ปิยสวัสดิ์ฟ้องแอดมินเพจทวงคืนพลังงานไทย

อัปเดตล่าสุด: 09/07/2560

ผู้ต้องหา

ศรัลย์

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ และประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สารบัญ

ในเดือนเมษายน 2557 ปิยสวัสดิ์ ประธานกรรมการของ ปตท.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศรัลย์ แอดมินเพจทวงคืนพลังงานไทย ต่อศาลในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14, 15 จากการโพสต์ข้อความต่อว่าปิยสวัสดิ์และภริยาว่า ขัดขวางการปฏิรูปพลังงาน ไว้ใจไม่ได้ ฉ้อฉล ฯลฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกศรัลย์เป็นเวลา 9 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้รอลงอาญาโทษจำคุก แต่ให้ปรับ 30,000 บาท เพื่อให้จำเลยหลาบจำ
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ศรัลย์ เป็นแอดมินเฟซบุ๊กเพจ "ทวงคืนพลังงานไทย" เขาเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ประสานงานกลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่น มาบตาพุด จังหวัดระยอง
 
ศรัลย์ มีอาชีพวิศวกร อาศัยอยู่ในจังหวัดระยอง ศรัลย์เคยทำหน้าสือร้องเรียนให้มีการตรวจสอบโรงงานของปตท.หลายครั้ง เช่น ร้องเรียนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ฯลฯ  โดยเขาเห็นว่าโรงงานของปตท.ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีการรั่วไหลของสารเคมีและทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ศรัลย์ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ทวงคืนพลังงานไทย" โพสต์ข้อความในวันที่ 19 มีนาคม 2557ว่า "ความคิดความเห็นของคู่ผัวตัวเมียที่สุขสบายกับทรัพยากรพลังงานของชาติ!!! ขณะที่คนไทยทั้งแผ่นดินอยู่แพงกินแกงใช้แพงเพราะพลังงานแพง ขัดความสุขสืบเนื่องหรือ จึงขัดขวางการปฏิรูปพลังงานเพื่อคนไทย!!!"  ซึ่งเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์
 
และในวันที่วันที่ 27 มีนาคม 2557 ศรัลย์แชร์ภาพถ่ายโจทก์กับภริยาซึ่งมีข้อความว่า "ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์  เป็นอดีตรมต.พลังงานในยุคขายชาติ อานิก อัมระนันท์ เป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ไว้ใจไม่ได้ภายใจพรรคเล่ห์เหลี่ยมสับปลับ กลับกลอก เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เป็นบุคคลอันตรายและเป็นผู้ขัดขวางการปฏิรูปพลังงานของไทยที่ทุกเวทีไม่ควรเลี้ยงเอาไว้ หอกข้างแคร่ของมวลมหาประชาชนไทยกลุ่มกปปส.ทั้งชาติ" จากบัญชีเฟซบุ๊กของผู้อื่น มาโพสต์ที่เฟซบุ๊กที่ตนเองเป็นเจ้าของและโพสต์ข้อความเพิ่มเติมว่า "เหี้ย…ข้างแคร่" "คนชั่วฉ้อฉล เข้ามาร่วมกลุ่มก็เพื่อป้องผลประโยชน์ฉ้อฉล" และ "พวกฉ้อฉล พูดเก่งพูดดี กันทั้งน้าน…" การกระทำดังกล่าวเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ และจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการยังจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้ผู้อื่นลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีเฟซบุ๊ดังกล่าวว่า "สองคนนี้คือคนที่เข้าไปคุมบังเหียนผลประโยชน์ใน ปตท. แจกจ่ายให้พรรคการเมือง เลยไม่มีนักการเมืองพรรคไหนโวยวายเรื่อง ปตท." อันเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน 
 
ในคำฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณา โดยประการที่จำทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และ (5)
 
 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1026/2557

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นอกจากคดีนี้ ศรัลย์ยังถูก บริษัท ปตท. ฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งจากการโพสต์เฟซบุ๊ก เพจทวงคืนพลังงานไทย ทั้งหมด 20 ข้อความ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลพิพากษาชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 40 เดือนไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์แก้เป็นให้รอลงอาญา แต่ให้เพิ่มโทษปรับ 800,000 บาท

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
17 เมษายน 2557
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งรับฟ้องคดี ระหว่างการดำเนินคดีนี้ ศรัลย์ได้รับการประกันตัวโดยวางเงินประกัน 100,000 บาท
 
29 กันยายน 2558
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษา ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) และ(5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) (5) อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุกหนึ่งปี ทางพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่เหลือจำคุกเก้าเดือน
 
24 กุมภาพันธ์ 2559 
 
ศรัลย์อุทธรณ์ดคีต่อศาลอุทธรณ์
 
10 ตุลาคม 2559
 
ศรัลย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ออกหมายเรียกพยานเอกสารจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีที่ปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบ
 
8 พฤศจิกายน 2559
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์นัดศรัลย์คำพิพากษาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา ทนายจำเลยทวงถามว่าจำเลยเคยยื่นแถลงการณ์ต่อศาลในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาประกอบการพิจารณา ศาลแจ้งว่าศาลอุทธรณ์เห็นว่าเอกสารที่จำเลยขอให้เรียกไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำตัดสินในคดีนี้ จึงไม่ได้เรียกเอกสารดังกล่าวมา หลังตอบคำถามจำเลยศาลก็เริ่มออกคำพิพากษา 
 
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนและมูลเหตุของคดีมาจากความคิดเห็นเรื่องนโยบายพลังงาน ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหายมาก นับว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรงจึงให้รอการลงโทษจำคุกเก้าเดือนที่ศาลชั้นต้นไว้สองปี แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นควรกำหนดโทษปรับจำเลย 40,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือปรับ 30,000 บาท
 
 
31 มกราคม 2560
 
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ยื่นฟ้องศรัลย์เป็นคดีแพ่ง ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยคำฟ้องคดีแพ่งระบุว่า ข้อความที่จำเลยจงใจกล่าว หรือไขข่าวเผยแพร่พาดพิงโจทก์ เป็นข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความจริงทั้งสิ้น เนื่องจากโจทก์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่เคยถูกดำเนินคดีทุจริตตามที่จำเลยกล่าวอ้าง โจทก์ไม่เคยขัดขวางการปฏิรูปพลังงาน การดำเนินนโยบายด้านพลังงานต่างๆ ต้องทำเป็นขั้นตอน โจทก์ไม่ได้ทำแต่เพียงลำพัง 
 
โดยก่อนหน้านี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยพิพากษาแล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นการนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นฎีกา คดีจึงถึงที่สุด คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เป็นที่ยุติตามที่ศาลในคดีอาญาพิพากษาแล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง จำเลยจึงต้องจัดการตามควรเพื่อให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดี
 
ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยลงประกาศคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และข้อความขอโทษโจทก์ รวมถึงข้อความจริงตามที่โจทก์จัดทำ ในหนังสือพิมพ์รายวัน 7 ฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ คมชัดลึก โพสต์ทูเดย์ ข่าวสด มติชน และกรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน เป็นภาพสี่สีเต็มหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง และขอให้จำเลยชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความแก่โจทก์

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น 
 
เฟซบุ๊ก Piyasvasti Amranand ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของโจทก์ในคดีนี้ เผยแพร่สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า
 
ศาลพิพากษาให้ ลงโทษจำคุกจำเลยหนึ่งปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงพิพากษาลดโทษ ลง 1 ใน 4 เหลือลงโทษจำคุก 9 เดือนไม่รอลงอาญา สรุปผลการพิพากษาได้ดังนี้
 
1.จำเลยมีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม มาตรา 14(1)(5) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เช่น การโพสต์ข้อความ “…คู่ผัวตัวเมียที่สุขสบายกับทรัพยากรพลังงานของชาติ!!! ขณะที่คนไทยทั้งแผ่นดิน อยู่แพงกินแพง ..ขัดขวางการปฏิรูปพลังงานเพื่อคนไทย!!!” และการเผยแพร่ภาพโจทก์และภรรยาพร้อมข้อความ “…ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นอดีต รมต พลังงานในยุคขายชาติ อานิก อัมระนันทน์ เป็นสส.พรรค ปชป ที่ไว้ใจไม่ได้ภายในพรรค เล่ห์เหลี่ยม สับปลับ กลับกลอก เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง…”
 
จำเลยต่อสู้โดยมีปานเทพ มล.วัลย์วิภา พญ.กมลพรรณ และสมมาตร มาเบิกความสนับสนุนประกอบเอกสารต่างๆ ศาลพิจารณาเห็นว่าจำเลยเบิกความลอยๆ พยานเอกสารที่จำเลยอ้างไม่มีความน่าเชื่อถือรวมทั้งไม่มีพยานของฝ่ายจำเลยคนใดยืนยันถึงพฤติกรรมของโจทก์ตามที่จำเลยโพสต์ข้อความได้ ประกอบกับข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าโจทก์ซึ่งเคยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเคยถูกดำเนินคดีหรือมีความประพฤติไม่ชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่แต่อย่างใด คำเบิกความของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่าเป็นความจริง และเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยได้ว่าจำเลยโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จและใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง 
 
2. จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามมาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา ข้อความที่จำเลยโพสต์ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าโจทก์ประพฤติชั่วหรือทุจริตในหน้าที่การงาน และมุ่งประสงค์ให้ร้ายทำลายชื่อเสียงของโจทก์ จำเลยซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับสูงและประกอบอาชีพเป็นถึงวิศวกรควรจะพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดเสียก่อน การแสดงความคิดเห็นของจำเลยจึงไม่ใช่การแสดงความเห็นหรือข้อความโดยสุจริต จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 329 (3) ประมวลกฎหมายอาญาเพื่อปฏิเสธความผิดได้
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
โจทก์อ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า โจทก์ไม่เคยขัดขวางการปฏิรูปพลังงานแต่ให้คำแนะนำในการปฏิรูปพลังานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและรัฐบาลในขณะนั้นได้นำไปดำเนินการ

โจทก์ไม่ได้ปราศรัยเรื่องพลังงานบนเวทีกปปส. แต่ปราศรัยเรื่องการบริหารรัฐวิสาหกิจ โจทก์ไม่ได้ขัดขวางหรือห้ามผู้ใดขึ้นเวทีปราศรัยเกี่ยวกับเรื่องพลังงานบนเวทีดังกล่าว และโจทก์ยังมีสุรัตน์ชัย ผู้รับมอบอำนาจ และไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยนำเข้าข้อความเท็จ
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์ต่างยืนยันตรงกันว่าโจทก์ไม่มีพฤติกรรมตามที่จำเลยโพสบนเฟซบุ๊ก เบื้องต้นจึงต้องรับฟังว่า โจทก์เป็นสุจริตชน เป็นคนดี ไม่ได้ทำให้ประเทศเสียหายในด้านพลังงาน แม้จะมีความคิดเห็นในเรื่องนโยบายพลังงานแตกต่างจากกลุ่มของจำเลยก็ตาม 
 
จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า ข้อมูลบนเฟซบุ๊กเป็นความจริง โดยมีหม่อมหลวงวัลย์วภา จรูญโรจจน์ บุรุษรัตนพันธุ์, พ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี, นายสมมาตร์ พรนที และปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ เป็นพยาน พร้อมกับมีเอกสารต่างๆ มาแสดง เห็นว่าพยานจำเลยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยเป็นข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นความคิดเห็นซึ่งย่อมแปรปรวนไปตามความสนใจ ประสบการณ์ ของผู้แสดงความคิดเห็นแต่ละคน
 
พิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานเอกสารนั้นแล้ว  พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังว่า เป็นความจริงยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งในกรณีนี้โจทก์เป็นประจักษ์พยานตัวจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอง จึงฟังได้ว่าข้อความที่จำเลยโพสต์เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของโจทก์เป็นข้อมูลเท็จ
 
การที่จำเลยโพสต์และแชร์ข้อความตามฟ้อง มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของโจทก์ วิญญูชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์และภรรยามีพฤติกรรมไม่ดี มีพฤติกรรมที่ชั่วร้าย เอารัดเอาเปรียบประชาชน และสร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง อาจทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์
 
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์และภริยาเป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ ติเตียน ด่าทอได้ ประกอบกับโจทก์มีพฤติกรรมในด้านพลังงานที่ประชาชนมีข้อสงสัย เช่น การเปิดขายสัมปทานปิโตรเลียมมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยดำเนินการ การต่ออายุสัมปทานแก๊สหรือน้ำมัน การขยายพื้นที่สัมปทาน หรือการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการพลังงาน เห็นว่า แม้จำเลยจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่จะติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยที่ประชาชนย่อมกระทำ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็ต้องไม่กระทบถึงสิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของโจทก์และบุคคลในครอบครัว ไม่ใช่ว่าจำเลยจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้โดยไม่มีขอบเขต
 
ที่จำเลยต่อสู้ว่าศาลชั้นต้นรับฟังแต่พยานหลักฐานของโจทก์ ไม่รับฟังจำเลย โดยตัดทอนพยานหลักฐานและพิจารณาคดีอย่างรวบรัดนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำแถลงโต้แย้งไว้ในสำนวนคดีดังที่จำเลยอ้าง หลักการรับฟังพยานหลักฐานก็มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ชัดแจ้งแล้วว่าเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นในการใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ข้อต่อสู้นี้ของจำเลยจึงไม่อาจทำให้กระบวนการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นเสียไป
 
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทและตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งมูลเหตุแห่งคดีมาจากการแสดงความคิดเห็นเรื่องนโยบายพลังงานของชาติ พฤติการณ์แห่งคดีไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหายมาก นับว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะไม่ร้ายแรงนัก จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้สามปี
 
แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นควรกำหนดโทษปรับจำเลย 40,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่เหลือ 30,000 บาท
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา