ศูนย์ปราบโกงประชามติ ราชบุรี

อัปเดตล่าสุด: 24/09/2562

ผู้ต้องหา

บริบูรณ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

อทิตยา แดนมะตาม แกนนำกปปส.บ้านโป่ง เป็นผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน

สารบัญ

ในวันที่ 19 มิถุนายน 2559 กลุ่มนปช.นัดหมายเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติเพื่อจับตาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ที่อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรีก็มีการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงด้วยเช่นกันโดยมีคนมาร่วมถ่ายภาพกับป้ายศูนย์ปราบโกงประมาณ 20 คน

แม้กิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงที่บ้านโป่งจะสำเร็จด้วยดีโดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาสั่งให้ยุติกลางคันเหมือนที่เกิดขึ้นในบางจังหวัด แต่ในภายหลังปรากฏว่ามีบุคคลไปร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้บุคคล 23 คนที่ร่วมถ่ายภาพในวันเปิดศูนย์ปราบโกงถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา

ในจำนวนผู้ได้รับหมายเรียก 23 คน มีห้าคนที่ยอมเข้ากระบวนการปรับทัศนคติกับเจ้าหน้าที่ทหาร คดีความจึงเป็นอันยกเลิกไป ส่วนผู้ต้องหาอีก 18 คน ไม่ยอมเข้ากระบวนการเจ้าหน้าที่จึงดำเนินการทางคดีต่อ  

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนฟ้องคดีนี้ต่ออัยการทหาร ศาลทหารราชบุรี แต่ต่อมาอัยการทหารส่งสำนวนคดีให้อัยการศาลแขวงราชบุรีเป็นผู้พิจารณาคดีโดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้เป็นบุคคลทั่วไปไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

ในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 อัยการนัดผู้ต้องหาทั้ง18 คนฟังคำสั่งคดีเป็นครั้งแรกแต่ก็เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไป นับจากนั้นมีการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปอีกอย่างน้อยแปดครั้ง

ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 อัยการฟ้องจำเลยทั้ง 18 คนต่อศาลแขวงราชบุรีแม้ว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดียวของคดีนี้จะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม

หลังจากนั้นในวันที่ 23 กันยายน 2562 ในนัดพร้อม ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดียวของคดีนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงขอให้ศาลยกฟ้องคดีนี้ ในวันเดียวกันศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 18 คน โดยไม่ต้องสืบพยาน  


 

 


 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ภานุวัฒน์ เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์แม่โจ้ เคลื่อนไหวเรื่องคัดค้านระบบโซตัส

บริบูรณ์ เป็นแกนนำเสื้อแดงในบ้านโป่ง

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องคดีนี้พอสรุปได้ว่า 
 
เพื่อให้มีมาตรการในการดำเนินการกับการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ หัวหน้าคสช.ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 กำหนดให้บรรดาประกาศคำสั่งและการกระทำของคสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
 
ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2561 ยกเลิกข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 แต่ความในข้อ 2 ของคำสั่งฉบับที่ 11/2561 ก็กำหนดว่าการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ไม่ให้กระทบกระเทือนกับการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นก่อนมีคำสั่งฉบับที่ 22/2561 คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จึงยังมีผลต่อไปในคดีที่เกิดขึ้นก่อนจะมีคำสั่งฉบับที่ 22/2562
 
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 จำเลยทั้ง 18 คนบังอาจร่วมกันชุมนุมทางการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางของกลุ่ม นปช. โดยมีการขึ้นป้ายเขียนข้อความ "ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า ศูนย์ปราบโกงประชามติ" การกระทำดังกล่าวทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช.จึงเป็นความผิด

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาทั้ง 23 คนเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง จึงไม่มีการจับกุม

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.2639/2562

ศาล

ศาลแขวงราชบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

19 มิถุนายน 2559

ชาวบ้านที่บ้านโป่งประมาณ 20 คน รวมตัวกันที่ห้องแถวแห่งหนึ่ง เพื่อเปิดศูนย์ปราบโกงที่อำเภอบ้านโป่ง โดยชาวบ้านที่มารวมตัวกันได้ร่วมกันถ่ายภาพกับป้ายที่มีข้อความว่า "ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า" และข้อความว่า "ศูนย์ปราบโกงประชามติ" ป้ายดังกล่าวยังมีการเขียนเบอร์โทรศัพท์ไว้หลายเบอร์ เพื่อให้ประชาชนโทรมาแจ้งกรณีพบเหตุไม่ชอบมาพากล ผู้มาร่วมถ่ายภาพยังชูนิ้วโป้งรวมทั้งตะโกนทำนองว่าทำสำเร็จแล้วเพราะทหารไม่มาด้วย

ในวันเดียวกัน ก็มีรายงานว่า อทิตยา แดนมะตาม แกนนำกปปส.บ้านโป่งเข้าพบพนักงานสอบสวน ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี นายบริบูรณ์ กับพวกดังกล่าว ที่มีจำนวนมากกว่าห้าคนขึ้นไป ที่ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ด้วยการไปรวมตัวกันขึ้นแสดงป้าย ศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่บ้านเลขที่14/11 ซอยหลังนวการแมนชั่น เขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

20 มิถุนายน 2559

ประชาไทรายงานว่า พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกบุคคลรวมสิบคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ร่วมถ่ายภาพเปิดศูนย์ปราบโกงที่อำเภอบ้านโป่ง  ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองในที่เกิดเหตุเกิน 5 คนขึ้นไป ด้วยการขึ้นแสดงป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558

บริบูรณ์ หนึ่งในผู้ถูกออกหมายเรียก เปิดเผยว่า ก่อนเปิดศูนย์ปราบโกงฯหนึ่งวัน มีเจ้าหน้าที่โทรมาขอร้องว่าขอไม่ให้ทำกิจกรรมดังกล่าว ในวันเกิดเหตุตนเองและพวกจึงเพียงแต่ขึ้นป้ายว่า "ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า" จากนั้นก็ทานอาหารร่วมกันโดยใช้เวลาไม่นานบริบูรณ์ระบุด้วยว่า หลังถ่ายภาพร่วมกันได้ประมาณครึ่งชั่วโมงก็มีทหารตำรวจเข้ามาในสถานที่ที่ทำกิจกรรม

30 มิถุนายน 2559

ประชาไทรายงานว่า หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ที่บ้านโป่งซึ่งยังไม่ถูกออกหมายเรียกในครั้งแรก ได้รับหมายเรียกเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับที่ผู้ร่วมถ่ายภาพเป็นศูนย์ปราบโกงชุดแรกถูกออกหมายเรียก ผู้ถูกออกหมายเรียกคนดังกล่าวเปิดเผยว่าตนได้รับหมายเรียกในคดีนี้ด้วย โดยมีผู้ถูกหมายเรียกเพิ่มเติมอีกประมาณ 15 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวบ้านธรรมดาในพื้นที่ มีเพียงตนคนเดียวที่เป็นนักศึกษา

17 มกราคม 2560

ภานุวัฒน์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ให้ข้อมูลว่า พนักงานสอบสวนสภ.บ้านโป่งนัดผู้ต้องหาในคดีนี้ไปพบในวันที่ 23 มกราคม 2560 โดยคาดว่า่พนักงานสอบสวนจะส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดฟ้องต่ออัยการในวันนัด 

23 มกราคม 2560

นัดส่งฟ้องอัยการทหาร

สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพโพสต์เฟซบุ๊ก ว่า พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดฟ้องต่ออัยการทหาร ศาลมณฑลทหารบกที่ 16 จังหวัดราชบุรี แต่อัยการทหารคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนเพื่อไปตั้งข้อหาเพิ่มเติมและยังไม่รับฟ้องผู้ต้องหาในวันนี้ ภานุวัฒน์หนึ่งในผู้ต้องหาให้ข้อมูลว่าวันนี้มีผู้ต้องหาเดินทางมาในนัดส่งฟ้องรวม 27 คน โดยผู้ต้องหาบางส่วนถูกเรียกตัวมารับทหารข้อกล่าวหาหลังจากที่ภานุวัฒน์กับพวกอีก 18 คนรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

สำหรับการเพิ่มเติมข้อกล่าวหา เบื้องต้นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองกับผู้ต้องหาทั้งหมด แต่ในภายหลังมีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนเช่นเดียวกันแต่มีอัตราโทษต่ำกว่า อัยการทหารจึงให้พนักงานสอบสวนไปเติมข้อกล่าวหาตามคำสั่งนี้เพิ่มเติมในสำนวน

ประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า อัยการทหารให้พนักงานสอบสวนมาสอบถามผู้ต้องหาทั้งหมดด้วยว่ามีผู้ใดสมัครใจเข้ารับการปรับทัศนคติเป็นเวลาห้าถึงเจ็ดวันหรือไม่ สำหรับผู้ที่สมัครใจเข้ารับการปรับทัศนะคติหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ หน่วยงานที่รับผิดชอบการปรับทัศนคติจะทำหนังสือมายังร้อยเวรว่า คดีความของผู้ที่ได้เข้าปรับทัศคติสิ้นสุดแล้วและพนักงานสอบสวนจะมีความเห็นไม่สั่งฟ้องบุคคลนั้นๆ 

3 พฤษภาคม 2561

อัยการศาลทหารราชบุรีส่งสำนวนคดีนี้ให้อัยการศาลแขวงราชบุรีเป็นผู้สั่งคดี อัยการศาลแขวงราชบุรีนัดผู้ต้องหาเข้าพบในวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 และนัดหมายผู้ต้องหามาฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ที่สำนักงานอัยการศาลแขวงราชบุรี ทั้งนี้ผู้ต้องหาเก้าคนตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติของทหาร ทำให้ในขณะนี้มีผู้ต้องหาที่จะเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีเหลืออยู่ 18 คน 

22 มิถุนายน 2561

นัดฟังคำสั่งอัยการ

อัยการศาลแขวงราชบุรีเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 30 สิงหาคม 2561

30 สิงหาคม 2561

นัดฟังคำสั่งอัยการ

อัยการศาลแขวงราชบุรีเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 28 กันยายน 2561 ทั้งนี้บริบูรณ์หนึ่งในผู้ต้องหาได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้รับรายงานตัวเกี่ยวกับเหตุที่สำนวนคดีนี้ถูกย้ายจากอัยการศาลทหารมาอยู่ในความรับผิดชอบของอัยการศาลยุติธรรมเนื่องจากข้อกล่าวหาและระยะเวลาเกิดเหตุของคดีนี้จะเข้าเงื่อนไขตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีของพลเรือนบางประเภทอยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งเหตุผลว่าเป็นเพราะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้เป็นประชาชนทั่วไปไม่ใช่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

28 กันยายน 2561

นัดฟังคำสั่งอัยการ

ผู้ต้องหาทั้ง 18 คนทยอยเดินทางมารายงานตัวกับอัยการเพื่อฟังคำสั่งตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. อย่างไรก็ตามอัยการมีคำสั่งให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ผู้ต้องหาทั้ง 18 คนจึงทยอยกันลงชื่อรับทราบคำสั่งก่อนเดินทางกลับ

30 พฤศจิกายน 2561

นัดฟังคำสั่งอัยการ

อัยการเจ้าของสำนวนเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 25 มกราคม 2562

11 ธันวาคม 2561

หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยสาระสำคัญประการหนึ่งคือให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. อันเป็นฐานความผิดเพียงประการเดียวของคดีนี้ 

25 มกราคม 2562

นัดฟังคำสั่งอัยการ

อัยการศาลแขวงราชบุรีเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 29 มีนาคม 2562 โดยอัยการแจ้งกับบริบูรณ์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ว่า ก่อนหน้านี้อัยการเคยส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำพยานเพิ่มเติม แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ส่งสำนวนคดีกลับมาจึงยังไม่สามารถมีคำสั่งคดีได้ในนัดนี้

30 พฤษภาคม 2562

นัดฟังคำสั่งอัยการ

อัยการเลื่อนนัดสั่งคดีออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 29 มิถุนายน 2562

29 มิถุนายน 2562

นัดฟังคำสั่งอัยการ

อัยการเลื่อนนัดสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 30 กรกฎาคม 2562

30 กรกฎาคม 2562 

นัดฟังคำสั่งอัยการ

ผู้ต้องหาทั้ง 18 คนทยอยมาถึงที่สำนักงานอัยการราชบุรีตั้งแต่ก่อนเวลา 13.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดหมาย ในเวลาประมาณ 13.45 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดลงชื่อรายงานตัวที่สำนักงานอัยการจากนั้นจึงเดินทางไปที่ศาลแขวงราชบุรีด้วยตัวเองโดยทนายของผู้ต้องหาทั้งหมดมารออยู่ที่ศาลแล้ว

จากนั้นในเวลาประมาณ 14.40 น. อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล จำเลยทั้ง 18 คนจึงต้องเข้าไปรอฟังคำสั่งประกันตัวอยู่ที่ห้องควบคุมตัวของศาล

ในเวลาประมาณ 16.05 น. ศาลแขวงราชบุรีมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยทั้ง 18 คน โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ ในวันนี้ศาลสอบคำให้การเบื้องต้นไว้แล้ว จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลแขวงราชบุรีนัดพร้อมประชุมคดีในวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 9.00 น.

ทนายของจำเลยทั้ง 18 คนให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน 2562 ได้เคยร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดี โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ได้ถูกยกเลิกไปแล้วจึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ออกมาภายหลังกำหนดให้การกระทำไม่เป็นความผิด

ทนายจำเลยยังแนบกระบวนพิจารณาศาลทหารกรุงเทพในคดีกลุ่มนปช.เปิดศูนย์ปราบโกงที่ห้างบิ๊กซีลาดพร้าวซึ่งศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะคำสั่งฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้ว มาเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาของอัยการด้วยแต่ท้ายที่สุดอัยการก็มีคำสั่งฟ้องคดี 
 
23 กันยายน 2562
 
นัดพร้อมประชุมคดี
 
ศาลแขวงราชบุรีนัดจำเลยทั้ง 18 คน ที่ศาลในเวลา 9.00 น. ก่อนศาลขึ้นบัลลังก์ในช่วงเช้าทนายจำเลยยื่นคำร้องขอศาลให้ตีความข้อกฎหมายเบื้องต้น เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ (12) ที่ใช้เป็นข้อกฎหมายในการดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 18 คน ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว คดีนี้แม้จำเลยจะรับสารภาพก็ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่ใช้ลงโทษจำเลยได้ จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
 
ในเวลาประมาณ 9.55 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ และเรียกทนายจำเลยกับอัยการไปปรึกษาหารือเรื่องคำร้องของทนายจำเลยเป็นเวลาสั้นๆ จากนั้นศาลแจ้งทนายจำเลย และอัยการว่าจะนำคำร้องของฝ่ายจำเลยไปประชุมปรึกษากันก่อนจากนั้นผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ได้ลงจากบัลลังก์ไป และมีผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งขึ้นมาดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอื่นที่ศาลนัดมาในเวลาเดียวกัน
 
ในเวลาประมาณ 11.30 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้กลับขึ้นบัลลังก์อีกครั้ง จากนั้นก็เรียกทนายจำเลย และอัยการไปพูดคุย และมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีนี้เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ทั้งนี้ในขั้นตอนของการพิพากษาศาลไม่ได้เรียกจำเลยทั้ง 18 ให้ยืนขึ้นและอ่านคำพิพากษาในฟังแต่เป็นลักษณะการหารือกับทนายจำเลยและอัยการ จากนั้นทนายจำเลยจึงมาแจ้งผลให้จำเลยทั้ง 18 คน ทราบ
 
 
 
 
 

 

 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา