- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ฐานข้อมูลคดี

ชื่อคดี
ผู้ต้องหา
ธเนศ (นามสมมติ)
สถานะคดี
คำอธิบายสถานะคดี ภาษาไทย
ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด
สถานะผู้ต้องหา
ครบกำหนดโทษ
ข้อหา / คำสั่ง
มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ , มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
เนื้อหาคดีโดยย่อ
"ธเนศ" ถูกกล่าวหาว่าส่งอีเมล์ ซึ่งมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ไปยังอีเมล์ของชาวอังกฤษ หลังถูกจับ "ธเนศ" ถูกส่งไปตรวจรักษาอาการทางจิต และแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคจิตหวาดระแวง
ในศาลชั้นต้น "ธเนศ" ต่อสู้ว่ากระทำความผิดไปขณะมีอาการทางจิต พิพากษาให้มีความผิดจำคุก 5 ปี ลดโทษเหลือ 3 ปี 4 เดือน
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ธเนศเป็นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทางอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ http://www.misterotwo.com/ ไม่เคยร่วมการชุมนุมทางการเมืองหรือกิจกรรมทางการเมืองใดๆ
รู้จัก "ธเนศ" ให้มากขึ้น อ่าน "ธเนศ" : เสียงกระซิบที่ข้างหู [112 the series]
เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้กล่าวหา
ข้อกล่าวหา
หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท
-
รูปแบบการจำกัดเสรีภาพ
การดำเนินคดี
-
ประเภทสื่อ
อีเมล
-
จังหวัด
กรุงเทพมหานคร
-
ศาล
ศาลอาญา
-
หมายเลขคดีดำ
เลขคดีดำคือเลขที่ศาลออกเมื่อประทับรับฟ้องคดี
No: อ.3190/2557 วันที่: 2014-09-30 -
หมายเลขคดีแดง
คำอธิบายดคีแดง ภาษาไทย
No: อ.2069/2558 วันที่: 2015-06-25
ธเนศ ถูกกล่าวหาว่าส่งอีเมล์ ซึ่งมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ไปยังอีเมล์ [email protected] ซึ่งเป็นอีเมล์ของ Elimio Esteban ชาวอังกฤษ โดยในอีเมล์นั้นมีการส่งลิงก์ไปยัง sanamluang.blogspot ซึ่งมีข้อความเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ต่อมาลิงก์ดังกล่าวถูกปิดกั้นการเข้าถึง
การกระทำของผู้ต้องหาถูกตรวจพบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ขออำนาจศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ในอีเมล์ดังกล่าว
2 กรกฎาคม 2557
ธเนศถูกจับกุมที่บ้านของพี่สาว ที่จังหวัดเพชรบูรณ์
9 กรกฎาคม 2557
ธเนศถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังจึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากฐานะที่บ้านไม่ดีจึงยังไม่มีหลักทรัพย์สำหรับการยื่นขอประกันตัว
22 และ 24 กันยายน 2557
หลังจากที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์ขอให้ตรวจสอบอาการทางจิตของธเนศ ธเนศถูกส่งตัวไปตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ทั้งสองครั้งแพทย์ยังไม่ลงความเห็นวินิจฉัยเรื่องอาการทางจิตของธเนศ
30 กันยายน 2557
อัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา
1 ตุลาคม 2557
ธเนศถูกนำตัวมาที่ศาลอาญาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามฟ้อง ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนวันนัดสอบคำให้การไปก่อนเพื่อรอผลตรวจจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ศาลกำหนดวันนัดพร้อม และสอบคำให้การจำเลยใหม่เป็นวันที่ 1 ธันวาคม 2557 เวลา 13.30 น.
เวลาประมาณ 15.00 น. ที่ศาลอาญารัชดา ทนายความของธเนศยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาล โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวนสองแสนบาท
ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยให้เหตุผลต่อศาลว่า
จำเลยมีอาการป่วยและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยอาการป่วยของจำเลยมีความร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
จำเลยได้เข้ารับการตรวจอาการทางจิตประสาท ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจยืนยันว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตจริง จำเลยจึงมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์
จำเลยได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนครบถ้วนแล้ว และพยานหลักฐานทั้งหมดก็อยู่กับเจ้าหน้าที่แล้ว จำเลยเป็นเพียงคนธรรมดา จึงไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แม้จำเลยจะถูกกล่าวหาในคดีที่มีอัตราโทษสูง แต่เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจอนุมานได้ว่าจำเลยจะหลบหนี การคุมขังจำเลยก่อนศาลมีคำพิพากษา จึงเสมือนว่าจำเลยต้องรับโทษทางอาญาก่อนศาลมีคำพิพากษษเป็นที่สุด ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ทั้งนี้จำเลยไม่ได้เป็นแกนนำ และไม่เคยร่วมการชุมนุมทางการเมือง เพื่อประโยชน์ในการรักษาตัวและให้จำเลยได้สู้คดีอย่างเต็มที่ จำเลยจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยเป็นการชั่วคราว
ต่อมาในเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลมีคำสั่งว่า
ทนายจำเลยยื่นคำให้การเป็นเอกสาร ระบุว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นเจ้าของอีเมล์ และเป็นคนส่งอีเมล์ตามที่ถูกฟ้องจริง แต่ขณะที่จำเลยส่งอีเมล์นั้น จำเลยไม่สามารถควบคุมบังคับตัวเองได้เนื่องจากจำเลยมีอาการทางจิตเภทประเภทหวาดระแวง ตามที่ปรากฏในรายงานการตรวจวินิจฉัยโรคของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
จำเลยยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 200,000 บาท พร้อมใบรับรองแพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ระบุว่าจำเลยเป็นโรคจิตหวาดระแวงประเภท (F20.0 Paranoid Schizophrenia) และมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย ปัจจุบันสามารถต่อสู้คดีได้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานคุมขังจำเลย เคยส่งตัวจำเลยไปตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 22 และ 24 กันยายน 2557 และสถานรักษาทางการแพทย์ดังกล่าวรายงานผลมายังศาลอาญาว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง แต่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงไม่มีเหตุต้องไต่สวนแพทย์ที่ตรวจรักษาตามคำร้องของจำเลย และเห็นว่า หากการเจ็บป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงถึงขั้นที่สถานคุมขังจะดูแลความปลอดภัยแก่ชีวิตของจำเลยไม่ได้แล้ว ย่อมต้องดำเนินการส่งตัวจำเลยให้แพทย์ทำการรักษาในขั้นตอนตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ต่อไป ใช้ชั้นนี้ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง
22 ธันวาคม 2557
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมีผู้ต้องขังเป็นจำนวนมากไม่สามารถดูแลอาการเจ็บป่วยได้ทั่วถึง การส่งตัวจำเลยในคดีนี้ไปตรวจอาการทางจิต ก็เพราะเป็นการส่งหนังสือร้องขอของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เป็นเพราะเรือนจำตรวจพบอาการเอง อีกทั้งสถานที่คุมขังปัจจุบันแออัด ไม่เหมาะกับการรักษาตัวของจำเลย ศาลจึงควรไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจอาการทางจิตก่อนมีคำสั่งเรื่องการประกันตัว
จำเลยในคดีนี้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ หากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข หรือต้องการไต่สวนจำเลย หรือต้องการพยานหลักฐานเพิ่มเติม จำเลยยินดียอมรับเงื่อนไขและปฏิบัติตาม
ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้ประกันตัว
17 กุมภาพันธ์ 2558
นัดสมานฉันท์
นัดสมานฉันท์ พนักงานอัยการโจทก์ จำเลย ทนายจำเลย และญาติของจำเลยมาศาล ศาลสงสัยว่าทำไมคดีนี้จึงส่งมาที่ห้องสมานฉันท์ เพราะศาลที่ห้องสมานฉันท์ไม่มีอำนาจในการวางกำหนดโทษให้จำเลยได้ เพราะคดีลักษณะนี้ต้องปรึกษาผู้ใหญ่ก่อน ต่อมาเนื่องจากคดีที่นัดสมานฉันท์มีปริมาณมาก จึงย้ายการพิจารณาไปที่ห้องอื่น
ทนายความแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากคดีนี้จำเลยมีอาการป่วยทางจิตตามใบรับรองแพทย์ที่ปรากฏอยู่ในสำนวนแล้ว จึงจะให้จำเลยรับสารภาพและขอให้ศาลรอการลงโทษ หรือสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปรับการรักษาแทนการลงโทษ
ศาลแจ้งว่าคดีนี้ศาลไม่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องผลคดี และทนายไม่ควรบังคับให้จำเลยรับสารภาพ ศาลถามจำเลยว่า เป็นคนส่งอีเมล์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยรับว่าเป็นคนส่งจริง ศาลถามต่อว่า แล้วรู้หรือไม่ว่าเนื้อหาที่ส่งนั้นเป็นอย่างไร จำเลยตอบว่า ไม่รู้ เพราะตอนส่งอีเมล์มีเสียงในหูบอกให้ส่ง จึงส่งไปโดยไม่ได้อ่านให้ละเอียด
ศาลจึงแจ้งทนายความจำเลยว่า จำเลยไม่รู้ว่าอีเมล์ที่ส่งมีเนื้อหาอย่างไร ต้องถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ทนายความจะให้จำเลยรับสารภาพไม่ได้ จึงให้ยกเลิกการสมานฉันท์ และจดในรายงานกระบวนพิจารณาว่าให้ส่งหนังสือแจ้งกรมราชทัณฑ์ให้นำตัวจำเลยไปบำบัดอาการป่วยทางจิตที่สถานพยาบาล
ทนายความยังได้ปรึกษาศาลเรื่องการขออนุญาตประกันตัว แต่ศาลบอกว่าศาลที่ทำหน้าที่สมานฉันท์ไม่มีอำนาจในการสั่งประกันตัว ขอให้ยื่นประกันตัวตามระบบปกติ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลเวรที่มีอำนาจสั่งเรื่องการประกันตัว
ในวันเดียวกันพี่สาวของจำเลยจึงยื่นขอประกันตัวอีกครั้งด้วยหลักทรัพย์เงินสด 300,440,73 บาท และให้เหตุผลว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง ที่แพทย์ลงความเห็นว่าจำเลยยังสามารถต่อสู้คดีได้นั้นเป็นคนละประเด็นกับความจำเป็นรีบด่วนที่จำเลยต้องได้รับโอกาสในการรักษาพยาบาล สภาพแวดล้อมทีแออัดในเรือนจำทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลการรักษาพยาบาลไม่ทั่วถึง และไม่เหมาะกับการรักษาทางจิตเวช
ในวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
8 พฤษภาคม 2558
"ธเนศ" ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังได้รับลดโทษจากพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแบบทั่วไป ฉบับที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2559 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังทั้งสิ้น 2 ปี 2 เดือน 24 วัน
สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ข้อความที่ปรากฏอยู่ในลิงก์ที่จำเลยส่งอีเมล์ไปนั้นเป็นข้อความพร้อมภาพ อันเป็นบทความหลายรายการ โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาทประกอบด้วย แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นแค่เพียงการส่งลิงก์แต่จำเลยย่อมต้องติดตามค้นคว้าข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และองค์รัชทายาท โดยการกระทำของจำเลยมีเจตนาจะให้ข้อความไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของผู้รับอีเมล์ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์ของไทยทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ แต่กลับมีเจตนาชี้แหล่งช้อมูลให้นำบทความไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน การกระทำของจำเลยบ่งชี้ได้ว่ามีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ต่อองค์พระมหากษัตริย์ และองค์รัชทายาท มิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ โดยเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร