เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก

อัปเดตล่าสุด: 18/02/2562

ผู้ต้องหา

อานนท์ นำภา

สถานะคดี

อื่นๆ

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ

สารบัญ

อานนท์ พันธ์ศักดิ์ วรรณเกียรติ และ สิริวิชญ์ ร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ภายหลังพวกเขาถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนคำสัง คสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อานนท์ นำภา
 
จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา
 
เมื่อประกอบอาชีพทนายอานนท์เคยว่าความคดีสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี 
 
นอกจากนี้ อานนท์ยังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดีอากง เอสเอ็มเอส
ด้วย
 
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อานนท์เป็นหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและว่าความให้กับจำเลยคดีการเมืองหลังรัฐประหารหลายคดี เช่น คดีฝ่าฝืนประกาศ คสช.  และ คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ของสิรภพ
 
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
 
จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาสันทนาการ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบันประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่
 
พันธศักดิ์เริ่มต้นชีวิตการทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) โดยเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาเด็ก หลังจากนั้น พันธ์ศักดิ์ก็เปลี่ยนมาทำงานเป็นพนักงานฝ่ายสารนิเทศของบริษัทเอกชนด้านการเกษตรแห่งหนึ่งนานเกือบ 10 ปี ก่อนจะออกมาทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีกครั้ง
 
พันธศักดิ์มีลูกชาย 1 คน คือ "เฌอ" หรือ สมาพันธ์ ศรีเทพ ซึ่งเสียชีวิตในวัย 17 ปี จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 
 
หลังการเสียชีวิตของลูกชาย พันธ์ศักดิ์เริ่มทำกิจกรรมทวงถามความยุติธรรมให้กับลูกชายของตนและเหยื่อรายอื่นๆ จากเหตุกาณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553 และร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับจำเลยในคดีการเมืองรายอื่นๆ ด้วย เช่น
 
กิจกรรม “เฌอ…อย่าลืมฉัน”  กิจกรรม “เผาตำรากฎหมายเชิงสัญลักษณ์”  เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนักโทษคดี 112 และการเดินขบวนประท้วง ไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคเพื่อไทย
 
วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ
 
ปัจจุบันประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่และเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมตั้งแต่ปี 2540 ตัวอย่างกิจกรรมที่วรรณเกียรติเคยเข้าร่วม ได้แก่
 
การประท้วงผู้นำลิเบียและชาติอาหรับที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องยูเอ็นเข้าแทรกแซงและยุติการสังหารประชาชน กิจกรรมของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สวมหน้ากาก ‘อากง’ และยืนไว้อาลัย 112 นาทีต่อกระบวนการยุติธรรม หน้าศาลอาญา เป็นต้น 
 
สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
 
เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นสมาชิกกลุ่มสภาหน้าโดม รวมทั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)
 
 
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ผู้ต้องหาทั้งสี่ ร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ กิจกรรมดังกล่าวมีลักษณะเป็นกิจกรรมทางการเมือง จึงเป็นการขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557

พฤติการณ์การจับกุม

เวลาประมาณ 16 นาฬิกาเศษ เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมตัว สิรวิชญ์ ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก เข้าไปในหอศิลป์ก่อนส่งตัวสิรวิชญ์ขึ้นรถตุ๊กตุ๊กไปที่ สน.ปทุมวัน 
 
อานนท์ และ พันธ์ศักดิ์ ผู้ร่วมจัดการกิจกรรม รวมทั้ง วรรณเกียรติ ซึ่งเป็นอาสาสมัครในกิจกรรม ถูกนำตัวไปที่ สน.ปทุมวัน เช่นเดียวกับสิรวิชญ์ ในภายหลัง 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

164 ก./2558

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดูบันทึกเหตุการณ์

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 วันแห่งความ “ลัก” ที่แสนยาวนาน

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 พลเมืองลุกเดิน: เมื่อความยุติธรรมไม่มา เราจะเดินไปหามัน

 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
5 กุมภาพันธ์ 2558

เฟซบุ๊กเพจพลเมืองโต้กลับ เผยแพร่ คลิปวิดีโอโปรโมทกิจกรรม เลือกตั้งที่(รัก)ลัก




14 กุมภาพันธ์ 2558
 
กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นัดจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ ในเวลา 4 โมงเย็น โดยมีการประชาสัมพันธ์และอัพเดทความเคลื่อนไหวกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มเป็นระยะ ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็เริ่มเข้ามาตรึงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงบ่าย
 
เวลาประมาณ 4 โมงเศษ หลังกิจกรรมเริ่มไปได้ครู่หนึ่ง สิรวิชญ์ ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมตัวเข้าไปด้านในหอศิลป์กรุงเทพ ก่อนที่จะควบคุมตัวขึ้นรถตุ๊กๆ เพื่อนำไปส่งที่ สน.ปทุมวัน
เบื้องต้น สิรวิชญ์ถูกแจ้งข้อหา “ก่อความเดือดร้อนรำคาญ” ต้องจ่ายค่าปรับ 100 บาท อย่างไรก็ตาม สิรวิชญ์ก็ไม่ได้รับการปล่อยตัว
 
ประมาณ 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกกิจกรรม อานนท์ และ พันธ์ศักดิ์ ผู้จัดกิจกรรม รวมทั้ง วรรณเกียรติ อาสาสมัครในกิจกรรมถูกนำตัวไปที่ สน.ปทุมวัน
 
อานนท์ พันธ์ศักดิ์ และ วรรณเกียรติ ถูกควบคุมตัวไปไว้ในห้องสอบสวนรวมกับสิรวิชญ์ ซึ่งถูกควบคุมตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว ในช่วงค่ำ พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญเดินทางมาถึง สน.ปทุมวัน และเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในห้องสารวัตรสืบสวน
 
ภายหลังการพูดคุย ตำรวจเป็นผู้แจ้งนักกิจกรรมทั้ง 4 ว่า นายทหารพระธรรมนูญร้องทุกข์กล่าวโทษทั้ง 4 คนในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
 
ในระหว่างที่อานนท์ พันธ์ศักดิ์ วรรณเกียรติ และ สิรวิชญ์ ถูกควบคุมตัวอยู่ ก็มีนักศึกษา ประชาชน จำนวนหนึ่ง มารวมตัวกันที่หน้าสน.ปทุมวัน เพื่อให้กำลังใจพวกเขา ขณะที่อานนท์ และพันธ์ศักดิ์ ก็อัพเดทเหตุการณ์ในห้องสอบสวน บนเฟซบุ๊กส่วนตัวตลอดเวลา 
 
ผู้ต้องหาทั้ง 4 ถูกควบคุมตัวข้ามคืน จนกระทั่งเวลาเกือบตี 3 ตำรวจอนุมัติการประกันตัวให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน อานนท์ ใช้ตำแหน่งทนายความค้ำประกันตัวเอง พันธ์ศักดิ์ และ วรรณเกียรติ ใช้หลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท ทั้ง 3 คนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนสิรวิชญ์ใช้หลักทรัพย์ 40,000 บาท เพราะถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่ม โดยทั้งหมดต้องไปรายงานตัวที่ สน.ปทุมวันในวันที่ 16 มีนาคม 2558
 
4 มีนาคม 2558
 
ที่ สน.ปทุมวัน อานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) เนื่องจากโพสต์ข้อความกล่าวหาทหารว่าแทรกแซงการทำงานของตำรวจบนเฟซบุ๊กของตนเองจำนวน 5 ข้อความ ระหว่างที่เจ้าตัวถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องสอบสวนเมื่อคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยมี พ.อ. บุรินทร์ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
 
12 มีนาคม 2558
 
อานนท์ พันธ์ศักดิ์ วรรณเกียรติ และ สิรวิชญ์ ยื่นหนังสือเปิดผนึก ต่อประธานศาลฎีกา ผ่านทางศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ประมุขฝ่ายตุลาการและข้าราชการฝ่ายตุลาการ ยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญและตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ที่จะเป็นผู้พิจารณาคดีพลเรือน และปฏิเสธอำนาจศาลทหารเหนือคดีพลเรือน
 
ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนยังเปิดเผยแผนการจัดกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ภายใต้แนวคิด "เมื่อความยุติธรรมไม่มา เราจะเดินหน้าไปหามัน" โดยจะมีการเดินเท้าไปรายงานตัวที่ สน. ปทุมวัน ตามกำหนดในวันที่ 16 มีนาคม 
 
14 มีนาคม 2558
 
ข่าวสดออนไลน์  รายงานว่า เวลาประมาณ 7.00 น. พันธ์ศักดิ์เริ่มเดินเท้าออกจากบ้านพักที่บางบัวทองไปยังสดมภ์นวมทอง ไพรวัลย์ แท๊กซี่ที่เสียชีวิตจากการพลีชีพเนื่องจากไม่พอใจการทำรัฐประหารในปี 2549 ที่บริเวณสะพานลอยใกล้สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
 
เวลาประมาณ 8.30 น. หลังเดินได้ประมาณ 5 กิโลเมตร พันธ์ศักดิ์ ถูกตำรวจ สภ.บางบัวทอง ประมาณ 5 นาย นำรถตู้เข้าประกบเพื่อควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน 
 
เวลา 09.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวพันธ์ศักดิ์มาถึง สน.ปทุมวัน โดยมี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 เดินทางมาพบพันธ์ศักดิ์ด้วย
 
พล.ต.ท.อำนวย เปิดเผยว่า การเดินครั้งนี้มีนัยยะทางการเมือง เพราะมีการนัดหมายล่วงหน้า โดยประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานไทยรัฐก็ยังไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช. จึงเกรงว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง จึงต้องยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว
 
เวลา 12.00 น. ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) เริ่มเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเยี่ยมพันธ์ศักดิ์ที่ สน.ปทุมวัน และทวงถามความยุติธรรม
 
เวลาประมาณ 16.00 น. พันธ์ศักดิ์ได้รับการปล่อยตัว ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุษยชนกล่าวว่า เหตุที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง จับตัวนายพันธ์ศักดิ์มาที่สน.ปทุมวัน เพราะเข้าใจว่าติดเงื่อนไขในการประกันตัว จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ความจริงพันธ์ศักดิ์ไม่ได้ติดเงื่อนไขและไม่ได้หลบหนี ดังนั้นทาง สน.ปทุมวัน จึงปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อหาแต่อย่างใด 
 
15 มีนาคม 2558
 
ประชาไท รายงานว่า เวลา 9.00 น. พันธ์ศักดิ์เริ่มต้นกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ด้วยการอ่านบทกวีและวางดอกไม้รำลึกถึงน้องเฌอตรงจุดที่ถูกยิงเสียชีวิต ก่อนจะเดินเท้าต่อวางดอกไม้ที่หมุดคณะราษฎร และเดินต่อไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยแวะวางดอกไม้ที่อนุสรณ์หกตุลา และอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ 
 
16 มีนาคม 2558
 
เวลา 7.00 น. พันธ์ศักดิ์ อานนท์ วรรณเกียรติ และ สิรวิชญ์ เริ่มเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ท่าเรือผ่านฟ้า เพื่อขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบไปที่วัดปทุมวนาราม สถานที่ที่ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาและเหยื่ออีก 5 คน ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 2553 โดยมีการวางดอกไม้รำลึกถึงผู้เสียชีวิต
 
ในเวลาต่อมา ทั้ง 4 เดินไปแถลงข่าวที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เกี่ยวกับกิจกรรมที่พวกเขาจัดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 และเป็นเหตุให้ถูกจับกุมดำเนินคดี และเดินเท้ามาถึง สน.ปทุมวัน เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. 
 
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นเรื่องส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ต่ออัยการศาลทหารฯ เพื่อพิจารณาส่งฟ้องต่อตุลาการศาลทหารฯ เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากกรณีจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์
 
ต่อมา เวลาประมาณ 17.30 น. กลุ่มนักศึกษาซึ่งจัดกิจกรรมตั้งโต๊ะลงชื่อคัดค้าน “พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร” อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เดินเท้ามาที่ศาลทหาร เพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้ง 4 คน และใช้โทรโข่งกล่าวโจมตีการทำงานของศาลทหาร โดยระบุว่า ไม่เป็นไปตามหลักของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเรียกร้องให้พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร
 

Activist protested against the use of Military Court over civilian

นักกิจกรรมรวมตัวคัดค้านการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารที่หน้าอาคารศาลทหารกรุงเทพ

เจ้าหน้าที่ทหารประจำศาลปิดประตูรั้วทางเข้า-ออกศาลทหารทันที ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าวศาลทหารยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี
 
เวลาประมาณ 18.30 น. อัยการศาลทหาร มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และนัดฟังความเห็นของอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 27 มีนาคม

Resistant Citizen at the Military Court

กลุ่มพลเมืองโต้กลับถ่ายภาพที่หน้าอาคารศาลทหารหลังศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน
27 มีนาคม 2558

 
ที่ศาลทหาร อัยการทหารเลื่อนการฟังคำสั่งคดีไปเป็นวันที่ 22 เมษายน ในเวลา 10.00 น. เพราะผู้ต้องหาทั้งสี่ต้องการให้พนักงานสอบสวน สืบพยานอีก 4 ปาก ได้แก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง 
 
22 เมษายน 2558
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
มติชน รายงานว่า ศาลเลื่อนนัดอีกครั้งเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2558  เนื่องจากต้องสอบพยานเพิ่มอีก 4 ปาก ดังนั้น อัยการจึงขอเลื่อนคำสั่งฟ้องออกไปเป็นวันดังกล่าวด้วย
 
14 พฤษภาคม 2558
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งเป็นวันที่ 4 มิถุนายน 2558 เนื่องจากพนักงานสอบสวน ยังไม่สอบปากคำพยานจำเลยที่เป็นนักวิชาการ 
 
4 มิถุนายน 2558
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
อัยการทหารนัดฟังคำสั่งคดีเลือกตั้งที่รักที่ศาลทหารในเวลา 10.00 น. วรรณเกียรติและพันธ์ศักดิ์มาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.40 น.  ขณะที่สิรวิชญ์มาถึงศาลในเวลาประมาณ 10.30 น. ส่วนอานนท์ตามมาถึงเป็นคนสุดท้ายในเวลาประมาณ 11.00 น. ทั้งหมดนั่งรออยู่ที่ห้องรับรองของอัยการ
 
เวลาประมาณ 11.30 น. เจ้าหน้าที่บอกผู้ต้องหาทั้ง 4 ว่า อัยการจะอ่านคำสั่งในช่วงบ่าย ให้ผู้ต้องไปทานอาหารกลางวันก่อน
 
เวลาประมาณ 14.00 น. อัยการอ่านคำสั่งฟ้องให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 ฟัง ซึ่งสรุปความได้ว่า อัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 4 ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่จำเลยทั้งสี่จัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพ ทั้งที่จำเลยทราบถึงประกาศห้ามชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว 
 
ในส่วนของคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือความผิดฐานปลุกปั่นยั่วยุ ของ พันธ์ศักดิ์ จากการจัดกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องมาจากคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลักนี้ อัยการยังไม่อ่านฟ้อง โดยนัดให้พันธ์ศักดิ์มาฟังคำสั่งฟ้องในวันที่ 19 มิถุนายน 
 
หลังอัยการมีคำสั่งฟ้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวจำเลยทั้งสี่ไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
ทนายของจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท
 
เวลา 15.00 น. ศาลทหารมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสี่ด้วยหลักหลักทรัพย์ 10,000 บาท พร้อมวางเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้ง 4 ชักชวนหรือมีส่วนร่วมในการชุมนุมใดๆ 
 
เวลาประมาณ 18.45 น. เฟซบุ๊กของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ รายงานว่า จำเลยทั้ง 4 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพแล้ว  
 
8 ตุลาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
จำเลยทั้ง 4 เดินทางมาถึงศาลทหารประมาณ 10 นาฬิกาเศษ ในห้องพิจารณาคดีนอกจากคู่ความแล้วก็มีจิตรา คชเดช อดีตผู้นำสหภาพแรงงานที่เป็นจำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. ซึ่งพึ่งเสร็จจากการสืบพยานคดีของตนเอง เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีด้วย

ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 11 นาฬิกาเศษ จำเลยทั้งสี่แถลงว่ายังไม่พร้อมให้การ และยื่นคำร้องคัดค้านเขตอำนาจศาล ศาลรับคำร้องของจำเลยพร้อมสั่งให้อัยการทำความเห็นส่งศาลภายใน 15 วัน เพื่อที่ศาลจะทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลส่งศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีในท้องที่เกิดเหตุต่อไป

หากศาลแขวงปทุมวันและศาลทหารมีความเห็นตรงกันก็สามารถดำเนินการพิจารณาคดีต่อได้ทันที แต่หากคำทั้งสองศาลมีความเห็นต่างกัน ก็จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป โดยในระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุติเรื่องเขตอำนาจศาล การพิจารณาคดีจะถูกระงับไว้ชั่วคราว 
 
30 มีนาคม 2559
 
ศาลทหารนัดฟังคำสั่ง คัดค้านเขตอำนาจศาล
ศาลขึ้นพิจารณาคดีประมาณ 10.30 น.  โดยศาลเลื่อนฟังคำสั่ง เนื่องจาก อานนท์ จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ศาลเห็นว่าการฟังคำสั่งควรฟังพร้อมกันทีเดียว ทั้งจำเลย 4 คน  จากนั้นศาลนัดวันมาฟังคำสั่งกันอีกครั้ง 10 มิถุนายน 2559
 
10 มิถุนายน 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลเริ่มพิจารณาคดีราว 11.20 น. มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารอ่าน ที่เป็นนายประกัน และแม่ของสิรวิชญ์ ศาลอ่านคำวินิจฉัยของศาลแขวงปทุมวันเรื่องเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ แต่ไม่ได้อ่านรายละเอียดความเห็นของศาลแขวงปทุมวันให้จำเลยทั้งสี่ฟัง ระหว่างการพิจารณา
 
ศาลติงเรื่องการมาไม่ตรงเวลาของจำเลยบางคน และติงว่าการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศฉบับที่ 37/2557 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้กระบวนพิจารณาต้องล่าช้าออกไป นอกจากนี้ก็ติเตียนด้วยว่า การใส่เสื้อยืดมาศาลเป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่
 
ทั้งนี้ คำร้องที่ฝ่ายพลเมืองโต้กลับ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นคือ ประกาศ คสช.ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ยัง ยื่นคำร้องให้ศาลทหารส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 คน เห็นว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร และฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร รวมทั้งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
 
ด้านอัยการศาลทหารกรุงเทพแถลงต่อศาล ขอทำคัดค้านคำร้องดังกล่าวภายใน 30 วัน ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อนเพื่อวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวด้วย แล้วจะนัดคู่ความมาฟังคำสั่งต่อไป
 
10 ตุลาคม 2559
 
นัดฟังคำสั่งศาลทหาร
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดจำเลยทั้งสี่ฟังคำสั่งศาลทหารจากกรณีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศคสช.เรื่องให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ โดยศาลทหารมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
 
19 เมษายน 2560 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในนัดตรวจพยานหลักฐาน อัยการทหารแถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวม 6 ปาก ได้แก่ผู้กล่าวหาหนึ่งปาก พยานผู้เห็นเหตุการณ์สี่ปาก และพนักงานสอบสวนอีกหนึ่งปาก

ทนายจำเลยแถลงนำพยานเข้าสืบรวมเก้าปาก ได้แก่ตัวจำเลยเป็นพยานให้ตัวเองสี่ปาก พยานผู้เชี่ยวชาญสี่ปากและพยานผู้เห็นเหตุการณ์หนึ่งปาก

ศาลนัดสืบพยานโจทก์รวมสามนัดวันที่ 21, 25 และ 30 สิงหาคม 2560 ทั้งช่วงเช้าและบ่าย โดยพยานโจทก์ปากที่หนึ่งคือ พ.อ.บุรินทร์  ทองประไพ ผู้กล่าวหา
 
24 พฤษภาคม 2560
 
มีรายงานว่าศาลทหารกรุงเทพ ควบรวมคดีนี้กับคดี ฝ่าฝืนเงื่อนไข คสช.ของ สิรวิชญ์เข้าด้วยกัน
 

Online advertisement promote trial of the resistant citizen on 21 August 2017
ภาพประชาสัมพันธ์ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับเชิญชวนประชาชนร่วมฟังการสืบพยานโจทก์ปากพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ที่มา เพจพลเมืองโต้กลับ

21 สิงหาคม 2560

นัดสืบพยานโจทก์
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พอ.บุรินทร์ ทองประไพ  นายทหารพระธรรมนูญผู้เข้าแจ้งความ พยานไม่มาศาลโดยอ้างว่าติดราชการด่วน ศาลเลยให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปก่อน
 
20 กันยายน 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ นอกจากทีมทนายและจำเลยแล้ว มีประชาชนสนใจเข้าร่วมฟังคดีร่วม 10 คน พยานวันนี้คือ พอ.บุรินทร์ ทองประไพ มาศาล แต่เนื่องจากวรรณเกียรติ หนึ่งใน 4 ของจำเลย ติดขัดเร่งด่วน มาศาลล่าช้า ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 24 กันยายน 2561 ที่นัดไว้ตามเดิม
 
24 กันยายน 2561 
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย 
 
ตอบทนายจำเลยที่หนึ่งถามค้าน
 
วันนี้ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.30 น. สำหรับขั้นตอนการพิจารณาคดีในวันนี้เป็นการถามค้านพยานโจทก์โดยทนายจำเลย
 
พ.อ.บุรินทร์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่หนึ่งว่า เขาจบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาโทสาขานิติศาสตร์ สำหรับความเกี่ยวข้องกับคดีนี้เขาได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสี่คนในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน 
 
พ.อ.บุรินทร์เบิกความว่าระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2558 ก่อนหน้าวันเกิดเหตุ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เขาได้รับรายงานจากสายข่าวว่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 
 
ในวันเกิดเหตุพ.อ.บุรินทร์ รับว่าไม่ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ได้แต่ไปติดตามต่อที่สน.ปทุมวัน ในส่วนของการจับกุมตัวจำเลย เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใช้กฎหมายพิเศษภายใต้กฎอัยการศึกเป็นฐานอำนาจในการจับกุมโดยเป็นการจับกุมขณะกระทำผิดซึ่งหน้า หลังการจับกุมจำเลยทั้งสี่ถูกนำตัวไปที่สน.ปทุมวัน ตัวเขาจึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวน 
 
เมื่อทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่า ในคืนวันนั้นระหว่างควบคุมตัวจำเลย พ.อ.บุรินทร์ได้แจ้งกับผู้กำกับ สน.ปทุมวันเรื่องจะไม่ปล่อยตัวจำเลยทั้งสี่หากไม่ยอมเซ็นรับเงื่อนไขว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกใช่หรือไม่ และหากจำเลยทั้งสี่ยอมเซ็นรับเงื่อนไข(MOU) ดังกล่าว ก็จะปล่อยตัวไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาใช่หรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าจำไม่ได้
 
พ.อ.บุรินทร์เบิกความเพิ่มเติมว่า จำไม่ได้ในวันดังกล่าวได้พูดคุยกับจำเลยทั้งสี่หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว 
 
พ.อ.บุรินทร์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยที่หนึ่งต่อว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2558 มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ประกาศนี้ (ประกาศ คสช.ที่ 7/2557 ยังไม่สิ้นผล)  และมีการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 แทน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีอัตราโทษที่ต่างจากประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 แต่ยังคงห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ซึ่งตัวเขาเองก็ได้ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เวลาต้องการเอาผิดกับผู้ชุมนุมทางการเมือง 
 
พ.อ.บุรินทร์เบิกความต่อว่า หลังจากกิจกรรมเลือกตั้งที่รัก 14 กุมภาพันธ์ 2558 นอกจากจำเลยทั้งสี่คนแล้ว ยังมีผู้ชุมนุมอีกกว่า 30 คนจากเหตุการณ์เดียวกันที่ยังไม่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิด อย่างไรก็ตามตัวเขาไม่ได้มีหน้าที่ไปตรวจสอบเรื่องนี้ต่อ

ส่วนที่ทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่าสามารถแยกแยะออกหรือไม่ ว่าในบรรดาประชาชนทั้งหลายที่มาชุมนุมวันนั้น ใครบ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวนนอกเครื่องแบบ ใครเป็นนักข่าว ใครมาในฐานะผู้สังเกตการณ์หรือใครมาชุมนุม พ.อ.บุรินทร์ ตอบว่า เจ้าหน้าที่แยกแยะออก 
 
พ.อ.บุรินทร์ เบิกความต่อว่าเขาไม่ได้มีหน้าที่จับตาการเคลื่อนไหวการทำกิจกรรมของจำเลยที่หนึ่ง (อานนท์) และการทำกิจกรรมของจำเลยคือการเรียกคนออกมาก่อความวุ่นวาย  เมื่อทนายจำเลยที่หนึ่งถามว่าวันนั้นมีการจับยึดอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำผิดของผู้ชุมนุมหรือไม่  พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าไม่มี 
 
พ.อ.บุรินทร์เบิกความด้วยว่าตัวเขาไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสี่คนมาก่อนเลย มีเพียงความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันบ้างในบางส่วน และยอมรับว่ามาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้ในขณะนั้น มีบทบัญญัติรับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยแต่ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
 
สำหรับการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสี่เข้าใจกันไปเองว่าเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์  ตัวเขาไม่ทราบว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นอะไร สำหรับการทำกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆสามารถทำได้ เช่นการชุมนุมครบรอบวันที่ 14 ตุลา 16 , 6 ตุลา 19, พฤษภา 35 สามารถทำได้หากไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายเช่น หากจัดเป็นการทำบุญเลี้ยงพระก็จะไม่ถูกห้าม สำหรับข้อกังวลต่อเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ พ.อ.บุรินทร์มีความกังวลว่าอาจมีกลุ่มทางการเมืองเช่นกลุ่มนปช.เข้ามาแทรกแซงการทำกิจกรรม
 
ทนายจำเลยที่หนึ่งแถลงหมดคำถามค้าน ทนายจำเลยที่สองแถลงต่อศาลว่ามีคำถามที่ต้องถามพ.อ.บุรินทร์อยู่หลายคำถาม จึงขอให้เลื่อนไปถามความต่อในนัดหน้า อัยการทหารแถลงไม่คัดค้าน ศาลนัดสืบพยานนัดต่อไปในวันที่ 4 ธันวาคม 2561
 
21 มกราคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.40 น. นอกจากตัวจำเลยทั้งสี่และทนายความแล้วในวันนี้มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีอีกห้าคน  
 
อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า พยานที่นัดไว้วันนี้คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้แจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสี่ ติดภารกิจจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถมาเบิกความที่ศาลได้ จึงขอเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ปากนี้ออกไปเป็นนัดหน้าที่เคยนัดล่วงหน้าไว้ วันที่ 3 เมษายน 2562 
 
หลังอัยการทหารแถลงต่อศาล ศาลกล่าวว่าจากนั้นศาลกล่าวในห้องพิจารณาคดีว่า ตามที่หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 เรื่องให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกคำประกาศคสช.ฉบับที่ 40 /2557  ที่กำหนดให้บุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คสช. กำหนด ได้แก่ ห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร ห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสอง ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และถูกระงับธุรกรรมทางการเงินนั้น
 
เห็นว่า สิรวิชญ์จำเลยคดีนี้ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่เขาทำไว้กับ คสช.เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 เพิ่มเติมจากข้อหาชุมนุมเกินห้าคนในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
 
และเป็นกรณีที่มีกฎหมายออกมาใช้ในภายหลังยกเลิกความผิดที่โจทก์ฟ้อง สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงย่อมระงับไป  ให้จำหน่ายของสิรวิชญ์ในส่วนของการฝาฝืนข้อตกลงกับคสช.ออกไป
 
หลังศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของข้อหาละเมิดข้อตกลงของสิรวิชญ์ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้ด้วย

เนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าวถูกออกมาระหว่างมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ต่อมามีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.บับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งกำหนดความผิดลักษณะเดียวกับประกาศคสช.ฉบับที่  7/2557 เมื่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกจึงขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับสถานะของประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 
 
หลังทนายจำเลยแถลงต่อศาล ศาลสั่งให้งดการสืบพยานคดีไว้ก่อนและนัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับข้อกฎหมายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562
 
15 กุมภาพันธ์ 2562 
 
นัดฟังคำสั่ง
 
ศาลทหารนัดจำเลยทั้งสี่ฟังคำสั่งคดี ตามที่ในนัดพิจารณาก่อนหน้านี้ทนายจำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นข้อกฎหมายที่ใช้กล่าวหาจำเลยเพียงข้อหาเดียวถูกยกเลิกไปแล้ว สถานะของคดีจะเป็นเช่นไร เนื่องจากคดีจำเลยนี้ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งเป็นประกาศห้ามชุมนุมที่มีเนื้อหาคล้ายกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งถูกยกเลิกไป
 
ในเวลา 13.45  น. ศาลขึ้นบัลลังก์และอ่านคำสั่งว่า ตามที่ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน จึงเป็นกรณีกฎหมายฉบับใหม่ออกมายกเลิกความผิดตามกฎหมายฉบับเก่า การกระทำของจำเลยจึงไม่ถือเป็นความผิดอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 ให้จำหน่ายคดี 
 
 
 
 
 
 
 



คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา