ประชาธิปไตยใหม่แจกใบปลิวโหวตโน ที่ชุมชนเคหะบางพลี

อัปเดตล่าสุด: 03/03/2563

ผู้ต้องหา

รังสิมันต์ โรม

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.ท.กัณต์ชวิศ โพธิ์ประสิทธิ์ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ สภ.บางเสาธง

สารบัญ

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่และสมาชิกสหภาพแรงงานรวม 13 คนถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุมจากการจัดกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและแบบฟอร์มการขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตที่ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 
 
ในช่วงเย็นวันเดียวกันทั้ง 13 คนถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจคุมตัวไปที่สน.บางเสาธงเพื่อตั้งข้อกล่าวหา

ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองและข้อหาตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนถูกควบคุมตัวไว้ที่สน.หนึ่งคืนก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังกับศาลทหารในเย็นวันที่ 24 มิถุนายน 2559
 
ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ผู้ต้องหาหกคน ขอประกันตัวด้วยเงินสดคนละ 50,000 บาท ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหาอีกเจ้ดคนไม่ประสงค์จะประกันตัวจึงถูกส่งไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

1.รังสิมันต์ โรม อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 รังสิมันต์เคยถูกดำเนินคดีหลังการรัฐประหารอย่างน้อยสองคดี คือคดีชุมนุมที่หน้าหอศิลป์เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร และคดีขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ซึ่งในคดีนี้รังสิมันต์และเพื่อนๆรวม 14 คนถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยไม่ได้ประกันตัวเป็นเวลา 12 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลไม่ให้ฝากขังต่อในผลัดที่สอง
 
2.นันทพงศ์ อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

3.กรกช หรือ ปอ จบการศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนตุลาคม 2558 ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระเขียนงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง 
 
กรกชทำกิจกรรมการเมืองตั้งแต่สมัยอยู่ปีหนึ่งเทอมสองโดยเข้ากลุ่มเสรีเกษตรเพราะเป็นกลุ่มกิจกรรมหนึ่งในไม่กี่แห่งในมหาวิทยาลัยที่สนใจประเด็นทางการเมือง และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กิจกรรมของกลุ่มนี้ยังเน้นเรื่องสิทธิในการจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชนด้วย
 
สมัยยังเป็นนิสิตที่ม.เกษตร กรกชเคยเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องสิทธิการแต่งกายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพราะมีข่าวว่ามหาวิทยาลัยจะหักคะแนนนิสิตที่แต่งเครื่องแบบผิดระเบียบ การรณรงค์ของกรกชและเพื่อนทำให้การบังคับใช้กฎระเบียบคลายความเข้มงวดลง
 
นอกจากนี้ระหว่างเรียน กรกชยังเคยจัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จัดงานเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมือง จัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งจัดในมหาวิทยาลัยด้วย 
 
หลังเรียนจบกรกชเข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่และทำกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง   

4.อนันต์ อายุ 21 ปี นักศึกษาปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อนันต์เป็นคนที่สนใจประเด็นทางสังคมและการเมือง จึงเข้าทำกิจกรรมในชมรมค่ายอาสาพัฒนารามอีสาน ซึ่งต่อมาอนันต์ได้เป็นประธานชมรม 

5.ธีรยุทธ อายุ 27 ปี สำเร็จการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

6.ยุทธนา อายุ 27 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

7.สมสกุล อายุ 20 ปี นักศึกษาปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

8.วรวุฒิ  อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

9.กรชนก สมาชิกสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ 

10.เตือนใจ นักสหภาพแรงงาน 

11."สุมนรัตน์" นักสหภาพแรงงาน 

12.พรรทิพย์ อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

13.รักษ์ชาติ อายุ 25 ปี นักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ, พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61
ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ผู้ต้องหาทั้ง 13 คน แจกแผ่นพับ และเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่อาจเข้าข่ายเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯและข้อหาชุมนุมเกินห้าคนตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558

พฤติการณ์การจับกุม

เย็นวันที่ 23 มิถุนายน 2559 เวลาประมาณ 17.30 น. ที่บริเวณหลังตลาดสดหมู่บ้านการเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าจับกุมนักกิจกรรมรวม 13 คน ซึ่งมีทั้งนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาชิกสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ ขณะกำลังแจกแผ่นพับ และเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่รณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และแบบฟอร์มขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขต ตามคลิปวิดีโอที่บันทึกโดยจิตรา คชเดช นักกิจกรรมถูกควบคุมตัวขึ้นรถกระบะโดยทหารนาวิกโยธินในเครื่องแบบ 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ภาพ cover จากเพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ https://scontent.fbkk1-4.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/fr/cp0/e15/q65/13466140_1159536120763430_919332972209739517_n.jpg?efg=eyJpIjoidCJ9&oh=cd0729f5953ba66758b6077c2ddb3b3d&oe=5977C6B3

คดีนี้เบื้องต้นพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ ต่อมาเมื่อหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 9/2562 ให้ย้ายคดีของพลเรือนตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 กลับไปพิจารณาโดยศาลยุติธรรม คดีนี้จึงถูกย้ายไปอยู่ในการพิจารณาของศาลจังหวัดสมุทรปราการซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดในที่เกิดเหตุ

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
23 มิถุนายน 2559

เวลาประมาณ 15.45 น.รังสิมันต์ แกนนำขบวนการประชาธิปไตยใหม่โพสต์ภาพการเดินรณรงค์แจกแบบฟอร์มลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกพื้นที่และเอกสารรณรงค์ VOTE NO ที่บริเวณห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลสำโรง พร้อมระบุว่ามีทหารตำรวจมาเจรจาขอให้ยุติการทำกิจกรรมแต่ทางพวกตนยืนยันว่า การณรงค์ประชามติคือสิ่งที่ทำได้เพื่อส่งต่อข้อมูลการตัดสินใจให้กับประชาชนต่อไป
 
ต่อมาเวลาประมาณ 16.14 น. เฟซบุ๊กของขบวนการประชาธิปไตยใหม่เผยแพร่ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกำลังเจรจากับกลุ่มนักกิจกรรมบริเวณตลาดเคหะบางพลีพร้อมระบุว่า การเจรจากับเจ้าหน้าที่ลุล่วงไปได้ด้วยดีนักกิจกรรมยังคงแจกเอกสารรณรงค์ประชามติต่อไปได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์ คสช.
 
ในเวลาประมาณ 17.37 น. เฟซบุ๊กของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เผยแพร่คลิปวิดีโอทหารควบคุมตัวรังสิมันต์ โรมและนักกิจกรรมคนอื่นๆขึ้นรถออกจากพื้นที่ ขณะที่ประชาไท รายงานว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำการจับกุมอ้างว่าจะควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมไปเจรจากับนายอำเภอ ประชาไทระบุว่าผู้ถูกควบคุมตัวมีทั้งหมด 13 คน มีทั้งนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานที่มาแจกเอกสารแนะนำวิธีลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธินอกเขตให้กับผู้ใช้แรงงาน

คลิปเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่จับกุมตัวรังสิมันต์ โรม เพจขบวนการประชาธิปไตยใหม่
 
หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 21.29 น. ประชาไทรายงานว่า ภาวิณี ชุมศรี ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า ตร. สภ.บางเสาธง ทำบันทึกการจับกุมนักกิจกรรมทั้ง 13 คนแต่ทั้ง13 ยืนยันว่าจะไม่ลงชื่อ ขณะที่พนักงานสอบสวนก็เตรียมแจ้งข้อกล่าวหากับทั้ง13 คนต่อไป
 
ต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีนักกิจกรรมหกใน 13 คน ประสงค์จะยื่นคำร้องขอประกันตัว ขณะที่นักกิจกรรมอีกเจ็ดคนไม่ประสงค์จะขอประกันตัวเพราะเห็นว่า ไม่ควรเสียหลักทรัพย์หรือเงินเพื่อให้ได้รับเสรีภาพที่ถูกพรากไปโดยเจ้าหน้าที่ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิด
 
เวลาประมาณ 23.51 น. เฟซบุ๊กของขบวนการประชาธิปไตยใหม่เผยแพร่แถลงการณ์เรื่องการจับกุมตัวผู้จัดกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตโดยระบุว่า 
 
การรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งประชาชนสามารถทำได้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยผู้จัดกิจกรรมยังแจกเอกสารลงทะเบียนขอลงประชามตินอกเขตด้วย เพื่อช่วยให้ประชาชนทราบถึงสิทธิและการรักษาสิทธิของพวกเขา  

การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารในครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และบ่อนทำลายผลประโยชน์ของประชาชน จึงขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและ คสช. และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้จัดกิจกรรมทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไข

24 มิถุนายน 2559

เวลาประมาณ 04.57 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเวลา 2.00 น. พ.ต.ท.กัณต์ชวิศ โพธิ์ประสิทธิ์ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ สภ.บางเสาธง เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯกับผู้ต้องหาทั้งหมดและทยอยสอบปากคำผู้ต้องหา

เบื้องต้นผู้ต้องหาห้าคนแสดงความประสงค์จะขอประกันตัวส่วนผู้ต้องหาอีกแปดคนแสดงความประสงค์ว่าจะไม่ยื่นประกันตัวเพราะเห็นว่าสิ่งที่ทำไปไม่ผิดกฎหมาย จึงไม่มีเหตุต้องขอประกันตัวหรือต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแต่อย่างใด 
 
ต่อมาในเวลา 08.00 น. เฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่รายงานว่า สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่แปดคนยังคงถูกควบคุมตัวในห้องขัง รอสอบสวนเพิ่มเติม ที่สภ.บางเสาธง สมุทรปราการและถูกห้ามไม่ให้พูดคุยกับเพื่อนๆที่ไปเฝ้าอยู่หน้าสถานีตำรวจ 
 
เวลา 9.00 น. เฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่รายงานว่าสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่แปดคน อาจถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากการขัดขืนคำสั่งเจ้าหน้าที่เพราะไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือและอาจถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในช่วงบ่าย
 
ในช่วงบ่ายพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารฝากขังผู้ต้องหาหมดเป็นเวลา 12 วัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเหตุผลการฝากขังของพนักงานสอบสวนและคำคัดค้านของทนายโดยสรุปได้ว่า พนักงานสอบต้องการฝากขังผู้ต้องหาเพราะต้องสอบพยานบุคคล อีกสิบปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา พร้อมกับคัดค้านการประกันตัว เพราะเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำ และเกรงจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

ขณะที่ทนายของผู้ต้องหาก็ทำคำร้องคัดค้านการฝากขังซึ่งสรุปได้ว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง เป็นคำสั่งที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไทยและตามกติการะหว่างประเทศ จึงไม่อาจถูกจำกัดและไม่อาจถือเป็นความผิด นอกจากนี้คำสั่งหัวหน้าคสช. ก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร เพราะตามประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดว่าศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคสช.เท่านั้น ไม่รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. เมื่อศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี จึงไม่มีอำนาจรับฝากขัง   
 
อย่างไรก็ตามในเวลาประมาณ 18.25 น. ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดตามคำร้องของพนักงานสอบสวน และยกคำร้องคัดค้านการฝากขังของฝ่ายผู้ต้องหาเพราะเห็นว่าคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นข้อต่อสู้คดี 
 
ผู้ต้องหาหกรายได้แก่ รักษ์ชาติ, พรรณทิพย์, "สุมนรัตน์", เตือนใจ, กรชนก และวรวุฒิยื่นคำร้องขอประกันตัว ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวันเดียวกันด้วยเงินประกันคนละ 50,000 บาทพร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามยั่วยุปลุกปั่นให้คนออกมาชุมนุมหรือละเมิดกฎหมาย ส่วนผู้ต้องหาอีกเจ็ดรายได้แก่ ยุทธนา, ธีรยุทธ, อนันต์, สมสกุล, กรกช, นันทพงศ์และรังสิมันต์ยืนยันไม่ขอประกันตัว  ทำให้พวกเขาถูกส่งไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
5 กรกฎาคม 2559 

ครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหาผลัดแรก ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนมาศาลโดยเจ็ดคนที่ไม่ได้ขอประกันตัวถูกนำตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่เช้า ขณะที่ทนายของผู้ต้องหาก็ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังต่อศาลตั้งแต่ในช่วงเช้าเช่นกัน เนื่องจากคดีที่อยู่ในความสนใจของนักกิจกรรม นักวิชาการ รวมถึงผู้ติดตามการเมืองส่วนหนึ่ง และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้มีการปล่อยตัวเป็นระยะ การรักษาความปลอดภัยทางเข้าศาลทหารบริเวณศาลหลักจึงมีการกั้นรั้วและตรวจตราอย่างเข้มงวด เพื่อนๆของนักกิจกรรมไม่ได้รับอนุญาตให้เดินเข้าไปที่อาคารศาลแต่ญาติๆ อาจารย์และเจ้าหน้าที่สถานทูตสามารถเดินผ่านแนวรั้วเข้าไปได้

สำหรับบรรยากาศที่หน้าศาลตั้งแต่ในช่วงเช้ามีประชาชนราว 50 คนเดินทางมาให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถุกจองจำทั้งเจ็ดคน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สน.ชนะสงครามเข้ามาเจรจากับชลธิชา นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมในวันนี้ซึ่งหลังการเจรจา เจ้าหน้าที่ยินยอมให้จัดกิจกรรมได้โดยมีข้อแม้ว่าทางผู้จัดจะไม่ใช้เครื่องขยายเสียงและไม่ปล่อยลูกโป่ง

ทางผู้จัดจึงนำบอร์ดรู้จักนักกิจกรรมทั้งเจ็ดซึ่งมีภาพและประวัติส่วนตัวของนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังมาตั้งและให้ผู้มาร่วมกิจกรรมเขียนโพสต์อิทติดที่บอร์ดเพื่อให้กำลังใจ นอกจากนี้ก็มีนักกิจกรรมจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ไทยแลนด์มาถือป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทั้งหมดด้วย

สำหรับบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีก็เป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่ช่วง 10.00 น.ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศและสถานทูต เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล(ICJ) ตัวแทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สวีเดน แคนาดา ฟินแลนด์ เดนมาร์ก รวมทั้งญาติของผู้ต้องหาต่างทยอยเข้าห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลต้องใช้เวลาในการจัดสรรที่นั่งเนื่องจากห้องพิจารณาคดีสามารถรองรับคนได้ประมาณ 40 ถึง 50 คนเท่านั้น

ในเวลาประมาณ 10.40 น. เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับผู้ต้องหาและผู้สังเกตการณ์ว่าจะเลื่อนกระบวนการไปช่วงบ่ายเพราะพนักงานสอบสวนจะมาถึงประมาณ 13.00 น. ผู้สังเกตการณ์บางส่วนจึงทยอยเดินทางกลับ

เวลาประมาณ 13.50 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ ร.ต.อ.วิฑูรย์ เพ็งบุบผา พนักงานสอบสวนสน. บางเสาธง ยื่นคำร้องขอฝากขังผลัดที่สองเป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างเหตุว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายของผู้ต้องหาที่หนึ่งขออนุญาตถามพนักงานสอบสวน และขอให้พนักงานสอบสวนสาบานตัวก่อนการซักถาม ทนายถามว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานที่เป็นที่ยังหาไม่พบอีกเยอะหรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่าไม่มีแล้ว ทนายถามเพื่อให้ยืนยันเอกสารที่ผู้ต้องหาเอาไปแจก ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่า ของกลางในคดีนี้ยึดไว้ที่สถานีตำรวจหมดแล้ว แต่ไม่สามารถยืนยันว่าเอกสารที่ทนายนำมาให้ดูในศาลวันนี้เหมือนเอกสารที่ยึดไว้หรือไม่

ทนายถามต่อว่าขณะนี้สอบสวนพยานเสร็จทุกปากแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่า การสอบสวนตอนนี้เสร็จสิ้นแล้วและได้สรุปสำนวนการสอบสวนทำความเห็นแล้ว ขณะนี้สำนวนอยู่ระหว่างเสนอผู้บังคับบัญชาทำความเห็น

ทนายถามว่า ตอนนี้ไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ตอบคำถามนี้ไม่ได้เพราะผู้บังคับบัญชาอาจจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมก็ได้ ทนายความจึงถามว่าในส่วนที่เป็นหน้าที่ของร.ต.อ.วิฑูรย์ ไม่จำเป็นต้องสอบสวนอะไรแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่าใช่

ทนายถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ต้องหาก็ไม่มีโอกาสยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่าใช่ ทนายถามต่อว่า ไม่มีความจำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่า ถ้าสำนวนยังไม่ถึงอัยการก็ต้องขอควบคุมตัวไว้ก่อน เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนต้องเอาตัวผู้ต้องหามาส่งให้อัยการด้วย กรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวไว้เลยก็จะให้มาตามคำสั่งได้ยาก

ทนายถามว่า การจะให้ผู้ต้องหามาก็สามารถออกหมายเรียกและหมายจับได้ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ทำได้แต่ไม่สะดวกต่อการดำเนินการ

ทนายถามว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่เคยมีประวัติมีคำพิพากษาให้จำคุกใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า คนที่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือได้ตรวจประวัติแล้วไม่พบแต่คนที่ไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือตรวจประวัติไม่ได้

รังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาที่หนึ่งขอถามพนักงานสอบสวนว่า "อิสรภาพของพวกผมเป็นปัญหาต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมหรือไม่" ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ในเรื่องของการรวบรวมพยานหลักฐานไม่สามารถยึดโยงได้ว่าเป็นอุปสรรคหรือไม่ แต่มีความจำเป็นบางเรื่องตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ปกติเรามีกระบวนการบังคับด้วยสัญญาประกันตัวแต่ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดไม่มีอะไรเป็นเครื่องบังคับ

ร.ต.อ.วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า "ผมกับทุกคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เราทุกคนต่างอยู่ในหน้าที่ของแต่ละคน ก่อนจะทำอะไรทุกคนต้องมองไปข้างหน้าและยอมเห็นผลลัพธ์ของการกระทำและต้องรับผิดชอบในกระบวนการของตัวเอง ผมเป็นพนักงานสอบสวนก็ต้องทำตามกฏหมาย" รังสิมันต์ ถามต่อว่า ผู้ต้องหาหกคนที่ได้ประกันตัวได้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ไม่ได้มาติดต่อหรือเกี่ยวข้องอะไรกับตน

รังสิมันต์ พยายามถามว่า การที่ผู้ต้องหามีอิสรภาพจะกระทบกับกระบวนการอย่างไร แต่ศาลบอกว่าประเด็นนี้ได้ถามไปแล้วไม่จำเป็นต้องถามอีก ร.ต.อ.วิฑูรย์ กล่าวกับทุกคนว่า ที่ผ่านมาได้เร่งดำเนินการเต็มที่แล้วให้เสร็จภายในผัดเดียว คดีนี้เข้าใจดีอยู่แล้ว ทุกคนก็รุ่นๆลูกของตนทั้งนั้น

รังสิมันต์ ขอแถลงต่อศาลซึ่งสรุปเป็นห้าประเด็นคือ

1.ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนยืนยันว่าทุกคนเป็นพลเรือน ศาลทหารไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีของพลเรือน ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ออกโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้เพื่อให้พลเรือนขึ้นศาลทหารอีก

2. การจับกุมผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนเกิดขึ้นทั้งที่ในชั้นต้นเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ทำกิจกรรมได้ สิ่งที่พวกตนทำจึงไม่เป็นความผิด ตอนที่ถูกจับเจ้าหน้าที่ก็ไม่ชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงจับ แต่บอกว่าเชิญไปคุย เมื่อพวกตนปฏิเสธก็โดนอุ้มไป โดยไม่มีการแจ้งสิทธิ์และแจ้งข้อกล่าวหา

3. ประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองถูกยกเลิกแล้วโดยการออกพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับทั่วไปเหมือนกัน ตามหลักนิติศาสตร์ กฎหมายใหม่ย่อมยกเลิกกฎหมายเก่า จึงนำประกาศฉบับดังกล่าวมาใช้ตั้งข้อหากับพวกตนไม่ได้

4. มีการทำกิจกรรมรณรงค์ Vote No มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนก็ไม่มีใครแจ้งความดำเนินคดี กกต.ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงก็ไม่ดำเนินคดี การที่พนักงานสอบสวนอ้างบทบัญญัติตามพ.ร.บ.ประชามติฯ โดยที่กกต.ไม่ได้เป็นผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย

5. "การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่มีหน้าที่เพียงทำตามคำสั่งเท่านั้น แต่ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าท่านไม่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องคือท่านไม่ได้ทำตามหน้าที่ มองตาพวกเราสิครับ พวกเราเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้พวกเราจะมีวาระสุดท้ายในเรือนจำก็ยืนยันว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ แม้ปืนจะจ่อหัวอยู่ก็ตาม"

ถาวร ปิยะวงศ์รุ่งเรือง ทนายของผู้ต้องหาที่สาม หก และสิบ ขออนุญาตศาลถามพนักงานสอบสวนสองคำถาม ศาลอนุญาตแต่มีผู้ต้องหาขอแถลงก่อน

นันทพงศ์ ปานมาศ ผู้ต้องหาที่ 13 แถลงว่า "สิ่งที่ปวดใจที่สุดคือในวันที่พวกผมถูกจับมีพยานหลักฐานชัดเจนว่าปลัดอำเภอและทหารยศเรือโทอนุญาตให้แจกใบปลิวได้ ขณะที่พูดผ่านโทรโข่งก็มีคนมาบอกว่าต้องพูดแบบไหน แต่วันนี้กลับถูกพามาศาลทหารและถูกพันธนาการด้วยโซตรวน ซึ่งในวันนี้ก็จะไม่ยื่นประกันตัวเพราะเชื่อในความบริสุทธิ์"

ระหว่างการแถลง นันทพงศ์ยังเล่าถึงความลำบากในเรือนจำด้วยว่า พวกเขาหลายคนป่วยและเป็นโรคผิวหนัง นอกจากนี้ กรกช แสงเย็นพันธุ์ ก็ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยและต้องหาเงินส่งที่บ้าน แต่ศาลบอกว่าประเด็นเหล่านี้ปรากฏอยู่ในคำร้องคัดค้านการฝากขังแล้ว จึงไม่อนุญาตให้แถลงซ้ำ

นันทพงศ์พยายามแถลงว่าพรุ่งนี้เป็นวันเปิดเรียนของมหาวิทยาลัยรามคำแหงและผู้ต้องหาส่วนหนึ่งก็เรียนอยู่ที่รามคำแหง นอกจากนี้ตนเองก็มีภารกิจต้องสอบเนติบัณฑิตและทำเรื่องให้จบปริญญาโท ศาลก็กล่าวว่าอ่านประเด็นเหล่านี้ในคำร้องแล้วไม่ต้องแถลงอีก

นันทพงศ์กล่าวปิดท้ายว่า การเรียนมหาลัยของรัฐใช้เงินภาษีประชาชน ที่เรียนมาก็ตั้งใจตอบแทนภาษีประชาชน การออกมาเรียกร้องครั้งนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้แก่พลเมือง เป็นสิ่งที่พลเมืองควรได้ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน นันทพงศ์ยังกล่าวด้วยว่า หากศาลให้ฝากขังต่อก็จะอดอาหารประท้วงจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม หลังนันทพงศ์แถลงเสร็จทนายถาวรก็เริ่มถามพนักงานสอบสวน

ทนายถามร.ต.อ.วิฑูรย์ว่า คดีนี้ได้ทำความเห็นทางคดีแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า หลังเกิดเรื่องนี้มีคำสั่งแต่งตั้งงานสอบสวนเป็นคณะและได้เร่งรัดทำคดีให้เสร็จภายในฝากที่หนึ่งแล้ว ยังเหลือขั้นตอนอีกเล็กน้อย

ทนายความถามต่อว่า ผู้บังคับบัญชามีความเห็นในคดีนี้แล้วหรือยัง ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ยัง ทนายถามต่อว่า การทำความเห็นของผู้บังคับบัญชาต้องใช้เวลากี่วัน ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ตอบไม่ได้เพราะไม่สามารถก้าวล่วงได้

หลังจากนั้นศาลถามพนักงานสอบสวนว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตามเอกสารใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ใช่ ศาลกล่าวว่าตอนนี้ได้รับข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว และสั่งพักการพิจารณาเพื่อทำคำสั่งในเวลาประมาณ 14.30 น.

เวลาประมาณ 15.20 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์และอ่านคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ในการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาว่าจะทำความเห็นสั่งฟ้อง หรือไม่ จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ต่อไป

หลังศาลอ่านคำสั่งผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนต่างดีใจกอดกัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจงกับญาติว่า ตามหมายฝากขังผลัดแรก ทางราชทัณฑ์จะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาถึงเวลาเที่ยงคืน แต่ตามระเบียบจะไม่มีการปล่อยตัวในช่วงดึก ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงจะถูกควบคุมตัวต่ออีกหนึ่งคืนและจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 8.00 น.ของวันที่ 6 กรกฎาคม

6 กรกฎาคม 2559

ตามที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมีกำหนดปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดในเวลาประมาณ 8.00 น. ปรากฎว่าตั้งแต่เวลาประมาณ 5.00 น. สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวพลเมืองที่ไปสังเกตการณืปล่อยตัวโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กว่า มีการนำรถฉีดน้ำและรั้วเหล็กมาขวางบริเวณป้ายเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อป้องกันการใช้เป็นฉากหลังในการแถลงข่าว

ประมาณ 8.30 น. ผู้ต้องหาหกคนถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพแต่กรกชถูกอายัดตัวไว้ก่อนเพราะเขาเป็นผู้ต้องหาคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ (ดูรายละเอียดในฐานข้อมูลคดีของเรา ที่นี่) หลังผู้ต้องหาหกคนได้รับการปล่อยตัวพวกเขาก็เดินทางไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อไปรอพบกรกชทันที   

มติชนออนไลน์รายงานว่า ในช่วงค่ำวันเดียวกัน กรกชได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังศาลทหารให้ประกันตัวในคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์
 
1 พฤศจิกายน 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการทหารยื่นฟ้องรักษ์ชาติ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และความผิดตามมาตรา 61ของพ.ร.บ.ประชามติฯต่อศาลทหารกรุงเทพแล้ว ศาลรับฟ้องคดีนี้และให้รักษ์ชาติประกันตัวด้วยเงินสด 50,000 บาทโดยไม่ตั้งเงื่อนไขใดๆ
 
28 มีนาคม 2560 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพออกหมายเรียกกรชนก เตือนใจ และ"สุมนรัตน์" ผู้ต้องหาสามคนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในจังหวัดสมุทรปราการสอบคำให้การในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 
 
18 พฤษภาคม 2560 
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การกรชนก เตือนใจ และ "สุมนรัตน์" โดยเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาโดยมีคำสั่งอนุญาตให้ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นทนายของจำเลยทั้งสามคน 
 
ศาลถามผู้ต้องหาทั้งสามว่าได้รับคำฟ้องแล้วหรือยังผู้ต้องหาทั้งสามตอบว่าได้รับแล้ว ศาลถามจำเลยทั้งสามว่าพร้อมให้การวันนี้เลยหรือไม่ ทั้งสามตอบว่าพร้อมให้การ ศาลจึงอ่านคำฟ้องให้ฟังพร้อมกับถามจำเลยทั้งสามคนว่าเข้าใจฟ้องของโจทก์หรือไม่และพร้อมให้การวันนี้เลยหรือไม่ ทั้งสามตอบว่าเข้าใจและให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อัยการทหารจึงแถลงขอสืบพยาน
 
ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานหนึ่งนัด อัยการแถลงว่าคดีนี้พยานส่วนใหญ่เป็นพยานบุคคลไม่มีพยานเอกสารที่ส่งตรวจพิสูจน์ และพยานเอกสารท้ายฟ้องทางทนายสามารถขอศาลคัดถ่ายเอกสารได้ แต่ทนายจำเลยแย้งว่านัดตรวจพยานหลักฐานมีความสำคัญเพราะทีมทนายต้องการจะสอบถามถึงแนวทางการนำสืบ

ทนายจำเลยแถลงว่าเนื่องจากคดีนี้มีจำเลยถูกฟ้องแล้วสี่คนคือสามคนที่มาศาลในวันนี้และอีกหนึ่งคนที่ถูกฟ้องแยกเป็นอีกหนึ่งคดีที่ศาลนัดสอบคำให้การวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ซึ่งทางทีมทนายจะขอรวมคดีต่อไป จึงขอให้ศาลนัดวันตรวจพยานหลักฐานเสียหนึ่งนัดเพื่อให้ทีมทนายได้ซักถามถึงแนวทางการสู้คดีของโจทก์ ศาลจึงให้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 เวลา 8.30 น. และให้ทนายจำเลยแจ้งกับองค์คณะที่พิจารณาคดีจำเลยอีกคนหนึ่งว่าหากมีการรวมคดีศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานแล้ว 
 
อัยการทหารแถลงว่าในนัดตรวจพยานหลักฐานขอให้ทนายจำเลยนำบัญชีหลักฐานมาให้ตรวจด้วย ทนายจำเลยรับว่าจะดำเนินการตามนั้น ศาลจึงสั่งให้คู่ความส่งบัญชีพยานหลักฐานสู่ศาลอย่างน้อยเจ็ดวันก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน
 
 
3 worker defendants in the NDM Vote no pamphlet  case

ภาพจำเลยในคดีสามคนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งศาลนัดสอบคำให้การแล้วในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 จาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
24 พฤษภาคม 2560
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารกรุงเทพนัดรักษ์ชาติสอบคำให้การโดยศาลเริ่มกระบวนพิจารณาในเวลาประมาณ 10.15 น. ก่อนเริ่มถามคำให้การรักษ์ชาติ ศาลสอบคำให้การและอ่านคำพิพากษาคดียาเสพติดอีกคดีหนึ่งซึ่งจำเลยเป็นพลเรือนแต่ต้องมาขึ้นศาลทหารเพราะระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจค้นบ้านพบว่าจำเลยครอบครองกระสุนปืนอาวุธสงครามซึ่งเป็นความผิดประกาศคสช.ฉบับที่ 50/2557 กำหนดให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร
 
หลังศาลอ่านคำพิพากษาคดียาเสพติดเสร็จ ศาลจึงถามรักษ์ชาติว่ามีทนายแล้วหรือยัง เมื่อรักษ์ชาติตอบว่ามีแล้วก็อ่านคำฟ้องให้ฟังก่อนจะถามว่า รักษ์ชาติจะให้การอย่างไร รักษ์ชาติแถลงให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี ส่วนอัยการทหารแถลงว่า ติดใจสืบพยาน

ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าขอให้มีนัดตรวจพยานหลักฐานสักหนึ่งครั้ง โดยขอให้ศาลนัดเป็นวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ศาลอีกองค์คณะหนึ่งนัดจำเลยอีกสามคนที่ถูกจับจากการกระทำเดียวกันแต่ถูกฟ้องแยกเป็นอีกคดีหนึ่งตรวจพยานหลักฐาน ศาลจึงสั่งให้คู่ความส่งบัญชีพยานหลักฐานต่อศาลก่อนวันนัดตรวจพยานอย่างน้อยเจ็ดวันเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายได้ตรวจและนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ตามที่ทนายจำเลยร้องขอ
 
25 มิถุนายน 2560
 
ขณะที่รังสิมันต์นั่งทำงานอยู่ที่หอสมุดเมืองกรุงเทพ ในเวลาประมาณ 16.30 และมีนัดจะไปร่วมงาน "85 ปี 24 มิถุนา Start up Talk"  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงตัวเข้าจับกุม โดยแสดงหมายจับในคดีนี้โดยระบุว่า พนักงานสอบสวนเคยนัดรังสิมันต์เพื่อส่งตัวให้อัยการแต่รังสิมันต์และพวกอีกหกคนไม่มีตามนัดจึงมีการออกหมายจับ
 
หลังทำการจับกุม เจ้าหน้าที่พารังสิมันต์ไปทำบันทึกการจับกุมที่ สน.ชนะสงครามก่อนจะส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวนสภ.บางเสาธงซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน รังสิมันต์ถูกควบคุมตัวในห้องขังที่ สภ.บางเสาธง เป็นเวลาหนึ่งคืนเพื่อรอนำตัวไปส่งอัยการศาลทหารในวันที่ 26 มิถุนายน 2560
 
รังสิมันต์เปิดเผยว่า หมายจับที่เจ้าหน้าที่แสดงกับตนถูกออกตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2559 แล้ว ซึ่งหลังมีการออกหมายจับตนยังคงทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและเคยพบเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้งแต่กลับไม่เคยถูกจับกุม

รังสิมันต์เชื่อว่าการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเขาประกาศต่อสาธารณะว่า ในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ตัวเขาในนามกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงรถไฟไทย-จีนทั้งหมด  
 
26 มิถุนายน 2560
 
บีบีซีไทยรายงานว่า รังสิมันต์ถูกนำตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อให้อัยการทหารส่งตัวฟ้องต่อศาลทหาร ในเวลาประมาณ 14.40 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวรังสิมันต์โดยวางเงินประกัน 50,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาต

รังสิมันต์ถูกนำตัวไปขังรอคำสั่งประกันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก่อนจะถูกปล่อยตัวในช่วงค่ำ
 
7 ธันวาคม 2560
 
อัยการทหารนัดผู้ต้องหาหกคนในคดีนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องเข้าพบเพื่อฟังคำสั่งคดีได้แก่ ยุทธนา สมสกุล อนันต์ นันทพงศ์ ธีรยุทธ กรกช อย่างไรก็ตามอัยการทหารยังตรวจสำนวนคดีในส่วนของผู้ต้องหาทั้งหกไม่แล้วเสร็จ จึงมีคำสั่งให้เลื่อนไปฟังคำสั่งคดีวันที่ 23 มกราคม 2561 แทน

5 accused person in the Bang Plee Vote no campaign case report themselves to the military prosecutor at the Bangkok Military Court

ผู้ต้องหาห้าคนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดีเดินทางเข้าพบอัยการศาลทหารกรุงเทพ 7 ธันวาคม 2560
 
23 มกราคม 2561
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ

ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า อัยกาทหารมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติเพิ่มเติมอีกหกคน ได้แก่ ยุทธนา สมสกุล อนันต์ นันทพงศ์ ธีรยุทธและกรกชร
 
ทนายจำเลยยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 50,000 บาท หกคน รวม 300,000 ยื่นประกันต่อศาล ศาลให้ประกันตัวในวงเงินคนละ50,000บาท ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหกโดยตั้งเงื่อนไขห้ามทั้งหกกระทำการใดๆอันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง อันอาจก่อให้เกิดภยันตรายใดๆที่กระทบต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือกระทำการใดๆเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย

จำเลยทั้งหกถูกนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันเดียวกัน
 
5 กันยายน 2561
 
นัดสอบคำให้การ
 
ศาลทหารกรุงเทพเลื่อนนัดสอบคำให้การรังสิมันต์ หนึ่งในจำเลยคดีนี้ออกไปเป็นวันที่ 13 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยคนอื่นๆในคดีนี้
 
13 กันยายน 2561
 
นัดสอบคำให้การ
 
เวลา 8.30 น.ศาลทหารกรุงเทพนัด รังสิมันต์ กรกช นันทพงศ์ อนันต์ ธีรยุทธ  ยุทธนา สมสกุล จำเลยคดีนี้อีกเจ็ดคนที่ยังไม่ได้ให้การต่อศาลสอบคำให้การ เนื่องจากอนันต์ หนึ่งในจำเลยมาถึงศาลล่าช้า กระบวนพิจารณษคดีนี้จึงไปเริ่มในเวลาประมาณ 10.15 น.
 
เนื่องจากอัยการทหารแยกฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นสี่สำนวนคดีเพราะได้ตัวจำเลยมาฟ้องต่อศาลในเวลาที่แตกต่างกัน กรชนก เตือนใจ และ "สุมนรัตน์" ถูกฟ้องเป็นสำนวนคดีที่หนึ่ง รักษ์ชาติเป็นสำนวนคดีที่สอง  รังสิมันต์เป็นสำนวนคดีที่ 3 และ ยุทธนา สมสกุล อนันต์ นันทพงศ์ ธีรยุทธและกรกช เป็นสำนวนคดีที่ 4

เมื่อรังสิมันต์และจำเลยที่ถูกฟ้องในสำนวนคดีที่สี่ทั้งหกคนมาถึงที่ห้องพิจารณษคดี 4 ศษลแจ้งกับจำเลยหกคนที่ถูกแยกฟ้องเป็นสำนวนคดีที่สี่ว่าให้ไปรอที่ห้องพิจารณาคดี 3 ซึ่งอยู่ติดกันส่วนที่ห้องพิจารณษคดี 4 ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาสำนวนคดีที่รังสิมันต์ถูกฟ้องเพียงคนเดียว
 
ศาลอ่านบรรยายฟ้องให้รังสิมันต๋์ฟังและถามว่าเข้าใจหรือไม่ รังสิมันต์รับว่าเข้าใจและตอบศาลว่าพร้อมให้การในวันนี้ หลังจากนั้นรังสิมันต์ขออนุญาตแถลงต่อศาลสรุปได้ว่า
 
คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 พ.ร.บ.ประชามติฯ และคำสั่งคมช.ฉบับที่ 25/2549 (กำหนดความผิดผู้ต้องหาคดีอาญาที่ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือกับพนักงานสอบสวน) เป็นกฎหมายที่ไม่ชอบเนื่องจากถูกออกโดยกลุ่มบุคคลที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้าข่าวยความผิดฐานกบฎตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 คำสั่งและพ.ร.บ.ที่โจทก์นำมาใช้ฟ้องจำเลยจึงไม่ชอบและไม่อาจเอาผิดจำเลยได้
 
ศาลทหารอาจไม่มีความเป็นกลางในการพิจารณาคดีเนื่องจากศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งกับจำเลยในคดีนี้ ศาลทหารจึงอาจไม่สามารถเอานวยความยุติธรรมให้จำเลยในคดีนี้ได้ 
 
จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนจึง ศาลทหารจึงไม่มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาคดีของจำเลย
 
หลังรังสิมันต์แถลงจบได้ขอให้ศาลบันทึกคำแถลงลงในรายงานกระบวนพิจารณา เบื้องต้นศาลชี้แจงว่าในขั้นตอนนี้เป็นเพียงการบันทึกคำให้การว่าจำเลยจะรับสารภาพหรือปฏิเสธเท่านั้น แต่สิ่งที่จำเลยแถลงมาเป็นเหมือนแนวทางการต่อสู่คดีซึ่งยังไม่อยู่ในชั้นนี้ อย่างไรก็ตามรังสิมันต์แถลงยืนยันขอให้ศาลบันทึกเขาแถลงของเขาไปด้วยโดยอาจจะบันทึกโดยย่อก็ได้
 
ศาลชี้แจงกับรังสิมันต์ว่าหากตัวเขาติดใจก็สามารถเขียนคำแถลงยื่นเข้ามาเป็นเอกสารภายหลังได้ซึ่งจะทำให้มีใจความครบถ้วนกว่าให้ศาลบันทึก และคำแถลงที่แนบเข้ามาก็จะอยู่ในสำนวนคดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามรังสิมันต์ยังแถลงยืนยันขอให้ศาลบันทึกตามเดิม
 
ทนายจำเลยก็ลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า คำแถลงของรังสิมันต์เป็นคำแถลงประกอบคำให้การซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาศาลต้องบันทึกให้หากเป็นเจตนารมณ์ของจำเลย ศาลชี้แจงว่าจำเลยสามารถแถลงได้แต่การสรุปและการบันทึกสำนวนเป็นดุลพินิจของศาล
 
ศาลถามรังสิมันต์ด้วยว่าในคำแถลงของรังสิมันต์ดูจะมีลักษณะเป็นการคัดค้านเขตอำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีนี้ด้วย หากรังสิมันต์ประสงค์จะคัดค้านเขตอำนาจศาลก็สามารถยื่นคำร้องให้ศาลทหารส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยได้ ศาลชี้แจงด้วยว่าสิ่งที่รังสิมันต์แถลงต่อศาลดูเหมือนจะมีความซ้ำซ้อนอยู่สองประเด็นคือประเด็นที่จะให้การปฏิเสธ กับประเด็นที่รังสิมันต์ไม่ยอมรับอำนาจศาลทหาร
 
หากรังสิมนต์จะให้การก็หมายความว่ายอมรับเขตอำนาจศาลทหารเหนือคดีนี้ แต่หากไม่ยอมรับอำนาจก็ให้ส่งคำแถลงคัดค้านเขตอำนาจศาลทหารมาและยังไม่ต้องให้การในวันนี้
 
ในตอนหนึ่งระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายโต้ตอบกันศาลชี้แจงด้วยว่าศาลเห็นว่าประกาศ และคำสั่ง รวมทั้งพ.ร.บ.ประชามติฯ ตามฟ้องโจทก์คดีนี้ถือเป็นกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของศาลในคดีนี้ก็เป็นแต่เพียงค้นหาความจริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ส่วนที่จำเลยเห็นว่าประกาศ คำสั่ง และพ.ร.บ.ประชามติฯไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเพียงความเห็นของจำเลยและไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายแต่น่าจะเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ 
 
หลังถกเถียงในประเด็นเรื่องการบันทึกคำแถลงของรังสิมันต์ในรายงานกระบวนพิจารณาได้ราว 30 – 45 นาที ศาลก็แจ้งกับรังสิมันต์ว่าจะใช้ดุลพินิจบันทึกคำแถลงของจำเลยโดยสรุปในรายงานกระบวนพิจารณาว่า
 
จำเลยให้การปฏิเสธเพราะเห็นว่าคำสั่งและพระราชบัญญัติตามฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลทหารไม่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาจำเลยซึ่งเป็นบุคคลพลเรือน และชี้แจงต่อว่าหากจำเลยติดใจการบันทึกของศาลก็สามารถส่งคำแถลงคัดค้านได้
 
เกี่ยวกับเรื่องการแถลงคัดค้านเขตอำนาจศาล ศาลชี้แจงว่าจำเลยสามารถส่งคำแถลงมาได้ แต่เนื่องจากมีจำเลยในคดีอื่นๆส่งคำแถลงลักษณะนี้มาหลายคดีแล้วและคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยมาแล้ว
 
หากแนวทางการคัดค้านของจำเลยคล้ายคลึงกับเหตุผลของจำเลยในคดีอื่นศาลอาจใช้ดุลพินิจไม่ส่งคำแถลงคัดค้านเขตอำนาจศาลของจำเลยให้ศาลอาญา แต่หากเหตุผลของจำเลยมีประเด็นใหม่ศาลก็จะส่งให้ อย่างไรก็ตามทนายจำเลยแถลงว่าในชั้นนี้ยังไม่ตัดสินใจเรื่องการคัดค้านเขตอำนาจศาล
 
หลังจากนั้นอัยการทหารแถลงต่อศาลว่าจะขอนำพยานเข้าสืบและขอให้รวมคดีนี้กับสำนวนคดีของกรชนก เตือนใจ และ "สุมนรัตน์" ซึ่งเป็นสำนวนคดีหลักและมีการฟ้องต่อศาลมาก่อนแล้วเนื่องจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นเรื่องเดียวกัน ทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้านการรวมคดี
 
หลังจากนั้นศาลชี้แจงกับคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า เรื่องการรวมคดีองค์คณะที่พิจารณาคดีนี้ไม่เห็นค้าน แต่โจทก์ต้องนำรายงานกระบวนพิจารณาคดีนี้ไปยื่นต่อองค์คณะที่เป็นเจ้าของสำนวนคดีของกรชนก เตือนใจ และ "สุมนรัตน์"ซึ่งเป็นสำนวนคดีหลักก่อน หากองค์คณะดังกล่าวไม่เห็นค้านก็ให้รวมคดี ส่วนกำหนดนัดหมายคดีนัดต่อไปในวันนี้ยังไม่สามารถกำหนดวันได้จนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการรวมคดี
 
หลังศาลพิจารณาคดีของรังสิมันต์แล้วเสร็จในเวลาประมาณ 11.30 น. สองในสามองค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีของรังสิมันต์ก็เดินไปที่ห้องพิจารณาคดี 3 ซึ่งจำเลยอีกหกคนนั่งรอการพิจารณาอยู่โดยกระบวนพิจารณาคดีในห้องนี้ใช้เวลาไม่นานนัก

ศาลอ่านและบรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งหกฟัง หลังจากนั้นจำเลยทั้งหกแถลงให้การปฏิเสธและแจ้งศาลว่าจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน อัยการทหารแถลงว่าติดใจจะสืบพยานและขอให้รวมสำนวนคดีนี้กับสำนวนคดีของ  กรชนก เตือนใจ และ "สุมนรัตน์" ซึ่งเป็นสำนวนคดีหลัก ฝ่ายจำเลยไม่คัดค้าน ศาลสั่งให้อัยการทหารไปดำเนินการเรื่องการรวมคดีเช่นเดียวกับสำนวนคดีของรังสิมันต์ โดยยังไม่กำหนดวันนัดต่อไป 
 
26 พฤศจิกายน 2561
 
นัดรวมคดี
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตามที่อัยการศาลทหารกรุงเทพร้องขอให้ศาลรวมคดีของจำเลยซึ่งก่อนหน้านี้ฟ้องแยกเป็นสี่สำนวนคดีเนื่องจากได้ตัวจำเลยมาฟ้องในวันและเวลาที่แตกต่างกันเมาเป็นสำนวนคดีเดียวเนื่องจากการกระทำตามข้อกล่าวหาเป็นเหตุการณ์เดียวกันและพยานหลักฐานที่จะใช้ในคดีเป็นชุดเดียวกัน

ในวันนี้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้รวมคดีก่อนจะนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลยังสั่งให้ทนายจำเลยยื่นบัญชีพยานหลักฐานภายในระยะเวลาเจ็ดวันก่อนถึงวันนัดตรวจพยานหลักฐานด้วย 

ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยเนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีนี้ใช้เวลายาวนานเป็นการสร้างภาระในการต่อสู้คดีกับจำเลย อย่างไรก็ตามศาลยังไม่มีคำสั่งในคำขอของทนายจำเลยส่วนนี้
 
11 กุมภาพันธ์ 2562
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน

จำเลยทยอยเดินทางมาถึงศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. ก่อนจะมาครบในเวลาประมาณ 9.40 น. หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลจึงขึ้นบัลลังก์ ในวันนี้นอกจากจำเลยทั้ง 13 คน และคณะทนายจำเลยแล้วยังมีนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทนายความจากสหรัฐอเมริกามาร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีด้วย

ก่อนเริ่มการพิจารณาทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และแม้จำเลยจะถูกกล่าวหาในขความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61(2) ด้วย แต่ข้อหาดังกล่าวหาไม่ได้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร จึงขอให้ศาลจำหน่ายคดี 
 
หลังศาลขึ้นบัลลังก์ก็แจ้งกับทนายจำเลยว่าตามที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องเข้ามานั้นมีลักษณะเป็นการคัดค้านเขตอำนาจศาล จากนั้นศาลจึงอ่านรายการกระบวนพิจารณาซึ่งพอสรุปได้ว่า ตามที่หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 ซึ่งมีสาระสำคัญประการหนึ่งคือยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายใหม่ออกมายกเลิกความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 จำเลยทั้งหมดจึงพ้นจากความผิดเฉพาะในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ให้จำหน่ายคดีในส่วนนี้

ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งจำเลยเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพให้คู่ความทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลส่งศาลภายในศาลทหารกรุงเทพภายใน 30 วันจากนั้นศาลทหารกรุงเทพจึงจะทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลส่งไปยังศาลจังหวัดสมุทรปราการต่อไป และเมื่อมีความเห็นจากศาลจังหวัดสมุทรปราการกลับมาศาลทหารกรุงเทพจึงจะนัดให้จำเลยทั้ง 13 มาฟังคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง
 
22 กรกฎาคม 2562
 
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่รับผิดชอบคดีนี้ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้อัยการทหารเคยนัดให้วรวุฒิ ผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกเอาตัวมาฟ้องต่อศาล มาฟังคำสั่งคดีในวันนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศที่ให้คดีพลเรือนบางประเภทอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร โดยกำหนดให้ย้ายคดีของพลเรือนไปให้ศาลปกติพิจารณาพิพากษาต่อ โดยให้ถือว่า กระบวนพิจารณาในศาลทหารเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบและให้ถือว่า กระบวนพิจารณาในศาลทหารเป็นกระบวนพิจารณาของศาลที่รับโอนคดีไปด้วย
 
ทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ดูแลสำนวนคดีของวรวุฒิจึงโทรศัพท์ไปสอบถามอัยการทหารหลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ออกมาว่า กระบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งอัยการทหารตอบว่า ขณะนี้อัยการทหารไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อวรวุฒิแล้ว เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนที่จะต้องส่งสำนวนฟ้องคดีต่ออัยการพลเรือนให้ส่งฟ้องต่อศาลปกติต่อไป

สำหรับจำเลยในคดีนี้คนอื่นๆ ที่มีการส่งตัวฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพไปแล้ว ศาลทหารกรุงเทพจะมีหมายไปเรียกให้จำเลยที่ถูกฟ้องคดีแล้วมาฟังคำสั่งเรื่องการโอนย้ายคดี จากนั้นจะเป็นเรื่องระหว่างศาลทหารกับศาลพลเรือนที่จะโอนย้ายสำนวนกัน จากนั้นศาลพลเรือนก็จะออกหมายเรียกให้จำเลยมารายงานตัวเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป 
 
9 สิงหาคม 2562
 
นัดฟังคำสั่งโอนย้ายคดี
 
จำเลย 11 คน ทยอยเดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.30 น. หลังจากนั้นศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10.45 น. หลังขึ้นบัลลังก์ ศาลทำการเช็คชื่อจำเลยทั้งหมด 11 คน ทนายของรังสิมันต์แถลงว่าขณะนี้จำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากติดประชุมสภา ขอให้ศาลอนุญาตให้รังสิมันต์มาลงลายมือชื่อในช่วงบ่ายวันเดียวกันแทน ศาลอนุญาต
 
จากนั้นศาลอ่านคำสั่งคดีซึ่งพอสรุปได้ว่า
 
เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ตามข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการกำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามที่ระบุในบัญชีสองท้ายคำสั่งนี้ กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม 
 
จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรม ให้จ่าศาลคัดถ่ายสำนวนคดีเก็บไว้ที่ศาลนี้ด้วย และสัญญาประกันของจำเลยทั้ง 11 คนให้มีผลต่อไป

ในเวลาต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนูษยชนให้ข้อมูลว่าศาลจังหวัดสมุทรปราการกำหนดวันนัดพร้อมคดีนี้แล้วเป็นวันที่ 20 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น.
 
20 มกราคม 2563

นัดพร้อม
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลจังหวัดสมุทรปราการกำหนดวันนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 2 มีนาคม 2563 เวลา 13.30 น.
 
ศาลยังสั่งให้จำเลยทั้งหมดทำสัญญาประกันใหม่ โดยใช้หลักทรัพย์และเงื่อนไขข้อกำหนดตามสัญญาประกันเดิมที่เคยยื่นต่อศาลทหารกรุงเทพ 
 
ในวันนี้กรชนกจำเลยที่สามมีอาการป่วย จึงขอเลื่อนทำสัญญาประกันออกไปก่อนโดยจะมาทำสัญญาประกันกับศาลภายในหนึ่งเดือน
 
3 กุมภาพันธ์ 2563
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัยการจังหวัดสมุทรปราการนัดaฟ้องคดีของวรวุฒิ ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งในคดีนี้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในภายหลัง 
 
อัยการยื่นฟ้องวรวุฒิ ในฐานความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 จากกรณีร่วมกับจำเลยคนอื่นๆแจกเอกสารรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ
 
วรวุฒิยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นสลากออมสินมูลค่าสองแสนบาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวันเดียวกัน 
 
โดยศาลกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิในส่วนคดีของวรวุฒิในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00 น  และนัดพร้อมเพื่อรวมการพิจารณากับคดีหลักในวันที่ 2 มีนาคม 2563 เวลา 13.30 น.  
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วรวุฒิถูกกล่าวหาว่าร่วมแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เคหะบางพลี โดยที่อัยการยังคงฟ้องเขาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ทั้งที่คำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว และศาลทหารกรุงเทพก็ได้มีคำสั่งจำหน่ายข้อหาดังกล่าวจากสำนวนคดีของจำเลยคนอื่นไปแล้ว

2 มีนาคม 2563

จำเลยทั้ง 12 คนมาศาล ในวันนี้จำเลยมาศาลครบทุกคน แล้ว ยังมีประชาชนอีกสี่คนมาร่วมฟังการพิจารณาคดีและให้กำลังใจจำเลยทั้ง 12 คนด้วย
 
ศาลนัดจำเลยทั้ง 12 ในเวลา 13.30 น. แต่เริ่มพิจารณาคดีนี้ประมาณในเวลา 13.45 เนื่องจากศาลพิจารณาคดีอื่นก่อน อัยการแถลงขอรวมสำนวนคดีส่วนของวรวุฒิ จำเลยที่ถูกฟ้องเพิ่มเติมในภายหลังเข้ารวมกับสำนวนคดีหลักโดยให้เหตุผลว่า

คดีของวรวุฒิเป็นเหตุการณ์เดียวกับสำนวนคดีหลัก มีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน การรวมสำนวนคดีน่าจะทำให้การพิจารณาเป็นไปโดยกระชับ ทนายจำเลยไม่คัดค้าน ศาลจึงให้รวมสำนวนคดีเข้าด้วยกัน
.
จากนั้นอัยการแถลงขอนำพยานเข้าสืบรวม 11 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา ประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและพนักงานสอบสวน ศาลให้เวลานัดสืบพยานโจทก์รวมสามนัด

ทนายจำเลยแถลงนำพยานเข้าสืบรวม 16 ปาก ได้แก่จำเลยทั้ง 12 คน นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ศาลให้เวลาสืบพยานจำเลยรวมสี่นัด จากนั้นคู่ความทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนดวันสืบพยาน พยานโจทก์จะสืบระหว่างวันที่ 21 – 23 กรกฎาคม 2563 ส่วนพยานจำเลยจะสืบระหว่างวันที่ 15 – 18 กันยายน 2563

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา