สมยศ บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin

อัปเดตล่าสุด: 04/06/2564

ผู้ต้องหา

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2554

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

กรมสอบสวนคดีพิเศษ / พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

สมยศ บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin เผยแพร่บทความ ชื่อ คมความคิด เขียนโดย "จิตร พลจันทร์" กล่าวถึงเหตุการณ์การเมืองไทยในอดีต พาดพิงถึงตัวละครที่ชื่อว่า "หลวงนฤบาล" ดีเอสไอดำเนินคดีสมยศในฐานะที่เป็นบรรณาธิการและยินยอมให้เผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ
 
สมยศถูกจับกุมตัวในวันที่ 30 เมษายน 2554 และถูกคุมขังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้จะเคยยื่นประกันรวมอย่างน้อย 16 ครั้ง และเคยวางเงินประกันสูงสุด 4,762,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระหว่างการสืบพยาน โจทก์ขอให้ส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลต่างจังหวัด ถึงสี่แห่ง ในศาลชั้นต้น สมยศต่อสู้ว่าเนื้อหาของบทความไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ฯ และตัวเขาเป็นเพียงบรรณาธิการเท่านั้นไม่ได้เป็นผู้ทำเนื้อหา ซึ่งไม่มีพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหา 
 
ในวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สมยศมีความผิดตาม 112 สองกรรม จากบทความสองชิ้น ลงโทษจำคุกกรรมละห้าปี รวมสิบปี ศาลให้เหตุผลว่า เนื้อหาในบทความแม้ไม่เอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์หรือใช้ตัวละครสมมติ แต่บริบททางประวัติศาสตร์ในบทความทำให้ผู้อ่านตีความว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษจำคุกของสมยศ โดยลดโทษจำคุกต่อการกระทำหนึ่งกรรมจากห้าปีเหลือสามปี สองกรรมลงโทษจำคุกหกปี 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สมยศ พฤกษาเกษมสุข จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย มีประวัติเคลื่อนไหวด้านแรงงานเรื่อยมา โดยเป็นผู้นำแรงงานออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกับรัฐบาลในหลายครั้ง
 
ปี 2550 เขาเริ่มต้นเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และเป็นแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ไม่กี่วันก่อนที่เขาจะถูกจับ เขาออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
 
ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2553 จากการชุมนุมทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในครั้งนั้นมีสื่อหลายแห่งถูกปิด และนักเคลื่อนไหวหลายคนถูกจับกุมตัวเข้าไปในค่ายทหาร ซึ่งรวมถึงนายสมยศที่ถูกจับกุมเป็นเวลา 19 วัน หลังจากได้รับการปล่อยตัว เขาเปลี่ยนชื่อนิตยสารจาก Voice of Taksin เป็น Red Power
 
นอกจากนี้ ชื่อของสมยศ  ถูกจัดอยู่ในรายชื่อผังล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2553 ด้วย
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกฟ้องในฐานะบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) ซึ่งตีพิมพ์บทความสองชิ้น อันอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

สมยศถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในสองกรรม ดังนี้

กรรมที่ 1 :  เผยแพร่บทความในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ฉบับที่ 15 (เอกสารหมายจ.24) ปักษ์หลังกุมภาพันธ์ 2553 ตีพิมพ์บทความเรื่อง “แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น” ในคอลัมน์ คมความคิด เขียนโดยผู้ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ มีเนื้อความทำนองว่า “คนแก่โรคจิต” วางแผนฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวทำนองว่า ตระกูลนี้เหมือนกันทั้งตระกูล เอาเขามาชุบเลี้ยงจนเป็นใหญ่โต พอได้ทีก็โค่นนายตัวเอง ซัดว่าสติไม่ดีแล้วก็จับลงถุงแดงฆ่าทิ้งอย่างทารุณ

กรรมที่ 2 : เผยแพร่บทความในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณฉบับที่ 16 (เอกสารหมาย จ. 25) ปักษ์แรกมีนาคม 2553 ตีพิมพ์บทความเรื่อง “6 ตุลา แห่งพ.ศ.2553” ในคอลัมน์ คมความคิด เขียนโดยผู้ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ มีเนื้อความทำนองว่า ตัวละครหนึ่งชื่อ “หลวงนฤบาล แห่งโรงแรมผี” คอยบงการการเมืองไทยมาตลอดตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

คดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 501/53 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

สมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง  ระหว่างที่จะเดินทางไปยังประเทศกัมพูชากับคณะทัวร์ที่ตนทำธุรกิจอยู่ โดยผู้ทำการเข้าจับกุมคือ พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ตม.จว.สระแก้ว และ ร.อ.ชาญ ว่องไวเมธี ผบ.ร้อย ทพ.1206 ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา 
 
ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาหลังจากที่สมยศได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อ รวบรวมรายชื่อประชาชนหนึ่งหมื่นชื่อให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
หลังถูกจับกุมเขาถูกนำตัวไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ และถูกขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

อ่านบันทึกสังเกตการณ์คดีฉบับเต็ม (ความยาว 78 หน้า) ที่นี่

ประเด็นที่โจทก์นำสืบ
1. ข้อความดังกล่าว เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาดมาดร้าย พระมหากษัตริย์
โจทก์นำสืบว่า บทความในนิตยสารฉบับที่ 15 มีเนื้อหาที่สื่อให้เข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนหลังการพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยข้อความที่ทำให้ตีความได้ว่า ผู้เขียนสื่อความถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เพราะมีการกล่าวถึงตระกูลที่เคยจับนายตัวเองลงถุงแดงแล้วตฆ่าทิ้งซึ่งโจทก์อ้างว่าสื่อความหมายถึงประวัติศาสตร์ไทยสมัยเปลี่ยนจากสมัยธนบุรีมาเป็นราชวงศ์จักรี

ส่วนบทความในนิตยสารฉบับที่ 16 นั้น กล่าวถึงตัวละครชื่อ “หลวงนฤบาล” แห่ง “โรงแรมผี” ที่มีบทบาทต่างๆ กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยข้อความที่ทำให้ตีความได้ว่า พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ เพราะมีข้อความตอนหนึ่งเขียนถึงการมีกฎหมายมาตั้ง "สำนักงานทรัพย์สินส่วนตัว" ซึ่งโจทก์อ้างว่าผู้เขียนน่าจะหมายถึง "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์"

2. นายสมยศ เป็นผู้กระทำความผิด เพราะมีฐานะเป็นบรรณาธิการ ซึ่งมีบทบาทพิจารณาเนื้อหาก่อนเผยแพร่
โจทก์นำสืบว่า นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณทั้งสองฉบับระบุชื่อ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยในคดีนี้เป็นบรรณาธิการ ดังนั้น นายสมยศจึงเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาก่อนตีพิมพ์และต้องรับผิดชอบในเนื้อหาที่ตีพิมพ์ไปแล้ว การที่นิตยสารตีพิมพ์บทความดังกล่าวในลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 112

ประเด็นที่จำเลยนำสืบ
1. บทความไม่ได้พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์
บทความดังกล่าว อ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบอำมาตย์ โดยเน้นที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ เพราะรูปประกอบก็เป็นรูปของบุคคลหลายคนในระบอบอำมาตย์ จำเลยและประชาชนทั่วไปอ่านแล้วไม่คิดว่าเป็นการกล่าวหาพระมหากษัตริย์

2. จำเลยไม่ใช่ผู้เขียน ไม่ใช่เจ้าของนิตยสาร และบรรณาธิการไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย
คดีนี้ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของนิตยสาร แต่ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสารต่อจากนายประแสง มงคลสิริ ในฐานะลูกจ้างของนิตยสาร บทความตามฟ้องนั้นจำเลยไม่ได้เป็นผู้เขียน ผู้เขียนคอลัมน์คมความคิด ที่ใช้นามปากกาว่าจิตร พลจันทร์นั้น คือ นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งส่งบทความมาเป็นบทความต่อเนื่อง 12 ตอนตั้งแต่จำเลยยังไม่ได้มาเป็นบรรณาธิการ และเนื่องจากผู้เขียนเป็นผู้มีชื่อเสียง บรรณาธิการจึงไว้วางใจ และให้เกียรติโดยการไม่ตัดทอนหรือแก้ไขเนื้อหาของบทความ ทั้ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดในเนื้อหาที่ตีพิมพ์ด้วย ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน

3. จำเลยถูกกล่าวหาเพราะเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลในขณะนั้น
ช่วงเวลาที่มีการจับกุมดำเนินคดี มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง จำเลยมีความคิดเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น และถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ผังล้มเจ้า” ซึ่งต่อมาดีเอสไอมีความเห็นว่าหลักฐานไม่พอดำเนินคดีกับบุคคลในผังล้มเจ้าดังกล่าว

4. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งก็เป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยมักอ้างความจงรักภักดี และใช้ข้อกล่าวหามาตรา 112 กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย นอกจากนี้กฎหมายอาญามาตรา 112 ยังเป็นกฎหมายที่มีโทษสูงเกินความจำเป็น กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และควรมีข้อยกเว้นสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต

บันทึกสังเกตการณ์คดีฉบับย่อ
อ่านบันทึกสังเกตการณ์คดีฉบับเต็ม (ความยาว 78 หน้า) ที่นี่
โจทก์นำพยานเข้าสืบอย่างน้อย 22 ปาก (ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพไม่ได้เข้าสังเกตการณ์การสืบพยานในบางปาก) ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานที่นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งจากกอ.รมน. และกองทัพบก นักศึกษาที่เคยฝึกงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติผู้รับจดทะเบียนหัวนิตยสาร โรงพิมพ์ซึ่งพิมพ์งานให้นิตยสาร นักวิชาการ และกรมสรรพากร

การสืบพยานจำเลยมีขึ้นทั้งสิ้น 7 ปาก ประกอบด้วยตัวจำเลย ประชาชนทั่วไป นักวิชาการด้านสังคม กฎหมาย และประวัติศาสตร์ และกรรมการสิทธิมนุษยชน

การสืบพยานในคดีนี้ เกิดขึ้นในศาลทั้งสิ้น 5 จังหวัด คือ สระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สงขลา และกรุงเทพฯ อัยการให้เหตุผลว่าเพราะพยานหลายปากอยู่ที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ นายสมยศถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 ทุกครั้งก่อนกำหนดนัดสืบพยานที่ศาลต่างจังหวัด นายสมยศต้องถูกเคลื่อนย้ายไปเรือนจำจังหวัดต่างๆ ล่วงหน้าเป็นเวลาหลายวัน ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้านเพื่อขอให้สืบพยานที่กรุงเทพฯ แต่ศาลไม่อนุญาต การสืบพยานนัดหนึ่งที่มีขึ้นที่จังหวัดสงขลามีเหตุต้องเลื่อนศาลเนื่องจากพยานโจทก์ไม่สะดวกเดินทางมาศาล เพราะอยู่ที่กรุงเทพฯ

การสืบพยานโจทก์
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง : ด.ต.หญิง กนกรักษ์ ตันโลห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)

การสืบพยานปากนี้ศาลอาญาส่งประเด็นไปสืบที่ศาลจังหวัดสระแก้ว เพราะพยานมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว

ด.ต.หญิง กนกรักษ์ ตันโลห์ เบิกความว่า ในวันจับกุมจำเลยคือวันที่ 30 เม.ย. 2554นั้นเข้าเวรตรวจหนังสือเดินทางอยู่อาคารขาออก เวลาประมาณ 13.00 น. จำเลยมายื่นหนังสือเดินทางขอรับการตรวจเพื่อเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เมื่อนำชื่อ หมายเลขบัตรประชาชน เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ พบว่าหน้าจอแสดงผล “บุคคลเป้าหมาย” พร้อมระบุว่ามีหมายจับของศาลอาญา จึงแจ้งหัวหน้าและให้เจ้าหน้าที่สอบสวนของ ตม.ประสานขอหมายจับจากดีเอสไอ

ด.ต.หญิงกนกรักษ์ ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีชาวกัมพูชาลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก และชาวไทยก็ลักลอบข้ามไปยังกัมพูชาจำนวนมากเช่นกัน เพราะพรมแดนระหว่างสองประเทศนั้นส่วนใหญ่เป็นท้องไร่ท้องนาสามารถเดินข้ามไปได้

ด.ต.หญิงกนกรักษ์กล่าวต่อว่า จำเลยเดินเข้าแถวมาตรวจหนังสือเดินทางเหมือนบุคคลทั่วไป โดยเดินทางมาพร้อมคณะ ซึ่งตนทราบอยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยเป็นผู้นำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวในประเทศแถบอินโดจีน

ทนายจำเลยนำส่งเอกสารสำเนาหนังสือเดินทางของจำเลยต่อศาล ด.ต.หญิงกนกรักษ์ยืนยันว่า หนังสือเดินทางนี้เป็นของจำเลยที่เคยตรวจที่ด่านอรัญประเทศในวันเกิดเหตุ ตามที่ปรากฏในหนังสือเดินทางมีการขอวีซ่ากับสถานทูตกัมพูชา 4 ครั้งระหว่างปี 2553-2554 ด.ต.หญิงกนกรักษ์ยังกล่าวว่า ตามสัญชาตญาณ หากคิดจะหลบหนีหรือรู้ว่าตัวเองมีอะไรอยู่ ก็คงจะไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง : นางสาวเบญจา หอมหวาน อายุ 23 ปี อาชีพรับจ้าง ทำงานในกรุงเทพฯ ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์


การสืบพยานปากนี้ศาลอาญาส่งประเด็นไปสืบที่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์

นางสาวเบญจา ซึ่งที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอยู่ที่จ.นครสวรรค์เบิกความว่า เคยทำงานกับจำเลยตั้งแต่ปลายปี 2553 เมื่อจำเลยเข้ามาเป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ  เริ่มจากฉบับที่ 4-20 ก่อนที่นิตยสารจะถูกปิด โดยช่วงแรกสมัครเข้าทำงานกับนายประแสง มงคลศิริก่อน ต่อมาเมื่อสำนักงานย้ายจากเมืองทองธานีไปยังลาดพร้าวจึงเริ่มทำงานกับจำเลยและทำหน้าที่เพิ่มจากรับสมัครสมาชิกนิตยสารมาเป็นรับส่งอีเมลด้วย อย่างไรก็ตามเมื่ออัยการถามย้ำโดยให้ดูเอกสารคำให้การชั้นสอบสวนเบญจาได้กล่าวว่าตนยังทำหน้าที่จ่ายเงินเดือนให้กับเพื่อนร่วมงานอีกด้วย โดยรับเงินมาจากจำเลย
    
นางสาวเบญจา กล่าวว่าไม่ทราบว่าอีเมล์ที่ส่งมามีเนื้อหาอย่างไรเพราะไม่ค่อยอ่าน รู้แต่ว่ามีการส่งบทความเข้ามาหลายครั้งซึ่งตนจะเซฟไว้ในเครื่องในชื่อไฟล์ว่า “บทความ” สำหรับให้จำเลยมาอ่าน

นางสาวเบญจาจำไม่ได้ว่าผู้เขียนบทความจริงๆ ชื่ออะไร แต่เคยได้ยินคนในที่ทำงานพูดกันว่าเจ้าของนามแฝงจิตร พลจันทร์ ชื่อจริงว่า จักรภพ เพ็ญแข นางสาวเบญจายังมีหน้าที่ดูคำถูกคำผิดด้วยแต่ไม่ทราบว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในบทความหรือไม่ เบญจาเคยเห็นว่าจำเลยดูเอกสารครั้งหนึ่งแต่ไม่ทราบว่าจำเลยได้แก้ไขหรือไม่

นางสาวเบญจาเบิกความด้วยอาการตื่นกลัว ตอบคำถามไม่ชัดเจนและกลับไปกลับมา นางสาวเบญจาเบิกความว่า เพื่อนร่วมงานในสำนักงานที่เหลือ คือช่างภาพชื่อนายชนาธิป คนคัดเลือกคัดหารูปชื่อนายกฤษดา ฝ่ายศิลป์ที่เข้ามาทำงานแทนนายกฤษดาชื่อนายชาคริต พงษ์นาม และอีกคนซึ่งเข้ามาใหม่ทำงานด้านสมาชิกชื่อนางสาวชรินรัตน์ หลังจากที่นิตยสารถูกปิดตนก็ลาออกจากงาน หลังจากนั้นจำไม่ได้ว่ากี่เดือนมีหมายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้ไปเป็นพยานเนื่องจากมีชื่อตนปรากฏอยู่ในหน้านิตยสารด้วย เบญจาจึงไปตามหมายสองครั้ง คือ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2553 และ 27 พฤษภาคม 2554

ทนายความจำเลยทักท้วงว่าในห้องพิจารณามีนายชนาธิป พยานโจทก์ปากต่อไปเข้ามาฟังอยู่ด้วยซึ่งละเมิดกฎของศาล ศาลจึงบันทึกไว้ และแจ้งว่าห้ามเข้ามาอีก

ในช่วงบ่ายทนายความจำเลยถามถึง นายนรินทร์ จิตมหาวงศ์ บรรณาธิการด้านเนื้อหา เบญจาตอบว่าไม่ทราบเกี่ยวกับบุคคลนี้และศาลไม่ได้บันทึก ช่วงแรกของถามค้านโดยทนายความจำเลย นางสาวเบญจาตอบคำถามด้วยท่าทางอย่างประหม่า บางครั้งพยักหน้าอย่างเดียวศาลจึงไม่ได้บันทึก และยังเบิกความยังสับสนเกี่ยวกับระยะเวลาที่นายประแสงเป็นบรรณาธิการ การเป็นบรรณาธิการของจำเลย การร่วมทำงานของนายประแสงหลังจากที่จำเลยเป็นบรรณาธิการ และบทความของจิตร พลจันทร์
 
เบญจากล่าวเบิกความด้วยว่าจำเลยก็เขียนบทความลงนิตยสารด้วยแต่ตนไม่ทราบว่าเกี่ยวกับอะไร โดยหลังจากนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณปิดตัวลง ตนทราบว่าจำเลยทำนิตยสารฉบับใหม่ชื่อ เรดพาวเวอร์ (Red Power) และเป็นบรรณาธิการบริหารด้วย แต่ไม่ทราบว่าเนื้อหาของนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณนั้นเพื่อวิจารณ์รัฐบาลของสุรยุทธิ์ จุลานนท์หรือไม่

หลังสืบพยานทนายความจำเลยแถลงคัดค้านเรื่องการส่งประเด็นไปสืบในหลายจังหวัด แต่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์แจ้งว่าไม่มีอำนาจพิจารณาในเรื่องนี้ ให้ทนายความแถลงคัดค้านต่อศาลอาญา

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม : นางปนิดดา หอมหวาน อายุ 26 ปี อาชีพแม่บ้าน ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์

การสืบพยานปากนี้ศาลอาญาส่งประเด็นไปสืบที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์

นางปนิดดา หอมหวาน เบิกความว่า ตนเป็นพี่สาวของ น.ส.เบญจา หอมหวาน พยานปากที่สอง และเป็นภรรยาของนายชนาธิป หนึ่งในพนักงานของนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ โดยตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิตยสารดังกล่าว ช่วงเกิดเหตุทำงานที่สำนักงานทนายความของนายสุนัย จุลพงศธรที่กรุงเทพฯ ได้รับเงินเดือนๆ ละ 8,000 บาท น้องสาวของตนไม่เคยเล่าถึงเรื่องงาน และปนิดดาไม่รู้จักจำเลยและไม่เคยเห็นมาก่อน
    
นางปนิดดากล่าวว่า นายนรินทร์ จิตมหาวงศ์เป็นทนายความที่สำนักงานของสำนักงานสุนัยทนายความด้วยแต่ไม่ใช่ทนายความประจำสำนักงาน ตนรู้จักนายสุนัยเพราะเคยเป็นส.ส.จังหวัดนครสวรรค์มาก่อน และเป็นเจ้าของสำนักงาน

นางปนิดดาให้การว่า เคยอ่านบทความจากนิตยสารปีที่ 1 ฉบับที่ 15 ปักษ์หลังเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ของจิตร พลจันทร์ คอลัมน์ ยิงข้ามรุ่น และอีกฉบับหนึ่งคือปีที่ 1 ฉบับที่ 16 ปักษ์แรกเดือนมีนาคม 2553 ของจิตร พลจันทร์ เรื่อง 6 ตุลาคมแห่งพ.ศ.2553 แต่ไม่เข้าใจ

การตอบคำถามเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปนิดดาไม่ได้มีอาการไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้

ทนายความจำเลยถามค้าน ปนิดดาให้การว่า ทนายความสุวิทย์มีชื่อเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของนิตยสาร วอยซ์ออฟทักษิณ  ทั้งทนายความสุวิทย์และ ส.ส.สุนัย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ และตนเห็นว่าบทความทั้งสองไม่มีเนื้อหาตอนใดที่เอ่ยถึงหรือเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์เลย

หลังสืบพยาน ทนายจำเลยแถลงซ้ำอีกครั้งเรื่องการขอให้ศาลส่งจำเลยคืนกรุงเทพฯ และพร้อมจะออกค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง เพื่อให้พยานจากจังหวัดสงขลา เดินทางมาสืบพยานในกรุงเทพฯ เพราะความเป็นอยู่ของจำเลยลำบาก แต่ศาลยืนยันว่า การส่งไปพักไว้ที่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับราชทัณฑ์ ไม่ได้อยู่ในอำนาจศาล

สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ : พันเอกวิจารณ์ จดแตง ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

พันเอกวิจารณ์ จดแตง เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการเป็นผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับแต่งตั้งเข้าไปทำงานด้านกฏหมายให้กับศอรส. ในระหว่างที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี2553 โดยหน้าที่หลักคือการตรวจสอบว่าผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมแสดงออกซึ่งความเห็นอันอาจกระทบต่อสถาบันเบื้องสูงหรือไม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบนิตยสารvoice of Taksin ก็พบว่ามีเนื้อหาที่อาจกระทบต่อสถาบันเบื้องสูงจึงส่งให้ดีเอสไอ ตนอ่านนิตยสารฉบับที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษทว่ามิได้เป็นส่วนของทีมที่ทำหน้าที่วิเคราะห์เนื้อหา เพียงแต่รับมอบหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษตามที่ดีเอสไอวิเคราะห์เนื้อหามาให้

พันเอกวิจารณ์ กล่าวว่า บทความในนิตยสารเล่มที่15 ผู้เขียนพยายามสื่อกับผู้อ่านว่าราชวงศ์จักรีเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระเจ้ากรุงธนบุรี การใช้คำว่าตระกูลในบริบทของประวัติศาสตร์สมัยนั้นสามารถตีความได้ไม่ยากว่าเป็นการเอ่ยถึงราชวงศ์จักรี โดยไม่ยืนยันไม่ได้ว่าเมื่อบุคคลอื่นมาอ่านข้อความดังกล่าวจะตีความไปในทิศทางเดียวกับพยาน ทนายความถามว่าได้ถามบุคคลอื่นหรือไม่ว่าอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกอย่างไร พยานตอบว่าไม่ได้ถาม   

พันเอกวิจารณ์ กล่าวต่อว่า บทความในนิตยสารเล่มที่16 เป็นบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวถึงอดีตผู้นำว่าผู้นำเหล่านั้นล้วนทำตามคำสั่งหรือถูกหลอกให้ทำตามความปรารถนาของหลวงนฤบาลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงจนเกิดเหตุนองเลือดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งตีความว่าการผูกเรื่องในบทความแสดงให้เห็นว่าหลวงนฤบาลหมายถึงในหลวง นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินส่วนตัวที่ตั้งขึ้นในปี 2490ก็น่าจะหมายถึงสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์   

พันเอกวิจารณ์  กล่าวด้วยว่า ไม่รู้ว่าผู้ใดคือเจ้าของนิตยสารหรือเจ้าของบทความที่มีข้อความกระทบสถาบันรวมทั้งไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน     

ในช่วงการตอบคำถามทนายจำเลย พันเอกวิจารณ์หลีกเลี่ยงการตอบเรื่องสถาบันกษัตริย์กับการเมืองในหลายๆ ข้อ กับคำถามที่ว่าสิทธิมนุษยชนคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการวิพากษณ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือไม่ นอกจากนี้พันเอกวิจารณ์ยังกล่าวด้วยว่าการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายแต่หากเป็นการพูดเพื่อปกป้องพยานถือว่าการกระทำนั้นเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน เมื่อถามว่าว่าเมื่อมีการกล่าวหาบุคคลว่าละเมิดสถาบัน มีสักเรื่องไหมที่ไม่ดำเนินการ พันเอกวิจารณ์ตอบว่า ไม่ ดำเนินการทุกคดี 

สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า : พันเอกนุชิต ศรีบุญส่ง ฝ่ายปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก กองทัพบก
ห้องพิจารณาคดีหมายเลข 908 ศาลอาญา กรุงเทพมหานคร


พันเอกนุชิตเบิกความว่า ตนได้รับหน้าที่ให้ดูแลสถานการณ์เกี่ยวกับความมั่นคง ติดตามข่าวกรองและรวบรวมตั้งแต่ปี 2548 จนเกิดรัฐประหารปี 2549 หน่วยงานของตนทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงทุกด้าน รวมทั้งความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนไม่รู้จักจำเลยและไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกัน

พันเอกอนุชิตกล่าวว่า ผู้กระทำการเกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ มีอยู่สี่กลุ่ม คือ หนึ่ง บทความต่างๆ ที่หมิ่นเหม่ จาบจ้วงให้ร้ายสถาบัน สอง คือการกระทำของบุคคล เช่น การปราศรัยบนเวที การแจกเอกสารซีดีต่างๆ ในการชุมนุม การเขียนข้อความสัญลักษณ์ที่ไม่เหมาะสม สาม คือในสื่ออินเทอร์เน็ต และสี่ คือสื่อกระจายเสียง เช่น วิทยุชุมชน
    
พันเอกอนุชิตกล่าวด้วยว่า ตนกับพวกร่วมกันวิเคราะห์เพียงเบื้องต้น ไม่ได้ชี้ขาดว่าหมิ่นฯหรือไม่ พบสื่อที่มีแนวทางหมิ่นเหม่ คือ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ไทยเรดนิวส์ (Thai Red News) นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) และวารสารความจริงวันนี้ โดยนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณมีพฤติการณ์ คือ สื่อภาพไม่เหมาะสมบนหน้าปก เช่น ภาพครุฑที่เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันฯ ภาพไพ่แจ๊ค แหม่ม แล้วเว้นภาพใบสุดท้ายไว้ พอได้ข้อมูลมาก็มีหน่วยความมั่นคงของกอ.รมน. ตำรวจสันติบาล และเจ้าหน้าที่ไอซีทีวิเคราะห์ข้อความ และศอฉ. เป็นฝ่ายวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายว่าจะดำเนินคดีหรือไม่  การดำเนินคดีจำเลยเป็นส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ทนายความจำเลยถามค้าน พันเอกนุชิตตอบว่า เคยอ่านบทความในนิตยสาร วอยซ์ออฟทักษิณ แต่ไม่ได้อ่านทุกบทความ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิจารณ์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม มีบทความที่วิจารณ์รัฐบาลสุรยุทธ์ด้วย วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยตลอด ไม่ว่ารัฐบาลไหน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ฯ

พันเอกนุชิตกล่าวว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ มีเป็นบางส่วนที่พูดว่าฝ่ายตรงข้ามซึ่งก็คือนปช.ไม่จงรักภักดี ขณะนั้นมีการแจ้งความกันเยอะมาก ทั้งเหลืองแจ้งแดง และแดงแจ้งเหลือง

พันเอกนุชิตกล่าวว่า ผังล้มเจ้าเป็นเพียงเครื่องช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์เชื่อมโยง มีขึ้นก่อนการชุมนุมแต่มาเป็นข่าวเมื่อมีการประกาศในสมัยพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นโฆษกศอฉ. ทั้งจำเลยและนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่ปรึกษานิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ มีชื่ออยู่ในผังล้มเจ้าด้วย เคยได้ยินข่าวว่าก่อนที่จะถูกดำเนินคดีนี้ จำเลยเคยถูกจับไปอยู่ในค่ายอดิศร ที่จังหวัดสระบุรีกับนายสุธาชัย โดยผลถึงที่สุดทั้งจำเลยและนายสุธาชัยไม่ถูกฟ้องต่อศาล

พันเอกนุชิตกล่าวว่า ทราบว่านายสุธาชัยฟ้องคดีอาญา ฐานหมิ่นประมาทกับพันเอกสรรเสริญด้วย แต่ไม่ทราบว่าทั้งสองฝ่ายมีการตกลงยอมความกันและพันเอกสรรเสริญกล่าวขอโทษและยอมรับว่าผังล้มเจ้าไม่มีอยู่จริงต่อหน้าสื่อ  

พันเอกอนุชิต กล่าวว่า จากที่ปรากฏในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ว่าจำเลยเป็นบรรณาธิการ จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นบรรณาธิการ ไม่ทราบว่าก่อนที่จำเลยจะเป็นบรรณาธิการเคยมีบรรณาธิการตามกฎหมายคือนายประแสง มงคลศิริ ไม่ทราบว่าคนที่ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ เป็นใคร ไม่ทราบว่าบทความที่นำมาลงนั้นได้มาอย่างไร อ่านนิตยสารเล่ม 15 และ 16 คร่าวๆ แล้วโดยไม่ได้เป็นคนสรุปว่าหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 หรือไม่ มีทีมงาน 4-5 คน เป็นนายทหารทั้งหมด ที่ได้รับมอบหมายให้อ่านบทความ มีการประชุมกันหลายครั้งก่อนลงความเห็น เมื่ออ่านแล้วสรุปเหมือนกันหมด

พันเอกอนุชิต กล่าวว่า ในบทความของจิตร พลจันทร์ ไม่มีตอนใดกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ในนิตยสารเล่มที่ 15 ต้องตีความโดยรวม ระบุจุดที่มีเนื้อหาหมิ่นไม่ได้ ใจนิตยสารเล่ม 16 ตอนที่พูดถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนตัว น่าจะตีความได้ว่าเป็นเรื่องพระมหากษัตริย์ ส่วนหลวงนฤบาลจะเป็นใครนั้นไม่รู้จัก คำว่าถุงแดง คำว่าเคยเป็นข้ารับใช้มาก่อน ตนเข้าใจว่าหมายถึงในหลวง แต่ก็ไม่มีประวัติศาสตร์หน้าไหนบันทึกไว้เลย ที่เห็นว่าในบทความนี้น่าจะหมายถึงรัชกาลที่ 1 พระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 9 เป็นความเข้าใจของตน

อัยการถามติง พันเอกนุชิตตอบว่า ตนอ่านข้อความเกี่ยวกับถุงแดงแล้ว วิเคราะห์เองว่าเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนราชวงศ์คือตอนที่พระเจ้าตากสินสวรรคตและเปลี่ยนราชวงศ์ ดูจากที่เขียนว่า เวลา 200 กว่าปี ซึ่งเป็นช่วงเวลานั้น เท่าที่อ่านมาไม่มีฉบับไหนที่เขียนตรงๆ แต่เขียนแบบไม่ให้มีผลกระทบกับตัวเอง เปรียบเทียบให้คนอ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงสถาบัน

สืบพยานโจทก์ปากที่หก : พันเอกพีระ ฉิมปรี ผู้อำนวยการกรมยุทธการทหารบก
พันเอกพีระ เบิกความว่า กองทัพบกมีหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องความมั่นคง ตนเป็นเสนาธิการประจำศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก มีหน้าที่รวบรวมข่าวสาร วิเคราะห์สถานการณ์ ตนไม่รู้จักจำเลยมาก่อน

พันเอกพีระ กล่าวว่า การดูหมิ่นสถาบันฯ เริ่มตั้งแต่ปี 2548 และรุนแรงขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 มีทั้งในบทความ สื่ออินเทอร์เน็ต วิทยุกระจายเสียง และสื่ออื่นๆ โดยในปี 2550 หน่วยงานความมั่นคงจะเริ่มเก็บข้อมูลแบบบูรณาการ รวบรวมเป็นชุดข้อมูล โดยสื่อสิ่งพิมพ์ที่รวบรวมข้อมูลไว้มีหลักๆ สามสื่อ คือ วอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) ความจริงวันนี้ และ ไทยเรดนิวส์ (Thai Red News)  มีการรวบรวมกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันฯ ผังล้มเจ้าเป็นส่วนหนึ่ง เป็น Mind Map แสดงความเชื่อมโยงทั้งกลุ่มบุคคล สถานที่ และพฤติกรรม ที่พาดพิงหรือจาบจ้วงสถาบันฯ

พันเอกพีระ กล่าวว่า นิตยสารทั้ง 3 ฉบับ โดยเฉพาะ วอยซ์ออฟทักษิณ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคน เช่น นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ มีอีกหลายคนที่เป็นที่ปรึกษา มีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นบรรณาธิการบริหาร มีนักเขียน เช่น นายจักรภพ เพ็ญแข นักเขียนส่วนใหญ่จะเป็นนามแฝง ซึ่งไม่สามารถสอบสวนได้ชัดเจน

พันเอกพีระ เบิกความว่า บทความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ มีเรื่องแผนนองเลือด มีข้อความที่สื่อให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแผนฆ่าประชาชน มีข้อความที่เจาะจงคือข้อความในหน้า 46 ที่ว่า “โคตรตระกูลนี้มันก็เหมือนกันทั้งนั้น…กรรมจะมาสนองกรรมเอาในตอนนี้” มีกล่าวถึงโคตรตระกูล กล่าวว่ามีคนเอามาชุบเลี้ยง สุดท้ายก็มาฆ่าผู้ชุบเลี้ยง ช่วงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนจากยุคสมัยของพระเจ้าตากสินมาเป็นราชวงศ์จักรี ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า พระเจ้าตากสินทรงกู้เอกราช แล้วพระพุทธยอดฟ้าก็ได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ มีข้อความที่พาดพิงเรื่องการฆ่ากันในประวัติศาสตร์คือ “จับนายไปจองจำ” คนที่ถูกฆ่าโดยถุงแดงคือเป็นการนำสมเด็จพระเจ้าตากสินมาฆ่า แต่จำไม่ได้ว่าทำอย่างไร  เห็นอยู่ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ตอนเด็ก บทความตามฟ้องนั้นโดยรวมทำให้เข้าใจได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เบื้องหลังทำให้เกิดวิกฤตการเมืองและสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีการใช้นามแฝงว่าหลวงนฤบาล ถ้าอ่านต่อไปจะเข้าใจว่าหมายถึงใคร

ทนายจำเลยถามค้าน พันเอกพีระกล่าวว่า ได้นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณมาจากหน่วยข่าวซึ่งมีทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ตนเคยอ่านตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์เพราะหน่วยข่าวบอกว่าเป็นนิตยสารที่มีแนวโน้มจะรุนแรง มีฉบับที่ว่าด้วยพระเจ้าตากสิน หนังสือนี้เขียนถึงเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเรื่องใดเกี่ยวกับการเมืองไทย

พันเอกพีระ เบิกความว่า นิตยสารเล่ม 15 ตนอ่านแล้วเข้าใจว่าหมายถึงพระเจ้าตากสิน เข้าใจว่าโรงแรมผีหมายถึงโรงพยาบาล ถ้าคนที่ไม่เคยมีความรู้ประวัติศาสตร์ก็จะเข้าใจเพราะมีการพาดพิงถึงอดีตนายกฯ คนที่มีอำนาจเหนือ และมีการเอาสถานการณ์มาเปรียบเทียบ ซึ่งความรู้นี้ถูกเผยแพร่อยู่ในสังคมออนไลน์และสื่อต่างๆ จำนวนมาก หลวงนฤบาลนั้น เข้าใจว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9

สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด : นางสาว ปวิตรา สกุลชัยมงคล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นางสาวปวิตรา เบิกความว่า เคยฝึกงานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2554 โดยได้รับหน้าที่เรียบเรียงสำนวนคดีต่างๆ ในระหว่างการฝึกงานได้อ่านนิตยสาร voice of Taksin หลายฉบับแต่สองฉบับที่ถูกนำมาร้องทุกข์กล่าวโทษมีบทความที่มีเนื้อหาส่อไปในทางหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาตร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เด่นชัดที่สุด

นางสาวปวิตรา กล่าวว่า ในนิตยสารฉบับที่ 15 บริบททางประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านราชวงศ์ที่เรียนมาทำให้เข้าใจได้ว่าผู้เขียนบทความจงใจใส่ร้ายว่าราชวงศ์จักรีอยู่เบื้องหลังความรุนแรงในการเปลี่ยนผ่าน ส่วนบทความในนิตยสารฉบับที่16 เข้าใจได้ว่าบทความนี้ต้องการสื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 6ตุลา 2519 โดยในส่วนของข้อมูลเกี่ยวกับตัวนิตยสารพยานทราบชื่อบรรณาธิการจากข้อความที่ระบุบนหนังสือเท่านั้น

นางสาวปวิตรา กล่าวด้วยว่า การแสดงออกซึ่งความเห็นในเชิงลบต่อสถาบันดูจะมีมากขึ้นซึ่งข้อความส่วนใหญ่จะไม่กล่าวร้ายสถาบันตรงๆแต่จะแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์
    
สืบพยานโจทก์ปากที่แปด : นายเดชิต ชัยเดชสุริยะ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายเดชิตเบิกความว่า เคยฝึกงานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2554  ได้รับมอบหมายให้มาเป็นพยานโดยให้อ่านนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เพื่อดูว่ามีการเชื่อมโยงเข้าข่ายหมิ่นสถาบันหรือไม่ ซึ่งตนอ่านแล้วพบว่าหมิ่นฯ

นายเดชิตมีท่าทีอึกอักเมื่ออัยการถามว่า หมิ่นอย่างไร อัยการจึงให้อ่านนิตยสารอีกครั้ง เดชิตอ่านนิตยสารเล่มที่ 15 แล้วเบิกความว่า พบว่ามีบทความที่เข้าข่ายหมิ่นฯ ตรงที่ “โคตรตระกูลนี้มันก็เหมือนกันทั้งนั้น…” ซึ่งอ่านแล้วตีความได้ว่า ตระกูลนี้คือราชวงศ์จักรี  ส่วนนิตยสารเล่มที่ 16 ตนเห็นว่าเป็นการกล่าวหาในหลวงในเหตุการณ์ทางการเมือง โดยใช้นามแฝงว่าหลวงนฤบาล

ตอนตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน เดชิตเบิกความว่า การวิจารณ์กษัตริย์แต่ไม่ละเมิด เช่นกล่าวว่า กษัตริย์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง สามารถพูดได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพูดว่า พระมหากษัตริย์สั่งฆ่าประชาชนนั้นพูดไม่ได้ สถาบันฯเป็นบุคคลสาธารณะ สามารถพูดถึงได้ แต่ไม่ควรไปอ้างอิงในเชิงเสียหายหรือพูดสิ่งที่ไม่ดี

เดชิตกล่าวว่า อ่านนิตยสารสองเล่มนี้ด้วยความรู้สึกของตัวเอง ไม่มีใครมาแนะนำ และไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบังคับในการแสดงความเห็นจากการอ่านบทความทั้งสองฉบับ

สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า : นายณรงค์วิทย์ ฉัตรพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ประจำสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
นายณรงค์วิทย์ เบิกความว่า ทรัพย์สินเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์แบ่งเป็นสามประเภท คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินสาธารณสมบัติที่พระมหากษัตริย์ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยทรัพย์สินในประเภทแรกต้องเสียภาษีแต่ทรัพย์สินสองประเภทหลังไม่ต้องเสียภาษี เข้าใจว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนตัวที่บทความพูดถึงหมายถึงสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ในการตอบคำถามทนายจำเลย ทนายถามเกี่ยวกับโครงสร้างของสำนักทรัพย์สินซึ่ง นายณรงค์วิทย์ตอบว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่งและมีกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่น้อยกว่า4คน ซึ่งสำนักทรัพย์สินถือครองอาคารและที่ดินอยู่ในหลายๆจังหวัดและนำทรัพย์สินเหล่านั้นมาให้เช่าเพื่อเก็บผลประโยชน์

ทนายถามว่าบทความชิ้นนี้อ้างถึงปีที่ตั้งสำนักทระพย์สินส่วนตัวเป็นปี 2491แต่พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์มีมาตั้งแต่ปี 2479 พยานยอมรับว่าใช่ แต่กฏหมายดังกล่าวก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี2491และชี้แจงว่าการแก้ไขกฏหมายในปี 2491เป็นไปเพื่อยกระดับสำนักทรัพย์สินฯให้เป็นนิติบุคคลมีชื่ออยู่ในสถานะที่จะถือครองกรรมสิทธ์ได้

ทนายความพยายามถามคำถามที่เกี่ยวกับการชุมนุม การแบ่งสีของคนในชาติรวมไปถึงการนิยามความหมายของคำว่าอำมาตย์ซึ่งพยานพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถามเหล่านั้นโดยตอบว่าไม่ทราบและไม่สนใจการเมือง และไม่ขอตอบในประเด็นที่ว่าผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินจะถูกเรียกว่าอำมาตย์ได้หรือไม่ ในส่วนของความรับรู้ของพยานต่อวารสารvoice of Taksinนั้นเนื่องจากพยานมิได้สนใจการเมืองจึงไม่เคยอ่าน ซึ่งเพิ่งจะมาได้อ่านก็เพราะต้องมาให้การในคดีนี้และก็ดูเพียงแค่ในส่วนของปีพ.ศ.ที่เห็นว่าตรงกันเท่านั้น      

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ : นางวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสง ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ
นางวิลาวัณย์เบิกความว่า ดีเอสไอเรียกนางวิลาวัณย์ไปสอบถามถึงรายชื่อวารสารที่จดแจ้ง โดยมีวอยซ์ออฟทักษิณเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งขออนุญาตแล้ว โดยผู้ดำเนินการจดแจ้ง คือ นายนรินทร์ จิตมหาวงศ์ เป็นทนายความ ก่อนที่จะอนุญาตได้ตรวจสอบก่อนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าผู้ขอจดแจ้งมีประวัติอาชญากรรมหรือไม่  

นางวิลาวัณย์กล่าวว่า นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณไม่มีการแจ้งขอเปลี่ยนผู้รับผิดชอบในตอนหลัง  หลังจากออกใบอนุญาตจดแจ้งแล้ว ผู้พิมพ์มีหน้าที่ต้องส่งหนังสือมาให้หอสมุดแห่งชาติสองฉบับในทุกครั้งที่มีการพิมพ์ตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องว่าสามารถเผยแพร่ได้  หากไม่ส่งมาก็มีโทษปรับ แต่ไม่มีตัวอย่างนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณที่หอสมุดแห่งชาติ และตนก็ไม่เคยอ่าน เป็นไปได้ว่าผู้จดทะเบียนกับคนทำนิตยสารเป็นคนละคนกัน

ทนายความจำเลยให้วิลาวัณย์ดูนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ วิลาวัณย์เบิกความว่า ตามเอกสารการจดแจ้ง นายนรินทร์เป็นทั้งบรรณาธิการ เจ้าของ และผู้พิมพ์โฆษณา แต่ในนิตยสารนี้แทบจะไม่ตรงกับที่อนุญาตไว้เลย ทั้งชื่อผู้พิมพ์โฆษณาหรือสถานที่ตั้ง  การเปลี่ยนบรรณาธิการจากนายนรินทร์เป็นนายประแสงแล้วเป็นนายสมยศ ก็ไม่เคยมีการแจ้งหอสมุดเลย ซึ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ มาตรา 21 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

วิลาวัณย์ตอบคำถามทนายจำเลยว่า บรรณาธิการที่ทำนิตยสาร ควบคุมเนื้อหา รับผิดชอบการกระทำ ควรจะเป็นคนเดียวกันกับบรรณาธิการที่จดแจ้งตามกฎหมาย จนถึงปัจจุบันนี้นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณก็ยังมีนายนรินทร์ที่เป็นผู้พิมพ์โฆษณาเพียงผู้เดียว

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบเอ็ด : นายชวาล แซ่เย๊ะ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายชวาล เบิกความว่า เคยฝึกงานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อเดือนเมษายน 2553 กรมสอบสวนคดีพิเศษมอบหมายให้อ่านนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เพื่อให้มาแสดงความคิดเห็นต่อบทความนั้นว่าคิดอย่างไร ในฐานะประชาชนทั่วไป ซึ่งก็ผ่านมาปีกว่าแล้ว ตนจำไม่ค่อยได้ว่าอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร

นายชวาลอ่านนิตยสารฉบับที่ 15 และ16 แล้วตอบคำถามอัยการว่า รู้สึกว่าคนเขียนต้องการสื่อถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และราชวงศ์จักรี ในทำนองที่ไม่ค่อยเชิดชู กล่าวติเตียน และเสียดสี โดยใช้คำเป็นสัญลักษณ์ที่อาจตีความได้ว่าเป็นพระเจ้าอยู่หัว

นายชวาลกล่าวว่า ดีเอสไอไม่ได้ชี้นำตน และการอ่านบทความนี้ไม่ใช่อ่านเพื่อมาให้การ แต่อ่านเพื่อให้ดูว่ารู้สึกอย่างไรและคุยกันกับเพื่อนๆ ที่ไปฝึกงานด้วยกันที่ดีเอสไอ ซึ่งเพื่อนบางคนก็ไม่สมัครใจมาเป็นพยาน แต่อ่านแล้วเห็นตรงกันว่าเป็นการหมิ่นฯ  ในความเข้าใจของตน บรรณาธิการกับผู้เขียนบทความนี้น่าจะมีความคิดตรงกัน เนื่องจากบรรณาธิการเป็นผู้กลั่นกรองเนื้อหา และดูจากนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณแล้วก็เข้าใจว่าจำเลยมีความเห็นสอดคล้องกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งกลุ่มเสื้อแดงมักถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่าไม่มีความจงรักภักดี ตามความเข้าใจของตน คนที่มาเขียนหรือทำงานในสื่ออย่างวอยซ์ออฟทักษิณก็จะถูกมองว่าไม่จงรักภักดีเช่นกัน

นายชวาลเบิกความว่า ตนไม่แน่ใจว่าตามกฎหมายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอำนาจสั่งการทหารหรือไม่ แต่ถ้ามีคนเขียนหรือกล่าวหาว่าพระองค์สั่งตนก็ไม่เชื่อ  ตนคิดว่าพระมหากษัตริย์สามารถถูกวิจารณ์ได้ แต่ควรมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ และไม่ควรพูดถึงในแง่ที่เสียหาย

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสอง : นางรสนา จิตต์ปราณี เจ้าของโรงพิมพ์ บริษัทออฟเซ็ทจำกัด
นางรสนาเบิกความว่า โรงพิมพ์ของตนรับพิมพ์นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ฉบับที่ 2 และ 3 โดยที่ตนไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน เพียงแต่ได้ยินชื่อจากนายวิชัย ซึ่งเป็นฝ่ายการตลาดของโรงพิมพ์  การสั่งพิมพ์ของนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณเป็นการสั่งพิมพ์ด่วนมาก เอาภายใน 3-4 วัน ตนจึงไม่ได้อ่านเนื้อหาข้างใน พอพิมพ์เสร็จก็จะมีเจ้าหน้าที่มารับทันที

รสนากล่าวว่า เคยไปให้ปากคำกับดีเอสไอ โดยให้ตัวอย่างหนังสือฉบับที่ 2 และ 3 อย่างละเล่มไปด้วย  เหตุผลที่ไม่ได้รับจ้างพิมพ์นิตยสารวอยซ์ทักษิณต่อ เนื่องจากระยะเวลาที่เร่งเกินไป

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสาม : นายวิชัย ฉัตรทิพปภา ฝ่ายการตลาดโรงพิมพ์ บริษัทออฟเซ็ทจำกัด
นายวิชัยเบิกความว่า เคยรับงานพิมพ์นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ โดยผู้มาติดต่อคือจำเลยซึ่งไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัว  จำเลยเป็นคนโทรมาและมาหาที่โรงพิมพ์ โดยนำตัวอย่างหนังสือมาให้ดูด้วย และคุยนัดแนะวันเวลากัน โดยไม่ได้ถามว่าเป็นหนังสือของใคร คุยแต่ว่าจะใช้เวลาทำเท่าไร พิมพ์อย่างไร  

นายวิชัยกล่าวว่า เนื้อหาที่ให้พิมพ์นั้นใส่แผ่นซีดีมา ตนนำแผ่นซีดีไปจ้างทำเพลท แล้วก็นำมาพิมพ์  ตนไม่ได้ตรวจสอบเนื้อหา เพียงแต่ดูความเรียบร้อยว่าหน้าสลับกันหรือไม่ ตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือไม่เท่านั้น

วิชัยเบิกความว่า คนที่มาพร้อมจำเลยในวันที่มาหาที่โรงพิมพ์คือนายประแสง มงคลศิริ แต่ไม่ทราบว่านายประแสงมีตำแหน่งอะไร  ในนิตยสารเล่ม 2 และ 3 ปรากฏชื่อนายประแสงเป็นบรรณาธิการบริหาร และจำเลยเป็นผู้พิมพ์โฆษณา อาจเป็นไปได้ว่าจำเลยมาทำงานแทนนายประแสง การติดต่อจ้างพิมพ์นั้นผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของหนังสือก็สามารถมาติดต่อจ้างพิมพ์ได้

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสี่ : นางสาวสิริวรรณ มณีวรรณ ร้านรับจ้างทำเพลต

นางสาวสิริวรรณ เป็นผู้รับจ้างทำเพลตให้กับนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เล่มที่ 4-16 โดยจำเลยเป็นผู้มาติดต่อว่าจ้าง ซึ่งตนก็ไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน จำเลยเป็นคนเข้ามาติดต่อด้วยตัวเอง ไม่มีการชักนำจากใคร หลังจากนั้น จำเลยก็ไม่ได้ว่าจ้างตนต่อ โดยตนเองก็ไม่ทราบเหตุผล

นางสาวสิริวรรณตอบคำถามอัยการว่า ตนไม่ได้ตรวจเพลตเพราะไม่มีเวลาได้ตรวจ แม้จะออกมาเป็นรูปเล่มแล้วก็ไม่ได้ตรวจเช่นกัน

นางสาวสิริวรรณกล่าวว่า เคยเจอจำเลย 2-3 ครั้ง ในการส่งเนื้อหามาให้ทำเพลต ส่วนในครั้งอื่นๆ อีกสิบกว่าครั้ง ก็มีคนอื่นเอามาให้ไม่ซ้ำหน้ากัน  ตนไม่ทราบว่าคนที่จะมาติดต่อให้ทำเพลตจะใช่เจ้าของหรือเป็นบรรณาธิการหนังสือหรือไม่ และไม่ทราบว่านายสมยศเป็นเจ้าของหนังสือหรือไม่  การติดต่อประสานงานส่วนใหญ่เจ้าของหนังสือไม่จำเป็นต้องมาเอง ให้พนักงานมาติดต่อให้ก็ได้  และนายสมยศก็ไม่ใช่คนที่โอนเงินให้ตน เป็นเพียงแต่คนมาติดต่อ ส่วนเรื่องการโอนเงินตนมักจะคุยกับป้าจุ๋ม หรือคุณรัษฎา ชุ่มเกษียณ

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบห้า : นายหริรักษ์ สุขสาธุ ตัวแทนจำหน่ายหนังสือ
นายหริรักษ์ เบิกความว่าเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายนิตยสาร วอยซ์ออฟทักษิณ รวมทั้ง สยามปริทัศน์ และ เรดพาวเวอร์ ซึ่งเป็นนิตยสารที่จำเลยเป็นผู้จัดทำ โดยจำเลยเป็นผู้โทรมาติดต่อให้จัดจำหน่าย ตนรับนิตยสารจากจำเลยมาจำหน่ายเป็นเวลา 6-7 เดือน ก่อนที่ดีเอสไอจะเข้าตรวจค้นนิตยสาร   

นายหริรักษ์เบิกความว่า รอบการชำระเงินคือ 90 วัน ถ้าหนังสือเหลือก็จะส่งคืนเจ้าของ วอยซ์ออฟทักษิณเองก็เหลือ โดยตนจะนำไปส่งคืนที่เมืองทองธานี ปัจจุบันนี้ตนก็ยังจัดจำหน่ายหนังสือให้นายสมยศ คือ เรดออฟพาวเวอร์ โดยยอดจำหน่ายก็ไม่เกิน 30,000 เล่ม ทั้งเรดพาวเวอร์ และวอยซ์ออฟทักษิณ

นายหริรักษ์ตอบคำถามทนายจำเลยว่า กิจกรรมและหนังสือที่จำเลยทำมีแนวทางไปในแนวเสื้อแดง โดยเฉพาะวอยซ์ออฟทักษิณ และเรดพาวเวอร์ ส่วนสยามปริทัศน์ตนไม่แน่ใจ และตนก็ไม่เคยอ่านบทความของนายสมยศที่วิจารณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ และไม่เคยได้ยินจำเลยปราศรัย

นายหริรักษ์เบิกความว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของนิตยสาร ตนทราบว่าบรรณาธิการคือจำเลย ตามความเข้าใจของตน บรรณาธิการมีหน้าที่ควบคุมดูแลในเชิงเนื้อหา บรรณาธิการบริหารมีหน้าที่ดูแลกองบรรณาธิการทั้งหมด ส่วนผู้พิมพ์โฆษณา คือผู้จดทะเบียนในการขอหัวหนังสือครั้งแรก

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบหก : นายกฤษฎา ใจสุวรรณ์ อดีตฝ่ายศิลปกรรมนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ

นายกฤษฎาเบิกความว่า เข้าทำงานที่นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ราวเดือนตุลาคม 2552 มีหน้าที่ตรวจสอบคำถูกผิด และหาภาพประกอบบทความ โดยจะมีช่างภาพไปถ่ายรูป แล้วจะมาเลือกรูปก่อนจะส่งให้จำเลยตัดสินใจว่าจะลงหรือไม่ ส่วนบทความตนไม่ทราบว่าไปเอามาจากไหน จำเลยเป็นผู้จัดหา แต่ละเล่มมีประมาณ 7-9 บทความ ตนมีหน้าที่แก้ไขคำผิดเท่านั้น ไม่มีหน้าที่แก้ไขบทความ จำเลยเป็นผู้นำบทความมาให้ตนตรวจ เวลาอ่านบทความตนก็ไม่ได้อ่านอย่างวิเคราะห์ เพราะแค่ตรวจคำผิดก็ไม่ทันแล้ว  ตนทำงานที่นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณจนถึงเล่ม 16 ประมาณเดือนมีนาคม 2553

นายกฤษฎาตอบคำถามอัยการด้วยท่าทีอึกอักว่า ตอนดีเอสไอให้อ่านบทความอีกครั้ง ตนอ่านแล้วก็เข้าใจว่าบทความสื่อไปถึงในหลวงในลักษณะที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่เป็นการกล่าวถึงโดยตรง ส่วนบทความในนิตยสารเล่ม 16 ที่ดีเอสไอเอามาให้อ่าน ตนอ่านแล้วไม่เข้าใจ

นายกฤษฎาเบิกความว่า บทความทั้งหมดที่ผู้เขียนส่งมาจะต้องส่งให้จำเลยก่อน จะมีใครเป็นผู้ร่วมตัดสินใจด้วยหรือไม่ตนไม่ทราบ เพราะคนทำงานในสำนักงานก็มีเพียงนางสาวเบญจาเป็นฝ่ายสมาชิก และนายชนาธิปเป็นช่างภาพ ไม่มีผู้จัดการ  

นายกฤษฎาตอบคำถามทนายจำเลยว่า การจัดพิมพ์นิตยสารจะเร่งรีบทุกครั้ง แต่ตนไม่ทราบว่าหลังจากตรวจคำผิดส่งให้จำเลยแล้ว ได้มีการแก้ไขก่อนส่งให้โรงพิมพ์หรือไม่ บางบทความที่เป็นบทความต่อเนื่องหรือเป็นของนักเขียนประจำ แม้จะไว้ใจได้แต่สำหรับตนแล้ว มองว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องอ่าน
 
นายกฤษฎาตอบคำถามทนายจำเลยว่า ในบทความในเล่มที่ 15 มีทั้งโจมตีอำมาตย์และในหลวง แต่ถ้าอ่านก่อนหน้าที่จะรู้จากดีเอสไอว่าถูกข้อหาหมิ่นสถาบันฯ ตนก็ไม่ทราบว่าเป็นการกล่าวถึงราชวงศ์จักรี ส่วนบทความในเล่มที่ 16 ตนอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าสื่อถึงอะไร

นายกฤษฎาตอบคำถามอัยการถามติงว่า ดีเอสไอไม่ได้บอกตนว่าจะดำเนินคดีกับใครบ้างและจะกันตนไว้เป็นพยาน เพียงแต่บอกว่าให้พูดความจริง และการมาให้การในศาลนี้ ตนมาด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครบังคับ

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบเจ็ด : นายสมชาย แสงรัตนมณีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร

นายสมชายเบิกความว่า การเสียภาษีของราชวงศ์กับประชาชนทั่วไป โดยหลักไม่ต่างกัน คือผู้มีรายได้ทุกคนต้องเสียภาษี ยกเว้นจะอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 42 ของประมวลรัษฎากร  ส่วนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่อยู่ในมาตรา 39 ประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่ใช่บริษัทตามกฎหมาย สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงได้รับการยกเว้นภาษี  หากมีรายได้จากการให้เช่าที่ซึ่งงอกเงยมา สำนักงานทรัพย์สินต้องเสียภาษี (ต่อมาตอนศาลอ่านคำเบิกความ นายสมชายขอแก้คำเบิกความว่า ไม่ต้องเสียภาษีจากการนำทรัพย์สินมาหาประโยชน์) แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่นำออกหาประโยชน์ต้องเสียภาษี ยกเว้นว่าเป็นเงินปีที่ราชการจ่ายให้ และหากสำนักทรัพย์สินฯ จะขายหุ้นในตลาด ก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบแปด : นางสาวชรินรัตน์ อิงพงษ์พันธ์ อดีตลูกจ้างนิตยสาร วอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin)
นางสาวชรินรัตน์ เบิกความว่า เริ่มทำงานที่นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) ราวปลายปี 2552 ทำงานอยู่ประมาณ 4-5 เดือน ขณะนั้นสำนักงานอยู่ที่ห้างอิมพิเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 จำห้องไม่ได้ และไม่ทราบว่าเจ้าของนิตยสารคือใคร ตนได้ไปติดต่อกับจำเลยว่า อยากทำงานเนื่องจากเรียนจบด้านบรรณารักษ์ จึงสนใจงานหนังสือ มีการให้ค่าตอบแทนเล่มละ 10 บาท โดยทำบัญชีไว้และไปเคลียร์กับจำเลย เคยเอาหนังสือไปขายในการชุมนุม ตนได้ดูเนื้อหาผ่านๆ รู้ว่าเป็นแนวการเมือง คิดว่าน่าจะขายดีในที่ชุมนุมของนปช.

ชรินรัตน์กล่าวว่า ช่วงแรกมีสมาชิกมารับนิตยสารบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีส่งไปให้สมาชิก หน้าที่ส่วนนี้เป็นของคุณเบญจา จำนามสกุลไม่ได้ มีการรับสมัครสมาชิกที่หน้าร้านด้วย ตอนหลังจำเลยเห็นว่าตนมีรายได้น้อยจึงให้ไปช่วยรับสมัครสมาชิกโดยจะได้รับค่าตอบแทน รายละ 100 บาท โดยเบญจาเป็นคนเก็บเงินค่าสมาชิก ชรินรัตน์กล่าวว่าตนมีรายได้แต่ละเดือนประมาณ 5,000 กว่าบาท ได้ลาออกจากงานโดยที่ไม่ได้บอกจำเลย เพราะสภาพร่างกายไม่ไหว

ทนายความจำเลยถามค้าน ชรินรัตน์ตอบว่า จำเลยไม่ได้ชวนไปทำงานเอง แต่มีน้องดาวที่ทำงานอยู่ที่ร้านยุให้ไปคุยกับจำเลย คุยกับจำเลยได้ครั้งที่ 3 หรือ 4 ก็บอกว่ามาได้ แต่เหมือนจำเลยไม่มีอำนาจตัดสินใจ ไม่ทราบว่าใครทำหน้าที่อะไรข้างในนิตยสาร หนังสือที่ขายนั้น รับมาจากเบญจา ใครจะเป็นคนหาบทความมานั้นตนไม่ทราบ

ชรินรัตน์ กล่าวว่า ตนไปให้การทั้งหมดสองครั้ง ครั้งแรกมีบันทึกวีดีโอด้วย มีเจ้าหน้าที่ 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ มาพิมพ์คอมพิวเตอร์และบันทึกภาพด้วย ในการสอบปากคำ มีการให้ดูหนังสือในครั้งแรก ให้อ่านบทความ แต่จำไม่ได้ว่าเล่มไหน

นิตยสาร เล่ม 15 และ16 ในครั้งแรกอ่านไม่เข้าใจ ดูแล้วไม่รู้สึกอะไร จากนั้นพนักงานสอบสวนให้ดูใหม่ โยนหนังสือให้ แล้วบอกว่าจบปริญญาโทใช่ไหม ไม่รู้หรือว่าหมายความว่าอะไร ช่วงนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้อัดวีดีโอ ตนรู้สึกกลัวและตกใจมาก เขาไม่ได้ชี้นำ แต่พูดว่าให้อ่านดูใหม่ดีๆ จึงให้ความเห็นว่า ในเล่ม 15 เหมือนจะหมิ่นพลเอกเปรม ส่วนเล่ม 16 บอกไปว่าหมิ่นสถาบันฯ ในการสอบปากคำ ไม่มีพนักงานอัยการอยู่ด้วยในครั้งแรก จากนั้นประมาณ 6 เดือน ราวกลางปี 2554 เรียกไปสอบอีกครั้งหนึ่ง ครั้งที่สองมีพนักงานอัยการอยู่ด้วย

ชรินรัตน์กล่าวว่า รู้จักหลวงนฤบาลว่าเป็นละครทีวี เคยดูผ่านๆ จำไม่ได้ว่าตรงไหนของนิตยสารเล่ม 16 หมิ่นเบื้องบน ตนรักในหลวงไม่เชื่อว่าในหลวงทำเหมือนกับหลวงนฤบาลในบทความ ไม่มีหลักฐานเลย

ระหว่างศาลอ่านคำเบิกความพยาน พยานพยายามจะขอแก้คำเบิกความว่า ช่วงที่กรมสอบสวนคดีพิเศษให้อ่านบทความอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ให้อ่านเฉพาะข้อความที่ดึงมา ไม่ได้ให้อ่านทั้งบทความ แล้วถามความเห็นว่าหมิ่นสถาบันฯ หรือไม่ ศาลไม่อนุญาตให้แก้คำเบิกความในเนื้อหาที่ให้ไว้ แต่ให้เพิ่มเติมไว้ในส่วนท้ายแทน

สืบพยานโจทก์ : นายอภิชาติ กองสอน ผู้เคยรับจ้างวาดภาพหน้าปกให้นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin)

นายอภิชาติ เบิกความว่า ตนเคยวาดภาพให้นิตยสาร วอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) ทั้งหมดสามครั้ง แต่ไม่เคยวาดให้นิตยสารฉบับอื่น ตอนวาดไม่ทราบว่าจะเอาไปทำอะไร หลังจากวาดให้แล้ว คนจ้างเคยเอานิตยสารฉบับที่ 11 มาให้ จึงรู้ว่าเอาไปทำอะไร ซึ่งเล่มที่วาดคือนิตยสารฉบับที่ 11 และ 14 (ไม่ใช่เล่มที่มีข้อพิพาทในคดี) ส่วนอีกรูปหนึ่งที่วาดเป็นภาพเหมือน ไม่ทราบว่าได้ลงตีพิมพ์หรือไม่ ตนไม่เคยรู้จักกับเจ้าของนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ

อภิชาติกล่าวต่อว่าคนที่มาว่าจ้าง เป็นเด็กนักศึกษาผู้ชายสองคน ไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 20 ปี โดยกำหนดว่าให้วาดรูปใครใส่ชุดอะไร เมื่อวาดเสร็จ คนว่าจ้างจะมารับเอง โดยตนขอเบอร์โทรศัพท์ไว้ แต่ไม่ได้ขอชื่อลูกค้า

นายอภิชาติตอบคำถามเกี่ยวกับภาพที่ปรากฏบนหน้าปกว่า ภาพหน้าปกฉบับที่ 11 นั้น เป็นรูปพลเอกเปรม (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) ใส่ชุดฮ่องเต้ ข้างซ้ายมือ เป็นพลตรีจำลอง (พลตรีจำลอง ศรีเมือง) และอีกคนรู้ว่าเป็นนักการเมืองแต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะผู้ว่าจ้างเอารูปมาให้วาดตาม (หมายถึงรูปนายสนธิ ลิ้มทองกุล) ส่วนภาพหน้าปกฉบับที่ 14 นั้น ไม่ทราบว่าเป็นใคร ภาพส่วนปากที่เบี้ยวก็มีมาอยู่แล้ว คนว่าจ้างจะเอาไปทำอะไรนั้นไม่ทราบ ทราบเพียงว่าเป็นการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ทราบด้วยว่าผู้ว่าจ้างมาจ้างช่างหลายคนแต่ของตนได้ลงปก

อภิชาติเบิกความว่า ไม่แน่ใจว่านิตยสารที่ได้อ่านเป็นนิตยสารฉบับที่ 15 หรือไม่ อ่านแล้วไม่รู้ว่าสื่อถึงใคร รู้แต่ว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ประวัติศาสตร์ไม่รู้ว่าเป็นยุคไหน ตนไม่มีสีเสื้อ ไม่รู้จักจำเลย ตนรักในหลวง เพราะเป็นกำลังใจในการทำงาน ถ้ามีคนเอาพระมหากษัตริย์มายุ่งกับการเมือง คิดว่าไม่เหมาะสม ในหลวงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ ในหลวงกับพลเอกเปรมอยู่คนละส่วนกัน ไม่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ไปเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังการฆ่าประชาชนและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การปฏิวัติ

อัยการถามติง นายอภิชาติกล่าวว่า ตนไม่ค่อยรู้เรื่องการเมือง ไม่ค่อยมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ เรื่องการปกครองในบ้านเมืองมีระบอบอะไรบ้างก็ไม่ทราบ

สืบพยานโจทก์ : นายชนาธิป ชุมเกษียณ ช่างภาพนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin)

นายชนาธิป เบิกความว่า เคยทำงานกับนิตยสาร voice of Taksinมาก่อนประมาณสี่เดือนในฐานะช่างภาพโดยได้รับค่าจ้างเดือนละ10,000บาท ช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของนิตยสาร ซึ่งจำเลยก็เป็นผู้ที่คัดเลือกรูปภาพไปลงประกอบบทความด้วย โดยหลังจากออกจากงานเพื่อไปศึกษาต่อแล้วก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับนิตยสารอีก

นายชนาธิป กล่าวว่าระหว่างทำงาน ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นใดๆทั้งสิ้นต่อเนื้อหาของนิตยสาร ในส่วนการคัดเลือกบทความลงตีพิมพ์นั้นพยานทราบว่าจำเลยมีหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบทความ อย่างไรก็ดีในบางคราวเมื่อการปิดต้นฉบับงวดเข้ามาและไม่อาจปิดต้นฉบับได้ทันทางกองบรรณาธิการก็อาจให้นายกฤษฎา ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายศิลป์พิสูจน์อักษรงานเขียนของนักเขียนประจำและนำลงตีพิมพ์เลยแต่หากเป็นงานของนักเขียนหน้าใหม่จะต้องมีการนำมาให้จำเลยพิจารณาก่อน

นายชนาธิป กล่าวว่า ในส่วนของโครงสร้างการบริหารของนิตยสารนั้นไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของ ทราบแต่ว่าจำเลยทำงานรับเงินเดือนแต่ไม่ทราบจำนวน ในส่วนที่ว่านายสุธรรม แสงประทุมจะเป็นประธานบริหารนิตยสารหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ ทราบแต่ว่าหากเปรียบเทียบลำดับชั้นภายในนิตยสารนั้นนายสุธรรมจะอยู่เหนือกว่าจำเลยและมารดาของตนซึ่งเป็นหุ้นส่วน ซึ่งในนิตยสารฉบับที่10, 15และ16นั้นจำเลยมีชื่อเป็นบรรณาธิการบริหารขณะที่นายจักรภพมีชื่อเป็นอันดับแรกในกองบรรณาธิการ ทั้งนี้พยานไม่สามารถระบุได้ว่านายจักรภพกับผู้ใช้นามปากกาว่าจิตร พลจันทร์เป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่

นายชนาธิป เบิกความด้วยว่า เนื่องจากตนไม่ได้สนใจการเมืองจึงไม่เข้าใจความนัยของบทความทั้งสองชิ้น เพียงแต่ทราบจากนายกฤษฎาว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และการรัฐประหาร ไม่อาจยืนยันว่าใครคือคนเขียนบทความดังกล่าว จำเลยเองก็เคยเขียนบทความลงตีพิมพ์ในนิตยสารแต่ทุกครั้งจะใช้ชื่อสมยศ พฤษาเกษมสุขมิได้ใช้นามแฝงแต่อย่างใด

ทนายจำเลยได้คัดค้านว่าจำเลยไม่ควรขึ้นให้การเนื่องจากพยานปากนี้เคยไปนั่งฟังการสืบพยานปากนางสาวเบญจา หอมหวาน ที่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์มาแล้วจึงไม่ควรรับฟัง ศาลจดบันทึกไว้และให้สืบพยานต่อไปโดยจำเลยชี้แจงต่อกรณีนี้ว่า นางสาวเบญจาเป็นน้องสาวของแฟน เหตุที่ไปร่วมฟังการสืบพยานเพราะอยากไปดูว่าต้องทำอย่างไรบ้างเนื่องจากไม่เคยเบิกความมาก่อน และไม่ทราบจริงๆ ว่าเข้าไปฟังในห้องพิจารณาไม่ได้
         
สืบพยานโจทก์ : นายธงทอง จันทรางศุ นักวิชาการด้านกฎหมายและประวัติศาสตร์ ผู้ตีความหมายข้อความที่ถูกกล่าวหา
นายธงทองเบิกความว่า ตรวจดูบทความต้นเรื่องแล้วเห็นว่า มีข้อความตอนหนึ่งในนิตยสารฉบับที่ 15 ที่เห็นว่าน่าจะผิด คือ “เมื่อก่อนเชื่อว่ามันรักประชาชน…” และข้อความว่า “โคตรตระกูลไหน … ไม่นึกว่าเรื่องมัน 200 กว่าปีมาแล้ว” อ่านแล้วสื่อความหมายถึงราชวงศ์จักรี ซึ่งผู้เขียนตั้งใจเท้าความไปยังเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตอนท้ายกรุงธนบุรี ต่อเนื่องมายังกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะในช่วงนั้น ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงวิปลาศและสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่  ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อยู่ในเอกสารหลายฉบับ และมีอยู่ในหลักสูตรการเรียนทั่วไป  

ส่วนเอกสารหมายจ.25 (นิตยสารฉบับที่ 16) มีบทความเรื่อง “หกตุลา” ซึ่งมีตัวละครชื่อ หลวงนฤบาล นายธงทองเบิกความว่า อ่านแล้วไม่แน่ใจ ไม่สามารถให้ความเห็นขาดได้ว่าหมายถึงใคร บทความนี้โดยรวมเป็นเรื่องการเมือง ตามเนื้อหาที่ปรากฏ ผู้เขียนเห็นว่าหลวงนฤบาลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง

นายธงทองตอบคำถามทนายจำเลยว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ตนกล่าวในตอนแรกนั้น มีเอกสารชั้นต้นสนับสนุน คือจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวี ที่สอดคล้องกับพระราชพงศาวดาร ส่วนที่ทนายถามว่ายังมีตำราอื่นที่กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ แต่ไปบวชที่ภาคใต้นั้น ไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนัก เป็นไปได้ว่าประวัติศาสตร์ที่แตกต่างนั้นเกิดจากการที่คนที่เอามาเขียนอ่านตำราคนละเล่ม ส่วนประเด็นในบทความที่กล่าวถึงคำว่า “ถุงแดง” อ่านแล้วเห็นว่าหมายถึงการสำเร็จโทษ และหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน วิญญูชนไม่น่าจะเข้าใจแตกต่างได้

ในประเด็นมาตรา 112 นายธงทองเบิกความว่า ตนเห็นว่าการระวางโทษในปัจจุบันรุนแรงและไม่ได้สัดส่วนกับสาระของการกระทำความผิด  อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมที่เปิดกว้าง ทำให้มีคดีที่ไม่เป็นสาระขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก  ส่วนประเด็นผู้กล่าวโทษตนเห็นว่าควรมีการกลั่นกรอง ไม่ใช่ให้ใครมาร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ แต่ก็ไม่ควรให้เป็นอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์  

ส่วนที่บอกว่าพระมหากษัตริย์แตะต้องไม่ได้เลย โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 นั้น หมายความว่าจะฟ้องร้องทางแพ่งทางอาญาไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

นายธงทองตอบคำถามทนายจำเลยว่า การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นความผิดตามมาตรา 112 ก็กระทบความมั่นคงของรัฐ เพราะมาตรา 112 เป็นการกระทบความรู้สึก ความศรัทธาเลื่อมใสในสถาบันหลักของชาติ จึงกระทบต่อความมั่นคง เนื่องจากปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ไม่แยกออกจากรัฐ

สืบพยานโจทก์ นายบวร ยสินทร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่ถูกกล่าวหา
บวรเบิกความว่า ปัจจุบันตนประกอบอาชีพอิสระและเป็นประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ซึ่งคอยรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยกลุ่มได้มีกิจกรรมมาสองปีเศษแล้ว เหตุที่ต้องตั้งกลุ่มเพราะปัจจุบันมีการจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันเกิดขึ้นจนน่าเป็นห่วง ปัจจุบันเครือข่ายดังกล่าวมีสมาชิกประมาณ10,000กว่าคน

บวร เล่าว่า ในส่วนของคดีนี้ ได้รับเชิญจากDSIให้ไปอ่านบทความในนิตยสารvoice of Taksinเรื่องยิงข้ามรุ่น แผนนองเลือดซึ่งเห็นว่าบทความดังกล่าวเขียนเพื่อให้ผู้อ่านตีความถึงสถาบันเบื้องสูงในทางร้ายอย่างชัดเจนโดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนรัชกาล ผู้เขียนสื่อไปในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านตีความถึงราชวงศ์จักรีได้อย่างชัดเจน ในส่วนของบทความเกี่ยวกับกรณีหกตุลาก็มีการใช้สัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้อ่านตีความถึงสถาบันเบื้องสูงได้อย่างง่ายดาย

บวร กล่าวว่า ตนไม่ยืนยันว่าผู้ใดคือจิตร พลจันทร์ แต่ให้ข้อสังเกตว่านามแฝงดังกล่าวเป็นการนำชื่อและสกุลของนักเขียนสองคนที่มีแนวคิดล้มล้างสถาบันมารวมกัน โดยส่วนตัวเมื่อจำเลยอ่านบทความทั้งสองก็ไม่ได้ทำให้ความจงรักภักดีของตนสั่นคลอนแต่อย่างใดหาก แต่ไม่อาจรับประกันได้ว่าบุคคลอื่นเมื่ออ่านแล้วจะไม่คลายความจงรักภักดีเฉกเช่นตน

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับพยาน พยานทราบว่าจำเลยเป็นคนชอบทำหนังสือและเคยออกรายการโทรทัศน์ร่วมกับพยานและตนไม่เคยมีปัญหาใดๆกับจำเลยมาก่อน

ในระหว่างการถามตอบระหว่างพยานกับทนายจำเลยบรรยากาศมีความตึงเครียดและมีการเสียดสีกันหลายต่อหลายครั้ง

ทนายถามเกี่ยวกับแนวคิดและอุดมกาณ์ทางการเมืองของพยาน ซึ่งพยานก็พยายามชี้แจงว่าตนมิได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดเป็นพิเศษ มิได้รับสื่อฝ่ายใดเป็นพิเศษ ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมใดๆ ขณะที่ทางกลุ่มก็ไม่ได้รับเงินสำหรับทำกิจกรรมจากใคร และก็มิได้ต่อต้านคนเสื้อแดงเพราะคนเสื้อแดงกับคนหมิ่นสถาบันเป็นคนละเรื่องกัน

บวรเบิกความด้วยว่า สถาบันฯ ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการเมือง ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงหากแต่มาเป็นตัวกลางประสานให้ผ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งได้หันหน้าเข้าหากันและหาข้อยุติ ในกรณีที่ที่มีการตีพิมพ์รูปสมเด็จพระราชินีเสด็จไปงานศพนั้นตนไม่เห็นว่าแปลกและเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนพระองค์ การวิจารณ์ว่าทรงเลือกไปงานหนึ่งแต่ไม่ไปอีกงานหนึ่งนั้นถือว่าเป็นการก้าวล่วง

อนึ่ง บวรยังเล่าด้วยว่าที่ดีเอสไอเชิญตนมาเป็นพยานก็เนื่องจากตนมีความเชี่ยวชาญและเคยเป็นแจ้งความนายทอม ดันดี และจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาแล้ว ในกรณีของจำเลยนั้นเป็นการแจ้งความนิตยสารฉบับอื่น ตนเชื่อว่าในฐานะบรรณาธิการจำเลยต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งพิมพ์

การสืบพยานจำเลย
 

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหารนิตยสาร วอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) จำเลยในคดี
นายสมยศจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อปี 2533 มีประสบการณ์ทำงานเอ็นจีโอกับด้านแรงงาน เคยทำงานสื่อทั้งในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการ

ในปี 2552นายสมยศเป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 นายสมยศเคยถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารเป็นเวลา 21 วัน ระหว่างนั้นนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณถูกปิดด้วยคำสั่งตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อมาจึงขอเปิดนิตยสารในชื่อเรดพาวเวอร์ (Red Power) ดำเนินการได้ไม่นานโรงพิมพ์ก็ถูกสั่งปิดและถูกสั่งห้ามขาย นายสมยศจึงนำหนังสือไปพิมพ์ที่ประเทศกัมพูชาแล้วนำมาขายในประเทศไทย ระหว่างนั้นก็ได้เริ่มกิจการนำเที่ยว นครวัด นครธม ด้วย ทั้งนี้ นายสมยศเป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณและนิตยสารเรดพาวเวอร์ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ

นายสมยศเบิกความว่านิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณมีนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐเป็นบรรณาธิการบริหาร มีนายประแสง มงคลสิริ เป็นบรรณาธิการตั้งแต่ฉบับแรก นายสมยศมาเป็นบรรณาธิการตั้งแต่ฉบับที่เก้า มีสถานะเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ25,000บาท เหตุที่ตั้งชื่อนิตยสารว่าวอยซ์ออฟทักษิณนั้น เป็นเพราะเหตุผลด้านการตลาด

นิตยสารมีบทความเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม บทความมีสองประเภท คือ บทความประจำและบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เขียนบางรายได้ค่าตอบแทน เช่น นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้ค่าบทความครั้งละ 1,000-2,000 บาท บางรายไม่ได้ค่าตอบแทน เช่น นายจักรภพ เพ็ญแข รายได้หลักของนิตยสารมาจากยอดจำหน่าย

นายสมยศเบิกความว่า บทความที่ได้รับจากนักเขียนประจำมักจะไม่ตรวจทานหรือแก้ไขในเชิงเนื้อหา นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณให้น้ำหนักกับบทความของ จิตร พลจันทร์ ผู้เขียนบทความซึ่งเป็นประเด็นในคดีนี้ เพราะ จิตร พลจันทร์ คือ นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับโดยทั่วไป เนื้อหาของบทความส่วนใหญ่เกี่ยวกับอำมาตย์ ทหาร องคมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์ บทความของจิตรจะตีพิมพ์โดยไม่แก้ไขใดๆ

นายสมยศกล่าวว่า บทความตามฟ้องไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่เกี่ยวกับอำมาตย์ เห็นได้จากนัยยะทางภาษาที่ใช้รูปพหูพจน์ บ่งชี้ถึงกลุ่มอำมาตย์โดยรวม ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์อย่างที่กล่าวหา และตำแหน่งของหลวงนฤบาลก็เป็นตำแหน่งของขุนนาง ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือราชนิกูล

นายสมยศจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เช่นคนไทยทั่วไป บทความดังกล่าวไม่ได้ทำให้ความจงรักภักดีของนายสมยศเสื่อมคลาย นายสมยศเห็นว่า สถาบันฯ อยู่เหนือความขัดแย้งและยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ แต่การขับไล่รัฐบาลช่วงก่อนการรัฐประหารวันที่ 19กันยายน 2549 อ้างถึงพระมหากษัตริย์หลายครั้ง เช่น การกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่จงรักภักดี การใช้สีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ในการเคลื่อนไหว กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาคัดค้าน ซึ่งทำให้ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีและนำไปสู่การฟ้องคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยที่การฟ้องร้องเหล่านั้นสวนทางกับพระราชดำรัสของในหลวงว่า การวิพากษ์วิจารณ์พระองค์เป็นสิ่งที่ทำได้

นายสมยศเห็นว่า มาตรา112 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้กลั่นแกล้ง บั่นทอนสิทธิเสรีภาพทางการเมือง โทษของมาตรานี้รุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยนายสมยศเคยลงนามสนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วย    

สืบพยานจำเลยปากที่สอง นายสนอง พานทอง ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่ถูกกล่าวหา
นายสนอง พานทอง จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 38 ปี มีอาชีพเป็นช่างซ่อมรถยนต์ มีความคิดเห็นทางการเมืองร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.)

นายสนองกล่าวถึงนิตยสารฉบับที่ 15 (เอกสารหมายจ24) ดูหน้าปกแล้วไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นรูปใคร ส่วนในบทความของ จิตร พลจันทร์ ที่มีรูปนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ นั้น นายสนองเข้าใจว่าเป็นบทความเกี่ยวกับนายณัฐวุฒิ แต่ไม่เข้าใจว่า ยิงข้ามรุ่นหมายถึงอะไร ไม่เข้าใจว่า “โคตรตระกูล” กับ “ลูกน้องเขา” หมายถึงใคร อ่านบทความทั้งชิ้นแล้ว ไม่พบว่ามีส่วนใดตีความไปถึงพระมหากษัตริย์ได้

นายสนองกล่าวถึงนิตยสารฉบับที่ 16 (เอกสารหมายจ25) ดูภาพปก เห็นว่าเป็นรูปผึ้งตอมครุฑ เมื่อพิจารณาเนื้อหาในบทความ นายสนองไม่เข้าใจว่า “หกตุลาแห่งปี53” หมายถึงอะไร เพราะไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในวันดังกล่าว นายสนองตีความว่า “หลวงนฤบาล” ในบทความน่าจะหมายถึงกลุ่มคนที่มีรูปปรากฏในบทความ เช่น นายเนวิน ชิดชอบ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น นายสนองทราบว่า ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มีหน่วยงานที่ดูแลคือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่เคยได้ยินว่าผู้ที่ปรากฎในรูปเคยตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนตัวมาก่อน ส่วนประโยคที่ว่า ”แกตั้งสำนักทรัพย์สินส่วนตัว” นายสนองไม่ทราบว่า คำว่า “แก” หมายถึงใคร

อัยการถามนายสนองว่า ประชาชนสามารถกล่าวว่า พระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังการสังหารประชาชนได้หรือไม่ นายสนองตอบว่า หากเป็นความเท็จพูดไม่ได้ แต่หากมีมูลความจริง สื่อมวลชนก็ควรจะต้องเสนอเรื่องราวได้ นายสนองเชื่อว่ากษัตริย์ถูกวิจารณ์ได้ตามหลักประชาธิปไตย

สืบพยานจำเลยปากที่สาม : นายพรต เฉลิมแสง ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่ถูกกล่าวหา
นายพรต เฉลิมแสง มีอาชีพขายสินค้าเพื่อสุขภาพประเภทยาสมุนไพร เครื่องสำอาง ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใด เคยติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง

นายพรตเคยอ่านนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ แต่ไม่แน่ใจเคยอ่านฉบับที่ 15 และ 16 หรือไม่ ไม่รู้ว่าผู้ที่ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ เป็นใคร จากเอกสารหมาย จ.24 (นิตยสารฉบับที่ 15) นายพรตอ่านแล้วเห็นว่าเป็นการพูดถึงฝ่ายอำมาตย์ โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นหัวขบวน ไม่เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไม่แน่ใจว่าผู้เขียนจงใจให้ผู้อ่านเกลียดชังตระกูลที่กล่าวถึงในบทความหรือไม่

จากเอกสารหมาย จ.25 (นิตยสารฉบับที่ 16) นายพรตไม่เข้าใจว่าหลวงนฤบาลคือใคร ส่วนที่กล่าวถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนตัวนั้น ไม่แน่ใจว่าในประเทศนี้ นอกจากในหลวงแล้วจะมีใครแต่งตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนตัวหรือไม่

สืบพยานจำเลยปากที่สี่ : นายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่ถูกกล่าวหา
นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ นายปิยบุตรไม่เคยรู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัว ทราบเพียงว่าจำเลยเป็นสื่อมวลชนและเคลื่อนไหวทางการเมือง

นายปิยบุตรกล่าวว่า บทความตามเอกสารหมาย จ.24 (นิตยสารฉบับที่ 15) พูดถึงการทำร้ายและฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เขียนต้องการเตือนล่วงหน้าว่าอาจมีเหตุการณ์แบบนี้อีก และส่งสัญญาณถึงอำมาตย์ว่าอย่าทำแบบนี้เลย อ่านบทความนี้แล้วไม่มีตอนใดที่ทำให้นึกถึงกษัตริย์ ส่วนคำว่า “โคตรตระกูลของมัน” ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นคำอาฆาตหรือไม่ เพราะไม่มีการแสดงความอาฆาต

ส่วนในเอกสารหมาย จ.25 (นิตยสารฉบับที่ 16) นายปิยบุตรเห็นว่า “หลวงนฤบาล” เป็นสัญลักษณ์ของอำมาตย์ เป็นการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 อ่านแล้วไม่รู้สึกรังเกียจหรือสงสัยสถาบันกษัตริย์ คำว่า “ทรัพย์สินส่วนตัว” ในบทความ ก็ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แม้ปีที่จัดตั้งในบทความจะใกล้เคียงกันกับปีที่จัดตั้งสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ตัวคำสื่อคนละความหมาย เพราะทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นส่วนราชการส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์

นายปิยบุตรเบิกความว่า บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบบทความที่จะลงในนิตยสาร แต่จะมีสิทธิแก้ไขบทความหรือไม่ตนไม่ทราบ บรรณาธิการเป็นผู้ควบคุมตัวหนังสือ แต่บทบาทการเผยแพร่เป็นเรื่องของคนขาย ตนไม่ทราบว่าหนังสือแต่ละเล่มเป็นอย่างไร กรณีสื่อสิ่งพิมพ์มีบทความละเมิดผู้อ่านโดยชัดเจนก็ต้องเอาผิดกับผู้เขียน ไม่ใช่บรรณาธิการหรือผู้โฆษณา ในกรณีบทความที่เขียนโดยนายจิตร พลจันทร์ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครนั้น ความผิดก็อยู่ที่ผู้เขียน บรรณาธิการหรือผู้เผยแพร่ก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ และไม่ใช่หน้าที่ของบรรณาธิการที่จะนำตัวผู้เขียนมา เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ต้องสืบทราบให้ได้

สืบพยานจำเลยปากที่ห้า : รศ.สุดสงวน สุธีสร นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่ถูกกล่าวหา
รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความว่า เคยเขียนบทความลงตีพิมพ์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์มาก่อน เวลาส่งบทความจะใช้วิธีส่งแฟ็กซ์ ไม่มีการถามถึงที่อยู่ บทความของตนเป็นบทความวิชาการ จึงไม่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขเลยก่อนลงตีพิมพ์

รศ.นายสุดสงวนกล่าวว่า บทความในเอกสารหมายจ.24 (นิตยสารฉบับที่ 15) เป็นเหมือนการเล่าเรื่องตามจินตนาการ ไม่มีหลักวิชา อ่านแล้วคิดว่าไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อ่านแล้วไม่คิดว่าผู้เขียนบทความนี้พยายามให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์เปลี่ยนอำนาจจากพระเจ้าตากสินมาเป็นรัชกาลที่ 1

สำหรับเอกสารหมายจ.25 (นิตยสารฉบับที่ 16) ที่กล่าวถึง “หลวงนฤบาล” และ “โรงแรมผี” นั้น อ่านแล้วไม่ทราบว่าหลวงนฤบาลคือใคร บทความตามฟ้องเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่บทความวิชาการ และไม่มีหลักฐานอะไร ผู้เขียนแต่งขึ้นมาและสรุปเอง ในส่วนที่กล่าวถึงการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนตัวนั้น อ่านแล้วไม่แน่ใจว่าจะอนุมานให้เป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไม่ เห็นว่าเป็นบทความเขียนหลายตอนต่อกัน บางทีก็เหตุการณ์อื่นๆ มาใส่ เป็นการเล่าไปเรื่อยๆ

อัยการถามว่า กรณีนิตยสารลงบทความที่ล่วงละเมิดคนอื่น บรรณาธิการต้องรับผิดหรือไม่ นายสุดสงวนตอบว่า ไปเอาผิดกับบรรณาธิการไม่ได้ ตามกฎหมายบรรณาธิการไม่ต้องรับผิด

สืบพยานจำเลยปากที่หก : นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่ถูกกล่าวหา

นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประวัติศาสตร์ไทยช่วงเปลี่ยนจากพระเจ้าตากสินมาเป็นราชวงศ์จักรีว่า การขึ้นครองราชย์โดยการชิงราชสมบัติเป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองสมัยนั้น สมัยนี้อาจฟังดูโหดร้าย แต่เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ก็ต้องดูบริบทในสมัยนั้นๆ ด้วย ไม่ได้หมายความว่าไปหมิ่นประมาทใคร

นายสุธาชัยเบิกความว่าตนเขียนบทความลงนิตยสารหลายฉบับ มีชื่อเป็นนักเขียนประจำในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เวลาเขียนบทความจะใช้ชื่อจริง แต่ถ้าจะมีใครใช้นามปากกาก็เป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องแจ้งชื่อจริงให้บรรณาธิการทราบยกเว้นตอนเบิกเงิน ตนไม่เคยรู้ว่า จิตร พลจันทร์ เป็นใคร แต่ไม่ใช่จำเลย เพราะจำเลยใช้ชื่อจริงในการเขียน ในการตรวจแก้ไขต้นฉบับ โดยหลักการแล้วบรรณาธิการผู้ตรวจสามารถแก้ไขหรือตัดข้อความได้หมด แต่ในความเป็นจริง เป็นความเคารพกันก็จะไม่ตัด เพราะเป็นความรับผิดชอบของคนเขียน

สำหรับบทความตามฟ้องในเอกสารหมายจ.25 (นิตยสารฉบับที่ 16) นายสุธาชัยเห็นว่าเป็นการมุ่งโจมตีฝ่ายอำมาตย์ที่อยู่เบื้องหลังการเมือง คำว่า “หลวงนฤบาล” น่าจะเป็นตัวแทนที่สร้างขึ้นมาเพื่อหมายถึงกลุ่มอำมาตย์ ไม่ได้หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน เพราะหลวงนฤบาลตามบทประพันธ์เรื่องโรงแรมผีของดอกไม้สดไม่มีอะไรโยงถึงพระมหากษัตริย์ได้เลย ไม่ว่าจะดูเป็นท่อนๆ หรือดูรวมๆ คิดว่าเป็นการตีความเพื่อมุ่งเอาผิดกันมากกว่า ไม่มีถ้อยคำใดเลยที่หมายถึงพระมหากษัตริย์ ส่วนที่เขียนว่า มีกฎหมายออกมาตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนตัว อ่านแล้วไม่ได้คิดถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะกฎหมายจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ออกตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ไม่ใช่ พ.ศ.2491

สำหรับบทความในเอกสารหมายจ.24 (นิตยสารฉบับที่ 15) นายสุธาชัยกล่าวว่า อ่านแล้วจะตีความว่ารัชกาลที่ 1 เนรคุณพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ เพราะไม่มีในประวัติศาสตร์ว่ากษัตริย์จะสั่งฆ่าใครหนักกว่าเก่า อ่านแล้วจะหมายความถึงใครก็ได้ ถ้าจะหมายความถึงกษัตริย์จริง ในสมัยอยุธยาก็มีเหตุการณ์ลักษณะนี้ ต้องไปถามผู้เขียนว่าหมายถึงใคร

นายสุธาชัยให้ความเห็นว่าบทความชิ้นนี้น่าจะเป็นเรื่องแต่ง แต่ว่าแต่งไม่ดีจึงอ่านแล้วไม่เข้าใจ และไม่เข้าใจว่าทำไมกลายมาเป็นหลักฐานเอาผิดกันได้ ตนเห็นว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้ แต่ในระยะ 3-4 ปีมานี้มีการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองกันมากขึ้น ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็มีการจับกุมคนที่ตรงข้ามกับรัฐบาล ซึ่งจำเลยก็เป็นหนึ่งในนั้น มีหลายคดีในอดีตที่กลั่นแกล้งกันอย่างนี้ แต่สุดท้ายก็เป็นการใส่ร้ายป้ายสี

นายสุธาชัยกล่าวว่า เรื่องนี้ต่อให้ จิตร พลจันทร์ ตั้งใจเขียนหมิ่นฯ จริง ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับจำเลย เพราะตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ บรรณาธิการไม่ต้องรับผิดชอบต่อบทความของผู้เขียน

นายสุธาชัยรู้จักกับนายจักรภพ เพ็ญแข เคยคุยกัน เคยขึ้นเวทีเสื้อแดงด้วยกัน มีความเห็นทางการเมืองสอดคล้องกัน แต่ไม่รู้ว่าคนเขียนคนไหนที่เขียนบทความลงในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณคือนายจักรภพ

นายสุธาชัยกล่าวว่า ตนไม่เคยไปสำนักงานของวอยซ์ออฟทักษิณจึงไม่รู้ว่ามีใครทำงานที่สำนักงานอีกบ้าง แต่คนที่เป็นแม่งานหลัก คอยดูแลบทความให้ส่งตรงเวลาคือจำเลย อำนาจในการเลือกสรรบทความลงนิตยสารก็เป็นหน้าที่ของจำเลย

สืบพยานจำเลยปากที่เจ็ด นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นพ.นิรันดร์เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จบการศึกษาจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาช่วงปี 2543-2549

นพ.นิรันดร์เคยพบจำเลยเมื่อครั้งที่จำเลยมาร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อคัดค้านการประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในช่วงการสลายการชุมนุมเสื้อแดง และทราบว่านายสมยศเป็นนักต่อสู้ด้านแรงงาน เป็นสื่อ ทำนิตยสารด้วย นพ.นิรันดร์เคยอ่านนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ แต่มิได้เป็นสมาชิก

นพ.นิรันดร์เห็นว่า ผังล้มเจ้าของศอฉ. เป็นเรื่องทางการเมือง เพราะพิจารณาจากรายชื่อในผัง มักเป็นผู้ที่มีความเห็นอยู่ในฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล และท้ายที่สุดฝ่ายความมั่นคงก็ไม่สามารถหาข้อมูลที่แน่ชัดมายืนยันความน่าเชื่อถือให้กับผังล้มเจ้าด้วย    

นพ.นิรันดร์เห็นว่า บทความในเอกสารหมายจ.24 (นิตยสารฉบับที่ 15) อ่านแล้วเข้าใจว่า ประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านจากกรุงธนบุรีมาสู่กรุงรัตนโกสินท์ ซึ่งบอกเล่ากันหลายสำนัก ประวัติศาสตร์กระแสหลักเชื่อว่าเป็นเรื่องการใช้อำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ยังมีสงครามกับพม่าเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมือง

ส่วนบทความในเอกสารหมายจ.25 (นิตยสารฉบับที่ 16) นพ.นิรันดร์กล่าวว่า รูปประกอบบทความหน้า 45 และ 46 เป็นรูปนักการเมืองและทหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ส่วนเนื้อหาบทความนั้น เชื่อว่าการฆ่าและชิงอำนาจที่กล่าวถึงน่าจะหมายถึงนักการเมืองและทหาร แต่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ส่วน “หลวงนฤบาล” ที่บทความพูดถึงว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 6ตุลานั้น พยานไม่เชื่อว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในเหตุการณ์14ตุลา 16 ก็ทรงออกมาช่วยบรรเทาสถานการณ์ หลวงนฤบาลที่ว่าอยู่เบื้องหลังความรุนแรงน่าจะหมายถึงกลุ่มอำมาตย์ นพ.นิรันดร์เห็นว่า การตีความต้องแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นออกจากกัน ในส่วนที่พูดถึงสำนักทรัพย์สินส่วนตัวนั้น พยานไม่เชื่อว่าหมายถึงสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพราะสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ของส่วนตัว จึงไม่น่าจะเชื่อมโยงกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนตัวดังที่พูดถึงในบทความ

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า เคยเขียนบทความลงตามนิตยสารบ้างบางโอกาส โดยจะใช้ชื่อจริงในการเขียนทุกครั้ง ซึ่งถ้าเป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยส่วนใหญ่หากบทความได้รับการตีพิมพ์ก็จะไม่มีการแก้ไขเนื้อหา ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้ลงตีพิมพ์เลย

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า สมัยที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา เคยรับเรื่องร้องเรียนกรณีการปิดโรงพิมพ์หรือลงโทษบรรณาธิการบ้าง แต่พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ที่บังคับใช้ในปัจจุบันไม่ได้กำหนดว่า บรรณาธิการต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความคิดเห็นของผู้เขียน     .
    
นพ.นิรันดร์แสดงความเห็นว่า ในอดีตตนเคยสนับสนุนการใช้มาตรา7เพื่อผ่าทางตันทางการเมือง ต่อมาเมื่อในหลวงทรงมีรับสั่งว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับท่าน เพราะกษัตริย์ทรงไม่เกี่ยวกับการเมือง นพ.นิรันดร์ก็เปลี่ยนความคิด นพ.นิรันดร์เห็นคัดค้านการนำพระมหากษัตริย์ไปผูกโยงไว้กับความมั่นคงของรัฐ เพราะอำนาจของรัฐมักมีความมิชอบ จึงไม่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ถูกทำลายจากอำนาจทางการเมือง โดยยังต้องรักษาเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ

วันที่ 23 มกราคม 2556 วันฟังคำพิพากษา
ณ ศาลอาญา ห้อง 704


ก่อนการพิจารณาคดี ศาลเปลี่ยนห้องพิจารณาคดีจากห้อง802มาเป็นห้อง 704 ซึ่งเป็นห้องที่มีขนาดใหญ่กว่า คดีนี้มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 200 คน ผู้สังเกตการณ์มีทั้งคนเสื้อแดง นักกิจกรรม เอ็นจีโอ ตัวแทนสถานทูต นักวิชาการและผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยในคดี เดินเข้ามายังห้องพิจารณาคดีในชุดผู้ต้องขังไม่สวมรองเท้าและถูกตีตรวนที่เท้า หลังจากที่จำเลยนั่งลง มีคนจำนวนมากมาทักทายพูดคุยให้กำลังใจ โดยหลายคนดูที่ขาของจำเลยซึ่งมีแผลจากการถูกตรวน

ทนายความสุวิทย์ ทองนวล และทนายความคารม พลพรกลางมาศาล

เวลา10.40 น. ผู้พิพากษาจำนวน 4 คน ขึ้นบัลลังก์ เป็นคนละองค์คณะกับที่สืบพยานตลอดการพิจารณคดี

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความปิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ให้จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวม ๒ กระทงแล้ว จำคุก ๑๐ ปี บวกโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.๑๐๗๘/๒๕๕๒ ของศาลอาญา ๑ ปี รวมเป็นจำคุก ๑๑ ปี


ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา ผู้สังเกตการณ์หลายคนมีสีหน้าเศร้าสลด หลายคนเดินเข้าไปให้กำลังใจจำเลย ซึ่งภายหลังการพิจารณาคดีจำเลยถูกส่งตัวกลับไปเรือนจำทันที

19 กันยายน 2557

นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ 
 
ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญารัชดา  
 
ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดีของสมยศในเวลา 9.30 น.
 
การนัดครั้งนี้ไม่ได้มีการแจ้งต่อ จำเลย ทนายจำเลย หรือญาติของจำเลยล่วงหน้า  จำเลยเพิ่งทราบว่าจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ในช่วงเช้าที่ถูกนำตัวมาศาลเท่านั้น   
 
ในวันนี้ ผู้สังเกตการณ์จากไอลอว์เดินทางไปถึงห้องพิจารณาคดีเวลาประมาณ 10.25 น. ซึ่งศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาไปแล้ว โดยมีผู้พิพากษาหญิงที่นั่งบัลลังก์เพียงท่านเดียวเป็นผู้อ่านคำพิพากษา
 
ในห้องพิจารณาคดีไม่มีทั้งพนักงานอัยการหรือทนายจำเลย มีแต่ผู้สื่อข่าวประมาณสิบคนจากหลายสำนักเข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษา ผู้สังเกตการณ์จากไอลอว์ยังเห็นด้วยว่า นอกห้องพิจารณาคดี มีผู้แต่งกายคล้ายทหารอยู่ราวสองถึงสามคน โดยมีคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดีระหว่างที่ศาลอ่านคำพิพากษา
 
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น พิพากษายืน จำคุก 10 ปี พร้อมให้นับโทษต่อจากคดีที่จำเลยหมิ่นประมาท พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี
 
เสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 11.00 น. จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวออกจากพิจารณา ลงไปทางลิฟท์ของผู้ต้องขัง ซึ่งต่อมาทราบว่าจำเลยถูกนำตัวออกจากศาลกลับเรือนจำเพียงลำพังในทันที โดยไม่รอกลับไปพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ซึ่งปกติจะถูกนำตัวไปพร้อมกันในช่วงเย็น

หมายเลขคดีดำ

อ 2962/2554

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

1 ธันวาคม 2554

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายงานอ้างแหล่งข่าวไม่ระบุชื่อ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐว่าด้วยการ ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ (ล้มเจ้า) ว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะรองหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีล้มเจ้าซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่ ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าชุดปฏิบัติการคดีพิเศษซึ่งมีพนักงานสอบสวนจำนวน 9 ชุดที่รับผิดชอบคดีจำนวน 32 คดี ให้เข้าปากคำกับพนักงานสอบสวนชุดใหม่ จากข่าวระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับพนักงานสอบสวนชุดเดิม และถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน

พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า การทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนชุดเดิมนั้นเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการสืบสวน ที่ดำเนินไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากการสืบสวนคดีที่เกี่ยวพันกับการหมิ่นสถาบัน โดยเฉพาะข้อกล่าวหาตามแผนผังล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีเพียงการอ้างถึงเครือข่าย แต่ผู้ร้องไม่ได้ระบุถึงข้อกล่าวหาว่าบุคคลตามผังล้มเจ้าได้ไปกระทำความผิดในลักษณะใด ที่ใดบ้าง ทำให้พนักงานสอบสวนที่แบ่งออกเป็น 9 ชุดก่อนหน้านี้ต้องไปสอบสวนข้อเท็จจริง โดยตนต้องการให้รายงานผลการทำงานเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียกเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน  ซึ่งเบื้องต้นพนักงานสอบสวนชุดเดิมยังไม่สามารถชี้ถึงกรณีกระทำความผิดของคนกลุ่มนี้ได้

30 มีนาคม 2555

หนังสือพิมพ์มติชนเผยแพร่คำสัมภาษณ์ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งกล่าวถึงคดีผังล้มเจ้าซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยานครบหมดทุกปาก แล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด ขั้นตอนต่อไปดีเอสไอจะเตรียมประชุมเพื่อสรุปปิดสำนวนคดีก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยทางดีเอสไอจะไม่สั่งฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดอย่างชัดเจนได้ อย่างไรก็ตาม คดีหมิ่นเบื้องสูงที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลทางพนักงานสอบสวนจะยังดำเนินการสืบสวนต่อไปแต่ยอมรับว่าทำการสืบสวนได้ยากเนื่องจากตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ และในส่วนคดีหมิ่นเบื้องสูง ส่วนมากจะปรากฏตามเว็บไซต์ อินเทอร์เน็ต ทำให้การหาตัวผู้กระทำผิดได้ค่อนข้างลำบาก

 

11 มกราคม 2556

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ส่งข้อความถึงสมาชิกทั่วโลกแสดงความกังวลว่า สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารชาวไทยอาจถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ร่วมกันส่งจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะองค์กรถือว่าสมยศเป็นนักโทษทางความคิด (Prisoner of Conscience) ที่ถูกควบคุมตัวเพราะการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ  โดยมีข้อความดังนี้
 
ปฏิบัติการด่วน
บรรณาธิการไทยเสี่ยงจะถูกตัดสิทธิลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม
สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงานและบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เป็นนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) เขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 และถูกสั่งฟ้องเนื่องจากตีพิมพ์บทความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ผ่านมาทางการไทยปฏิเสธไม่ยอมให้เขาประกันตัวหลายครั้ง
 
ในเดือนพฤษภาคม 2555 การไต่สวนคดีที่มีต่อนสมยศ พฤกษาเกษมสุขสิ้นสุดลง และยังอยู่ระหว่างรอคำตัดสิน ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาสามครั้ง ครั้งล่าสุดเลื่อนจากวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ไปเป็น 23 มกราคม 2556
 
เขาถูกจับกุมในวันที่ 30 เมษายน 2555 หลังจากเริ่มรณรงค์รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ไม่นาน เขาถูกสั่งฟ้องและไต่สวนคดีตามความผิดมาตรา 112 ซึ่งห้ามการพูดหรือการกระทำใด ๆ ที่มีลักษณะ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีในแต่ละกระทง
 
นับแต่ปี 2549 ทางการไทยได้ใช้มาตรา 112 มากขึ้นเพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นอย่างสงบ กฎหมายมาตรา 112 ละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นการห้ามใช้สิทธินอกเหนือจากกรณียกเว้นที่มีการระบุไว้ ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก
 
กรุณาเขียนจดหมายทันทีในภาษาไทย อังกฤษ หรือภาษาของท่านเอง:
แสดงข้อกังวลว่าสมยศ พฤกษาเกษมสุขได้ถูกควบคุมตัวจากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ
เรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อเขา และให้มีการปล่อยตัวเขาทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
เรียกร้องให้มีการเยียวยาชดเชยเขาจากการถูกจองจำเป็นเวลาหลายเดือน และให้ทางการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้พักการใช้กฎหมายข้อนี้จนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะดังกล่าว
 
กรุณาส่งจดหมายของท่านก่อนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 ไปยัง:
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ทำเนียบรัฐบาล
ถ.พิษณุโลก เขตดุสิต
กรุงเทพฯ 10300
โทรสาร: +662 280 0858; +66 2 288 4016
อีเมล์ [email protected]
คำเรียก: เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
 
ฯพณฯ รัฐมนตรียุติธรรม
ประชา พรหมนอก
กระทรวงยุติธรรม
ชั้น 9 อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ
ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ
10210
โทรสาร: +662 143 9883
อีเมล์: [email protected] 
คำเรียก: เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
 
สำเนาจดหมายถึง:
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ชั้น 6-7อาคารบี ศูนย์ราชการฯ
ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่
กรุงเทพฯ 10210
โทรสาร: +662 143 9551
อีเมล์ : [email protected]

 

ความเคลื่อนไหวหระหว่างวันที่ 23 – 26 มกราคม 2556 หลังศาลอ่านคำพิพากษา

องค์การระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งเอ็นจีโอและนักกิจกรรมไทยออกแถลงการณ์ประนามการตัดสินจำคุกสมยศ พฤกษาเกษมสุขเป็นเวลา10ปีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยนอกจากจะแสดงความกังวลต่อการลงโทษที่มากเกินไปแล้ว องค์กรต่างๆยังได้แสดงความกังวลต่อคดีนี้ในรายละเอียดต่างๆกัน

แอมแนสตี้อินเตอร์เนชันแนลออกแถลงการณ์หลังศาลอ่านคำพิพากษาเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวสมยศและนักโทษการเมืองคนอื่นๆโดยเรียกร้องให้รัฐไทยเคารพต่อพันธกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รัฐไทยเป็นภาคีมาตั้งแต่ปี2539

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสงความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวระหว่างดำเนินคดีซึ่งศาลปฏิเสธการประกันตัวนายสมยศถึง12ครั้ง นอกจากนี้ยังได้แสดงความสนับสนุนต่อกรณีที่นักวิชาการและประชาชนบางกลุ่มพยายามเข้าชื่อเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112ด้วย.

ฟรีดอม เฮาส์ ประนามการตัดสินของศาลโดยระบุว่าคำตัดสินของคดีนี้ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวและกระตุ้นให้สื่อต่างๆปิดกันตัวเอง(เซล์ฟ เซ็นเซอร์ชิพ) นอกจากนี้ฟรีดอมฮาส์ยังเรียกให้ให้รัฐไทยเคารพต่อพันธกรณีที่ได้ให้กับประชาคมโลกทั้งในส่วนของปฎิญญาสิทธิมนุษยชนสากลและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยรัฐไทยต้องให้การคุ้มครองแก่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในการแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการถูกคุกคามโดยกระบวนการยุติธรรม

ผู้แทนอียูประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อคำพิพากษาคดีนายสมยศโยกล่าวคำตัดสินนี้แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงออกได้ถูกละเลยนอกจากนี้ยังกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะสังคมประชาธิปไตยด้วย

อินดัสเตรียลออล โกลบอลยูเนียน ออกแถลงการณ์สนับสนุนจุดยืนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและแอมแนสตีอินเตอร์เนชันแนลที่ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศเพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและหลักเสรีภาพในการแสดงออก

เอเชียมอนิเตอร์รีซอร์ซเซ็นเตอร์ (เอเอ็มอาร์ซี) ออกแถลงการณ์ประนามคำตัดสินของศาลว่าเป็นการละเลยต่อคุณค่าของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นพร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดในทันที

อาร์ติเคิล ไนน์ทีน ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสินของศาลในคดีของนายสมยศโดยให้ความเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวมักถูกนำมาใช้เพื่อทำลายคู่ตรงข้ามทางการเมือง อาร์ติเคล ไนน์ทีนได้แสดงความกังวลถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา112โดยได้ยกตัวอย่างกรณีอากงเอสเอ็เอสที่เสียชีวิตระหว่างจำคุกในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีของนางสาวจิรนุชผู้อำนวยการเว็บไซด์หนังสือพิมพ์ประชาไทออน์ไลน์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีเดียวกัน โดยอาร์ติเคลไนน์ทีนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างจริงจังในการปฎิรูปกฎหมายดังกล่าว

นักกิจกรรมทางสังคมจำนวนหนึ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สมยศและนักโทษการเมือง ได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี โดยไม่เลือกปฏิบัติ และให้ความเห็นว่า โทษจำคุก 10 ปี เป็นโทษที่รุนแรงเกินไปสำหรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง  เพราะสิทธิการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่ต้องได้รับการคุ้มครอง อีกทั้งสังคมต้องเรียนรู้ที่จะเคารพการแสดงความคิดเห็นและอดทนต่อความเห็นที่แตกต่าง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมยศและผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่ถูกกล่าวหาเช่นเดียวกันนี้ เนื่องจากเป็นนักโทษทางความคิด  ขอให้รัฐดำเนินการแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองประชาธิปไตย  และขอให้ศาลยึดมั่นในหลักการกฎหมาย และพิจารณาคดีโดยปราศจากฐานของหลักอคติ

กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมและนักวิชาการประมาณ 50 คนได้เดินทางมาหน้าศาลอาญา เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่ ศาลพิพากษาจำคุก 11 ปี คดีหมิ่นเบื้องสูง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการ นิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ Voice of  Taksin  ด้วยการอ่านและแจกแถลงการณ์รวมทั้งทำการจุดไฟ “เผาตำรากฎหมายเชิงสัญลักษณ์” พร้อมชูป้ายข้อความต่างๆ และมีการกล่าวปราศัยถึงความเป็นเผด็จการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ทั้งในเรื่องการริดรอนสิทธิการให้ประกันตัว จนถึงกระบวนการในการพิจารณาคดี

กลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ กรณีศาลอาญาพิพากษาจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข 11 ปีระบุว่า มาตรา 112 มีอัตราโทษที่สูงเกินไป ทั้งยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาสู้คดีอย่างเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตยไทยเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ส่งผลต่อความขัดแย้งทางการเมืองที่จะยิ่งทำให้เลวร้ายลง อีกทั้งยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย ซึ่งจะถูกมองจากองค์กรระหว่างประเทศในทางลบว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้เสรีภาพ กดขี่ ไร้ความยุติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อาจทำให้เกิดการตั้งคำถาม ขุดคุ้ย วิพากษ์วิจารณ์ จนอาจเกิดภาพลบในสายตาต่างชาติ

แถลงการณ์ของสหภาพยุโรปดูจะเป็นแถลงการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้มากที่สุดโดยเมื่อวันที่24มกราคม2556 นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ออกมากล่าวถึงแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปว่า ในการพิจารณาคดีของศาลอาญา มีหลักการพิจารณาเป็นสากลเหมือนกับศาลยุติธรรมอื่นทั่วโลก คือพิจารณาตามกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ โดยประมวลกฏหมายอาญามาตรา112 ก็เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทย  ศาลยุติธรรมไม่มีหน้าที่ไปมองว่าหนักหรือเบา เป็นเรื่องอำนาจนิติบัญญัติ และการวิจารณ์ศาลนั้นก็ควรเป็นไปอย่างสุจริต ปราศจากอคติ แสดงความเห็นทางวิชาการ แต่ถ้าโจมตีอย่างไม่เป็นธรรมก็อาจมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้

ล่าสุด วันที่ 28 มกราคม 2556 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพบรรณาธิการออกแถลงการณ์ร้องความเป็นธรรมให้สมยศ ชี้ปัญหาการขยายความและขอบเขตการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุควรยึดพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ 2550 ยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นักโทษทางความคิดต้องได้สิทธิในการประกันตัว สุชาติ สวัสดิศรี ออกตัวควรปรับปรุง112 ไม่ต้องการล้มเลิก

 

การสืบพยานในคดีนี้ ผู้ต้องหาต้องเดินทางไปเพื่อสืบพยานโจทก์ในอีก 4 จังหวัดนอกเขตกรุงเทพมหานคร คือ จังหวัดสระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สงขลา ทั้งนี้เพราะพยานโจทก์ไม่ยอมเดินทางมาให้ปากคำในศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ทำให้นายสมยศซึ่งอยู่ภายใต้การคุมขังต้องเดินทางไปเรือนจำทั้งสี่แห่งล่วงหน้าเพื่อรอการสืบพยานนอกสถานที่

 

แหล่งอ้างอิง

แปลบทสรุปบันทึกสังเกตการณ์คดี โดย นายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์

อ้างอิง:
ศอฉ. แจกแผนผังเครือข่ายล้มเจ้า, เว็บไซต์ Siam Intelligent Unit วันที่ 27 เมษายน 2553 (อ้างอิงเมื่อ 18 เมษายน 2555)

ดีเอสไอเปิดศึกขัดแย้งทำคดีหมิ่นฯป่วน, เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 1 ธันวาคม 2554 (อ้างอิงเมื่อ 18 เมษายน 2555)

เปิดบัญชีคดีพิเศษ"ดีเอสไอ" 33 คดีเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง, เว็บไซต์มติชน วันที่ 3 มกราคม 2555 (อ้างอิงเมื่อ 18 เมษายน 2555)

ดีเอสไอลั่นไม่สั่งฟ้องคดีแผนผังล้มเจ้า เหตุพยานหลักฐานไม่ชัดพอชี้ตัวผู้กระทำผิด, เว็บไซต์มติชน วันที่ 30 มีนาคม 2555 (อ้างอิงเมื่อ 18 เมษายน 2555)

แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศต่อกรณีคำพิพากษาของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข. เว็บไซด์กระทรวงการต่างประเทศ 25 มกราคม 2555 (อ้างอิงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2556)

ไม่ให้ประกัน 'สมยศ' รอบ13 นักกิจกรรม 398 ชื่อส่ง จม.ถึงนายกฯ ไประธานศาลฎีกา. เว็บไซด์ประชาไท 4 กุมภาพันธ์ 2556 (อ้างอิงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2556)

ครอบครัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" เตรียมยื่นประกันตัวครั้งที่ 15 ชวนลงชื่อร่วมสิทธิประกันตัว112. ประชาชาติธุรกิจ 14 กรกฎาคม 2556 (อ้างอิงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2556) 

30 เมษายน 2554
 
สมยศถูกจับกุมตัวที่ด่านอรัญประเทศขณะนำลูกทัวร์เดินทางไปประเทศกัมพูชา หลังถูกจับกุมตัวนายสมยศถูกนำไปฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
2 พฤษภาคม 2554
 
ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายสมยศเป็นครั้งที่ 1 ให้เหตุผลว่า

คดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พฤติการณ์แห่งคดีและการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมขณะกำลังจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

27 มิถุนายน 2554
 
ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศเป็นครั้งที่ 2 ให้เหตุผลว่า
 
ศาลอาญาเคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวและให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงให้ยกคำร้อง อนึ่งในคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว สมยศยืนยันว่าตนไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ที่ถูกจับขณะเดินทางออกนอกประเทศเป็นเพราะตนประกอบธุรกิจนำเที่ยวหารายได้เสริมเนื่องจากอาชีพบรรณาธิการมีรายได้น้อยไม่พอเลี้ยงครอบครั้ว ทั้งมีตนมีฐานะยากจนจึงไม่สามารถหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศหรือหลบหนีโดยไม่ต้องประกอบอาชีพได้
 
19 สิงหาคม 2554
 
ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศเป็นครั้งที่3 โดยให้เหตุผลว่า
 
ศาลอาญาเคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวและให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงให้ยกคำร้อง อนึ่งในคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว สมยศชี้แจงต่อศาลว่า บัดนี้ได้บังเกิดความสมานฉันท์ขึ้นในบ้านเมืองหลังการเลือกตั้งแล้วจึงหวังว่าศาลจะมีเมตตาพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย
 
1 พฤศจิกายน 2554
 
ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายสมยศเป็นครั้งที่ 4 โดยให้เหตุผลว่า
 
ศาลอาญาเคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวและให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงให้ยกคำร้อง อนึ่งในคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศชี้แจงต่อศาลว่า การที่ตนถูกฟ้องร้องน่าจะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองเนื่องจากขณะที่ตนถุกฟ้องร้อง ผู้มีอำนาจในรัฐบาลมีความเห็นทางการเมืองแตกต่างจากตนโดยชัดเจน

21 พฤศจิกายน 2554 

ศาลจังหวัดสระแก้ว สืบพยานโจทก์ปากแรก ศาลเบิกตัวสมยศมาจากเรือนจำสระแก้วเพื่อฟังการสืบพยานด.ต.หญิง กนกรักษ์ ตันโลห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

 
19 ธันวาคม 2554
 
ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ สืบพยานโจทก์ปากที่สอง คือ เบญจา หอมหวาน อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการของนิตยสาร Voice of Taksin 
 
16 มกราคม 2555
 
สืบพยานปากที่สามที่จังหวัดนครสวรรค์ คือปนิดดา หอมหวาน อดีตเสมียนสำนักงานสุนัยทนายความ และเป็นพี่สาวของพยานโจทก์ปากที่สอง คือเบญจา หอมหวาน อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการของนิตยสาร Voice of Taksin
 
31 มกราคม 2555

ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายสมยศเป็นครั้งที่ 5 โดยให้เหตุผลว่า

ศาลอาญาเคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวและให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงให้ยกคำร้อง อนึ่งนายสมยศชี้แจงต่อศาลในคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปในทางที่ดีทั้งผู้ต้องหาบางคนที่ต้องคดีร้ายแรงกว่าตนเช่นนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรองก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วจึงขอให้ศาลมีเมตตาวินิจฉัยอนุญาตให้ปล่อยตัวตนเองเป็นการชั่วคราว

11 กุมภาพันธ์ 2555

ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ลูกชายสมยศ เรียกร้องสิทธิในการได้รับการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ ด้วยการอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 112 ชั่วโมง ซึ่งจะกินเวลาตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555จนถึง 16 กุมภาพันธ์ 2555

13 กุมภาพันธ์ 2555


สืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดสงขลา สมยศถูกนำตัวเดินทางไปยังจังหวัดสงขลา แต่การสืบพยานมีเหตุต้องเลื่อน

16 กุมภาพันธ์ 2555

ทนายความของสมยศยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว อนึ่ง ในคำอุทธรณ์ สมยศชี้แจงต่อศาลว่า ที่ผ่านมาตนไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี นอกจากนี้ ในขั้นตอนการพิจารณาคดี จำเลยมีความรู้สึกว่าตนถูกกลั่นแกล้ง ทั้งนี้เป็นเพราะจำเลยถูกตีตรวนนำขึ้นรถไปสืบพยานในจังหวัดต่างๆรวมเป็นระยะทางกว่า 3000 กิโลเมตรทำให้ได้รับความอับอายและความลำบากในการเดินทางเพราะพยานไม่ยินยอมมาให้การที่กรุงเทพ แม้ว่าทางจำเลยยินดีจะจ่ายค่าเดินทางและค่าที่พักให้ก็ตาม นอกจากนี้ จำเลยเคยขอสละสิทธิ์ในการตามประเด็นแต่ศาลก็ไม่อนุญาต

21 กุมภาพันธ์ 2555

ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราว ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 6 ที่ศาลยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลย

2 มีนาคม 2555
 
ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายสมยศเป็นครั้งที่ 7 เหตุผลว่า

ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวและให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงให้ยกคำร้อง อนึ่ง เงินสดจำนวน1,440,000บาทที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ในการยื่นประกันตัวครั้งนี้จำเลยได้รับมาจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม 
 
17 เมษายน 2555

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศยื่นจดหมายต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร้องเรียนให้กสม.ช่วยเหลือกรณีที่นายสมยศไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะผู้ต้องหา โดยได้กล่าวถึงการปฏิบัติอันเป็นการทรมานและความเจ็บป่วยของสมยศระหว่างถูกควบคุมตัวด้วย

 
19 ธันวาคม 2554 สืบพยานโจทก์(ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์)
16 มกราคม 2555 สืบพยานโจทก์(ศาลจังหวัดนครสวรรค์)
13 กุมภาพันธ์ 2555 สืบพยานโจทก์(ศาลจังหวัดสงขลา: พยานไม่มาศาล)
 
18-20 เมษายน 2555
 
สืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญา
 
24 เมษายน 2555
 
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าประมวล ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 29 เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดอัตราโทษไว้สูงเกินไปทั้งที่มีลักษณะความผิดคล้าย การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกเพียงหนึ่งปี และอัตราโทษยังสูงกว่าโทษของความผิดฐานดูหมิ่นกฎหมายบ้านเมืองตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย
 
24-26 เมษายน 2555
 
สืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญา 
 
26 เมษายน 2555
 
ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศเป็นครั้งที่ 8 พิเคราะห์ว่า 

ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวและให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงให้ยกคำร้อง อนึ่ง ในการยื่นคำร้องครั้งนี้ ทนายจำเลยได้แนบแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศเป็นการชั่วคราวของ องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรของอาร์ติเคิลไนน์ทีน องค์กรสิทธิทำงานด้านเสรีภาพในการแสดงออกด้วย 
 
1-4 พฤษภาคม 2555 
 
สืบพยานจำเลยที่ศาลอาญา

18 พฤษภาคม 2555
 
เวลา 09.30 น.  ขอประกันตัวชั่วคราวครั้งที่ 9
คารม พลพรกลาง ทนายความของสมยศ  ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ 3 ล้านบาท แบ่งเป็นหลักทรัพย์ส่วนตัวของสมยศ 2 ล้านบาท และเงินสดจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอีก 1 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัวสมยศอีกครั้ง
 
ทนายความระบุเหตุผลในการขอประกันตัวสรุปว่าเนื่อง จากกระบวนการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และสมยศไม่สามารถข่มขู่พยานได้ อีกทั้งถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลา 1 ปี 18 วันแล้ว สมควรให้โอกาสออกมาต่อสู้คดี โดยขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับวินิจฉัยคำร้องที่ สมยศยื่นให้ตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และ มาตรา 29 หรือไม่ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และสัปดาห์หน้าจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมด้วย
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยระบุเหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว  กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
 
5 กันยายน 2555 
 
ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศเป็นครั้งที่10 พิเคราะห์ว่า 

ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวและให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงให้ยกคำร้อง อนึ่ง ในการยื่นคำร้องครั้งนี้ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนใช้ตำแหน่งของตนประกันตัวสมยศด้วย
 
19 กันยายน 2555 
 
คารม พลพรกลาง ทนายความจำเลยได้รับแจ้งเป็นหนังสือ จากสำนักงานศาลยุติธรรมฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 2555 ว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือที่ ศร 0008/480  ลงวันที่ 11 มิ.ย. 2555 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว
 
ทั้งนี้เนื่องจากศาลอาญารอการพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อความสะดวกในการพิจารณา แต่จนบัดนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แจ้งคำวินิจฉัยให้ทราบ
 
ศาลอาญาจึงยกเลิกนัดพร้อมในคดีนี้ จากวันที่ 19 ก.ย. เวลา09.00น. ออกไปและให้กำหนดนัดใหม่ครั้งที่ 2 เป็นวันที่19 ธ.ค.2555 เวลา 09.00 น.
 
19 ธันวาคม 2555
 
ศาลนัดพร้อม อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
หน้าห้องพิจารณาคดี 908 มีผู้สนใจมารอหน้าห้องตั้งแต่ 9.00 น.  เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่า คดีนี้พิจารณาที่ห้อง 802 มีผู้สนใจทยอยเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเปลี่ยนไปพิจารณาคดีที่ห้อง 701 ซึ่งเป็นห้องใหญ่  มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีเต็มห้อง ประมาณ 100 คน  ผู้สนใจบางส่วนต้องรอหน้าห้องพิจารณาคดี เนื่องจากไม่มีที่นั่ง เจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้ยืนในห้อง และไม่อนุญาตให้คนที่มาทีหลังเข้าห้องพิจารณาคดี
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.00 น.
 
ศาลอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง หรือไม่ สรุปได้ดังนี้ 
 
– ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่คุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและสถาบันหลักของประเทศ  หลักการตามประมวลกฎหมายอาญา มตรา 112 จึงสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และมาตรา 8 ที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ การกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม
 
– ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และ 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง  เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง อันเป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ บุคคลยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ตราบเท่าที่ไม่กระทำการที่เป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  เห็นได้ว่า เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิเสรีถภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  นอกจากนี้อัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ก็เป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็นและเหมาสมกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงกว่าดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิให้ถูกละเมิดโดยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายโดยง่าย จึงไม่มีการบัญญัติเหตุยกเว้นโทษ  อีกทั้ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เป็นกฎหมายที่บังคับใช้โดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายบังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด
 
วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง  มาตรา 29  และมาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
 
หลังอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 มกราคม 2555 เวลา 9.00 น. 
 
28 ธันวาคม 2555
 
จำเลยยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี มีใจความสรุปได้ดังนี้
จำเลยไม่ใช่ผู้เขียนบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ การดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยจัดชื่อจำเลยและนิตยสาร Voice of Taksin อยู่ในผังล้มเจ้า จำเลยมิใช่บรรณาธิการเป็นแต่เพียงพนักงานคนหนึ่งของนิตยสาร Voice of Taksin  จำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันฯ อีกทั้งตาม พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ ประกอบกับบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ยังตีความไม่ได้ว่าเป็นบทความที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันฯ อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
ผังล้มเจ้าไม่มีมูลความจริง พนักงานสอบสวนและอัยการไม่ได้มีการดำเนินคดีบุคคลต่างๆ ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในผังล้มเจ้า
 
ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ศอฉ.มีคำสั่งให้สลายการชุมนุมที่เรียกว่า ขอคืนพื้นที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จำเลยได้จัดทำนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ฉบับพิเศษ รายงานข้อเท็จจริงด้วยภาพถ่ายจำนวนมาก และรายงานข่าวการเคลื่อนไหวของ นปช.จนกระทั่งถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน จำเลยจัดการแถลงข่าวเรียกร้องให้มีผู้รับชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ศอฉ.ได้ใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉิน จับกุมจำเลยไปขังไว้ที่ค่ายทหารอดิศร จังหวัดสระบุรี เป็นเวลา ๒๑ วัน แต่อัยการมีคำสั่งไม่ส่งฟ้องจำเลย ต่อมายังมีคำสั่งปิดนิตยสาร Voice of Taksin อีกด้วย จำเลยได้ดำเนินการผลิตนิตยสาร Red Power แทน โดยผลิตได้เพียง 5 เล่ม รัฐบาลได้ใช้พรบ.โรงงาน สั่งปิดโรงพิมพ์ที่รับงานพิมพ์นิตยสาร Red Power จำเลยจึงไปผลิตต่อที่ประเทศกัมพูชา นำมาจำหน่ายในประเทศไทย จนกระทั่งถูกดำเนินคดีนี้
 
การกล่าวหาว่าจำเลยล้มเจ้าจึงไม่มีมูลความจริงเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อันเนื่องมาจากจำเลยทำหน้าที่สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นำเสนอความเป็นจริง กรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
 
จำเลยไม่ใช่ผู้เขียนบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้  จากการนำสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยสอดคล้องตรงกันว่าจำเลยมิใช่ผู้เขียนบทความทั้ง ๒ บทตามคำฟ้องของโจทก์ ผู้ใช้นามปากกาจิตร พลจันทร์ คือจักรภพ เพ็ญแข
 
จำเลยไม่ใช่บรรณาธิการ Voice of Taksin กล่าวคือ จำเลยเป็นพนักงานคนหนึ่งของ Voice of Taksin ซึ่งได้รับเงินเดือนเหมือนพนักงานคนอื่นๆ  ทุกคนที่ทำงานในสำนักงานถือว่ามีส่วนในการจัดทำทั้งหมด หน้าที่และตำแหน่งตามที่ตีพิมพ์ไว้ในปกหนังสือในทางพฤตินัยก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เป็นบุคคลคนเดียวกัน คือ นรินทร์ จิตรมหาวงศ์ 
 
บทบัญญัติกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันคือพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ เท่ากับไม่มีกฎหมายบัญญัติความรับผิดของบรรณาธิการไว้ในกรณีเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก ซึ่งกรณีนี้ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 6268/2550 กรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำตัวเป็นบรรณาธิการจึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้
 
การนำบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ลงพิมพ์ในนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เป็นไปตามระบบงานที่มิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจของจำเลย ปรากฏตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทุกคนที่เคยร่วมทำงานกับจำเลยฟังได้ว่าการตีพิมพ์บทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้มิได้มีเจตนาจงใจที่จะทำให้เกิดการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด  เพียงแต่ทุกคนไม่ทราบถึงเนื้อหาแต่ได้นำลงพิมพ์โดยให้เกียรติเจ้าของบทความซึ่งเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและยังมีความรู้ระดับปริญญาเอกด้วย
 
บทความตามคำฟ้อง ไม่เป็นบทความที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์  กล่าวคือ การพิจารณาขึ้นอยู่กับความเห็นของพยานที่อ่านบทความว่ามีความเข้าใจอย่างไร ความเห็นของพยานแต่ละปากไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าบทความของจิตร พลจันทร์ เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพยานที่ได้อ่านบทความของจิตร พลจันทร์ ไม่อาจล่วงรู้ความคิดที่แท้จริงของจิตร   พลจันทร์ ได้อย่างถูกต้อง การให้ความเห็นของพยานโจทก์แต่ละปากให้ความเห็นในแต่ละบทความยังไม่เหมือนกัน ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่ของพยานโจทก์แตกต่างจากความเห็นของพยานจำเลยทุกปากซึ่งพยานของจำเลยเป็นพยานบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นอาจารย์สอนอยู่ในสถาบันหลักของประเทศไทย
 
เนื้อหาที่ปรากฏในบทความที่นำมาฟ้องผู้เขียนยกตัวอย่างตุ๊กตา เป็นตัวละครล้อเลียนไม่ใช่เรื่องจริงและผู้อ่านไม่อาจรู้แน่ชัดได้ว่าผู้เขียนหมายถึงใคร  ซึ่งในประเด็นนี้พยานจำเลยเมื่อได้อ่านบทความต่างก็ให้การไปในทำนองเดียวกันว่าผู้เขียนสื่อถึงพวกอำมาตย์ไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์
 
การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นวิถีทางทางการเมืองที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามจะใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม การดำเนินคดีจึงเป็นไปอย่างมีอคติตั้งแต่ต้น การสั่งฟ้องของพนักงานอัยการโดยสรุปจากจำนวนพยานจำนวนมากที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษสอบปากคำไว้โดยไม่ใช่พยานที่เป็นคนกลางอย่างแท้จริงจึงไม่เป็นธรรมต่อจำเลย
 
จากเหตุผลดังที่จำเลยได้ประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพมาข้างต้น จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดตามคำฟ้องโจทก์ จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้องโจทก์และปล่อยตัวจำเลยพ้นข้อหาไปด้วย 
 
8 มกราคม 2556 
 
ศาลอาญายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศเป็นครั้งที่ 11 พิเคราะห์ว่า

ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวและให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงให้ยกคำร้อง ศาลระบุด้วยว่าคดีนี้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 มกราคม 2556 
 
23 มกราคม 2556
 
เวลา10.40 น. ศาลอ่านคำพิพากษาสมยศ  ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาตรร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการจัดพิมพ์และเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาเป็นเท็จและสร้างความเสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศเป็นจำนวนสองครั้งโดยพิจารณาลงโทษกระทงละห้าปีสองกระทงรวมสิบปีบวกกับโทษจำคุก1ปีในคดีหมายเลขแดงที่อ.1078/2552 ซึ่งจำเลยได้ทำการหมิ่นประมาทพลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตรต่อบุคคลที่สามโดยในคดีดังกล่าวจำเลยอยู่ในระหว่างรอลงอาญาซึ่งจากคำพิพากษาดังกล่าวนายสมยศจะต้องถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น11ปี
 
25 มกราคม 2556

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวสมยศ ให้เหตุผลว่า "พิเคราะห์ตามข้อหาและรูปการณ์แห่งคดี กับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้น ได้พิจารณามาแล้ว นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยถึงกระทงละ 5 ปี รวมสองกระทง 10 ปี หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้จำเลยและผู้ร้องขอประกันตามเป็นหนังสือโดยเร็ว" ทั้งนี้ การยื่นขอประกันตัวครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 12 แล้ว
 
25 มกราคม 2556
 
กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือชี้แจงแก่นานาชาติในประเด็นคำพิพากษาจำคุกสมยศ ตามกฎหมายอาญามาตรา112 เป็นเวลา 10 ปี โดยชี้แจงว่าคดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดและได้เข้าสู่ขั้นตอนการอุทธรณ์แล้ว สำหรับโอกาสการประกันตัวนั้นดูจะเป็นไปได้ยากเพราะนายสมยศมิได้ไปรายงานตัวตามหมายเรียกนอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าหากได้รับประกันตัวก็อาจจะมีการบิดเบือนพยานหลักฐาน ในส่วนของข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนนั้น กฎหมายอาญามาตรา112มิได้ละเมิดหลักการของเสรีภาพในการแสดงออกแต่อย่างใดเนื่องจากเสรีภาพในการแสดงออกย่อมมีขีดจำกัดในตัวมันเอง อีกทั้งองค์พระมหากษัตริย์เองก็ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ เจตนารมณ์กฎหมายหมายอาญามาตรา112 จึงเป็นไปเพื่อปกป้องสถาบันหลักและความมั่นคงแห่งชาติ มิใช่กฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลแต่อย่างใด ทั้งนี้การออกจดหมายชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศเกิดขึ้นหลังจากประชาคมระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนออกมาแสดงความกังวลต่อคำพิพากษาและต่อกฎหมายอาญามาตรา112 ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก
 
3 เมษายน 2556 
 
ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศเป็นครั้งที่13 พิเคราะห์ว่า ข้อหาตามฟ้องเป็นความผิดอาญาร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดีกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกถึง10ปี หากปล่อยชั่วคราวไปไม่น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง 
 
7 พฤษภาคม 2556
 
วสันต์ พานิช ทนายความชั้นอุทธรณ์ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ยกเหตุผลว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นการลงโทษบุคคลโดยไม่มีกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด เพราะพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดในเนื้อหาของสิ่งพิมพ์ จึงเป็นคำพิพาพษาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และบทความตามคำฟ้องไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112

พร้อมกันนี้ ทนายความยังยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา นับเป็นครั้งแรกที่คำร้องขอประกันตัวในคดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา
 
 
ในวันเดียวกับที่ทนายความยื่นอุทธรณ์ สหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม (MLDI) และเครือข่ายนักกฎหมายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MD-SEA) ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลฎีกาเพื่อช่วยในการพิเคราะห์ฎีกาคำร้องขอประกันตัวของสมยศ  โดยองค์กรร่วมลงนามเห็นว่าคำสั่งที่ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธการขอประกันตัวนั้น เป็นคำสั่งที่มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่จำเป็นสำหรับการควบคุมตัวและการปล่อยตัวชั่วคราว
 
1. ศาลมิได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งหมดเป็นสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสั่งที่รับฟังได้ในการปล่อยตัวชั่วคราว การควบคุมตัวบุคคลระหว่างรอการพิจารณาคดีนั้น ต้องเป็นเพียงข้อยกเว้นแทนที่จะเป็นหลัก และการทำคำสั่งต้องเกิดจากการตัดสินใจเฉพาะรายไปว่าการควบคุมตัวมีความพอสมควรแก่เหตุและจำเป็นแห่งพฤติการณ์หรือไม่ เช่น เพื่อป้องกันการต่อสู้ ป้องกันการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือป้องกันการกระทำความผิดซ้ำอีก เหตุที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ควรบัญญัติไว้ในกฎหมายและไม่ควรมีมาตรฐานที่คลุมเครือหรือกว้างเกินไปเช่นคำว่า “ความมั่นคงต่อสาธารณะ” การควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างที่มีการพิสูจน์ความผิด] ไม่ควรเป็นบทบังคับสำหรับจำเลยที่ถูกตั้งข้อหาในความผิดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์เป็นรายบุคคล อีกทั้งคำสั่งให้ควบคุมตัว ไม่ควรถูกกำหนดโดยอาศัยความเป็นไปได้ของโทษที่จำเลยน่าจะได้รับสำหรับความผิดที่ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ศาลควรตรวจดูว่ามีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการควบคุมตัวหรือไม่ เช่น การให้ประกันตัว การใส่ข้อมือไฟฟ้า หรือการกำหนดเงื่อนไขอย่างอื่น และศาลจะต้องทบทวนคำสั่งที่ให้ไว้เบื้องต้นอย่างสม่ำเสมอ
 
2. “ความร้ายแรงของความผิด” และ “ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน” ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธการประกันตัว ลักษณะความผิดของข้อหานั้นไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลของการพิจารณาให้ประกันตัวได้ ดังนี้ คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อ้างถึงความร้ายแรงของความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัติย์ มาเป็นปัจจัยหลักในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวจึงไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ
 
3. คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดยอำเภอใจ สิทธิในอันที่จะแสดงความคิดเห็นทั่วไปได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อบทที่ 19 แห่งปฏิญญาสากล และข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศ ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าลักษณะของการแสดงออกดังกล่าวเป็นไปในเชิงหมิ่นประมาทบุคคลสาธารณะยังไม่เพียงพอที่จะให้ความชอบธรรมต่อการลงโทษได้ และคณะทำงานด้านการควบคุมตัวโดยอำเภอใจแห่งสหประชาชาติยังเคยสรุปในความเห็นต่อกรณีสมยศว่า การควบคุมตัวสมยศเป็นการควบคุมตัวที่เป็นไปโดยอำเภอใจและขัดต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
 
 
17 พฤษภาคม 2556 
 
ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับความั่นคงของชาติ และศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว จึงไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี
 
 
5 มิถุนายน 2556
 
อัยการยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาล ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สรุปประเด็นคำแก้อุทธรณ์ของอัยการได้ดังนี้
 
1. ข้อต่อสู้ที่จำเลยใช้ในการอุทธรณ์เป็นข้อต่อสู้ใหม่ที่พึ่งยกขึ้นมา ไม่เคยมีการอ้างถึงมาก่อนทั้งในชั้นสอบสวนและในศาลชั้นต้น การอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ
 
2. คำพิพากษาของศาลไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว นั่นคือลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ที่จำเลยสู้ว่า ระหว่างเกิดเหตุ มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติโทษผู้เป็นบรรณาธิการ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นข้อต่อสู้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอแก่การรับฟัง เพราะการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ย่อมหมายความว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 เท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้จำเลยพ้นไปจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
3. พยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า บทความตามฟ้องทั้งสองบทความ มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะเนื้อหาของบทความมีลักษณะชี้นำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าสถาบันเบื้องสูงไม่ดี เป็นเหตุให้ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง
 
4. พยานโจทก์ซึ่งเคยทำงานร่วมกับจำเลย เบิกความตรงกันว่า จำเลยในฐานะบรรณาธิการ เป็นผู้พิจารณาเลือกบทความลงตีพิมพ์ นอกจากนี้ก่อนที่นิตยสารจะวางขายได้ได้รับความเห็นชอบจากจำเลยเสียก่อน จำเลยสำเร็จการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ เคยทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน และเป็นสื่อมวลชนที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อการเสนอข่าวของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยในฐานะบรรณาธิการผู้มีอำนาจตัดสินใจในการเลือกบทความลงตีพิมพ์ ย่อมต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าสื่อมวลชนทั่วไป การที่จำเลยยอมให้บทความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ได้รับการเผยแพร่ออกไป จึงเท่ากับจำเลยมีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาตรร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ที่จำเลยอ้างว่าไม่มีเวลาตรวจสอบเนื้อหาก่อนก่อนนำบทความลงตีพิมพ์นั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น
 
 
14 กรกฎาคม 2556
 
ที่งานสัมนา "อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมาตรา 112 กับสิทธิการประกันตัว" ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ  กล่าวว่า ขณะนี้ทางครอบครัวเตรียมหลักทรัพย์ รวมมูลค่าเกือบสี่ล้านบาท เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศ โดยจะดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศครั้งที่15ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2556
 
16 กรกฎาคม 2556
 
ข้อมูลจากเฟซบุ๊กเพจ Free Somyot (สถานะ อัพเดทเมื่อเวลาประมาณ 13.10 น.) แจ้งว่า จะเลื่อนการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว นายสมยศ จากวันที่19 กรกฎาคม ไปเป็นวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 เพื่อให้มีเวลาเตรียมเอกสารมากขึ้น  โดยการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้จะเป็นการยื่นครั้งที่ 15 
 
24 กรกฎาคม 2556

วสันต์ พานิช ทนายความ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมยศของศาลชั้นต้น ให้เหตุผลประกอบว่า ตามกฎหมาย คดีของสมยศยังไม่ถึงที่สุด สมยศจึงต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิและมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อมาสู้คดี นอกจากนี้ สมยศก็ไม่เคยมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี อนึ่งทรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้มีมูลค่ารวมกว่า4,762,000 บาท

26 กรกฎาคม 2556
 
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่อนุญาติให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมยศ ให้เหตุผลว่า การกระทำตามฟ้องเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และต่อความรู้สึกของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยถึงสิบปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่เชื่อว่าจะไม่หลบหนีจึงให้ยกคำร้อง การยกคำร้องครั้งนี้ถือเป็นการคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 15
 
19 กันยายน 2557
 
นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 10 ปี และนำโทษจำคุก 1 ปี ในคดีที่จำเลยหมิ่นประมาทพล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่อยู่ระหว่างการรอการลงโทษ มารวมด้วย จำเลยจึงมีโทษจำคุกรวม 11 ปี
 
18 พฤศจิกายน 2557
 
โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ รายงานว่า ที่ศาลอาญา รัชดา ภรรยาของสมยศอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศเป็นครั้งที่ 16 โดยระบุว่า ขณะนี้คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3ปี ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา จึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมา สมยศถูกจองจำมาโดยตลอด ทำให้สู้คดีไม่ได้เต็มที่
 
ภรรยาของสมยศกล่าวด้วยว่า การยื่นขอปล่อยตัวครั้งที่ 16 นี้ ตนหวังว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม เพราะตามพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยไม่ใช่ผู้กระทำผิดโดยตรง
 
23 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
 
ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ภรรยาของสมยศและผู้สังเกตการณ์ราว 30 คนทั้งจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (OHCHR) คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจําประเทศไทย (EU) สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนและฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) แอมเนสตี้ประเทศไทย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวมทั้งเพื่อนๆของสมยศจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยทยอยเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลอาญาเพื่อร่วมฟังคำพิพากษา
 
ในเวลาประมาณ 9.45 น. สมยศถูกนำตัวจากห้องควบคุมใต้ถุนศาลขึ้นมาที่ห้องพิจารณา หลังสมยศถูกนำตัวขึ้นมาได้เพียงครู่เดียวศาลก็ขึ้นบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ไขโทษของสมยศจากลงโทษจำคุกห้าปีต่อการกระทำหนึ่งกรรมเป็นลงโทษจำคุกสามปีต่อหนึ่งกรรม สองกรรมลงโทษจำคุกหกปี รวมทั้งให้บวกโทษจำคุกหนึ่งปีที่สมยศเคยถูกพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สะพรั่ง กัลญาณมิตร ทำให้สมยศจะต้องรับโทษจำคุกเจ็ดปีซึ่งน้อยกว่าโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยวางไว้ที่ 11 ปีจากทุกข้อหา ดูรายละเอียดคำพิพากษาศาลฏีกาในส่วนคำพิพากษา  
 
หลังศาลมีคำพิพากษา สมยศเปิดเผยผ่านลูกกรงในห้องควบคุมใต้ถุนศาลอาญาว่า รู้สึกพอใจกับผลที่ออกมาแต่ก็ผิดหวังนิดๆเพราะคิดว่าจะได้รับการปล่อยตัว สมยศยังฝากข้อความถึงไผ่ดาวดินด้วยว่า "อย่ายอมแพ้"
 
30 เมษายน 2561
 
สมยศได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเวลาประมาณ 6.00 น. หลังรับโทษจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปี
 
 

 

 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยสรุป

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ที่จำเลยต่อสู้ว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มีบทบัญญัติยกเลิกพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์พ.ศ. 2550 ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 โดยที่กฎหมายบัญญัติว่า "ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด" ย่อมหมายความว่า จำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 เท่านั้น  ส่วนการกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามฟ้อง ไม่ได้ถูกยกเลิกโดยผลของกฎหมายดังกล่าวด้วย ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้เขียนบทความที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้อง และไม่ใช่สาระแห่งคดีที่จะนำมาวินิจฉัย จึงไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่  จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นผู้เขียนบทความลงนิตยสารเสียงทักษิณ ต่อมาเป็นบรรณาธิการบริหารแทนนายประแสง มงคลสิริ ตั้งแต่นิตยสารเสียงทักษิณออกพิมพ์เล่มที่ 10 จำเลยเป็นลูกจ้างของนิตยสารเสียงทักษิณ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 25,000 บาท จัดทำนิตยสารโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ผู้ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ คือนายจักรภพ เพ็ญแข เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง จึงได้รับความไว้วางใจให้เขียนบทความลงในนิตยสารเสียงทักษิณอย่างต่อเนื่อง และได้รับการตีพิมพ์ทุกบทความโดยไม่มีการตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงต้นฉบับ  ศาลพิเคราะห์ว่า โจทก์มีทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ อดีตช่างภาพของนิตยสาร และอดีตฝ่ายศิลปกรรมของนิตยสาร ซึ่งเคยทำงานอยู่กับจำเลย โดยไม่ปรากฏว่า พยานโจทก์มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลย แต่เบิกความในลักษณะที่ต่างคนต่างรู้เห็นมาในขณะที่ร่วมทำงานกับจำเลย

พยานทั้งสี่คนเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยเป็นผู้มีอำนาจจัดพิมพ์บทความและจัดจำหน่ายนิตยสารเสียงทักษิณ โดยเฉพาะมีชื่อจำเลยเป็นบรรณาธิการบริหาร และพยานทั้งสี่ เป็นฝ่ายสมาชิก ฝ่ายศิลปกรรม และฝ่ายช่างภาพ ในนิตยสารเสียงทักษิณฉบับที่ 15 และ 16 ย่อมทำให้คำเบิกความดังกล่าวมีน้ำหนักมาก  ประกอบกับโจทก์มีทั้งพยานจากบริษัทรับทำแม่พิมพ์ และตัวแทนจัดจำหน่ายหนังสือ เบิกความสนับสนุนพฤติการณ์ของจำเลยอีก พยานจากบริษัทรับทำแม่พิมพ์ยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างทำแม่พิมพ์เพื่อส่งโรงพิมพ์ นิตยสารเสียงทักษิณฉบับที่ 4 – 16 ส่วนพยานจากตัวแทนจัดจำหน่ายหนังสือ เป็นผู้รับนิตยสารจากจำเลยแล้วไปจัดจำหน่าย และจำเลยรับชำระเงินค่านิตยสารเป็นเช็คเงินสด ทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงและรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้มีอำนาจจัดพิมพ์ จัดหน่าย นิตยสารเสียงทักษิณฉบับที่ 15 และ 16 แต่เพียงผู้เดียว  พยานจำเลยที่ต่อสู้ว่า จำเลยเป็นเพียงลูกจ้าง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้

ในปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ โดยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่นั้น 

เมื่อพิจาณาบทความ คมความคิด ชื่อ "ยิงข้ามรุ่นกับแผนนองเลือด" ในนิตยสารฉบับที่ 15 พยานโจทก์หลายคนเบิกความว่า ผู้เขียนใช้ภาษาและบริบททางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ราชวงศ์จักรีปล้นอำนาจมาจากพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยพยานโจทก์หลายคนให้ความเห็นว่า ข้อความที่ว่า ”ตั้งสองร้อยกว่าปีแล้ว” เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพงศาวดารและแบบเรียนประวัติศาสตร์จะเข้าใจได้ทันทีว่า หมายถึงเหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนราชวงศ์และการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวง ดังนั้น คำว่า “โคตรตระกูล” ที่กล่าวในบทความ จึงหมายถึงราชวงศ์จักรี

ศาลพิเคราะห์ว่า บทความดังกล่าว ผู้เขียนบทความเขียนโดยมีเจตนาเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีตที่ปรากฏในพงศาวดารกรุงธนบุรี และแบบเรียนทางประวัติศาสตร์ไทยที่ประชาชนชาวไทยได้ใช้เรียนและทราบกันอยู่ทั่วไป โดยมีเจตนาให้ผู้อ่านอ่านแล้วทราบได้ว่าผู้เขียนเขียนโดยระบุถึงผู้ใด

เนื้อหาของบทความผูกเหตุการณ์ในอดีตสมัยสองร้อยกว่าปี ผู้อ่านย่อมเปรียบเทียบระยะเวลาได้ว่า เป็นเหตุการณ์ตรงกับรัชสมัยที่พระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราชครองราชสมบัติ และรัชสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครองราชสมบัติ เมื่อพิจารณาประกอบคำว่า "ต้นตระกูล" กับคำว่า "เรื่องมันตั้งสองร้อยกว่าปีมาแล้ว" จึงเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเจตนาเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่า หมายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นพระปฐมบรมราชวงศ์จักรี โดยเฉพาะถ้อยคำว่า "ต้นตระกูลก็เป็นลูกน้องเขา เขาเอามาชุบเลี้ยงจนเป็นใหญ่เป็นโต พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ซัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ" ผู้เขียนต้องการนำเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นทหารของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน และทรงเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระสติวิปลาศ และถูกปลงพระชนม์ ทำให้ผู้อ่านทราบว่า "ต้นตระกูล" หมายถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ "โคตรตระกูล" หมายถึงราชวงศ์จักรี เมื่อพิจารณาจากคำว่า "โคตรตระกูลนี้มันก็เหมือนกันทั้งนั้น" ย่อมหมายถึง พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เมื่อเทียบกับคำว่า "กรรมจะมาสนองกรรมเอาในตอนนี้" ที่เป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน ผู้อ่านย่อมเข้าใจได้ว่าผู้เขียนหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เมื่อผู้เขียนใช้คำว่า "ความจริงการฆ่าหมู่หรือฆ่าเดี่ยวนั้น คนแก่โรคจิตบางคนมันคิดของมันมานานแล้วล่ะท่าน จิตรเคยรู้มาไม่กี่เรื่อง พอมาได้ยินจาก 'คุณข้างใน' ผู้มีใจเป็นธรรมเข้า เลยต่อเรื่องได้ทะลุปรุโปร่งทีเดียว ขนาดลำดับ 'แผนฆ่า' ได้เลยล่ะท่าน" แสดงว่าผู้เขียนมีเจตนาให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ผู้ที่ถูกเขียนถึงเกี่ยวข้องกับการวางแผนฆ่า ไม่ว่าจะเป็น "การระเบิดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของการบินไทยที่พ.ต.ท.ทักษิณฯ จะนั่งไปเชียงใหม่"  "ใช้คนยิงจากต้นไม้ที่จังหวัดลพบุรี" "แผนระเบิดรถยนต์ที่บางพลัด" "เตรียมลอบสังหารที่อังกฤษ กัมพูชา และเวียดนาม" รวมทั้งเหตุการณ์ฆ่านักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยเฉพาะการใช้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ทำลายชื่อเสียง พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนที่ทำกับนายปรีดี พนมยงค์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครูบาศรีวิชัย ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน พระพิมลธรรม เป็นต้น และสั่งปราบปรามมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย อย่างโหดเหี้ยมรุนแรง

โดยบทความดังกล่าว แยกคำว่าอำมาตย์ไว้ต่างหาก ย่อมแสดงโดยชัดแจ้งว่า ไม่ได้เจตนาที่จะระบุถึงอำมาตย์ ตามข้อต่อสู้ของจำเลยแต่อย่างใด แม้จะมีข้อความบางตอนอ้างว่า มีการวางแผนมาจากโรงพยาบาลพระรามเก้า อันมิใช่ที่ประทับรักษาพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ตาม บทความในส่วนดังกล่าวก็น่าจะหมายถึงบุคคลอื่นตามที่จำเลยต่อสู้ แต่ก็ไม่ทำให้ข้อความในส่วนอื่นข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป  ข้อความในบทความดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ในบทความคมความคิด ชื่อ "6 ตุลา แห่ง พ.ศ. 2553" ในนิตยสารฉบับที่ 16  พยานโจทก์หลายคนเบิกความว่า แม้ตัวละครที่ชื่อ หลวงนฤบาล จะเป็นเพียงตัวละครสมมติ แต่ที่บทความระบุว่าหลวงนฤบาลมีอำนาจเหนือกว่าอดีตนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ตีความได้ นอกจากนี้ ที่บทความกล่าวถึงการออกกฎหมายตั้งสำนักทรัพย์สินส่วนตัวก็ทำให้ผู้อ่านตีความได้ไม่ยากว่าหมายถึงสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะการผ่านกฎหมายเพื่อจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินจะทำเพื่อจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่มีการผ่านกฎหมายเพื่อจัดตั้งสำนักทรัพย์สินของบุคคลธรรมดา

ศาลพิเคราะห์ว่า ในบทความดังกล่าว แม้ผู้เขียนระบุชื่อ "หลวงนฤบาล แห่งโรงแรมผี" อันเป็นตัวละครที่ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นการเขียนโดยมีเจตนาเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่มีอยู่ในอดีต เพื่อให้ผู้อ่านคิดตาม โดยพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ในบทความแล้ว สามารถใช้เหตุการณ์ต่างๆ นั้นมาระบุได้ว่า หลวงนฤบาลคือผู้ใด เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ที่ผู้เขียนพยายามเชื่อมโยงกับหลวงนฤบาลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในปีพ.ศ. 2491 ที่อ้างว่ามีการจัดตั้งจัดตั้งโดยการออกกฎหมายตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปว่าสำนักงานทรัพย์สินของบุคคลธรรมดาไม่จำต้องออกกฎหมายจัดตั้ง แต่ผู้เขียนจงใจให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นสำนักงานทรัพย์สินแห่งเดียวที่ออกเป็นกฎหมายตามพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 ที่มีการแก้ไขในปี พ.ศ.2484 และปีพ.ศ. 2491 ตามลำดับ  ที่ผู้เขียนเขียนถึงเหตุการณ์ปี พ.ศ.2501 ว่าหลวงนฤบาล ใช้อำนาจผ่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ “ฆ่าคนหัวเอียงซ้ายที่แกกลัวจะมาโค่นแก” ก็แสดงให้เห็นว่า หลวงนฤบาลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและก็เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าจอมพลสฤษดิ์ และผู้เขียนเขียนถึงเหตุการณ์ ปี พ.ศ. 2516 ว่า “หลวงนฤบาลแกรู้สึกว่าหมารับใช้ฝูงนี้ ซึ่งหมายถึง จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร มันชักจะมากเรื่อง หลวงนฤบาลแกก็เลยโค่นซะ โดยหลบอยู่หลังกระบวนการที่มีประชาชนลุกฮืออยู่ข้างหน้า เอาพลเอกกฤษณ์ สีวะรามาคอยโค่นถนอมจากในกองทัพบกเบ็ดเสร็จแล้วเอสคนของตัวมาเป็นรัฐบาลเสียสองสมัยรวด” แสดงให้เห็นว่าหลวงนฤบาลมีอำนาจสูงกว่าจอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงในขณะนั้น เมื่อไม่พอใจก็ยังสามารถให้พลเอกกฤษณ์มาโค่นอำนาจได้  การเชื่อมโยงเหตุการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า หลวงนฤบาลจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดมาเป็นเวลานานและอยู่ร่วมสมัยกับบุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ผู้เขียนจงใจให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่า หลวงนฤบาลอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลโดยการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งหลังจากการเลือกตั้งแล้วยังมีอำนาจเหนือรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสอง เมื่อผู้เขียนเขียนโดยเชื่อมโยงเหตุการณ์ว่า หลวงนฤบาลแกก็ใช้ฝ่ายขวาของแกพิฆาตซ้าย สังหารโหดลูกหลานร่วมชาติอย่างเลือดเย็นที่สุดที่ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ควบคุมบงการอยู่เบื้องหลังรัฐบาลจำนวนหลายชุด และทำลายฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อยึดอำนาจโดยมีขั้นตอน แผน ๖ ตุลา โดยตั้งเครือข่ายคนรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ขึ้นมา ใช้สื่อทำลายภาพฝ่ายตรงข้าม แหย่ให้เกิดสถานการณ์เป็นเงื่อนไขให้ใช้ความรุนแรงได้ ซ่อนตัวให้มิดชิด เตรียมรัฐบาลและรัฐมนตรีพิเศษ พ.ศ.2519 และเตรียมรัฐธรรมนูญฉบับฟื้นฟูอำนาจตัวเอง ซ่อนอำนาจเผด็จการไว้ให้แนบเนียน พ.ศ.2519 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 แล้วใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 จนเกิดรัฐบาลแบบรัฐบาลเปรมครอบงำเมืองไทยมาอีกเป็นสิบปี ซึ่งไม่มีมูลความจริง

บทความดังกล่าวจึงเป็นบทความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ศาลเห็นว่า การที่จำเลยซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ทำงานอยู่องค์การพัฒนาเอกชนที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทำงานสื่อสารมวลชน มีหน้าที่เสนอข่าวต่อประชาชนทั่วไปอยู่เป็นเวลานาน ดังนั้นการเสนอข่าวของจำเลยย่อมต้องตรวจสอบและวิเคราะห์บทความก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำเลยในฐานะบรรณาธิการบริหารย่อมต้องมีวิจารณญาณและมาตรฐานสูงกว่าบุคคลทั่วไป พร้อมเป็นผู้คัดเลือกบทความที่จะต้องลงพิมพ์ ย่อมต้องใช้ความระมัดระวังและย่อมรู้อยู่แล้วว่า ข้อความในบทความ คมความคิด ในนิตยสารเสียงทักษิณ ฉบับที่ 15 และ 16 เป็นบทความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่มีความจริง แต่จำเลยยังคงคัดเลือกบทความลงพิมพ์ในนิตยสารดังกล่าว จัดให้พิมพ์เป็นรูปเล่มและจัดจำหน่ายเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒

ที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยมีเวลาอ่านบทความจำกัด และบทความสื่อความหมายไปถึงอำมาตย์ โดยไม่คิดว่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์จึงฟังไม่ขึ้น พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ เมื่อจำเลยจัดให้มีการพิมพ์ จำหน่าย และเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ ที่มีบทความอันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันจำนวนสองกรรม

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความปิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ให้จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวม ๒ กระทงแล้ว จำคุก ๑๐ ปี บวกโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.๑๐๗๘/๒๕๕๒ ของศาลอาญา ๑ ปี รวมเป็นจำคุก ๑๑ ปี

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยสรุป

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อสู้ว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 และ บัญญัติให้บรรณาธิการไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เพียงการรับผิดในฐานะบรรณาธิการ

ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าตนเองไม่ใช่ผู้เขียนบทความดังกล่าวนั้น ศาลเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายนิตยสาร ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้ และที่จำเลยต่อสู้ว่าเนื้อหาในบทความสื่อความหมายถึงอำมาตย์ มิใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น คดีนี้โจทก์มีพยาน ทั้งเจ้าหน้าที่ข้าราชการทหาร นักศึกษา และบุคคลอื่น ที่ได้อ่านบทความดังกล่าวแล้ว ต่างเข้าใจว่าเนื้อหาในบทความพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพยานก็ล้วนไม่เคยรู้จักและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

ศาลอุทธรณ์จึงเห็นพ้องกับศาลชั้นต้น พิพากษายืน จำคุก 10 ปี พร้อมให้นับโทษต่อจากคดีที่จำเลยหมิ่นประมาท พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาโดยสรุป

คดีนี้ศาลฎีกาประชุมสำนวนแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 กระทงความผิดละห้าปีรวมสองกระทงและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่มีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เซ็นอนุญาตให้จำเลยยื่นฎีกา ที่จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องและคำว่าอำมาตย์ในบทความไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์เป็นการต่อสู้ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยได้
 
ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้เขียนบทความ และจำเลยเบิกความว่าเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นประชาชนชาวไทยทั่วไป ทั้งจำเลยให้ข้อมูลว่าผู้เขียนบทความคือบุคคลใด เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี อาชีพ และอายุของจำเลย ประกอบกับจำเลยรับโทษตามสมควรแล้ว เห็นว่าควรกำหนดโทษให้เบาลง แก้เป็นลงโทษจำคุกกระทงความผิดละสามปีรวมสองกระทงจำคุกหกปี และจำเลยเคยถูกพิพากษาลงโทษจำคุกหนึ่งปีในคดีแดงที่ 1078/2552 (คดีหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร) จึงให้นำมานับโทษต่อ คงจำคุกจำเลยเป็นเวลาเจ็ดปี

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา