นักกิจกรรมละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น

อัปเดตล่าสุด: 01/04/2563

ผู้ต้องหา

“อนุวัฒน์”

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่น

สารบัญ

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดสอบคำให้การ คดี มาตรา 112 ของจตุภัทร์หรือ’ไผ่ ดาวดิน’  มีเพื่อนนักกิจกรรมและประชาชาชนจำนวนมากไปรอให้กำลังใจ

หลังเสร็จกระบวนการสอบคำให้การซึ่งศาลสั่งพิจารณาคดีลับ กลุ่มนักกิจกรรมรวมตัวที่ป้ายหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงออกถึงความไม่เป็นธรรม ภายหลังศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายเรียกให้นักกิจกรรมรวมเจ็ดคนมาไต่สวนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ศาลมีคำสั่งว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และสั่งให้รอการกำหนดโทษของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงที่หก ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดสั่งให้จำคุกหกเดือนแต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้เป็นเวลาหนึ่งปี
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พายุ บุญโสภณ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน เป็นหนึ่งในเจ็ดนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินที่ถูกจับจากการทำกิจกรรมรำลึกครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 2558  และถูกจับอีกครั้งเมื่อเขาร่วมกับนักกิจกรรมอีก 13 คนในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกรุงเทพในช่วงเดือนมิถุนายน 
 
อาคม หรือฉัตรมงคล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน และยังเป็นผู้ต้องหาในคดี จัดกิจกรรมพูด "เพื่อเสรีภาพ" เกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 
 
“เบญจมาศ” (นามสมมัติ) เป็นนักศึกษาหญิง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
ณรงค์ฤทธิ์ เป็นนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ และนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
ภานุพงศ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน เป็นหนึ่งในเจ็ดนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินที่ถูกจับจากการทำกิจกรรมรำลึกครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 2558  และถูกจับอีกครั้งเมื่อเขาร่วมกับนักกิจกรรมอีก 13 คนในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกรุงเทพในช่วงเดือนมิถุนายน 
 
“อนุวัฒน์” (นามสมมติ) เป็นนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 
 
สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือนิว เป็นนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาและนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิรวิชญ์เคยถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมทางการเมืองหลายคดี ได้แก่ คดีฝ่าฝืนประกาศคสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองจากการร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก, กิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์, คดีตามพ.ร.บ.ความสะอาดจากการทำกิจกรรมโพสต์สิทธิเรียกร้องให้ คสช. ปล่อยแปดแอดมิน และคดีฝ่าฝืนข้อตกลงปล่อยตัวของ คสช. ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง 
 

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ
ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่นและนำไม้มาทำเป็นสัญลักษณ์ตราชั่ง เอียง โดยฝั่งหนึ่งมีรองเท้าบู๊ททหารแขวนไว้ อีกฝั่งหนึ่งเป็นถังเปล่า มีการชวนให้นำดอกไม้สีขาววางไว้อาลัยที่ใต้ฐานตราชั่ง เพื่อแสดงถึงความอยุติธรรมในการดำเนินคดีของจตุภัทร์ กลุ่มนักกิจกรรมยังอ่านแถลงการณ์ในนามเครือข่ายนักศึกษาสี่ภาค อ่านบทกวี และร้องเพลงให้กำลังใจจตุภัทร์ เข้าข่ายเป็นการประพฤตตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลและเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาล
 

พฤติการณ์การจับกุม

นักกิจกรรมทั้งเจ็ดได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวที่ศาลในวันที่ 24 เมษายน 2560 โดยไม่มีการจับกุม 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ลม.2/2560

ศาล

ศาลจังหวัดขอนแก่น

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
10 กุมภาพันธ์ 2560 
 
ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดจตุภัทร์ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบของเว็บไซต์บีบีซีบนเฟซบุ๊กส่วนตัวสอบคำให้การ ในวันนั้นมีประชาชนและนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย แต่ไม่สามารถเข้าไปยังห้องพิจารณาคดีได้เนื่องจากศาลสั่งพิจารณาคดีลับ ผู้มาให้กำลังใจจึงได้แค่รอที่จะเยี่ยมจตุภัทร์หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี แต่หลังเสร็จการพิจารณาคดีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็รีบพาตัวกลับเรือนจำทันทีโดยยังไม่มีโอกาสให้ผู้มาให้กำลังใจได้ทักทายกับจตุภัทร์ 
 
นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นนักศึกษาที่มารวมตัวกันจากหลายมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยทำท่าหน้ากากแอ๊กชันซึ่งเป็นท่าที่จตุภัทร์เคยถ่ายรูปร่วมกับเพื่อนจนเป็นเหตุให้ถูกถอนประกันเพราะศาลชี้ว่าเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐ นอกจากนี้กลุ่มนักกิจกรรมยังนำไม้มาทำเป็นสัญลักษณ์ตราชั่ง เอียง โดยฝั่งหนึ่งมีรองเท้าบู๊ททหารแขวนไว้ อีกฝั่งหนึ่งเป็นถังเปล่า มีการชวนให้นำดอกไม้สีขาววางไว้อาลัยที่ใต้ฐานตราชั่ง เพื่อแสดงถึงความอยุติธรรมในการดำเนินคดีของจตุภัทร์ กลุ่มนักกิจกรรมยังอ่านแถลงการณ์ในนามเครือข่ายนักศึกษาสี่ภาพ อ่านบทกวี และร้องเพลงให้กำลังใจจตุภัทร์ ก่อนจะเก็บของและแยกย้ายกันอย่างสงบ 
 
10 February 2017 Activist's prop at the Khon Khean Provincial Court

อุปกรณ์ประกอบกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่น 10 กุมภาพันธ์ 2560

17 มีนาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พายุ อาคม “เบญจมาศ” และ ณรงค์ฤทธิ์ ได้รับหมายเรียกจากศาลจังหวัดขอนแก่นให้ไปรายงานตัวเพื่อไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลจากการทำกิจกรรมใน วันที่ 24 เมษายน 2560
 
Court summon warrant for activist in the contempt of court case
 
หมายเรียกนักกิจกรรม ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 
 
20 มีนาคม 2560 

ข่าวสดออนไลน์อ้างรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า มีนักกิจกรรมอีกสามคนได้แก่สิรวิชญ์ ภานุพงศ์และ "อนุวัฒน์” ได้รับหมายเรียกจากศาลจังหวัดขอนแก่นให้ไปรายงานตัวในวันที่ 24 เมษายน 2560 เพื่อไต่สวนในกรณีละเมิดอำนาจศาลจากการทำกิจกรรมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เช่นเดียวกัน ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมดังกล่าวรวมทั้งสิ้นเจ็ดคน
 
24 เมษายน 2560
 
นัดไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา

ตั้งแต่เวลาประมาณ 7.00 น. นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินห้าคนที่ถูกดำเนินคดีนี้ ได้แก่ “เบญจมาศ” “อนุวัฒน์” ฉัตรมงคล พายุ และภานุพงศ์ นัดรวมตัวกันที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเดินเท้ามาเข้ารับการไต่สวนที่ศาลจังหวัดขอนแก่น โดยมีเพื่อนและรุ่นพี่กลุ่มดาวดินอีกประมาณสิบห้าคนมาให้กำลังใจและร่วมเดินด้วย ระหว่างทางนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินแวะพักบริเวณบึงสีฐานด้านหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่ออ่านแถลงการณ์สั้นๆ ก่อนจะเดินต่อ ทั้งหมดมาถึงศาลจังหวัดขอนแก่นในเวลาประมาณ 8.45 น. โดยระหว่างการเดินมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งตามบันทึกภาพแต่ไม่ได้ขัดขวางหรือแทรกแซงการเดินแต่อย่างใด

Daodin activists on the march with one plain cloth official walked along side 24 April 2017
 
นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาศาลจังหวัดขอนแก่นโดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหนึ่งนายติดตามถ่ายภาพการทำกิจกรรม
 
Dao Din activist stop at the lake in Khonkhean University to read a statement 24 April 2017    
 
นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินอ่านแถลงการณ์บริเวณบึงสีฐานด้านหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
    
หลังนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินมาถึงที่หน้ารั้วศาลจังหวัดขอนแก่นได้หยุดพักและนั่งคุยกันครู่หนึ่งก่อนจะเดินเข้าอาคารศาลเพื่อไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ระบุไว้ แต่ต่อมาศาลสั่งให้ย้ายไปพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณาคดี 12 ซึ่งอยู่ชั้นสอง โดยที่หน้าห้องพิจารณามีทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งคอยสังเกตการณ์อยู่ ซึ่งในวันนี้นอกจากนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินที่เดินเท้ามาศาลแล้ว ยังมีนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินอีกส่วนหนึ่งและนักกิจกรรมกลุ่มอื่นๆตามมาสมทบด้วย รวมแล้วมีผู้มาร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนครั้งนี้ประมาณ 40 – 50 คน

สำหรับคดีละเมิดอำนาจศาลนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้นเจ็ดคน ประกอบด้วยนักกิจกรรมดาวดินห้าคนที่เดินเท้ามาศาลในช่วงเช้า และนักกิจกรรมอีกสองคนได้แก่ ณรงค์ฤทธิ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจากกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ซึ่งตามมาสมทบที่ศาลในภายหลังและ สิรวิชญ์หรือ นิว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่ได้มาศาลในวันนี้

กระบวนการไต่สวนเริ่มในเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลเรียกชื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดและให้ยืนแสดงตัว เมื่อถึงชื่อ สิรวิชญ์ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลุกขึ้นแถลงว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจจากสิรวิชญ์มาแถลงขอเลื่อนคดีเนื่องจากติดเรียนในวันนี้ ต่อมาศาลเริ่มกระบวนการโดยให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกคนที่มาศาลยืนยันภาพถ่ายในวันเกิดเหตุว่าแต่ละคนมีตัวอยู่หรือไม่ ทั้งหกดูภาพถ่ายและยืนยันว่าตนเองปรากฏอยู่ในภาพถ่ายจริง ศาลอ่านข้อกล่าวหาให้ทั้งหกฟังว่า ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 มีกลุ่มบุคคลกล่าวปราศรัย แสดงท่าทาง ร้องเพลง พร้อมนำอุปกรณ์มาตั้งเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการพิจารณาคดีของศาล ที่บริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

หลังจากนั้นศาลแจ้งสิทธิให้ทั้งหกฟังว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกมีสิทธิที่จะมีทนายความ มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การ ผู้ถูกกล่าวหาลุกขึ้นแถลงว่าประสงค์จะถอนทนายที่เคยแต่งตั้งก่อนหน้านี้ โดยจะขอเข้ารับการไต่สวนและถามคำถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยตัวเอง หลังจากนั้นศาลถามว่าทั้งหกจะให้การเลยหรือรอให้การพร้อมสิรวิชญ์ ทั้งหกตอบว่า จะขอให้การวันนี้เลย

ศาลแนะนำผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดว่า การตั้งทนายมาสู้คดีน่าจะเป็นประโยชน์กับตัวผู้ถูกกล่าวหามากกว่า พร้อมทั้งถาม "เบญจมาศ" ว่าเข้าใจข้อกล่าวหาของตัวเองหรือไม่ "เบญจมาศ" ทวนข้อกล่าวหาให้ศาลฟัง ศาลบอกว่า"เบญจมาศ" ทวนข้อกล่าวหาไม่ครบ "เบญจมาศ" ตอบศาลว่า ที่จำได้ไม่หมดเป็นเพราะยังไม่เคยได้รับเอกสารคดี จากการที่ตนไม่ได้รับอนุญาตให้คัดถ่ายเอกสาร ศาลถามผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดว่าทราบหรือไม่ว่าถูกตั้งข้อกล่าวหาวันไหน ผู้ถูกกล่าวหาระบุวันที่ได้รับหมายจากศาล แต่ศาลกล่าวว่าทั้งหกเพิ่งได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้ ก่อนหน้านี้ทั้งหกยังไม่ถือว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีสิทธิเข้าถึงเอกสาร แต่ขณะนี้ทั้งหกได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วจากนี้ไปจะมีสิทธิเข้าถึงเอกสารคดี จากนั้นศาลถามผู้ถูกกล่าวหาทีละคนว่ามีทนายความแล้วหรือยังและประสงค์จะหาทนายเองหรือให้ศาลแต่งตั้งให้ ทั้งหกยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่ประสงค์จะมีทนาย

หลังจากนั้นศาลถามผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดอีกครั้งว่า จะให้การเลยหรือไม่ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดกล่าวว่าจะให้การเลยแต่ขอให้ศาลอ่านทวนข้อกล่าวหาให้ฟังอีกหนึ่งครั้ง ศาลจึงอ่านตามคำขอและถามคำให้การ ทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลสั่งว่าเนื่องจากสิรวิชญ์ยังไม่มาในวันนี้ จึงยังไม่มีการไต่สวนในวันนี้ แต่ให้ทั้งหมดไปทำคำให้การพร้อมบรรยายเหตุผลประกอบการกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรนำส่งศาลภายใน 15 วัน หลังจากนั้นศาลถามนักกิจกรรมทั้งหกว่าจะให้ใช้ชื่อใครเป็นผู้ถูกกล่าวหาคนแรกซึ่งชื่อจะปรากฏในเอกสารศาล ทั้งหกขอศาลตกลงกันเองโดยขอใช้ชื่อ "อนุวัฒน์" เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง

ต่อมาศาลจึงถามผู้ต้องหาทั้งหมดว่ามีบิดามารดาหรือญาติมาด้วยหรือไม่เพราะจะวางหลักประกันในการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณา ทั้งหกตอบว่าไม่มีบิดามารดาหรือญาติมาด้วย แต่มีอาจารย์สองคนมาเป็นนายประกัน ศาลขอให้อาจารย์ทั้งสองยืนขึ้นและถามความเกี่ยวข้องกับนักกิจกรรมทั้งเจ็ด อาจารย์คนที่หนึ่งตอบศาลว่า ไม่ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทั้งหกศึกษาอยู่ แต่รู้จักทั้งหกจากการทำกิจกรรมฝึกอบรม ขณะที่อาจารย์คนที่สองตอบศาลว่า รู้จักทั้งหกเพราะเคยสอนบางวิชา ศาลแจ้งกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกว่า โดยปกติการใช้บุคคลเข้าประกันจะต้องเป็นญาติหรือคนรู้จักใกล้ชิด ซึ่งอาจารย์ทั้งสองอาจจะไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว จากนั้นในเวลาประมาณ 11.30 น. ศาลขอพักการพิจารณาสิบนาที

ในเวลาประมาณ 12.30 น. ศาลกลับมาขึ้นบัลลังก์อีกครั้งและแจ้งกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกว่าเพื่อความสะดวกในการดำเนินการพิจารณา ให้เรียก "อนุวัฒน์", "เบญจมาศ", ณรงค์ฤทธิ์, ภานุพงศ์, ฉัตรมงคล, พายุ เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกตามลำดับ และกำหนดวันนัดใหม่กับผู้ต้องหาทั้งหก โดยเบื้องต้นศาลจะนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 แต่ทั้งหกติดสอบจึงแถลงขอให้ศาลนัดวันใหม่เป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ศาลกำชับให้ทนายที่มาเป็นตัวแทนสิรวิชญ์ไปกำชับให้สิรวิชญ์มาศาลในวันนัดด้วย หลังจากนั้นศาลแจ้งผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดว่าอนุญาตให้อาจารย์ใช้ตำแหน่งประกันได้โดยตีราคาประกันคนละ 50,000 บาท และให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดรอคำสั่งประกันที่ห้องพิจารณาคดีโดยนักกิจกรรมทั้งหกได้รับการปล่อยตัวจากศาลในช่วงบ่ายก่อนเวลา 14.00 น.
 
สำหรับเหตุผลที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกไม่ประสงค์จะมีทนายความในการไต่สวน ภานุพงศ์หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาระบุภายหลังว่า เนื่องจากคดีนี้ไม่จำเป็นต้องมีทนายและทั้งหกก็ยังไม่ได้เตรียมตัวสู้คดีเพราะก่อนหน้านี้ยังเข้าถึงเอกสารคดีไม่ได้ ทั้งหกจึงตัดสินใจที่จะแถลงความจริงต่อศาลเองโดยไม่ต้องใช้ทนายความ
 
8 พฤษภาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นักกิจกรรมหกที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นยื่นคำคัดค้านข้อกล่าวหาต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ซึ่งสรุปได้ว่า

การกระทำในวันเกิดเหตุเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสุจริต เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของนักศึกษาและเยาวชนต่อกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น และไม่ได้เป็นการขัดขวางการอำนวยความยุติธรรมของศาลแต่อย่างใด 
 
การกระทำที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดอาญา เพราะไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินเสียหายหรือก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ทั้งกิจกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีหรือในบริเวณศาล จึงไม่เป็นการรบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาคดีของศาล และไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยอันถึงกับเป็นการละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลจะต้องเป็นการกระทำที่รุนแรงพอจะขัดขวางการอำนวยความยุติธรรมของศาล
 
ในวันเกิดเหตุศาลจังหวัดขอนแก่นไม่มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้กระทำสิ่งใดก่อนหรือในระหว่างการพิจารณาคดี และไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกจึงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า สามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปในสังคม เมื่อศาลมีการออกข้อกำหนดอย่างชัดเจนในวันต่อมา ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกก็ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลเรื่อยมา
 
การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการตามสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักการสิทธิมนุษยชนสากลรับรองไว้ 
 
การตั้งข้อกล่าวหาครั้งนี้จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมุ่งคุ้มครองกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปโดยอิสระและเรียบร้อย
 
การใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลไม่ควรตีความอย่างกว้างขวาง ไปในทางเอาผิดผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อคำสั่งของศาล หรือกระบวนการยุติธรรมเป็นการทั่วไป ในทางกลับกันการที่มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรม จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว ให้อำนวยความยุติธรรมในสังคมได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นการแสดงความคิดเห็นของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกที่แสดงต่อกระบวนการยุติธรรมไม่อาจมีอิทธิพลเหนือความคิดของบุคคลอื่นได้ เนื่องจากประชาชนทุกคนมีเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพทางความเชื่อ สามารถใช้วิจารณญาณของตนได้อยู่แล้ว

31 พฤษภาคม 2560

นัดไต่สวนละเมิดอำนาจศาล

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในวันนี้สิรวิชญ์ผู้ถูกกล่าวหาอีกคนหนึ่งที่ยังไม่มารับทราบข้อกล่าวหาเดินทางไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาโดยสิรวิชญ์ให้การปฏิเสธ
 
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแถลงขอให้ศาลเรียกพยานที่เคยไต่สวนไปแล้วสามปากได้แก่ พรชัย วัชรชัยทโลสถ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่น ส.ต.ธนากร น้อยสุขและพ.ต.ท.อดิศักดิ์ งามขัด มาไต่สวนอีกครั้ง เนื่องจากพยานทั้งสามคนไม่ได้มาศาลในวันนี้ ศาลจึงนัดไปไต่สวนใหม่ในวันที่ 29 มิถุนายน 2560 
 
29 มิถุนายน 2560 
 
นัดไต่สวนพยาน
 
ศาลจังหวัดขอนแก่นเริ่มการไต่สวนพยานในเวลาประมาณ 9.00 น. ในวันนี้นอกจากนักกิจกรรมผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดและทีมทนายแล้วมีผู้มาร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนคดีนี้อีกประมาณ 30 คน พยานฝ่ายผู้กล่าวหา ศาลได้ไต่สวนและบันทึกปากคำเอาไว้ก่อนแล้วโดยฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องมาร่วมด้วย ในวันนี้การไต่สวนจึงเริ่มต้นจากการซักค้านโดยทนายของผู้กล่าวหา
 
ไต่สวนพยานผู้กล่าวหาปากที่หนึ่ง พรชัย วัชรชัยทโลสภ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลจังหวัดขอนแก่น
 
พรชัยตอบคำถามทนายของผู้ถูกกล่าวหาโดยสรุปได้ว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นจะปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มาศาลทุกคดีอย่างเท่าเทียมกัน สำหรับคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของจตุภัทร์เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคมและมีมวลชนมาศาลเป็นจำนวนมาก มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุวุ่นวาย จึงประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจมาดูแลให้เกิดความเรียบร้อย เพราะศาลเป็นสถานที่ที่ืทุกคนต้องให้ความเคารพและอยู่ในความสงบ 
 
พรชัยเบิกความต่อว่า ระหว่างชั้นฝากขังของคดีของจตุภัทร์ ทางศาลจังหวัดขอนแก่นยังไม่ได้ขอกำลังสนับสนุนจากทหารตำรวจ แต่เมื่อปรากฎว่ามีกลุ่มคนมาฟังการพิจารณาคดีจำนวนมาก และมีพฤติการณ์ชูป้ายเขียนข้อความต่างๆ ทั้งยังมีข้อมูลด้วยว่ามวลชนที่มาติดตามคดีนี้เตรียมพวงหรีดเพื่อมาวางที่ศาล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจึงประสานขอกำลังทหารตำรวจมาช่วยรักษาความเรียบร้อย แต่ไม่ทราบว่า จะติดต่อขอกำลังไปที่บุคคลหรือหน่วยงานใด ทนายถามว่ารู้จักกับพ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หรือไม่ พรชัยตอบว่า ไม่รู้จัก ทนายของผู้ถูกกล่าวหาย้อนถามว่าที่พรชัยระบุว่า ผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์จะไปวางพวงหรีดบริเวณศาลจังหวัดขอนแก่นนั้น มีรูปพวงหรีดที่มวลชนเตรียมมาหรือไม่ พรชัยตอบว่าไม่มี 
 
ระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีศาลถามคนที่มานั่งในห้องพิจารณาว่ามีใครจดบันทึกหรือไม่ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแถลงว่า จะขอจด ศาลจึงสั่งให้ไปนั่งจดด้านหน้าบริเวณที่นั่งฝั่งโจทก์ และสั่งว่าบุคคลอื่นที่ไม่ได้แถลงจะไม่อนุญาตให้จด โดยขอชื่อกับบัตรประชาชนของคนที่จะจด
 
ทนายของผู้ถูกกล่าวถามต่อว่า พรชัยทราบหรือไม่ว่าในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทหารขึ้นไปที่ห้องผู้พิพากษา พรชัยตอบว่า โดยปกติห้องพักผู้พิพากษาจะเป็นเขตหวงห้าม ไม่ว่าบุคคลใดก็จะเข้าไปไม่ได้ ส่วนในวันเกิดเหตุตนก็ไม่เห็นว่ามีบุคคลใดหรือทหาร ขึ้นไปที่ห้องพักของผู้พิพากษา 
 
พรชัยเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุมีทหารมาแจ้งว่า นำกำลังมาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบสิบนาย แต่ไม่ได้พาผู้ปฏิบัติงานมาพบ จึงไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ทหารคนใดอยู่ในชุดปฏิบัติการบ้าง ทนายของผู้ถูกกล่าวหาถามพรชัยว่า ก่อนให้เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณศาล มีการอบรมหรือทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณศาลหรือไม่ พรชัยรับว่า ไม่มี 
 
สำหรับการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ พรชัยเบิกความว่า ไม่ได้เป็นผู้เห็นเหตุการณ์แต่ทราบเรื่องเพราะได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ไม่เคยเห็นแถลงการณ์ที่ผู้ทำกิจกรรมนำมาอ่าน เมื่อได้ดูเหตุการณ์จากวิดีโอก็ฟังไม่ชัดว่าในคลิปดังกล่าวมีใครพูดอะไรบ้าง ไม่ทราบว่า มีการพูดวิพากษ์วิจารณ์ศาลหรือทหารในแง่ลบหรือไม่ หลังดูวิดีโอก็ได้นำวิดีโอดังกล่าวไปให้กับตำรวจเพื่อรระบุตัวผู้ถูกกล่าวหา สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้ พรชัยเบิกความว่าไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่ทราบว่าในบรรดาผู้ถูกกล่าวหามีนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินรวมอยู่ด้วย 
 
พรชัยเบิกความว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลรายงานว่า ได้เข้าไปห้ามปรามกลุ่มคนซึ่งแต่งกายคล้ายนักศึกษาว่าไม่ให้ทำกิจกรรมแต่กลุ่มคนเหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง อย่างไรก็ตามระหว่างที่กลุ่มเหล่านั้นทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เข้าไปขัดขวาง ทนายของผู้ถูกกล่าวถามว่าเมื่อกลุ่มคนที่แต่งกายคล้ายนักศึกษาทำกิจกรรมเสร็จก็ได้เก็บดอกไม้และอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปจากพื้นที่ใช่หรือไม่ พรชัยรับว่า ใช่ ทนายของผู้ถูกกล่าวหาถามต่อว่าการกระทำในวันเกิดเหตุไม่ได้ไปขัดขวางหรือส่งผลให้การพิจารณาคดีของศาลเกิดความติดขัดใช่หรือไม่ พรชัยรับว่า ใช่
 
พรชัยเบิกความชี้แจงต่อว่า แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ได้ไปขัดขวางการพิจารณาคดีของศาล แต่ก็ทำไปโดยมีเจตนาแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่จตุภัทร์ไม่ได้ประกันตัว ทนายของผู้ถูกกล่าวหาถามว่าการแสดงออกดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหรือหลังศาลมีคำสั่งเรื่องการประกันตัว พรชัยตอบว่า ไม่ทราบ พฤติการณ์ของกลุ่มคนที่แต่งตัวคล้ายนักศึกษา คือ การแสดงเชิงสัญลักษณ์ มีการนำอุปกรณ์มาประกอบเป็นสัญลักษณ์ตราชูและนำไปตั้งหน้าป้ายศาลจังหวัดขอนแก่น แม้จะอยู่นอกรั้วศาลแต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อการพิจารณาคดี 
 
ทนายถามต่อว่า ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเคยมีกลุ่มบุคคลหรือชาวบ้านมาชุมนุมที่ด้านหน้าหรือไม่ และเคยมีการขอกำลังทหารมาสนับสนุนหรือไม่ พรชัยตอบว่า เคยมี บางกรณีมีคนมามากกว่ากรณีนี้ แต่ไม่ได้ขอกำลังเจ้าหน้าที่ทหารมา เนื่องจากผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ ประพฤติตัวเรียบร้อย ทนายถามว่าหลังวันเกิดเหตุในคดีนี้ปรากฎว่ามีเหตุวุ่นวายในวันที่จตุภัทร์มาเข้ารับการพิจารณาคดีที่ศาลอีกหรือไม่ พรชัยตอบว่า ไม่มี ทนายถามต่อว่าในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหารประจำการตามจุดใดบ้างและมีมาประมาณกี่คน พรชัยตอบว่าทราบว่ามีประจำการอยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดี และบริเวณทางเดินมาห้องพิจารณาคดี ไม่ทราบว่ากี่คน 
 
หลังเสร็จการไต่สวนพยานปากนี้ศาลอ่านทวนคำให้การไม่พยานฟังเมื่อพยานรับว่าถูกต้องศาลก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่แถลงว่า ขอจดบันทึกยืนอ่านข้อความที่จดให้ศาลฟังทั้งหมด หลังอ่านเสร็จศาลกล่าวว่า สิ่งที่จดบันทึกตรงตามคำให้การพยานจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ถ่ายเอกสารการจดบันทึกทั้งหมดแนบไว้ในสำนวนคดีด้วย
 
ไต่สวนพยานผู้กล่าวหาปากที่สอง พ.ต.ท.อดิศักดิ์ งามขัด ผู้รวบรวมหลักฐานในคดี
 
ก่อนเริ่มไต่สวนพยานปากนี้ พายุ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า พยานปากนี้เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจค้นบ้านดาวดินที่พวกตนอาศัยอยู่ในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 โดยไม่มีหมายค้น และได้ยึดเอกสารที่เตรียมไว้เพื่อใช้ในคดีนี้ไปด้วย พ.ต.ท.อดิศักดิ์ แถลงต่อศาลว่า ตนอยู่ในชุดที่ไปตรวจค้นบ้านผู้ถูกกล่าวหาจริงแต่ไม่ได้เป็นผู้ตรวจยึดเอกสารและไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ที่ใด ศาลบันทึกประเด็นนี้แล้วให้ทนายของผู้ถูกกล่าวหาถามความ 
 
พ.ต.ท.อดิศักดิ์เบิกความว่า ประกอบอาชีพรับราชการตำรวจที่สภ.ขอนแก่นในตำแหน่งสารวัตรปราบปราม มีหน้าที่ป้องปรามการก่ออาชญากรรมและเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ ในส่วนของกลุ่มนักศึกษาไม่ได้ติดตามแต่เป็นการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันเหตุร้าย เช่นเดียวกับกรณีของกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรื่องของทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมก็จะอยู่ในข่ายเฝ้าระวังเช่นกัน สำหรับคดีนี้ พ.ต.ท.อดิศักดิ์เบิกความว่า ตนเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่ได้รับรายงานมาจากผู้ใต้บังคับบัญชา
 
พ.ต.ท.อดิศักดิ์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุตนนั่งอยู่ในห้องรับรองทนายความ จึงเห็นเฉพาะเหตุการณ์ในคลิปวิดีโอที่ผู้ใต้บังคับบัญชาบันทึกมา ซึ่งตามคลิปดังกล่าวไม่ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ได้ห้ามปรามกลุ่มคนที่ทำกิจกรรม จำไม่ได้ว่า กิจกรรมมีเนื้อหาพาดพิงถึงศาลจังหวัดขอนแก่นหรือไม่ ไม่ทราบว่า กิจกรรมดังกล่าวจะทำบนผิวจราจรหรือทำให้การจราจรติดขัดหรือไม่ และไม่ทราบว่ามีการติดป้ายห้ามจัดกิจกรรมบริเวณป้ายศาลจังหวัดขอนแก่นหรือไม่ 
 
พ.ต.ท.อดิศักดิ์เบิกความต่อว่า ไม่รู้จักกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด ไม่เคยรู้จักกลุ่มดาวดินมาก่อน ทราบแต่เพียงว่า ต้องเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าเป็นคณะไหน อย่างไรก็ตามพ.ต.ท.อดิศักดิ์เบิกความภายหลังว่า คุ้นหน้ากลุ่มคนทำกิจกรรมว่า เป็นคนกลุ่มเดิมที่เคยทำกิจกรรมต้านรัฐประหาร หรือกิจกรรมเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ตนเองเคยไปเฝ้าระวัง  
 
เกี่ยวกับการตรวจสอบรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ พ.ต.ท.อดิศักดิ์เบิกความว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้ดำเนินการ โดยนำภาพถ่ายที่ได้รับมาไปตรวจสอบกับใบหน้าของบุคคลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร แต่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้เพียงเจ็ดคนเท่านั้น โดยไม่ได้ประสานกับหน่วยความมั่นคงอื่น ส่วนบุคคลอื่นที่ร่วมทำกิจกรรมในภาพก็ไม่ได้ติดตามตัวต่อ และตนก็ไม่ได้ถามผู้ใต้บังคับบัญชาว่า เหตุใดจึงเลือกยืนยันตัวบุคคลเจ็ดคนในคดีนี้ 
 
หลังเสร็จสิ้นการซักค้านพยานปากนี้ ศาลสั่งให้หน้าบัลลังก์ถ่ายเอกสารสมุดจดบันทึกของเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับภาคเช้าแต่ครั้งนี้ศาลบอกว่าไม่ต้องอ่านทวน หลังจากนั้น ศาลกำหนดวันนัดไต่สวนพยานต่อในวันที่ 27 และ 28 กันยายน 2560 โดยอธิบายว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนออกไปนานเพราะศาลติดอบรมเป็นเวลาสามเดือน
 
27 กันยายน 2560

นัดไต่สวนพยาน

ในช่วงเช้าเป็นการไต่สวนส.ต.ธนากร น้อยสุขหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยศาลจังหวัดขอนแก่นผู้ทำบันทึกข้อความถึงผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่น ให้ตั้งเรื่องให้มีการไต่สวนว่ามีการละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นหรือไม่ โดยพยานปากนี้เป็นพยานฝ่ายผู้กล่าวหาคนสุดท้าย ต่อมาในช่วงบ่ายเป็นการไต่สวน "เบญจมาศ" หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้เป็นพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาปากแรก
 
ก่อนเริ่มการไต่สวนทนายของสิรวิชญ์ผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดแถลงว่าสิรวิชญ์ติดธุระเรื่องการศึกษาต่อกระทันหันมาศาลไม่ได้ ขอให้ศาลไต่สวนลับหลังได้เลย ศาลจึงสั่งให้ทนายแจ้งสิรวิชญ์ว่าให้นำหลักฐานการติดต่อกิจธุระมาแสดงต่อศาลในวันที่ 28 กันยายน มิฉะนั้นอาจถือว่าสิรวิชญ์ผิดสัญญาประกัน
 
ไต่สวนพยานผู้กล่าวหาปากที่สาม ส.ต.ธนากร น้อยสุข หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยศาลจังหวัดขอนแก่น 
 
ส.ต.ธนากร ตอบคำถามโดยสรุปได้ว่า ตนเองเป็นหัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยประจำศาลจังหวัดขอนแก่น โดยปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำสั่งของผอ.ศาลฯและต้องฟังคำสั่งจากองค์กรสงเคราะห์ทหารผ่านศึกด้วย สำหรับแนวทางการควบคุมฝูงชน ผอ.ศาลฯไม่ได้มีคำสั่งเป็นหนังสือเพียงแต่สั่งการด้วยวาจา

ส.ต.ธนากรเบิกความว่าในวันเกิดเหตุตนเองดูแลความเรียบร้อยในบริเวณอาคารศาลแต่ไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณาคดีของจตุภัทร์ ต่อมาเมื่อประชาชนออกจากห้องพิจารณาคดีได้เดินไปที่ศาลาที่พักประชาชนซึ่งอยู่ใกล้ทางออกประตูใหญ่ศาลจึงตามไปด้วย เมื่อไปถึงพบว่ามีประชาชนร้องเพลง ส.ต.ธนากรเบิกความด้วยว่าได้ห้ามผู้หญิงมีอายุคนหนึ่งซึ่งกำลังจะเดินไปร่วมกิจกรรมบริเวณนั้น

ต่อมาเมื่อนักกิจกรรมและประชาชนเดินไปที่หน้าศาลก็ได้ตามไปด้วยโดยไปยืนบริเวณฝั่งตรงข้ามป้ายศาลจังหวัดขอนแก่นและสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถ่ายวิดีโอการทำกิจกรรมไว้โดยเป็นการสั่งการด้วยตัวเองไม่ใช่การรับคำสั่งจากผอ.ศาลฯ
 
เมื่อทนายของผู้ถูกกล่าวหาถามว่าในการทำกิจกรรมกลุ่มนักกิจกรรมมีการอ่านแถลงการณ์หรืออ่านกวีโจมตีศาลจังหวัดขอนแก่นหรือไม่ ส.ต.ธนากรตอบว่าไม่ทราบเพราะอยู่ฝั่งตรงข้ามจึงไม่ได้ยินแต่ยืนยันว่าเป็นไปตามเทปที่ผู้ใต้บังคับบัญชาบันทึกไว้

เมื่อทนายถามว่าส.ต.ธนากรเคยผ่านการอบรมเรื่องกฎหมายละเมิดอำนาจศาลว่ามีขอบเขตอย่างไรหรือไม่ ส.ต.ธนากรตอบว่าไม่ทราบแต่การตั้งเรื่องให้ดำเนินคดีเกิดจากการที่นักกิจกรรมมีการไปแสดงออกบริเวณหน้าป้ายศาลและมีการทำสัญลักษณ์ตราชั่งเอียงพร้อมรองเท้าบุ๊ททหาร

ส.ต.ระบุด้วยว่าการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในบริเวณศาลทำไม่ได้ส่วนด้านนอกศาลไม่รู้ว่าทำตรงไหนได้แต่จะทำบริเวณป้ายศาลไม่ได้

หลังไต่สวนพยานปากนี้เสร็จใกล้เวลา 12.00 น. ศาลสั่งพักการพิจารณาคดีและนัดไต่สวนต่อช่วงบ่ายในเวลา 14.00 น.

ไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหาปากที่หนึ่ง "เบญจมาศ"ผู้ถูกกล่าวหาที่สอง
 
"เบญจมาศ" เบิกความโดยสรุปได้ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เคยทำกิจกรรมในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับกลุ่มดาวดินมาก่อน ซึ่งการทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้ทางกลุ่มกลายเป็นเป้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาโดยในกลุ่มจตุภัทร์หรือ 'ไผ่ดาวดิน' จะถูกจับตาเป็นพิเศษจนสุดท้ายถูกดำเนินคดีมาตรา 112

เกี่ยวกับกิจกรรมในวันเกิดเหตุ "เบญจมาศ"กับพวกกลุ่มดาวดินนัดหมายมาที่ศาลเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์ ซึ่งในวันเดียวกันมีประชาชนกลุ่มอื่นมาให้กำลังใจด้วยประมาณ 30 – 40 คน แต่ไม่ทราบว่าในบรรดาคนที่มาในวันเกิดเหตุจะมีใครมาที่ศาลในวันนี้หรือไม่เนื่องจากไม่ได้สนใจ
 
เกี่ยวกับการทำกิจกรรม เบื้องต้น"เบญจมาศ"กับพวกตั้งใจมาทำกิจกรรมให้กำลังใจจตุภัทร์ด้วยการร้องเพลง อ่านบทกวี อ่านแถลงการณ์และวางดอกไม้เท่านั้น แต่เมื่อเห็นมีเจ้าหน้าที่ทหารมาศาลและถ่ายภาพในลักษณะคุกคาม เพื่อนในกลุ่มจึงกลับไปเอาอุปกรณ์สัญลักษณ์ตราชั่งเอียงซึ่งเตรียมไว้ใช้ในกิจกรรมอื่นมาที่ศาลเพื่อแสดงการตั้งคำถามว่าทหารมาที่ศาลทำไม

เกี่ยวกับความหมายของอุปกรณ์ที่นำมาติดตั้ง "เบญจมาศ" เบิกความว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเป็นรูปตราชั่งเอียง ข้างหนึ่งมีรองเท้าทหาร อีกข้างหนึ่งมีนกกระดาษเป็นสัญลักษณ์แทนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกจำกัดโดยทหาร

สำหรับเนื้อหาของกิจกรรม "เบญจมาศ" เบิกความว่ามีทั้งการอ่านแถลงการณ์ ร้องเพลงและอ่านกวี ซึ่งทั้งหมดมีเนื้อหาเป็นการให้กำลังใจจตุภัทร์ในการสู้คดีและให้เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีข้อความหยาบคายหรือว่าร้ายศาล การทำกิจกรรมใช้เวลาประมาณ 10 นาทีหลังจากนั้นทางกลุ่มก็แยกย้ายกันเก็บขยะและแยกย้ายกันกลับ

สำหรับภาพถ่ายตราชั่งเอียงที่ไม่มีคนอยู่ในภาพและมีรองเท้าแตะใส่อยู่ในกระป๋องซึ่งแขวนอยู่ตรงข้ามกับรองเท้าบู้ท  เบญจมาศเบิกความว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำมาใส่ไว้  ส่วนภาพกลุ่มบุคคลทำกิจกรรมอีกภาพที่ทนายให้ดูก็ไม่เคยเห็นและไม่ทราบว่าเป็นคนกลุ่มไหนแต่ไม่เกี่ยวข้องกับทางกลุ่มเพราะในวันนั้นกลุ่มดาวดินและเพื่อนๆแต่งตัวด้วยชุดนักศึกษาและไม่มีการทำกิจกรรมใส่หน้ากาก
 
หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานปากนี้ในเวลา 17.00 น. ศาลนัดไต่สวนพยานปากต่อไปในวันที่ 28 กันยายน 2560

ระหว่างการไต่สวนพยานปาก "เบญจมาศ" บรรยากาศในห้องพิจารณาเกิดความตึงเครียด เนื่องจากตอนที่ "เบญมาศ" ตอบศาลว่าไม่มีบุคคลที่ร่วมทำกิจกรรมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์อยู่ในห้องพิจารณาในวันนี้ ศาลก็แจ้งกับผู้เข้าฟังการพิจารณาว่าอาจจะต้องขอถ่ายสำเนาบัตรประชาชนของผู้ร่วมฟังพิจารณาคดีทุกคนไว้เพื่อตรวจสอบ อย่างไรก็ตามเมื่อทนายทักท้วงและ "เบญมาศ" แถลงต่อศาลว่าในวันเกิดเหตุตนไม่ทราบว่าจะมีบุคคลในห้องพิจารณานี้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์หรือไม่เพราะไม่ได้สนใจ ศาลก็ไม่สั่งให้มีการถ่ายสำเนาบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณา
 
28 กันยายน 2560

นัดไต่สวนพยาน

ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดไต่สวนพยานต่อจากวันที่ 27 กันยายน โดยในวันนี้ศาลไต่สวนพยานเสร็จทั้งหมดเจ็ดปาก เป็นผู้ถูกกล่าวหาหกปาก และพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอีกหนึ่งปาก
 
ไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหาปากที่สอง "อนุวัฒน์" ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง
 
"อนุวัฒน์"เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เคยร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน การทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงก่อนกับหลังรัฐประหารแตกต่างกันอย่างมาก ก่อนรัฐประหารนั้นแทบจะไม่มีทหารมายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมของทางกลุ่ม แต่ช่วงหลังการรัฐประหาร ทหารเข้ามาในทุกพื้นที่ที่กลุ่มของตนจัดกิจกรรม และมีการคุกคามต่างๆ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างมาก จึงรู้สึกอึดอัดใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคง 
 
"อนุวัฒน์"เล่าถึงตัวอย่างเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่ศาลได้เน้นย้ำว่า เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นการละเมิดอำนาจศาลจะไม่บันทึกให้ และอนุญาตให้ทนายยื่นคำแถลงเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันได้ 
 
อภิวัฒน์เล่า กิจกรรมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า การที่มาศาลและการจัดกิจกรรมในวันนั้นกระทำเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ที่ถูกจับกุม เพื่อให้รู้ว่ายังไม่ทิ้งกันและมีคนอื่นเป็นกำลังใจให้อยู่เสมอ
 
การจัดกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ด้วยความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าสามารถจัดกิจกรรมได้ เนื่องจากไม่มีใครมาห้ามปราม มีเพียงการถ่ายรูปและถ่ายวีดีโอ อีกทั้งยังเคยจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ที่ศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นมาแล้ว ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดมาว่ากล่าว ตักเตือน 
 
"อนุวัฒน์" อธิบายว่า อุปกรณ์ลักษณะคล้ายตราชั่งเอียงนั้น เห็นว่า เป็นการแสดงถึงอำนาจของทหารที่เหนือกว่าสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน กิจกรรมครั้งนี้ไม่มีการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับศาลเลยแม้แต่น้อย
 
ไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหาปากที่สาม ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่สาม
 
ณรงฤทธิ์ เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นประธานฝ่ายวางแผนและนโยบาย องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นนักกิจกรรมกลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา ก่อนเกิดเหตุได้ทำกิจกรรมไปช่วยเหลือและศึกษาปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากนโยบายของรัฐและเอกชน และยังได้อยู่ในกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ทำให้ได้รู้จักกับจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” 
 
ณรงค์ฤทธิ์ เล่าว่า เคยจัดกิจกรรมร่วมกับจตุภัทร์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นงานเสวนาชื่อว่า “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” โดยขณะจัดงานได้ถูกทหารสั่งปิดงานและตามด้วยการถูกดำเนินคดี ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน 
 
ณรงค์ฤทธิ์ เล่าต่อว่า ในวันที่จตุภัทร์ ถูกจับกุม เขาทำค่ายอยู่ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดชัยภูมิ ได้ทราบข่าวว่า ไผ่ถูกจับกุมและไม่ทราบว่าถูกควบคุมตัวไปที่ไหนเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนกระทั่งเจอตัวอยู่ที่ สภ.เมืองขอนแก่น จึงเห็นว่า กระบวนการในชั้นจับกุมผิดแปลกไปจากปกติ เมื่อถึงเวลานัดพิจารณาคดีของจตุภัทร์ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นก็มาให้กำลังใจ 2-3 ครั้ง สังเกตพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอยู่บริเวณศาลมากมาย เพื่อมาถ่ายภาพและสอบถามข้อมูลจากผู้มาให้กำลังใจ 
 
ณรงค์ฤทธิ์ เล่าด้วยว่า เคยถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโทรศัพท์มาเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวบ่อยครั้ง ศาลให้ความเห็นในส่วนนี้ว่า เจ้าหน้าที่ต้องทำตามหน้าที่ ถ้าทำตามก็ไม่เดือดร้อน แถมยังมีคนตามดูแลด้วย หากให้ความร่วมมือก็จะเป็นผลดีแก่ตัวของณรงค์ฤทธิ์เอง 
 
สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ณรงค์ฤทธิ์เล่าว่า เมื่อมาที่ศาลและทราบว่าเป็นการพิจารณาคดีลับ จึงลงไปรอด้านล่างของอาคารศาล เมื่อสิ้นสุดกระบวนพิจารณาจึงได้พูดคุยกันว่าจะจัดกิจกรรมให้กำลังใจจตุภัทร์ บริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น โดยสันติวิธี ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น และเห็นว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่จะจัดกิจกรรมได้ เนื่องจากการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยยังถูกปิด 
 
ในส่วนของกิจกรรมนั้น ณรงค์ฤทธิ์เล่าว่า เขาเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ในท่อนแรก เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการร้องขอความเป็นธรรม โดยไม่ได้พูดถึงศาลแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จะพูดถึงการทำงานของรัฐบาลทหารและความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยความเคารพต่อศาลจึงได้ออกไปจัดกิจกรรมนอกบริเวณศาล ขณะจัดกิจกรรมไม่มีคนเข้ามาห้าม แม้จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาด้วยแต่ก็ทำเพียงแค่ถ่ายรูปและถ่ายวีดีโอเท่านั้น 
 
ในส่วนของสัญลักษณ์ตราชั่งเอียงนั้น ณรงค์ฤทธ์ เบิกความว่า ไม่เคยเห็นมาก่อน เมื่อเห็นก็คิดถึงเพียงการใช้อำนาจของทหารที่อยู่เหนือกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน และได้ยืนยันว่ากลุ่มของตนที่จัดกิจกรรมมีเพียงบุคคลที่ใส่ชุดนักศึกษาเท่านั้น เรียกกันว่ากลุ่มนักศึกษาสี่ภาค ไม่รู้จักกับกลุ่มอื่นที่มาแสดงสัญลักษณ์อื่นหน้าศาลโดยการสวมหน้ากากและไม่รู้ว่ากิจกรรมนั้นเป็นคนกลุ่มไหน 
 
ณรงค์ฤทธิ์ เล่าวด้วยว่า หลังจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 บริเวณศาลจังหวัดขอนแก่นมีการติดป้ายห้ามจัดกิจกรรม กลุ่มของเขาก็ไม่ได้ฝ่าฝืน และไม่เคยจัดกิจกรรมในบริเวณศาลหลังจากนั้นอีกเลย
 
ทนายความของผู้ถูกกล่าวหา ประสงค์จะนำพยานปากต่อไปเข้าเบิความ คือ พรทิพย์ หงส์ชัย ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพยานที่จะมายืนยันว่า มีประสบการณ์การมาทำกิจกรรมให้กำลังใจที่ศาลในหลายๆ คดี ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ศาลใช้ดุลพินิจสั่งให้งดสืบพยานปากนี้ เนื่องจากพยานไม่ได้อยู่ในวันเกิดเหตุ ศาลต้องการสืบในประเด็นเกี่ยวกับเหตุการณ์วันเกิดเหตุเท่านั้น จึงไม่รับฟังพยานปากนี้ ทนายจึงขออนุญาตทำคำแถลงเกี่ยวกับพยานปากนี้เป็นหนังสือส่งให้ศาลภายหลัง ศาลอนุญาต
 
ไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหาปากที่สี่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ พยานผู้เห็นเหตุการณ์
 
ยิ่งชีพ เบิกความว่า ทำงานอยู่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ก่อนเกิดเหตุไม่เคยเกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหามาก่อน งานที่ทำ คือ การติดตามบันทึกข้อมูลการดำเนินคดีและการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน รวมทั้งคดีมาตรา 112 ของจตุภัทร์ 
 
ยิ่งชีพ กล่าวว่า จากการติดตามบันทึกข้อมูลทำให้ทราบว่า ในยุค คสช. จตุภัทร์ถูกจับอย่างน้อย 6 ครั้ง ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 5 คดี เป็นคดีเกี่ยวกับการต่อต้านการรัฐประหารและคดีฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติฯ เมื่อได้ทราบข่าวจากสื่อว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดพิจารณาคดีของจตุภัทร์ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 จึงมาสังเกตการณ์ ซึ่งตนได้มาเป็นครั้งแรก ส่วนคดีอื่นของและนัดพิจารณาคดีอื่นๆ เป็นเจ้าหน้าที่คนอื่นมาติดตามคดีแทน 
 
ยิ่งชีพ เล่าว่า ในวันเกิดเหตุมาถึงศาลจังหวัดขอนแก่นเวลาก่อน 9 โมงเช้า เห็นประชาชนที่มาให้กำลังใจยังนั่งกันอยู่ที่ศาลานอกตัวอาคารศาล จึงเดินเข้าไปในอาคารศาลเพื่อหาพิจารณาคดี เห็นเจ้าหน้าที่ทหารหลายนาย โดยที่เห็นได้ชัดจะเป็น สารวัตรทหาร (สห.) สังเกตได้จากแต่งกายชุดทหารและมีปลอกแขนสีแดง เขียนคำว่า สห. ทั่วทั้งบริเวณศาล รวมไปถึงบริเวณห้องควบคุมผู้ต้องหา

เมื่อทราบจากทนายของจตุภัทร์ว่า ศาลสั่งพิจารณาคดีลับจึงเดินลงมาจากอาคารศาล เห็นเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบถ่ายรูปประชาชนบริเวณศาลา โดยไม่มีเหตุขัดแย้ง ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี 
 
ยิ่งชีพ เล่าต่อว่า เมื่อเวลาเกือบ 10.00 น. ทนายเดินลงมาจากอาคารศาล จึงเข้าใจว่าการพิจารณาคดีเสร็จแล้ว จึงเข้าไปสอบถามทนายทำให้รู้ว่า จตุภัทร์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และเห็นคนทยอยกันไปที่ห้องเยี่ยมผู้ต้องขัง อีกประมาณห้านาทีต่อมา มีคนบอกว่า จตุภัทร์ถูกพาตัวกลับเรือนจำแล้ว โดยหลายคนที่มายังไม่มีโอกาสได้เจอตัว    
 
จนกระทั่ง เวลาประมาณ 10 นาฬิกาเศษ เห็นกลุ่มคนสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวเดินออกไปทำกิจกรรมบริเวณนอกศาล โดยทำกิจกรรม อ่านบทกวี อ่านแถลงการณ์และร้องเพลง และเห็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลมาถ่ายรูปและบันทึกวีดีโอ แต่ไม่ได้ห้ามปราม และสังเกตได้ว่า บทกวีที่ผู้ทำกิจกรรมอ่านนั้นเป็นบทกวีเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์ ส่วนบทเพลงที่ร้องนั้นคือ เพลง “บทเพลงของสามัญชน” เป็นเพลงที่มักใช้เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง ก่อนหน้านี้ เคยเห็นการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ในคดีที่คนให้ความสนใจมากๆ และจัดเพื่อเป็นการให้กำลังใจในคดีต่างๆ 
 
ยิ่งชีพ เบิกความว่า ทราบว่ากลุ่มที่จัดกิจกรรมดังกล่าวมีปัญหากับทหารมานาน เมื่อเห็นสัญลักษณ์ตราชั่งเอียงกับรองเท้าบู๊ททหาร จึงพอรู้ได้ว่ารองเท้าบู๊ทนั้นหมายถึงการด่าทหารแน่นอน และในคดีของจตุภัทร์เอง ทหารก็เป็นผู้กล่าวหาด้วย กิจกรรมดังกล่าวได้จัดเป็นเวลาประมาณห้าถึงสิบนาที เมื่อเสร็จกิจกรรมก็เห็นกลุ่มผู้จัดทำความสะอาดและแยกย้ายกันกลับ
 
ยิ่งชีพ เล่าว่า เคยรู้จักกับสิรวิชญ์อยู่ก่อนแล้ว ในวันเกิดเหตุเห็นสิรวิชญ์มาถึงที่ศาลก่อนกลุ่มคนที่ใส่เสื้อสีขาวที่จัดกิจกรรมนั้น และสิรวิชญ์กับคนจัดกิจกรรมก็เป็นคนละกลุ่มกัน ซึ่งเขาไม่เห็นสิรวิชญ์เข้าไปร่วมกิจกรรมด้วย
 
ยิ่งชีพ เล่าด้วยว่า หลังจากเหตุการณ์ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 จบลง ก็ได้มาที่ศาลจังหวัดขอนแก่นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม สังเกตได้ว่าบริเวณศาลมีการติดป้ายห้ามจัดกิจกรรมและห้ามประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และมีป้ายติดบริเวณห้องเยี่ยมแนะนำว่าให้ประพฤติตัวอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มี โดยประชาชนที่มาศาลในวันดังกล่าวก็ปฏิบัติตามให้ความร่วมมืออย่างดี
 
ไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหาปากที่ห้า ภานุพงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่สี่
 
ภานุพงศ์เบิกความว่าตัวเองจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันทำงานที่ศูนย์กฏหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม 
 
ในการสาบานตนก่อนการเบิกความ ภานุพงศ์พูดในตอนท้ายของการสาบานว่า “หากให้การเป็นความจริง ขอให้เผด็จการพังพินาศและประชาธิปไตยจงเจริญ” ศาลสั่งให้ภานุพงศ์สาบานตนใหม่และเตือนว่าการสาบานตนในลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลและอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล 
 
หลังสาบานตัวใหม่ภานุพงศ์เบิกความว่าเมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมร่วมกับกลุ่มดาวดิน เช่น กิจกรรมต่อต้านโครงการปิโตรเลียมบนบก และ กิจกรรม walk for life เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน จากการทำกิจกรรมต่างๆทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคุกคามมาตลอด เช่นระหว่างทำกิจกรรม walk for life ก็ถูกทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามและขอให้หยุดกิจกรรม

ภานุพงศ์เบิกความว่าเวลาเจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามทำกิจกรรมมักยกเหตุผลด้านความมั่นคง นอกจากนี้การทำกิจกรรมยังทำให้เจ้าหน้าที่ไปคุกคามครอบครัวของเขาที่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ด้วยซึ่งนั่นทำให้ตัวเขารู้สึกอึดอัดและไม่ปลอดภัย
 
ภานุพงศ์เบิกความว่าเขารู้จักจตุภัทร์ตั้งแต่ปี 2557 ในการทำกิจกรรมค่าย “นิติศาสตร์เรียนรู้ชุมชน” ในวันที่จตุภัทร์ถูกจับตัว เขาอยู่ที่หอพักบริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยทราบข่าวจับกุมตัวจตุภัทร์ที่จังหวัดชัยภูมิจากเฟซบุ๊ก โดยสาเหตุที่ทำให้จตุภัทร์ถูกจับกุมคือการแชร์ข่าวจากเว็บไซต์บีบีซีไทย และทราบว่าผู้แจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการจับกุมครั้งนี้คือพ.ท.พิทักษ์พล ชูศร นายทหารซึ่งตัวเขาพบบ่อยระหว่างที่ตัวเขาและพวกทำกิจกรรม
 
เกี่ยวกับพ.ท.พิทักษ์พล ภานุพงศ์เบิกความว่า พ.ท.พิทักษ์พลมักจะเป็นหัวหน้าชุดนำผู้ใต้บังคับบัญชามาถ่ายภาพและติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน ก่อนหน้านี้พ.ท.พิทักษ์พลเพียงแต่ติดตามโดยไม่เคยร้องทุกษ์ให้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มดาวดิน 
 
เกี่ยวกับการดำเนินคดีจตุภัทร์ในการแชร์บทความของเว็บไซต์บีบีซีไทย ภานุพงศ์เบิกความว่าเขารู้สึกงุนงงเนื่องจากบทความดังกล่าวมีคนแชร์ประมาณ 2,800 คน แต่มีจตุภัทร์เพียงคนเดียวที่ถูกดำเนินคดี และรู้สึกว่าที่จตุภัทร์ถูกดำเนินคดีเป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงติดตามความเคลื่อนไหวของจตุภัทร์อยู่แล้ว 
 
เกี่ยวกับการมาเยี่ยมจตุภัทร์ ภานุพงศ์เบิกความว่าเขามาเยี่ยมจตุภัทร์ทุกครั้งที่มีนัดมาศาลเพื่อมาให้กำลังใจ บางครั้งมาคนเดียว บางครั้งก็มากับเพื่อน โดยทุกครั้งที่มาไม่เคยมีเหตุวุ่นวายในบริเวณศาล ทั้งนี้ในแต่ละครั้งที่มาศาลก็จะพบว่ามีเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงมาประจำอยู่ในบริเวณศาล
 
เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เขาทราบว่าในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของจตุภัทร์ จึงตั้งใจมาที่ศาลเพื่อเยี่ยมกำลังใจจตุภัทร์เหมือนที่เคยมาก่อนหน้านี้โดยในวันเกิดเหตุมาถึงที่ศาลจังหวัดขอนแก่นในเวลาประมาณ 9.00 น. ภานุพงศ์เบิกความต่อว่าเมื่อมาถึงศาลก็เห็นว่ามีคนมาให้กำลังใจจตุภัทร์และเห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในบริเวณศาล สำหรับกลุ่มคนที่มาให้กำลังใจจตุภัทร์ ภานุพงศ์เบิกความว่าเขาไม่รู้จักคนกลุ่มนั้น รู้จักแต่เพียงกลุ่มนักศึกษา 
 
ภานุพงศ์เบิกความต่อว่าเมื่อมาถึงศาลเขาเข้าไปเยี่ยมจตุภัทร์ที่ห้องเยี่ยม โดยได้พูดคุยประมาณหนึ่งถึงสองนาที ที่ได้คุยน้อยเนื่องจากมีคนมารอเยี่ยมเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นตัวเขาไม่ได้ขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีแต่ไปรอฟังข่าวที่บริเวณศาลาที่พักประชาชนเนื่องจากทราบว่าศาลสั่งพิจารณาคดีลับ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาเขาก็ทราบว่าจตุภัทร์ถูกพาตัวกลับเรือนจำแล้วโดยรถของเรือนจำพาตัวจตุภัทร์ออกไปทางประตูหลังของศาล
 
ภานุพงศ์เบิกความต่อไปว่าหลังจตุภัทร์ถูกพาตัวออกไปเขากับเพื่อนนักศึกษาได้ชวนกันไปทำกิจกรรมบริเวณหน้าศาล เนื้อหาของกิจกรรมที่ทำเป็นการให้กำลังใจจตุภัทร์ กิจกรรมที่ทำไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีการยุยงปลุกปั่นและทำด้วยความสุภาพ ทนายของผู้ถูกกล่าวหานำภาพสัญลักษณ์ตราชั่งเอียงกับรองเท้าบู๊ทและถังน้ำใส่นกกระดาษมาให้ดูและถามภานุพงศ์ว่าสัญลักษณ์ที่ให้ดูหมายถึงอะไร ภานุพงศ์เบิกความว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าทหารใช้อำนาจเหนือประชาชน ส่วนใครจะนำสัญลักษณ์ดังกล่าวมาติดตั้งตัวเขาไม่ทราบ 
 
ทนายถามต่อไปว่าในขณะทำกิจกรรมภานุพงศ์เห็นพ.ท.พิทักษ์พลหรือไม่ ภานุพงศ์ตอบว่าไม่เห็น ทนายถามว่าขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์ห้ามปรามการทำกิจกรรมหรือไม่ ภานุพงศ์ตอบว่าไม่มีการห้ามปราม มีเพียงการบันทึกวีดีโอและถ่ายภาพเท่านั้น และการทำกิจกรรมก็ใช้เวลาเพียงห้าถึงสิบนาทีเท่านั้นหลังเสร็จกิจกรรมตัวเขากับพวกก็ได้เก็บของทำความสะอาดพื้นที่ที่ทำกิจกรรมแล้วแยกย้ายกันกลับ 
 
ทนายให้ภานุพงศ์ดูภาพตราชั่งเอียงที่ด้านหนึ่งมีรองเท้าบู๊ทส่วนอีกด้านมีรองเท้าแตะใส่ในการกระป๋องน้ำแล้วถามว่าทราบหรือไม่ว่าใครเป็นผู้นำรองเท้าแตะมาใส่ในถัง ภานุพงศ์ตอบว่าไม่ทราบ ทนายให้ภานุพงศ์ดูภาพที่มีกลุ่มบุคคลสวมหน้ากากที่เป็นใบหน้าของจตุภัทร์แล้วถามว่าคนที่ทำกิจกรรมกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มใด ภานุพงศ์ตอบว่าตัวเขาไม่รู้จักคนกลุ่มนั้น ภานุพงศ์เบิกความต่อว่าหลังจากนั้นได้มาศาลจังหวัดขอนแก่นอีกครั้งในวันที่จตุภัทร์ให้การรับสารภาพ ซึ่งเห็นว่าบริเวณศาลมีป้ายห้ามจัดกิจกรรมติดอยู่ ตัวเขาและพวกก็ไม่ได้ทำกิจกรรมใดใดในบริเวณศาลอีก
 
ภานุพงศ์เบิกความว่าตัวเขาเคยทำกิจกรรมบริเวณศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจชาวบ้านที่มาต่อสู้คดี ซึ่งเขาเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าการทำกิจกรรมนอกบริเวณศาลเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ก่อนหน้านี้เขากับพวกเคยจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยขอนแก่นแต่ถูกห้ามทำกิจกรรม จึงเห็นว่าศาลจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่สามารถใช้จัดกิจกรรมเพื่อแสดงสิทธิเสรีภาพได้
 
ระหว่างการไต่สวนพยานปากนี้ ทนายของผู้ถูกกล่าวหาแจ้งต่อศาลว่ามีบุคคลใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพหรือวีดีโอในห้องพิจารณาคดี ศาลชายผู้ถูกกล่าวหามาตรวจสอบโทรศัพท์ จากการสอบถามเบื้องต้นผู้ถูกกล่าวหาคนดังกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังกัดศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ศาลแจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นควบคุมตัวชายคนดังกล่าวออกจากห้องพิจารณาคดีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคประจำศาลทำการตรวจสอบโทรศัพท์ต่อไป
 
ไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหาปากที่หก อาคม ผู้ถูกกล่าวหาที่ห้า
 
อาคมเบิกความต่อศาลว่า เขามีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครพนม แต่ขณะเกิดเหตุกำลังศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเข้าศึกษาตั้งแต่ปี 2558 ทนายผู้ถูกกล่าวหาถามถึงการทำกิจกรรมระหว่างการศึกษา อาคมตอบว่าตัวเขาทำกิจกรรมอยู่กับกลุ่มดาวดินซึ่งเน้นทำงานในประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำงานของกลุ่มดาวดินจะอิงอยู่กับประเด็นปัญหาเท่านั้น ไม่สนใจว่าในขณะนั้นกลุ่มบุคคลใดคือผู้มีอำนาจหรือเป็นรัฐบาล
 
ทนายถามอาคมว่า อาคมมาอยู่ที่กลุ่มดาวดินรู้จักกับจตุภัทร์หรือ 'ไผ่ ดาวดิน'หรือไม่ อาคมตอบว่ารู้จักกับจตุภัทร์ นอกจากนี้เขาและผู้ถูกกล่าวหาบางคนในคดีนี้ยังถูกดำเนินคดีร่วมกับจตุภัทร์ในคดีพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานด้วย โดยคดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร
 
ทนายถามต่อว่า อาคมรู้เรื่องที่จตุภัทร์ถูกจับกุมตัวในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 หรือไม่ อาคมตอบว่า เขาทราบเรื่องที่จตุภัทร์ถูกจับกุมตัว แต่จำไม่ได้ว่าเป็นวันที่เท่าไหร่ โดยทราบว่าเหตุของการจับกุมตัวมาจากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบของเว็บไซต์บีบีซีไทย 
 
ทนายถามว่า อาคมพอจะทราบหรือไม่ว่าบทความดังกล่าวมีคนแชร์ประมาณกี่คน อาคมตอบว่า ประมาณ 3,000 คน โดยเท่าที่ทราบนอกจากจตุภัทร์แล้วไม่มีบุคคลอื่นถูกดำเนินคดีจากการแชร์บทความดังกล่าว อาคมเบิกความต่อว่า ทราบว่าผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับจตุภัทร์คือพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ทนายถามต่อว่า อาคมเคยรู้จักหรือพบกับพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรีหรือไม่ อาคมตอบว่า เขาพบกับพ.ท.พิทักษ์พลระหว่างที่กลุ่มดาวดินจัดกิจกรรม โดยตัวเขาเห็นว่าพ.ท.พิทักษ์พลมีท่าทีคุกคามพวกเขามากกว่าจะปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย
 
อาคมเบิกความต่อว่า เท่าที่ทราบจตุภัทร์น่าจะถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมหรือการแสดงออกรวมห้าคดี ต่อมากลุ่มดาวดินได้ทำกิจกรรมร่วมกันให้กำลังใจจตุภัทร์  ซึ่งการทำกิจกรรมลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มจะทำเมื่อมีสมาชิกของกลุ่มถูกดำเนินคดี
 
ทนายขอให้อาคมเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์วันเกิดเหตุคดีนี้ อาคมตอบว่าในวันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เขาเดินทางมาที่ศาลจังหวัดขอนแก่นในเวลาประมาณ 9.00 น. โดยในวันเกิดเหตุเขาไม่ได้พบกับจตุภัทร์ เพราะบริเวณห้องควบคุมตัวมีผู้มาเยี่ยมจตุภัทร์เป็นจำนวนมาก จากนั้นก็ทราบว่าศาลสั่งพิจารณาคดีของจตุภัทร์เป็นการลับ จึงไปรออยู่ที่ศาลาที่พักประชาชนบริเวณลานจอดรถหน้าศาล อย่างไรก็ตาม เมื่อกระบวนพิจารณาคดีเสร็จสิ้น เขาก็ไม่มีโอกาสพบจตุภัทร์เนื่องจากเจ้าหน้าที่พาตัวจตุภัทร์กลับเรือนจำทันที
 
อาคมเบิกความถึงการทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มนักศึกษาว่า การทำกิจกรรมดังกล่าว เป็นการทำนอกบริเวณศาล โดยมีการอ่านแถลงการณ์ บทกวีรวมถึงร้องเพลง "บทเพลงแห่งสามัญชน" ทนายถามว่า เนื้อหาของเพลงดังกล่าวเกี่ยวกับอะไร อาคมตอบว่า เป็นบทเพลงเกี่ยวกับนักโทษทางความคิด นอกจากนี้ระหว่างการทำกิจกรรมที่หน้าศาลมีการวางดอกกุหลาบสีขาวด้วย โดยดอกกุหลาบสีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ โดยระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่มาห้ามปรามการทำกิจกรรม
 
อาคมเบิกความต่อว่า หลังถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล เขาและสมาชิกกลุ่มดาวดินเคยกลับมาที่ศาลจังหวัดขอนแก่นอีก แม้ตัวเขาจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการติดป้ายห้ามทำกิจกรรมบริเวณศาล แต่ก็ไม่เคยเห็นป้ายดังกล่าวด้วยตัวเอง
 
เกี่ยวกับเรื่องการติดตามของเจ้าหน้าที่ อาคมเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ทหารเคยติดตามเขาไปตามงานกิจกรรมต่างๆ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 เจ้าหน้าที่ทหารนำโดยพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี เคยไปที่บ้านพักที่เขาและกลุ่มดาวดินเช่าอยู่ร่วมกัน เช้าวันดังกล่าวเขาได้ยินเสียงพูดคุยที่หน้าบ้าน และจำได้ว่าเป็นเสียงของพ.ท.พิทักษ์พล เมื่อเขาเดินลงมาดูเหตุการณ์ก็พบเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบที่หน้าประตูบ้าน อาคมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งที่มาในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 คือหนึ่งในพยานคดีนี้ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นเขาได้สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่า ไม่มี ซึ่งอาคมและผู้อยู่อาศัยในบ้านเช่าหลังดังกล่าวได้ไปแจ้งความเรื่องการค้นบ้านโดยไม่ชอบไว้แล้ว 
 
อาคมเบิกความด้วยว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติประสบปัญหาอย่างมากในการเคลื่อนไหวหลังการรัฐประหาร เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามามีบทบาทในการทรัพยากรมากขึ้น
 
ทนายถามคำถามสุดท้ายเกี่ยวกับเจตนาในการทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุ อาคมเบิกความว่าเป็นการให้กำลังใจจตุภัทร์พร้อมทั้งเบิกความว่าเขากับพวกเชื่อว่าในสภาวะที่ประเทศปกครองด้วยมาตรา 44 เช่นนี้ ศาลยุติธรรมน่าจะเป็นพื้นที่สุดท้ายที่พวกเขาจะแสดงออกได้โดยปลอดภัยไม่ถูกคุกคาม
 
ไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหาปากที่เจ็ด พายุ ผู้ถูกกล่าวหาที่หก 
 
พายุเบิกความว่าเขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและเป็นนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน
 
พายุเบิกความว่าเขารู้จักกับจตุภัทร์ ในวันที่จตุภัทร์ถูกจับกุมจตุภัทร์โทรมาบอกเขาว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแสดงหมายจับและจับกุมตัว เขาทราบภายหลังว่าจตุภัทร์ถูกจับเพราะแชร์บทความของเว็บไซต์บีบีซีไทยซึ่งมีคนแชร์ราว 2,000 คน ทนายถามว่าเท่าที่พายุทราบมีบุคคลอื่นถูกดำเนินคดีจากการแชร์บทความเดียวกันหรือไม่ พายุตอบว่าไม่ทราบ พายุเบิกความขยายว่าเขาเข้าใจว่าพ.ท.พิทักษ์พลต้องการจัดการกับกลุ่มดาวดินเนื่องจากมีความขัดแย้งกันมานาน 
 
เกี่ยวกับการมาเยี่ยมจตุภัทร์ ภานุพงศ์เบิกความว่าเขามาศาลเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์เกือบทุกนัดพิจารณา จากการสังเกตเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ ในบริเวณศาลระหว่างมีการพิจารณาคดีของจตุภัทร์มากกว่าคดีอื่นๆ
 
พายุเบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เขาเดินทางมาศาลเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์ตามปกติ พบว่ามีประชาชนมาให้กำลังใจจตุภัทร์จำนวนมาก และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารจำนวนมากเช่นกัน เมื่อมาถึงศาลเขาไปเยี่ยมจตุภัทร์ที่ห้องเยี่ยมเพื่อพูดคุยให้กำลังใจ แต่ได้คุยไม่นานเนื่องจากคนเยอะ 
 
หลังจากนั้นเขาทราบว่าคดีของจตุภัทร์จะพิจารณาเป็นการลับ จึงไปรออยู่ด้านนอกอาคารศาล ช่วงนั้นยังไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายใดใดเกิดขึ้น ต่อมาเขาทราบว่าจตุภัทร์ถูกนำตัวกลับเรือนจำแล้ว จึงนัดทีมนักศึกษาทำกิจกรรมนอกรั้วศาลโดยเชื่อว่าการทำกิจกรรมนอกบริเวณศาลสามารถทำได้ ที่เลือกบริเวณป้ายศาลเนื่องจากบริเวณนั้นโล่งและไม่มีต้นไม้บัง 
 
เกี่ยวกับตัวกิจกรรมพายุเบิกความว่าเนื้อหาของกิจกรรมเป็นการให้กำลังใจ สำหรับสัญลักษณ์ตราชั่งที่มีรองเท้าบู๊ทและถังน้ำเขาเห็นว่าตั้งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุตั้งแต่กิจกรรมยังไม่เริ่ม โดยไม่ทราบว่าใครนำมา ทราบเพียงว่าเป็นของที่กลุ่มดาวดินเตรียมไว้ใช้ในเวทีเสวนาเรื่องพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เพราะเห็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯไม่ยุติธรรมสำหรับประชาชนและทหารใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนรองเท้าบู๊ทบนตราชั่งจึงหมายถึงทหารส่วนนกกระดาษในถังคือเสรีภาพของประชาชน 
 
พายุเบิกความยืนยันว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวไม่ได้หมายถึงศาล ส่วนกิจกรรมที่ทำก็ใช้เวลาเพียงห้าถึงสิบนาทีเท่านั้น เมื่อทำกิจกรรมเสร็จตัวเขาและพวกได้เก็บของทำความสะอาดพื้นที่ทำกิจกรรมก่อนจะแยกย้ายกันกลับ ระหว่างที่ทำกิจกรรมก็มีเจ้าหน้าที่มาถ่ายภาพและวีดีโอโดยไม่มีการห้ามปราม สำหรับรองเท้าแตะที่ถูกนำมาวางในถังน้ำที่แขวนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรองเท้าบู๊ท เขาไม่ทราบว่าใครเป็ฯคนเอามาวาง และกลุ่มคนที่ใส่หน้ากากถ่ายรูปหน้าศาลในภาพที่ทนายนำมาให้ดูก็ไม่ทราบว่าเป็นใครแต่ไม่ใช่กลุ่มของพวกเขา 
 
สำหรับการทำกิจกรรมบริเวณศาล พายุเบิกความว่าเขากับพวกเคยทำกิจกรรมบริเวณศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นมาก่อนเพื่อให้กำลังใจชาวบ้านที่ต่อสู้คดี โดยตัวเขาเชื่ออย่างสุจริตว่าบริเวณนอกศาลสามารถทำกิจกรรมได้ 
 
ไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหาปากที่แปด สิรวิชญ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ด
 
ก่อนเริ่มการไต่สวนสิรวิชญ์ชี้แจงกับศาลถึงสาเหตุที่ไม่ได้มาศาลในการไต่สวนวันที่ 27 กันยายนว่า เนื่องจากวันนั้นติดภารกิจเรื่องการศึกษาต่อ ซึ่งตัวเขาได้ขอให้ทนายแถลงต่อขอให้ศาลไต่สวนลับหลังในนัดวันที่ 27 แล้ว ศาลชี้แจงกับสิรวิชญ์ว่าให้นำพยานหลักฐานมายืนยันว่าในวันนัดไต่สวนติดภารกิจจริงโดยให้ยื่นหลักฐานภายใน 15 วัน มิฉะนั้นศาลจำเป็นจะต้องพิจารณาเพิกถอนสัญญาประกัน
 
ในการไต่สวน สิรวิชญ์เบิกความว่าเขาจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระหว่างเป็นนักศึกษาได้ทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการคัดค้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายหลังการรัฐประหาร การทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้เขาถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่  7/2557, ฉบับที่ 40/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 รวมทั้งความผิดตามพ.ร.บ.การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบ้านเมืองพ.ศ.2535
 
สิรวิชญ์เบิกความด้วยว่านอกจากการถูกดำเนินคดี การทำกิจกรรมยังทำให้เขาถูกคุกคามในรูปแบบอื่นด้วย โดยในวันที่ 20 มกราคม 2559 เขาถูกกลุ่มบุคคลที่ปิดบังใบหน้าแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปข่มขู่และมีการทำร้ายร่างกายด้วย
 
เกี่ยวกับคดีนี้สิรวิชญ์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุเขามาที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์ซึ่งรู้จักกันมาประมาณปีเศษ โดยเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพมาที่จังหวัดขอนแก่นคนเดียว สิรวิชญ์เบิกความว่าเขามาถึงจังหวัดขอนแก่นประมาณ 6.00 น. และมาถึงศาลจังหวัดขอนแก่นในเวลาประมาณ 8.00 น. เมื่อมาถึงพบกลุ่มประชาชนใส่หน้ากากที่เป็นภาพเขียนใบหน้าของจตุภัทร์ และมีคนเรียกเขาไปร่วมถ่ายภาพพร้อมทั้งยื่นหน้ากากให้ โดยกลุ่มบุคคลเหล่านั้นบอกว่าที่ใส่หน้ากากเพราะ "เราทุกคนคือไผ่" 
 
หลังถ่ายภาพเสร็จเขาเข้ามาในบริเวณศาลและเห็นเจ้าหน้าที่ทหารทำการตรวจค้นตัวและกระเป๋าของคนที่มาศาล และมีรถฮัมวี่ของทหารจอดในบริเวณศาล เมื่อขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นพิจารณาคดีของจตุภัทร์เป็นการพิจารณาลับ ให้ทุกคนออกจากห้องพิจารณาคดี เขาจึงเดินลงไปใต้ถุนศาลเพื่อเยี่ยมจตุภัทร์ หลังจากคุยกันได้ครู่หนึ่งเขาก็ออกไปที่ศาลาประชาชนซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารศาลและได้ยินว่ามีกลุ่มนักศึกษาสี่ภาคจัดกิจกรรมหน้าป้ายศาลจึงเดินออกไปดู
 
สิรวิชญ์เบิกความต่อว่าบริเวณด้านนอกศาลเขาเห็นนักศึกษากลุ่มดาวดินบางคนที่เคยรู้จักกันมาก่อน และเขาก็ยืนดูกลุ่มนักศึกษาทำกิจกรรม โดยเนื้อหาพูดถึงทหารเป็นส่วนใหญ่ ในตอนท้ายมีการแจกดอกกุหลาบสีขาวให้คนในบริเวณนั้นนำไปวางบริเวณที่จัดกิจกรรมเพื่อส่งกำลังใจให้จตุภัทร์ ตัวเขาก็วางดอกไม้ด้วยเสร็จแล้วก็เดินออกมาเพื่อเตรียมตัวกลับกรุงเทพ ทนายให้สิรวิชญ์ดูภาพถ่ายที่มีภาพของเขาระหว่างร่วมวางดอกไม้ด้วย  
 
ทนายให้สิรวิชญ์ดูภาพสัญลักษณ์ตราชั่งแล้วถามว่าหมายถึงอะไร สิรวิชญ์ตอบว่าหมายถึงการที่ทหารใช้อำนาจเหนือประชาชน สิรวิชญ์ยืนยันว่าในการทำกิจกรรมดังกล่าวไม่มีการพูดพาดพิงถึงศาล เพราะหากมีตัวเขาคงเดินออกจากบริเวณนั้นทันที 
 
หลังเสร็จการไต่สวนพยานปากสิรวิชญ์ ทนายของผู้ถูกกล่าวหาแถลงหมดพยาน ศาลสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดไปพบพนักงานคุมประพฤติเพื่อสืบเสาะพฤติกรรมมาประกอบการทำคำพิพากษาและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 พฤษจิกายน 2560 ในรายงานกระบวนพิจารณา ศาลได้บันทึกเรื่องที่มีชายคนหนึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาถ่ายภาพหรือวิดีโอในห้องพิจารณาคดีไว้ด้วยโดยระบุว่าจะมีการตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลต่อไป
 
2 พฤศจิกายน 2560
 
นัดฟังคำสั่งศาล
 
ผู้ถูกกล่าวหาสองคนได้แก่สิรวิชญ์และณรงค์ฤทธิ์เดินทางมาที่ศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00น. ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีมวลชนประมาณสิบคนที่เคยมาร่วมสังเกตการไต่สวนคดีนี้ในนัดก่อนมารอฟังคำสั่งศาลในนัดนี้ด้วยและมีเพื่อนๆของผู้ถูกกล่าวหากลุ่มดาวดินอีกอย่างน้อยสิบคนรวมทั้งทนายวิบูลย์ พ่อของจตุภัทร์หรือ 'ไผ่ดาวดิน' เดินทางมารอฟังคำสั่งด้วย ในเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้ถูกกล่าวหาที่เหลืออีกห้าคนทยอยมาถึงห้องพิจารณาคดี
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมาครบโดยเริ่มอ่านคำสั่งคดีอื่น ก่อนจะเริ่มกระบวนการคดีนี้ในเวลาประมาณ 11.00 น.

ศาลถามสิรวิชญ์ว่า สามารถหาหลักฐานมายืนยันเรื่องการเดินทางไปพูดคุยกับชาวต่างชาติเรื่องการศึกษาต่อเมื่อวันที่ 27 กันยายน จนทำให้ไม่ได้มาศาลตามนัดได้หรือไม่และชี้แจงว่าหากสิรวิชญ์ไม่นำหลักฐานมายื่นศาลอาจถือว่ามีการผิดสัญญาประกันเกิดขึ้นและต้องยึดเงินประกันของนายประกัน

สิรวิชญ์ยื่นคำร้องประกอบเหตุผลต่อศาลว่า ได้พยายามหาหลักฐานมายื่นต่อศาลเพื่อแสดงว่า ในวันดังกล่าวได้ไปติดต่อเรื่องการเตรียมศึกษาต่อจริง แต่ไม่สามารถหาเอกสารมายืนยันได้ ขณะที่อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นนายประกันก็แถลงว่าเชื่อว่าสิรวิชญ์ไปพูดคุยเรื่องการศึกษาต่อจริง

หลังฟังสิรวิชญ์และอาจารย์ที่เป็นนายประกันแถลงศาลก็มีคำสั่งว่าไม่มีเหตุให้ริบเงินประกันเนื่องจากในนัดที่สิรวิชญ์ไม่มาศาลไม่มีผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาและในนัดต่อมาสิรวิชญ์ก็มาศาลตามนัดไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี
 
หลังจากนั้นศาลเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคนมารับรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติแล้วให้ตรวจสอบดูว่ามีข้อผิดพลาดหรือไม่ หลังนำไปตรวจสอบผู้ถูกกล่าวหาหลายคนต่างทักท้วงว่าเอกสารดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน เช่น

เอกสารของ"เบญจมาศ" ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่ง ส่วนที่เป็นประวัติส่วนตัวระบุว่าเธอไม่เคยมีประวัติถูกดำเนินคดี แต่ในเอกสารส่วนที่เป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดระบุว่า "เบญจมาศ" มีพฤติการณ์เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองและถูกดำเนินคดีหลายครั้ง

ขณะที่กรณีของภาณุพงศ์ เอกสารส่วนที่เป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดระบุว่าเขาเคยเป็นแกนนำชุมนุมคัดค้านการนิรโทษกรรมแต่ภานุพงศ์ระบุว่าเขาเข้าร่วมการชุมนุมหลังการรัฐประหารเท่านั้น ศาลจึงสั่งให้พักการพิจารณาในช่วงเช้าและสั่งให้เรียกพนักงานคุมประพฤติมาชี้แจงก่อนอ่านคำสั่งศาลในช่วงบ่าย
 
ในเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลเรียกพนักงานคุมประพฤติมาดูเอกสารร่วมกับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งพนักงานคุมประฤติยอมรับว่าความผิดพลาดบางส่วนเกิดจากการร่างเอกสารและการพิมพ์ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทำคนละคนกัน ทำให้อาจจะเกิดการ copy paste ข้อมูลใส่ในรายงานของผู้ถูกกล่าวหาผิดคน

หลังตรวจทานเอกสารร่วมกัน ศาลแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติตัดเอกสารส่วนที่เป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดซึ่งเป็นจุดที่ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนทักท้วงว่าคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงออก 
 
ศาลชี้แจงด้วยว่าโดยปกติเอกสารสืบเสาะในส่วนที่เป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติจะเป็นความลับระหว่างศาลกับพนักงานคุมประพฤติจะไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยดู เพราะหากพนักงานคุมประพฤติมีความเห็นที่เป็นโทษกับจำเลยเช่นมีความเห็นว่าไม่ควรรอลงอาญาโทษจำคุกให้จำเลย อาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยมีอคติต่อพนักงานคุมประพฤติได้

ศาลย้ำว่าเอกสารการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติศาลเพียงแต่นำมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการทำคำสั่งหรือคำพิพากษาเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเชื่อตาม เพราะบางกรณีพนักงานคุมประพฤติอาจแนะนำว่าไม่ควรรอลงอาญาโทษจำคุกแต่ระหว่างการสืบพยานหากศาลเห็นว่าจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสกลับตัวศาลก็อาจรอลงอาญาโทษจำคุกให้ได้

ศาลยังแนะนำพนักงานคุมประพฤติด้วยว่าในอนาคตควรแยกเอกสารส่วนที่เป็นประวัติหรือความประพฤติทั่วไปของผู้ถูกสืบเสาะออกจากเอกสารส่วนที่เป็นความเห็นหรือพฤติการณ์การกระทำความผิดเพื่อป้องกันไม่ให้เอกสารที่เป็นความลับระหว่างศาลกับพนักงานคุมประพฤติรั่วไหลออกไปภายนอกอีก
 
ทนายของผู้ถูกกล่าวหาพยายามชี้แจงว่าความเห็นของพนักงานคุมประพฤติที่แนะนำให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาร่วมชุมนุมทางการเมืองในระยะเวลาที่ถูกคุมประพฤติเป็นความเห็นที่มีปัญหา เพราะผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมในศาลอื่นยังไม่มีคดีใดที่มีข้อยุติว่าเป็นความผิดหรือการใช้เสรีภาพโดยสุจริต การตั้งเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่เหมาะสม

อีกทั้งความผิดในคดีนี้ก็เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ศาลชี้แจงกับทนายว่าไม่ควรก้าวล่วงความเห็นของพนักงานคุมประพฤติและความเห็นดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด การมีคำสั่งบังคับใดๆเป็นดุลพินิจของศาล หลังจากนั้นศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤตินำรายงานการสืบเสาะไปแก้ไขและนัดให้มาส่งในเวลา 16.00 น.และสั่งพักการพิจารณาคดีนี้ไว้ก่อน
 
ในเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดดูรายงานสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติที่มีการแก้ไข เมื่อทุกคนรับรองว่าถูกต้องแล้วศาลเรียกให้ผู้ถุกกล่าวหาทั้งหมดไปยืนเรียงด้านหน้าบัลลังก์แล้วสั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลใส่กุญแจมือผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดก่อนจะอ่านคำสั่ง
 
ศาลมีคำสั่งว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาล กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องกับการพิจารณาคดีของจตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดิน จึงเชื่อว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อการพิจารณาคดีของศาล นอกจากนี้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหายังมีพฤติการณ์เป็นการใช้กำลังมวลชนมากดดันการใช้ดุลพิพิจของศาลด้วย

ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหก เห็นว่ายังเป็นนักศึกษา ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมของศาล จึงอาจถูกบุคคลอื่นชักจูงให้เข้าใจศาลไปในทางที่ผิด จึงให้รอการกำหนดโทษไว้เป็นเวลาสองปี และให้ทำการคุมประพฤติเป็นเวลาหนึ่งปี โดยให้ให้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหกครั้งในหนึ่งปีและบำเพ็ญประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และห้ามคบค้าสมาคม หรือจัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก
 
ในส่วนของผู้ถุกกล่าวหาที่เจ็ดเห็นว่าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ย่อมมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นอย่างดี แต่จากการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติพบว่า เป็นคนที่มีอุดมการณ์ในทางที่ดี หากได้รับการอบรมเชื่อว่า จะสามารถปรับปรุงความคิดของตนเอง จึงพิพากษาจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ปรับเป็นเงิน 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดสองปี และให้ทำการคุมประพฤติเป็นเวลาหนึ่งปี โดยให้ให้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหกครั้งในหนึ่งปีและบำเพ็ญประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และห้ามคบค้าสมาคม หรือจัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก
 
2 กุมภาพันธ์ 2561
 
ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นโดยพอสรุปได้ว่า
 
คำเบิกความของผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ ศาลจังหวัดขอนแก่น พยานผู้กล่าวหาซึ่งอ้างต่อศาลว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีการปราศรัยและนำสัญลักษณ์มาแสดงในลักษณะแสดงความไม่พอใจต่อการพิจารณาคดีของศาล

แต่ในชั้นของการถามค้านพยานคนเดียวกันกลับตอบว่าได้ยินถ้อยคำที่กลุ่มคนที่ทำกิจกรรมพูดไม่ชัดเจน แต่เท่าที่ได้ยินไม่มีการพูดถึงศาลจังหวัดขอนแก่น พยานคนเดียวกันยังยืนยันด้วยว่าหลังทำกิจกรรมแล้วเสร็จผู้ทำกิจกรรมก็เก็บของกลับไปโดยไม่มีความวุ่นวาย
 
กฎหมายละเมิดอำนาจศาลถูกบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลเป็นไปอย่างเรียบร้อย ปราศจากความวุ่นวายหรือประวิงคดีให้ล่าช้าแต่ไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้พิพากษา 
 
ที่ศาลชั้นต้นชี้ว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้วิจารณ์คำสั่งศาลโดยไม่สุจริต เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ไม่ได้วิจารณ์สำนวนคดีของจตุภัทร์แต่เป็นการวิจารณ์กรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาดูแลพื้นที่ศาลยุติธรรมทั้งๆที่โดยปกติการดูแลความสงบเรียบร้อยจะเป็นเรื่องของศาลเอง

และจากการสอบถามพยานผู้กล่าวหาที่เป็นผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการศาลจังหวัดขอนแก่นก็ได้ความว่า มีการประสานให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาดูแลความเรียบร้อย ให้ตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีของจตุภัทร์ ทั้งการสอบถามชื่อที่อยู่ โดยที่คดีอื่นจะไม่มีการดำเนินการลักษณะดังกล่าว การนำรองเท้าบูทมาแขวนที่สัญลักษณ์ตราชูเอียงจึงเป็นการแสดงออกถึงการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของทหารที่กระทบสิทธิผู้มาให้กำลังใจจตุภัทร์เกินสมควร
 
ที่ศาลวินิจฉัยว่าลักษณะการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีลักษณะเป็นการใช้กำลังมวลชนกดดันการทำงานของศาล ก็เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนเพราะผู้ถูกกล่าวหาต่างให้ความร่วมมือกับการพิจารณาของศาล

และหลังวันเกิดเหตุเมื่อศาลออกข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัวและข้อห้ามที่ปฏิบัติไม่ได้ ผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่มีการจัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวอีก และ พยานผู้กล่าวหาเองก็เบิกความว่าแม้จะมีผู้มาสนับสนุนจตุภัทร์จำนวนมากแต่ก็ไม่มีการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของศาล
 
ในส่วนของผู้ถุกกล่าวหาที่เจ็ด ที่ศาลวินิจฉัยว่าการสวมเสื้อเขียนข้อความ Free Pai เป็นการสื่อความหมายให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ก็เป็นการวินิจฉัยขยายความให้ผลร้ายกับผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดเกินกว่าข้อเท็จจริง เพราะคำว่า free เป็นคำทั่วไปหมายถึงเสรีภาพและผู้ถุกกล่าวหาที่เจ็ดก็มีพฤติการณ์เพียงแต่ร่วมถ่ายภาพ ไม่ได้มีการเรียกร้องหรือแสดงท่าทางข่มขู่คุกคามหรือแสดงความไม่เคารพต่อศาลแต่อย่างใด 
 
ในส่วนของเงื่อนไขการกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติ ที่ศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี เป็นการคลาดเคลื่อนเพราะการแสดงออกของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นการแสดงออกที่เกิดจากการติดตามความเป็นไปของบ้านเมืองและเป็นการใช้เสรีภาพโดยปกติในส่วนของเงื่อนไขคุมประพฤติที่ห้ามผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบค้าสมาคมหรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำทำนองเดียวกัน ก็เป็นการวางเงื่อนไขที่มีความคลุมเครือและอาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ต้องหาทั้งหก 
 
15 มกราคม 2562
 
นัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์
 
ในเวลา 9.00 น. สิรวิชญ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่เดินทางมาจากกรุงเทพเดินทางมาถึงศาลจังหวัดขอนแก่นเป็นคนแรก หลังจากนั้นในเวลาประมาณ9.30 น. ผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆก็ทยอยเดินทางมาถึง สิรวิชญ์มาถึงศาลก่อนเนื่องจากเขาเดินทางโดยเครื่องบินมาตั้งแต่เช้า ส่วนผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆบางส่วนพักอาศัยอยู่ต่างอำเภอหรือต้องเดินทางด้วยรถโดยสารมาจากจังหวัดใกล้เคียงจึงเดินทางมาถึงศาลล่าช้า

ในวันนี้พ่อและแม่ของจตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" เดินทางร่วมฟังคำสั่งศาลด้วย ขณะที่บรรยากาศที่หน้าห้องพิจารณาคดีก็มีเจ้าหน้าที่สารมาตั้งโต๊ะรับฝากโทรศัพท์มือถือซึ่งห้องพิจารณาคดีที่อยู่ติดกันอีกสองห้องก็มีการพิจารณาคดีอยู่แต่ไม่มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว
 
ในเวลาประมาณ 10.20 น. ผู้ถูกกล่าวหามาครบทุกคน ศาลจึงเริ่มขานชื่อผู้ถูกกล่าวหา ระหว่างรอการอ่านคำสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณานำกระดาษและปากกามาให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเขียนชื่อ แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดปฏิเสธที่จะเขียนชื่อให้โดยบอกว่าศาลมีบันทึกชื่อและสำเนาบัตรประจำตัวของพวกเขาอยู่แล้ว

เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งมีมีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 
 
หลังฟังคำสั่งศาลผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกับทีมทนายปรึกษากันเรื่องการยื่นฎีกาคำสั่งซึ่งเบื้องต้นคาดว่าทางทีมทนายและผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป 
 
จากการสอบถามผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในส่วนของการบำเพ็ญประโยชน์ตามเงื่อนไขคุมประพฤติ ทั้งเจ็ดระบุว่าพวกเขาบำเพ็ญประโยชน์ครบตามที่ศาลสั่งแล้ว
 
ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการช่วยทำความสะอาดวัดที่จังหวัดขอนแก่น ส่วนสิรวิชญ์ซึ่งอยู่กรุงเทพระบุว่าเขาได้ไปช่วยพระที่วัดแห่งหนึ่งและยังได้ไปช่วยกิจกรรมที่โบสถ์คริสต์ด้วย รวมทั้งได้บริจาคเลือดสองครั้ง สำหรับการบริจากคเลือดสิรวิชญ์ระบุว่าการบริจาคหนึ่งครั้งถือว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลาหกชั่วโมง
 
10 เมษายน 2562 
 
ทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น โดยทนายของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดแบ่งประเด็นที่โต้แย้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ออกเป็นห้าประเด็น พอสรุปได้ดังนี้
 
ประเด็นที่หนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้มาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะบัญญัติให้ประชาชนและผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายในบังคับของบทบัญญัติของกฎหมาย ที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งในกรณีนี้คือกฎหมายละเมิดอำนาจศาล
 
ประเด็นนี้โต้แย้งว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลกำหนดขึ้นเพื่อให้ศาลสามารถควบคุมการพิจารณาคดีได้โดยเรียบร้อย เป็นธรรม และรวดเร็ว และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลและเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงไม่ถือเป็นบทยกเว้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญและตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็กำหนดว่า กฎหมายที่มีผลในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินกว่าเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้ใช้เสรีภาพแสดงออกตามกรอบของรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย ทั้งเจ็ดแสดงออกเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดิน ด้วยการอ่านแถลงการณ์ บทกวีและร้องเพลงด้านนอกศาล ซึ่งหลังการกระทำดังกล่าวยุติลงก็ไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ ที่เกิดขึ้น
 
ประเด็นที่สอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหก (ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนในคดียกเว้นสิรวิชญ์) รวมตัวกันอ่านแถลงการณ์ที่หน้าป้ายศาลจังหวัดขอนแก่น โดยมีไม้ประกอบเป็นรูปคล้ายตราชั่งซึ่งหมายถึงศาลเอียงลงไปทางรองเท้าบู๊ทซึ่งหมายถึงทหาร สื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ศาลพิจารณาคดีของจตุภัทร์อย่างไม่ยุติธรรม เข้าข้างทหาร ทำให้ศาลถูกลดทอนศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ ประเด็นนี้โต้แย้งว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนไปด้วยเหตุผลสามประการ
 
2.1 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหก เกิดขึ้นหลังศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของจตุภัทร์เสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่เป็นการรบกวนกระบวนพิจารณา ทั้งการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาก็เป็นเพียงการให้กำลังใจจตุภัทร์ ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่พาดพึงถึงการพิจารณาคดีของศาล
 
2.2 อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายตาชั่งเอียงและรองเท้าบู๊ท เป็นอุปกรณ์ที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพราะทางกลุ่มผู้จัดทำเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวออกโดยทหารมาริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ถูกนำมาที่ศาลจังหวัดขอนแก่นหลังจากกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกมาที่ศาลแล้ว เห็นว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารมาที่ศาลและมีพฤติการณ์ลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยการถ่ายภาพและสอบถามชื่อผู้มาให้กำลังใจจตุภัทร์ จึงนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาประกอบการแถลงการณ์เพื่อสื่อว่า เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาก้าวก่ายการดูแลพื้นที่ของศาลยุติธรรม  
 
2.3 ในวันเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาจะทำกิจกรรมกันบริเวณศาลาประชาชน แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลมาบอกให้ผู้ถูกกล่าวหาไปทำกิจกรรมด้านนอกศาล ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกก็ทำตามโดยออกมาทำกิจกรรมที่บริเวณป้ายหน้าศาลแทน เนื่องจากเห็นว่า ทำได้ตามที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบอก  
 
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดยังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ศาล เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่า กระบวนพิจารณาคดีของจตุภัทร์เป็นการพิจารณาลับ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดก็ปฏิบัติตามโดยไม่ได้กระทำการใดๆ ให้เกิดความวุ่นวายในศาล 
 
ประเด็นที่สาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนเวลาพิจารณาคดีของจตุภัทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ด (สิรวิชญ์) สวมหน้ากากที่เป็นใบหน้าของจตุภัทร์ ร่วมกับบุคคลอื่น และถือป้ายเขียนว่า "Free Pai" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎต่อมาว่า จตุภัทร์ไม่ได้รับการประกันตัว พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการกดดันดุลพินิจศาล ทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดยังนำดอกกุหลาบขาวไปวางตรงที่ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกทำกิจกรรม จึงเท่ากับว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดยอมรับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหก
 
ประเด็นนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดเห็นว่า การร่วมถ่ายภาพโดยสวมหน้ากากรูปใบหน้าของจตุภัทร์เป็นการสื่อความหมายว่า ทุกคนคือจตุภัทร์ ส่วนข้อความ Free Pai ซึ่งหมายถึงคืนเสรีภาพให้จตุภัทร์ คำว่า Free หมายถึงเสรีภาพ เป็นคำที่มีความหมายกว้างกว่าการปล่อยตัวชั่วคราว ที่ศาลวินิจฉัยว่า การถือข้อความดังกล่าวเป็นการกดดันให้ศาลปล่อยตัวจตุภัทร์ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขยายความให้เป็นผลร้ายกับผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดเกินสมควร ทั้งคำว่า Free pai ก็ไม่ได้สื่อความหมายถึงการให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นการเฉพาะ ทั้งยังไม่มีการเรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด เพียงแค่ภาพถ่ายผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดกับคำว่า Free Pai จึงไม่อาจมีอิทธิพลเหนือประชาชนจนถึงขั้นที่จะกดดันให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ได้ 
 
ประเด็นที่สี่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาคสี่วินิจฉัยว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจะกระทำการนอกศาลแต่เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการพิจารณาคดีในศาลโดยตรง ย่อมถือเป็นกรณีที่มุ่งหวังให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาคดีในศาล จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล 
 
ประเด็นนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคัดค้านว่า กฎหมายละเมิดอำนาจศาลมีเจตนากำหนดอำนาจมาตรการบางประการเพื่อให้ศาลควบคุมการพิจารณาให้เป็นไปโดยความสงบเรียบร้อย ไม่มีการประวิงเวลาให้การอำนวยความยุติธรรมล่าช้า แต่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่ได้มีผลใดใดต่อการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาหรือมีผลต่อสถาบันศาล เนื่องจากทั้งเจ็ดเป็นเพียงนักศึกษาประชาชนจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้คุณให้โทษใดๆ และการกระทำของทั้งเจ็ดก็ไม่ปรากฎว่า มีผลกระทบใดๆต่อการพิจารณาคดีของจตุภัทร์ ทั้งไม่ปรากฎว่า มีการเรียกร้องวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งศาลหรือพาดพึงถึงศาลจังหวัดขอนแก่นแต่ประการใด การกระทำของทั้งเจ็ดจึงไม่เข้าข่ายเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
 
ประเด็นที่ห้า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด ถูกต้องตามกฎหมายและไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดตามสมควร 
 
ประเด็นนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดขอคัดค้านว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งห้ามผู้ถุกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบค้าสมาคม จัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาข้อ 13 ซึ่งกำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติโดยการให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใด แต่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีวิตของจำเลยเกินสมควร

เนื่องจากคดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเพียงแต่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้มีพฤติการณ์รุนแรงหรือก่อภยันตรายต่อสังคม อันจะเป็นเหตุให้ศาลกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติ ห้ามไม่ให้ทั้งเจ็ดคบค้าสมาคมได้ นอกจากนั้นศาลก็ไม่ได้กำหนดเวลา สถานที่ และตัวบุคคลให้ชัดเจน ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่อาจทราบว่า การรวมตัวแบบใดที่เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติของศาล การกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติที่กว้างจึงเป็นการกระทบต่อการใช้เสรีภาพการแสดงออกของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเกินสมควร 
 
ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจึงขอให้ศาลฎีกา พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้พิพากษายกคำกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด
 
31 มีนาคม 2563
 
นัดฟังคำสั่งศาลฎีกา
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเดินไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเลื่อนการอ่านคำสั่งคดีของศาลฎีกาโดยให้เหตุผลว่า  ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนมีภูมิลำเนาและพำนักอยู่นอกจังหวัดขอนแก่น  การเดินทางจากต่างจังหวัดไปศาลโดยรถประจำทางอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาจะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างมาก 
 
อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดขอนแก่นได้พิจารณาอ่านคำสั่งศาลฎีกาต่อหน้าผู้รับมอบอำนาจจากทนายผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเลย  โดยศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งศาลอุทธรณ์จึงไม่รับฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด 
 
 

คำพิพากษา

สรุปคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4
 
แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะกำหนดรับรองเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนไว้ตามมาตรา 34 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกกล่าวหาจะแสดงออกได้โดยไร้ขอบเขต หากแต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่บัญญัติมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งในกรณีนี้คือกฎหมายละเมิดอำนาจศาล
 
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงที่หก
รวมตัวกันที่หน้าป้ายศาล อ่านแถลงการณ์ และมีไม้แปรรูปมาประกอบเป็นตราชั่งซึ่งหมายถึงศาลเอียงไปด้านรองเท้าบู้ทซึ่งหมายถึงทหาร ย่อมสื่อความหมายให้คนทั่วไปเข้าใจว่าศาลตัดสินคดีของจตุภัทร์โดยเอนเอียงเข้าข้างทหาร ทำให้สถาบันศาลสูญเสียความน่าเชื่อถือ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกจึงเป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
 
ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดแม้จะไม่ปรากฎว่าไปร่วมร้องเพลงหรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์กับผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหก แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของตัวผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดและภาพถ่ายหลักฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดไปร่วมถ่ายภาพโดยใส่หน้ากากรูปใบหน้าของจตุภัทร์ รวมทั้งทีมีการชูป้ายเขียนว่า free pai เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าขณะนั้นจตุภัทร์ไม่ได้รับการประกันตัวพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดจึงเข้าข่ายเป็นการกดดันศาลให้ปล่อยตัวจตุภัทร์
 
นอกจากนั้นยังปรากฎด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 นำดอกกุหลาบมาวางที่บริเวณแท่งไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ตราชั่ง แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งที่เจ็ดรับรองการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหก
 
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดอุทธรณ์ให้วินิจฉัยว่าการวางเงื่อนไขในส่วนของการคุมประพฤติเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าการคุมประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่ได้กระทบต่อการวิถีชีวิตของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเกินสมควรและไปตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับวิธีการรอการกำหนดโทษ การรอการลงโทษ และการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ พ.ศ.2559 จึงให้ยกอุทธรณ์ข้อนี้
 
ส่วนของการลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคน ศาลอุทธรณ์ไม่ได้แก้ไขในส่วนของโทษ แต่ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกซึ่งขณะเกิดเหตุยังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา ให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี ส่วนสิรวิชญ์ผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดซึ่งสำเร็จการศึกษาแล้วในขณะเกิดเหตุให้ลงโทษจำคุกหกเดือน ปรับ 500 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี นอกจากนี้ให้ทั้งเจ็ดรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติหดครั้งเป็นเวลา 1 ปี ให้บำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และห้ามคบค้าสมาคม หรือจัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก
 
สรุปคำสั่งศาลฎีกา
 
“ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีละเมิดอำนาจศาลไม่อยู่ในบังคับที่คู่ความต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขใหม่ แม้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด แต่เมื่อศาลชั้นต้นส่งสำนวนความมายังศาลฎีกาแล้วเพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ทุกข์ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด
 
ที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดฎีกาข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่ถือเป็นบทบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ฎีกาข้อเท็จจริงว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด ไม่ใช่การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และอุปกรณ์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์นั้นก็มีไว้เพื่อจะนำไปใช้ทำกิจกรรมเสวนา เรื่อง พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะซึ่งออกโดยทหาร แต่มีบุคคลอื่นนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาวางขณะที่มีการอ่านแถลงการณ์ และที่ฎีกาว่า การคุมความประพฤติที่ศาลกำหนดไม่ชอบด้วยข้อกำหนดของประธานศาลฎีกานั้น
 
เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา” 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา