คดีปลอมเป็นหม่อมหลวง คดีที่สอง จำเลยสองคน

อัปเดตล่าสุด: 27/06/2560

ผู้ต้องหา

อัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

อัยการศาลจังหวัดกำแพงเพชร

สารบัญ

อัษฎาภรณ์ พร้อมพวกรวมสี่คน  ถูกกล่าวหาว่า พวกเขาอ้างตัวว่ามีอิสริยยศเป็นหม่อมหลวงและปลอมแปลงเอกสารเรียกรับผลประโยชน์จากการแอบอ้างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาจำเลยสองคนให้การรับสารภาพศาลจึงตัดสินลงโทษจำคุกเจ็ดปี สี่เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือโทษสามปี แปดเดือน ส่วนอัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์ยังคงให้การปฏิเสธ ศาลจังหวัดกำแพงเพชรสั่งให้แยกฟ้องใหม่เป็นคดีนี้

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อัษฎาภรณ์ ขณะถูกจับกุมอายุ 45 ปี

นพฤทธิ์ จำเลยที่สี่ ขณะถูกจับกุมอายุ 29 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี และทำงานเป็นพนักงานของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ อ่านเรื่องราวของนพฤทธิ์ ได้ที่นี่

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
มาตรา 265 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

อัษฎาภรณ์ และนพฤทธิ์ ถูกดำเนินคดี โดยในคำฟ้องระบุว่า ในเดือนเมษายน 2558 ทั้งสี่คนร่วมกัน แอบอ้างว่าเป็น “หม่อมหลวง” ไปหลอกลวงวัดไทรงาม โดยการปลอมแปลงเอกสารสำนักพระราชวัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีการอ้างดำเนินการเรื่องการกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเสด็จเป็นองค์ประธานงานพิธีตัดหวายลูกนิมิต พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหายหลายคน โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้วัดและประชาชนหลงเชื่อ
 
ทั้งสี่คนถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันกระทำความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ, ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 265

 

 

พฤติการณ์การจับกุม

11 สิงหาคม 2558
ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้ออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทยอยจับกุมจำเลยทั้งหมดในช่วงเดือนสิงหาคมและถูกคุมขังนับตั้งแต่มีการจับกุม 
 
21 สิงหาคม 2558
นพฤทธิ์ไปอบรมงานที่นอกสำนักงาน เมื่อถึงช่วงเที่ยงๆ หัวหน้างานฝ่ายบุคคลที่บริษัทได้โทรศัพท์มาให้เขากลับเข้าไปพบโดยด่วน แต่เมื่อไปถึง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ด้วยกับหัวหน้างาน พร้อมกับแสดงหมายจับที่มีชื่อเขา ระบุข้อหาตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 เขาถูกควบคุมตัว และนำตัวไปที่สถานีตำรวจในเขตพื้นที่ ก่อนจะถูกคุมตัวเดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชน เพื่อพบกับตำรวจเจ้าของคดีนี้ โดยระหว่างการสอบสวน เขาไม่มีญาติและทนายความอยู่ด้วย

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน โดยมีคดีที่แยกย่อยออกมาถึงสี่คดี ดังนี้
 
หนึ่ง คดีหมายเลขดำที่ 3016/2558 อัยการจังหวัดกำแพงเพชรเป็นโจทก์ฟ้องอัษฎาภรณ์, กิตติภพ, วิเศษ และนพฤทธิ์ ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, ปลอมแปลงเอกสารราชการ และสวมเครื่องแบบโดยไม่มีสิทธิ คดีนี้ในช่วงก่อนการสืบพยานจำเลยกิตติภพและวิเศษให้การรับสารภาพ โดยศาลจังหวัดกำแพงเพชรพิพากษาจำคุก เจ็ดปี สี่เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง ศาลสั่งจำหน่ายคดีของกิตติภพและวิเศษออกไป และให้ฟ้องจำเลยอีกสองคนที่ประสงค์จะสู้คดีต่อเป็นอีกหนึ่งคดี
 
สอง คดีหมายเลขดำที่ 1330/2559 อัยการจังหวัดกำแพงเพชรเป็นโจทก์ฟ้องอัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์ ความผิดมีเพียงหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และปลอมแปลงเอกสารราชการ เดิมทีคดีนี้มีการนัดพิจารณาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากอัยการจะฟ้องคดีฉ้อโกงเพิ่มเติมต่อจำเลยทั้งสี่คน และต้องเลื่อนออกไปอีกครั้งจากปัญหาเอกสารพยานหลักฐานดังระบุไปแล้ว
 
สาม คดีหมายเลขดำที่  3137/2559 อัยการจังหวัดกำแพงเพชรเป็นโจทก์ฟ้องอัษฎาภรณ์, กิตติภพ, วิเศษ และนพฤทธิ์ ฐานฉ้อโกง โดยให้เหตุผลในการฟ้องเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ไม่สามารถรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานได้ทันเวลา อย่างไรก็ดี ในการพิพากษากิตติภพและวิเศษ ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้ยกฟ้องความผิดฐานฉ้อโกงแก่กิตติภพและวิเศษ พิเคราะห์ว่า โจทก์ฟ้องซ้ำกับคดีที่หนึ่ง และจำหน่ายคดีฉ้อโกงของกิตติภพและวิเศษออกไป โดยให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่เหลือเป็นคดีใหม่
 
สี่ คดีหมายเลขดำที่ 3434/2559 อัยการจังหวัดกำแพงเพชรเป็นโจทก์ฟ้องอัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์ ฐานฉ้อโกง ซึ่งศาลได้อนุญาตรวมกับคดีที่สองเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายว่า การฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีที่สองหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้ยกฟ้องกิตติภพและวิเศษไปแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งให้รอคำสั่งในกระบวนการพิจารณา
 
 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
ช่วงระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม 2556-มีนาคม 2558
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า อัษฎาภรณ์ พร้อมพวกอีกสามคนคือ กิตติภพ, วิเศษ และนพฤทธิ์ อ้างตัวว่ามีอิสริยยศเป็นหม่อมหลวง และทำงานอยู่ในสำนักพระราชวังสามารถกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯมาเป็นประธานในงานบุญของวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีการปลอมแปลงหนังสือราชเลขาธิการมาแสดงความน่าเชื่อถือด้วย
ต่อมาเจ้าอาวาสวัดไทรงามส่งตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่ออัษฎาภรณ์และพวกรวมสี่คน ฐานร่วมกันกระทำความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารราชการ และสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ
 
 
5 พฤศจิกายน 2558
พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่คนต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร เป็นคดีที่หนึ่ง
 
22 เมษายน 2559
ประชาไทรายงานว่า อัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์ให้การปฏิเสธและสู้คดีต่อ ศาลจึงให้พนักงานอัยการโจทก์ได้แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
 
 
6 มิถุนายน 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดพร้อมและสอบคำให้การในคดีที่พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีใหม่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 โดยจำเลยทั้งสองยังยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและแถลงขอให้ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี ศาลจึงตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 สิงหาคม 2559

ภายหลังการสอบคำให้การ ญาติของ นพฤทธิ์ จำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคาประเมิน 1.7 ล้านบาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง และมีหลายข้อหา หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี โดยนับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่จำเลยยื่นขอประกันตัวและศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต
 

22 พฤศจิกายน 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ตามที่ศาลกำแพงเพชรนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน วันนี้อัยการโจทก์แจ้งว่า ได้มีการยื่นฟ้องคดีใหม่ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มเติมเข้ามา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน และได้ขอให้ศาลรวมการพิจารณาในข้อหาฉ้อโกงประชาชนเข้ากับคดีนี้ โดยต้องรอถามคำให้การในคดีใหม่ของจำเลยอีกสองคนก่อน ทำให้การสืบนัดสืบพยานในวันนี้ต้องเลื่อนออกไป
 
ศาลจึงได้สอบถามจำเลยสองคนที่ถูกนำตัวมาศาลในนัดนี้ คือนางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ ทั้งคู่ได้ยืนยันปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และไม่คัดค้านการรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน  ด้านนายนพฤทธิ์ ยังได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาล ว่าตนไม่คัดค้านในการรวมการพิจารณาคดี แต่ตนติดคุกมาจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือนแล้ว โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ในข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีการฟ้องมา ตนพร้อมจะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แต่ขอให้ศาลได้ให้ประกันตัว
 
ภายหลังการสอบถามจำเลย ศาลได้ขอเข้าไปปรึกษากับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ก่อนจะมีความเห็นว่า เพื่อไม่ให้เสียวันนัดความที่มีการนัดสืบพยานไว้แล้วในช่วงวันที่ 22-24 พฤศจิกายน จึงให้เบิกตัวกิตติภพและวิเศษ จำเลยที่ถูกฟ้องข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มเติมด้วย มาสอบคำให้การในวันต่อมา ขณะที่การสืบพยานที่นัดไว้ในเดือนนี้ให้ยกเลิกไปก่อน
 
23 พฤศจิกายน 2559
ศาลจังหวัดกำแพงเพชรให้เบิกตัวจำเลยทั้งสี่คนมาศาล ศาลแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบ และให้อัยการโจทก์ชี้แจงถึงข้อหาฉ้อโกงประชาชนที่มีการฟ้องเพิ่มเข้ามา จากนั้น อัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์ ได้ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาใหม่นี้ ขณะที่กิตติภพได้ขอเวลาติดต่อกับมารดาที่ไม่ได้มาศาลก่อน เพื่อขอคำปรึกษา ส่วนวิเศษได้ขอปรึกษากับทนายความ เนื่องจากทั้งคู่เพิ่งทราบว่ามีการฟ้องร้องคดีใหม่เข้ามา แต่เนื่องจากยังไม่มีทนายความ ศาลจึงได้แต่งตั้งทนายความขอแรงเพื่อให้คำปรึกษากับวิเศษ และให้เวลาจำเลยได้พิจารณาตัดสินใจ
 
จนการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย จำเลยทั้งสองคนก็ได้แถลงต่อศาลขอเวลาในการตัดสินใจ ปรึกษาทนายความ และพิจารณารายละเอียดในคดีต่างๆ ก่อนจะให้การ ศาลจึงให้เลื่อนการสอบคำให้การในคดีฉ้อโกงประชาชนไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2559
 
15 ธันวาคม 2559 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า กิตติภพ และวิเศษ จำเลยที่ 2 และ 3 ให้การรับสารภาพในข้อหาฉ้อโกงประชาชน โดยทนายขอแรงของจำเลยทั้งสองได้แถลงประกอบคำรับสารภาพว่า ข้อหาใหม่นี้เป็นความผิดจากการกระทำเดียวกันกับคดีเดิม ขณะที่อัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์ จำเลยที่ 1 และ 4 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงให้อัยการโจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 4 เป็นคดีใหม่ ภายใน 7 วัน ขณะคดีข้อหามาตรา 112 เดิม ยังต้องรอการฟ้องของอัยการในคดีใหม่ด้วย ศาลจึงนัดสอบคำให้การและฟังคำสั่งเรื่องการรวมการพิจารณาทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน ในวันที่ 26 มกราคม 2560
ในช่วงบ่าย ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีฉ้อโกงประชาชน ของกิตติภพและวิเศษ โดยพิพากษาให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากศาลเห็นว่าการกระทำผิดในคดีนี้เป็นความผิดจากการกระทำเดียวกันกับคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ และจำเลยทั้งสองได้รับสารภาพในคดีเดิม พร้อมกับที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ เมื่อศาลได้พิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 ที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยไปแล้ว จึงไม่ควรให้จำเลยต้องรับโทษอีก
 
ในวันเดียวกัน ทนายของอัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์ยังได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นอีกครั้ง ในประเด็นว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มิใช่รัชทายาท ตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 โดยยื่นเอกสารประกอบทั้งกฎมณเฑียรบาล เอกสารในคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประกาศต่างๆ ในราชกิจจานุเบกษาล่าสุดเรื่องการอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แต่ศาลได้วินิจฉัยโดยยกคำร้องตามเดิม โดยเห็นว่าการวินิจฉัยประเด็นนี้ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ จึงยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นนี้
 
 
26 มกราคม 2560
 
ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดฟังคำสั่งที่อัยการจังหวัดกำแพงเพชรขอให้รวมคดี สืบเนื่องจากการที่อัยการจังหวัดกำแพงเพชร ได้ยื่นฟ้องจำเลยเพิ่มอีกคดี เป็นคดีดำหมายเลขที่ 3434/2559 ด้วยข้อหาฐานฉ้อโกง และเนื่องจากคดีทั้งสองมีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน โจทก์เห็นว่า หากรวมเป็นคดีเดียวกันจะเป็นการสะดวกในการพิจารณา จึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้รวมคดีที่ฟ้องใหม่เข้าพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
 
ในวันนี้ ศาลถามจำเลยว่า คัดค้านคำร้องการขอรวมคดีหรือไม่ จำเลยไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้รวมคดีทั้งสองไว้ด้วยกัน 
 
หลังจากนั้น ศาลจึงนัดหมายวันนัดตรวจพยานหลักฐานที่คาดว่าจะเป็นวันที่ 16 หรือ 17 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ทางอัยการจังหวัดกำแพงเพชร ฝ่ายโจทก์กลับแสดงความเป็นกังวลออกมา เนื่องจากว่า เอกสารพยานหลักฐานฉบับจริงเกือบทั้งหมดถูกส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาโดยไม่มีการคัดสำเนาเอาไว้อีกชุดหนึ่ง หลังจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ครอบครัวของนพฤทธิ์ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุดให้ถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เกรงว่า จะได้เอกสารทั้งหมดกลับมาไม่ทัน
 
ทำให้ศาลจังหวัดกำแพงเพชรต้องยกเลิกวันนัดสืบพยานที่กำหนดไว้เดิมออกไปทั้งหมด และเลื่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 9.00 น. ซึ่งเดิมกำหนดไว้เป็นวันนัดสืบพยานจำเลยในคดีนี้ 
 
เหตุดังกล่าวไม่เพียงทำให้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีต้องยืดยาวออกไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อจำเลยอย่างอัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์ที่ต้องจำคุกต่อไป เนื่องจากศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558
 

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา