บัณฑิต: แสดงความเห็นที่งานสัมนาของกกต.

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

บัณฑิต อานียา

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2548

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ

สารบัญ

บัณฑิตกล่าวแสดงความคิดเห็นและแจกเอกสารในการสัมมนาวิชาการซึ่งจัดโดยสำนักงาน กกต. และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่เนื้อหาถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ศาลฎีกาพิพากษาให้มีความผิด 2 กระทงรวมจำคุก 4 ปี แต่จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

บัณฑิต อานียา เป็นนักเขียนและนักแปล
 

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

22 กันยายน 2546

บัณฑิตกล่าวแสดงความคิดเห็น และแจกเอกสารในการสัมมนาทางวิชาการซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่คำพูดและเนื้อหาเอกสารที่นำมาแจกเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ด.725/2548

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

กรณีบัณฑิต, เว็บไซต์ LM Watch วันที่ 12 พฤษภาคม 2552 (อ้างอิงเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555)

22 กันยายน 2546

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "กฎหมายพรรคการเมือง: โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง" ที่ห้องกษัตริย์ศึกบอลรูม โรงแรมเดอะทวิน ทางเวอร์ มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นวิทยากร และมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 500 คน รวมถึงบัณฑิต อานียา หรือชื่อจริงว่า สมอล์ล บัณทิต อานียา (จือเซ็ง แซ่โค้ว) นักเขียน นักแปล วัย 63 ปี (อายุขณะนั้น)

ทั้งนี้ นายบัณทิต นำเอกสารที่เขียนและจัดทำสำเนาขึ้นเองจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. "สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง)" 2. "วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร" ไปจำหน่ายให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนา

11 ธันวาคม 2546

พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ นำแถบบันทึกเสียงที่มีถ้อยคำของนายบัณฑิตในงานสัมมนาดังกล่าว พร้อมเอกสารทั้ง 2 เรื่องข้างต้น เข้าแจ้งความว่า นายบัณฑิตมีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการกล่าวถ้อยคำในการสัมมนาและการโฆษณาผ่านเอกสาร

24 พฤษจิกายน 2547

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวนายบัณฑิตและส่งฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเวลาต่อมา บัณฑิตถูกควบคุมตัวและถุกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพทั้งนี้ นายบัณฑิตปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่รับว่ากล่าวถ้อยคำในการสัมมนาและทำสำเนาเอกสารดังกล่าวจำหน่ายจริง
 

17 กุมภาพันธ์ 2548 

ที่ศาล อาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สำนักอัยการสูงสุด(สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมอล์ล บัณฑิต อานียา หรือ จือเซ็ง แซ่โค้ว จำเลย อาชีพนักเขียน ขณะเกิดเหตุนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางใดมิใด ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไป

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการ ที่ห้องกษัตริย์ศึกบอลรูม โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ โดยมีผู้คนประมาณ 500คน รวมทั้งจำเลยซึ่งใช้นามปากกาว่า "สมอล์ล บัณฑิต อานียา" เข้าร่วมสัมมนาด้วย ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยได้บังอาจกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ

(ก) จำเลยได้บังอาจพูดโฆษณาโดยการกล่าวถ้อยคำป่าวประกาศด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียงต่อหน้า พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ และประชาชนหลายคนในงานสัมมนา ซึ่งคำพูดของจำเลยมีความหมายเป็นการละเมิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ

(ข) จำเลยได้บังอาจกระทำการโฆษณาด้วยเอกสารโดยจัดให้มีการพิมพ์ข้อความลงในเอกสาร ชุดที่ 1 ชื่อ "สรรนิพนธ์เพื่อ (ฉบับตัวอย่าง)" และชุดที่ 2 ชื่อ "วรสุนทร์พจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร" และจำหน่ายให้แก่ พล ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ และประชาชนอีกหลายคน

กุมภาพันธ์ 2548

หลังถูกควบคุมตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันเป็นเวลา 98วัน ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวนายบัณฑิตเป็นการชั่วคราวโดยต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นเงิน200,000บาท

28 กุมภาพันธ์ 2548

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการนัดพร้อมโดยมีผู้พิพากษา คือ นายสุรวุฒิ เชาวลิต นางสาวกฤษณา ชัยวิเศษ นายพิสิฐ เลิศชัยธรรม และนายอนิสรา จารุอรอุไร

นายสมอล์ล บัณฑิต อานียา หรือจือเซ็ง แซ่โค้ว ได้รับฟังคำฟ้องตลอด ขอให้การปฏิเสธ แต่รับว่าได้ป่าวประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงต่อหน้าประชาชนหลายคนที่เข้าร่วมฟังสัมมนาวิชาการ ตามฟ้องโจทก์ และจำเลยรับว่าได้ทำสำเนาเอกสาร เรื่อง “สรรนิพนธ์เพื่อชาติ(ฉบับตัวอย่าง)” และ เรื่อง “วรสุนทรพจน์(ฉบับร่าง)เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร” และจำหน่ายให้ประชาชนอีกหลายคนตามฟ้องโจทก์จริง

 

4 ตุลาคม 2548

นัดสืบพยานโจทก์

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีการสืบพยานโจทย์โดยมีผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ คือ นางสุวิมล ทัสสโร และนายณพล มีนาภา

พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ รับราชการในตำแหน่งประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22กันยายน 2546 คณะกรรมการการเลือกตั้งกับสำนังานศาลรัฐธรรมนูญได้ร่วมกันจัดสัมมนา การบรรยายเสร็จประมาณก่อน 12 นาฬิกา และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยจำเลยได้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านไมโครโฟน เมื่อได้ฟังข้อความของจำเลย ตนจึงขอให้จำเลยหยุดพูดเพราะข้อความที่พูดมีความหมิ่นเหม่ ต่อมาได้ไปนั่งพูดคุยกับจำเลยและได้รับหนังสือจากจำเลย 2 เล่ม พร้อมกับขอค่าตอบแทน 40 บาท หลังจากกลับที่ทำงานตนได้อ่านหนังสือที่รับมาจากจำเลย เห็นว่ามีข้อความที่ไม่เหมาะสมอยู่หลายตอน จึงได้เรียกตำรวจให้ไปสืบสวนในเบื้องต้น หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาข้อความต่างๆ ว่าเป็นความผิดฐานใดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

5 ตุลาคม 2548

นัดสืบพยานโจทก์

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการสืบพยานโจทก์โดยผู้พิพากษา นางสุวิมล ทัสสโร และนายณพล มีนาภา

นางเบญจวรรณ บูรณดิลก อาชีพรับจ้าง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 ตนได้เข้าฟังสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยการสัมมนาจะกระจายเสียงผ่านไมโครโฟน เมื่อวิทยาการบรรยายเสร็จประมาณ 11 นาฬิกาเศษ ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็น ซึ่งจำเลยได้แสดงความคิดเห็นที่ไม่สมควรพูดเนื่องจากหลบหลู่พระเจ้าอยู่หัว และระหว่างรับประทานอาหารกลางวันจำเลยนำหนังสือมาขายให้แก่ผู้ร่วมสัมมนาซึ่งข้อความที่ปรากฏมีลักษณะการลบหลู่ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาตำรวจกองปราบให้มาเป็นพยานโดยเปิดเทปงานสัมมนาและนำเอกสารที่เขียนโดยจำเลยมาให้อ่านซึ่งได้ยืนยันกับตำรวจว่าข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

บุญครอง นิปวณิชย์ เลขาธิการพรรคเผ่าไทย เบิกความว่า ตนได้เข้าร่วมสัมมนาในวันที่ 22 กันยายน 2546 เมื่อคณะวิทยากรได้บรรยายไปจนถึงเวลา 11 นาฬิกาเศษ จึงได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซักถามและแสดงความคิดเห็น จนถึงเวลา 12 นาฬิกา จำเลยได้ลุกขึ้นไปที่ไมโครโฟนแต่เห็นไม่ถนัดนัก ในขณะรับประทานอาหารจำเลยเสนอขายเอกสารให้แก่ผู้ร่วมสัมมนา และมาเสนอขายให้ตนด้วย ตนฟังจำเลยแสดงความคิดเห็นก็รู้สึกสะดุดในถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและเห็นว่าจำเลยไม่ให้ความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวอยู่ หลังจากวันดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้มีหมายเรียกตนไปให้ปากคำ และอ่านข้อความที่ปรากฏในหนังสือที่จำเลยนำมาจำหน่าย ซึ่งข้อเขียนดังกล่าวมีความหมายเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เชาวนะ ไตรมาศ ทำงานอยู่ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 ตนได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาวิชาการและได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย การสัมมนาบรรยายและอภิปรายผ่านเครื่องกระจายเสียงและมีการถ่ายทอดทางวิทยุ การสัมมนาดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ 12 นาฬิกา จึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็นและซักถาม ซึ่งจำเลยได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่มีลักษณะพาดพิงถึงบุคคลอื่น หลังจากการสัมมนาเสร็จสิ้น จำเลยได้เดินแจกจ่ายเอกสารและได้เสนอขายเอกสาร ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกมาให้ปากคำ และนำข้อความเดียวกันกับที่จำเลยกล่าวในวันประชุมสัมมนาให้อ่าน หลังจากได้อ่านข้อความดังกล่าวเห็นว่าเป็นการลบหลู่และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

 

6 ตุลาคม 2548

นัดสืบพยานโจทก์

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีการสืบพยานโจทย์โดยมีผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ คือ นางสุวิมล ทัสสโร และนายณพล มีนาภา

อินทร์จันทร์ บุราพันธ์ รับราชการอยู่สำนักราชเลขาธิการ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พันตำรวจโทสมควร พึ่งทรัพย์ พนักงานสอบสวนได้นำเอกสารมาให้พิจารณาและขอความเห็นเรื่องที่มีการกล่าวหาว่านายสมอล์ล บัณฑิต หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการอ่านเอกสารรู้สึกตกใจที่เห็นว่าผู้เขียนกล้าเขียนเช่นนั้น ข้อเขียนดังกล่าวสามารถอ่านได้รู้เรื่อง ข้อเขียนตามเอกสารของผู้เขียนสามารถสื่อความหมายเพื่อให้รู้สึกเกลียดชังบุคคลบางคนได้ โดยมีหลายข้อความเป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์

 

7 ตุลาคม 2548

นัดสืบพยานโจทก์

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีการสืบพยานโจทย์โดยมีผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ คือ นางสุวิมล ทัสสโร และนายณพล มีนาภา

พลตำรวจตรี นันทวุธ นพคุณ ข้าราชการบำนาญ เบิกความว่า ก่อนที่ตนจะเกษียณ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองคดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับคดีนี้เดิมเป็นเรื่องที่พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ มีหนังสือแจ้งมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีระเบียบปฏิบัติคือในการพิจารณาคดีดังกล่าวจะต้องได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2546 มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาซึ่งเรื่องนี้ได้รับการพิจารณาว่าการกระทำมีมูลว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

พันตำรวจโท สมควร พึ่งทรัพย์ พนักงานสอบสวน เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ สืบเนื่องจากประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาข้อความที่จำเลยพูด อาจมีข้อความเข้าข่ายมีความผิดมาตรา 112 หลังจากเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีความเห็นในที่สุดว่าข้อเท็จจริงที่กล่าวหานั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางดำเนินการ จากการสอบสวนเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย คณะกรรมการสืบสวนจึงได้เสนอขอออกหมายจับ ในชั้นจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างการสอบสวนนั้นจำเลยสามารถให้การปกติแล้วเบิกความว่าจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความตามฟ้อง นอกจากนี้ในวันดังกล่าวจำเลยได้มอบเอกสารที่เกี่ยวกับคดีนี้ให้อีกด้วย หลักจากนั้นได้มีการสรุปสำนวน โดยมีความเห็นให้สั่งฟ้อง

รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย เบิกความว่า ตนได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการประชุมสัมมนา วิทยากรบรรยายไปจนเกือบถึงเวลา 12 นาฬิกา จึงได้เปิดให้ผู้ร่วมสัมมนาซักถามและแสดงความคิดเห็น โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาจะพูดผ่านทางไมโครโฟน เป็นการกระจายเสียงให้ได้ยินทั่วทั้งห้องประชุม และตนได้เห็นจำเลยได้ลุกขึ้นขออนุญาตซักถามและแสดงความคิดเห็น ซึ่งจำหน้าจำเลยได้อย่างชัดเจน การแสดงความคิดเห็นของจำเลยได้สร้างความตื่นตระหนกและตกตะลึงแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาพอสมควร ซึ่งหลังเกิดเหตุแล้วพนักงานสอบสวน ได้มีหมายเรียกไปให้การเป็นพยาน ต่อมาพนักงานสอบสวนได้นำเอกสารที่จำเลยเขียนมาให้ดู และเมื่อได้พิจารณาเอกสารเห็นว่าข้อความบางตอนเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

11 ตุลาคม 2548

นัดสืบพยานโจทก์

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการสืบพยานโจทก์โดยผู้พิพากษา นางสุวิมล ทัสสโร และนายณพล มีนาภา

รองศาสตราจารย์อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ข้าราชการบำนาญ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ตนได้รับเชิญจากคณะกรรมการเลือกตั้งให้มาเป็นวิทยากร การประชุมดำเนินไปใกล้เที่ยงจึงให้ผู้ร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็น มีผู้แสดงความคิดเห็นหลายคนแต่ตนไม่ได้สนใจนัก ต่อมาตำรวจกองปราบได้มีหมายเรียกตนไปให้การ เนื่องจากในงานสัมมนามีผู้แสดงความคิดเห็นคล้ายๆ จะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พนักงานสอบสวนจึงนำข้อความและหนังสือให้ดูและสอบถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งเห็นว่าข้อความดังกล่าวพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์และไม่เหมาะสมที่จะกล่าวหรือเขียนข้อความเช่นนั้น

พันตำรวจตรีสมพงษ์ มั่นหมาย รับราชการอยู่ที่กองบังคับการกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ตนเป็นพนักงานสอบสวนเนื่องจากพลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ ได้ส่งเรื่องถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาข้อความที่จำเลยพูดแสดงความคิดเห็นและเขียนเป็นเอกสาร ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการสอบสวนหลังจากที่จับผู้ต้องหา โดยได้สอบปากคำผู้ต้องหา แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ซึ่งชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ หลังจากนั้นมีความเห็นควรสั่งฟ้องและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติม โดยพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยานซึ่งเป็นตัวแทนสาขาวิชาชีพต่างๆ  เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย พยานแต่ละคนได้ให้การว่าข้อความบางตอนมีลักษณะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

12 ตุลาคม 2548

นัดสืบพยานจำเลย

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการสืบพยานจำเลยโดยผู้พิพากษา นางสุวิมล ทัสสโร และนายณพล มีนาภา

วารินทร์ สินสูงสุด ทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เบิกความว่า รู้จักกับจำเลยมาตั้งแต่ พ.ศ.2510 ในที่ประชุมหอสมุดแห่งชาติเมื่อในงานประชุมเรื่องอะไรตนจำไม่ได้ เท่าที่รู้จักจำเลยมาเมื่อมองดูทั่วไปแล้วเห็นว่าเป็นปกติ แต่เมื่อจำเลยพูดลึกลงไปแล้วจะเพี้ยน ก็คือจะพูดเพ้อเจ้อ มีความความคิดเพ้อฝันมาก เท่าที่เคยคุยเรื่องพระมหากษัตริย์กับจำเลยทราบว่าจำเลยเป็นผู้มีความเคารพต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก เมื่อได้อ่านข้อความจากเอกสารเห็นว่าไม่มีข้อความใดที่จะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพราะข้อความเป็นการเขียนโดยหลักทั่วๆ ไป ทั้งนี้เท่าที่สัมผัสกับจำเลย เห็นว่าจำเลยเป็นคนฉลาดใฝ่เรียนและใฝ่รู้ ถ้าจำเลยไม่เขียนไม่อ่านหนังสือก็เหมือนว่าจำเลยเป็นคนบ้าคนหนึ่ง เมื่อจำเลยเขียนหนังสือจำเลยก็จะระบายความในใจ ออกมาลักษณะเป็นนิยาย เพ้อฝัน ลักษณะการเขียนไม่เชื่อมโยงกัน  จำเลยมีลักษณะเพี้ยนไม่หมือนคนตามปกติทั่วไป แต่ไม่ใช่คนบ้า

นพพร สุวรรณพานิช ข้าราชการบำนาญ เบิกความว่า รู้จักกับจำเลยเนื่องจากเคยเขียนคำนิยามให้กับจำเลยเมื่อ 10 ปีมาแล้วในหนังสือเรื่องความฝันภายใต้ดวงอาทิตย์ เท่าที่รู้จักกับจำเลยเห็นว่าจำเลยเป็นคนปกติ และไม่พบว่าจำเลยเขียนข้อความในทำนองดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เมื่ออ่านข้อความตามเอกสารไม่พบว่ามีข้อความตอนใดเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ข้อความมีลักษณะเป็นประธานของประโยค แต่มิได้หมายความถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้อความทั้งหมดเป็นการเขียนสะเปะสะปะมิได้ความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่อย่างใด

ปีเตอร์ โคเรท ชาวต่างชาติ เบิกความว่า ตนศึกษาภาษาไทยสามารถพูดอ่านและเขียนได้มากกว่า 20 ปี รู้จักจำเลยมาประมาณ 17 – 18 ปี เพราะสนใจวรรณคดีไทยจึงได้ไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ และได้รู้จักกับจำเลย เนื่องจากแปลกใจในตัวจำเลยที่มิได้สนิทสนมกับนักเขียนคนอื่นๆ จึงได้สอบถามนายคำสิงห์ ศรีนอก ซึ่งเป็นนักเขียน นายคำสิงห์บอกว่าจำเลยเป็นคนบ้า ทั้งนี้ยังได้สอบถามเรื่องจำเลยกับนักเขียนคนอื่นๆ ทุกคนจะบอกว่าจำเลยเป็นคนสติไม่ดี

 

ปิเตอร์เบิกความว่า ตนมีเพื่อนเป็นแพทย์ด้านจิตวิทยา ชื่อแคเร็น สพรินเคิล มาจากสหรัฐอเมริกา โดยตนได้เชิญนางแคเร็นพร้อมจำเลยมาพบกัน นางแคเร็นบอกว่าจำเลยมีจิตบกพร่องและแนะนำให้จำเลยไปรักษา แต่ตนไม่ได้พาไป ตนไม่เคยได้ยินและไม่เคยพบว่าจำเลยเขียนข้อความที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์แต่อย่างใด เมื่ออ่านเอกสารตามที่ทนายจำเลยให้ดูทั้งหมดเห็นว่าข้อความตามเอกสารมิได้เจาะจงว่าเป็นผู้ใด ซึ่งข้อความต่างๆ อ่านแล้วมีลักษณะไม่เชื่อมโยงแต่จะมีลักษณะเป็นการฟุ้งซ่านคิดอะไรได้ก็จะเขียนลงไป ดังนั้นความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ข้อความที่จำเลยเขียนแต่ต้องพิจารณาถึงสภาพจิตใจที่ไม่เป็นปกติของจำเลย

 

 20 กุมภาพันธ์ 2549 

นัดสืบพยานจำเลย

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการสืบพยานจำเลยโดยผู้พิพากษา นางสุวิมล ทัสสโร และนายณพล มีนาภา

 

นางดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์  รับราชการอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ตนเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวชจำเลยตามที่ศาลมีคำสั่ง จากการประเมินตรวจอาการพบว่าจำเลยป่วยด้วยจิตเภทซึ่งคำว่า จิตเภท หมายถึงเป็นอาการป่วยทางจิตเรื้อรัง ซึ่งมีอาการเด่นคือแนวความคิดผิดปกติ ความคิดหวาดระแวง การใช้เหตุผลไม่เหมือนคนปกติ ดังนั้นการแสดงพฤติกรรมออกมาก็จะเป็นไปตามอาการผิดปกติทางจิต เมื่อพิเคราะห์ข้อเขียนของจำเลยแล้วเห็นว่าหากอ่านไประยะแรกจะไม่พบความผิดปกติ แต่เมื่ออ่านไปประมาณหน้าถึงสองหน้าก็จะพบความผิดปกติ เนื้อหาในข้อเขียนจะลักษณะกระโดดไปกระโดดมา หากอ่านเผินๆ จะเห็นว่ามีความลึกในเนื้อหา แต่เมื่อพิเคราะห์กันแล้วก็จะปรากฏว่าไม่มีความลึกในเนื้อหา จากการตรวจเห็นว่าต้องรักษาอาการป่วยของจำเลย

 

23 มีนาคม 2549

ศาลชั้นต้นตัดสินว่านายบัณฑิตมีความผิดตาม ปอ.ม.112 ประกอบด้วย ม.65 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ปอ.ม.91 จำเลยกระทำผิดรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี เห็นว่า จำเลยอายุ 64 ปี ป่วยด้วยโรคจิตเภทและไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติ และเป็นพลเมืองดีต่อไป ให้คุมประพฤติโดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติและไปบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตโดยรายงานผลการรักษาต่อพนักงานควบคุมความประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งภายในระยะเวลา 2 ปี
 

24 พฤษภาคม 2549 
 
นายสมพงษ์ บุญภินนท์ อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูง2 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยขอไม่ให้รอการลงโทษจำเลย โดยโจทก์เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่จำเลยเขียนเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นความผิด จำเลยสามารถดำรงชีพของตนได้ด้วยการเขียนหนังสือและแปลหนังสือมาโดยตลอด รวมทั้งทำงานเป็นบรรณาธิการวารสารสันติสาส์น ซึ่งข้อความที่จำเลยเขียนกฎสามารถอ่านรู้เรื่องและสื่อความหมายได้ถูกต้องครบถ้วน เห็นได้ว่าสภาวะจิตใจของจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบชั่วดี บังคับการกระทำของตนเองได้ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ป่วยเป็นจิตเภทตลอดเวลา ไม่สมควรที่ศาลจะรอการลงโทษ
 
หลังศาลอ่านคำพิพากษา ทนายความยื่นประกันตัวบัณฑิตโดยใช้เงินประกันจำนวน300,000บาทเพื่อสู้คดีในชั้นฎีกา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวันเดียวกัน 
 
 
เดือนมิถุนายน 2549 
 
บัณฑิต อานียา จำเลย โดยนายสุทิน บรมเจต ทนายความ ยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาล สรุปใจความได้ดังนี้

จำเลยเป็นผู้มีจิตบกพร่องแต่ยังสามารถรู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองได้ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย โทษจำคุกให้รอการลงโทษด้วยการให้จำเลยไปบำบัดรักษาอาการจิตบกพร่อง เมื่อจำเลยเป็นผู้ป่วยโรคจิต การลงโทษจำเลยด้วยการจำคุกโดยไม่ทำการบำบัดรักษาจะเป็นวิธีแก้แค้นที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาทางสังคมได้อย่างแท้จริง ประกอบกับคำเบิกความของแพทย์หญิงที่เบิกความว่าข้อเขียนของจำเลยมีลักษณะกระโดดไปกระโดดมาไม่มีความลึกในเนื้อหา การรอการลงโทษไว้เหมาะสมต้องด้วยระบบอาชญวิทยาและทัณฑวิทยาแล้ว
 
 
17 ธันวาคม 2550
 
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากจำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าได้เขียนและกล่าวข้อความตามฟ้องจริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก2 ปี 8 เดือน ไม่รอการลงโทษและไม่ควบคุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
 21 สิงหาคม 2556
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 403 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในห้องพิจารณาคดีมีผู้มาร่วมสังเกตการณ์คดีเจ็ดคน ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ9.30 น. จำเลยและทนายจำเลยไม่มาศาล มีเพียงนายปีเตอร์ โคเรท นายประกันของจำเลยชี้แจงต่อศาลว่า จำเลยไม่สามารถมาศาลได้เพราะป่วย จำเป็นต้องผ่าตัดและรักษาตัวให้เสร็จภายในสองเดือน พร้อมมีใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐาน จึงขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปก่อน

ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยมาศาลไม่ได้เพราะป่วย และจำเลยยังไม่ได้รับหมายเพราะจำเลยเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ศาลสอบถามที่อยู่ใหม่ของจำเลยจากนายประกัน และสั่งเลื่อนัดอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 11 ธันวาคม 2556
 
 
11 ธันวาคม 2556 
 
ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ห้องพิจารณาคดี 403 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีผู้เข้าสังเกตการณ์คดีเจ็ดคน จำเลยไม่มาศาล ส่วนทนายจำเลยมาศาล ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.50 น. โดยอ่านคำพิพากษาศาลำกาของคดีอื่นก่อน ใช้เวลาประมาณ 20 นาที แล้วจึงนำคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษาขึ้นพิจารณา นายปีเตอร์ โคเรท นายประกันของจำเลยชี้แจงต่อศาลถึงอาการป่วยของจำเลยที่มีอาการกำเริบขึ้น และการรักษาต้องต่อท่อกระเพาะปัสสาวะทำให้ไม่สามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาได้วันนี้ 
 
ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ไปเป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 9.00 น.
 
17 กุมภาพันธ์ 2557
 
นัดฟังคำพิพากษาฎีกา
 
บัณฑิตเดินทางมาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ตั้งแต่ช่วงแปดนาฬิกาเศษเพื่อมารอฟังคำพิพากษาฎีกา โดยมีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งนั่งคุยด้วย

เมื่อใกล้เวลา9.00 น. บัณฑิตจึงขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีหมายเลข403โดยมีผู้สื่อข่าวติดตามไปด้วย ขณะเดียวกันนักวิชาการ ผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติรวมทั้งนักกิจกรรมทางสังคมก็เริ่มทยอยมาที่ห้องพิจารณาคดีเพื่อร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ประมาณ9.30น. หน้าบัลลังก์เดินมาคุยกับบัณฑิตว่าพร้อมจะฟังคำพิพากษาหรือยัง นายประกันของบัณฑิตแจ้งกับหน้าบัลลังก์ว่า ทนายจำเลยกำลังเดินทางมา จึงขอให้รอทนายจำเลยก่อน ระหว่างรอทนายความมีผู้สื่อข่าวบางคนเชิญบัณฑิตลงไปสัมภาษณ์ด้านนอกศาล ทนายจำเลยเดินทางมาถึงประมาณ 10.00น. 

10.10 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา บัณฑิตขออนุญาตศาลชี้แจงเรื่องบางประการ โดยขอให้พิจารณาเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปสามเดือนเพราะจำเลยกำลังอยู่ระหว่างการรักษาตัว

ศาลชี้แจงกับบัณฑิตว่า การจะเลื่อนการอ่านคำพิพากษานั้นทำได้ แต่ต้องทำภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมาย กรณีที่เลื่อนเพราะป่วยต้องเป็นกรณีที่จำเลยป่วยจนไม่สามารถมาศาลได้เท่านั้น หลังจากชี้แจงกับบัณฑิต ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา

ศาลพิพากษาแก้ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละสองปีรวมสองกระทงสี่ปี แต่ให้รอลงอาญามีกำหนดสามปีและให้คุมประพฤติ โดยให้จำเลยมารายงานตัวทุกสามเดือน   

 
 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นตัดสินว่านายบัณฑิตมีความผิดตาม ปอ.ม.112 ประกอบด้วย ม.65 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ปอ.ม.91 จำเลยกระทำผิดรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี เห็นว่า จำเลยอายุ 64 ปี ป่วยด้วยโรคจิตเภทและไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติ และเป็นพลเมืองดีต่อไป ให้คุมประพฤติโดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติและไปบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตโดยรายงานผลการรักษาต่อพนักงานควบคุมความประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งภายในระยะเวลา 2 ปี

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและบังคับตนเองได้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ข้อความในข้อเขียนและคำพูดตามเอกสารถอดเทปคำพูดของจำเลยทั้งหมดแล้วปรากฏอย่างชัดเจนว่า ข้อความทุกข้อและทุกตอนดังกล่าว เป็นข้อความที่คนทั่วไปอ่านหรือรับฟังแล้ว สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด ไม่ปรากฏให้เห็นว่า อ่านแล้วไม่เข้าใจข้อความใด หรือเป็นการเขียนแบบสติเลอะเลือน  นอกจากนี้ข้อความเกือบทุกข้อและทุกตอนดังกล่าว  เป็นข้อความที่สอดคล้องกันเป็นเอกภาพ และมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันโดยชัดแจ้ง คือ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอยู่เหนือสถาบันต่างๆ รวมทั้งกล่าวหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ในลักษณะเสียดสีว่า เอารัดเอาเปรียบประชาชน เหยียดหยามคุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนและอื่นๆ ดังนั้น จึงเชื่อได้แน่ชัดว่า ขณะที่จำเลยเขียนหรือกล่าวข้อความดังกล่าว  จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมด ฉะนั้น จึงไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากจำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าได้เขียนและกล่าวข้อความตามฟ้องจริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก2 ปี 8 เดือน ไม่รอการลงโทษและไม่ควบคุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สรุปคำพิพากษาฎีกา 

ข้อเท็จจริงที่จำเลยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาตร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นยุติ โดยที่คู่ความไม่โต้แย้งในชั้นฎีกา

ปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำผิดขณะที่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดีหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยมีพยานที่เป็นแพทย์มาเบิกความ ยืนยันว่า จากการตรวจสอบทางการแพทย์พบว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิตเรื้อรัง โดยป่วยมาตั้งแต่อายุ34ปี การกระทำผิดจึงเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยมีอาการป่วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยจำเลยกระทำผิดในขณะที่รับรู้ผิดชอบชั่วดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

สำหรับปัญหาที่ว่าสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ขณะกระทำความทำผิดจำเลยมีอาการป่วยทางจิต สมควรได้รับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำเลยมีอายุมาก ไม่เคยทำผิดหรือต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่สมควรรอลงอาญานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละสองปีรวมสองกระทงสี่ปี แต่ให้รอลงอาญามีกำหนดสามปีและให้คุมประพฤติ โดยให้จำเลยมารายงานตัวทุกสามเดือน ทั้งนี้คำพิพากษาฎีกาออกมาหลังครบกำหนดการรอลงอาญาและการคุมประพฤติแล้ว   

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา