สมลักษณ์ คดีที่สาม : โพสต์วิจารณ์เหมืองทองคำ จ.พิจิตร

อัปเดตล่าสุด: 23/01/2561

ผู้ต้องหา

สมลักษณ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

สมลักษณ์ได้นำเข้าข้อความผ่านบัญชี ชื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กคือ “Somlak hutanuwatr (Thai Leak)” ซึ่งเป็นข้อความประกอบรูปภาพว่า “อันตรายมากที่เร่งทำอย่างโกบโกย คันเขื่อนบ่อไซยาไนด์ ขนาด 1,400 ไร่ ไม่มีแกนเขื่อนเปราะบางมาก อันตรายมาก ห่างวัด ห่างโรงเรียนแค่ 400-500 เมตร” ข้อความดังกล่าวเป็นการพาดพิงถึงการประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ จึงฟ้องร้องเอาผิดตามมาตรา 14(1),14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 101 วรรคหนึ่งและสองของของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ คดีนี้ศาลจังหวัดพิจิตรมีคำสั่งรับฟ้องและนัดสืบพยานอีกครั้งในปี 2560

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สมลักษณ์ เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นกรรมการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นอดีตพยานผู้เชียวชาญกรณีเหมืองทองพิจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสุขภาพ

นอกจากคดีนี้ สมลักษณ์ยังถูก โจทก์ในคดีนี้ฟ้องอีกสองคดี จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาโจทก์ไม่จ่ายภาษี และกล่าวหาว่ากิจการเหมืองแร่ของโจทก์ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้องแล้วทั้งสองคดี 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ
พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำบรรยายฟ้องระบุว่า วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 สมลักษณ์ได้นำเข้าข้อความเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ชื่อบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กคือ “Somlak hutanuwatr (Thai Leak)” ซึ่งเป็นข้อความประกอบรูปภาพว่า “อันตรายมากที่เร่งทำอย่างโกบโกย คันเขื่อนบ่อไซยาไนด์ ขนาด 1,400 ไร่ ไม่มีแกนเขื่อนเปราะบางมาก อันตรายมาก ห่างวัด ห่างโรงเรียนแค่ 400-500 เมตร”

 

โดยโจทก์เห็นว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายในทำนองที่ว่า “เนื่องจากโจทก์จะต้องหยุดดำนเนิการเหมืองแร่ทองคำในสิ้นปี 2559 ซึ่งเหลือเวลาเพียงไม่กี่เดือน โจทก์จึงได้รีบเร่งกอบโกยทำเหมืองแร่ทองคำ บริเวณบ่อไซยาไนด์ขนาด 1,400 ไร่ อย่างละโมบโลภมาก โดยเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอยู่ใกล้เขตชุมชน วัด และโรงเรียน ห่างเพียงแค่ 400-500 เมตร เนื่องจากบ่อไม่มีแกนเขื่อนและเปราะบางมาก อันอาจถล่ม หรือพังทลายสร้างความเสียหายต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม”

 

ข้อความของจำเลยเป็นเท็จให้เหตุผลว่า แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีคำสั่งให้โจทก์ยุติกิจการเหมืองแร่ภายในปี 2559 แต่โจทก์ไม่ได้รีบร้อนดำเนินกิจการเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก และโจทก์ยังคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและชุมชนเป็นสำคัญ ขณะที่บ่อเก็บกากแร่ของบริษัทโจทก์ที่จำเลยได้นำไปโพสต์บนเว็บไซต์เฟซบุ๊กก็มีความมั่นคง ออกแบบตามหลักวิศวกรรมและถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังตั้งอยู่ห่างจากแหล่งชุมชน วัด และโรงเรียนเกือบหนึ่งกิโลเมตร

 

โจทก์จึงร้องขอต่อศาลให้พิจารณาความผิดจำเลยในสองส่วน คือ การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามมาตรา 14(1), 14(2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ การแพร่ข่าวด้วยการโฆษณาไม่เป็นความจริงที่เจตนาทำลายชื่อเสียง หรือความไว้วางใจของประชาชนในการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม มาตรา 101 วรรคหนึ่งและสอง ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

 

 

พฤติการณ์การจับกุม


บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล


หมายเลขคดีดำ

อ 1468/2559

ศาล

ศาลจังหวัดพิจิตร

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


แหล่งอ้างอิง


23 พฤษภาคม 2559

 

สมลักษณ์โพสต์บนเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กคือ “Somlak hutanuwatr (Thai Leak)” ซึ่งเป็นข้อความประกอบรูปภาพว่า “อันตรายมากที่เร่งทำอย่างโกบโกย คันเขื่อนบ่อไซยาไนด์ ขนาด 1,400 ไร่ ไม่มีแกนเขื่อนเปราะบางมาก อันตรายมาก ห่างวัด ห่างโรงเรียนแค่ 400-500 เมตร”

 

22 กรกฎาคม 2559

 

บริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพิจิตรให้ดำเนินคดีกับสมลักษณ์ ในความผิดฐาน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามมาตรา 14(1), 14(2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และการแพร่ข่าวด้วยการโฆษณาไม่เป็นความจริงที่เจตนาทำลายชื่อเสียง หรือความไว้วางใจของประชาชนในการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม มาตรา 101 วรรคหนึ่งและสอง ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ

 

3 ตุลาคม 2559

นัดไต่สวนมูลฟ้อง

 

 

19 เมษายน 2560
นัดสืบพยานโจทก์

ศาลจังหวัดพิจิตรนัดสืบพยานโจทก์ ที่ห้องพิจารณาคดีที่เก้า เวลา 09.16 น. ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาคือ ประชารัฐ ราศรี  หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่า ให้ย้ายไปที่ห้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา เพื่อนัดสมานฉันท์
 
เวลา 09.48 น. คู่ความทั้งสองฝ่ายออกจากห้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา และกลับมายังห้องพิจารณาคดีที่เก้า  โดยบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีมีผู้เข้าสังเกตการณ์เข้าร่วมรับฟังเพียงหนึ่งคน นอกนั้นเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนพิจารณาคดีทั้งสิ้น ได้แก่ ศาล เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ และคู่ความทั้งสองฝ่ายคือ ทนายความโจทก์หนึ่งคน พยานโจทก์ห้าคน ทนายความจำเลยสามคน จำเลย และผู้ช่วยจำเลย
 
จากการสอบถามผู้ช่วยจำเลยว่า เพราะเหตุใดชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบเหมือง จึงไม่มาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีในวันนี้ ผู้ช่วยจำเลยกล่าวว่า เนื่องจากตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ ซึ่งเป็นบริเวณที่เหมืองแร่ทองคำชาตรีตั้งอยู่นั้นไกลจากศาลจังหวัดพิจิตรมากคือ ประมาณ 60-70 กิโลเมตร ซึ่งถ้าชาวบ้านมาร่วมสังเกตการณ์ก็คงไม่สะดวกเท่าไหร่
 
ในเวลาประมาณ 10.15 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์ โดยวันนี้เป็นการนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทนายความโจทก์ จำเลย และทนายความจำเลยมาศาล เมื่อเริ่มการพิจารณาศาลแจ้งว่า ฝ่ายจำเลยได้แถลงร้องขอเลื่อนคดีออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า เอกสารที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกจากหน่วยราชการและบุคคลภายนอกรวม 6 หน่วยงานยังส่งมาไม่ครบถ้วนและเอกสารมีจำนวนมาก ทำให้ทนายจำเลยไม่มีเวลาเพียงพอในการตรวจสอบเอกสารเพื่อใช้ในการซักค้านพยานโจทก์หรือสืบพยานจำเลย
 
นอกจากนี้ ทนายความจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารจากบุคคลภายนอกแต่ศาลยังไม่มีคำสั่งอนุญาต โดยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ไม่อาจซักค้านพยานโจทก์หรือสืบพยานตามกำหนดวันนัดได้ จึงขออนุญาตเลื่อนคดี
 
ทนายโจทก์แถลงคัดค้านว่า ทนายความจำเลยมีเวลาเพียงพอในการตรวจสอบเอกสาร และการที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารต่างๆเป็นจำนวนมากก็ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นในคดี
 
ศาลอธิบายว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1),(2) และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 101 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความของจำเลยเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในลักษณะที่อ้างว่า บ่อกักเก็บกากแร่ของโจทก์มีอันตราย เพราะไม่มีแกนเขื่อน เปราะบางมาก โดยอยู่ห่างจากวัดและโรงเรียน 400 ถึง 500 เมตร ดังนั้นประเด็นแห่งคดีคือ ความไม่มั่นคงของบ่อ ซึ่งไม่สามารถขยายความไปถึงเรื่องอันตรายในส่วนอื่นๆได้
โดยศาลกล่าวย้ำอีกครั้งว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่คดีสิ่งแวดล้อม หากจะต่อสู้ในประเด็นเรื่อง “อันตราย” ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมจะทำให้ประเด็นกว้างมาก และไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้ ซึ่งศาลต้องการให้สืบในสิ่งที่เป็นประเด็นแห่งคดี หากสิ่งที่นำสืบมาไม่ใช่ประเด็นศาลก็ไม่สามารถให้นำสืบได้
 
เมื่อพิจารณาประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีดังกล่าวกับคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่สอง (พยานลำดับที่ 2 – 46) ที่ศาลมีคำสั่งรอสอบจำเลยเกี่ยวกับพยานเอกสารว่า เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีหรือไม่ ศาลเห็นว่า พยานเอกสารมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นในบางลำดับเท่านั้น จึงมีคำสั่งให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยเฉพาะในลำดับที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี
 
ดังนั้นในวันนี้จึงไม่มีการสืบพยานโจทก์ตามนัด และให้เลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 21 เมษายน 2560
 
นอกจากนี้ ศาลได้แจ้งแก่จำเลยด้วยว่า เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหนังสือนำส่งเอกสารตามหมายเรียกของศาล และระบุขอให้ศาลแจ้งจำเลยเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดทำสำเนาและรับรองความถูกต้องของเอกสารตามคำร้องขอหมายเรียกเอกสารของจำเลยจำนวน 17,961 หน้า คิดเป็นเงิน 71,844 บาท ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2560
 
เสร็จสิ้นการพิจารณา เป็นเวลาประมาณ 17.00 น.
 
21 เมษายน 2560
นัดสืบพยานโจทก์

ศาลจังหวัดพิจิตรนัดสืบพยานโจทก์ เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่เก้า มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จำนวนสี่คน ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ในเวลา 09.09 น. วันนี้เป็นการถามค้านพยานโจทก์ปากแรกคือ เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทนายความโจทก์ จำเลย และทนายความจำเลยมาศาล โดยทนายความจำเลยที่ทำหน้าที่ซักค้านในวันนี้คือ สัญญา เอียดจงดี
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้เป็นเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลนัดสืบพยานโจทก์ต่ออีกสี่ปากในวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 เวลา 09.00 น. – 16.30 น. และศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยแล้ว คือ วันที่ 2, 3 และ 4 สิงหาคม 2560 จำนวนสามนัด โดยศาลได้บันทึกด้วยว่า จำเลยจะไม่ขอเลื่อนการสืบพยานอีกไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม
 

21 เมษายน 2560
นัดสืบพยานโจทก์

ศาลจังหวัดพิจิตรนัดสืบพยานโจทก์ ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 9 คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงให้ใช้บันทึกถ้อยคำพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความในชั้นพิจารณา ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 09.30 น. สืบพยานโจทก์ปากแรก เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ กรรมการบริษัทโจทก์


สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ กรรมการบริษัทโจทก์
เชิดศักดิ์ เบิกความว่า ก่อนมาทำงานกับบริษัทโจทก์เคยทำงานกับบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบการเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองคำและแร่ประเภทอื่นด้วย และได้ออกจากบริษัทดังกล่าวในช่วงปลายปี 2554 จากนั้นได้เข้าทำงานกับบริษัทโจทก์  เขาเบิกความต่อว่า บริษัทโจทก์เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท คิงส์เกต ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับนักลงทุนไทย ดังนั้นจึงถือว่าบริษัทโจทก์เป็นบริษัทในเครือของบริษัท คิงส์เกต โดยบริษัทคิงส์เกตได้ประกอบกิจการในการทำเหมืองหลายประเภทไม่ได้จำกัดเฉพาะแร่ทองคำและในการประกอบการในประเทศอื่นก็ใช้มาตรฐานเดียวกันกับการประกอบกิจการที่ประเทศออสเตรเลีย


ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามค้านว่า บริษัท ทุ่งคำฮาเบอร์ มีบ่อกักเก็บกากแร่เช่นเดียวกับบริษัทโจทก์หรือไม่ เชิดศักดิ์ ตอบว่า บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ มีบ่อกักเก็บกากแร่เช่นเดียวกันกับของโจทก์ แต่ไม่ทราบในรายละเอียดของโครงสร้างและองค์ประกอบของบ่อ เนื่องจากรับผิดชอบงานด้านสำรวจ และเบิกความต่อว่า ปกติในบ่อกักเก็บกากแร่จะมีสารไซยาไนด์ แมงกานีส และสารหนู โดยสารไซยาไนด์เป็นสารที่เกิดจากกระบวนการทางเคมีไม่ใช่กระบวนการตามธรรมชาติ แต่ความเข้มข้นของสารนั้นมีปริมาณอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ เชิดศักดิ์เบิกความด้วยว่า ตนทราบข่าวเรื่องที่บ่อกักเก็บกากแร่ของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ มีการรั่วไหลซึมของสารไซยาไนด์เมื่อปี 2555


เชิดศักดิ์ เบิกความต่อว่า ขณะที่ทำงานกับโจทก์จะรับผิดชอบเกี่ยวกับงานทางด้านกฎระเบียบ ประสานงานกับหน่วยงานราชการ ชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชนในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ทนายจำเลยให้ดูภาพตัดขวางบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองเชิดศักดิ์บอกว่า เอกสารดังกล่าวโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นโดยไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ แต่เป็นการจัดทำรายละเอียดตามแบบแผนที่ได้รับอนุญาตและเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้กับประชาชนโดยทั่วไป และเอกสารอีกชุดที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อประมาณปี 2555 ก็เนื่องจากต้องการสื่อสารกับประชาชนที่อยู่ในละแวกบ่อดังกล่าวว่า โจทก์มีแผนที่จะดำเนินการทำอะไรในปีต่อไป แต่ไม่ใช่เอกสารที่จัดทำขึ้นเพราะถูกประชาชนต่อต้าน


เชิดศักดิ์ เบิกความว่า บ่อกักเก็บกากแร่ดังกล่าวเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2554 โดยเริ่มแรกจะใช้สถานที่ที่ไม่ใช่มีการก่อสร้างในปัจจุบันนี้ แต่การย้ายสถานที่ดังกล่าวได้รับอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐอย่างถูกต้องและได้ปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยงานรัฐในการปูผ้ายางป้องกันแรงดันสูงภายในบ่อและขอบบ่อทั้งหมดเพื่อป้องกันการรั่วซึม เชิดศักดิ์ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า การย้ายบ่อกักเก็บกากแร่ของโจทก์ได้รับการคัดค้านจากประชาชน แต่เป็นเพียงประชาชนกลุ่มน้อยเท่านั้น


เชิดศักดิ์ เบิกความถึงระบบประปาในหมู่บ้านหนองระมาน ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร โดยกล่าวว่า ระบบประปาดังกล่าวได้อยู่ห่างจากบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง ของโจทก์เป็นระยะ 597 เมตร โดยโจทก์ได้ให้การช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับระบบประปาชุมชนที่อยู่ใกล้เหมือง เพื่อต้องการให้การประกอบการของโจทก์และการอยู่ร่วมกันของชุมชนสามารถไปด้วยกันได้และเพื่อให้น้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคมีสารต่างๆอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน


นอกจากนี้ โจทก์ได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นด้วย เพื่อให้มีเทคโนโลยีในการผลิตน้ำไว้ดื่มใช้ในชุมชน และต่อมาปรากฏว่าประชาชนขาดแคลนทุนทรัพย์ในการซื้อน้ำ บริษัทโจทก์จึงซื้อน้ำจากวิสาหกิจชุมชนนั้นเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน ทั้งโจทก์ยังได้ซื้อน้ำจากวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่สำหรับพนักงานในบริษัทด้วย ซึ่งคิดเป็นประมาณ 60% แต่เนื่องจากว่ากำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อจำนวนพนักงาน โจทก์จึงต้องซื้อน้ำจากชุมชนแห่งอื่น


เชิดศักดิ์เบิกความต่อว่า เมื่อประมาณปี 2557 มีการตรวจสุขภาพของประชาชนที่อยู่ใกล้เหมืองแร่ของโจทก์พบว่า สารหนูและแมงกานีสมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงมีคำสั่งให้โจทก์นำประชาชนเข้ารับการตรวจสุขภาพและรายงานให้กรมฯทราบ แต่เนื่องจากประชาชนมีจำนวนมากไม่สามารถตรวจในโรงพยาบาลแห่งเดียวได้ จึงทำให้เกิดความล่าช้าไม่อยู่ในกรอบระยะเวลาที่กรมฯกำหนด บริษัทโจทก์จึงได้รับคำสั่งให้หยุดประกอบโลหกรรมไว้ชั่วคราว 30 วัน


ส่วนเรื่องการก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่นั้น ทุกบ่อจะไม่มีการขุดพื้นดินที่เป็นก้นบ่อลงไป แต่จะใช้วิธีการปรับสภาพพื้นดินให้เหมาะสมแล้วทำคันดินรอบบ่อขึ้นมา โดยบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ก่อสร้างโดยมีความลาดเอียงไปทางที่ตั้งโรงงานของโจทก์ เพื่อใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิต ดังนั้นจึงไม่ได้ลาดเอียงไปในทิศทางของชุมชน และการปล่อยกากแร่จะเป็นในลักษณะที่ปล่อยผ่านระบบท่อไปในจุดต่างๆภายในบ่อ เพื่อไม่ให้กากแร่ไปกองอยู่รวมกันที่จุดใดจุดหนึ่ง


เขาอธิบายต่อว่า กากแร่ หมายถึงส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ สินแร่บดละเอียดและน้ำ โดยสารที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตแร่ทองคำก็จะมี สารเหล็ก สารหนู และแมงกานีส ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในสินแร่ตามธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อแยกแร่ออกจากสินแร่ สารต่างๆที่มีอยู่ในธรรมชาติเท่าไหร่ ก็จะมีอยู่ในบ่อกักเก็บกากแร่เท่านั้น ส่วนสารไซยาไนด์เป็นสารที่ใช้ในการแยกแร่ทองคำออกจากสินแร่ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการในการแยกแร่ทองคำออกแล้ว ก็จะมีกระบวนการกำจัดสารไซยาไนด์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ทางหน่วยงานราชการกำหนด โดยโจทก์ได้ดำเนินการให้กำจัดสารไซยาไนด์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานก่อนที่จะนำเข้าไปกักเก็บไว้ในบ่อ


เชิดศักดิ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า โครงสร้างของคันบ่อกักเก็บกากแร่นั้น ไม่มีการตอกเสาเข็มและไม่มีการทำเป็นแกนคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับคันบ่อกักเก็บกากแร่ของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์
เสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์ในช่วงเช้า


ตอบทนายจำเลยถามค้าน (ต่อ)
ในช่วงบ่าย เชิดศักดิ์ เบิกความว่า ตัวแทนโจทก์ ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการ ร่วมกันเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำไปตรวจพิสูจน์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก พบว่ามีสารไซยาไนด์แปดส่วนในล้านส่วน ในขณะที่การวิเคราะห์ของโจทก์พบสารไซยาไนด์ 2.6 ส่วนในล้านส่วน แต่อย่างไรก็ตามเชิดศักดิ์บอกต่อว่า ค่าของสารไซยาไนด์ที่อยู่ในบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์นั้นมีเพียง 0.2 ส่วนในล้านส่วน และยังมีการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจโดยหน่วยงานราชการอีกแปดครั้ง ซึ่งทุกครั้งไม่พบสารไซยาไนด์เลย เขาเบิกความต่อว่า บริเวณที่พบน้ำและนำไปตรวจวิเคราะห์แล้วพบสารไซยาไนด์นั้น เป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกมันสำปะหลังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพืชประเภทมันสำปะหลังมีคุณสมบัติในการผลิตสารไซยาไนด์ได้ตามธรรมชาติในอัตรา 200 ส่วนในล้านส่วน


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 กรมควบคุมมลพิษมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรให้ประชาสัมพันธ์ห้ามประชาชนดื่มน้ำประปาจากบ่อบาดาล และระบบประปาหมู่บ้านในบางจุด และต่อมาในวันที่ 8 มิถุนายน 2553 นายอำเภอทับคล้อได้มีหนังสือถึงนายก อบต.เขาเจ็ดลูกให้แจ้งประชาชนในพื้นที่ห้ามดื่มน้ำจากบ่อบาดาลและระบบประปาในพื้นที่หมู่บ้านหนองระมาน


เชิดศักดิ์ เบิกความด้วยว่า บริเวณรอบบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง ได้มีการสร้างบ่อสังเกตการณ์เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงหรือค่าของสารต่างๆของน้ำในบ่อด้วย รวม 12 คู่ อย่างไรก็ดีศาลปกครองพิษณุโลกได้มีคำพิพากษาไม่ให้ทำการก่อสร้างและใช้งานบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง แต่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา
ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า พื้นที่ใกล้เหมืองแร่ทองคำพบการปนเปื้อนของ แมงกานีส สารหนู ปรอท และไซยาไนด์ในน้ำและดิน และได้รายงานว่าในปี 2543 พื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาโลหะหนักปนเปื้อนในแหล่งน้ำ แต่ไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใด โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 มีการพบน้ำในแปลงนาข้าวของชาวบ้านและได้มีการนำไปตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อน แต่ไม่ทราบถึงผลการตรวจ


ทนายจำเลยเปิดคลิปการรายงานข่าวของช่องไทยพีบีเอสแล้วถามว่า เป็นภาพถ่ายคันบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง ของโจทก์หรือไม่ เชิดศักดิ์เบิกความว่า มีความคล้าย แต่ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าเป็นบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์หรือไม่

ทนายจำเลยเปิดคลิปการรายงานข่าวของช่องเจ็ดให้ดู เชิดศักดิ์เบิกความว่า บุคคลที่ปรากฏในภาพว่าอดีตพนักงานของโจทก์ ซึ่งทำหน้าที่ในการวางระเบิดเหมือง และเบิกความต่อว่า รู้จักบุคคลที่ปรากฏในภาพที่เป็นผู้ชาย แต่ผู้หญิงเคยเห็นในภาพข่าว แต่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ซึ่งบุคคลทั้งสองอ้างว่าเจ็บป่วยจากผลกระทบในการทำเหมืองแร่ของโจทก์
ตอบทนายโจทก์ถามติง


เชิดศักดิ์ ตอบทนายโจทก์ถามติงในเรื่องความแข็งแรงของบ่อกักเก็บกากแร่ว่า ในการก่อสร้างคันบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองมีการใช้วัสดุตามธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์เพื่อให้เกิดความมั่นคง และแม้ว่าคันบ่อกักเก็บกากแร่จะไม่ได้มีการตอกเสาเข็มหรือมีแกนคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่การก่อสร้างได้ใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน จึงมีความมั่นคงและปลอดภัย  เขากล่าวต่อว่า ความสูงของการก่อสร้างคันบ่อนั้นจะเป็นไปตามระดับของกากแร่ที่นำไปทิ้งในบ่อ ซึ่งจะมีความสูงของขอบมากกว่ากากแร่ที่นำไปทิ้งไม่ต่ำกว่าหนึ่งเมตร และโจทก์ก่อสร้างความสูงของคันไว้ไม่ต่ำกว่าสองเมตร และขยายฐานให้มีความกว้างมากขึ้นเรื่อยๆตามความสูงที่ก่อสร้าง โดยปัจจุบันฐานมีความกว้างประมาณ 100 เมตร และในการออกแบบและก่อสร้างจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับภัยธรรมชาติด้านแผ่นดินไหวด้วย

 

โดยจากการตรวจสอบและรายงานพบว่า น้ำที่มีการปนเปื้อนนั้นมีอยู่ก่อนที่โจทก์จะเข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ อีกทั้งบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์ไม่มีการปล่อยน้ำออกนอกระบบ เพราะเป็นการใช้น้ำในระบบหมุนเวียน และแม้จะมีหนังสือแจ้งเตือนว่าห้ามดื่มน้ำจากบ่อบาดาลระบบประปาหมู่บ้าน แต่ค่าของสารไซยาไนด์ก็เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนคดีที่เป็นข้อพิพาทอยู่ที่ศาลปกครองพิษณุโลกนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นเรื่องความมั่นคงของบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์ แต่เป็นข้อพิพาทในเรื่องอื่น


เขากล่าวว่า ข้อมูลที่จำเลยนำไปโพสต์ในระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในคณะทำงานต่างๆ แต่เป็นการนำข้อมูลมาบิดเบือนข้อเท็จจริง และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโจทก์ไม่เคยมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงของบ่อกักเก็บกากแร่ทั้งบ่อที่หนึ่งและบ่อที่สอง ซึ่งหลังจากจำเลยโพสต์ข้อความประกอบรูปภาพลงในเฟซบุ๊ก ทำให้ชาวบ้านในละแวกบ่อกักเก็บกากแร่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่มั่นคงปลอดภัยของบ่อ


เชิดศักดิ์ กล่าวด้วยว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ให้ยุติการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร ไม่ได้มีประเด็นเรื่องความไม่มั่นคงปลอดภัยของบ่อ นอกจากนี้ตลอดระยะเวลาในการประกอบกิจการของโจทก์นั้น ก็ไม่มีการตรวจพบว่ามีสารไซยาไนด์จากการทำเหมืองแร่ของโจทก์ และไม่เคยมีการร้องเรียนว่า มีน้ำรั่วซึมจากด้านข้างของคันบ่อ แต่มีการร้องเรียนว่าน้ำรั่วซึมจากด้านล่างที่เรียกว่าเป็นการซึมใต้ดิน อีกทั้ง ในการย้ายสถานที่ก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองนั้นก็อยู่ห่างจากแหล่งน้ำประมาณหนึ่งกิโลเมตร
 
เสร็จการสืบพยานปากนี้เป็นเวลาประมาณ 16.00 น. โดยศาลนัดสืบพยานโจทก์ต่ออีกสี่ปากในวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 และศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยแล้วคือ วันที่ 2, 3 และ 4 สิงหาคม 2560

25 เมษายน 2560
นัดสืบพยานโจทก์

ปากที่สอง ภาณุมาศ แก้วชะโน อดีตพนักงานโจทก์

ภาณุมาศ เบิกความว่า สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปฐพีวิทยาหรือความรู้เฉพาะด้านเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน และได้เริ่มทำงานกับบริษัทโจทก์ในปี 2552 ทำหน้าที่ในการดูแลการก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการออกแบบ และทราบว่าบ่อดังกล่าวก่อสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการกักเก็บน้ำขุ่นข้นและมูลทรายดินตามข้อกำหนดของกฎหมาย ดังนั้นบ่อจะต้องมีความแข็งแรงเพื่อป้องกันการรั่วซึมของสิ่งที่อยู่ภายในบ่อ


ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ภาณุมาศ ตอบคำถามทนายถามค้านว่า บ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์มีลักษณะการก่อสร้างเป็นเขื่อนดินที่ใช้ดินเหนียวอยู่ด้านในสุดของบ่อเพื่อทำหน้าที่เป็นแกนเขื่อนและป้องกันการรั่วซึม ถัดจากคันดินเหนียวจะเป็นหินทิ้งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างในการป้องกันแรงดันจากภายในเขื่อน ซึ่งคันสำหรับบ่อกักเก็บกากแร่ด้านในไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างเป็นหินถม เนื่องจากไม่ได้มีแรงปะทะหรือแรงดันเหมือนกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ภาณุมาศ ได้เบิกความต่อว่า แกนคันดินเหนียวของบ่อมีความกว้างของฐานคันดินเหนียวไม่น้อยกว่าหกเมตร


ภาณุมาศ อธิบายว่า ในการปล่อยกากแร่ซึ่งมีน้ำปะปนลงในบ่อกักเก็บนั้นจะไม่มีแรงปะทะที่คันบ่อด้านใน เนื่องจากทิศทางการไหลของกากแร่และน้ำจะไหลจากที่สูงลงไปที่ต่ำและเป็นบริเวณกลางบ่อกักเก็บไม่ใช่ไหลย้อนกลับเข้าไปปะทะกับขอบบ่อด้านใน ภาณุมาศ ยังบอกด้วยว่า บ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์ได้ก่อสร้างขึ้นโดยใช้มาตรฐานทางวิศวกรรมของกรมป้องกันสิ่งแวดล้อมมลรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ทราบว่า การก่อสร้างที่ใช้มาตรฐานดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อป้องกันสารไซยาไนด์หรือไม่ และไม่ทราบว่า ภายในบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์มีสารแมงกานีส สารหนู และสารไซยาไนด์หรือไม่

ภาณุมาศ เบิกความต่อว่า ตนไม่ทราบว่า เดิมโจทก์มีแผนงานจะสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองที่ใด แต่ทราบว่ามีการสร้างในที่สร้างอยู่ปัจจุบันนี้ โดยระหว่างการก่อสร้างและหลังก่อสร้างมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐเข้ามาตรวจสอบตลอดระยะเวลา แต่ทั้งนี้ ไม่ทราบว่าบ่อกักเก็บกากแร่จะมีความสูงสุดอยู่ที่ระดับเท่าใด เพราะความสูงจะเป็นไปตามจำนวนปริมาณของกากแร่ที่ทิ้งลงไปในบ่อ ซึ่งปัจจุบันคันบ่อมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 103.4 เมตร

ตอบทนายโจทก์ถามติง
ภาณุมาศ ตอบทนายโจทก์ถามติงว่า การปล่อยกากแร่ลงบ่อกักเก็บเป็นการปล่อยทางระบบท่อ ซึ่งมีอยู่รอบบ่อ โดยจะปล่อยในลักษณะให้กากแร่รวมกันอยู่ที่บริเวณขอบคันบ่อด้านใน แล้วให้น้ำซึ่งมีเป็นส่วนผสมของกากแร่ไหลลงไปสู่ตรงกลางบ่อ ในส่วนกากแร่ที่ปล่อยลงไปก็จะไปทับถมฐานบ่อด้านในเพื่อเสริมความมั่นคง โดยบริเวณคันดินด้านในของบ่อจะปูผ้ายางเพื่อป้องกันการรั่วซึมอีกชั้นหนึ่ง

ภาณุมาศ ตอบทนายโจทก์ถามติงต่อว่า ที่ต้องใช้มาตรฐานทางวิศวกรรมของกรมป้องกันสิ่งแวดล้อม มลรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เพราะว่ามลรัฐดังกล่าวมีการทำเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีมาตรฐานสูงในการป้องกันสิ่งแวดล้อมอย่างสูงจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และโดยตลอดระยะเวลาในการทำงานกับโจทก์ ไม่เคยมีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาความไม่มั่นคงแข็งแรงของบ่อกักเก็บของโจทก์เลย


ปากที่สาม เยาวนุช จันทร์ดุ้ง อดีตพนักงานโจทก์
เยาวนุช เบิกความว่า ก่อนที่จะทำงานกับบริษัทโจทก์ไม่เคยทำงานในบริษัทที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับเหมืองแร่ โดยตนเริ่มทำงานกับบริษัทโจทก์ตั้งแต่ในปี 2544 จนถึงเดือนมีนาคม 2560 โดยเริ่มงานในตำแหน่งผู้ประสานงานสิ่งแวดล้อม และตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อมของบริษัทโจทก์ มีหน้าที่ในการดูแลสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ของโจทก์ และฟื้นฟูพื้นที่หลังจากไม่ได้ทำเหมืองแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องสุขภาพจะมีงานอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ
 
เยาวนุช เบิกความต่อว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 มีคณะทำงานกลุ่มย่อยทำการเจาะเลือดและเก็บตัวอย่างปัสสาวะของประชาชน 152 ราย เพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์หาสารแมงกานีส สารหนู และไซยาไนด์ และเบิกความด้วยว่า ในช่วงการก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง บริษัทโจทก์ได้ให้ประชาชนเข้าไปดูการก่อสร้างด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของบ่อ
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
เยาวนุช ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนการสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองจะมีการสร้างบ่อเฝ้าระวังเป็นบ่อลึกและตื้นคู่กันตลอดแนวที่จะสร้างบ่อกักเก็บแห่งที่สองเพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยจะทำการตรวจสอบเช่นนี้ทุกเดือนและเบิกความถึง รายงานการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงประกอบโลหกรรมของเดือนกันยายน 2558 และเดือนสิงหาคม 2559 ว่า เมื่อเดือนกันยายน 2558 ได้มีการรายงานการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงประกอบโลหกรรมพบว่า สารไซยาไนด์มีค่า 3.979 สารหนูมีค่า 30.2 และแมงกานีสมีค่า 749 ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2559 ได้มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงประกอบโลหกรรม ซึ่งค่าของไซยาไนด์ในรายงานเดือนกันยายน 2558 เป็นค่าที่วัดจากตัวอย่างน้ำที่เก็บจากกลางบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์ ส่วนค่าของไซยาไนด์ในรายงานเดือนสิงหาคม 2559 เป็นการเก็บตัวอย่างน้ำจากโรงงานของโจทก์ที่ยังไม่ได้ปล่อยกากแร่และน้ำลงในบ่อ ดังนั้นค่าตามตารางของเอกสารทั้งสองฉบับจึงเป็นค่าที่นำมาพิสูจน์จากแหล่งน้ำที่แตกต่างกัน
 
เยาวนุช ยอมรับว่า เมื่อประมาณต้นปี 2558 ตนทราบว่า มีการรร้องเรียนเกี่ยวกับน้ำปนเปื้อนในแปลงนาของชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์ แต่จากการตรวจหาสารไซยาไนด์ในแปลงนาชาวบ้านดังกล่าว กับสารไซยาไนด์ในบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์ ปรากฏว่าสารไซยาไนด์ในบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์มีจำนวนน้อยกว่าที่อยู่ในแปลงนาของชาวบ้าน
 
ตอบทนายโจทก์ถามติง
เยาวนุช ตอบทนายโจทก์ถามติงว่า ตนทราบแต่เพียงว่ามีการตรวจเลือดและเก็บตัวอย่างปัสสาวะของประชาชน แต่ไม่ทราบถึงผลการตรวจว่าเป็นอย่างไรและไม่รับรองความถูกต้องของเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู นอกจากนี้ในกระบวนการทำเหมืองแร่ของโจทก์จะใช้สารไซยาไนด์เท่านั้น ส่วนสารแมงกานีสและสารหนูไม่ได้ใช้ โดยในรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแก้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมพบว่า พื้นที่บริเวณเหมืองแร่ทองคำเป็นพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของเหล็ก แมงกานีส และสารหนูในระดับสูงมาก่อนการทำเหมืองแล้ว ขณะที่ทางราชการกำหนดให้มีสารไซยาไนด์อยู่ในบ่อกักเก็บกากแร่ไม่เกินปริมาณ 20 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ในบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์มีปริมาณเพียง 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
 
เยาวนุช เบิกความต่อว่า ผลการตรวจสุขภาพของพนักงานในส่วนของสารไซยาไนด์อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เกินมาตรฐาน ส่วนสารหนูและแมงกานีสแม้จะมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่เป็นสารที่โจทก์ไม่ได้นำมาใช้ในกระบวนการทำเหมืองแร่ แต่เป็นสารที่อยู่ในพื้นที่ตามธรรมชาติ โดยตลอดเวลาที่ทำงานกับโจทก์มาเป็นเวลาประมาณ 15 ปี ไม่เคยมีปัญหาการรร้องเรียนเกี่ยวกับการรรั่วซึมในบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์
 
ปากที่สี่ ศิวกร ช่วยค้ำชู อดีตผู้ใหญ่บ้าน
ศิวกร เบิกความว่า ตนเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่สาม หมู่บ้านเขาดิน ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ซึ่งเดิมเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่หมู่ที่เก้า ตำบลเขาเจ็ดลูก มาเป็นเวลาประมาณ 20 ปี แต่เนื่องจากหมู่ที่เก้า เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับเหมืองทองคำของโจทก์ จึงย้ายมาอยู่หมู่ที่สาม ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน โดยบริษัทโจทก์ได้มีการเจรจาและจ่ายค่าชดเชยให้

ศิวกร เบิกความต่อว่า ก่อนที่โจทก์จะสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองได้มีการแจ้งและประชุมให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการสร้างอยู่ที่ใด ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้ในการก่อสร้างในปัจจุบันนี้

ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ศิวกร ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า บ้านหนองระมาน ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในความปกครองตอนที่เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่สาม โดยบ้านหนองระมาน ห่างจากบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง ประมาณ 800 เมตร

เขากล่าวต่อว่า โจทก์ได้มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อนที่จะทำกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ และเมื่อมีการก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองก็ได้มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านอีกครั้ง ศิวกร โดยเขาได้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงด้วยในฐานะผู้นำท้องถิ่น แต่ไม่เคยได้รับค่าตอบแทน

ศิวกร ตอบทนายถามค้านว่า บริษัทโจทก์ได้เข้ามาติดตั้งและปรับปรุงระบบกรองน้ำให้แก่บ้านหนองระมาน แต่ไม่ใช่เป็นการติดตั้งเพื่อป้องกันสารพิษ ศิวกร บอกอีกว่า เมื่อตอนที่อยู่หมู่เก้าก็สามารถใช้น้ำประปาหรือแหล่งน้ำจากธรรมชาติได้ตามปกติ และการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาก็เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน ไม่ได้เกี่ยวกับการที่น้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่สามารถอุปโภคบริโภคได้

เขาบอกด้วยว่า ไม่มีธุรกิจร่วมกับหลานชายในการรรับเหมาถมดินบริเวณใกล้กับเหมืองแร่ของโจทก์ แต่มีบุตรชายและหลานชายทำงานอยู่กับบริษัทโจทก์ ขณะที่เขาเคยเข้าไปที่บ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สอง ด้านในของบ่อถัดจากคันที่เป็นกองหินจะเป็นดินเหนียว ซึ่งจะมีผ้ายางปูทับอีกชั้น

ศิวกรเบิกความด้วยว่า รู้จักกับจำเลยเพราะเคยเป็นคณะทำงานด้วยกันบางชุดและทราบว่าจำเลยเคยเข้ามาตรวจสอบในพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบในการทำเหมืองแร่

ตอบทนายโจทก์ถามติง
ศิวกร ตอบทนายโจทก์ถามติงว่า เคยเห็นจำเลยเข้ามาตรวจสอบเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของชาวบ้านที่อยู่ในละแวกบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์ แต่ไม่เคยเห็นจำเลยเข้าไปในบริเวณเหมืองแร่หรือบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์

ปากที่ห้า บุญลือ บุญอ้น ผู้ใหญ่บ้าน
บุญลือ เบิกความว่า ตนเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่แปด ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
บุญลือ เบิกความว่า นอกจากหมู่แปด แล้ว ยังมีหมู่สาม หมู่เจ็ดและหมู่เก้าที่อยู่ในบริเวณใกล้กับบ่อเก็บกากแร่แห่งที่สองของโจทก์ โดยหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ หมู่สาม บ้านหนองระมาน

ตอบทนายโจทก์ถามติง
เมื่อทนายโจทก์ถามว่า ในระหว่างที่พยานเป็นผู้ใหญ่บ้าน เคยมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของบ่อกักเก็บกากแร่หรือไม่ บุญลือ ตอบว่า ไม่
 
เสร็จการสืบพยานโจทก์ เป็นเวลาประมาณ 15.00 น. แล้วนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 2, 3 และ 4 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00-16.30 น.

 

2 สิงหาคม 2560
นัดสืบพยานโจทก์

 

20 ธันวาคม 2560

นัดฟังคำพิพากษา

ศาลจังหวัดพิจิตรนัดพิพากษาคดีที่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ยื่นฟ้องสมลักษณ์ หุตานุวัตร นักเคลื่อนไหวทางสังคม ในความผิดตามมาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 101 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จากการโพสต์ข้อความประกอบรูปภาพบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “อันตรายมากที่เร่งทำอย่างโกบโกย คันเขื่อนบ่อไซยาไนด์ ขนาด 1,400 ไร่ ไม่มีแกนเขื่อนเปราะบางมาก อันตรายมาก ห่างวัด ห่างโรงเรียนแค่ 400-500 เมตร” ซึ่งพาดพิงถึงบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ในเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ที่จังหวัดพิจิตร ศาลวินิจฉัยในสี่ประเด็นดังนี้

 

หนึ่ง บริษัทอัคราฯเร่งผลิตแร่ทองคำอย่างกอบโกยหรือไม่?

ตามที่สมลักษณ์ระบุว่า บริษัท อัคราฯ มีพฤติการณ์เร่งรีบ โดยอ้างข้อมูลจากรายได้ช่วงก่อนและหลังวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติต่อใบอนุญาตให้ทำเหมืองไปจนถึง 31 ธันวาคม 2559 ว่า ช่วงหลังมติ ครม .ประกาศ รายได้เพิ่มสูงขึ้น ปริมาณยอดการผลิตทองคำโดยรวมเพิ่มขึ้น และปริมาณสารไซยาไนด์ที่ใช้ในกระบวนการทำทองคำมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงในเดือนกันยายน 2558 พบสารไซยาไนด์ที่ 3.97 แต่เดือนสิงหาคม 2559 พบที่ 15.80



ศาลวินิจฉัยว่า แม้มติ ครม. จะกำหนดให้เหมืองหยุดการผลิตในช่วงสิ้นปี 2559 แต่ไม่ได้มีข้อห้ามการดำเนินการผลิตระหว่างนั้น และการเปรียบเทียบผลประกอบการและอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นข้อมูลอย่างกว้างเท่านั้น ไม่ชัดเจนถึงพฤติการณ์เร่งการผลิตตามที่สมลักษณ์ได้กล่าวไว้ ส่วนปริมาณไซยาไนด์ในน้ำทิ้งที่สูงขึ้นนั้นไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า การผลิตแร่ทองคำต้องมีมากไปด้วย ต่อให้ผลิตมากและใช้ไซยาไนด์มาก แต่ค่าไซยาไนด์ที่บ่อกักเก็บกากแร่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยค่าไซยาไนด์ทั้ง 2 เดือนที่ยกมาเปรียบเทียบนั้นเกินมาตรฐานกำหนด สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาประสิทธิภาพในการกำจัดสารไซยาไนด์เท่านั้น


สอง บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2 เป็นบ่อไซยาไนด์หรือไม่?
ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2 ไม่ใช่บ่อไซยาไนด์ ตามที่สมลักษณ์ระบุไว้ เนื่องจาก แร่ที่ผ่านกระบวนการสกัดทองคำด้วยไซยาไนด์จะผ่านกระบวนการกำจัดพิษหรือไซยาไนด์จนมีความปลอดภัย แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2


สาม คันเขื่อนหรือหรือบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 มีแกนเขื่อนและเปราะบางหรือไม่?


ตามความเข้าใจของสมลักษณ์ แกนเขื่อนต้องอยู่ตรงกลางของคันเขื่อนและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัท อัคราฯ ก็ไม่ปรากฏแกนเขื่อน อย่าไรก็ดีในการสืบพยานพบว่า บ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 มีแกนเขื่อนเป็นดินเหนียวทึบน้ำอยู่ภายใน ซึ่งพิจารณาได้ว่า มีแกนเขื่อนแล้ว จากข้อความของสมลักษณ์ที่ว่า ไม่มีแกนเขื่อนเปราะบางมาก จึงรับฟังไม่ได้ว่า บ่อกักเก็บกากแห่งที่ 2 เปราะบาง ทั้งที่ผ่านมายังไม่ปรากฏการพังทลายหรือกรณีที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโลหะหนักจากการพังทลายของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2 นับตั้งแต่เปิดใช้เลย นอกจากนี้ บ่อดังกล่าวยังได้รับการอนุญาตให้ใช้งานได้จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร แสดงให้เห็นว่า บ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 มีความมั่นคงแข็งแรง


สี่ บ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ห่างจากวัดและโรงเรียน 400-500 เมตร จริงหรือไม่?

แม้ว่าสมลักษณ์จะชี้แจงว่า การที่โพสต์ดังกล่าวเพราะตามรายงาน EIA โครงการเหมืองแร่ทองคำอยู่ห่างจากบ้านหนองระมานประมาณ 400 เมตร และห่างจากวัดเขาหม้อ 200 เมตร แต่พยานที่นำเข้าเบิกความในประเด็นนี้เบิกความให้น้ำหนักไปที่โรงเรียนเทพนิมิตและวัดคีรีเทพนิมิต เป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้บ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 มากที่สุด โดยห่างจากบ่อ 950 เมตรและ 1,000 เมตรตามลำดับ โดยที่สมลักษณ์อ้างถึงระยะห่างตามรายงาน EIA นั้นเป็นขอบเขตที่ไม่แน่ชัดว่า การวัดดังกล่าววัดจากบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 หรือไม่

ศาลจังหวัดพิจิตรพิพากษาว่า สมลักษณ์มีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เนื่องจากการกระทำของสมลักษณ์เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตามกฎหมายหนักที่สุดคือ มาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 80,000 บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 2 ปี  โดยศาลกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติ ไม่ให้สมลักษณ์โพสต์ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันภายในระยะ 1 ปี
 

 

คำพิพากษา


ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา