สมลักษณ์ คดีที่สี่ : โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เหมืองทองคำที่ จ. พิจิตร

อัปเดตล่าสุด: 28/11/2562

ผู้ต้องหา

สมลักษณ์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจเหมืองแร่และผลิตทองคำและเงิน ซึ่งได้ประทานบัตรอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและเงินในพื้นที่จังหวัดพิจิตร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีกรรมการห้าคน คือ นายรอส โดนัลด์ สมิธ-เคิร์ก นายปีเตอร์ วิลเลี่ยม วอร์เรน นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยล์ นายพอล แอชลีย์ เมสัน และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ

สารบัญ

สมลักษณ์ โพสต์ข้อความผ่านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “Somlak hutanuwatr (Thai Leak)” ซึ่งเป็นข้อความประกอบการแชร์บทความ เรื่อง การแถลงข่าวของโจทก์ที่เตรียมดำเนินการยื่นขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ ว่า “ความเลวร้ายของทุนสามานย์ คือ “ความไร้สำนึกชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
 
บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ เห็นว่าเป็นการพาดพิงกิจการเหมืองแร่ของตน จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีนี้ศาลจังหวัดพิจิตรมีคำสั่งรับฟ้อง 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สมลักษณ์ เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นกรรมการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นอดีตพยานผู้เชี่ยวชาญกรณีเหมืองทองพิจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
 
นอกจากคดีนี้ สมลักษณ์ยังถูกโจทก์ในคดีนี้ฟ้องอีกสามคดี จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่าโจทก์ไม่จ่ายภาษี และกล่าวหาว่ากิจการเหมืองแร่ของโจทก์ก่อให้เกิดมลพิษ โดยสองคดีแรกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง ส่วนคดีที่สาม ศาลจังหวัดพิจิตรสั่งรับฟ้องไว้พิจารณา
 
หมายเหตุ : บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โจทก์ อุทธรณ์ทุกคดี 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
ดูหมิ่นซึ่งหน้า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ตามคำบรรยายฟ้องระบุว่า วันที่ 31 ตุลาคม 2559 สมลักษณ์ได้นำเข้าข้อความเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ชื่อบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก คือ “Somlak hutanuwatr (Thai Leak)” ซึ่งเป็นข้อความประกอบการแชร์บทความ เรื่องการแถลงข่าวของโจทก์ที่เตรียมดำเนินการยื่นขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมหรือใบอนุญาตโรงแต่งแร่ทองคำว่า “ความเลวร้ายของทุนสามานย์ คือ “ความไร้สำนึกชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ทำทุกอย่างเพื่อสนองความโลภที่ไม่มีขีดจำกัด ไม่เลือกกาลเทศะ ไม่ตระหนักถึงความเป็นชนชาติ ทุนสามานย์คิดเพียงเกิดมาเสพสูงสุด ตราบที่กฎหมายล่าตัวไม่ได้ และใช้ทุนกับช่องว่างของกฎหมายเป็นเครื่องมือล่าฝ่ายต่อต้านที่ขัดขวางผลประโยชน์ เพื่อสถาปนาอาณานิคมด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไม่ยี่หระต่อขอบขันธสีมาดินแดนบ้านเกิด เป็นเผ่าพันธุ์นักล่าเท่านั้น”
 
โดยโจทก์เห็นว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายในทำนองว่า “โจทก์บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (ที่จำเลยใช้คำว่า “ทุน”) เป็นบริษัทที่ชั่วช้า ต่ำทราม (สามานย์) ไม่มีความสำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง การขอต่อใบอนุญาตฯ ของโจทก์ในช่วงนี้เป็นการไม่สมควร ไม่รู้กาละเทศะ เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาที่ประชาชนชาวไทยถวายความอาลัยและไว้ทุกข์ต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย และบริษัทอัคราฯ โจทก์ มุ่งใช้ช่องว่างของกฎหมายจัดการกับบุคคลที่ต่อต้านเหมืองแร่ทองคำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และเพื่อที่จะจัดตั้งรัฐหรืออาณาจักรของตนเองทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโดยไม่สนใจแผ่นดินไทย”
 
อีกทั้ง บทความดังกล่าวมีรูปภาพของ นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อยู่ด้วย จึงทำให้บุคคลที่เป็นสมาชิกเฟซบุ๊กหรือบุคคลทั่วไปที่เห็นการโพสต์ของจำเลย สามารถเข้าใจและทราบได้ว่าเป็นการกล่าวถึงโจทก์อย่างชัดเจน 
 
นอกจากนี้ ในคำฟ้องของโจทก์ยังระบุด้วยว่า จำเลยอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง และยังเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย การกระทำใดๆก็ตามจึงควรไตร่ตรองและพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะกรณีที่สุ่มเสี่ยงต่อความรู้สึกและสร้างความตื่นตระหนกให้แก่คนจำนวนมากอย่างเช่น กรณีตามฟ้อง ดังนั้น จำเลยจึงสมควรได้รับโทษสูงสุด
 
ในคำขอท้ายคำฟ้อง โจทก์ขอให้ศาลลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 393, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และขอให้ศาลสั่งและบังคับให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่จำหน่ายทั่วประเทศ เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332
 
 

พฤติการณ์การจับกุม


บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.2377/2559

ศาล

ศาลจังหวัดพิจิตร

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
31 ตุลาคม 2559
 
สมลักษณ์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ “Somlak Hutanuwatr (Thai Leak)” เป็นข้อความประกอบการแชร์บทความ ระบุว่า “ความเลวร้ายของทุนสามานย์ คือ “ความไร้สำนึกชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ทำทุกอย่างเพื่อสนองความโลภที่ไม่มีขีดจำกัด ไม่เลือกกาลเทศะ ไม่ตระหนักถึงความเป็นชนชาติ ทุนสามานย์คิดเพียงเกิดมาเสพสูงสุด ตราบที่กฎหมายล่าตัวไม่ได้ และใช้ทุนกับช่องว่างของกฎหมายเป็นเครื่องมือล่าฝ่ายต่อต้านที่ขัดขวางผลประโยชน์ เพื่อสถาปนาอาณานิคมด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไม่ยี่หระต่อขอบขันธสีมาดินแดนบ้านเกิด เป็นเผ่าพันธุ์นักล่าเท่านั้น”
 
 
9 ธันวาคม 2559
 
บริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพิจิตรให้ดำเนินคดีกับสมลักษณ์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 328, ความผิดฐานดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 และความผิดฐานหมิ่นประมาท จากการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มาตรา 14 (1) 
 
6 มีนาคม 2560
 
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
 
 
24 มีนาคม 2560
 
ตามกำหนด ศาลมีนัดฟังอ่านคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง เวลา 13.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 9 โดยผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาคดี คือ นายชุมพล จันทศร
 
เมื่อถึงเวลา 13.30 น. ในห้องพิจารณาคดี 9 มีเพียงเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ทนายฝ่ายโจทก์ ผู้ติดตามทนายฝ่ายโจทก์ และผู้เข้าฟังหนึ่งคน รวมทั้งสิ้นสี่คน จนกระทั่งเวลา 13.47 น. ทนายความฝ่ายโจทก์ได้เก็บครุย และเก็บรวมรวมเอกสารต่างๆเข้ากระเป๋า และเดินออกจากห้องพิจารณาคดีไป
 
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ได้ความเพียงว่า ศาลมีคำสั่งรับฟ้องว่าคดีมีมูลและนัดพร้อมสอบคำให้การ ในวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2560 โดยในวันนี้ศาลไม่ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำสั่งเอง
 
 
8 กุมภาพันธ์ 2561
 
เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดพิจิตรอ่านคำพิพากษายกฟ้องสมลักษณ์ หุตานุวัตร นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตรฟ้องร้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326,328 และ 393 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบอบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลเท็จอันอาจทำให้ผู้อื่นเสียหายตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) จากการแชร์และเขียนโพสต์ประกอบบทความเรื่อง อัคราขอต่อใบอนุญาตโรงแต่งแร่ทองคำ บนเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อว่า Somlak Hutanuwatr (Thai Leak)
 
 
ศาลให้เหตุผลประกอบคำพิพากษายกฟ้องโดยสรุปได้ว่า การใส่ความหมิ่นประมาทบุคคลใดจะต้องรับรู้ได้แน่นอนจากข้อความว่า ผู้ที่ถูกใส่ความเป็นใคร แต่เมื่ออ่านข้อความตามฟ้องกลับไม่ปรากฎว่า บริษัทเป็นของใคร การระบุว่าจำเลยใส่ความบริษัทของโจทก์เป็นความเข้าใจเฉพาะของโจทก์เอง ไม่ใช่ความเข้าใจของบุคคลทั่วไป และหากต้องการทราบว่า บุคคลที่จำเลยต้องการกล่าวถึงคือใคร ก็ไม่แน่ว่าบุคคลทั่วไปที่ได้อ่านจะสืบเสาะพบว่าเป็นโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์คิดว่า โพสต์ของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์แสดงให้เห็นว่า โจทก์ยึดเอาความรู้สึกตนเป็นสำคัญ ข้อความตามฟ้องของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากไม่มีส่วนใดของเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับโจทก์เลย
 
 
สมลักษณ์กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ผลการพิพากษาเป็นไปตามความคาดหมาย แต่เข้าใจได้ว่า ผู้ดำเนินการฟ้องต้องทำตามหน้าที่ของเขา ตอนนี้ตัวเองมีคดีที่ยังเคลื่อนไหวอยู่สองคดีจากทั้งหมดสี่คดีที่ถูกบริษัท อัคราฯ ฟ้อง คือ คดีที่สามอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ อีกคดีที่หนึ่งอยู่ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ สมลักษณ์ยืนยันว่า จะทำงานด้านนี้ต่อไป โดยตอนนี้กำลังเตรียมเรื่องการหยุดยั้งการเปิดเหมืองแร่ในยุทธศาสตร์แร่แห่งชาติและแผนแม่บทแร่แห่งชาติ ส่วนผลกระทบจากการถูกฟ้องคดีพร้อมกันถึงสี่คดีเช่นนี้ รู้สึกเฉยๆและคิดว่าจะเป็นโอกาสในการสื่อสารกับสังคมในเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองแร่
 
 
10 ตุลาคม 2561
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 393 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งเป็นกฎหมาย บทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือนและปรับ 20,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐเป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกันโดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาข้อหา  
 
 
 

คำพิพากษา

คำพิพากษาศาลชั้นต้น


บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้องสมลักษณ์ หุตานุวัตร จำเลย กรณีที่จำเลยแชร์ข่าวที่โจทก์ได้เตรียมดำเนินการยื่นขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมหรือใบอนุญาตโรงแต่งแร่ทองคำต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยในลิงค์ข่าวนั้นมีภาพของเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย และเขียนข้อความประกอบว่า ความเลวร้ายของทุนสามานย์ คือ ความไร้สำนึก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำทุกอย่างเพื่อสนองความโลภไม่มีขีดจำกัด ไม่เลือกกาลเทศะ ไม่ตระหนักถึงความเป็นชาติ ทุนสามานย์คิดเพียงเกิดมาเพื่อเสพสูงสุดตราบที่กฎหมายล่าตัวไม่ได้และใช้ทุนกับช่องว่างของกฎหมายเป็นเครื่องมือล่าฝ่ายต่อต้านที่ขัดขวางผลประโยชน์ เพื่อสถาปนาอาณานิคมด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไม่ยี่หระต่อขอบขัณฑสีมาดินแดนบ้านเกิด เป็นนักล่าเท่านั้น
ในทางนำสืบโจทก์ว่า เดิมโจทก์ใช้ชื่อบริษัทว่า บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด  บุคคลทั่วไปเรียกว่า เหมืองทองพิจิตรหรือเหมืองแร่ทองคำชาตรี ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำถูกต้องตามกฎหมาย ตามหลักวิชาการมาตรฐานสากล ภายใต้การควมคุมของหน่วยงานราชการ ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมหรือใบอนุญาตแต่งแร่ทองคำของโจทก์จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งจะต้องยื่นขอต่ออายุภายใน 60 วันก่อนใบอนุญาตเดิมหมดอายุ มีการเสนอข่าวของโจทก์ตามสื่อสาธารณะ

แต่จำเลยได้หมิ่นประมาทและดูหมิ่นโจทก์ด้วยการโฆษณาตามข้อความที่ระบุข้างต้น ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ว่า โจทก์จดทะเบียนขออนุญาตและประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้การควบคุมจากภาครัฐ เสียภาษีรายได้ ค่าภาคหลวงมาโดยตลอด ไม่เคยใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดำเนินการกับบุคลที่ต่อต้านการทำเหมืองแร่ทองคำ โจทก์อยู่ร่วมกับชุมชนมาเป็นระยะเวลา 15 ปี มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด

จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสิทธิมนุษยนชนแห่งชาติ เป็นคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแน้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นอกจากนี้ยังเป็นคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกด้วย

โพสต์ดังกล่าวเป็นข้อความที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์ และข้อความเกี่ยวกับทุนสามานย์เป็นการเขียนตามหลักวิชาการ เป็นการติชมโดยบริสุทธิ์ใจตามหลักวิชาการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทของโจทก์หรือบุคคลภายในบริษัทของโจทก์ จำเลยไม่มีเจตนาในการหมิ่นประมาทโจทก์เพราะถ้าจำเลยมีเจตนาดังกล่าว จำเลยสามารถลงชื่อโจทก์ในข้อความดังกล่าวได้

พิเคราะห์ว่า ถ้าหากอ่านเฉพาะข้อความตามที่จำเลยเขียนประกอบนั้นไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา 326 และ 328 นั้นจะต้องได้ความว่า การใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวตนผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่า เป็นใครหรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็จะต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่ออ่านข้อความแล้วไม่มีตอนใดระบุว่า เป็นโจทก์ ประกอบกับเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ตอบคำถามทนายจำเลยว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีเนื้อความใดที่ระบุว่า เป็นบริษัทของโจทก์


ดังนั้นการที่โจทก์อ่านข้อความประกอบโพสต์ของจำเลยและมารวมกับรูปภาพของเชิดศักิด์ที่อยู่ในลิงค์ข่าวด้านล่างและสรุปว่า เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์นั้นเป็นเพียงความเข้าใจของโจทก์เท่านั้น หาใช่ความเข้าใจของบุคคลทั่วไป ที่อ่านข้อความแล้วไม่ทราบหรือเข้าใจได้ว่า ข้อความที่จำเลยเขียนหมายถึงผู้ใด หากต้องการรู้ต้องไปสอบถามเพิ่มเติม ซึ่งไม่แน่ว่าสืบเสาะแล้วจะหมายถึงโจทก์หรือไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์ยึดถือความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นสำคัญ ทั้งที่บุคคลทั่วไปไม่ได้มีการรับรู้หรือเข้าใจว่า ข้อความดังลก่าวหมายถึงโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และไม่เป็นการดูหมิ่นโจทก์ตามฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 
 
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ได้รับสัมปทานบัตรอนุญาตในการทำเหมืองแร่ทองคำในการประกอบกิจการของโจทก์ โจทก์ได้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรมหรือใบอนุญาตโรงแต่งแร่ทองคำจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2559  ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 โจทก์โดยเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ออกแถลงข่าวว่า โจทก์เตรียมดำเนินการยื่นขอต่อใบอนุญาตดังกล่าวต่อ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก่อนใบอนุญาตหมดอายุและสื่อมวลชนต่าง ๆ รวมทั้งสำนักข่าว Newsdatatoday เสนอข่าวต่อสาธารณชน หลังจากนั้นโจทก์ได้ยื่นเอกสารขอต่อใบอนุญาต จำเลยเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของโจทก์
 
 
 
จำเลยใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “Somlak Hutanuwatr (Thai Leak) หรือสมลักษณ์ หุตานุวัตร”ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยนำ ข้อความเข้าสู่ระบบสื่อสารคอมพิวเตอร์ประเภทเฟซบุ๊กของตนเองว่า “ความเลวร้ายของทุนสามานย์ คือ “ความไร้สำนึกชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ทำทุกอย่างเพื่อสนองความโลภที่ไม่มีขีดจำกัด ไม่เลือกกาลเทศะ ไม่ตระหนักถึงความเป็นชาติ ทุนสามานย์คิดเพียงเกิดมาเสพสูงสุดตราบที่กฎหมายล่าตัวไม่ได้ และใช้ทุนกับช่องว่างกฎหมายเป็นเครื่องมือล่าฝ่ายต่อต้านที่ขัดขวางผลประโยชน์เพื่อสถาปนาอาณานิคมด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไม่ยี่หระต่อขอบขัณฑสีมาดินแดนบ้านเกิด เป็นเผ่าพันธุ์นักล่าเท่านั้น”
 
 
 
คดีมีปัญหาต้อง วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ในเฟซบุ๊กของจำเลยดังกล่าวข้างต้นหมายถึงโจทก์และเป็นการกล่าวหมิ่นประมาทและดูหมิ่นโจทก์ด้วยการโฆษณานั้น เห็นว่า แม้ข้อความที่จำเลยนำเข้าสู่เฟซบุ๊คของตนส่วนบนที่เป็นข้อความประกอบโพสต์จะไม่มีชื่อโจทก์หรือข้อความใดที่หมายถึงโจทก์ แต่ข้อความส่วนล่างในเฟซบุ๊กของจำเลย ดังกล่าวมีการนำเนื้อข่าวเรื่องโจทก์ ขอต่อใบอนุญาตที่ปรากฏรูป นายเชิดศักดิ์ ผู้แทนโจทก์ หัวข้อข่าวที่มีชื่อโจทก์และเนื้อข่าวบางส่วนที่มีสาระข่าวตามที่สำนักข่าว Newsdatatoday เสนอต่อสาธารณชน
 
 
 
ซึ่งเมื่อ่านข้อความประกอบกันทุกส่วนแล้วข้อความที่จำเลยนำเข้าสู่เฟซบุ๊กของตนดังกล่าวจึงหมายถึงโจทก์และมีความหมายที่สื่อให้เห็นว่า โจทก์เป็นบริษัทที่มีทุนประกอบการมากทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองสนองความโลภที่ไม่มีขีดจำกัดใช้ทุนที่มีจำนวนมากและช่องว่างของกฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการกับฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านขัดขวางผลประโยชน์ในกิจการของโจทก์ โดยไร้ความสำนึกต่อแผ่นดินไทยทำนองว่าโจทก์เป็นบริษัทที่ใช้เงินทุนอย่างเลวทรามต่ำช้า ทำให้ผู้อ่านข้อความที่จำเลยลงไว้แล้วเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมในทางไม่ดีใช้เงินทุนชั่วช้า แม้จำเลยจะเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของโจทก์ จำเลยก็ไม่มีสิทธิกล่าวหาโจทก์ด้วยข้อความดังกล่าวกรณี จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการติชมด้วยความชอบธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำกัน
 
 
 
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นโจทก์ด้วยการโฆษณาส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อมาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ดังนั้น เห็นว่า  ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 แก้ไของค์ประกอบความผิดของมาตรา 14 (1) โดยมีสาระสำคัญว่า การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนที่จะเป็นความผิด ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นต้องมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฏหมายอาญา ดังนั้น เมื่อการกระทำ ของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ เป็นกรณีที่ตามบทบัญญัติของกฏหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นผลจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
 
 
 
กรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นโจทก์ด้วยการโฆษณามานั้นศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน  ที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้นับโทษจำเลยต่อโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1468/2559 ของศาลชั้นต้นและคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3843/2559 ของศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเรื่องขอให้นักโทษต่อและไม่มีคำขอท้ายฟ้องขอให้นับโทษไว้ จึงไม่อาจนับโทษต่อตามที่โจทก์ขอได้        
 
 
 
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 393 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งเป็นกฎหมาย บทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือนและปรับ 20,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐเป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกันโดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาข้อหา  


 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา