“แจ่ม”: โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องอุทยานราชภักดิ์

อัปเดตล่าสุด: 28/05/2561

ผู้ต้องหา

“แจ่ม” (นามสมมติ)

สถานะคดี

อัยการสั่งไม่ฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นผู้ตรวจพบข้อความ และเป็นผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสน.พระโขนง ให้ดำเนินคดี

สารบัญ

"แจ่ม" ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นมาตรา 116 จากการนำข่าวลือเรื่องการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และประเด็นความแตกแยกในหมู่ทหาร มาโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก "แจ่ม" ถูกนำตัวมาแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน ต่อมาศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท

ต่อมาอัยการทหารมีคำสั่งว่า เนื้อหาในคดีนี้ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 116 จึงให้ไปดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน และอัยการพลเรือนสั่งเมื่อ 30 พฤษภาคม 2560 ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ ไม่ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีจึงจบไป

ภูมิหลังผู้ต้องหา

"แจ่ม" ก่อนถูกจับอายุ 61 ปี อาชีพทำธุรกิจส่วนตัว มีความสนใจทางการเมือง 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำร้องขอฝากขังที่พนักงานสอบสวนยื่นต่อศาลทหาร ระบุว่า
 
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เวลาประมาณ 18.49 น. "แจ่ม" โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ "เจนนี่เจนนี่" ว่า "วงในว่ามาน่ะ …." รอยร้าวเริ่มปริ เริ่มเห็นชัดเมื่อพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิทย์สั่งให้จับตาสองคีย์แมนทหาร "วงศ์เทวัญ" พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา พลโทอภิรัชต์ คงสมพงษ์ เมื่อสัญญาณจากพลเอกเปรมบอกให้ล้มรัฐบาลหมิ่นสถาบัน สายการข่าวสัมพันธ์กับทางวงข่าวของกลุ่ม พ.ต.อ.ณรัช เศวตนันท์ (เพื่อนรักพลโทอภิรัชต์) สามี "มาดามแป้ง" นางนวลพรรณ ล่ำซำ เจ้าของธนาคารกสิกร สปอนเซอร์ใหญ่รัฐบาลคสช. ได้ข่าวผ่านมาในทำนองเดียวกันด้วย ทางพลโทอภิรัชต์ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่จงรักภักดีต่อสถาบันมากที่สุดถึงกับทนไม่ไหวต่อการกระทำเรียกกินหัวคิวและส่วนต่างในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ อันตรายมากสำหรับ "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิทย์ เมื่อข่าวว่าอาทิตย์ที่ผ่านมานี้พลเอกเปรมได้เรียกพลเอกอุดมเดชเข้าไปพบ เพื่อสอบถามเรื่องต่างๆ จนมีข่าวทุจริตอุทยานราชภักดิ์แพร่ไปทั่ว พลเอกอุดมเดชซัดทอดถึงต้นตอทั้งหมดคือ พลเอกประวิตร ตั้งแต่เริ่มงานรับเหมา การคัดเลือกบริษัทก่อสร้าง ช.การช่างงานปั้น ตลอดไปจนถึงสิ่งของ และรับเงินบริจาคทุกรายการ พลเอกประวิตรส่งคนของตนมาดูแลทั้งสิ้น คือ พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร คนที่พลเอกประวิตรไว้ใจที่สุด เป็นคนควบคุมจัดการเรื่องส่วนต่างและรายงานตรงไปที่พลเอกประวิทย์ พลเอกอุดมเดชสารภาพ ตนเองไม่มีอำนาจสั่งการใดมากนัก ถูกจำกัดให้ทำงานที่ไม่สำคัญในเชิงสัญลักษณ์ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจและสั่งการเองแทบทุกเรื่อง ถูกพลเอกประวิตรตั้งมาให้เป็นคนจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. ตนไม่รู้เรื่องความซับซ้อนที่พลเอกประวิตรวางไว้ทั้งหมด" ซึ่งประชาชนทั่วไปที่เป็นสมาชิกของเฟซบุ๊กสามารถเปิดดูได้
 
การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) และเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (3) (5)
 

พฤติการณ์การจับกุม

 
27 พฤศจิกายน 2558 

เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบและตำรวจนอกเครื่องแบบราว 20 นาย พร้อมรถฮัมวี่ ไปที่บ้านของ "แจ่ม" ที่ย่านพระโขนง แต่ไม่พบตัวจึงไปหาที่ทำงานของเธอและพบเพียงลูกสาวที่อยู่ในที่ทำงาน จึงฝากให้ลูกสาวบอกกับเธอว่าให้ไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. และยังยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากที่ทำงานของเธอไปด้วย ภายหลังจากที่ "แจ่ม" ทราบเรื่องจึงเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ที่ ปอท. ในเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันเดียวกัน เมื่อเธอไปถึงพนักงานสอบสวนได้สอบสวนเธอ และนัดให้มาอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2558

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
27 พฤศจิกายน 2558 

"แจ่ม" เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ที่ ปอท. ในเวลาประมาณ 20.00 น.เมื่อเธอไปถึงพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเธอ และนัดให้มาอีกครั้งในวันจันทร์ ที่ 30 พฤศจิกายน 2558
 
 
30 พฤศจิกายน 2558
เมื่อ "แจ่ม" เดินทางไปถึงปอท. เธอไม่ได้รับโทรศัพท์คืน แต่เจ้าหน้าที่แจ้งกับเธอว่าจะนำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) โดยประชาไท รายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงการจับกุม "แจ่ม" ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ทำให้เกิดความเสียหาย และก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
 
"แจ่ม" ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวลงในเฟสบุ๊คส่วนตัวจริง เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 โดยได้รับข้อความเหล่านี้มาจากการส่งต่อทางไลน์ และไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าเป็นจริงหรือไม่ หลังการแถลงข่าว "แจ่ม" ถูกพาตัวไปตั้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การที่สน.พระโขนง พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) ฐานยุยงปลุกปั่นให้ให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และอนุญาตให้ "แจ่ม" กลับบ้านได้ โดยนัดให้ไปที่ศาลทหารกรุงเทพในวันรุ่งขึ้น
 
 
1 ธันวาคม 2558
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พนักงานสอบสวนจากสน.พระโขนง และ "แจ่ม" มาที่ศาลทหารกรุงเทพ พนักงานสอบสวนยื่นขออำนาจศาลทหารฝากขังระหว่างการสอบสวน โดยอ้างเหตุว่ายังต้องสอบพยานอีก 7 ปาก และยังต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลางจึงมีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวระหว่างสอบสวน ทางทนายความของ "แจ่ม" จึงยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังต่อศาล ซึ่งศาลพิจารณาว่า คดีนี้มีหลักฐานพอสมควรว่ากระทำผิดจริง และเป็นคดีมีอัตราโทษเกิน 3 ปี จึงอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน 
 
ภายหลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พร้อมยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดหลักทรัพย์ที่วงเงิน 100,000 บาท
 
 
15 มกราคม 2559
 
วันครบกำหนดการฝากขังผลัดที่ 4 "แจ่ม" เดินทางมาที่ศาลทหารพร้อมด้วยทนายความ พนักงานสอบสวนจากสน.พระโขนง เดินทางมาถึงประมาณ 10.30 น. เพื่อยื่นสำนวนการสอบสวนให้กับอัยการทหารพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องในวันนี้หรือไม่ จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.00 น. เจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบว่า อัยการทหารนัดให้มาฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีนี้หรือไม่ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 10.00 น.
 
18 กุมภาพันธ์ 2559
 
"แจ่ม" เดินทางไปถึงศาลทหารกรุงเทพ ประมาณ 9.00 น. และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า อัยการทหารให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งว่าฟ้องหรือไม่ฟ้องไปเป็นวันที่ 19 เมษายน 2559 เวลา 10.00 น.
 
19 เมษายน 2559
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
อัยการทหารนัด "แจ่ม" ฟังคำสั่งคดีตามมาตรา 116 และคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยวันนี้มีตัวแทนจากสถานทูตอังกฤษและสถานทูตแคนาดามาสังเกตการณ์ด้วย แต่เมื่อผู้สังเกตการณ์เดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า วันนี้ไม่มีนัดพิจารณาคดีของ "แจ่ม" และคดีนี้ไม่ได้พิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ แต่ตัวแทนจากสถานทูตยังคงรอสังเกตการณ์อยู่และได้พบกับ "แจ่ม" และสามีที่เดินทางมารอฟังคำสั่ง
 
เบื่องต้นอัยการทหารแจ้งว่าจะรอพนักงานสอบสวนมาก่อน จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.00 น. พนักงานสอบสวนเดินทางมาถึง อัยการทหารจึงแจ้งคำสั่งว่า หัวหน้าอัยการทหารพิจารณาตรวจสำนวนแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ใช่ความผิดที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ต้องดำเนินคดีในศาลยุติธรรม จึงขอส่งคืนสำนวนคดีนี้ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
 
หลังจากฟังคำสั่งอัยการ พนักงานสอบสวนจากสน.พระโขนงนัดให้ "แจ่ม" ไปพบอัยการพลเรือนเพื่อดำเนินคดีใหม่ ในวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่สำนักงานอัยการศาลจังหวัดพระโขนง
 
27 เมษายน 2559
 
พนักงานสอบสวน สน.พระโขนงขอเลื่อนนัดการส่งตัวให้อัยการไปเป็นวันที่ 4 พฤษภาคม 2559
 
4 พฤษภาคม 2559
 
"แจ่ม" เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนสน.พระโขนง และได้รับทราบคำสั่งของพนังานสอบสวนว่าจะฟ้อง "แจ่ม" ในคดีนี้เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยพนักงานสอบสวนพาแจ่มไปรายงานตัวต่ออัยการ และอัยการนัดให้มาคำสั่งว่าจะฟ้องคดีนี้หรือไม่ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559
 
25 พฤษภาคม 2559
 
อัยการสำนักงานอัยการจังหวัดพระโขนง เลื่อนฟังคำสั่งเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2559
 
30 พฤษภาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า อัยการศาลจังหวัดพระโขนง มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้
 
โดยอัยการระบุว่า ข้อความในสเตตัสเฟซบุ๊ก เป็นความเชื่อของผู้กล่าวหาว่า เป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์ การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความพล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และพล.อ.พิสิทธิ์ เข้าลักษณะหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้
 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา