สราวุทธิ์: โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์หมิ่นฯ

อัปเดตล่าสุด: 20/08/2562

ผู้ต้องหา

สราวุทธิ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) มณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) จังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวหา อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี

สารบัญ

สราวุทธิ์ ช่างตัดแว่นในจังหวัดเชียงราย เขาถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 หลังถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะหมิ่นฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559  ตำรวจนัดสราวุทธิ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เขาให้การปฏิเสธ และถูกคุมขังในเรือนจำ และมาได้รับการประกันตัวหลังถูกควบคุมไปเเล้ว 38 วัน 

ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ศาลทหารเชียงราย จำหน่ายคดีจากสารบบ และให้โอนคดีไปให้ศาลจังหวัดเชียงรายพิจารณาคดีต่อโดยให้สัญญาประกันเดิมมีผลต่อไป รวมระยะเวลา ตั้งแต่ตุลาคม 2559- สิงหาคม 2562 เป็น 2 ปี 10 เดือนที่สราวุทธิ์ต่อสู้คดีในศาลทหาร ศาลทหารเชียงรายสืบพยานโจทก์ไปรวมเจ้ดปากโดยระหว่างการสืบพยานโจทก์มีอย่างน้อย 3 ครั้งที่ศาลสั่งเลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สราวุทธิ์ ก่อนถูกจับอายุ 32 ปี เปิดกิจการรับตัดแว่นและขายแว่นตาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยเขาและภรรยามีลูก 2 คน คนโตอายุ 5 ปี และคนเล็กเพิ่งคลอดอายุ 3 เดือน สราวุทธิ์เคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 หลังจากนั้นก็ติดตามการเมืองมาโดยตลอด แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้สังกัดกลุ่มใด ส่วนมากสราวุทธิ์มักใช้วิธีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์ ทำคลิปวีดีโอล้อเลียน เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาจึงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก
 
หลังการรัฐประหาร สราวุทธิ์ถูกทหารควบคุมตัวในค่ายเม็งรายมหาราชเป็นเวลา 7 วัน ก่อนถูกแจ้งข้อหากล่าวว่า ฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง จากกรณีที่เขากับเพื่อนไปชูป้ายในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ทำกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ต้านรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเขาไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คดีนี้ ศาลทหาร มทบ.37 จังหวัดเชียงราย พิพากษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท และคดีมีเหตุอันควรปราณีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ศาลจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี และให้จ่ายค่าปรับ 5,000 บาท
 
 
ตลอดการปกครองในยุครัฐบาลทหาร สราวุทธิ์ยังถูกเรียกตัวเข้าพูดคุยในค่ายทหารและถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบที่บ้านอีกมากกว่า 10 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเฟซบุ๊กส่วนตัว และเป็นการเข้า “พบปะ” ที่ทหารอ้างว่าทำตามหน้าที่
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องของอัยการทหารระบุว่าเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 เวลากลางวัน จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ราชวงศ์จักรี โดยจำเลยได้นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์
 
โดยการโพสต์พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  2 ภาพ เรียงต่อกันซ้ายและขวาในลักษณะเปรียบเทียบให้เห็นว่า ภาพด้านซ้ายซึ่งเป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์ ลักษณะทรงยืนรับการถวายความเคารพจากเจ้าหน้าที่ คู่กับสุภาพสตรีไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด กับภาพด้านขวาที่ทับซ้อนกับภาพด้านซ้าย บางส่วนเป็นพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พร้อมกับโพสต์ข้อความว่า “ทรงพระเท่มากพะยะค่ะ” ในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว
 
คำฟ้องยังระบุว่าจำเลยได้โพสต์โดยตั้งค่าเป็นการโพสต์ต่อสาธารณะ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเห็นภาพและข้อความดังกล่าวได้ และได้มีเพื่อนสมาชิกเข้ามาแสดงความเห็นถูกใจ (Like) จำนวนมาก เป็นการกระทำที่ไม่บังควรต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งพระองค์ทรงเป็นรัชทายาท อันเป็นที่เคารพสักการะ อยู่เหนือการติชมทั้งปวง และจะละเมิดมิได้ เป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและโดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติคุณ ทรงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

26 สิงหาคม 2559  เวลา 6.30 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมากกว่า 10 นาย ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เดินทางไปที่บ้านของสราวุทธิ์ อ้างว่ามีผู้กล่าวหาว่าสราวุทธิ์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ พร้อมกับขอเข้าตรวจค้นบ้าน แต่ไม่ระบุแน่ชัดว่าเป็นการโพสต์ในเรื่องใด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และแฟลชไดรฟ์ 1 อัน พร้อมพาตัวสราวุทธิ์ไปยัง สภ.เมืองเชียงราย โดยไม่แน่ชัดว่าเป็นการจับกุมหรือไม่
 
จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้พาตัวสราวุทธิ์ไปตรวจค้นบ้านอีกหลังหนึ่งของเขา ซึ่งเป็นบ้านหลังเก่า และบ้านของมารดาที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย แต่ไม่ได้ตรวจยึดสิ่งใดเพิ่มอีก ในการตรวจค้นดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้มีการขอหมายค้นจากศาลทหารเชียงราย ค้นบ้าน 2 หลังในอำเภอพาน แต่บ้านหลังแรกที่ถูกค้น เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ในบันทึกการตรวจค้น
 
เจ้าหน้าที่ ปอท. ทำสำเนาคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดมาจากบ้านของสราวุทธิ์ที่ สภ.เมืองเชียงราย สราวุทธิ์จึงทราบว่าการถูกนำตัวมาในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 ยังไม่ได้เป็นการจับกุม และยังไม่มีการแจ้งข้อหา แต่อยู่ในขั้นตอนการตรวจค้นและหาพยานหลักฐานอยู่ เย็นวันนั้นเจ้าหน้าที่จึงให้สราวุทธิ์เดินทางกลับได้ โดยแจ้งว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมของผู้บังคับบัญชาต่อไป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจนว่าการแสดงความคิดเห็นใดของเขาที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเข้าข่ายมาตรา 112 กระทั่งวันที่ 11 ตุลาคม 2559 หลังการตรวจค้นราวหนึ่งเดือนเศษ จึงมีการติดต่อจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มารับทราบข้อกล่าวหา
 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลทหารเชียงราย

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
26 สิงหาคม 2559 
 
เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมากกว่า 10 นาย ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เดินทางไปที่บ้านของสราวุทธิ์ พร้อมกับขอเข้าตรวจค้นบ้าน ตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และแฟลชไดรฟ์ 1 อัน วันดังกล่าวยังไม่มีการแจ้งข้อหา เจ้าหน้าที่ให้สราวุทธิ์เดินทางกลับได้ 
 
11 ตุลาคม 2559 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 09.00 น. สราวุทธิ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย หลังได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้คิดจะหลบหนีและให้ความร่วมมือโดยตลอดมา ตั้งแต่ที่ถูกเข้าตรวจค้นบ้านเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559
 
เมื่อไปถึง สภ.เมืองเชียงราย พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 21 กรกรฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) มณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) จังหวัดเชียงราย แจ้งว่า เฟซบุ๊กชื่อเดียวกับสราวุทธิ์ได้โพสต์ภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร พร้อมข้อความบรรยายภาพ ก่อนถูกลบภายใน 2-3 นาที แต่เจ้าหน้าที่ กกล.รส. บันทึกภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ไว้ จากนั้น เฟซบุ๊กชื่อสราวุทธิ์ได้โพสต์ภาพชลาตัน อิบราฮิโมวิช นักฟุตบอลชาวต่างประเทศ ที่มีรอยสักตามร่างกายสวมเสื้อกล้ามสีดำและสีขาว พร้อมพิมพ์ข้อความประกอบภาพ
 
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่า เจ้าหน้าที่ กกล.รส. มทบ.37 ผู้กล่าวหาคดีนี้ ได้เฝ้าติดตามสราวุทธิ์ เนื่องจากสราวุทธิ์แสดงความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง เมื่อนำเรื่องราวไปปรึกษากับอัยการศาลทหาร มทบ.37 และรายงานผู้บัญชาการ กกล.รส. มทบ.37 แล้ว จึงได้รับมอบหมายให้มากล่าวโทษดำเนินคดีกับสราวุทธิ์ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) และ (5)
 
เบื้องต้นสราวุทธิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังเสร็จสิ้นการสอบปากคำ ตำรวจได้นำตัวสราวุทธิ์ไปยังศาลทหาร มทบ.37 หรือศาลทหารเชียงราย เพื่อขอฝากขังในระหว่างสอบสวน ซึ่งศาลทหารอนุญาตฝากขังสราวุทธิ์เป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 11-22 ตุลาคม  2559 ที่เรือนจำกลางเชียงราย 
 
ต่อมาทนายความของสราวุทธิ์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้โฉนดที่ดิน มีชื่อน้องชายสราวุทธิ์และภรรยาเป็นเจ้าของ มูลค่ากว่า 400,000 บาทเป็นหลักประกัน พร้อมให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และมีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งมีบุตรคนเล็กพึ่งคลอดได้ 3 เดือน แต่ศาลทหารเห็นว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายอย่างอื่น จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว
 
22 ตุลาคม 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ญาติและทนายความยื่นขอประกันตัวสราวุทธิ์ เป็นครั้งที่สอง หลังครบกำหนดฝากขังผัดที่สอง ด้วยยื่นโฉนดที่ดินเดิม มูลค่าประเมินกว่า 4 แสนบาท พร้อมกับเพิ่มหลักทรัพย์เป็นเงินสดอีก 1 แสนบาท รวมเป็นหลักทรัพย์มูลค่ากว่า 5 แสนบาท ในการขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมระบุเหตุผลว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี โดยมาพบตามที่เจ้าหน้าที่ติดต่อไป และผู้ต้องหายังมีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งมีบุตรคนเล็กพึ่งคลอดได้ 3 เดือน เจ้าหน้าที่ศาลทหารได้รับเอกสารคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไว้ แต่ระบุว่าตุลาการศาลทหารเดินทางไปพิจารณาคดีอื่นที่ศาลทหารเชียงใหม่ ทำให้ไม่มีตุลาการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวในวันนี้ ต้องรอให้ตุลาการเดินทางกลับมาก่อน 
 
25 ตุลาคม 2559
 
ญาติและทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลทหารว่าตุลาการมีความเห็นให้ยกคำร้องขอประกันตัว เนื่องจากยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม โดยตามคำสั่งเดิมระบุสาเหตุการไม่ให้ประกันตัวว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายอย่างอื่น 
 
3 พฤศจิกายน 2559 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นผัดที่ 3 โดยระบุว่ายังต้องทำการสอบสวนพยานในคดีเพิ่มเติมอีก 3 ปาก และรอผลตรวจสอบลายนิ้วมือของผู้ต้องหา ศาลทหารได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นเวลาอีก 12 วัน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ได้มีการเบิกตัวผู้ต้องหามาศาลเมื่อครบกำหนดฝากขังสองครั้งที่ผ่านมา
 
ญาติของสราวุทธิ์ได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 3 ด้วยหลักทรัพย์เดียวกับครั้งก่อนหน้านี้ คือโฉนดที่ดินมูลค่ากว่า 4 แสนบาท พร้อมเงินสดจำนวน 1 แสนบาท รวมหลักทรัพย์ขอประกันตัวกว่า 5 แสนบาท โดยในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่าผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานทั้งในการเข้าตรวจค้นบ้านพัก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559  และในการที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ตั้งแต่แรกที่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดี
 
นอกจากนั้นผู้ต้องหายังมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตร 2 คน อายุ 5 ปี และ 4 เดือน ตามลำดับ ซึ่งบุตรสาวคนเล็กปัจจุบันยังมีปัญหาทางร่างกายต้องเข้าตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ทำให้ภาระต่างๆ ในครอบครัวตกอยู่ที่ภรรยา รวมทั้งพนักงานสอบสวนเองก็ไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ผ่านมาแต่อย่างใด
 
ต่อมา ศาลทหารได้วินิจฉัยให้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว โดยระบุว่าคดีมีอัตราโทษสูง เชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดี การปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน และยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 
 
17 พฤศจิกายน 2559
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ทนายความและครอบครัวของสราวุทธิ์ยื่นคำร้องเป็นครั้งที่ 4 ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวยืนยันเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ว่าผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานทั้งในการเข้าตรวจค้นบ้านพัก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 และในการที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหาก็ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ตั้งแต่แรกที่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดี อีกทั้งผู้ต้องหายังมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตร 2 คน อายุ 5 ปี และ 4 เดือน ตามลำดับ ซึ่งบุตรสาวคนเล็กปัจจุบันยังมีปัญหาทางร่างกายต้องเข้าตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่กรุงเทพมหานครฯ ทำให้ภาระต่างๆ ในครอบครัวตกอยู่ที่ภรรยา รวมทั้งพนักงานสอบสวนเองก็ไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว
 
เมื่อศาลทหารได้พิจารณาคำร้อง ได้มีการสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และให้ความร่วมมือในการสอบสวนด้วยดี ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหา ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 1 แสนบาท โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต  สราวุทธิ์จึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงรายในช่วงค่ำ ภายหลังถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลา 38 วัน 
 
29 ธันวาคม 2559 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 37 ได้สั่งฟ้องคดีต่อศาลทหาร เบื้องต้น สราวุทธิ์ระบุว่าเขาไม่ได้เป็นคนโพสต์ในลักษณะเดียวกับที่คำฟ้องคดีระบุ และยืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป โดยศาลทหารได้นัดหมายสอบถามคำให้การในคดี ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560
 
7 กุมภาพันธ์ 2560
 
นัดสอบคำให้การ
 
ในห้องพิจารณาคดีนอกจากสราวุทธิ์และทนายสองคนก็มีผู้สังเกตุการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกหนึ่งคนมาร่วมฟังการพิจารณาด้วย เวลา 10.00 น. ศาลเริ่มกระบวนพิจารณาโดยอ่านบรรยายฟ้องซึ่งสรุปได้ว่า โจทก์ฟ้องสราวุทธิ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) (5)
 
จากการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรเมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร หลังศาลอ่านบรรยายฟ้องสราวุทธิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 11 เมษายน 2560 
 

11 เมษายน 2560 

นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลทหารเชียงรายเริ่มการตรวจพยานหลักฐานในเวลาประมาณ 10.30 น. อัยการทหารแถลงขอนำพยานบุคคลเข้าสืบรวมสิบปากและอ้างส่งเอกสารหลักฐาน 17 รายการเข้าสำนวน ทนายจำเลยแถลงขอนำพยานเข้าสืบรวมสี่ปากและส่งเอกสารหลักฐานเข้าสำนวนสองรายการ  หลังเสร็จสิ้นการตรวจพยานหลักฐานซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที คู่ความนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกวันที่ 12 มิถุนายน 2560 
 
12 มิถุนายน 2560
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ท.อิสระ เมาะราษี
 
พ.ท.อิสระ เบิกความสรุปว่า พบเห็นสราวุทธิ์โพสต์ภาพพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ในขณะนั้น) จำนวน 2 ภาพเรียงต่อกัน โดยภาพหนึ่งเป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์ ลักษณะทรงยืนรับการถวายความเคารพจากเจ้าหน้าที่ คู่กับสุภาพสตรีไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด กับภาพด้านขวาที่ทับซ้อนกับภาพด้านซ้าย บางส่วนเป็นพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พร้อมกับโพสต์ข้อความว่า “ทรงพระเท่มากพะยะค่ะ” ในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.เมืองเชียงราย


 
13 กรกฎาคม 2560

อัยการแถลงต่อศาลว่า วันนี้พยานโจทก์ปากแรก พท.อิสระ เมาะราศรีที่จะสืบพยานต่อเนื่อง ติดราชการไม่สามารถมาศาลได้ 
ศาลจึงนัดสืบพยานอีกครั้ง เป็นวันที่ 13 กันยายน 2560   

 

13 กันยายน 2560

นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ท.อิสระ เมาะราษี

 

 อัยการได้นำพยานโจทก์คือพันโท อิสสระ เมาะราษี เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 37 และเป็นผู้กล่าวหาจำเลย เข้าตอบการถามค้านทนายจำเลยจนเสร็จสิ้น โดยพยานได้ตอบการถามค้านของทนายความจำเลย ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นที่ 1 พยานเป็นผู้ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาถึงเหตุในคดีที่เกิดขึ้นเท่านั้น มิใช่เจ้าหน้าที่ทหารผู้ที่ทำการบันทึกภาพหน้าจอ หรือจัดทำเอกสารทางคดีเอง แต่ได้รับมาจากผู้ใต้บังคับบัญชา อีกทั้งพยานไม่ทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีสาเหตุโกรธเคืองส่วนตัวกับจำเลยหรือไม่ และยังไม่ได้อ้างตัวเจ้าหน้าที่ผู้ทำการบันทึกภาพหน้าจอและจัดทำเอกสารเข้ามาเป็นพยานในคดีแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 หลักฐานภาพถ่ายหน้าจอที่ใช้ในการฟ้องร้องกล่าวหาจำเลยว่าได้กระทำความผิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 นั้น ไม่ปรากฏ URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งๆ ที่หลักฐานชิ้นอื่นๆ ที่เป็นภาพถ่ายหน้าจอนั้นปรากฏ URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่ด้วย อีกทั้งพยานไม่เคยสอบถามหรือตรวจสอบไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊กว่าจำเลยได้ทำการโพสต์ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

ประเด็นที่ 3 สราวุทธิ์จำเลยในคดี เป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามความเคลื่อนไหวทางโลกออนไลน์โดยตลอด ซึ่งก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยได้มีการโพสต์ข้อความทางโลกออนไลน์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและทหารมาโดยตลอด แต่ภายหลังจากเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยมีการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและทหารลดน้อยลง

เมื่อเสร็จสิ้นการถามค้าน อัยการทหารแถลงหมดพยานโจทก์ที่จะนำสืบในวันนี้ คู่ความได้นัดหมายสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2560
 
12 ตุลาคม 2560
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 สว่าง จันทร์ศรีเวียง ผู้ให้ความเห็นทางวิชาการ
 
ที่ศาลทหารจังหวัดเชียงราย ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 คือ สว่าง จันทร์ศรีเวียง  อาชีพรับราชการ ตำแหน่งอาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย  ทำหน้าที่สอนหนังสือในสาขาวิชานิติศาสตร์ และทำหน้าที่บริหารบุคคลเนื่องจากมีตำแหน่งเป็นคณบดีด้วย เกี่ยวข้องกับคดีนี้โดยให้ความเห็นทางวิชาการ 
 
สว่าง เบิกความต่อศาลว่า จบการศึกษาสูงสุดชั้นปริญญาโท สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบเนติบัญฑิตไทยสมัยที่ 53 ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอกทางด้านกฎหมาย
 
เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาแล้ว 5-6 คดี  คดีนี้ทราบว่าผู้กล่าวหาคือ พันโทอิสระ และผู้ถูกกล่าวหาคือ สราวุทธิ์ ในข้อหาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ
 
สว่างเบิกความว่าเคยเห็นสราวุทธิ์มาก่อนในเฟซบุ๊กและหันไปชี้ตัวสราวุทธิ์ในห้องพิจารณาคดี ตนทราบว่าเหตุในคดีเกิดขึ้นวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 บริเวณตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย  และพนักงานสอบสวนสภ.เชียงรายเป็นคนร้องมาให้ความเห็นทางกฎหมาย โดยทำหนังสือไปที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย  ก่อนจะให้ความเห็นก็ให้ดูเอกสารเป็นภาพถ่าย ที่มีการโพสต์ข้อความประกอบในกระดาษ A4 มีคำอธิบายภาพ
 
เมื่อได้ดูภาพถ่ายประกอบคดีเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความน่าเคารพ อยู่เหนือการติชมทั้งหมดทั้งปวง ที่ชัดเจนคือตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ รัชทายาท ต้องไม่ถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็คงความเห็นลักษณะนี้ไว้เหมือนกัน การกระทำของจำเลยถือว่า ล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพในทางที่เป็นปฏิปักษ์ไม่ได้
 
ทั้งรัฐและประชาชนต้องมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และทรงดำรงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป  และได้ทำบันทึกและลายมือชื่อไว้กับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559   สว่างเบิกความทิ้งท้ายว่า ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับสราวุทธิ์มาก่อน
 
ตอบทนายถามค้าน 
สว่างตอบคำถามทนายว่า มีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กเหมือนกัน ใช้ชื่อว่า AJ.Sawang ซึ่งใช้เพื่อการเรียนการสอน  และไม่ได้เป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กกับสราวุทธิ์ จำเลยในคดีนี้  เอกสารตามหมาย จ.1 ที่เป็นภาพประกอบคดี เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกตอนที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู 
 
ก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นภาพและเอกสารชุดดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์มาก่อน  และนอกจากเอกสารชุดนี้ พนักงานสอบสวนก็ไม่มีเอกสารอื่นมาให้ดูอีก
 
หลังดูภาพตามเอกสารเบื้องต้น เลยเห็นว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของสราวุทธิ์  และไม่ทราบว่าการดูข้อมูลย้อนหลังในระบบคอมพิวเตอร์จะเข้าไปทาง URL แหล่งที่อยู่ของข้อมูลได้ และคิดว่าการตรวจสอบแหล่งข้อมูลจะต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ  และที่ทราบวันเกิดเหตุ( 27 กรกฎาคม 2559) ก็ทราบมาจากพนักงานสอบนำมาให้ดู
 
สว่างตอบคำถามอีกว่า การที่ใช้เสรีภาพตามหมาย จ.1  ภาพประกอบคดี ที่ให้การไปและให้ความเห็นว่าการโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  แต่การติชมที่ไม่เป็นปฏิปักษ์โดยสุจริตชนถือว่าทำได้ เช่นการชมหรือสรรเสริญ
 
หลังเสร็จสิ้นพยานปากนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 คือ สุชิน  อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในวันที่ 12 มกราคม 2561

12 มกราคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์
 
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า พยานโจทก์ติดราชการเลยไม่สามารถมาศาลได้  ศาลจึงเลื่อนสืบพยานปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 9 มีนาคม 2561
 
9 มีนาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3  สุชิน อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พยานผู้เชี่ยวชาญ

สุชินเบิกความว่า จบการศึกษาชั้นสูงสุดปริญญาโท จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2550 โดยรับหน้าที่สอนวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปและภาคความผิด, วิชาวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายภาษีอากร

คดีนี้เท่าที่ทราบเหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 เวลาประมาณ 14.39 น. ที่ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีพันโทอิสระ เมาะราษี กล่าวหาสราวุทธิ์  จำเลยคดีนี้ในความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา สุชินเคยเห็นสราวุทธิ์จากภาพตอนที่พนักงานสอบสวนให้ดู ก่อนจะหันไปชี้ตัวสราวุทธิ์ว่า มีตัวตนที่ห้องพิจารณาคดีนี้

เขาเบิกความต่อว่า สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ก็เนื่องจากว่า พนักงานสอบสวนทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขอให้ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเห็นในคดีนี้

อัยการโจทก์ขออนุญาตศาลให้สุชินดูภาพที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้และขอให้อธิบายภาพ สุชินดูและเบิกความว่า ตามที่พนักงานสอบสวนได้นำรูปถ่ายที่เป็นภาพสองภาพ  ภาพซ้ายเป็นภาพคนสองคน คนหนึ่งยืนหันหลังและอีกคนหนึ่งยืนทำท่าวันทยาหัตถ์และภาพขวาเป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระอิสริยยศในขณะนั้น จากภาพดังกล่าวผู้โพสต์พยายามสื่อให้บุคคลที่เห็นเข้าใจได้ว่า บุคคลด้านซ้ายมือที่ยืนหันหลังคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

การกระทำดังกล่าวเข้าลักษณะของการดูหมิ่น เหยียดหยาม เป็นการไม่เคารพต่อองค์รัชทายาท ใส่ความต่อบุคคลที่สาม ทำให้องค์รัชทายาทเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรวมถึงองค์รัชทายาทเป็นที่เคารพสักการะจึงอยู่เหนือการติชมใดๆทั้งสิ้น

อัยการโจทก์ให้สุชินดูภาพอีกครั้งและถามว่า ทราบหรือไม่ว่า บุคคลด้านซ้ายคือใคร สุชินตอบว่า ถ้าเห็นเฉพาะภาพซ้ายมือ ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปคงจะทราบว่าเป็นบุคคลใด แต่ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นใครเพราะเห็นแค่ด้านหลัง แต่ถ้าดูภาพขวามือด้วยที่เป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯฉลองพระองค์ในชุดเครื่องแบบเต็มยศ ถ้าให้ตนดูก็ทราบได้ทันทีว่าหมายถึงบุคคลทางด้านซ้ายมือ นอกจากนี้ภาพดังกล่าวยังมีข้อความประกอบโพสต์ว่า ทรงเท่ห์มากพะยะค่ะ ซึ่งทั้งหมดตนได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไปแล้ว และลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การ

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า สุชินจบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากที่ไหน สุชินตอบว่า จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งปริญญาตรีและโท ทนายจำเลยถามว่า ตอนที่สุชินเรียนมีการสอนเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ สุชินตอบว่า สมัยเรียนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเนติบัณฑิตยสภาสอนเรื่องมาตรา 112 และพอเป็นอาจารย์ ก็สอนมาตรา 112 ให้แก่นักศึกษาเช่นกัน ทนายจำเลยถามว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 มุ่งคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์หรือบุคคล สุชินตอบว่า มุ่งคุ้มครองบุคคลตามที่ระบุในตัวบทของกฎหมาย

ทนายจำเลยถามว่า ที่สุชินเบิกความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการติชมทั้งปวงเป็นข้อความจากที่ใด สุชินตอบว่า ประโยคดังกล่าวมาจากความรู้ที่มีและเป็นการกล่าวในภาพรวม ทนายจำเลยถามต่อว่า มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการติชมทั้งปวง สุชินตอบว่า เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ระบุไว้อย่างนั้น ทนายจำเลยถามอีกครั้งว่า สรุปแล้วไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการติชมทั้งปวง สุชินตอบว่า ไม่มี

ทนายจำเลยถามว่า จากประโยคดังกล่าวสามารถกล่าวชมได้หรือไม่ สุชินตอบว่า สามารถชมได้และขยายความคำว่า ติชม มีนัยหมายถึงการพูดในทางที่ไม่ดี ทนายจำเลยถามว่า คำว่า เท่ห์ เป็นคำชมหรือไม่ สุชินตอบว่า ถ้าถ้อยคำอย่างเดียวไม่มีภาพประกอบตีความหมายถึงการกล่าวชม แต่เมื่อมีภาพประกอบแสดงถึงสิ่งที่ไม่ดี สื่อในทางที่ไม่ดีและไม่ควร

ทนายจำเลยถามว่า ถ้ามองทั้งสองภาพจะทราบหรือไม่ว่า เป็นบุคคลใด สุชินตอบว่า ดูออก ทนายจำเลยถามต่อว่า บุคคลทางด้านซ้ายดูออกหรือไม่ว่าเป็นบุคคลใด สุชินตอบว่า พอดูออกว่าเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯเนื่องจากมีพรมแดง นายทหารยืนทำท่าวันทยาหัตถ์ ประกอบกับตนเคยเห็นภาพทั้งด้านซ้ายและด้านขวามาก่อนแล้วจึงดูออก

ทนายจำเลยถามว่า ถ้าบุคคลด้านซ้ายมือที่ยืนหันหลังอยู่เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯจริงจะไม่เข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 112 ใช่หรือไม่ สุชินตอบว่า ถ้าหากเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯจริง ก็ยังเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทอยู่ ทนายจำเลยถามว่า หมิ่นประมาทในทางกฎหมายอาญาหมายถึงอะไร สุชินตอบว่า หมิ่นประมาทเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม ทำให้บุคคลที่ถูกกล่าวถึงเสียหาย โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งใช้นิยามเดียวกันกับมาตรา 112

ทนายจำเลยถามว่า ถ้าเป็นภาพจริงถือว่าเป็นการใส่ความอย่างไร สุชินตอบว่า การใส่ความจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ ต้องแยกกันระหว่างหมิ่นประมาทบุคคลตามมาตรา 326 และหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 บุคคลที่คุ้มครองต่างกัน หากก่อให้เกิดความเสื่อมเสียก็เป็นการใส่ความได้ ตามมาตรา 112 แม้เป็นความจริงก็เป็นการใส่ความ

ทนายจำเลยถามสุชินว่า ทราบหรือไม่ว่า ตามคำฟ้องอัยการฟ้องว่า ภาพด้านซ้ายเป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯในพระอิริยาบถส่วนตัว สุชินตอบว่า ไม่ทราบเพราะเพิ่งเห็นคำฟ้อง แต่ศาลบันทึกว่า ทราบ ทนายจำเลยแย้งกับศาลว่า สุชินเพิ่งทราบ แต่ศาลบอกว่า ก็คือการทราบแล้ว

ทนายจำเลยถามว่า พยานหลักฐานในคดีอาญามีกี่ประเภท สุชินตอบว่า ตนไม่ได้สอนวิชาพยานหลักฐาน แต่เอกสารภาพที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ถือเป็นพยานเอกสาร ทนายจำเลยถามต่อว่า การเกิดขึ้นของเอกสารและการได้มาซึ่งเอกสารสำคัญหรือไม่ สุชินตอบว่า ตามมาตรา 226/1 ของประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาระบุว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย

ทนายจำเลยถามว่า จากเอกสารที่เป็นภาพเฟซบุ๊กของสราวุธิ์ บริเวณด้านบนที่เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษคืออะไร สุชินตอบว่า น่าจะเป็นที่อยู่ของเว็บไซต์ หรือยูอาร์แอล(URL) โดยเขาไม่ยืนยัน URL ในเอกสารดังกล่าว แต่ทั่วไปแล้วเมื่อกดที่ URL จะไปสู่เนื้อหาในภาพดังกล่าว แต่กรณีนี้ตนไม่ขอยืนยันเนื่องจากไม่เคยกดเข้าไปใน URL ด้วยตนเอง ทนายจำเลยในสุชินดูเอกสารที่เป็นภาพหลักฐานสามแผ่นและถามว่า เอกสารสามแผ่นดังกล่าวปรากฏ URL หรือไม่ สุชินตอบว่า ตามภาพปรากฏ URL ทนายจำเลยให้สุชินดูภาพหลักฐานแผ่นที่นำมาฟ้องในคดีนี้และถามว่า ปรากฏ URL ในภาพหรือไม่ สุชินรับว่า ไม่ปรากฏ URLในภาพดังกล่าว

ทนายจำเลยหมดคำถามอัยการโจทก์ไม่ถามติง นัดสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท. ภาสกร สุขขะ พนักงานสอบสวนในคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 5 เมษายน 2561
 
5 เมษายน 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
อัยการทหารแถลงขอเลื่อนการสืบพยานนัดนี้ออกไปเนื่องจากพยานไม่ได้รับหมายจึงไม่ได้มาศาล ศาลทหารเชียงรายนัดสืบพยานใหม่ในวันที่ 15 มิถุนายน 2561
 
15 มิถุนายน 2561 
 
นัดสืบพยานโจทก์ 

สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ท.ภาสกร สุขขะ พนักงานสอบสวน
 
ศาลเริ่มการพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.00 น. ในห้องพิจารณาคดีนอกจากทนายและ สราวุทธิ์แล้ว ก็มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุษยชนร่วมฟังการสืบพยานด้วย
 
พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความว่าปัจจุบันเขาอายุ 39 ปี รับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรเชียงราย ในตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีหน้าที่สอบสวนผู้กระทำความผิดคดีอาญาในพื้นที่ความรับผิดชอบ สำหรับคดีนี้เขาเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะพนักงานสอบสวน 
 
พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความว่า พ.ท.อิสระ เมาะราษี รองหัวหน้าฝ่ายการข่าวค่ายพญาเม็งราย เป็นผู้กล่าวหาสราวุทธิ์ว่ากระทำความผิดตาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อัยการทหารให้พ.ต.ท.ภาสกรชี้ตัวสราวุทธิ์ พ.ต.ท.ภาสกรหันไปชี้ตัวสราวุทธิ์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี  
 
พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความต่อว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม 2559 พ.ท.อิสระ นำภาพซึ่งเป็นภาพที่บันทึกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ของผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ สราวุทธิ์ มอบให้ตนเป็นหลักฐานในการกล่าวโทษสราวุทธิ์

เอกสารบันทึกภาพหน้า่จอดังกล่าวปรากฎภาพสองภาพซ้อนกัน ภาพหนึ่งเป็นชายสวมชุดขาว อีกภาพเป็นภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และมีข้อความที่จำเลยเขียนข้อความประกอบภาพในลักษณะที่ไม่เหมาะสม

พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความต่อว่า พ.ท.อิสระแจ้งกับตัวเขาด้วยว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่าภาพดังกล่าวถูกโพสต์ไปสองถึงสามนาทีก่อนจะถูกลบออกไป แต่ก่อนจะถูกลบก็มีผู้กดถูกใจและแสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่ง
 
พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความต่อว่าหลังมีการโพสต์ภาพดังกล่าวประมาณสองถึงสามชั่วโมง  สราวุทธิ์โพสต์ภาพชาวต่างชาติคนหนึ่งมาแทน เป็นภาพชาวต่างชาติมีรอยสักและใส่เสื้อแขนกุดโดยมีคนมากดถูกใจและแสดงความคิดเห็นท้ายภาพดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
  
พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความว่า ในการเข้าร้องทุกข์พ.ท.อิสระนำหนังสือมอบอำนาจจากผู้บังคับบัญชามาแสดงด้วย จากผู้บังคับบัญชามามอบให้กับตัวเขา พร้อมทั้งมอบประวัติย่อของจำเลยไว้ด้วย จากนั้นพ.ต.ท.ภาสวรจึงสอบปากคำพ.ท.อิสระไว้ ส่วนสราวุทธิ์ถูกเรียกมาสอบปากคำในภายหลัง โดยสราวุทธิ์ให้การปฏิเสธ การสอบปากคำดังกล่าวมีการลงบันทึกประจำวันไว้ด้วย 
 
พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความเพิ่มเติมว่า หลังรวบรวมพยานหลักฐานและเห็นว่าคดีมีมูลเขาโทรศัพท์เรียกสราวุทธิ์มาแจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.ภาสกรยืนยันว่าก่อนที่จะมีความเห็นสั่งฟ้อง ได้ทำการตรวจสอบว่าเฟซบุ๊กที่ปรากฎภาพอันเป็นเหตุแห่งคดีนี้เป็นของสราวุทธิ์จริงหรือไม่ และตรวจสอบว่าสราวุทธิ์ถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ โดยพบข้อมูลที่สรุปได้ว่าเฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าวเป็นของสราวุทธิ์จริง มีภาพถ่ายและข้อความที่สรุปยืนยันได้ 
 
พ.ต.ท.ภาสวรเบิกความต่อว่าหลังมีข้อสรุปที่แน่ชัดแล้วจึงขอศาลออกหมายค้นบ้านสองหลังตามทะเบียนบ้านของจำเลยที่อำเภอพาน และอำเภอเวียงชัย พบหลักฐานคือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโทรศัพท์มือถือ Oppo และ External Disc อีกหนึ่งอัน จึงยึดไว้ทำการสอบสวน โดยจุดประสงค์ของการสอบสวนคือทั้ง สามรายการ มีประวัติการเข้าเฟซบุ๊กของสราวุทธิ์หรือไม่ และพบภาพที่กระผิดหรือไม่ ปรากฎว่าพบแต่ประวัติการเข้าเฟซบุ๊ก
 
พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความย้อนไปว่า ตัวเขาเคยสอบปากคำพยานอีกสองปาก คือ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียราย และอาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พยานทั้งสองต่างยืนยันว่า การกระทำของสราวุทธิ์เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112   
 
เกี่ยวกับการตรวจสอบประวัติของสราวุทธิ์ พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความว่าพบว่า ตัวสราวุทธิ์เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพย์ติดและคดีชุมนุมทางการเมือง สำหรับข้อกล่าวหาที่มีการแจ้งต่อสราวุทธิ์ในครั้งนี้ พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความว่านอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯเพิ่มเติมด้วย
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานช่วงเช้า ศาลถามความประสงค์ว่าทนายจะถามค้านนัดหน้าหรือไม่ ทนายจำเลยแถลงว่าติดใจจะถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ ศาลนัดสืบพยานนัดต่อไปวันที่ 10 สิงหาคม 2561
 
10 สิงหาคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์ 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ท.ภาสกร สุขขะ พนักงานสอบสวน
 
ศาลทหารเชียงรายเริ่มสืบพยานโจทก์ปากพ.ต.ท.ภาสกร สุขขะ พนักงานสอบสวนในเวลาประมาณ 9.45 น. การสืบพยานนัดนี้เป็นการสืบพยานปากเดิมต่อจากนัดวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ในนัดที่แล้วอัยการทหารถามคำถาม พ.ต.ท.ภาสกร เสร็จแล้ว ในนัดนี้เป็นการถามค้านโดยทนายจำเลยและการถามติงของอัยการทหารในตอนท้าย 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความยืนยันกับทนายจำเลยว่า หลักฐานภาพถ่ายในคดีนี้ พ.ท.อิสสระ เมาะราษี นายทหารฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 37 ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยนำมามอบให้พนักงานสอบสวนในวันที่เข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ สราวุทธิ์ 
 
สำหรับที่มาของภาพถ่ายหลักฐาน พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความว่าในชั้นสอบสวนพ.ท.อิสสระให้การถึงที่มาของภาพถ่ายหลักฐานว่า ภาพถ่ายดังกล่าวพ.ท.อิสสระไม่ได้จัดทำขึ้นเองแต่ได้รับมอบมาจากผู้ใต้บังคับบัญชา ในชั้นสอบสวน พ.ต.ท.ภาสกรในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนและคณะพนักงานสอบสวนที่ถูกตั้งขึ้นไม่ได้เรียกผู้ใต้บังคับบัญชาที่พ.ท.อิสสระอ้างถึงมาสอบปากคำเนื่องจากได้รับแจ้งจากพ.ท.อิสสระว่าผู้ใต้บังคับบัญชาคนดังกล่าวเป็นบุคคลที่ต้องปกปิดตัวตน
 
เมื่อทนายจำเลยถามเกี่ยวกับที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ปรากฎในภาพถ่ายหลักฐานดังที่ควรจะเป็น พ.ต.ท.ภาสกรตอบคำว่าไฟล์ต้นฉบับของภาพถ่ายส่วนที่มีที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) ปรากฎอยู่ถูกตัดออกไป ทางพนักงานสอบสวนจึงไม่ทราบที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) ของภาพและข้อความประกอบภาพ

ในเวลาต่อมาเมื่อมีการตรวจค้นบ้านพักของสราวุทธิ์  ได้มีการยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ สราวุทธิ์  ไปให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบด้วย ผลการตรวจสอบก็ไม่พบภาพที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ปรากฎในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของสราวุทธิ์ 

สำหรับการตรวจสอบ IP Address ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก พ.ต.ท.ภาสกรเบิกความว่าพนักงานสอบสวนไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเฟซบุ๊กมีที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงอยู่นอกเขตอำนาจของทางการไทย ทนายจำเลยแถลงหมดคำถามค้าน
 
ตอบอัยการถามติง
 
อัยการทหารถาม พ.ต.ท.ภาสกรว่า ที่เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่ามีการตัดที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ออกจากภาพถ่ายหลักฐาน อยากทราบว่าเป็ฯน พ.ต.ท.ภาสกร ตอบว่า ได้รับข้อมูลจากการพูดคุยกับพ.ท.อิสระผู้นำภาพถ่ายมามอบให้พนักงานสอบสวนว่า

ส่วนบนของภาพถ่ายหลักฐานที่มีที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) ปรากฎอยู่จะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ท.อิสระ ซึ่งต้องปกปิดตัวตนติดอยู่ด้วย จึงมีการตัดภาพในส่วนนั้นออกไป  โดยคำพูดคุยส่วนนี้ พ.ต.ท.ภาสกร เบิกความว่าไม่ได้บันทึกไว้ในคำให้การชั้นสอบสวน 
 
อัยการแถลงหมดคำถามติง 
 
อัยการทหารแถลงว่าหมดพยานที่จะนำเข้าสืบในวันนี้ ศาลนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่  4 ตุลาคม 2561 
 
14 ตุลาคม 2561

นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 5  พ.ต.อ.พรเทพ ธนาบูรณศักดิ์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ก่อนเริ่มการสืบพยาน ตุลาการศาลทหารได้กำชับคู่ความ มิให้เผยแพร่คำเบิกความของพยานในคดีนี้อีก โดยกล่าวถึงการเผยแพร่จะกระทบต่อการพิจารณาคดี แต่ศาลทหารมิได้มีการบันทึกประเด็นนี้ในกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด

ในนัดนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ปากที่ 5 คือ พ.ต.อ.พรเทพ ธนาบูรณศักดิ์ ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย โดยพยานเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้  หลังจากพยานได้ทำการตอบคำถามของอัยการทหารแล้วเสร็จ เป็นเวลา 11.45 น. ซึ่งใกล้จะหมดเวลาทำการของศาลในช่วงเช้า ทนายจำเลยแถลงว่ามีคำถามที่ต้องถามค้านพยานอีกจำนวนมาก จึงขอเลื่อนการถามค้านออกไปในนัดหน้า อัยการทหารและพยานไม่คัดค้าน ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ออกไปเป็นวันที่ 14 พฤศจิกายน  2561

ภายหลังจากการสืบพยานแล้วเสร็จ สราวุทธิ์ จำเลยในคดี ได้แถลงต่อศาลเพื่อสอบถามว่า ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นช่วงเวลาที่เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แต่สำหรับจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยยังมีเงื่อนไขที่ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จำเลยอยากทราบว่าหากจำเลยจะลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง จำเลยจะสามารถกระทำได้หรือไม่ จะเป็นการผิดเงื่อนไขการประกันตัวหรือไม่ ศาลทหารระบุว่าศาลต้องทำการตรวจดูสำนวนและเงื่อนไขการประกันตัวของจำเลย อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน หากไม่ติดขัดใดๆ ก็น่าจะสามารถทำได้ เพราะถือว่าจำเลยยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดี
 
14 พฤศจิกายน 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์ ปากที่ 5  พ.ต.อ.พรเทพ ธนาบูรณศักดิ์
 
นัดนี้เป็นการถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 5 คือ พ.ต.อ.พรเทพ ธนาบูรณศักดิ์ ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนในคดี  หลังจากในนัดก่อนหน้านี้ อัยการทหารฝ่ายโจทก์ได้ถามพยานแล้วเสร็จ และได้มีการเลื่อนการถามค้านพยานออกมาในนัดนี้ โดยสรุปในการตอบคำถามค้าน พ.ต.อ.พรเทพ เบิกความถึงการได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ และได้เข้าร่วมการสอบสวนภายหลังมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว โดยพ.ท.อิสสระ เมาะราษี เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 37 เป็นผู้นำเอกสารที่ใช้กล่าวหาจำเลยมามอบให้กับพนักงานสอบสวนก่อน และพยานได้ดูในภายหลัง

พ.ต.อ.พรเทพ ระบุว่าพ.ท.อิสสระได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนว่าผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวได้เป็นผู้พบโพสต์ดังกล่าว แต่พยานปากดังกล่าว ไม่เคยมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด

ในส่วนการตรวจสอบของกลาง 3 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และฮาร์ดดิสก์ ที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดจากบ้านของจำเลย พ.ต.ท.พรเทพเบิกความว่าได้มีการส่งไปตรวจสอบที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
 
แต่ผลการตรวจสอบ ไม่ได้พบภาพและข้อความตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด รวมทั้งยังมีการทำหนังสือขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กผู้ใช้ที่มีการโพสต์ข้อความตามข้อกล่าวหา ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่ามีการลงทะเบียนใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวอยู่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้ลงทะเบียนเข้าใช้ เพราะบริษัทที่ดูแลเฟซบุ๊กนั้นตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ในส่วนที่อัยการทหารถามติง พ.ต.อ.พรเทพระบุว่าของกลางที่มีการส่งไปตรวจสอบกับปอท. เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องมีการตรวจสอบหาพยานหลักฐานจากเครื่องมือสื่อสารต่างๆ แต่จะเป็นเครื่องเดียวกันกับที่ใช้กระทำความผิดหรือไม่ ไม่สามารถยืนยันได้ อาจจะใช่ หรือไม่ใช่ก็ได้

ในส่วนเหตุผลที่ไม่ได้มีการเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาของพ.ท.อิสสระ เมาะราษี มาสอบปากคำ เหตุเพราะพ.ท.อิสระได้ให้ข้อมูลว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของทหาร ซึ่งต้องปกปิดตัวตน จึงไม่สามารถนำมาให้ปากคำได้

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 14 ธันวาคม 2561
 

14 ธันวาคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 6  พ.ต.ท.สมชาย เข็มดี
 
  ศาลขึ้นบัลลังก์พิจารณาราว 10.00 น. ในห้องพิจารณาคดีนอกจากทนายความและ สราวุทธิ์แล้ว วันนี้มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุษยชนร่วมฟังการสืบพยานด้วย
อัยการทหารแถลงกับศาลว่าพยานโจทก์วันนี้คือ พ.ต.ท.สมชาย เข็มดี หลังสาบานตนในคอกพยานแล้ว พ.ต.ท.สมชาย เริ่มเบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรเชียงราย ตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตั้งแต่ปี 2552
 
คดีนี้้เกี่ยวข้องโดยเป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบในคดี พ.ต.ท.สมชาย เบิกความว่า คดีนี้พ.ท.อิสระ เมาะราษี รองหัวหน้าฝ่ายการข่าวค่ายพญาเม็งราย เป็นผู้กล่าวหา โดยกล่าวหาว่า สราวุทธิ์ผิดตามข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามมาตรา 112
 
ทั้งนี้พยานเคยเห็นและชี้ตัวสราวุทธิ์ในห้องพิจารณาคดี ส่วนเหตุในคดี พ.ต.ท.สมชาย เบิกความว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ที่ตำบลรอบเวียง อำเภอเวียง จังหวัดเชียงราย
 
โดยในวันที่ 5 สิงหาคม 2559 พ.ท.อิสระ เมาะราษีนำภาพเป็นบันทึกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ สราวุทธิ์ ในนั้นมีภาพสองภาพซ้อนกัน ภาพหนึ่งเป็นภายชายหญิงในชุดลายสัก ส่วนอีกภาพเป็นภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช(ตำแหน่งพระยศในขณะนั้น) ภาพนั้นมีการโพสต์ข้อความหนึ่งประโยคว่า "ทรงพระเท่มากพะยะค่ะ" พ.ต.ท.สมชาย เบิกความเพิ่มเติมว่า หลังรวบรวมพยานหลักฐานแล้วและเห็นว่าคดีมีมูลว่าจำเลยกระทำผิดตามข้อกล่าวหา
 
จึงแจ้งข้อหาดังกล่าวกับจำเลย ทั้งนี้วิธีการรวบรวมพยานหลักฐานพยานเบิกความว่า ตรวจสอบวิธีการดำเนินคดีตามข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้อบรมมา จากนั้นตรวจสอบว่าเฟซบุ๊กของสราวุทธิ์นั้นเป็นของสราวุทธิ์จริงหรือไม่ หรือถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ และตรวจสอบจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
 
กระทั่งพบข้อมูลที่สรุปได้ว่าเฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าวเป็นของสราวุทธิ์จริง มีภาพถ่ายและข้อความที่สรุปยืนยันได้ ส่วนภาพที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้นไม่พบแล้ว พ.ต.ท.สมชาย เบิกความย้อนไปว่า นอกจากนั้นยังเคยสอบปากคำพยานไว้อีกสองปาก คือ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียราย และอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งสองต่างยืนยันว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อันล่วงละเมิดมิได้
 
จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แล้ว ยังมีความผิดตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) อีกด้วย ก่อน พ.ต.ท.สมชาย เบิกความทิ้งท้ายว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน
 
หลังจากนั้นช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.สมชาย เบิกความว่า ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคดีคอมพิวเตอร์มาก่อน เพียงแต่ได้รับมอบหมายมาทำคดีนี้ตามตำแหน่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ส่วนผลการตรวจสอบหลักฐานของกลาง จาก ปอท. ไม่ได้พบภาพหรือข้อความตามที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิด ผลการตรวจสอบพบเพียงบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวยังเปิดใช้งานอยู่
 
แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้ลงทะเบียนเข้าใช้ เพราะบริษัทที่ดูแลเฟซบุ๊กนั้นตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และพนักงานสอบสวนเองก็ไม่ได้เรียกตัวพยานที่เห็นเหตุการณ์และบันทึกภาพการกระทำนั้นมาสอบปากคำ โดยอ้างว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลลับ และต้องการปกป้องลักษณะพยานแบบนี้ไว้
 
หลังเสร็จสิ้นพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานนัดหน้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562
 

14 กุมภาพันธ์  2562

นัดสืบพยานโจทก์

พยานโจทก์ที่เป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนไม่มาศาล เนื่องจากติดภารกิจ ศาลทหารให้เลื่อนสืบพยานไปเป็นวันที่ 10 พฤษภาคม  2562
 
10 พฤษภาคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์  ปากที่เจ็ดพ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญา นวตระกูลพิสุทธิ์
 
ที่ศาลทหารจังหวัดเชียงราย สราวุทธิ์และทนายความทั้งสองคนมาถึงศาล ประมาณ 9.00 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่ศาลจึงมาเชิญไปขึ้นห้องพิจารณาคดี พยานโจทก์วันนี้ คือ   พ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญา นวตระกูลพิสุทธิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และขณะเกิดเหตุในคดีนี้ มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีด้วย 
 
พ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญา เบิกความยืนยันการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน และขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ส่วนการตรวจสอบโพสต์เฟซบุ๊กและบัญชีเฟซบุ๊ก ที่นำมากล่าวหาจำเลย คณะพนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผลการตรวจสอบ พ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญา ยืนยันตามที่ปรากฏเป็นเอกสารในคดี กระทั่งคณะพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนและเห็นควรสั่งฟ้องจำเลย
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน 
 
พ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญาตอบคำถามว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยสอบสวนทหารหน่วยข่าวที่เป็นผู้พบเห็นโพสต์ในคดีนี้และบันทึกภาพหน้าจอเอาไว้ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้กล่าวหาจำเลย เนื่องจาก พ.ท.อิสระ เมาะราษี ผู้กล่าวหาในคดีนี้ แจ้งว่า เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเป็นสายข่าวต้องปกปิดชื่อ และในผลการตรวจสอบจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็ระบุว่า ไม่สามารถตรวจสอบที่อยู่ทางอินเตอร์เน็ต (IP Address) ของผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกนำมากล่าวหาได้ เนื่องจากบริษัทเฟซบุ๊กอยู่ในประเทศสำหรัฐอเมริกา 
 
พ.ต.อ.ภูมิปัญญ์ญา บอกด้วยว่า ของกลางที่คณะพนักงานสอบสวนได้ส่งตรวจสอบ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และฮาร์ดดิสก์ ซึ่งผลการตรวจก็ไม่พบภาพและข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหา
 
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562
 
 12 กรกฎาคม 2562

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในนัดนี้เดิมนัดหมายสืบพยานโจทก์ปากคณะพนักงานสอบสวนอีกคนหนึ่ง ซึ่งนับเป็นพยานโจทก์ปากที่ 8 ในคดี ได้แก่ พ.ต.อ.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย แต่พยานโจทก์ปากนี้ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการเร่งด่วน
 
ศาลทหารแจ้งให้คู่ความทราบว่าเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศ คสช.  คำสั่ง คสช. และคำสั่งหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น โดยมีการประกาศในราชกกิจจานุเบกษาวันเดียวกันนั้น โดยข้อความในข้อ 2 ระบุว่า “บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง
 
ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังคำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนการกระทำความผิดที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้น ๆ ไปยังศาลยุติธรรม แต่ทั้งนี้ ไม่หมายความรวมถึงกระทำความผิดที่กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารบัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยให้การกระทำความผิดดังกล่าวยังคงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารต่อไป” และในข้อ 9 ได้ระบุว่าคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจากคำสั่งดังกล่าว มีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีไปชั่วคราวก่อน แล้วศาลจะได้นัดคู่ความมาฟังคำสั่งศาลต่อไป และให้สัญญาประกันยังคงมีผลต่อไป

9  สิงหาคม 2562

ศาลทหารเชียงราย จำหน่ายคดีจากสารบบ ให้สนง.ศาลทหารมีคำสั่งโอนไปศาลยุติธรรม สัญญาประกันให้มีผลต่อ




 
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา