ฤาชา: พระแม่ธรณีโพสต์เฟซบุ๊ก

อัปเดตล่าสุด: 21/05/2564

ผู้ต้องหา

ฤาชา

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

ฤาชาอดีตทหารยศจ่าสิบเอกถูกเจ้าหน้าที่กว่า 20 นายเข้าจับกุมที่บ้านในจังหวัดระยอง เจ้าหน้าที่แจ้งฤาชาด้วยวาจาว่าเขาถูกจับเพราะโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระราชินีและองค์รัชทายาท เจ้าหน้าที่ยังยึดอุปกรณ์ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของฤาชาไปด้วย ฤาชาถูกนำตัวมาที่มทบ.11 เพื่อสอบสวนและก่อนจะถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในชั้นสอบสวน 

ฤาชาถูกแพทย์วินิจฉัยว่า มีอาการป่วยทางจิตเป็นโรคจิตเภท ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ รวมฤาชาต้องอยู่ในเรือนจำ 234 วัน ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและศาลทหารกรุงเทพสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้ไปรักษาอาการป่วยก่อน

คดีที่ศาลทหารไม่มีความคืบหน้า แต่มีการนัดไต่สวนแพทย์ ซึ่งลงความเห็นว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ หลังจากนั้นคดีโอนกลับมาที่ศาลปกติ แม้แพทย์ยังคงเบิกความเช่นเดิม แต่ศาลอาญาสั่งให้นำคดีกลับขึ้นมาพิจารณา โดยนัดวันสืบพยานและสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ก่อนพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ให้ลงโทษจำคุก 5 กรรม รวม 5 เดือน 50 วัน แต่จำเลยเคยติดคุกมานานกว่านั้นแล้ว จึงไม่ต้องรับโทษอีก

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ฤาชา เป็นอดีตทหารยศจ่าสิบเอก สมัยรับราชการมีหน้าที่ดูแลทหารเกณฑ์ที่กรมทหารราบที่สี่ จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ก็เคยทำหน้าทีประชาสัมพันธ์รวมทั้งฝ่ายสูตกรรม(ครัว) ฤาชาเกษียณอายุก่อนกำหนดในปี 2547 หลังออกจากราชการก็ประกอบอาชีพค้าขายในจังหวัดนครสวรรค์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงเปลี่ยนไปทำงานรับจ้างเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ที่อำเภอโป่งแดง จังหวัดระยอง
 
ขณะถูกจับฤาชาอายุ 62 ปี ก่อนหน้านี้ฤาชาเคยมีประวัติเข้ารับการรักษาอาการทางจิตและแพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคจิตเภท ฤาชาเชื่อว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวเพราะตั้งแต่ปี 2553 พระแม่ธรณีได้เข้ามาอยู่ในตัวเขาและคอยบอกให้เขาทำสิ่งต่างๆ  
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ฤาชาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระราชินี และองค์รัชทายาทบนเฟซบุ๊กรวมสามโพสต์ เป็นความผิดสามกรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

พฤติการณ์การจับกุม

29 มีนาคม 2559 

เวลาประมาณ 8.00-9.00 น. เจ้าหน้าที่กว่า 20 นายได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหารจากมทบ.11 ทหารเรือผู้รับผิดชอบพื้นที่บ้านพักของฤาชาในอำเภอโป่งแดง จังหวัดระยอง  เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ และนายอำเภอโป่งแดง นำกำลังไปที่บ้านของฤาชาเพื่อทำการจับกุม 

เจ้าหน้าที่แจ้งว่าฤาชาเขาถูกจับเพราะมีพฤติการณ์หมิ่นประมาทพระราชินีและองค์รัชทายาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เจ้าหน้าที่ยังยึดคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก, แทบเล็ต และโทรศัพท์มือถือรวม 6 เครื่อง 

ในการจับกุมและยึดสิ่งของฤาชาระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงเอกสารให้เขาดูแต่อย่างใด หลังถูกจับกุมฤาชาถูกนำตัวมาที่มทบ.11 ทันที

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
29 มีนาคม 2559
 
ฤาชา ถูกเจ้าหน้าที่กว่า 20 นายบุกจับที่บ้านในจังหวัดระยองและถูกส่งตัวมาที่ มทบ.11 ทันที ในช่วงเย็นฤาชาถูกเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารร่วมกันสอบสวนภายในมทบ.11 หลังจากนั้นฤาชาถูกควบคุมตัวไว้ที่มทบ.11 โดยไม่มีการสอบสวนเพิ่มเติม
 
4 เมษายน 2559
 
ในช่วงเช้ามีการประสานให้จิตแพทย์มาพูดคุยเพื่อตรวจสอบอาการทางจิตของฤาชาภายในมทบ.11 แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยอาการของฤาชา ต่อมาในช่วงบ่าย ฤาชาถูกนำตัวไปที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยยี (บก.ปอท.) เพื่อไปลงนามในเอกสารเพิ่มเติม และถูกนำตัวไปคุมขังที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง
 
5 เมษายน 2559
 
ฤาชา ถูกนำตัวไปขออำนาจฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ ศาลอนุญาตให้ฝากขังและส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
17 พฤศจิกายน 2559
 
ศาลทหารนัดไต่สวนจิตแพทย์ที่เคยรักษาอาการของจำเลย แต่จิตแพทย์ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลทหารจึงให้เลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 27 ธันวาคม 2559 
 
18 พฤศจิกายน 2559
 
ประชาไท รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ประกันตัวนายฤๅชา ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท โดยเป็นเงินจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง และเงินจากกองทุนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ร่วมกัน 
 
 
27 ธันวาคม 2559
 
ศาลทหารนัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจอาการของจำเลย ว่าจำเลยป่วยถึงขนาดไม่สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่
 
ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีอัยการทหารได้พูดคุยกับฤาชาว่าฤษชาเป็นทหารหรือไม่ รับราชการมา 30 กว่าปี ปัจจุบันเป็นทหารรับราชการบำนาญแสดงว่าต้องเข้าใจสิว่าทหารคืออะไร พร้อมพูดกับฤาชาว่า ท่านก็รับเงินของพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเลี้ยงชีพตนและครอบครัว
 
เวลาประมาณ 13.50 น. ตุลาการขึ้นบัลลังก์ และเริ่มไต่สวน พ.ญ.วิชุดา จันทราช จิตแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการป่วยโรคจิตเภทของจำเลย พ.ญ.วิชุดา เบิกความตอบคำถามศาลว่า รับราชการที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตำแหน่ง แพทย์ชำนาญการพิเศษ ตั้งแต่ปี2554 มีหน้าที่ตรวจบำบัดรักษาและวินิจฉัยโรคจิตเวช โดยทีมวินิจฉัยประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และนักกิจกรรมบำบัดได้ตรวจรักษาฤาชาเมื่อ 25 สิงหาคม 2559 ถึง 19 พฤศจิกายน 2559 ในฐานะผู้ป่วยในและต่อมารักษาในฐานะผู้ป่วยนอกจนถึงปัจจุบัน 
 
พ.ญ.วิชุดา เล่าว่า วิธีการรักษาฤาชา ใช้วิธีให้รับประทานยาต้านโรคจิตเภทและรักษาด้วยไฟฟ้า โดยอาการของฤๅชา มีอาการหลงผิดคิดว่า ถูกฝังไมโครชิพไว้ใสมอง และมีพระแม่ธรณีมาสิงร่างทำให้มีความสามารถพิเศษและโพสต์ลงเฟซบุ๊ก 
 
พ.ญ. วิชุดาเบิกความต่อไปว่า ได้ตรวจสอบประวัติพบว่า ฤาชามีอาการป่วยตั้งแต่ปี 2554 เคยเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ช่วงวันที่ 24 กรกฎาคม 2554 ถึง 11 สิงหาคม 2554 อาการดังกล่าวเป็นโรคที่มีอาการเรื้อรัง ต้องใช้เวลาบำบัดต่อเนื่องกัน 2 ปี จึงมีโอกาสให้หยุดยา หรือถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ต้องรักษาไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
 
พ.ญ. วิชุดา ตอบคำถามศาลต่อว่า ตามรายงานการตรวจเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ส่งต่อศาลได้ประเมินว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เพราะอาการทางจิตยังไม่ทุเลา จากกการตรวจรักษาล่าสุดวันที่ 26 ธันวาคม 2559 อาการหลงผิดและหูแว่วของฤๅชาได้ทุเลา สามารถรับรู้ความจริงได้มากขึ้น จึงประเมินว่า ฤาชาสามารถต่อสู้คดีได้แล้วดังที่ได้ปรากฎในรายงานการตรวจ ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559
 
ศาลถามอัยการทหารและทนายจำเลยว่ามีอะไรจะถามพยานหรือไม่ ครั้งแรกทั้งสองตอบว่าไม่มี แต่ต่อมาอัยการทหารขออนุญาตศาลถาม ถามว่า อาการของจำเลยเกิดจากสาเหตุใด เกิดจากเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตหรือได้รับการถ่ายทอดอะไรมาหรือไม่ พ.ญ.วิชุดา ตอบว่า เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สื่อประสาทในสมอง และแสดงออกมาในเชิงความคิดทำให้เกิดความคิดผิดไปจากความเป็นจริง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ผูกพันกับชีวิตของผู้ป่วย ทนายจำเลยจึงขออนุญาตถามว่า อาการของจำเลย ภายใน 2 ปี มีโอกาสที่จะหายมากกว่าหรือน้อยกว่า พ.ญ.วิชุดา ตอบว่า มีโอกาสหายขาดน้อยเพราะฤาชาได้ป่วยเรื้อรังมานาน
 
หลังการเบิกความเสร็จสิ้น อัยการทหารลุกขึ้นแถลงต่อศาลขอให้นำคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลเคยสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ศาลกล่าวว่า เนื่องจากแพทย์ผู้ตรวจลงความเห็นว่า อาการของจำเลยดีขึ้นสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว จึงสั่งให้ยกคดีของฤาชาขึ้นพิจารณาใหม่ ทนายจำเลยลุกขึ้นแถลงคัดค้านว่า ขอให้รักษาอาการของจำเลยให้หายขาดก่อน ปัจจุบันจำเลยได้ยื่นประกันตัวไว้และอยู่อาศัยกับภรรยาไม่สามารถหลบหนีได้ แต่ศาลเห็นว่า การที่จำเลยได้ประกันตัวก็สามารถไปรับการรักษาได้อยู่แล้ว ทนายจำเลยขอให้ศาลจดคำคัดค้านไว้ในกระบวนพิจารณาด้วย ศาลแจ้งว่า ให้ทนายความไปยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาเองในภายหลัง
 
ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณา ให้ยกคดีของฤาชาขึ้นพิจารณาใหม่ และนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
 
24 กุมภาพันธ์ 2560 
 
นัดสอบคำให้การ 
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ในห้องนอกจาก ฤาชา มีญาติของฤาชา และนายประกัน พร้อมทนายความและผู้สังเกตการณ์คดีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวมอยู่ด้วย หน้าบัลลังก์แจ้งว่า อัยการขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีขอให้ออกไปนอกห้องพิจาณาคดีความ  จึงคงเหลือไว้เพียง ฤาชา กับทนายความเท่านั้นในห้อง 
 
ก่อนกระบวนการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้นราว 20 นาทีถัดมา ทนายความแจ้งว่า วันนี้ยังไม่ให้การอะไร เนื่องจากเห็นว่า ฤาชายังไม่พร้อมจะให้การ และก่อนหน้าก็เพิ่งไปพบแพทย์และแพทย์เห็นว่ายังต้องรักษาอาการทางจิตด้วยยาอยู่เรื่อยๆ จึงขอให้ศาลเลื่อนพิจารณาคดีออกไปก่อน เพื่อให้จำเลยได้ไปพบแพทย์และแพทย์ลงความเห็นให้ชัดเจนกว่านี้ ว่าจำเลยมีความสามารถในการต่อสู้คดีหรือไม่ อย่างไร ซึ่งศาลรับคำร้องของทนาย และนัดสอบคำให้การอีกครั้งวันที่
 
29 มีนาคม 2560  
 
นัดสอบคำให้การ

จำเลยมาศาลพร้อมกับภรรยาแต่ทนายจำเลยมาถึงศาลช้า เนื่องจากญาติของทนายป่วย ศาลจึงแจ้งกับจำเลยว่าให้เลื่อนการสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 และยุติกระบวนพิจารณา 
 
15 พฤษภาคม 2560
 
นัดสอบคำให้การ

ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในห้องพิจารณาคดี ทนายจำเลยเปิดเผยข้อมูลในภายหลังว่า ฤาชาให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 28 สิงหาคม 2560
 
 
28 สิงหาคม 2560

นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน คู่ความนำเสนอพยานหลักฐานที่จะใช้ต่อสู้คดีนี้แล้ว ขณะเดียวกันสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้ส่งรายงานผลตรวจอาการของจำเลยทางโทรสารมาที่ศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งในรายงานดังกล่าวระบุว่า จำเลยมีอาการหลงผิดขั้นรุนแรง ไม่สามารถต่อสู้คดีได้
 
ศาลจึงยังไม่กำหนดวันนัดสืบพยาน แต่กำหนดวันนัดเพื่อไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยก่อน เป็นวันที่ 18 ตุลาคม 2560

 

18 พฤศจิกายน 2560

นัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจอาการของจำเลย

เวลา 13.30 ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนแพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ผู้ตรวจอาการของจำเลย ในประเด็นว่า สถานะปัจจุบันของจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ แต่วันนี้จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล เนื่องจากไม่ได้รับหมายนัดของศาล เพราะส่งไปยังที่อยู่ที่จำเลยไม่ได้อยู่จริง

ด้านทนายความของจำเลยที่มาศาลตั้งแต่ช่วงเช้าแจ้งว่า นัดนี้เป็นเพียงนัดไต่สวนแพทย์ สามารถไต่สวนลับหลังจำเลยได้ แต่เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลทหารแจ้งว่า จะเลื่อนนัดไต่สวนวันนี้ออกมาก่อน เนื่องจากวันนี้ช่วงเย็นจะมีการจัดพระราชพิธียกนพปฏลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ จึงมีประกาศปิดการจราจรโดยรอบบริเวณสนามหลวงตั้งแต่ 14.00 น. และเกรงทุกคนจะเดินทางลำบาก และนัดไต่สวนใหม่อีกครั้งเป็นวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560

13 พฤศจิกายน 2560
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการทางจิตของฤาชาเวลา 13.00 วันนี้อัยการทหารผู้เป็นโจทก์ ฤาชาและ ภรรยา และทนายมาศาล ศาลขึ้นบัลลังก์และเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 13.50
นพ.อภิชาติ แสงสิน เป็นพยานผู้ตรวจรักษาอาการของฤาชาที่มาเบิกความวันนี้ กระบวนการไต่สวนเริ่มจากศาลเป็นผู้ถามพยานเอง และพยานตอบคำถามศาลโดยตรง
 
นพ.อภิชาติ เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นจิตแพทย์ชำนาญการ ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ อยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2552 จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน จิตเวชศาสาตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันฯ เคยรับตัวฤาชาไว้ตรวจรักษาช่วงเดือนสิงหาคม 2559 ถึง เดือนพฤศจิกายน 2559 เดิมทีแพทย์ที่ตรวจฤาชาครั้งแรก คือ พญ.วิชุดา การตรวจครั้งก่อนไม่ได้ร่วมตรวจด้วย แต่ทราบว่า ครั้งก่อนมีผลวินิจฉัยว่า ฤาชาสามารถต่อสู้คดีได้
 
นพ.อภิชาติ ยังเล่าว่า ตอนที่ตรวจอาการของฤาชานั้น ฤาชาเป็นผู้ป่วยนอก โดยใช้ประวัติจากเวชระเบียน และให้ทำแบบทดสอบ โดยฤาชามาเข้ารับการตรวจต่อเนื่องทุกครั้ง ไม่เคยขาด อาการของฤาชามีลักษณะป่วยเรื้อรัง จะมีอาการเป็นช่วงๆ ถ้ารับประทานยาต่อเนื่องจะสามารถควบคุมการแสดงออกได้ดีขึ้น ซึ่งพฤติกรรมของฤาชาก็ดีขึ้นแต่ไม่หายขาด ยังมีอาการหลงผิดที่ฝังอยู่ 
จากการตรวจฤาชาครั้งหลังสุด นพ.อภิชาติ ยืนยันว่า ฤาชามีอาการหลงผิด ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้
ศาลถามว่า โรคที่ฤาชาเป็นต้องใช้เวลารักษาเท่าไร นพ.อภิชาติตอบว่า บอกไม่ได้ ศาลถามต่อว่า ทางสถาบันฯจะรับตัวฤาชาไว้เป็นผู้ป่วยในได้หรือไม่ นพ.อภิชาติตอบว่า ได้ ศาลถามว่า ทางสถาบันฯ จะรายงานผลให้ศาลทราบทุก 6 เดือนได้หรือไม่ นพ.อภิชาติตอบว่า ได้ ศาลถามด้วยว่า เมื่อฤาชาอาการดีขึ้น ทางสถาบันฯสามารถแจ้งผลให้ศาลทราบได้หรอไม่ นพ.อภิชาติตอบว่า ได้
 
หลังจากนั้นศาลกล่าวว่า ศาลหมดคำถามแล้ว หากฝ่ายโจทก์และจำเลยมีคำถามที่อยากถามพยานก็สามารถถามได้ อัยการทหารจึงถามว่า เหตุใดผลการตรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2559 จึงระบุว่า ฤาชาสามารถต่อสู้คดีได้ นพ.อภิชาติ ตอบว่า มีการเปลี่ยนคณะแพทย์ ซึ่งเขาเองไม่ได้อยู่ในชุดนั้น แต่อาการของฤาชาเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง อาการอาจเปลี่ยนแปลงได้
ด้านทนายความถามว่า อาการของฤาชาไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ นพ.อภิชาติ ตอบว่า ใช่
 
หลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณา มีใจความว่า จากการไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการของฤาชาพบว่า ยังมีอาการวิกลจริตอยู่ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และให้ส่งตัวจำเลยเข้ารักษาจนกว่าอาการจะดีขึ้นและสามารถต่อสู้คดีได้
 
โดยให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์ที่เคยนัดไว้ วันที่ 21 ธันวาคม 2560 และศาลยังบอกกับทนายอีกว่า จะออกหนังสือไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ให้รับฤาชาเข้าเป็นผู้ป่วยใน ขอให้ทนายและฤาชาติดต่อกับจ่าศาลเพื่อรับหนังสือและเข้าไปรับการรักษาในวันหลัง
 
 
8 สิงหาคม 2562
 
นัดพร้อมเพื่ออ่านคำสั่งโอนย้ายคดี
 
ศาลนัดพิจารณา ณ ศาลทหาร กรุงเทพฯ เวลา 13.00 น. แม้คดีนี้อยู่ระหว่างจำหน่ายคดี แต่ศาลทหารกรุงเทพโทรศัพท์แจ้งกับทนายความให้นัดตัวจำเลยมาเพื่อฟังคำสั่งโอนคดีในวันนี้
 
13.00 น. ฤาชาซึ่งเป็นจำเลยในคดี พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพ 
 
จากนั้นเวลาประมาณ 13.40 ศาลได้ออกนั่งพิจารณาคดีและศาลได้สอบถามถึง ฤาชา และอาการป่วยที่ทำให้ต้องจำหน่ายคดีชั่วคราวก่อนหน้านี้ว่า จำเลยยังรักษาอยู่หรือไม่และอาการเป็นอย่างไร จำเลยให้การต่อศาลว่า ยังคงรักษาอาการป่วยอย่างต่อเนื่อง ทุกๆสามเดือนต้องไปรับยาและตรวจเช็คอาการอยู่เสมอ และทนายของจำเลยยังให้การต่อไปว่า แพทย์ยังคงมีคำวินิจฉัย ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ถึงอาการของจำเลยว่า ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลจึงมีคำสั่งว่า หากคดีย้ายไปยังศาลยุติธรรมแล้วสิทธิในการได้รับการประกันตัวของ ฤาชา ยังคงมีผลต่อไปแต่ให้ทนายความจำเลย แจ้งต่อศาลถึงคำวินิจฉัยของแพทย์จากสถาบันสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ด้วยโดยการทำสำเนาคำวินิจฉัยของแพทย์ดังกล่าว
 
หลังจากนั้นสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายถึงการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ว่า ทั้งสองฝ่ายทราบคำสั่งนี้หรือไม่ คู่ความให้การว่า ทราบ ศาลจึงกล่าวว่างั้นศาลไม่อธิบายนะ
 
ศาลจึงอ่านรายงานกระบวนการพิจารณาคดีว่า เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ตามข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามที่ระบุในบัญชีสองท้ายคำสั่งนี้ กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรม ให้จ่าศาลคัดถ่ายสำนวนคดีเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย และสัญญาประกันให้มีผลต่อไป
 
ประกอบกับจำเลยได้กระทำความผิดในขณะที่ได้เกษียณอายุขรชการจากการเป็นทหารแล้วทำให้ศาลทหาร ไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีดังกล่าว
 
28 มกราคม 2563
 
นัดพร้อม

ศาลนัดพร้อมในวันนี้ เบื้องต้นศาลแจ้งทนายจำเลยว่าศาลเห็นว่าจำเลยน่าจะต่อสู้คดีได้แล้ว จึงจะนัดวันสืบพยาน โดยศาลอ้างว่า ฤาชาสามารถพูดคุยรู้เรื่องตามปกติ เนื่องจากฤาชาสามารถตอบคำถามทั่วๆ ไปได้ เช่น มีครอบครัวไหม มีบุตรกี่คน บุตรทำงานหรือยัง ได้อาศัยอยู่กับบุตรของตัวเองไหม ศาลยังกล่าวอีกว่า ควรจะสู้คดีไปเสีย ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก หากไม่พอใจในคำตัดสินก็ให้ยื่นอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยยังคงยืนยันต่อศาลว่า จะขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เพื่อขอให้เรียกจิตแพทย์มาไต่สวนถึงผลการวินิจฉัยอาการของฤาชาก่อนที่จะกำหนดนัดสืบพยาน ศาลจึงนัดไต่สวนจิตแพทย์ในวันที่ 9 มีนาคม 2563 เวลา 13.00 น.
 
9 มีนาคม 2563
 
ศาลอาญาไต่สวนจิตแพทย์ประจำสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่ให้การรักษาจำเลยตั้งแต่ปี 2559 และตัวจำเลยเอง
 
แพทย์ผู้ให้การรักษาฤาชาได้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ศาลทหารกรุงทพฯ ได้มีหนังสือส่งตัวฤาชามายังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์และรักษาอาการทางจิต ในการตรวจรักษาจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 พบว่าจำเลยยังมีอาการจิตเภท หลงผิด คิดว่ามีคนมาสั่ง และจำเลยยังมีอาการร่างกายกระตุก ทำให้จำเลยคิดว่ามีคนมาบังคับร่างกายจำเลยให้กระตุก แม้จำเลยจะมีอาการดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยอยู่ในความดูแลของญาติ แต่แนวความคิดของจำเลยยังมีความผิดปกติ จากนั้นแพทย์จึงได้สรุปว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เนื่องจากยังมีอาการจิตเภทหลงเหลืออยู่
 
ฤาชาเบิกความตอบศาลถึงเหตุที่ถูกดำเนินคดีว่า ถูกทหารจับกุมเนื่องจากโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระราชินี โดยเขาได้ให้การกับทหารว่า เขาถูกบุคคลอื่นเข้าสิงให้โพสต์ข้อความดังกล่าว และในการตอบคำถามทนายจำเลย ฤาชาระบุว่า เขาทราบว่าถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ทราบและไม่เข้าใจรายละเอียดในคดี
 
 
12 มีนาคม 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญาได้นัดคู่ความมาฟังคำสั่งว่าจะยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อหรือไม่ 
 
หลังไต่สวนจิตแพทย์และตัวจำเลยแล้ว ศาลได้พิเคราะห์ร่วมกับอธิบดีศาลอาญา มีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยสามารถเบิกความตอบศาลถึงประวัติและข้อมูลส่วนบุคคล สาเหตุที่ถูกดำเนินคดี และสามารถให้เหตุผลได้ว่า การกระทำใดมีความยุติธรรม  หรือไม่ยุติธรรม​ ถือว่าจำเลยไม่เป็นผู้วิกลจริต สามารถต่อสู้คดีได้
 
ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า จำเลยยังวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งศาลได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา จากนั้นศาลจึงอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้ง เมื่อถามคำให้การ​ จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ ทนายจำเลยยังได้แถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เป็น และขณะเกิดเหตุจำเลยควบคุมร่างกายตนเองไม่ได้
 
จากนั้น โจทก์แถลงว่า ประสงค์จะสืบพยานโจทก์ทั้ง 11 ปาก ตามบัญชีระบุพยานที่เคยได้ยื่นไว้กับศาลทหารกรุงเทพ เช่นเดียวกับทนายจำเลยที่แถลงสืบพยานจำเลย 3 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลย ภรรยา และจิตแพทย์ผู้รักษาอาการทางจิตของจำเลย ตามบัญชีระบุพยานเดิม คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานในวันที่ 9 – 12 มีนาคม 2564
 
ศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาทฯ 
 
20 พฤษภาคม 2564
 
ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา
 
สำหรับการเข้าไปยังพื้นที่ศาลอาญา ประตูหน้าศาลถูกปิด และเมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ระบุว่า ต้องเดินไปทางประตูศาลแพ่งและจะมีจุดคัดกรอง โดยจุดคัดกรองดังกล่าวไม่มีปรากฏมาก่อนในสถานการณ์ปกติ มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้ตำรวจศาล พร้อมแสดงเหตุผลที่มาศาล และตำรวจศาลจะบันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้ จากนั้นจึงเข้าไปยังพื้นที่ศาลได้ แต่ต้องผ่านจุดคัดกรองอีกจุดซึ่งมีอยู่เป็นปกติ โดยต้องตรวจวัดอุณหภูมิอีกรอบ สแกนสัมภาระ และยื่นบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่นำไปเสียบกับเครื่องอ่านการ์ด จากนั้นเจ้าหน้าที่จะแปะสติ๊กเกอร์ให้
 
สำหรับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในคดีนี้ เช่น ประชาชนทั่วไป ผู้สังเกตุการณ์ ไม่สามารถเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้ สืบเนื่องจากข้อกำหนดของศาลอาญาเรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) ที่ให้เฉพาะคู่ความและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาคดี เช่น ญาติ เข้าไปในห้องพิจารณาคดีเท่านั้น
 
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า ตามเวลานัดหมายอ่านคำพิพากษา ศาลได้ขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ระบุว่า เชื่อว่าขณะกระทำความผิด จำเลยสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หาใช่ว่ากระทำไปโดยไม่รู้สาเหตุและไม่รู้ตัวว่ากระทำการอะไรทั้งหมด จำเลยจำต้องรับโทษสำหรับการนั้นแต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ ประกอบกับคำให้การชั้นสอบสวน ประกอบกับการนำสืบของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
 
จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 กระทง กระทงละ 1 เดือน 10 วัน รวมเป็น 5 เดือน 50 วัน แต่เนื่องจากถ้อยคำที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นถ้อยคำที่รุนแรง ไม่สมควรรอการลงโทษแก่จำเลย และให้ริบโทรศัพท์ของจำเลย
 
อย่างไรก็ดี เนื่องจากจำเลยเคยต้องจำคุกมาก่อนระหว่างการสอบสวนเป็นเวลานานกว่าที่ศาลพิพากษาให้จำคุกแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามคำพิพากษาอีก
 
 
 

 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา