7ดาวดิน: ชูป้ายต้านรัฐประหาร

อัปเดตล่าสุด: 27/11/2562

ผู้ต้องหา

จตุภัทร์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น

สารบัญ

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 7 คนในนามกลุ่มดาวดินซึ่งรวมกลุ่มชูป้ายต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่22 พฤษภาคม 2558 ถูกจับกุม และ ดำเนินคดี ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่3/2558 หลังได้รับการประกันตัว พวกเขาประกาศอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

ต่อมาจตุภัทร์ หรือไผ่ หนึ่งในผู้ต้องหา ถูกจับในคดีมาตรา 112 จึงถูกอายัดตัวต่อเพื่อมาดำเนินคดีนี้ ในขณะที่อีก 6 คน ยังไม่ได้เข้ากระบวนการ

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

-วสันต์ เสทสิทธิ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 5 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน เคยลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
 
-พายุ บุญโสภณ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน เคยลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
 
-อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ไปทำงานกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำปิโตรเลียมในจังหวัดกาฬสินธุ์
 
-ศุภชัย ภูคลองพลอย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ ทำงานร่วมกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และปัญหาเหมืองแร่ที่ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
 
-ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ไปทำงานกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำปิโตรเลียมในจังหวัดกาฬสินธุ์
 
-สุวิชา พิทังกร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 4 เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน ปัจจุบันเป็นฝ่ายกฎหมายประจำพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์ดงมูล จังหวัดกาฬสินธุ์
 
-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 5 เป็นผู้ประสานงานกลุ่มดาวดิน และเคยลงพื้นที่พิพาทที่ป่าชุมชนบ้านบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัด ชัยภูมิ
 
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ, ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557
คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

นักศึกษากลุ่มดาวดิน ทั้ง 7 คนถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  หลังออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร โดยถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร”  ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558

พฤติการณ์การจับกุม

22 พฤษภาคม 2558  ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น หลังนักศึกษากลุ่มดาวดิน ทั้ง 7 คน ออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร ประมาณ13.27 น. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ได้เข้าจับกุม ในระหว่างจับกุมเจ้าหน้าที่กล่าวว่า "ขอเชิญตัวแต่โดยดี ถ้าไม่ไปจะมีมาตรการเพิ่ม"  ก่อนที่ทั้ง7 คน จะถูกนำตัวไปมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23) 
 
และถูกนำตัวเข้าห้องขังทันที เวลา 21.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

61/2559

ศาล

ศาลทหารจังหวัดขอนแก่น

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
22 พฤษภาคม 2558
 
ประมาณ 13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดิน  ทั้ง7คน ออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร โดยถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” 
 
ประมาณ 13.27 น. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ได้เข้าจับกุม ในระหว่างเข้าจับกุ่มเจ้าหน้าที่กล่าวว่า "ขอเชิญตัวแต่โดยดี ถ้าไม่ไปจะมีมาตรการเพิ่ม"  ก่อนที่ทั้ง7 คน จะถูกนำตัวไปมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23) 
 
และถูกนำตัวเข้าห้องขังทันที เวลา 21.00 น. ก่อนจะถูกแจ้งข้อหาขัดคำสั่ง ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คน ซึ่งเป็นการออกกฎหมายโดยอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในวันรุ่งขึ้นทั้งหมดได้รับการประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เป็ยเงินสดจำนวน 7,500 บาท ต่อคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำหนดให้กลุ่มดาวดินไปรายงานตัวในวันที่ 8 มิถุนายน 2558
 
 
8 มิถุนายน 2558 
 
พ.ต.อ.วิเศษ ภักดีวุฒิ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.เมืองขอนแก่น นัดทั้ง 7 คน ให้มารายงานตัวตามหมายเรียก
 
เพื่อรับหาข้อกล่าวหา ภายในเวลา 17.00 น แต่เล้วช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น มีองค์กรนักศึกษาจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และองค์กรชาวบ้านรวมทั้งหมด 20 องค์กรร่วมอ่านคำประกาศ "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่"  
 
พร้อมเสนอหลักการ  "ประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน-ความยุติธรรม-การมีส่วนร่วม-สันติวิธี" เรียกร้องให้ยุติการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ คืนอำนาจ-จัดการเลือกตั้ง และรัฐต้องเคารพสิทธิชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา
   
จากนั้นประมาณ 15.00 น.  นักศึกษาดาวดิน 7 คน ประกาศที่ลานจามจุรี หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า จะอารยะขัดขืน ด้วยการไม่ไปรายงานตัว ไม่หลบหนี และยินดีรับโทษทางกฎหมาย โดยระบุว่ากฎหมายที่ใช้กับพวกตนเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม
 
IMG_3233
 
19 มิถุนายน 2558 
 
วันสุดท้ายการผ่อนผันรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา  นักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คน ประกาศอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียก
 
พร้อมออก 'คำประกาศจากใจ 7 ดาวดิน'  ผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน โดยมีเนื้อความว่า พร้อมให้จับที่ จังหวัดเลย 
 
เหตุที่เลือกมาเมืองเลย เพราะ รู้ตัวว่ายังไงก็จะถูกจับแน่ๆ พื้นที่แห่งนี่เป็นพื้นที่แรกที่ทั้ง  7คน ได้เริ่มเรียนรู้ในเรื่องเหมืองแร่ทองคำ (เหมืองแร่เมืองเลย) หาก ต้องเลือกว่าจะถูกจับที่ไหน ก็เลือกจะถูกจับที่นี่ ที่ที่ทำให้ได้เรียนรู้ ต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของทั้ง 7 คน 
 
ในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมระบุรู้ตัวว่าโดนจับแน่ ไม่อ้อนวอนให้รัฐบาล คสช. มอบเสรีภาพให้และไม่ขอร้องพวกนายทุนสามานย์ จะรับประกันเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม ความยุติธรรม สันติวิธี ด้วยตัวเอง
 
19 สิงหาคม 2559
 
หลังได้รับการประกันตัวในคดี แจกใบปลิวโหวตโน ที่ภูเขียว ชัยภูมิ จตุภัทร์ถูกอายัดตัวมาที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่นหรือศาลทหารขอนแก่นเพื่อให้อัยการทหารฟ้องจตุภัทร์ในคดีนี้ ก่อนหน้านี้ศาลทหารขอนแก่นเคยออกหมายจับจตุภัทร์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2558 ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการร่วมกับสมาชิกกลุ่มดาวดินอีกหกคนชุมนุมที่อนุสาวรีย์ปประชาธิปไตยขอนแก่นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นเหตุแห่งคดีนี้
 
ประชาไทอ้างอิงรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า จตุภัทร์ถูกนำตัวจากเรือนจำภูเขียวถึงศาลทหารขอนแก่นในเวลาประมาณ 19.30 น. โดยพ่อและแม่ของจตุภัทร์ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตามจตุภัทร์เข้าไปในค่ายจึงต้องรอด้านนอก ในเวลาประมาณ 20.30 น. อัยการทหารมาถึงศาลและมีคำสั่งฟ้องจตุภัทร์ ศาลทหารขอนแก่นรับฟ้องสั่งให้ขังจตุภัทร์ระหว่างพิจารณาคดี
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานถึงกระบวนพิจารณาซึ่งศาลรับฟ้องจตุภัทร์นอกเวลาราชการว่า อัยการทหารอธิบายถึงเหตุจำเป็นในการยื่นฟ้องจตุภัทร์นอกเวลาราชการกับศาลว่า อัยการทหารประสานกับพนักงานสอบสวนให้นำตัวจตุภัทร์มาส่งตั้งแต่เวลา 13.00 น.เพื่อส่งตัวฟ้องต่อศาล แต่เนื่องจากติดขัดในระยะทาง ทำให้นำตัวจตุภัทร์มาฟ้องต่อศาลเลยระยะเวลาทำการ คดีมีเหตุจำเป็นจึงสามารถยื่นฟ้องนอกเวลาราชการได้
 
20 สิงหาคม 2559
 
ทนายของจตุภัทร์ยื่นคำร้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ของศาลทหารขอนแก่นโดยให้เหตุผลว่าเป็นการรับฟ้องนอกเวลาราชการซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
 
23 สิงหาคม 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
เฟซบุ๊กของพีซทีวีรายงานว่า ศาลทหารขอนแก่นนัดจตุภัทร์สอบคำให้การ โดยก่อนสอบคำให้การศาลไต่สวนคำร้องที่ทนายของจตุภัทร์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีนี้มีการดำเนินคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายคือมีการฟ้องคดีต่อศาลนอกเวลาราชการจึงถือเป็นคำฟ้องและการยื่นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อัยการทหารแถลงต่อศาลว่าที่ยื่นฟ้องนอกเวลาราชการในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ได้ประสานกับทางตำรวจและศาลทหารขอนแก่นว่าจะนำตัวจำเลยมาฟ้องต่อศาลในเวลา 13.00 น. แต่เนื่องจากมีเหตุขัดข้องในการส่งตัวจำเลยจึงมีเหตุให้ต้องฟ้องต่อศาลหลังเวลาทำการ 
 
หลังการไต่สวนศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของฝ่ายจำเลยเพราะอัยการทหารได้ประสานเพื่อฟ้องคดีกับศาลตามที่แถลงจริง ซึ่งถือเป็นการกระทำต่อเนื่องตลอดเพื่อฟ้องคดีนี้ต่อศาล รวมทั้งไม่มีข้อห้ามไม่ให้ดำเนินการฟ้องคดีหลังเวลาทำการของศาล การยื่นฟ้องดังกล่าวจึงมีเหตุสมควรให้ทำได้
 
หลังมีคำสั่งยกคำร้องเพิกถอนกระบวนพิจารณา ศาลสอบคำให้การจตุภัทร์ จตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยวางเงินสด 10,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัวและนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 ตุลาคม 2559 
 
27 ตุลาคม 2559
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
เดอะอีสานเรคคอร์ดรายงานว่า อัยการทหารแถลงต่อศาลว่าจะนำพยานเข้าเบิกความรวมห้าปาก เป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในที่เกิดเหตุสี่ปากและพนักงานสอบสวนอีกหนึ่งปาก ฝ่ายจำเลยมีสี่ปากคือจตุภัทร์ซึ่งเป็นจำเลย อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกสองปาก ศาลทหารขอนแก่นนัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่งวันที่ 30 มกราคม 2560
 
22 ธันวาคม 2559
 
จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวในเรือนจำหลังศาลจังหวัดขอนแก่นถอนประกันคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งจตุภัทร์ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดด้วยการแชร์บทความพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สิบจากเว็บไซต์บีบีซีไทรวมทั้งคัดลอบเนื้อหาจากบทความบางส่วนโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ดูรายละเอียดคดี 112 ของจตุภัทร์ ที่นี่
 
30 มกราคม 2560
 
นัดสืบพยาน
 
ศาลทหารขอนแก่นนัดสืบพยานปากแรกแต่ศาลทหารขอนแก่นไม่สามารถเบิกตัวจตุภัทร์มาศาลได้ หนังสือของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ ศย.304.003 ของศาลจังหวัดขอนแก่นซึ่งส่งถึงศาลทหารขอนแก่นระบุว่า ตามที่ศาลทหารขอนแก่นขอเบิกตัวจตุภัทร์ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำภายใต้อำนาจของศาลจังหวัดขอนแก่นนั้น ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่สามารถอนุญาตให้เบิกตัวจตุภัทร์ได้เนื่องจากไม่มีข้อมูลในสำนวนของพนักงานสอบสวนว่าจตุภัทร์ถูกดำเนินคดีนี้ที่ศาลทหารขอนแก่น ศาลทหารขอนแก่นจึงเลื่อนนัดสืบพยานใหม่วันที่ 27 มีนาคม 2560 
 
27 กรกฎาคม 2560
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 
 
ที่ศาลทหารจังหวัดขอนแก่น  มีผู้มาให้กำลังใจ ไผ่ จตุภัทร์ ราว 30 คน แต่เนื่องจากห้องพิจารณาคดีค่อนข้างคับแคบ เจ้าหน้าที่ศาลเลยจำกัดจำนวนคนที่จะเข้ามาฟังการพิจารณาคดีได้แค่ 15 คนเท่านั้น 
 
พยานวันนี้ พ.อ.สุรศักดิ์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม  2558 พยานรับราชการอยู่ มทบ.23 ตำแหน่ง หัวหน้ากองข่าว  นอกจากนี้ พยานยังปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดขอนแก่น ด้านการข่าว พยานเป็นผู้กล่าวหาจตุภัทร์ พร้อมกับพวกอีก 6 คน ในข้อหาขัดคำสั่งของ คสช. ชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่คนอื่น ๆ หลบหนี มีจตุภัทร์คนเดียวเป็นจำเลยในคดีนี้
 
ก่อนเกิดเหตุ พยานทราบจากเฟซบุ๊กของกลุ่มดาวดินว่า มีการเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวเพื่อคัดค้านรัฐประหาร และก่อนเกิดเหตุ 1 วัน เจ้าหน้าที่พบนักศึกษา 2 คน แจกใบปลิวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เพื่อเชิญชวนคนทั่วไปให้มาร่วมกิจกรรม จึงติดตามเฝ้าระวังความเคลื่อนไหว
 
ในวันเกิดเหตุ พยาน รวมทั้งสารวัตรทหาร (สห.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เฝ้าระวังอยู่บริเวณรอบ ๆ อนุสาวรีย์ฯ พบจำเลยกับพวกรวม 7 คน เดินทางมาที่เกิดเหตุ และชูป้ายผ้าคัดค้านรัฐประหาร ตำรวจจึงได้เข้าแจ้งว่า เป็นการกระทำผิด ให้ยุติการกระทำ แต่จำเลยกับพวกไม่ยุติ  สห. และตำรวจจึงได้เชิญตัวไปค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23) เพื่อปรับทัศนคติ และเข้าสู่กระบวนการอบรม จำเลยกับพวกมีการขัดขืนดื้อดึง และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว พยานจึงได้ส่งตัวให้ สภ.เมืองขอนแก่น ดำเนินคดี

เอกสารหลักฐานในคดีที่พยานได้ลงลายมือชื่อ ได้แก่ ทำบันทึกการจับกุม, บัญชีของกลาง และภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ต่อมา พยานได้นำหลักฐานส่งพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อประกอบสำนวนคดี  ได้แก่ บันทึกข้อตกลง และแผ่น CD บันทึกภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาที่ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 และจำเลยกับพวกได้ไปชู 3 นิ้ว ไม่เอารัฐประหาร เป็นข้อตกลงระหว่างจำเลย กองกำลังฯ และผู้ปกครองนักศึกษา 5 ท่าน ว่านักศึกษาทั้ง 5 จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมี ผบ.มทบ.23 และ ผวจ.ขอนแก่น เข้าร่วมพูดคุย และลงชื่อเป็นพยาน
 
พฤติการณ์การชุมนุมของจำเลยกับพวกเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าให้ถูกต้องจะต้องขออนุญาตจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดขอนแก่น ก่อน ถ้าได้รับอนุญาตจึงจะจัดได้ แต่จำเลยและพวกไม่ได้ปฏิบัติ
 
จากนั้นทนายจำเลยได้ถามค้าน ซึ่ง พ.อ.สุรศักดิ์ ได้ตอบคำถามว่า หลังจำเลยกับพวกได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการชู 3 นิ้ว ต่อหน้าหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 พนักงานสอบสวนได้จัดทำบันทึกประวัติของจำเลย โดยระบุในช่อง  อาวุธ/ยานหาพนะ ว่า “ชู 3 นิ้ว” นั้น ไม่ได้หมายความว่า ชู 3 นิ้ว คืออาวุธ แต่หมายถึง การชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ส่วนสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น  พยานไม่ทราบว่า หมายถึง เสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ หรือไม่ และหากหมายถึง เสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ จริง พยานก็ไม่ทราบว่า จำเลยจะสามารถแสดงออกว่าต้องการ 3 สิ่งนั้นได้หรือไม่
พยานทราบว่า จำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่รวมตัวกันทำกิจกรรมทางสังคม ในทางการข่าวก็มีปรากฏว่า กลุ่มดาวดินไปทำกิจกรรมช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ซึ่งพยานเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี น่าชื่นชม
 
พยานจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก่อนที่พยานจะเข้ารับตำแหน่ง พยานเคยกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่า จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และจะรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพยานเห็นว่า การรักษาระบอบประชาธิปไตยฯ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่พยานไม่ขอตอบว่า การที่จำเลยคัดค้านรัฐประหารเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่  และหลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พยานได้ทำตามที่พยานได้ให้คำปฏิญาณไว้หรือไม่ พยานยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาอย่างถูกต้อง
 
ประชาธิปไตยกับเผด็จการที่มาจากการรัฐประหาร อย่างไหนดีกว่ากันนั้น พยานไม่ขอตอบ ถ้าจำเลยเห็นว่า ประชาธิปไตยดีกว่า ก็มีสิทธิแสดงออกในทางที่ถูกต้อง
 
การชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐประหาร จะถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 5/57 ที่ให้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 สิ้นสุดลง และให้ ครม.ยุติการปฏิบัติหน้าที่ จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานเป็นกบฎหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร และการแต่งตั้งคณะบุคคลเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ขัดกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ รวมทั้งไม่ขอตอบว่าเห็นด้วยกับการกระทำทั้ง 4 อย่างดังกล่าวมาหรือไม่
 
หากจำเลยเห็นว่า การกระทำทั้งหมดนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยมีสิทธิแสดงออกได้ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายออกมาห้ามประชาชนกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือถ้ากฏหมายไม่ถูกต้อง พยานไม่ขอตอบว่า พยานจะปฏิบัติตามหรือไม่
 
ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ 1 วัน ที่พยานเบิกความว่า มีประชาชน 2 คน มาแจกใบปลิวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น ไม่ปรากฏชื่อ-นามสกุล และพยานก็ไม่ได้เห็นข้อความในใบปลิว และที่พยานเบิกความว่า มีการโพสต์เฟซบุ๊คเชิญชวน พยานก็ไม่ได้ยื่นให้พนักงานสอบสวนเพื่อเป็นหลักฐาน
 
การจัดกิจกรรมที่เป็นเหตุในคดีนี้ มีการส่งหนังสือเวียนในกองกำลังฯ ว่ามีการประสานแล้วว่าจะทำกิจกรรม แต่ไม่ได้ขออนุญาต และไม่ปรากฏว่ามีการส่งกำลังไปจับนักศึกษาก่อนที่จะมาทำกิจกรรม เมื่อพยานได้รับข่าวว่าจะมีการทำกิจกรรม พยานก็ได้รับคำสั่งให้ไปเฝ้าระวัง
 
พยานไม่ได้ร่วมจับกุม เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อยู่ด้านนอก หัวหน้าชุดจับกุม คือ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร (ผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23)  ซึ่งพยานเห็นขณะ ร.อ.อภินันท์ เข้าเชิญตัวจำเลยว่า เข้าเชิญโดยละมุนละม่อม โดยอ้าง ม.44 ด้วย แต่ไม่เห็นว่ามีการแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ตาม ม.44 จะเป็นการแสดงตัวโดยการแต่งเครื่องแบบ โดยทั่วไปการเชิญไปปรับทัศนคติ จะเชิญเฉพาะคนที่ทำผิดกฎหมายเท่านั้น
 
หากเชิญไปแล้วยินยอมปรับทัศนคติ ก็จะไม่ดำเนินคดี แต่ถ้าไม่ยอมปรับก็จะส่งดำเนินคดี ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ที่ถูกเชิญว่า ไม่ไปก็ได้ กรณีในคดีนี้ เจ้าหน้าที่บังคับให้จำเลยกับพวกไปปรับทัศนคติ เนื่องจากไม่ยอมไปดีๆ ที่พยานเบิกความว่า ในการจับกุมนักศึกษามีการต่อสู้ขัดขืนนั้น ปรากฏตามภาพเคลื่อนไหวในแผ่นซีดี ส่วนในภาพเหตุการณ์ไม่ปรากฏภาพที่เป็นการดื้อดึงขัดขืนในระหว่างการจับกุม และที่บันทึกจับกุมไม่ระบุว่า นักศึกษามีการต่อสู้ขัดขืน เพราะทหารเห็นแก่ความเป็นนักศึกษาของจำเลยและพวก จึงพยายามลงให้เป็นความผิดน้อยที่สุด
 
กระบวนการเชิญบุคคลไปปรับทัศนคตินั้น จะเป็นกระบวนการทางกระบวนพิจารณาความอาญาหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ พยานทราบเพียงว่า คนที่ถูกเชิญไปคือคนที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งพยานเห็นว่า ความคิดคัดค้านรัฐประหารผิดกฎหมาย และความคิดสนับสนุนรัฐประหารถูกกฎหมาย ข้อความ “คัดค้านรัฐประหาร” ในป้ายที่จำเลยชูในขณะทำกิจกรรม พยานเห็นว่า ผิดกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้น แต่พยานไม่ขอตอบว่า ผิดกฎหมายใด
 
เหตุที่พยานแจ้งความดำเนินคดีจำเลย เพราะจำเลยยืนยันว่า ไม่ได้กระทำความผิด และไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติ ซึ่งผู้บังคับบัญชาของพยาน สั่งการไว้ว่า ถ้ายอมรับเข้าปรับทัศนคติ แล้วตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ อีก ก็จะไม่ดำเนินคดี เหมือนเมื่อครั้งที่จำเลยไปชู 3 นิ้ว ต่อหน้า
หัวหน้า คสช. แม้ในครั้งนั้นจำเลยยืนยันว่าจะใช้สิทธิคัดค้านรัฐประหารต่อไปอีก แต่ ผบ.มทบ.23 และผวจ.ขอนแก่น ได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของจำเลยแล้ว ผู้ปกครองยอมรับว่า จะทำความเข้าใจกับจำเลยต่อไป
การทำข้อตกลงห้ามบุคคลแสดงออกทางการเมืองเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นหรือไม่นั้น พยานขอตอบว่า ขัดต่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
หลังทนายจำเลยถามค้านเสร็จ พยานได้ตอบคำถามที่อัยการทหารถามติงว่า
 
เหตุที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้น ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบที่มีบุคคลเคลื่อนไหว ทำให้ประชาชนบางส่วนเดือดร้อน เมื่อ คสช.ยึดอำนาจแล้ว นอกจากกฎหมายที่ใช้บังคับตามปกติแล้ว ได้มีการออกประกาศ/คำสั่ง คสช. โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่สามารถใช้บังคับได้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อย
 
ข้อตกลงซึ่งห้ามจำเลยเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งพยานตอบทนายจำเลยว่า ผิดกฎหมายในขณะนั้น พยานหมายความว่า พฤติกรรมที่จำเลยทำในขณะนั้น ซึ่งขัดกับข้อตกลง เป็นการทำผิดกฎหมาย ส่วนข้อตกลงดังกล่าวนั้นเป็นข้อตกลงที่ถูกกฎหมาย เนื่องจากเป็นการสร้างความรับรู้ เพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก ศาลนัดสืบพยานโจทก์อีกครั้ง วันที่ 22 สิงหาคม 2560
 
29 กันยายน 2560 
 
นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ ในวันนี้ อัยการทหารได้นัดสืบพยานสองปาก คือ พนักงานสอบสวนในคดี และผู้สื่อข่าวที่ถ่ายวีดีโอในวันเกิดเหตุ จตุภัทร์ถูกนำตัวมาศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 9.15 น. ทางฝ่ายจำเลยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลในเวลาประมาณ 10.30 น. ว่า พยานโจทก์ทั้งสองคนไม่มาศาล 
 
เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 11.00 น. อัยการทหาร แถลงต่อศาลว่า พยานไม่มาศาลเนื่องจากไม่ปรากฎผลของการส่งหมาย พนักงานสอบสวนในคดีได้ย้ายสถานที่ทำงาน ส่วนผู้สื่อข่าว มีภูมิลำเนาไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน และโจทก์ไม่ต้องการตัดพยานทั้งสองปากออกไปเนื่องจากเป็นพยายปากสำคัญ ศาลอนุญาตให้ออกหมายเรียกและนัดสืบพยานใหม่ โดยในการนัดหมายครั้งหน้าเปลี่ยนจากการสืบพยานสองปากนี้ เป็นการนัดสืบพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุม โดยศาลนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560
 
ในวันนี้ ศาลยังสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นแก้ไขคำฟ้องได้ ในประเด็นการไม่ให้นำวันจำคุกในคดีอื่นมาหักล้างกับโทษในคดีนี้ โดยหากศาลพิพากษาลงโทษ อัยการทหารขอให้นับโทษต่อหลังจากรับโทษคดีมาตรา 112 ครบแล้ว
 
บรรยากาศบริเวณศาลในช่วงเช้ามีการเข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยโดยพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจจตุภัทร์ประมาณ 30-40 คน บรรยากาศโดยรวมในบริเวณศาลเป็นไปอย่างผ่อนคลายกว่าครั้งก่อน มีเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารในเครื่องแบบ 5-6 คนยืนรักษาความเรียบร้อยโดยรอบตลอดเวลา แต่ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มผ่อนคลาย ระหว่างที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ในห้องขัง ทหารอนุญาตให้ผู้มาให้กำลังใจเข้าเยี่ยมได้ โดยต้องต่อคิวเข้าเยี่ยมเป็นรอบ รอบละ 10 คน แต่ละรอบให้เวลาประมาณ 10 นาที
 
22 มกราคม 2560 
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
ที่ศาลทหารจังหวัดขอนแก่น อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ 2 ปาก มาศาลเพียงปากเดียวคือ พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำพิโล รองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ส่วน พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวน เดินทางไปราชการ ไม่มาศาล 
 
ก่อนเริ่มสืบพยาน ศาลนัดสอบคำให้การ คดีที่อัยการทหารเป็นโจทก์ฟ้องภานุพงศ์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินอีกหนึ่งคน ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรมชูป้ายคัดค้านรัฐประหารในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ในกรณีเดียวกันกับจตุภัทร์ โดยอัยการทหารเพิ่งส่งฟ้องต่อศาล มทบ.23 นี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 หลังศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้ฟังแล้ว ภานุพงศ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี จากนั้นอัยการแถลงขอสืบพยาน ด้านทนายจำเลยติดใจขอตรวจพยานหลักฐาน ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561
 
จากนั้นจึงเริ่มสืบพยาน โดยพ.ต.ท.นรวัฒน์ คำพิโล ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เบิกความต่อศาลว่า เป็นผู้ร่วมจับกุมจตุภัทร์ กับพวกรวม 7 คน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 พร้อมทั้งยึดแผ่นป้าย 5 แผ่น ซึ่งมีข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” รวมทั้งข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน และเหมืองแร่ ก่อนเกิดเหตุพยานได้รับการประสานจากทหารว่า จะมีกลุ่มคนมาทำกิจกรรมคัดค้านรัฐประหารตามสถานที่ราชการ จึงได้ร่วมกับทหารวางแผนจับกุม และในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งจากทหารว่า กลุ่มดาวดินจะมาที่ศาลหลักเมือง พยานจึงได้มาที่ศาลหลักเมือง เห็นนายจตุภัทร์กับพวกถือแผ่นป้ายเดินมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นได้ชูป้ายพร้อมทั้งพูดว่า “ไม่เอารัฐประหาร” เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองจึงได้เข้าไปแจ้งว่า การกระทำดังกล่าวขัดกับคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่กลุ่มจำเลยไม่หยุดการกระทำ เจ้าหน้าที่จึงเข้าควบคุมตัวทั้งหมดนำตัวไปที่กองร้อยสารวัตรทหาร มทบ.23 เพื่อปรับทัศนคติ จำเลยกับพวกทั้ง 7 คน ปฏิเสธที่จะรับการปรับทัศนคติ จึงถูกส่งตัวไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อดำเนินคดี
 
จากนั้น พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานกับจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน แต่จำเลยกับทหารจะมีสาเหตุโกรธเคืองกันจากการที่จำเลยทำกิจกรรมชู 3 นิ้ว เมื่อครั้งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตรวจราชการที่ จังหวัดขอนแก่นหรือไม่ พยานไม่ทราบ
 
พยานเห็นว่าป้ายของกลาง รวมทั้งข้อความในป้ายไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย และการคัดค้านรัฐประหารก็ไม่ผิดกฎหมาย การจับกุมจำเลยในวันเกิดเหตุเป็นการใช้ดุลพินิจร่วมกันของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง โดยที่พยานก็เห็นด้วยที่ต้องเข้าจับกุม
 
พยานทราบว่าเมื่อปี 2557 มีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนการทำรัฐประหารเป็นความผิดฐานเป็นกบฏในราชอาณาจักร หรือเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอออกความคิดเห็น เนื่องจากไม่แน่ใจ
 
พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า พยานศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเคยกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณไว้ว่า จะรักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 พยานในฐานะข้าราชการ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
พยานทราบว่าขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า สิทธิและเสรีภาพ ที่ประชาชนเคยได้รับการคุ้มครอง ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย อย่างไรก็ตามพยานเห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. สามารถใช้บังคับได้เหนือกว่าข้อความในรัฐธรรมนูญ
 
พยานไม่ขอออกความเห็นว่า การที่จำเลยออกมาคัดค้านรัฐประหารนั้นสอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ แต่พยานทราบว่าการชุมนุมเป็นสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ในการเข้าจับกุมจำเลย พยานไม่มีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณาว่า จะกระทบสิทธิเสรีภาพของจำเลยตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
ทนายจำเลยถามพยานว่า ระหว่างทัศนคติที่สนับสนุนกับค้านรัฐประหาร ทัศนคติแบบไหนที่สมควรถูกปรับ พยานตอบว่าไม่ทราบ พยานเห็นว่า การกระทำของจำเลยหากทำในช่วงที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่ขณะเกิดเหตุประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น พยานขอไปศึกษาก่อน
 
ในการตอบคำถามค้านที่พยานตอบว่า ไม่มีหรือไม่ขอออกความเห็นนั้น ทนายจำเลยได้ถามว่า เป็นเพราะพยานเกรงเหตุเภทภัยที่จะเกิดกับตัวเอง หรือเป็นเพราะพยานยังไม่แน่ชัด ซึ่งพยานตอบว่า เป็นเพราะยังไม่แน่ชัด โดยระบุด้วยว่า ไม่ขอก้าวล่วงการแสดงความเห็นทางกฎหมาย
 
หลังสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานโจทก์อีกครั้ง วันที่ 22 มีนาคม 2561
 
19 กุมภาพันธ์ 2561

นัดตรวจพยานหลักฐานคดีภาณุพงษ์

ห้องพิจารณาคดีที่1 ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เวลา 10.15 นาฬิกา บรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดีเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย นอกจากทนายของจำเลย อัยการฝ่ายโจทก์และตัวจำเลยเองแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารจากสารวัตรทหารบกกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุนษยชน เข้านั่งสังเกตการพิจารณาคดีด้วย ไนท์ได้พูดคุยทักทายผู้เข้ามาสงเกตการณ์ด้วยสีหน้าปกติ
 
โดยฝ่ายจำเลยได้ยื่นพยานบุคคลจำนวน 4 ลำดับและพยานเอกสารจำนวน 4 ลำดับ รวม 8 ลำดับ พยานบุคคลทั้งหมดเป็นนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และนิติศาสตร์ ประกอบด้วยเช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ส่วนพยานเอกสาร ประกอบไปด้วยเอกสารตัวบทกฎหมายและคำพิพากษา เช่นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และหนังสือรวมประกาศ คำสั่งภายใต้ยุค คสช. ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 – 29 มีนาคม 2559
ทางด้านโจกท์ ยื่นพยานบุคคล 5 ลำดับพยานเอกสาร 10 ลำดับและพยานวัตถุอีก 1 รวมเป็น 16 ลำดับ พยานบุคคลเป็นชุดจับกุมในวันเกิดเหตุกับนักข่าวที่บันทึกภาพเหตุการณ์ พยานเอกสารเป็นในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ส่วนพยานวัตถุเป็นแผ่นซีดีบันทึกไฟล์ภาพเคลื่อนไหว

ศาลเริ่มถามทนายจำเลยก่อนว่ารับพยานของฝ่ายโจกท์ลำดับใดได้บ้าง ทนายโจทก์จึงแถลงต่อศาลว่าในส่วนพยานเอกสาร ยอมรับเฉพาะในส่วนที่จำเลยลงชื่อเท่านั้น แต่ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงในเอกสารเหล่า ส่วนเอกสารอย่างบันทึกการจับกุมไม่ยอมรับ เพราะจำเลยในคดีไม่ลงลายมือชื่อและพนักงานสอบสวนบันทึกพฤติกรรมแห่งคดีไม่ครบถ้วน ส่วนพยานบุคคลทั้งหมดและพยานวัตถุ ทนายฝ่ายโจกท์ไม่รับทั้งหมด
ศาลจึงถามทนายจำเลยว่าตามที่ ยืนพยานบุคคลมาจะใช้ต่อสู้คนประเด็นใด ทนายจำเลยตอบว่าพยานบุคคลที่เป็นนักวิชาการต้องการ เบิกตัวเพื่อบรรยายให้เห็นถึงว่าตัวคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ไม่มีสภาพเป็นกฎหมายและการกระทำของจำเลยเป็นการการทำอยู่ในหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งกิจกรรมที่จำเลยได้ทำไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง

ศาลจึงถามฝั่งโจทก์ว่ายอมรับพยานฝั่งจำเลยในส่วนใดได้บ้าง อัยการฝั่งโจกท์จึงแถลงว่ายอมรับความถูกต้องของพยานเอกสารบุคคลทั้งหมด ส่วนพยานบุคคลไม่ยอมรับ

22 มีนาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์

โจทก์นำพยานปาก พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี
พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ อายุ 49 ปี ปัจจุบันรับราชการตำแหน่งผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ขณะเกิดเหตุรับราชการที่ สภ. เมืองขอนแก่น ตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่สอบสวนคดีความผิดอาญาทั่วไปในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

พ.ต.อ.พิสิฐ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี โดยได้ทำการสอบสวนนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และพวก รวมทั้งสิ้น 7 คน ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะพยานเป็นพนักงานสอบสวนที่ สภ. เมืองขอนแก่นมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ คือ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง และ พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำภิโล กับพวก ได้ควบคุมตัวจำเลยกับพวกมาส่ง พร้อมของกลางเป็นป้ายผ้า ป้ายกระดาษ และมีบันทึกจับกุม หลังรับตัวจำเลยกับพวก พยานได้สอบปากคำจำเลยกับพวก จากนั้นได้คุมตัวจำเลยกับพวกไว้ที่ สภ.เมือง ต่อมา เช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 มีคนมาประกันจำเลยกับพวก โดยผู้บังคับบัญชาได้อนุญาตให้ปล่อยตัว

พ.ต.อ.พิสิฐ เบิกความอีกว่า พ.อ.สุรศักดิ์ได้นำเอกสารเกี่ยวกับการกระทำครั้งก่อน ๆ ของจำเลยที่ถูกปรับทัศนคติ มามอบให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติม พยานยังได้รับภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุซึ่งจัดทำโดย นายราชา ถิ่นทิพย์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส แต่ไม่แน่ใจว่าได้รับจาก พ.อ.สุรศักดิ์ หรือนายราชา จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พยานมีความเห็น สมควรสั่งฟ้อง ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต

จากนั้น พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบคำถามที่ทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในแผ่นซีดีที่เป็นวัตถุพยาน กลุ่มจำเลยได้พูดคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” คำพูดดังกล่าว สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย พยานในฐานะพนักงานสอบสวน ฟังคำพูดดังกล่าวแล้ว เห็นด้วย

พนักงานสอบสวนตอบคำถามทนายจำเลยโดยรับว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตำแหน่ง ผบ. ทบ. ขณะนั้น ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ การรัฐประหารดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งการปกครองโดยที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มีการออกคำสั่งให้คณะรัฐมนตรียุติการปฏิบัติหน้าที่ และให้ยุติการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานเป็นกบฏ ซึ่งการกระทำความผิดฐานเป็นกบฏนั้น เป็นสิ่งที่สมควรคัดค้าน

พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบทนายจำเลยอีกว่า หลังยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ได้ตั้งทหารเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ และเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่หากเป็นดังกล่าวก็ไม่เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย  คนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวมีสิทธิคัดค้าน แต่ต้องขออนุญาตจาก คสช. ตามที่กฎหมายกำหนด ทนายจำเลยถามว่า การที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า คนที่จะคัดค้าน คสช. ต้องไปขออนุญาต คสช. ก่อนเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาดหรือไม่ พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบว่า ก็ทำนองนั้น

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีเบิกความตอบทนายจำเลยรับว่า ในคดีนี้จำเลยกับพวกชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ข้อความ “คัดค้านรัฐประหาร” ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด ส่วนตัวพยานเห็นว่า การชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ถ้าทำเพียงคนเดียวก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าไปคัดค้าน 5 คนถือว่าผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ทนายจำเลยถามอีกว่า การที่บัญญัติว่าการคัดค้านรัฐประหารซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำ 5 คน เป็นความผิด เป็นสิ่งที่ประหลาดหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ประหลาด เนื่องจากกฎหมายมีเหตุผลและเจตนารมณ์ในตัวเอง

พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบทนายอีกว่า ไม่ทราบว่า การคัดค้านรัฐประหารเป็นผลเสียต่อ คสช.หรือไม่ แต่จากประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมีการทำรัฐประหารหลายครั้ง และกลับมาเป็นประชาธิปไตยได้เพราะมีนักศึกษาประชาชนหลายภาคส่วนออกมาคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่งหากไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน พยานก็เห็นว่า การคัดค้านรัฐประหารดังกล่าวจนได้ประชาธิปไตยกลับมาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี การที่จำเลยไปชูป้ายคัดค้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ก็ไม่มีผู้เสียชีวิต

ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนว่า ในการสอบสวน พยานมุ่งเน้นเพื่อเอาจำเลยมาลงโทษหรือเพื่อให้ความเป็นธรรมกับจำเลย พ.ต.อ.พิสิษฐ์ตอบว่า เพื่อให้ความเป็นธรรม แต่รับว่า ในการสอบสวน ไม่มีการนำพยานซึ่งเป็นนักวิชาการมาให้ความเห็นทางกฎหมาย ไม่ได้สอบนักวิชาการที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมือง และไม่ได้นักวิชาการมาให้ความเห็นเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม

พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยอีกว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 การชุมนุมทางการเมืองสามารถทำได้ถ้าได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย ซึ่งการสอบสวนว่า การชุมนุมได้รับอนุญาตหรือไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญในคดี แต่พยานไม่ได้มีคำสั่งเรียกหัวหน้า คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาสอบสวน พยานไม่มั่นใจว่า กรณีนี้บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลชุมนุมได้หรือไม่ คือ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง หรือไม่ แต่ในชั้นสอบสวน พ.อ.สุรศักดิ์ ก็ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. มาแสดง

พนักงานสอบสวนตอบเกี่ยวกับการสอบปากคำ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ผู้กล่าวหาในคดีนี้ว่า พ.อ.สุรศักดิ์ มีสถานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. แต่ในชั้นสอบสวน พยานไม่ได้สอบสวนถึงทัศนคติทางการเมืองของ พ.อ.สุรศักดิ์ ทนายจำเลยถามว่า จากคำเบิกความในชั้นศาล พ.อ.สุรศักดิ์มีทัศนคติทางการเมืองตรงข้ามกับจำเลย และถือว่าเป็นพยานปฏิปักษ์หรือไม่ พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบว่า ไม่ใช่ พ.อ.สุรศักดิ์ เป็นข้าราชการ ต้องให้ความเป็นธรรมกับจำเลยอยู่แล้ว พยานยังระบุว่า ในชั้นสอบสวน พ.อ.สุรศักดิ์ ตอบคำถามของพยานทุกคำถาม โดยไม่ได้ใช้สิทธิที่จะขอไม่ตอบคำถาม แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรในชั้นศาล พ.อ.สุรศักดิ์ จึงขอไม่ตอบทนายจำเลยหลายคำถาม

พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบทนายจำเลยถึงกระบวนการในการสอบสวนต่อไปว่า จำไม่ได้ว่า คนที่เป็นผู้บัญชาการในการจับตัวจำเลยกับพวกในที่เกิดเหตุ คือ ร.อ.อภินันท์ ใช่หรือไม่ แต่ในชั้นสอบสวนทั้ง ร.อ.อภินันท์ และ พ.อ.สุรศักดิ์ ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 มาแสดง พยานจำไม่ได้ด้วยว่า ทั้งสองได้อ้างว่า เป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 เนื่องจากมีชั้นยศตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไป ทั้งนี้ ร.อ.อภินันท์ไม่ได้ใช้สิทธิในการไม่ขอตอบคำถามของพยานในชั้นสอบสวนเช่นกัน

พนักงานสอบสวนในคดีตอบคำถามทนายจำเลยอีกว่า ในบันทึกจับกุมไม่ปรากฏว่า จำเลยและพวกมีการต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงาน แต่ที่บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนระบุว่า จำเลยและพวกมีการขัดขืนไม่ให้เจ้าหน้าที่พาตัวไป พยานไม่ได้โต้แย้งในประเด็นนี้ไว้ อีกทั้งในชั้นสอบสวนนายจตุภัทร์ให้การว่า ในการจับกุมเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายนายภานุพงศ์โดยชกที่ไข่ แต่ในบันทึกจับกุมไม่ได้ระบุไว้ พยานก็ไม่ได้โต้แย้งหรือสอบถาม พ.อ.สุรศักดิ์ในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม พยานได้ส่งนายภานุพงศ์ไปตรวจที่โรงพยาบาลขอนแก่น มีผลการตรวจเป็นเอกสารส่งให้อัยการด้วยแล้ว  

หลังเกิดเหตุจำเลยกับพวกถูกควบคุมตัวมาที่ มทบ.23 เพื่อปรับทัศนคติ แต่จำเลยกับพวกไม่ยอมรับการปรับทัศนคติ จึงถูกดำเนินคดี ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.พิสิฐ ว่า ระหว่างทัศนคติในการคัดค้านรัฐประหารกับสนับสนุนรัฐประหาร ทัศนคติอย่างไหนที่ต้องปรับ พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุนการรัฐประหาร

พยานเบิกความอีกว่า ไม่เคยได้ยินชื่อหรือรู้จักกับกลุ่มดาวดินมาก่อน เพิ่งเคยรู้จักในวันที่เจ้าหน้าที่นำตัวมาส่ง และทราบจากการสอบปากคำและข่าวว่า จำเลยคือ ไผ่ ดาวดิน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งทราบว่า กลุ่มดาวดินเป็นกลุ่มกลุ่มกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ป้ายของกลางอื่น ๆ นอกจากป้ายคัดค้านรัฐประหารแล้วก็เป็นป้ายรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น เรื่องเหมือง ม.นอกระบบ เป็นต้น

พยานรับตามที่ทนายจำเลยให้ดูเอกสารว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ ในมาตรา 4 บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 เคยบัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ, สิทธิในการต่อต้านการรัฐประหารโดยสันติวิธี และหน้าที่ของบุคคลในการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไว้ในมาตรา 63, 69 และ 70 รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นและสิทธิในการชุมนุมไว้ใน ข้อที่ 19 และ 21

ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.พิสิฐ พนักงานสอบสวนอีกว่า ในชั้นสอบสวนพยานได้นำความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร มาประกอบในการสอบสวนหรือไม่ พยานตอบว่า เพิ่งเคยเห็นความเห็นของศาลฎีกาดังกล่าว และไม่ได้นำมาประกอบการสอบสวน

พ.ต.อ.พิสิฐเบิกความเสร็จ โจทก์แถลงหมดพยาน ทนายจำเลยแถลงขอนำนายจตุภัทร์-จำเลย ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเข้าสืบเป็นพยานจำเลยปากแรกในนัดหน้า ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยปากแรกในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 โดยให้ออกหมายเบิกตัวจตุภัทร์จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาในวันนัดดังกล่าว

21 มีนาคม 2561

สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง: พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ผู้จับกุมและผู้กล่าวหา

พ.อ.สุรศักดิ์ เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการอยู่ที่ มณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ในตำแหน่งหัวหน้ากองกำลังพล มณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ขณะเกิดเหตุรับราชการในมณฑลทหารบกที่ 23 ในตำแหน่งหัวหน้ากองข่าว มีหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังข่าวสารที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติและดูแลผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา นอกจากนี้ผู้บังคับบัญชายังได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีหน้าที่เหมือนกับการข่าวเหมือนเดิมแต่เพิ่มในเรื่องการติดตามเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของมวลชนในเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

พ.อ.สุรศักดิ์ เบิกความต่อว่าเป็นผู้กล่าวหาและจับกุมจำเลยทั้ง 7 คน มีผู้ถูกกล่าวหาคือ จตุภัทร์ ,อภิวัฒน์ ,พายุ ,ภานุพงศ์ ,สุวิชชา ,ศุภชัยและวสันต์  โดยจำนามสกุลของทั้ง 7 คนนี้ไม่ได้ และได้กล่าวหาทั้ง 7 คนในข้อหาชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไป จากจำเลยทั้งหมดนั้นมีภานุพงศ์อยู่ในศาลและจตุภัทร์ถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งไปก่อนหน้านี้แล้วส่วนจำเลยที่เหลืออีก 5 คนได้ทำการหลบหนี ในการจับกุมนั้นได้มีผู้ร่วมจับกุมคือ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ขอนแก่น เข้าร่วมจับกุมด้วย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่บริเวณลานอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

พ.อ.สุรศักดิ์เล่าถึงพฤติการณ์ก่อนวันเกิดหตุว่า ได้รับทราบจากแหล่งข่าวและการโพสต์ข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้น โดยทราบจากแหล่งข่าวว่าจะมีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารและเป็นการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษากลุ่มดาวดิน ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน คือวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ได้มีนักศึกษาจำนวน 2 คน แจกใบปลิวที่มีข้อความต่อต้านรัฐประหารโดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดใบปลิวแล้วปล่อยตัวกลับบ้านไป ในวันเกิดเหตุ ได้มีการจัดกองกำลังร่วมระหว่างทหารกับตำรวจเพื่อเฝ้าระวังว่าจะมีการชุมนุมตามที่โพสต์หรือไม่ เวลาประมาณ 13.00 น. จำเลยกับพวกรวม 7 คน ได้มาที่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ชูป้ายที่มีข้อความว่าคัดค้านรัฐประหาร โดยมีป้ายอื่นๆบนกระดาษประมาณ 5 แผ่นซึ่งมีข้อความเชิงคัดค้านรัฐประหารเหมือนกัน นอกจากการชูป้ายแล้วยังมีการใช้คำพูดโจมตีระหว่างการชูป้ายด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแจ้งเตือนแต่ก็ยังไม่ยอมหยุด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าไปแจ้งว่าเป็นการชุมนุมผิดกฎหมาย โดยกฎหมายในขณะนั้นคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 12 ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หลังจากที่แจ้งและขอให้ยุติแล้วแยกย้ายกลับแต่จำเลยทั้ง 7 คน ไม่ยอมหยุด เมื่อไม่ยอมหยุดเจ้าหน้าที่ก็จะขอให้ไปปรับทัศนคติที่สถานีสารวัตรทหาร ค่ายศรีพัชรินทร ในการเชิญตัวไปที่ค่ายศรีพัชรินทรนั้นจำเลยทั้ง 7 คน ได้ทำการต่อสู้ขัดขืน และเมื่อมาที่ค่ายศรีพัชรินทรเพื่อปรับทัศนคติแต่จำเลยทั้ง 7 คน ไม่ยอมปรับทัศนคติ จึงได้ส่งตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายโดยจับกุมและส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน สภ.ขอนแก่นซึ่งได้บันทึกไว้ตามบันทึกการจับกุม ในส่วนของแผ่นป้ายของกลางเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้เป็นของกลางและบันทึกไว้ในบัญชีของกลาง และพ.อ.สุรศักดิ์ยืนยันว่าในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายการกระทำความผิดมาให้ยืนยันและลงลายมือชื่อซึ่งได้ทำการยืนยันและลงลายมือชื่อไว้ทุกภาพเพื่อเป็นพยานหลักฐานจำนวน 3 แผ่น

พ.อ.สุรศักดิ์เล่าต่อว่า ในวันเกิดเหตุนอกจาก ทหารและตำรวจแล้ว ยังมีผู้สื่อข่าวจาก ไทยพีบีเอส บันทึกภาพเคลื่อนไหวในการชุมนุมดังกล่าวไว้ โดยได้ขอข้อมูลบันทึกภาพเคลื่อนไหวจากนักข่าวเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนด้วย และพ.อ.สุรศักดิ์ได้ยืนยันบันทึกคำให้การที่ได้ให้การกับพนักงานสอบและลงลายมือชื่อไว้ และไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้ง 7 คนมาก่อน

หลังจากอัยการทหารถามเสร็จแล้วได้แถลงต่อศาลว่าจากวันนัดตรวจพยานหลักฐานได้มีการตกลงกันไว้ว่าเนื่องจากเป็นพยานโจทก์ 3 ปากเป็นพยานที่อยู่ในวันจับกุมถือว่าเป็นพยานคู่ (พยานที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน) ต้องมาศาลในเวลาเดียวกัน ซึ่งโจทก์ไม่สามารถนัดหมายพยานให้มาพร้อมกันทั้ง 3 คนได้ จึงขอให้โจทก์สืบพยานโจทก์ทั้ง 3 ปากเสร็จก่อน แล้วจึงให้ทนายจำเลยถามค้าน พยานโจทก์ทั้ง 3 คน ในนัดเดียว ทนายจำเลยไม่คัดค้านที่โจทก์ขอ จึงไม่มีการถามค้านพยานโจทก์ โดยนัดหมายในวันต่อไปคือ วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00 น. สืบพยานโจทก์ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 

15 พฤษภาคม 2561

นัดสืบพยานจำเลยปากแรก จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา คดีชูป้ายต้านรัฐประหาร

ที่ศาลทหารจังหวัดขอนแก่น เวลาประมาณ 9.00 น. จตุภัทร์ เดินทางจากเรือนจำจังหวัดขอนแก่นมาถึงศาลทหารจังหวัดขอนแก่น โดยมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีประชาชนมาให้กำลังใจและมาเยี่ยมจตุภัทร์ประมาณ 30 คน โดยเจ้าหน้าที่ทหารให้เข้าเยี่ยมจตุภัทร์ในห้องขังศาลครั้งละ 5 คน และให้เข้าห้องพิจารณาคดีได้ประมาณ 15 คน เท่านั้น บรรยากาศโดยรอบศาลเป็นไปอย่างผ่อนคลาย มีเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ แต่ไม่มีความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่เท่าครั้งก่อนๆ

ต่อมาประมาณ 9.50 น. ศาลขึ้นบันลังก์ ก่อนเริ่มการสืบพยาน ฝ่ายจำเลยได้แต่งทนายเพิ่ม คือ พริ้ม บุญทรรักษา มารดาของจตุภัทร์  เข้าเป็นทนายความเพิ่มในคดี

จากนั้นเริ่มการสืบพยาน จตุภัทร์ เริ่มสาบานตนโดยสาบานตนต่อ โสเครติส อริสโตเติล เพลโต เช กูวารา และปรีดี พนมยงค์ หลังจากนั้นจตุภัทร์ เริ่มเบิกความ ชื่อ ที่อยู่ เกิดวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ปัจจุบันอายุ 26 ย่าง 27 ปี  จบการศึกษาจาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอนเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ในกลุ่ม “เผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม” หรือ “กลุ่มดาวดิน” เริ่มทำกิจกรรมกับกลุ่มดังกล่าตั้งแต่เป็นนักศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ.2553 กลุ่มดาวดิน ทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้สังคมในพื้นที่จริง และนำปัญหามาวิเคราะห์และเผยแพร่ปัญหาดังกล่าวสู่สาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรของชาติ และยังได้คัดค้านเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย

จากนั้นทนายจำเลยถามถึงแผ่นป้าย 5 แผ่นป้าย ที่จตุภัทร์ และพวก ชูในวันที่ทำกิจกรรม (22 พฤษภาคม 2558) และถูกตำรวจยึดนั้น มีความหมายว่าอย่างไรบ้าง จตุภัทร์ เบิกความว่า


แผ่นป้ายที่ 1 “ม.นอกระบบ” ต้องการสื่อถึงการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกนอกระบบของรัฐ

ปกติมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยเป็นของรัฐที่รัฐให้เงินสนับสนุน แต่การออกนอกระบบคือเปลี่ยนไปบริหารแบบเอกชน การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นมีผลเสียคือ เป็นการผลักภาระให้นักศึกษาโดยตรง จากเดิมรัฐให้ค่าเทอมครึ่งหนึ่ง แต่พอออกนอกระบบนักศึกษาต้องจ่ายค่าเทอมเองเต็มจำนวน ซึ่งกลุ่มดาวดิน คัดค้าน ม.นอกระบบ มาตั้งแต่ปี 2554 และที่ต้องออกมาคัดค้านในช่วงหลังการรัฐประหารเนื่องจาก ปกติในเรื่องนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบผลักดันกันมากว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2542 คณะที่เปิดใหม่หลังจากนั้นจะให้ออกนอกระบบทั้งหมด แต่ถ้ามีการคัดค้านทั้งโดยการชุมนุม อภิปราย หรือทำเป็นหนังสือ ก็จะทำการชะลอเรื่องไว้ ในปี 2554 เคยคัดค้านสำเร็จจนกระทั้งปี 2557 อธิการบดีเป็น สนช. และผลักดันให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบจนสำเร็จ ซึ่งในอดีตเคยสามารถคัดค้านเรื่องนี้ได้ แต่หลังรัฐประหารกลับคัดค้านไม่ได้จนส่งผลต่อการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบสำเร็จ


แผ่นป้ายที่ 2 “เหมืองเถื่อน เมืองเลย” เป็นการต่อต้านการทำเหมือนแร่เมืองเลยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการรัฐประหาร

จตุภัทร์ เบิกความว่า ขณะเป็นนักศึกษา ได้เข้าไปเผยแพร่กฎหมายสิทธิ โดยการอบรมกับชาวบ้าน ได้ไปลงพื้นที่ศึกษากรณีเหมืองแร่ที่เมืองเลยร่วมกับชาวบ้าน และได้เห็นถึงปัญหาจึงได้ร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน แต่ก่อนหน้านั้นรุ่นพี่ได้เคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านอยู่แล้ว เนื่องจากนายทุนมีอำนาจเหนือรัฐ หมายถึง นายทุนก็ใช้รัฐเป็นเครื่องมือและอำนาจ ส่วนชาวบ้านก็ใช้สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญในการต่อสู้กับรัฐ ทำให้ปัญหาเรื้อรังเพราะชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้ และนี่คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีตัวอย่างกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเมืองเลยถูกล้อมตีกลางดึก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร แต่พอหลังรัฐประหารทำให้เรื่องนี้เงียบ โดยมีทหารเข้าไปแทรกแซง

นอกจากนี้หลังรัฐประหาร มีทหารเข้าไปในพื้นที่ ห้ามไม่ให้ชาวบ้านชุมนุมกันเกิน 5 คน แม้แต่ชาวบ้านจะประชุมกันก็ทำไม่ได้ หรือแม้แต่เวลาที่นักศึกษาจะเข้าไปให้ความช่วยแหลือเรื่องกฎหมายยังต้องขออนุญาต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ และตั้งแต่หลังรัฐประหารยังทำให้ขั้นตอนของการทำ EIA ลดลง ตัดทอนกระบวนการ และพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ง่ายต่อนายทุน และยิ่งทุนเหนือรัฐเผด็จการ ยิ่งทำให้ง่ายและมีอำนาจมากขึ้น


แผ่นป้ายที่ 3 “เผด็จการทำเขื่อนได้เถื่อนมาก”

จตุภัทร์ เบิกความว่า เป็นการต่อต้านแผนพัฒนาเรื่องเขื่อน ชื่อ “โขง เลย ชี มูล”  ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีการผันน้ำจากแม่น้ำโขง ผ่านมาทางจังหวัดเลย ลงแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล นี่คือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐก่อนรัฐประหารและกลุ่มดาวดินสามารถคัดค้านได้ และเคยให้ข้อมูลกับชาวบ้าน โดยการถือโทรโข่ง ปราศรัย และชูป้าย แจกใบปลิว พูดคุยให้ข้อมูลกับชาวบ้านได้ แต่พอหลังรัฐประหารไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้


แผ่นป้ายที่ 4 “ที่ดินสู้กันมาตั้งนาน เกิดรัฐประหารไล่รื้ออย่างเดียว”

จตุภัทร์ เบิกความว่า เป็นการพูดถึงปัญหาที่ดินก่อนรัฐประหาร ชาวบ้านต่อสู้เรื่องที่ดินมานานและอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานและชาวบ้านก็ต่อสู้ได้ แต่พอรัฐประหารชาวบ้านไม่สามารถต่อสู้หรือเคลื่อนไหวอะไรได้ และ คสช.กลับออกคำสั่งไล่รื้ออย่างเดียว เช่น กรณีที่มีข้อพิพาทกับรัฐ บางคนถูกดำเนินคดีอีกด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเขาก็ต่อสู้จนได้อาศัยอยู่ หรือบางพื้นที่ก็อยู่ในช่วงพัฒนาข้อเสนอและดำเนินการ โดยการการต่อสู้ในปัญหาดังกล่าวของรัฐจะใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ส่วนชาวบ้านจะใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์

แผ่นป้ายที่ 5 คัดค้านรัฐประหาร จตุภัทร์ เบิกความว่า หมายถึงการคัดค้านรัฐประหารที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 และได้อธิบายเพิ่มว่า เมื่อปี 2556 มีการเคลื่อนไหวเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ซึ่งเป็นการคัดค้านของกลุ่ม กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จตุภัทร์ให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนิรโทษกรรม แต่เห็นด้วยว่าชาวบ้าน คนตัวเล็กตัวน้อยควรจะได้รับการนิรโทษกรรม แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับระดับผู้นำ เช่น คนที่สั่งการสลายการชุมนุม หรือทหารระดับผู้สั่งการเป็นต้น และกลุ่มดาวดินก็ร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ และยังเคยถูกทาบทามให้ไปเป็นแกนนำที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ไปเข้าร่วม

ต่อมาในตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยอมถอยโดยการประกาศยุบสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้ง  แต่กลุ่ม กปปส. กลับไม่ยอมถอยและมีท่าทีทำให้สถานการณ์นำไปสู่เงื่อนไขการทำรัฐประหาร จากนั้นดาวดินก็ถอยออกมาและไม่ร่วมกับแนวทางของ กปปส.อีกเลย เนื่องจาก กปปส.ไม่ยอมเลิกชุมนุมและมีข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จากนั้นมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากมีการขัดขวางการเลือกตั้งจากกลุ่ม กปปส. ซึ่งทางกลุ่มดาวดินไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่ม กปปส. และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ไปยื่นเรื่องที่ศาลปกครองว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ถูกต้องและจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่รัฐประหาร แต่ศาลปกครองไม่รับเรื่อง ทั้งนี้การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะได้ ต้องเกิดจากภัยพิบัติ ไม่ใช่เกิดจากภัยที่เกิดจากมนุษย์ และกลุ่มดาวดินออกมาพูดต่อสาธารณะเพื่อสื่อถึงกลุ่ม กปปส. ว่าการกระทำของกลุ่ม กปปส.จะทำให้ประเทศล้าหลัง

ก่อนรัฐประหารมีการใช้รถทหารและทหารมีการตรึงกำลัง มีการประกาศกฎอัยการศึก และในช่วงนั้นมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช. ส่วนการที่ทหารอ้างว่าการที่มีการชุมนุมปิดสถานที่ราชการ

จึงมีการทำรัฐประหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และการที่ทหารอ้างว่าจะเข้ามาเพื่อปราบคอรัปชั่น คิดว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะปกติก็มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และนิติบัญญัติคอยถ่วงดุลกันอยู่ และเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้วและทหารต้องอยู่ภายใต้รัฐ ดังนั้นรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการปัญหา เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหาดังกล่าว และให้ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ การที่ทหารเข้ามาและบอกว่าเพื่อจัดการกับปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของทหาร

อีกทั้งการทำรัฐประหารไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการถ่วงดุล ดังนั้นการทำรัฐประหารก็มีการคอรัปชั่นได้เช่นกัน เช่น เรื่องของไมโครโฟน เรื่องนาฬิกาและเรื่องอุทยานราชภักดิ์ สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสามารถพูดได้ จึงมองว่าการทำรัฐประหาร คือการประทุษร้ายต่อโครงสร้างทางการเมือง กล่าวคือ เป็นการยกเลิกฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ

และฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยการทำรัฐประหารนั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ข้อหากบฏ จตุภัทร์ เบิกความต่อว่าเคยร่วมกับกลุ่มเพื่อนดาวดินไปยื่นต่อศาลว่า คสช. เป็นกบฏ ซึ่งกบฎเป็นผลทางกฎหมาย ส่วนผลทางการเมืองนั้น การทำรัฐประหารคือการฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วทหารเข้ามาทำรัฐประหาร แถมยังออกคำสั่งให้คนต้องทำตาม และคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรมและขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชาชน เพราะเป็นคำสั่งที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ที่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามเท่านั้น เหมือนกับตอนนี้ที่ต้องมาอยู่ตรงนี้ก็เพราะการทำตามคำสั่ง

และสิ่งเหล่านี้เป็นการตัดตอนกระบวนการของประชาธิปไตย อีกทั้งเขากลับอ้างตนว่าเป็นผู้สร้างประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย และเป็นคนที่ทำลายคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ การที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยกลับเป็นคนผิดและถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดนั้นมันคือยุคที่ผิดเพี้ยน

จตุภัทร์ เบิกความต่อว่า คำสั่งของ คสช. ไม่ใช่กฎหมาย เนื่องจากโดยหลักของกฎหมายเป็นเรื่องหลักการและเหตุผล แต่คำสั่งของ คสช. ไม่มีเหตุผลและไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการห้ามคิดห้ามแสดงออก อีกทั้งก่อนหน้านี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังเคยมีคำพิพากษาปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร ในคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรณีปกปิดข้อเท็จจริงในการยื่นบัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า “หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป”

นอกจากนี้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 ยังเป็นปัญหา เนื่องจากรับรองให้คำสั่งของ คสช.เป็นกฎหมาย เป็นการให้อำนาจทหารทั้งนิติบัญญัติ ตุลาการและบริหาร ซึ่งไม่มีเหตุผล ไม่สามารถตรวจสอบอำนาจได้ และทำให้อำนาจผิดเพี้ยนตามผู้ใช้อำนาจและเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากในในระบอบประชาธิปไตย

ต่อมาในช่วงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางมาที่ จ.ขอนแก่น เพื่อมาทำภารกิจและก่อนหน้านั้นพลเอกประยุทธ์ เคยประกาศว่าคนทั้งประเทศเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร จตุภัทร์จึงได้ร่วมกับเพื่อนเพื่อทำให้เขาเห็นว่าในประเทศนี้ยังคงมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารอยู่ และเห็นว่าการอยู่เฉยๆ อาจจะถูกเหมารวมว่าเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว จึงออกมาคัดค้านด้วยการชู 3 นิ้วซึ่งเป็นการยืนเฉยๆ โดยไม่พูดอะไร  และมีข้อความบนเสื้อว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประหาร” โดยใส่กัน 5 คน คนละ 1 คำ

จตุภัทร์ เบิกความว่าการชู 3 นิ้วหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี เพราะมีความเชื่อมั่นในวิธีการสันติวิธี แต่การกระทำ และการเคลื่อนไหวครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ทหาร ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่เข้าจับตัวอย่างรวดเร็วและถูกนำตัวมาปรับทัศนคติในมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทรแห่งนี้

จตุภัทร์ เบิกความในช่วงท้ายว่า ไม่ได้คิดว่าการคัดค้านรัฐประหารหรือการสนับสนุนรัฐประหารอันไหนถูกต้องที่สุด เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะคิด สังคมควรมีเหตุผลที่จะฟังกันและกัน แต่คิดว่าการคัดค้านรัฐประหารเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมในขณะนั้น และการที่ไม่ยอมรับการปรับทัศนคติและไม่ยอมเซ็นว่าได้ปรับทัศนคติ เพราะถ้าเซ็นเท่ากับว่ายอมรับการปรับทัศนคติ และสนับสนุนว่าการปรับทัศนคติเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว หลังจากนั้นได้ร่วมเคลื่อนไหวกับเพื่อนที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือ NDM

จากนั้นทนายความจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า ขณะนี้เป็นเวลา 12.00 น.อคำถามยังเหลืออีกมาก วันนี้ที่สืบพยานไปเป็นเพียงการสืบประเด็นก่อนเกิดเหตุ การสืบพยานประเด็นในวันเกิดเหตุทนายมีคำถามเยอะมาก และเกรงว่าจะใช้เวลาเยอะ จึงขอให้ศาลเลื่อนการสืบพยานไปในนัดหน้า

ศาลอนุญาต โดยนัดหมายสืบพยานจำเลยครั้งต่อไปวันที่ 9 และ 10 กรกฎาคม 2561 โดยจะเป็นการสืบพยานจตุภัทร์ต่อ ในช่วงเช้าวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 และในช่วงบ่ายจะเป็นการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ คือ ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และวันที่ 10 จะขอสืบพยานผู้เชี่ยวชาญคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษา จบการพิจารณาคดี

9 กรกฎาคม 2561

นัดสืบพยาน
 
ประชาชนราว 20 คนเดินทางมารอให้กำลังใจจตุภัทร์ที่ศาลทหารขอนแก่นตั้งแต่ช่วงเช้าท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดในค่ายศรีพัชรินทร จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.10 น. ก่อนที่ศาลจะเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 9.30 น.
 
เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบันลังก์ ทนายจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ระบุให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเบิกความเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยจะสืบพยานจำเลยปากดังกล่าวในนัดต่อไปคือวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 และทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลขออนุญาตให้สืบพยานผู้เชี่ยวชาญคือ ชำนาญ จันทร์เรือง ก่อนเนื่องจากพยานผู้เชี่ยวชาญได้มาถึงศาลแล้ว และจตุภัทร์ ซึ่งเป็นพยานจำคำเบิกความจากนัดก่อนไม่ได้จึงขอเวลาทบทวน ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าอยากให้การสืบพยานแล้วเสร็จทีละปากไปก่อน และอนุญาตให้จตุภัทร์อ่านคำเบิกความจากครั้งก่อนได้
 
สืบพยานจำเลยปากแรก จตุภัทร์ บุญทรรักษา (ต่อ)
 
เวลาประมาณ 10.10 น. เริ่มการสืบพยานและสาบานตน หลังจากนั้นทนายจำเลยเริ่มถามคำถามว่าการทำกิจกรรมของกลุ่มดาวดินได้รับเงินจากที่ไหน จตุภัทรเบิกความว่า กิจกรรมในวันเกิดเหตุ กลุ่มดาวดิน ทำกิจกรรมทางสังคมได้ค่าใช้จ่ายจากการทำกิจกรรมเปิดหมวกโดยมีประชาชนสนับสนุนเงินให้ ซึ่งแต่ละกิจกรรมที่กลุ่มดาวดินทำนั้นใช้เงินไม่มากหรือไม่ได้ใช้เงินเลย
 
จตุภัทร์ เบิกความในส่วนที่พักอาศัยของกลุ่มดาวดิน ว่าอยู่อย่างเปิดเผยโดยพักอาศัยร่วมกันอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ชื่อว่า “บ้านดาวดิน” โดยบ้านนั้นใช้เป็นที่ประกอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆ สถานที่พักอาศัยนั้นอยู่ร่วมกันกับสมาชิกกลุ่มดาวดิน และได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐแวะเวียนเข้าไปเยี่ยม และถ่ายรูปตลอด ช่วงก่อนหน้าที่จะรัฐประหาร จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล แต่หลังการรัฐประหารปี 2557 จะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารโดยใช้ยานพาหนะและอุปกรณ์ทางทหารเพื่อเข้ามาหา
 
ในส่วนของเหตุการณ์ก่อนวันเกิดเหตุและในวันเกิดเหตุ จตุภัทร์ เบิกความว่า ก่อนที่จะทำกิจกรรมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ได้เตรียมตัวประชุมวางแผนก่อนหน้าวันเกิดเหตุประมาณ 2 วัน ได้ปรึกษากันว่าจะดำเนินการหรือไม่ และได้ตกลงว่าจะทำกิจกรรมแสดงออกทางสัญลักษณ์โดยวิธีการ “Flat mob” ซึ่งใช้เวลาน้อยและเห็นความหมายได้ชัดเจน และจะใช้เวลาประมาณ 5 นาที 
 
ในวันเกิดเหตุได้รวมตัวกันที่บ้านดาวดินและได้วางแผนกันว่าให้สมาชิกแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งใด และมีหน้าที่อย่างไรบ้าง ส่วนของจตุภัทร์ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้พูดในเรื่อง มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เหตุผลในการเลือกเรื่อง มาตรา 44 เพราะจตุภัทร์เห็นว่ามาตรานี้เป็นปัญหา เนื่องจากให้อำนาจคำพูดหรือคำสั่งของบุคคล คือ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ในการที่จะออกเป็นกฎหมาย  และใช้คำสั่งดังกล่าวเป็นกฎหมายและมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายบังคับกับบุคคลได้ และมีผลทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งอำนาจในประเทศนั้นแบ่งเป็น 3 ด้าน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลย์อำนาจกัน แต่ในมาตรา 44 นั้นเป็นการรวมอำนาจทั้ง 3 ฝ่าย ไว้ที่ตัวคนเดียว ทำให้เป็นปัญหาในการออกคำสั่ง และการบังคับใช้ รวมถึงการวินิจฉัยโดยไม่มีฝ่ายใดได้ทำการตรวจสอบและไตร่ตรอง อีกทั้งผลของการออกมาตรา 44 ผู้ออกไม่ต้องรับผิดชอบใดใดของการกระทำที่ตามมาแต่อย่างใด
 
จตุภัทร์ เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อถึงเวลาได้รวมตัวกับสมาชิกกลุ่มดาวดินและได้ออกจากบ้านดาวดินเพื่อเดินทางไปที่จุดนัดหมาย คือ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที พอถึงที่เกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเขามาห้าม แต่ก็ได้บอกเจ้าหน้าที่ไปว่าขอใช้เวลาแค่แป๊ปเดียวไม่ถึง 5 นาที ในการทำกิจกรรมแล้วจะเดินทางกลับ โดยสถานที่นั้นเป็นลานกว้าง เป็นลานสาธารณะ และไม่ได้ขัดขวางการจราจรแต่อย่างใด ขณะที่เจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามนั้น จตุภัทร์เป็นคนคุยกับเจ้าหน้าที่แต่สมาชิกคนคนอื่นๆ ก็ได้ไปประจำตามจุดต่างๆ ตามที่ได้คุยกันไว้และชูป้ายตามที่ได้ตกลงกันไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่เดินร่วมกันไปด้วย เมื่อได้ชูป้ายที่เตรียมมา เจ้าหน้าที่ได้แย่งป้ายที่เตรียมมา ป้ายนั้นจะมี 2 ลักษณะ คือ 1. ป้ายขนาดเล็กจะเป็นป้ายอธิบายถึงเหตุผลในการคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่งถือคนเดียวได้ 2. ป้ายขนาดใหญ่และยาว ต้องใช้บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ในการถือ เมื่อถูกแย่งจากเจ้าหน้าที่ทำให้ป้ายขนาดเล็กและใหญ่เสียหาย ขณะที่แย่งกันนั้นจตุภัทร์กับสมาชิกในกลุ่มได้นั่งลงพร้อมกับถือป้ายใหญ่ไว้ และพูดตามที่ได้นัดหมายกันไว้ในเรื่องการคัดค้านรัฐประหาร ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ก็ดึงป้ายออกไปด้วย 
 
ขณะที่ยื้อแย่งกัน พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ได้พูดว่าขอใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อจับกุม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจได้กรูกันเข้ามาเก็บป้ายผ้า และได้อุ้มทุกคนขึ้นรถผู้ต้องขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจไป ในการอุ้มนั้น ต้องใช้เจ้าหน้าที่ 4 คน ต่อการอุ้มกลุ่มผู้จัดกิจกรรม 1 คน และมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ใช้มืออัดไปที่อวัยวะเพศของ ไนซ์ ดาวดิน (ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์) ทำให้สมาชิกที่ได้เกาะแขนกันซึ่งมีสภาพเป็นโซ่มนุษย์ได้หลุดจากกันและสะดวกต่อการจับกุมตัวไป ซึ่งในขณะที่ พ.อ.สุรศักดิ์ ได้พูดว่าใช้อำนาจตาม มาตรา 44 นั้น จตุภัทร์ เห็นว่าไม่ได้มีการแสดงบัตรหรือเอกสารทางราชการที่อ้างไว้ใน มาตรา 44 เลย หลังจากจับกุม ได้นำตัวคนจัดกิจกรรมทั้งหมด 7 คนไปที่ค่ายศรีพัชรินทร โดยแยกการควบคุมตัวเป็น 2 ห้อง ห้องหนึ่งมี 4 คน อีกห้องหนึ่ง 3 คน และมีเจ้าหน้าที่มาพูดคุยขอให้ปรับทัศนคติ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 คดีจะได้เลิกแล้วต่อกัน ซึ่งจตุภัทร์ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวและไม่ยอมรับทัศนคติแบบนั้น
 
ทัศนคติที่กล่าวถึงนี้เป็นความคิดเห็นของแต่ละบุคคลซึ่งความคิดของแต่ละบุคคลควรมีหลากหลาย ไม่ควรชี้นำหรือยัดเยียดใครให้คิดเหมือนกัน เหตุที่ไม่รับการปรับทัศนคติเนื่องจากว่ามีข้อห้ามในการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง ถือว่าเป็นการห้ามคิด และเนื่องจากไม่ยอมรับในการรัฐประหารซึ่งมีข้อห้ามในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่างๆ หากยอมรับเท่ากับยอมรับการรัฐประหารด้วย โดยจตุภัทร์และสมาชิกทั้งหมด ไม่รับการปรับทัศนคติ หลังจากไม่รับการปรับทัศนคติ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวทั้งหมดไป สภ.เมืองขอนแก่น และแจ้งข้อกล่าวหา ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 12 ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
 
ในเจตนาที่ตั้งใจจะแสดงออกในวันเกิดเหตุนั้นตั้งใจจะยืนยันว่าการรัฐประหารมาใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย และการที่ไปชูป้ายนั้น จตุภัทร์เข้าใจดีว่าไม่อาจทำให้คณะรัฐประหารออกไป และเห็นว่าแม้ได้ทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุครบ 5 นาที ก็จะไม่ทำให้การรัฐประหารหายไป แต่ที่ทำเพื่อจะยืนยันความเชื่อของตัวเองว่าการรัฐประหารเป็นปัญหา และจตุภัทร์เชื่อว่ายังมีบุคคลอีกหลายคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการรัฐประหารแต่ไม่กล้ามาทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเห็นว่าเป็นการทำตามหน้าที่ที่ควรทำเพื่อจะต่อต้านในอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ตามปรัชญากฎหมายที่ว่า “เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่” สิ่งที่ทำไปนั้นจึงเป็นการทำหน้าที่นั้นตามหน้าที่ของสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง และเห็นว่าหากไม่ออกมาก็จะเป็นการยอมรับ และสร้างความชอบธรรมให้คณะรัฐประหาร อีกทั้งยังต้องการให้สังคมเห็นว่าคนที่ทำการต่อต้านความอยุติธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่หรือยศ ถา บรรดาศักดิ์ แต่เป็นคนธรรมดานั้นก็สามารถทำได้ และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทางความคิดนั้นต้องเริ่มจากประชาชนคนธรรมดา อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อถึงในวันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะได้เอาเป็นเรื่องพูดกับคนรุ่นต่อไปได้ว่าได้ทำหน้าที่แล้ว และเป็นตัวอย่างในการต่อสู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ เป็นบทเรียนให้คนรุ่นต่อไป จตุภัทร์เบิกความปิดท้ายว่า ผมก็มีชีวิตจิตใจมีความกลัวเหมือนกัน และเป็นสามัญชนคนธรรมดา และเห็นว่า “สู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ยังดีกว่าแพ้ที่ไม่คิดจะสู้”
 
อัยการถามค้าน
 
อัยการถามว่า ในวันเกิดเหตุที่ พ.อ.สุรศักดิ์ ได้เข้ามาบอกว่าขอใช้มาตรา 44 นั้น ขณะนั้น พ.อ.สุรศักดิ์ ไม่ได้แสดงบัตร แต่แต่งกายชุดทหารเต็มยศใช่หรือไม่ 
จตุภัทร์ ตอบว่า ใช่
 
อัยการถามอีกคำถามหนึ่งว่า ก่อนที่จะทำกิจกรรมดังกล่าวได้ทราบถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 หรือไม่
 
จตุภัทร์ ตอบว่า ทราบว่ามีคำสั่งนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย
 
ทนายจำเลยไม่ถามติง
 
จบการสืบพยานในช่วงเช้าเวลา 11.55 น.
 
ช่วงบ่ายศาลนัดเวลา 13.30 น. สืบพยาน ชำนาญ จันทร์เรือง พยานผู้เชี่ยวชาญ
 
ในวันนี้มีสิ่งที่ต่างออกไปจากครั้งก่อนๆ คือคนที่เข้าไปในห้องพิจารณาคดีหากออกจากห้องพิจารณาคดีแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารจะไม่อนุญาตให้กลับเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้อีก ซึ่งครั้ก่อนๆ ไม่เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง ชำนาญ จันทร์เรือง: พยานผู้เชี่ยวชาญ 
 
เวลาประมาณ 13.30 น. เริ่มการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญ จันทร์เรือง
 
ชำนาญเบิกว่าเขาจบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นไปสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนั้นเขายังได้รับปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงาน ชำนาญเบิกความว่าเขามีประสบการณ์สอนทั้งสาขารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ โดยสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และที่อื่นๆ ปัจจุบันเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ให้กับมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน 
 
เกี่ยวกับการทำงานราชการ ชำนาญเบิกความว่าเขาเริ่มรับราชการเป็นปลัดอำเภอ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยก่อนจะสอบโอนไปรับราชการที่สำนักงานศาลปกครองตำแหน่งสุดท้ายในราชการคือผู้เชี่ยวชาญด้านศาลปกครอง

ชำนาญเบิกความว่าหลังออกจากราชการเขามาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนการทำงานในภาคประชาสังคมเขาเคยดำรงตำแหน่งประธานแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก โดยปัจจุบันเขายังเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรดังกล่าว 
 
ชำนาญเบิกความถึงระบอบการเมืองการปกครองของโลกในปัจจุบันว่า ระบอบการปกครองของประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่เป็นสมาชิก UN (องค์การสหประชาชาติ) 193 ประเทศ คือระบอบประชาธิปไตย มีน้อยประเทศมากที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบดังกล่าว ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร (Military Goverment)  แม้แต่ประเทศที่ดูจะไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเกาหลีเหนือก็ยังใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี ประเทศจีนก็ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แม้ดูเหมือนว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ยังใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นคำแทนประชาธิปไตย กระทั่งประเทศลาวเอง ยังใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเป็นการยอมรับว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยตามแบบของแต่ละประเทศโดยมีความยึดโยงกับประชาชน 

ชำนาญเบิกความถึงหลักทั่วไปของระบอบประชาธิปไตยว่า ประชาธิปไตยคือ ประชาชน+อธิปไตย หมายถึงอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ส่วนหลักการอื่นที่มาขยายเกี่ยวเนื่องคือเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หรือการแสดงออกด้วยวิธีการอื่น นอกจากนี้ก็มีเรื่องที่ประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้นำของตัวเองหรือกำหนดอนาคตตัวเอง

ชำนาญเบิกความต่อว่ากระบวนการนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิของตนเอง จำกัดสิทธิเสรีภาพของตนเองบางประการ และจำกัดอำนาจของรัฐไม่ให้มีมากเกินไปโดยผ่านสภานิติบัญญัติหรือรัฐสภา สำหรับสภาจะมีสองแบบคือแบบสองสภามีวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร และแบบสภาเดี่ยวที่มีแต่สภาผู้แทนราษฎร  
 
ชำนาญตอบคำถามทนายเกี่ยวกับการทำรัฐประหารว่า ในทางรัฐศาสตร์จะไม่ยอมรับการเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีนี้ ส่วนในทางนิติศาสตร์การยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แนวคิดทางนิติศาสตร์แบบหนึ่งเชื่อว่าเมื่อยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์สำเร็จก็สามารถออกคำสั่งซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายได้และหากใครไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็จะถูกลงโทษ แนวคิดนี้จะใช้ในประเทศเผด็จการอำนาจนิยม เป็นแนวความคิดที่ล้าสมัยและไม่เป็นที่ยอมรับในโลกสมัยใหม่ 
 
แนวคิดทางนิติศาสตร์แบบที่สอง เป็นแนวคิดของโลกเสรีประชาธิปไตยหรือแนวคิดสมัยใหม่ ที่มองว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับกับประชาชนได้จะต้องมาจากประชาชนเท่านั้น โดยยึดหลักอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านทางรัฐสภา 
 
ชำนาญย้อนเบิกความถึงความหมายของคำว่ารัฏฐาธิปัตย์ว่าเป็นการผสมระหว่างคำว่า รัฐ+อธิปไตย หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ ในแผ่นดิน ไม่ต้องเชื่อฟังผู้ใด ไม่ต้องฟังกฎหมายฉบับใดอีก ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระมหากษัตริย์คือรัฏฐาธิปัตย์ ในระบอบประชาธิปไตยรัฏฐาธิปัตย์คือประชาชน 
 
เกี่ยวกับสถานะของคณะรัฐประหารในปัจจุบันนี้ ชำนาญเห็นว่าคสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ เพราะคสช.ต้องรอการโปรดเกล้าฯจากพระมหากษัตริย์
 
สำหรับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่บังคับใช้กับจำเลยในคดีนี้ ชำนาญเห็นว่าการจับกุมตัวจำเลยเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีผลบังคับใช้แล้ว โดยที่มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แสดงให้เห็นว่า คสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ 
 
เกี่ยวกับการกระทำของจำเลย ชำนาญเห็นว่า การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เป็นไปเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติเท่านั้น  การกระทำของจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นการกระทำโดยสงบและไม่มีผลกระทบต่อประเทศชาติ จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558
 
นอกจากนั้นมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ. 2557 ยังกำหนดให้รัฐต้องผูกพันกับพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งรัฐได้ผูกพันไว้ก่อนแล้ว รัฐจึงมีพันธะผูกพันตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และรับรองสิทธิในการแสดงออก ไม่ว่าเชิงความเห็นโดยการพูด การเขียนหรือวิธีอื่นใด  
 
ชำนาญเบิกความด้วยว่ารัฐธรรมนูญไทยเกือบทุกฉบับบัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการเขียน การพูด หรือวิธีอื่นใดไว้ และเสรีภาพดังกล่าวก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สมาชิกสหประชาชาติแทบทุกรัฐ ไม่ว่าจะปกครองประเทศด้วยระบอบใด มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 
 
ชำนาญเบิกความต่อว่า การจำกัดเสรีภาพของประชาชนสามารถทำได้ในภาวะสงครามหรือมีการจลาจล แต่จะสามารถจำกัดเสรีภาพได้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น 
 
ชำนาญเบิกความเกี่ยวกับการจับกุมจำเลยในคดีนี้ว่าเป็นการแสดงความหวาดกลัวเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ เพราะในขณะเกิดเหตุไม่มีการประกาศกฎอัยการศึก ไม่ได้อยู่ในสภาวะจลาจลหรือสภาวะสงคราม และตัวจำเลยก็ถูกจับกุมขณะเป็นนักศึกษา  
 
ชำนาญเบิกความต่อว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การชุมนุมประท้วงหรือการแสดงออกของนักศึกษาไม่เคยล้มรัฐบาลใดได้เลย นอกเสียจากว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อาวุธกับนักศึกษา อย่างกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือพฤษภา 35  ชำนาญเบิกความด้วยว่าเขาเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือต่อรัฐบาลเลย หากวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ปล่อยให้จำเลยและพวกทำกิจกรรมชูป้่ายคัดค้านรัฐประหาร ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศ เพราะแสดงว่าเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงออก ประเทศหรือรัฐบาลก็จะไม่ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ
 
ตอบอัยการทหารถามค้าน
 
ชำนาญเบิกความตอบอัยการทหารว่า การใช้สิทธิเสรีภาพต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ต้องเป็นกฎหมายที่แท้จริง ตามที่เขาเบิกความไว้ตอนต้น สำหรับการนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลแสดงว่าศาลเห็นว่าเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ได้จึงรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา แต่เมื่อเขาเห็นคำสั่งซึ่งเป็นเหตุแห่งคดีนี้เขาไม่เห็นว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์และสามารถถูกยกเลิกในภายหลังได้
 
อัยการทหารถามว่าประเทศทุกประเทศในโลกมีระบบกฎหมายเป็นของตัวเองใช่หรือไม่ ชำนาญตอบว่า ทุกประเทศปกครองด้วยกฎหมายและจะเป็นกฎหมายไหนนั้นต้องดูอีกที  บางประเทศควบคุมโดยกฎหมาย แต่บางประเทศใช้วิธีนอกกฎหมาย เช่น ฟิลิปปินส์   
 
สำหรับแนวคิดและวิวัฒนาของการปกครอง ชำนาญเห็นว่าการเปลี่ยนแเกิดขึ้นได้แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเช่นที่ พม่าหรืออินโดนีเซีย ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่เลวร้ายกว่าเดิมประชาชนจะลุกฮือต่อต้าน สำหรับการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ชำนาญเห็นว่าความสงบเรียบร้อยของชาติมีความจำเป็นแต่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วย
 
ตอบทนายจำเลยถามติง 
 
ชำนาญตอบคำถามติงเรื่องกฎหมายว่าสิ่งที่จะเป็นกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ต้องบัญญัติจากประชาชน
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากที่สาม ผศ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 

10 กรกฎาคม 2561 
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
ประชาชนประมาณ 20 คน เดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลทหารขอนแก่นตั้งแต่เวลาก่อน 9.00 น. โดยประชาชนที่จะเข้าฟังการพิจารณาคดีวันนี้ต้องแลกบัตรประจำตัวที่ทางเข้าค่ายศรีพัชรินทร์ก่อนจะเข้ามาสู่ตัวอาคารศาลทหาร  
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม  ผศ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานผู้เชี่ยวชาญ 
 
ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.50 น.  จันทจิราเบิกความตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับประวัติการศึกษาและการทำงานว่า เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่สอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายปกครองและวิชาสิทธิเสรีภาพ

จันทจิราเบิกความเพิ่มเติมด้วยเธอมีประสบการณ์สอนเกี่ยวกับเสรีภาพทุกชนิดรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และเคยเขียนบทความเรื่องเสรีภาพการชุมนุมในที่สาธารณะด้วย  
 
เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุม จันทจิราเบิกความว่ามีกฎหมายที่ให้การรับรองอยู่สองระดับคือกฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2539 ก่อนที่กติกาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2540 เป็นต้นมา โดยที่ข้อ 21 ของ ICCPR บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ จันทจิราเบิกความต่อว่าเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบไม่เพียงได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศแต่ยังได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ด้วย 
 
สำหรับความหมายของการชุมนุมโดยสงบ จันทจิราเบิกความว่าไม่ได้ถึงการชุมนุมที่ไม่มีการใช้เสียงหรือไม่มีการปราศรัยสาธารณะ แต่หมายถึงการชุมนุมที่ไม่ใช่ความรุนแรงหรือยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นใช้ความรุนแรง ส่วนคำว่าปราศจากอาวุธมุ่งหมายที่จะขยายคำว่าโดยสงบ และเป็นการแสดงภาวะของผู้ชุมนุมว่ามีเจตนาไม่ใช่ความรุนแรง  
 
เกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม จันทจิราเบิกความว่ามาตรา 21 วรรคสองของ ICCPR และมาตรา 44 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บัญญัติเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเอาไว้ โดยระบุว่าเสรีภาพในการชุมนุมสามารถถูกจำกัดได้ตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะ   
 
จันทจิราเบิกความว่าปรากฎทั้งในข้อ 21 วรรคสอง ของ ICCPR และในมาตรา 44 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมีองค์ประกอบคือ มีกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเป็นการเฉพาะ แต่กฎหมายที่จะใช้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมก็ต้องเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญเท่านั้น

เช่นใช้จำกัดเสรีภาพการชุมนุมกรณีที่ผู้ชุมนุมขัดขวางการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะของคนอื่น หรือจำกัดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในกรณีที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงครามหรือระหว่างเวลาที่มีประกาศสงคราม สถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก 
 
จันทจิรายกตัวอย่างว่าเคยมีบางกรณีที่รัฐบัญญัติกฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมแต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อย่างกรณีการแก้ไข พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มาตรา 46(1) กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดชุมนุมในบริเวณทางหลวงหรือกีดขวางทางจราจร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ทางหลวงก็ไม่ได้เป็นกฎหมายขึ้นเพื่อจัดการการชุมนุมสาธารณะ     
 
จันทจิรายังยกตัวอย่างกรณีที่แรงงานไทรอัมพ์ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมและดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 ข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองซึ่งต่อมาศาลอาญาพิพากษายกฟ้องความผิดดังกล่าวในปี 2552 โดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์ขณะนั้นไม่เป็นการมั่วสุมหรือชุมนุม และจะใช้กฎหมายอาญาบังคับใช้เพื่อสลายการชุมนุมไม่ได้  
 
จันทจิราเบิกความด้วยว่า เจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมและสั่งยุติการชุมนุมหรือสลายการชุมนุมตามหลักความจำเป็น เช่น คดีที่ชาวบ้านอำเภอจะนะซึ่งต่อต้านการก่อสร้างท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังถูกสลายการชุมนุมซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนตามหลักผลประโยชน์สาธารณะ 
 
ทนายจำเลยให้จันทจิราดูภาพวันเกิดเหตุและถามว่าการชุมนุมลักษณะนี้จะได้รับการคุ้มครองหรือไม่ จันทจิราเบิกความว่าพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง กฎหมายจึงคุ้มครอง และสถานที่ชุมนุมเป็นสถานที่สาธารณะและเป็นพื้นที่ทางเท้าจึงไม่ได้กีดขวางทางจราจร 
 
จันทจิราเบิกความเพิ่มเติมว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ออกมาเดือนเมษายน 2558  ส่วน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ออกมาบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2558 เมื่อมีการออกพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะออกมาบังคับใช้จัดการการชุมนุมเป็นการเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จึงย่อมสิ้นผลไป และเนื้อหาในคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับ ที่ 3/2558 ข้อ 12 ก็มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ
 
1. เนื้อหาไม่รับรองการชุมนุมโดยสงบ เขียนแต่ว่าห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง 2. มีการกำหนดว่าจะชุมนุมได้ต้องขออนุญาต ซึ่งหลักการขออนุญาตชุมนุมไม่เป็นที่ยอมรับในหลักสากล และในรัฐธรรมนูญ 3. โทษที่กำหนดเกินกว่าความจำเป็น (หนักเกินกว่าความจำเป็นเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)  4. ถ้อยคำไม่มีความแน่นอนชัดเจนซึ่งเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย เช่น คำว่ามั่วสุม ชุมนุม ทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ทั้งยังเปิดดุลพินิจให้เจ้าหน้าที่มากเกินไป ไม่มีความแน่นอนชัดเจน ซึ่งทำให้เกิดการปฏิบัติงานหลายมาตราฐาน   
 
จันทจิราเบิกความตอบทนายจำเลยทิ้งท้ายว่าไม่ได้รู้จักจำเลยในคดีนี้เป็นการส่วนตัว แต่รู้จักผ่านทางสื่อ 
 
ตอบอัยการทหารถามค้าน 
 
อัยการทหารถามว่าในกรณีที่สถานการณ์ในประเทศไม่ปกติ รัฐก็สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้ใช่หรือไม่ จันทจิราตอบว่าสามารถทำได้ แต่รัฐที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพตามกติกาฯต้องแจ้งไปที่สหประชาชาติซึ่งสหประชาชาติสามารถตรวจสอบได้ว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวมีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร 
 
อัยการทหารถามว่า แม้ในประเทศที่ลงนามรับรองกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ก็มีการให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในระดับที่ไม่เท่ากันใช่หรือไม่ จันทจิราตอบว่า สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองสามารถที่จะถูกจำกัดได้ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อลงนามในกติการดังกล่าวแล้วทุกประเทศต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับเดียวกัน แต่อาจจะแตกต่างในรายละเอียดได้บ้าง 
 
ตอบทนายจำเลยถามติง 
 
ทนายจำเลยถามว่าประเทศที่เป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหมือนกันหกรือต่างกันอย่างไร  จันทจิราตอบว่าอาจจะให้การคุ้มครองแตกต่างกันในรายละเอียดได้บ้างแต่ต้องไม่ขัดกับหลักการใหญ่
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์  ในวันที่ 18 กันยายน 2561 
 

8 กันยายน 2561

นัดสืบพยานจำเลย ปากที่ 4 ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์


ที่ศาลทหารขอนแก่น นัดสืบพยานจำเลย วันนี้มีประชาชนร่วม 30 คนเข้าฟังการพิจารณาคดี 10.00 น. รถจากเรือนจำกลางขอนแก่นมาถึงพร้อมการปรากฎตัวของจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน ก่อนศาลจะเริ่มสืบพยานราว 11.30 น. พยานวันนี้คือ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

ศ.นิธิเบิกความ โดย ไผ่ เป็นคนถามความเองว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารบ่อยมาก ตั้งแต่ปี 2475-ปัจจุบัน ทั้งนี้รัฐประหารครั้งที่มีนัยยะสำคัญ มีอยู่ 2 ครั้งด้วยกันครั้งแรกเมื่อปี 2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศระงับใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตราด้วยกัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (ปี 2475) นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้นได้ หลังจากนั้นพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก็เข้ามายึดอำนาจ เพื่อกอบกู้รัฐธรรมนูญ รัฐประหารครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่า รัฐธรรมนูญเป็นการให้อำนาจของทุกฝ่ายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศาล กองทัพ รัฐบาล หรือตำรวจ และหากมีการระงับหรือฉีกรัฐธรรมนูญ เท่ากับทำให้บ้านเราเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน และเป้าประสงค์ของการทำรัฐประหารครั้งนั้นคือการรื้อฟื้นระบอบภายใต้รัฐธรรมนูญให้คืนกลับมา จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่ากองทัพมีหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญ และการรัฐประหารครั้งนั้นไม่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี หากมีการฉีกรัฐธรรมนูญก็มีคณะบุคคลนั้นนำกลับมาอีกครั้ง และต่อมากลับไม่มีใครทำตามแบบอย่างนี้

และก่อนเกิดรัฐประหารปี 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้หยุดใช้รัฐธรรมนูญทุกมาตรา ยกเว้นเฉพาะหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีการปิดสภา ทำให้ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ ทำให้มีการออกกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านสภา

ส่วนรัฐประหารครั้งที่ 2 ที่มีนัยยะสำคัญมากคือเมื่อปี 2557 นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ช่วงเวลานั้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญมา 17 ปี จากรัฐธรรมนูญ 2540 (แม้ช่วงปี 2549 จะมีการรัฐประหารอีกครั้ง แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างมาภายหลังจากนั้น ก็แทบไม่แตกต่างจาก รัฐธรรมนูญ 2540)

การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ประเทศขาดโอกาสที่จะก้าวหน้าในวิถีทางประชาธิปไตยอันมั่นคงตลอดไป ผลจากการรัฐประหารทำให้เกิดความทรุดโทรมของเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้นายทุนต่างประเทศไม่กล้าลงทุน เพราะไม่รู้อนาคตที่แน่นอน อีกทั้งโอกาสการเรียนรู้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้หมดไป และรัฐธรรมนูญที่เกิดภายหลังคือของปี 2559 และ 2560 ก็จำกัดอำนาจการควบคุมบริหารประเทศของประชาชนออกไป

การที่รัฐประหารอ้างคอร์รัปชั่นและความแตกแยกของประชาชน เข้าใจว่าการแก้ไขสองสิ่งนี้สามารถแก้ไขได้ตามระบอบประชาธิปไตย กลไกปกติสามารถทำได้ และในบรรดาประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีคนโกงหรือไม่มีประเทศไหนที่ประชาชนไม่แตกแยกเลย

สำหรับประเทศไทยเยาวชนหรือคนที่ได้รับการศึกษานั้น มีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงแยกอำนาจจากขุนนางได้โดยอาศัยความร่วมมือกับคนหนุ่มที่มีการศึกษา และบทบาทคนหนุ่มสาวมีตลอดมากระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังเป็นคนหนุ่มสาวที่ร่วมมือกับผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ สร้างขบวนการเสรีไทยขึ้นมา เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยในขณะนี้ ขบวนการเสรีไทยที่ทำให้กลุ่มประเทศสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามโลกยอมรับประเทศไทยว่ายังเป็นประเทศเอกราชอยู่

ต่อมาบทบาทของคนหนุ่มสาวหรือนักศึกษาในการต่อต้านรัฐประหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ก่อนหน้าปี 2514 จอมพลถนอมทำรัฐประหารและ 2 ปีต่อมาคนหนุ่มสาวได้ร่วมกันขับไล่รัฐบาลของจอมพล ถนอมออกไป หลังจากนั้นปี 2535 ในการต่อต้านคณะ รสช.ก็ต้องอาศัยนักศึกษาและคนหนุ่มสาวเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นตั้งแต่ขบวนการเสรีไทย 14 ตุลา พฤษภา 35 คนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาจะไม่ยอมรับที่จะเห็นประเทศเดินถอยหลัง คนหนุ่มสาวยุคสมัยนี้ก็เช่นกัน ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในรูปแบบต่างๆตลอดมา และการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในยุคนี้ เห็นว่าจะระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น

และกลุ่มนักศึกษาที่ได้เคลื่อนไหวนี้มีความสำนึกว่าตนนั้นมีหน้าที่ต้องทำ โดยเชื่อว่าสังคมที่ดูดาย คือสังคมที่ไปไหนไม่รอด และในรัฐธรรมนูญเองก็มีกำหนดไว้ด้วยว่าให้ประชาชนมีหน้าที่ต่อต้านการทำรัฐประหาร

นิธิเบิกความเพิ่มเติมว่าการเคลื่อนไหวทำนองแบบที่จำเลยทำนี้ มีทุกยุคสมัยทำให้เกิดผลดีของสังคมเสมอมา เช่น ขบวนการเสรีไทยที่ถูกมองว่าเป็นกบฏ แต่ภายหลังการกระทำนั้นกลับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการกระทำของจำเลยที่คัดค้านรัฐประหารเป็นความผิด แต่ในระยะยาวแล้วอาจจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

และการกระทำของจำเลยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงแต่อย่างใด เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่อยากเห็นประเทศไทยเดินถอยหลัง ในทางประวัติศาสตร์ มีความเห็นว่าคณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนเองกับอำนาจของรัฐ การคัดค้านคสช.ของจำเลยกระทบต่อความมั่นคงของ คสช.ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของชาติ
ถ้าเรายอมรับว่าคสช.คือชาติ จำเลยทำผิดแน่นอน แต่ถ้าคสช.ไม่เป็นชาติก็ไม่น่าจะถูกลงโทษ

ศาลสืบพยานเสร็จทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว แต่ยังไม่นัดวันพิพากษา เนื่องจากทนายยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า คำสั่งที่ 3/2558 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่


4 กุมภาพันธ์ 2562

นัดฟังคำสั่งศาล


ศาลแจ้งให้คู่ความทราบว่า ตามที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ข้อที่ 1 ให้ยกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 (7) ข้อที่ 12 ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จึงเป็นกรณีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ดังนั้นจำเลย จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง และยังเป็นกรณีที่กฎหมายที่ออกใช้ภายหลังกระทำความผิดยกเลิกความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) ประกอบ พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2495 มาตรา 45 จึงมีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา