เฉลียว: อัพคลิปลงเว็บ

อัปเดตล่าสุด: 16/05/2562

ผู้ต้องหา

เฉลียว

สถานะคดี

ชั้นศาลฎีกา

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด

สารบัญ

เฉลียวถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557 ระหว่างถูกควบคุมในค่ายทหารถูกสอบสวนโดยใช้เครื่องจับเท็จ ภายหลังถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 โดยไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นศาล ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือนโดยให้รอลงอาญาโทษจำคุก

หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา อัยการยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษเฉลียวสถานหนัก ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ในเวลาต่อมา ให้เพิ่มโทษจำคุกจาก 1 ปี 6 เดือน เป็น 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ เฉลียวจึงต้องรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

เฉลียวมีอาชีพเป็นช่างตัดกางเกง ไม่เคยมีประวัติทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับกลุ่มใด
 
รู้จัก 'เฉลียว' ให้มากขึ้น อ่าน เฉลียว: กันยายนที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ [112 the Series]
 
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เฉลียวถูกกล่าวหาว่า อัพโหลดและเผยแพร่คลิปรายการวิทยุของ "บรรพต" ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ผ่านทางเว็บไซต์ 4Shared ตั้งแต่ช่วง ปลายปี 2554 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
 
ในคำฟ้องระบุว่า คดีนี้มีลักษณะเป็นความผิดอาญาที่มีความซับซ้อน และอาจกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร จึงอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ 

พฤติการณ์การจับกุม

เฉลียวเข้ารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) ฉบับที่ 44/2557  ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์  ในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 เฉลียวถูกตั้งข้อกล่าวหาหลังถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกครบ 7 วัน
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล


หมายเลขคดีดำ

อ.2788/2557

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

-112 The Series เฉลียว: กันยายนที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ 

แหล่งอ้างอิง


3 มิถุนายน 2557
 
เฉลียวเข้ารายงานตัวต่อ(คสช.) ตามคำสั่งคสช. ฉบับที่ 44/2557
 
ภายหลังมีรายงานว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร เฉลียว ยอมรับระหว่างการสอบปากคำว่า เป็นผู้อัพโหลดไฟล์ข้อมูลของบุคคลผู้อ้างชื่อว่า บรรพต โดยมีการบันทึกการสอบปากคำไว้ด้วย
 
ผู้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 44 คนอื่นๆเล่าว่า ขณะที่ผู้ถูกเรียกเข้ารายงานตัวในคำสั่งฉบับเดียวกันคนอื่นถูกสอบสวนเพียงครั้งเดียว เฉลียวถูกสอบสวนถึงสามครั้ง โดยเป็นการสอบสวนด้วยเครื่องจับเท็จสองครั้ง
 
9 มิถุนายน 2557 
 
หลังถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกครบ 7 วัน  เฉลียวถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พนักงานสอบสวนอนุญาตให้กลับบ้านได้ในคืนนั้น โดยนัดหมายให้ไปพบกันที่ศาลอาญาในวันรุ่งขึ้นเพื่อขอฝากขังและยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว
 
10 มิถุนายน 2557 
 
เฉลียวและครอบครัวเดินทางไปที่ศาลอาญาตามนัด พนักงานสอบสวนขอฝากขัง ขณะที่ญาติยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมวางหลักทรัพย์มูลค่า 800,000 บาทเป็นหลักประกัน แต่ศาลให้ยกคำร้อง เพราะเห็นว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลต่อ  เป็นความผิดร้ายแรง เฉลียวถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 
 
29 สิงหาคม 2557
 
หลังครบกำหนดฝากขัง เฉลียวถูกพาตัวมาที่ศาลอาญา เพื่อสอบคำให้การ  เฉลียวแถลงรับสารภาพในห้องเวรชี้ ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี จำเลยรับสารภาพ ให้การเป็นประโยชน์ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี
 
8 ตุลาคม 2557
 
พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยให้เหตุผลว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลย เป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดนั้นชอบเเล้ว  
 
แต่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี และไม่เห็นด้วยที่ให้รอการลงโทษจำเลยไว้ มีกำหนด 2 ปี เพราะ  พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง จำเลยอัพโหลดคลิปที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯขึ้นบนเว็บไซต์ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ โดยลงโทษจำเลยในอัตราโทษสูงสุดตามกฎหมายนี้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น   
 
3 กันยายน 2558
 
นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์
 
ที่ศาลอาญา เฉลียวพร้อมภรรยามาถึงศาลประมาณ 8.50 น. โดยรอญาติที่จะตามมาให้กำลังใจที่ห้องประกันตัวก่อน จากนั้นเฉลียวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 805 ประมาณ 9.30 น.โดยมีผู้สื่อมวลชน 1 คน ผู้สังเกตการณ์ 5 คน เพื่อนและญาติของเฉลียวอีก 7 คน มาให้กำลังใจ

แต่เเล้วศาลให้แยกคดีเฉลียวออกมาพิจารณาคดีที่ห้อง 809 จากนั้นเวลาประมาณ 9.55 น. ศาลสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ โดยอนุญาตให้แค่ ทนายความ ผู้รับมอบฉันทะจากโจทก์และ เฉลียว อยู่ในห้อง ส่วนผู้สังเกตการณ์ เพื่อนและญาติของเฉลียวอีก 7 คน ที่เดินทางมาจากชัยภูมิให้รออยู่ข้างนอก

ประมาณ 45 นาทีต่อมา หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จ ทนายให้ข้อมูลว่าศาลอุทธรณ์แก้โทษ ให้จำคุกเฉลียว 5 ปี และลดเหลือ 2 ปี 6 เดือนหลังให้การรับสารภาพ ไม่รอลงอาญา

หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาเฉลียวจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ภรรยาของเฉลียวใช้หลักทรัพย์มูลค่าประมาณ 600,000 บาทยื่นขอประกันตัว ศาลอาญาส่งคำร้องของเฉลียวไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาออกคำสั่ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 วันทำการ ระหว่างรอคำสั่ง เฉลียวจะถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
 
8 กันยายน 2558
 
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ประกันตัวเฉลียววงเงิน 400,000 บาท  ออกจากเรือนจำ เวลา 20.00 น. 
 
9 มิถุนายน 2560
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 907 เฉลียวมาพร้อมภรรยาและญาติๆจำนวนหนึ่ง กระทั่งศาลอ่านคำพิพากษาว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุกเฉลียว 5 ปี สารภาพลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน
 
 
10 พฤษภาคม 2562
 
หลังมีการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษครั้งใหญ่ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 เฉลียวซึ่งเหลือโทษจำคุกไม่ถึงหนึ่งปี เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ รวมแล้วทั้งหมด เฉลียวถูกจองจำเป็นเวลา 1 ปี 11 เดือน 64 วัน หรือประมาณสองปีเศษ
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฟ้อง จำเลยรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ประมาณปลายปี 2554 จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลมคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร กล่าวคือ จำเลยคัดลอกแฟ้มข้อมูลเสียง Bunpodj 1 mp3 ของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า บรรพต ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี มาเก็บไว้ในกล่องเก็บข้อมูล (Harddisk) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย และนำแฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวมาเผยแพร่ หรือส่งต่อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์ 4Share.com ในบัญชีผู้ใช้ของจำเลย ที่ใช้ชื่อ (username) ว่า charndang@gmail ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงแฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวได้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการกระทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และเชื่อมการทำงานของอุปกรณ์ หรือชุดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน โดยกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงาน ให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล โดยอัตโนมัติ รายละเอียดข้อมูลหรือข้อความอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีดังกล่าว 

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เจ้าพนักงานได้ตัวจำเลยนำส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนแล้ว และต่อมาเจ้าพนักงานยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ (PC) จำนวน 1 เครื่อง ชุดจอมอนิเตอร์จำนวน 1 ชุด กล่องเก็บข้อมูลความจำ (Harddisk) จำนวน 4 ชิ้น ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ หรือมีไว้ เพื่อใช้ในการกระทำความผิด เป็นของกลาง ของกลางเจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) (5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน พิเคราะห์แล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงอาญาไว้ มีกำหนดสองปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคม และสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ริบของกลางทั้งหมด
 

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และ (5) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุด

ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ทุก 4 เดือน มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยทำงานบริการสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และให้ริบของกลาง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยเป็นลงโทษจำคุกในอัตราสูงสุด

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จำเลยจะไม่ใช่ผู้ผลิตและบันทึกเสียงข้อมูล แแต่จำเลยก็เป็นผู้คัดลอกแฟ้มเสียงที่มีเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี มาเก็บไว้ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตน แล้วนำข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อบนเว็บไซด์ ซึ่ีงแม้ว่าผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกของเว็บไซด์ที่จำเลยอัพโหลดแฟ้มเสียงไว้ จะไม่สามารถเข้าถึงแฟ้มเสียงได้ แต่ก็สามารถรับฟังได้โดยวิธีอื่น เท่ากับเป็นการทำให้ข้อมูลซึ่งเป็นเท็จแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยจึงมีความร้ายแรง

ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุก 3 ปี ก่อนการลดโทษและรอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย แต่พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยก็ยังไม่ร้ายแรงจนต้องลงโทษด้วยอัตราโทษสูงสุดตามที่โจทก์ร้อง

พิพากษาจำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติ นอกจากที่พิพากษาแก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น   

สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา
 
ในขณะเวลาที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้นำเข้าข้อมูลเสียง ปรากฏข้อความถอดเทป ตามเอกสารท้ายฟ้องที่จำเลยได้ลงชื่อรับว่า เป็นข้อความที่จำเลยได้อัพโหลดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ในเว็บไซต์ 4Share ดอทคอม ในบัญชีผู้ใช้ของจำเลย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงแฟ้มข้อมูลดังกล่าว
 
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่ว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อความที่อยู่ในข้อมูลเสียง ว่ามีข้อความอย่างไร ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจฟ้องได้นั้น ศาลเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเข้าข้อมูลเสียง พร้อมทั้งแนบข้อความถอดเทปเป็นเอกสารท้ายฟ้อง และจำเลยลงชื่อรับรอง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ถือว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และจำเลยรับรู้ข้อความดังกล่าว ไม่หลงต่อสู้ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
 
ฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาลงโทษจำเลยโดยไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า แฟ้มข้อมูลเสียงที่โจทก์ถอดเทปแนบมาเป็นเอกสารท้ายฟ้อง และจำเลยลงลายมือชื่อรับรองอยู่ในคำฟ้อง
 
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพจึงถือว่ามีข้อความตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องดังกล่าว และศาลก็พิจารณาตามเอกสารท้ายคำฟ้องประกอบดุลยพินิจในการกำหนดโทษจำเลยโดยชอบแล้ว อันเป็นข้อความที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
 
ปัญหาตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยมีว่า กรณีมีเหตุรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า แฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวมีสมาชิกเข้าถึงได้จำนวนไม่มาก เห็นว่าจำเลยมีแฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าว และกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นองค์พระประมุขของชาติ ทุ่มเทพระวรกายประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติ
 
แฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และใช้ข้อความที่ต่ำช้า หยาบคาย ไม่ควรที่จะใช้แม้กับบุคคลชั้นต่ำ จำเลยย่อมต้องรู้ว่าข้อความอันเป็นเท็จที่ใช้ภาษาหยาบคายดังกล่าวไม่บังควรเผยแพร่ไปยังบุคคลอื่นแม้เพียงบุคคลเดียว แต่จำเลยกลับนำข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แม้จะอ้างว่ามีสมาชิกเพียงไม่กี่คน แต่สมาชิกดังกล่าวก็สามารถรับรู้ข้อมูลและนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะชนโดยไม่จำกัดจำนวนได้
 
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง กระทบองค์พระประมุขของรัฐตามกฎหมาย และเป็นศูนย์รวมของจิตใจคนไทยทั้งชาติตามข้อเท็จจริง ซึ่งผลจากการกระทำจำเลยอาจไม่ส่งผลดีต่อสาธารณชนได้ไม่รู้จบ สมควรลงโทษในสถานหนัก และไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์กลับลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 5 ปีก่อนลดโทษ นับเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา