ธนพร : หมิ่นประมาททหารเฮลิคอปเตอร์ตก

อัปเดตล่าสุด: 07/11/2560

ผู้ต้องหา

ธนพร

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ธนพรถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความซ้ำเติมเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของรองแม่ทัพภาคที่ 3 ตก ที่จังหวัดพะเยา ประกอบกับภาพชู 3 นิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่คนบางกลุ่มใช้ต่อต้านรัฐประหาร ผ่านทางเฟซบุ๊คที่ชื่อว่า “Suvachai Tanasiri” 
 
หลังเกิดเหตุ ธนพรถูกจับที่ที่ทำงานในวันที่ 4 ธันวาคม 2557 และถูกนำตัวไปสอบถามที่ค่ายทหารเป็นเวลา 7 วันก่อนจะถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)เพื่อตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตาย
 
ในเดือนตุลาคม 2558 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องธนพรต่อศาลอาญา ศาลนัดสืบพยานคดีนี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2559
 
ในวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ศาลอาญามีคำพิพากษาว่าธนพรมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยแม้จำเลยจะไม่ได้เล่าอย่างจำเพาะเจาะจงว่าผู้ตายไม่ดีอย่างไร แต่การพูดเปรียบของจำเลยสามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าผู้เสียชีวิตเป็นคนไม่ดี จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายและเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พิพากษาจำคุกสองปี ปรับ 100,000 บาทแต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้สองปี
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ธนพร เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ธนพรโพสต์ข้อความซ้ำเติมเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของรองแม่ทัพภาคที่สามตกระหว่างเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่บนเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อตัวผู้ตายและครอบครัวผู้ตาย เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

พฤติการณ์การจับกุม

ธนพร ถูกจับเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่สถานที่ทำงาน โดนเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเหตุผลในการจับกุม แต่ข้อมูลจากสื่อคาดว่ามาจากการโพสต์ภาพชู 3 นิ้ว และเขียนข้อความซ้ำเติมเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของรองแม่ทัพภาคที่ 3 ตก 

ธนพรถูกพาตัวไปที่ค่ายทหาร หลังจากนั้นจึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่สโมสรตำรวจ หลักสี่ ก่อนที่จะถูกพาตัวมาสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.3061/2558

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

4 ธันวาคม 2557

แนวหน้าออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวธนพรไว้ดำเนินคดี จากการโพสต์ภาพชู 3 นิ้ว และเขียนข้อความซ้ำเติมเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของรองแม่ทัพภาคที่ 3 ตก ที่จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557  

9 ธันวาคม 2557  

ธนพรถูกสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
ก่อนได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวนโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์
 
29 ตุลาคม 2558

พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องธนพรต่อศาลอาญา แม่ของธนพรใช้โฉนดที่ดินมูลค่ากว่า 132,500 บาท ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยยื่นประกันตั้งแต่ช่วงเช้า ในช่วงบ่าย ประมาณ 14 นาฬิกาเศษ ศาลอาญามีคำสั่งให้ประกันตัวธนพร
 
8 กุมภาพันธ์ 2559
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ห้องพิจารณาคดี 809 ศาลอาญา ธนพรกับญาติและทนายความมาถึงในช่วง 13.00 น. จากนั้นศาลเริ่มพิจารณาคดี โดยก่อนเริ่ม ทนายของธนพรปรึกษากับอัยการเรื่องขอให้มีนัดสมานฉันท์ ซึ่งอัยการไม่คัดค้าน ต่อมาศาลขึ้นบัลลังก์ถามคำให้การธนพร ธนพรให้การปฏิเสธ และทนายขอแถลงเรื่องให้มีนัดไกล่เกลี่ยสมานฉันท์กับโจทก์ผู้เสียหาย  แต่ศาลให้ตรวจพยานหลักฐานไปก่อน และหากจะนัดไกล่เกลี่ยสมานฉันท์ค่อยนัดกันอีกที ซึ่งศาลมีระบบนี้อยู่แล้ว 
 
ต่อมาอัยการยื่นพยานหลักฐานเป็นเอกสาร 12 ฉบับ และแผ่นซีดี 1 แผ่น และทนายของธนพรก็ยื่นพยานหลักฐานเช่นกัน และแถลงขอสืบพยานบุคคล 4 ปาก โดยหนึ่งในสี่ปากนั้น เป็นสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวนั้นออกไป 
 
พร้อมแถลงแนวทางการต่อสู้คดีนี้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพจเฟซบุ๊กที่นำมาแจ้งความนั้นไม่ใช่ของธนพรและข้อความที่โจทก์ฟ้อง ไม่เป็นข้อความหมิ่นประมาทฯ  ขณะที่อัยการแถลงขอสืบพยานทั้งหมด 16 ปาก 
 
และนัดวันสืบพยานวันที่ 11-14 ตุลาคม 2559  ซึ่งภายหลังพิจารณาคดีเสร็จสิ้น ธนพรและทนายไปติตต่อ เพื่อขอนัดไกล่เกลี่ยสมานฉันท์กับโจทก์ที่ศูนย์ประนอมข้อพิพาท โดยกำหนดวันที่ 31 พฤษภาคม 2559  
 
11 ตุลาคม 2559
 
สืบพยานโจกท์
 
เวลา 9.30 น. ศาลเริ่มจากไกล่เกลี่ยคดี โดยการอธิบายและโน้มน้าวให้จำเลยรับสารภาพเพื่อที่ศาลจะได้พิจารณาลงโทษสถานเบา แต่ทนายความฝ่ายจำเลยและจำเลยได้ปรึกษากันแล้วเห็นตรงกันว่า จำเลยไม่สามารถรับสารภาพได้ เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อีกทั้งยังไม่มีข้อกฎหมายที่นำมาเทียบเคียงกับการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดได้ ฝ่ายจำเลยจึงยืนยันขอต่อสู้คดีเพื่อความเป็นธรรม เมื่อจำเลยไม่ยอมรับสารภาพ ศาลจึงเริ่มการสืบพยาน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง: สรสิช ทองจีน ผู้เสียหายที่หนึ่ง
 
สรสิชเบิกความว่า เป็นลูกชายของพลตรีทรงพล ทองจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก โดยพยานได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำเลยได้โพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาท ซึ่งมีข้อความว่า "เสียดายตายแค่เจ็ดน่าจะตายสักห้าพัน แผ่นดินจะได้สูงขึ้น" และข้อความที่สองว่า "ขอแสดงความสะใจต่อไปลูกมึงจะไม่มีพ่อ เมียมึงจะเป็นม่าย พ่อแม่พวกมึงจะขาดไร้อุปการะ ขอให้ครอบครัวพวกมึงจงทุกข์ตลอดไป" 
 
ซึ่งข้อความดังกล่าวทำให้บุคคลทั่วไปที่เห็นข้อความเข้าใจว่า บิดาของพยานเป็นคนไม่ดีและสมควรตาย ทั้งที่บิดาของพยานเป็นข้าราชการที่ดีและเสียชีวิตในขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่
 
ข้อความดังกล่าว เพื่อนของพยานเป็นผู้คัดลอกหน้าจอภาพข่าวมาให้พยานดูในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ช่วงเวลา 18.00 – 19.00 น. จากนั้น พยานจึงเข้าผ่านเฟสบุ๊กเพื่อไปดูข้อความดังกล่าวด้วยตัวเอง อีกทั้ง ผู้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทนั้น ไม่ได้ใช้ชื่อ สุวิชัย ธนศิริ แต่ใช้ชื่อ ธนพร อุดมสิน 
 
จากนั้นพยานจึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 6 ธันวาคม 2557 พร้อมกับผู้เสียหายอื่นๆ ทุกคน ให้ดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกับจำเลย 
 
สรสิช ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านว่า ในรายงานบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี พยานแจ้งข้อหาจำเลยว่า "นำข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์" แต่ไม่มีข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตาย
 
พยานเบิกความอีกว่า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว บิดาของตนก็ยังได้รับการยกย่องในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่จนถึงปัจจุบัน และยังได้รับความนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชาและบุคคลทั่วไปอยู่ นอกจากนี้ การโพสต์ข้อความดังกล่าวของจำเลย ไม่มีความคิดเห็นใดที่เชื่อข้อความของจำเลย แต่กลับปรากฎแต่ข้อความแสดงความเสียใจ ให้กำลังใจ พร้อมทั้งต่อว่าจำเลย และปรากฎข้อความยกย่องผู้ตายด้วยว่าเป็นฮีโร่ของคนไทยตลอดไป
 
สรสิช รับว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงใดที่ยืนยันว่า ผู้ตายเป็นคนเลว และปัจจุบันนี้ พยานและครอบครัวไม่ได้ถูกหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากบุคคลอื่น
 
เมื่ออัยการโจทก์ถามติง พยานให้การว่า แม้ตนจะไปร้องทุกข์ในข้อหานำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ แต่พยานก็ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนและร้องทุกข์ในข้อหาหมิ่นประมาทในวันเดียวกัน ซึ่งปรากฎอยู่ในเอกสารคำให้การชั้นสอบสวน
 
นอกจากนี้ เหตุที่ไม่มีบุคคลอื่นโพสต์แสดงความคิดเห็นสนับสนุนจำเลย เนื่องจากการสนับสนุนจะเป็นความผิดต่อกฎหมายและแสดงให้เห็นว่า การมีคนตายแค่เจ็ดน้อยเกินไป สมควรที่จะมีคนตายเพิ่มมากขึ้น เพื่อแผ่นดินจะได้สูงขึ้น
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง: พิมพ์สุรางค์ สุวรรณเจริญ ผู้เสียหายที่ สอง
 
พิมพ์สุรางค์เบิกความว่า เป็นภรรยาของพันเอกกิตติ สุววรณเจริญ หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก
 
พยานได้รับความเสียหายจากจำเลย เนื่องจากข้อความที่จำเลยโพสต์ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าสามีของพยานเป็นคนเลวและสมควรตาย โดยคำว่าแผ่นดินจะได้สูงขึ้นนั้น ทำให้พยานเข้าใจได้ว่า สามีของพยานเลว และน่าจะตายๆ ไปซะ แผ่นดินจะได้สูงขึ้น และพยานทำให้รู้สึกสะเทือนใจ พยานร้องไห้ตอนเบิกความว่า รู้สึกสะเทือนใจ
 
พยานเบิกความว่า พบเห็นข้อความดังกล่าว เนื่องจากญาติคัดลอกหน้าจอที่มีการหมิ่นประมาทส่งมาให้ดู จากนั้นพยานจึงใช้บัญชีเฟซบุ๊กเข้าไปตรวจสอบด้วยตัวเอง และพบว่าบัญชีดังกล่าวชื่อ ธนพร 
 
พยาน ตอบคำถามทนายความถามค้านว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้เสียชีวิตไปแล้ว สามีของพยานก็ยังได้รับการยกย่องนับถือจากบุคคลรอบข้างเสมอ และข้อความของบุคคลอื่นที่แสดงความคิดเห็นต่อการโพสต์ของจำเลยนั้น เป็นไปในทางต่อว่ามากกว่าเห็นด้วย และส่วนใหญ่มาแสดงความเสียใจและยกย่องเชิดชูเป็นฮีโร่ และในฐานะภรรยา ข้อความที่ว่าจะทำให้แผ่นดินสูงขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้พยานคิดว่า สามีของพยานเป็นคนเลวแต่อย่างใด
 
เมื่ออัยการถามติง พยานเบิกความว่า หากบุคคลอื่นที่ไม่ได้รู้จักกับพยานและสามีมาก่อนก็อาจจะเข้าใจว่า สามีของพยานเป็นคนเลวได้ และเหตุที่ไม่มีใครแสดงความเห็นด้วยกับข้อความของจำเลยก็เพราะการสนับสนุนข้อความดังกล่าวเป็นความผิด
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม: นิตยา เพื่อนฝูง ผู้เสียหายที่สาม
 
นิตยาเบิกความว่า เป็นภรรยาของพันเอกยุทธพงศ์ เพื่อนฝูง หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก 
 
พยานได้รับความเสียหาย เนื่องจากข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการใส่ความว่า สามีของพยานเป็นคนไม่ดี เป็นคนเลว ไม่สมควรจะอยู่บนแผ่นดินนี้อีกต่อไป กระทบกับความรู้สึกของพยานและทำให้ครอบครัวของพยานถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีไปด้วย
 
นิตยาเบิกความว่า พบเห็นข้อความดังกล่าว เนื่องจากเพื่อนของพยานเป็นคนคัดลอกส่งมาให้ดูทางโทรศัพท์ จากนั้นพยานจึงใช้บัญชีเฟซบุ๊กเข้าไปตรวจสอบด้วยตัวเอง แต่พบว่าบัญชีดังกล่าวชื่อ SUVICHAI TANASISI
 
เจ้าหน้าที่ทหารเป็นคนติดต่อมาให้พยานไปดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งพยานได้เดินทางไปพร้อมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ
 
นิตยาตอบคำถามทนายความถามค้านว่า ข้อความที่พยานเห็นเป็นตอนที่เพื่อนเปิดให้ดูที่บ้านซึ่งตั้งอยู่เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และพยานไม่ได้ไปแจ้งสถานีตำรวจในพื้นที่ คนรอบตัวพยานไม่มีใครเชื่อข้อความตามที่จำเลยโพสต์ แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ได้รู้จักกับพยานและครอบครัวอาจเชื่อข้อความดังกล่าวก็ได้
 
สำหรับข้อความที่จำเลยโพสต์นั้น พยานเห็นว่า มีบุคคลอื่นมาแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในเอกสารของทนายจำเลย ไม่ปรากฎว่ามีข้อความใดที่แสดงความเห็นด้วยกับจำเลยเลย นอกจากนี้ บุคคลรอบตัวที่พยานรู้จักไม่มีใครแสดงความดูหมิ่นเกลียดชังต่อพยานและสามีของพยาน 
 
อย่างไรก็ดี พยานเบิกความว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่มีข้อเท็จจริงยืนยันว่าผู้ตายมีพฤติกรรมเป็นคนเลว
 
นิตยาตอบคำถามอัยการถามติงว่า หลักฐานที่บอกว่าไม่มีคนเห็นด้วยกับจำเลยนั้นอาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่สื่อของไทยรัฐ หากเป็นเฟสบุ๊กของจำเลยก็อาจจะมีคนเห็นด้วย และช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นช่วงที่บ้านเมืองแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ชื่นชอบทหารกับไม่ชื่นชอบทหาร ซึ่งพยานเข้าใจว่า หากเป็นฝ่ายที่ไม่ชอบทหารแล้วก็อาจจะเห็นด้วยกับข้อความที่จำเลยโพสต์
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่: ร้อยตรีกุลภาณุ สุระเสนา ผู้รับมอบอำนาจแทนผู้เสียหายที่ห้า
 
ร.ต.กุลภาณุเบิกความว่า พยานเป็นผู้รับมอบอำนาจจากสุรินทร์ สุระเสนา ผู้เสียหายที่ห้า ซึ่งเป็นมารดาของพันโทมานิต สุระเสนา หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก 
 
พยานได้พบข้อความของจำเลยเป็นการแชร์ภาพข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งทำให้พยานรู้สึกว่าข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นผู้ตายว่าเป็นคนไม่ดีและสมควรตายแผ่นดินจะได้สูงขึ้น ทั้งๆ ที่ ผู้ตายเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต การโพสต์ข้อความของจำเลยจึงทำให้ผู้ตายและมารดาเสื่อมเสีย ถูกบุคคลอื่นมองว่าเป็นคนไม่ดี 
 
พยานเป็นผู้พบเห็นข้อความดังกล่าวเนื่องจากเพื่อนของพยานได้คัดลอกหน้าจอให้ดู และพยานจึงได้บอกแก่ สุรินทร์ สุระเสนา ผู้เสียหายที่ห้า และได้มอบอำนาจให้พยานแจ้งความร้องทุกข์พร้อมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ
 
ร.ต.กุลภาณุตอบคำถามทนายความถามค้านว่า เป็นหลานของพันโทมานิต ซึ่งพันโทมานิตเป็นข้าราชการที่ดีซื่อสัตย์สุจริตและได้รับการเคารพยกย่องจากผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เสียหายทราบเหตุที่จังหวัดลพบุรีแต่ไม่ได้แจ้งความต่อตำรวจในท้องที่ ในเอกสารการแจ้งความระบุเพียงข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่มีข้อหาอื่น ส่วนในบันทึกคำให้การก็มีเพียงการแจ้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่และข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
 
ทั้งนี้ ในบันทึกคำให้การไม่มีการบันทึกว่า พยานและครอบครัวได้รับความเสียหายอย่างไร รวมถึงพฤติการณ์การถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่พยานยืนยันว่า ตนและผู้เสียหายที่ 5 ได้รับความเสียหายจากการถูกดูหมิ่น เกลียดชังจากเพื่อนบ้าน เพียงแต่ตนจำชื่อเพื่อนบ้านคนดังกล่าวไม่ได้ และไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับเพื่อนบ้าน เพียงแต่ชี้แจงความจริงให้เพื่อนบ้านบางคนทราบข้อเท็จจริง
 
แต่จากเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดูหลักฐานการโพสต์ข้อความของจำเลย เมื่อพยานดูแล้ว พยานก็เบิกความว่า ข้อความที่ปรากฎมีแต่ข้อความต่อว่าจำเลยและแสดงความเสียใจ รวมถึงยกย่องผู้ตาย
 
ร.ต.กุลภาณุ ตอบคำถามอัยการถามติงว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการใส่ร้ายบุคคลที่สามทำให้ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และทำให้เข้าใจว่าผู้ตายเป็นทหารที่เลวสมควรตายอันสร้างความเสื่อมเสียให้ สุรินทร์ สุระเสนา ผู้เป็นมารดาเสียหาย 
 
ตลอดการสืบพยานศาลจะไม่ให้ทนายจำเลยถามค้านบางคำถาม และขอให้ทนายจำเลยระมัดระวังการใช้คำถามอยู่ตลอดโดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้พยานในฐานะผู้เสียหายรู้สึกไม่ดี
 
12 ตุลาคม 2559
 
สืบพยานโจกท์ปากที่ห้า: พินันดา ชมเชียงคำ ผู้เสียหายที่ หก
 
พินันดาเบิกความว่า เป็นบุตรสาวของจ่าสิบเอกอนันต์ ชมเชียงขำ หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก 
 
โดยพยานได้พบข้อความของจำเลยจากการที่เพื่อนและญาติโทรศัพท์มาแจ้ง รวมถึงส่งข้อความทางเฟซบุ๊กมาบอก และเมื่อพยานทราบ พยานได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของตนเข้าไปตรวจสอบ พบบัญชีเฟสบุ๊กชื่อ SUVACHAI TANASIRI แชร์ภาพข่าวพร้อมเขียนข้อความในลักษณะหมิ่นประมาท ซึ่งทำให้บิดาของพยานเสียชื่อเสียง ถูกบุคคลอื่นมองว่าเป็นคนเลว ทำให้พยานต้องเสียหายไปด้วย ทั้งที่ บิดาของพยานเป็นคนดีและปฏิบัติราชการเช่นนี้ทุกปี
 
เมื่อพบเห็นข้อความดังกล่าว พยานได้เข้าร้องทุกข์เกี่ยวคดีนี้ในวันที่ 6 ธันวาคม 2557 พร้อมกับครอบครัวของทหารผู้เสียขีวิตคนอื่นๆ รวม 7 คน และให้การกับพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การที่โจทก์ส่งให้ศาล ทั้งนี้ ข้อหาที่เข้าร้องทุกข์คือ หมิ่นประมาทและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอม
 
พินันดาตอบคำถามทนายความถามค้านว่า บิดาของพยานเป็นคนดีและมีคุณูปการกับกองทัพบก และทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ โดยพยานได้ทราบคดีนี้ที่จังหวัดพิษณุโลกแต่ไม่ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่
 
เมื่อพยานดูข้อความที่จำเลยโพสต์ ก็เบิกความว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ว่าบิดาของพยานเป็นคนเลว
 
นอกจากนี้ พยานเบิกความว่า ครอบครัวรู้ดีว่าบิดาของพยานเป็นคนดี แต่ก็มีบุคคลมาสอบถามเรื่องดังกล่าว และพอพยานไปอ่านการแสดงความคิดเห็นในสื่ออนไลน์อื่นๆ ก็พบว่ามีทั้งบุคคลที่แสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ไม่มีข้อคววามใดที่สะท้อนว่าบุคคลอื่นเห็นด้วยกับจำเลย
 
พินันดาตอบคำถามอัยการถามติงว่า ถ้ามีคนแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกับจำเลย พยานก็จะดำเนินคดี
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หก: จิรัฎฐวัฒน์ มาลัยวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจแทนผู้เสียหายที่เจ็ด 
 
จิรัฎฐวัฒน์เบิกความว่า เป็นพี่ชายของจ่าสิบเอกสมภพ มาลัยวงศ์ หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก และได้รับมอบอำนาจจาก วิเชียร มาลัยวงศ์ มารดาของทั้งสองเพื่อดำเนินการร้องทุกข์
 
พยานได้พบข้อความของจำเลยจากการที่ภรรยาของจ่าสิบเอกสมภพเป็นผู้คัดลอกและส่งให้พยานดู ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะสาปแช่งทำให้พยานเข้าใจว่า ผู้ตายเป็นคนเลว อยู่ไปก็หนักแผ่นดิน ตายไปได้ก็ดี และทำให้ครอบครัวและมารดาเสียหายถูกมองว่าไม่ดีและถูกดูหมิ่น พยานได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยในวันที่ 6 ธันวาคม 2559 และให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน
 
จิรัฎฐวัฒน์ตอบคำถามทนายความถามค้านว่า ข้อความของบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่อโพสต์ของจำเลย เท่าที่ทราบไม่มีข้อความใดเห็นด้วยกับจำเลย นอกจากนี้ ยังเป็นข้อความที่แสดงความเสียใจและยกย่องผู้ตายไม่ได้เห็นด้วยกับจำเลย
 
พยานเบิกความว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นไปทางสาปแช่งและการกระทำที่ไม่สมควร แต่ข้อความดังกล่าวไม่ได้บอกว่า ผู้ตายเป็นคนเลวอย่างไร และจากคำให้การก็ไม่มีข้อความว่าพยานและภรรยาผู้ตาย หรือมารดาของผู้ตายถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากผู้ใดและอย่างไร
 
นอกจากนี้ ในเอกสารคำให้การ พยานดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ ไม่มีข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณา
 
จิรัฎฐวัฒน์ตอบคำถามอัยการถามติงว่า แม้ไม่มีข้อความว่าเป็นคนเลวอย่างไร แต่ก็เข้าใจได้ว่าผู้ตายเป็นคนเลว ถ้าตายไปแล้วแผ่นดินจะได้สูงขึ้น และที่ไม่มีคนเห็นด้วยเพราะเป็นการแชร์ข่าวจากไทยรัฐหากเป็นสื่ออื่นก็อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด: ร.ต.ปรัชญา จันรอดภัย ผู้จับกุมจำเลย
 
ร.ต.ปรัชญา เบิกความว่า รับราชการอยู่ที่กองพันทหารม้าที่ 19 ตำแหน่งผู้บังคับหมวดทหารม้าลาดตระเวนและมาปฏิบัติหน้าที่กองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดสมุทปราการ ตามกฎอัยการศึกของคสช.
 
พยานให้การว่า ได้รับคำสั่งและข้อมูลจากผู้บังคับบัญชาวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ว่า มีบุคคลโพสต์ข้อคามเหยียดหยามจากเหตุการณ์เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกที่จังหวัดพะเยา โดยผู้บังคับบัญชาได้มอบรูปภาพซึ่งคัดคอกจากโปรแกรมเฟซบุ๊กให้พร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ และที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว 
 
เมื่อทราบว่าบุคคลดังกล่าวทำงานอยู่ธนาคารออมสิน สาขาสีลม พยานก็ได้เดินทางไปเพื่อเชิญตัวบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อซักถามตอนเวลา 9 โมงเช้า ในวันที่ 3 ธันวาคม จากนั้นก็พาตัวมาที่กองพลทหารม้าที่ 2 สนามเป้าและขออนุญาตเก็บโทรศัพท์เคลื่อนของจำเลยพร้อมกับทำบันทึกการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย รวมถึงจัดทำบัญชีรายการวัตถุพยานของกลาง
 
และเมื่ออัยการได้นำข้อความที่จำเลยโพสต์มาให้ดู พยานก็ให้การว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต
 
เมื่อทนายความถามว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์บุคคลในกองทัพจะเชื่อถือหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ แต่ตนไม่เชื่อข้อความดังกล่าว 
 
พยานได้เล่าถึงพฤติการณ์การจับกุมว่า ตนและพวกรวม 5 คน แต่งกายเครื่องแบบทหารไปเชิญตัวจำเลยโดยไม่มีอาวุธ แต่หลักฐานของฝ่ายจำเลยมีภาพที่บุคคลรอบตัวถืออาวุธ แต่พยานก็บอกว่า ปืนดังกล่าวอยู่ในรถ 
 
นอกจากนี้ ทนายความได้ให้พยานดูบัญชีท้ายกฎอัยการศึกและถามว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจพยานควบคุมตัวบุคคลตามข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายใช่หรือไม่ แต่พยานเบิกความว่า ไม่ทราบ ตนปฏิบัติตามคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาซึ่งเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่แปด: พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร เบิกความว่า รับราชการอยู่ที่กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยในคดีนี้เป็นผู้ทำสำนวนฟ้องคดี
 
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร เล่าว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2557 พนักงานสอบสวนจากกองปราบฯ ได้นำตัวผู้ต้องหามามอบตัวให้ พร้อมกับเอกสารการสอบปากคำผู้เสียหายทั้งเจ็ดปาก โดยผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
เมื่อพยานได้รับมอบตัวจำเลยแล้ว พยานจึงแจ้งข้อหา ข้อเท็จจริงและสิทธิผู้ต้องหากับจำเลย แต่จำเลยให้การปฏิเสธและไม่ประสงค์จะให้การในชั้นสอบสวน โดยจะขอปรึกษาทนายความก่อน แล้วจึงจะมาให้การเพิ่มเติมในภายหลัง ต่อมาเมื่อรวบรวมหลักฐานทั้งหมดแล้ว พยานได้ทำความเห็นสั่งฟ้องจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณา และสั่งไม่ฟ้องข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ 
 
พยานเบิกความเพิ่มเติมอีกว่า ข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณานั้น พยานได้พิจารณาจากข้อความที่จำเลยโพสต์และทำให้เข้าใจได้ว่า ผู้ที่เสียชีวิตเป็นคนไม่ดี เมื่อตายแล้วแผ่นดินจะสูงขึ้นอันเป็นการเหยียดหยามผู้ตาย
 
เมื่อทนายจำเลยถามค้าน เรื่องอำนาจสอบสวน พยานเบิกความว่า ในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พยานต้องประสานไปยังพนักงานสอบสวนท้องที่ แต่คดีนี้เหตุที่พยานไม่ติดต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ที่รับผิดชอบเพราะมีการดำเนินการร้องทุกข์จำเลยใน 2 ข้อหา ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และพนักงานสอบสวนตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีอำนาจทั่วราชอาณาจักร
 
อย่างไรก็ดี พยานเบิกความว่า เอกสารคำให้การของผู้เสียหายไม่ได้อธิบายว่า ผู้ตายเสียหายอย่างไรและไม่ปรากฎข้อความว่า ผู้เสียหายทั้งเจ็ดถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากใครและอย่างไร และพยานก็ไม่ได้สอบคำให้การผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพิ่ม นอกจากนี้ ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฎด้วยว่าผู้ตายมีพฤติกรรมอย่างไร เป็นคนไม่ดีอย่างไร เมื่อตายแล้วแผ่นดินจะได้สูงขึ้น 
 
แต่พยานก็ยังยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวเป็นคำโบราณ การพูดว่าเมื่อตายแล้วแผ่นดินจะได้สูงขึ้นก็เป็นการพูดใส่ความทหารว่าเป็นคนเลว และเหตุที่ไม่มีรายละเอียดความเสียหายว่าถูกดูหมิ่นอย่างไรนั้น พยานเห็นว่าข้อหาหมิ่นประมาทเพียงแต่มีการใส่ความต่อหน้าบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายก็เพียงพอแล้ว
 
13 ตุลาคม 2559
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง: ธนพร จำเลยในคดีเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง 
 
ธนพร เป็นจำเลยในคดีนี้ และขึ้นเบิกความในฐานะพยานเพียงปากเดียว โดยทนายความได้นำสืบว่า เหตุที่พยานพิมพ์ข้อความว่า "เสียดายต่ายแค่เจ็ด น่าจะตายสักห้าพันแผ่นดินจะได้สูงขึ้น" นั้น เป็นเพราะพยานเคยเข้าร่วมการชุมนุมในเดือนเมษายน ปี 2553 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าสลายการชุมนุมโดยใช้กระสุนจริงและกระสุนยาง จนมีผู้เสียชีวิต 80 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้พยานคิดว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์วันนั้นยังมากกว่าความสูญเสียของผู้เสียหายในครั้งนี้
 
ในการสลายการชุมนุมครั้งนั้น พยานได้เห็นผู้เข้าร่วมชุมนุมบางรายเสียชีวิตต่อหน้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ วสันต์ ภู่ทอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนปืนยิงที่ศีรษะจนสมองไหล โดยพยานเห็นภาพชายไทยผิวสองสีกะโหลกเปิดขึ้นและมีสมองไหลเสียชีวิตต่อหน้า และยังมี ฮิโรยูกิ ซึ่งเป็นนักข่าวรอยเตอร์ และชายไทยอีกสองคน ต้องเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งบางกรณีศาลได้มีคำสั่งระบุแล้วว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร
 
นอกจากนี้ พยานยังได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนยางที่หน้าอก 1 นัด และสีข้างอีก 1 นัด ทำให้เนื้อบางส่วนหลุดหายไปจนปัจจุบันยังมีแผลเป็นอยู่ และจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้พยานเกลียด กลัว เมื่อต้องพบเจอหรือเข้าใกล้เจ้าหน้าที่ทหาร เพราะทำให้นึกถึงการตายของผู้ชุมนุมในครั้งนั้น และเป็นเหตุผลให้พยานโพสต์ข้อความดังกล่าว ภายหลังการเผยแพร่ข้อความก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในทางต่อว่าพยานเช่นกัน
 
พยานให้การอีกว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหารไม่มีการสอบข้อเท็จจริง มีเพียงทหารมาต่อว่าและท้าทายว่า เก่งนักหรือ คิดว่าแน่ใช่ไหม ซึ่งพยานคิดว่า เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาควบคุมตัวพยานเพื่อให้หลาบจำ
 
อย่างไรก็ดี หลังเกิดเหตุในคดีนี้ พยานได้พยายามติดต่อญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด แต่ติดต่อได้บางท่าน เพราะพยานต้องการขอโทษและสำนึกในการกระทำที่ทำไปแล้ว และเสนอไกล่เกลี่ยกับญาติเกี่ยวกับการลงโฆษณาขอโทษ
 
เมื่ออัยการถามค้าน พยานตอบว่า พยานไม่ทราบเลยว่า ทหารที่สลายการชุมนุมเป็นเจ้าหน้าที่จากบูรพาพยัคฆ์และกองทัพภาคที่ 1 และไม่ทราบว่ามาจากกองทัพภาคที่สามหรือไม่ นอกจากนี้ยังไม่ทราบด้วยว่าศาลพิพากษาเกี่ยวกับการตายของฮิโรยูกิว่ากระสุนความเร็วสูงนั้นมาจากฝ่ายใด
 
แต่เมื่อทนายความจำเลยถามติง พยานให้การว่า ตามความรับรู้ของพยาน ฮิโรยูกิเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารเนื่องจากในวันเกิดเหตุฮิโรยูกิถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงซึ่งเป็นอาวุธประจำการของเจ้าหน้าที่ทหาร
 
17 พฤศจิกายน 2559
 
ทนายจำเลยยื่นคำแถลงปิดคดี
 
คำแถลงปิดคดีของจำเลยสรุปได้ว่า ข้อความที่จำเลยได้แชร์ภาพข่าวจากเพจเฟซบุ๊กของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์นั้น ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากเป็นเพียงการกล่าวเปรียบเทียบที่เลื่อนลอยและคาดคะเนเอาเองของจำเลยโดยไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง ว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตเป็นคนเลวหรือสมควรตายอย่างไร และถ้อยคำตามฟ้องก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงอีกว่า จำเลยได้เผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตเป็นคนเลวหรือสมควรตาย นอกจากนี้ คำว่าแผ่นดินจะสูงขึ้น เป็นเพียงคำเปรียบเปรยอันเป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นจริงได้ ซึ่งมิได้เป็นข้อความที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อญาติของผู้เสียชีวิต 
 
ตลอดข้อความที่จำเลยโพสต์นั้น เป็นเพียงข้อความในทำนองสมน้ำหน้า ซ้ำเติมผู้ตาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในทางศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องแต่อย่างใด
 
ส่วนกรณีที่ภรรยา หรือบุตร รวมถึงบิดามารดาของผู้ตายได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า บุคคลดังกล่าวถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หรือน่าจะถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอย่างไร ในทางกลับกัน กลับเห็นว่าบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่อโพสต์ของจำเลยเป็นในเชิงต่อว่าและแสดงความเห็นใจต่อผู้ตายและญาติของผู้ตายเสียมากกว่า
 
สุดท้ายนี้ จำเลยได้เรียนต่อศาลว่า การพิจารณาข้อความตามฟ้องว่าหมิ่นประมาทหรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆ ไป มิใช่การพิจารณาถึงความรู้สึกของผู้เสียหายแต่ฝ่ายเดียวดังที่เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกามาก่อน
 
8 ธันวาคม 2559 
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เวลาประมาณสิบนาฬิกา ที่ห้องพิจารณาคดี 913 ศาลอาญารัชดา ศาลนัดธนพรฟังคำพิพากษา ในวันนี้นอกจากธนพรและทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแล้วก็มีแม่ของธนพรเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย 
 
หลังศาลขึ้นบัลลังก์ก็อ่านคำพิพากษาให้ธนพรฟังทันทีโดยศาลมีคำพิพากษาว่าธนพรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 327 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุกสองปี ปรับ 100,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้หนึ่งปี หลังอ่านคำพิพากษาจบ ศาลบอกกับธนพรว่าหากไม่พอใจคำพิพากษาก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ขณะที่แม่ของธนพรก็นำเงิน 100,000 บาท ไปชำระค่าปรับต่อศาล
 
7 พฤศจิกายน 2560
 
ที่ศาลอุทธรณ์ รัชดา ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษา 'ธนพร' จากคดีโพสต์เฟสบุ๊กพาดพิงเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือ จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี โดยเห็นว่าการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นชอบแล้ว
 
แม้ว่าทนายฝ่ายจำเลย จะอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท และกระบวนการสอบสวนไม่ชอบ แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ทั้งนี้ ศาลไม่ได้พิจารณาประเด็นอุทธรณ์อื่นๆ ของฝ่ายจำเลย เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกระทำผิดจริงจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆ อีก
 
 
 

 

คำพิพากษา

8 ธันวาคม 2559

นัดฟังคำพิพากษา
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 913 ศาลอาญารัชดา ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกธนพรเป็นเวลาสองปีและปรับเป็นเงิน 100,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้สองปี 
 
ศาลวินิจฉัยว่า แม้ข้อความที่จำเลยโพสต์ในเฟสบุ๊กจะไม่ได้ให้รายละเอียดหรือข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายเป็นอย่างไร แต่การเปรียบเปรยว่า "น่าจะตายสักห้าพัน แผ่นดินจะได้สูงขึ้น" ก็เป็นการทำให้บุคคลทั่วไปทราบว่า ผู้เสียหายหรือผู้เสียชีวิตจากกรณีเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกเป็นผู้ทรยศต่อแผ่นดิน เป็นเสนียดของสังคม ทั้งที่ อาชีพททารเป็นอาชีพที่มีเกียรติและเสียสละควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ
 
การโพสต์ข้อความของจำเลยในลักษณะดังกล่าวเพียงพอแล้วที่จะครบองค์ประกอบความผิด ไม่ใช่แค่การกระทำที่ไม่เหมาะสมแต่เพียงอย่างเดียว และการใส่ความดังกล่าวก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ญาติของผู้เสียชีวิตได้รับความเสียหายจากการถูดูหมิ่นเกลียดชัง แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบว่ามีความเสียหายใดเกิดขึ้น
.
ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า เหตุที่โพสต์ข้อความเสียดสีผู้เสียชีวิตในกรณีเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกเกิดจากความโกรธแค้นที่เจ้าหน้าที่ทหารสลายการชุมนุมในปี 2553 และเห็นกับตาว่ามีบุคคลสามคนรวมทั้งผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นถูกทหารยิงจนเสียชีวิต รวมทั้งตัวจำเลยเองก็ถูกยิงจนได้รับบาดเจ็บนั้นฟังไม่ขึ้นเพราะไม่ปรากฎว่าจำเลยเป็นญาติกับผู้เสียชีวิต ทั้งเหตุการณืดังกล่าวก็เกิดขึ้นมากว่า 4 ปีแล้ว และไม่ปรากฎว่าผู้เสียหายหรือผู้เสียชีวิตจากกรณีเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมดังกล่าว
 
ส่วนเรื่องอำนาจการจับกุมที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าจับกุมจำเลยที่กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะคดีหมิ่นประมาทผู้ตายไม่ใช่กฎหมายที่อยู่ท้ายบัญชีตามประกาศกฎอัยการศึกนั้น เห็นว่ากฎอัยการศึกให้อำนาจเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ทหารจึงเป็นการจับกุมที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยจึงมีความผิด
 
7 พฤศจิกายน 2560
 
ที่ศาลอุทธรณ์ รัชดา ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษา 'ธนพร' จากคดีโพสต์เฟสบุ๊กพาดพิงเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือ จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี โดยเห็นว่าการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นชอบแล้ว
 
แม้ว่าทนายฝ่ายจำเลย จะอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท และกระบวนการสอบสวนไม่ชอบ แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ทั้งนี้ ศาลไม่ได้พิจารณาประเด็นอุทธรณ์อื่นๆ ของฝ่ายจำเลย เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกระทำผิดจริงจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆ อีก
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา