ปตท. ฟ้องแอดมินเพจ’ทวงคืนพลังงานไทย’

อัปเดตล่าสุด: 01/05/2561

ผู้ต้องหา

ศรัลย์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2557

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. จดทะเบียนในปี2544 โดยการแปลงสภาพมาจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ปตท.มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 20,000 ล้านบาท มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีพันธกิจดำเนินธุรกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีอย่างครบวงจรในฐานะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ http://www.pttplc.com/TH/About/pages/Background.aspx ในการดำเนินคดีนี้ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มอบอำนาจให้สุพจน์ เหล่าสุอาภา เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ ก่อนที่สุพจน์จะมอบอำนาจให้พงศธร ทีปิรัช เป็นผู้ฟ้องคดีอีกต่อหนึ่ง

สารบัญ

ในปี 2557 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศรัลย์ แอดมินเพจทวงคืนพลังงานไทย ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1), 15 จาการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 21 ข้อความ กล่าวหาว่า ปตท. ทุจริตฉ้อฉล ทำให้ราคาน้ำมันแพงกว่าความเป็นจริง แทรกแซงสื่อ ว่าจ้างคนใช้กำลังกับผู้ชุมนุม และเป็นองค์กรล้มเจ้า ระหว่างการพิจารณาคดีศรัลย์ถูกคุมขังสองครั้ง รวม 126 วัน ในเดือนมกราคม 2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกศรัลย์เป็นเวลา 40 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ศรัลย์ เป็นแอดมินเฟซบุ๊กเพจ "ทวงคืนพลังงานไทย" เขาเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ประสานงานกลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่น มาบตาพุด จังหวัดระยอง
 
ศรัลย์ มีอาชีพวิศวกร อาศัยอยู่ในจังหวัดระยอง ศรัลย์เคยทำหน้าสือร้องเรียนให้มีการตรวจสอบโรงงานของปตท.หลายครั้ง เช่น ร้องเรียนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ฯลฯ  โดยเขาเห็นว่าโรงงานของปตท.ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีการรั่วไหลของสารเคมีและทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ขณะถูกฟ้องคดีนี้ศรัลย์อายุ 50 ปี
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เบื้องต้น โจทก์ยื่นฟ้องศรัลย์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้โดยแยกเป็นสองคดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อ.2637/2557 ยื่นฟ้องในวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 และคดีหมายเลขดำที่ อ.4135/2557 ยื่นฟ้องในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ต่อมาศาลสั่งให้รวมคดีทั้งสองเข้าพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
 
ตามคำฟ้องโจทก์ ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2637/2557 ระบุว่า จำเลยเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ thai-enerygy.blogspot และเฟซบุ๊กเพจ "ทวงคืนพลังงานไทย" จำเลยจึงเป็น "ผู้ให้บริการ" ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของเว็บไซต์ทั้งสองแห่ง
 
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 จำเลยนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ที่จำเลยดูแล ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยเหตุผลต่างๆ แยกเป็นประเด็นได้ดังนี้ 
 
1. โจทก์กระทำการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการใส่ความเพื่อให้โจทก์เสียหาย ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดจัง ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นภาพและข้อความเข้าใจว่าโจทก์บริหารงานโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และนำเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนคนไทยไปให้กับนายทุนและต่างชาติ เป็นเหตุให้ต้นทุนของพลังงานและสินค้าสูงกว่าความเป็นจริง
 
1.1 ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยนำเข้าและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ว่า "สังคมไทยกับทุนสามานย์ … ปตท.เปลี่ยนคนดี เป็น "คนแกล้งดี" ได้ด้วยเงิน …" 
 
1.2 ในวันที่ 19 มิถุนายน 2557 จำเลยนำเข้าและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ว่า "ปตท.ไม่ได้รักประเทศชาติ จึงสมคบต่างชาติฮุบบ่อน้ำมันและแก๊สที่เป็นของคนไทยทั้งชาติ" 
 
2. โจทก์กระทำการทุจริต ฉ้อโกงประเทศชาติ และประชาชนคนไทย ซึ่งเป็นการใส่ความเพื่อให้โจทก์เสียหาย ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดจัง ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นภาพและข้อความเข้าใจว่าโจทก์ประกอบธุรกิจโดยแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ทุกวิถีทาง แต่ประชาชนคนไทยกลับเดือดร้อนจากราคาพลังงานที่โจทก์เป็นผู้กำหนด
 
2.1 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยนำเข้าและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ว่า "ปตท องค์กรสกปรก โสโครก ขี้โกง…" ใจความทำนองว่า การประกอบธุรกิจของปตท. ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันและก๊าซราคาแพง
 
2.2 วันที่ 17 พฤษภาคม 2557 จำเลยนำเข้าและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ว่า "รู้นะว่ามึงโกง … รมต.ที่เหลือคนแรกที่ต้องไล่ล่า คือ ไอ้เพ้ง …." ในความทำนองว่า ปตท. หลอกลวงเรื่องการสำรวจปิโตรเลียม และการส่งออกก๊าซแอลพีจี เป็นเหตุให้ประชาชนต้องใช้น้ำมันแพง
 
3. โจทก์ผูกขาดและค้ากำไรเกินควรเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นการใส่ความโจทก์ ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นภาพและข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าโจทก์ค้ากำไรเกินควรโดยกำหนดราคาน้ำมันที่ขายในประเทศไม่ให้เป็นไปตามราคากลไกตลาด เป็นเหตุให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
 
3.1 วันที่ 12 มีนาคม 2557 จำเลยนำเข้าและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ว่า "ปตท.ทำแบบนี้ คนเสื้อแดงยังหนุน ขายให้ควายราคาลิตรละ 40 บาทท ขายให้ต่างประเทศราคาลิตรละ 23 บาท…"
 
3.2 วันที่ 17 เมษายน 2557 จำเลยนำเข้าและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ว่า "ราคาน้ำมันเบนซินไทยแพงสุดโคตร ปตท.ผู้ขาดกำไรเพื่อผู้ถือหุ้น …."
 
3.3 วันที่ 30 เมษายน 2557 จำเลยนำเข้าและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ว่า "ปตท. ตัวสูบเลือด อีก 1 นโยบายสารเลว ขายคนอื่นยกเว้นภาษี ขายคนไทยขูรีดภาษี…"
 
3.4 วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 จำเลยนำเข้าและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ว่า "เมื่อก่อน 25 เดี๋ยวนี้ 45-50 เพราะปตท. ทวงคืน!!…"
 
โจทก์ฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14, 15 และเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และขอให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความแทนโจทก์
 
ตามคำฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ อ.4135/2557 โจทก์ฟ้องว่า
  
วันที่ 3 มกราคม 2557 จําเลย โพสต์ข้อความว่า “ปตท.ปล้นตลอดทางทุกเส้นทาง ก่อน-หลัง ทุกๆ เทศกาล… การเดินทาง..” “พลังงานแพงทําให้ทุกอย่างแพงหมดแพงทั้งแผ่นดินเพราะ ปตท.” 
 
วันที่ 8 มกราคม 2557 จําเลย โพสต์ข้อความว่า  “โครงการ CSR ของ ปตท. ทําเพื่อพ่อ เชื่อได้ จริงหรือ!….” “…โฆษณา ปตท. “หนุน ล้มเจ้า” …” “หลักฐานเชิงประจักษ์ องค์กรฉ้อฉล…หนุนล้มเจ้า!!!” 
 
วันที่ 19 มกราคม 2557 จําเลย โพสต์ข้อความว่า “ประท้วงแถว ปตท. หน้า ปตท. โดนทําร้ายทุกที เงินฉ้อฉลมันได้มาง่ายๆ เอา มาจ้างคนทําร้ายคนไทย ปตท. องค์กร อั๊งยี่ อัปปรีย์ …"
 
วันที่ 21 มกราคม 2557 จําเลย โพสต์ข้อความว่า “ปตท. จ้างคนเสื้อแดง ทําร้าย รื้อ พัง ผู้ชุมนุมโดยสงบ!!!  หน้าตึกปตท. – ก.พลังงาน” “เรื่องนี้ เพิ่งผ่านมาไม่กี่วัน ปตท. จ้างเสื้อแดงมาไล่กระทืบ กลุ่มธรรมยาตรา ของคุณสมาน ศรีงาม ที่ชุมนุมหน้าปตท. …"
และเดียวกัน จำเลยได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมว่า “ปตท. จ้างกองกําลังต่างชาติมาไล่รื้อมวลมหาประชาชน !!!" 
 
วันที่ 27 มกราคม 2557 จําเลย โพสต์ข้อความว่า “ปล้นอนาคต ของลูกหลานไทยจะดี…กะมันนะหรือ….พลังงานจากอ่าว ไทย ทําไมคนไทยซื้อใช้แพง” “ปตท. ปล้นอนาคต ของลูกหลานไทย พลังงาน แพง ทําให้ทุกอย่างแพงหมด แพงทั้งแผ่นดิน เพราะปตท. ฉ้อฉลพลังงาน 
 
วันที่ 30 มกราคม 2557 จําเลย โพสต์ข้อความว่า “ปมสังหาร คุณสุทิน ธราทิน อย่างน้อยต้องมีเรื่องการปฏิรูป พลังงานที่เบื้องหลังปตท. นั้น เบื้องหลังคงดําเหมือนสีน้ํามันแน่นอนจนไม่ ต้องการให้ปฏิรูปและถูกแฉ …"
 
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 จําเลย โพสต์ข้อความว่า “สื่อ เลือกข้างเลว…!!! เพราะปตท.  ทุนสามายน์ ระบอบทักษิณครอบงํา สื่อมวลชนไทย!!!”
 
วันที่ 4 มีนาคม 2557 จำเลย โพสต์ข้อความว่า “ทักษิณ แต่งตั้ง..ทั้งน้าน!!! ปธ.บอร์ด-ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท." “คนปตท. จึงล้วนขี้ข้า…ทรราชย์ ทักษิณ” …..
 
วันที่ 4 เมษายน 2557 จำเลย โพสต์ข้อความว่า “เทศกาลทีไร ขึ้น ราคาน้ํามันทุกที สงกรานต์ปีนี้ ประชาชนโดนปล้นอีกแน่ๆ สงกรานต์ปีนี้ หรือ ปีไหนๆ…คนไทยก็ถูกปล้นโดยโจร ปตท.!!!
 
วันที่ 18 มิถุนายน 2557 จําเลยโพสต์ข้อความว่า “ปตท. ไม่ได้รักประเทศชาติ จึงสมคบต่างชาติฮุบบ่อน้ํามันและแก๊สที่เป็นของ คนไทยทั้งชาติ”
วันที่ 21 กันยายน 2557 จําเลยโพสต์ข้อความว่า “เรื่อง ปตท.ปล้นท่อก๊าช ย้ําชัดๆ ว่าผิด กฎหมาย โดยอดีต รมต. การคลัง ซึ่ง ก.คลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่! ปตท.ได้นําสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปหาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบมาตั้งแต่ต้น…"
 
วันที่  1 ตุลาคม 2557 เวลากลางวันและกลางคืน ต่อเนื่องกัน จําเลยโพสต์ข้อความว่า “อ้างว่ามีธรรมาภิบาล อ้างว่ามี มาตรฐานสากล แจงเท็จ ฉ้อฉลราคาพลังงาน มุ่งหากําไร สร้างโรงงานไม่มี มาตรฐานเกลื่อนเมือง…”
 
นอกจากนี้จำเลยยังประกาศ ขอรับบริจาคเงินเขาบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ ของจําเลย เพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้กับ ปตท. ด้วย
 
โจทก์ฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14, 15 และเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และขอให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความแทนโจทก์
 
 
 

 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.2637/2557, อ.4135/2557

ศาล

ศาลอาญากรุงเทพใต้

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
29 กรกฎาคม 2557
 
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องคดีแรกต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2637/2557
 
10 พฤศจิกายน 2557
 
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องคดีที่สองต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4135/2557 ต่อมาศาลสั่งให้รวมพิจารณาทั้งสองคดีเป็นคดีเดียวกัน
 
1-16 กันยายน 2558
 
ศรัลย์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ รวม 16 วัน ระหว่างการสืบพยาน ต่อมาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเพราะศรัลย์ยื่นแสดงความประสงค์ขอให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยยอมความ
 
8 ตุลาคม 2558 – 25 มกราคม 2559
 
ศรัลย์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ รวม 110 วัน หลังถูกศาลอุทธรณ์สั่งเพิกถอนการประกันตัวเพราะโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัว เนื่องจากจำเลยทำผิดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยยืนยันไม่ไกล่เกลี่ยกับโจทก์ และบนเฟซบุ๊กของจำเลยมีคนมาแสดงความคิดเห็นทำนองละเมิดอำนาจศาลโดยจำเลยไม่ยอมลบออก 
 
23 พฤศจิกายน 2558
 
ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ  ศรัลย์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่เพิกถอนการประกันตัวของเขาต่อศาลฎีกา
 
1 ธันวาคม 2558
 
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่เพิกถอนการประกันตัวของจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และเป็นคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา
 
18 มกราคม 2559
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้เชื่อว่าข้อมูลที่จำเลยโพสต์เป็นข้อความเท็จ จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ประกอบ 328 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14(1) จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 20 กระทง จำคุก 60 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม เหลือ จำคุก 40 เดือน 
 
หลังศาลอ่านคำพิพากษา ศรัลย์ยื่นขอประกันตัวและได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางเงินประกัน 600,000 บาท
 
18 เมษายน 2559
 
ศรัลย์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์
 
 
11 เมษายน 2560
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าการลงโทษจำคุกจำเลยไม่เหมาะสม อาจเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และยังมีวิธีอื่นให้จำเลยกลับตัวเป็นคนดีได้ จึงพิพากษาแก้ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้เพิ่มโทษปรับจำเลยด้วย ตามการกระทำความผิดกรรมละ 60,000 บาท ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือปรับกรรมละ 40,000 บาท 
 
จำเลยกระทำความผิดรวมทั้งหมด 20 กรรม คิดเป็นค่าปรับ 800,000 บาท และให้ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อีก 20 ชั่วโมง
 
 
17 กุมภาพันธ์ 2561
 
ศรัลย์ ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในหลายประเด็น ได้แก่
 
1. การแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) จะมีผลอย่างไรต่อคดีของเขาทั้งหลายที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คดีที่เขาถูกพิพากษาลงโทษแล้วจะยังมีความผิด ต้องรับโทษอยู่หรือไม่ ค่าปรับที่จ่ายไปแล้วจะได้คืนหรือไม่ จะมีผลต่อคดีแพ่งที่โจทก์เอาผลจากคดีอาญาไปฟ้องร้องหรือไม่ โจทก์ในคดีนี้ใช้สิทธิฟ้องร้องคดีโดยสุุจริตหรือไม่
 
2. โจทก์นำความเท็จมาฟ้อง และเบิกความเท็จ ศาลนำมาพิจารณาและใช้ประกอบการทำคำพิพากษา ทำให้คำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
 
3. เจตจำนงของมาตรา 329 และ มาตรา 330 ในกฎหมายอาญา ที่เป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท มีเพื่อปกป้องประชาชน เพื่อป้องปรามปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นใช่หรือไม่ เมื่อเขารณรงค์ในประเด็นสาธารณะควรได้รับการยกเว้นตามมาตรานี้หรือไม่
 
4. การที่ศาลชั้นต้นยืนยันให้เขาจ่ายค่าปรับ 800,000 บาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
5. เนื่องจากเขาได้ทูลเกล้าถวายฎีกา เพื่อขอความเป็นธรรมจากพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเชื่อว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี ดังนั้นศาลควรจะต้องชะลอการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อรอพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยหรือไม่
 
4 เมษายน 2561
 
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ศรัลย์ทราบ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ไม่รับคำร้องของศรัลย์ไว้วินิจฉัย ให้เหตุผลว่า มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 กำหนดให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 90 วันนับตั้งแต่ถูกละะเมิดสิทธิเสียก่อน และต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 90 วันนับตั้งแต่ได้รับความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน และมาตรา 47(4) กำหนดว่า การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ใช่เรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอื่น
 
24 เมษายน 2561
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดให้ศรัลย์มาฟังคำสั่งว่า ศาลฎีกาจะรับคดีที่ศรัลย์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไว้พิจารณาหรือไม่ ศรัลย์เดินทางมาศาลในวันนี้ ฝ่ายโจทก์มีทนายความมาศาล
 
ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำสั่งของศาลฎีกา ซึ่งไม่รับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย โดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่า คำร้องอุทธรณ์ของจำเลยเพียงแต่กล่าวว่า ฎีกาของจำเลยนี้เป็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง มิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่า ฎีกาของจำเลยหน้าใด ส่วนใด หรือตอนใด ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งไม่ต้องห้ามฎีกา ทั้งจำเลยมิได้ฎีกาแยกแยะประเด็นออกเป็นข้อๆ เป็นเพียงกล่าวรวมกันมาทั้งหมด ซึ่งแต่ละย่อหน้าล้วนเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้าง แม้ในหน้า 9 ย่อหน้าที่ 2 อ้างอิงข้อกฎหมายว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 มาตรา 14(1) ไม่ให้ใช้บังคับเรื่องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท กฎหมายใหม่เป็นคุณแก่จำเลย แต่ล้วนยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างมาทั้งสิ้น จึงเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จึงให้ยกคำร้องของจำเลย
 
หลังการอ่านคำสั่งของศาลฎีกา สถานะของคดีจึงเป็นคดีที่ถึงที่สุด และผลของคดีต้องเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยชำระค่าปรับ 800,000 บาท ด้านจำเลยไม่มีเงินสำหรับชำระค่าปรับ จำเลยไม่ยอมลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดี และจำเลยก็ยืนยันที่จะไม่ชำระค่าปรับตามจำนวนนี้ จึงถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวลงไปที่ห้องขัง
 
ต่อมาทนายจำเลยยื่นคำร้องขอความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และ 213 ระบุว่า จำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม นำขึ้นทูลเกล้าถวายฎีกา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2560 และได้ทำคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน จำเลยจึงยื่นหนังสือเสนอสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 จึงขอให้ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาชะลอการบังคับคดีหรือคำสั่งต่างๆ ไว้พลางก่อน เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
 
โดยทางญาติของจำเลยได้ปรึกษากันว่า หากศาลไม่พิจารณาให้ชะลอการบังคับคดีจะขอยื่นผ่อนผันการจ่ายค่าปรับและจะชำระเป็นงวดไป กระทั่งเวลาประมาณ 13.40 น. เจ้าหน้าที่ศาลได้นำกระบวนพิจารณามาให้ทนายจำเลย ปรากฏว่า ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีระบุว่า ศาลออกนั่งพิจารณาคำร้องขอความคุ้มครองชั่วคราวฯในเวลา 11.30 น.  ลงชื่อโดย สนาน พูลสวัสดิ์ ศาลสั่งว่า เมื่อศาลงดโทษปรับจำเลยและเพิกถอนเงื่อนไขการคุมประพฤติและการทำงานบริการสังคมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะต้องบังคับจำเลยต่อไป จึงให้ยกคำร้องที่จำเลยยื่นมา และให้ปล่อยตัวจำเลยไป
 
จำเลยได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังของศาล ในเวลาประมาณ 14.00 น. โดยเล่าว่า หลังถูกคุมขังอยู่ที่ห้องขัง จำเลยถูกพาตัวกลับขึ้นห้องพิจารณาคดีอีกครั้งเพื่อฟังคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องที่จำเลยยื่นต่อศาล เพื่อให้ชะลอการบังคับคดี แต่ญาติไม่ทราบจึงไม่ได้ร่วมรับฟังการพิจารณาดังกล่าวด้วย

 

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับ ฟังได้ว่า จําเลยเป็นเจ้าของและ ผู้ดูแลระบบเว็บไซต์เฟซบุ๊กบัญชีผู้ใช้ “ทวงคืนพลังงานไทย” ในวันเวลาตามฟ้อง จําเลยใช้เว็บไซต์ดังกล่าวเผยแพร่ข้อความและภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยโพสต์ข้อความอันเป็นการกล่าวหาว่าโจทก์ กระทําการที่เป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กลุ่มนายทุนและต่างประเทศ ทุจริตฉ้อโกงประเทศชาติและประชาชนชาว ไทย กระทําการผูกขาด ค้ากําไรเกินควรเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ก่อสร้างโรงงานไม่ได้มาตรฐานจนสร้างความเดือนร้อนรําคาญ เป็นองค์กรล้มเจ้า ไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความรุนแรงในสถานการณ์ชุมนุม กระทําการฉ็อฉล มุ่งหากําไร โกงชาติ โกงพลังงาน ยักยอก สมบัติของชาติ แทรกแซงหน้าที่ของสื่อมวลชน 
 
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวหาโจทก์ว่า ทุจริตฉ้อโกงประเทศชาติ ผูกขาดค้ากำไรเกินควร เป็นเท็จหรือไม่ โจทก์มีพยานเบิกความว่า การกําหนดราคาน้ํามัน ณ โรงกลั่น ของเทศไทย ใช้เกณฑ์อ้างอิงราคาน้ำมันสําเร็จรูปที่ซื้อขายกันในตลาดโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ การที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศสูงเกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ โจทก์ไม่เคยนําสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาเป็นของตนเอง ไม่ปรากฏว่าประธานกรรมการบริหารและ กรรมการคนใดของโจทก์ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการประพฤติไม่ชอบหรือทุจริต 
 
แม้จําเลยจะอ้างอิงเอกสารข้อมูลมาจากกระทรวงพลังงานและคําสัมภาษณ์ของบุคคลสําคัญในรัฐบาล แต่เอกสารส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการ การอภิปรายตอบโต้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และการแสดงความเห็นทางวิชาการของบุคคลเหล่านั้นก็เป็นข้อมูลซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ แต่จำเลยกลับสรุปความเห็นโดยจัดทําเอกสารขึ้นใหม่ แล้วกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความเสียหายต่อส่วนรวม เป็นการเลื่อนลอย ปราศจากข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดจึงต้องฟังว่าข้อความที่จําเลยเผยแพร่เป็นเท็จ
 
ประเด็นที่จำเลยกล่าวหาว่า โจทก์ก่อสร้างโรงงานไม่ได้มาตรฐาน โจทก์มีนายชาญศักดิ์ ชื่นชม ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม เบิกความว่าจําเลยเคยร้องเรียนว่า โครงการโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตําบลมาบตาพุด จังหวัดระยองมีการก่อสร้างที่ไม่ปลอดภัย พยานจึงเชิญจําเลยไปพบวิศวกรที่รับผิดชอบ หลังจากนั้นมีการประชุมร่วมกันสองครั้ง โดย ตกลงกับจําเลยว่าาหากจําเลยสงสัยในอุปกรณ์ฐานรากใดก็ให้นํากล้องไป ตรวจซ้ำได้ แต่จำเลยมีหนังสือขอให้ว่าจ้างจำเลยทำการวัดระดับอุปกรณ์ฐานราก แต่โจทก์ไม่สามารถจัดจ้างได้เพราะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว ศาลเห็นว่า การก่อสร้างต้องผ่านการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายควบคุมอาคารอยู่แล้ว ข้อมูลของจำเลยจึงเป็นเพียงการคาดการณ์อนาคตที่ยังไม่แน่นอน ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเท็จ
 
ประเด็นที่จำเลยกล่าวหาว่า โจทก์เป็นองค์กรล้มเจ้า จำเลยนำข้อมูลมาจากนิตยสารเรดพาวเวอร์ ซึ่งมีโฆษณาของโจทก์อยู่หน้าปกหลัง มีประธานกรรมการของโจทก์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าไม่เคารพสถาบัน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้ง ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเท็จ
 
ประเด็นที่จำเลยกล่าวหาว่า โจทก์สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในการชุมนุม เห็นว่า เหตุการณ์ที่จำเลยอ้างว่าผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงเข้ารื้อทำลายกลุ่มธรรมยาตรา มีการลอบยิงและโจมตีด้วยอาวุธสงคราม และสุทิน ธาราทิน ถูกยิงเสียชีวิต จำเลยสรุปว่าเกิดจากอิทธิพลของกลุ่มทุนพลังงานรวมทั้งโจทก์ โดยไม่มีหลักฐานใดมายืนยัน นอกจากกระแสข่าวที่จำเลยได้มา ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเท็จ
 
ประเด็นที่จำเลยกล่าวหาว่า โจทก์แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เห็นว่า การประกอบธุรกิจพลังงานในตลาดโลกมีการแข่งขันสูงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ดังนั้นการประชาสัมพันธ์นี่ห้อก็เป็นไปตามปกติของธุรกิจการค้า เพียงการที่โจทก์ซื้อโฆษณาของสื่อสารมวลชนที่สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง มิใช่หมายความว่าโจทก์เลือกข้างอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแทรกแซงสื่อสารมวลชนที่ร่วมกิจกรรมทางการเมือง  ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเท็จ
 
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยเป็นผู้ให้บริการที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จหรือไม่ เห็นว่า การใช้เฟซบุ๊กต้องเป็นสมาชิกเสียก่อนจึงจะได้รหัสผ่านเพ่อเข้าใช้บริการ ดังนั้น หากจำเลยต้องการใช้เฟซบุ๊กต้องขอใช้บริการจากเจ้าของเว็บไซต์เฟซบุ๊กก่อน การที่จำเลยมีบัญชีเฟซบุ๊กที่ขอใช้บริการจากเจ้าของเว็บไซต์เฟซบุ๊ก จึงเป็นการใช้ิบรการเพื่อติดต่อสื่อสารกันระหว่างสมาชิกผู้ใช้บริการ จำเลยมิใช่ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นให้สามารถติดต่อถึงกัน หรือผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ 
 
เมื่อพิจารณข้อความและภาพในคดีนี้แล้ว ล้วนแต่เป็นการกล่าวเท็จยืนยันข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของโจทก์โดยทำให้บุคคลอื่นที่เห็นข้อความนั้นเข้าใจว่าโจทก์ประพฤติชั่ว หรือทุจริต ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และกระทบต่อความเชื่อถือของนักลงทุน และการที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลบนเฟซบุ๊กดังกล่าว โดยมีการกดไลค์ และกดแชร์ ถือว่าประชาชนเข้ามาอ่านข้อมูลแล้วย่อมต้องเกิดความรู้สึกเชื่อว่าโจทก์เป็นเช่นนั้นจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา
 
ส่วนที่จำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตจึงมีความเห็นเป็นเช่นนั้น เมื่อพิจารณาข้อความและรูปภาพที่จำเลยเผยแพร่แล้วล้วนแต่เป็นข้อความที่ด่าทอโจทก์ด้วยถ้อยคำรุรนแรง ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบราคาน้ำมัน หรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารโจทก์ แต่เกิดจากจำเลยนำข้อทูลข่าวสารต่างๆ มาโดยไม่ตรวจสอบให้ละเอียด ก่อนจะนำไปลงในเว็บไซต์ดังกล่าวจนมีประชาชนทั่วไปคอมเม้นต์หรือให้ความเห็นถึงการกระทำของโจทก์อย่างกว้างขวางเพราะเชื่อตามข้อมูลที่จำเลยลงในเว็บไซต์ ทั้งจำเลยยังลงช้อความให้ประชาชนสนับสนุนเงินทุน โดยขอรับบริจาคเข้าบัญชีตัวเองเพื่อต่อสู้กับโจทก์ และยังขอให้โจทก์ว่าจ้างจำเลยวัดระดับอุปกรณ์ฐานราก พฤติการณ์ของจำเลยบ่งชี้ว่าเจตนาเผยแพร่ข้อความและภาพอันเป็นเท็จออกไปสู่สาธารณชนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่น กรณีจึงไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมหรือติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
 
เห็นว่า การเผยแพร่ข้อความของจำเลยในวันที่ 21 มกราคม 2557 แม้จำเลยจำเผยแพร่ข้อความสองครั้ง แต่ก็เป็นวันเดียวกันและเวลาต่อเนื่องกัน ถือว่า จำเลยมีเจตนากล่าวหาโจทก์ในคราวเดียวกัน ว่าโจทก์ว่าจ้างบุคคลอื่นมาทำร้ายประชาชน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว สำหรับที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความแทนโจทก์นั้น เห็นว่า ในคดีอาญาห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียม เมื่อโจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหนทดแทนและเสียค่าธรรมเนียมด้วย จึงไม่อาจกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าทนายความให้ตามที่โจทก์ขอ
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) รวม 9 กระทง ตามคำฟ้องคดีหมายเลขดําที่ อ.2637/2557 และ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) 11 กระทง ตามคำฟ้องคดีหมายเลขดําที่ อ.4135/2557 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบ ให้ลงโทษฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 20 กระทง จำคุก 60 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม เหลือ จำคุก 40 เดือน 
 

 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา