นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์

อัปเดตล่าสุด: 18/02/2562

ผู้ต้องหา

สิรวิชญ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ

สารบัญ

นักกิจกรรม 11 คน นำโดยสิรวิชญ์ ที่ทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ส่องกลโกง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ก่อนรถไฟจะถูกเจ้าหน้าที่สกัดที่สถานีรถไฟบ้านโป่งและควบคุมผู้ร่วมกิจกรรม ต่อมาพวกเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องชุมนุมฝ่าฝืนฯ
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ นิว  ภูมิลำเนาเดิมมาจากจังหวัดนครราชสีมา เคยศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมัยอยู่ชั้นปี 1-2 เคยทำงานอยู่ในสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่ต่อมาจะได้เข้าร่วมกลุ่มสภาหน้าโดม เคยเป็นแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องค่าอาหารของโรงอาหารกลางที่สูงเกินไป
 
เคยลงสมัครชิงตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ได้รับเลือก ทั้งยังเคยเข้าร่วมขบวนพาเหรดล้อการเมือง ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ปี 2558 
 
อานนท์ นำภา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา และทำงานเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในคดีการเมืองหลายคดี
 
วิศรุต เป็นนักกิจกรรมทางสังคม เคยทำกิจกรรมและถูกควบคุมตัวจากการทำกิจกรรมกินแซนด์วิชต้านรัฐประหารที่สยามพารากอน
 
กรกนก เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 
 
ชนกนันท์ เป็นบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่
 
อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ หรือ หนุ่ย อดีตนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสมาชิกกลุ่มลุ่มเสรีนนทรีเกษตรศาสตร์ ก่อนหน้านี้เคยทำกิจกรรมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ คัดค้านเขื่อนแม่วงศ์ รวมทั้งเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐ ต่อกรณีการหายตัวของ "บิลลี"นักสิทธิของคนชาติพันธุ์ และต่อมาเข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

จำเลยทั้งสิบเอ็ดในคดีร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยการนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง

พฤติการณ์การจับกุม

ในวันที่ 7 ธันวาคม 2558 เวลา 10.00 น.หลังกลุ่มนักกิจกรรมเดินทางด้วยรถไฟถึงสถานีรถไฟบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี  เจ้าหน้าที่ทำการตัดโบกี้ตู้รถไฟที่สิรวิชญ์และแกนนำคนอื่นๆโดยสารออกจากขบวนหลัก หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 10.30 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวกลุ่มนักศึกษา พร้อมประชาชนที่เดินทางมาด้วยลงจากรถไฟ ก่อนคุมตัวเข้าไปในห้องประชุมของสถานีรถไฟ
 
ต่อมาในเวลาประมาณ 11.15 น. เจ้าหน้าที่ทหารนำรถบัสโดยสารมาจอดเตรียมไว้ที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง มีนักกิจกรรมและประชาชนรวมทั้งหมด 38 คนถูกควบคุมตัวไปขึ้นรถบัสรวมสองคัน แต่ไม่มีการแจ้งว่าทั้งหมดจะถูกพาตัวไปที่ใด
 
ในเวลาประมาณ 12.30 รถบัสคันแรกเดินทางไปถึงที่กองบัญชาการควบคุม กองพลทหารราบที่เก้าซึ่งตั้งขึ้นในอาคารสำนักงานพระพุทธมณฑลส่วนคันที่สองจะเดินทางไปถึงในเวลาประมาณ 14.30 น. มีรายงานในภายหลังว่าการสอบประวัติผู้ถูกควบคุมตัวเริ่มในเวลาประมาณ 16.30 น. โดยที่ทนายความและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองที่เดินทางมาเพื่อร่วมฟังการสอบประวัติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องควบคุม

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยภายหลังว่าในจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 38 คน มีทนายและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯรวมอยู่ด้วยสามคน
 
ในเวลาประมาณ 17.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟส่วนหนึ่งขึ้นรถบัสและแจ้งว่าจะนำไปปล่อยตัวที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย โดยผู้ที่จะได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดยินยอมเซ็นเงื่อนไขที่จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีก 19 คน ที่ไม่ยอมเซ็นข้อตกลงยังถูกควบคุมตัวภายในพุทธมณฑล ในเวลาประมาณ 21.00 น. มีรายงานว่าผู้ควบคุมตัวทั้ง 19 คนที่ไม่ยอมเซ็นเงื่อนไขได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องเซ็นเอกสารและไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา 
 
แม้ในวันที่ 7ธันวาคม 2558 จะไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับคนที่ถูกควบคุมตัวจากการร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์แม้แต่คนเดียว แต่ในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 มีรายงานว่า ชนกนันท์ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวระหว่างทำกิจกรรมนั่งรถไฟ ได้รับหมายเรียกให้ไปพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรีเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน
 
นอกจากชนกนันท์ยังมีบุคคลอื่นอีกสิบคนที่ถูกออกหมายเรียกคือ สิรวิชญ์, อานนท์ นำภา, ชลธิชา, ธเนตร, กิติธัช, วิศรุต, อภิสิทธิ์, กรกช, กรกนก, และวิจิตร โดยหมายเรียกระบุว่าผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีคือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ และนัดหมายให้บุคคลทั้ง 11 เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 22 ธันวาคม 2558   
 
ในเวลาต่อมา ผู้ต้องหาบางส่วนได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาโดยระบุว่าการแจ้งของพนักงานสอบสวนเป็นการแจ้งที่กระชั้นชิด พนักงานสอบสวนกำหนดจึงนัดวันใหม่เป็นวันที่ 29 ธันวาคม 2558 เมื่อถึงวันนัด ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นทนายให้ผู้ต้องหาสิบคนยกเว้นวิจิตร ขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาของผู้ต้องหาเก้าคนออกไปเนื่องจากผู้ต้องหาบางรายต้องไปต่างประเทศและบางรายมีภาระกิจอื่น
 
พนักงานสอบสวนอนุญาตให้เลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปเป็นวันที่ 8 มกราคม 2559 ขณะเดียวกันมีผู้ต้องหาสองรายคือวิจิตรที่มาพร้อมทนายส่วนตัวกับกิตติธัชไม่ขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาจึงเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 29ธันวาคม 
 
ในวันที่ 8 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 10.00 น. อานนท์และกรกรนกเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัดและให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังจากนั้นในช่วงบ่ายวิศรุตผู้ร่วมกิจกรรมที่ออกหมายเรียกอีกคนหนึ่งก็เข้ารายงานตัว ในบ่ายวันเดียวกันผู้ต้องหาอีกห้าคนได้แก่ สิรวิชญ์, ชนกนันท์, อภิสิทธิ์, ชลธิชา และกรกช นักกิจกรรมอีกห้าคนที่ถูกออกหมายเรียกต่างก็มาที่สน.ด้วยแต่ไม่เข้ารายงานตัวกับตำรวจ 
 
วันที่ 13 มกราคม 2559 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรีขอให้ศาลทหารกรุงเทพอนุมัติหมายจับ สิรวิชญ์, ชนกนันท์, อภิสิทธิ์, ชลธิชา และกรกช ซึ่งไม่เข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามนัด
 
ต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559  สิรวิชญ์หนึ่งในผู้มีรายชื่อในหมายจับถูกจับกุมตัวที่สนามกีฬาแห่งชาติระหว่างไปชมฟุตบอลประเพณีจุฬา – ธรรมศาสตร์ 

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาประกบสิรวิชญ์จะทำการจับกุม สิรวิชญ์บอกทหารว่าหากไม่มีหมายจะไม่ให้จับ ในเวลาต่อมามีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบนำหมายจับมาแสดง สิรวิชญ์จึงถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจรถไฟ  
 
สิรวิชญ์ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจรถไฟตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงเวลาประมาณ 23.30 น. เจ้าหน้าที่จึงให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วยเงินสด 10,000 บาท 
 
ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 กรกช หนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับจากคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ถูกอายัตตัวมาดำเนินคดี หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 กรกช ไปแจกใบปลิวรณรงค์โหวตโนในการออกเสียงประชามติที่เคหะบางพลี เขาและพวกอีกสิบสามคนถูกจับในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติและถูกควบคุมตัวในสถานีตำรวชเป็นเวลาหนึ่งคืนก่อนถูกนำตัวมาฝากขังกับศาลทหารในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 กรกชเป็นหนึ่งในเจ็ดผู้ต้องหาที่ไม่ขอประกันตัว เขาถูกฝากขังเป็นเวลา 12 วัน 
 
ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 กรกชและพวกได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังศาลทหรากรุงเทพไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อเป็นผลัดที่สอง  อย่างไรก็ตามก่อนได้รับการปล่อยตัวกรกชถูกอาญัตตัวโดยเจ้าหน้าที่จากสถานีตำรวจรถไฟธนบุรีเนื่องจากมีชื่ออยู่ในหมายจับคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์
 
อัยการทหารนำตัวกรกชฟ้องต่อศาลทหารในวันเดียวกัน กรกชคัดค้านการควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีเนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกต่ำกว่าสามปีและจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจึงไม่มีเหตุให้ฝากขังระหว่างพิจารณาคดี อย่างไรก็ตามสาลก็สั่งให้ขังกรกชระหว่างการพิจารณาคดีก่อนที่จะอนุญาตให้ประกันตัวในวันเดียวกันโดยวางเงินค้ำประกัน 10,000 บาทและกำหนดเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมือง 
 
ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 ธเนตรเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่่าวหาที่สนานีตำรวจรถไฟธนบุรี ก่อนหน้านี้ในวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ธเนตรถูกจับกุมตัวระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลในคดีตามมาตรา 116 จากการแชร์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 พนักงานสอบสวนนำตัวธเนตรมาที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังในคดีแชร์ผังอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งศาลให้ธเนตรประกันตัวไปด้วยเงินสด 100,000 บาท  
 
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาวันเวลาใดไม่ทราบแน่ชัด ธเนตรเดินทางออกนอกประเทศเพราะมีสื่อรายงานข่าวว่าเขาถูกดำเนินคดี 112 ด้วยจึงรู้สึกไม่ปลอดภัย ธเนตรเดินทางกลับเข้าประเทศอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 และเดินทางเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน ทั้งเจ้าของสำนวนคดีตามมาตรา 116 และคดีนี้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 เมื่อธเนครเข้ารายงานตัวกับพนักงานก็ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วด้วยเงินสด 10,000 บาทเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ  
 
อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 สิงหาคม 2559 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องธเนตร ในวังดังกล่าวธเนตรไม่มีเงินประกันตัวจึงถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ต่อมาในวันที่ 13 กันยายน 2559 สิรวิชญ์ หนึ่งในจำเลยคดีนี้นำเงินสด 20,000 บาทไปขอประกันตัวธเนตรกับศาลทหาร แต่ศาลเห็นว่าธเนตรเคยหลบหนีระหว่างได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัวในครั้งนี้    
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

97/2559

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
7 ธันวาคม 2558 
 
กลุ่มประชาธิปไตยศึกษาจัดกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ โดยรถไฟเคลื่อนออกจากสถานีธนบุรีในช่วงเช้า กระทั่งถึงสถานีบ้านโป่งรถไฟหยุดขบวน นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนถูกทหารควบคุมตัวรวม 36 คน จากสถานีรถไฟ ไปยังพุทธมณฑล  หลายคนถูกบีบให้ยอมรับเงื่อนไขในการปล่อยตัว โดยต้องตกลงที่จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองและไม่เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. แม้ภายหลังทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมร่วม 3 ชั่วโมง แต่หลายคนที่เดินทางไปในกิจกรรมดังกล่าวก็ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน  
 
 8 ธันวาคม 2558  
 
เวลา 14.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สิรวิชญ์ประกาศแถลงข่าว ภายหลังกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาและประชาชนรวม 36 คน ถูกควบคุมตัวขณะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ทว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้แถลงข่าว เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตใช้สถานที่ แต่ยอมให้สิรวิชญ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนได้
 
18 ธันวาคม 2558
 
ประชาไทรายงานว่า ชนกนันท์ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2558 โดยผู้กล่าวหา คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ กล่าวหาผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปราชภักดิ์รวม 11 คน ประกอบด้วย ประกอบด้วย สิรวิชญ์, อานนท์ นำภา, ชลธิชา, ชนกนันท์, ธเนตร, กิติธัช, วิศรุต, อภิสิทธิ์, กรกช, กรกนก, และวิจิตร ในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ สถานที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปฯ และนัดหมายให้ผู้ต้องหาไปรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 ธันวาคม 2558 เวลา 9.00 น. ที่สน.รถไฟธนบุรี
 
ชนกนันท์กล่าวว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบกับกลุ่มเพื่อนทราบว่าในขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับหมายเรียก และยังไม่มีการชี้แจงใดๆ จากเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดว่าเหตุใดจึงมีผู้ต้องหา 11 คน เพราะหากนับจำนวนคนที่ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ประวัติหรือบัตรประชาชนกับเจ้าหน้าที่ในวันที่ถูกควบคุมตัวและสอบสวน ก็มีเพียง 6 คนรวมตัวเธอด้วย ส่วนจะเป็นการออกหมายเรียกบุคคลที่ไม่ยอมเซ็นข้อตกลงทางการเมืองหรือไม่ ก็ยังไม่แน่ชัด เพราะไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่ไม่เซ็นและมีทั้งหมดกี่คน
 
20 ธันวาคม 2558
 
เฟซบุ๊กแฟนเพจ Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว รายงานว่า ประมาณ 13.20 น. สิรวิชญ์เดินทางไปที่สน.รถไฟธนบุรี เพื่อสอบถามถึงหมายเรียกที่ยังไม่ได้รับ ตำรวจจึงให้เซ็นรับหมาย โดยสิรวิชญ์ชี้แจงว่าไม่สามารถมารายงานตัวตามนัดเพราะติดสอบ และจะให้ทนายทำเอกสารแจ้งต่อไป
 
21 ธันวาคม 2558
 
เวลา 13.45 น. ที่ตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สิรวิชญ์และผู้เข้าร่วมกิจกรรม 'ส่องแสงหากลโกง' นัดหมายกับทนายความเพื่อลงชื่อขอเลื่อนนัดเข้าพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ในวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ตามหมายเรียกในความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง โดยมีเหตุผลคือได้รับหมายในระยะเวลากระชั้นชิดและมีกำหนดนัดอื่นไว้ก่อนแล้ว จึงไม่สามารถเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัด และขอเลื่อนนัดเป็นวันที่ 9 มกราคม 2559 เวลา 14.00 น. ขณะที่บางรายยังคงไม่ได้รับหมาย
 
เมื่อทั้ง 11 คนลงชื่อครบถ้วนแล้ว จึงมอบหมายให้ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่เมื่อเดินทางไปถึงสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ปรากฏว่าไม่พบพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวน จึงยื่นเรื่องให้ตำรวจนายหนึ่งรับเรื่องไว้แทน 
 
22 ธันวาคม 2558
 
พนักงานสอบสวนแจ้งว่าไม่อนุญาตให้นักกิจกรรมทั้ง 11 คนเลื่อนเข้ารายงานตัว โดยอ้างว่าหากยอมให้เลื่อนจะนานเกินไป และออกหมายเรียกที่สองให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 29 ธันวาคมที่จะถึงนี้แทน พร้อมทั้งระบุว่า หากไม่ไปรายงานตัวจะดำเนินการออกหมายจับต่อไป
 
29 ธันวาคม 2558 
 
นักกิจกรรมที่ถูกออกหมายเรียกสองราย คือ วิจิตรและกิตธัช เข้ารายงานตัวและพนักงานสอบสวนสอบปากคำ โดยกิตธัชให้การปฏิเสธและจะทำคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 15 มกราคม 2559 ขณะที่วิจิตรปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อ แต่ได้รับแจ้งจากตำรวจว่า วิจิตรให้การปฏิเสธ
 
8 มกราคม 2559 
 
ที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี เวลา 10.00 น. อานนท์ และ กรกนก ซึ่งเป็นสองใน 11 นักกิจกรรม เข้ารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหา โดยทั้งสองให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน และจะทำคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือมายื่นภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559
 
ต่อมาประมาณ 14.00 น. นักกิจกรรมอีกห้าคน ประกอบด้วย สิรวิชญ์, ชนกนันท์, อภิสิทธิ์, ชลธิชา และกรกช มาถึงสถานีตำรวจ พร้อมแสดงจุดยืนไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมที่ คสช. เป็นผู้กำหนด โดยยืนยันไม่เข้ารายงานตัวตามหมายเรียก สำหรับบรรยากาศภายนอกสถานีตำรวจ เต็มไปด้วยสื่อมวลชนและประชาชนกว่า 100 คน ส่วนเจ้าหน้าที่ยังไม่มีท่าทีห้ามปรามการทำกิจกรรม
 
14.30 น. หลังอ่านแถลงการณ์ ประชาชนส่วนหนึ่งเข้ามอบดอกไม้ให้นักกิจกรรม ขณะที่พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ร่วมอ่านบทกวี และกลุ่มดาวดินร่วมร้องเพลงให้กำลังใจ
 
14.40 น. อภิสิทธิ์ หนึ่งในนักกิจกรรม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าคำสั่งคสช.ไม่ใช่กฎหมาย วันนี้มาแสดงตัวว่าไม่หลบหนี แต่ไม่ยอมรับหลักการของ คสช. นอกจากนี้ หลังให้สัมภาษณ์สื่อ กลุ่มนักกิจกรรมได้เปิดตัวหนังสือ ก้าวข้าม ฉบับเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยรางวัลแด่ผู้ตรวจสอบคอร์รัปชั่นภายใต้รัฐประหาร จากนั้นในเวลาประมาณ 15.20 น. วิศรุต หนึ่งใน 11 นักกิจกรรมที่ถูกออกหมายเรียก เข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน สน.ตำรวจรถไฟธนบุรี
 
ขณะนี้สรุปได้ว่า นักกิจกรรมที่ถูกแจ้งข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งคสช.จากกิจกรรมส่องโกงราชภักดิ์ เข้ารายงานตัวห้าคนคน มาที่สน.แต่ไม่รายงานตัวห้าคน และอีกหนึ่งคน คือ ธเนตร ซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วย ไม่ปรากฎตัว
 
14 มกราคม 2559 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุนษยชนรายงานว่า ได้รับทราบจากสิรวิชญ์ว่า สิรวิชญ์ทราบจากยายเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ว่ามีทหารในเครื่องแบบ 5-6 นายเข้าค้นบ้านโดยไม่แสดงหมายค้น แต่อ้างว่าหากบริสุทธิ์ใจต้องให้เข้าค้นได้ ขณะนั้นมียายอยู่ที่บ้านเพียงคนเดียว ยายของสิรวิชญ์ไม่ทราบว่าเป็นทหารจากหน่วยใด แต่คิดว่าไม่ใช่ทหารชุดเดียวกับที่เคยมาเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากไม่คุ้นหน้า
 
ทหารเข้าตรวจค้นที่ห้องของสิรวิชญ์และได้ยึดตั๋วรถไฟที่สิรวิชญ์สะสมไว้พันกว่าใบไป แต่ยังไม่พบว่ามีสิ่งของอย่างอื่นหายไปอีก การตรวจค้นใช้เวลาราว 10-15 นาที นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารยังกล่าวว่า ถ้าสิรวิชญ์ไม่เข้ามอบตัวจะไม่ให้ประกันตัว
 
20 มกราคม 2559 
 
ประมาณ 22.45 น. เฟซบุ๊กกลุ่มประชาธิปไตยใหม่รายงานว่า มีบุคคลแต่งกายคล้ายทหารจำนวนแปดคน เข้าคุมตัวสิรวิชญ์จากด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฝั่งประตูเชียงราก เมื่อเวลา 22.30 น. หลังจากไปรับประทานอาหารกับเพื่อน โดยใช้ยานพาหนะสองคัน ลักษณะเป็นรถกระบะ คันแรกยี่ห้ออีซูซุ สี่ประตู สีเงิน (ไม่ทราบทะเบียน) คันที่สองยี่ห้อโตโยต้า สี่ประตู โดยยังไม่ทราบว่าถูกนำตัวไปสถานที่ใด
 
ขณะที่บีบีซีไทยรายงานว่า ผู้สื่อข่าวบีบีซีติดต่อสิรวิชญ์ไปที่หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเขา แต่ปลายทางระบุว่าโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวไม่มีสัญญาณ และยังไม่สามารถติดต่อทหารหรือตำรวจเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
 
นอกจากนี้ มีรายงานว่า เพื่อนสิรวิชญ์คนที่อัฟรูปให้ข้อมูลว่า ขณะเกิดเหตุเขาเดินเข้าประตูไปก่อน สงสัยว่าทำไมสิรวิชญ์ไม่เดินตามมา จึงหันไปดูและพบว่าถูกอุ้มไปแล้ว ส่วนเพื่อนอีกคนที่ไปด้วยกัน ตอบไม่ได้ว่ารถหันหน้าไปสู่ทางไหน แต่บอกว่ารถสองคันมีทหารคันละสี่คนแต่งเต็มยศ ส่วนป้ายทะเบียนถูกถอดออก
 
21 มกราคม 2559
 
ภายหลังสิรวิชญ์ ถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี เมื่อเวลา 4.20 น. และมีการรอพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเข้าสอบปากคำ
เวลาราว 07.40 น. ร.ต.อ.วัธวัฒน์ ยอดคำ และ ร.ต.ท.แสงเพชร ศิริบูรณ์ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเดินทางมาถึง จึงเริ่มมีการสอบปากคำสิรวิชญ์ โดยเจ้าหน้าที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 
 
สิรวิชญ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะขอให้การเพิ่มเติมในเรื่องพฤติกรรมการจับกุมของเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมจะทำหนังสือคำให้การในรายละเอียดมายื่นต่อพนักงานสอบสวนต่อไป
ในระหว่างการสอบปากคำสิรวิชญ์  สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ได้แก่  ชลธิชา , ชนกนันท์ และ กรกช  เดินทางมาให้กำลังใจที่สถานีตำรวจด้วย ซึ่งทั้งสามยืนยันไม่เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนก่อนหน้านี้
 
ต่อมา เวลา 9.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.รถไฟธนบุรีได้เดินออกมาแสดงหมายจับต่อทั้งสามคน ก่อนนำตัวเข้าไปในห้องสอบสวนในสถานี เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยเจ้าหน้าที่เตรียมนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปขออำนาจฝากขังที่ศาลทหารต่อไป
 
 กระทั่งมีรายงานว่า ศาลทหารได้ยกคำร้องขอฝากขัง 4 นักกิจกรรม พร้อมถอนหมายจับ โดยศาลให้เหตุผลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวต่อไป
 
เวลาประมาณ 15.00 น. อภิสิทธิ์ สมาชิก  กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และผู้มาให้กำลังใจกลุ่มส่องโกงราชภักดิ์ ได้นั่งอยู่บริเวณทางเข้าศาลทหารกรุงเทพ ที่มีรั้วกั้นไม่ให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าไปด้านใน
 
จากนั้น เจ้าหน้าที่ คือ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.สน.ชนะสงคราม ได้แสดงตัวและแสดงหมายจับศาลทหารเข้าจับกุมอภิสิทธิ์ ก่อนจะส่งตัวไปยังสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี เจ้าของคดี ในเวลาประมาณ 16.10 น.
 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจรถไฟธนบุรีแจ้งกับทนายความว่า จะแจ้งข้อหาแล้วปล่อยตัวอภิสิทธิ์โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปรึกษากับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่แล้วได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียด โดยจะควบคุมตัวอภิสิทธิ์ที่สนานีตำรวจรถไฟธนบุรีหนึ่งคืน ก่อนนำตัวไปฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 22 ม.ค. 2559
 
อย่างไรก็ตาม อภิสิทธิ์ยังมีหมายจับของ สน.ปทุมวัน จากกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค. 2558 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรณีที่ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องฝากขัง อภิสิทธิ์อาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส.ปทุมวันขออายัดตัวเพื่อดำเนินคดีต่อได้
 
22 มกราคม 2558
 
พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังผลัดแรก
 
9.00 น. ร.ต.อ.อัษฎายุธ ทองสวรรค์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ได้นำตัวอภิสิทธิ์ไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพในการฝากขังผู้ต้องหา ทั้งที่ในตอนแรกเจ้าหน้าที่มีการระบุว่าจะนำตัวไปรอผลตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน แล้วนำตัวไปฝากขังในช่วงบ่าย 
 
9.45 น. พนักงานสอบสวนพาตัวอภิสิทธิ์มาที่ศาลทหาร โดยไม่รอผลการตรวจร่างกายจากแพทย์ ทั้งนี้ เนื่องจากมีการบอกเล่าว่าเกิดการทำร้ายร่างกายระหว่างควบคุมตัวสิรวิชญ์ หรือ จ่านิว ทำให้นายตำรวจระดับสูงสั่งให้มีการตรวจร่างกายของผู้ต้องหาทุกคน
 
11.40 น. ศาลทหารได้นั่งบัลลังก์  โดยพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องฝากขังอภิสิทธิ์อ้างว่า มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหา เนื่องจากจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานในคดี และยังสอบพยานยังไม่เสร็จสิ้นแต่ได้สอบพยานไปแล้ว 10 กว่าปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา
 
ด้านทนายความของอภิสิทธิ์ได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ออกโดย คสช. ซึ่งได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จึงไม่มีผลบังคับใช้ และไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย
 
นอกจากนี้ ความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ยังเป็นความผิดทางการเมือง เนื่องจาก คสช. ออกคำสั่งมาบังคับใช้เองไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ทั้งยังมีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ ตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21 ที่ว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้
 
คำร้องขอคัดค้านการฝากขังระบุอีกว่า พนักงานสอบสวนได้สอบสวนผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว การสอบสวนในส่วนที่เหลือพนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมตัวย่อมเป็นการควบคุมตัวเกินความจำเป็นในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่สูงและไม่ได้มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน
 
นอกจากนั้นเหตุที่พนักงานสอบสวนขออนุญาตฝากขังอภิสิทธิ์วันนี้เป็นเหตุอ้างเดียวกับคำร้องฝากขังสิรวิชญ์ ชลธิชา ชนกนันท์และะกรกชซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกัน ซึ่งศาลทหารกรุงเทพได้มีคำสังยกคำร้องขอฝากขังไปแล้วก่อนหน้านี้ และอภิสิทธิ์ยังเดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อให้กำลังใจทั้ง 4 คนที่ถูกนำตัวมาฝากขัง จึงเห็นได้ว่าไม่มีพฤติกรรมการหลบซ่อนหรือหลบหนีแต่อย่างใด ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงไม่มีความจำเป็นร้องขอต่อศาลให้ขังอภิสิทธิ์ไว้
 
อย่างไรก็ดี ศาลได้สั่งยกคำร้องฝากขังอภิสิทธิ์ของพนักงานสอบสวน โดยศาลเห็นว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนผู้ต้องหาและพยานจำนวน 10 ปาก เสร็จสิ้นแล้ว ถึงไม่ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวน ให้ยกคำร้องขอฝากขัง และให้เพิกถอนหมายจับที่ 6/2559 ของศาลทหารกรุงเทพฯ เพราะเมื่อจับกุมได้แล้วหมายจับจึงสิ้นผลไป จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ปล่อยตัวอภิสิทธิ์ไป
 
25 เมษายน 2559
 
อัยการทหารมีคำสั่งฟ้อง จำเลยหกคน ได้แก่ สิรวิชญ์,วิจิตร,กรกนก,วิศรุต,อานนท์,และกิตติธัช ในข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จากกรณีร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เมื่อธันวาคมปีที่เเล้ว(2558) 
 
หลังอัยการทหารมีความเห็นสั่งฟ้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวจำเลยทั้งหกออกจากศาลทหารในเวลาประมาณ 14.00 น.เพื่อไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างรอคำสั่งประกันตัว ต่อมาในเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งหกประกันตัวโดยวางเงินประกันคนละ 40,000 บาท จำเลยทั้งหกได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงเย็น
 
15 มิถุนายน 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
เวลา 10.10 น.จำเลยทั้ง 6 คนประกอบด้วยสิรวิชญ์, อานนท์, กรกนก, กิตติธัช, วิศรุตและวิจิตร เดินทางมาพร้อมกันที่ศาลทหารกรุงเทพฯ จากนั้นจึงขึ้นไปที่ชั้น 2 ห้องพิจารณาคดีที่ 5
 
ต่อมาเวลา 11.00 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และเริ่มสอบคำให้การ โดยศาลเริ่มถามสิรวิชญ์ว่า ได้รับสำนวนคำฟ้องหรือยัง สิรวิชญ์แสดงท่าทีลุกลี้ลุกลนก่อนจะตอบว่า ยังไม่ได้ แต่อานนท์ซึ่งยืนอยู่ด้านข้างสิรวิชญ์กระซิบบอกสิรวิชญ์ว่า ได้แล้ว สิรวิชญ์จึงตอบต่อศาลใหม่อีกครั้งว่า "ได้แล้วครับ" ศาลจึง'ติเตียน'สิรวิชญ์ว่า "ขอให้มีความสำรวมต่อหน้าศาลด้วย"
 
ในระหว่างพิจารณาคดี จำเลยที่ 1-5(ยกเว้น วิจิตรจำเลยที่ 6)  ยื่นคำร้องต่อศาลว่า อำนาจของศาลทหารกรุงเทพฯไม่ครอบคลุมต่อการพิจารณคดีนี้เนื่องจากจำเลยทั้ง 6 คนเป็นพลเรือนและพื้นที่เกิดเหตุคือบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลของศาลแขวงตลิ่งชัน ดังนั้นผู้มีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวจึงควรเป็นศาลแขวงตลิ่งชันไม่ใช่ศาลทหารกรุงเทพฯ  ด้านอัยการศาลทหารกรุงเทพฯไม่คัดค้านการยื่นคำร้อง แต่แจ้งต่อศาลว่าจะยื่นคำร้องแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลภายใน 30 วัน โดยศาลมีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีไปก่อนจนกว่าศาลแขวงตลิ่งชันจะมีความเห็นในเรื่องเขตอำนาจศาล
 
 
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานถึง คำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ดังนี้  
1.ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ข้อ 2 กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. เท่านั้น ไม่รวมถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.
 
2.ประกาศ คสช. ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้ เนื่องจากตามหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย คือการปกครองโดยกฎหมายและความยุติธรรม กฎหมายจะต้องตราขึ้นโดยความยินยอมของประชาชนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมผ่านผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 25 ที่ไทยเป็นรัฐภาคี
 
3.ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ม.4 ที่กำหนดให้รัฐธรรมนูญคุ้มครองบรรดาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่แล้ว
 
4.ประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร มีเนื้อหาเกินขอบเขตกฎอัยการศึกที่เป็นฐานในการประกาศให้อำนาจ เนื่องจากบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ไม่ได้บัญญัติความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช.
 
5.ประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นกฎหมายลำดับรอง ต้องสิ้นผล ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นฐานอำนาจในการออกประกาศ
 
6 กรกฎาคม 2559

กรกช หนึ่งในผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้เข้ารายงานตัวและถูกออกหมายจับถูกนำตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปส่งอัยการทหารเพื่อฟ้องคดี ก่อนหน้านี้ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 กรกชไปร่วมแจกใบปลิวที่จังหวัดสมุทรปราการและถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.3/2558 และความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ (ดูรายละเอียดคดี แจกใบปลิวโหวตโน ในฐานข้อมูลของเรา ที่นี่)

เนื่องจากในคดีดังกล่าวกรกชไม่ได้ขอประกันตัวเขาจึงถูกนำไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2559 จนถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังผลัดที่สอง กรกชมีกำหนดจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเช้าวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 อย่างไรก็ตามเนื่องจากกรกชมีหมายจับในคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เขาจึงถูกอายัดตัวเพื่อส่งอัยการฟ้องที่ศาลทหาร และถูกนำตัวกลับมาที่เรือนจำพิเศษอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มติชนออนไลน์ รายงานว่าในช่วงค่ำวันเดียวกัน กรกชก็ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสู้คดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์
 
24 กรกฎาคม 2559
 
ประชาไทรายงานว่า ธเนตร หนึ่งในผู้ต้องหาธเนตร หนึ่งในผู้ต้องหาซึ่งก่อนหน้านี้เดินทางไปต่างประเทศเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยจากกรณีที่มีสื่อรายงานว่าเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี พนักงานสอบสวนให้ธเนตรประกันตัวด้วยเงินสด 10,000 บาท ระหว่างการรอส่งตัวให้อัยการศาลทหารพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป    
 
29 สิงหาคม 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการทหารมีความเห็นสั่งฟ้องธเนตรในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ธเนตรถูกนำตัวไปควบคุมระหว่างรอการพิจารณาคดีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
13 กันยายน 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า สิรวิชญ์หนึ่งในจำเลยนำเงิน 20,000 บาทไปยื่นต่อศาลทหารเพื่อขอประกันตัวธเนตรระหว่างการพิจารณาคดี แต่ศาลทหารมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้ธเนตรเคยได้รับการประกันตัวในคดีตามมาตรา 116 แต่กลับหลบหนีไปต่างประเทศไม่มารายงานตัวตามนัด ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ยกคำร้อง
 
20 กันยายน 2559
 
จากกรณีที่ฝ่ายจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจศาลทหารและขอให้ศาลทหารทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลส่งให้ศาลจังหวัดตลิ่งชันซึ่งเป็นศาลพลเรือนที่มีอำนาจพิจารณาคดีในท้องที่เกิดเหตุให้ความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลนั้น ศาลจังหวัดตลิ่งชันทำความเห็นในทำนองเดียวกับทั้งอัยการทหารและศาลทหารกรุงเทพ โดยเห็นว่าว่า หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งให้พลเรือนขึ้นศาลทหารโดยได้รับความเห็นชอบจาก คสช. ไม่ได้ออกด้วยตนเอง ย่อมถือเป็นคำสั่ง คสช. ที่ออกโดยหัวหน้า คสช. เมื่อทั้งศาลทหารและศาลพลเรือนเห็นพ้องกันดังกล่าว คดีส่องโกงราชภักดิ์จึงถูกพิจารณาในศาลทหาร
 
27 กันยายน 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ชนกนันท์ หนึ่งในจำเลยที่ยังไม่ถูกส่งตัวฟ้องเดินทางเข้าพบอัยการและถูกส่งตัวฟ้องต่อศาลทหาร หลังศาลรับฟ้องชนกนันท์ใช้เงินสด 10,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ในการขอประกันตัวซึ่งศาลทหารอนุญาตให้ประกันโดยไม่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ชนกนันท์ถูกนำตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางและได้รับการปล่อยตัวในคืนเดียวกัน 
 
29 กันยายน 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายของชนกนันท์เดินทางไปที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรีเพื่อนำหมายจับไปแสดงกับพนักงานสอบสวนเพื่อขอให้เพิกถอนหมายจับเพราะตัวจำเลยได้เข้าพบกับอัยการและมีการฟ้องคดีเรียบร้อยแล้ว 
 
23 ธันวาคม 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
เวลาประมาณ 11.00 น. ชนกนันท์เบิกความต่อตุลาการศาลทหารกรุงเทพว่า ตนยังไม่พร้อมให้การในวันนี้ โดยขอให้การพร้อมกับกลุ่มของสิรวิชญ์ที่ถูกฟ้องในกรณีเดียวกัน เหตุที่คดีของชนกนันท์ต้องแยกฟ้องเนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ยังไมได้นำชนกนันท์มาฟ้องจึงต้องฟ้องตามทีหลัง ทำให้ตอนนี้คดีนั่งรถไฟไปราชภักดิ์มีทั้งหมดสี่คดีคือ คดีของสิรวิชญ์และพวก หมายเลขคดีดำที่ 97/2559 คดีของกรกชหมายเลขคดีดำที่ 175/2559 คดีของธเนตร หมายเลขคดีดำที่ 221/2559 และคดีของชนกนันท์หมายเลขคดีดำที่ 256/2559  เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการนำส่งพยานหลักฐานที่ใช้สืบข้อเท็จจริงในชั้นศาล ทนายความของชนกนันท์จึงร้องขอต่อศาลให้รวมคดีเป็นคดีเดียวกัน โดยให้คดีของสิรวิชญ์และพวกเป็นคดีหลัก
 
ตุลาการศาลทหารทักท้วงการรวมคดี เนื่องจากว่า คดีอื่นๆ ในเรื่องเดียวกันนี้ เป็นคดีของคณะตุลาการอีกชุดหนึ่ง ทั้งยังไม่แน่นอนว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดในสี่คดีนี้จะให้การปฏิเสธหรือไม่ ด้านอัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ในคดีนี้แย้งว่า พฤติการณ์แห่งคดีทั้งสี่คดีมีความเหมือนกัน แต่การรวมการพิจารณาเพื่อไปถามคำให้การพร้อมกันคงไม่เกิดประโยชน์ จึงขอให้ถามคำให้การจนเสร็จสิ้นทั้งสี่คดีเสียก่อนแล้วค่อยพิจารณารวมกับคดีหลักที่ทนายจำเลยร้องขอมา
 
ต่อมาตุลาการศาลทหารจึงพิเคราะห์แล้วสรุปว่า คดีทั้งสี่คดีมีพฤติการณ์เดียวกัน หากมีการพิจารณาในวันเดียวกันจะเป็นการสะดวกมากกว่า จึงสั่งให้เลื่อนการถามคำให้การของชนกนันท์ไปก่อนและพิจารณารวมคดีหลัก หลังจากทั้งสี่คดีสอบคำให้การเสร็จสิ้น
 
25 มกราคม 2560 
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลทหารนัดสอบคำให้การธเนตร จำเลยคดี “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์” ธเนตรให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาจำคุกธเนตรเป็นเวลาหกเดือนในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน และเพิ่มโทษจำคุกอีกสองเดือนเป็นจำคุกแปดเดือนโดยไม่รอลงอาญา

โทษจำคุกสองเดือนถูกเพิ่มเนื่องจากธเนตรเคยต้องโทษจำคุกในคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินจากการร่วมการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553และพ้นโทษมายังไม่ครบห้าปีซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 อย่างไรก็ตามโทษจำคุกของธเนตรถูกลดเหลือสี่เดือนเนื่องจากเขาให้การรับสารภาพ
 
เนื่องจากธเนตรถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีมาเกินสี่เดือนศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัว อย่างไรก็ตามธเนตรก็ถูกอายัตตัวต่อเพราะเขาถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกคดีหนึ่งซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว  
 
8 มีนาคม 2560
 
นัดสอบคำให้การ
 
เวลา 10.45 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การจำเลยหกคนได้แก่สิรวิชญ์ อานนท์ นำภา กิตติธัช วิศรุต กรกนก และวิจิตร์ โดยวันนี้มีตัวแทนจากสถานทูตสวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเบลเยี่ยมร่วมสังเกตการณ์ด้วย 
 
ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งหกฟังซึ่งสรุปได้ว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ด้วยการร่วมชุมนุมที่สถานีรถไฟธนบุรีเพื่อเดินทางไปทำกิจกรรมที่อุทยานราชภักดิ์
 
หลังศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟังก็ถามคำให้การ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าคำสั่งหัวหน้าคสช. ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ และยังเป็นคำสั่งที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ. 2557 มาตรา 4 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
 
อัยการทหารแถลงขอนำพยานเข้าสืบ ทนายจำเลยแถลงขอให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยานและขอให้รวมคดีของจำเลยทั้งหกกับคดีของกรกชและชนกนันท์ที่ถูกฟ้องก่อนหน้านี้จากการกระทำในวันเดียวกัน ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มิถุนายน 2560  
 
 
3 เมษายน 2560 
 
นัดสอบคำให้การ 
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ศาลนัดสอบคำให้การคดีส่องโกงราชภักดิ์ที่มี กรกช แสงเย็นพันธ์  และชนกนันท์ รวมทรัพย์ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี โดยยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ มีใจความว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เพราะประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย เนื่องจากตราขึ้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน และได้อำนาจมาโดยการรัฐประหาร ละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการเดินทางของจำเลยไว้อีกด้วย
 
ทนายความจำเลยทั้งสองยังได้ยื่นคำร้องขอรวมคดีกับคดีหมายเลขดำที่ 97/2559 ที่มีจำเลย 6 คน ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรธิวัฒน์, อานนท์ นำภา, กิตติธัช สุมาลย์นพ, วิศรุต อนุกูลการย์, กรกนก คำตา, และวิจิตร์ หันหาบุญ ที่ถูกฟ้องในเหตุการณ์เดียวกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้รวมคดี และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 19 มิถุนายน  2560
 
19 มิถุนายน 2560 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน 
 
ก่อนเริ่มตรวจพยานหลักฐานอัยการทหารแถลงศาลว่าทั้งสามคดีเป็นคดีที่มีบัญชีพยานชุดเดียวกันจึงให้จำเลยตรวจพยานหลักฐานเพียงชุดเดียว ทนายจำเลยที่ 1-5,7-8 แถลงว่าพยานหลักฐานที่จะส่งตรวจเป็นพยานหลักฐานที่มีการระบุพยานเหมือนกันจึงส่งตรวจเพียงชุดเดียว
 
ทั้งนี้ศาลได้แจ้งแก่จำเลยว่ามีคำสั่งตัดพยานบุคคลในลำดับที่ 9-12 ซึ่งมีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และพยานซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้ง 2 ชุด และศาลยังตัดพยานเอกสารในลำดับที่ 15-19 ซึ่งเป็นสำเนา
 
เอกสารสรุปการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพบก สำเนาเอกสารจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ และสำเนาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 2 ชุด เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานบุคคลและเอกสารในลำดับดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี ประเด็นในคดีนี้อยู่ที่ว่าจำเลยชุมนุมมั่วสุม ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่3/2558 ไม่ได้มีประเด็นเรื่องทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
 
อานนท์ นำภา ทนายความของจำเลยที่ 1 แถลงว่า พยานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีโดยตรง การที่ศาลทำการตัดพยานโดยไม่ได้สอบถามทนายจำเลยก่อนว่าพยานแต่ละอันดับนั้นจำเลยจะนำสืบในประเด็นใดนั้น และทำการตัดพยานไปก่อนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลแจ้งว่าหากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลให้จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้
ทนายจำเลยทั้งหมดจึงแถลงค้านคำสั่ง พร้อมให้เหตุผลว่าพยานที่จำเลยระบุนั้นเป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญในการต่อสู้คดี เพราะจำเลยและทนายความตั้งประเด็นต่อสู่คดีตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนว่าสาเหตุที่เดินทางไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์นั้นมาจากข่าวทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ศาลควรให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ถ้าศาลจะไม่ออกหมายเรียกพยานพยานบุคลดังกล่าวนั้น ให้โจทก์รับข้อเท็จจริงว่ามีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และพล.เอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เคยแถลงต่อนักข่าวว่าโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีการทุจริต ด้านโจทก์แถลงไม่รับข้อเท็จจริงดังกล่าว ทนายความจำเลยยืนยันให้หมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารตามบัญชีระบุพยานที่จำเลยยื่นต่อศาล
 
ด้านจำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่าการที่ศาลตัดพยานของจำเลยโดยที่ไม่ถามจำเลยนั้นเป็นการตัดสิทธิการต่อสู้คดีของจำเลย และขอให้ศาลชี้แจงเรื่องที่ตัดพยานของจำเลย ศาลได้ชี้แจงว่าพยานดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีหรือเกี่ยวกับฟ้องของโจทก์
 
ส่วนอานนท์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2  แถลงขอทราบเหตุผลที่ตุลาการพระธรรมนูญ ไม่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดี หรือลงลายมือชื่อในคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยอื่น ไม่ทราบว่าใครคือตุลาการพระธรรมนูญที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและเป็นตุลาการพระธรรมนูญจริงหรือไม่ ทางด้านศาลแจ้งว่าถ้าอยากทราบว่ามีตุลาการท่านใดเป็นผู้พิจารณาคดีให้ไปดูที่ตารางนัดหน้าบัลลังค์ และการที่ศาลทหารไม่ได้ระบุชื่อตุลาการนั้นเป็นระเบียบที่ปฏิบัติกันมาอยู่แล้ว นายอานนท์จึงแถลงค้านและไม่ลงชื่อในบันทึกกระบวนพิจารณาคดีของวันนี้
 
ศาลจึงมีคำสั่งขอรวมการพิจารณาคดีทั้ง 3 คดีก่อน ส่วนการตรวจพยานหลักฐานนั้น ให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในนัดหน้า วันที่ 21 กันยายน 2560 เพื่อให้โอกาสจำเลยได้นำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
คดีนี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 11 คน แต่มี 1 คนที่ถูกแยกฟ้องคือธเนตร  ซึ่งได้รับสารภาพและศาลพิจารณาพิพากษาไปเมื่อ 25มกราม 2560 ให้จำคุกจำเลย 6 เดือน โดยมีการเพิ่มโทษตาม ม.92 (กระทำผิดซ้ำภายในห้าปี) อีก2 เดือน เป็น 8 เดือน จากการที่จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาในคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำให้เสียทรัพย์ แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดเหลือ 4 เดือน
 
11 กรกฎาคม 2561 
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน 
 
ศาลทหารกรุงเทพเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.00 น. วันนี้จำเลยสองคนไม่มาศาลคือชนกนันท์ ที่ทนายแจ้งว่า หลบหนี และ วิจิตร ที่ตอนนี้อยู่ต่างประเทศ ด้านทนายของวิจิตรขออนุญาตศาลให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย 
 
อัยการทหารระบุจะนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 22 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้ พนักงานรถไฟ เจ้าหน้าที่ที่ติดตามเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ รวมไปถึงประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุอีกหลายปาก ฝ่ายจำเลยระบุจะนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 12 ปาก ได้แก่ พยานลำดับที่หนึ่งถึงห้าคือตัวจำเลยเบิกความเป็นพยานเอง พยานลำดับที่หกถึงแปดเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ส่วนพยานลำดับที่เก้าถึง 12 เป็นนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในขณะเกิดกระแสข่าวทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เมื่อปี 2558  
 
สำหรับพยานลำดับที่เก้าและสิบคือพลเอกอุดมเดช สีตบุตร กับ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ที่ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทนายจำเลยขอส่งแผ่นซีดีบันทึกคลิปการให้สัมภาษณ์ให้ศาลรับไว้เป็นพยานแทนการนำตัวบุคคลเข้าสืบพยาน ซึ่งศาลรับไว้ ฝ่ายอัยการทหารคัดค้าน ส่วนพยานอีกสองปาก ลำดับที่ 11-12 เป็นนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ศาลขอให้ตัดพยานออกไปก่อน เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการนำสืบในประเด็นความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง 
 
ทนายจำเลยแถลงยืนยันว่าฝ่ายจำเลยเพียงแค่ต้องการให้พยานสองปากนี้มายืนยันในฐานะกรรมการตรวจสอบทุจริตสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ว่า มีการตรวจสอบจริงๆ ส่วนจะพบว่าทุจริตหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่อง และแม้จะปรากฎตามหน้าสื่อจะว่า ผลการตรวจสอบออกมาแล้วว่า ไม่พบการทุจริต ฝ่ายจำเลยก็ยืนยันว่า อยากให้พยานสองปากนี้มารับข้อเท็จจริงว่า มีการตรวจสอบเกิดขึ้นจริงๆ ทางฝั่งจำเลยจะได้ต่อสู้คดีได้ว่า เจตนาที่พวกเขาเดินทางไปตรวจสอบทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้น ก็เพราะอยากให้เรื่องราวโปร่งใสเหมือนกัน
 
หลังเสร็จสิ้นตรวจพยานหลักฐานศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 พร้อมกำชับจำเลยทั้ง 5 คนให้มาศาลตรงเวลา 
 
6 พฤศจิกายน 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ที่จะให้การในฐานะพยานผู้กล่าวหา เวลา 09.20.  ในห้องพิจารณาคดีที่ 3 จำเลยในคดีทยอยมาถึง ประกอบด้วย สิรวิชญ์, อานนท์ , วิศรุต, กรกช  กิติธัช, และวิจิตร  บรรยากาศก่อนศาลขึ้นพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย มีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจและร่วมรับฟังการสืบพยานนัดนี้ด้วย  โดยก่อนหน้านี้นอกห้องพิจารณาคดี อานนท์  จำเลยที่ 2  โพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัวว่า เดินทางมาถึงศาลทหารแล้วได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าพยานฝ่ายโจทก์ที่นัดไว้ในวันนี้คือ พ.อ.บุรินทร์  จะไม่มาศาล
 
จากนั้น เวลา 10.20 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์  เริ่มพิจารณาคดี   เมื่อเริ่มพิจารณาคดี ทนายจำเลยแถลงว่า  จำเลยที่ 5 กรกนก  ติดกิจธุระส่วนตัว ขอให้สืบพยานลับหลังจำเลย  ศาลให้อนุญาต
 
จากนั้นศาลแจ้งให้ทนายฝ่ายจำเลยทราบว่า  ตามที่อุทธรณ์คำสั่งตัดพยานบุคคลฝ่ายจำเลยในลำดับที่ 9-12 (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ,พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และพยานซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้ง 2 ชุด) และพยานเอกสารในลำดับที่ 15-19 นั้น  ศาลพิเคราะห์แล้วว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นอำนาจตามดุลยพินิจของศาล จึงให้ยกคำร้อง
 
กระทั่งเวลา 11.00 น. อัยการทหารแถลงในห้องพิจารณาคดีว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ พยานฝ่ายโจทย์ที่มีนัดสืบพยานในวันนี้ ติดราชการเร่งด่วน ไม่สามารถมาเบิกความได้ แต่เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญ มีผลต่อคดี  จึงขอให้มีการนัดสืบพยานปากนี้อีกครั้ง  ซึ่งทนายฝ่ายจำเลยไม่คัดค้าน
 
ศาลทหาร กรุงเทพฯ จึงเลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไปเป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 
 
15 กุมภาพันธ์ 2562
 
นัดสืบพยาน
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ที่ห้องพิจารณาคดี 3 ในเวลาประมาณ  9.45 น.  จำเลยทั้งเจ็ดคนที่ถูกฟ้องคดีต่อศาลแล้วได้แก่ อานนท์,สิรวิชญ์,วิศรุต, วิจิตร,กรกช,กรกนก,กิตติธัชมาศาลในวันนี้ 
 
ศาลเมื่อคู่ความมาพร้อมศาลอ่านคำสั่ง ให้งดสืบพยานและ จำหน่ายคดี เนื่องจากมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 22/2561 ในข้อ 1 (7) มายกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ทำให้การกระทำดังกล่าวของพวกจำเลยไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง 
 
และเห็นว่ากรณีนี้เป็นการออกกฎหมายภายหลังการกระทำความผิด มายกเลิกความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องต้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) ประกอบกับมาตรา 45 ของพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 จึงให้งดการสืบพยาน และจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ
 
สำหรับชนกนันท์ จำเลยคดีนี้ที่หนีหมายและถูกออกหมายจับในคดีนี้ศาลแจ้งว่าจะยกเลิกหมายจับ ส่วนผู้ต้องหาอีกสองคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องคดีนี้คือชลธิชา และ อภิสิทธิ์ ถือว่าพ้นความผิดจากคดีนี้เนื่องจากคดีถูกจำหน่ายจากสารบบความ
 
 
 

 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา