ทอม ดันดี: ปราศรัยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คดีที่่สอง

อัปเดตล่าสุด: 06/08/2562

ผู้ต้องหา

ธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ขณะที่ธานัทหรือ "ทอม ดันดี" ศิลปินและนักกิจกรรมเสื้อแดงถูกควบคุมตัวระหว่างถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่อัยการทหารเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลทหาร เขาก็ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯเพิ่มอีกหนึ่งคดี

ในคดีที่ 2 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องธานัทต่อศาลอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 และตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากคลิปปราศรัยที่เผยแพร่บนยูทูปในเวลาใกล้เคียงกับคลิปที่เป็นเหตุแห่งคดีแรกซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร ในการสอบคำให้การ 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

"ทอม ดันดี" หรือ ธานัท ธนวัชรนนท์ เป็นชาว อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

สำหรับชื่อ "ทอม ดันดี" เป็นชื่อที่คนทั่วไปรู้จักในฐานะศิลปิน ก่อนถูกจับเขามีอาชีพเป็นชาวสวนปลูกไผ่ขาย

ช่วงที่การเมืองไทยทวีความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ขึ้นเวทีปราศรัยทั้งของ นปช.และเวทีย่อยต่างๆ ที่จัดโดยคนเสื้อแดงกลุ่มอิสระมากมายหลายกลุ่ม

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ธานัทถูกควบคุมตัว 2 ครั้ง ครั้งแรกกรณีไม่รายงานตัวตามประกาศ คสช. เขาถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

หนึ่งเดือนถัดมา ธานัทถูกเจ้าหน้าที่บุกควบคุมตัวอีกครั้งที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 

ในเดือนตุลาคม 2558 ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 112 คดี คดีแรก พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องธานัทในคดี 112 ต่อศาลอาญาในคดีนี้เป็นคดีที่ 2 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องคดี112 ของธานัทคดีที่ 2 สรุปความได้ว่า ธานัทกล่าวปราศรัยในการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 เนื้อหาของการปราศรัยหลายตอน มีลักษณะเป็นการกล่าวความเท็จ ใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ไทยและพระราชินี โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนผู้ได้รับฟังโกรธแค้น และเกลียดชัง พระมหากษัตริย์ และพระราชินี

นอกจากนี้จำเลยและพวกยังมีพฤติการณ์ทำงานเป็นขบวนการในการปราศรัย บันทึกการปราศรัยและนำวิดีโอคลิปที่บันทึกเผยแพร่ลงในอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ ระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2557 พฤติการณ์ของจำเลย เข้าข่ายเป็นความผิดฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 9 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (บก.ปอท.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมประมาณ 20 นายทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าจับกุมธานัทที่บ้านพักใน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 

ขณะที่มีการฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ธานัทถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างสู้คดีปราศรัยหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อีกคดีหนึ่งที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.3475/2558

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
8 มิถุนายน 2557 
 
เวลาประมาณ 21.00 น. คสช.เผยแพร่คำสั่งฉบับที่ 53/2557 ผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ ให้บุคคลไปรายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00-12.00 น. ซึ่งคำสั่งฉบับดังกล่าวมีชื่อของธานัทอยู่ด้วย
 
9 มิถุนายน 2557
 
ภรรยาของธานัทโทรแจ้งกับทางทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า จะเข้าไปรายงานตัวในช่วงเย็นของวันเดียวกัน เนื่องจากธานัทเพิ่งทราบว่าตนถูกเรียกให้ไปรายงานตัวในวันนี้ 
 
เวลาประมาณ 15.00 น. ขณะธานัทเดินทางกลับมาจากป่าเพื่อเก็บหน่อไม้ไปส่ง ทหารและตำรวจได้เข้าจับกุมขณะขับรถ เนื่องจากคาดว่าจะหลบหนี
 
12 มิถุนายน 2557
 
พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ควบคุมตัวธานัท มาส่งให้พนักงานสอบสวนที่กองปราบปรามเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยมี พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. มาคอยรับตัว และถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองปราบปรามสองคืน
 
14 มิถุนายน 2557
 
เวลาประมาณ 11.00 น. ธานัทถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ควบคุมตัวจากกองปราบฯ ไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อขอฝากขัง  ขณะที่นักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฯ หลักประกัน 20,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัว
 
9 กรกฎาคม 2557
 
เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (บก.ปอท.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมประมาณ 20 นายทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าจับกุมธานัทที่บ้านพักในอ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิด มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผบก.ปอท. ร่วมกันแถลงการจับกุมตัว ธานัท ตามหมายจับของศาลอาญาและศาลทหารกรุงเทพ ในฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 
 
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากการเผยแพร่คลิปลงในเว็บไซต์ยูทูป ซึ่งมีการปราศรัยของธานัท คลิปแรกปราศรัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ที่เรดการ์ดเรดิโอ ส่วนคลิปที่สอง ปราศรัยวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 บริเวณวงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพฯ
 
10 กรกฎาคม 2557 
 
คม ชัด ลึก ออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่จาก ปอท. ควบคุมตัวธานัทมาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขอฝากขังผลัดแรก เนื่องจากฐานความผิดเพิ่มเติมเรื่องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และความผิดตามมาตรา 112 แม้ก่อนหน้านี้ศาลจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในฐานความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีไม่เข้ารายงานตัวมาแล้ว
 
ทนายความของธานัท ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้จะยังไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากต้องรอหลักทรัพย์ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายเนื่องจากการกระทำตามข้อกล่าวหา เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศเขตอำนาจศาลทหารเหนือคดีพลเรือนบางประเภท ธานัทจึงถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
19 ตุลาคม 2558
 
ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในคดี 112 คดีแรกที่ฟ้องต่อศาลทหาร พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 สั่งฟ้องธานัทในคดี 112 อีกหนึ่งคดีต่อศาลอาญา ดูสรุปคำฟ้องที่ "รายละเอียดการกระทำตามข้อกล่าวหา"
 
20 ตุลาคม 2558
 
นัดสอบคำให้การ
 
เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ในเวลา 9.30 น. ศาลอาญารัชดาเบิกตัวธานัทไปสอบคำให้การคดี 112 คดีที่ 2 โดยกระบวนพิจารณาเกิดขึ้นในห้องผู้พิพากษาเวรชี้ ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามที่คนทั่วไปจะเข้าไปสังเกตการณ์ไม่ได้ 
 
มีรายงานภายหลังว่า หลังศาลอ่านบรรยายฟ้อง ธานัทแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอสู้คดี ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้วันที่ 25 มกราคม 2559

25 มกราคม 2559

ศาลอาญา รัชดา นัดตรวจพยานหลักฐาน เวลา 8.30 น.

ที่ห้องพิจารณาคดี 912 เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลอ่านคำฟ้องและถามคำให้การจำเลย ธานัทยืนยันให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อัยการโจทก์จึงแถลงขอสืบพยาน 16 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยขอสืบพยาน 4 ปาก โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 

30 พฤษภาคม 2559

นัดตรวจความพร้อมคู่ความ

ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา ศาลนัดอัยการและธานัทตรวจความพร้อม วันนี้บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีค่อนข้างคึกคักเพราะมีผู้มาร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีประมาณสิบคนโดยมีภรรยาและน้องชายของธานัทรวมอยู่ด้วย

ในเวลาประมาณ 10.30 น. ศาลถามธานัทว่าจะให้การอย่างไร ธานัทลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่าขอให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาพร้อมทั้งขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้ให้จบโดยเร็วและขอให้ศาลเมตตาลงโทษสถานเบา

เบื้องต้นศาลแจ้งธานัทว่าจะพิพากษาในวันนี้เลย แต่เนื่องจากต้องรอสำนวนจากอัยการและจำเลยขอให้ลงโทษสถานเบาศาลบอกให้ธานัททำคำร้องประกอบคำรับสารภาพยื่นเข้ามาและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เวลา 10.00 น.  

1 มิถุนายน 2559

ศาลอาญานัดธานัทฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณา 912 ในเวลา 10.00 น. ตั้งแต่ก่อนเวลานัดมีผู้สื่อข่าวและเพื่อนๆของธานัทเข้ามารออยู่ในห้องพิจารณาคดีประมาณ 10 ถึง 15 คน ขณะที่ธานัทถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.30 น. ก่อนหน้าศาลขึ้นบัลลังก์ไม่นาน
 
ก่อนเริ่มอ่านคำตัดสิน ศาลสอบถามต่อธานัทว่า ยังยืนยันที่จะร้องเพลงปรองดองและร่วมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติตามคำแถลงประกอบคำรับสารภาพหรือไม่ ธานัทแถลงต่อศาลว่ายืนยันตามที่ได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพไว้ ศาลจึงขอให้ผู้มาร่วมฟังคำพิพากษาในวันนี้ร่วมเป็นพยาน หลังจากให้ธานัทยืนยันคำสัญญาตามคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ศาลก็เริ่มกระบวนการพิพากษาโดยการอธิบายจำนวนกระทงความผิดและอัตราโทษให้ธานัทฟังโดยไม่มีการคำพิพากษาที่เป็นเอกสารให้จำเลยฟัง
 
เบื้องต้นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอธิบายว่า เบื้องต้นต้องการแบ่งความผิดออกเป็นห้ากรรม ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์สามกรรม หมิ่นประมาทพระราชินีหนึ่งกรรมอีกหนึ่งกรรมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯกับความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการอัพโหลดวิดีโอคลิปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่จากการปรึกษากับอธิบดีและรองอธิบดีศาลอาญา ทั้งสองท่านให้ความเห็นว่าการกล่าวข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์รวมสามกรรมเป็นการกระทำต่อเนื่องกันจึงนับเป็นความผิดหนึ่งกรรม
 
ศาลพิพากษาว่าธานัทมีความผิดรวมสามกรรม ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการปราศรัยหนึ่งกรรม ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินีจากการปราศรัยหนึ่งกรรม และความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯกับความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หนึ่งกรรมจากการนำวิดีโอคลิปเข้าสู่เว็บไซต์ยูทูปอีกหนึ่งกรรม ลงโทษจำคุกกรรมละห้าปี รวม 15 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุกเจ็ดปีหกเดือน
 
มีข้อน่าสังเกตว่า แม้ว่าตามฟ้องการปราศรัยและการอัพโหลดวิดีโอคลิปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จะเกิดขึ้นในวันเดียวกัน แต่ศาลสันนิษฐานว่า ไม่ได้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์จะพูดต่อเนื่องห้าถึงหกชั่วโมงไม่ได้ ศาลถามธานัทด้วยว่า ในวันที่ปราศรัยได้หยุดพักและมีคอนเสิร์ตคั่นก่อนจะกลับมาพูดต่อใช่หรือไม่ ธานัทตอบว่า ปกติคอนเสิร์ตจะอยู่ช่วงท้ายอย่างเดียว นอกจากนี้ศาลก็ยอมรับว่าไม่ได้ดูวิดีโอคลิปการปราศรัยซึ่งเป็นหลักฐานในคดีเพราะเปิดดูไม่ได้
 
สำหรับที่ธานัทร้องขอว่าให้ลงโทษสถานเบา ศาลเห็นว่าโทษที่วางห้าปีต่อความผิดหนึ่งกรรมเป็นโทษที่เหมาะสมแล้ว เพราะมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกต่อการกระทำหนึ่งกรรมตั้งแต่สามถึง 15 ปี ในคดีนี้ศาลไม่ได้วางโทษ 15 ปี เพราะเห็นว่าหนักเกินไป แต่ก็ไม่ได้วางโทษสามปีเพราะเห็นว่าเนื้อหาตามฟ้องมีความรุนแรงและไม่สามารถนำมาเปิดเผยต่อบุคคลอื่นในห้องพิจารณาได้    
 
ศาลกำชับธานัทด้วยว่า หากพ้นโทษให้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในคำร้องประกอบคำรับสารภาพด้วย แต่ตอนนี้ให้ช่วยกิจการของราชทัณฑ์ไปก่อน
 
หลังฟังคำพิพากษา ธานัทเปิดใจว่า ไม่คาดคิดมาก่อนว่าคำพิพากษาจะลงโทษหนักขนาดนี้เพราะตอนแรกก็มองว่าคดีนี้เป็นกรรมเดียว แต่เมื่อศาลพิพากษาแล้วก็ยอมรับ ที่ผ่านมาก็ได้ต่อสู้อย่างเต็มที่แล้ว แต่ไปได้ไกลที่สุดเท่านี้ ถึงวันนี้อีกคดีหนึ่งที่ถูกฟ้องในศาลทหารก็ตั้งใจจะรับสารภาพเช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องการร้องเพลงและการปลูกป่าก็เป็นกิจกรรมที่ทำอยู่แล้วก่อนหน้าจะถูกดำเนินคดี
 
อนึ่ง ธานัทยืนยันว่าจะไม่ต่อสู้ในทางคดีด้วยการขออุทธรณ์แล้ว
 
26 สิงหาคม 2559
 
ภรรยาธานัทแจ้งว่า ได้รับแจ้งจากทนายของธานัทว่า อัยการยื่นขอขยายเวลาอุทธรณ์คดีไปถึง 1 กันยายน 2559 
 
มีข้อมูลในภายหลังว่าอัยการไม่อุทธรณ์คดี คดีจึงเป็นอันสิ้นสุด 
 
17 กรกฎาคม 2562
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ธานัทได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพแล้ว ธานัทถูกศาลพิพากษาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมสองคดีและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาสิบปีสิบเดือน 
 
เนื่องจากธานัทเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม เมื่อการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2562 เขาจึงได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่งจากจำคุกสิบปีสิบเดือน เหลือจำคุกห้าปีห้าเดือน 
 
เนื่องจากธานัทรับโทษมาแล้วห้าปีแปดวัน เขาจึงเหลือเวลารับโทษอีกไม่เกินหนึ่งปี จึงเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการปล่อยตัว

 

 
 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา