รินดา: โพสต์ข่าวลือประยุทธ์โอนเงินหมื่นล้าน

อัปเดตล่าสุด: 22/08/2562

ผู้ต้องหา

รินดา

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

รินดา ถูกจับจากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท เธอถูกตั้งข้อหาฐานยุงยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เธอถูกฝากขังที่เรือนจำเป็นเวลา 3 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว

คดีนี้ถูกส่งฟ้องครั้งแรกต่อศาลทหารกรุงเทพ แต่ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่า เนื้อหาที่รินดาโพสต์ ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 จึงสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะศาลทหารไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา ต่อมารินดาจึงถูกส่งฟ้องเป็นครั้งที่สองต่อ ศาลอาญา

ศาลอาญารับพิจารณาคดีนี้ รินดาเบิกความต่อศาลว่า เป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง โดยเป็นการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องเพราะไม่เห็นว่า ข้อความดังกล่าวกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้อง คดีนี้สิ้นสุดแล้ว

ภูมิหลังผู้ต้องหา

รินดา หรือหลิน ขณะถูกจับกุมอายุ 44 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว ที่บ้าน สามีของเธอที่เสียชีวิตไปเมื่อปี2555 เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เคยช่วยจัดหาอาชีพให้แก่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ตกงาน และเปิดร้านขายไก่ย่างขึ้นมาสำหรับเป็นที่พบปะสังสรรค์

รินดาไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง จนกระทั่งสามีเสียชีวิตในปี 2555 จึงออกมาร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การเยี่ยมนักโทษการเมือง และร่วมกิจกรรมรำลึกลุงนวมทอง แต่ไม่ได้เป็นแกนนำ
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 384

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

รินดาถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ชื่อ "รินดา พรศิริพิทักษ์" ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่แชร์ต่อกันในสื่ออนไลน์ เรียกร้องให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับการเงิน ช่วยกันสกัดการโอนเงินจำนวนหลายหมื่นล้านบาทไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยเงินดังกล่าวเป็นเงินที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา ได้มาโดยมิชอบ และจะโอนผ่านการเปิดบัญชีย่อยๆ หลายบัญชีกับธนาคารกสิกรไทย 
 
ตอนหนึ่งในคำร้องขอฝากขังที่พนักงานสอบสวนยื่นต่อศาลทหารระบุว่า ผู้ต้องหาได้โพสต์ข้อความในลักษณะที่เป็นเท็จให้ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าโยกย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ผ่านทางเฟซบุ๊ก 

เฟซบุ๊กที่ใช้โพสต์ข้อความเปิดสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเห็นข้อความที่เจ้าของเฟซบุ๊กโพสต์และสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจ และหากหลงเชื่ออาจทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบใประเทศ"
 
การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่าย เป็นความผิดฐานยุงยงปลุกปั่น และ ฐานปล่อยข่าวลือเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และมาตรา 384 และ ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2)
 
(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384 ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
 

พฤติการณ์การจับกุม

รินดา ถูกจับกุมที่บ้านพักย่านคลองสาม จ.ปทุมธานี ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2558
 
รินดาเล่าว่าก่อนหน้าการจับกุมหนึ่งวันมีผู้หญิงโทรมาหาว่าเป็นลูกค้าจะมาดูของที่บ้านและนัดว่าจะเข้าไปที่บ้านของเธอ เธอจึงนัดให้เข้ามาที่บ้านในช่วงหลังเที่ยงของวันที่ 8 กรกฎาคม 2558
 
ในวันนัดหมาย หลังเธอกลับมาถึงบ้านราวๆ บ่ายโมงเศษ ผู้หญิงคนที่นัดมาดูสินค้าโทรศัพท์มาอีกครั้งถามว่าอยู่ที่ไหนแล้ว เธอก็บอกว่าเธออยู่ที่บ้านแล้ว สักพักเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธปืนยาว 4 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ พร้อมเจ้าหน้าที่ไม่แต่งเครื่องแบบอีกราว 10 คนก็มาถึงหน้าบ้านของเธอ และเข้ามาในบ้านของเธอโดยไม่มีการแสดงหมายค้น ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่อ้างอำนาจตามมาตรา 44 เจ้าหน้าที่ทหารยอมให้รินดาโทรศัพท์บอกแฟนหนึ่งสายว่าเธอถูกจับกุมแล้ว
 
เจ้าหน้าที่ใช้เวลาอยู่ในบ้านของรินดาราวหนึ่งชั่วโมงจากนั้นก็ควบคุมตัวเธอไปยังกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อทำการสอบสวน
 
ระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง คอมพิวเตอร์โน็ตบุค 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และจดหมายที่ส่งมาจากเรือนจำ ซึ่งชัชวาลย์ นักโทษในคดีเหตุระเบิดหน้าบิ๊กซีราชดำริ ส่งมาให้เธอ
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

129/2558

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ, ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
6 กรกฎาคม 2558 
 
เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวให้โอวาทตอนหนึ่งในพิธีแสดงความยินดีแก่ส่วนราชการที่ได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards (ยูเอ็นพีเอสเอ) ว่า เราถูกกำหนดด้วยกติกาสากลและประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นการได้รับรางวัลเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มมีตัวตน 
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้มีการปล่อยข่าวผ่านโซเชียลมีเดียว่าตนโอนเงินหมื่นล้านบาทไปที่ประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งตนรู้แล้วว่าต้นตอที่ปล่อยข่าวมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าตนมีเงินขนาดนั้นจริง จะมายืนตรงนี้ทำไม ประเทศไทยมักเชื่อกระแสสังคม ขอให้ใช้เหตุผล ถ้าตนทำสิ่งไม่ดีก็ต้องขอโทษ ยกโทษให้ตนด้วย และขอให้มั่นใจ การมายืนตรงนี้มีความเสี่ยงสูง ถ้าไม่ใช่ตนแล้วใครจะมาทำ แต่เชื่อว่าต้องมีคนทำ เพราะไม่อยากให้บ้านเมืองเสียหาย จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่รู้ว่าใครเขียนข่าวลือนี้ในโซเชียลมีเดีย ขอให้ลองใช้สมองวิเคราะห์ แต่ถ้าจะเชื่อ ก็ตามใจ 
 
เมื่อถามถึงการที่นายกฯระบุว่าต้นตอข่าวลือมาจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตามว่ามาจากที่ไหน เมื่อถามต่อว่าระยะนี้จะมีการปล่อยข่าวสร้างความเสียหายแก่รัฐบาลบ่อยครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “พอแล้ว เดี๋ยวเขาก็หากันเอง เพราะคนดีๆ ก็เยอะแยะ ผมไม่ได้ทำจริง แล้วจะไปเดือดร้อนอะไร อยากจะว่าก็ว่าไป คนที่มีคดีอยู่ในศาลนั้นไปสนใจเขาบ้าง” 
 
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงนี้พบว่ามีการส่งข้อมูลเท็จหรือข่าวลือข่าวลวงผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าเป็นการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการของผู้ไม่หวังดี จึงขอให้ประชาชนรับข้อมูลด้วยความรอบคอบและด้วยหลักเหตุและผล รวมทั้งตรวจสอบกับแหล่งสื่อมวลชนกระแสหลักที่เชื่อถือได้ สำหรับการปล่อยข้อมูลผ่านโซเชี่ยลมีเดียนั้น ผู้กระทำแทบจะไม่ต้องรับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูลและผลกระทบที่จะเกิดกับบุคคลที่ตกเป็นข่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และทุกคนต้องช่วยกันจัดการกับกลุ่มเหล่านี้ให้หลาบจำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราใกล้จะได้ตัวคนปล่อยข่าวใส่ร้ายพล.อ.ประยุทธ์และภรรยา รวมถึงคนปล่อยข่าวลือที่ล่วงละเมิดกรณีอื่นๆด้วย จากนั้นจะนำตัวไปดำเนินตามกฎหมาย ทั้งนี้ การกุข่าวจงใจใส่ร้าย โดยปราศจากข้อเท็จจริงนั้น นายกฯควรได้รับสิทธิ์ปกป้องตัวท่านเช่นกัน
 
8 กรกฎาคม 2558
รินดา ถูกจับกุมที่บ้านพักย่านคลองสาม จ.ปทุมธานี และถูกควบคุมตัวไปสอบสวนที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และต้องอยู่ที่นั่น 1 คืน
 
9 กรกฎาคม 2558
รินดาถูกพาตัวออกจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ มาส่งยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ซึ่งอยู่ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เธอถูกสอบสวนและให้ลงชื่อในบันทึกการสอบปากคำที่มีเนื้อหาคล้ายกับบันทึกที่ทำขึ้นหลังการสอบสวนในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โดยที่ยังไม่มีทนายความอยู่ด้วย 
 
เมื่อทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาถึงในเวลาประมาณ 18.45 ก็ได้เจรจาขอเปลี่ยนคำให้การใหม่ โดยเพิ่มเติมว่าการกระทำของรินดาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ติชมโดยสุจริต ต่อบุคคลสาธารณะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยินยอม แต่ไม่ยินยอมตัดข้อความที่ระบุว่ารินดารับสารภาพทุกข้อกล่าวหาออกจากบันทึกการสอบสวน 
 
หลังสอบสวนเสร็จ รินดาถูกพาไปควบคุมตัวไว้ที่สน.ทุ่งสองห้อง ขณะที่แฟนและญาติ ยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วยเงินสด 200,000 บาท แต่ไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจาก คดีนี้เป็นการกระทำในสื่อออนไลน์ เป็นคดีเกี่ยวกับผู้นำประเทศ มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นความผิดทางอาญาอย่างร้ายแรง 
 
10 กรกฎาคม 2558
 
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า  ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) น.อ.สมศักดิ์ ชาวสุวรรณ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ร่วมแถลงการจับกุมรินดา หรือ หลิน อายุ 44 ปี ตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ 
 
รินดา กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า ตนยอมรับว่าคัดลอกข้อความดังกล่าวมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กตนเองจริง แต่ไม่ใช่คนเขียนข้อความนี้ โดยคัดลอกมาจากข้อความที่ส่งกันทางไลน์ และไม่ได้มุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่เห็นว่าในฐานะประชาชนมีสิทธิวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ตนเชื่อว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ แต่ต้องระมัดระวังในการทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นอย่างมากเพราะมีความอ่อนไหว
 
ประชาไท รายงานว่า หลังการแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวรินดามาส่งที่ศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง โดยให้เหตุผลในการขอฝากขังว่าการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากต้องสอบปากคำพยานอีก 5 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของกลาง, ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์และผลตรวจสอบประวัติอาชญากรของผู้ต้องหา โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราว ขณะที่ญาติยื่นขอประกันตัวโดยใช้เงินสด 100,000 บาท
 
เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวรินดาโดยให้เหตุผลว่า แม้พนักงานสอบสวน ผู้ร้องไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากปล่อยชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน รินดาจึงถูกควบคุมตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง
 
13 กรกฎาคม 2558
 
เดลินิวส์ รายงานว่า ที่ศาลทหารกรุงเทพ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อมนุษยชน ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวรินดาหรือหลิน โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท โดยอ้างเหตุผลในการขอยื่นประกันตัวว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี พำนักอยู่ที่บ้านพัก และยังต้องมีภาระดูแลบุตร 2 คน ที่ยังศึกษาอยู่ ซึ่งตอนนี้รินดาเป็นเสาหลักดูแลครอบครัว
 
เวลาประมาณ 12.10 น. ภาวิณี เปิดเผยว่า ศาลทหารได้พิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวนางรินดาเป็นชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และห้ามยุยงปลุกปั่นให้เกิดความมวุ่นวายในสังคม รวมถึงห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยจะปล่อยตัวรินดาออกจากที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ประมาณช่วงหัวค่ำ
 
 26 สิงหาคม  2558

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 10.00 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดให้ รินดา มาตามกำหนดครบฝากขังครั้งที่ 4 (48วัน) และเป็นวันนัดฟังคำสั่งอัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
 
เวลา 15.15 น. อัยการมีคำสั่งฟ้องรินดา  ฐานกระทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ม.384 แกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ และข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ม.14(1) จากกรณีโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาได้โอนเงินหมื่นล้านบาทไปธนาคารในสิงคโปร์ ดังที่กล่าวไป จากนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้นำตัวรินดาไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอฟังผลการพิจารณาฝากขัง

ต่อมา16.00 น. ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตปล่อยตัวรินดาโดยใช้หลักประกันเดิม มีเงื่อนไขการประตัว คือ ห้ามไม่ให้ผู้ต้องหากระทำการยุยงปลุกปั่น เคลื่อนไหว หรือแสดงความเห็นทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งรินดาจะถูกปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
 
21 ธันวาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ  
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 นอกจากรินดา และทนายความแล้ว วันนี้มีผู้สังเกตการณ์มาร่วมฟังพิจารณาคดีอีก 2 คน เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังค์โดยศาลยังไม่ได้ถามคำให้การรินดา ว่าจะให้การอย่างไร แต่อ่านคำฟ้องของโจท์ และศาลพิเคราะห์แล้วเห็นเองว่า จากข้อความ "พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาทุจริตภาษีประชาชน โอนเงินไปประเทศสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท" ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นเพียงการหมิ่นประมาทโดยโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้
 
จากนั้นศาลถามทนายของรินดาว่าเห็นอย่างไร ทนายแถลงว่า คดีนี้ไม่ควรอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ส่วนจะไปอยู่ที่ศาลอาญาหรือไม่ คงเป็นเรื่องของการสู้คดีอีกชั้นหนึ่ง ขณะที่อัยการโจทก์ ออกไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาบริเวณนอกห้องพิจารณาคดี  และกลับเข้ามาอีกครั้ง พร้อมอัยการอีกคนหนึ่ง ศาลจึงอ่านคำฟ้องให้อัยการฟังอีกครั้ง และย้ำว่า คดีนี้ศาลเห็นว่าไม่เข้าข่าย ความผิดตามมาตรา 116 และศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี 
 
อัยการจึงแถลงค้านต่อศาลสั้นๆว่า คดีนี้ศาลทหารมีอำนาจวินิจฉัยคดี เมื่อศาลเห็นว่า อัยการโจทก์ค้าน จึงขอส่งคำร้องไปให้ศาลอาญาพิจารณา ให้ระงับการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว  และรอฟังคำสั่งศาลอีกที ซึ่งหากศาลอาญาเห็นตรงกันกับศาลทหาร ก็จะจำหน่ายคดีไปให้ฟ้องที่ศาลอาญาแทน
 
17 พฤษภาคม 2559
 
นัดฟังคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาล
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในเวลา 09.45 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดรินดาฟังคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ 2/2559 ของศาลอาญา ลงวันที่ 30 มี.ค. 2559 ซึ่งสรุปความได้ว่า
 
ตามที่ศาลทหารส่งสำนวนคดีของรินดาพร้อมความเห็นว่า การกระทำตามข้อกล่าวหาไม่น่าจะเป็นความฐานกระทำด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดเพื่อให้ประชาชนก่อความวุ่นวาย แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร

ศาลอาญาเห็นพ้องว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่อยู่เขตอำนาจศาลทหาร กรณีจึงเป็นที่ยุติว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร 
 
หลังอ่านคำวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลของศาลอาญา ศาลทหารสั่งจำหน่ายคดีของรินดาออกจากสารบบความของศาลทหาร
 
 

27 ตุลาคม 2559

 

พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องรินดาต่อศาลอาญา ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามพ...คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ไม่ได้ระบุวงเล็บ เพียงข้อหาเดียว สาเหตุหนึ่งที่พนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา ก็เพราะว่า ข้อหาหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว จะดำเนินคดีได้ต่อเมื่อผู้เสียหายมาร้องทุกข์เองว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดี แต่พล..ประยุทธ์ และภรรยา ไม่ได้มาแจ้งความเอง

 

ในคำฟ้องระบุว่า ข้อความที่รินดาโพสต์บนเฟซบุ๊กเป็นข้อความเท็จ เพราะความจริงพล..ประยุทธ์ และภรรยา ไม่ได้ทำธุรกิจขนย้ายทรัพย์สินไปไว้ที่ประเทศสิงคโปร์ตามที่รินดากล่าวหา ข้อความที่โพสต์บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ การกระทำของจำเลยไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่การแสดงความรคิดเห็นโดยสุจริต หากแต่เป็นการกลั่นแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือ จนเป็นเหตุให้ประชาชนที่อ่านข้อความเท็จดังกล่าวตื่นตกใจ เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของพล..ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผู้นำประเทศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ​, พล..ประยุทธ์ และภรรยา หรือประชาชน

 

ในคำฟ้องระบุด้วยว่า คดีนี้สอบสวนโดยตำรวจจาก ปอท. ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ก่อนหน้านี้เคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลทหารกรุงเทพแล้ว แต่ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงส่งความเห็นให้สำนักงานศาลยุติธรรม ต่อมาศาลอาญาก็เห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม ศาลทหารกรุงเทพจึงสั่งจำหน่ายคดีนี้แล้ว

 

หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว อัยการไม่คัดค้าน

 

 

23 มกราคม 2560

 

ศาลอาญานัดสอบคำให้การและนัดตรวจพยานหลักฐาน รินดาและทนายความมาศาล โดยรินดาแถลงต่อศาลให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี
 
 
23 พฤศจิกายน 2560

 

สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ...พงศกร ตันอารีย์ ตำรวจ ปอท. ผู้กล่าวหา

 

ร.ต.อ.พงศกร เบิกความว่า อายุ 32 ปี รับราชการตำแหน่งสารวัตรมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอยู่ที่ ปอท. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ตรวจพบผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกับจำเลย โพสต์ข้อความทำนองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ โดยข้อความนั้นลงไว้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ข้อความที่ปรากฎนั้นเป็นความเท็จ ทำให้ผู้อื่นตื่นตระหนกตกใจ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

 

...พงศกร เบิกความว่า ผู้ติดตามเฟซบุ๊กของรินดามีประมาณ 2,000 คน เมื่อพบข้อความแล้วก็นำชื่อของรินดาไปตรวจสอบกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตพบว่า ชื่อนี้เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่หลายครั้ง จากนั้นจึงร้องทุกข์ต่อ ปอท. เพื่อดำเนินคดี ต่อมาทราบว่า มีการออกหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ และมีการควบคุมตัวจำเลยโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ...พงศกร จึงไปรับตัวจำเลยมาจากทหาร

 

...พงศกร ตอบคำถามทนายความว่า ข้อความที่รินดาโพสต์นั้น เผยแพร่อยู่บนเฟซบุ๊กก่อนหน้านี้แล้ว เฟซบุ๊กของรินดาอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังเรื่องการเมือง ข้อความที่พูดถึงทรัพย์สินอาจจะหมายถึงทรัพย์สินส่วนตัวของพล..ประยุทธ์ หรือทรัพย์สินของแผ่นดินก็ได้ โดยในข้อความที่ฟ้องไม่ได้มีความหมายว่า พล..ประยุทธ์ สั่งการให้โอนทรัพย์สินในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏตามเอกสารว่า ข้อความนี้มีผู้แชร์ไปสี่คน

 

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง ...พุฒิเศรษฐ์ ใหลประเสริฐ ผู้ร่วมจับกุม

 

...พุฒิเศรษฐ์ เบิกความว่า อายุ 41 ปี รับราชการตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน อยู่ที่ ปอท. เป็นผู้จับกุมจำเลยตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 โดยไปรับมอบตัวจำเลยที่มณฑลทหารบกที่ 11 เจ้าหน้าที่ทหารส่งมอบแผ่นดิสของกลาง บันทึกเข้าตรวจค้น และบันทึกถ้อยคำของจำเลยมาให้ด้วย จึงพาตัวจำเลยมาที่ ปอท. และทำบันทึกจับกุมไว้ ในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพ

 

...พุฒิเศรษฐ์ ตอบคำถามค้านของทนายความว่า ไม่ได้ร่วมสืบสวนคดีนี้และไม่ได้ทำเอกสารต่างๆ ขึ้น เพียงแค่จับกุมเท่านั้น นอกจากที่จำเลยจะรับสารภาพแล้ว ยังได้ยินจำเลยแจ้งอีกว่า ตนเองเพียงแต่แสดงความคิดเห็นโดยชอบธรรมเท่านั้น

 

 

สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ...ปัสสิทธิ์ ศรีสุโพธิ์ พนักงานสอบสวน

 

...ปัสสิทธิ์ เบิกความว่า อายุ 49 ปี รับราชการเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่ ปอท. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ...พงศกร มาร้องทุกข์ว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อรินดา โพสต์ข้อความเท็จพร้อมกับส่งมอบเอกสารให้หลายแผ่น จึงบันทึกที่อยู่ URL ของเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ และสอบคำให้การของร...พงศกรไว้

 

...ปัสสิทธิ์ เล่าว่า ...พงศกร ได้ข้อมูลมาว่า เฟซบุ๊กของรินดาเปิดให้กลุ่มการเมือง นปช.​มาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยไม่ทราบว่า ได้ข้อมูลนี้มาอย่างไร หลังจากนั้นก็ไปขอออกหมายจับจากศาลทหารกรุงเทพ มีตำรวจไปจับกุมตัวจำเลยและนำตัวจำเลยมาส่งมอบให้ ...ปัสสิทธิ์ เล่าวว่า ได้แจ้งสิทธิตามกฎหมายให้จำเลยทราบ แจ้งข้อหาจำเลยตามมาตรา 116, 384 และพ...คอมพิวเตอร์ฯ โดยจำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่า โพสต์ข้อความตามนี้จริง และให้การเกี่ยวกับทัศนคติของตนเองด้วย

 

...ปัสสิทธิ์ เล่าว่า ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ตรวจสอบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์แต่ได้รับการตอบกลับมาว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากผู้ให้บริการอยู่ต่างประเทศ ไม่ปรากฏหมายเลขไอพีแอดเดรส ...ปัสสิทธิ์ ทราบว่า การจับกุมและสืบสวนของฝ่ายทหารทำไปโดยอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช.​ฉบับที่ 3/2558

 

...ปัสสิทธิ์ เบิกความว่า เนื่องจากข้อความที่ฟ้องมีส่วนที่พาดพิงถึงธนาคารกสิกรไทย จึงสอบปากคำพนักงานของธนาคารไว้ ซึ่งให้การว่า ได้ทำการตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏว่า ในช่วงวันที่ 5-16 มิถุนายน 2558 พล..ประยุทธ์ และภรรยา ได้ทำธุรกรรมโอนเงินออกไปต่างประเทศผ่านธนาคารกสิกาไทย 

 

...ปัสสิทธิ์ กล่าวว่า หลังสอบสวนคดีนี้แล้วจึงเห็นควรสั่งฟ้อง ขณะนั้นมีประกาศ คสช. ​กำหนดให้คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร จึงส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้ไปยังอัยการศาลทหาร และต่อมาได้รับแจ้งจากอัยการศาลทหารให้ไปรับสำนวนคืนเพื่อฟ้องต่อศาลยุติธรรมต่อไป จึงส่งสำนวนต่อมาที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องจำเลยต่อศาลนี้

 

...ปัสสิทธิ์ ตอบคำถามทนายความว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่เกี่ยวกับล้มล้างรัฐบาลหรือล้มเจ้า ข้อความที่ระบุว่าฝากถึงเพื่อนๆ และคนไทยที่ทำงานเกี่ยวกับทางการเงิน …..” ลักษณะเป็นทำนองให้ช่วยกันตรวจสอบข้อมูลของพล..ประยุทธ์ ไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง พล..ประยุทธ์ เป็นบุคคลสาธารณะ โดยทั่วไปสามารถที่จะติชมการทำงานหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานได้

 

...ปัสสิทธิ์ ตอบคำถามทนายความว่า พล..ประยุทธ์ และภรรยา ไม่เคยมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเกี่ยวกับข้อความนี้ และไม่เคยเชิญมาสอบถามด้วย การสอบถามไปยังธนาคารกสิกรไทยนั้น สอบถามไปทุกช่วงเวลาแต่ธนาคารให้ข้อมูลมาเพยงช่วงเวลาที่มีการแข่งขันฟุตบอลที่สิงคโปร์ ที่พล..ประยุทธ์ ไปร่วมด้วย

 

...ปัสสิทธิ์ อธิบายว่า ข้อความที่รินดาโพสต์ หากเผยแพร่ไปเรื่อยๆ อาจจะมีการรวมตัวของกลุ่มผู้ที่เห็นว่า ข้อความนั้นเป็นจริง ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคง แม้ข้อความจะไม่ปรากฏการต่อต้านรัฐบาล หรือพล..ประยุทธ์ แต่เกรงกว่าหากเผยแพร่ข้อความต่อไปอาจจะเกิดเหตุความไม่สงบขึ้น สาเหตุที่ศาลทหารกรุงเทพสั่งจำหน่ายคดีเพราะไม่เห็นว่า มีข้อความตอนใดทำนองปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วยหรือกระด้างกระเดื่องในหมุ่ประชาชน เป็นเพียงการใส่ความผู้อื่น อันเป็นความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

 

...ปัสสิทธิ์ ตอบคำถามอัยการถามติงว่า ข้อความที่ฟ้องนั้น เมื่ออ่านโดยรวมจะเห็นว่า เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อรินดาเป็นผู้โพสต์ด้วยตัวเอง ไม่ได้แชร์มาจากบุคคลอื่น พนักงานธนาคารกสิกรไทยตรวจสอบไม่พบว่า มีการเปิดบัญชีในธนาคารกสิกรไทย ข้อความที่โพสต์จึงเป็นความเท็จทั้งสิ้น

 

 

24 พฤศจิกายน 2562

 

สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง รินดา ตัวจำเลย

 

รินดา เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 47 ปี อาชีพค้าขาย สมรสแล้ว มีบุตรสองคน สามีถึงแก่ความตายแล้ว สามีเป็นที่รู้จักกันว่า เป็นสมาชิกของกลุ่ม นปช. หลังสามีเสียชีวิตได้เข้าไปใช้บัญชีเฟซบุ๊กของสามี เนื่องจากต้องการแจ้งเหตุเกี่ยวกับสามีให้คนอื่นทราบ และต่อมาเปลี่ยนชื่อบัญชีเป็นชื่อของตัวเอง ส่วนตัวของรินดาไม่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม นปช.

 

รินดา อธิบายว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในปี 2557 แต่ไม่เคยแสดงออก ข้อความที่ถูกฟ้องพบในแอพพลิเคชั่นไลน์  เป็นทำนองขอให้ช่วยเผยแพร่ข้อความ จึงคัดลอกมาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เนื่องจากเห็นว่า เกี่ยวกับการเมืองโดยทั่วๆ ไป ไม่ได้อ่านให้ละเอียดแต่เข้าใจเบื้องต้นว่า หัวข้อและเนื้อหาพาดพิงถึงพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาในทางลบ เห็นว่า เป็นข้อความข่าวการเมืองในลักษณะที่ยังไม่พิสูจน์ว่า จริงหรือเท็จ

 

รินดา เล่าว่า วันที่ถูกควบคุมตัวมีคนจำนวนมากไปที่บ้านพัก ไม่ทราบว่า เป็นบุคคลจากหน่วยงานใด พยายามสอบถามแล้วแต่ไม่ได้รับคำตอบ รินดาถูกควบคุมตัวโดยมีการปิดตาไว้ และไม่รู้สึกตัวว่า อยู่ในสถานที่ใด ต่อมาก็ทราบว่า อยู่ภายในค่ายทหารแล้ว รินดาเล่าว่า ถูกถามหาความเชื่อมโยงกับบุคคลต่างๆ ในกลุ่ม นปช. ระหว่างที่ถูกสอบสวนในค่ายทหาร และมีการจัดทำบันทึกไว้ ซึ่งรินดาปฏิเสธความสัมพันธ์กับกลุ่ม นปช. ระหว่างการควบคุมตัวไม่มีโอกาสได้พบคนใกล้ชิด จนกระทั่งเวลา 20.00 . ได้มีโอกาสโทรศัพท์ไปหาญาติ

 

รินดากล่าว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงแค่ข่าวที่พาดพิงถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนสามารถกล่าวถึงได้ ก่อนหน้านี้มีคนที่ถูกตั้งข้อหาจากการโพสต์ข้อความในทำนองเดียวกัน ซึ่งอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

 

รินดา ตอบคำถามค้านของอัยการว่า ภาพที่ถ่ายที่ปรากฏร่วมกับแกนนำ นปช. เป็นภาพถ่ายในการไปเผยแพร่ความรู้ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ข้อความตามที่ฟ้องโพสต์ไปโดยไม่ได้ตรวจสอบ เนื่องจากเป็นว่า เป็นข่าว ซึ่งตนเองไม่มีหน้าที่ตรวจสอบ เพียงแต่คัดลอกมาโดยไม่ได้เพิ่มเติมอะไร

 

สิบพยานจำเลยปากที่สอง ผศ.สาวตรี สุขศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์

 

ผศ.สาวตรี เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนวิชากฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายกระกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จบการศึกษาชั้นปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแห่งเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมันนี โดยศึกษาเฉพาะในเรื่องความรับผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรืออาชญากรรมทางเทคโนโลยี

 

ผศ.สาวตรี เบิกความว่า สำหรับพ...คอมพิวเตอร์ฯ ..2550 ได้แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2560 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่ององค์ประกอบความผิด จำกัดการตีความ โดยกฎหมายที่แก้ไขแล้วไม่ให้นำพ...คอมพิวเตอร์ฯ ไปดำเนินคดีควบคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา

 

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ทนายความจำเลยแถลงหมดพยาน และประสงค์จะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลอนุญาตและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 มกราคม 2561

 

22 ธันวาคม 2560

 

ทนายความของจำเลย ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาล มีใจความสรุปได้ว่า คดีนี้จำเลยให้การรับว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า การกระทำของจำลเยเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งแบ่งได้เป็นสามประเด็น ดังนี้

 

ประเด็นที่หนึ่ง ข้อความที่จำเลยโพสต์ กล่าวหาพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาว่า ให้คนไปเปิดบัญชีโอนเงิน ไม่ได้กล่าวหาว่า ไปเปิดบัญชีด้วยตัวเอง การที่ตำรวจเคยสอบสวนพนักงานธนาคารกสิกรไทยไว้ว่า พล..ประยุทธ์ และภรรยา ไม่ได้ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตัวเอง จึงยังไม่ได้พิสูจน์ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ ซึ่งพล..ประยุทธ์และภรรยา ผู้ที่รู้ข้อเท็จจริงดีที่สุดก็ไม่เคยมาร้องทุกข์ ไม่เคยมาสอบปากคำ หรือมาเบิกความในคดีนี้

 

ประเด็นที่สอง ข้อความที่จำเลยโพสต์ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกของประชาชนอย่างไร ยังปรากฏว่า มีผู้เล่นเฟซบุ๊กแชร์ข้อความไปเพียงสี่ครั้ง และก็ไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่าจะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ สอดคล้องกับที่ศาลทหารกรุงเทพเคยวินิจฉัยว่า ข้อความของจำเลยไม่มีเนื้อหาที่จะเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เป็นเพียงเรื่องหมิ่นประมาทเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด

 

ประเด็นที่สาม จำเลยให้การตั้งแต่ชั้นสอบสวนแล้วว่า ไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ เพียงแต่จะแสดงความคิดเห็นโดยเปิดเผย วิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะที่สามารถตรวจสอบได้ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ​และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน การวิจารณ์และนำเสนอข่าวเช่นนี้มีมาทุกยุคสมัย ทุกรัฐบาล เป็นประเพณีตามปกติในสังคมประชาธิปไตย ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ มิเช่นนั้นแล้วการวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีจะกลายเป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้ และจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐอ้างกฎหมายปราบปรามการใช้เสรีภาพของประชาชน

 

 

25 มกราคม 2561 

 

นัดฟังคำพิพากษา

 

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา สรุปใจความได้ว่า คดีที่จำเลยให้การปฏิเสธว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยนำข้อความตามฟ้องโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กจริง ซึ่งการกระทำนั้นจะเป็นความผิดตาม ...คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขในปี 2560 ได้ ต้องเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

 

เมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยโพสต์แล้ว ไม่มีข้อความใดที่ปรากฏว่า จะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จำเลยรับว่า โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่เห็นว่า เป็นข่าวการเมืองไม่มีการพิสูจน์ว่า เป็นความจริงหรือเท็จ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอฟังว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้อง

 

 

6 มิถุนายน 2561

 

หลังขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้ว พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ สรุปใจความได้ว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพาษาของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิด โจทก์มีพยาน คือ ...พงศกร ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ทำให้พล..ประยุทธ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ดูแลกำกับการป้องกันประเทศ ดูแลความมั่นคง ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อความเท็จ เพราะจำเลยมีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่หลายครั้ง เฟซบุ๊กของจำเลยมีคนติดตามประมาณ 2,000 คน หากผู้ติดตามขาดความยั้งคิด เข้าใจว่า เป็นความจริง อาจมีการชุมนุมหรือระดมเผยแพร่ข้อความต่อๆ ไป อาจเกิดความวุ่ยวายในบ้านเมืองได้

 

จำเลยรับว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความจริง เท่ากับแสดงเจตนาว่า ต้องการใส่ร้ายป้ายสีพล..ประยุทธ์ จำเลยยอมรับว่า ไม่ได้อ่านโดยละเอียดว่า ข้อความนั้นเป็นอย่างไร ข้อความดังกล่าวต้องการให้คนมาช่วยกันสอดส่องดูแลการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ซึ่งก็อาจหมายถึงมาร่วมชุมนุมเรียกร้อง 

ก่อให้เกิดความวุ่นวายในประเทศ กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศได้

 

 

20 กุมภาพันธ์ 2562 

 

ศาลอาญานัดจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อย่างย่อ เนื่องจากติดพิจารณาคดีอื่นด้วย โดยสรุป คือ  การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) เพราะไม่มีข้อความใดที่ถึงขั้นจะมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน จนกระทั่งจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการทำงานของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อประเทศได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

 

ในการพิจารณาคดีวันนี้มีกลุ่มนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาสังเกตการณ์ด้วย ศาลถามว่า ที่นั่งกันอยู่เป็นนักข่าวหรือไม่ แต่ผู้สังเกตการณ์ตอบว่า ไม่ใช่ ศาลก็กล่าวว่า เป็นนักข่าวก็ไม่มีปัญหาอะไร จะได้ให้จดคำพิพากษาไป

 

คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ต่างพิพากษายกฟ้องทั้งสองชั้น จึงเข้าข่ายห้ามยื่นคดีต่อศาลฎีกา ถือว่า คดีสิ้นสุดแล้ว

 

 

 

 

 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีที่จำเลยให้การปฏิเสธว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยนำข้อความตามฟ้องโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กจริง ซึ่งการกระทำนั้นจะเป็นความผิดตาม ...คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขในปี 2560 ได้ ต้องเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

 

เมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยโพสต์แล้ว ไม่มีข้อความใดที่ปรากฏว่า จะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จำเลยรับว่า โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่เห็นว่า เป็นข่าวการเมืองไม่มีการพิสูจน์ว่า เป็นความจริงหรือเท็จ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอฟังว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้อง

 
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ​ หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้ที่เข้าไปติดตามเฟซบุ๊กของจำเลย มีประมาณ 2,000 คน อาจมาร่วมชุมนุมเรียกร้องก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เห็นว่า ขณะที่กระทำการอันถูกกล่าวหานั้น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ​ ยังไม่ถูกแก้ไข แต่ขณะที่คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาล มีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปี 2560 ในมาตรา 14 ซึ่งกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลังการกระทำความผิดในคดีนี้ได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดินเพิ่มขึ้น แต่ยังคงบัญญํติให้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ และมีระวางโทษเท่าเดิม การพิจารณาว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ต้องพิจารณามาตรา 14 ของกฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด

 

ศาลอุทธรณ์เป็นว่า ตามข้อความที่จำเลยโพสต์บนเฟซบุ๊กที่สาธารณชนเข้าถึงได้ มีความหมายว่า ให้เพื่อนๆ และคนไทยทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับการเงินการธนาคารช่วยกันตรวจสอบการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ของพ.อ.ประยุทธ์และภรรยา ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ประชาชนทั่วไปผู้ไม่รู้ความจริงเมื่อได้อ่านข้อความนั้นย่อมรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาเท่านั้น ไม่มีความตอนใดถึงขนาดที่จะมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนทำให้ไม่มั่นใจในรัฐบาล นำไปสู่ความไม่สงบสุขกับเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศได้ หรือเป็นเหตุให้ประชาชนต้องมาชุมนุมเรียกร้อง ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำอุทธรณ์

 

การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) ตามที่โจทก์ฟ้องมา และศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน

 

 

 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา