พระสนิทวงศ์: โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ดีเอสไอ

อัปเดตล่าสุด: 09/08/2562

ผู้ต้องหา

พระสนิทวงศ์

สถานะคดี

ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560 กำหนดให้พื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุมและกำหนดให้เจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่อื่นที่ได้รับการร้องขอจากดีเอสไอเป็นผู้รักษาการณ์และบังคับตามคำสั่งฉบับนี้ โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย

ระหว่างนั้นพระสนิทวงศ์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรของวัดพระธรรมกาย ใช้เฟซบุ๊กที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ โพสต์ข้อความวิจารณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาพระสนิทวงศ์ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดรวมสามข้อหาได้แก่ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
พระสนิทวงศ์เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปรามในวันที่ 9 มีนาคม 2560 โดยถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญาและได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในวันเดียวกันด้วยวงเงิน  400,000 บาท

ในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 พระสนิทวงศ์กลับคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ศาลพิพากษาจำคุกในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นเวลารวมหนึ่งปี 12 เดือน ปรับเป็นเงิน 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลาสองปีและให้คุมประพฤติเป็นเวลาหนึ่งปีโดยต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติรวมสี่ครั้ง
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ข้อมูลจากมติชนออนไลน์ระบุว่า พระสนิทวงศ์ หรือสนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์ เป็นชาวจังหวัดยะลา เคยศึกษาที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สำหรับความเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายพระสนิทวงศ์เริ่มด้วยการเข้าอบรมโครงการธรรมทายาทในฐานะฆารวาส หลังจากนั้นจึงออกบวชที่วัดพระธรรมกาย พระสนิทวงศ์มีบทบาทในการช่วยเหลือวัดและพระสงฆ์ทางภาคใต้ นอกจากนี้พระสนิทวงศ์ก็ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกายด้วย 

 

 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

พฤติการณ์ของพระสนิทวงศ์ตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ขณะเกิดเหตุพระสนิทวงศ์เป็นผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรของวัดพระธรรมกาย ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน คือ

1. ระหว่างวันที่ 22 – 24 กุมภาพันธ์ 2560 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน พระสนิทวงศ์โพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ เปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมทั้งเขียนข้อความว่าทำนองว่า ใครต้องการร้องเรียนการกระทำรุนแรงต่อพระสงฆ์โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ให้ติดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลดีเอสไอได้ ซึ่งในความเป็นจริงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ได้กระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อพระสงฆ์
       
 2. ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 พระสินทวงศ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กและเปิดแถลงข่าวมีข้อความว่า “วันสุดท้ายการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐตามหมายการตรวจค้น พื้นที่ของวัดถูกควบคุมด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ การเข้าออกของพระภิกษุ แม้ไปบิณฑบาตตอนเช้าต้องพกหนังสือสุทธิสงฆ์ยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่ออนุญาตให้เข้าออกได้ แต่มีข่าวว่าจะมีการใส่ร้ายวัดว่าปืนเจ้าหน้าที่ 400 กระบอกที่หายไป จะมีการเอามาซุกที่ตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นที่วัด” ซึ่งในความเป็นจริงดีเอสไอไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน และไม่ได้จะนำอาวุธปืนมาซุกซ่อนเพื่อใส่ร้ายวัดพระธรรมกาย
       
3. ในวันที่ 1 มีนาคม 2560 พระสนิทวงศ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า “วงจรอุบาทว์ ขบวนการล้วงย่ามพระ พ.ศ. 2541 เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายถูกกล่าวหายักยอกที่ดินของวัดมาเป็นของตนเอง คดีไม่มีผู้เสียหาย อัยการไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไป เพราะสืบพยานไปแล้ว มีญาติโยมเจ้าของที่ดินมาให้การต่อศาลว่า ตั้งใจถวายที่ดินให้ท่าน ก็ถือว่าที่ดินเป็นของท่าน ในทางกฎหมายการยักยอกทรัพย์สินของตนเองนั้นเป็นไปไม่ได้ ศาลจึงอนุญาตให้ถอนฟ้องออกไปเสียจากสาระบบความ” และข้อความว่า 

“พ.ศ. 2560 เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ถูกกล่าวหาจากดีเอสไอว่ารับของโจร ฟอกเงิน โดยไม่มีผู้เสียหายเช่นเดิม ทั้งที่พระรับถวายปัจจัยมาโดยเปิดเผยและได้นำไปใช้ในการก่อสร้างศาสนสถานตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคหมดแล้ว โดยไม่มีการนำเงินไปใช้ส่วนตัว หรือนำไปโอนกลับคืนให้นายศุภชัยฯ ผู้กล่าวหาเลย จึงไม่เป็นองค์ประกอบความผิดเรื่องฟอกเงิน แต่กลับมีการขอหมายค้นวัดหลายรอบ ออก ม.44 นำตำรวจทหารหลายพันคนมาปิดล้อมวัด ห้ามคนเข้าวัด ตัดข้าวปลาอาหาร ตัดโทรศัพท์ ตัดอินเทอร์เน็ต เพื่อค้นหาเจ้าอาวาส” ซึ่งเป็นความเท็จ 

ความจริงแล้วดีเอสไอไม่ได้กลั่นแกล้งดำเนินคดีต่ออดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และไม่ได้กลั่นแกล้งปิดล้อมวัด ห้ามคนเข้าวัด ตัดข้าวปลาอาหาร โทรศัพท์แต่อย่างใด 

การกระทำของพระสนิทวงศ์เป็นการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเป็นการใส่ความดีเอสไอต่อบุคคลที่สาม โดยการโฆษณาด้วยภาพหรือตัวอักษร หรือป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ทำให้ประชาชนที่รับทราบและพบเห็นข้อความเข้าใจว่าดีเอสกระทำรุนแรง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย รังแกพระสงฆ์และสมาชิกวัดพระธรรมกาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 

 

พฤติการณ์การจับกุม

พระสนิทวงศ์เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเพื่อมอบตัวในวันที่ 9 มีนาคม 2560 คดีนี้จึงไม่มีการจับกุม 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1243/2560

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
16 กุมภาพันธ์ 2560
 
เวลา 1.00 น. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 5/2560 กำหนดให้พื้นที่วัดพระธรรมกายและพื้นที่รอบข้างเป็นพื้นที่ควบคุมพร้อมทั้งให้อำนาจพิเศษกับเจ้าหน้าที่ เช่น อำนาจในการเรียกบุคคลเข้าหรือออกจากพื้นที่เพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัย อำนาจในการเรียกบุคคลมามาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ หรืออำนาจในการควบคุมสาธารณูปโภคหรือระบบการสื่อสารในพื้นที่เป็นต้น หลังมีการออกคำสั่งดังกล่าวเจ้าหน้าที่ก็เริ่มทำการปิดล้อมวัดพระธรรมกายและมีการเข้าไปตรวจค้นในบริเวณวัดเป็นระยะ
 
1 มีนาคม 2560
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Phra Sanitwong Charoenrattawong โพสต์ข้อความในเวลา 11.29 น.สรุปได้ว่าได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยโรคหอบหืดอยู่บริเวณหลังวัดต้องการยาพ่น โดยปกติรถของหน่วยกู้ชีพรัตนเวชจะใช้เวลาจากจุดรับแจ้งเหตุไปที่พักผู้ป่วยประมาณ 10 นาที แต่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจซึ่งตั้งด่านอยู่ไม่สามารถปล่อยให้รถผ่านไปได้เพราะต้องรอคำสั่งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยกู้ชีพรัตนเวชจึงประสานไปที่หน่วยกู้ชีพ 1669 ให้ไปรับตัวผู้ป่วยแทน แต่รถของหน่วยกู้ชีพ 1669 ไม่ได้รับอนุญาตให้รับผู้ป่วยที่อื่นนอกจากบริเวณประตูเจ็ด หน่วยกู้ชีพรัตนเวชจึงต้องย้อนไปที่ประตูเจ็ดเพื่อขออนุญาตนำรถของหน่วยกู้ชีพเข้าไปรับตัวผู้ป่วย ซึ่งเมื่อไปถึงพบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ตามคำบอกเล่าของหน่วยรัตนเวชการติดต่อประสานงานเพื่อเข้าไปรับตัวผู้ป่วยใช้เวลาประมาณ หนึ่งชั่วโมงสิบนาที สเตตัสเฟซบุ๊กนี้ตั้งพาดหัวด้วยว่า “R.I.P ศพที่ 2 ของ ม.44”
 
2 มีนาคม 2560

เว็บไซต์พีพีทีวีรายงานว่า พระสนิทวงศ์แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ศิษย์วัดที่เสียชีวิตในวันที่ 1 มีนาคม 2560 ไม่ได้เสียชีวิตในเวลา 9.00 น. ตามที่โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ข่าวกับสื่อ จึงเรียกร้องให้ออกมาขอโทษ นอกจากนี้ที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการดำเนินคดีกับตนเองในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ยืนยันว่าการแถลงข่าวเป็นเพียงแค่การชี้แจงข่าวและคำสั่งตามมาตรา 44 ก็ไม่ได้ห้ามการแถลงข่าว
 
สำหรับข้อความบนเฟซบุ๊ก Phra Sanitwong Charoenrattawong ที่โพสต์เรื่องการเสียชีวิตของศิษย์วัดพระธรรมกายในวันที่ 1 มีนาคม 2560 พระสนิทวงศ์ชี้แจงว่านับตั้งแต่มีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตบริเวณวัดพระธรรมกายตนเองก็ไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กอีกเลย แต่ได้ให้รหัสเฟซบุ๊กดังกล่าวไปกับศิษย์วัดที่อยู่ต่างประเทศ สำหรับโพสต์ในวันที่ 1 มีนาคม 2560 เป็นวิจารณญาณของผู้มีรหัสที่โพสต์ผ่านประเทศสิงคโปร 
 
ในวันเดียวกันข่าวสดออนไลน์รายงานว่า พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า จะพิจารณาความเหมาะสมว่าจะดำเนินคดีทางวัดที่มีการให้ข่าวเรื่องการเสียชีวิตของศิษย์วัดหรือไม่ เพราะการกระทำดังหล่าวอาจทำให้มีอุปสรรคในการทำงานมากขึ้นและเข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง
 
8 มีนาคม 2560 
 
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ศาลอาญาอนุมัติหมายจับพระสนิทวงศ์ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนโดยระบุข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) กระทำให้ปรากฏแก่ประชำชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 
9 มีนาคม 2560 

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าพระสนิทวงศ์พร้อมทนายเดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามแล้วโดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเดินทางมาสอบสวนด้วยตนเอง หลังการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวพระสนิทวงศ์ไปที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขังทันที
 
มติชนออนไลน์รายงานในเวลาต่อมาว่า วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายของพระสนิทวงศ์ใช้เงินสดจำนวน 600,000 บาทขอประกันตัวพระสนิทวงศ์ หลังพิจารณาคำร้องศาลอาญาอนุญาตให้พระสนิทวงศ์ประกันตัวโดยตีราคาประกัน 400,000 บาทพร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามยุยงปลุกปั่นให้ก่อความวุ่นวายและห้ามขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
 
25 เมษายน 2560

ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นฟ้องพระสนิทวงศ์ต่อศาลอาญาแล้ว ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ฐานทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
 
ศาลนัดพระสนิทวงศ์สอบคำให้การในวันที่ 26 เมษายน 2560 พร้อมทั้งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นศาลด้วยวงเงิน 400,000 บาท
 
26 เมษายน 2560
 
นัดสอบคำให้การ
 
ว๊อยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า พระสนิทวงศ์เดินทางไปที่ศาลอาญาตามที่ศาลนัดสอบคำให้การโดยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 โดยพระสนิทวงศ์ระบุว่าข้อความที่โพสต์ไม่ได้โพสต์เป็นการส่วนตัวแต่เป็นการทำตามหน้าที่
 
24 กรกฎาคม 2560
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
คมชัดลึกออนไลน์รายงานว่าพระสนิทวงศ์เดินทางไปที่ศาลอาญาเพื่อยื่นบัญชีพยานหลักฐานต่อศาลตามนัด โดยศาลอ่านฟ้องและถามคำให้การพระสนิทวงศ์อีกครั้ง
 
พระสนิทวงศ์แถลงยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยแถลงว่าช่วงเกิดเหตุมีบุคคลอื่นโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กของพระสนิทวงศ์โดยที่ตัวพระสนิทวงศ์ไม่ทราบเรื่องและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
 
หลังจากนั้นอัยการแถลงต่อศาลว่าจะนำพยานเข้าสืบรวมเก้าปากแต่ในภายหลังมีการตัดพยานโจทก์ออกหนึ่งปากเนื่องจากฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงของพยานปากร.ต.อ.หญิงสุรีย์พร วัฒนแสงซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรของพระสนิทวงศ์ ส่วนทนายจำเลยแถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวมแปดปาก
 
พระสนิทวงศ์ยื่นคำร้องต่อศาลด้วยว่าเนื่องจากยังอยู่ในสมณะเพศจึงไม่สะดวกที่จะเดินทางมาฟังการพิจารณา ขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยซึ่งศาลอนุญาต
 
จากนั้นศาลนัดวันสืบพยานรวมสี่นัด ในวันที่ 7 -8 มิถุนายน 2561 เป็นนัดสืบพยานโจทก์ ส่วนวันที่ 12-13 มิถุนายน 2561 เป็นนัดสืบพยานจำเลย ศาลกำชับคู่ความด้วยว่าจะสืบพยานตามววันนัดอย่างเคร่งครัด
 
7 มิถุนายน 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
พระสนิทวงศ์ มาที่ห้องพิจารณาคดี 805 ศาลอาญาตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. โดยมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่งและเดินทางมาร่วมฟังการสืบพยานด้วย ขณะที่อัยการนำพยานโจทก์สามคนมานั่งรออยู่ในห้องพิจารณาคดี ในเวลาประมาณ 9.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ ก่อนที่ศาลจะเริ่มกระบวนพิจารณาทนายจำเลยลุกขึ้นแถลงว่าจำเลยประสงค์จะเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ พร้อมทั้งนำสั่งคำแถลงของจำเลยต่อศาล 
 
หลังจำเลยเปลี่ยนคำให้การศาลจึงสั่งให้ยกเลิกการการสืบพยานโจทก์และสั่งพักการพิจารณาเพื่อไปเตรียมคำพิพากษาพร้อมทั้งแจ้งกับทนายจำเลยและพระสนิทวงศ์ว่าให้รออยู่ในห้องพิจารณาคดีเลย หลังจากนั้นศาลจึงออกจากห้องพิจารณาคดีไปในเวลาประมาณ 10.15 น. 
 
ในเวลาประมาณ 11.05 น. ศาลกลับมาขึ้นบัลลังก์อีกครั้งและอ่านคำพิพากษาเฉพาะในส่วนบทลงโทษให้พระสนิทวงศ์ฟังโดยสรุปได้ว่า
 
ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในส่วนที่ฟ้องพ่วงกับความผิดฐานหมิ่นประมาทให้ยกไปเนื่องจากในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีนี้มีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่กำหนดให้ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) ไม่ใช่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
 
ในส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 พิพากษาจำคุกกระทงความผิดละหนึ่งปี และปรับกรรมละ 100,000 บาท รวมสองกรรม จำคุกสองปีปรับ 200,000
 
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พิพากษาจำคุกเป็นเวลาสองปี 
 
จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึงหนึ่ง ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาลงโทษจำคุกกระทงความผิดละหกเดือนรวมสองกระทง 12 เดือนและปรับเป็นเงิน 100,000 บาท ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จำคุก หนึ่งปี 
 
รวมจำคุกหนึ่งปี 12 เดือน และปรับเป็นเงิน 100,000 บาท โืทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี และให้คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 1 ปีโดยให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทั้งหมดสี่ครั้ง
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา