สามารถ: แจกใบปลิวโหวตโนที่เชียงใหม่

อัปเดตล่าสุด: 22/08/2562

ผู้ต้องหา

สามารถ

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

สามารถ จัดทำใบปลิวข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค.  VOTE NO” ในลักษณะเอกสารใบปลิว และนำไปเสียบไว้บริเวณที่ปัดน้ำฝนรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในลานจอดรถของห้างพันธ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้จับกุมและดำเนินคดีสามารถฐานผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง

สามารถถูกควบคุมตัวอยู่ควม 11 วันก่อนได้ประกันตัว ในชั้นศาลผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นคนไปแจกใบปลิวจริง แต่ทำไปโดยจิตใจบริสุทธิ์ เชื่อว่าสิ่งที่ทำไม่เป็นความผิด จึงต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากข้อความในใบปลิวไม่อาจโยงถึงร่างรัฐธรรมนูญได้

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สามารถ อายุ 63 ปี ขณะถูกจับกุม เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบอาชีพช่วยครอบครัวขายภาพโมเสคที่ร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลจากเพื่อน ระบุว่าสามารถเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงในฐานะมวลชนอิสระ เป็นพยาบาลอาสาในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553  

ด้านสุขภาพสามารถมีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดัน ต้องทานยาเป็นประจำเพื่อดูแลเรื่องอาการเบาหวาน ทำให้อาจประสบความยากลำบากในการดูแลโรคประจำตัวขณะถูกคุมขัง

อ่านชีวิตของสามารถต่อได้จาก เรื่อง 'ลมหายใจยังไม่แพ้' ของ 'น็อตตัวเล็กๆ' ที่ยึดสู้สร้างบรรทัดฐานคดีพ.ร.บ.ประชามติฯ ได้คลิกที่ 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามบรรยายฟ้องระบุว่า 20 กรกฎาคม 2559 สามารถ แพร่ข้อความ รูปภาพในกระดาษแผ่นพับ มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค.  VOTE NO” เป็นข้อความลักษณะรุนแรง ปลุกระดม ให้ประชาชน เข้าใจผิด ว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการ โดยหวังให้ประชาชนไปลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ถือว่าก่อความวุ่นวาย เพื่อให้ออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 23 กรกฎาคม 2559 เวลาก่อน 8.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 และฝ่ายปกครองราว 60 นาย อาศัยอำนาจตาม มาตราที่ 44 เข้าทำการตรวจค้นและจับกุม สามารถ ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่บ้านของสามารถ

พร้อมตรวจยึดของกลางคือ แผ่นปลิวจำนวน 405 ใบ ระบุข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” กระเป๋าเป้ รถจักรยานยนต์ จำนวน 1 คัน เสื้อผ้า รองเท้า รวมของกลางจำนวน 6 รายการ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

 
ประเด็นทางนำสืบของโจทก์ในคดีนี้ คือ
 
1) ข้อความในใบปลิวที่ว่า "เผด็จการจงพินาศ" เป็นถ้อยคำที่ก้าวร้าว รุนแรง กระทบต่อรัฐบาลปัจจุบัน 
2) ข้อความในใบปลิวที่ว่า "7 ส.ค. Vote No" และสัญลักษณ์สามนิ้ว เป็นถ้อยคำที่มีลักษณะปลุกระดมทางการเมือง ให้ประชาชนไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
3) หากใบปลิวลักษณะนี้แพร่กระจายออกไป จะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมั่นคงของรัฐ
 
ประเด็นทางนำสืบของจำเลยในคดีนี้ คือ
 
1) การจับกุมจำเลยทำโดยทหาร ซึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นการเฉพาะตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
2) ทหารไม่มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ทั้งการจับกุม สอบสวน และการดำเนินคดี เพราะคดีนี้ฟ้องจำเลยในข้อหาทำผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งไม่ใช่ความผิดตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559
3) การสอบสวนจำเลยในคดีนี้ทำโดยไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ ไม่ให้จำเลยมีทนายความและไม่ให้จำเลยติดต่อญาติหรือผู้ที่ไว้วางใจ และการสอบสวนมีทหารเข้าร่วมด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4) ข้อความในใบปลิวไม่มีลักษณะเป็นการ ก้าวร้าว หยาบคาย รุนแรง ปลุกระดม ข่มขู่ และไม่ได้มุ่งให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยไม่เรียบร้อย จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง
 
 
การสืบพยานในคดีนี้ เดิมศาลนัดวันสืบพยานไว้ 2 วัน คือ 22-23 กุมภาพันธ์ 2560 ขณะที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานของสืบพยาน 7 ปาก และจำเลยขอสืบพยาน 5 ปาก แม้พยานบางปากจะไม่ติดใจนำสืบกัน แต่การสืบพยานแต่ละปากก็ใช้เวลาไปมาก จนการสืบพยานในวันแรกเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 18.00 น. ขณะที่วันที่สอง เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 19.00 น.
 
การสืบพยานดำเนินไปอย่างล่าช้า เพราะทั้งพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งทำหน้าที่เป็นโจทก์ และทนายความของจำเลย มีความเอาจริงเอาจังในการต่อสู้คดีอย่างมาก และถามคำถามพยานละเอียดมาก โดยฝ่ายอัยการจะให้พยานอธิบายขั้นตอนการทำงานโดยละเอียดทีละขั้นตอน และให้พยานทุกคนอธิบายความหมายของข้อความที่ปรากฏบนแผ่นใบปลิวซ้ำไปซ้ำมา และหลังการถามค้านของทนายความ อัยการก็ถามติงในประเด็นต่างๆ เกือบทุกปาก
 
ขณะที่ทนายความจำเลยนอกจากจะมุ่งต่อสู้ในประเด็นเนื้อหาของใบปลิวแล้วก็ยังมุ่งต่อสู้ในประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของการจับกุมแล้วการสอบสวน จึงต้องถามคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานโดยละเอียดของพยานทุกปาก เกี่ยวกับการทำเอกสารบันทึกการจับกุม และบันทึกของกลาง ทีละแผ่นๆ โดยเฉพาะพยานที่เป็นทหาร จะถูกทนายความถามค้านเยอะ โดยมุ่งประเด็นไปที่อำนาจตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 และการทำงานของฝ่ายทหารที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้
 
ระหว่างการสืบพยานโจทก์ปากแรกในช่วงเช้าของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีผู้เข้าสังเกตการณ์คดีนี้ 4 คน ซึ่งจดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดีได้ แต่ในช่วงบ่าย เมื่อผู้พิพากษาเห็นว่ามีคนนั่งจดบันทึก จึงเรียกให้เจ้าหน้าที่ยึดสมุดบันทึกไปตรวจสอบ และพบว่า มีการบันทึกรายละเอียดระหว่างการพิจารณา ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตศาลก่อน ผู้สังเกตการณ์คดีจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและเสรีภาพแถลงต่อศาลว่า เดินทางจากกรุงเทพมาทำหน้าที่สังเกตการณ์การพิจารณาคดีนี้โดยเฉพาะ โดยไม่มีวัตถุประสงค์จะนำข้อมูลที่จดไปให้พยานปากต่อไปดู หรือไปกล่าวว่าร้ายศาล หากศาลไม่อนุญาตให้จดก็จะเคารพดุลพินิจของศาล ศาลจึงขอตัวไปปรึกษากับหัวหน้าศาล ก่อนกลับมาและยินยอมคืนสมุดให้ แต่แจ้งว่าไม่อนุญาตให้จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี ผู้สังเกตการณ์จึงนั่งฟังการพิจารณาคดีหลังจากนั้นโดยไม่สามารถจดบันทึกได้ ขณะที่ในวันต่อมา ทนายความขออนุญาตให้เสมียนทนายความจำเลย เข้าไปนั่งกับทนายความเพื่อช่วยจดบันทึกได้
 
ผู้สังเกตการณ์คดีมีข้อสังเกต คือ พนักงานอัยการในคดีนี้ มีความจริงจังในการดำเนินคดีมากเป็นพิเศษ และถามติงโดยละเอียดเพื่อให้พยานอธิบายให้ได้มากที่สุด ผู้สังเกตการณ์คดีสังเกตเห็นว่า ก่อนและหลังการพิจารณาคดี อัยการจะพูดคุยกับพยานซึ่งเป็นทหารและตำรวจนอกห้องพิจารณาคดีอย่างจริงจัง รวมทั้งในเวลาพักกลางวัน คำถามที่อัยการใช้หลายครั้งเป็นคำถามปลายปิดที่จะบีบให้พยานต้องตอบคำถามตามที่เตรียมมา เช่น ถามว่า ข้อความในใบปลิวกระทบต่อความอะไร? เป็นต้น และระหว่างการถามคำถามของทนายความจำเลย อัยการได้พูดแทรกขึ้นหลายครั้ง โดยผู้พิพากษาได้กล่าวเตือนอัยการหลายครั้ง ว่า อัยการเป็นพนักงานของรัฐและไม่ควรมีอารมณ์ร่วมกับคดีมากจนทำตัวเป็นคู่ความเสียเอง ซึ่งอัยการก็ชี้แจงว่า ต้องทำเต็มที่เพื่อไม่ให้อัยการศาลสูงตำหนิการทำหน้าที่ได้
 
ตัวอย่าง การทำหน้าที่ของอัยการ คือ การนำเสนอพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารคำสั่งแต่งตั้งพ.ท.พิษณุพงษ์ และพ.ต.โสภณ ให้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย โดยให้พยานปากสุดท้ายซึ่งเป็นตำรวจเป็นผู้เบิกความ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พยานสองคนทั้งพ.ท.พิษณุพงษ์ และพ.ต.โสภณ ที่เป็นทหารต่างก็ไม่ได้เบิกความถึงเอกสารฉบับนี้ และเมื่อทนายความจำเลยคัดค้าน อัยการก็มีท่าทีไม่พอใจ จนเมื่อใกล้เสร็จการสืบพยานในวันที่สอง เมื่อทนายความจำเลยยื่นบัญชีระบุพยาน ขอสืบพยานอีกสองปาก อัยการก็แถลงขอคัดค้าน ด้วยสีหน้าออกอารมณ์ โดยอัยการใช้คำว่า "ถ้าท่านค้านทุกเรื่องผมก็ต้องค้านทุกเรื่องเหมือนกัน" และยังเรียกทนายฝ่ายจำเลยว่า "ทนายกรุงเทพ" 
 
โดยผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่สืบพยานในคดีนี้ ตลอดสองวันแรกของการสืบพยาน มีท่าทีค่อนข้างผ่อนปรน แม้ว่าอัยการโจทก์ และทนายความจำเลย จะถามคำถามที่วนไปวนมา หรือใช้เวลากับประเด็นเรื่องการจับกุมจำเลย และเอกสารหลักฐานในรายละเอียดต่างๆ แต่ศาลก็บันทึกคำตอบของพยานให้แทบทุกครั้ง แม้ศาลจะเตือนคู่ความให้กระชับประเด็นเป็นระยะแต่ก็ไม่เร่งเร้าเพื่อตัดประเด็น แม้ว่า ศาลจะขึ้นบัลลังก์ค่อนข้างตรงเวลาเพื่อเร่งรัดการสืบพยานให้เสร็จภายในกำหนด และทำงานล่วงเวลาถึงช่วงค่ำ แต่การสืบพยานก็ยังไม่เสร็จสิ้น และศาลก็ใส่ใจกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีถูกต้องตามรูปแบบทุกประการ เช่น การอ่านทวนคำเบิกความให้พยานฟังทุกปาก แม้จะเลยเวลาราชการแล้ว และจดบันทึกคำคัดค้านแต่ละประเด็นของคู่ความทั้งสองฝ่ายไว้โดยละเอียด

หมายเลขคดีดำ

อ.3542/2559

ศาล

ศาลจังหวัดเชียงใหม่

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
21 กรกฎาคม 2559
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ระหว่าง 15.00-17.00 น. พบผู้แจกจ่ายใบปลิว vote no เป็นเอกสารแผ่นพับและเสียบไว้บริเวณที่ปัดน้ำฝนรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในลานจอดรถของห้างพันธ์ทิพย์ จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 10 คัน
 
หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนพบว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นชายอายุประมาณ 45-50 ปี สวมเสื้อยืดสีเทาสะพายเป้สีดำ พักอยู่ย่าน ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มักจะมาที่ห้างพันธ์ทิพย์เป็นประจำโดยใช้รถกระบะสีเทาไม่ทราบหมายเลขทะเบียน ติดสติกเกอร์เกี่ยวกับการต่อต้านรัฐประหารทั่วคัน
 
23 กรกฎาคม 2559
 
เจ้าหน้าพนักงานตำรวจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 และฝ่ายปกครองราว 60 นาย อาศัยอำนาจตาม มาตราที่ 44 เข้าตรวจค้นและจับกุม สามารถ ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยของกลางคือ แผ่นปลิวจำนวน 405 ใบ ระบุข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” รถจักรยานยนต์ จำนวน 1 คัน เสื้อผ้า รองเท้า รวมของกลางจำนวน 6 รายการ
 
ช่วงเย็นของวันเดียวกัน ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมตัว สามารถ ผู้ต้องหาในคดีนี้, วิศรุต ผู้ต้องหาในคดีจดหมายบิดเบือนประชามติ ภาคเหนือ และพงศ์พันธ์ ผู้ต้องหาในคดีที่ร่วมกันก่อเหตุหย่อนจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ภาคเหนือ ด้วย
 
อย่างไรก็ตาม สามารถกล่าวต่อสื่อมวลชนนภายหลังว่า การแถลงข่าวถูกนำไปรวมกับผู้ต้องหากรณีส่งจดหมายแสดงความเห็นเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีการจับกุมมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งที่ตนไม่ทราบเรื่องการส่งจดหมายแสดงความเห็นตามตู้ไปรษณีย์แต่อย่างใดและใบปลิวโหวตโนในกรณีของตนก็เป็นคนละอันกับจดหมายแสดงความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
 
25 กรกฎาคม 2559
 
ประชาไทรายงานว่า เจ้าหน้าที่นำตัวสามารถไปขออำนาจศาลจังหวัดเชียงใหม่ในการฝากขังระหว่างการสอบสวน ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา สามารถจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่
 
2 สิงหาคม 2559
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตประกันตัว สามารถ ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 1 แสนบาท ที่มาจากการช่วยเหลือของกองทุนกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ไม่มีเงื่อนไขการปล่อยตัว รวมแล้วสามารถถูกคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ 2 วัน และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 9 วัน
 
สามารถเปิดเผยหลังได้รับปล่อยตัวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับการปล่อยตัว เพราะช่วงที่อยู่ในเรือนจำไม่สามารถติดต่อใครได้ ช่วงวันแรกๆ ก็ไม่มีใครมาเยี่ยม และชีวิตในเรือนจำก็ค่อนข้างยากลำบาก ในส่วนของคดียืนยันที่จะต่อสู้คดีต่อไป โดยยืนยันว่าข้อความในเอกสารใบปลิวไม่ได้มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
 
12 กันยายน 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ยื่นฟ้องคดีสามารถ ในความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง
ต่อมาสามารถอาศัยหลักทรัพย์ประกันเดิมในชั้นสอบสวนเพื่อขอประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดีชั้นศาล และศาลอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมกับนัดพร้อมและถามคำให้การในวันที่ 10 ตุลาคม 2559
 
10 ตุลาคม 2559
 
นัดสอบคำให้การ
 
จำเลยให้การปฏิเสธ โดยยอมรับว่า เป็นผู้นำใบปลิวไปแจกจ่ายจริง แต่เชื่อว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย
 
22 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานโจทก์ ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 19 ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ทหารที่เป็นจะมาพยาน 2 นาย มาถึงห้องพิจารณาคดีก่อน และชวนจำเลยออกไปพูดคุยด้านนอก แนะนำจำเลยว่า ให้รับสารภาพ เพื่อให้คดีจบ เพราะสิ่งที่จำเลยทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายในขณะนั้น แต่จำเลยยืนยันขอปฏิเสธ
 
เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.30 น. ศาลถามจำเลยอีกครั้งว่า ยืนยันจะปฏิเสธใช่หรือไม่ จำเลยแถลงขอให้การปฏิเสธ โดยยอมรับว่า เป็นคนแจกใบปลิวจริง แต่เชื่อว่าการแจกใบปลิวนั้นไม่เป็นความผิด เนื่องจากวันนี้ โจทก์มีนัดสืบพยาน 7 ปาก ศาลจึงแจ้งว่า จำเลยยอมรับแล้วว่าแจกใบปลิวจริง จึงให้โจทก์ตัดพยานบางปากที่เกี่ยวกับเรื่องการแจกใบปลิวออก และต่อสู้กันเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายว่า เนื้อหาของใบปลิวเป็นความผิดหรือไม่ โดยศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยโดยใช้หลักการตีความกฎหมาย แต่เนื่องจากทนายจำเลยติดใจขอให้สืบพยานปากที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมด้วย ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงยอมรับข้อเท็จจริงกันไม่ได้ทั้งหมด พยานที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้มีเพียง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างพันธุ์ทัพย์พลาซ่า ที่เป็นผู้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด และผู้จัดการห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่าเท่านั้น จึงต้องสืบพยานโจทก์อีก 5 ปาก
 
สืบพยานโจทก์ปากแรก พ.ท.พิษณุพงษ์ ใจพุทธ ผู้กล่าวหา
 
พ.ท.พิษณุพงษ์ ใจพุทธ ทหารตำแหน่งรองหัวหน้ากองยุทธการ รักษาราชการหัวหน้ากองข่าว มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 เวลาประมาณ 9.00 น. ได้รับแจ้งทางไลน์ว่า พบใบปลิวมีข้อความว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No" และมีรูปชูสามนิ้ว วิเคราะห์ข้อความแล้วเห็นว่า คำว่า เผด็จการจงพินาศ หมายถึง การต่อต้านรัฐบาล คสช. เพราะคำว่า เผด็จการ หมายถึง การยึดอำนาจมาบริหารประเทศและหมายถึงรัฐบาลในขณะนั้น คำว่า จงพินาศ หมายถึง ให้หมดสิ้นไป จึงเป็นการต่อต้านการเข้ามายึดอำนาจอย่างรุนแรง สัญลักษณ์ชูสามนิ้ว เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลที่นำมาจากภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games
 
พ.ท.พิษณุพงษ์ เห็นว่า ข้อความทั้งหมดมีลักษณะปลุกระดมทางการเมือง ให้ประชาชนไปลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 พ.อ.จิรวัฒน์ จุลากุล จึงมอบหมายด้วยวาจา ให้ไปกับนายทหารพระธรรมนูญ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีในฐานะผู้กล่าวหาต่อสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ 
 
พ.ท.พิษณุพงษ์ ตอบคำถามทนายความถามค้านว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสืบสวน และการจับกุมตัวจำเลยด้วย การไปแจ้งความนั้นทำในนามเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้ทำในฐานะส่วนตัว ขณะไปแจ้งความไม่ได้นำเอกสารอะไรไปด้วย การทำหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ไม่ได้มีบัตรประจำตัว แม้คำสั่งฉบับนี้จะไม่ได้ให้อำนาจดำเนินการกับความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ แต่ให้อำนาจดำเนินการกับความผิดฐานปลุกระดมทางการเมือง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. 
 
พ.ท.พิษณุพงษ์ ตอบคำถามทนายความด้วยว่า การรณรงค์ให้โหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นความผิด เท่าที่ทราบไม่มีนายทหารออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ และในวันลงประชามติพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พ.ต.ท.ฐนศกณ ประมาณ ผู้กล่าวหาคนที่ 2
 
พ.ต.ท. ฐนศกณ ได้รับแจ้งว่า มีการนำใบปลิวไปติดไว้ที่กระจกรถยนต์ที่ลานจอดรถห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า และเป็นผู้เข้าแจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี โดยเมื่อพิจารณาข้อความบนใบปลิวแล้วเห็นว่า สัญลักษณ์ชูสาวนิ้ว เข้าข่ายการปลุกระดม เมื่อวันที 23 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันจับกุมจำเลย ได้ไปร่วมด้วยแต่รออยู่ข้างนอก แล้วเดินทางกลับไปก่อนเพราะไม่สบาย
 
พ.ต.ท. ฐนศกณ ตอบคำถามทนายความว่า เมื่อได้อ่านข้อความในใบปลิวแล้วไม่รู้สึกคล้อยตาม
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.ท.บัณฑิต จิตติ์ภาคภูมิ ตำรวจชุดจับกุม
 
พ.ต.ท.บัณฑิต เบิกความว่า เป็นผู้ไปจับจำเลยตามหมายจับในเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม 2559 เมื่อไปถึงบ้านของจำเลย จำเลยเป็นผู้เอากระเป๋าที่มีใบปลิวอยู่อีก 405 ใบมามอบให้ และเอาชุดของจำเลยที่ใส่ไปในวันที่เอาใบปลิวไปแจกมามอบให้ด้วย ซึ่งเป็นชุดที่ตรงกับภาพของจำเลยที่ตรวจจับได้ในกล้องวงจรปิดของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า
 
พ.ต.ท.บัณฑิต เล่าด้วยว่า ขณะเข้าจับกุมมีการแสดงหมายจับ จำเลยไม่ได้ขัดขืนและให้ความร่วมมืออย่างดี โดยจำเลยยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ และเป็นผู้เอาใบปลิวไปแจกจริง
 
หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้เป็นเวลาประมาณ 17.00 น.แล้ว โดยศาลยังไม่ได้อ่านทวนคำเบิกความพยานตั้งแต่ปากแรก จึงตกลงกันให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ปากที่เหลือในวันรุ่งขึ้น
 
 
23 กุมภาพันธ์ 2560 
 
นับสืบพยานโจทก์ต่อ
 
สืบพยานโจทก์ ปากที่สี่ พ.ต.โสภณ ภักดิ์เกษม ทหารชุดจับกุม
 
พ.ต.โสภณ เบิกความว่า ได้รับแจ้งมาทางไลน์ว่า มีการแจกใบปลิวในคดีนี้ จึงได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปตรวจสอบ ได้ภาพถ่ายใบปลิวที่หน้ากระจกรถมาจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า และได้ทราบข้อมูลจากพนักงานรักษาความปลอดภัยว่า บุคคลตามภาพน่าจะเป็นจำเลย เพราะดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วเห็นลักษณะการเดินกระเผลกพอจะจำได้ว่า จำเลยเคยขายของอยู่ที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า และเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เข้าไปร่วมจับกุมจำเลยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
 
พ.ต.โสภณ ให้ความเห็นว่า คำว่า เผด็จการจงพินาศ ที่ปรากฏในใบปลิว เป็นคำที่ก้าวร้าว รุนแรง ส่วนสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว เป็นการปลุกระดม เมื่อถามว่า ถ้าใบปลิวลักษณะเช่นนี้มีการแจกจ่ายทั่วไปจะเป็นอย่างไร พ.ต.โสภณตอบว่า จะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของรัฐบาชุดปัจจุบัน
 
เมื่อทนายความถามว่า ในคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 มีการระบุถึงอำนาจทหารที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ หรือไม่ พ.ต.โสภณ ตอบว่า ไม่มี เมื่อทนายความถามว่า บัญชีแนบท้ายคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 มีความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ หรือไม่ พ.ต.โสภณ ตอบว่า ไม่มี แต่เบิกความว่า ตนเองได้รับการแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้บัญชาการกองร้อยรักษาความสงบ ซึ่งมีเอกสารการแต่งตั้งอยู่แต่ไม่ได้นำมาส่งศาล และไม่ได้มอบให้พนักงานสอบสวน ขณะเข้าจับกุมแต่งเครื่องแบบทหาร โดยมีทหารไปด้วยกันสามคน คนอื่นรออยู่ข้างนอก พยานเป็นคนเดียวที่เข้าไปพูดคุยกับจำเลย
 
พ.ต.โสภณ เบิกความว่า เมื่อจับกุมจำเลยเสร็จแล้วก็นำตัวไปส่งที่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 จำไม่ได้ว่า ได้อยู่ร่วมตอนแถลงข่าวการจับกุมหรือไม่ และจำไม่ได้ว่า ได้กลับไปอยู่ร่วมระหว่างสอบปากคำจำเลยหรือไม่
 
เมื่อทนายความถามว่า คำว่า เผด็จการ หมายถึงรัฐบาลปัจจุบันเท่านั้นหรือไม่ พ.ต.โสภณ ตอบว่า หมายถึงรัฐบาลทุกชุดที่ปกครองประเทศด้วยการยึดอำนาจ ส่วนสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาล 
 
พ.ต.โสภณ ตอบคำถามทนายความว่า เมื่อเห็นข้อความในใบปลิวแล้วไม่คล้อยตาม และตอบคำถามอัยการถามติงว่า สาเหตุที่ไม่คล้อยตามเพราะว่า มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง แต่คนที่เห็นต่างจากรัฐบาลอยู่แล้ว ถ้าได้อ่านก็อาจจะคล้อยตามได้
 
 
สืบพยานโจทก์ ปากที่ห้า ร.ต.อ.ชยพล พายุปรงค์ พนักงานสอบสวน
 
ร.ต.อ.ชยพล เบิกความว่า เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ โดยได้รับแจ้งความจาก พ.ท.พิษณุพงษ์ ใจพุทธ และ พ.ต.ท.ฐนศกณ ประมาณ ว่า มีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ให้ดำเนินคดี ก่อนได้รับแจ้งความไม่เคยทราบเหตุดังกล่าวมาก่อน หลังได้รับแจ้งก็ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที และเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอหมายจับจำเลยในเวลา 5.00 น.และได้รับอนุมัติหมายจับในเวลาประมาณ 6.00 น. จึงนำหมายจับมามอบให้ผู้จับกุมแต่ไม่ได้ไปจับจำเลยด้วย จนกระทั่งจำเลยถูกจับมาส่งในเวลาค่ำ
 
ร.ต.อ.ชยพล เบิกความว่า ขณะที่พ.ท.พิษณุพงษ์ มาแจ้งความ ได้นำเอกสารมาให้ฉบับหนึ่ง เป็นคำสั่งแต่งตั้งให้พ.ท.พิษณุพงษ์ และพ.ต.โสภณ ทำหน้าที่ในกองร้อยรักษาความสงบ เมื่อเบิกความมาถึงจุดนี้ทนายความจำเลยได้คัดค้านว่า โจทก์กำลังจะนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่ได้ระบุพยานไว้ตั้งแต่แรก และไม่ได้ให้จำเลยตรวจก่อน เป็นการจู่โจมพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่อัยการบอกว่าเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับคำให้การของพ.ท.พิษณุพงษ์ในชั้นสอบสวน และเป็นคำสั่ง คสช. จึงเป็นกฎหมาย ไม่ต้องยื่นให้ตรวจก่อน ศาลใช้ดุลพินิจแล้วสั่งรับเอกสารชิ้นนี้ไว้
 
อัยการถาม และ ร.ต.อ.ชยพลตอบว่า เมื่ออ่านข้อความในใบปลิวแล้วรู้สึกคล้อยตาม หลังการสอบสวนแล้วได้ทำความเห็นสั่งฟ้องเพราะเชื่อว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด เพราะคำว่า "เผด็จการจงพินาศ" มีลักษณะก้าวร้าวรุนแรง
 
ร.ต.อ.ชยพล ตอบคำถามทนายความว่า หลังจากอ่านข้อความในใบปลิวแล้วก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกอยากกระทำความผิดอาญา ร.ต.อ.ชยพล ไม่ตอบคำถามว่า ตนเองไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ตอบว่า การไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ผิดกฎหมาย 
 
 
สืบพยานจำเลย ปากที่หนึ่ง สามารถ จำเลย
 
สามารถ เบิกความว่า จบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยทำงานเป็นวิศวกร ปัจจุบันอายุ 63 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย และเป็นผู้จัดทำใบปลิวและนำไปเสียบไว้บริเวณที่ปัดน้ำฝนของรถยนต์ที่จอดอยู่ในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ด้วยความบริสุทธิ์ใจและเชื่อว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนสามารถแสดงออกได้ โดยหวังปลุกจิตสำนักรักประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทย 
 
สามารถ เล่าว่า ข้อความในใบปลิวที่เขียนว่า Vote No นั้นต้องการแสดงออกว่า ตนเองจะไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่า ประชาชนคนไทยมีวิจารณญาณตัดสินใจด้วยตัวเองได้ ไม่ได้คิดว่า ใครอ่านแล้วจะต้องคล้อยตาม ส่วนคำว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" เอามาจากคำพูดของครูครอง จันดาวงศ์ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรุ่นเก่าที่เคยถูกจอมพลสฤษดิ์สั่งประหารชีวิต 
 
สามารถ เล่าด้วยว่า ใบปลิวจำนวนมากนั้น ทำไว้ตั้งแต่ปี 2557 แต่ตัดสินใจไม่เอาไปแจกเพราะอยากดูก่อนว่า คสช. จะบริหารประเทศได้ดีหรือไม่ แต่จนถึงวันนี้ เห็นว่า รัฐบาลของคสช. ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา ต่างชาติไม่มาลงทุน ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส สร้างผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ เนื่องจากมีความฝันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้วว่า อยากเห็นประเทศไทยมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ จึงได้ลงมือกระทำไปตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้
 
สามารถ เบิกความว่า ในวันที่ถูกจับกุม คนที่เรียกให้มาเปิดประตู คือ พ.ต.โสภณ ซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบทหาร วันนั้นมีทหารและตำรวจหลายหน่วยงานทั้งในและนอกเครื่องแบบมาประมาณ 30 คน เมื่อเปิดประตูเจ้าหน้าที่หลายคนก็กรูกันเข้ามาในบ้าน เมื่อเข้ามาในบ้านแล้วก็จึงแสดงหมายจับ และตรวจค้นยึดกระเป๋าเป้ที่มีใบปลิวอยู่ข้างใน และรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งใช้ขี่ไปห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่าเพื่อไปแจกใบปลิว ตอนที่กำลังจะถูกนำตัวไปสามารถพยายามจะโทรศัพท์บอกภรรยา แต่เมื่อยกโทรศัพท์ขึ้นก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งไม่ทราบว่าหน่วยไหนมายึดโทรศัพท์ไปแล้วบอกว่า อย่าเพิ่งโทรศัพท์ตอนนี้
 
สามารถ เล่าต่อว่า หลังจากนั้นถูกนำตัวไปที่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 และนั่งรออยู่จนช่วงเย็น จึงถูกนำตัวมาแถลงข่าวพร้อมกับการแถลงข่าวการจับกุมกลุ่มนักการเมืองอีกหลายคน ทำให้รู้สึกเหมือนว่า ตนเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการกลุ่มนั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วลงมือทำเพียงคนเดียว หลังแถลงข่าวก็ถูกนำตัวไปขังไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อใคร และไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนายความ จนช่วงดึกก็ถูกนำตัวไปสอบสวนโดยไม่ได้รับแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา สามารถถูกคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจสองคืนก่อนถูกนำตัวไปให้ศาลเพื่อฝากขัง
 
อัยการถามสามารถว่า เอกสารบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนที่มีข้อความว่าได้แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบแล้ว สามารถอ่านและลงลายมือชื่อแล้วหรือไม่ สามารถตอบว่า ใช่ เมื่อทนายความถามติง สามารถอธิบายว่า เนื่องจากตอนที่สอบปากคำเป็นเวลากลางคืนที่เหนื่อยล้า มีเอกสารให้ลงชื่อหลายฉบับ ได้อ่านแล้วแต่อ่านผ่านๆ จึงลงลายมือชื่อไป
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ เป็นเวลาประมาณ 18.00 น.แล้ว ทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานที่เป็นลูกชายของจำเลย และเพื่อนของจำเลย แต่ยังเหลือพยานจำเลยอีกสองปาก ที่เป็นนักวิชาการจะมาอธิบายการตีความกฎหมาย ซึ่งศาลเห็นว่า หมดเวลาราชการแล้ว จึงเรียกพยานมาพูดคุยแล้วหาวันนัดใหม่ ตกลงได้วันนัดสืบพยานจำเลยอีกสองปากในวันที่ 6 และ 15 มีนาคม 2560 เวลา 13.00 น.
 
6 มีนาคม 2560
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง ณัฐกร วิทิตานนท์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
 
ณัฐกร เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีผลงานทางวิชาการที่สำคัญได้แก่หนังสือหลักรัฐธรรมนูญเบื้องต้น หนังสือคำอธิบายกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น  
 
ณัฐกร เล่าว่า การลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับเมื่อปี 2550 บรรยากาศการลงประชามติค่อนข้างเปิดกว้าง มีเวทีดีเบต รณรงค์ หรือแจกเอกสารของฝ่ายต่างๆ แต่การลงประชามติวันที่ 7 ส.ค. ในช่วงต้น ไม่ได้มีลักษณะเช่นนี้ เพราะมีหลายเวทีที่จะวิพากษ์วิจารณ์ร่างฯ ถูกระงับไม่ให้จัด หรือมีการจับกุมดำเนินคดีคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ทางกกต.เอง จัดทำเอกสารสรุปย่อสาระสำคัญของร่างฯ แจกแก่ประชาชน เน้นด้านดีของร่างฯ และไม่ได้นำเสนอจากเนื้อหาร่างฯ อย่างครบถ้วน 
 
ณัฐกร เบิกความต่อว่า มีบุคคลสำคัญให้สัมภาษณ์ทั้งในทางเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง ก็พูดในหลายโอกาสว่าร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ไขปัญหาประเทศได้ โดยตนจะรับร่าง 
 
ณัฐกรเบิกความว่า คำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เป็นคำที่ใช้ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมาทุกยุคทุกสมัย โดยมีที่มาจากถ้อยคำที่ครูครอง จันดาวงศ์ ได้เปล่งออกมาก่อนจะถูกประหารชีวิตในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถ้อยคำดังกล่าวจึงถูกหยิบใช้ต่อมาในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย มีตัวอย่างการนำข้อความดังกล่าวไปใช้ เช่น การทำเป็นป้ายผ้าติดบนอัฒจรรย์ในงานฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬากับธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2558 
 
ณัฐกรมองว่า ถ้อยคำในใบปลิวเป็นคำปกติสามัญ ที่พบใช้เป็นประจำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมาหลายยุคหลายสมัย ส่วนการบอกว่าโหวตโน ไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 เพราะการบอกให้ไปรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไมได้ทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือเป็นการบิดเบือนใดๆ ทั้งประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ก็ไม่ได้มีความวุ่นวายเกิดขึ้น ทางกกต.เองก็ให้สัมภาษณ์ว่า การรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิที่ทำได้ 
 
อัยการถามว่า พยานได้ขออนุญาตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการมาเป็นพยานคดีนี้หรือไม่ ศาลได้ทักขึ้นว่าท่านจะเอาเรื่องเขาหรือ อัยการพยายามบอกว่าพยานเป็นข้าราชการ ก็ต้องดูว่า คำให้การมีผลเสียหายต่อทางราชการหรือไม่ ศาลแจ้งว่าจะไม่บันทึกประเด็นนี้ เพราะไม่เกี่ยวกับคดี 
 
อัยการให้พยานดูข้อความในพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 แล้วถามว่าการรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติไม่ผิดกฎหมายนี้ใช่หรือไม่ ณัฐกรตอบว่า ใช่ อัยการให้ดูประกาศหลักเกณฑ์ของกกต.เรื่องการออกเสียงประชามติ ในข้อที่ 5 ที่ระบุข้อห้ามต่างๆ ในการแสดงออกเกี่ยวกับการลงประชามติ แล้วถามว่าถ้าเราบอกให้ประชาชนไปออกเสียงโหวตเยสหรือโหวตโน ถ้าตีความจากหลักเกณฑ์นี้ จะเป็นการผิดกฎหมายหรือไม่ ณัฐกรตอบว่า ไม่ผิด 
 
อัยการถามว่าถ้าข้อความทั้งหมดในใบปลิวนี้ ไปถึงประชาชนทุกคนในประเทศ จะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นใช่หรือไม่ ณัฐกรตอบว่า ไม่ใช่ อัยการถามว่าการรณรงค์ให้ไปออกเสียงประชามตินั้น โดยปกติมีการทำอะไรบ้าง ณัฐกรตอบว่าเผยแพร่เอกสาร แผ่นพับ สื่อสิ่งพิมพ์ ป้าย เข็มกลัด หรือใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก หรือไลน์ อย่างเช่นแอพพลิเคชั่นของทางกกต.เอง 
 
หลังเสร็จการสืบพยาน ศาลแจ้งเรื่องคำร้องการขอแก้ไขคำฟ้องคดีนี้ ที่ทางอัยการยื่นเข้ามาตั้งแต่ก่อนสืบพยาน เพื่อขอเพิ่มเติมส่วนของข้อกฎหมาย โดยเฉพาะการเพิ่มประกาศของกกต.เรื่องหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติเข้ามา ทางทนายจำเลยได้แถลงค้านการแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว ศาลวินิจฉัยว่าอนุญาตให้ฝ่ายโจทก์แก้ไขคำฟ้อง เพราะมีเหตุสมควรให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยการบรรยายฟ้องเดิมครบถ้วนแล้ว การแก้ไขเป็นเพียงการอ้างตัวประกาศเพิ่มเติมเข้ามา ไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบ 
 
 
15 มีนาคม 2560
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์
 
การพิจารณาคดีในวันนี้ศาลนัดเวลา 13.30 น. ก่อนศาลขึ้นบังลังก์มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์เต็มความจุของห้องพิจารณา ประมาณ 20 คน ศาลขึ้นบังลังก์ประมาณ 13.40 น. เมื่ออัยการมาถึงประมาณ 13.50 น. ศาลจึงเริ่มการพิจารณาคดี สืบพยานจำเลยปากที่สาม
 
สืบพยานจำเลย
สมชาย เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบปริญญาโท สาขากฎหมาย
มหาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนใจศึกษาเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน ตั้งแต่รับราชการมามีผลงาน
วิชาการที่เป็นทั้งตำราและงานวิจัยมากกว่า 20 ชิ้น เคยได้รับเชิญไปบรรยายในหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมทั้งมีความสนใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
สมชาย เบิกความต่อว่า โดยทั่วไปในสังคมเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายรัฐต้องเปิดโอกาส ให้ประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยสามารถแสดงความคิดเห็นได้ การทำประชามติต้องยอมรับการถกเถียง การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 มีความแตกต่างกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 เพราะการทำประชามติปี 2559 ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถแสดงความเห็นอย่างเสรี ดังหลายกรณีที่ประชาชนถูกจับกุมจำนวนมาก
 
สมชาย เบิกความถึง พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) โดยกล่าวว่า มาตรา 7 เป็นหลักการพื้นฐานทุกคนต้องสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในมาตรา 61 พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีโทษทางอาญา ดังนั้นต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามหลักการตีความของกฎหมายอาญา 
 
ทนายให้ สมชายดูเอกสารที่โจกท์ยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งมีคำว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" สมชาย กล่าวว่า ข้อ
ความดังกล่าวกล่าวถึงหลักการปกครองในเชิงนามธรรม มิได้กล่าวถึงบุคคลเป็นการเฉพาะ ข้อความนี้เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเป็นคำพูดของครูครอง จันดาวงศ์ โดยเมื่อเทียบกับ มาตรา 61 ข้อความที่แสดงในเอกสารผู้เผยแพร่เอกสารต้องการแสดงความเห็นด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนสัญลักษณ์ชูสามนิ้วที่ปรากฎในเอกสาร มาจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ซึ่งมีความหมายถึงการต่อต้านเผด็จการ ซึ่งเราไม่สามารถตีความข้อความดังกล่าวว่าผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ 
 
สมชาย เบิกความต่อว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ไม่มีอำนาจครอบคลุมถึงพ.ร.บ.ประชามติฯ ส่วนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ในคำสั่งก็มีความชัดเจนว่า การแต่งตั้งเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ต้องมีการแต่งตั้งจากหัวหน้าคสช. ไม่ใช่ใครก็ได้ที่มียศร้อยตรีขึ้นไป คำสั่งนี้ไม่มีบัญชีแนบท้ายครอบคลุมถึง พ.ร.บ.ประชามติฯ โดยเจตนารมณ์ของคำสั่งต้องการมุ่งปราบปรามผู้มีอิทธิพล การปราบปรามการค้ามนุษย์
 
สมชาย กล่าวถึง ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียง
ประชามติ พ.ศ. 2559 เป็นแนวทางกเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้และไม่มีบทลงโทษ พร้อมยังได้กล่าวถึง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ว่าเป็นกติการะหว่างประเทศที่รับรองสิทธิพลเมือง ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบัน ไว้เมื่อปี 2539 และมีผลใช้บังคับในปี 2540 โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ก็รับรองเรื่องนี้ไว้ด้วย โดยในข้อ 19 รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ซึ่งรัฐไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสามารถถูกจำกัด ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่การกระทำของจำเลยไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นจะทำให้รัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
 
สมชาย กล่าวว่า ไม่รู้จักกับจำเลยมาก่อน จนกระทั่งเพิ่งมาพบกันในคดีนี้
 
อัยการถามค้าน
อัยการ เริ่มถามพยานว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ และประกาศกกต. ใช่ไหม สมชาย ตอบว่าไม่ และไม่เคยเป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายฉบับใดมาก่อน อ้ยการถามต่อว่า โดยหลักการทั่วไปการบังคับใช้กฎหมายทั่วไป กับกฎหมายเฉพาะ ต้องใช้กฎหมายอย่างไหนก่อน สมชาย ตอบกฎหมายเฉพาะเป็นหลัก 
 
อัยการ ถามว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง เคยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใช่หรือไม่ สมชาย ตอบ ใช่ครับ ซึ่งต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งในคดีนี้เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว และพ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นกฎหมายเฉพาะใช่ไหม สมชาย ตอบ ใช่ครับ
 
อัยการ ถามต่อว่า คำว่าภาพตาม มาตรา 61 วรรคสอง รวมถึงใบปลิวของจำเลยด้วยใช่ไหม สมชาย ตอบใช่ครับ อัยการ ถามต่อ ถ้าชาวบ้านอ่านคำว่า "เผด็จการ" จะหมายถึงรัฐบาลชุดนี้ใช่ไหม สมชาย ตอบ ไม่ใช่ครับ แต่หมายถึงรัฐบาลเผด็จการทั้งหมด ซึ่งรวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนคำว่า "จงพินาศ" ตามความเข้าใจของชาวบ้าน หมายถึงทำให้เสียหาย หมดสิ้นไป ถูกต้องไหม สมชาย ตอบ ถูกต้องครับ ส่วนคำว่า "7 ส.ค." คือวันประชามติ ใช่หรือไม่ สมชาย ตอบ "ใช่ครับ" 
 
อัยการ ถามว่า มาตรา 61 วรรคสอง คำที่ว่า โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าบอกให้ไปโหวตเยสเป็นความผิดไหม สมชาย ตอบ เป็นครับ สุดท้ายอัยการถามว่า ถ้าใบปลิวแผ่นนี้ส่งไปให้ประชาชนจะทำให้เกิดความไม่สงบได้หรือไม่ สมชาย ตอบ เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
 
ทนายถามติง
ต่อมาทนาย ถาม สมชาย ถึงหลักการบังคับใช้กฎหมายทั่วไปกับกฎหมายเฉพาะ สมชาย เบิกความว่า ต้องพิจารณาระหว่าง พ.ร.บ. กับ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประชามติเป็นกฎหมายเฉพาะ แต่ต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า
 
ทนายถาม ต่อว่า การกระทำความผิดตาม มาตรา 61 วรรคสอง ต้องมีองค์ประกอบอย่างไร สมชาย ตอบว่า ต้องพิจารณาทั้งมาตรา มีองค์ประกอบหลายส่วน การพิจารณาถ้อยคำบ้างส่วนน่าจะผิดพลาด การกระทำที่ผิดต้อง รุนแรง ก้าวร้าว โดยมีเจตนาให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง 
 
สิ้นสุดการพิจารณาคดี ประมาณ 14.45 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 24 เมษายน 2560 เวลา 09.00 น.
 

24 เมษายน 2560

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดฟังคำพิพากษาในเวลา 9.00 น. จำเลยและทนายจำเลยมาศาล แต่อัยการโจทก์ไม่มา โดยจำเลยมีเพื่อนมาฟังคำพิพากษาด้วย 3-4 คน 

เจ้าหน้าที่แจ้งให้ย้ายการฟังคำพิพากษาจากห้องพิจารณาคดีที่ 19 ซึ่งเป็นห้องที่ใช้พิจารณาคดีมาตลอด ไปเป็นห้องพิจารณาคดีที่ 21 เนื่องจากตุลาการที่พิจารณาคดีนี้ได้ย้ายไปแล้ว จะเป็นตุลาการท่านอื่นเป็นผู้อ่านคำพิพากษาแทน

ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.30 และอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย

หลังฟังคำพิพากษา จำเลยกล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตนเองในคดีนี้ รวมทั้งทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อฟังคำพิพากษาแล้วด้านหนึ่งก็รู้สึกว่า ความเป็นธรรมยังหาได้ในประเทศนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนที่จะหยิบยื่นให้ ท่านผู้พิพากษาในคดีนี้มีใจเป็นธรรม การต่อสู้คดีนี้อย่างน้อยก็เกิดบรรทัดฐานหรือจุดประกายเล็กๆ ว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการต่อสู้ให้ได้มา ไม่ใช่การร้องขอ ชัยชนะในคดีนี้ไม่ใช่ของตนเอง เพราะตนเองไม่มีอะไรเลยเพียงแค่ไปแสดงออกเฉยๆ แต่เป็นชัยชนะของประเทศและประชาชนทุกคน

 

  

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำอันจะถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยสี่ประการ คือ 1) ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การลงประชามติไม่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย 2) ตามวรรคสอง ระบุว่า ต้องมีการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ซึ่งข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 3) ผู้กระทำต้องมีเจตนาตามธรรมดาที่จะเผยแพร่ข้อความนั้น 4) ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ มุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง

เมื่อพิจารณาจากข้อความในใบปลิว คำว่า "เผด็จการ" ตามพจนานุกรม หมายถึง การใช้อำนาจบริหารเด็ดขาด โดยผู้นำคนเดียว คำว่า "พินาศ" หมายถึง เสียหายโดยสิ้นเชิง ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นการระบุถึงเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้หมายถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ หากจะตีความให้หมายถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ไม่อาจโยงไปถึงร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ บุคคลธรรมดาเมื่ออ่านข้อความในใบปลิวแล้วไม่อาจโยงไปถึงการออกเสียงประชามติได้ และบุคคลที่จะมีสิทธิออกเสียงประชามติต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ มีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจเองได้ ข้อความในใบปลิวจึงไม่อาจชักจูงใจให้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไปออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้
 
คำว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ยังเป็นคำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และใช้กันทั่วไปในหมู่ผู้รักประชาธิปไตย ก่อนที่จำเลยจะนำมาใช้ในใบปลิว
 
พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นกฎหมายที่มุ่งให้เกิดความเที่ยงธรรมในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังที่มาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ยังระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงไม่อาจตีความกฎหมายให้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าที่จำเป็น
 
พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความว่าข้อความในใบปลิวมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ได้ แม้โจทก์จะมีพยานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เบิกความยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะรุนแรง เป็นการปลุกระดมทางการเมือง ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว โจทก์ไม่มีกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามาเบิกความยืนยันในประเด็นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ศาลพิพากษายกฟ้อง
 
กระดาษใบปลิวของกลางในคดีนี้จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เป็นความผิด เห็นสมควรให้คืนแก่จำเลย
 
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา