“บุปผา”: โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์

อัปเดตล่าสุด: 26/01/2564

ผู้ต้องหา

“บุปผา”

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ทหารเรือที่รู้จักกับจำเลย และพบเห็นข้อความบนเฟซบุ๊กเป็นผู้เข้ากล่าวโทษกับตำรวจ

สารบัญ

"บุปผา" เป็นผู้ป่วยทางจิตที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 13 ข้อความ ในจำนวนนั้น หลายข้อความเป็นการกล่าวถึงพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ใช่บุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ทหารเรือที่รู้จักกับ "บุปผา" พบเห็นข้อความและแจ้งความ ทำให้ "บุปผา" ถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคม 2559 และถูกส่งตัวฝากขังในเรือนจำ ก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่กระบวนการส่งตัวไปตรวจรักษา และยื่นขอประกันตัวที่ศาลทหารชลบุรี ก็ติดขัดขั้นตอนทางธุรการ กว่าจะได้คำวินิจฉัยจากแพทย์ว่า เธอป่วยเป็นโรคจิตเภท ชนิดหวาดระแวง มีความหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ ก็ใช้เวลานาน ทำให้เธอต้องอยู่ในเรือนจำเกือบ 2 ปีเต็มก่อนได้ประกันตัว

การพิจารณาคดีที่ศาลทหารเริ่มขึ้นช้าเพราะรอผลคำวินิจฉัยจากแพทย์ ด้านจำเลยและครอบครัวเมื่อได้ประกันตัวแล้วก็มีภาระต้องเดินทางไปศาลอีกหลายครั้ง เมื่อเริ่มนัดสืบพยานวันแรกก็สั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ก่อนคดีจะถูกโอนกลับมาพิจารณาต่อที่ศาลปกติ ซึ่งก็สั่งพิจารณาคดีเป็นการลับอีก

18 สิงหาคม 2563 ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษายกฟ้อง ข้อหามาตรา 112 เพราะเหตุจำเลยไม่มีเจตนา แต่วางบรรทัดฐานให้พระบรมวงศานุวงศ์ได้รับการคุ้มครอง ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เชื่อว่าขณะกระทำป่วยทางจิตจริงแต่ยังรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง ให้จำคุกกรรมละ 6 เดือน รวม 78 เดือน ให้รอลงอาญาและคุมประพฤติ

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

"บุปผา" ขณะถูกจับอายุ 45 ปี ก่อนถูกจับกุมประกอบอาชีพขายอาหารเสริม หย่าร้างกับอดีตสามีที่เป็นนายทหารเรือมาประมาณ 10 ไม่มีบุตรด้วยกัน มีอาการพูดวกวน เข้าใจว่าตนเองเป็นเชื้อพระวงศ์ และต้องรักษากฎมณเฑียรบาลที่ห้ามไม่ให้เชื้อพระวงศ์แต่งงานกับคนนอกราชสกุล และห้ามไม่ให้รับประทานเนื้อสัตว์หรือเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่า รวมถึงเชื่อว่าตนเองสามารถติดต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระยศขณะนั้น) ได้ผ่านเฟซบุ๊กและไลน์ ซึ่งญาติคาดว่าอาการป่วยดังกล่าวน่าจะเริ่มแสดงออกในช่วงที่หย่าร้างกับสามี

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

"บุปผา" ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพประกอบข้อความพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ บนเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 13 ข้อความ อันเป็นความผิด 13 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

 

พฤติการณ์การจับกุม

"บุปผา" เล่าว่า ทหารและตำรวจในเครื่องแบบติดอาวุธ ไม่แสดงหมายจับ รวมกันประมาณ 20 นาย มาจับกุมตัวไปจากร้านขายอาหารเสริมประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2559 

 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

25 ก./59

ศาล

ศาลทหารชลบุรี, ศาลจังหวัดพัทยา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
เดือนพฤษภาคม 2559 
 
จำเลยถูกจับกุมตัว และถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลทหารชลบุรี จำเลยถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชลบุรีเรื่อยมา
 
23 พฤศจิกายน 2559
 
ศาลมณฑลทหารบก จ.ชลบุรี นัดถามคำให้การในคดี ห้องพิจารณาคดีที่ 1 เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี ควบคุมตัวจำเลยมาศาล มีพี่สาวและพี่เขยของจำเลยมาร่วมรับฟังด้วย ศาลอนุญาตให้ไพบูลย์ แย้มเอม ทนายความจากสภาทนายความ จ.ชลบุรี เป็นทนายความจำเลยตามที่ญาติได้ขอให้ศาลติดต่อทนายความให้ เนื่องจากจำเลยไม่มีทนายความและประสงค์ให้ศาลจัดหาให้
 
ทนายได้แถลงขอให้ศาลส่งตัว"บุปผา" ไปตรวจรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตุลาการทหารนายหนึ่งในชุดเครื่องแบบปกติกากีแกมเขียวคอแบะจึงสอบถามชื่อและอายุของจำเลย เมื่อจำเลยตอบได้ครบถ้วนถูกต้องก็แสดงความเห็นว่า จำเลยตอบได้ ไม่น่าจะป่วย แต่ตุลาการพระธรรมนูญเพียงคนเดียวในองค์คณะอนุญาตสั่งให้ส่งตัว "บุปผา" ไปตรวจรักษาอาการทางจิตตามที่ทนายความแถลง และให้เลื่อนถามคำให้การไปก่อน และสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เพื่อรอผลตรวจจากแพทย์
 
 
15 ธันวาคม 2560
 
"บุปผา" ถูกส่งตัวมาตรวจอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และถูกควบคุมตัวไว้ที่สถาบันในฐานะผู้ป่วยแทนการควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำ
 
 
20 กุมภาพันธ์ 2560

คณะแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์มีความเห็นส่งไปยังศาลทหารชลบุรีว่า "บุปผา" ป่วยเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ ขณะนี้ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เห็นควรได้รับการรักษาอาการทางจิตอย่างต่อเนื่องอีกสักระยะ 
 
12 ตุลาคม 2560
 
พี่สาวของ "บุปผา" ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง  จึงเดินทางไปศาลทหารชลบุรีพร้อมกับทนายความ เพื่อยื่นขอประกันตัว "บุปผา" ด้วยหลักทรัพย์เงินสด 300,000 บาท 
 
เวลาประมาณ 9.00 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว และเวลาประมาณ 9.30 น. เจ้าหน้าที่ศาลทหารแจ้งว่า ให้ขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีเพราะศาลจะไต่สวน จนกระทั่งตุลาการขึ้นบัลลังก์หนึ่งนายในเวลา 10.00 และแจ้งว่า ศาลได้รับคำร้องขอประกันตัวของคดีนี้แล้ว แต่เนื่องจากศาลได้ส่งเรื่องให้ทางสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ตรวจสอบอาการของจำเลยอีกครั้งและส่งรายงานมาให้ศาล ซึ่งขณะนี้แพทย์ยังไม่ได้ส่งรายงานกลับมา ส่วนตัวจำเลยถูกนำไปควบคุมไว้ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2560 จึงเกรงว่า หากอนุญาตให้ประกันตัวจะกระทบกับการตรวจรักษาอาการของแพทย์
 
ด้านทนายจำเลยแถลงว่า การได้ประกันตัวและกลับมารักษาตัวที่บ้านจะเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยมากกว่า และเมื่อแพทย์ต้องการตรวจรักษา ญาติก็จะพาจำเลยกลับไปพบแพทย์ทุกครั้งในลักษณะเป็นผู้ป่วยนอก การได้ประกันตัวจึงไม่น่าเป็นอุปสรรคกับการตรวจรักษา นอกจากนี้แพทย์ยังเคยลงความเห็นเรื่องอาการป่วยของจำเลยแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แต่ศาลชี้แจงว่า ความเห็นแพทย์ฉบับเดือนกุมภาพันธ์เป็นเอกสารที่เก่าแล้ว ซึ่งศาลได้ขอให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ประเมินอาการใหม่ จึงต้องรอผลการประเมินครั้งใหม่ ไม่สามารถใช้เอกสารฉบับเก่าได้
 
ด้านอัยการทหารซึ่งเป็นโจทก์ แถลงว่า คดีนี้เป็นคดีมีอัตราโทษสูง ขอให้รอจนกว่าแพทย์ส่งผลการวินิจฉัยอาการของจำเลยมาให้เรียบร้อยก่อนค่อยวินิจฉัยเรื่องประกันตัว และคดีนี้ โจทก์ก็จะไม่คัดค้านการประกันตัวด้วย
 
ด้านทนายจำเลย แถลงว่า กระบวนการตรวจและวินิจฉัยของแพทย์อาจจะใช้เวลานาน ที่ผ่านมาทางญาติติดตามสอบถามอยู่เป็นระยะแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าจากทางสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จึงขอให้ศาลช่วยเร่งรัดให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ส่งผลการตรวจมาโดยเร็ว ศาลกำชับว่า จะจดลงในรายงานกระบวนพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ติดตามเร่งรัดให้
 
หลังจากนั้นศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยศาลใช้คำว่า ให้ยกคำร้องขอประกันตัวไว้ชั่วคราว จนกว่าจะได้รับรายงานจากแพทย์และจะนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งเรื่องการประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง
 
 
12 มกราคม 2561
 
ศาลทหารชลบุรี ส่งหมายเรียกถึงผู้ร้องขอประกัน และทนายความให้มาศาลเพื่อฟังคำสั่งเรื่องการประกันตัว
 
เมื่อมาถึงศาล เจ้าหน้าที่เชิญให้ทนายความและผู้ร้องขอประกันตัวขึ้นไปพบตุลาการที่ห้องพักของตุลาการ โดยไม่ให้ญาติของ "บุปผา" ตามไปด้วย โดยตุลาการเล่าให้ฟังอย่างไม่เป็นทางการว่า ได้รับรายงานการตรวจจากแพทย์แล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังต้องการฟังปากคำจากแพทย์อีกว่า การให้ประกันตัวจะเป็นผลดีหรืออุปสรรคต่อการรักษาหรือไม่ และหากปล่อยตัวไปแล้วจำเลยมีโอกาสจะกระทำความผิดซ้ำหรือไม่
 
ด้านทนายความแจ้งว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวก็จะเป็นผลดีกว่า และจะอยู่ในความดูแลของครอบครัวไม่ให้กระทำความผิดซ้ำอีก 
 
ตุลาการจึงแจ้งว่า จะขอออกหมายเรียกให้แพทย์มาเบิกความต่อศาล เพื่อยืนยันเรื่องเหล่านี้ก่อน และจะขอให้ฝ่ายจำเลยพาญาติของจำเลยซึ่งจะเป็นผู้ดูแลกรณีที่ได้รับการปล่อยตัวมาเบิกความต่อศาลในวันนั้นด้วย โดยศาลกำหนดวันนัดไต่สวนแพทย์เป็นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561
 
7 กุมภาพันธ์ 2561
 
ก่อนถึงวันนัด เจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์ไปแจ้งกับทนายความว่า แพทย์ผู้ตรวจอาการของจำเลยไม่ว่างในวันนัด ไม่สามารถมาศาลได้ และขอเลื่อนวันนัดไต่สวนแพทย์ออกไปเป็นวันที่ 7 มีนาคม 2561
 
7 มีนาคม 2561
 
ศาลนัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการของจำเลย เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในเวลา 13.30 โดยญาติของจำเลย ผู้ขอประกันจากกองทุนเพื่อเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง และทนายความเดินทางมาถึงศาล แต่จำเลยไม่ถูกพาตัวมาและแพทย์ก็ไม่ได้มาศาล
 
โดยเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับทนายความจำเลยว่า ได้ประสานงานไปยังเรือนจำในจังหวัดชลบุรีเพื่อให้นำตัวจำเลยมาศาลแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ของเรือนจำแจ้งว่า จำเลยถูกพาตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางระหว่างการตรวจรักษาอาการป่วย  ซึ่งอยู่กรุงเทพมหานคร แต่ทางศาลทหารชลบุรี ไม่มีเขตอำนาจที่จะออกหมายไปยังเรือนจำในกรุงเทพมหานคร จึงไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลในวันนี้ได้ นอกเสียจากจำเลยจะถูกส่งตัวกลับมายังเรือนจำในจังหวัดชลบุรีก่อน และเนื่องจากจำเลยไม่ได้มาศาล เจ้าหน้าที่ของศาลได้ประสานไปยังแพทย์ให้ไม่ต้องมาศาลเรียบร้อยแล้ว โดยจะขอเลื่อนการไต่สวนแพทย์ออกไปอีก
 
หลังจากนั้น ศาลเรียกให้ทนายความขึ้นไปคุยในห้องผู้พิพากษา โดยผู้พิพากษาเป็นคนใหม่ที่เพิ่งมารับสำนวนต่อจากผู้พิพากษาคนก่อน และยังไม่เข้าใจคำสั่งที่ผู้พิพากษาคนก่อนสั่งให้ยกคำร้องขอประกันตัวไว้ชั่วคราวจนกว่าจะได้ไต่สวนแพทย์ก่อน และปรึกษาว่าจะให้ดำเนินการต่ออย่างไร โดยการพูดคุยใช้เวลานาน เพราะทางทนายความก็ยืนยันว่า เป็นการเลื่อนนัดพิจารณามาหลายครั้งแล้วโดยไม่จำเป็น ทั้งที่การไต่สวนแพทย์ไม่จำเป็นต้องมีตัวจำเลยมาศาลก็ได้ และขอให้ศาลพิจารณาเรื่องการประกันตัวโดยเร็ว
 
ด้านผู้ยื่นขอประกันจึงเขียนคำแถลงยื่นต่อศาลในวันนี้ โดยมีใจความสรุปว่า การพิจารณาเรื่องการประกันตัวล่าช้ามาเกือบหกเดือนด้วยความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของศาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่และกระทบต่อโอกาสของจำเลยที่จะรักษาตัวเองจากอาการป่วยทางจิต มีการนัดให้ผู้ร้องขอประกันตัวและญาติของจำเลยต้องขาดการงานเพื่อเดินทางมาศาลแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มการพิจารณา โดยกระบวนการที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายกำหนดให้ศาลต้องทำเป็นเพียงดุลพินิจของศาลเองที่กำหนดกระบวนการเหล่านี้ขึ้น จึงจำเป็นต้องทำโดยเร็วเพื่อรักษาสิทธิของจำเลยด้วย รวมทั้งขอให้ศาลสั่งให้ประกันตัวจำเลยในวันนี้เลย โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากรายงานผลการตรวจอาการทางจิตที่แพทย์เคยส่งให้ศาลไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งก็เพียงพอแล้ว
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 15.15 น. แจ้งกับอัยการทหาร และญาติของจำเลยว่า วันนี้เบิกตัวจำเลยมาศาลไม่ได้ และขอให้เลื่อนการไต่สวนแพทย์ออกไปในนัดหน้า ส่วนคำแถลงของผู้ขอประกันศาลจะรับไว้ในสำนวน ศาลยังจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีว่า หากในนัดหน้าแพทย์ไม่สามารถมาได้ ก็จะมีคำสั่งเรื่องการประกันตัวเลย โดยไม่ต้องไต่สวนแพทย์อีก ด้านทนายความแถลงต่อศาลว่า การไต่สวนแพทย์เป็นกระบวนการที่ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการพิจารณาคดี ไม่จำเป็นต้องทำต่อหน้าจำเลย หากไม่สามารถเบิกตัวจำเลยมาศาลได้ฝ่ายจำเลยก็ไม่ติดใจที่จะต้องมีจำเลยอยู่ในห้องพิจารณาขณะไต่สวน ขอให้ศาลดำเนินกระบวนการต่อไปได้ โดยอัยการทหารไม่ได้คัดค้าน แต่ศาลไม่ได้บันทึกคำแถลงของทนายความข้อนี้
 
ศาลยังแจ้งด้วยว่า การนัดไต่สวนแพทย์ครั้งหน้าขอนัดเป็นวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00 น. เนื่องจากเดือนเมษายนทั้งเดือนศาลไม่ว่าง ไม่มีวันนัดที่สามารถพิจารณาได้ และต้นเดือนพฤษภาคมทนายจำเลยไม่ว่าง
 
21 พฤษภาคม 2561
 
ศาลนัดแพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์มาไต่สวนประกอบการพิจารณาเรื่องการขอประกันตัว "บุปผา" ก็ถูกนำตัวมาศาล โดยมีพี่สาวและทนายความเดินทางมาศาล
 
จิตแพทย์ พูนพัฒน์ กมลวุฒิพงศ์ มาเบิกความต่อศาล โดยศาลเป็นผู้ถามเอง ได้ความว่า เป็นแพทย์เจ้าของไข้ในคดีนี้ รับตัว "บุปผา" ไว้รักษาตามที่ศาลทหารสั่งให้ส่งตัวไปรักษา พบว่า "บุปผา" ป่วยเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ จึงให้รับประทานยา เคยให้รักษาตัวเป็นผู้ป่วยในอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แต่ปัจจุบันเห็นว่า อาการดีขึ้นจึงให้เป็นผู้ป่วยนอก
 
พูนพัฒน์ เบิกความด้วยว่า อาการป่วยของจำเลยต้องใช้เวลารักษานาน ไม่แน่ว่าจะสามารถหายขาดได้ ก่อนหน้านี้เคยวินิจฉัยว่า ป่วยจนไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่ภายหลังเห็นว่า อาการดีขึ้น รับรู้และเข้าใจข้อกล่าวหาได้ เข้าใจกระบวนการพิจารณาคดีได้ และมีสติสัมปชัญญะควบคุมพฤติกรรมและการแสดงออกของตัวเองได้ จึงวินิจฉัยว่า สามารถต่อสู้คดีได้
 
ด้านอัยการทหารฝ่ายโจทก์ไม่ถามเพิ่มเติม แต่ทนายความจำเลยถามเพิ่มเติม ให้พูนพัฒน์ยืนยันว่า การปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษา
 
หลังการไต่สวนแพทย์เสร็จแล้ว ศาลแจ้งว่า เนื่องจากแพทย์วินิจฉัยว่า จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว จึงจะนำคดีนี้ขึ้นพิจารณา และให้นัดสอบคำให้การวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ส่วนคำร้องเรื่องการประกันตัวจะสั่งหลังจากนี้

จากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับญาติว่า ศาลน่าจะให้ประกันตัว แต่หลักทรัพย์ที่ยื่นมา 300,000 บาท ยังไม่พอ ต้องขอหลักทรัพย์เพิ่มเป็น 400,000 บาท จึงให้มายื่นคำร้องเรื่องการประกันตัวใหม่ในวันรุ่งขึ้น แต่ทางนายประกันจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษทางการเมือง สามารถหาหลักทรัพย์อีก 100,000 บาท เพิ่มได้ในวันเดียวกัน จึงขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเลย และไปเบิกเงินมาเพิ่มในทันที

ศาลสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในเวลาประมาณ 15.30 น. และจำเลยถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในจังหวัดชลบุรี ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน

 

13 กรกฎาคม 2561
 
นัดสอบคำให้การ
 
"บุปผา" เดินทางมาถึงศาลแต่เช้า โดยมีพี่สาวที่ดูแลอยู่พามา พี่สาวเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัวก็ต้องทานยาทุกวันอย่างต่อเนื่อง และต้องไปพบแพทย์ทุกเดือน ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีเจ้าหน้าที่ศาลพูดคุยกับทนายความของ "บุปผา" ล่วงหน้าถึงการให้การในวันนี้ และตกลงวันนัดหมายครั้งต่อไปล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ให้ขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 10.30 ก่อนที่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จะเดินมาแจ้งให้ทราบว่า ตุลาการร่วมติดการประชุมเรื่องงบประมาณ ทำให้การพิจารณาคดีเริ่มขึ้นช้า
 
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 10.50 น. ใช้เวลาประมาณ 10 นาที พิจารณาคดีอื่นก่อน ก่อนที่จะเรียก "บุปผา" ให้ยืนขึ้นและถามว่า ได้รับสำเนาคำฟ้องแล้วใช่หรือไม่ พร้อมจะให้การในวันนี้หรือไม่ "บุปผา" ต้องว่า พร้อม ศาลจึงอ่านทวนคำฟ้องทั้งหมดให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาอ่านคำฟ้องทั้งหมดประมาณ 25 นาที หลังจากนั้น "บุปผา" ให้การปฏิเสธ ศาลจึงจดคำให้การไว้ พร้อมสอบถามอายุ และที่อยู่ปัจจุบัน แต่ "บุปผา" ซึ่งอาศัยอยู่กับพี่สาวจำที่อยู่ปัจจุบันไม่ได้ 
 
เมื่อศาลอ่านให้ฟังว่า ตามคำฟ้องระบุว่า "บุปผา" ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2559 จนได้ประกันตัวเมื่อ 21 พฤษภาคม 2561 "บุปผา" ยืนยันว่า เธอถูกจับเมื่อวันที่ 27 ไม่ใช่วันที่ 28 เบื้องต้นอัยการทหารเปิดเอกสารดูและยืนยันว่า วันควบคุมตัว คือ วันที่ 28 แต่เมื่อ "บุปผา" ยืนยัน และทนายอธิบายว่า จับกุมตัววันที่ 27 แต่ขอหมายจับจากศาลหนึ่งวันหลังจากนั้น อัยการก็ไม่คัดค้าน ศาลจึงบันทึกเรื่องวันควบคุมตัวใหม่
 
อัยการแถลงด้วยว่า เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธอัยการก็จะขอนำพยานเข้าสื่อ ด้านทนายจำเลยขอให้มีวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลจึงกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในนัดหน้าเป็นวันที่ 5 กันยายน 2561 
 
 
5 กันยายน 2561
 
ศาลทหารชลบุรี​นัดตรวจพยานหลักฐาน​ โจทก์​แถลงขอสืบพยาน​ 11​ ปาก​ เป็นประจักษ์​พยาน​ 4 ปาก​ ผู้อธิบายความหมายของข้อความที่จำเลยโพสต์​ 2 ปาก​ เจ้าพนักงานผู้จับกุม​ 1 ปาก​ ผู้ตรวจสอบข้อมูลการใช้เฟซบุ๊ก​ เบอร์โทร​ศัพท์​ และข้อมูลในโทรศัพท์​รวม​ 3 ปาก​ พนักงานสอบสวน 1 ปาก​ พร้อมกับส่งซีดีบันทึกข้อมูลที่ได้จากโทรศัพท์มือถือของจำเลยด้วย
 
อัยการทหารฝ่ายโจทก์ยังรับพยานเอกสารของจำเลยทุกรายการโดยไม่คัคด้าน​ ยกเว้นความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับความหมายของ "รัชทายาท" 
 
ด้านฝ่ายจำเลยแถลงขอสืบพยาน​ 6 ปาก​ โดยมีจำเลยเบิกตนเองเป็นพยาน​ พยานที่เป็นญาติ เป็นเพื่อน ซึ่งรู้เห็นเกี่ยวกับอาการป่วยของจำเลย​ 4 ปาก​ และพยานผู้เชี่ยวชาญ​ 1 ปาก
 
ศาลนัดสืบพยาน​วันที่​ 20​ และ​ 27​ พฤศจิกายน 2561 โดยพยานโจทก์สี่ปากแรกที่อ้างว่าเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ ทางฝ่ายโจทก์ถือว่าเป็น พยานคู่ที่จะเบิกความในประเด็นเดียวกันจึงจะนำเข้าสืบก่อน
 
ทนายความจำเลยยังยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัย​ชี้ขาด​ข้อกฎหมายเบื้องต้น​ในประเด็นเกี่ยวกับความหมายของ "รัชทายาท" และบุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง ซึ่งศาลสั่งว่า จะพิจารณา​ในคราวเดียวกับคำพิพากษา​
 
 
13 กุมภาพันธ์ 2562 
 
ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันนี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีโดยลับ โดยจำเลยพร้อมทนายความเดินทางมาศาล ขณะที่นายประกันจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง ซึ่งนายประกันเดิมในคดีนี้โดยใช้เงินจากการรับบริจาคจากผู้ที่อยากช่วยเหลือนักโทษการเมือง ก็เดินทางมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่กองทุนยุติธรรม ของกระทรวงยุติธรรม เพื่อทำเรื่องขอเปลี่ยนหลักทรัพย์มาเป็นใ้ช้หลักทรัพย์ของกองทุนยุติธรรมประกันตัวจำเลยในคดีนี้แทน
 
เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า หากจะทำเรื่องขอยกเลิกสัญญาประกันตัวจำเลยฉบับเดิม และให้กองทุนยุติธรรมยื่นขอประกันใหม่ จะมีผลให้ต้องส่งตัวจำเลยเข้าเรือนจำไปก่อนระหว่างรอศาลพิจารณาสัญญาประกันตัวฉบับใหม่ ซึ่งจำเลยไม่ต้องการเข้าเรือนจำ เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่า ต้องทำเอกสารเป็นการยื่นขอเปลี่ยนตัวนายประกันแทน จะได้ไม่ต้องยกเลิกสัญญาฉบับเดิมและยื่นคำร้องขอประกันตัวใหม่ ซึ่งทั้งนายประกันเดิมและเจ้าหน้าที่จากกองทุนยุติธรรมเห็นตรงกันว่า ควรทำเช่นนั้น จึงยื่นคำร้องขอเปลี่ยนตัวนายประกันไปในเวลาประมาณ 10.00 แต่เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่า ตุลาการกำลังพิจารณาคดีนี้อยู่ จะพิจารณาคำร้องหลังการพิจารณาคดีเสร็จ
 
หลังตุลาการลงจากบัลลังก์ในเวลาประมาณ 12.30 ก็มาแจ้งว่า ในเอกสารคำร้องที่ส่งเข้ามา เจ้าหน้าที่ของทุนยุติธรรมที่เป็นผู้มีอำนาจลงนามแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมา ไม่ได้แนบสำเนาบัตรข้าราชการมา ขอให้ไปเปลี่ยนเป็นสำเนาบัตรข้าราชการให้ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็เดินทางกลับสำนักงานเพื่อนำสำเนาบัตรข้าราชการมา และยื่นเอกสารใหม่ในเวลาประมาณ 12.00 น.
 
จนกระทั่ง ในเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลสั่งว่า เอกสารของกองทุนยุติธรรมที่ยื่นมานั้นผิด เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่มาทำสัญญาเปลี่ยนหลักทรัพย์ประกันตัว ไม่ได้ให้อำนาจมาเปลี่ยนตัวนายประกัน จึงไม่พิจารณาคำร้องในวันนี้ และไปทำเอกสารให้ถูกต้องก่อนกลับมายื่นใหม่ในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งหน้า ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562
 
 
2 สิงหาคม 2562
 
ระหว่างการสืบพยานโจทก์ แม้จะมีนัดพิจารณาคดีไว้ก่อนแล้ว ศาลทหารโทรศัพท์แจ้งกับทนายความ เรียกให้จำเลยมาฟังคำสั่งในวันนี้ เพื่อโอนคดีกลับศาลปกติ
 
ศาลแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการพิจารณาคดี ในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้
 
 
11 พฤศจิกายน 2562
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดพัทยา นัดพร้อมคดีนี้เพื่อสืบพยานต่อจากศาลทหาร โดยฝ่ายโจทก์แถลงว่า ยังมีพยานโจทก์จะนำสืบอีก 10 ปาก ฝ่ายจำเลยมีพยานอีก 4 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดให้ฝ่ายโจทก์ 2 นัด และฝ่ายจำเลย 1 นัด คู่ความได้ตกลงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9-10 มิถุนายน 2563 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 11 มิถุนายน 2563
 
คดีนี้ ศาลจังหวัดพัทยาได้สั่งให้สัญญาประกันที่จำเลยเคยทำไว้ที่ศาลทหารเป็นสัญญาประกันที่ศาลนี้ไปก่อน โดยไม่ต้องยื่นขอประกันตัวใหม่

 
18 สิงหาคม 2563

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 14 ศาลจังหวัดพัทยา มีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ "บุปผา" จากการโพสต์เฟซบุ๊กถึงพระบรมวงศานุวงศ์รวม 13 ข้อความ ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งให้ผู้ที่มาคดีอื่น หรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณา แต่เมื่อผู้พิพากษาออกนั่งบนบัลลังก์ก็ได้แจ้งว่า ให้สามารถอยู่ฟังได้ และแจ้งว่า คำพิพากษาคดีนี้ผ่านการตรวจจากอธิบดีผู้พิพากษาภาคแล้ว
 
ศาลพิพากษาสรุปได้ว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการกระทำหลายกรรม ให้ลงโทษจำคุกทุกกรรม กรรมละ 6 เดือน รวม 13 กรรม เป็นเวลา 78 เดือน รอการลงโทษ 3 ปี และรายงานตัวคุมประพฤติ 6 ครั้ง เป็นเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตอย่างต่อเนื่อง โทรศัพท์และซิมที่ใช้กระทำความผิดให้ริบ
 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาของศาลได้ว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อหกฎหมายของจำเลยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัติรย์ อันเป็นสถาบันหลักที่ปวงชนชาวไทยต่างรู้ด้วยจิตสำนึกว่า หาอาจมีบุคคลใดล่วงละเมิดมิได้ ความเป็นสถาบันนอกจากหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี แล้ว ยังหมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย 
 
หากมีการล่วงละเมิดต่อสถาบัน เฉพาะต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท ย่อมเป็นความผิดต่อราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นกฎหมายมหาชนที่ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปภายใต้หลักนิติธรรม และความเป็นสถาบันสูงสุดของประเทศทำให้ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจใดๆตามนิติประเพณีอันมีสภาพบังคับเช่นเดียวกับกฎหมาย 
 
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รองรับการดำรงไว้แห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้มีการล่วงละเมิดด้วยถ้อยคำใดๆ ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม และเห็นว่า คำว่า รัชทายาทตามพจนานุกรมฉบับราชฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึงผู้ที่จะสืบราชสมบัติมิได้ระบุถึงคำว่า “สิทธิ” (Right) แต่อย่างใด เมื่อประมวลประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 112 เพื่อการตีความแล้วย่อมต้องสอดคล้อง เชื่อมโยง ต่อเนื่อง กับคำว่า “พระมหากษัตริย์” “พระราชินี” ที่บัญญัติไว้ก่อนหน้าคำว่า “รัชทายาท” ดังนี้ คำว่า “รัชทายาท” แห่งมาตรา 112 จึงหาใช่หมายความเพียงลำพังแต่พระองค์ใดพระองค์หนึ่งไม่ ดังจะเห็นได้จากเจตนารมณ์ประมวลกฎหมายอาญาที่เรียงลำดับความสำคัญของบุคคลผู้ถูกดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทไว้เป็นหมวดแยกจากกันโดยชัดแจ้ง เริ่มตั้งแต่การดูหมิ่น หมิ่นประมาทประชาชนบุคคลธรรมดา บัญญัติไว้ในมาตรา 393 และมาตรา 326 ส่วนการดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือศาล บัญญัติไว้เฉพาะในมาตรา 136 หรือมาตรา 198 นอกจากนี้ ในมาตรา 134 ยังกล่าวถึงการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทผู้แทนรัฐต่างประเทศไว้ด้วย 
 
ดังนั้น มาตรา 112 ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาจัดลำดับไว้ในลักษณะ 1 หมวด 1 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และที่สำคัญเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัขทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่างหากจากความผิดฐานดูหมิ่น หรือหมื่นประมาท บุคคลหรือตำแหน่งอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างชัดแจ้งแล้ว และเห็นว่าเป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้จึงเห็นว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระองค์เจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงอยู่ในความหมายของคำว่า “รัชทายาท” แห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่มิได้ก้าวล่วงไปวินิจฉัยถึงคำว่า พระรัชทายาท ตามกฎมลเฑียรบาลแต่อย่างใด 
 
และเห็นว่าการแปลกฎหมายที่มีการกระทำความผิดต่อพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์จักรีโดยนำความผิด ฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทในบทมาตราอื่นมาปรับใช้ร่วมกับประชาชนบุคคลธรรมดา ย่อมมิได้กระทำได้ไม่ว่ากรณีใดๆ และเป็นสิ่งที่มิบังควรอย่างอื่น
 
การตีความดังกล่าวเป็นอำนาจทั่วไปที่ศาลจะพึงใช้เพื่อให้มีสภาพบังคับตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงนิติธรรมประเพณี เจตนารมณ์ทางกฎหมาย ดังได้วินิจฉัยมาทั้งหมดเพื่อผดุงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความยุติธรรมทั้งปวง 
 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานโจทก์เปิดแอพลิเคชั่นของจำเลยที่โพสต์ข้อความและรูปภาพดู โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความทำนองว่า หากนำยาของบริษัทไปให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีรับประทานจะทำให้พระอาการป่วยดีขึ้น ข้อความดังกล่าวมิได้มีลักษณะหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น จำเลยโพสต์ข้อความด้วยเจตนาดี ต้องการให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี รับประทานของบริษัทจะได้หายจากอาการป่วย แต่จำเลยใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น 
 
พยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยพบข้อความอันมีลักษะหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์จึงยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยเป็นของกลาง พยานโจทก์นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางไปตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า มีหมายเลขประจำเฟซบุ๊ก (ไอดีเฟซบุ๊ก) ตรงกับของจำเลย พบรูปภาพที่จำเลยโพสต์เก็บอยู่ในคลังภาพในโทรศัพท์ พยานโจทก์ทุกปากไม่มีสาเหตุโกธรเคืองหรือรู้จักจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง ไม่มีสาเหตุที่จะปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ ทั้งจำเลยก็เบิกความรับว่า ก่อนถูกจับกุมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เลขหมายเดียวกันนี้เพียงแต่ปฏิเสธว่าใช้เฟซบุ๊กไม่เป็นและไม่เคยแชร์รูปภาพรวมทั้งไม่เคยโพสต์ข้อความตามฟ้องเลย ขัดแย้งกับที่จำเลยเคยให้การในชั้นสอบสวนที่จำเลยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพเพียงผู้เดียว คำให้การชั้นสอบสวนแม้จะมีลักษณะเป็นพยานบอกเล่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ก็มิได้ห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียทีเดียว หากแต่ศาลต้องพึงกระทำด้วยความระมัดระวังไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่มีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน 
 
การที่จำเลยเบิกความแตกต่างไปจากคำให้การชั้นสอบสวน น่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยรับประทานยารักษาอาการทางจิตอย่างต่อเนื่อง ยาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความจำ ทำให้จำเลยหลงลืมเรื่องราวในอดีต ประกอบกับเหตุเกิดนานแล้วเชื่อได้ว่าคำให้การชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยให้การภายหลังเกิดเหตุไม่นานเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความชั้นพิจารณา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้อง
 
ส่วนข้อความที่จำเลยโพสต์แม้พยานโจทก์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยจะเบิกความว่า ข้อความดังกล่าวกล่าวถึงพระราชวงศ์ในความหมายที่ไม่ดี น่าจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงก็ตามแต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่เจตนา” มาตรา 112 มิได้บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทและมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่เจตนา 
 
ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 และวันที่ 20 มกราคม 2559 จำเลยนำรูปภาพของจำเลยที่ถ่ายหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ตั้งเป็นรูปประจำตัวในแอพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก วันที่ 6 มีนาคม  2559 จำเลยนำรูปภาพสมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร ที่ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ตั้งเป็นรูปประจำตัวในแอพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก ทั้งได้ความจากพยานจำเลยที่เป็นพี่สาวว่าจำเลยนำรูปภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรูปภาพราชวงศ์ตั้งเป็นรูปประจำตัวในแอพลิเคชั่นไลน์ เห็นว่า บุคคลจะนำรูปภาพบุคคลใดตั้งเป็นรูปประจำตัวจะต้องรู้สึกชื่นชอบหรือชื่นชมบุคคลตามรูปภาพนั้นเสียก่อน จำเลยนำรูปภาพของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งเป็นรูปประจำตัวหลายครั้งทั้งแชร์รูปภาพของพระบรมวงศานุวงศ์จากเพจอื่น พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความจงรักภักดีของจำเลยที่ยังคงรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
 
ข้อความดังกล่าวจำเลยโพสต์ในเชิงตำหนิการประกอบพระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร หรือ พระจริยวัตรของแต่ละพระองค์ในทำนองไม่เหมาะสม ซึ่งความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไปที่ได้เห็นหรือได้อ่านข้อความดังกล่าวย่อมไม่เชื่อว่าเป็นดังที่จำเลยโพสต์ เพราะเป็นที่เห็นประจักษ์เสมอมาว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร และพระบรมวงศานุวงศ์แต่ละพระองค์ทรงประกอบกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทย โดยปราศจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และทรงพระราชจริยวัตร หรือพระจริยวัตรที่งดงาม เป็นมิ่งขวัญที่เคารพสักการะยิ่งของปวงชนชาวไทย ทั้งทรงเป็นศูนย์รวมพลังความสามัคคีของประชาชนชาวไทยทั้งมวลตลอดมา 
 
ได้ความจากพี่สาวของจำเลยว่า ขณะถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิง จังหวัดชลบุรี จำเลยพูดเรื่องพระเจ้าแผ่นดินและราชวงศ์โดยบอกว่าจำเลยเป็นสายลับของราชวงศ์ พยานเห็นว่าอาการของจำเลยไม่ปกติจึงขอให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการทางจิต จิตแพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีโดยสรุปว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวงมีอาการหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ มีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง จำเลยบอกว่าตนเป็นทายาทของรัชกาลที่ 5 และคิดว่าตนสามารถติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีได้ เชื่อว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิตตั้งแต่ต้นปี 2557 และเริ่มแสดงอาการรุนแรงเมื่อต้นปี 2559 สอดคล้องกับเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้อง แม้จิตแพทย์เป็นพยานจำเลยแต่เป็นพยานคนกลางไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใด จึงน่าเชื่อถือ พนักงานสอบสวนยังเบิกความว่า จากการสอบคำให้การจำเลยรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพแต่กระทำไปเพราะจำเลยเป็นอารักขาทุกพระองค์ของราชวงศ์ไทย ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้รับฟังว่าการที่จำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้องเป็นเพราะอาการป่วยทางจิตที่หลงคิดว่าตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงโพสต์ข้อความตำหนิด้วยความประสงค์ดี เพราะไม่ต้องการให้บุคคลใดมองสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางไม่ดี เพียงแต่จำเลยใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น 
 
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้องโดยมิได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ รัชทายาท การกระทำของจำเลยย่อมขาดองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ รัชทายาท 
 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ 
 
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้องจึงต้องฟังว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แต่จำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพเพราะหลงคิดว่าตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้มีเจตนาหมื่นประมาท ดูหมิ่น แสดงว่าจำเลยไม่ทราบว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลเท็จ ทั้งประชาชนชาวไทยที่ได้เห็นหรือได้อ่านข้อความดังกล่าวย่อมไม่เชื่อว่าเป็นดังที่จำเลยโพสต์ไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 
 
อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาทตามมาตรา 112 จัดไว้ในลักษณะ 1 หมวด 1 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและประการที่สำคัญกล่าวคือเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การที่จำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้องจึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จิตแพทย์เบิกความเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยโรคจิตเภทว่า สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและสามารถควบคุมตนเองในเรื่องทั่วๆไปได้แต่หากเป็นเรื่องที่หลงผิดก็อาจไม่สามารถควบคุมตนเองได้ การที่จำเลยยังควบคุมตนเองในเรื่องปกติทั่วๆไปได้ แสดงว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดสำหรับการกระทำนั้น ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
 
แม้ในระหว่างการพิจารณาจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 แต่กฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย 
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14(3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 6  เดือน รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 78 เดือน ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้งภายในระยะเวลา 2 ปี ให้จำเลยไปรับการรักษาอาการทางจิต ณ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา