช่วงบ่าย พ.ต.วิทยาแถลงต่อศาลว่า ตนเองติดราชการต้องเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงบ่าย จึงขอให้เลื่อนไปสืบพยานต่อในนัดหน้า ซึ่งคู่ความทั้งหมดว่างตรงกันในวันที่ 1 กันยายน 2560 
 
1 กันยายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลทหารกรุงเทพ อัยการทหารแถลงขอนำพยานโจทก์ปากที่หนึ่งเข้าเบิกความต่อโดยในนัดนี้เป็นการถามค้านของทนายจำเลยต่อจากนัดวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ในห้องพิจารณาคดีมีทีมงานของจาตุรนต์และคนรู้จักของจาตุรนต์ร่วมฟังการสืบพยานประมาณ 20 คน สำหรับผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศในวันนี้มีเพียงสถานทูตเยอรมันที่ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองมาร่วมฟังการสืบพยาน
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.วิทยา สังฆบุญชู สังกัดฝ่ายวิชาการ กรมพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหา
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน (ถามต่อจากนัดที่แล้ว)
 
ทนายจำเลยย้อนถามถึงการบันทึกภาพหน้าจอว่าพ.ต.วิทยาทำขึ้นก่อนหรือหลังจาตุรนต์ถูกควบคุมตัว พ.ต.วิทยาตอบว่าทำขึ้นหลังจากที่จาตุรนต์ถูกควบคุมตัว ทนายจำเลยถามต่อว่าจำได้หรือไม่ว่าข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ถูกโพสต์ในวันใด พ.ต.วิทยาตอบว่าจำไม่ได้ แต่ในภายหลังเมื่อถูกทนายจำเลยถามทำนองว่าพ.ต.วิทยาไปร้องทุกข์กล่าวโทษการกระทำของจำเลยโดยไม่ทราบวันหรือเวลาเกิดเหตุเลยหรือ พ.ต.วิทยาชี้แจงว่าในวันที่ไปร้องทุกข์ตนทราบวันเกิดเหตุแต่ที่เบิกความว่าไม่ทราบเนื่องจากปัจจุบันลืมวันที่ไปแล้วเพราะเหตุการณ์ผ่านมานานมาก
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.วิทยาต่อว่าการบันทึกภาพหน้าจอ พ.ต.วิทยาเป็นผู้ทำแต่เพียงผู้เดียวใช่หรือำไม่ พ.ต.วิทยารับว่าใช่ ทนายจำเลยถามพ.ต.วิทยาว่าไปให้ปากคำเกี่ยวกับคดีนี้ที่กองปราบฯกี่ครั้ง พ.ต.วิทยาตอบว่าสามครั้งขึ้นไป แต่ไม่แน่ใจว่าทุกครั้งที่ไปมีการลงบันทึกประจำวันไว้หรือไม่

ทนายจำเลยถามต่อว่าการบันทึกภาพหน้าจอหน้าจอนั้นทำก่อนหรือหลังไปให้ปากคำครั้งแรก พ.ต.วิทยาตอบว่าจำไม่ได้

ทนายจำเลยถามต่อว่าผู้ใดเป็นผู้แจ้งให้พ.ต.วิทยานำเอกสารหลักฐานดังกล่าวไปมอบให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติม พ.ต.วิทยาตอบว่าเป็นพนักงานสอบสวนติดต่อมา 
 
ทนายจำเลยถามว่าการเข้าถึงข้อความบนเฟซบุ๊กของจาตุรนต์ต้องเข้าถึงอย่างไร พ.ต.วิทยาตอบว่าตนต้องกดขอเป็นเพื่อนจาตุรนต์และให้จาตุรนต์รับเป็นเพื่อนก่อนจึงจะเข้าไปดูได้ ที่เข้าไปติดตามดูจาตุรนต์เนื่องจากชื่นชอบจาตุรนต์เป็นการส่วนตัวแต่จำไม่ได้ว่าเป็นเพื่อนกันบนเฟซบุ๊กเมื่อใด

ทนายจำเลยถามว่า ที่มีการดำเนินคดีกับจาตุรนต์ พ.ต.วิทยาทราบหรือไม่ว่าเป็นเพราะเหตุใด พ.ต.วิทยาตอบว่าทราบแต่เพียงเหตุผลที่ปรากฎตามเอกสารที่มอบหมายให้ตนไปกล่าวโทษจาตุรนต์แต่ไม่ทราบเหตุผลนอกเหนือจากนั้น 
 
ทนายจำเลยย้อนถามว่าที่พ.ต.วิทยาเบิกความในนัดก่อนว่าเชื่อว่าเฟซบุ๊กที่เป็นเหตุแห่งคดีเป็นของจาตุรนต์จริง ที่เบิกความเช่นนั้นเป็นเพียงความเข้าใจของพ.ต.วิทยาใช่หรือไม่ พ.ต.วิทยาได้ทำการตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์หรือได้อ่านรายงานเรื่องการตรวจพิสูจน์จากกระทรวงไอซีทีหรือไม่ พ.ต.วิทยารับว่าที่เบิกความไปเป็นเพียงความเข้าใจของตน ตนไม่ได้ดูรายงานหรือทำการตรวจสอบต่อ
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.วิทยาการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรต้องจะทำได้ต่อเมื่อมีประกาศพระบรมราชโองการใช่หรือไม่ พ.ต.วิทยารับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่มีบทบัญญัตินิรโทษการกระทำของคสช.ที่อาจขัดต่อกฎหมายจะประกาศใช้ คสช.เคยออกประกาศคำสั่งฉบับใดที่เป็นการนิรโทษกรรมให้ตัวเองหรือไม่ พ.ต.วิทยาตอบว่าไม่ทราบ
|
ทนายจำเลยถามต่อว่าหากไม่มีเท่ากับว่าในช่วงเวลานั้นหากมีเหตุการณ์ที่ทำให้การรัฐประหารไม่สำเร็จคสช.อาจมีความผิดฐานกบฎตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ใช่หรือไม่ อัยการแถลงค้านว่าคำถามนี้เป็นการตีความกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่ของศาล ขณะศาลก็แสดงความกังวลว่าการถามความของทนายจำเลยอาจเป็นการพาดพิงบุคคลอื่น

ทนายจำเลยแถลงว่าจำเป็นต้องถามคำถามนี้เนื่องจากเกี่ยวข้องกับข้อหาที่จาตุรนต์ถูกกล่าวหาว่าไม่เข้ารายงานตัว เนื่องจากขณะนั้นสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน ศาลแย้งว่าคดีไม่รายงานตัวไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารแล้ว ให้ทนายจำเลยถามความประเด็นอื่น
 
ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.วิทยาว่าทราบหรือไม่ว่าการยึดอำนาจของคสช.ถือว่าสำเร็จเมื่อใด พ.ต.วิทยาตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามว่าทราบหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ถูกยกเลิกโดยคสช. เป็นฉบับที่มีผลบังคับใช้หลังการทำประชามติของประชาชน พ.ต.วิทยาตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามว่าทราบหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีบทบัญญัติว่าประชาชนชาวไทยมีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญและมีสิทธิต่อต้านโดยสันติต่อการเข้าสู่อำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญปี 2550 พ.ต.วิทยาตอบว่าข้อนี้ทราบ 
 
ทนายจำเลยขอให้พ.ต.วิทยาขีดเส้นใต้ถ้อยคำบนสเตตัสเฟซบุ๊กที่พ.ต.วิทยาบันทึกภาพหน้าจอมาเป็นหลักฐานในคดีนี้ ว่าถ้อยคำใดที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อัยการทหารแย้งว่าการถามลักษณะนี้เป็นการตีความกฎหมาย พยานปากนี้เป็นเพียงผู้กล่าวหาคงไม่ทราบเรื่องนี้ หากเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญอัยการทหารก็จะไม่ค้านการถามประเด็นนี้ ทนายจำเลยชี้แจงว่าพยานเป็นผู้กล่าวหา จึงต้องมีความเห็นเบื้องต้นว่าข้อความใดน่าจะเป็นความผิดจึงได้นำไปร้องทุกข์

ทนายจำเลยชี้แจงด้วยว่าข้อความที่นำมาฟ้องเป็นข้อความที่ยาวและคงไม่ใช่ทั้งหมดที่เข้าข่ายความผิด จึงขอให้พ.ต.วิทยาช่วยระบุให้ชัดเจนเพื่อที่ทนายจำเลยจะได้นำไปเตรียมการสู้คดี ทนายจำเลยชี้แจงด้วยว่าหากจะไม่ให้ถามค้านประเด็นนี้ตัวพ.ต.วิทยาต้องแถลงว่าข้อความทั้งหมดเป็นความผิด ทนายจำเลยจึงจะไม่ถามต่อ ศาลแจ้งกับคู่ความว่าเนื่องจากข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ตัวพ.ต.วิทยาเป็นผู้ทำการบันทึกภาพหน้าจอและพ.ต.วิทยาก็เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจึงอนุญาตให้ทนายจำเลยถามคำถามข้อนี้ 
 
เนื่องจากขนาดตัวอักษรของข้อความบนภาพบันทึกหน้าจอมีขนาดเล็กและพ.ต.วิทยาไม่ได้นำแว่นตามา ศาลจึงให้หน้าบัลลังก์ไปหาแว่นขยายมา แต่เนื่องจากขณะนั้นใกล้เวลาเที่ยงและทนายจำเลยก็แถลงว่ายังมีคำถามอีกจำนวนหนึ่งที่ติดใจถามพยานปากนี้ต่อจึงขอให้ศาลเลื่อนไปสืบพยานปากนี้ต่อในนัดต่อไป

ศาลแจ้งกับคู่ความว่าเนื่องจากการสืบพยานคดีนี้ล่าช้ามามากแล้วอยากจะให้พยายามนัดวันต่อเนื่องกัน แต่เมื่อทำการนัดหมายคู่ความและศาลมีวันว่างไม่ตรงกันที่จะนัดสืบพยานต่อเนื่องแต่ก็ได้ตกลงนัดวันสืบไว้ล่วงหน้าสามนัดในวันที่ 22 ธันวาคม 2560 วันที่ 25 มกราคม 2561 และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561   

22 ธันวาคม 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.ต.วิทยา สังฆบุญชู สังกัดฝ่ายวิชาการ กรมพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหา
 
ศาลเริ่มการสืบพยานในเวลาประมาณ 9.30 น. ในวันนี้นอกจากจะมีตัวแทนจากสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยมาสังเกตการณ์แล้วก็มีวัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยมาร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีด้วย
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน (ถามต่อจากนัดที่แล้ว)
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.วิทยาย้อนไปถึงประเด็นที่ถามค้างไว้ในการสืบพยานนัดวันที่ 1 กันยายนว่า ข้อความตอนในสเตตัสเฟซบุ๊กของจาตุรนต์ที่เข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่น พ.ต.วิทยาอ่านสถานะเฟซบุ๊กของจาตุรนต์ครู่หนึ่งก่อนจะเบิกความว่าไม่สามารถระบุว่าเป็นคำหรือข้อความใด แต่เมื่ออ่านข้อความโดยรวมทั้งหมดจะเข้าใจว่าจำเลยต้องการแสดงจุดยืนคัดค้าน ไม่ยอมรับอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำเลยเป็นนักการเมืองเลยเคยเป็นรัฐมนตรีหลายสมัยเป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณะชน คำพูดของจำเลยจึงอาจทำให้ผู้อ่านคล้อยตามจนออกมาชุมนุมหรือแสดงความต่อต้านจนเกิดความไม่สงบได้
 
ทนายจำเลยถามว่ามีข้อความตอนใดในสถานะของจำเลยที่พ.ต.วิทยาเห็นว่าเป็นข้อมูลเท็จบ้าง พ.ต.วิทยาไม่ตอบคำถามนี้แต่ย้ำว่าข้อความของจำเลยอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายได้ อัยการทหารขออนุญาตศาลแถลงค้านว่าหากคำถามดังกล่าวเป็นการถามความเห็นของพยาน พยานคงตอบไม่ได้ ทนายจำเลยชี้แจงว่าคดีนี้นอกจากตัวจำเลยจะถูกกล่าวหาในความผิดตามมาตรา 116 แล้วยังถูกกล่าวหาในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วย ซึ่งความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ความเป็นเท็จหรือเป็นจริงของข้อความถือเป็นสาระสำคัญแห่งคดี พยานปากนี้เป็นผู้กล่าวหาจึงจำเป็นต้องถามคำถามนี้ จากนั้นทนายจำเลยจึงถาม พ.ต.วิทยาย้ำในประเด็นนี้อีกครั้ง พ.ต.วิทยาตอบว่าไม่สามารถยืนยันว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริงหรือเท็จ แต่ข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯทางพนักงานสอบสวนเป็นผู้ตั้ง
 
ทนายจำเลยขอให้พ.ต.วิทยายืนยันข้อความตามที่ปรากฎในสถานะเฟซบุ๊กอันเป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้ว่า จำเลยโพสต์ข้อความโดยสรุปได้ว่า การปฏิรูปต้องทำโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม การคัดค้านคสช.ของประชาชนขอให้ทำโดยสันติตามกรอบของกฎหมาย การดำเนินการใดๆของคณะรักษาความสงบแห่งชาติขอให้เป็นไปในลักษณะที่นานาชาติให้การยอมรับเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและความสุขของประชาชน ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่มีตอนใดที่บอกให้ประชาชนใช้ความรุนแรงหรือออกมาชุมนุมก่อความวุ่นวายใช่หรือไม่ พ.ต.วิทยารับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าหากดูตามภาพรวมข้อความของจำเลยเป็นการเรียกร้องให้ประเทศกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขใช่หรือไม่ พ.ต.วิทยารับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่าที่เห็นว่าข้อความของจำเลยน่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 และทำให้ประชาชนออกมาก่อคความวุ่นวาย พ.ต.วิทยามีหลักฐานเชิงสถิติหรือหลักฐานใดๆมาสนับสนุนหรือไม่หรือเป็นเพียงความเห็นของพ.ต.วิทยาเอง พ.ต.วิทยารับว่าเป็นเพียงความเห็นของตัวเอง ทนายจำเลยถามว่าโพสต์ของจำเลยมีการชี้แจงว่าที่ไม่เข้ารายงานตัวเป็นเพราะไม่แน่ใจว่าขณะนั้นการยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่ หากไปรายงานตัวแล้วคสช.ยึดอำนาจไม่สำเร็จก็กลัวจะเป็นกบฎ แต่เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่ตั้งคสช.แล้วก็จะยินยอมให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปโดยไม่ขัดขืนใช่หรือไม่ พ.ต.วิทยารับว่าใช่
 
ทนายจำเลยถามว่า การแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์คสช.เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ถ้าไม่มีการชุมนุมเกินห้าคนถูกต้องหรือไม่ พ.ต.วิทยารับว่าใช่ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการทหารถามติง
 
อัยการทหารถามว่า ที่เคยเบิกความตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับคำว่า รัฏฐาธิปัตย์ ในความเข้าใจของพ.ต.วิทยา คำว่ารัฎฐาธิปัตย์หมายความว่าอย่างไร พ.ต.วิทยาตอบว่าหมายถึงผู้มีอำนาจปกครองประเทศให้อยู่ในความสงบสุข อัยการทหารถามต่อว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น คำสั่งของรัฎฐาธิปัตย์มีสถานะเป็นอะไร พ.ต.วิทยาตอบว่ามีสถานะเป็นกฎหมาย 
 
25 มกราคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
อัยการทหารแถลงต่อศาลว่าพยานซึ่งเป็นผู้ทำการจับกุมจาตุรนต์ที่นัดไว้ไม่มาศาลเนื่องจากพยานย้ายสังกัดและไม่ได้รับหมายศาลจึงไม่ได้เดินทางมาเบิกความในวันนี้ แต่อัยการติดใจสืบพยานปากนี้เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญ จึงขอให้ศาลเลื่อนนัดสืบพยานปากนี้ไปก่อน

ทนายจำเลยไม่คัดค้านพร้อมแถลงว่าวันนัดที่นัดไว้เดิมอีกนัดหนึ่งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ฝ่ายจำเลยติดภารกิจจึงขอยกเลิกนัดและกำหนดวันนัดใหม่ ศาลอนุญาต จากนั้นคู่ความกำหนดวันนัดใหม่ร่วมกันสองนัดวันที่ 3 พฤษภาคม 2561และวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 อัยการยังแถลงขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานใหม่ไปที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายพรหมโยธี จังหวัดปราจีนบุรี
 
3 พฤษภาคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ในเวลา 8.30 น. แต่กระบวนพิจารณาคดีในวันนี้เริ่มในเวลาประมาณ10.00 น. จาตุรนต์มาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.30 น. เนื่องจากมีเหตุจำเป็นบางประการทำให้เดินทางมาถึงศาลล่าช้า ในวันนี้นอกตัวจาตุรนต์แล้วก็มีภรรยาของเขาและผู้ติดตามมาร่วมฟังการพิจารณาคดีอีกประมาณเกือบ 20 คน
 
ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลย้ำให้อัยการทหารและทนายจำเลยว่าเนื่องจากศาลได้สั่งจำหน่ายคดีของจาตุรนต์ในส่วนของข้อกล่าวหาไม่รายงานตัวตามคำสั่งคสช.ไปแล้ว เพื่อป้องกันความล่าช้าของคดีขอให้คู่ความถามความในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของจำเลยเท่านั้น ศาลแสดงความกังวลด้วยว่าการพิจารณาคดีนี้ล่าช้ามามากแล้ว
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พ.ต.ป้องรัฐ แย้มงามเรียบ ผู้เชิญตัวจำเลยจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย

พ.ต.ป้องรัฐเบิกความว่าขณะเกิดเหตุเขารับราชการอยู่ที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในตำแหน่งผู้บังคับการกองร้อยอาวุธเบา มีหน้าที่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา 
 
พ.ต.ป้องรัฐเบิกความต่อว่าเขาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา พ.ท.เอกดนัย จุลโลบลให้ไปเชิญตัวจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้าคสช.

อัยการทหารขออนุญาตศาลให้พ.ต.ป้องรัฐดูประกาศคสช.เรื่องฉบับที่หนึ่งเรื่องการเข้าควบคุมอำนาจ และคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องให้บุคคลรายงานตัวซึ่งมีชื่อของจาตุรนต์ปรากฎอยู่ด้วย พ.ต.ป้องรัฐรับรองเอกสารทั้งสองฉบับและเบิกความตอบอัยการทหารว่าจาตุรนต์ไม่ได้มารายงานตัวตามคำสั่งฉบับดังกล่าว อัยการทหารถามว่าพ.ต.ป้องรัฐจำจำเลยได้หรือไม่และจำเลยอยู่ในห้องพิจารณาคดีหรือไม่ พ.ต.ป้องรัฐหันไปชี้ตัวจาตุรนต์ 
 
อัยการทหารถามต่อว่าพ.ต.ป้องรัฐไปเชิญตัวจำเลยจากที่ใด พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าเขาไปเชิญตัวจาตุรนต์จากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย อัยการถามต่อว่าพ.ต.ป้องรัฐเชิญตัวจำเลยไปที่ใด พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าไปที่สน.ลุมพินี 
 
อัยการทหารถามต่อว่าก่อนการเชิญตัวจาตุรนต์กำลังทำอะไรและอยู่ส่วนใดของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เบื้องต้นพ.ต.ป้องรัฐตอบว่าไม่แน่ใจเพราะเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว อัยการทหารจึงนำแผนภาพจำลองที่เกิดเหตุซึ่งพ.ต.ป้องรัฐเป็นผู้จัดทำและลงรายมือชื่อมาให้พ.ต.ป้องรัฐยืนยัน พ.ต.ป้องรัฐยืนยันตำแหน่งของจาตุรนต์ตามแผนผังพร้อมรับรองว่าตัวเขาเป็นผู้ลงรายมือชื่อในแผนผังดังกล่าว

อัยการทหารถามว่าพ.ต.ป้องรัฐทราบหรือไม่ว่าเนื้อหาการแถลงข่าวของจาตุรนต์เป็นเรื่องใด พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าไม่ทราบ อัยการทหารถามว่าในที่เกิดเหตุมีคนอยู่ประมาณกี่คนและเป็นใคร พ.ต.ป้องรัฐตอบว่ามีคนอยู่ประมาณ 80 คน เป็นผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 
 
อัยการทหารนำภาพขณะจาตุรนต์ถูกควบคุมตัวมาให้พ.ต.ป้องรัฐดูและถามว่าเป็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุจริงหรือไม่ พ.ต.ป้องรัฐรับรองว่าเป็นภาพที่ถ่ายจากวันเกิดเหตุจริง พ.ต.ป้องรัฐเบิกความด้วยว่าในวันเกิดเหตุได้มีการประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนเข้าไปทำการเชิญตัวจำเลยด้วย 
 
อัยการทหารถามว่าก่อนและระหว่างเกิดเหตุในคดีนี้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าขณะนั้นมีเหตุการณ์วุ่นวาย มีความแตกแยกของประชาชนในประเทศ มีเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหาย อัยการทหารถามต่อว่า ถ้าเหตุการณ์ความวุ่นวายดังกล่าวไม่ถูกระงับ พ.ต.ป้องรัฐคาดว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะเป็นไปในทิศทางใด พ.ต.ป้องรัฐตอบว่า เหตุการณ์มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและอาจมีความเสียหายมากขึ้น

อัยการทหารแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า พ.ต.ป้องรัฐจบการศึกษาจากที่ใด พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าเขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทนายจำเลยถามต่อว่าระหว่างที่พ.ต.ป้องรัฐกำลังศึกษามีการสอนเรื่องระบอบการปกครองและระบบกฎหมายไทยหรือไม่ พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าส่วนใหญ่เรียนเรื่องกฎระเบียบทหาร แต่มีการสอนเรื่องการปกครองคร่าวๆ ทราบว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า พ.ต.ป้องรัฐทราบหรือไม่ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และถามต่อว่าตัวพ.ต.ป้องรัฐเองก็ปฏิญาณตนว่าจะพิทักษ์ไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่
 
ศาลท้วงทนายจำเลยว่าคำถามที่ถามพ.ต.ป้องรัฐไม่เกี่ยวกับฟ้องโจทก์ในคดีนี้ ทนายจำเลยชี้แจงว่าคำถามนี้มีความเกี่ยวโยงกับคดีเพราะจำเลยถูกฟ้องว่ากระทำการในลักษณะที่ไม่ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คำถามนี้จึงมีความจำเป็น ศาลจึงอนุญาตให้ทนายจำเลยถามคำถามต่อ 
 
พ.ต.ป้องรัฐตอบทนายจำเลยว่า เขาปฏิญาณตนทุกวันว่าจะรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์แต่ในคำปฏิญาณตนดังกล่าวไม่ได้พูดถึงรัฐธรรมนูญ
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.ป้องรัฐว่าทราบหรือไม่ว่ากำลังหลักในการยึดอำนาจคือต้นสังกัดของพ.ต.ป้องรัฐ และทราบหรือไม่ว่ากำลังพลบางส่วนของต้นสังกัดของพ.ต.ป้องรัฐก็เข้ามาประจำการที่เขตบางเขน

ศาลท้วงทนายจำเลยอีกครั้งว่า คำถามนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ทนายจำเลยตอบศาลว่าที่ต้องถามคำถามนี้เพราะต้องการทราบถึงต้นทางและระยะเวลาที่พ.ต.ป้องรัฐเดินทางมาเชิญตัวจำเลย พ.ต.ป้องรัฐตอบทนายจำเลยว่า ไม่ทราบว่ากองพลใดเป็นกำลังหลักในการยึดอำนาจของคสช. สำหรับกำลังพลของต้นสังกัดของเขามีบางส่วนที่เข้ามาประจำการในกรุงเทพแต่ไม่ได้มาทั้งหมด
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่พ.ต.ป้องรัฐเบิกความตอบอัยการว่ามีหน้าที่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากคำสั่งของผู็บังคับบัญชาไม่ชอบด้วยกฎหมายพ.ต.ป้องรัฐมีสิทธิ์ปฏิเสธและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งได้ใช่หรือไม่ พ.ต.ป้องรัฐตอบทนายจำเลยว่า ใช่
 
ทนายจำเลยถามว่า ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่พ.ต.ป้องรัฐได้รับคำสั่งให้ไปเชิญตัวจำเลยนั้นมีเจ้าหน้าที่ไปทั้งหมดกี่นาย พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทหารรวมทั้งตัวเขาไปที่อาคารมณียาทั้งหมดหกนาย เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่สองนายรออยู่ที่รถ ส่วนเขากับกำลังรวมสี่นายไปสอบถามเจ้าหน้าที่เรื่องที่ตั้งของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่าอยู่ส่วนใดของตึก

ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ป้องรัฐจำได้หรือไม่ว่าสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศอยู่ชั้นใดของอาคาร พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าจำไม่ได้ทราบแต่ว่าอยู่ชั้นบนต้องขึ้นลิฟท์ไป ทนายจำเลยถามว่านอกจากลิฟท์แล้วทางขึ้นไปที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศมีบันไดด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าน่าจะมี
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าพ.ต.ป้องรัฐกับพวกใช้เวลาอยู่ที่ด้านล่างอาคารก่อนขึ้นไปที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศนานเท่าใด ระหว่างนั้นทำอะไรและมีการส่งกำลังชุดล่วงหน้าขึ้นไปก่อนหรือไม่ พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าใช้เวลาสอบถามที่ตั้งและวิธีการขึ้นไปที่อาคารดังกล่าว แต่ไม่มีการส่งผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดล่วงหน้าขึ้นไปก่อน 
 
ทนายจำเลยถามว่าพ.ต.ป้องรัฐทราบได้อย่างไรว่าจาตุรนต์อยู่ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าทราบจากผู้บังคับบัญชา ทนายจำเลยถามต่อว่าพ.ต.ป้องรัฐทราบหรือไม่ว่าผู้บังคับบัญชาได้ข้อมูลมาจากไหน พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าข้อนี้เขาไม่ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่าพ.ต.ป้องรัฐทราบหรือไม่ว่าความผิดฐานไม่รายงานตัวมีโทษอย่างไร พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าไม่ทราบ 

ทนายจำเลยถามต่อว่า ในการเชิญตัวจำเลยนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบร่วมด้วยหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่ในบริเวณนั้นด้วยหรือไม่ และพ.ต.ป้องรัฐนำตัวจำเลยไปสน.ลุมพินีอย่างไร พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าขณะที่ไปเชิญตัวจำเลยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอยู่บริเวณนั้น ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่ด้วยหรือไม่ไม่ทราบ สำหรับการเชิญตัวจำเลยได้นำตัวจำเลยขึ้นรถคันเดียวกับทีเขาและกำลังพลเดินทางมา 
 
ทนายจำเลยถามพ.ต.ป้องรัฐต่อว่า ขณะที่พ.ต.ป้องรัฐกับพวกเข้าไปเชิญตัวจาตุรนต์ จาตุรนต์กำลังให้สัมภาษณ์อยู่หรือแถลงข่าวอยู่ พ.ต.ป้องรัฐเบิกความว่าขณะนั้นจำเลยยืนอยู่บริเวณด้านซ้ายของเคาน์เตอร์โดยเวลาที่เขากับพวกไปถึงจำเลยแถลงข่าวเสร็จแล้ว เท่าที่จำได้ตอนนั้นจำเลยไม่ได้แถลงข่าวอยู่

ทนายจำเลยถามว่า ขณะที่พ.ต.ป้องรัฐเข้าควบคุมตัว จาตุรนต์มีการขัดขืนการปฏิบัติการณ์ของเจ้าหน้าที่หรือไม่ มีการตะโกนปลุกระดมหรือส่งสัญญาณใดๆให้กับคนที่อยู่ในบริเวณนั้นหรือไม่ และปฏิกริยาของคนที่อยู่บริเวณนั้นเป็นอย่างไรมีการแสดงความโกรธเกรี้ยวหรือไม่ พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าจาตุรนต์ไม่ขัดขืนเจ้าหน้าที่แต่อย่างไรและไม่ได้ตะโกนปลุกระดมคนที่อยู่แถวนั้น ส่วนผู้สื่อข่าวที่อยู่บริเวณนั้นก็ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆได้แต่ถ่ายภาพเหตุการณ์ 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าระหว่างการควบคุมตัวพ.ต.ป้องรัฐแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยหรือไม่ ถ้ามีแจ้งข้อหาใด และขณะที่ทำการควบคุมตัวจาตุรนต์มีคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารใดบ้าง พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าตัวเขาไม่ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลย คนที่แจ้งคือพ.ท.เอกดนัยผู้บังคับบัญชาของเขา ส่วนเครื่องมือสื่อสารของจำเลยมีโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวแต่ตัวเขาไม่ได้ได้เป็นผู้เก็บโทรศัพท์ของจำเลย ส่วนใครจะเป็นคนเก็บโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวตัวเขาไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่เบิกความตอบอัยการทหารว่าก่อนและระหว่างเกิดเหตุแห่งคดีนี้ที่มีความวุ่นวาย มีความรุนแรงจนมีคนได้รับบาดเจ็บและมีทรัพย์สินราชการเสียหายพ.ต.ป้องรัฐเคยได้รับคำสั่งให้เข้าไประงับเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าไม่เคย ทนายจำเลยถามต่อว่าหลังเกิดเหตุในคดีนี้มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นหรือไม่ พ.ต.ป้องรัฐตอบว่าเหตุการณ์เป็นปกติ
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม อัยการทหารไม่ถามติง
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้อัยการทหารขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานปากต่อไป จากนั้นคู่ความนัดสืบพยานต่อในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 เหตุที่นัดห่างจากนัดสืบพยานวันนี้เป็นเวลานานเป็นเพราะทนายจำเลยมีภารกิจในคดีอื่นไม่สามารถนัดสืบพยานก่อนนัดดังกล่าวได้  
 
27 พฤศจิกายน 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
จาตุรนต์เดินทางมาถึงศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 9.30 น. อย่างไรก็ตามพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ติดราชการในวันนี้ไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 
 
ในเวลา 10.00 น.หลังเสร็จขั้นตอนลงชื่อรับทราบวันนัด ทนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่าการสืบพยานในนัดนี้ถูกเลื่อนออกไปเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล ส่วนที่นัดต่อไปกำหนดนัดห่างออกไปถึงเดือนพฤษภาคม 2562 เนื่องจากช่วงเวลาหลังจากนี้จาตุรนต์จะติดภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งจึงขอให้ศาลกำหนดวันนัดช่วงปลายเดือนพฤษภาคมซึ่งการเลือกตั้งน่าจะแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย 
 
จากนั้นจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์ว่า นอกจากคดีนี้แล้วเขายังมีคดีอาญาอีกหนึ่งได้แก่คดีร่วมแถลงข่าวที่ที่ทำการพรรคเพื่อในโอกาสครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร

จาตุรนต์ระบุว่าการต่อสู้คดีไม่ได้มีผลกระทบใดๆไม่ว่าจะด้านภารกิจหรือด้านกำลังใจและเขาก็จะเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่
 
29 พฤษภาคม 2562

นัดสืบพยานโจทก์
 
ทีมทนายความของจาตุรนต์ให้ข้อมูลว่าพยานที่นัดไว้ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากติดราชการ คู่ความจึงกำหนดวันสืบพยานใหม่เป็นวันที่ 29 กันยายน 2562
 
22 กรกฎาคม 2562
 
นัดฟ้งคำสั่งย้ายคดี
 
มติชนรายสัปดาห์ออนไลน์รายงานว่า จาตุรนต์เดินทางไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อฟังคำสั่งย้ายคดีจากศาลทหารกลับไปศาลพลเรือนตามปกติ โดยสัญญาประกันเป็นสัญญาประกันเดิม
 
29 มกราคม 2563
 
นัดพร้อม 

ศาลเริ่มการพิจารณาคดีที่ห้อง 813 ศาลอาญา ในเวลาประมาณ 9.30 น.
 
ทนายจำเลยหารือกับศาลเพื่อขอยื่นคำร้องต่อศาลในสองประเด็นใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง ขอให้ศาลคืนหลักทรัพย์ประกันในคดีนี้ และให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ประกัน ทนายจำเลยชี้แจงต่อศาลว่า ที่ศาลทหาร คดีอาญาทุกคดีจะต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว แต่ในศาลยุติธรรม คดี 116 คดีอื่นๆ ก็ไม่มีการให้วางหลักทรัพย์ประกัน จึงอยากจะให้ศาลพิจารณาคำร้องในเรื่องนี้เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
สอง ขอให้ศาลอนุญาตให้จาตุรนต์เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาต เนื่องจากศาลทหารได้กำหนดเงื่อนไขไว้กับจำเลยในคดีนี้ว่าเมื่อมีการเดินทางออกนอกประเทศต้องทำการขออนุญาตศาลทุกครั้ง ทนายจำเลยเห็นว่าเมื่อมีการย้ายคดีมาที่ศาลยุติธรรมแล้ว จึงขอให้ศาลยกเลิกเงื่อนไขนี้ที่บังคับกับจำเลย
 
ศาลชี้แจงกับทนายจำเลยว่า จะรับคำร้องไว้แต่ต้องขอเวลาพิจารณาการรับคำร้องเหล่านี้ไว้ก่อน ส่วนในเรื่องเดินทางออกนอกประเทศ ศาลเองก็ไม่ใช่ผู้พิจารณาการขออนุญาต และตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาเดินทางออกนอกประเทศจริงๆ ศาลแนะนำว่าถ้าถึงเวลาที่ต้องเดินทางจริงๆ ค่อยมาร้องขอต่อศาล แล้วให้ศาลพิจารณายกเว้นการขออนุญาตอีกครั้ง
 
หลังจากนั้นศาลถึงแนวทางการต่อสู้คดี อัยการแถลงว่าสืบพยานโจทก์ที่ศาลทหารไปแล้วสองปาก ศาลถามอัยการว่าสืบพยานในประเด็นไหนไปแล้วบ้าง อัยการแถลงว่าสืบในประเด็นข้อเท็จจริงว่ามีการแถลงข่าวจริงหรือไม่ ศาลแนะนำว่า ประเด็นข้อเท็จจริงในการแถลงข่าวจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงแล้ว แนะนำว่าให้สืบพยานกันในประเด็นว่าข้อความที่จำเลยแถลงข่าว เป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือไม่ จะดีกว่า และทำให้คดีมีทิศทางในการสืบพยาน และสามารถกำหนดเวลาพิจารณาคดีได้ชัดเจน
 
ศาลถามฝ่ายจำเลยว่าจะต่อสู้ในประเด็นใดบ้างประเด็นข้อกฎหมายใช่หรือไม่ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ฝ่ายจำเลยจะสู้ในเรื่องของข้อกฎหมายว่า การแถลงข่าวไม่เข้าองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ในส่วนของการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก จำเลยจะสู้ว่าไม่ใช่การโพสต์ของจำเลยเอง ศาลถามต่อว่าข้อเท็จจริงในการแถลงข่าวจำเลยไม่คัดค้านใช่หรือไม่ ทนายจำเลยแถลงว่าในส่วนของข้อเท็จจริงในวันแถลงข่าวมีโต้แย้งกับฝ่ายโจทก์เล็กน้อยซึ่งได้ถามค้านพยานไปแล้วในศาลทหาร ศาลแจ้งว่าศาลไม่คุ้นชินกับเอกสารของศาลทหาร

การสืบพยานในช่วงแรกเอกสารบันทึกด้วยลายมือ ศาลอาจจะอ่านแล้วข้อเท็จจริงตกหล่นบ้าง อยากจะให้เริ่มกระบวนการแบบนับหนึ่งใหม่ตามกระบวนการ และวิธีการของศาลนี้ 
 
จากนั้นศาลถามถึงบัญชีพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะยื่นต่อศาล ศาลให้ฝ่ายโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานก่อน โดยให้อธิบายเป็นรายบุคคลว่าจะสืบในประเด็นใด แต่ฝ่ายโจทก์เตรียมมาเพียงรายชื่อพยาน และตำแหน่งหน้าที่ ไม่ได้เตรียมประเด็นที่จะสืบพยานของพยานแต่ละคนมา ศาลจึงแจ้งว่าให้คู่ความทั้งสองฝ่ายเตรียมบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งประเด็นการสืบพยานของพยานแต่ละปากมาด้วย เพื่อที่จะได้ตัดพยานบางปากที่ไม่จำเป็นออกไป จากนั้นศาลจึงสั่งพักการพิจารณาคดีเพื่อให้คู่ความเตรียมเอกสารในเวลา 10.05 น.
 
ในเวลาประมาณ 11.00 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดีต่ออีกครั้ง ฝ่ายโจทก์แถลงต่อศาลว่ามีพยานทั้งหมด 20 ปาก สืบพยานไปแล้ว 2 ปาก เหลืออีก 18 ปาก และแถลงต่อศาลว่าจะไม่ขอตัดพยานออก เนื่องจากพยานแต่ละคนมีประเด็นเฉพาะทุกคน ขอวันนัดสืบพยานทั้งหมด 9 นัด
 
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่ามีพยานที่ต้องการนำสืบรวม 16 ปาก แต่บางคนซ้ำกับพยานที่ฝ่ายโจทก์เตรียมมา จึงเหลือพยานทั้งหมด 15 ปาก และขอวันนัดสืบพยานทั้งหมด 8 นัด
 
ศาลพิจารณาจากบัญชีระบุพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ควรให้วันสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลย ฝ่ายละ 10 นัด เนื่องจากพยานบางปากเป็นพยานปากสำคัญ และอาจจะมีความคิดเห็นมากอาจจะควบคุมเวลาในการสืบพยานไม่อยู่ จึงให้เวลาเผื่อไว้เพื่อที่ป้องกันการสืบพยานไม่จบแล้วต้องมานัดคดีกันใหม่อีก และให้คู่ความทั้งสองฝ่ายไปนัดวันสืบพยานกันเองที่ศูนย์นัดความ
 
การสืบพยานคดีนี้ยุติลงในเวลา 11.50 น.

สำหรับการพิจารณาคดีในนัดถัดไปมีรายละเอียดดังนี้ สืบพยานโจทก์วันที่ 5-6, 12-13, 19-20, 24-26 พฤศจิกายน 2563 และ วันที่ 1 ธันวาคม 2563 สืบพยานจำเลยวันที่ 2-3, 8-9, 15-16 ธันวาคม 2563 และ 19-20, 26-27 มกราคม 2564
 
6 พฤศจิกายน 2563
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดีวันนี้ในเวลาประมาณ 9.30 น. ในวันนี้นอกจากจาตุรนต์และทีมงานที่คอยติดตามการพิจารณาคดีเป็นระยะตั้งแต่คดีจะถูกพิจารณาในศาลทหารแล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์อีกประมาณสิบคนอยู่ในห้องด้วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่น่าจะยังอยู่ในวัยเรียนโดยส่วนหนึ่งเป็นนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิรินทร์ นิสิจจุฬาจากกลุ่ม Spring Movement ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการจัดแฟลชม็อบที่สามย่านมิดทาวน์ได้มาร่วมสังเกตการณ์ในวันนี้ด้วย อย่างไรก็ตามผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้เดินทางกลับไปก่อนที่การพิจารณาคดีจะแล้วเสร็จในช่วงเที่ยง
 
ในวันนี้โจทก์แถลงต่อศาลว่าได้ส่งหมายเรียกพยานไปถึงผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นชาวต่างชาติสองคน มีผู้รับหมายเรียกพยานโดยชอบแล้วแต่พยานไม่มาศาล ในวันนี้จึงไม่มีพยานมาเบิกความ จากนั้นศาลหารือกับคู่ความอีกเครื่องเรื่องจำนวนพยานเพราะเห็นว่าพยานบางปากอาจเบิกความในประเด็นคล้ายๆกัน ศาลจึงขอหารือเพื่อตัดพยานบางปากออกเพื่อให้การสืบพยานกระชับขึ้นและคดีจะได้จบเร็วขึ้นจากเดิมที่มีกำหนดนัดสืบพยานไปจนถึงเดือนมกราคม
 
ในวันนี้ทนายจำเลยยังแถลงต่อศาลด้วยว่ามีเอกสารคำให้การพยานในชั้นสอบสวนส่วนหนึ่งซึ่งเป็นคุณกับจำเลย แต่ไม่ได้ถูกส่งเข้าสำนวน โดยระหว่างการพิจารณาคดีในศาลทหารได้เคยขอให้ศาลทหารออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวมาเข้าสำนวนแล้วแต่ก็ยังไม่ได้มีการนำมาเข้าสำนวน ศาลจึงแจ้งว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนให้อัยการนำเอกสารดังกล่าวมาส่งเข้าสำนวนต่อไป
 
เนื่องจากมีพยานโจทก์บางปากที่จำเลยพอรับข้อเท็จจริงบางส่วนได้และไม่ใช่พยานปากสำคัญ ศาลกับอัยการจึงหารือเรื่องการตัดพยานเพิ่มเติม อัยการแถลงด้วยว่ามีพยานคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตไปแล้ว จึงขอตัดออกจากบัญชีพยาน จนสุดท้ายโจทก์เหลือพยานที่จะต้องนำมาสืบในศาลเจ็ดปาก ศาลให้เวลาสามนัด ได้แก่วันที่ 12 – 13 และวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 
 
ในส่วนของฝ่ายจำเลยศาลได้หารือเรื่องการตัดพยานเช่นกันโดยเมื่อศาลพิจารณารายชื่อพยานที่จำเลยเคยระบุมีหลายคนที่อาจเบิกความซ้ำกัน เช่นพยานกลุ่มนักการเมือง ฝ่ายความมั่นคง และนักวิชาการ จึงขอให้ตัดพยานบางส่วนออกให้เหลือประเด็นละหนึ่งคนเพื่อให้สามารถพิจารณาคดีได้กระชับยิ่งขึ้น 
 
คณะทำงานทนายจำเลยจึงหารือกันและแถลงต่อศาลว่าจะขอไปดำเนินการจัดลำดับพยานจำเลยใหม่แล้วจะมาแถลงต่อศาลในนัดสืบพยานนัดต่อไปวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ศาลอนุญาตและแจ้งว่าศาลจะให้ฝ่ายจำเลยสืบพยานจำนวนสามนัด แต่หากการสืบพยานมีประเด็นปัญหาที่ต้องซักถามกันเยอะแล้วเวลาไม่พอจะกำหนดวันนัดเพิ่มให้แต่หากเป็นไปได้ก็ขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามนัด
 
โจทก์ยังแถลงขอให้ศาลยกเลิกวันนัดเดิมที่กำหนดไว้ได้แก่นัดวันที่ 19 20 24 และ 25 พฤศจิกายนด้วย 
 
 
22 ธันวาคม 2563 
 
ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา สรุปได้ว่า การแถลงข่าวของจำเลยที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเป็นการติชมโดยสุจริต ไม่เข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่นหรือก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนออกมาต่อต้าน คสช. แต่อย่างใด เป็นเพียงแค่การแสดงจุดยืนของจำเลย ในการต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องไม่ให้ คสช.ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่าง รวมถึงเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
 
ทั้งนี้การแจ้งข้อกล่าวหาไม่ว่าจะคดีใดก็ตาม จะต้องได้สัดส่วนที่เหมาะสม ต้องมีมูลเหตุเพียงพอ รัฐต้องมีมาตรการรวบรวมหลักฐานพยานให้ครบ และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี แต่การควบคุมตัวจำเลยคดีนี้เกิดขึ้นก่อนการตั้งข้อหา หลังจากนั้นถึงค่อยดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานในภายหลัง ชี้ให้เห็นว่าการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นไปในลักษณะใช้กฎหมายเพื่อปิดปากผู้มีความเห็นต่าง รวมถึงมีการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล รวมถึงลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ จึงไม่สามารถรับฟังได้
 
ในส่วนของความผิดตามมาตรา มาตรา 14(3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานนำข้อมูลเท็จที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำข้อความที่ปรากฎในเฟซบุ๊คทั้งสองบัญชี คือ ‘Chaturon Chaisang’ และ ‘Chaturon.Fanpage’ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง มีข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์ว่า หลังจากการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำเลยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่แล้ว และในระหว่างถูกควบคุมตัว จำเลยถูกยึดโทรศัพท์มือถือ จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัว แต่ข้อความที่ปรากฎในเฟซบุ๊กทั้งสองบัญชี ถูกโพสต์ในระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัว พยานหลักฐานจึงไม่มีมูลเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยตัวเอง จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยในทุกข้อกล่าวหา
 
หลังฟังคำพิพากษา จาตุรนค์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า คดีนี้เขาใช้เวลาถึง 6 ปี กับอีก 6 เดือนในการต่อสู้จนกระทั่งศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องในวันนี้ และคำพิพากษาคดีนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าจะต้องถูกนำไปศึกษาต่อในฐานะคดีตัวอย่าง สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ เมื่อเขาและทีมทนายความได้รับเอกสารคดีทั้งคำให้การพยานและคำพิพากษาจนครบแล้ว ก็จะนำเอกสารและข้อเท็จจริงทั้งหมดไปยื่นต่ออัยการสูงสุดขอให้ถอนฟ้องคดี เพื่อให้คดียุติลง ซึ่งการจะอุทธรณ์คดีหรือไม่ เป็นดุลพินิจของอัยการเจ้าของสำนวน แต่อัยการสูงสุดก็สามารถที่จะสั่งให้ถอนฟ้องได้หากข้อเท็จจริงปรากฎว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักมั่นคง
 
นอกจากนั้นเขาก็จะนำข้อเท็จจริงทั้งหมดไปยื่นให้กับฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อนำเสนอให้กำหนดหลักเกณฑ์การฟ้องคดีความมั่นคงทุกประเภท เพื่อป้องกันการนำกฎหมายมาใช้โดยไม่สุจริตเพื่อจัดการกับผู้เห็นต่าง สำหรับคำพิพากษาที่ออกมาในวันนี้จาตุรนต์ระบุว่าทำให้เขาได้รับความยุติธรรมกลับมาส่วนหนึ่งแต่ขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีและไม่ได้รับความอยุติธรรมอยู่อีกไม่น้อย
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
พิเคราะห์จากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ทำการยึดอำนาจบริหารงานจากรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีจำเลยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังจากนั้นมีประกาศคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่จำเลยไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 เวลากลางวัน จำเลยเดินทางมาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondent’s Club of Thailand FCCT) จำเลยแถลงข่าวให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศที่ประจำอยู่ประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิฉัยประการแรกว่า การแถลงข่าวของจำเลยเป็นการยุยง ปลุกปั่น เพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรหรือไม่
 
การที่จำเลยในฐานะอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเดินทางมาแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายสำนักข่าว เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการพูด ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งหมายถึงสิทธิในการแสดงออก หรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิด หรือความเห็น การเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยรวมย่อมเป็นสิ่งจำเป็น และควรได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเป็นสิทธิในระดับสากลที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ​ 
 
จากรายละเอียดของการแถลงข่าวของจำเลยต่อสื่อมวลชนสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก มีนัยยะสำคัญที่ปรากฎซึ่งแยกพิจารณาได้สี่ประการดังนี้
 
ประการแรก จำเลยแถลงข่าวและแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ศาลเห็นว่า การแถลงข่าวเพื่อแสดงความคิดเห็นของจำเลยที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเพียงการแสดงจุดยืนของจำเลย ซึ่งได้ข้อเท็จจริงจากคำพยานว่า จำเลยไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและแสดงออกต่อสาธารณะชนมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ปรากฎว่า มีการก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่สงบสุขในบ้านเมือง ในทางกลับกันจำเลยได้แสดงให้เห็นว่ายึดมั่น และได้แสดงออกซึ่งจิตวิญญาณในคุณค่าของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารโดยใช้กำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง ไม่แต่เฉพาะการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพียงครั้งนี้เท่านั้น อีกทั้งในการแถลงข่าวก็ไม่ปรากฎว่า จำเลยชักชวนให้ประชาชนต่อต้านการยึดอำนาจ ดังนั้น การแสดงออกด้วยการแถลงข่าวของจำเลย จึงเป็นการแสดงจุดยืนที่สามารถทำได้โดยอาศัยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่อยู่ภายใต้ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Right (ICCPR) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี อันถือเป็น ‘พันธกรณีระหว่างประเทศ’ ที่ประเทศไทยต้องปฎิบัติตาม 
 
ประการที่สอง จำเลยเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติหยุดคุกคามคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง กรณีนี้เห็นว่า การเรียกร้องดังกล่าว เป็นการเรียกร้องให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทำการภายใต้บทบัญญัติกฎหมายของบ้านเมือง มิใช่เป็นการใช้กำลังทำร้ายหรือบังคับให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง การเรียกร้องของจำเลยเป็นการขอให้หยุดการกระทำการละเมิดต่อบุคคลที่มีความคิดเห็นต่างทางด้านการเมือง โดยใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและขอให้อยู่บนพื้นฐานภายใต้หลักนิติรัฐและนิติธรรม กล่าวคือ ให้ใช้กฎหมายบังคับกับบุคคลเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฎิบัติ สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมในการดำเนินคดี และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีธรรมภิบาล โดยคำนึงถึงเสรีภาพและให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน
 
ประการที่สาม จำเลยเรียกร้องให้ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยใช้ความอดทน และให้ใช้กระบวนการสันติวิธี เห็นว่า การเรียกร้องโดยให้ประชาชนแสดงออกด้วยวิธีการอดทน หมายถึง มีความหนักแน่น มั่นคง รอคอย ควบคุมความโกรธ การไม่ตอบโต้หรือแสดงออกโดยใช้กำลัง ส่วนแนวทางการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบสันติวิธี เป็นกระบวนการตอบโต้กับสถานการณ์ความขัดแย้งในรูปแบบที่ไม่ใช้กำลังทางกายภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ดังนั้น สันติวิธีจึงไม่ได้หมายถึงการนิ่งเฉย หากแต่เป็นการกระทำ หรือการแสดงออกในรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ต้องการทำให้การต่อสู้นั้นมีผู้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใช้สันติวิธีจะต้อง ใช้ความอดทนสามารถควบคุมตนเองได้ และมีความเข้าใจ มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การแสดงเจตจำนงของจำเลยนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเรียกร้องที่มีลักษณะเป็นการต่อต้าน หรือการแสดงออกโดยมีการใช้กำลัง ยุยง ส่งเสริม ปลุกปั่น ให้ประชาชนออกมาต่อต้าน หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
 
ประการที่สี่ จำเลยเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว และให้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เห็นว่า การเรียกร้องของจำเลยเป็นการแสดงออกโดยมีจุดประสงค์ต้องการให้มีการจัดเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องให้ประชาธิปไตยกลับคืนตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ไม่ได้เป็นการแสดงเจตนาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายของแผ่นดินหรือรัฐบาล การแถลงดังกล่าวก็ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เพียงแต่เปิดทางให้ประชาชนได้ใช้อำนาจของตนเองในการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับทุกๆ ฝ่ายได้ใช้สิทธิของตนเองเท่าที่มีอยู่เลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติ การเรียกร้องดังกล่าวจึงมิได้เป็นการเรียกร้องให้ดำเนินการฝ่าฝืนหรือละเมิดต่อกฎหมาย
 
แม้โจทก์จะกล่าวหาว่า ลักษณะของการกระทำจำเลยเจตนาให้มีการเผยแพร่ถ้อยคำให้กับประชาชนทั่วไปได้รับฟัง โดยจำเลยเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งหัวพรรคการเมือง และเป็นอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ตำแหน่งสุดท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย่อมเป็นที่สนใจของนักการเมืองและประชาชนทั่วไป ดังนั้น คำแถลงจำเลยย่อมมีผู้คล้อยตาม โดยให้ประชาชนเห็นว่าการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและคำสั่งหรือประกาศที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้คณะรักษาความแห่งชาติคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ซึ่งการแถลงข่าวของจำเลยเป็นห้วงระยะเวลาเริ่มแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติควบคุมอำนาจปกครองประเทศยังมีความรุนแรงอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการต่อต้านการควบคุมอำนาจ อันเป็นการยุยงปลุกปั่นทำลายความน่าเชื่อถือเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
 
กรณีตามคำฟ้องดังกล่าวก็เป็นเพียงการคาดเดาทางความคิดในสถานการณ์ซึ่งเป็นสมมติฐานในอนาคตที่ไม่แน่นอน ทั้งไม่ปรากฎว่ามีประชาชนเห็นคล้อยตามและมีพฤติการณ์ก่อความไม่สงบในบ้านเมืองตามที่กล่าวอ้าง อีกทั้งไม่ปรากฎว่ามีการใช้อาวุธเข้าต่อสู้ หรือมีการสะสมกำลังเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจ เมื่อทหารเข้าควบคุมจำเลยก็ยินยอมให้ควบคุมไปแต่โดยดี
 
ในทางกลับกันจำเลยแสดงออกให้เห็นว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศและมีการประกาศฉบับที่ 1/2557 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. มีการประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2557 เรื่อง การสิ้นสุดลงชั่วคราว ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม้จะมีการยกเลิกใช้รัฐธรรมนูญ แต่การเข้ายึดอำนาจก็มิได้มีการยกเลิกการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 บัญญัติว่าผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นมีความผิดฐานเป็นกบฎ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ทราบดีว่าการยึดอำนาจเป็นการกระทำละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าว ดังจะเห็นได้จาก เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ประกาศในราชกิจจนุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ได้มีการนิรโทษกรรมการกระทำอันเป็นความผิดกฎหมายของตนเองใว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 48 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ดังนั้น การที่จำเลยแสดงความคิดเห็นโดยไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ จึงถือได้ว่าการเป็นการต่อต้านการละเมิดกฎหมายนั่นเอง เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต 
 
การแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นจำเลยหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้อำนาจกับผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจ การแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับบุคคลใดต้องได้สัดส่วนที่เหมาะสม ความจำเป็น ทั้งต้องมีความใกล้ชิดกับเหตุที่เกิดขึ้นและมีมูลเหตุเพียงพอตามสมควร การร้องทุกข์ กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดใด รัฐต้องมีมาตรการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดนั้นได้ก่อนมีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีแล้ว กระบวนการให้ได้ตัวจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีนั้นถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะนำมาฟ้องศาล แต่คดีนี้กลับมีการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับจำเลย มีการควบคุมตัวจำเลย แล้วจึงสอบปากคำพยานทั้งหมดในภายหลัง เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานสนับสนุนกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา กระบวนการดังกล่าวนี้จึงกระทบต่อเสรีภาพของจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดี ที่ต้องถูกจำกัดอิสรภาพและมีอุปสรรคในระหว่างที่มีการสอบปากคำพยาน รวบรวมพยานหลักฐานและพิจารณาคดี พยานโจทก์ทั้งหมดที่มาเบิกความกลับไม่มีพยานปากใดยืนยันว่า จำเลยมีการกระทำยุยง ปลุกปั่น ก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรตามที่กล่าวหา การดำเนินคดีกับจำเลยจึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม การใช้อำนาจจึงไม่สัมพันธ์และได้สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างสถาณ์การณ์ที่เกิดขึ้น การแสดงออกโดยการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนดังที่ได้วินิฉัยข้างต้น เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีพฤติการณ์หรือพยานหลักฐานเข้าข่ายอันมีลักษณะสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา รวมถึงข้อความที่จำเลยแถลงก็ไม่ปรากฎว่าเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น หรือส่งเสริมให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลกระทำละเมิดกฎหมายต่อบ้านเมือง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงไม่สามารถรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 
 
ในส่วนของความผิดตามมาตรา มาตรา 14(3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานนำข้อมูลเท็จที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำข้อความที่ปรากฎในเฟซบุ๊คทั้งสองบัญชี คือ ‘Chaturon Chaisang’ และ ‘Chaturon.Fanpage’ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม จากการไต่สวน มีข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์ว่า หลังจากการแถลงข่าวที่จำเลยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่แล้ว และในระหว่างถูกควบคุมตัว จำเลยถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และเครื่องมือสื่อสารทั้งหมด จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัว แต่ข้อความที่ปรากฎในเฟซบุ๊กทั้งสองบัญชี ถูกโพสต์ในระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัว พยานหลักฐานจึงไม่มีมูลเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยตัวเอง
 
 พิพากษายกฟ้องจำเลยในทุกข้อกล่าวหา  
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา