“สหรัถ”: ทนายแรงงานละเมิดอำนาจศาล

อัปเดตล่าสุด: 28/06/2560

ผู้ต้องหา

สหรัถ

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สารบัญ

หลังความผิดพลาดในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ศาล ทำให้คดีของ "สหรัถ" ทนายความด้านสิทธิแรงงาน ถูกศาลสั่งจำหน่าย เขาเข้าพบผู้พิพากษาและขู่ว่าจะร้องเรียนพร้อมกับโพสต์ข้อความวิจารณ์ศาลบนเฟซบุ๊ก
 
"สหรัฐ" ถูกดำเนินคดีแยกเป็นสองคดี คดีแรกฐานละเมิดอำนาจศาล ถูกฟ้องที่ศาลแรงงานภาค 1 ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 3 เดือน คดีที่สองอัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า เขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ทำนองว่า ศาลไม่มีความยุติธรรมในการพิจารณาคดี อันเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาล และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมาศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษ
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

"สหรัถ" ขณะเกิดคดีอายุ 37 ปี ประกอบอาชีพทนายความ ก่อนหน้านี้เคยเป็นอาสานักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรุ่น 3 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายที่ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, อื่นๆ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ในคดีที่ฟ้องต่อ ศาลแรงงานภาค 1 (สระบุรี) "สหรัถ" ถูกกล่าวหาว่า เขาและลูกความซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานจำนวนหลายคน รวมตัวกันบริเวณจุดบริการประชาชน ซึ่งอยู่หน้าห้องพักผู้พิพากษาและห้องธุรการ แสดงความไม่พอใจที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีของเขาด้วยเหตุที่เขาไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา เพราะเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปแจ้งเลื่อนคดีแล้ว ต่อมา "สหรัถ" พร้อมเสมียนทนายเข้าพบกับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและยืนยันให้แก้ไขคำสั่งจำหน่ายคดี แต่ผู้พิพากษาแจ้งว่าไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายไม่เปิดช่อง แต่ "สหรัถ" พูดจาแสดงความไม่พอใจว่าจะร้องเรียน หลังจากนั้น "สหรัถ" และลูกความส่งเสียงดังโวยวายบริเวณโต๊ะประชาสัมพันธ์ และยังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า "วันนี้รู้แล้วว่าศาลแรงงานรับใช้นายทุน…. " 
 
ในคดีที่ฟ้องต่อ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา "สหรัถ" ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาลแรงงานภาค 1 เมื่อครั้งที่เป็นทนายโจทก์ในคดีศาลแรงงาน แล้วไม่มาพบศาลตามกำหนดพิจารณา หลังจากนั้นเขาและพวก ได้ร่วมกันโพสต์เฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า ศาลขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความยุติธรรมในการพิจารณาคดี ซึ่งเหตุเกิดขึ้นที่ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 

พฤติการณ์การจับกุม


บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ลศ.1/2558

ศาล

ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไอลอว์ได้พูดคุยกับภรรยาของ"สหรัถ" ประเด็นอุปนิสัยของจำเลยได้ความว่า จำเลยเป็นคนนิ่ง ใจเย็น ตั้งแต่ใช้ชีวิตคู่ว่า สามีเธอเป็นเหมือนน้ำเย็น ส่วนเธอนั้นเป็นคนใจร้อน ก็เหมือนน้ำร้อน แต่เธอกับสามีก็อยู่ด้วยกันได้ เธอตั้งคำถามต่อว่า คนรอบตัวสามีจะรับรู้เองว่า สามีเป็นคนอย่างไร 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
15 พฤษภาคม 2558

เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโทรศัพท์มาหา "สหรัถ" เพื่อบอกว่า คดีที่เตรียมมายื่นฟ้องใหม่ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ให้เลื่อนไปยื่นฟ้องวันอื่นแทน แต่เขาเข้าใจว่า ให้เลื่อนวันพิจารณาคดีที่ฟ้องไว้แล้วก่อนหน้านี้ เป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 
 
18 พฤษภาคม 2558
 
"สหรัถ" ต้องมาขึ้นศาลในฐานะโจทก์ ในคดีที่จำเลยหลายคนซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานยื่นฟ้องนายจ้าง แต่ไม่มาตามนัดเพราะความเข้าใจผิด ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดี
 
19 พฤษภาคม 2558
 
"สหรัถ" มาที่ศาลแรงงานภาค 1 โดยเข้าใจตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ว่า เจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์มาเลื่อนนัดเป็นวันนี้ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า คดีเป็นของเมื่อวาน "สหรัถ" ร่วมกับลูกความหลายคนจึงรวมตัวกันบริเวณโต๊ะประชาสัมพันธ์ของศาล "สหรัถ" ตะโกนว่า "พวกเราไม่ยอมใช่ไหม" และลูกความหลายคนจึงตะโกนรับว่า “ไม่ยอม” ต่อหน้าบุคคลอื่น

หลังจากนั้น เขาและพวก ร่วมกันโพสต์เฟซบุ๊กข้อความลักษณะว่า ศาลขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความยุติธรรมในการพิจารณาคดี
 
21 กันยายน 2558
 
ศาลแรงงานภาค 1 อ่านคำพิพากษาในคดีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้จำคุก 4 เดือน เนื่องจากคำรับเป็นประโยชน์แก่ทางพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้เหลือจำคุก 3 เดือน ไม่รอลงอาญา
 
หลังฟังคำพิพากษา "สหรัถ" ยื่นขอประกันตัวเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์
 
 
29 ตุลาคม 2558
 
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ "สหรัถ" ในคดีที่สอง ข้อหาดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และทำการสอบสวนแล้ว ชั้นสอบสวน "สหรัถ" ให้การปฏิเสธ ระหว่างสอบสวนไม่ได้ถูกจับและไม่ได้ถูกควบคุมตัว
 
18 เมษายน 2559 
 
ศาลอุทธรณ์มีพิพากษายืน เห็นพ้องด้วยกับศาลแรงงานภาค 1 ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของ "สหรัถ" 
 
26 กันยายน 2559
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดีดูหมิ่นศาล
 
ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยบรรยากาศการแลกเปลี่ยนบัญชีพยานทั้งฝ่ายจำเลยและฝ่ายโจกท์เป็นไปด้วยดี ไม่มีการขอเอกสารเพิ่มเติมจากทั้งสองฝ่าย ใช้เวลาดำเนินการตรวจบัญชีพยานดังกล่าวประมาณครึ่งวัน และมีสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมเข้าสังเกตการณ์คดีด้วย  ทั้งนี้ศาลนัดสืบพยาน วันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2560
 
 
30 ธันวาคม 2559
 
ศาลฎีกามีคำพิพากษา ในคดีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิด แต่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพและรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แก้เป็นให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 
 
"สหรัถ" จึงถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำ
 
 
7 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดสืบพยาน ในคดีดูหมิ่นศาล

เวลาประมาณ 10:15 น. ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีตามปกติ ศาล โจทก์ และจำเลย พูดคุยและตกลงกันด้วยปากเปล่า ศาลชี้แจงว่า คดีนี้หากจำเลยรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลจะไม่ลงโทษจำคุกจำเลยอย่างแน่นอน พร้อมกล่าวต่อว่า ศาลเป็นคนตรงไปตรงมา ศาลเข้าใจการเป็นทนายสิทธิแรงงานของจำเลยว่า อาจเกิดการคลาดเคลื่อนเข้าใจผิด จากกรณีที่จำเลยเข้าใจว่า ศาลแรงงานโทรเลื่อนนัดการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 นอกจากนี้ศาลเองไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลย เพราะไม่มีใครต้องการให้เกิดเรื่องแบบนี้ ทั้งนี้ศาลแรงงานภาค1 (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ยังไม่ทราบกระบวนการพิจารณานี้ แต่ศาลเห็นว่า ศาลแรงงานท่านคงเคารพการตัดสินใจของศาลแห่งนี้
 
หลังการพูดคุยกันจำเลยตกลงรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์และฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลจึงเห็นว่า ให้ยกเลิกสืบการพยานทั้งหมด ที่เดิมนัดไว้ตั้งแต่วันที่ 7 – 9 กุมภาพันธ์ 2560 และให้นัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 16 มีนาคม 2560 โดยให้ คุมประพฤติและสืบเสาะประวัติของจำเลยภายใน 20 วัน ขณะที่อัยการโจทก์นัดหมายกับจำเลยให้ไปพูดคุยกับอัยการศาลสูงเพื่อจะได้สั่งไม่อุทธรณ์คดีของจำเลยในวันที่ 20 มีนาคม 2560
 
 
16 มีนาคม 2560

นัดฟังคำพิพากษา ในคดีดูหมิ่นศาล

เวลา 09:30 น. ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลนัด "สหรัถ" ฟังคำพิพากษา ในวันนี้นอกจาก "สหรัถ" และทนายของเขาแล้วยังมีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย ก่อนที่ศาลจะเริ่มอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในศาลใส่กุญแจมือ "สหรัถ" โดยชี้แจงว่า เป็นข้อตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับศาล
 
ศาลอ่านคำพิพากษาอย่างย่อระบุว่า จำเลยมีความผิดฐานดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ทั้งมีภาระที่ต้องดูแลมารดาที่มีความพิการทางการได้ยิน และมีภรรยาที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ประมาณ 10 สัปดาห์ จึงให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนดสองปีและให้คุมประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุกสามเดือนเป็นเวลาสองปี
 
เนื่องจากจำเลยไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลแนะนำให้จำเลยทำเรื่องขอรายงานตัวที่กรุงเทพฯ

 

 

คำพิพากษา

 
สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีละเมิดอำนาจศาล
 
ศาลแรงงานภาค 1 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ "สหรัถ" พูดจาทำนองข่มขู่ว่า จะร้องเรียนเจ้าหน้าที่ทุกคน ต้องมีคนรับผิดชอบ เป็นการพูดเพื่อให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนนวนเกิดความหวาดกลัวและหวั่นไหวในการสั่งคดีความ เพราะย่อมเกรงว่า จะต้องเสื่อมเสียเกียรติยศ เสียเวลาในการต้องชี้แจงความจริง อันจะทำให้เกิดความท้อแท้ในการทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษา ทั้งที่ผู้พิพากษาได้ชี้แจงและอธิบายด้วยความสุขภาพว่า ควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไรแล้ว นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหา ยังยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีโดยมีรายละเอียดว่า ผู้พิพากษาเป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อให้เลื่อนคดีอันเป็นความเท็จ เมื่อพิจารณาประกอบกับการโพสต์เฟซบุ๊กแล้ว ข้อความที่ผู้ถูกกล่าวหาพูด เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและความเข้าใจผิด 
 
ผู้ถูกกล่าวหา เป็นทนายความมากว่า 6 ปี ย่อมทราบกระบวนการพิจารณาและขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินคดีในศาล การกระทำของเช่นนี้ย่อมเป็นการกล่าวให้ร้ายผู้พิพากษาโดยตรงทั้งที่เป็นความผิดของผู้ถูกกล่าวหาโดยแท้ แต่กลับผลักให้เป็นความรับผิดชอบของผู้พิพากษาและปลุกระดมให้โจทก์ในคดีที่ถูกสั่งจำหน่ายคดีรวม 51 คน เข้าใจผิดในตัวผู้พิพากษาว่าไม่ยุติธรรม ข่มขู่ว่าจะร้องเรียนผู้พิพากษาต่อหน้าผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ในศาลย่อมกระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในกระบวนการพิจารณาและพิพากษาของศาลอย่างร้ายแรง ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพฐานละเมิดอำนาจศาลในชั้นพิจารณาไต่สวนด้วยความสมัครใจ พยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหานำเสนอต่อศาลจึงรับฟังได้อย่างมั่นคงและแน่นหนาว่าสหรัถได้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ถือได้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
 
พิพากษาว่า "สหรัถ" มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบมาตรา 33 จำคุก 6 เดือน คำรับของผู้ถูกกล่าวหา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง บรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 4 เดือน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการร้ายแรงเห็นควรไม่รอการลงโทษ
 
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีละเมิดอำนาจศาล
 
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษผู้ถูกกล่าวหา หรือไม่ "สหรัถ" อุทธรณ์ว่า เมื่อทราบว่าศาลสั่งจำหน่ายคดีตกอยู่ในภาวะเครียดและกดดัน ไม่สามารถคิดหาทางออกได้ กังวลว่าลูกความจะเสียหาย ไม่ได้ไต่ตรองให้รอบคอบ รุ้สึกเข็ดหลาบและสำนึกผิดพร้อมจะกลับตัวกลับใจไม่กระทำเช่นนี้อีก ขอให้รอการลงโทษ 
 
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พฤติการณ์ของ "สหรัถ" เป็นกรณีร้ายแรงแสดงออกถึงความลำพองตน ไม่ยอมรับฟังคำชี้แจงใดๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังแสดงออกซึ่งการปลุกปั่น ปลุกระดมลูกควาซึ่งมีจำนวนมากถึง 51 คน ในลักษณะยั่วยุให้ลูกความมีอารมณ์ไม่พอใจศาลชั้นต้น ส่อให้เห็นว่า มีความเสี่ยงที่ลูกความเหล่านั้นอาจก่อความวุ่นวายที่รุนแรงขึ้นได้ "สหรัถ" ไม่ได้สำนึกผิดจริง แต่อุทธรณ์ว่าสำนึกผิดเพราะเกรงกลัวที่จะต้องถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล จึงอ้างความสำนึกผิดเพื่อขอความปราณีเพื่อไม่ต้องถูกลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษแต่ลดโทษให้หนึ่งในสามเป็นคุณแก่ "สหรัถ" แล้ว พิพากษายืน
 

สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา คดีละเมิดอำนาจศาล

ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งว่า คำอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาข้อ 2.1 ถึง 2.5 ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เรื่องความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา แต่ศาลอุทธรณ์กลับไม่วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรณีร้ายแรง แสดงให้เห็นว่า ได้พิจารณาอุทธรณ์ข้อ 2.1-2.5 แล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย

 
ปัญหาต่อไปมีว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้หรือไม่ ศาลฎีกาเห้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาประกอบอาชีพทนายควานับว่า เป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมาย ควรจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลทั่วไป เมื่อเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายคดี และผู้พิพากษาได้พูดทำความเข้าใจและหาทางออกให้แล้ว ผู้ถูกกล่าวหาก็ควรรับฟังคำชี้แจงและดำเนินการตามเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความ แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับไม่ทำและแสดงออกถึงความไม่พอใจ พร้อมปลุกระดมลูกความทั้ง 51 คนให้ไม่พอใจผู้พิพากษาด้วย การกระทำของผู้ถูกกล่าวหานอกจากไม่ให้ความเคารพเกรงกลัวต่อศาลแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบริเวณศาลได้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่อง้ายแรง สมควรอย่างยิ่งที่จะลงโทษให้หลาบจำและมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป 
 
แม้ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวและมีคุณความดี ก็ยังไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษจำคุกให้ ฎีกาข้อนี้ของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น
 
แต่ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพและแถลงรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงสมควรลดโทษให้ผู้ถูกกล่าวหากึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 เป็นจำคุก 3 เดือน ไม่รอการลงโทษ 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา