ปรีชา: มอบดอกไม้ให้พันธ์ศักดิ์

อัปเดตล่าสุด: 06/08/2562

ผู้ต้องหา

ปรีชา

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ปรีชา ถูกจับกุมในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากการร่วมสังเกตการณ์และมอบดอกไม้ให้ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ขณะเดินเท้าในกิจกรรม 'พลเมืองรุกเดิน' เพื่อเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับพลเรือนที่ศาลทหาร 
 
การจับกุมเกิดขึ้นขณะปรีชากำลังเดินทางออกนอกประเทศไปเที่ยวประเทศลาว โดยไม่ทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับ
 
เมื่อส่งฟ้องต่อศาล คดีนี้ต้องพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ อัยการทหารยื่นฟ้องเพียงข้อหา "ชุมนุมเกินห้าคน" ไม่ฟ้องด้วยมาตรา 116 เมื่อขึ้นศาลปรีชาปรึกษาทนายความแล้วเห็นว่า คดีมีโทษไม่สูง และไม่ต้องการสู้คดีเป็นเวลานาน จึงตัดสินใจรับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลาหกเดือนและปรับเป็นเงิน 8,000 บาท ตามคำสั่งสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก สามเดือนปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปรีชา เป็นข้าราชการบำนาญ อายุ 77 ปี เป็นคนที่สนใจการเมือง เคยเข้าร่วมการชุมนุมโดยไปฟังปราศรัยบ้างเป็นครั้งคราว

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 พันศักดิ์ ศรีเทพ ทำกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน รณรงค์คัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร" ปรีชา ซึ่งไปร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมอยู่ที่บริเวณร้านอาหารเมธาวลัย ศรแดง ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้นำดอกไม้ดอกไม้และถุงอาหารมามอบให้พันธ์ศักดิ์ และเดินตามพันธ์ศักดิ์ไปจนถึงลานปรีดี ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 
 
ทนายจำเลยให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ ประชาไท ภายหลังว่า ระหว่างที่ปรีชาสังเกตการณ์อยู่ มีสายสืบจากสน.ชนะสงคราม เข้ามาพูดคุยเพื่อให้ปรีชายอมบอกหมายเลขโทรศัพท์
 
ศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับปรีชาในภายหลัง ภายใต้ข้อกล่าวหาว่า ร่วมชุมนุมเกิน 5 คน และยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนฝ่าฝืนกฎหมาย
 

พฤติการณ์การจับกุม

เวลาประมาณ 17.30 น. ของวันที่ 24 ตุลาคม 2558 ปรีชาถูกจับกุมตัว ขณะกำลังจะข้ามไปเที่ยวประเทศลาว ระหว่างการตรวจหนังสือเดินทางที่ท่าเรือหิรัญนคร อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่พบว่า ปรีชาเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารที่ ก.49/2558 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2558 ซึ่งระบุข้อกล่าวหา กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง 
 
ปรีชาถูกควบคุมตัวที่สภ.อ.เชียงแสนเป็นเวลา 1 คืน ก่อนจะถูกนำตัวมาที่กรุงเทพด้วยเครื่องบินในวันที่ 25 ตุลาคม 2558 เพื่อส่งตัวต่อให้พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุ 
 
ปรีชาถูกสอบสวนและควบคุมตัวที่สน.ชนะสงครามหนึ่งคืนก่อนจะถูกส่งตัวไปศาลทหารเพื่อฝากขังในวันที่ 26 ตุลาคม 2558

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

264ก./2558

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดูรายละเอียดคดีพันธ์ศักดิ์: พลเมืองรุกเดิน ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/662

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
15 มีนาคม 2558 
 
วันที่ 2 ของกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน เมื่อพันธ์ศักดิ์เดินมาถึงหน้าร้านอาหารเมธาวลัย ศรแดง มีคนนำดอกไม้มามอบให้พันธ์ศักดิ์ มีคนชวนปรีชาซึ่งยืนสังเกตการณ์อยู่บริเวณนั้นให้ร่วมมอบดอกไม้ด้วย ปรีชาจึงมอบดอกกุหลาบสีแดงพร้อมถุงอาหารให้พันธ์ศักดิ์ และเดินตามพันธ์ศักดิ์ไปจนถึงลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นมีสายสืบจากสน.ชนะสงคราม เข้ามาพูดคุยให้ปรีชายอมบอกเบอร์โทรศัพท์
 
24 ตุลาคม 2558
 
เวลาประมาณ 17.30 น. ที่ท่าเรือหิรัญนคร อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ขณะที่ปรีชาจะข้ามไปเที่ยวประเทศลาว เขาถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจับกุม เนื่องจากมีหมายจับแสดงขึ้นมาในฐานข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ระหว่างที่กำลังตรวจหนังสือเดินทางของปรีชา
 
25 ตุลาคม 2558
 
ปรีชาถูกนำตัวจากเชียงรายมาสอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม และถูกควบคุมตัวไว้ 1 คืน ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ปรีชาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 
 
26 ตุลาคม 2558
 
พนักงานสอบสวนนำตัวปรีชาไปฝากขังที่ศาลทหาร โดยในคำร้องฝากขังระบุว่า พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้สอบสวนจะครบกำหนด 48 ชั่วโมงแล้ว แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบปากคำพยาน 7 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหา จึงขอฝากขังผู้ต้องหากับศาลทหาร มีกำหนด 12 วัน นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 
 
ระหว่างที่ปรีชาถูกฝากขังต่อศาลทหาร ทนายจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) เข้าให้ความช่วยเหลือปรีชา ในการขอประกันตัว โดยมีการโพสต์ในเฟซบุ๊กของกลุ่มว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ทนายจาก กนส. ได้ยื่นคำร้องขอให้ศา่ลทหารกรุงเทพปล่อยตัวปรีชาชั่วคราว ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวในเวลา 14.00 น.โดยตีราคาหลักประกัน 150,000 บาท แต่ญาติของปรีชาใช้สลากออมสินมูลค่า 500,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน 
 
11 ธันวาคม 2558 
 
นัดส่งฟ้อง
 
อัยการทหารนัดปรีชาส่งฟ้องต่อศาลทหาร ปรีชาได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เดิมในวันเดียวกันแต่เขาถูกส่งตัวไปปล่อยที่เรือนจำทำให้ปรีชาต้องเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่สอง ในคำฟ้องของอัยการทหารปรากฎว่า ปรีชาถูกดำเนินคดีเฉพาะความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น แต่ไม่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปได้ว่า
 
จำเลยเป็นบุคคลพลเรือน ได้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกินห้าคน ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยในวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลากลางวัน ซึ่งเป็นวันและเวลาที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยร่วมชุมนุมกับพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพซึ่งถูกดำเนินคดีเป็นคดีหมายเลขดำที่ 174ก./2558  กับพวกอีกห้าคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องต่อศาล ที่บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจของคสช. โดยมีประชาชนมาร่วมชุมนุมกับจำเลยประมาณ 20 คน เป็นการขัดต่อประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ทั้งที่จำเลยก็ทราบถึงประกาศดังกล่าวอยู่แล้ว    
 
23 พฤษภาคม 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารนัดปรีชาสอบคำให้การในเวลา 8.30 น. แต่กระบวนการพิจารณาเริ่มขึ้นในเวลาเกือบ 11.00 น. เนื่องจากทนายจำเลยต้องเตรียมเอกสารยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ
 
กระบวนพิจารณาคดีของปรีชาที่ห้องพิจารณาคดีหนึ่งเริ่มในเวลาประมาณ 11.00 น. ศาลอ่านคำฟ้องให้ปรีชาฟังพร้อมถามว่าปรีชามีทนายแล้วหรือยังและเข้าใจคำฟ้องหรือไม่ ปรีชาแจ้งศาลว่ามีทนายแล้วและไม่ต้องการให้ศาลตั้งทนายให้ สำหรับคำฟ้องได้รับและเข้าใจฟ้องแล้ว ศาลถามปรีชาว่าจะให้การอย่างไร ปรีชาตอบศาลว่าให้การรับสารภาพ
 
ศาลบอกกับคู่ความว่า อัยการขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอให้เติมคำว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนคดีนี้เข้าไปด้วย ฝ่ายจำเลยไม่ค้าน ศาลจึงให้เซ็นชื่อไว้เป็นหลักฐาน ศาลถามปรีชาต่อว่าตามที่ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพจะยืนยันตามนั้นใช่หรือไม่ ปรีชารับว่าใช่ ศาลถามอัยการว่าจะคัดค้านคำร้องของจำเลยหรือไม่ อัยการตอบศาลว่า หากจำเลยตัดข้อความในคำร้องที่ระบุว่าทำความผิดไปด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาออกจะไม่คัดค้านคำร้อง ฝ่ายจำเลยยินยอมตัดอัยการทหารจึงแถลงไม่คัดค้านและแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
 
หลังคู่ความไม่ติดใจคำร้องประกอบคำรับสารภาพและไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจึงอ่านกระบวนพิจารณาให้คู่ความฟังและอ่านคำพิพากษาทันทีโดยพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกสามเดือนปรับ 4,000 บาท และให้รอการลงโทษจำคุกนับจากวันพิพากษาเป็นเวลาหนึ่งปี
 
หลังศาลมีคำพิพากษา วิญญัติ ชาติมนตรี จากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากคดีนี้อัยการฟ้องปรีชาในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เท่านั้น ทนายจึงปรึกษาแนวทางคดีกับปรีชาซึ่งปรีชาก็ยินดีรับสารภาพเพราะคดีนี้เป็นคดีที่โทษน้อยและการสู้คดีจะเป็นภาระกับปรีชาอย่างมาก ขณะเดียวกัยปรีชาก็ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า ขอขอบคุณศาลที่ให้ความเมตตา เพราะตอนนี้ตนเองอายุมากแล้วและมีโรคประจำตัว ล่าสุดก็พึ่งทำบายพาสหัวใจไปสองเส้น 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษา

ข้อเท็จจริงจากฝ่ายโจทก์และจำเลยฟังได้ว่า ในวันที่ที่ 15 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่มีการบังคับใช้ประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน จำเลยร่วมชุมนุมกับพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และประชาชนอีกประมาณ 20 คน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อต่อต้านการใช้อำนาจของคสช. จำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยจึงมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557

ขณะที่มีการพิจารณาคดีนี้ มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งบัญญัติโทษผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปน้อยกว่าประกาศฉบับที่ 7/2557 ซึ่งเป็นคุณกับจำเลย จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลาหกเดือนและปรับเป็นเงิน 8,000 บาทตามคำสั่งสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก สามเดือนปรับ 4,000 บาท

ตามที่จำเลยยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพขอให้รอการลงโทษ เห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงเกินสมควร จึงเห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้ก่อนเพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวอันเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยและสังคมโดยรวม ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดหนึ่งปีนับจากศาลมีคำพิพากษา และให้จำเลยชำระค่าปรับ

 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา