บริษัททุ่งคำ vs พรทิพย์ ชาวบ้านเลยคัดค้านเหมืองทองคำ

อัปเดตล่าสุด: 14/01/2560

ผู้ต้องหา

พรทิพย์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสิทธิในการสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ทองคำ และได้ประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ทองคำและทองแดง กระทรวงอุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง จังหวัดเลย และมีสำนักงานสาขาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีกรรมการหกคน คือ นายชนะ วงศ์สุภาพ นายปราโมทย์ บันสิทธิ์ นายบัณฑิต แสงเสรีธรรม นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล นายวิชัย เชิดชีวศาสตร์ และนายธนภูมิ เดชเทวัญดำรง ในการฟ้องร้องคดีนี้ โจทก์มอบอำนาจให้นายสุเทพ บุระมาน เป็นผู้มีอำนาจฟ้อง และดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่างๆ ต่อมานายสุเทพ ได้มอบอำนาจช่วงให้นายวิทยา ทองกุ้ง หรือ สุมน เสียมเหล็ก คนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดี

สารบัญ

พรทิพย์ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวช่องเนชั่นทีวี หลังเหตุการณ์ปะทะระหว่างชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองและกลุ่มชายชุดดำที่ต้องการขนแร่ผ่านหมู่บ้าน ต่อมาพรทิพย์ถูกบริษัท ทุ่งคำ ยื่นฟ้องฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พรทิพย์ หรือที่เรียกกันว่า “แม่ป๊อบ” เป็นชาวบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเลยมานานหลายปี 
 
ก่อนหน้านี้พรทิพย์ เคยถูกบริษัททุ่งคำฟ้องมาแล้ว เป็นคดีอาญาในข้อหาบุกรุก 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 พรทิพย์ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวสถานีเนชั่นทีวี ทำนองว่า เหมืองเป็นเหตุให้มีสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำและในร่างกายของชาวบ้าน ข้อความดังกล่าวออกอากาศเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ในรายการ เก็บตกจากเนชั่น สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

4472/2557

ศาล

ศาลจังหวัดภูเก็ต

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นอกจากคดีนี้แล้ว บริษัท ทุ่งคำ ยังยื่นฟ้องหมิ่นประมาท สุรพันธุ์ ชาวบ้านที่เคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่อีกหนึ่งคน จากการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน [ดูคดีของสุรพันธุ์ได้ที่  http://freedom.ilaw.or.th/case/631]

นอกจากการฟ้องคดีหมิ่นประมาทแล้ว บริษัททุ่งคำยังมีคดีที่ยื่นฟ้องพรทิพย์อีกอย่างน้อยหนึ่งคดี คือ 
 
คดีอาญา เลขที่ อ 4542/2556 จำเลย 7 ราย ข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 362, 365, 83
 

แหล่งอ้างอิง

 
 
 
 
 
เหมืองแร่เมืองเลย. 17 ก.พ. 57 : คืบหน้าคดีกำแพงใจ คำถามที่ ‘บัณฑิต แสงเสรีธรรม’ ยังไม่อยากตอบ. [ออนไลน์]. (วันที่ค้นข้อมูล 6 ตุลาคม 2557) 
 

 

 
ปี 2538 บริษัททุ่งคำได้ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ มีการระเบิดภูเขาเพื่อขุดแร่ในแปลงประทานบัตรไปแล้ว 6 แปลง คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 1,300 ไร่ รวมถึงโรงแต่งแร่และโรงประกอบโลหกรรมซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 และยังมีที่อีก 106 แปลง รวมพื้นที่นับหมื่นไร่ในจังหวัดเลย ที่บริษัทได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและผลิตแร่ทองคำแล้ว และมีการทยอยยื่นขอประทานบัตรอย่างต่อเนื่อง
 
ตั้งแต่บริษัททุ่งคำเริ่มดำเนินกิจการในพื้นที่ตำบลวังสะพุง มีรายงานว่าสารเคมีที่เป็นพิษ ไซยาไนด์ และโลหะหนักหลายชนิด ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมือง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนรอบเหมืองมาโดยตลอด 
 
เดือนตุลาคมปี 2555 คันเขื่อนของบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนจำนวนมากและเป็นส่วนหนึ่งของโรงประกอบโลหกรรมได้พังทลายลง ซึ่งหากมีการขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่หมายความว่าจะมีการนำแร่จำนวนมากขึ้นเข้าไปยังโรงประกอบโลหกรรมและมีน้ำเสียปนเปื้อนจำนวนมากขึ้นในบ่อที่มีปัญหาดังกล่าว
 
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติ “ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA” แต่มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติแต่อย่างใด
 
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และวันที่ 8 กันยายน 2556 บริษัททุ่งคำได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือเวที Public Scoping แต่มีการใช้กองกำลังทหารและตำรวจปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านรอบๆ เหมืองทองและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวทีดังกล่าว
 
ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองจึง ออกประกาศระเบียบชุมชน ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกที่ใช้ถนนของชุมชนไม่ให้เกิน 15 ตัน และห้ามนำสารเคมีอันตรายเข้าเขตชุมชน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันตนเองจากผลกระทบจากกิจการของเหมือง และนำไปสู่การก่อสร้างกำแพงขึ้นครอบถนนสายบ้านนาหนองบงเพื่อขวางรถบรรทุกที่จะผ่านหมู่บ้านเพื่อไปยังเหมืองแร่ทองคำ หรือที่เรียกว่า “กำแพงใจ”  
 
กลางดึกคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ชายฉกรรจ์อำพรางใบหน้าประมาณ 300 คน เข้าไปยังพื้นที่บ้านนาหนองบง จ.เลย ปิดล้อมจุดตรวจของชาวบ้าน และจับชาวบ้านเป็นตัวประกันระหว่างทำลายแนวกั้นและขนแร่ออกจากเหมืองโดยใช้ทางสาธารณะของชุมชน จากเหตุตะลุมบอนที่เกิดขึ้นมีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีองค์กรสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อหาข้อเท็จจริงจำนวนมาก
 
16 พฤษภาคม 2557 
รายการเก็บตกจากเนช่น ออกอากาศเทปที่สัมภาษณ์พรทิพย์ ซึ่งเป็นเทปที่เป็นปัญหาในคดีนี้
 
15 สิงหาคม 2557
บริษัท ทุ่งคำ ยื่นฟ้องพรทิพย์ในข้อหาหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 ต่อศาลจังหวัดภูเก็ต คดีนี้โจทก์ไม่ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง
 
3 พฤศจิกายน 2557 
ศาลจังหวัดภูเก็ต ห้องพิจารณาคดีที่ 10 นัดไต่สวนมูลฟ้อง มีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ทนายโจทก์ และทนายจำเลย มาศาล จำเลยไม่มาศาล ในวันนี้ทนายโจทก์เปิดคลิปวีดีโอ รายการเก็บตกจากเนชั่น สถานีเนชั่นทีวี ที่มีการสัมภาษณ์จำเลยเกี่ยวกับผลกระทบของการทำเหมือง ให้ศาลดูผ่านคอมพิวเตอร์ และโจทก์ยังนำพยานเข้าไต่สวน 1 ปาก
 
สุเทพ บุระมาน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ส่งคำเบิกความเป็นเอกสารต่อศาลแล้ว เข้าสาบานตัว และตอบคำถามค้านของทนายความว่า ในเทปรายการเก็บตกจากเนชั่น จำเลยไม่ได้พูดชื่อของบริษัทโจทก์ ชื่อบริษัทโจทก์ผู้ประกาศข่าวเป็นคนพูด แต่ตัวจำเลยมีการชี้มือและพูดในบริเวณใกล้เคียงกับที่โจทก์ทำเหมืองอยู่ คนที่ดูข่าวช่องเนชั่นจะรู้ว่าจำเลยกล่าวถึงโจทก์เพราะผู้ประกาศข่าวได้เกริ่นมาก่อนแล้ว 
 
สุเทพ เบิกความด้วยว่า เหตุการณ์สัมภาษณ์คดีนี้เกิดที่จังหวัดเลย ทราบว่าเทปรายการเผยแพร่มาถึงจังหวัดภูเก็ตด้วย เพราะเป็นช่องข่าวเนชั่น การทำวิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมมีเป็นประจำอยู่แล้ว และไม่ทราบว่าที่ทำวิจัยเป็นเพราะมีการร้องเรียนจากชาวบ้านหรือไม่ 
 
ระหว่างการไต่สวน นอกจากพยานบุคคล ทนายโจทก์ได้อ้างส่งเอกสารรวม 12 ฉบับ และอ้างพยานวัตถุเป็นคลิปวีดีโอ ของรายการเก็บตกเนชั่น ศาลรับไว้ ด้านทนายจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านพยานเอกสารของโจทก์ หมายจ. 5-12 ว่าเป็นสำเนาไม่ใช่ต้นฉบับจึงรับฟังไม่ได้ 
 
ทนายโจทก์แจ้งว่ามีพยานอีก 1 ปาก เป็นพยานหมาย จะมาเบิกความประเด็นเรื่องการทำวิจัยคุณภาพน้ำบริเวณเหมือง แต่ปัจจุบันส่งหมายไปแล้วพยานยังไม่ได้รับ โจทก์จึงแถลงหมดพยานเพียงเท่านี้ ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่  24 ธันวาคม 2557 เวลา 13.30 น.
 
8 ธันวาคม 2557
 
บริษัททุ่งคำถอนฟ้องพรทิพย์ เนื่องจากในวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.วังสะพุง จ.เลย เจรจาและลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรรมการผู้จัดการ บริษัททุ่งคำ โดยตกลงกันว่าบริษัทยินดีถอนฟ้องทุกคดี แลกกับการที่ชาวบ้านยินยอมให้ขนแร่ที่ขุดแล้วออกจากพื้นที่ทำเหมือง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย อัยการจังหวัดเลย และนายอำเภอวังสะพุง เป็นพยานการทำบันทึกข้อตกลง วันที่ 8 ธันวาคม 2557 โจทก์จึงส่งทนายความเข้ายื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีที่มีการฟ้องร้องชาวบ้านทั้งหมด

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา