สราวุทธิ์ : ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมือง

อัปเดตล่าสุด: 28/01/2560

ผู้ต้องหา

สราวุทธิ์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

สราวุทธิ์ออกมาชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำเสื้อแดงที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย เขาถูกควบคุมตัวที่ค่ายเม็งรายฯ นาน 7 วัน ก่อนจะถูกส่งไปขออำนาจศาลฝากขังและได้รับการประกันตัว ด้วยเงินสดจำนวน 20,000 บาท

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นเจ้าของกิจการขายแว่นตา เป็นแกนนำกลุ่มนักรบไซเบอร์เพื่อประชาธิปไตย เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในพื้นที่ จ.เชียงราย (กลุ่มเสื้อแดง) โดยจะเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ เขาและกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเคยนำหลักฐานเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ปราศรัยปลุกระดมประชาชนให้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย โดยได้ยื่นแจ้งความเอาผิดในมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ว่า ด้วยบุคคลใดจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างระบบการปกครองฯ มิได้, ประมวลกฏหมายอาญา (ปอ.) มาตรา 113, 114, 116 และ 117 ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันเป็นกบฏ 

ข้อหา / คำสั่ง

ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ภายหลังการรัฐประหาร เขาออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร โดยการออกไปชูป้ายข้อความต่อต้านรัฐประหาร และไปชูป้าย อาทิเช่น “ปล่อยลูกพ่อขุน” “คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” “ชูป้ายไม่ใช่อาชญากร” เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำเสื้อแดงที่ ที่ก่อนหน้านี้โดนควบคุมตัวไปอยู่ที่ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7 เขาออกไปชูป้ายตามสถานที่สำคัญต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น บริเวณ 5 แยกพ่อขุน, หน้าศาลอาญาเชียงราย, หน้าโรงพัก, หอนาฬิกา เป็นต้น 

พฤติการณ์การจับกุม

31 พฤษภาคม 2557 
มีทหารมาสังเกตการณ์บริเวณละแวกบ้านของเขา โดยอ้างว่าต้องการมาซื้อที่ดินแถวนั้น แล้วจึงไปถามชื่อจากผู้ใหญ่บ้านว่า ชื่อ-นามสกุล ของเขาคืออะไร จากนั้นทหารจำนวนหนึ่งจึงมาค้นที่บ้านของเขา เมื่อเขารู้ตัวว่ามีทหารกำลังตามหาตัวตนเองอยู่จึงหลบหนีไปอยู่ที่บ้านของชาวบ้านที่สนิทกัน เมื่อทหารไม่ได้ตัวกลับไป ต่อมาจึงมีหมายเรียกให้ไปรายงานตัวที่ค่ายเม็งรายมหาราชในวันที่ 1 มิถุนายน 2557

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

14 สิงหาคม 2557 
เวลา 8.30 น. ศาลทหารนัดสอบถามคำให้การ พนักงานอัยการศาลทหารฝ่ายโจทก์ จำเลยและทนายจำเลยมาศาล
 
เวลา 9.00 น. ระหว่างนั่งรอการพิจารณาด้านล่างของศาล จ่าศาลแจ้งกับทนายจำเลยเรื่องหนังสือรับรองความประพฤติจากผู้ใหญ่บ้านของจำเลย ซึ่งฝ่ายจำเลยได้ยื่นต่อศาลพร้อมกับคำให้การมาก่อนหน้านี้ โดยศาลเห็นว่าในหนังสือนี้ยังขาดข้อความรับรองเรื่องจำเลยไม่เคยต้องโทษในคดีอาญามาก่อน จึงให้เพิ่มเติมลงไป ระหว่างนั้นนายทหารสองท่านที่จะขึ้นเป็นองค์คณะร่วมในการพิจารณากับนายทหารพระธรรมนูญได้เดินทางมาถึงศาล โดยแต่งชุดนายทหารเต็มยศ
 
เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลให้ผู้ที่จะร่วมฟังการพิจารณา นำบัตรประชาชนมาแสดงเพื่อบันทึกลงในสมุดบันทึกการเข้าฟังการพิจารณาของศาล
 
เวลา 10.10 น. เจ้าหน้าที่ศาลให้จำเลย และกลุ่มผู้เข้าฟังการพิจารณารวมทั้งหมด 6 คน ขึ้นไปยังห้องพิจารณาในชั้นสอง ส่วนจ่าศาลขึ้นมาทำหน้าที่เป็นหน้าบัลลังก์ พร้อมตะโกนว่า “เคารพศาล” เมื่อศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ 
 
ศาลได้อ่านคำฟ้องในคดีให้จำเลยฟัง และได้สอบถามคำให้การของจำเลย โดยจำเลยเบิกความว่าตนรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลได้สอบถามอายุและอาชีพของจำเลย จากนั้นศาลอ่านรายงานการพิจารณา และกล่าวทบทวนเรื่องการยื่นคำร้องของจำเลยขอให้ลงโทษสถานเบา และหนังสือรับรองความประพฤติจากผู้ใหญ่บ้านของจำเลย ก่อนหันไปสอบถามอัยการทหารฝ่ายโจทก์ว่าจะคัดค้านคำร้องนี้หรือไม่ อัยการตอบว่าไม่ ศาลจึงแจ้งเรื่องคำสั่งของกระทรวงกระโหมที่ได้ให้นายทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 มาร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย 
 
เวลา 10.18 น. ศาลอ่านคำพิพากษา โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนมาตรา 8 และ 11 ของพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 จึงพิพากษาให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท และจำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก พร้อมแนบหนังสือรับรองความประพฤติของจำเลยจากผู้ใหญ่บ้าน
 
ซึ่งรับรองว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่แน่นอน ประกอบอาชีพสุจริต มีความประพฤติดี มีภาระเลี้ยงดูภรรยาและบุตรที่เยาว์วัย และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญามาก่อน คดีจึงมีเหตุอันควรปราณีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี และให้จ่ายค่าปรับ 5,000 บาท
 
ต่อมา ฝ่ายจำเลยได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาล โดยได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 200 บาท จากการถูกคุมขังโดยไม่มีความผิดเป็นเวลา 1 วัน จึงเหลือชำระค่าปรับต่อศาลทั้งสิ้น 4,800 บาท 
 

หมายเลขคดีดำ

ก.1/2557

ศาล

ศาลจังหวัดทหารบก เชียงราย

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


แหล่งอ้างอิง


1 มิถุนายน 2557
จำเลยไปรายงานตัวตามหมายเรียกที่ค่ายเม็งรายมหาราช และถูกควบคุมตัวที่ค่ายเป็นเวลา 7 วัน
 
7 มิถุนายน 2557
ครบกำหนดในการกักตัว 7 วัน จำเลยถูกควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย1 คืน แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังทำสำนวนไม่เสร็จ จึงนำตัวเขาไปขออำนาจศาลฝากขังผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน 
 
9 มิถุนายน 2557
จำเลยได้ยื่นขอประกันตัวเอง ด้วยเงินสดจำนวน 20,000 บาท และต้องไปรายงานตัวผลัดแรกในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 
 
 20 มิถุนายน 2557
โพสต์ใน เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าต้องไปขึ้นศาลทหาร 
 
14 สิงหาคม 2557
ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย พิพากษาจำคุกจำเลยเป็นเวลา 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี เพราะจำเลยมีความประพฤติดี มีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาและบุตร และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน  

คำพิพากษา


ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา