สิรวิชญ์: ฝ่าฝืนเงื่อนไข คสช.

ผู้ต้องหา

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

สถานะคดี

ชั้นอัยการ

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ปทุมวัน

สารบัญ

8 มีนาคม  2559 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว พร้อมอานนท์ นำภา ทนายความ เข้าพบ พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 40/2557 เนื่องจากสิรวิชญ์ผิดเงื่อนไขที่เซ็น MOU ไว้กับ คสช.เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 หลังจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก) ลักหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ นิว  ภูมิลำเนาเดิมมาจากจังหวัดนครราชสีมา ศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมัยอยู่ชั้นปี 1-2 เคยทำงานอยู่ในสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่ต่อมาจะได้เข้าร่วมกลุ่มสภาหน้าโดม เคยเป็นแกนนำเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องค่าอาหารของโรงอาหารกลางที่สูงเกินไป
 
เคยลงสมัครชิงตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ได้รับเลือก ปัจจุบันทำกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 40/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

สิรวิชญ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 15 ทวิ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 40/2557 และ Memorandum of Understanding (MOU) ไว้กับ คสช.เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 จากทำกิจกรรมชุมนุมเลือกตั้งที่รัก(ลัก)

พฤติการณ์การจับกุม

 8 มีนาคม  2559 ที่ สน.ปทุมวัน สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พร้อมอานนท์ นำภา ทนายความ เข้าพบ พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ภาพ cover สิรวิชญ์ขณะถูกควบคุมตัวหลังเข้าร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่รัก(ลัก) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ที่มา เพจพลเมืองโต้กลับ

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
22 มิถุนายน 2557
 
 สิรวิชญ์และพรรคพวกถูกควบคุมอย่างรุนแรงจากทหารนอกเครื่องแบบ ในห้างพารากอน แล้วนำไปที่ศูนย์กีฬาในสโมสรกองทัพบกวิภาวดี ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ถูกสอบสวนอย่างหนักจนถึงเวลา 01.00 น. ของวันถัดมา โดยทุกคนต้องเซ็นเอกสารเงื่อนไขหรือที่เรียกว่าเซ็น MOU ในการปล่อยตัวว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง
 
14 กุมภาพันธ์ 2558
 
สิรวิญช์และกลุ่มพลเมืองโต้กลับร่วมจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ ก่อนถูกจับกุมพร้อมพวกอีก 3 คน ประกอบด้วยอานนท์ นำภา พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
 
8 มีนาคม 2559
 
 เวลา 16.30 น. ที่สน.ปทุมวัน สิรวิชญ์ พร้อมด้วยอานนท์ ทนายความ เข้าพบพ.ต.ท.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รองผกก.(สอบสวน) สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 15 ทวิ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 40/2557 เนื่องจากนายสิรวิชญ์ผิดเงื่อนไขที่เซ็น MOU ไว้กับคสช. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557
 
 
20 มิถุนายน 2559
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การสิรวิชญ์  ศาลยกคำร้องขอเลื่อนนัดถามคำให้การ เนื่องโจทก์แถลงคัดค้านคำร้องขอเลื่อนคดี ด้วยสิรวิชญ์ยังไม่ได้แต่งทนายความเข้ามา แก้ต่างให้กับตัวเอง ทนายที่ไปด้วยจึงยังไม่มีอำนาจลงชื่อเป็นผู้เรียงในคำร้องดังกล่าว
ทั้งนี้สิรวิชญ์  แถลงต่อศาลว่าวันนี้ยังไม่มีทนายและไม่ต้องการให้ศาลตั้งทนายให้ จะแต่งทนายมาสู้คดีเอง วันนี้ยังไม่พร้อมให้การ ขอเลื่อนคดีไปนัดหน้าเพื่อปรึกษารูปคดีกับทนายก่อน ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงให้เลื่อนถามคำให้การไปในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลา 08.30 น.
หลังเลื่อนถามคำให้การ ศาลออกหมายขังสิรวิชญ์ตามระเบียบราชการศาลทหาร เจ้าตัวร้องคัดค้านหมายขัง เนื่องจากถูกควบคุมตัวในคดีอื่นอยู่แล้วสำหรับคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวมาตั้งแต่แรก ศาลยกคำร้องเนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า“เมื่ออัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งขังจำเลยไว้ตามระเบียบราชการทหาร พ.ศ.2532 ข้อ 10”
 
กระทั่งสิรวิชญ์ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยวงเงินประกันจำนวน 20,000 บาท โดยเขาถูกนำตัวไปปล่อย ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
 
26 กรกฏาคม 2559 
 
นัดสอบคำให้การ 
 
ศาลทหารขึ้นพิจารณาคดีราว 10.00 น.  แต่ในห้องพิจารณาคดี ปรากฏเพียงทนาย ทนายอ้างว่าสิรวิชญ์ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากติดเรียนภาคฤดูร้อน วิชาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นวันสุดท้าย
 
จึงให้ทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดสอบคำให้การออกไป อัยการศาลทหารไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดสอบคำให้การออกไปในวันที่ 30 สิงหาคม 2559
 
30 สิงหาคม 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
เวลาประมาณ 9.30 น. สิรวิชญ์ พร้อมทนายและแม่ของสิรวิชญ์ เดินทางไปที่ศาลทหารในนัดสอบคำให้การ ในวันนี้มีตัวแทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ในวันนี้สิรวิชญ์ยังไม่ให้การต่อศาลแต่ให้ทนายยื่นคำร้องคัดค้านเขตอำนาจศาลทหาร ศาลจึงสั่งให้อัยการทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจส่งศาลภายใน 15 วันและจะนัดคู่ความฟังคำสั่งเรื่องเขตอำนาจศาลต่อไป 
 
9 ธันวาคม 2559 
 
นัดฟังคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาล 
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ราว 10.30 น. ก่อนอ่านคำวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลว่า  ตามที่จำเลยได้ส่งเรื่องให้ศาล  ส่งต่อให้ศาลแขวงปทุมวันวินิจฉัยว่าคดีนี้ควรอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงปทุมวันหรือไม่นั้น  ศาลแขวงปทุมวันได้ทำคำวินิจฉัยเเล้วว่า  คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร   จากนั้นศาลนัดสอบคำให้การวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 
 
 21 กุมภาพันธ์ 2560 
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสิรวิชญ์สอบคำให้การที่ห้องพิจารณาคดี 3 นอกจากสิรวิชญ์ ทนายจำเลยและนายประกันเเล้ว วันนี้มี เลขานุการเอก สถานเอกอัครรัฐทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ฝ่ายการเมืองจาก สถานเอกอัครรัฐทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย สถานเอกอัครรัฐทูตสหพันธรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย  สถานเอกราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทยและ ฝ่ายการเมืองของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย มาร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาครั้งนี้ด้วย
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10.00 น. และเริ่มการพิจารณาโดยอ่านฟ้องให้สิรวิชญ์ฟัง สิรวิชญ์ให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 19 เมษายน 2560 เวลา 13.30 น.
 
สิรวิชญ์ให้สัมภาษณ์กับประชาไทภายหลังว่า ยืนยัน และพร้อมที่จะสู้คดีต่อไป เนื่องจากเห็นว่าสาเหตุที่ถูกดำเนินคดีไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ คสช. ทำคือการพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะปิดปากผู้ที่เห็นต่างไปจากผู้มีอำนาจ และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่คิดว่าคำสั่ง หรือประกาศต่างๆ ที่ออกมาโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีสถานะเป็นกฎหมาย เพราะเกิดมาจากการยึดอำนาจไปจากประชาชน

Sirawith at the military court with international observers in the case defying MOU 21 February 2017 (credit TLHR)

สิรวิชญ์ถ่ายภาพร่วมกับผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตต่างๆหลังให้การปฏิเสธต่อศาลในคดีฝ่าฝืน MOU ด้วยการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง 21 กุมภาพันธ์ 2560 (ภาพโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
 
19 เมษายน 2560

นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
 
สิรวิชญ์มาศาลพร้อมทนายความตามกำหนดเวลาที่ศาลนัด รอจนกระทั่งถึงเวลา 15.00 น. แต่โจทก์ก็ยังไม่เข้ามาในห้องพิจารณาคดี และศาลยังไม่ได้ลงมายังบังลังค์เพื่อพิจารณาคดี ทนายจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่ได้มาตามกำหนดนัดที่ศาลได้นัดไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173/2 ที่มีเนื้อหาว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ให้นำบทบัญญัติมาตรา 166 ซึ่งระบุว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ มาบังคับใช้โดยอนุโลม
 
ต่อมาเวลา 15.25 น. ตุลาการศาลทหารได้ลงนั่งพิจารณาคดี อัยการทหารเข้ามาในห้องพิจารณาคดีก่อนตุลาการประมาณ 5 นาที ก่อนศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ยื่นไป โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้รวมคดีนี้ไปพิจารณารวมกับคดีหมายเลขดำที่ 164ก./2558 ของศาลทหารกรุงเทพ หรือคดีเลือกตั้งที่รัก (ลัก) จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนด ให้ยกคำร้อง ซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลในเวลาประมาณ 14.00 น.
 
จากนั้นตุลาการศาลทหาร สอบถามโจทก์ว่ายืนยันตามคำร้องขอรวมคดีที่ยื่นมาหรือไม่ โจทก์ก็ยืนยันตามคำร้องที่ได้ยื่นไป แต่ทนายแถลงขอคัดค้านคำร้องขอรวมพิจารณาคดี โดยให้เหตุผล 3 ประการดังนี้
1. วันเวลา และสถานที่เกิดเหตุของคดีนี้ กับคดีที่โจทก์ขอให้รวมพิจารณาแตกต่างกัน
2. องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายของคดีนี้ กับคดีที่โจทก์ขอให้รวมพิจารณาแตกต่างกัน
3. แนวทางการต่อสู้คดีของจำเลยในคดีนี้ กับคดีที่โจทก์ขอให้รวมพิจารณาแตกต่างกัน
หากศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณาจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี
 
จากนั้นศาลก็ถามจำเลยว่าจำเลยเป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 164 ก./2558 หรือไม่ จำเลยยอมรับว่าเป็นคนคนเดียวกัน ศาลจึงมีคำสั่งและอ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยมีคำสั่งว่า พิจารณาว่าทั้งสองสำนวนคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน จึงมีเหตุให้รวมพิจารณา แต่เนื่องจากการรวมพิจารณาจะต้องได้รับความยินยอมจากศาลในคดีดำที่ 164 ก./2558 ก่อน จึงให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลในคดีดำที่ 164 ก./2558 เพื่อขอให้ศาลในคดีดังกล่าวสั่งรวมพิจารณา หากศาลและคู่ความในคดีนั้น ไม่มีเหตุขัดข้อง ให้ถือว่าศาลในคดีนี้ให้ความยินยอมและให้งดการตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ไว้ก่อน ศาลจะกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งต่อไป
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา