ปิยะ: คดีที่ 1 โพสเฟซบุ๊กชื่อ “นายพงศธร บันทอน”

อัปเดตล่าสุด: 01/08/2565

ผู้ต้องหา

ปิยะ

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ปิยะ ถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “นายพงศธร บันทอน” ซึ่งมีการโพสข้อความหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ ปิยะยอมรับว่ารูปที่ปรากฏบนเฟซบุ๊คคือรูปของเขา แต่ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้ 

หลักฐานในคดีนี้ คือ ภาพคล้ายถูกถ่ายจากเฟซบุ๊กซึ่งถูกแชร์ต่อกันบนอินเทอร์เน็ต ผู้พบเห็นภาพที่ถูกแชร์ต่อกันนำเรื่องไปกล่าวโทษต่อตำรวจในหลายท้องที่ การดำเนินคดีนี้โจทก์ไม่มีหลักฐานที่เป็นหมายเลขไอพีแอดเดรส และไม่พบร่องรอยการเข้าใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าวในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย 

ต่อมาศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 9 ปี ลดเหลือ 6 ปี จำเลยอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปิยะไม่สนใจเรื่องการเมือง ไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองและไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มใดมาก่อน เคยมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดหลักทรัพย์ ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องคดีนี้ระบุว่า ช่วงระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ถึง 28 พฤศจิกายน 2556 มีการโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และเผยแพร่ข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทบนบัญชีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “นายพงศธร บันทอน” ซึ่งใช้รูปของปิยะเป็นรูปประจำตัว  
 
ภาพลักษณะคล้ายถูกถ่ายจากเฟซบุ๊ก "นายพงศธร บันทอน" ถูกแชร์ต่อกันบนอินเทอร์เน็ต ผู้พบเห็นข้อความดังกล่าวนำเรื่องไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และในท้องที่อื่นอีกหลายแห่ง เช่น ที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดน่าน การดำเนินคดีนี้โจทก์ไม่มีหลักฐานที่เป็นหมายเลขไอพีแอดเดรส เนื่องจากเฟซบุ๊กมีที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ จึงไม่สามารถตรวจสอบกับผู้ให้บริการได้ และเมื่อหน่วยพิสูจน์หลักฐานตรวจเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ยึดจากจำเลยแล้วก็ไม่พบร่องรอยการเข้าใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าว 
 
หลักฐานที่โจทก์ใช้ในการกล่าวหาจำเลย คือ ภาพที่แชร์ต่อกันในอินเทอร์เน็ตและมีผู้พิมพ์นำไปแจ้งความ ลักษณะของภาพดังกล่าวคล้ายเป็นภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือสี่ภาพเล็กนำมาวางเรียงต่อกันเป็นภาพใหญ่ภาพเดียว โดยภาพแรกมุมซ้ายบนเป็นภาพของปิยะใส่เสื้อสีแดงขนาดใหญ่เต็มภาพ ภาพที่สองมุมขวาบนเป็นภาพถ่ายจากหน้าประจำตัวของเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ "นายพงศธร บันทอน (Siamaid)" ซึ่งใช้ภาพประจำตัวเป็นภาพของปิยะ แต่ไม่ใช่ภาพเดียวกับภาพแรก ภาพที่สามและภาพที่สี่มุมซ้ายและขวาล่าง เป็นภาพลักษณะคล้ายการโพสของเฟซบุ๊กชื่อ "นายพงศธร บันทอน" โดยใช้ภาพประจำตัวเดียวกับภาพที่สอง ปรากฏเวลา “1ชั่วโมงที่แล้ว” และ ….. ตามลำดับ โดยโพสต์เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังโบกพระหัตถ์และมีข้อความประกอบที่หยาบคายในลักษณะหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น 
 
นอกจากนี้ โจทก์ยังพบหลักฐานทางทะเบียนราษฎรว่าจำเลยเคยเปลี่ยนชื่อจากปิยะ เป็นพิศล และวิวรรธ ก่อนที่ชื่อวิวรรธ จะถูกแจ้งตายช่วงประมาณปี 2543 หลังจากนั้นบุคคลที่มีใบหน้าและลายนิ้วมือตรงกับจำเลยได้สวมบัตรและหมายเลขบัตรประชาชนของบุคคลชื่อจันทร์ทอน บันทอน และต่อมามีการแจ้งเปลี่ยนชื่อจากจันทร์ทอน เป็นพงศธร
 
การกระทำของจำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดตามมาตรา 14(3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
 

พฤติการณ์การจับกุม

 11 ธันวาคม 2557

เวลาประมาณ 11.00 น. ขณะที่ปิยะกำลังเดินออกจากบ้านพัก ย่านลาดพร้าว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงตัวและถามเขาว่าชื่อปิยะ ใช่หรือไม่ เมื่อปิยะตอบว่าใช่ ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกประมาณ 30 คน ค่อยๆ แสดงตัวออกมาและแสดงเอกสารให้ดู แต่ไม่ใช่หมายจับ ขณะจับกุมปิยะรับว่าชื่อปิยะจริง

หลังถูกจับกุม ปิยะถูกพาตัวไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพาไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อสอบสวน เจ้าหน้าที่ปอท.ให้ปิยะเปลี่ยนเสื้อจากตัวที่ใส่อยู่ซึ่งเป็นสีแดง เป็นเสื้อสีดำ และพยายามนำตัวปิยะไปแถลงข่าวการจับกุม แต่ปิยะปฏิเสธ เพราะไม่ต้องการออกข่าว

ในชั้นจับกุมปิยะถูกยึดเครื่องคอมพิวเตอร์แม็คบุ๊ค และโทรศัพท์ยี่ห้อซัมซุง โน้ต ไปเพื่อการตรวจสอบ ระหว่างการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ปิยะได้ติดต่อญาติหรือทนายความ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.747/2558

ศาล

ศาลอาญารัชดาภิเษก

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
11 ธันวาคม 2557
 
หลังถูกจับกุมตัว ปิยะถูกพาไปสอบสวน ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
 
ปิยะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า “นายพงศธร บันทอน” แต่ยอมรับว่ารูปประจำตัวบนเฟซบุ๊กนั้นเป็นรูปของตนเอง ซึ่งเป็นรูปที่ใช้ในการเล่นโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ทั้ง กูเกิ้ลพลัส และทวิตเตอร์
 
หลังการสอบสวนปิยะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง
 
12 ธันวาคม 2557
 
ปิยะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่บ้านพักอีกครั้ง เพื่อยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้าน พร้อมแฟลชไดรฟ์และอุปกรณ์บันทึกข้อมูลรวม 7 รายการเพื่อนำไปตรวจสอบ และนำตัวกลับมาควบคุมไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้องอีกครั้ง
 
13 ธันวาคม 2557 
 
ปิยะถูกพาตัวมาฝากขังที่ศาลอาญาผลัดที่ 1 ศาลอนุญาตให้ฝากขัง 12 วัน ปิยะถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
9 มีนาคม 2558
 
ปิยะถูกนำตัวมาศาลเป็นครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การ หลังอัยการยื่นฟ้องปิยะต่อศาลอาญาในวันที่ 6 มีนาคม 2558 
 
ปิยะให้การปฏิเสธพร้อมแถลงต่อศาลว่าคดีนี้เป็นการฟ้องผิดตัวเนื่องจากในคำฟ้องและเอกสารท้ายคำฟ้องระบุถึงผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อพงศธร บันทอน แต่ตนชื่อปิยะ ไม่ได้ชื่อพงศธร ศาลจดในรายงานกระบวนพิจารณาและกำหนดให้นัดพร้อมในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 เวลา 13.30 
 
อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศไม่ให้ล่วงรู้ถึงประชาชน เนื่องจากคดีนี้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน
 
การเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อประชาชนในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นการกระทำที่ไม่บังควรเพราะอาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนได้
 
25 พฤษภาคม 2558
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานเวลา 13.30 น. แต่เริ่มพิจารณาคดีจริงประมาณ 15.30 น. เนื่องจากรออัยการที่ติดพิจารณาคดีอื่นอยู่
 
ศาลแจ้งว่าคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับ ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ความลับอันกระทบต่อความมั่นคงของประเทศล่วงรู้สู่ประชาชน สั่งให้พิจารณาคดีลับตามคำร้องโจทก์ ศาลถามผู้เข้าฟังว่าเป็นใครบ้าง และอนุญาตให้พ่อของจำเลยกับเพื่อนและผู้ช่วยของทนายความจำเลยอยู่ร่วมฟังการพิจารณาคดีได้ 
 
ศาลถามจำเลยว่าตกลงมีบัตรประชาชนหรือไม่ และหมายเลขบัตรประชาชนอะไร เพราะที่จำเลยอ้างมากับเลขบัตรประชาชนที่อัยการเขียนมาในคำฟ้องไม่ตรงกัน ทำให้สับสนในเรื่องตัวบุคคล จำเลยลุกขึ้นแถลงศาล ศาลเห็นว่าไม่ตรงกับที่อัยการฟ้อง จึงถามว่าพ่อของจำเลยมีบัตรหรือไม่และขอหมายเลขบัตรของพ่อจำเลยมาเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นหมายเลขที่คล้ายกับหมายเลขที่จำเลยแถลงต่อศาล ศาลจึงสั่งให้อัยการแก้ไขคำฟ้อง แต่อัยการแถลงว่าคดีนี้โจทก์ต้องการพิสูจน์ว่ามีการสวมสิทธิตามบัตรประชาชน มีการปลอมแปลงตัว จึงมีหมายเลขหลายชุดที่เกี่ยวข้อง
 
โจทก์แถลงต่อศาลว่าคดีนี้ต้องการสืบพยานโจทก์ 20 ปาก และเนื่องจากคดีนี้มีการแจ้งความ 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม น่าน ปราจีนบุรี และปทุมธานี จึงมีเรื่องที่ต้องส่งประเด็นไปสืบพยานที่จังหวัดต่างๆ ทั้ง 4 แห่งด้วย แต่ศาลไม่อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบต่างจังหวัดและต้องการให้โจทก์นำพยานมาสืบที่ศาลอาญา ศาลยังขอให้โจทก์ตัดพยานปากที่ไม่จำเป็นด้วยแต่โจทก์ยืนยันขอสืบทั้ง 20 ปาก ถ้าหากปากไหนไม่จำเป็นจะไปตัดในวันสืบพยาน ส่วนจำเลยแถลงขอสืบพยาน 1 ปาก 
 
ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ 4 วัน และสืบพยานจำเลยครึ่งวัน เป็นวันที่ 17-20 และ 24 พฤศจิกายน 2558
 
17 กรกฎาคม 2558
 
นัดตรวจความพร้อม
 
ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลอาญานัดตรวจความพร้อมคดีปิยะ ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 14.00 คู่ความได้แก่ อัยการ จำเลย และทนายจำเลยมาศาล นอกจากนี้ในห้องพิจารณาคดีก็มีพ่อของปิยะ อัยการผู้ช่วย นักข่าวประชาไท เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกลุ่มเพื่อนรับฟัง มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
 
เบื้องต้นศาลแจ้งว่าคดีนี้ต้องพิจารณาเป็นการลับ แต่เนื่องจากในวันเดียวกันมีการพิจารณาคดีอื่นในห้องเดียวกันอยู่ด้วยซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ศาลจึงขอดำเนินกระบวนการในคดีนี้ไปโดยแจ้งว่ายังไม่ได้ลงรายละเอียดในเนื้อหาของคดี พ่อของปิยะและผู้มาสังเกตการณ์จึงอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้
 
อัยการแถลงต่อศาลว่า ตามที่เคยยื่นขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนของหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน จากเดิมที่มีทั้งหมายเลขของพงศธร บันทอน และหมายเลขของปิยะ ให้เหลือแต่หมายเลขของปิยะ ซึ่งเป็นหมายเลขที่จำเลยยอมรับว่าเป็นหมายเลขประจำตัวของตน
 
ทั้งนี้เหตุที่อัยการต้องแก้คำฟ้อง เป็นเพราะศาลไม่ยินยอมให้มีเลขบัตรประจำตัวสองเลขอยู่ในคำฟ้องเดียว เพราะจะไปกระทบสิทธิของบุคคลภายนอก   
 
ในวันนี้อัยการยื่นขอสืบพยานเพิ่มเติมอีก 2 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจลายนิ้วมือ ส่วนทนายจำเลยยื่นพยานเอกสารเพิ่ม 1 รายการ
 
ทั้งอัยการและทนายจำเลย ยืนยันว่าพร้อมจะสืบพยานตามกำหนดการเดิม ที่นัดกันไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2558
 
17 พฤศจิกายน 2558
 
นัดสืบพยานวันแรก ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 914 ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีศาลแจ้งว่าคดีนี้อัยการโจทก์ได้ร้องขอให้พิจารณาคดีเป็นการลับ และศาลได้สั่งอนุญาตแล้ว จึงขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องพิจารณา ขณะที่อัยการแถลงขอให้อัยการผู้ช่วย 2-3 คนนั่งฟังด้วย
ผู้พิพากษาองค์คณะในคดีนี้ ได้แก่ เกษม เวชศิลป์ และอักษราภัค สารธรรม
ฝ่ายอัยการโจทก์มีพนักงานอัยการ 3 คน และอัยการผู้ช่วยมาเรียนรู้งานจำนวนหนึ่ง
ฝ่ายทนายความจำเลย เป็นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 4 คน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ยศสินี กิตติบวร ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
ยศสินี เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 37 ปี อาชีพแพทย์ มีคลินิกส่วนตัวที่จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ขณะเล่นอินเทอร์เน็ตอยู่ที่บ้าน ผ่านโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อไอโฟน เข้าใช้งานเฟซบุ๊กแล้วเห็นข้อความด่าทอในหลวง เห็นใบหน้าของคนโพสต์ เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและมีคำหยาบคายอยู่ติดกับพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
 
และควรมีการดำเนินการกับผู้โพสต์ เมื่อเห็นข้อความจึงถ่ายภาพหน้าจอจากโทรศัพท์มือถือไว้ และวันต่อมาก็นำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจอำเภอเมืองนครปฐม โดยนำภาพจากโทรศัพท์มือถือไปให้ตำรวจดู
 
ยศสินี กล่าวว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นคนโพสต์ข้อความและภาพดังกล่าว เมื่อดูรูปที่ปรากฎและดูตัวจำเลยในห้องพิจารณาคดีเห็นว่าหน้าตาคล้ายกับ แต่ตัวจริงอ้วนกว่าในรูป
 
ยศสินี ตอบคำถามทนายความว่า ไม่ได้เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับพงศธรและจำไม่ได้ว่าวันที่เห็นข้อความนั้นข้อความมาจากที่ไหน ตามปกติการใช้เฟซบุ๊กจะตั้งชื่ออะไรก็ได้ และจะเอาภาพอะไรมาใช้เป็นภาพประจำตัวก็ได้ จากเอกสารในคำฟ้องที่มีภาพอยู่สี่ภาพ
 
ยศสินีจำได้ว่าเห็นสองภาพ คือ ภาพที่เป็นหน้าบัญชีของ "นายพงศธร บันทอน" และภาพพระบรมฉายาลักษณ์หนึ่งภาพ ไม่แน่ใจว่าภาพที่ปรากฏเป็นเอกสารในคดีนี้คือภาพที่ตนนำไปให้ตำรวจหรือไม่ ยศสินี เบิกความว่า บนหน้าเฟซบุ๊กปกติจะไม่เห็นภาพปรากฏขึ้นพร้อมกันทั้งสี่ภาพแบบที่ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อเห็นภาพปรากฏขึ้นมาแล้วได้กดไปที่ชื่อ นายพงศธร บันทอน และเข้าไปดูบัญชีผู้ใช้นั้น
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง วันลพ แก้วกสิกรรม ผู้พบเห็นข้อความ
 
วันลพ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 36 ปี อาชีพค้าขาย อยู่ที่จังหวัดน่าน วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เล่นเฟซบุ๊กผ่านคอมพิวเตอร์บังเอิญไปเจอภาพดังที่ปรากฏในคำฟ้อง เห็นว่าเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความหยาบคายมาก จึงส่งให้เพื่อนชื่อพิชชาทางกล่องข้อความ แต่ไม่ได้แชร์ต่อ
 
จำได้ว่าเห็นภาพเหมือนกันสองภาพแต่ข้อความประกอบภาพแตกต่างกัน ข้อความเป็นการด่าทอเหมือนกัน ตอนแรกเห็นอยู่ภาพเดียวและพอคลิกไปที่ภาพ ภาพก็จะใหญ่ขึ้นก็เห็นข้อความด้วย เมื่อคลิกไปที่ชื่อของคนโพสต์ก็เห็นอีกภาพหนึ่งซึ่งข้อความไม่เหมือนกัน
 
วันลพ เล่าว่า ภาพที่เห็นนั้นถูกแชร์มา ผู้ที่แชร์ใช้ชื่อว่า Tui Fishing ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร หลังจากนั้นก็ไม่ได้ตามหาว่าคนชื่อพงศธร บันทอน เป็นใคร หลังจากพิชชามาดู พิชชาก็พิมพ์ข้อความที่เห็นไปให้ตำรวจ ต่อมาตำรวจก็เรียกตนไปให้ปากคำ
 
วันลพ ตอบคำถามทนายความว่า เฟซบุ๊กของตนไม่ได้ใช้ชื่อจริงของตัวเอง การตั้งชื่อบนเฟซบุ๊กจะเอาชื่อเพื่อนมาตั้งก็ได้ จะเอารูปของคนอื่นหรือรูปการ์ตูนมาใช้ก็ได้ ตนไม่เคยคลิกเข้าไปที่หน้าเฟซบุ๊กของนายพงศธร หน้าเฟซบุ๊กจะปรากฏเฉพาะโพสของคนที่เป็นเพื่อนกัน แต่ภาพและข้อความตามฟ้องนี้ไม่รู้ว่าเห็นได้อย่างไร หากจะโพสภาพบนเฟซบุ๊กก็ต้องมีภาพในเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อน
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พิชชา ตั้งเที่ยงธรรม ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
พิชชา เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 36 ปี อาชีพค้าขาย วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เพื่อนชื่อวันลพ แจ้งว่าให้เข้าไปดูเฟซบุ๊กของ Tui Fishing ซึ่งเมื่อเปิดดูด้วยเฟซบุ๊กของตัวเองผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เข้าไปดูข้อความและเห็นว่าเป็นการแชร์ข้อความให้ด่าคนที่โพสต์ข้อความหมิ่นฯ โดยมีการถ่ายภาพหน้าจอมา จำไม่ได้ว่ากี่ภาพ แต่มีสองข้อความที่คล้ายกันกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม จึงเล่าให้แฟนฟัง
 
พิชชา เล่าว่า วันรุ่งขึ้นไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองน่าน เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องมีหลักฐานด้วยจึงกลับมาที่บ้านเพื่อพิมพ์เอกสาร 2-3 แผ่นแล้วนำไปให้ตำรวจ ภาพที่พิมพ์ออกมานั้นถ่ายมาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ตกแต่งภาพเพิ่มเติม ตนไม่เคยรู้จักและไม่ได้เป็นเพื่อนกับเฟซบุ๊ก Tui Fishing และนายพงศธร บันทอน สาเหตุที่ไปแจ้งความคดีนี้เพราะเห็นว่าช่วงเวลานั้นมีการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กันเยอะและรู้สึกไม่พอใจ
 
พิชชา ตอบคำถามทนายความว่า ภาพที่ตนเห็นเป็นภาพใหญ่หนึ่งภาพ ประกอบด้วยภาพย่อยสี่ภาพ เป็นการถ่ายมาจากหน้าจอซึ่งสามารถทำได้โดยคอมพิวเตอร์ทั่วไปและสมาร์ทโฟน สี่ภาพย่อยมาจากการถ่ายภาพหน้าจอสี่ครั้งแล้วเอามาวางรวมในรูปเดียวกัน ไม่ใช่การแชร์โดยตรงจากเฟซบุ๊กนายพงศธร บันทอน ตนจำไม่ได้ว่าได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กที่ชื่อนายพงศธร บันทอน หรือไม่ จากที่ดูในภาพก็เชื่อว่าเฟซบุ๊กนายพงศธรน่าจะมียู่จริง 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ อภิญญา ตันตระกูล แฟนของผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
อภิญญา เบิกความว่า เป็นแฟนของพิชชา ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เมื่อพิชชาเห็นข้อความก็โทรศัพท์มาปรึกษาว่าจะไปแจ้งความ เพราะข้อความเป็นการหมิ่นประมาทในหลวง พิชชาเล่าให้ฟังว่าคนโพสต์ชื่อนายพงศธร บันทอน ตนไม่ได้ดูข้อความด้วย ตอนไปแจ้งความก็ไม่ได้ไปด้วย ข้อความที่นำมาฟ้องได้เห็นแค่ในเอกสารวันที่ตำรวจเรียกให้ไปให้การ เมื่ออ่านข้อความแล้วรู้สึกว่าแรง 
 
อภิญญา ตอบคำถามทนายความว่า จำไม่ได้ว่าภาพที่ตำรวจเอาให้ดูเป็นภาพสี่ภาพหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เกิดนานมาแล้ว แต่จำภาพที่มีใบหน้าของจำเลยได้ เอกสารในคำฟ้องนี้เป็นการเอาภาพสี่ภาพมาประกอบเป็นภาพเดียว การเอาภาพมารวมกันแบบนี้คนทั่วไปสามารถทำได้ พิชชาตกแต่งภาพระดับพื้นฐานได้แต่ทำกราฟฟิคไม่ได้ 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า อัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
อัจฉริยะ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 49 ปี อาชีพวิศวกรโยธา เป็นประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งชมรมนี้ทำกิจกรรมช่วยผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม และปราบปรามอาชญากรรมต่อพระมหากษัตริย์ด้วย ช่วงกลางปี 2556 มีสมาชิกชมรมชื่อติ่ง ทิพยเวช แจ้งมาทางโทรศัพท์ว่ามีผู้โพสต์ข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรงชื่อนายพงศธร บันทอน ตามที่ปรากฏในเฟซบุ๊กชื่อ "ของดีไทอีสาน" เมื่อเข้าไปดูก็พบว่านายพงศธร เป็นผู้โพสต์ตามที่ได้รับแจ้งมา และมีรูปร่างหน้าตาของนายพงศธรด้วย จึงพิมพ์ออกมาและไปสืบค้นว่าบุคคลนี้อยู่ที่ไหน
 
อัจฉริยะ เล่าว่า ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมทำงานร่วมกับหน่วยปราบปรามอาชญกรรมพิเศษของกระทรวงยุติธรรม และสืบทราบมาว่าคนโพสต์อยู่แถวดอนเมือง และได้เลขที่บ้านมา จึงเดินทางไปถ่ายรูปบ้านไว้ เมื่ออัยการถามว่า ทำไมถึงไปตามหาด้วยตนเองก่อนไปแจ้งความ อัจฉริยะตอบว่า สารภาพตามตรงว่าจริงๆ อยากไปกระทืบมากกว่า ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ได้รวบรวมสมาชิกไปยังบ้านดังกล่าวจำนวนมาก แต่เมื่อไปแล้วหาตัวไม่เจอจึงไปแจ้งความที่ปอท.
 
อัจฉริยะ เล่าอีกว่า เจ้าหน้าที่ของชมรมที่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เป็นผู้สืบค้นประวัติของนายพงศธร มีการไปขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กด้วย และทราบว่าทำงานที่ไหน เรียนที่ไหน หลังแจ้งความแล้วก็ยังตามหาตัวอยู่ แต่ไม่พบ คนอื่นที่ไปแจ้งความอาจไม่เคยเห็นโพสต์ที่หน้าเฟซบุ๊กของนายพงศธรโดยตรง แต่ตนเห็นจากต้นฉบับ และข้อความดังกล่าวหลังตรวจพบแล้วอีกเป็นสัปดาห์ก็ยังไม่ลบออก
 
อัจฉริยะ ตอบคำถามทนายความว่า การสมัครใช้เฟซบุ๊กใช้แค่อีเมล์ ไม่ต้องใช้หลักฐานทางทะเบียน ผู้สมัครจะตั้งชื่ออะไรก็ได้ และใช้ภาพประจำตัวอะไรก็ได้ เคยได้ยินอยู่ว่ามีดาราถูกทำเฟซบุ๊กปลอม การตรวจสอบสถานที่โพสต์ข้อความต้องอาศัยข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษของเจ้าหน้าที่ ตนไม่ทราบว่าคดีนี้ดำเนินการอย่างไร 
 
อัจฉริยะ ตอบคำถามว่า เมื่อโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กแล้วจะปรากฏวันที่และเวลาใต้ชื่อผู้โพสต์ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาที่โพสต์ ภาพที่ตนนำไปแจ้งความปรากฏเวลาว่า “1 ชั่วโมงที่แล้ว” ซึ่งตัวเลขที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปเพราะภาพนี้เกิดจากการถ่ายภาพหน้าจอ และวันเวลาที่ปรากฏนี้ตรงกับที่ปรากฏในภาพบนเฟซบุ๊กของดีไทอีสาน
 
อัจฉริยะ เบิกความด้วยว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุมีข้อความในเว็บไซต์ และยูทูป โจมตีพระมหากษัตริย์จำนวนมาก ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายร้ายแรง ผู้กระทำย่อมได้รับความเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป เมื่อทนายความถามว่า ผู้กระทำส่วนใหญ่ต้องปกปิดตัวตนและใบหน้าใช่หรือไม่ อัจฉริยะตอบว่า ไม่จำเป็นเสมอไป ในกรณีนี้ขอยืนยันว่าเป็นนายพงศธร บันทอน แน่นอน แต่คดีอื่นส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดจะอยู่ต่างประเทศ
 
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อของจำเลย และรับว่าจำเลยเคยใช้ชื่อว่านายพงศธร บันทอน ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกันไม่ติดใจสืบพยานที่เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายทะเบียนราษฎร และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกรวม 12 ปาก จึงเหลือพยานโจทก์อีกรวม 5 ปาก
 
 
18 พฤศจิกายน 2558
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หก พ.ต.ท.จาตุรนต์ สุขทวี ตำรวจสันติบาล ผู้จับกุมจำเลย
 
พ.ต.ท.จาตุรนต์ เบิกความว่า ตำแหน่งปัจจุบันมีหน้าที่หาข้อมูล บุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ในปี 2558 ได้รับมอบหมายให้สืบสวนและจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับหลายราย ประมาณช่วงเดือนตุลาคม 2557 ได้รับหมายจับของศาลอาญาให้จับกุมนายพงศธร บันทอน จึงลงพื้นที่หาข่าว และทราบว่านายพงศธรมีตัวตนจริง อาศัยอยู่บริเวณ ลาดพร้าว ซอย 107 จึงจัดชุดตำรวจไปเฝ้าบริเวณนั้น
 
พ.ต.ท.จาตุรนต์ เล่าว่า วันที่ 11 ธันวาคม 2557 เวลาประมาณ 11.30 พบนายพงศธรเดินออกมา ทราบว่า เป็นบุคคลตามหมายจับเพราะหน้าตาคล้ายกับภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในหมายจับ และภาพถ่ายขนาดใหญ่จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ จึงแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานเข้าจับกุม พร้อมแสดงหมายจับให้ดู และแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับ ผู้ต้องหารับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับชื่อ พงศธร และรับว่าเป็นคนโพสต์ข้อความ จึงทำบันทึกจับกุมและส่งตัวให้พนักงานสอบสวน
 
พ.ต.ท.จาตุรนต์ ตอบคำถามทนายความว่า ข้อมูลที่ได้รับมาเป็นหมายจับ ส่วนข้อมูลเรื่องการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กและหลักฐานอื่นๆ ไม่ได้รับมาด้วย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการหาหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ด้วย ตอนที่ผู้ต้องหารับสารภาพไม่ได้แจ้งก่อนว่าข้อความที่ถูกกล่าวหาคืออะไรและโพสต์ที่ไหน แจ้งแค่ข้อหาตามกฎหมาย ในวันจับกุมตัวไม่มีเจ้าหน้าที่จาก คสช.อยู่ด้วย ขณะจับกุมผู้ต้องหาให้ความร่วมมือดี ไม่ขัดขืน
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด ร.ต.อ.พงศธร รักษาทิพย์ ผู้ตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์
 
ร.ต.อ.พงศธร รักษาทิพย์ เบิกความว่า คดีนี้ทางปอท.ส่งของกลางมาให้ตรวจสอบห้ารายการ มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหนึ่งเครื่อง แม็คบุ๊กแอร์หนึ่งเครื่อง โทรศัพท์ซัมซุงหนึ่งครื่อง ยูเอสบีสองชิ้น และไมโครเอสดีหนึ่งชิ้น โดยให้ตรวจสอบเพื่อค้นหาว่า 1) มีการเข้าถึง www.facebook.com ของบัญชีผู้ใช้ชื่อ "นายพงศธร บันทอน" หรือไม่  2) มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความลักษณะเดียวกับในคำฟ้องหรือไม่  3) มีการเข้าถึงอีเมล์ joob1459 หรือไม่  
 
ร.ต.อ.พงศธร กล่าวว่า ผลการตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์ซัมซุงพบข้อมูลการเข้าใช้อีเมล์ joob1459 หนึ่งครั้งซึ่งลบไปแล้ว ผลการตรวจสอบคอมพิวเตอร์และยูเอสบีไม่พบข้อมูลดังกล่าว ส่วนไมโครเอสดีชำรุดตรวจสอบไม่ได้
 
ร.ต.อ.พงศธร ตอบคำถามทนายความว่า ตามปกติในคดีเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์พนักงานสอบสวนจะส่งคอมพิวเตอร์ของกลางมาให้หน่วยงานของพยานตรวจสอบ ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานเป็นหมายเลข IP Address คิดว่าร่องรอยการใช้งานที่ปรากฏในคอมพิวเตอร์จะเป็นหลักฐานสำคัญ การโพสต์ภาพลงบนเฟซบุ๊กต้องมีภาพในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ก่อน
 
ร.ต.อ.พงศธร อธิบายว่า การตรวจเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นต้องทำสำเนาฮาร์ดดิสก์เพื่อป้องกันการเพิ่มเติมหรือลบข้อมูล โปรแกรมที่ใช้ตรวจชื่อ encase ใช้ตรวจข้อมูลทั้งหมดในฮาร์ดดิสก์ ข้อมูลที่ลบไปแล้วก็ตรวจสอบพบได้ ยกเว้นจะถูกบันทึกทับหลายๆ ครั้ง ผู้ใช้งานทั่วไปไม่สามารถเลือกให้บันทึกข้อมูลทับได้ การที่ตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลอาจเป็นไปได้ว่าคอมพิวเตอร์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือผู้ใช้มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์มาก
 
ร.ต.อ.พงศธร ตอบคำถามอัยการถามติงว่า หากเครื่องคอมพิวเตอร์มีพื้นที่เก็บข้อมูลไม่มากก็มีโอกาสที่ข้อมูลจะถูกบันทึกทับได้มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้ใช้ด้วย ซึ่งของกลางในคดีนี้มีพื้นที่เก็บข้อมูลน้อย
 
19 พฤศจิกายน 2558
 
สืบพยานโจทก์ปากที่แปด พ.ต.ท.หญิง สุภวรรณ พันสิ้ว ผู้ตรวจลายนิ้วมือแฝง
 
พ.ต.ท.หญิงสุภวรรณ เบิกความว่า รับราชการที่กลุ่มงานตรวจลายนิ้วมือแฝง สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาแล้ว 8 ปี มีหน้าที่ตรวจลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า จากทั่วประเทศ
 
คดีนี้ได้รับหนังสือจากปอท.ให้ตรวจลายนิ้วมือที่ปรากฏตามคำขอ มีบัตรประชาชนที่สำนักงานเขตดอนเมือง ในชื่อ นายพงศธร บันทอน ว่าตรงกับผู้ต้องหาที่ชื่อ ปิยะ ที่ถูกจับกุมตัวได้หรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าลายเส้นตรงกัน จึงลงความเห็นว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน 
 
พ.ต.ท.หญิงสุภวรรณ ตอบคำถามทนายความว่า ลายนิ้วมือตามเอกสารนั้นมีจุดลักษณะสำคัญ 10 จุด เพียงพอที่จะตรวจสอบได้ จุดลักษณะเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงตามอายุ แต่ขนาดอาจจะใหญ่ขึ้น หรือเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อม ตลอดจรลักษณะการทำงาน แม้จะตรวจสอบแค่สองนิ้วก็ไม่มีทางที่จะมีบุคคลลายนิ้วมือซ้ำกันได้
 
สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า ธนิต ประภานันท์ ผู้ตรวจหาหมายเลข ไอพี แอดเดรส
 
ธนิต เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 58 ปี รับราชการที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้อำนวยการสำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี  
 
ซึ่งทำงานในหน้าที่นี้ ต้องมีความรู้ด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ คดีนี้สถานีตำรวจภูธรเมืองน่านมีหนังสือสอบถามให้ตรวจสอบผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ นายพงศธร บันทอน และ Tui Fishing เมื่อสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตรวจสอบแล้วพบว่าเฟซบุ๊กนี้ไม่ปรากฏอีเมล์ที่ใช้ในการติดต่อ ไม่ปรากฏหมายเลขไอพีแอดเดรสที่เปิดเผย ไม่มียูอาร์แอลส่งมาด้วย และผู้ให้บริการเฟซบุ๊กอยู่ต่างประเทศ จึงไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้
 
อัยการให้ดูเอกสารท้ายคำฟ้องแล้ว ธนิตเบิกความว่า ภาพที่นำมาฟ้องบ่งชี้ว่าเป็นการโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก โดยผู้ใช้บัญชีชื่อนายพงศธร บันทอน คนหนึ่งคนสามารถเปิดใช้เฟซบุ๊กหลายบัญชีได้ จะใช้ชื่อต่างกันก็ได้ ชื่อบนเฟซบุ๊กสามารถตั้งซ้ำกันได้ แต่จะเป็นเฟซบุ๊กปลอม
 
ซึ่งเจ้าของตัวจริงสามารถแจ้งไปพร้อมบัตรประชาชนเพื่อให้เฟซบุ๊กลบได้ เฟซบุ๊กจะลบบัญชีปลอมออกให้ เมื่อเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กตั้งรหัสแล้วบุคคลอื่นจะเข้ามาใช้ไม่ได้ ถ้ามีคนอื่นเข้ามาใช้เจ้าของก็จะรู้และถ้าเป็นข้อความที่ไม่พึงประสงค์เจ้าของก็สามารถลบออกได้
 
ธนิต ตอบคำถามทนายความว่า การสมัครใช้เฟซบุ๊กจะตั้งชื่ออะไรก็ได้ และจะใช้ภาพอะไรเป็นภาพประจำตัวก็ได้ ในตำแหน่งงานที่ทำพบคดีการปลอมเฟซบุ๊กอยู่ ที่เบิกความไปว่าเจ้าของเฟซบุ๊กจะลบก็ได้ หมายถึง ถ้าข้อความนั้นเกิดจากการ Hack เข้ามาในเฟซบุ๊กของตัวเอง หรือถูกขโมยรหัสผ่าน แต่ถ้าเป็นการโพสจากบัญชีปลอมเจ้าของก็อาจจะไม่รู้ ถ้าบัญชีปลอมเปิดขึ้นมาแค่ 1-2 ชั่วโมงแล้วปิดไปเจ้าของก็มีโอกาสจะไม่รู้
 
ธนิต ตอบคำถามต่อว่า การตั้งชื่อเฟซบุ๊กจะใช้ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ จะใช้ทั้งสองภาษาพร้อมกันก็ได้ ภาพตามเอกสารท้ายฟ้องมุมขวาบนที่เป็นหน้าเฟซบุ๊กของนายพงศธร บันทอน ชื่อของผู้ใช้มีภาษาอังกฤษว่า (Siamaid) ต่อท้าย แต่ภาพที่มีการโพสต์ข้อความมุมซ้ายและขวาล่างไม่มีข้อความว่า (Siamaid) ต่อท้าย ปกติเมื่อตรวจพบข้อความผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ตก็จะบันทึกเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ หากมีการตัดต่อภาพก็จะไม่น่าเชื่อถือ 
 
ธนิต ตอบคำถามด้วยว่า ปกติคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต้องตรวจสอบหมายเลขไอพีแอดเดรสทุกคดี เพราะเป็นหลักฐานสำคัญ หากได้หมายเลขไอพีแอดเดรสมาก็จะบอกสถานที่และวันเวลาที่โพสต์ข้อความ หากมีความรู้คอมพิวเตอร์มากก็จะสามารถหลบเลี่ยงการระบุสถานที่โพสต์ข้อความได้
 
ในคดีนี้ผู้ให้บริการเฟซบุ๊กไม่ให้หมายเลขไอพีแอดเดรส ยังมีวิธีการอื่นในการหาหมายเลขไอพีแอดเดรสได้ แต่ไม่แน่นอน ตามอำนาจหน้าที่สามารถขอข้อมูลการใช้งานจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ด้วย แต่ขอได้ไม่เกิน 90 วันนับจากวันกระทำความผิด
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ ร.ต.ท.กง ไม่เศร้า พนักงานสอบสวน
 
ร.ต.ท.กง เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 32 ปี รับราชการตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2555 วันที่ 29 กรกฎาคม 2557 ขณะเข้าเวรอยู่มี นายอัจฉริยะมาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน
 
ซึ่งโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยมีเอกสารมาด้วย พบว่าข้อความตามเอกสารนั้นเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯอย่างชัดเจน เอกสารที่นำมาเป็นการถ่ายภาพหน้าจอ ตามเอกสารผู้โพสต์ข้อความและภาพคือนายพงศธร บันทอน
 
ร.ต.ท.กง อธิบายขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ว่า หลังได้รับแจ้งความก็แจ้งให้กระทรวงไอซีทีตรวจสอบหาผู้ใช้เฟซบุ๊กแต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ และแจ้งให้ฝ่ายสืบสวนหาข้อมูล ฝ่ายสืบสวนก็ไม่สามารถตรวจสอบได้
 
เมื่อเข้าไปดูที่เฟซบุ๊กของนายพงศธร ก็พบว่าบัญชีผู้ใช้นี้หาไม่พบแล้ว อาจเพราะถูกลบหรือถูกปิดไปแล้ว เมื่อทำหนังสือไปที่สำนักงานเขตหลักสี่ก็ทราบว่านายพงศธร บันทอน มีตัวตนอยู่จริง เคยมีชื่ออยู่ที่เขตดอนเมืองแต่ถูกจำหน่ายชื่อออกตั้งแต่ปี 2547 และเนื่องจากเฟซบุ๊กตั้งอยู่ต่างประเทศคดีนี้เป็นความผิดนอกราชอาณาจักรจึงทำหนังสือหารือให้อัยการเข้าร่วมการสอบสวนด้วย
 
ร.ต.ท.กง อธิบายต่อว่า เมื่อตรวจสอบหาเจ้าของบ้านที่นายพงศธรเคยอยู่ กับพบว่าเจ้าของบ้านปัจจุบันไม่รู้จักนายพงศธร เพราะซื้อบ้านมาหลังจากที่จำหน่ายชื่อออกแล้ว จึงขอให้ศาลออกหมายจับโดยอาศัยภาพถ่ายบนเฟซบุ๊กที่ผู้ร้องทุกข์มอบให้ เนื่องจากนายพงศธร เคยสวมบัตรประชาชนที่เขตดอนเมือง จึงสอบถามตำรวจที่สถานีตำรวจดอนเมืองก็พบว่าเคยมีการร้องทุกข์เรื่องนี้ไว้ แต่ปัจจุบันคดีขาดอายุความแล้ว
 
ร.ต.ท.กง เล่าว่า ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ตำรวจสันติบาลจับตัวผู้ต้องหาตามหมายจับได้ และนำมามอบให้ คือ จำเลยที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีวันนี้ ก่อนสอบปากคำแจ้งสิทธิแล้วจำเลยไม่ต้องการทนายความ จำเลยให้การว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน แต่ไม่ได้โพสต์ข้อความในคดีนี้ จำเลยเปิดอีเมล์และพิมพ์ข้อความออกมามอบให้ไว้เป็นอีเมล์ที่ติดต่อกับกูเกิ้ลเพื่อให้ลบข้อความดังกล่าว ซึ่งมีข้อความและรูปภาพตามฟ้องอยู่ในอีเมล์ด้วย จำเลยบอกว่าเคยแจ้งให้เฟซบุ๊กและกูเกิ้ลลบข้อความนี้ให้ แต่ไม่ได้แจ้งความต่อตำรวจ จำเลยแจ้งว่าเปิดเฟซบุ๊กชื่อนี้เมื่อปี 2553-2554 จำเลยเคยโพสต์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ แต่ไม่ใช่ข้อความในคดีนี้
 
ร.ต.ท.กง เล่าอีกว่า หลังจับกุมตัวจำเลยได้ ก็นำลายนิ้วมือของจำเลยส่งไปตรวจเปรียบเทียบกับลายนิ้วมือของนายพงศธร ตามหลักฐานการย้ายเข้าที่เขตดอนเมือง ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน หลังสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับอัยการแล้วเห็นว่านายพงศธร บันทอน ในเฟซบุ๊ก กับนายปิยะ เป็นคนเดียวกัน จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้อง
 
ร.ต.ท.กง ตอบคำถามทนายความว่า มีคนมาร้องทุกข์ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำนวนมาก หน่วยงานต่างๆ ที่ตรวจเจอจะส่งมาให้ ส่วนใหญ่ผู้โพสต์ข้อความจะไม่ใช้ชื่อจริงและภาพจริง แต่ก็มีบางรายที่ใช้ ปกติถ้าเฟซบุ๊กยังเปิดอยู่จะหาตัวผู้กระทำความผิดได้ แต่ถ้าเฟซบุ๊กปิดไปแล้วต้องใช้วิธีการขอไอพีแอดเดรสซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้มา หากเฟซบุ๊กยังเปิดอยู่ก็จะมีวิธีหาไอพีแอดเดรสได้ แต่ไม่บอกว่าวิธีไหนเพราะเป็นช่องทางของฝ่ายสืบ
 
ร.ต.ท.กง เบิกความอีกว่า ภาพที่นำมาฟ้องนั้นเฟซบุ๊กของดีไทอีสาน และเฟซบุ๊ก Tui Fishing เป็นคนโพสต์ขึ้น เป็นการนำภาพสี่ภาพที่ถ่ายจากหน้าจอมารวมเป็นภาพเดียว ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำ
 
ผู้ร้องทุกข์ทั้งหมดไม่มีภาพต้นฉบับจากเฟซบุ๊กของพงศธรโดยตรง แต่เป็นการแชร์และโพสต์ภาพที่บุคคลอื่นจัดทำขึ้น ซึ่งหลักฐานในการร้องทุกข์ทั้งหมดเป็นภาพเดียวกัน ในชั้นสอบสวนจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้โพสต์ข้อความที่ฟ้องในคดีนี้ แต่รับว่าภาพนี้เป็นภาพประจำเฟซบุ๊กของตน จากประสบการณ์การทำงานพบกรณีการใช้ภาพและชื่อของบุคคลอื่นมาสร้างเฟซบุ๊กปลอมเพื่อหาผลประโยชน์และทำให้บุคคลนั้นเสียหาย
 
ทนายความถามว่า จากภาพที่เป็นหลักฐานในคดีนี้บอกไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชีนายพงศธร บันทอน ใช่หรือไม่ ร.ต.ท.กง ตอบว่า ใช่
 
อัยการแถลงหมดพยาน ฝ่ายจำเลยแถลงขอสืบพยานจำเลยในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ตามที่นัดไว้ก่อนหน้านี้ และขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอีก 1 ปาก คือ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และสื่อสังคมออนไลน์ 
 
 
24 พฤศจิกายน 2558 
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง ปิยะหรือพงศธร จำเลย
 
ปิยะ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 46 ปี ก่อนถูกจับทำงานประสานงานและเขียนโปรแกรมเบื้องต้นสำหรับโทรศัพท์แอนดรอย ในส่วนของคดี ปิยะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำความผิดตามฟ้อง และไม่ทราบว่าใครเป็นคนโพสต์ข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดี 
 
สำหรับการเปลี่ยนชื่อ ปิยะเบิกความว่าเคยเปลี่ยนชื่อหลายครั้งด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป ปิยะคือชื่อเดิมของตน ต่อมาตนเปลี่ยนชื่อเป็นพิศล และวิวรรธ โดยเปลี่ยนเพราะความเชื่อเรื่องการเสริมดวงของแม่ ประมาณปี 2544 ตนเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นจันทร์ทอน บันทอน และเปลี่ยนเป็นพงศธร บันทอน ตามลำดับ เพราะเหตุผลด้านธุรกิจ 
 
ปิยะ เล่าว่า ช่วงปี 2553-2554 เคยใช้เฟซบุ๊กชื่อ "นายพงศธร บันทอน (Siamaid)" หลังจากนั้นไม่ได้ใช้แล้ว แต่มาใช้เฟซบุ๊กชื่อ Piya ซึ่งไม่เคยโพสเรื่องการเมือง ช่วงปี 2557 แฟนโทรศัพท์มาบอกตนว่า มีภาพและข้อความหมิ่นตามฟ้องปรากฎบนเฟซบุ๊ก"นายพงศธร บันทอน (Siamaid)" ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว ตนจึงลองค้นหาภาพในกูเกิ้ลด้วยคำว่าพงศธร บันทอน ก็พบภาพหนึ่งภาพที่มีสี่ภาพย่อยรวมกัน จึงแจ้งไปทางกูเกิ้ลให้ลบภาพนี้ออก เพราะเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าปล่อยให้คนแชร์ต่อ ปิยะเบิกความด้วยว่า ที่ไม่ไปแจ้งความกับตำรวจเป็นเพราะกลัวโดนคดีเรื่องการสวมบัตร 
 
ปิยะ เบิกความว่า ช่วงปี 2557 เคยพยายามเข้าเฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน แต่เข้าไม่ได้ เป็นไปได้ว่ามีคนลบหรือปิดไป ขณะถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ตนดูข้อความและภาพตามฟ้อง รวมทั้งไม่ได้บอกตนว่าจับเพราะอะไร จึงรับกับตำรวจเพียงว่า เป็นบุคคลตามหมายจับ สำหรับคอมพิวเตอร์ของกลางที่ถูกยึดในคดีนี้เป็นของตนทั้งหมด โดยลงทะเบียนไว้ด้วยชื่อปิยะ 
 
ปิยะ ตอบคำถามค้านของอัยการว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าชื่อวิวรรธ ถูกแจ้งตายแล้ว มาทราบก็ตอนถูกคุมขังอยู่ การเปลี่ยนชื่อและบัตรประชาชนคนเป็นคนดำเนินการเองโดยทราบอยู่แล้วว่าผิดกฎหมาย หลังเปลี่ยนช่ื่อก็ใช้ชื่อพงศธรในการติดต่อทั่วไป ไม่ได้ปกปิด สำหรับบัญชีเฟซบุ๊กชื่อพงศธรสมัครด้วยอีเมล์ joob14591

อัยการถามถึงข้อความที่ปิยะส่งไปหากูเกิล เรื่องให้ลบภาพและข้อความตามฟ้อง ปิยะจำไม่ได้แน่ชัดว่าส่งไปเมื่อใด แต่จำได้ว่าส่งไปภายใน 1 สัปดาห์หลังเห็นข้อความและภาพดังกล่าว อัยการให้ปิยะดูภาพตามเอกสารที่ส่งให้กูเกิ้ลเพื่อยืนยัน ปิยะตอบอัยการว่า เอกสารดังกล่าวเป็นอีเมล์ที่กูเกิ้ลตอบกลับมา แต่ไม่มีอีเมล์ที่ตนส่งให้กูเกิ้ลรวมอยู่ด้วย
 
ปิยะ กล่าวว่า ตนไม่ได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะกูเกิ้ลแจ้งว่า จะเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายเอง ตั้งแต่ถูกจับ ตนก็ไม่ได้ติดต่อกับกูเกิ้ลอีก ว่ามีดำเนินการอย่างไร 
 
ปิยะเบิกความต่อว่า การสอบปากคำในชั้นสอบสวน มีอัยการร่วมสอบด้วย แต่ไม่ได้นั่งอยู่ตลอด สำหรับการลงลายมือชื่อบนเอกสารของพนักงานสอบสวน ปิยะรับว่าเป็นคนลงชื่อ แต่ลงโดยไม่ได้อ่านเอกสารอย่างละเอียด เพราะขณะนั้นตำรวจจะรีบนำตนไปฝากขังที่สน.ทุ่งสองห้อง
 
หลังสืบพยานปากนี้เสร็จ ฝ่ายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อีกต่อไป และแถลงหมดพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 ธันวาคม 2558 เวลา 11.00 น.
 
28 ธันวาคม 2558 
 
เวลา 9.40 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็นำตัวปิยะขึ้นมาห้องพิจารณา 914 โดยที่ปิยะยังไม่ได้พบทนายความ ศาลแจ้งปิยะว่า จะเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 20 มกราคม 2559 รายงานกระบวนพิจารณาระบุว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ จึงอยู่ระหว่างการปรึกษากับอธิบดีศาลอาญา
 
20 มกราคม 2559
 
นัดฟังคำพิพากษา

ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 11.00 น. อ่านคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) (5) ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ในฐานกฎหมายที่มีโทษหนักสุด กำหนดโทษ 9 ปี เนื่องจากการให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อทางพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี 
 
 
27 เมษายน 2560
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันนี้ เวลา 10.00 ที่ห้องพิจารณาคดี 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก จำเลยถูกนำตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อฟังคำพิพากษา โดยมีทนายจำเลยและพ่อของจำเลยมาด้วย 
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ตั้งแต่เวลา 9.30 และเริ่มอ่านคำพิพากษาทันที โดยเมื่อเริ่มอ่านมีเพียงจำเลยและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่อยู่ในห้องพิจารณา
 
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เชื่อว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้อง และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
 
 

ปิยะรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และได้โอกาสลดโทษและอภัยโทษตามวาระโอกาสต่างๆ ก่อนได้ปล่อยตัวประมาณเดือนตุลาคม 2563 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำสองคดี ประมาณ 5 ปี 10 เดือน
 

คำพิพากษา

20 มกราคม 2559
 
คำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
คำพิพากษาศาลอาญา 
 
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีผู้โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้อความประกอบลงในบัญชีเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า นายพงศธร บันทอน ปรากฏว่ามีชื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก 2 ชื่อ คือ นายพงศธร บันทอน (SIAMAID) และ นายพงศธร บันทอน ศาลรับฟังได้ว่าเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าวมี 2 ชื่อ ตามที่พยานปากนายธนิต ปภาตนันท์ เบิกความว่า การตั้งชื่อในเฟซบุ๊กสามารถใช้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และสามารถใช้รวมกันทั้งสองภาษาได้ 
 
เมื่อพิจารณาภาพพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความตามฟ้องแล้ว เห็นได้ชัดและเข้าใจได้ทันทีว่า เป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยถ้อยคำหยาบคายและเป็นเท็จ การโพสต์ข้อมูลดังกล่าวในเฟซบุ๊กซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ส่อแสดงเจตนาชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้ประชาชนทั่วไปรับทราบข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และการโพสต์ข้อมูลลงเฟซบุ๊ก เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) (4) ผู้โพสต์มีความผิดตามฟ้อง
 
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์มีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อกลางปี 2556 เข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ใช้ชื่อว่า "ของดีไทอีสาน" พบว่ามีภาพเฟซบุ๊กนายพงศธร บันทอน โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงร่วมกับสมาชิกชมรมสืบค้นข้อมูลโดยขอเป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับนายพงศธร บันทอน จนสามารถสืบข้อมูลต่างๆ ได้ และนำข้อความนั้นไปขอให้หน่วยปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบพบว่า ผู้โพสต์พักอาศัยอยู่ในเขตดอนเมือง จึงไปที่บ้านหลังนั้น เมื่อพบว่าบ้านปิดจึงรวบรวมเอกสารไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน พยานพบเห็นข้อความหมิ่นประมาทจากเฟซบุ๊กของนายพงศธรโดยตรง 
 
พยานโจทก์ปากนี้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับนายพงศธร บันทอน และสามารถตรวจสอบได้ด้วยว่า จำเลยมีเฟซบุ๊กซึ่งใช้ชื่อ Vincent Wang ด้วย ซึ่งตรงกับที่จำเลยเบิกความว่าเป็นชื่อเฟซบุ๊กของจำเลยอีกบัญชีหนึ่ง ทำให้พยานปากนี้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ 
 
โจทก์ยังมี พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ได้ตรวจสอบว่านายพงศธร เคยมีชื่อพักอาศัยอยู่ในเขตดอนเมืองจริง และถูกจำหน่ายชื่อออกไปเมื่อปี 2547 ทั้งจำเลยให้การในชั้นสอบสวนด้วยว่า เคยโพสต์ข้อความที่มีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาก่อน แต่ไม่ใช่ข้อความตามฟ้อง จึงเจือสมกับพยานโจทก์ว่า จำเลยเคยสวมบัตรประชาชนในชื่อนายพงศธร บันทอน และใช้เฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน ตั้งแต่ปี 2543-2544
 
พฤติการณ์ของจำเลยที่สวมตัวทำบัตรประชาชนในชื่อนายพงศธร บันทอน และระบุว่าพักอาศัยอยู่เขตดอนเมือง ทั้งที่ไม่ใช่ที่พักที่แท้จริง และไปใช้เฟซบุ๊กในชื่อนายพงศธร บันทอน ส่อแสดงเจตนาไม่สุจริตว่าประสงค์จะปกปิดมิให้บุคคลใดทราบว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความอันไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมายลงในเฟซบุ๊กบัญชีนั้น จำเลยย่อมทราบดีว่า การสวมตัวทำบัตรประชาชนเป็นความผิดอาญา มีโทษสูง ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะใช้เฟซบุ๊กชื่อนายพงศธร บันทอน เพียงประมาณปีเดียวตามที่กล่าวอ้าง 
 
ที่จำเลยนำสืบว่า ไม่ได้โพสต์ข้อความตามฟ้อง เมื่อปี 2557 คนรักของจำเลยแจ้งว่ามีภาพปรากฏบน search engine จำเลยตรวจสอบดูและส่งอีเมล์แจ้งให้กูเกิ้ลช่วยลบ ก็ไม่ปรากฎว่าภาพตามฟ้องอยู่ใน search engine ตามที่จำเลยอ้าง และจำเลยก็ไม่ได้นำตัวคนรักมาเป็นพยาน โดยไม่ปรากฏเหตุอันสมควร และจำเลยเพิ่งแจ้งกูเกิ้ลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 หลังเกิดเหตุเกือบ 1 ปี การโพสต์ข้อความที่เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเป็นความผิดร้ายแรง มีโทษสูง แต่จำเลยกลับไม่แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ก็เป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ข้ออ้างอื่นๆ ก็ขัดต่อเหตุผล 
 
พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอจะหักล้างพยานโจทก์ได้ กรณีรับฟังได้จากพยานโจทก์โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องในเฟซบุ๊กของจำเลย ที่ใช้ชื่อนายพงศธร บันทอน จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) (5) ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยตามมาตรา 112 อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุดเพียงบทเดียว ลงโทษจำคุก 9 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษใหจำเลยหนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี

 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์สามคนที่เป็นผู้กล่าวหาต่างเปิดเฟซบุ๊ก พบภาพเป็นลักษณะสี่ภาพย่อย มาประกอบเป็นภาพเดียว พยานโจทก์ดังกล่าว ต่างพบเห็นภาพในคดีนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กบัญชีผู้ใช้ของบุคคลอื่น มิใช่เฟซบุ๊กของจำเลย แม้โจทก์จะมี อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ เบิกความว่า ได้เข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี พงศธร บันทอน และพบเห็นภาพในคดีนี้โดยแคปหน้าจอไว้ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นภาพเต็มหน้าจอ กับไม่มี URL ให้สืบค้นแหล่งที่มา ทั้งพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ภาพดังกล่าวเป็นลักษณะสี่ภาพ นำมาเรียงเป็นภาพเดียว ด้านบนสองภาพ และด้านล่างสองภาพ มิได้มีลักษณะเรียงเป็นแนวดิ่ง ซึ่งเป็นการโพสต์โดยปกติ แสดงว่าภาพในคดีนี้ไม่ได้แชร์ต่อกันจากผู้โพสต์คนแรกโดยตรง แต่มีผู้รวบรวมขึ้นภายหลัง 
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพที่ถูกโพสต์ในคดีนี้ ส่วนที่เป็นใบหน้าของจำเลยตรงกับภาพที่ปรากฏในหน้าบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยเอง ตามที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองไว้
 
เมื่อเดือนมีนาคม 2544 จำเลยใช้ชื่อทองจันทร์ บันทอน ขอออกบัตรประชาชนใหม่ แล้วขอเปลี่ยนชื่อเป็นพงศธร ซึ่งไม่ใช่ชื่อที่แท้จริงของจำเลย อันเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยมิได้ปรากฏเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆ เห็นได้ว่ามีเจตนาที่จะปกปิดตนเอง เพื่อกระทำการบางอย่างโดยมิชอบ
 
คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย จำเลยยอมรับว่า ประกอบอาชีพเขียนโปรแกรมแอนดรอยด์ จำเลยทราบว่ามีผู้เข้าไปใช้เฟซบุ๊กของจำเลย แต่ไม่สนใจและไม่ได้เปลี่ยนรหัสผ่าน ไม่ไปแจ้งต่อตำรวจ เพียงแต่แจ้งไปยังเฟซบุ๊กและกูเกิลเพื่อให้ลบภาพที่ไม่เหมาะสมออก โดยจำเลยยังคงใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นประจำ พิจารณาถึงอาชีพของจำเลยที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจการใช้เฟซบุ๊กเป็นอย่างดี จำเลยอ้างว่ามีผู้อื่นเข้ามาใช้เฟซบุ๊กของจำเลย อันเป็นการเบิกความลอยๆ และง่ายต่อการกล่าวอ้าง เป็นที่ผิดปกติวิสัย
 
ตามที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า เคยแจ้งไปยังเฟซบุ๊กและกูเกิลให้ลบภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสมออก แต่ยังเหลือข้อความในคดีนี้ ยิ่งไม่สมเหตุสมผลว่าเหตุใดจึงลบออกไม่ได้ อีกทั้งการแจ้งกูเกิลให้ลบออกยังเกิดขึ้น หลังการแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยแล้ว
 
ส่วนการตรวจพิสูจน์เครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่ยึดมาจากจำเลย ไม่พบประวัติการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กพงศธร บันทอน และภาพพระบรมฉายาลักษณ์นี้ ก็เพราะการตรวจยึดเกิดขึ้นหลังเวลาเกิดเหตุถึงหนึ่งปีเศษ จำเลยย่อมไม่เก็บพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้กับตัว ดังนั้น แม้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของจำเลย แต่พยานหลักฐานโจทก์ที่วินิจฉัยมามีน้ำหนักเพียงพอชี้ให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความตามฟ้อง โดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อพงศธร บันทอน
 
ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา