อัญชัญ: คลิปบรรพต

อัปเดตล่าสุด: 11/11/2565

ผู้ต้องหา

อัญชัญ

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

อัญชัญเป็นข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งและประกอบธุรกิจขายตรงบนอินเทอร์เน็ต เธอถูกทหารพร้อมอาวุธบุกเข้าจับกุมที่บ้าน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ "บรรพต" ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 29 ครั้ง เป็นความผิด 29 กรรม อัญชัญให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีในชั้นศาล

ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเป็นการกระทำผิดภายใต้กฎอัยการศึก อัญชัญถูกคุมขังอยู่ทัณฑสถานหญิงกลางอยู่เป็นเวลาสามปีกว่า ก่อนที่เธอจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เมื่อปลายปี 2561

ในเดือนกรกฎาคม 2562 หัวหน้า คสช .ออกคำสั่งฉบับที่ 9/2562 ให้โอนย้ายคดีของพลเรือนที่อยู่ในการพิจารณาของศาลทหารกลับไปอยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม ศาลอาญานัดพิจารณาคดีอัญชัญนัดแรกในเดือนมกราคม 2563 ต่อมามีการกำหนดนัดสืบพยานในเดือนธันวาคม ในการสืบพยานนัดแรกอัญชัญแถลงขอเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงให้ยกเลิกนัดสืบพยานทั้งหมด

วันที่ 19 มกราคม 2564 ศาลอาญาพิพากษาว่าอัญชัญมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1), (3), และ (5) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษจำคุกการกระทำกรรมละ 3 ปี รวม 29 กรรม จำคุก 87 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งลงโทษจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน คงจำคุก 29 ปี 174 เดือน เป็นคดีมาตรา 112 ที่วางโทษสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้

 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อัญชัญ เป็นข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง นอกจากงานประจำแล้วเธอยังประกอบธุรกิจขายตรงบนอินเทอร์เน็ตด้วย 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในคำฟ้องที่อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องอัญชัญ เป็นคำฟ้องความยาว 27 หน้า กล่าวหาอัญชัญว่า เป็นผู้นำคลิปเสียงของ “บรรพต” เข้าสู่เว็บไซต์ยูทูป 26 ครั้ง และเฟซบุ๊ก 3 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ถึง 24 มกราคม 2558 รวมทั้งหมด 29 ครั้ง จึงดำเนินคดีเป็นความผิด 29 กรรม

อัยการศาลทหาร ขอให้ศาลทหารพิากษาลงโทษอัญชัญ ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ...คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ไม่ระบุวงเล็บ จากการพร้อมขอให้ศาลสั่งริบอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ยึดไว้ทั้งหมดด้วย

 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 25 มกราคม 2558 อัญชัญ ถูกทหารนอกเครื่องแบบ 5 นาย และทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธปืนอีก 5 นาย จับกุมที่บ้านพัก มีเพื่อนของอัญชัญ อยู่ที่บ้านหลายคนขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมและตรวจค้นบ้านพัก

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารยึดทรัพย์สินของ อัญชัญ ไปตรวจสอบหลายรายการ ทั้งคอมพิวเตอร์ ไอแพด ไอโฟน และทรัพย์สินอื่นๆ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

120 ก./2558

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ, ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

พี่ชายและอดีตลูกน้องของ อัญชัญ ให้ข้อมูลว่า อัญชัญ เคยบอกญาติว่า เฟซบุ๊กของเธอถูกแฮค และที่ อัญชัญ ถูกดำเนินคดีน่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง  

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
25 มกราคม 2558
 
ทหารพร้อมอาวุธเข้าจับกุม อัญชัญที่บ้านพัก ขณะทำการจับกุมมีเพื่อนของอัญชัญอยู่ที่บ้านหลายคน โดยทหารควบคุมตัวอัญชัญไปเพียงคนเดียว
 
เวลาประมาณ 21.00 น. อดีตลูกน้องของอัญชัญ คนหนึ่ง ติดตามไปที่กรมสารวัตรทหารบก ตรงข้ามโรงพยาบาลรามา แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่มีการคุมตัว อัญชัญ ไปที่นั่นแต่อย่างใด 
 
30 มกราคม 2558
 
เวลาประมาณ 15.45 น. ดีเอสไอควบคุมตัว อัญชัญมาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขอฝากขังเป็นผลัดที่ 1 ซึ่งศาลอนุญาตตามคำร้อง
 
พี่ชายของอัญชัญ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นเงินสดจำนวน 400,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยระบุเหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเป็นการกระทำผิดภายใต้กฎอัยการศึก เกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก อัญชัญจึงถูกนำตัวไปฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
 
 

23 เมษายน 2558 

 

อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องอัญชัญ ต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นคำฟ้องความยาว 27 หน้า กล่าวหาอัญชัญว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ...คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ไม่ระบุวงเล็บ จากการนำคลิปเสียงของบรรพตเข้าสู่เว็บไซต์ยูปทูป รวมทั้งหมด 29 ครั้ง พร้อมขอให้ศาลสั่งริบอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ยึดไว้ทั้งหมดด้วย

 

 
28 กรกฎาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
ประชาไท รายงานว่า อัญชัญถูกควบคุมตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพเวลาประมาณ 8.30 น. ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาเวลาประมาณ 10.30 น. ได้ขึ้นบนบัลลังก์พิจารณาคดี อัยการทหารขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ ศาลพิจารณาจากคำฟ้องเห็นว่า มีข้อความที่ส่งผลกระทบกระเทือนทำให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท เสียหาย ไม่สมควรให้บุคคลอื่นเข้ามาฟังการพิจารณาคดี ศาลจึงสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับและสั่งให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาคดี 
 
ทนายจำเลยเปิดเผยหลังเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาว่า  ในการสอบคำให้การ ศาลอ่านข้อความทุกข้อความที่อัยการโจทก์สั่งฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาทั้งน้ำตา โดยระบุว่าตนไม่ได้ทำความผิด และขอต่อสู้คดี

ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 29 ตุลาคม 2558 อัยการยังไม่ระบุพยานบุคคลที่จะนำสืบ

29 ตุลาคม 2558

นัดสืบพยานโจทก์

ที่ศาลทหาร เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับทนายของอัญชัญว่า พยานโจทก์วันนี้ไม่มาศาล และอัยการขอเลื่อนสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 4 ธันวาคม 2558 

4 ธันวาคม 2558

นัดสืบพยานโจทก์ 

ทนายของอัญชัญเปิดเผยว่า ฝ่ายจำเลยขอเลื่อนการสืบพยานออกไปอีก 1 นัด เนื่องจากยังได้รับสำเนาคำให้การพยานชั้นสอบสวนไม่ครบ ศาลถามอัยการแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ในวันนี้ศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับโดยตลอดด้วย โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้อาจกระทบกระเทือนจิตใจคนในวงกว้าง

19 สิงหาคม 2559

นัดสืบพยานโจทก์

19 ตุลาคม 2559

นัดสืบพยานโจทก์

โจทก์แถลงว่า พยานที่นัดไว้ในวันนี้ไม่มาศาล เนื่องจากพยานมีงานราชการสำคัญเร่งด่วน ไม่อาจมาศาลได้ โจทก์ยังมีความประสงค์นำพยานปากนี้เข้าสืบ จึงขอเลื่อนไปสืบพยานต่อนัดหน้า ศาลให้เลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560

27 กุมภาพันธ์ 2560

นัดสืบพยานโจทก์

อัยการทหารโจทก์ นำพยานเข้าสืบหนึ่งปาก ระหว่างการสืบพยานปากนี้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่ม 7 รายการ ทนายจำเลยแถลงว่า มีคำถามที่จะต้องถามค้านพยานปากนี้เป็นจำนวนมาก จึงให้เลื่อนไปถามค้านในนัดหน้า วันที่ 29 พฤษภาคม 2560

29 พฤษภาคม 2560

นัดสืบพยานโจทก์

 

พยานโจทก์มาศาล เพื่อให้ทนายความจำเลยถามค้านต่อจากนัดที่แล้ว โจทก์แถลงว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ในวันนี้หมดเพียงเท่านี้ ศาลจึงให้นัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 22 สิงหาคม 2560 และนัดสืบพยานโจทก์เพิ่มอีกหนึ่งวันในวันที่ 13 กันยายน 2560

22 สิงหาคม 2560

นัดสืบพยานโจทก์

โจทก์นำพยานเข้าสืบหนึ่งปาก ตามที่นัดไว้ สืบพยานปากนี้เสร็จแล้วโจทก์แถลงหมดพยานที่นัดไว้ในวันนี้เพียงเท่านี้ นัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปวันที่ 13 กันยายน 2560

13 กันยายน 2560

นัดสืบพยานโจทก์

โจทก์แถลงว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้วันนี้ไม่มาศาล เนื่องจากไม่ทราบผลการส่งหมายและเหตุขัดข้อง โจทก์ยังมีความประสงค์ที่จะนำพยานปากนี้เข้าสืบจึงขอเลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปก่อน เพื่อสืบหาที่อยู่ใหม่ และส่งหมายเรียกพยานใหม่ โดยนัดหน้าขอนำพยานโจมก์ปากต่อไปเข้าสืบก่อน ศาลให้เลื่อนการสืบพยานออกไป เป็นวันที่ 25 มกราคม 2561 กับนัดสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 และ 20 มีนาคม 2561 ด้วย

25 มกราคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

พยานโจทก์ที่นัดไว้ในวันนี้มาศาล โจทก์นำพยานเข้าเบิกความ และทนายความจำเลยถามค้านไปจนเวลาใกล้เที่ยง ทนายจำเลยแถลงว่า ยังมีประเด็นที่จะถามค้านพยานปากนี้อีกจำเนวนมาก จึงให้เลื่อนไปสืบพยานปากนี้ต่อในนัดหน้า ตามที่ได้นัดหมายไว้แล้ว

19 กุมภาพันธ์ 2561

นัดสืบพยานโจทก์

พยานโจทก์ที่นัดไว้วันนี้มาศาล ทนายความจำเลยถามค้านพยานปากนี้ต่อจากนัดที่แล้ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 จนเสร็จ โจทก์แถลงว่า พยานโจทก์วันนี้มีเพียงเท่านี้ นัดหน้าขอนำพยานปากต่อไปเข้าสืบ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม

 

20 มีนาคม 2561

 

นัดสืบพยานโจทก์

 

พยานโจทก์ที่นัดไว้ในวันนี้มาศาล และเบิกความจนเสร็จ ทนายความจำเลยถามค้านจนถึงเวลา 11.45 . แล้วแถลงว่า ยังมีประเด็นที่จะต้องถามพยานปากนี้อีกเป็นจำนวนมาก จึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปให้ทนายความจำเลยถามค้านต่อในนัดหน้า คือ วันที่ 13 มิถุนายน 2561 พร้อมกำหนัดวันนัดสืบพยานโจทก์ต่ออีกสองวัน คือ 19 กรกฎาคม 2561 และ 9 สิงหาคม 2561

 

13 มิถุนายน 2561

 

นัดสืบพยานโจทก์

 

19 กรกฎาคม 2561

 

นัดสืบพยานโจทก์

 

พยานโจทก์ที่นัดไว้ในวันนี้มาศาลเพื่อให้ทนายความจำเลยถามค้าน การสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้น โจทก์แถลงหมดพยานที่นัดไว้ในวันนี้เพียงเท่านี้ และนำพยานปากต่อไปมาสืบในนัดหน้า

9 สิงหาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

พยานโจทก์ที่นัดไว้ในวันนี้มาศาล โจทก์นำพยานเข้าเบิกความเสร็จในเวลา 11.30 . ทนายจำเลยแถลงว่า ต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการถามค้านพยานปากนี้ และมีประเด็นต้องถามค้านพยานปากนี้เป็นจำนวนมาก จึงขอเลื่อนไปถามค้านในนัดหน้า ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานนัดหน้าเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 และกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์อีกสองนัด คือ วันที่ 18 ธันวาคม 2561 และ 24 ธันวาคม 2561

2 พฤศจิกายน 2561

ประชาไทรายงานว่า อัญชัญได้รับการประกันตัวโดยญาติวางหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินและพันธบัตรรัฐบาลมูลค่ารวม 500,000 บาท ศาลทหารกรุงเทพให้เหตุผลว่า

แม้โจทก์จะคัดค้านการประกันตัว แต่เมื่อพิจารณาหลักประกันแล้วน่าเชื่อถือ และเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

หลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวอัญชัญได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงค่ำวันเดียวกัน 

หากนับจากวันที่ 30 มกราคม 2558 ซึ่งอัญชัญถูกฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 อัญชัญจะถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสามปีเก้าเดือนเก้าวันหรือ 1,378 วัน


18 ธันวาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

พยานที่นัดไว้วันนี้มาศาล สืบพยานเสร็จหนึ่งปาก และเลื่อนออกไปสืบพยานปากต่อไปในนัดหน้า คือ วันที่ 24 ธันวาคม 2561 ตามที่นัดไว้เดิม


24 ธันวาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

พยานที่นัดไว้ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการจำเป็นเร่งด่วน ฝ่ายโจทก์ยังต้องการสืบพยานปากนี้ จึงให้เลื่อนออกไปสืบพยานปากนี้ในนัดหน้า และให้เลื่อนการสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 24 เมษายน 2562

24 เมษายน 2562

นัดสืบพยานโจทก์

พยานโจทก์ที่นัดไว้ในวันนี้ไม่มาศาล เนื่องจากไม่ทราบผลการส่งหมายเรียกพยาน ฝ่ายอัยการทหารโจกท์เห็นว่า พยานปากนี้เป็นพยานที่สำคัญ​ จึงขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานซ้ำไป ฝ่ายจำเลยไม่คัดค้าน ศาลบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาคดีว่า ขอให้โจทก์ติดตามพยานมาเบิกความต่อศาลให้ได้ เนื่องจากพยานปากนี้ไม่มาศาลหลายนัดแล้ว ไม่เป็นผลดีต่อจำเลย เพื่อการพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นธรรมต่อจำเลย และให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปเป็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2562

19 กรกฎาคม 2562

วันนี้ที่นัดไว้เดิม เป็นนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยและทนายความจำเลยมาศาล พยานที่นัดไว้ในวันนี้มาศาล โดยการพิจารณาคดียังคงเป็นการพิจารณาคดีลับ ในวันนี้ศาลสั่งงดการสืบพยาน เนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน และสั่งให้โอนคดีนี้ไปพิจารณาต่อที่ศาลพลเรือน

ในเวลาต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนูษยชนให้ข้อมูลว่าศาลอาญากำหนดวันนัดพร้อมคดีอัญชัญแล้วเป็นวันที่ 29 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น.

29 มกราคม 2563

นัดพร้อม

หลังคดีถูกโอนย้ายมาจากศาลยุติธรรม ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อพิจารณาว่ายังมีพยานปากใดที่ต้องนำสืบเหลืออยู่บ้างและจะนำสืบพยานดังกล่าวในประเด็นใด 

17 กุมภาพันธ์ 2563

นัดตรวจพยานหลักฐาน

คู่ความและศาลนัดวันสืบพยานได้ในเดือนธันวาคม 2563

15 ธันวาคม 2563

นัดสืบพยานวันแรก อัญชัญแถลงต่อศาลขอเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพและขออนุญาตศาลส่งคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ศาลอนุญาตและสั่งยกเลิกการสืบพยานทั้งหมดจากนั้นนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 19 มกราคม 2564

19 มกราคม 2564 

นัดฟังคำพิพากษา 

อัญชัญมาถึงศาลอาญาในเวลาประมาณ 9.00 น. ก่อนขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดี อัญชัญให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า เธอรู้สึกกดดัน แต่ก็หวังว่าศาลคงมีความเมตราบ้าง เพราะเธอก็เคยถูกคุมขังในเรือนจำมานานแล้ว และเธอก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดีโดยตลอดตั้งแต่ถูกจับกุมตัว 
 
เมื่ออัญชัญขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดี 809 ได้ครู่หนึ่งก็มีจำเลยคดีการชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 สองคนได้แก่เอกชัยและศรีไพร เดินมาให้กำลังใจอัญชัญครู่หนึ่งก่อนขอตัวกลับไปห้องพิจารณาคดีของตัวเอง ในวันนี้นอกจากอัญชัญและทนายแล้วยังมีญาติของอัญชัญ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสหพันธ์สิทธิมนุษยชนนานาชาติ FIDH มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลา 9.30 น. แต่ได้อ่านคำพิพากษาคดีอื่นจากนั้นจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีนี้เวลา 09.52 น. โดยศาลพิพากษา
ว่า อัญชัญมีความผิดจากการแชร์และอัพดหลดเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯและเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14 (1) (3) และ (5) ลงโทษจำคุกรวม 87 ปี (กรรมละ 3 ปี จำนวน 29 กรรม) แต่อัญชัญรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 29 ปี กับ 174 เดือน 
 
ทั้งนี้ระหว่างการอ่านคำพิพากษา ศาลไม่ได้อ่านว่าเนื้อหาที่อัญชัญแชร์และเป็นความผิดคืออะไร ศาลเพียงแต่อ่านว่าจำเลยกระทำความผิดในวันเวลาใดและเนื้อหาดังกล่าวจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าอะไร นอกจากนั้นในคำพิพากษายังระบุว่าอัญชัญเคยถูกคุมขังมาแล้ว 3 ปี 9 เดือนและเมื่อนำเวลาดังกล่าวมาหักลบอัญชัญจะถูกจำคุกต่อไปเป็นเวลานานเท่าใด
 
หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความของอัญชัญและพี่ชายของอัญชัญยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและสลากออมสินมูลค่า 1 ล้านบาทประกันตัวอัญชัญระหว่างอุทธรณ์คดี แต่ศาลอาญาให้ส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย ระหว่างรอคำสั่งประกันจากศาลอุทธรณ์อัญชัญจะถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
 
21 มกราคม 2564
 
ประชาไทรายงานว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องประกันตัวของอัญชัญ โดยให้เหตุผลว่า
 
ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง ประกอบกับจําเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทํานํามาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนผู้จงรักภักดี และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 29 ปี 174 เดือน ในชั้นนี้หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจําเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคําร้อง

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
คดีนี้มีการฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพเนื่องจากขณะนั้นมีประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 แต่ต่อมาหัวหน้าคสช.มีคำสั่งฉบับที่ 9/2562 ให้โอนคดีพลเรือนกลับมาพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม 
 
คดีนี้อัยการฟ้องคดีว่าอัญชัญกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวม 29 กรรม ด้วยการอัพโหลดและแชร์เนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท โดยที่เนื้อหาเหล่านั้นเป็นข้อมูลเท็จ และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท ในทางที่ผิด จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
 
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1), (3), และ (5) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษจำคุกการกระทำกรรมละ 3 ปี รวม 29 กรรม จำคุก 87 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งลงโทษจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน คงจำคุก 29 ปี 174 เดือน
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา