หฤษฎ์และณัฏฐิกา: คดีแชทเฟซบุ๊ก

อัปเดตล่าสุด: 07/08/2562

ผู้ต้องหา

หฤษฏ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

สารบัญ

หฤษฏ์ และ ณัฏฐิกา สองในแปดแอดมินเพจถูกอายัดตัวและแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามมาตรา  112 เพิ่มเติม ก่อนควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองรายไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังเพื่อรอดำเนินคดีต่อไป ทั้งสองถูกฝากขังที่ศาลทหารตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ก่อนได้ประกันตัวในชั้นฝากขังผัดที่ 6 วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 โดยหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 500,000 บาท
 
 
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

หฤษฎ์ จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร๋  สมัยเรียนเคยสังกัดชมรมวรรณศิลป์   มีความสามารถทางด้านการเขียนนิยาย โดยใช้นามปากกาว่า "ฟ้าไร้ดาว" นิยายเรื่อง "ทูตแห่งเซนทาเรียกับมงกุฎสายรุ้ง"ของเขาเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับสองจากสำนักพิมพ์แจ่มใสและตีพิมพ์ออกสู่ตลาด ปัจจุบันเขาประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นที่จังหวัดขอนแก่น และเปิดร้านข้าวมันไก่ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว
 
ณัฏฐิกา พื้นเพเป็นชาว จังหวัดนนทบุรี จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมีสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก่อนหน้านี้เคยประกอบอาชีพพนักงานบริษัทมาก่อนและลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างทำเพจ แต่ในกรณีของเพจ เรารักพล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกสั่งฟ้องในคดีนี้เป็นเพจที่ทำขึ้นมา โดยไม่ได้รับเงินจากแหล่งใดทั้งสิ้น
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ทั้งสองถูกกล่าวหาว่า มีความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1),(2),(3)   จากการพูดคุยส่วนตัวกันในกล่องข้อความ (แชต) ในเฟซบุ๊ก แต่มีข้อสังเกตว่าการได้หลักฐานของเจ้าหน้าที่อาจกระทำไปโดยมิชอบ และเกิดกระแสไม่ไว้วางใจบริการเฟซบุ๊กในโซเชียลเน็ตเวิร์ก จากนั้นตำรวจได้ออกมาชี้แจงว่าหาหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าได้มาโดยวิธีใด

 

พฤติการณ์การจับกุม

11 พฤษภาคม 2559 เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีแอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ทั้งหมด แต่หฤษฏ์ และ ณัฏฐิกา สองในแปดผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามอายัดตัวและแจ้งข้อหา มาตรา 112 เพิ่มเติม
 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
11 พฤษภาคม 2559
 
เจ้าหน้าที่อายัดตัวหฤษฎ์และณัฏฐิกา ฝากขังผลัดแรก ที่กองบังคับการปราบปราม พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์  คุมตัวหฤษฎ์  เพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที
 
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกล่าวว่า ได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวนของกองปราบเมื่อคืนวาน(10 พฤษภาคม 2559)  หลังศาลทหารมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาแปดคน โดยมีสองคนที่ถูกแจ้งข้อหา 112 ตำรวจได้อายัดตัวมายังกองปราบทันที
 
วันนี้มีการสอบปากคำเพิ่มเติม หากข้อกล่าวหาหรือหลักฐานไม่ชัดเจนก็คงต้องให้การปฏิเสธ  และหลังจากนี้ตำรวจจะนำตัวทั้งสองไปฝากขัง ซึ่งจะขอยื่นประกันตัวเป็นเงิน 500,000 บาท   ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุมตัว หฤษฎ์และณัฏฐิกาเพื่อไปฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน 
 
ส่วนผลการพิจารณาขอประกันตัว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูงประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองอาจจะหลบหนี หรือไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุภัยอันตรายประการอื่น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาต 
 
19 พฤษภาคม 2559
 
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวหฤษฎ์และณัฏฐิกา  มาศาล เพื่อให้พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังเป็นผัดที่สอง ทนายความยื่นขอประกันตัวโดยให้วางหลักทรัพย์รายละ 700,000 บาท ต่อมาศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเพราะเป็นคดีร้ายแรง มีอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนีและไปยุ่งกับพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนไม่อยู่ให้ศาลไต่สวน แต่ก็ได้คัดค้านการประกันตัวไว้ในเอกสารคำร้องแล้ว และศาลได้นำไปพิจารณาประกอบ
 
3 มิถุนายน 2559
 
ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว อีกครั้ง ในชั้นฝากขังผัดที่สามคราวหฤษฏ์และณัฏฐิกา ศาลเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวนในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง
 
วันเดียวกันครอบครัวของทั้งสองได้เดินทางเข้าถวายพระพรพร้อมทูลเกล้ายื่นถวายฎีกากับสำนักราชเลขาธิการ ขอให้ผู้ต้องหามีสิทธิ์ประกันตัว พร้อมกับยืนยันว่า หากทั้งสองคนได้รับการประกันตัวจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้คดีต่อไป
 
16 มิถุนายน 2559
 ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกครั้ง ให้เหตุผลว่า ขณะยื่นคำร้อง พนักงานสอบสวนไม่อยู่ และติดต่อไม่ได้ แต่พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไว้ ตามคำร้องขอฝากขังฉบับลงวันที่ 15/6/59 ศาลได้นำมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว ซึ่งพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจะหลบหนี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายในชั้นนี้จึงให้ยกคำร้อง
 
29 มิถุนายน 2559
 
ศาลทหารอนุญาตฝากขังหฤษฎ์และณัฏฐิกาผัดที่ห้า
 
8 กรกฎาคม 2559
 
ที่ศาลทหารกรุงเทพ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม เดินทางมายื่นคำร้องขอฝากขัง เป็นผัดที่ 6 ซึ่งทนายความไม่ได้ยื่นคัดค้านการฝากขัง แต่ยื่นขอประกันตัวทั้งสองคน ต่อมาศาลทหารฯ พิจารณาอนุญาตให้ฝากขังผลัดที่ 6 แต่ก็ได้อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคนในวงเงินคนละ 5 แสนบาท
 
โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ทั้งนี้เมื่อครบกำหนดฝากขังในวันที่ 21 กรกรฎาคม 2559 ทั้งสองคนจะต้องเดินทางมารายงานตัวต่อศาลทหารฯ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวหฤษฏ์ และ ณัฏฐิกา ในช่วงเย็นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง โดยมีครอบครัวของทั้งสองคนมารอรับ
 
23 มกราคม 2560
นัดสอบคำให้การ
 
ในนัดสอบคำการหฤษฎ์และณัฏฐิกาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลทหารกรุงเทพจึงนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 27 มีนาคม 2560
 
27 มีนาคม 2560
นัดตรวจพยานหลักฐาน 
 
เวลาประมาณ 9.30 น. พ.ท.กฤษฎา อัยการศาลทหารและ วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยเริ่มตรวจเอกสารพยานหลักฐานที่จะนำเข้าสืบในคดีนี้ อัยการศาลทหารสอบถามทนายจำเลยว่า เหตุใดจึงนำส่งเอกสารคำร้องขอปล่อยตัวมาในชั้นนี้ ทนายจำเลยตอบว่า ต้องการนำสืบประเด็นการควบคุมตัวจำเลยทั้งสองโดยไม่ชอบ
 
ในเวลา 10.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า ทั้งสองฝ่ายรับหลักฐานกันได้ อัยการทหารจะนำพล.ต.วิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญเข้าสืบเป็นพยานปากแรก  ทนายจำเลยแถลงค้านว่า เจษฎ์ โทณะวณิก พยานโจทก์ปากที่เจ็ดซึ่งโจทก์ให้เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษานั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงนักวิชาการ ศาลบอกทนายจำเลยว่าให้แถลงคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามาในภายหลัง อย่างไรก็ตามในภายหลังศาลก็บันทึกในกระบวนพิจารณาไว้ว่าทนายจำเลยแถลงคัดค้านพยานปากนี้ไว้
 
อัยการทหารแถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวมแปดปาก ได้แก่
1. พล.ต.วิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหา
2. ร.ศ.เจษฎ์ โทณะวณิก พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา 
3. พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัทร์ ผู้ร่วมทำการจับกุม
4. ร.ต.อ. พงศกร เถาว์วัลย์ ผู้ร่วมทำการจับกุม
5. พ.ต.ต. สมเดช สารบัญ ผู้ร่วมทำการจับกุม
6. ร.ต.อ.ไพฑูรย์ จ้อยสระคู ผู้ร่วมทำการจับกุม
7. พ.ต.ท.นเรศ ผู้เชี่ยวชาญเด้านเทคโนโลยีและข้อมูลอิเลกทรอนิกส์ 
8. พ.ต.อ.ชลภัค ชูศรี พนักงานสอบสวน
 
ทนายจำเลยแถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวมสิบปาก ได้แก่

1. หฤษฎ์ มหาทน จำเลยที่หนึ่ง
2. ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ จำเลยที่สอง
3. กฤช มหาทน บิดาของจำเลยที่หนึ่ง 
4. มารดาของจำเลยที่สอง 
5. จิรพนธ์ ธนศานติ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ เบิกความในประเด็นข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Traffic data)
6. ฐิติรัตน์ ทรัพย์สัมฤทธิ์ผล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์
7. พล.ต.วิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหา
8. พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ 
9. วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลย
10. กัณฐัศน์ สินทอง ทนายจำเลย

เนื่องจากพล.ต.วิจารณ์มีชื่อเป็นพยานโจทก์ปากที่หนึ่งอยู่แล้ว ทนายจำเลยจึงแถลงว่าจะตัดพยานปากนี้ออกแล้วไปถามค้านพยานปากนี้แทน

นอกจากนี้ทนายยังแถลงคัดค้านด้วยวาจาต่อศาลด้วยว่า

1. คัดค้านเอกสารของโจทก์สามฉบับที่อัยการทหารไม่ได้นำมาให้ทนายจำเลยตรวจสอบโดยหนึ่งในนั้นเป็นความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่พิจารณาว่าคดีนี้มีมูลความผิด แต่อัยการทหารตอบว่า เอกสารฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารลับมากจึงไม่สามารถเปิดเผยได้

2. คัดค้านพยานเอกสารซึ่งมีรายละเอียดภาพถ่ายของกลางจำนวนสี่ถึงห้าภาพ เช่น ซีพียู ฮาร์ดดิสก์ ฮาร์ดไดร์ฟ ซึ่งไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาเซ็นรับรองเอกสารดังกล่าวจึงความกังวลว่าอาจจะมีการนำวัตถุพยานของบุคคลอื่นมาปะปน อัยการทหารตอบว่า การพูดลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการหมิ่นประมาทและขอให้ศาลบันทึกไว้ในกระบวนพิจารณา อย่างไรก็ตามศาลไม่ได้บันทึกแต่ตักเตือนทนายจำเลยแทนและสั่งห้ามทนายกล่าวพาดพิงถึงบุคคลที่สามอีก

3. ทนายจำเลยแถลงคัดค้านวัตถุพยานที่เป็นแผ่นซีดีและแถลงขอคัดลอกแผ่นซีดี ศาลอนุญาตให้ทนายจำเลยดำเนินการได้

ในภายหลังศาลบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาด้วยว่า ทนายจำเลยคัดค้านพยานเอกสารของโจทก์ทั้งหมด
 
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจพยานหลักฐาน คู่ความนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เวลา 8.30 น.

 

4 กรกฎาคม 2560

นัดสืบพยานโจทก์

 

27 กุมภาพันธ์ 2561

นัดสืบพยานโจทก์

10.00 น. หฤษฎ์และทนายความเดินทางมาถึงศาล วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความแจ้งต่อตุลาการว่า ณัฏฐิกาไม่มาศาลเป็นครั้งที่สอง โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ศาลยังไม่ได้ออกหมายจับ เพียงแค่กำชับให้วิญญัติ ทนายความและนายประกันไปพยายามติดตามตัวณัฏฐิกามาศาลให้ได้ หากไม่มาศาลอีกครั้งในนัดหน้ารวมสามครั้ง ศาลจึงจะพิจารณาออกหมายจับ

 

5 มีนาคม 2561 

ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์คดียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของแปดแอดมินเพจเฟซบุ๊ก "เรารักพลเอกประยุทธ์" โดยพยานที่นำสืบวันนี้คือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยทั้งแปดต่อพนักงานสอบสวน

ในวันนี้ ณัฏฐิกา จำเลยที่สอง และกัณสิทธ์ จำเลยที่เจ็ด ไม่มาศาลตามนัด วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยและนายประกันแถลงต่อศาลว่า วันนี้ถือเป็นการผิดนัดครั้งที่สองของณัฏฐิกาและคิดว่า นัดครั้งต่อไปคงไม่สามารถตามตัวณัฏฐิกามาศาลได้อีก ขอศาลใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับเพื่อไม่ให้คดีล่าช้าไปมากกว่านี้ ส่วนกัณสิทธ์ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากจำวันนัดสืบพยานผิด

ศาลพิเคราะห์ว่า ณัฏฐิกาไม่มาศาลเป็นครั้งที่สองแล้ว เป็นเหตุสมควรพอที่จะออกหมายจับ จึงให้วิญญัติ ในฐานะนายประกันนำเงินประกันจำนวน 200,000 บาทมาชำระต่อศาลภายในวันที่ 26 มีนาคม 2561 และให้เลื่อนการสืบพยานในนัดนี้ออกไปก่อนเพราะจำเลยมาศาลไม่ครบ 

 

23 กรกฎาคม 2562

นัดโอนคดีกลับศาลพลเรือน


9.00 น. หฤษฎ์จำเลยและบิดาพร้อมด้วยวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจำเลย เดินทางมาพร้อมกันที่ศาลก่อนจะขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีที่5 ต่อมาเวลา9.45 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่าวันนี้พลตรีวิจารณ์ จดแตง พยานโจทก์มาศาล จากนั้นศาลแจ้งว่า คดีนี้จะต้องโอนย้ายไปที่ศาลยุติธรรมและอ่านกระบวนพิจารณาคดีว่า
 
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรมสัญญาประกันให้มีผลต่อไป

ศาลได้สอบถามถึงคดีมาตรา116 ของแปดแอดมินเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ซึ่งหฤษฎ์เป็นจำเลยร่วมด้วยอีกหนึ่งคดี ทนายจำเลยแจ้งว่า คดีดังกล่าวศาลทหารกรุงเทพได้นัดพิจารณาไว้ในวันที่ 25 กรกฎาคม2562 หรืออีกสองวันข้างหน้า ศาลจึงอธิบายว่า ศาลกำลังมีหนังสือขอให้เลื่อนนัดไปวันที่ 9 สิงหาคม 2562 แทน ทนายจำเลยกล่าวว่า ในนัดพิจารณาวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 เป็นนัดหมายเดิมที่ศาลนัดไว้ จึงอยากขอให้ศาลคงวันนัดและสั่งโอนคดีในวันดังกล่าวเลย
 
ศาลจึงหันไปถามอัยการโจทก์ว่า วันที่นัดไว้เดิมศาลมีประชุมจึงจะขอเลื่อนนัดพิจารณาคดีไปก่อนแต่ประชุมยกเลิกแล้วใช่หรือไม่ อัยการรับว่า ใช่ ศาลจึงขอปรึกษาองค์คณะที่เหลืออีกสองคนก่อนว่า วันที่23 กรกฎาคม2562 ยังว่างอยู่หรือไม่หากว่างจะไม่เลื่อนการพิจารณาคดี
วิญญัติจึงขอให้ศาลให้คำตอบเร็วสักหน่อยเพื่อที่จำเลยที่อยู่ต่างจังหวัดจะได้ไม่ต้องเสียเงินค่าเดินทางศาลตอบว่า ขอเวลา 15 นาทีแล้วจะให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ไปแจ้งต่อทนายจำเลย

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา