พันธ์ศักดิ์: พลเมืองรุกเดิน

อัปเดตล่าสุด: 11/01/2564

ผู้ต้องหา

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

พันธศักดิ์เป็นผู้สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 พันธ์ศักดิ์และพวกถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน และถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร พวกเขาจึงจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เพื่อตามหาความยุติธรรมและเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับพลเรือนที่ศาลทหาร เขาถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีก 3 ข้อหา คือ ข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ ตามกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 
 
ประชาชนที่มอบดอกไม้ให้กำลังใจพันธ์ศักดิ์และร่วมเดินเท้าไปกับพันธ์ศักดิ์ ก็ถูกตั้งข้อหาร่วมด้วยอีก 6 คน 
 
เวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง ของวันที่ 26 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่พันธ์ศักดิ์ประกาศจะจัดกิจกรรมเดินเท้าอีกครั้ง เขาถูกควบคุมตัวขณะจอดรถเข้าบ้านพักเพื่อดำเนินคดี อย่างไรก็ดีศาลทหารให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 70,000 บาท

ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ศาลทหารมีคำสั่งย้ายคดีของพันธ์ศักดิ์ไปให้ศาลพลเรือนพิจารณาหลังพล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 9/2562 ให้ย้ายคดีพลเรือนจากศาลทหารไปให้ศาลพลเรือนพิจารณา 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พันธ์ศักดิ์จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาสันทนาการ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบันประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่
 
พันธศักดิ์เริ่มต้นชีวิตการทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) โดยเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาเด็ก หลังจากนั้นเปลี่ยนมาทำงานเป็นพนักงานฝ่ายสารนิเทศของบริษัทเอกชนด้านการเกษตรแห่งหนึ่งนานเกือบ 10 ปี ก่อนจะออกมาทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีกครั้ง
 
พันธศักดิ์มีลูกชาย 1 คน คือ "เฌอ" หรือ สมาพันธ์ ศรีเทพ ซึ่งเสียชีวิตในวัย 17 ปี จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 
 
หลังการเสียชีวิตของลูกชาย พันธ์ศักดิ์เริ่มทำกิจกรรมทวงถามความยุติธรรมให้กับลูกชายของตนและเหยื่อรายอื่นๆ จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในปี 2553 และร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับจำเลยในคดีการเมืองรายอื่นๆ ด้วย 
 
ก่อนหน้าคดีนี้ พันธุ์ศักดิ์เคยออกมาทำกิจกรรมและถูกจับกุมมาแล้ว 2 ครั้ง คือ กิจกรรมโปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรมกับศาลประชาชน ร่วมกับกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ซึ่งถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ส่งผลให้พันธ์ศักดิ์ต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

12 มีนาคม 2558 พันธ์ศักดิ์และผู้ถูกกล่าวหาอีก 3 รายในคดี เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ได้ออกแถลงการณ์ถึงประธานศาลฎีกาเรียกร้องสิทธิพลเมือง โดยขอขึ้นศาลอาญาแทนศาลทหารในความผิดที่พวกตนถูกจับกุมในคดีดังกล่าว 
 
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวยังได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กเพจ “พลเมืองโต้กลับ” ว่าจะจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ในวันที่ 14-16 มีนาคม 2558 โดยเป็นการเดินเท้าจากบางบัวทองถึง สน.ปทุมวัน เพื่อให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามนัดหมายในวันที่ 16 มีนาคม 
 
15 มีนาคม 2558 พันธ์ศักดิ์เริ่มออกเดินเพียงผู้เดียวไปยังเส้นทางตามแผน คือ จากหน้าสำนักพิมพ์ไทยรัฐ ผ่านซอยรางน้ำ ผ่านหมุดเฌอ ผ่านหมุด 2475 ผ่านสภาทนายความ ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปสิ้นสุดที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
เมื่อพันธ์ศักดิ์เดินมาถึงกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีกลุ่มชายแต่งกายคล้ายนักศึกษาจำนวน 3 ราย เป็นผู้ต้องหาที่ 2, 3, 4 มอบดอกกุหลาบสีแดงให้พันธ์ศักดิ์ ระหว่างนั้นมีนักข่าวไม่ทราบสังกัดเข้ามาถ่ายรูปการทำกิจกรรมดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงกรมทางหลวง มีผู้ต้องหาที่ 5 เข้ามาร่วมเดินด้วย จนถึงแยกผ่านฟ้าได้มีผู้ต้องหาที่ 6 เข้าร่วมเดินขบวนด้วย เมื่อมาถึงหน้าร้านอาหารเมธาวลัย ศรแดง ปรีชา แก้วบ้านแพ้ว ได้มอบดอกกุหลาบสีแดงพร้อมถุงอาหารให้พันธ์ศักดิ์ 
การเดินเท้าของพันธ์ศักดิ์และผู้ต้องหาอีก 6 ราย เป็นการกระทำที่เข้าข่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เนื่องจากก่อนการเดินเท้ามีการประกาศผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีการนัดประชาชนมารวมตัวกันและเสวนาทางการเมือง ณ จุดต่างที่ตนเองเดินผ่าน โดยไม่ได้มีเจตนาเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายตราสัญลักษณ์ “พลเมืองโต้กลับ” ให้กับคนที่มาพูดคุยและเห็นด้วยกับพันธ์ศักดิ์
 
การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดจำนวน 3 ข้อหา ได้แก่ ปลุกระดมยั่วยุให้ฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 116 ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

พฤติการณ์การจับกุม

เฟซบุ๊กของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 00.30 น. ของวันที่ 26 มีนาคม บริเวณลานจอดรถในวัดละหาร ต.โสนลอย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ขณะที่พันธ์ศักดิ์จอดรถเตรียมเข้าบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.ท.ทวีวงศ์ ดิษฐแย้ม สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจนครบาล ควบคุมตัว พันธ์ศักดิ์ ไปที่ สน.ชนะสงคราม โดยมีหมายจับศาลทหารลงวันที่ 17 มีนาคม กรณีพันธ์ศักดิ์จัดการเดินเท้า "พลเมืองรุกเดิน" จากบ้านที่ อ.บางบัวทอง มาที่ศาลทหารกรุงเทพฯ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดูรายละเอียดการตั้งข้อหาและดำเนินคดีอื่นของพันธ์ศักดิ์

ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ จากการจัดกิจกรรมร่วมกับญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมปี 2553 โปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรมกับศาลประชาชน

ข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากการจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก".

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

14 กุมภาพันธ์ 2558 

 
พันธ์ศักดิ์ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งที่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ถูกศาลตัดสินให้เป็นโมฆะ และนำมาสู่การรัฐประหาร  22 พฤษภาคม 2557 โดยกิจกรรมดังกล่าวทำให้พันธ์ศักดิ์และพวกอีก 3 คน ถูกจับดำเนินคดีข้อหาฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยคดีนี้จะต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร 
 
12 มีนาคม 2558 
 
พันธ์ศักดิ์และผู้ถูกกล่าวหาอีก 3 รายในคดี เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ได้ออกแถลงการณ์ถึงประธานศาลฎีกาเรียกร้องสิทธิพลเมือง โดยเรียกร้องให้ประมุขฝ่ายตุลาการและข้าราชการฝ่ายตุลาการ ยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญและตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ที่จะเป็นผู้พิจารณาคดีพลเรือน และปฏิเสธอำนาจศาลทหารเหนือคดีพลเรือน
 
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวยังได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กเพจ “พลเมืองโต้กลับ” ว่าจะจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ในวันที่ 14-16 มีนาคม 2558 ภายใต้แนวคิด “เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามัน” โดยเป็นการเดินเท้าเป็นเวลา 3 วัน จากบางบัวทองถึง สน.ปทุมวัน เพื่อให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามนัดหมายในวันที่ 16 มีนาคม 
 
14 มีนาคม 2558
 
ข่าวสดออนไลน์  รายงานว่า เมื่อพันธ์ศักดิ์เริ่มเดินเท้าออกจากบ้านพักที่บางบัวทองได้ประมาณ 5 กิโลเมตร ก็ถูกตำรวจ สภ.บางบัวทอง ประมาณ 5 นาย นำรถตู้เข้าประกบเพื่อควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน โดยมี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 เดินทางมาพบพันธ์ศักดิ์ด้วย
 
พล.ต.ท.อำนวย เปิดเผยว่า การเดินครั้งนี้มีนัยยะทางการเมือง เพราะมีการนัดหมายล่วงหน้า โดยประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานไทยรัฐก็ยังไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช. จึงเกรงว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง จึงต้องยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว
 
เวลา 12.00 น. ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) เริ่มเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเยี่ยมพันธ์ศักดิ์ที่ สน.ปทุมวัน และทวงถามความยุติธรรม
 
เวลาประมาณ 16.00 น. พันธ์ศักดิ์ได้รับการปล่อยตัว ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุษยชนกล่าวว่า เหตุที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง จับตัวนายพันธ์ศักดิ์มาที่สน.ปทุมวัน เพราะเข้าใจว่าติดเงื่อนไขในการประกันตัว จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ความจริงพันธ์ศักดิ์ไม่ได้ติดเงื่อนไขและไม่ได้หลบหนี ดังนั้นทาง สน.ปทุมวัน จึงปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อหาแต่อย่างใด 
 
15 มีนาคม 2558
ประชาไท รายงานว่า เวลา 9.00 น. พันธ์ศักดิ์เริ่มต้นกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ด้วยการอ่านบทกวีและวางดอกไม้รำลึกถึงน้องเฌอตรงจุดที่ถูกยิงเสียชีวิต ก่อนจะเดินเท้าต่อวางดอกไม้ที่หมุดคณะราษฎร และเดินต่อไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
16 มีนาคม 2558
 
พันธ์ศักดิ์ อานนท์ วรรณเกียรติ และ สิรวิชญ์ เริ่มเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ท่าเรือผ่านฟ้า เพื่อขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบต่อไปยัง สน.ปทุมวัน
 
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นเรื่องส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ต่ออัยการศาลทหารฯ เพื่อพิจารณาส่งฟ้องต่อตุลาการศาลทหารฯ เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากกรณีจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก"
 
ต่อมา เวลาประมาณ 17.30 น. กลุ่มนักศึกษาซึ่งจัดกิจกรรมตั้งโต๊ะลงชื่อคัดค้าน “พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร” อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินเท้ามาที่ศาลทหารเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้ง 4 คน และกล่าวโจมตีการทำงานของศาลทหาร โดยระบุว่า ไม่เป็นไปตามหลักของกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร
 
เวลาประมาณ 18.30 น. อัยการศาลทหาร มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และนัดฟังความเห็นของอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 27 มีนาคม
 
สามารถอ่านรายละเอียดกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน และการขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ได้ที่ “พลเมืองรุกเดิน: เมื่อความยุติธรรมไม่มา เราจะเดินไปหามัน”
 
25 มีนาคม 2558
 
เฟซบุ๊กของพลเมืองโต้กลับโพสต์รูปภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรม พลเมืองรุกเดินดำเนินต่อ เพราะ "เมื่อความยุติธรรมยังไม่มา การค้นหาก็ต้องดำเนินต่อไป" เพื่อสานต่อกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” โดยพันธ์ศักดิ์จะเดินเท้าจากบ้านพักที่ อ. บางบัวทอง ในวันที่ 26 มีนาคม ไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อฟังคำสั่งอัยการคดี เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ตามนัดหมายในวันที่ 27 มีนาคม 
 
เวลาประมาณ 18.00 น. ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายอำเภอบางบัวทองในฐานะฝ่ายปกครอง พร้อมด้วย พ.ท.ทรงวุฒิ อินทรภักดี ชี้แจงกับ พันธ์ศักดิ์ กรณีการเดินเท้าไปศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 26 มีนาคมว่า ไม่อยากให้จัดกิจกรรมดังกล่าว เพราะไม่อยากให้เกิดความไม่สงบ ขณะที่พันธ์ศักดิ์ชี้แจงเหตุผลและยืนยันที่จะเดินเท้าไปศาลทหารตามที่ตั้งใจไว้ หลังพูดคุยกันประมาณ 15 นาที เจ้าหน้าที่ได้แยกย้ายกลับไป
 
26 มีนาคม 2558
 
เวลาประมาณ 00.30 น. ขณะที่พันธ์ศักดิ์จอดรถเตรียมเข้าบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.ท.ทวีวงศ์ ดิษฐแย้ม สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจนครบาล ควบคุมตัว พันธ์ศักดิ์ ไปที่ สน.ชนะสงคราม โดยมีหมายจับศาลทหารลงวันที่ 17 มีนาคม 2558 ตั้งข้อหาพันธ์ศักดิ์กรณีจัดการเดินเท้า "พลเมืองรุกเดิน" จากบ้านที่ อ.บางบัวทอง มาที่ศาลทหารกรุงเทพฯ
 
เวลาประมาณ 01.00 น. เฟซบุ๊กของพลเมืองโต้กลับรายงานว่า พันธ์ศักดิ์ถูกควบคุมตัวมาที่ สน.ชนะสงครามแล้ว และกำลังนั่งรออยู่ในห้องสอบสวน โดยมี อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและเป็น 1 ใน 4 ผู้ต้องหา ฝ่าฝืนประกาศ คสช. กรณีกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" เป็นทนายความให้พันธ์ศักดิ์ในวันนี้ด้วย อานนท์ระบุว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะเดินทางมาสอบสวนพันธ์ศักดิ์เอง 
 
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 01.10 น. มีการเชิญตัว อานนท์ ออกจากห้องสอบสวนและปฏิเสธไม่ให้ทนายความอยู่ระหว่างทำบันทึกการจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าอยู่ระหว่างทำบันทึกการจับกุม นายพันธ์ศักดิ์ยังไม่ใช่ผู้ถูกจับ ทนายความจึงยังไม่มีสิทธิดังกล่าว หากยืนยันจะอยู่ในห้องอาจถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
 
ต่อมาในเวลา 02.20 น. ทนายสามารถเข้าไปในห้องสอบสวนได้
 
เวลา 02.30 น. อานนท์ ในฐานะทนายความ ระบุว่าพันธ์ศักดิ์ ถูกตั้งข้อหา 3 ข้อหา ได้แก่ หนึ่ง ขัดประกาศ คสช. ฉบับที่ 7 สอง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และ สาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือความผิดฐานปลุกปั่นยั่วยุฯ ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
 
เวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม คุมตัวพันธ์ศักดิ์ไปตรวจสภาพร่างกายหลังการจับกุมที่โรงพยาบาลวชิระพยาบาล 
 
เวลาประมาณ 09.50 น. ประชาไท รายงานบรรยากาศหน้ากระทรวงกลาโหม ที่ตั้งศาลทหารว่า เจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นพื้นที่รอบกระทรวงกลาโหม และมีการตรวจบัตรประชาชนอย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้เพียงทนายความและนายประกันของพันธ์ศักดิ์เท่านั้นที่เข้าไปพบกับพันธ์ศักดิ์ในศาลทหารได้ 
 
พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังชั่วคราวผลัดที่ 1 โดยระบุเหตุผลว่า ยังเหลือพยานต้องสอบหลายสิบปาก และต้องรอสอบประวัติอาชญากรรมรวมทั้งรอยพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา พร้อมทั้งขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ด้านทนายความของพันธ์ศักดิ์ยื่นประกันตัวโดยมีหลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท ซึ่งมาจากการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปผ่านเฟซบุ๊ก
 
เวลาประมาณ 14.20 น.ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยเรียกหลักทรัพย์เป็นเงินสด 70,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขประกอบการอนุญาตประกันตัว ดังนี้
1. ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดม ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้มีการชุมนุม อันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดภยันตรายใดๆ อันกระทบต่อความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
2. ห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
 
เวลา 19.30 น. พันธ์ศักดิ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
19 มิถุนายน 2558

นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
อัยการศาลทหารกรุงเทพรับฟ้องคดีของพันธ์ศักดิ์ กรณีวางแผนเดินเท้าเรียกร้องความยุติธรรมมาฟังคำสั่งฟ้องในคดี เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ซึ่งถือเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ความผิดฐานปลุกปั่นยั่วยุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3)
ทั้งนี้ ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ประกันตัวพันธ์ศักดิ์ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 70,000 บาท 
 
29 ตุลาคม 2558
 
พันธศักดิ์โพสต์ภาพ หมายเรียก ของศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งระบุให้พันธ์ศักดิ์ไปรายงานตัวเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เวลา 8.30 น. บนเฟซบุ๊กของตนเอง พร้อมโพสต์ข้อความว่า "ได้เวลาออกเดิน"
 
5 พฤศจิกายน 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารนัดสอบคำให้การ เวลา 8.30 น. ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด วันนี้เจ้าหน้าที่ขอถ่ายรูปบัตรประจำตัวของผู้เข้าสังเกตการณ์ ขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนจำนวนมากมารอทำข่าว และมีประชาชนจำนวนหนึ่งมารอมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่พันธ์ศักดิ์
 
ประมาณ 9.20 น. พันธ์ศักดิ์เดินทางถึงศาลทหารกรุงเทพ พร้อมกับนัชชชา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์  และศาลนัดสอบคำให้การพร้อมกัน  ที่หน้าทางเข้าศาลทหาร พันธ์ศักดิ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าวันนี้จะไม่รับอำนาจศาลทหาร ทั้งนี้หลังจากลูกชายถูกยิงตายก็ไม่มีอะไรให้กังวลอีกแล้ว
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1  ศาลขึ้นบัลลังก์ เวลาประมาณ 11.30 น. ทนายของพันธ์ศักดิ์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารกรุงเทพวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล ตาม พ.ร.บ.วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 ศาลจึงสั่งให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว
 
เพื่อให้โจทก์ทำคำชี้แจงยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน จากนั้นศาลจะทำความเห็นส่งไปให้ศาลอาญาพิจารณา และเมื่อศาลอาญาทำความเห็นส่งกลับมาแล้ว ก็จะนัดคู่ความมาฟังความเห็นและคำสั่งศาลต่อไป
 
 1 เมษายน 2559 
 
นัดฟังคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาล
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่งเรื่องเขตอำนาจศาล  หลังทนายขอยื่นคำร้องให้ศาลอาญาวินิจฉัยเมื่อวันนัดสอบคำให้การปีที่ผ่านมา(5 พฤศจิกายน 2558) บรรยากาศที่ศาลทหารช่วงเช้า มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งมารอทำข่าว พันธ์ศักดิ์เดินทางมาถึงศาลเวลา 09.10 น. โดยทนายความมารออยู่เเล้ว หลังจากนั้นเวลาประมาณ 09.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี ศาลเริ่มจากอ่านคำสั่งว่า ตามที่ส่งคำร้องวินิจฉัยเขตอำนาจศาลไปที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญามีความเห็นลงวันที่ 29 มีนาคม 2559 ใจความว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจสำเร็จ และเข้าควบคุมสถานการณ์ประเทศ ในขณะที่ประกาศกฎอัยการศึก และออกคำสั่งต่างๆ คำสั่งและประกาศนั้นถือเป็นกฎหมายดังนั้นประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้ผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ถูกนำพิจารณาคดีที่ศาลทหาร จึงผูกพันต่อคดีนี้ด้วย ศาลทหารจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้
 
หลังอ่านคำสั่ง ศาลอ่านบรรยายฟ้อง ซึ่งจากกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน พันธ์ศักดิ์ถูกฟ้องดำเนินคดีถึง 3 ข้อกล่าวหาคือ ชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช.ที่7/2557, ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สอบถามคำให้การพันธ์ศักดิ์ให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี ต่อมาอัยการโจทก์ขอให้ศาลนัดวันสืบพยานเลย แต่ทนายขอค้าน เพราะเห็นว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานซับซ้อนเพราะพันธ์ศักดิ์ถูกฟ้องถึง 3 ข้อหา และเหตุเกิดในท้องที่หลาย สน. รวมถึงทนายอยากรู้แนวทางการนำสืบพยานจึงขอนัดตรวจพยานหลักฐานก่อน
 
ศาลอนุญาติให้มีนัดตรวจพยานหลักฐาน จึงให้ทั้งสองฝ่ายนัดวัน กระทั่งได้วันที่ 11 กรกรฎาคม 2559 เป็นวันตรวจพยานหลักฐาน หลังเสร็จสิ้นฟังคำสั่ง พันธ์ศักดิ์ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาล และกล่าวกับสื่อมวลชนว่า แม้จะอยู่ในช่วงพิจารณาคดีและต้องขึ้นศาลทหาร ก็ยังทำกิจกรรมได้เรื่อยๆ ไม่มีผลอะไร ช่วงนี้ทำกิจกรรม 'วิ่งเฉยๆ'
 
11 กรกฎาคม 2559
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
นัดตรวจพยานหลักฐานถูกเลื่อนออกไปวันที่ 1 มีนาคม 2560
 
1 มีนาคม 2560
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ทวิตเตอร์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า คดีนี้มีการตรวจพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานนัดแรกวันที่ 20 มิถุนายน 2560

 

 20 มิถุนายน 2560

นัดสืบพยานโจทก์
 
ประมาณ 10.00 น.  ห้องห้องพิจารณาที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ
อัยการถาม พ.ต.อ.สถิตย์ พยานผู้กล่าวหาในประเด็นเกี่ยวกับการติดตามการเคลื่อนไหวของจำเลยทางเฟซบุ๊กว่า มีการโพสต์เชิญชวนร่วมกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เรียกร้องให้พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2558
พยานให้การว่า ในวันที่ 14 มีนาคม 2558 พันธ์ศักดิ์เดินทางจากบ้านน้องเฌอ ซึ่งเป็นบุตรชายที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 แต่ระหว่างเดินทางถูกเชิญตัวไป สน.ปทุมวัน โดย พ.ต.อ.สถิตย์ ไม่ทราบว่าถูกดำเนินคดีหรือไม่ ก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2558 จำเลยจะเริ่มกิจกรรมที่ “หมุดเฌอ” ซึ่งเป็นจุดที่บุตรชายของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมปี 2553 ในซอยรางน้ำ ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ระหว่างทางมีผู้เข้ามาร่วมเดินเพิ่มอีก 6 คน ในจำนวน 6 คนนี้ หนึ่งในนั้นคือปรีชา  ซึ่งรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 8 พันบาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี
 
พ.ต.อ.สถิตย์ ให้เหตุผลในการกล่าวหาจำเลยตามข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปว่า เนื่องจากจำเลยมีข้อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และชื่อกลุ่มของจำเลย คือ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ มีนัยเกี่ยวกับการเมือง จึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 7 คน
 
ส่วนข้อหายุยงยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น พยานเห็นว่า การเชิญชวนให้คนออกมาชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนฝ่าฝืนประกาศ คสช. ซึ่งถือเป็นกฎหมาย และเมื่อโพสต์เชิญชวนทางเฟซบุ๊ก จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดต่อความมั่นคงด้วย
 
ทั้งนี้ ระหว่างที่อัยการถามความพยานอยู่นั้น ทนายความได้โต้แย้งว่าอัยการถามคำถามนำบ่อยครั้ง ช่วงหนึ่ง โจทก์และทนายความจำเลยลุกขึ้นมาโต้เถียงกันเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่ร่วมเดินกับพันธ์ศักดิ์ตามที่พยานเบิกความ ซึ่งทนายความเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดี ศาลได้ตักเตือนอัยการไม่ให้ถามนำ และขู่ว่าจะดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล หากทนายความไม่เชื่อฟังศาล
อย่างไรก็ตาม การสืบพยานปากนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ทนายความจำเลยจะถามค้าน พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ต่อในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08.30 น.


13 กรกฎาคม 2561

นัดสืบพยาน

สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ


ที่ศาลทหารกรุงเทพ  เวลาประมาณ 10.00 น.  ศาลขึ้นบัลลังก์แต่หลังจากเริ่มสืบพยานไม่ถึง 10 นาทีศาลสั่งห้ามผู้เข้าฟังในห้องพิจารณาจดบันทึก ทั้งๆที่การพิจารณานัดก่อนๆไม่ได้มีการสั่งห้ามเช่นนี้ ขณะเดียวกันแม้ว่าทนายจำเลยขออนุญาตให้เสมียนที่มาด้วยเป็นผู้จดบันทึกก็ตาม ศาลกลับอนุญาตแค่ให้ทนายจดบันทึกเท่านั้น และกระทั่งหลังออกจากห้องพิจารณาก็มีเจ้าหน้าที่ศาลมาถามผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาบางท่านเพื่อทำการยึดสมุดและฉีกหน้ากระดาษที่มีการบันทึกเกี่ยวกับการสืบพยานครั้งนี้ ซึ่งส่วนมากเป็นข้อมูลในช่วง 10 นาทีแรกหลังจากการเริ่มสืบพยานก่อนที่จะมีการสั่งห้ามไม่อนุญาตให้จดบันทึกเท่านั้น

จากนั้นทนายเริ่มถามค้านในหลายคำถาม พยานตอบสรุปใจความได้ว่า  ผู้บังคับบัญชาของตนคือพลเอกสมโภชน์ วังแก้ว ผู้บังคับบัญชากองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ผู้บังคับบัญชากองกำลังสังกัดกระทรวงกลาโหม และตนสำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยดำรงตำแหน่งในกรมพระธรรมนูญ มีความรู้ด้านกฎหมายอาญาและกฎหมายทหารพอสมควร


ทนายถามว่า จากความรู้รวมทั้งความคิดเห็นของพยาน พยานว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 นั้นอาศัยอำนาจจากกฎอัยการศึกหรือไม่

พยานตอบว่า ไม่ได้ใช้ แต่อาศัยอำนาจรัฎฐาธิปัตย์
ทนายนำเอกสารประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้พยานดูประโยคบนประกาศมีใจความประมาณว่า "ประกาศนี้อาศัยอำนาจจากกฎอัยการศึก" และถามต่อว่าพยานยืนยันข้อความนี้ในเอกสารฉบับนี้หรือไม่

พยานตอบว่า ยืนยันครับ

ทนายถามต่อว่า ถ้าตามที่พยานเบิกความเบื้องต้นว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ใช้อำนาจจากรัฎฐาธิปัตย์ ดังนั้นข้อความในเอกสารดังกล่าวที่ระบุว่าประกาศอาศัยอำนาจจากกฎอัยการศึกเป็นเท็จหรือไม่
พยานตอบว่า ไม่เป็นเท็จครับ

ทนายถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้นด้วยความรู้ของพยาน รัฎฐาธิปัตย์คืออะไร คสช.ถือเป็นรัฎฐาธิปัตย์หรือไม่
พยานตอบว่า รัฎฐาธิปัตย์คือบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศขณะนั้น คสช.ถือเป็นรฎฐาธิปัตย์หลังจากการยึดอำนาจสำเร็จในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  และคสช. ไม่ได้เข้ามาบริหารแบบหลักประชาธิปไตย สำหรับประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเช่นเดิมแต่ตนไม่ขอตอบว่าเป็นประมุขในระบอบอะไร

ทนายถามว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยตามคสช.ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่จำเป็น

ทนายถามต่อว่า หากประชาชนเห็นต่างกับรัฐบาลคสช.ถือเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่
ทนายถามต่อว่า มีประชาชนออกมาต่อต้านการรัฐประหารและถูกดำเนินคดีหรือไม่ พยานตอบว่า มี บางกลุ่มเท่านั้นส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา

ทนายถามว่า พยานเห็นด้วยกับประกาศคสช.หรือไม่ พยานตอบว่า ตนเห็นด้วยเป็นบางฉบับ

ทนายถามต่อว่า พยานเห็นว่าประกาศคสช.ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พยานตอบว่า เป็นบางฉบับ
ทนายถามต่ออีกว่า พยานมีความคิดเห็นอย่างไรกับประกาศคสช.ที่นำพลเรือนขึ้นรับการพิจารณาคดีจากศาลทหาร ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของพลเรือนหรือไม่
พยานตอบว่า ไม่ถือเป็นการละเมิดครับ ยกเว้นเป็นช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพราะไม่อนุญาตให้มีการอุธทรณ์และฎีกา

ทนายขอให้พยานเขียนคำว่า "รัฎฐาธิปัตย์" เหตุเพราะเจ้าหน้าที่ศาลพิมพ์คำนี้ผิด
พยานมีการโวยวายเสียงดังเล็กน้อยว่าเหตุใดตนต้องเขียน อีกทั้งศาลยังตำหนิทนายพร้อมตักเตือนว่าอย่าเล่นแง่
ทนายจึงเปลี่ยนเป็นขอให้พยานสะกดแทน โดยถามว่าคำว่ารัฎฐาธิปัตย์ มี ราษ'ฎ'ร หรือไม่
พยานตอบว่า ไม่มี
ทนายบอกว่า รัฎฐาธิปัตย์ มี ราษ'ฎ'ร และขอให้เจ้าหน้าที่ศาลแก้ไขบันทึกศาล

ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่ามาตรา 116 นั้นมีข้อยกเว้น
พยานตอบว่า ไม่แน่ใจ และถามว่ามาตราที่ใช้ยกเว้นคือมาตราอะไร
ทนายนำบทกฎหมายมาตรา 116 เพื่อให้พยานอ่านเรื่องการยกเว้นแต่พยานบอกให้ทนายบอกตนเลย ตนเห็นแล้วว่าแต่บทกฎหมายจริง

ทนายจึงบอกว่า มาตรา 116 นั้นมีข้อยกเว้นในตัวมาตราเองครับ เพราะในมาตรานี้ระบุไว้ว่าหากจำเลยปฏิบัติตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและสุจริตจะไม่ถือว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการปลุกปั่น เป็นการอ่านตีความกลับหลังของมาตรา 116 ครับ

พยานตอบว่า ก็ตามที่ทนายกล่าวมาแหละครับ ผมก็นึกว่ามีมาตรายกเว้น

ทนายถามว่า พยานเห็นว่าเหตุผลของการให้พลเรือนขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหารคืออะไร

พยานตอบว่า เพื่อความรวดเร็วที่มีมากกว่า เพราะในขณะนั้นได้ทีการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้มีการพิจารณาคดีแค่ศาลเดียว จบภายในศาลเดียวจึงรวดเร็วกว่ากระบวนการยุติธรรมตามปกติ

ทนายถามว่า จากเหตุผลที่พยานยกมาข้างต้น พยานทราบหรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วศาลทหารมีการพิจารณาคดีที่ช้ากว่าศาลพลเรือนทั่วไปอย่างมาก
พยานตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่าการล่าช้าชองศาลทหารนั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลของจำเลยที่ปฏิเสธการขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหาร
พยานตอบว่า ไม่ทราบ (พร้อมกับเสียงที่เริ่มดังขึ้น)

ศาลตักเตือนทนายว่าคำถามเหล่านี้อาจเป็นการดูหมิ่นศาลและกระทบศาลมากเกินไป พร้อมอธิบายว่าศาลทหารมีคดีของทหารมาก เพราะบุคลากรไม่เพียงพอจึงเป็นการยากที่จะรองรับคดีพลเรือนจึงเป็นเหตุของความล่าช้าดั่งที่ทนายกล่าวมา
ทนายชี้แจงต่อศาลว่าตนและจำเลยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือกล่าววาจากระทบกระทั่งต่อศาลทหารแต่อย่างใด เพียงแต่ตนกล่าวตามความเป็นจริงเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยนั้นมีเหตุผลสุจริตตามข้อยกเว้นในมาตรา 116

ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าศาลพลเรือนมีการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องและพิจารณาเสร็จภายในเวลาไม่กี่เดือนซึ่งแตกต่างจากศาลทหารที่ทำการนัดพิจารณาคดีเดือนครั้งหรือสองเดือนครั้ง

พยานตอบว่า ไม่ทราบว่าศาลพลเรือนพิจารณาคดีอย่างไร แต่ตนทราบว่าศาลทหารก็มีการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องเป็นบางคดีเช่นกัน

ทนายถามว่า พยานเห็นว่าเหตุผลของจำเลยนั้นถือว่าเป็นเหตุผลที่สุจริตและไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
พยานตอบด้วยน้ำเสียงที่ไม่พอใจและเสียงดังว่า ผมไม่ทราบ! ที่คุณกล่าวมาเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลย จะมาถามผมทำไมผมไม่ทราบ!

ทนายจึงทวนคำถามข้างตนเพื่อสรุปคำเบิกความของพยานเพื่อที่ยืนยันว่าตนและพยานเข้าใจตรงกัน หากแต่พยานนั้นมีอารมณ์โมโหและตะคอกใส่ทนายว่า ผมไม่ทราบ! คุณจะย้ำทำไมก็ผมบอกว่าผมไม่ทราบมันเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลย!

ถามผมเรื่องเหตุการแจ้งความสิ อันนั้นผมตอบได้แต่คุณดันถามผมเรื่องความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลยแล้วคุณยังถามผมเรื่องสถาบันอีก ผมไม่สามารถตอบได้!
พยานเบิกความข้างต้นด้วยเสียงดังพร้อมทั้งผายมือไปทางทนายและตบโต๊ะพยานเล็กน้อย

ทนายกล่าวกับศาลว่า ท่านจะให้พยานขึ้นเสียงใส่ผมแบบนี้เหรอครับ จากนั้นทนายจึงขอพักการพิจารณาคดีเป็นเวลา 5 นาทีเพราะพยานไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้

ด้วยความที่ขณะนั้นเป็นเวลา 11.00 น. จวนจะ 12.00 น.แล้ว ศาลจึงถามว่าถ้าหากเปลี่ยนจากการพักพิจารณาคดีเป็นเลิกศาลและพิจารณาคดีต่อในนัดต่อไปจะดีกว่าไหม ทนายตอบตกลงตามที่ศาลเสนอ หากแต่พยานปฏิเสธที่จะพิจารณาคดีต่อในนัดครั้งหน้าพร้อมบอกว่า เอาให้เสร็จวันนี้แหละมันเสียเวลาผม
ทนายจึงแย้งขึ้นมาว่า พยานควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้แล้วนะครับ แต่พยานยืนยันที่จะทำการสืบพยานต่อให้เสร็จภายในวันนี้ ทนายยินยอมและขอให้พยานสงบอารมณ์ลงก่อนแล้วจึงเริ่มทำการสืบพยานต่อ

ทนายมีการย้ำคำถามและคำตอบก่อนหน้านี้โดยสรุปว่า พยานไม่ทราบเพราะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลยถูกต้องไหมครับ พยานตอบว่า ใช่

ทนายถามว่า พยานมีเฟซบุ๊กหรือไม่ หากมีชื่อเฟซบุ๊กของพยานคืออะไร
พยานตอบว่า มีแต่ไม่บอกชื่อเฟซบุ๊ก
ทนายจึงแซวว่า พยานเป็นเพื่อนกับตนบนเฟซบุ๊กหรือไม่ เพื่อให้บรรยากาศในการพิจารณาคดีนั้นลดความตึงเครียดลง
ทนายถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยมีเฟซบุ๊กเช่นกัน หากทราบพยานเคยได้อ่านบทความของจำเลยที่เขียนลงให้เฟซบุ๊กของจำเลยเองหรือไม่

พยานตอบว่า ไม่ทราบว่าจำเลยมีเฟซบุ๊กและไม่เคยอ่านบทความที่เขียนโดยจำเลย

ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยเป็นอดีตนักฟุตบอลและเป็นบิดาของน้องเฌอ

พยานตอบว่า ไม่ทราบ แต่มาทราบหลังจากแจ้งความ
ทนายถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่าน้องเฌอ ลูกสาวของพยานได้เสียชีวิตระหว่างการสลายชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 53 โดยทำการสลายชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร

พยานตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายถามว่า พยานคิดว่าการที่ลูกสาวของจำเลยเสียชีวิตจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมนั้นเป็นเหตุผลเพียงพอหรือไม่ที่จำเลยจะต่อต้านการให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร

พยานตอบว่า ไม่ทราบ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลย ผมไม่ทราบ

ทนายถามว่า พยานเคยเห็นโพสต์ของจำเลยที่ระบุว่า "อย่ามาเกินสี่คนนะ เดี๋ยวเกินห้าคน" หรือไม่พร้อมนำรูปภาพข้อความที่จำเลยโพสต์ให้พยานดู แล้วถามต่อว่า หากพยานเห็นแล้ว พยานคิดว่าเจตนาของจำเลยในโพสต์นี้คืออะไร

พยานตอบว่า เคยเห็นครับ ผมคิดว่าเจตนาของจำเลยคือการหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุมเกินห้าคน

ทนายถามว่า การที่มีผู้มาให้กำลังใจและให้ดอกไม้แก่จำเลยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อีกทั้งเดินเว้นระยะห่างจากจำเลย 5 – 10 เมตร เท็จจริงถูกต้องหรือไม่ครับ
พยานตอบว่า ถูกต้อง

ทนายถามต่อว่า ในที่ 14 กุมภาพันธ์จำเลยมีการปราศรัยเรื่องการเมืองระหว่างการเดินหรือไม่ครับ

พยานตอบว่า ไม่มี หากแต่การกระทำของจำเลยถือเป็นการปลุกปั่นอารมณ์ต่อกลุ่มอื่นบางกลุ่ม

ทนายถามว่า แล้วการที่ชาวบ้านเกินห้าคนเดินทางมาให้กำลังใจและดอกไม้กับนายกรัฐมนตรีในเวทีปราศรัยนโยบายต่างๆถือว่าเป็นการชุมนุมเกินห้าคนหรือเป็นการปลุกระดมไหมครับ
พยานถามทนายว่า ปราศรัยอะไรครับ ทนายขยายความว่า เวลามีการชี้แจงเรื่องนโยบายต่างๆครับ

พยานตอบว่า การชี้แจงหรอครับ ไม่ครับ พยานเบิกความเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านหรือสนับสนุนรัฐบาลก็โดนหมดครับ ชุมนุมให้กำลังใจท่านประวิตรก็โดนดำเนินคดีครับ

ทนายถามว่า พยานคิดว่านอกจากเจตนาของจำเลยที่โพสต์ข้อความก่อนหน้านี้ลงเฟสบุ๊คเพื่อเป็นการเลี่ยงข้อกฎหมาย จำเลยมีเจตนาอื่นอีกหรือไม่

พยานตอบว่า ตนคิดว่าเป็นการปลุกระดมบุคคลอื่นบางกลุ่ม อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายได้

ทนายถามว่า พยานสนิทสนมกับจำเลยจนสามารถรับรู้เจตนาของจำเลยได้หรือไม่
พยานตอบว่า ไม่

ทนายถามว่า การยึดอำนาจของรัฐบาลคสช.นั้นได้รับการยอมรับจากนานาประเทศหรือไม่

พยานตอบว่า ได้รับการยอมรับ เป็นระบอบที่สากลยอมรับ

ทนายถามต่อว่า การที่ต่างประเทศหลายประเทศไม่อนุญาตให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าประเทศถือเป็นการได้รับการยอมรับจากนานาประเทศเหรอครับ

พยานตอบว่า ไม่ทราบเรื่องที่หลายประเทศไม่อนุญาตให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าประเทศ หากแต่รัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับการยอมรับจากนานาประเทศเพราะเป็นระบอบสากล ใครๆก็ใช้กัน เช่นเดียวกับการยึดอำนาจในปี 2475 ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ตอบอัยการถามติง

เหตุใดพยานจึงคิดว่าข้อความโพสต์โดยจำเลยมีเจตนาเป็นการปลุกระดม

พยานตอบว่า เพราะจำเลยเคยมีพฤติการณ์ทำให้คิดเช่นนั้น
อัยการถามต่อว่า พฤติการณ์เช่นอะไรคะ
พยานตอบว่า การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองประมาณนั้น

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานปากต่อไป 14 กันยายน 2561

14 กันยายน 2561

นัดสืบพยานโจทก์

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รองผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม

พ.ต.อ.สมยศเบิกความต่ออัยการทหารว่า ขณะเกิดเหตุเขารับราชการที่สน.ชนะสงครามมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 14 มีนาคม 2558 เขาได้รับการประสานจากพ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ  กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการนครบาล 1 ว่าจะมีมวลชนกลุ่มพลเมืองโต้กลับมาทำกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน เรียกร้องให้ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ภายใต้แนวคิด เมื่อความยุติธรรมไม่มา เราจะเดินไปหามัน

พ.ต.อ.สมยศเห็นว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองเพราะมีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนคนที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายของคสช.มาร่วมเดินเท้า พ.ต.อ.สมยศเห็นว่าการกระทำดังกล่าว กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงสั่งการให้ตรวจสอบ ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 มอบหมายให้พ.ต.ท.ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา นำกำลังไปประจำการบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งบริษัทรถเบนซ์ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ชุมนุมจะเข้าท้องที่ของสน. ส่วนตัวของเขาประจำการอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกี่ยวกับกิจกรรมในวันที่ 15 มีนาคม 2558 พ.ต.อ.สมยศเบิกความว่าพันธ์ศักดิ์เริ่มเดินจากซอยรางน้ำเพื่อวางดอกไม้บริเวณจุดที่บุตรชายของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิตในปี 2553 ซึ่งมีหมุดที่ระลึกฝังไว้ หลังจากนั้นพันธ์ศักดิ์และมวลชนเดินเท้าจากผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสรณ์สถานซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหมายทางการเมืองก่อนจะเดินมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มีพันธ์ศักดิ์และมวลชนรวมเจ็ดคน ที่เหลือเป็นฝ่ายข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ฝ่ายข่าวทหาร และหน่วยข่าวกรอง ที่แยกออกจากมวลชนเพราะจะคอยถ่ายภาพและรายงานผู้บังคับบัญชา

พ.ต.อ.สมยศเบิกความต่อว่า มวลชนที่เดินมาร่วมกับพันธ์ศักดิ์มีทั้งหมดเจ็ดคน คนที่ทราบชื่อมีพันธ์ศักดิ์และปรีชา ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นอีกสี่คนตามภาพที่อัยการทหารนำมาให้ดู พ.ต.อ.สมยศไม่ทราบชื่อและมีหนึ่งคนที่ไม่แน่ใจอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ เมื่อพันธ์ศักดิ์และมวลชนเดินมาถึง พ.ต.อ.สมยศเชิญพันธ์ศักดิ์ไปพูดคุยกับผู้ช่วยอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ ที่ห้องประชุมตึกโดมโดยตัวพ.ต.อ.สมยศร่วมพูดคุยด้วย

สำหรับเนื้อหาการพูดคุยพ.ต.อ.สมยศเบิกความว่า สอบถามพันธ์ศักดิ์ว่าจะมาทำกิจกรรมอะไร จากนั้นผู้ช่วยอธิการบดีชี้แจงกับพันธ์ศักดิ์ว่าหากบุคคลภายนอกต้องการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยจะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า และเมื่อทราบการทำกิจกรรมของพันธ์ศักดิ์จะมีการนอนค้างคืน ตัวแทนมหาวิทยาลัยก็ชี้แจงว่าทางมหาวิทยาลัยมีระเบียบห้ามบุคคลภายนอกนอนค้างคืนในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ตัวพ.ต.อ.สมยศก็แจ้งกับพันธ์ศักดิ์ว่าการทำกิจกรรมของพันธ์ศักดิ์อาจเข้าข่ายความผิดตามคำสั่งคสช. ฉบับที่ 7/2557 (พยานเบิกความว่าคำสั่งไม่ใช่ประกาศ) สำหรับผลการพูดคุยพันธ์ศักดิ์บอกว่าจะไม่ทำกิจกรรม ไม่ใช้เครื่องเสียง แต่จะไปนั่งพักผ่อนพูดคุยกับคนที่มาให้กำลังใจที่บริเวณลานปรีดีซึ่งมีที่นั่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถนั่งพักผ่อนได้และจะไม่มีการพักค้างคืนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังการพูดคุยแล้วเสร็จ พันธ์ศักดิ์และมวลชนประมาณ 20 คน เดินไปนั่งจับกลุ่มคุยกันที่บริเวณลานปรีดี บางกลุ่มนั่งกันห้าคน บางกลุ่มนั่งรวมกันสิบคน พ.ต.อ.สมยศไม่ทราบว่าพันธ์ศักดิ์กับมวลชนที่มาพูดคุยอะไรกัน นอกจากการพูดคุยก็มีมวลชนนำสติกเกอร์แผ่นละ 15 – 20 บาทมาจำหน่ายด้วย สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พ.ต.อ.สมยศเบิกความว่าเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพเหตุการณ์การพูดคุยของพันธ์ศักดิ์และมวลชนที่มาให้กำลังใจ และรายงานสถานการณ์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ กลุ่มดังกล่าวนั่งคุยถึงประมาณ 19.00 จึงได้สลายตัวกลับบ้าน

 หลังจากนั้นวันที่ 16 มีนาคม 2558  มีคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่งตั้งพ.ต.อ.สมยศเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมกับตำรวจท้องที่อื่นที่พันธ์ศักดิ์เดินผ่าน รวบรวมพยานหลักฐาน และทำรายงานสถานการณ์ความมั่นคงเสนอต่อผู้บังคับบัญชา พ.ต.อ.สมยศ ทำรายงานพร้อมส่งภาพถ่ายที่อัยการทหารอ้างส่งศาลระหว่างการสืบพยานวันนี้ให้ผู้บังคับบัญชาพร้อมทั้งเบิกความว่าเขา
ไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับพันธ์ศักดิ์มาก่อน

อัยการแถลงหมดคำถาม ทนายจำเลยแถลงขอเลื่อน สืบพยานถามค้าน ออกไปก่อนเพราะมีคำถามที่ต้องถามค้านพยานปากนี้จำนวนมากจะขอให้ศาลออกหมายเรียกบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานปากนี้มาเพื่อเตรียมถามค้าน อัยการทหารแถลงต่อศาลว่าไม่คัดค้านการขอเลื่อนนัด ศาลนัดสืบพยานปากนี้ต่อในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่คู่ความนัดกันไว้แล้ว อัยการทหารยังแถลงขอให้ศาลส่งหมายเรียกไปให้พ.ต.อ.สมยศ ที่สน.ดุสิตซึ่งเป็นต้นสังกัดปัจจุบันของพยานด้วย

29 ตุลาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

ศาลทหารเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ออกไปเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาลเพราะติดราชการ

12 พฤศจิกายน 2561

นัดสืบพยานโจทก์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่าการสืบพยานปาก พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เสร็จสิ้นแล้ว ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานปากต่อไปวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562

25 กุมภาพันธ์ 2562

นัดสืบพยานโจทก์

พันธ์ศักดิ์ พร้อมทนายมาถึงศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 10.00 น. เมื่อมาถึงได้รับแจ้งว่าพยานโจทก์ที่นัดไว้วันนี้ไม่มาศาลเนื่องจากติดราชการ เจ้าหน้าที่ศาลทหารนำคำสั่งศาลเรื่องการจำหน่ายคดีเฉพาะข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มามอบให้ทนายจำเลยด้วย โดยการจำหน่ายคดีเฉพาะข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังพล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ในส่วนดังกล่าวไป
 
สำหรับการสืบพยานนัดต่อไปศาลทหารสั่งเลื่อนไปสืบพยานในวันที่ 5 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่คู่ความกำหนดวันนัดไว้ก่อนแล้ว
 
5 มีนาคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ ร.ต.อ.ปภาณ สีหาอาจ รองสารวัตรสืบสวนส.น.นางเลิ้ง
 
การสืบพยานคดีนี้เริ่มในเวลาประมาณ 9.45 น. 
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความตอบศาลว่า ขณะที่เบิกความต่อศาลเขาปฏิบัติหน้าที่เป็นรองสารวัตรจราจร สน.บางโพงพาง โดยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2559 
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความตอบอัยการทหารว่าเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่เป็นรองสารวัตรปราบปรามและรองสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง มีหน้าที่สืบสวนหาผู้ค้ายา และปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเหตุในคดีนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในเขตรับผิดชอบของสน.นางเลิ้งด้วย
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าพันธ์ศักดิ์กับพวกร่วมกันดำเนินการทางการเมือง เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนอำนาจคสช. และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน 
 
อัยการทหารขอให้ร.ต.อ.ปภาณชี้ตัวว่าพันธ์ศักดิ์อยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยหรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณหันไปชี้ตัวพันธ์ศักดิ์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี 
 
อัยการทหารขอให้ร.ต.อ.ปภาณเล่าเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม 2558 โดยการกระทำของจำเลยที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของเขาเกิดขึ้นระหว่างเวลาประมาณ 10.00 น. – 12.00 น.
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความต่อว่า ในวันที่ 14 มีนาคม 2558 พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 1 ในขณะนั้น แจ้งกับผู้บังคับบัญชาของเขาว่า เพจเฟซบุ๊ก พลเมืองโต้กลับ ประกาศเชิญชวนคนทำกิจกรรมทางการเมืองระหว่างวันที่ 14 – 16 มีนาคม 2558 โดยมีข้อเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าจำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับดังกล่าว ส่วนที่พ.ต.อ.สถิตย์ มาแจ้งเหตุกับผู้บังคับบัญชาของเขาน่าจะเป็นเพราะกลุ่มของจำเลยจะเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่รับผิดชอบของสน.นางเลิ้ง
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าที่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำทางการเมืองเป็นเพราะมีการโพสต์ข้อความเชิญชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนออกมาต่อต้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารซึ่งถือเป็นการต่อต้านอำนาจคสช.และอำนาจของรัฐบาลในขณะนั้น 
 
เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีนี้ ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าผู้บังคับบัญชาสั่งการให้เขาไปสังเกตการณ์ การกระทำของจำเลยในวันเกิดเหตุ  ผู้บังคับบัญชาแจ้งกับเขาด้วยว่า ได้รับข้อมูลมาจากทางไลน์ว่าพันธ์ศักดิ์จะเดินมาจากซอยรางน้ำ จากนั้นจะเดินผ่านถนนศรีอยุธยาแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนิน เส้นทางเดินจะผ่านพื้นที่ของสน.พญาไท สน.ดุสิต จากนั้นจึงเข้าพื้นที่รับผิดชอบของสน.นางเลิ้ง โดยพันธ์ศักดิ์จะเดินเข้าพื้นรับผิดชอบของสน.นางเลิ้งที่แยกมิสกวัน โดยในวันเกิดเหตุเขาไปยืนรอพันธ์ศักดิ์ที่บริเวณแยกมิสกวัน ในเวลาประมาณ 10.00 น.
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าพันธ์ศักดิ์เดินเข้าพื้นที่มากับพวกรวมห้าคน โดยมีนักข่าวและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามมาด้วย ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าเขาแยกระหว่างผู้ทำกิจกรรมกับนักข่าวหรือเจ้าหน้าที่ออกเพราะพฤติการณ์ของคนทำกิจกรรมจะเดินโบกไม้โบกมือแต่นักข่าวหรือเจ้าหน้าที่จะเดินตามโดยมีการเว้นระยะ และจะถ่ายรูปการทำกิจกรรม นอกจากนี้นักข่าวหรือเจ้าหน้าที่จะมีการห้อยบัตรแสดงตัว
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าพันธ์ศักดิ์และพวกรวมห้าคนเดินผ่านสะพานมัฆวานจากนั้นแวะรับประทานอาหารที่ร้านไก่ย่างผลเจริญ โดยในจำนวนบุคคลที่เดินมาทั้งหมดห้าคนมีสี่คนรวมทั้งพันธ์ศักดิ์จำเลยคดีนี้ที่เข้าไปรับประทานอาหาร ส่วนอีกคนหนึ่งรออยู่ด้านนอก โดยก่อนหน้าที่พันธ์ศักดิ์กับพวกจะเข้าไปก็มีคนรออยู่ในยร้านแล้วสี่คน ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าเขาทราบเหตุการณ์ภายในร้านเพราะประตูของร้านเป็นกระจกมองเข้าไปได้ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในร้านส่งข้อมูลและภาพถ่ายผ่านแอพพลิเคชันไลน์มาให้
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าบุคคลทั้งแปดรับประทานอาหารจนถึงเที่ยงจึงออกมาจากร้าน โดยคนที่ออกมาเดินต่อคือพันธ์ศักดิ์และพวกรวมสี่คนที่เดินเข้าไปรับประทานอาหารและคนที่ร่วมเดินอีกหนึ่งคนที่ไม่ได้เข้าไปรับประทานอาหารแต่รออยู่หน้าร้านร่วมเดินต่อ ส่วนคนที่รออยู่ในร้านอีกสี่คนไม่ได้ออกมาร่วมเดินด้วย สำหรับเส้นทางที่เดินต่อร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่ากลุ่มดังกล่าวเมื่อออกจากร้านแล้วก็เดินไปทางแยกจปร.และสะพานผ่านฟ้า
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าเมื่อเดินออกจากร้านแล้วเขาเดินตามกลุ่มดังกล่าวไปถึงแยกผ่านฟ้าซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสน.สําราญราษฎร์ เขาจึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาทางโทรศัทพ์และทางแอพพลิเคชันไลน์ โดยได้ส่งภาพถ่ายไปทางแอพพลิเคชันไลน์ด้วย โดยเมื่อเดินมาถึงแยกผ่านฟ้าก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่จากสน.สำราญราษฎร์มารอรับช่วงต่อแล้ว  อัยการทหารนำภาพถ่ายสามภาพมาให้ร.ต.อ.ปภาณดูแล้วถามว่าใช่ภาพที่ร.ต.อ.ปภาณถ่ายแล้วส่งให้ผู้บังคับบัญชาทางแอพลิเคชันไลน์ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณรับว่าใช่
 
ระหว่างการถามคำถาม อัยการทหารให้ร.ต.อ.ปภาณดูภาพถ่ายบุคคล ซึ่งร.ต.อ.ปภาณยืนยันว่ามีภาพของพันธ์ศักดิ์และภาพของบุคคลที่ร่วมเดินกับพันธ์ศักดิ์ในวันเกิดเหตุ
 
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าเขาเคยถูกเชิญไปให้ปากคำที่สน.สำราญราษฎร์ซึ่งเขาได้ลงรายมือชื่อไว้ในไว้ในเอกสารสอบปากคำด้วย

อัยการทหารแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่าข้อเรียกร้องในการกระทำของจำเลยคดีนี้คือการเรียกร้องให้ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าเจตนารมณ์ของศาลทหารคือใช้พิจารณาคดีทหาร ไม่ใช่พลเรือนใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าจำเลยมีสิทธิรณรงค์ในประเด็นดังกล่าวหรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณเห็นว่าจำเลยเป็นพลเรือนสามารถรณรงค์ไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารได้ 
 
ทนายจำเลยถามว่าในวันที่ 14 มีนาคม  ที่มีการกล่าวหาว่ามีการโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาชุมนุม ตัวร.ต.อ.ปภาณเคยเห็นโพสต์ดังกล่าวหรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่าตัวเขาไม่ได้เห็นโพสต์ดังกล่าวเองและไม่ทราบว่ามีโพสต์ดังกล่าว และว่าข้อความในโพสต์ดังกล่าวจะมีเจตนาปลุกปั่นให้ประชาชนละเมิดกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่
 
ทนายจำเลยถามว่า ช่วงเวลาที่พันธ์ศักดิ์อยู่ในท้องที่รับผิดชอบของสน.นางเลิ้ง เหตุการณ์เป็นไปโดยสงบใช่หรือไม่ พันธ์ศักดิ์มีการปราศรัยปลุกระดมหรือไม่ และระหว่าเวลา 10.00 – 12.00 น. รัฐบาลที่บริหารประเทศในขณะนั้นก็บริหารราชการแผ่นดินไปโดยปกติใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่าในท้องที่ของเขาการทำกิจกรรมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการปราศรัย และรัฐบาลก็บริหารราชการแผ่นดินไปโดยปกติ 
 
ทนายจำเลยถามว่า ในชั้นสอบสวนร.ต.อ.ปภาณไม่ได้ให้การเรื่องเรื่องการส่งภาพถ่ายให้ผู้บังคับบัญชาผ่านแอพพลิเคชันไลน์ และไม่ได้ให้การเรื่องว่ามีบุคคลใดบ้างที่ร่วมเดินกับพันธ์ศักดิ์ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณรับว่าไม่ได้ให้การทั้งสองเรื่องกับพนักงานสอบสวน
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการทหารถามร.ต.อ.ปภาณว่า ที่ตอบทนายจำเลยว่าไม่เคยให้การเรื่องการส่งภาพถ่ายให้ผู้บังคับบัญชาทางแอพพลิเคชันไลน์ และเรื่องที่ไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่ามีบุคคลใดบ้างร่วมเดินกับพันธ์ศักดิ์ ร.ต.อ.ปภาณยืนยันคำให้การในชั้นศาลตามที่ได้เบิกความไปหรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่ายืนยันคำเบิกความ
 
อัยการทหารแถลงหมดคำถาม

ศาลแจ้งให้คู่ความมาสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 19 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คู่ความนัดกันไว้แล้ว
 
19 มีนาคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ในวันนี้ติดราชการ มาศาลไม่ได้ ศาลจึงเลื่อนไปสืบพยานในวันที่ 2 เมษายน 2562   
 
2 เมษายน 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า ด.ต.พงศ์เทพ โกฎเพชร ผู้บังคับหมู่งานสืบสวนสน.พญาไท
 
ศาลทหารเริ่มการสืบพยานในเวลาประมาณ 9.45 น. ด.ต.พงศ์เทพเบิกความต่อศาลว่า ขณะเบิกความเขารับราชการตำรวจเป็นผู้บังคับหมู่งานสืบสวนส.น.พญาไท มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย เกี่ยวของกับคดีนี้เนื่องจากได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่า มีเฟซบุ๊กเพจชื่อ พลเมืองโต้กลับ โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนร่วมการชุมนุมระหว่างวันที่ 14 – 16 มีนาคม 2558 เพื่อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยจะมีช่วงหนึ่งที่กิจกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของสน.พญาไท 
 
ด.ต.พงศ์เทพเบิกความรับว่า ตัวเขาเองไม่ได้เห็นหรืออ่านโพสต์ดังกล่าวด้วยตัวเอง แต่ทราบจากคำบอกของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น และไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เขาไปสังเกตการณ์และดูแลความเรียบร้อย ระหว่างที่พันธ์ศักดิ์และพวกเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่รับผิดชอบของสน.พญาไท ในการไปสังเกตการณ์ ทางสน.เองก็มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะการทำกิจกรรมทางการเมืองย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง คนที่เห็นต่างอาจมาทำร้ายผู้ชุมนุมได้ 
 
อัยการทหารถามว่า เหตุใดจึงเห็นว่าการทำกิจกรรมของพันธ์ศักดิ์กับพวกเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า เพราะการฝ่าฝืนอำนาจ คสช. ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจบริหารประเทศ 
 
อัยการทหารถามด.ต.พงศ์เทพเกี่ยวกับการจัดกำลังเพื่อสังเกตการณ์กิจกรรม ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า วันที่ 14 มีนาคมซึ่งเป็นวันก่อนวันเกิดเหตุในท้องที่ การเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นเวรของชุดสืบสวนอีกชุดหนึ่ง ส่วนวันเกิดเหตุ 15 มีนาคม 2558 การปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังเป็นของเขากับพวก ในวันเกิดเหตุพันธ์ศักดิ์เดินเข้าพื้นรับผิดชอบของสน.พญาไทบริเวณซอยรางน้ำในเวลาประมาณ 9.00 น. โดยข้ามถนนราชปรารภมาจากทางเท้าฝั่งตรงข้ามซอยรางน้ำซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของสน.ดินแดง 
 
อัยการทหารขอให้ด.ต.พงศ์เทพยืนยันภาพถ่ายพันธ์ศักดิ์ในสำนวนคดีและใช้ชี้ตัวพันธ์ศักดิ์ในห้องพิจารณาคดี ด.ต.พงศ์เทพยืนยันเอกสารและหันมาชี้ตัวพันธ์ศักดิ์ ด.ต.พงศ์เทพ เบิกความต่อว่า ตัวเขาไปยืนรอพันธ์ศักดิ์ตั้งแต่บริเวณปากซอยรางน้ำฝั่งถนนราชปรารภ พันธ์ศักดิ์เดินเข้ามาในพื้นที่เพียงคนเดียว พอเข้าพื้นที่แล้วเขาก็เดินตามพันธ์ศักดิ์ไป พันธ์ศักดิ์เดินจากซอยรางน้ำ ข้ามถนนพญาไทด้วยสะพานลอย เดินเข้าไปในซอยโยธี พอถึงบริเวณกรมวิทยาศาสตร์บริการก็มีคนแต่งกายชุดนักศึกษาสามคนนำดอกกุหลาบสีแดงมามอบให้พันธ์ศักดิ์ หลังมอบดอกไม้ พันธ์ศักดิ์เดินต่อไป ส่วนชายสามคนที่มอบดอกไม้ให้เขาก็เดินตามไปห่างๆ เว้นระยะประมาณห้าเมตรจากพันธ์ศักดิ์
 
ด.ต.พงศ์เทพเบิกความต่อว่า พันธ์ศักดิ์และพวกเคลื่อนขบวนต่อไปทางถนนพระรามหกมุ่งหน้าสู่แยกตัดกับถนนศรีอยุธยา จากนั้นก็ข้ามถนนไปที่กรมทางหลวง เมื่อถึงที่นั่นมีชายสวมหมวกเดินเข้ามาพูดคุยด้วย ด.ต.พงศ์เทพเบิกความกับอัยการว่า ทั้งตอนที่มีคนแต่งตัวคล้ายนักศึกษาและตอนที่ชายสวมหมวกเดินมาคุยกับพันธ์ศักดิ์ ตัวเขาไม่ทราบว่า มีการคุยอะไรกันบ้าง 
 
ด.ต.พงศ์เทพเบิกความต่อว่า พันธ์ศักดิ์กับพวกที่เข้ามาคุยเดินต่อไปยังทางรถไฟที่แยกเสาวนีย์ มุ่งหน้าลานพระราชวังดุสิต เมื่อถึงแยกเสาวนีย์เขากับพวกก็ยุติการติดตามและเดินทางกลับ เพราะเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสน.ดุสิตแล้ว โดยเขตรับผิดชอบของสน.พญาไทจะสิ้นสุดลงตรงทางรถไฟก่อนถึงแยกเสาวนีย์ อัยการทหารถามว่า ในวันเกิดเหตุนอกจากพันธ์ศักดิ์กับพวกและชุดปฏิบัติการของด.ต.พงศ์เทพที่ไปติดตามพันธ์ศักดิ์แล้ว ยังมีบุคคลใดไปติดตามกลุ่มของพันธ์ศักดิ์อีกบ้าง ด.ต.พงศ์เทพตอบว่ามีนักข่าวและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวจากสังกัดอื่นๆ มาด้วย 
 
อัยการทหารถามว่า ด.ต.พงศ์เทพแยกว่าบุคคลใดเป็นผู้ชุมนุม บุคคลใดเป็นนักข่าวหรือเป็นเจ้าหน้าที่ออกได้อย่างไร ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า นักข่าวจะห้อยบัตรแสดงตัวและเดินแยกตัวจากผู้ร่วมชุมนุม ส่วนเจ้าหน้าที่สายข่าวก็จะยืนอยู่รอบๆ นอกจากนั้นนักข่าวและเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวก็จะบันทึกภาพการทำกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา เมื่อเบิกความถึงตรงนี้อัยการทหารให้ด.ต.พงศ์เทพยืนยันภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของสน.พญาไท ด.ต.พงศ์เทพเบิกความด้วยว่า ในวันเกิดเหตุตัวเขาเองก็ส่งภาพเหตุการณ์ไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และได้ไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์แล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 อัยการทหารแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ด.ต.พงศ์เทพติดตามขบวนของพันธ์ศักดิ์จากไหนไปถึงไหน ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า เขาเริ่มเดินตามจากซอยรางน้ำ ไปจนถึงทางรถไฟก่อนถึงแยกเสาวนีย์ ทนายจำเลยถามว่า ก่อนที่พันธ์ศักดิ์จะเข้ามาในพื้นที่สน.พญาไท ด.ต.พงศ์เทพทราบหรือไม่ว่าพันธ์ศักดิ์เดินมาจากที่ใดและทำกิจกรรมอะไรมาบ้างแล้ว ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า หลังจากพันธ์ศักดิ์ออกนอกพื้นที่ไปแล้ว พันธ์ศักดิ์ไปทำกิจกรรมอะไรต่อ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าไม่ทราบ ทราบเพียงแค่ว่าพันธ์ศักดิ์จะไปทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ทนายจำเลยถามว่า ด.ต.พงศ์เทพได้เห็นข้อความที่โพสต์บนเฟซบุ๊กกลุ่มพลเมืองโต้กลับด้วยตัวเองหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าเขาไม่ได้เป็นผู้เห็นโพสต์ดังกล่าวด้วยตัวเอง ทนายจำเลยถามต่อว่าที่ด.ต.พงศ์เทพเคยให้การกับพนักงานสอบสวนว่าจำเลยมีพฤติการณ์โพสต์ข้อความปลุกระดม ด.ต.พงศ์เทพทราบมาจากที่ใด ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าได้รับทราบมาจากผู้บังคับบัญชา แต่ไม่ได้เห็นข้อความด้วยตัวเอง
 
ทนายจำเลยถามว่า ด.ต.พงศ์เทพเคยเบิกความไว้กับพนักงานสอบสวนว่าอย่างไร พร้อมทั้งนำเอกสารคำให้การชั้นสอบสวนมาให้ด.ต.พงศ์เทพดู ด.ต.พงศ์เทพเบิกความว่าได้ให้การว่า พันธ์ศักดิ์มีพฤติการณ์ประกาศทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า จะจัดกิจกรรมเดินเท้าโดยมีนัยยะทางการเมือง กล่าวคือ เป็นการเดินเท้าที่มีลักษณะเป็นการเดินต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เพื่อนัดประชาชนมารวมตัวและจัดการเสวนาทางการเมือง ตามจุดต่างๆ ที่พันธ์ศักดิเดินผ่าน โดยที่ตัวพันธ์ศักดิ์ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปพบพนักงานสอบสวนตามปกติ หากแต่เป็นการเดินเท้าเพื่อชักชวนหรือซ่องสุมให้มีการรวมกลุ่มก่อการต่อต้านเจ้าหน้าที่ จึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง 
 
ทนายจำเลยนำเอกสารหลักฐานที่เป็นโพสต์อันเป็นต้นเหตุแห่งคดีมาให้ด.ต.พงศ์เทพดูแล้วถามว่า ตามโพสต์ดังกล่าวเขียนชัดเจนว่าพันธ์ศักดิ์จะไปพบพนักงานสอบสวนตามนัดใช่หรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า เขาอ่านโพสต์แล้วไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร
 
ทนายจำเลยถามว่า ระหว่างการเดินพันธ์ศักดิ์มีการปราศรัย หรือโจมตีรัฐบาลหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า ไม่เห็นกล่าวปราศรัยหรือกล่าวโจมตีใคร ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุก็ไม่ปรากฎเหตุการณ์ไม่สงบหรือเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในพื้นที่สน.พญาไทใช่หรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า ในวันเกิดเหตุรัฐบาลเองสามารถบริหารราชการได้ตามปกติใช่หรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า ไม่ทราบ 
 
ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุด.ต.พงศ์เทพได้ขอดูบัตรประชาชนของพันธ์ศักดิกับพวกหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า ไม่ได้ขอดู ทนายจำเลยถามว่าด.ต.พงศ์เทพทราบหรือรู้จักเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวที่มาปฏิบัติการในวันเกิดเหตุทุกคนหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า เขารู้จักเจ้าหน้าที่บางส่วนเท่านั้น ขณะที่บางส่วนไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่คนไหนเป็นทหารหรือตำรวจ ทนายจำเลยถามต่อว่าภาพถ่ายที่ด.ต.พงศ์เทพรับรองกับอัยการทหาร ด.ต.พงศ์เทพเป็นคนถ่ายเองหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าตัวเขาไม่ได้ถ่าย เป็นเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเดียวกับเขาที่เป็นคนถ่าย ส่วนจะส่งรูปดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาอย่างไรนั้นเขาไม่ทราบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการทหารถามติง
 
อัยการทหารถามว่า ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ด.ต.พงศ์เทพคอยสังเกตการณ์การชุมนุม คือ มาดูแลความสงบเรียบและความปลอดภัยในการชุมนุมครั้งนี้ เพราะเป็นการชุมนุมทางการเมืองใช่หรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าใช่ และบอกด้วยว่า การที่พันธ์ศักดิ์ออกมาเรียกร้องให้คนมาร่วมการชุมนุมอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบในบ้านเมืองได้ ส่วนที่เขาแยกผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ออกจากกันได้ เพราะนักข่าวและเจ้าหน้าที่สายข่าวจะเดินแยกไม่ปะปนกับผู้ชุมนุม แม้จะไม่แต่งเครื่องแบบก็พอจะทราบว่าใครเป็นใคร อัยการทหารแถลงหมดคำถาม
 
เนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน คู่ความและศาลไม่สามารถหาวันว่างตรงกันได้เลย จึงต้องไปนัดสืบพยานครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมรวม 3 นัด ในวันที่ 26 กรกฎาคม วันที่ 16 และ 27 สิงหาคม 2562
 
26 กรกฎาคม2562
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลาประมาณ 9.30 พันธ์ศักดิ์, และทนายจำเลยสองคนเดินทางมาถึงศาล พร้อมกับไอดา นายประกันในคดีนี้ จากนั้นจึงขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ห้า ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เวลาประมาณ10.10 น.

อัยการทหารแถลงว่า วันนี้ ร.ต.อ.พิเชษฐ์ พุ่มแก้ว พยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาลเนื่องจากติดราชการเร่งด่วน
ศาลถามทนายจำเลยว่า ทนายพอจะทราบเรื่องคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 แล้วใช่หรือไม่ ทนายจำเลยรับว่า ทราบแล้ว

ศาลจึงอธิบายว่าคดีของพลเรือนที่ถูกพิจารณาในศาลนี้จะถูกโอนไปที่ศาลยุติธรรมพร้อมกันในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562 ลักษณะการโอน คือ โอนไปทั้งหมดที่ศาลยุติธรรมและศาลยุติธรรมจะพิจารณาจ่ายคดีไปยังศาลต่างๆ เอง คาดว่า เดือนกันยายนศาลยุติธรรมจะมีการนัดพร้อมคดีอีกครั้ง

ศาลถามจำเลยว่าวันนี้นายประกันมาศาลด้วยใช่หรือไม่ ไอดาซึ่งเป็นนายประกันแสดงตัวต่อศาล ศาลจึงแจ้งว่า นายประกันไม่ต้องยื่นคำร้องขอประกันตัวใหม่ เนื่องจากสัญญาประกันเดิมยังคงมีผลต่อไป
 
ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรม สัญญาประกันให้มีผลต่อไป
 
ในเวลาต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนูษยชนให้ข้อมูลว่าศาลอาญากำหนดวันนัดพร้อมคดีอัญชัญแล้วเป็นวันที่ 28 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น.
 
28 มกราคม 2563
 
นัดพร้อม
 
ศาลนัดพิจารณาคดีนี้ในเวลา 9.00 น. แต่ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 11.10 น. เนื่องจากจำเลยในอีกคดีที่ศาลนัดพิจารณาในเวลาเดียวกันยังมาไม่ครบ วันนี้ทนายจำเลยกับอัยการแถลงร่วมกันตัดพยานโจทก์ออกสี่ปากได้แก่ แพทย์ผู้ทำการตรวจร่างกายพันธ์ศักดิ์หลังถูกจับกุมตัว เจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมตัวจำเลยสองคนและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวปรีชา จำเลยที่ถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งจากเหตุที่เขามอบดอกไม้ให้พันธ์ศักดิ์ โดยทนายจำเลยระบุว่าข้อเท็จจริงของพยานทั้งสี่ปากไม่เป็นโทษต่อจำเลย การตัดพยานทั้งสี่ปากจึงทำให้คดีมีความกระชับยิ่งขึ้น  
 
4 พฤศจิกายน 2563
 
ศาลเริ่มสืบพยานในเวลาประมาณ 9.45 น. วันนี้นอกจากคู่ความแล้วไม่มีบุคคลภายนอกมาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีแต่อย่างใด 

สืบพยานโจทก์ปาก  ร.ต.ท.ประเสริฐ ทิณะรัตน์ พนักงานสอบสวนในคดี
 
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความตอบศาลว่าปัจจุบันเขาอายุ 56 ปี รับราชการตำรวจอยู่ที่ สภ.จังหาร จังหวัดร้อยเอ็ดในตำแหน่งพนักงานสอบสวน
 
ตอบคำถามอัยการ
 
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความตอบอัยการว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้เขาเป็นพนักงานสอบสวนประจำสภ.ชนะสงคราม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้
 
ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 จำเลยกับพวกร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเริ่มทำกิจกรรมที่หมุดเฌอซอยรางน้ำ เนื่องจาก ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความในลักษณะถามคำตอบคำ ศาลจึงขอให้ ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความให้ต่อเนื่องและถามว่าหมุดเฌอคืออะไรเพราะศาลไม่ทราบ

ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความต่อว่า หมุดเฌอที่เบิกความถึงเป็นจุดที่บุตรของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553

หลังทำกิจกรรมที่หมุดเฌอซึ่งอยู่บนถนนราชปรารภใกล้ซอยรางน้ำเสร็จ พันธ์ศักดิ์กับพวกเดินเท้าต่อผ่านซอยรางน้ำ เมื่อเดินมาถึงบริเวณกรมวิทยาศาสตร์มีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินมาสมทบ และมีคนนำดอกไม้มามอบให้จำเลย จากนั้นจำเลยกับพวกพร้อมทั้งประชาชนที่ตามมาสมทบก็ร่วมกันเดินเท้าต่อไปที่หมุดคณะราษฎร 
 
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความต่อว่าเมื่อมาถึงที่หมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จำเลยกับพวกก็ทำกิจกรรมกันแล้วจึงเดินเท้าต่อ ศาลถาม ร.ต.ท.ประเสริฐ ว่ากิจกรรมที่เบิกความถึงหมายถึงอะไร  ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าจำเลยนำดอกไม้ไปวางที่หมุดคณะราษฎร จากนั้นจึงเดินเท้าต่อไปทางสะพานผ่านฟ้า

เมื่อไปถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็มีประชาชนอีกคนหนึ่งนำดอกไม้มามอบให้จำเลย จากนั้นจำเลยกับพวกก็เดินต่อไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความต่อว่า เมื่อไปถึงที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยจะจัดเสวนาทางการเมืองแต่ไม่ได้รับอนุญาต จำเลยกับพวกซึ่งขณะนั้นมีประมาณ 20 คนจึงจับกลุ่มคุยกัน กลุ่มละประมาณห้าถึงหกคน จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 19.00 น. จึงได้แยกย้ายกันกลับ 
 
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความต่อว่าในทางสอบสวนพบว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ห้าคน ขัดคำสั่งคสช. ฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จอันเป็นภัยต่อความมั่นคงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

อัยการขอศาลส่งเอกสารหลักฐานได้แก่บันทึกข้อความรายงานการสอบสวนต่อศาล อัยการถาม ร.ต.ท.ประเสริฐ ต่อว่านอกจากจำเลยแล้วทราบหรือไม่ว่ามีบุคคลถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์นี้และทราบหรือไม่ว่าผลของคดีเป็นอย่างไร  ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่า เขาทราบว่ามีการดำเนินคดีกับบุคคลชื่อปรีชาที่ศาลทหารกรุงเทพและทราบว่าปรีชารับสารภาพ แต่ศาลจะพิพากษาคดีของปรีชาอย่างไรเขาไม่ทราบ
 
เนื่องจาก ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความไม่ประติดประต่อ ศาลจึงสอบถามว่าคดีนี้ตำรวจได้ตัวจำเลยมาได้อย่างไร จับกุมตัวหรือออกหมายเรียก ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าตัวเขาไม่ได้สอบปากคำจำเลยด้วยตัวเอง แต่ทราบว่าจำเลยถุกจับกุมตัวตามหมายจับ ในทางคดีเขาทราบภายหลังจำเลยให้การปฏิเสธและให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสาร 
 
อัยการแถลงหมดคำถาม
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ทนายจำเลยถามว่า ที่พันธ์ศักดิ์ไปทำกิจกรรมคัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ร.ต.ท.ประเสริฐ ทราบหรือไม่ว่าก่อนหน้านั้นบุตรชายของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม และทราบหรือไม่ว่าใครเป็นคนยิง ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามว่า ที่เบิกความว่าพันธ์ศักดิ์ไปทำกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎร ตามภาพพันธ์ศักดิ์นำดอกไม้ไปวางที่หมุดคณะราษฎรคนเดียวใช่หรือไม่ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าใช่ เป็นไปตามภาพถ่าย
 
ทนายจำเลยถามว่า ระหว่างการเดินพันธ์ศักดิ์มีการปราศรัยหรือใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ได้รับรายงานว่ามีการปราศรัยหรือใช้เครื่องขยายเสียง 
 
ทนายจำเลยถามว่าในการเดินเท้า ตัว ร.ต.ท.ประเสริฐ ก็ไม่ได้รับรายงานใช่หรือไม่ว่ามีเหตุรุนแรงหรือเหตุวุ่นวายใดๆ ไม่มีการทำลายทรัพย์สินของราชการ และเมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆใช่หรือไม่ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่มี          
 
ทนายจำเลยถามว่า ที่ ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความว่าจำเลยกับพวกนั่งจับกลุ่มพูดคุยกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร.ต.ท.ประเสริฐ ก็ไม่ทราบใช่หรือไม่ว่าพวกเขาจะคุยอะไรกัน ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามต่อว่าและตัว ร.ต.ท.ประเสริฐ  ก็แยกไม่ออกใช่หรือไม่ว่าคนที่นั่งๆ กันจะมีใครบ้างใครเป็นผู้ชุมนุม นักข่าว หรือเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามว่าที่คณะทำงานสืบสวนสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาพันธ์ศักดิ์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ข้อความใดที่คณะทำงานเห็นว่าเป็นปัญหาหรือความผิด ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าข้อความ "พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร" ทนายจำเลยพยายามถามความเห็นของ ร.ต.ท.ประเสริฐ เกี่ยวกับความเป็นอิสระของศาลทหารเพื่อนำสืบถึงเหตุผลในการออกมาเคลื่อนไหวของจำเลย แต่ศาลบอกทนายว่าไม่ควรถามความเห็นพยาน ให้ถามเน้นไปที่ข้อเท็จจริง
 
ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.ท.ประเสริฐ ได้ทำการสอบสวนในประเด็นความเป็นอิสระของศาลทหารอันเป็นมูลเหตุที่ทำให้จำเลยออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ได้สอบสวนประเด็นดังกล่าว

ทนายจำเลยถามว่าตัว ร.ต.ท.ประเสริฐ เชื่อมั่นในการอำนวยความยุติธรรมของศาลใดมากกว่ากันระหว่างศาลทหารกับศาลยุติธรรม ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าศาลยุติธรรมเพราะสามารถอุทธรณ์ฎีกาคดีได้ 
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการถามว่า ที่ ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความตอบทนายจำเลยว่าจำเลยกระทำการโดยสันติ ไม่มีเหตุวุ่นวาย แล้วเหตุใดคณะทำงานจึงมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ร.ต.ท.ประเสริฐ นิ่งไปครู่ใหญ่ก่อนจะตอบว่าจำเลยมีพฤติการณ์เดินไปเชิญชวนให้คนออกมาต่อต้าน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในช่วงที่คสช.ยึดอำนาจ และมีการห้ามการชุมนุม
 
อัยการแถลงหมดคำถามและแถลงหมดพยาน ศาลนัดสืบพยานต่อวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยจะเป็นการสืบพยานจำเลย
 
5 พฤศจิกายน 2563
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
วันนี้ศาลนัดสืบพยานจำเลย โดยมีพยานสองปากเข้าเบิกความได้แก่พันธ์ศักดิ์ จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองและพูนสุข พูลสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของการพิจารณาคดีพลเรือนโดยศาลทหาร

เนื่องจากก่อนหน้านี้พันธ์ศักดิ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าเขาจะเบิกความเป็นพยานในวันนี้จึงปรากฎว่ามีประชาชนอีกสองคนมาร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในวันนี้ ศาลเริ่มการสืบพยานคดีนี้ในเวลา 9.35 น.
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พยานผู้เชี่ยวชาญ
 
พูนสุขเบิกความตอบศาลว่าปัจจุบันเธอประกอบอาชีพเป็นทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  
 
ตอบทนายจำเลยถาม
 
พูนสุขเบิกความเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวว่าเธอสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านกฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย เกี่ยวกับการทำงานเธอเริ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี 2551 และในปี 2557 ก็ได้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนหลังการรัฐประหาร 2557

พูนสุขเบิกความว่าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของคสช. นอกจากนั้นก็มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสังคม
 
เกี่ยวกับศาลทหาร พูนสุขเบิกความว่าเธอและศูนย์ทนายความฯได้ติดตามการทำงานของศาลทหารตลอดเวลาที่มีการใช้ดำเนินคดีกับพลเรือน ศาลทหารมีปัญหาหลักสามส่วนได้แก่

หนึ่ง ความเป็น อิสระเพราะแม้ตุลาการศาลทหารจะพิจารณาคดีได้อย่างอิสระแต่งานธุรการซึ่งรวมถึงการขึ้นเงินเดือนและชั้นยศอยู่ภายใต้กำกับกระทรวงกลาโหม

ข้อสองด้านความสามารถ ตุลาการศาลทหารในหนึ่งองค์คณะซึ่งมีสามคน จะมีเพียงคนเดียวที่ต้องจบนิติศาสตร์ ส่วนอีกสองคนไม่จำเป็นต้องจบนิติศาสตร์แต่ขอให้เป็นทหารชั้นสัญญาบัตร เบิกความถึงตรงนี้ศาลบอกพยานว่าไม่ต้องลงรายละเอียดจนเกินไปให้เบิกความในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นของคดีนี้
 
พูนสุขเบิกความต่อว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทหารมีอำนาจควบคุมตัวประชาชนโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาเป็นเวลา 7 วัน

แม้ตำรวจจะเป็นผู้ทำสำนวนคดีตามปกติแต่คนที่ฟ้องคดีต่อศาลจะเป็นอัยการทหารและทหารโดยตุลาการทหารก็เป็นผู้พิจารณาคดี เท่ากับว่าอำนาจอธิปไตยทั้งหมดรวมทั้งกระบวนการยุติธรรมอยู่ภายใต้ทหาร และการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือนก็ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยคสช.
 
ทนายจำเลยให้พูนสุขเบิกความเกี่ยวกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ พูนสุขเบิกความว่า มีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 14 ซึ่งเขียนรับรองเกี่ยวกับสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม

พูนสุขเริ่มเบิกความในรายละเอียดแต่ศาลบอกว่าศาลสามารถไปอ่านเอกสารหลักฐานส่วนนี้เองได้ แต่ขอให้บอกเลขข้อของกติกาให้ชัดเจน พูนสุขจึงเบิกความย้ำเลขข้อของกติกาซึ่งศาลบันทึกไว้

จากนั้นทนายจำเลยถามถึงกรณีที่สหประชาชาติ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีความเห็นต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือนว่าเป็นอย่างไร

พูนสุขเบิกความว่าคณะกรรมการดังกล่าวเคยมีความเห็นตอบกลับ ต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย (ฉบับที่สอง) (รายงานที่รัฐบาลไทยนำเสนอต่อสหประชาชาติ ตามกลไกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง)
 
ถึงตรงนี้ศาลบอกพยานว่าให้เบิกความเฉพาะสาระสำคัญแล้วให้แจ้งเลขที่เอกสารไว้เพื่อที่ศาลจะไปดูเองในขั้นตอนการทำคำพิพากษา พูนสุขเบิกความต่อว่า ทางคณะกรรมการสิทธิของสหประชาชาติมีความห่วงกังวลต่อกรณีที่คดีที่เกิดขึ้นระหว่างมีการประกาศกฎอัยการศึกไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้

และแนะนำให้โอนคดีของพลเรือนทั้งหมดในศาลทหารไปให้ศาลยุติธรรมพิจารณาตามปกติ จากนั้นทนายจำเลยอ้างส่งเอกสารความเห็นตอบกลับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต่อศาล
 
ทนายจำเลยถามพูนสุขว่าที่ผ่านมีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารจำนวนมากน้อยเท่าใด พูนสุขตอบว่าทางศูนย์ทนายความฯเคยขอข้อมูลการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารจากกรมพระธรรมนูญรวมสามครั้ง

ครั้งสุดท้ายทางกรมพระธรรมนูญส่งเอกสารสถิติมาให้ว่า ระหว่าง 25 พฤษภาคม 2557 ถึง 31 พฤษภาคม 2562 มีพลเรือนถูกฟ้องคดีในศาลทหารทั้งหมด 2204 คน และมีคดีบุคคลพลเรือนรวม 1769 คดี
 
ทนายจำเลยถามพูนสุขเกี่ยวกับการดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เท่าที่ศูนย์ทนายติดตามให้ความช่วยเหลือว่ามีลักษณะการตั้งข้อกล่าวหาอย่างไร พูนสุขเบิกความว่าบางคดีการกระทำไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดแต่ก็มีการฟ้องคดีเพื่อให้คดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาโดยศาลทหาร และมีลักษณะเป็นการฟ้องคดีเพื่อหวังผลทางการเมือง 
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม 
 
อัยการไม่ถามค้าน ศาลจึงสั่งให้นำพยานจำเลยปากที่สองเข้าสืบต่อเลย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พันธ์ศักดิ์ จำเลยในคดีเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
 
พันธ์ศักดิ์ปฏิญาณตัวโดยชูสัญลักษณ์สามนิ้วไปด้วย ศาลสั่งให้หยุดและขอให้ปฏิญาณตัวตามคำที่ศาลกำหนดไว้ตามศาสนา แต่พันธ์ศักดิ์แจ้งศาลว่าตัวเขาไม่ได้นับถือศาสนาใด จึงยืนตรงและปฏิญาณว่าจะเบิกความต่อศาลตามความสัตย์จริง
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อศาลว่าเขาประกอบอาชีพรับจ้างโดยขณะเบิกความอายุ 53 ปี
 
ตอบทนายจำเลยถาม 
 
ทนายจำเลยถามว่าที่เบิกความว่าประกอบอาชีพรับจ้างคือทำอะไร พันธ์ศักดิ์ตอบว่าเขาประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ 
 
ทนายจำเลยขอให้พันธ์ศักดิ์เบิกความถึงประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความว่าในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 บุตรชายของเขาถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ระหว่างการสลายการชุมนุม โดยบุตรชายของเขาถูกยิงที่ถนนราชปรารภ ใกล้ซอยรางน้ำซึ่งเป็นบริเวณนอกพื้นที่การชุมนุม

โดยในขณะเกิดเหตุพื้นที่ดังกล่าวมีแต่ทหารติดอาวุธ หลังเกิดเหตุเขาร่วมกับกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมจัดตั้งกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเพื่อติดตามและทวงถามความยุติธรรมให้ผู้ตาย 
 
เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2557 เขาและกลุ่มญาติมีความกังวลเพราะพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเคยให้สัมภาษณ์ว่าจะรื้อคดีการสลายการชุมนุมช่วงปี 2553 ก่อนหน้านั้นศาลอาญาเคยมีคำสั่งสำคัญๆ เช่น คำสั่งไต่สวนการตายคดีผู้เสียชีวิต 6 ศพ ที่วัดปทุมวนารามว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งทหาร

คำสัมภาษณ์ของพล.อ.ประวิตรทำให้เขาและกลุ่มญาติกังวลว่าจะมีการแทรกแซงกระบวนการของศาลเพราะบุคคลที่เคยอยู่ในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุม

ทั้งพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร (ศาลบันทึกโดยใช้คำว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูง) ต่างอยู่ในคสช. เขาจึงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นดังกล่าวเป็นระยะ เช่น ไปโปรยใบปลิวที่สวนจตุจักร จนถูกคสช.ดำเนินคดีจากกรณีดังกล่าว
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เขากับพวกอีกสามคนได้แก่ ทนายอานนท์ วรรณเกียรติ และสิรวิชญ์หรือนิว ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เลือกตั้งที่ลักเพื่อแสดงจุดยืนว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งเป็นเหตุให้เขากับพวกถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคน คดีดังกล่าวสน.ปทุมวันนัดพวกเขารายงานตัวในวันที่ 16 มีนาคม 2558 
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อว่าหลังถุกดำเนินคดีจากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ลักเขาได้ประกาศว่าจะเดินเท้าจากบ้านที่บางบัวทองไปที่สน.ปทุมวันเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา

แผนที่การเดินจะผ่านสถานที่ที่มีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐประหาร เช่น สดมภ์นวมทองซึ่งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ที่ขับรถแท็กซี่ไปชนรถถังเพื่อประท้วงการรัฐประหาร สำหรับเส้นทางเดินจะปรากฎรายละเอียดตามเฟซบุ๊กของพลเมืองโต้กลับซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานที่โจทก์นำมาใช้ฟ้องคดี
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความว่าวันที่ 14 มีนาคม 2558 เขาเริ่มเดินเท้าออกจากบ้านได้ประมาณ 5 กิโลเมตรก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.นนทบุรีกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าจับกุมตัว แล้วพาตัวมาที่สน.ปทุมวัน เพื่อส่งตัวให้พนักงานสอบสวนในคดีเลือกตั้งที่ลัก แต่พนักงานสอบสวนสภ.ปทุมวันไม่รับตัวเนื่องจากมีการนัดหมายวันเข้ารายงานตัวแล้วในวันที่ 16 มีนาคม 2558

การถูกจับกุมทำให้ในวันที่ 14 มีนาคม เขาไม่ได้เดินเท้าตามที่ตั้งใจ จากนั้นวันที่ 15 มีนาคม 2558 เขาเริ่มเดินเท้าอีกครั้งโดยตั้งต้นที่หมุดเฌอ ซอยรางน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่ลูกชายเขาถูกยิงเสียชีวิต

ระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อเดินเท้ามาถึงกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกก็มีคนนำดอกไม้มามอบให้ เขาไม่รู้จักบุคคลทั้งสามที่มาแต่ดูจากการแต่งตัวเข้าใจว่าน่าจะเป็นนักศึกษา เขายังบอกให้บุคคลดังกล่าวเดินตามห่างๆหากประสงค์จะร่วมเดินเพราะในที่นั้นมีสื่อและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอยู่ด้วยหลายคน
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อว่าจากนั้นเขาก็เดินผ่านแยกเสาวนีย์ไปที่หมุดคณะราษฎรเพื่อวางดอกไม้รำลึกถึงคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้วจึงเดินไปรับประทานอาหารที่ร้านไก่ย่างใกล้สนามมวยราชดำเนิน

พันธ์ศักดิ์ระบุด้วยว่าเขารับประทานอาหารที่นี่ ไม่ใช่ที่ร้านเมธาวลัยศรแดงดังที่พยานโจทก์เบิกความ หลังจากนั้นเขาก็เดินทางต่อไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเมื่อเดินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ร้านเมธาวลัยศรแดงมีชายคนหนึ่งทราบภายหลังจากเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบว่าชื่อปรีชานำนมถั่วเหลืองและดอกไม้มามอบให้
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความว่าเมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองผู้กำกับสน.ชนะสงครามแจ้งเขาว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ทราบเรื่องที่เขาจัดกิจกรรม เขาได้ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ของธรรมศาสตร์โดยได้แจ้งว่า

เขาไม่มีความประสงค์จะจัดกิจกรรม แค่จะนั่งพักเหนื่อยและพูดคุยกับคนรู้จักซึ่งโดยปกติมหาวิทยาลัยก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปผ่านไปมาหรือใช้บริการได้อยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ก็บอกว่าให้แยกย้ายกันกลับช่วงค่ำเพราะกังวลด้านความปลอดภัยจากนั้นเขากับคนรู้จักก็นั่งคุยกันที่ลานปรีดี พนมยงค์
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อว่าในการเดินเขาเดินคนเดียว ไม่มีการใช้เครื่องเสียง ไม่มีการชูป้าย  เจตนาในการเดินเป็นไปเพื่อแสดงออกว่าเขาไม่ยอมรับการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

ส่วนที่เดินก็เป็นสัญลักษณ์ว่าเข้าพร้อมสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และการเดินก็มีจุดหมายปลายทางเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ซึ่งกำหนดการและสถานที่เดินก็มีการประกาศบนเพจพลเมืองโต้กลับแต่ปรากฎว่าเขาถูกจับระหว่างทางเสียก่อน 
 
ทนายจำเลยถามต่อว่าตัวพันธ์ศักดิ์ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเดินบนเฟซบุ๊กตัวเอง เพื่อเตือนไม่ให้คนมาเกิน 5 คนด้วยใช่หรือไม่ พันธ์ศักดิ์ตอบว่าเขาเขียนชัดเจนว่าหากประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบจะมาให้กำลังใจขอให้เข้ามาหาครั้งละไม่เกินห้าคน เพราะขณะนั้นมีกฎหมายห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคน 
 
ทนายจำเลยถามความเห็นพันธ์ศักดิ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร พันธ์ศักดิ์ตอบว่าคนที่ออกมาประท้วงทหารหรือการรัฐประหารถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับทหารและศาลทหารโดยตรง

นอกจากนั้นการดำเนินคดีในศาลทหารก็อุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ตัวเขาเคยไปศาลทหารราว 20 ครั้ง ระหว่างการต่อสู้คดี  ก็เห็นว่าอาคารกรมพระธรรมนูญอยู่ในพื้นที่กระทรวงกลาโหม และในอาคารศาลก็มีภาพตุลาการศาลทหารและสายบังคับบัญชาต่างๆติดไว้ และขณะที่เขาถูกดำเนินคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือพล.อ.ประวิตรเขาจึงไม่มั่นใจในความเป็นอิสระของศาลทหาร 
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อไปว่าการแต่งตั้งตุลาการศาลทหารจะมีการเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก่อนนำขึ้นเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง เขาจึงไม่มั่นใจเรื่องความเป็นอิสระ

นอกจากนั้น ในแต่ละองค์คณะตุลาการศาลทหารก็มีเพียงหนึ่งคนที่ต้องจบนิติศาสตร์ส่วนที่เหลือไม่ต้องจบก็ได้เขาจึงไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถด้านกฎหมายของตุลาการทหาร และที่ผ่านมาการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของเขาในศาลทหารก็ล่าช้ามาก 
 
พันธ์ศักดิ์เบิกความด้วยว่า ในคดีนี้ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบุกมาจับกุมเขาที่บ้านในยามวิกาล และเขาก็ได้ข่าวมาว่าศาลทหารอาจไม่ให้เขาประกันตัวระหว่างฝากขังในชั้นสอบสวน จนมีนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเดินเท้ามากดดันที่หน้าศาลเขาจึงได้รับการปล่อยตัว

พันธศักดิ์เบิกความด้วยว่าเขารู้สึกกลัวเมื่ออยู่ในศาลทหาร เพราะเป็นพื้นที่ความมั่นคงที่มีทหารอยู่เยอะมาก ทนายจำเลยถามว่าในความเห็นของพันธ์ศักดิ์ เหตุใดจึงมีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร พันธ์ศักดิ์ตอบว่าน่าจะเป็นเพราะคสช.ต้องการควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อยในความหมายคือไม่มีใครคัดค้านหรือต่อต้าน ศาลทหารจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยุติความเคลื่อนไหว

สำหรับการให้การ พันธ์ศักดิ์ยืนยันว่าเขาให้การปฏิเสธมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวน
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
 
ตอบอัยการถามค้าน
 
อัยการถามว่าที่เบิกความว่าวันที่ 14 มีนาคม พันธ์ศักดิ์ถูกจับกุม แต่วันที่ 15 มีนาคม เขาก็กลับมาทำกิจกรรมตามปกติ ตามเส้นทางเดิมที่เคยประกาศใช่หรือไม่ พันธ์ศักดิ์ตอบว่าในวันที่ 14 มีนาคม ตำรวจจับเขาโดยอ้างว่าไม่อยากให้ลำบากเดินจะพาไปส่งสน.

เมื่อพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันไม่รับตัวเขา เจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุมก็ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเขาแต่อย่างใด  เขาจึงดำเนินการต่อ
 
อัยการถามว่าในวันที่ 15 ซึ่งพันธ์ศักดิ์เดิน แม้จะมีการประกาศเรื่องขอให้มาให้กำลังใจครั้งละไม่เกินห้าคน แต่ที่สุดแล้วเมื่อมีคนมาให้กำลังใจและร่วมเดินพันธ์ศักดิ์ก็ไม่ได้ห้ามปรามไม่ให้มาร่วมใช่หรือไม่ พันธ์ศักดิ์เบิกความว่าเขาไม่ทราบว่าคนที่มามีใครบ้าง

บางคนก็เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ อาจจะมีคนเห็นต่างมาเพื่อให้คนเกินห้าคนจนครบองค์ประกอบความผิดหรือเปล่าเขาก็ไม่ทราบ

แต่ตลอดระยะเวลาการเดินเขาก็ไม่ได้พูดคุยกับใคร ส่วนที่นั่งคุยที่ลานปรีดีก็เป็นคนรู้จักนั่งคุยกันเท่านั้น อัยการแถลงหมดคำถาม
 
ทนายจำเลยไม่ถามติง
 
ทนายเลยแถลงหมดพยานและขอทำคำแถลงปิดคดีส่งศาล จากนั้นศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 16 ธันวาคม 2563   
 
16 ธันวาคม 2563
 
ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องพันธ์ศักดิ์ในทุกข้อกล่าวหาเพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำโดยสงบ โดยในวันนี้นอกจากตัวพันธ์ศักดิ์แล้วก็มีผู้สังเกตการณ์จากภายนอกอีกหนึ่งคน เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผู้สื่อข่าวจากว๊อยซ์ทีวีอยู่ร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
 
หลังฟังคำพิพากษาพันธ์ศักดิ์เดินทางกลับด้วยแท็กซี่โดยเขาได้พูดกับทนายความและผู้สื่อข่าวก่อนขึ้นรถแท็กซี่เกี่ยวกับคำพิพากษาในวันนี้ว่า "เป็นชัยชนะของประชาชน"

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน และต่อมามีการออกประกาศให้คดีของบุคคลพลเรือนในความผิดบางประเภท อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร 

เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 12 มีนาคม 2558 จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนออกมาละเมิดกฎหมายแผ่นดินด้วยการร่วมชุมนุมคัดค้านการพิจารณาพลเรือนในศาลทหาร และต่อมาจำเลยก็ได้ทำการเดินซึ่งปรากฎว่ามีบุคคลอื่นมาร่วมเดินด้วย
 
การกระทำของจำเลยเข้าข่ายเป็นการกระทำให้ปรากฎด้วยวาจาหรือการกระทำอื่นใด อันไม่ใช่ความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และเป็นความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จำเลยให้การปฏิเสธ 
 
ต่อมาระหว่างที่การพิจารณาคดีในศาลทหารดำเนินไป ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน และมีคำสั่งให้ย้ายคดีของบุคคลพลเรือนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลทหาร กลับมาพิจารณาคดีโดยศาลยุติธรรม คดีของจำเลยจึงถูกย้ายมาพิจารณาที่ศาลนี้
 
โจทก์นำสืบว่า จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้โพสต์ข้อความ และภาพบนเฟซบุ๊ก เชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมทำกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน เมื่อความยุติธรรมไม่มาเราจะเดินไปหามัน" และได้เริ่มทำกิจกรรมเดินเท้าที่หมุดเฌอซึ่งเป็นจุดที่บุตรชายของจำเลยถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ไปยังจุดต่างๆ โดยระหว่างที่จำเลยเดินไปก็มีบุคคลภายนอกมาร่วมเดินด้วย เมื่อไปถึงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เบื้องต้นจำเลยจะจัดกิจกรรมเสวนา แต่เมื่อมหาวิทยาลัยไม่อนุญาต จำเลยกับพวกก็ได้จับกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยๆนั่งพักผ่อนพูดคุยกันแทน
 
จำเลยนำสืบว่าบุตรชายของจำเลยถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมในปี 2553 และมีนายทหารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำเลยจึงไม่มั่นใจว่าพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหาร จะได้รับความเป็นธรรม ทั้งศาลทหารก็อยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม และตุลาการศาลทหารไม่จำเป็นต้องจบนิติศาสตร์ทั้งหมด จึงรู้สึกไม่มั่นใจในการทำงานของศาลทหาร  ในการเดินจำเลยมีเจตนาที่จะเดินคนเดียว ไม่มีการถือป้ายเขียนข้อความใดๆ และไม่มีการปราศรัย ไม่มีการใช้เครื่องเสียง และการเดินก็เป็นการเดินเพื่อไปพบกับพนักงานสอบสวนตามที่ได้นัดไว้ 
 
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการใช้เครื่องเสียง หรือการปราศรัย ทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ก็กำหนดว่า
 
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
 
โดยที่ประกาศคสช.เรื่องห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคน ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และการกระทำของจำเลยก็เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา