อานดี้ ฮอลล์: คดีให้สัมภาษณ์อัลจาซีรา

อัปเดตล่าสุด: 25/04/2561

ผู้ต้องหา

อานดี้ ฮอลล์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2556

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป คดีนี้มีพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางนาทำหน้าที่สอบสวน และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้7 เป็นเจ้าของสำนวน

สารบัญ

อานดี้ ฮอลล์ถูกบริษัท เนเชอรัล ฟรุตดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวข่าวอัลจาซีราที่ประเทศพม่าโดยบริษัทกล่าวหาว่าอานดี้ ฮอลล์ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า โรงงานของบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ละเมิดสิทธิแรงงาน ยึดหนังสือเดินทางของแรงงานข้ามชาติ บังคับใช้แรงงานเด็กและจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้บริษัท เนเชอรัล ฟรุต เสื่อมเสียชื่อเสียง และกระทบกับผลประกอบการของบริษัทในปี 2556
 
ในเดือนตุลาคม 2557 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีนี้เพราะกระบวนการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรซึ่งต้องมีพนักงานอัยการร่วมในชั้นสอบสวนด้วยแต่คดีนี้ไม่มีพนักงานอัยการร่วมสอบสวน ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์คดี ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องอานดี้ในเดือนกันยายน 2558 โจทก์อุทธรณ์คดีต่อในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุดยกฟ้องอานดี้ในเดือนพฤศจิกายน 2559
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อานดี้ ฮอลล์เป็นนักวิจัยและนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานประเด็นสิทธิแรงงานข้ามชาติ และเคยเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนเกิดเหตุ อานดี้ทำวิจัยเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูปในประเทศไทยให้กับ ฟินน์วอทช์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรของฟินแลนด์ งานวิจัยดังกล่าวเป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท ทั้งทางแพ่งและอาญา 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อระหว่างวันเดือนใดไม่ปรากฎชัดประมาณต้นปี 2556 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 อานดี้ ฮอลล์ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว โดยมีการบันทึกภาพและเสียงที่ประเทศพม่า

ข้อความบางตอนก่อให้เกิดความเสียหายกับ บริษัทเนอเชอรัล ฟรุต โดยมีการกล่าวหาว่า  มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีการใช้แรงงานเด็กในโรงงานของผู้เสียหาย แรงงานได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างชั้นต่ำตามกฎหมาย

มีการยึดหนังสือเดินทาง บังคับให้แรงงานทำงานล่วงเวลาและหลายครั้งมีการลดเงินเดือนโดยไม่มีเหตุอันควร และมีการกล่าวว่า พนักงานโรงงานบอกกับจำเลยว่า การทำงานที่โรงงานของผู้เสียหายเหมือนนรก ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้บริษัท เนเชอรัล ฟรุตได้รับความเสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง

 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

2051/2557

ศาล

ศาลจังหวัดพระโขนง

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นอกจากจะตกเป็นจำเลยในคดีนี้แล้ว อานดี้ ฮอลล์ยัง ถูกบริษัท เนเชอรัลฟรุต ฟ้องร้องดำเนินคดีอีกสามคดี ได้แก่

คดีอาญา ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่รายงานที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทบริษัท เนเชอรัลฟรุต และมีการเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ คดีนี้ฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ (หากมีความผิดทั้งสองกระทง มีโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี) ดูเพิ่มเติมที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/469#detail

คดีหมิ่นประมาททางแพ่ง จากการเผยแพร่รายงานที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทบริษัท เนเชอรัลฟรุต คดีนี้ฟ้องที่ศาลแพ่งจังหวัดนครปฐม (เรียกค่าเสียหาย 300 ล้านบาท) 

คดีหมิ่นประมาททางแพ่ง จากการให้สัมภาษณ์สำนักข่าว อัลจาซีรา คดีนี้ฟ้องที่ศาลจังหวัดพระโขนง (เรียกค่าเสียหาย 120 ล้านบาท)

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ blogspotของอานดี้ฮอลล์

 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
18 มิถุนายน 2557
 
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพระโขนง
 
2 กันยายน 2557
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลจังหวัดพระโขนง นัดสืบพยานโจทก์ คดีที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด เป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ฟ้องหมิ่นประมาท อานดี้ ฮอลล์ ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาเวลา 9.30 น. วันนี้ศาลให้สืบพยานโจทก์สองปาก  
 
เนื่องจากอานดี้ ฮอลล์เป็นชาวต่างชาติ ศาลจึงจัดหาล่ามมาให้ ในห้องพิจารณาคดีนอกจากคู่ความแล้วก็มีตัวแทนจาก องค์กรฟินวอชท์ องค์กร ICTUR ผู้แทนจากสถานทูตฟินแลนด์ และสถานทูตอังกฤษ ร่วมสังเกตการณ์ด้วย
 
พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง คชินทร์ คมนียวณิช ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายให้ดำเนินคดี

คชินทร์เบิกความว่า จำเลยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอัลจาซีราว่า
 
บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด ซึ่งทำธุรกิจส่งออกสับปะรดกระป๋อง ไม่จ่ายค่าแรงตามที่กฎหมายกำหนด ริบหนังสือเดินทาง และหักรายได้แรงงานข้ามชาติอย่างไม่มีเหตุผล รวมถึงบอกว่าโรงงานเหมือนนรก 
ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงและทำให้บริษัทเสียหาย
 
ร.ต.ท.บุญหลาย ชัยทิพย์ พนักงานสอบสวน สน.บางนา พยานโจทก์ปากที่ 2 เบิกความว่า คชินทร์ เข้าแจ้งความและตนได้ลงบันทึกประจำวันไว้ จากนั้นจึงส่งให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบ ซึ่งผู้บังคับบัญชามีความเห็นให้ส่งหนังสือแจ้งความไปยังสถานทูตอังกฤษด้วย
 
วันที่ 28 กันยายน 2556 ผู้ต้องหาเดินทางมาพบกับตน แต่อ้างว่าล่ามแปลภาษาไม่ดี ไม่เข้าใจ จึงกลับไปโดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา 
 
ต่อมาเมื่อทราบว่าจำเลยให้สัมภาษณ์ที่พม่า จึงทำสำนวนไปให้อัยการสูงสุดและมีการแจ้งกลับว่าเป็นการทำความผิดนอกราชอาณาจักร ให้มีพนังงานอัยการร่วมสอบสวนด้วย
 
เมื่อทำการสอบสวนอีกครั้งพนักงานอัยการติดราชการไม่ได้ร่วมสอบสวน แต่ได้เข้ามาดูสำนวนและให้คำแนะนำเพิ่มเติม สุดท้ายจึงสรุปสำนวนว่าควรสั่งฟ้อง จึงส่งสำนวนให้พนังงานอัยการต่อไป
 
3 กันยายน 2557
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลจังหวัดพระโขนง นัดสืบพยานโจทก์ต่อ แต่ระหว่างการสืบพยาน อานดี้ ฮอลล์ร้องต่อศาลว่า ล่ามที่ศาลจัดหาให้ ไม่สามารถแปลความได้ และขอให้ศาลจัดหาล่ามให้ใหม่ ศาลเห็นตามที่จำเลยร้องจึงให้เลื่อนการพิจารณาออกไป
 
4 กันยายน 2557
 
ศาลจังหวัดพระโขนง นัดสืบพยานโจทก์ต่อ โดยเริ่มกระบวนพิจารณาเวลา 9.30 น. โดยจะมีการสืบพยานโจทก์ 6 ปาก ในวันนี้ศาลจัดหาล่ามคนใหม่มาตามคำร้องของอานดี้ด้วย
 
สุกิจ ครุฑคง นักวิชาการ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ประจวบครีขันธ์ พยานโจทก์ปากที่ 3 เบิกความว่า ทางสำนักงานได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาในโรงงานเนเชอรัลฟรุต จึงเดินทางไปตรวจสอบ ซึ่งพบว่ามีปัญหาอยู่บ้าง เช่น เรื่องการทำงานล่วงเวลา หรือการหักค่าจ้าง
 
กรณีการยึดหนังสือเดินทาง ตนไม่อาจยืนยันว่าเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากตนเข้าร่วมตรวจสอบเพียงบางครั้งเท่านั้น
 
ภานันท์ ภาณุฑัต เจ้าหน้าที่ประกันสังคม พยานโจทก์ปากที่ 4 เบิกความว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ใช้แรงงาน ทางโรงงานจะต้องแจ้งสำนักงานประกันสังคม เพื่อตัดจำนวนผู้ประกันตน ซึ่งทางสำนักงานจะตรวจสอบว่านายจ้างทำถูกต้องหรือไม่
 
ถ้ามีการจ้างแรงงานนอกระบบ ซึ่งทางหน่วยงานตรวจไม่พบ ก็อาจเป็นช่องให้นายจ้างไม่แจ้งเรื่องการหักเงินสมทบประกันสังคมจากนายจ้างได้ 
 
ภานันท์ เบิกความด้วยว่า การพูดว่าโรงงานเหมือนนรกไม่เป็นความจริง เพราะเคยเข้าไปในโรงงานแล้ว เห็นว่ามีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานที่มีชื่อเสียงและทางจังหวัดมักเชิญชวนคนมาดูงานที่โรงงานดังกล่าว
 
นาวิน แสนสุภา หัวหน้าคนงานของบริษัทเนอเชอรัลฟรุต พยานโจทก์ปากที่ 5 เบิกความว่า โรงงานเนเชอรัลฟรุตเป็นโรงงานที่ดี ไม่มีการยึดหนังสือเดินทาง ไม่มีการหักค่าแรงคนงาน และไม่มีการบังคับทำงานล่วงเวลา แต่การหักค่าไฟในบ้านเช่าที่ทางโรงงานจัดให้นั้น เป็นเรื่องที่คนงานจะตกลงกับทางโรงงานเป็นกรณีไป 
 
นาวิน เบิกความต่อว่า เข้าใจคำว่านรกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งโรงงานเนเชอรัลฟรุตไม่ใช่โรงงานนรก ตลอดเวลาที่ทำงานไม่ปรากฎว่ามีการรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าทำงาน ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงงานจะต้องมีใบอนุญาต แต่ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าแรงงานทุกคนมีใบอนุญาตหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของทางบริษัท 
 
ชัยฤทธิ์ ทองรอด นักวิชาการด้านการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัย พยานโจทก์ปากที่ 6 เบิกความว่า ไม่เคยทำการวิจัยเรื่องแรงงานข้ามชาติ หรือ ด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อน แต่การทำวิจัย ต้องเก็บข้อมูลทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการ ด้วยคำถามที่แม้จะเป็นคนละชุดกัน แต่ก็ต้องมีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลต้องอ้างอิงผลงานวิจัยที่เคยทำในอดีตเพื่อความน่าเชื่อถือด้วย 
 
ทั้งนี้ นักวิจัยต้องมีจรรยาบรรณ โดยต้องไม่เปิดเผยชื่อบริษัทที่เป็นกรณีศึกษา
 
ประทุม กิจเถกิง สมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย พยานจำเลยปากที่ 7 เบิกความว่า ทราบกรณีการดำเนินคดีจำเลย เพราะที่ประชุมสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เคยขอให้เจ้าของบริษัทเนเชอรัลฟรุตถอนฟ้อง แต่เจ้าของบริษัทปฏิเสธ ตนเองแม้เป็นสมาชิกสมาคมฯแต่ก็ไม่ได้ออกความเห็นเรื่องนี้ และไม่ทราบว่าทำไมทางสมาคมฯจึงอยากให้ถอนฟ้อง
 
สุมนมาลย์ ลีธีระ ผู้ประกอบการบริเวณใกล้เคียง พยานโจทก์ปากที่ 8 เบิกความว่า รู้จักโจทก์ร่วมมานาน และ เคยได้ยินข่าวที่บอกว่าโรงงานของโจทก์ร่วม เหมือนนรก 
 
นอกจากนี้เวลาบุคคลภายนอกมาสมัครงาน ก็จะกล่าวว่าบริษัทของโจทก์ร่วมเป็นโรงงานนรก จึงมาสมัครงานที่บริษัทตน ซึ่งคำว่านรกมีความหมายในทางที่ไม่ดี
 
5 กันยายน 2557 
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลเเขวงพระโขนงนัดสืบพยานต่อ โดยในช่วงเช้าเป็นการสืบพยานโจทก์ มีผู้มาสังเกตการณ์คดีจากหลายหน่วยงาน เช่น เจ้าหน้าที่จากสถานฑูตฟินเเลนด์ เจ้าหน้าที่จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เเละหน่วยงานอื่นๆอีก ประมาณ 4-5 แห่ง
 
พนักงานบัญชีของบริษัทเนเชอรัล ฟรุต จำกัด พยานปากที่ 9 เบิกความว่า พนักงานของบริษัททุกคนได้รับการดูเเลเหมือนกัน คนไทยและคนต่างด้าวต่างได้รับสวัสดิการเหมือนกัน
 
ส่วนที่กล่าวหาว่ามีการยึดหนังสือเดินทางของพนักงานนั้นไม่จริง เพราะบริษัทเพียงแต่นำหนังสือเดินทางไปต่ออายุให้พนักงาน เเละคืนหนังสือเดินทางให้ในคราวเดียวเท่านั้น เมื่อได้รัับหนังสือเดินทางกลับมาครบทุกคน 
 
หลังการเปิดเผยรายงานของอานดี้ บริษัทมียอดขายลดลง ผลประกอบการในปี 2556 ต่ำลง จึงเชื่อว่าการเปิดเผยรายงานและการแถลงข่าวของอานดี้ มีผลกระทบต่อบริษัท
 
วิรัช ปิยพรไพบูลย์ กรรมการบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด พยานโจทก์ปากที่ 10 เบิกความว่า รายได้ของบริษัทที่ลดลงเป็นผลมาจากรายงานของจำเลย ตนเองเสียหายมาก
 
มีหลายฝ่ายกดดันให้ถอนฟ้องคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมอาหารแช่เยือกเเข็ง สมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย รายงานดังกล่าวยังทำให้คนไม่กล้าสมัครงานด้วย
 
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า บริษัท เนเชอรัลฟรุตเป็นโรงงานนรกไม่เป็นความจริง เพราะบริษัท ได้รับรางวัลเป็นบริษัทตัวอย่างของจังหวัด นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน ของประเทศพม่าก็เคยเข้าเยี่ยมบริษัทเมื่อปี 2553
 
วิรัชเบิกความด้วยว่า ขณะที่มีการถ่ายทำที่หน้าบริษัทก็ไม่มีการขออนุญาต ทั้งผู้ที่มาให้สัมภาษณ์ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นบุคคลใด เป็นพนักงานบริษัทจริงหรือไม่ 
 
วิรัชเป็นพยานโจทก์คนสุดท้าย เสร็จสิ้นการสืบพยานในช่วงเช้า ศาลนัดสืบพยานจำเลย 2 ปาก ต่อทันทีในช่วงบ่าย โดยเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลา 13.45 น. 
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
เวนน์ เฮย์ ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา พยานจำเลยปากที่ 1 เบิกความว่า เบื้องต้นได้รับทราบบทสรุปของรายงานฟินวอทช์ จึงเกิดความสนใจและนำไปเสนอสำนักข่าว โดยมีกระบวนการตรวจสอบภายในว่าจะมีผลกระทบทางกฏหมายหรือไม่
 
เวนน์ เฮย์ เบิกความว่าเคยไปสัมภาษณ์คนงานที่บริเวณหน้าโรงงาน โดยใช้ล่ามที่ให้ผู้ประสานงานชาวไทยเป็นผู้จัดจ้าง แต่โรงงานห้ามถ่ายทำ จึงต้องเดินทางกลับ ก่อนจะไปสัมภาษณ์อานดี้ ที่ประเทศพม่า ที่จริงแล้วเนื้อหาข่าวมีมากกว่าที่ปรากฎแต่หลายส่วนถูกตัดออกไประหว่างการตัดต่อ
 
เวนน์ เฮย์ เบิกความว่ารู้จักกับอานดี้ เพราะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงด้านเเรงงาน เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความน่าเชื่อถือ
 
ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันมหาวิทยาลัยมหิดล พยานจำเลยปากที่ 2 เบิกความว่า ตามระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยเชิงคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างทั้งหมด จะเก็บเพียงส่วนหนึ่งก็ได้
 
นอกจากนี้ เนื่องจากงานวิจัยนี้มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างฝ่ายบริหารก็ได้ คล้ายกับการเก็บข้อมูลเรื่องสิทธิผู้บริโภค ที่เก็บตัวอย่างเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค เพื่อสะท้อนปัญหาไปยังผู้ค้าหรือผู้ให้บริการ งานวิจัยแบบนี้สามารถระบุชื่อของกิจการที่ถูกวิจัยได้ 
 
9 กันยายน 2557
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
ศาลนัดสืบพยานจำเลยต่อเป็นวันที่สอง โดยในวันนี้จะเป็นการสืบอานดี้ ฮอล์ จำเลยในคดีซึ่งเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง 
 
อานดี้ ฮอลล์ จำเลยในคดี พยานจำเลยปากที่ 3 เบิกความว่า ตนเคยทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติกับองค์กรพัฒนาเอกชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ก่อนที่จะมาทำงานในฐานะนักวิจัยกับมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาจึงรับทำงานวิจัยเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในโรงงานผลิตอาหารกระป๋องสามแห่ง ให้กับฟินวอทช์ องค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศฟินแลนด์
 
ในการทำรายงาน ตนได้เดินทางลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลด้วยตนเอง โรงงานผลิตปลาทูน่าที่มหาชัยสองแห่งซึ่งเป็นกรณีศึกษาให้ความร่วมมือในการเข้าไปเก็บข้อมูลอย่างดี จึงสามารถเก็บข้อมูลได้รอบด้าน แต่โรงงานเนชอรัลฟรุตที่ปราณบุรีไม่ให้ความร่วมมือใดๆ จึงได้แต่เก็บข้อมูลจากฝ่ายลูกจ้าง
 
ต่อมาเมื่อมีการเปิดเผยผลการวิจัยต่อสาธารณะ ตนก็ถูกบริษัทเนเชอรัลฟรุตดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท ทั้งทางแพ่งและอาญา สำหรับคดีนี้ ตนถูกฟ้องเนื่องจากให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่าที่ประเทศพม่า เพราะการเปิดเผยข้อมูลงานวิจัยของฟินวอทช์
 
อานดี้ เบิกความด้วยว่า ในขั้นตอนการรับทราบข้อกล่าวหาคดีนี้ มีเหตุไม่ชอบมาพากลด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจคุยโทรศัพท์ตลอดเวลา และมีการนำเอกสารซึ่งระบุว่าตนรับสารภาพมาให้เซ็นด้วย แต่ตนไม่เซ็น
 
อานดี้ เบิกความตอบทนายโจทก์ว่า ข้อความที่ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีร่าว่าการทำงานในโรงงานเนเชอรัลฟรุตเป็นเหมือนการทำงานในโรงงานนรกนั้น เป็นคำพูดที่แรงงานของโรงงานเป็นผู้พูดกับตน 
 
ส่วนกรณีที่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลให้สัมภาษณ์กับช่อง 3 ว่าตนเป็นเพียงครูสอนภาษาอังกฤษนั้น ตนไม่รับรองว่าเป็นความจริง แต่ตนมีงานวิจัยที่ทำให้กับมหิดลมายื่นเป็นหลักฐานได้ 
 
สาวิทย์ แก้วหวาน อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ พยานจำเลยปากที่ 4 เบิกความว่า รู้จักกับอานดี้มานาน และปัญหาแรงงานในพื้นที่ของโรงงานดังกล่าว ตนเคยมีข้อมูลอยู่บ้าง ทั้งนี้สาวิทย์เคยพูดคุยกับวิรัช เจ้าของบริษัทเนอเชอรัล ฟรุต ว่าอยากให้ถอนฟ้อง เพราะเป็นที่ทราบกันว่าการละเมิดสิทธิแรงงานมีอยู่จริง และปัญหาเรื่องสิทธิของแรงงานก็มีผลกระทบต่อการกีดกันการค้าในอนาคตได้
 
สาวิทย์ เบิกความต่อว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะทราบกระบวนการผลิตสินค้า และมีการเคลื่อนไหวขององค์กรผู้บริโภคต่างประเทศช่วยตรวจสอบว่าบริษัทต้นทางสินค้าใช้แรงงานถูกกฎหมายหรือไม่ และตนทราบว่าฟินวอชท์เป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของฟินแลนด์ หากการวิจัยทำให้เกิดการพัฒนาก็เป็นสิ่งดี
 
จอ ซอ เรน กลุ่มเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ พยานจำเลยปากที่ 5 เบิกความว่า รู้จักกับจำเลยมานาน และช่วยเหลือจำเลยในการทำวิจัย โดยทำหน้าที่ประสานหาคนมาสัมภาษณ์ ซึ่งจำเลยจะสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง 
 
เมื่อจอ เข้าไปหาคนงานของโรงงานโจทก์ร่วมที่หอพักคนงาน ก็พบว่าคนงานมีท่าทีหวาดกลัวคนภายนอก โดยมีการพูดคุยไม่มากนัก บุคคลที่คุยด้วยเป็นแรงงานอายุต่ำกว่า 15 ปี และต่ำกว่า 18 ปี และหัวหน้าคนงานก็จะมาให้ข้อมูลด้วยตัวเอง 
 
 
10 กันยายน 2557
 
ศาลจังหวัดพระโขนง นัดสืบพยานจำเลยต่อ โดยเริ่มกระบวนพิจารณาเวลา 9.30 น. วันนี้ ศาลให้ย้ายการพิจารณาคดีจากห้องพิจารณาคดี 32 เป็นห้องพิจารณาคดี 11 
 
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย พยานจำเลยปากที่ 6 เบิกความว่า รู้จักองค์กรฟินวอทชเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยอานดี้ เป็นตัวแทนขององค์กรมาติดต่อขอทำวิจัยเรื่องแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมปลาทูน่า
 
มีการตกลงกันว่าหลังทำวิจัยเสร็จ ผู้ถูกวิจัยมีสิทธิโต้แย้งผลการวิจัยและให้ข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะสรุปงานวิจัย โดยระหว่างการเก็บข้อมูล ตนจะไม่ทราบว่ามีการสัมภาษณ์คนงานคนใดบ้าง
 
ดร.ชนินทร์เบิกความว่า แม้ข้อมูลในงานวิจัยบางส่วนจะทำให้บริษัทของตนเสียหายบ้าง แต่ทำให้ได้นำข้อมูลมาปรับปรุงการจ้างงานให้ดีขึ้น โดยคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศ
 
ดร.ชนินทร์เบิกความว่าตนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีผู้วิจัย ตนเชื่อว่า การแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือ ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ
 
กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป พยานจำเลยปากที่ 7 เบิกความว่า ตนได้เห็นรายงานของฟินวอทช์แล้ว แต่ไม่ได้เปิดอ่าน ในวันที่มีการแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน ตนเดินทางไปร่วมงานด้วย ซึ่งเหตุการณ์เป็นไปอย่างปกติ มาทราบว่าอานดี้ถูกดำเนินคดีในภายหลัง 
 
กัญญภัค เบิกความว่า ทางสมาคมเคยพูดคุยถึงความเหมาะสมในการดำเนินคดีอานดี้กับทางเนเชอรัลฟรุต แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรมาก เพราะเนเชอรัลฟรุตไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม  
 
ซอนย่า วาเทียร่า ผู้บริหารฟินวอทช์ พยานจำเลยปากที่ 8 เบิกความผ่านล่ามว่า ฟินวอทช์เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของฟินแลนด์ ตั้งขึ้นเพื่อเฝ้าระวังและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศที่มีการทุจริตหรือขบวนการแรงงานอ่อนแอ 
 
สำหรับรายงานที่เป็นเหตุให้อานดี้ถูกดำเนินคดี เกิดจากความต้องการสำรวจที่มาของสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในฟินแลนด์ ใช้ผลิตสินค้า เช่น น้ำผลไม้ และผลิตภัณฑ์ทูน่า ภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง
 
จากการตรวจสอบพบว่า สินค้าส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย ฟินวอทช์จึงสุ่มเลือกโรงงาน 3 แห่งรวมทั้งโรงงานของโจทก์ร่วม เป็นตัวอย่างในงานวิจัยและติดต่อให้อานดี้เป็นผู้วิจัย 
 
ซอนย่าเบิกความถึงความรับผิดชอบต่อรายงานว่า อานดี้เป็นเพียงผู้เก็บข้อมูล สัมภาษณ์แรงงาน โดยอิงกับกฎหมายแรงงานไทยและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้เขียนรายงาน คือตนและเฮนรี่ มูปูรียะ
 
หลังเก็บข้อมูลเสร็จ อานดี้ส่งผลการทำงานเป็นเอกสารจำนวน 52 หน้า ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิคส์ พร้อมภาพถ่ายและ ข้อมูลเสียงให้ตน ซึ่งตนและเฮนรี่จะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องและเขียนรายงาน
 
เมื่อเขียนเสร็จจึงส่งรายงานกลับมาเพื่อให้อานดี้นำไปให้ผู้บริหารโรงงานผู้ถูกวิจัยทั้งสามแห่งดูเพื่อตรวจทานและชี้แจงหรือแก้ไขข้อมูลรอบสุดท้ายต่อไป ผู้บริหารโรงงานทูน่าสองแห่งให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ทั้งตน อานดี้ และเฮนรี่ ไม่สามารถติดต่อผู้บริหารโรงงานของโจทก์ร่วมได้
 
เบื้องต้น งานวิจัยฉบับเต็มถูกจัดทำเป็นภาษาฟินนิช แต่เพราะฟินวอทช์เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ประเด็นปัญหานี้ เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง จึงมีการทำบทสรุปสำหรับผู้บริหารฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต และให้มีการจัดแถลงข่าวงานวิจัยในประเทศไทยด้วย ส่วนที่มีชื่ออานดี้ในบทสรุปดังกล่าว เป็นเพราะอานดี้เป็นผู้เก็บข้อมูลวิจัย 
 
ทั้งนี้ ก่อนศาลพักการพิจารณาคดีในช่วงเช้า ศาลแจ้งคู่ความว่ามีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตอังกฤษติดต่อให้คืนหนังสือเดินทางของจำเลย เพราะหนังสือเดินทางเป็นทรัพย์สินของรัฐ ไม่สามารถยึดไว้ได้ ทั้งจำเลยก็ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงคืนหนังสือเดินทางให้ทางสถานทูตไปแล้ว

ในช่วงบ่าย ศาลสืบซอนย่าต่อ โดยเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลา 14.00 น.

ซอนยาเบิกความว่าทราบบริษัทเนเชอรัลฟรุต ไม่ได้ส่งสินค้าไปขายที่ฟินแลนด์โดยตรง แต่เป็นการรับต่อมาจากเนเธอร์แลนด์ที่นำเข้ามาจากอิสราเอล ประเด็นนี้โจทก์ร่วมแย้งว่า ตนถามเพียงว่าทราบหรือไม่ว่าเนเชอรัลฟรุตไม่ได้ค้าขายกับฟินแลนด์เท่านั้น ไม่ได้ถามถึงความเชื่อมโยง

ตา หลุย หรือ ออง จอ จากองค์กรช่วยเหลือแรงงาน พยานจำเลยปากที่ 9 เบิกความผ่านล่ามว่า ทราบเรื่องที่องค์กรฟินวอชให้อานดี้ ฮอลล์ มาเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์แรงงานชาวพม่าในประเทศไทย ประมาณ 12 คน โดยอานดี้ เป็นผู้สัมภาษณ์ด้วยตนเอง ใช้เวลาสัมภาษณ์ 1 วันกับ 1 คืน ตนอยู่ร่วมฟังด้วย และตนมั่นใจว่านายมีซูเป็นคนงานของบริษัท ส่วนอีก 2 คน นายมีซูเป็นผู้พามา

ออง จี อดีตพนักงานบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด พยานจำเลยปากที่ 10 เบิกความผ่านล่ามว่า ตนทำงานอยู่ที่บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2557 เงินเดือนขั้นสุดท้ายรับเป็นรายวัน วันละ 270 บาท และถูกหักเงินบางส่วนเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าที่พัก
 
ออง จี เบิกความว่า ทราบเหตุการณ์ที่พนักงานรักษาความปลอดภัยทำร้ายร่างกายลูกจ้าง ทราบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงานอยู่ในโรงงาน และมีกรณีที่บังคับให้คนงานทำงานล่วงเวลา แต่เมื่อมีคนมาดูโรงงานทางผู้จัดการก็จะให้คนไปพาเด็กมาอยู่รวมกันในที่พักคนงานเพื่อไม่ให้มีผู้ใดพบเห็น
 
ออง จี เบิกความด้วยว่า บริษัท เนเชอรัลฟรุต จะเก็บหนังสือเดินทางของคนงานไว้ เมื่อถึงเวลาต่ออายุก็จะมาเรียกเก็บเงินจากคนงานคนละ 150 บาท เมื่อต่ออายุเสร็จก็ไม่ได้คืนหนังสือเดินทางให้คนงาน
 
อองจีเบิกความต่อว่า ทางบริษัทเป็นผู้ดำเนินการจนตนได้รับเอกสารประจำตัว ซึ่งตนเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการทำ โดยหักจากเงินเดือน เดือนละ 500 บาท ตนยังได้รับบัตรประกันสุขภาพของโรงพยาบาลปราณบุรี ซึ่งทางโรงพยาบาลจะเก็บค่าใช้จ่ายครั้งละ 30 บาท แต่คนงานบางคนไม่มีประกันสุขภาพ จึงต้องจ่ายค่ารักษาเอง
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากออง จี ศาลถามในห้องพิจารณาคดีว่าทำไมคนงานทุกคนถึงไม่มีประกันสังคม จะมีตัวแทนบริษัทคนใดจะมาตอบศาลเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้บ้าง? มีพนักงานของโรงงานคนหนึ่งยืนตอบศาลว่าขอเบิกความ
 
นภาภรณ์ ตายงค์ พนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด พยานที่ศาลเรียกเอง เบิกความโดยไม่สาบานตนนอกคอกพยานว่า การเก็บหนังสือเดินทางของคนงาน เป็นการเก็บไว้เพื่อดำเนินการอื่นๆ และเมื่อเสร็จก็จะคืนให้คนงาน บางคนก็ไม่ยอมเอาเอกสารไปเก็บไว้เองแต่ฝากไว้กับทางบริษัทเพื่อความสะดวกในการรายงานตัวทุก 90 วัน
 
คนงานที่ยังไม่มีหนังสือเดินทาง จะไม่สามารถทำประกันสังคมได้ สำหรับคนงานที่ไม่มีประกันสังคมบริษัทก็จะพาไปทำบัตรประกันสุขภาพโดยการพาไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลของรัฐบาล โดยเสียค่าใช้จ่ายคนละ 1,900 บาท ซึ่งเป็นการเรียกเก็บเฉพาะคนต่างด้าว
 
หลังจากศาลซักถามนภาภรณ์เสร็จแล้ว ทนายโจทก์ร่วมแถลงต่อศาลว่า หัวหน้าคนงานที่ดูแลคนงานพม่าของบริษัทอยากจะขอเบิกความเพิ่มเติมบ้าง ศาลอนุญาต
 
ช่อผกา จุลเจิม หัวหน้าคนงานพม่า พยานศาลเรียก เบิกความโดยไม่สาบานตนนอกคอกพยานว่า  ตนเป็นหัวหน้าคนงานที่ทำหน้าที่ดูแลคนงานพม่า ตั้งแต่ปี 2545 ตลอดเวลาที่ทำงานในบริษัทจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีการทุบตีคนงาน มีแต่การพูดจากันดีๆ
 
มีการดูแลทั้งในและนอกเวลาทำงาน รวมทั้งเวลาที่เจ็บป่วย การจ่ายค่าจ้างให้คนงานก็เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีการหักประกันสังคมถูกต้องตามระเบียบ และยืนยันว่าในโรงงานไม่มีแรงงานเด็กที่อายุต่ำว่า 15 ปี
 
29 ตุลาคม 2557
 
นัดฟังคำพิพากษา

ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการ และโจทก์ร่วม ได้แก่บริษัทเนเชอรัลฟรุตจำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง อานดี้ ฮอลล์ ฐานหมิ่นประมาทโดยการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ในลักษณะที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง
 
ศาลให้เหตุผลในการยกฟ้องสรุปโดยย่อว่า ปัญหาประการแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่

เห็นว่า ความผิดในคดีนี้้มีโทษตามกฎหมายไทย แต่กระทำลงไปนอกราชอาณา จึงเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ซึ่งกำหนดให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบหรือทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน
 
แต่ปรากฎว่าพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนจำเลยโดยลำพัง ทั้งที่มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีร่วมแล้ว การสอบสวนที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ให้ยกฟ้อง

กรณีจึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นอีก
 
หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ทนายความของจำเลยเปิดเผยว่า โจทก์ยังสามารถอุทธรณ์คดีนี้ได้ แต่หากศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุดก็ไม่สามารถฟ้องคดีได้อีกแล้ว เนื่องจากคดีหมดอายุความ 
 
18 กันยายน 2558
 
ศาลจังหวัดพระโขนงอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ 
 
โดยฝ่ายโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลในสองประเด็นคือ ปัญหาข้อเท็จจริง และปัญหาข้อกฎหมาย และมีอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดได้รับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
 
แต่ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีความเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 เป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญามาตรา 193 ทวิ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัยให้
 
ส่วนประเด็นทางข้อกฎหมาย มีปัญหาที่ศาลต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ และศาลเห็นว่า ประเด็นที่ฝ่ายโจทก์ยกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 5 ววรคแรก เพื่อตีความให้การกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรนั้นไม่ถูกต้อง
 
เพราะการกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จเมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบแล้ว การกระทำความผิดจึงสำเร็จเสร็จสิ้นในนอกราชอาณาจักร ไม่ได้ส่งผลในราชอาณาจักรตามประเด็นทางกฎหมายที่ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์มา
 
อีกทั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 7 และ 8 ไม่มีการระบุถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ไว้ ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ 
 
ศาลอุทธรณ์พิพากษา "ยกฟ้อง" ตามศาลชั้นต้น 

26 มีนาคม 2561

เฟซบุ๊กของสำนักงานกฎหมาย เอ็นเอสพี รายงานว่า ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาให้อานดี้ จ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทเนเชอรัลฟรุตเป็นเงินสิบล้านบาทจากกรณีให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา เกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติพม่าในบริษัทของโจทก์ 

ทั้งนี้ศาลจังหวัดพระโขนงเห็นว่าอานดี้ มีความผิดเนื่องจากจำเลยได้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทของโจทก์มาจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของบริษัทเพียงบางส่วน และเป็นการได้ข้อมูลในลักษณะการบอกต่อกันมา โดยที่ตัวจำเลยไม่ได้เข้าไปดูในโรงงานของโจทก์ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้ขอเข้าไปในโรงงานแล้วแต่โจทก์ปฏิเสธ เห็นว่าโจทก์มีสิทธิปฏิเสธเพราะจำเลยไม่ใช่หน่วยราชการที่มีหน้าที่ตรวจสอบ

 

 

 

 

 

คำพิพากษา

 
ศาลชั้นต้น
 
พิพากษายกฟ้อง โดยศาลเห็นว่า ความผิดในคดีนี้้มีโทษตามกฎหมายไทย แต่กระทำลงไปนอกราชอาณา จึงเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ซึ่งกำหนดให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบหรือทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน
 
ศาลอุทธรณ์
 
คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  
 
ศาลพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในปัญหาข้อเท็จจริงมาด้วยนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายข้างต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ 
 
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ 
 
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายไทย ที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร เนื่องจากจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าวที่ประเทศพม่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 เพราะการสอบสวนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 
 
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยให้สัมภาษณ์ ความผิดนั้นย่อมสำเร็จเมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว สำหรับองค์ประกอบของความผิดที่ว่า "โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังนั้น" เป็นพฤติการณ์หรือลักษณะของการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ
 
คดีนี้ จึงไม่ใช่กรณีที่การกระทำเกิดนอกราชอาณาจักร แต่ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร ไม่ใช่กรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคแรก ที่จะให้ถือว่าความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และตามมาตรา 7 มาตรา 8 ก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรให้ดำเนินคดีในราชอาณาจักรได้ ผู้กระทำผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร  
 
โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ กรณีไม่จำต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยในผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พิพากษายืน

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา