ธารา: โพสต์ไฟล์เสียงบรรพต

อัปเดตล่าสุด: 24/07/2561

ผู้ต้องหา

ธารา

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

อัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นโจทก์ในคดีนี้

สารบัญ

ธาราเอาลิงก์คลิปเสียงของบรรพตที่อาจมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาฝังไว้บนเว็บไซต์ www.okthai.com ที่เขาเป็นเจ้าของ เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 และต่อมาถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) (5)

เบื้องต้นเขาปฏิเสธ และต้องการต่อสู้คดีว่า เขาทำเว็บไซต์ด้านสุขภาพเพื่อหารายได้จากโฆษณา ซึ่งเขาเอาลิงก์คลิปเสียงมาใช้เพราะมีเรื่องสุขภาพอยู่ด้วย และไม่ได้ฟังทุกคลิปก่อนเอามาใช้ แต่ธาราไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และการสืบพยานใช้เวลานานกว่าหนึ่งปี ธาราจึงเปลี่ยนใจรับสารภาพ

ศาลทหารกรุงเทพ พิพากษาให้จำคุกกรรมละ 3 ปี 4 เดือน รวม 6 กรรม คิดเป็นโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ธาราเป็นชาว จ.นครปฐม อายุ 57 ปี ทำงานเป็นแคชเชียร์ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ธาราสนใจและเรียนรู้การทำเว็บไซต์ด้วยตนเองและขายยาสมุนไพรออนไลน์เป็นอาชีพเสริม เว็บไซต์ www.okthai.com เป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่ธาราทำขึ้นเพื่อหารายได้
 
ลูกชายของธารากล่าวว่า บิดาไม่ใช่คนที่สนใจติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด และไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับฝ่ายใดมาก่อน
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ธาราโพสต์ลิงก์เชื่อมไปสู่คลิปเสียงของ “บรรพต” ที่อาจมีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง ลงในเว็บไซต์ www.okthai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ธาราใช้โฆษณาขายสินค้าออนไลน์ 

อัยการศาลทหารกรุงเทพฟ้องธาราในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 6 กรรม ดังนี้

คลิปเสียงที่ 1 ใช้ชื่อว่า "๊Uncle 393" ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ถึง 25 มกราคม 2558 ลงบนเว็บไซต์ www.okthai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของจำเลย โดยคลิปดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ www.mediafire.com ให้สามารถฟังหรือดาวน์โหลดคลิปดังกล่าวได้

คลิปเสียงที่ 2 ใช้ชื่อว่า "๊Uncle 394" ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 ถึง 25 มกราคม 2558 ลงบนเว็บไซต์ www.okthai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของจำเลย โดยคลิปดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ www.mediafire.com ให้สามารถฟังหรือดาวน์โหลดคลิปดังกล่าวได้

คลิปเสียงที่ 3 ใช้ชื่อว่า "๊Uncle 395" ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ถึง 25 มกราคม 2558 ลงบนเว็บไซต์ www.okthai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของจำเลย โดยคลิปดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ www.mediafire.com ให้สามารถฟังหรือดาวน์โหลดคลิปดังกล่าวได้

คลิปเสียงที่ 4 ใช้ชื่อว่า "๊Uncle 396" ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2558 ถึง 25 มกราคม 2558 ลงบนเว็บไซต์ www.okthai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของจำเลย โดยคลิปดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ www.mediafire.com ให้สามารถฟังหรือดาวน์โหลดคลิปดังกล่าวได้

คลิปเสียงที่ 5 ใช้ชื่อว่า "๊Uncle 397" ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ถึง 25 มกราคม 2558 ลงบนเว็บไซต์ www.okthai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของจำเลย โดยคลิปดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ www.mediafire.com ให้สามารถฟังหรือดาวน์โหลดคลิปดังกล่าวได้

คลิปเสียงที่ 6 ใช้ชื่อว่า "๊Uncle 398" ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 ถึง 25 มกราคม 2558 ลงบนเว็บไซต์ www.okthai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของจำเลย โดยคลิปดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ www.mediafire.com ให้สามารถฟังหรือดาวน์โหลดคลิปดังกล่าวได้

ทั้งนี้ คลิปเสียงทั้งหมด 6 ไฟล์ตามฟ้อง เป็นเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า "บรรพต"

นอกจากนี้ ภายหลังการจับกุมธารา ตำรวจยังแถลงข่าวด้วยว่า ธาราเป็นหนึ่งใน “เครือข่ายบรรพต” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการใช้สื่อออนไลน์ยุงยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายและเกลียดชังขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหมิ่นสถาบัน เครือข่ายนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน

 

 

พฤติการณ์การจับกุม

ธาราถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 เวลาประมาณบ่ายโมง ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ธารานัดหมายกับลูกค้าเพื่อส่งของ โดยคาดว่าลูกค้าคนดังกล่าวเป็นผู้ที่นำไปสู่การจับกุม ผู้ที่ควบคุมตัวธาราคือทหารในเครื่องแบบประมาณ 10 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 4-5 คน ในการควบคุมตัวไม่มีการต่อสู้ขัดขืน หลังจากนั้นได้นำตัวธารามาที่ค่ายทหาร ระหว่างนั้นมีการสอบสวน โดยธารารับสารภาพทั้งหมด จนกระทั่งวันที่ 30 มกราคม 2558 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาและคุมตัวธารามาที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังผลัดแรก

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

121ก./2558

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
25 มกราคม 2558
 
ธาราถูกคุมตัวที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นถูกนำมาตัวมาที่ค่ายทหารเพื่อทำการสอบสวน โดยธารารับสารภาพทั้งหมด
 
30 มกราคม 2558
 
ธาราถูกนำตัวจากค่ายทหารมาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผลัดที่ 1 และถูกส่งตัวไปคุมขังต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
10 กุมภาพันธ์ 2558
 
ธาราถูกนำตัวมาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขออำนาจศาลฝากขังเป็นผลัดที่ 2
 
7 กรกฎาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ

เวลา 9.30 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การธารา จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำเลยแถลงต่อศาลว่าขอเลื่อนให้การต่อศาลออกไปก่อนเนื่องจากยังไม่ได้รับคำฟ้องจากทนายซึ่งส่งผ่านมาทางเรือนจำ

ศาลเลื่อนสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 7 สิงหาคม 2558
 
7 สิงหาคม 2558 
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ ธารา โดยวันเดียวกัน ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มีพงษ์ศักดิ์ ที่มีนัดสอบคำให้การวันเดียวกับธารา โดยก่อนเริ่มพิจารณาคดี ทนายความพยายามเจรจาให้จำเลยทั้งสอง ได้พิจารณาความในห้องเดียวกัน แต่ศาลก็ให้แยกการพิจารณาของทั้งสอง
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ ประมาณ 9.50 น. ในห้องพิจารณาคดี นอกจากทนายของธาราเเล้ว มีผู้ร่วมสังเกตการณ์อยู่  5  คน โดยก่อนเริ่มการพิจารณาอัยการโจทก์ แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ร้ายแรงและเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ
จึงขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ทนายคัดค้านว่า ชั้นนี้ยังเป็นแค่นัดสอบคำให้การ ยังไม่ได้ลงลึกในเนื้อหา จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาเป็นการลับ ซึ่งเมื่อศาลใช้ดุลพินิจแล้วเห็นด้วยกับจำเลย จึงให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผย
 
จากนั้น เมื่อศาลอ่านคำฟ้องโดยย่อ และสอบถามคำให้การธารา ธาราให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ทุกประการและขอต่อสู้คดี
 
ซึ่งโจทก์แย้งเรื่องเวลาการควบคุมตัวว่า ควรนับการควบคุมตัวจำเลยตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2558 เนื่องจากการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นการกระทำตามปกครอง แต่ทนายแย้งว่า ต้องนับรวมวันควบคุมตัวตั้งแต่ 25-30 มกราคม 2558 ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมีการสอบสวนจำเลยทุกวัน จึงถือได้ว่าเป็นการคุมขังไว้เพื่อการสอบสวนดำเนินคดีอาญา
 
ศาลรับฟังทั้งฝ่ายอัยการและทนายจำเลยแล้ว และเสนอให้สืบเรื่องวันควบคุมตัวอีกครั้งในชั้นพิจารณา พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 22 ตุลาคม 2558 เวลา 8.30 น.
 
22 ตุลาคม 2558
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐานเวลา 8.30 น.
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า องค์คณะตุลาการประกอบด้วย พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์ น.ท.หญิง อรพร จินดาเวช และ น.ท.หญิง พจนา แก้วนิมิตร ออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. หลังตรวจดูบัญชีพยานหลักฐานแล้ว อัยการแถลงขอสืบพยาน 11 ปาก และพยานเอกสารลำดับที่ 12-29 โดยใช้เวลาไม่เกิน 11 นัด ขณะที่ฝ่ายจำเลยขอสืบพยาน 3 ปาก และพยานเอกสารลำดับที่ 4-5 ใช้เวลาไม่เกิน 3 นัด
 
พยานโจทก์จำนวน 11 ปาก ได้แก่ 1.) เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหา 2.) ทหารผู้ควบคุมตัวจำเลยและส่งมอบจำเลยให้พนักงานสอบสวน 3.) ผู้สอบสวน ฟังคลิปเสียง และถอดความจากคลิปเสียงที่มีเนื้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง 4.) อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ฟังและอ่านข้อความที่ถอดจากคลิปเสียง 5.) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้อ่านข้อความที่ถอดจากคลิปเสียง และให้ความเห็นจากข้อความที่ได้อ่าน 6.) พยานผู้เชี่ยวชาญ ผู้ตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถูกยึด 7.) พยานผู้ยืนยันว่าจำเลยได้เปิดเว็บไซต์จริง 8.) พนักงานสอบสวน ผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิด 9.) พยานผู้เชี่ยวชาญ ผู้ตรวจสอบสารพันธุกรรมจากคอมพิวเตอร์ที่ถูกยึด 10.) ผู้อำนวยการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผอ.ปอท.) ผู้รับรองเอกสารการตรวจของพยานลำดับที่ 6 และ 11.) พนักงานสอบสวน ผู้รวบรวมพยานหลักฐานและเห็นควรสั่งฟ้อง
 
ด้านพยานจำเลยจำนวน 3 ปาก จำเลยขอเบิกตนเองเป็นพยาน ส่วนพยานปากที่ 2 และ 3 เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์
 
ทั้งนี้ โจทก์แถลงไม่รับข้อเท็จจริงพยานเอกสารของจำเลย ในทางกลับกัน ทนายจำเลยก็แถลงไม่รับข้อเท็จจริงของอัยการโจทก์ เมื่อคู่ความตกลงกันแล้ว ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 21 ธ.ค. 2558 เวลา 08.30 น. โดยพยานที่จะขึ้นเบิกความเป็นปากแรก คือ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา
 
21 ธันวาคม 2558
 
เจ้าหน้าที่ศาลทหารแจ้งว่า วันนี้พยาน คือ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ไม่มาศาล จึงหาวันนัดใหม่ร่วมกัน ตกลงเลื่อนไปสืบพยานปากนี้ในวันที่ 25 มีนาคม 2559
 
25 มีนาคม 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
วันนี้อัยการทหาร จำเลย และทนายจำเลยมาศาล และผู้เข้าฟังการพิจารณาอีก 3 คน ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.00 น. ทันทีที่ศาลขึ้นบัลลังก์ อัยการทหารแถลงขอให้พิจารณาคดีเป็นการลับ เนื่องจากเป็นคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ศาลสั่งทันทีว่าเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ และให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องพิจารณาคดี จากนั้นจึงเริ่มสืบพยาน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง: พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา
 
พ.ต.ท.โอฬาร เบิกความว่า รับราชการอยู่ที่กองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) มาตั้งแต่ปี 2552 คดีนี้เกี่ยวกับเผยแพร่คลิปเสียงของผู้ที่ใช้ชื่อว่าบรรพต ต่อมาทราบว่าชื่อจริง คือ หัสดิน ซึ่งคลิปผลิตออกมาเป็นตอนๆ เผยแพร่ทาง Social Media, Youtube, 4shared และเว็บไซต์ OKThaiดอทคอม โดยคดีของเว็บไซต์ OKThai กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ รับไปเป็นคดีพิเศษ และมอบหมายให้ตนทำหน้าที่เป็นผุ้กล่าวโทษ
 
พ.ต.ท.โอฬาร อธิบายว่า คลิปเสียงของบรรพตทำออกมาเป็นตอนๆ บางตอนพูดเรื่องประวัติศาสตร์และสมุนไพร บางตอนกล่าวใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และรัชทายาทว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นความผิด ต่อมาได้รับแจ้งว่าทหารที่อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกจับกุมธาราได้จากบ้านพัก แล้วพามาที่ค่ายทหารมทบ.11 พร้อมสิ่งของที่ยึดได้ เมื่อได้รับแจ้ง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 จึงเดินทางไปพบธาราพร้อมกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เพื่อไปทำบันทึกตรวจยึดสิ่งของในคดี เมื่อสอบถามเกี่ยวกับสิ่งที่ธาราคิด ธาราบอกว่าชอบคลิปบรรพต และเชื่อตามที่คลิปบอก จึงนำมาไว้บนเว็บไซต์ OKThai ส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้คนอื่นเชื่อตามด้วยและอีกส่วนเพื่อหวังประโยชน์ตอบแทนจากการโฆษณา 
 
พ.ต.ท.โอฬาร เล่าว่า ธารายอมรับว่าเป็นคนเอาคลิปขึ้นเว็บไซต์ OKThai คลิปบรรพตที่จำเลยเอามาขึ้นบนเว็บไซต์จะระบุว่าเป็นตอนที่เท่าไร ซึ่งมีบรรพตมีคลิปออกมาเกือบ 400 คลิป ก่อนหน้านี้เคยฟังเกือบทั้งหมดในตอนที่พูดถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท นั้นเป็นการใส่ร้ายเรื่องที่เป็นความเท็จ ว่าพระองค์มีพฤติกรรมไม่ถูกต้องชอบธรรม ประชาชนทั่วไปฟังแล้วอาจรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังได้ จึงกล่าวหาจำเลยในคดีนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)
 
พ.ต.ท.โอฬาร ตอบคำถามทนายความถามค้านว่า ไม่เคยเปิดเข้าไปตรวจสอบหน้าเว็บไซต์ OKThai ด้วยตัวเอง จึงไม่ทราบว่ามีลิงก์ไปยังคลิปเสียงของบรรพตหรือไม่ ทราบว่ามีเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตที่เปิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาโดยเฉพาะ แต่ไม่ทราบการทำงานของ Google AdSense เรื่องเกี่ยวกับการฝังลิงก์ก็ไม่ทราบเพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค
 
พ.ต.ท.โอฬาร ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นคดีเครือข่ายบรรพตว่า เจ้าของคลิปบรรพตตัวจริงชื่อหัสดิน ซึ่งถูกจับกุมและรับสารภาพไปแล้ว หัสดินถูกดำเนินคดีไปแล้วจากคลิปหนึ่งคลิป และยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีเพิ่ม คลิปบรรพตมีผู้ติดตามฟังและค้นหาจำนวนมาก บางตอนพูดเรื่องการเมืองอย่างเดียว บางตอนพูดเรื่องสุขภาพอย่างเดียว บางตอนไม่ได้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ความยาวแต่ละตอนประมาณหนึ่งชั่วโมง เวลาพูดเรื่องการเมืองส่วนใหญ่จะไม่เอ่ยพระนามตรงๆ แต่ใช้ชื่อแฝง ซึ่งวิญญูชนทั่วไปเมื่อฟังประกอบบริบทรอบข้างก็จะเข้าใจได้ว่าหมายถึงเรื่องอะไร ตัวหัสดินและคนที่อัพโหลดคลิปขึ้น youtube ไม่เปิดเผยชื่อจริงเพื่อหลบเลี่ยงการจับกุม
 
เมื่อทนายถามว่า คลิปที่หัสดินถูกลงโทษเป็นคลิปที่จำเลยถูกฟ้องในคดีนี้หรือไม่ พ.ต.ท.โอฬาร ตอบว่าไม่ทราบ เมื่อทนายถามว่า หัสดินกับจำเลยคดีนี้ไม่รู้จักกันมาก่อนใช่หรือไม่ พ.ต.ท.โอฬาร ตอบว่า ไม่ได้ถามเรื่องนี้กับหัสดิน
 
พ.ต.ท.โอฬาร ตอบคำถามต่อว่า ตอนที่พูดคุยกับจำเลยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 นั้นจำเลยถูกจับอยู่ในมทบ.11 มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายร่วมคุย และทำบันทึกหลังการพูดคุยให้จำเลยลงชื่อไว้ด้วย ขณะนั้นไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา ไม่ได้แจ้งสิทธิ และไม่มีทนายความร่วมด้วย เพราะเป็นกระบวนการตามกฎอัยการศึก ไม่ใช่กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมหรือถูกเรียกรายงานตัวจะปฏิบัติเช่นนี้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะจำเลยคดีนี้
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้เวลาประมาณ 11.20 น. อัยการแถลงขอนัดสืบพยานปากต่อไปทีละนัด ไม่นัดต่อเนื่อง หลังหาวันว่างแล้วศาลนัดสืบพยานปากต่อไปวันที่ 8 กรกฎาคม 2559
 
8 กรกฎาคม 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ธารา และทนายความมาศาล วันนี้มีผู้สังเกตการณ์มา 2 คน ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.15 น. ศาลบอกว่าคดีนี้สั่งพิจารณาเป็นการลับแล้ว ทนายความของธาราแถลงว่า ขอให้พิจารณาลับเฉพาะวันที่จะสืบพยานเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อความ แต่ศาลบอกว่า สั่งพิจารณาลับตั้งแต่แรกแล้ว ผู้สังเกตการณ์จึงต้องออกไปนอกห้อง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ร.อ.กณัฐพงศ์ โพธิ์สุข เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม
 
ร.อ.กณัฐพงศ์ โพธิ์สุข เบิกความว่า ปัจจุบันอยู่กองทหารการข่าว ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 ได้รับการประสานงานจากผู้บังคับบัญชา ให้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 โดยทางเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีสายข่าวทราบว่าผู้ต้องหาจะมาที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง จึงไปเชิญตัวมา และนำตัวไปที่ห้องพักของผู้ต้องหาในซอยพหลโยธิน 61 เพื่อตรวจค้น 
 
ร.อ.กณัฐพงศ์ เล่าว่า  แจ้งกับจำเลยในวันนั้นว่าเป็นการตรวจค้นด้วยอำนาจกฎอัยการศึก โดยไม่ต้องใช้หมายศาล ร.อ.กณัฐพงศ์ เป็นหัวหน้าชุดตรวจค้นในวันนั้น ห้องเช่าที่ไปตรวจค้นจำเลยแจ้งว่าเช่าอยู่คนเดียว ภายในห้องมีโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (PC) สภาพพร้อมใช้งาน มีกล่องเอกสาร ใบปลิว โทรศัพท์มือถือ และแอร์การ์ด ตรวจยึดมาเพราะทราบว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่คลิปเสียงหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ สิ่งของที่ตรวจยึดในวันนั้นใส่ถุงมีซิปปิด ส่วนคอมพิวเตอร์ใส่กล่องแล้วใช้เทปพันไว้ เพื่อป้องกันการแกะ 
 
ร.อ. กณัฐพงศ์ เบิกความต่อว่า ต่อมาจึงทำบันทึกตรวจค้น บัญชีสิ่งของ และแผนผังการเดินทางไปห้องพัก ได้ลงชื่อตัวเองและให้ธาราลงชื่อกำกับไว้ ส่วนภาพถ่ายในห้องเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเป็นคนถ่าย หลังจากนั้นก็ไปตรวจห้องเช่าอีกแห่งในเขตทวีวัฒนา แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย จากนั้นพาธาราและสิ่งของที่ยึดได้ไปส่งที่ มณฑลทหารบกที่11 (มทบ.11)
 
ทนายความถามว่า ขณะจับกุมธาราที่ห้างสรรพสินค้า ทหารใส่ชุดลายพรางและมีอาวุธปืนเอ็ม16 ไปด้วยใช่หรือไม่ ตอนแรกร.อ.กณัฐพงศ์ ตอบว่า มี เมื่อตอบเสร็จก็ทำท่าลังเล ศาลถามว่าจำไม่ได้ใช่หรือไม่ สุดท้ายร.อ.กณัฐพงศ์ ตอบว่า ไม่ได้เอาอาวุธไปด้วย 
 
ร.อ.กณัฐพงศ์ ตอบคำถามค้านได้ความว่า เมื่อเข้าไปถึงห้องของจำเลยคอมพิวเตอร์ไม่ได้เปิดทิ้งไว้ ตลอดเวลาที่ควบคุมตัวและตรวจค้นจำเลยไม่มีโอกาสติดต่อญาติหรือทนายความ จำเลยไม่ได้ขัดขืน หรือต่อสู้ขัดขวาง ในห้องของจำเลยไม่มีสัญลักษณ์ทางการเมืองใดๆ  ไม่เคยเปิดดูเว็บไซต์ OKThai และไม่ทราบรายละเอียดความผิดในคดีนี้ ในวันที่ไปจับกุมไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไปร่วมกับตำรวจมีฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน 
 
สืบพยานเสร็จเวลาประมาณ 11.40 นัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 27 ตุลาคม 2559 เวลา 8.30 น. 
 
27 ตุลาคม 2559
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เจ้าหน้าทีแจ้งว่าพยานวันนี้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ฟังคลิปเสียงแล้วถอดเทปไม่มาศาล จึงเลื่อนการสืบพยานไปเป็นนัดหน้า และเนื่องจากตารางนัดคดีของศาลเต็มหลายเดือน จึงหาวันนัดร่วมกันใหม่ได้เป็นวันที่ 3 มีนาคม 2560
 
1 ธันวาคม 2559
 
ทนายจำเลยและลูกชายของธารา มาที่ศาลทหารเพื่อยื่นขอประกันตัวธาราเป็นครั้งแรก หลังได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมืองจำนวน 400,000 บาท ทนายจำเลยยื่นเตรียมเอกสารและยื่นขอประกันตัวในเวลาประมาณ 10.20 น.
 
คำร้องประกอบการขอประกันตัวระบุว่า ธาราเป็นบุคคลธรรมดาไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หลักฐานในคดีนี้อยู่ที่อัยการทหารหมดแล้ว พฤติการณ์ที่โจทก์กล่าวหาตามฟ้องไม่ได้มีความร้ายแรง จำเลยไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด และจำเลยมีภาระทางครอบครัวต้องดูแล จึงไม่มีสาเหตุที่จะหลบหนี 
 
การพิจารณาคดีของศาลทหารที่ผ่านมาไม่นัดสืบพยานแบบต่อเนื่องทำให้กินเวลานาน ระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมาเพิ่งสืบพยานได้เพียงสองปากเท่านั้น ทำให้จำเลยขาดเสรีภาพเกินความจำเป็น
 
ในคำร้องยังระบุด้วยว่า ก่อนถูกจับธาราเป็นเสาหลักหารายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว มีภาระต้องดูแลมารดาอายุ 89 ปีที่ชราภาพและไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งยังไม่รู้ว่ามารดาของจำเลยจะมีชีวิตอยู่ได้ถึงเมื่อไร นอกจากนี้ยังมีบุตรอีกสองคนซึ่งจำเลยเคยส่งเสียค่าเล่าเรียน จนปัจจุบันต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย หากจำเลยได้รับการประกันตัวก็จะสามารถทำงานเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อได้
 
เวลาประมาณ 14.40 น. ศาลมีคำสั่งว่า สอบโจทก์แล้วคัดค้านว่า คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาพฤติการณ์แห่งคดีแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูง กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า จำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
 
 
3 มีนาคม 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์

จำเลยถูกพาตัวมาที่ศาลทหารกรุงเทพ และพาขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 โดยจำเลยได้โอกาสปรึกษากับทนายความก่อนเริ่มการพิจารณาคดีเล็กน้อย และตัดสินใจจะเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ เนื่องจากการสืบพยานใช้เวลานาน ประกอบกับบรรยากาศการทางการเมืองไม่มีทิศทางที่เปิดกว้างมากขึ้น จึงแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศาลทหารกรุงเทพว่า ประสงค์จะเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ในวันนี้ เป็นเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ติดภารกิจที่วัดพระธรรมกาย ไม่สามารถมาศาลได้ อย่างไรการสืบพยานวันนี้จึงต้องเลื่อนออกไปอยู่แล้ว

หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที เจ้าหน้าที่เดินกลับเข้ามาพร้อมกับรายงานกระบวนพิจารณาคดีในวันนี้ ระบุว่า พยานโจทก์ไม่มาศาล จำเลยเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ และเลื่อนไปสืบพยานโจทก์นัดต่อไปในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 เพื่อให้จำเลยลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา ขณะที่อัยการทหารฝ่ายโจทก์ และตุลาการไม่ได้เข้ามาในห้องพิจารณาคดีเลย โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ในวันนัดครั้งหน้าศาลก็จะอ่านคำพิพากษาเลย เมื่อจำเลยถามว่า นัดฟังคำพิพากษาก่อนหน้านั้นไม่ได้เหรอ เจ้าหน้าที่ตอบว่า นัดของศาลเต็มหมด ไม่มีวันว่างเลย

26 มิถุนายน 2560
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพต่อศาล เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 วันนี้ก่อนเริ่มการพิจารณาอัยการทหาร ที่เพิ่งมารับหน้าที่ในคดีนี้ต่อจากคนก่อน เดินมาคุยกับทนายจำเลยว่า การที่จำเลยเขียนคำร้องประกอบการรับสารภาพทำนองว่า จำเลยสนใจศึกษาเรื่องสุขภาพและทำเว็บไซต์สุขภาพเพื่อหวังรายได้ โดยไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง เป็นเนื้อหาที่ส่อว่าจำเลยไม่มีเจตนา เหมือนจำเลยจะไม่ได้รับสารภาพ จึงจะขอให้ตัดส่วนนี้ออก ไม่เช่นนั้นทางอัยการจะต้องคัดค้าน เพื่อให้สำนวนไม่มีปัญหาเมื่อคดีขึั้นสู่ศาลสูง ด้านทนายจำเลยยืนยันว่า ในคำร้องระบุชัดว่า จำเลยรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาแล้ว และคดีนี้เป็นคดีที่การกระทำเกิดขึ้นระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก จึงไม่มีชั้นอุทธรณ์ฎีกา แต่ทางทนายก็ยินดีแก้ไขเพิ่มเติมให้ชัดเจน
 
กระทั่งศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.50 น. อัยการทหารแถลงต่อศาลถึงประเด็นที่ติดใจในคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ด้านทนายจำเลยยืนยันว่า ในคำร้องระบุชัดว่า จำเลยรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาแล้ว ศาลกล่าวกับอัยการทหารว่า จำเลยได้รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาแล้ว เพียงแค่อธิบายเลยไป อัยการทหารแถลงขอให้ฝ่ายจำเลยเขียนเพิ่มเติมให้ชัดลงในคำร้องอีกครั้ง แต่ศาลบอกว่า โจทก์อย่าไปติดใจมากนัก เพราะอย่างไรเสียศาลก็ต้องลงโทษตามคำฟ้องของโจทก์อยู่แล้ว ศาลพิจาณาแล้วไม่เห็นว่าจำเลยจะยังปฏิเสธอยู่
 
ศาลกล่าวกับจำเลยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยืนยันว่า จำเลยจะเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ แต่ยังยืนยันติดใจให้นับวันควบคุมตัวจำเลยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ใช่วันที่ 30 มกราคม 2558 จากนั้นศาลก็อ่านรายงานกระบวนพิจารณา ใจความสำคัญมีว่า จำเลยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพแล้วและยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพมาแล้ว แต่เนื่องจากศาลมีคดีค้างพิจารณาเป็นจำนวนมาก ยังไม่อาจพิจารณาตัดสินใจคดีนี้ได้ทัน จึงเลื่อนไปฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 9 สิงหาคม 2560
 
9 สิงหาคม 2560 
 
ศาลทหารกรุงเทพ นัดฟังคำพิพากษา โดยตุลาการขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.50 และเริ่มอ่านคำพิพากษาทันที
 
ศาลเห็นว่า คดีนี้เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ หลังสืบพยานโจทก์ไปได้ 2 ปาก จำเลยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง เหลือปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า จะเริ่มนับวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่เมื่อใด
 
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยถูกทหารจับกุม และควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2558 ควรต้องนับวันควบคุมตัวเริ่มตั้งแต่วันที่ถูกจับ ไม่ใช่วันที่ 30 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ศาลทหารพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากที่เบิกความไปแล้วต่างก็ยืนยันว่า ธาราถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 25 และถูกนำตัวไปควบคุมที่ค่าย มทบ.11 แม้จะเป็นการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกไม่ใช่การควบคุมตัวตามอำนาจของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ก็เป็นการควบคุมตัวอันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินคดีนี้ และทำให้จำเลยสูญเสียอิสรภาพเช่นเดียวกัน จึงให้เริ่มนับวันถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2558 เป็นต้นมา
 
ศาลพิเคราะห์การกระทำของจำเลย แล้วว่า เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) (3) (5) ให้ลงโทษบทหนัก คือ มาตรา 112 
 
พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยกรรมละ 5 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือกรรมละ 3 ปี 4 เดือน จำเลยกระทำความผิดคิดเป็น 6 กรรม รวมโทษจำคุกเป็น 18 ปี 24 เดือน
 
ที่จำเลยเขียนคำร้องประกอบคำรับสารภาพขอให้ลงโทษสถานเบา และให้รอการลงโทษ ศาลเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัติรย์ ซึ่งกระทบความรู้สึกประชาชนอย่างร้ายแรง คดีนี้ศาลกำหนดโทษสถานเบาอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษอีก

 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา