สุริยศักดิ์: ส่งข้อความผ่านไลน์

อัปเดตล่าสุด: 07/10/2565

ผู้ต้องหา

สุริยศักดิ์

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมาย คสช. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

สารบัญ

สุริยศักดิ์ แกนนำนปช.สุรินทร์ ถูกจับกุมร่วมกับผู้ต้องหาอีกแปดคนโดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเครือข่ายโกตี๋ สุริยศักดิ์ถูกตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายจากการชุมนุมในปี 2553 และข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการส่งข้อความทางไลน์ ขณะที่ผู้ต้องหาอีกแปดคนถูกตั้งข้อกล่าวหาครอบครองอาวุธและก่อการร้าย 
 
ต่อมาไม่มีการฟ้องคดีผู้ต้องหาคนอื่น และปล่อยตัวไป เหลือเพียงสุริยศักดิ์ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ และดำเนินคดีไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งได้ประกันตัว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 และ คสช. สั่งเลิกเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร
 
คดีนี้ผ่านไปนานกว่า 5 ปี จึงได้เริ่มสืบพยานที่ศาลอาญา พลล.อ.วิจารณ์ จดแตง นายทหารฝ่ายกฎหมายของคสช. เบิกความว่า ได้รับเอกสารภาพถ่ายจากหน้าจอไลน์มาจากตำรวจสันติบาล ส่วนพล.ต.ท.สราวุฒิ การพาณิช ตำรวจสันติบาล ก็เบิกความว่า ได้รับภาพดังกล่าวมาจากสายลับ พยานโจทก์หลายคนก็เบิกความต่อศาลยอมรับว่า บัญชีไลน์ปลอมแปลงได้ง่าย อาจมีผู้ที่เอาภาพและชื่อของบุคคลอื่นไปตั้งบัญชีใหม่ได้ 
 
ด้านจำเลยต่อสู้คดีว่า ไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก่อนถูกจับกุมไม่เคยใช้ไลน์เพราะไม่ถนัดเทคโนโลยี หลังได้ปล่อยตัวก็ใช้งานไลน์แล้วแต่สายตาไม่ดีจึงใช้ในแท็บเล็ต โดยเชื่อว่าการดำเนินคดีนี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ถูกจับกุม
 
5 ตุลาคม 2565 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง ยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีมีความขัดแย้งกันและพบพิรุธหลายประเด็น เช่น การเบิกความของพยานโจทก์ การพิสูจน์ตัวตนของจำเลยในการใช้บัญชีไลน์

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สุริยศักดิ์ถูกจับกุมขณะอายุ 49 ปี เป็นชาวจังหวัดสุรินทร์ ประกอบอาชีพค้าขาย และเป็นแกนนำนปช.จังหวัดสุรินทร์
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกการจับกุมระบุว่า ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 สุริยศักดิ์ส่งข้อความพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ ชื่อกลุ่มว่า "คนนอกกะลา" ด้วยไลน์บัญชีชื่อ “Suriyasak” ซึ่งมีรูปโปรไฟล์เป็นรูปของสุริยศักดิ์ ในทำนองโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทำของสุริยศักดิ์ถูกตั้งข้อหาว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
 
การกระทำตามข้อกล่าวหาของสุริยศักดิ์เกิดขึ้นก่อนการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ที่ให้ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร 
 

พฤติการณ์การจับกุม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 เวลาประมาณ 06.00 น. มีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ารถตู้สองคัน รถตำรวจหนึ่งคันและรถฟอร์จูนเนอร์อีกสองคันขับเข้าไปในซอยบ้านของสุริยศักดิ์ ก่อนจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบจากหลายหน่วย ทั้งหน่วยในกรุงเทพฯและหน่วยจากพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มากกว่าสิบนาย พร้อมอาวุธปืนยาวร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อยห้านายจับกุมสุริยศักดิ์ที่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ และนำตัวสุริยศักดิ์ออกไป 
 
ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2560 เพื่อนของสุริยศักดิ์เดินทางไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อขอเข้าเยี่ยมแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทหารยืนยันว่าสุริยศักดิ์ถูกคุมตัวอยู่ภายใน มทบ.11 โดยจะถูกควบคุมตัวเป็นเวลาเจ็ดวัน 
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าการจับกุมสุริยศักด์ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการบุกค้นเก้าจุด เพื่อทลายเครือข่ายอาวุธสงคราของ "โกตี๋" หรือ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ แนวร่วมนปช. ที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ในปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อยเก้าคน ซึ่งสุริยศักดิ์เป็นหนึ่งในนั้น 
 
 
 
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

223/2560

ศาล

ศาลทหารกรุงเทพ

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
18 มีนาคม 2560
 
สุริยศักดิ์ ถูกจับกุมตัวจากบ้านในจังหวัดสุรินทร์ และถูกนำตัวไปควบคุมที่ มทบ.11 ในกรุงเทพมหานคร
 
19 มีนาคม 2560 
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกันแถลงผลการตรวจค้น ตามยุทธการปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายเตรียมการก่อเหตุความไม่สงบเรียบร้อยในเก้าพื้นที่เป้าหมายในเจ็ดจังหวัด ประกอบด้วย จ.ปทุมธานี อ่างทอง หนองคาย สุรินทร์ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ
 
จากการตรวจค้นสามารถยึดของกลางเป็นอาวุธปืนชนิดต่างๆ รวม 13 กระบอก กระสุนปืนจำนวน 5,949 นัด ชิ้นส่วนและส่วนควบอาวุธปืนเจ็ดรายการ สิ่งเทียมอาวุธปืนแปดกระบอกฯลฯ ยาบ้า 393 เม็ด ป้ายผ้าสีแดง และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหลายรายการ โดยควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 9 คน มีทั้งตำรวจ ทหาร และพลเรือน
 
24 มีนาคม 2560
 
เวลาประมาณ 10.40 ที่กองบังคับการปราบปราม พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการด้านกฎหมาย คสช. และ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. ควบคุมตัวผู้ต้องหาเก้าคน ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในเครือข่ายของ "โกตี๋" มาส่งมอบต่อให้พนักงานสอบสวน และจัดแถลงข่าว พร้อมของกลาง
 
ผู้ต้องหาเก้าคน ประกอบด้วย ธีรชัย หรือระพิน อายุ 55 ปี, ประเทือง อายุ 58 ปี, ปาลิดา อายุ 62 ปี, บุญส่ง อายุ 54 ปี, จ.ส.อ.ธนโชติ อายุ 57 ปี, ว่าที่ ร.ต.สุริยศักดิ์ อายุ 49 ปี, เอมอร อายุ 44 ปี, วันไชยชนะ ครุฑไชยันต์ อายุ 56 ปี, อุดมชัย หรือแสนรัก อายุ 60 ปี
 
เมื่อมาถึงที่กองบังคับการปราบปราม ก่อนการแถลงข่าวผู้ต้องหาทุกคนถูกนำตัวไปถ่ายภาพ ทำประวัติ และพบแพทย์จากโรงพยาบาตำรวจ เพื่อตรวจร่างกายและยืนยันว่าไม่มีร่องรอยการทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว ทางเจ้าหน้าที่ยังติดต่อทนายความจากสภาทนายความให้มาพบผู้ต้องหาในวันดังกล่าวด้วย
 
Koti press conference
 
ระหว่างการแถลงข่าวพล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช อ่านรายชื่อผู้ต้องหาและข้อหาตามหมายจับ ทุกคนถูกออกหมายจับฐานซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 จากการจัดประชุมร่วมกัน บางคนถูกตั้งข้อหาการครอบครองอาวุธ และครอบครองยาเสพติดด้วย มีสุริยศักดิ์เพียงคนเดียวที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 
 
สุริยศักดิ์ แสดงความคิดเห็นในระหว่างการแถลงข่าวว่า ขอปฏิเสธความเกี่ยวพันกับอาวุธที่ตรวจยึดได้ทั้งหมด เพราะไม่ใช่แนวทางการเคลื่อนไหวของ นปช. เนื่องจาก นปช. เชื่อในแนวทางสงบสันติ ด้านพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่นั่งเป็นประธานในการแถลงข่าว กล่าวกับทุกคนว่า สุริยศักดิ์ไม่ได้ถูกออกหมายจับในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับอาวุธอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปฏิเสธเรื่องนี้อีก เพราะไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก
 
หลังจากเสร็จสิ้นการแถลงข่าวที่กองบังคับการปราบปรามในเวลาประมาณ 12.00 น. ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ เนื่องจากคดีที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายของ "โกตี๋" ดีเอสไอได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบ
 
ในช่วงเย็นดีเอสไอ้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาทั้ง 9 เป็นข้อหาก่อการร้าย จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 และผู้ต้องหาหลายคนถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมฐานครอบครองอาวุธ แม้สุริยศักดิ์ไม่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธ แต่มีพ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโยโลยี(ปอท.)เดินทางมาที่ดีเอสไอด้วยตนเองเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แก่สุริยศักดิ์จากการส่งข้อความทางไลน์กลุ่ม แยกเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
 
หลังการแจ้งข้อกล่าวหา สุริยศักดิ์ และผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของดีเอสไอ
 
25 มีนาคม 2560
 
เวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ต้องหาทั้งเก้าคนถูกนำตัวไปที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังจากศาล พนักงานสอบสวนจากดีเอสไอยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน พฤติการณ์ตามคำร้องขอฝากขังระบุว่า ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงพบว่า มีกลุ่มบุคคลที่เป็นเครือข่ายของ "โกตี๋" ร่วมกันวางแผนสะสมสอาวุธ อาวุธสงคราม และวัตถุระเบิด เพื่อเตรียมการก่อเหตุร้ายและความไม่สงบ จึงปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่วัดพระธรรมกาย และตรวจค้นบุคคลเก้าจุดในเจ็ดจังหวัด พบอาวุธจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นอาวุธของทหารที่ถูกปล้นไประหว่างเหตุการณ์ชุมนุมในปี 2553 พบเอกสารเกี่ยวกับจัดตั้งกองกำลังอีกจำนวนมาก บ่งบอกว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าคน เป็นเครือข่ายของ "โกตี๋" ที่สะสมกำลังหรืออาวุธเพื่อสนับสนุนการก่อการร้ายในปี 2553 ผู้ต้องหาทั้เก้าคนจึงถูกแจ้งข้อหาก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1, 135/2 
 
หลังยื่นคำร้อง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง โดยญาติของผู้ต้องหาบางคนยื่นคำร้องขอประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาต เนื่องจากความผิดที่ถูกกล่าวหามีโทษสถานหนักถึงประหารชีวิต พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเป็นขบวนการก่อให้เกิดความรุนแรงและความไม่สงบสุขในบ้านเมือง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านเกรงว่าจะหลบหนีหรือจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น
 
สุริยศักดิ์ไม่ได้ยื่นประกันตัวเนื่องจากคาดว่าศาลจะไม่อนุญาต และหากได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในคดีนี้ ก็จะต้องถูกอายัดตัวไปฝากขังต่อศาลทหารในคดีตามมาตรา 112 อีก สุริยศักดิ์และผู้ต้องหารวมเก้าคนถูกส่งไปควบคุมตัวในเรือนจำ ผู้ชายถูกควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนผู้หญิงถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งเป็นการควบคุมตัวระหว่างการสอบสวนในคดีก่อการร้าย
 
 
17 กรกฎาคม 2560
 
อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ในข้อหาก่อการร้าย และข้อหาเกี่ยวกับการสะสมกำลังอาวุธ ทั้ง 9 คนจึงถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ ขณะกำลังจะออกจากเรือนจำ พนักงานสอบสวนจากปอท. เดินทางมาขออายัดตัวสุริยศักดิ์ต่อเพื่อดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 และนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้องเป็นเวลาสองคืน ก่อนส่งตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง และสุริยศักดิ์ถูกส่งกลับเข้าไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อ
 

20 กันยายน 2561 
 
นัดสอบคำให้การ
 
สุริยศักดิ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานวันแรก 22 มกราคม 2562
 
 
12 มิถุนายน 2562
 
ศาลทหารกรุงเทพ มีคำสั่งให้สุริยศักดิ์ได้ประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท และถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงค่ำ รวมีะยะเวลาที่เขาถูกควบคุมตัว 816 วัน
 
 
6 สิงหาคม 2562

นัดโอนคดี

เวลา 13.00 น. ศาลแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้งดการพิจารณาคดี ในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรมสัญญาประกันให้มีผลต่อไป

 
 
16 สิงหาคม 2565
 
นัดสืบพยาน 
 
ศาลเริ่มการสืบพยานในเวลาประมาณ 10.40 เดิมพยานโจทก์ปากที่ 1 ที่ตั้งใจจะนำเข้าสืบ คือ พล.ต.ท.สราวุฒิ การพาณิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผช.ผบ.ตร. แต่ฝ่ายโจทก์ขอเลื่อนการสืบพยานปากนี้เป็นวันที่ 17 สิงหาคม 2565 และเอาพยานปากอื่นเข้าสืบก่อน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 : พล.อ.วิจารณ์ จดแตง ทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช.
 
ศาลถามประวัติส่วนตัวพยาน พล.อ.วิจารณ์ ตอบว่า ช่วงระหว่างปี 59-60 ทำงานตำแหน่ง เป็น ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร์ (กอ.รมน.) และได้รับคำสั่งจาก คสช. ให้เป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย หน่วยเฉพาะกิจด้านการข่าว ประจำสำนักเลขาธิการ คสช.  มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ตามที่ได้รับมอบหมาย
 
ศาลถามที่มาของคดีนี้ พล.อ.วิจารณ์ ตอบว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 พยานได้รับแจ้งจาก พล.ต.ท.สราวุฒิ เป็นภาพข้อความจากไลน์ ซึ่งเวลาเกิดเหตุ คือ วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 เวลา 19.35 น. มีข้อความของจำเลย และรูปโปรไฟล์ของไลน์นั้น เป็นภาพของจำเลย โดยมีรถยนต์ที่มีทะเบียน มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ ได้พิมพ์ข้อความว่า “ประทานให้มีระบอบกษัตริย์XXนานจนเกินไปประเทศไทยจึงล้าหลังฉิบหายมานานหลายชั่วอายุคน เราต้องมาร่วมกันเอาระบอบกษัตริย์XXออกไปให้ได้ประเทศไทยจึงจะพ้นภัย ประชาชนชาวไทยไม่ได้เลวไม่ได้ทำลายประเทศแต่คนที่ทำลายประเทศทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ก็คือผู้นำได้แก่ระบอบกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองมาหลายร้อยปี โจรสลัดมิใช่กษัตริย์ ความดีความชั่วทุกอย่างถูกเปิดโปงหมดเปลือกขนาดนี้แล้ว หากดำรงอยู่ได้ก็ปาฏิหาริย์แล้วครับ”
 
อัยการถามว่า เมื่ออ่านข้อความแล้วรู้สึกอย่างไร พล.อ.วิจารณ์ ตอบว่าเข้าใจว่า จำเลยหมิ่นพระมหากษัตริย์ และกระทบต่อราชวงศ์ จึงแจ้งข้อกล่าวหา ม.112 และ พรบ.คอม แก่จำเลย เพราะเชื่อว่าข้อความดังกล่าวเป็นของจำเลย เนื่องจากทางตำรวจสันติบาลนำภาพถ่ายไปตรวจสอบ ตนเลยเชื่อว่าบัญชีไลน์ดังกล่าวเป็นของจำเลย
 
อัยการถามว่า รู้จักประวัติส่วนตัวของจำเลยหรือไม่ พล.อ.วิจารณ์ตอบว่า 
จำเลย อยู่จังหวัดสุรินทร์ เป็นแกนนำ นปช.สุรินทร์ และอยู่กลุ่มเดียวกับ “โกตี๋” จึงเชื่อว่าจำเลยมีแนวคิดที่หมิ่นสถาบัน
 
ทนายจำเลยถามค้านว่า รู้หรือไม่ว่า มีความแตกต่างของลักษณะหน้าจอของไลน์ ระหว่างไลน์ส่วนตัว กับ ไลน์กลุ่ม พล.อ.วิจารณ์ตอบว่า ไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มหรือเปล่า แต่รู้ว่าเป็นชื่อของจำเลย ทนายจำเลยถามต่อว่า รู้หรือไม่ว่า ผู้ใดเป็นคนรับข้อความดังกล่าว และทราบหรือไม่ว่าช่วงก่อนและหลัง ข้อความดังกล่าว มีการพูดคุยอะไรบ้าง
พล.อ.วิจารณ์ ไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามว่า ก่อนหน้าการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ ทราบหรือไม่ว่า จำเลยเคยถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นคดีก่อการร้ายมาก่อน พล.อ.วิจารณ์ ไม่ทราบ และไม่ทราบว่าจำเลยเคยถูกยึดโทรศัพท์มือถือไปตรวจสอบ ทนายจำเลยถามว่า พยานได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ได้รับจากตำรวจหรือไม่ พล.อ.วิจารณ์ ตอบว่า ไม่ได้ตรวจสอบ เพราะยึดตามหลักฐานของตำรวจ
 
ทนายจำเลยถามว่า : พยานเคยพูดคุยกับผู้รับข้อความ จากภาพหลักฐานที่ใช้แจ้งดำเนินคดีหรือไม่ พล.อ.วิจารณ์ตอบว่า ไม่เคยเจอ และไม่เคยพูดคุย ทนายถามต่อว่า 
ถ้ามีคนปลอมบัญชีไลน์ โดยใช้ภาพจำเลย มาใส่ในบัญชีไลน์ ซึ่งคนที่ทำเป็นใครไม่รู้ ทางพยานจะไม่มีทางทราบใช่หรือไม่ พล.อ.วิจารณ์ตอบว่า ไม่ทราบ
 
อัยการถามติงว่า ในส่วนของชื่อไลน์ การใช้รูป ที่ได้รับการตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยี ใช้วิธีการอย่างไร พล.อ.วิจารณ์ ตอบว่า ยืนยันว่า ใช้วิธีการตรวจสอบจากรูปที่ใช้ในโปรไฟล์ไลน์ จากทะเบียนรถยนต์ที่อยู่ในรูป ที่อยู่ และประวัติทางการเมือง
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 : ชัชวาลย์ ผู้ให้ความเห็นเมื่ออ่านข้อความ
 
ชัชวาลย์เบิกความว่า เคยไปทำภารกิจที่ ปอท. และมีพนักงานสอบสวน นำเอกสารที่เป็นภาพแชทไลน์ให้ดู เมื่อดูแล้วเป็นข้อความจากไลน์และได้อ่านทั้งหมด รู้สึกว่าข้อความดังกล่าว หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ และถูกจงเกลียดจงชังทั้ง กษัตริย์ ราชินี และราชวงศ์ โดยที่ท่านไม่ได้ทำ และตามข้อความดังกล่าว ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง
 
อัยการถามว่า คำไว่า “ระบอบกษัตริย์” ในช่วงเวลานั้นหมายถึงอะไร ชัชวาลย์ ตอบว่า หมายถึง รัชกาลที่ 9 พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ อัยการถามว่า จากอ่านข้อความดังกล่าว ในฐานะประชาชนทั่วไป คิดว่าผิดตามกฎหมายใดหรือไม่ ชัชวาลย์ตอบว่า ผิดตามมาตรา 112 
 
ทนายความจำเลยถามว่า จบการศึกษาอะไร ชัชวาลย์ตอบว่า จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์  ในวันที่เป็นพยานนได้พาบุคคลที่ถูกอ้างว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไปแจ้งความ
 
ทนายจำเลยถามว่า การใช้งานไลน์ สามารถใช้รูปโปรไฟล์ และชื่อใดก็ได้ ถูกต้องหรือไม่ ชัชวาลย์ตอบว่า สามารถทำได้ โดยอธิบายว่า การใช้ภาพโปรไฟล์ ใช้ชื่อจริงหรือใช้ชื่ออะไรก็ได้ ศาลถามว่า จากที่พยานดูหลักฐานที่เป็นภาพแชทไลน์ ยืนยันหรือไม่ว่าเป็นจำเลย ชัชวาลย์ตอบว่า ไม่ยืนยันว่าเป็นจำเลย 
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 : เจ้าหน้าที่กระทรวงดีอี
 
พยานเบิกความว่า ทำงานอยู่กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)  มีหน้าที่ตรวจสอบ และวิเคราะห์การกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี
 
อัยการถามว่า การเข้าใช้ไลน์ เข้าได้ในช่องทางใดบ้าง พยานตอบว่า สามารถเข้าใช้ได้ทั้ง คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ หากอุปกรณ์นั้นเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และมีเงื่อนไขการสมัครใช้ไลน์ คือ ต้องมีเบอร์โทรศัพท์ และอีเมล อัยการถามต่อว่า การสมัครไลน์ จะผูกกับเครื่องนั้นๆ เลยหรือไม่ พยานตอบว่า โดยปกติไอดีของไลน์จะแก้ไขไม่ได้ แต่ชื่อโปรไฟล์ รูปโปรไฟล์ สามารถแก้ไขได้ หากการลงทะเบียนในโทรศัพท์มือถือแล้ว จะใช้พร้อมกับแท็บเล็ตไม่ได้ ยกเว้นแต่สำรองข้อมูลในอีเมล และเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องใหม่ 
 
อัยการถามว่า ในส่วนของคอมพิวเตอร์ สามารถใช้ไลน์ที่ลงทะเบียนไว้กับมือถือได้หรือไม่ พยานตอบว่า สามารถทำได้ โดยใช้บัญชีไลน์เดียวกันระหว่างโทรศัพท์มือถือ แต่ต้องได้รับการยืนยันจากคนที่เป็นเจ้าของบัญชีไลน์ก่อน อัยการถามว่า การตรวจสอบบัญชีไลน์ ทำอย่างไร พยานตอบว่่า ตรวจดูว่าโปรไฟล์ดังกล่าวได้ log in ใน user นั้นหรือไม่ ซึ่งคดีนี้พยานไม่ได้เป็นคนตรวจบัญชีไลน์ของจำเลย 
 
ทนายจำเลยถามค้านว่า กระทรวงดีอีมีเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ว่าเคยใช้งานอะไรบ้าง ใช่หรือไม่ และหากมีโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ที่ลบข้อมูลไปแล้ว ทางกระทรวงก็สามารถตรวจสอบได้ เรียกคืนข้อมูลได้ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า มีเครื่องมือ และสามารถทำได้ แต่มีข้อจำกัดอยู่ เช่น พื้นที่ความจำในโทรศัพท์มือถือ กับ คอมพิวเตอร์มีความจุที่ต่างกัน
 
ทนายจำเลยอ่านข้อความจากรายงานการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ถูกยึดไว้ ที่ระบุว่า “โทรศัพท์มือถือมีแอพพลิเคชันไลน์ แต่ไม่เคยลงทะเบียน และถามพยานว่า ข้อความนี้หมายถึง ไม่เคยใช้ไลน์ ใช่หรือไม่ พยาน ไม่ยืนยัน
 
ทนายจำเลยถามว่า การพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้ไลน์จะต้องหาข้อมูล 1.อุปกรณ์ที่ใช้บัญชีไลน์ 2. หมายเลขไอพีแอดเดรส ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ทนายถามต่อว่า จากเอกสารในคดีนี้มีการตรวจสอบหมายเลขไอพีแอดเดรสหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีการตรวจ ทนายถามด้วยว่า ตามภาพแชทไลน์ ตามหลักฐานนี้สามารถระบุเจ้าของบัญชีไลน์ได้เลยหรือไม่ว่าคือใคร พยานตอบว่า ไม่สามารถระบุได้ เพราะบัญชีไลน์ สามารถใช้ชื่อใครก็ได้ รูปใครก็ได้ 
 
ทนายจำเลยถามว่า การใส่ร้ายบุคคลอื่น โดยปลอมชื่อและรูปสามารถทำได้หรือไม่ พยานตอบว่า สามารถทำได้ หากนำรูปที่เป็นสาธารณะ ที่คนอื่นสามารถเห็นรูปได้ มาใช้ตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ ทนายจำเลยถามว่า หากนำภาพจากเฟซบุ๊กมาใช้เป็นรูปโปรไฟล์ในไลน์ โดยที่เจ้าของรูปภาพในเฟซบุ๊กนั้นไม่รู้เรื่อง สามารถทำได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ 
 
อัยการถามติงว่า ในคดีนี้มีการใช้ภาพไลน์ ชื่อไลน์ ตามภาพ (ภาพแชทไลน์ที่ใช้ดำเนินคดี) มีความเป็นไปได้ใช่หรือไม่ ที่การใช้รูปคนหนึ่งที่เป็นรูปสาธารณะ ใช้เพื่อปลอมตัวตน พยานตอบว่า เป็นไปได้ ความเห็นส่วนตัวจากมุมของการทำงาน ที่มักเจอกรณี การปลอมบัญชีเป็นบุคคลอื่นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง 
 
 
17 สิงหาคม 2565
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 : พล.ต.ท.สราวุฒิ การพาณิช ตำรวจสันติบาลผู้สืบสวน
 
พล.ต.ท.สราวุฒิ เบิกความว่า ระหว่างเกิดเหตุคดีนี้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล มีหน้าที่ เป็นหัวหน้าชุดด้านข่าวกรองเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หลังจากการรัฐประหาร ได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาติดตามความเคลื่อนไหวของผู้เสียผลประโยชน์ทางการเมือง และได้พบกลุ่มไลน์ ชื่อ “คนนอกกะลา” มีสมาชิก 287 คน มีหลายคนเป็นบุคคลเฝ้าติดตามของสันติบาล แนวคิดของสมาชิกแบ่งเป็น 2 ส่วน (1) ต่อต้านรัฐบาล (2) มีทัศนคติเชิงลบต่อสถาบันกษัตริย์ เลยไดัสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาติดตามสมาชิกกลุ่มดังกล่าว เพราะมีความเกี่ยวข้องกับการมีอาวุธสงคราม 
 
อัยการถามว่า กลุ่ม “คนนอกกะลา” เกี่ยวกับ “นปช.” อย่างไร พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า เกี่ยวข้อง เพราะสมาชิกในกลุ่ม “คนนอกกะลา” บางคนเป็นกลุ่ม นปช. ฮาร์ดคอร์ 
 
พล.ต.ท.สราวุฒิ เบิกความต่อว่า มีแหล่งข่าวแจ้งว่า มีชายคนหนึ่งได้ลงข้อความที่มีลักษณะเสียดสีสถาบัน จึงให้สายลับเกาะติดสถานการณ์ จนเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 เวลา 19.35 น พบว่า มีเจ้าของบัญชีในกลุ่มไลน์ ใช้บัญชีที่ชื่อภาษาอังกฤษว่า Suriyasak โดยมีรูปโปรไฟล์เป็นชายถ่ายคู่กับรถเก๋ง ทะเบียน 6556 กรุงเทพฯ เป็นข้อความตามฟ้องในคดีนี้ 
 
อัยการถามว่า เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวแล้วรู้สึกอย่างไร พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า เข้าใจว่าข้อความดังกล่าว หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการเสียดสีทำนองว่ากษัตริย์เป็นโจรสลัด แท้จริงแล้วกษัตริย์ไม่ใช่โจรสลัด 
 
อัยการถามว่า ข้อความที่เป็นภาพแชทไลน์ ได้มาอย่างไร พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า ได้รับจากแหล่งข่าว เนื่องจากแหล่งข่าว ระบุว่า เจ้าของบัญชีไลน์ชื่อ Suriyasak ได้ส่งข้อความเสียดสีกษัตริย์ ในกลุ่มไลน์ “ คนนอกกะลา” หลังจากที่ทราบว่า เจ้าของบัญชีไลน์ดังกล่าวส่งข้อความเสียดสีกษัตริย์ จึงได้ให้แหล่งข่าวตีสนิท เพื่อให้ไว้วางใจ จึงได้รับข้อความที่เจ้าของบัญชีส่งให้แหล่งข่าวตามฟ้องในคดีนี้ 
 
อัยการถามว่า มีการตรวจสอบบัญชีไลน์อย่างไร พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า ตรวจสอบขยายผลโดยใช้รูปภาพโปรไฟล์ และหมายเลขทะเบียนรถในรูปภาพ จึงทราบว่าเจ้าของรถยนต์ ปรากฎเป็นชื่อตรงกับจำเลย ตามคำอ่านของชื่อบัญชีไลน์ และพบว่ารูปที่ใช้ตั้งโปรไฟล์ตรงกับฐานข้อมูล ชื่อภาษาอังกฤษในชื่อบัญชีไลน์ ตรงกับชื่อจริงของจำเลย และได้ตรวจสอบทางเฟซบุ๊กด้วย ซึ่งแหล่งข่าว ก็ยืนยันว่าเป็นคนเดียวกับจำเลย 
 
หลังจากนั้นก็เลยแจ้งเรื่องไปยัง พล.ต.วิจารณ์ โดยส่งเป็นรายงานที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560ในฐานะผู้รับผิดชอบคดีความมั่นคง ที่ได้รับมอบหมายจาก คสช. พร้อมส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
 
ทนายจำเลยถามค้านว่า แหล่งข่าวที่พยานกล่าวถึงรู้จักกับจำเลยมาก่อนใช่หรือไม่ พล.ต.ท.สราวุฒิ กล่าวว่า ไม่รู้มาก่อน แต่รู้จักกันในกลุ่ม “คนนอกกะลา” ไม่เคยเจอตัวจริงกับจำเลย ทนายจำเลยถามต่อว่า การที่พยานเบิกความว่าแหล่งข่าวได้ใช้ข้อมูลในกลุ่มไลน์ “คนนอกกะลา” ใช้ในการอ้างอิงที่เกี่ยวกับคดีนี้ แต่ไม่มีหลักฐานตามที่พยานเบิกความว่า “แหล่งข่าวระบุว่า สุริยศักดิ์ได้ลงข้อความในกลุ่มไลน์ คนนอกกะลา” ใช่หรือไม่ พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า ไม่มีหลักฐาน ประกอบในสำนวนคดี 
 
ทนายจำเลยถามว่า ภาพในรูปโปรไฟล์ไลน์ กับเฟซบุ๊ก  เป็นภาพเดียวกัน ที่เกี่ยวข้องกับจำเลย ใช่หรือไม่ พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า ใช่  ทนายความถามต่อว่า การใช้ไลน์สามารถใช้ชื่อและรูปภาพ อะไรก็ได้มาใช้เป็นบัญชีไลน์ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ใช่หรือไม่ พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า อาจจะทำได้ แต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไร ทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่าการปลอมบัญชีไลน์สามารถกระทำโดยง่าย พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า ทราบ 
 
เมื่อทนายจำเลยถามว่า การสืบสวนตัวตนเจ้าของบัญชีไลน์ จะใช้วิธีการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ และหมายเลขไอพีแอดเดรส ใช่หรือไม่ พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า ไม่ทราบ เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายเทคนิค
 
ทนายจำเลยถามต่อว่า สายลับได้เอาโทรศัพท์มือถือ ให้พยานดูการสนทนาระหว่างสายลับกับจำเลยหรือไม่ พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า สายลับเอาให้ดู ทนายถามต่อว่า สายลับให้ดูข้อความอื่นหรือไม่ พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า ให้ดูเฉพาะข้อความที่กระทำความผิดเท่านั้น
 
ทนายจำเลยถามว่า  จำเลยในฐานะประธาน นปช.สุรินทร์ มีแนวคิดที่ขัดแย้งกับกลุ่มที่เข้ามาทำรัฐประหาร และสนับสนุนประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่พยานทราบหรือไม่ พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า พยานเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ของ คสช. ใช่หรือไม่ พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า โดยส่วนตัวไม่สนับสนุน แต่ด้วยหน้าที่การงานจำเป็นต้องปฏิบัติตาม
 
อัยการถามว่า เหตุใดต้องปิดข้อมูลของสายลับ พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของสายลับ อัยการถามต่อว่า หากต้องมีการเปิดเผย จะใช้ในกรณีใดบ้าง พล.ต.ท.สราวุฒิ ตอบว่า ยังไม่เคยมีการเปิดเผย
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 5 : คณิต เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของจำเลย
 
คณิต เบิกความว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดิจิตอลฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลทางเทคนิคด้านคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการปิดกั้นเว็ปไซต์ และทำงานร่วมกับตำรวจ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ตำรวจมีหนังสือมา และมีโทรศัพท์มือถือยี่ห้อซัมซุง ซึ่งเป็นวัตถุพยานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับข้อความหมิ่นสถาบัน เพื่อให้ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ
 
คณิตเบิกความว่า จากการตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลย พบว่า มีการติดตั้งแอพพลิเคชันไลน์ในโทรศัพท์มือถือ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ส่วนการเข้าถึงบัญชีไลน์ที่ชื่อสุริยศักดิ์ แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องบัญชีไลน์อาจถูกลบไปแล้ว
 
อัยการถามว่า วันที่พยานตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ ไม่พบบัญชีไลน์ หรือ ไม่พบการใช้งานแอพพลิเคชันไลน์ คณิตตอบว่า ไม่พบบัญชีไลน์ที่ใช้ชื่อว่า Suriyasak 
 

อัยการถามว่า ตรวจพบพบรูปภาพในโปรไฟล์หรือไม่ และรู้หรือไม่ว่าคือจำเลย คณิตตอบว่า ไม่พบไฟล์ภาพที่ใช้บันทึกเป็นรูปประจำโปรไฟล์ เนื่องจากบัญชีไลน์ที่ใช้ชื่อ Suriyasak ถูกลบไปแล้ว จึงไม่สามารถตรวจสอบภาพโปรไฟล์ที่ใช้เป็นรูปประจำตัวได้ รวมถึงข้อความการสนทนาของผู้ใช้บัญชีไลน์ที่ชื่อ Suriyasak ด้วย 
 
ทนายจำเลยถามว่า หน่วยงานของพยาน มีเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบที่ดีที่สุดในประเทศใช่หรือไม่ คณิตตอบว่า อันดับต้นของประเทศ 
 
ทนายจำเลยถามว่า ในการติดตั้งรูปโปรไฟล์ไลน์นั้น จะต้องใช้ภาพที่บันทึกอยู่ในมือถือก่อน จึงจะติดตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ได้ ใช่หรือไม่ คณิตตอบว่า ความจริงแล้ว อาจจะไม่มีการติดตั้งรูปภาพในบัญชีไลน์ก็ได้ ทนายจำเลยถามว่า ตามภาพถ่ายจากแชทไลน์ในคดีนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นการปลอมแปลงโดยใช้ภาพของคนอื่น คณิตตอบว่า ในกรณีที่มีภาพ หรือชื่อของบุคคลอื่น ก็น่าจะสามารถทำได้โดยง่าย
 
ทนายจำเลยถามว่า กรณีที่มีเพียงภาพถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์เป็นแชทไลน์ สามารถตรวจสอบเจ้าของบัญชีไลน์ ทั้งผู้ส่งและผู้รับ ได้หรือไม่ คณิตตอบว่า ตรวจสอบโดยประสานไปยัง Line Japan ทนายจำเลยถามต่อว่า คดีนี้ พยานไม่ได้ส่งข้อมูลเพื่อตรวจสอบไปยัง Line Japan ใช่หรือไม่ คณิตตอบว่า ไม่ได้ส่ง เพราะใช้เวลานาน และในกรณีนี้ไม่มีบัญชีไลน์ให้ส่งไปตรวจสอบ เรื่องบัญชีถูกลบไปแล้ว หากมีบัญชีไลน์ ก็จะส่งไปตรวจสอบ 
 
ทนายจำเลยถามว่า ในกรณีที่มีคนนำภาพของจำเลย แล้วนำไปใช้ในบัญชีไลน์ และส่งข้อความหมิ่นสถาบัน ก็สามารถทำได้ใช่หรือไม่ คณิตตอบว่า สามารถทำได้ไม่ยาก ทนายความถามว่า ตามผลการตรวจสอบที่เขียนว่า “ไม่พบการใช้งาน” หมายถึงไม่มีการใช้งานใช่หรือไม่ คณิตตอบว่า อาจเป็นไปได้ว่าไม่เคยใช้งานแอพพลิเคชันไลน์ 
 
ทนายจำเลยถามว่า หากจำเลยถูกจำคุกอยู่ แล้วโทรศัพท์มือถือจำเลยถูกยึดนั้น จำเลยจะไม่สามารถลบบัญชีแอพพลิเคชันไลน์ใช่หรือไม่ คณิตตอบว่า ใช่ ไม่สามารถลบได้ ทนายจำเลยถามว่าที่พยานตรวจสอบนั้น ไม่พบว่ามีการใช้บัญชีไลน์ และไม่พบข้อมูลที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ใช่หรือไม่ คณิตตอบว่า จากที่ตรวจสอบ อุปกรณ์และบัญชีไลน์ ก็ไม่พบบัญชีไลน์ และไม่พบการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 6 : ตำรวจผู้จับกุมตัวจำเลย
 
พยานเบิกความว่า รับราชการตำรวจ ทำหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิด
ช่วงเวลาเกิดเหตุได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปรับตัวจำเลย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2560 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อพบตัวจำเลยก็แสดงหมายจับตาม มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำเลยยอมรับว่า เกี่ยวข้องกับบุคคลตามหมายจับดังกล่าว ให้การปฏิเสธ ว่าไม่ได้กระทำความผิด 
 
ทนายจำเลยถามว่า ตอนที่พยานควบคุมตัวจำเลย ทางจำเลยได้มีของกลาง หรือสิ่งของติดตัวกับจำเลยหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีติดตัว ทนายจำเลยถามต่อว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยหรือใครก็ตาม ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จะสามารถไปยุ่งกับของกลางของตนเองที่ถูกอายัดไว้ได้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่สามารถทำได้
 
18 สิงหาคม 2565
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 7 : พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน 
 
พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง เบิกความว่า เป็นข้าราชการตำรวจ มีหน้าที่สอบสวนความผิดเกี่ยวกับคดีที่กระทำความผิดทางเทคโนโลยีและที่เกี่ยวเนื่องกัน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีจำเลย เพราะว่า จำเลยได้กระทำความผิดตาม มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
ในคดีนี้ ได้สอบปากคำ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และได้รับบันทึกข้อความจาก พล.ต.ต.สราวุฒิ และได้จัดทำบันทึกไว้ บัญชีไลน์ที่ใช้ชื่อตัวอักษรภาษาอังกฤษอ่านสุริยศักดิ์ มีภาพถ่ายจำเลย และยืนคู่กับรถยนต์ ตามคำให้การของฝ่ายสืบสวน พบว่าทะเบียนรถยนต์ที่อยู่ในภาพโปรไฟล์ไลน์นั้น เป็นชื่อสุริยศักดิ์ และมีที่อยู่ ที่จ.สุรินทร์ หลังจากนั้นขอให้ศาลทหารออกหมายจับ โดยทราบว่า จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีเกี่ยวกับการก่อการร้าย
 
พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร เบิกความว่า จากคำให้การของ พล.ต.วิจารณ์ และบันทึกการสืบสวนของ พล.ต.ต.สราวุฒิ ทราบว่า จำเลยที่ชื่อสุริยศักดิ์ มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และเป็นแกนนำ นปช.สุรินทร์
 
อัยการถามว่า พยานทำอะไรโทรศัพท์มือถือของจำเลย พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร ตอบว่า ได้รับโทรศัพท์มือถือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยได้ขอยึดต่อเพื่อนำมาใช้ตรวจสอบ ในวันเดียวกันที่ไปพบจำเลยได้ตรวจสอบมือถือ และรูปภาพโปรไฟล์ไลน์ โดยให้ทาง กระทรวงดีอีตรวจสอบ เพื่อใช้ประกอบสำนวน ผลการตรวจสอบ คือ ไม่พบบัญชีไลน์ที่ชื่อ Suriyasak  
 
ทนายจำเลยถามว่า ในการดำเนินคดีมาตรา 112 มีคณะกรรมการเฉพาะที่พิจารณาให้ความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยถามว่า พยานไม่ได้สอบปากคำคนที่เป็นผู้รับข้อความจากจำเลยใช่หรือไม่ และไม่ทราบว่าเป็นใครใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร ตอบว่า ไม่ได้เรียกสอบปากคำ ทราบแต่ว่าเป็นทหาร 
 
ทนายจำเลยถามว่า ตามภาพถ่ายข้อความในไลน์ที่ปรากฏเป็นไปได้หรือไม่ว่า มีบุคคลอื่นใช้ชื่อจำเลย ในการกระทำส่งข้อความดังกล่าวในแชทไลน์ พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร ตอบว่า เป็นไปได้ ทนายความถามต่อว่า เหตุผลใดที่พยานแจ้งข้อกล่าวหาจำเลย พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร ตอบว่า เพราะได้รับรายงานการสืบสวนของสันติบาล และจากการตรวจสอบว่ารูป และเจ้าของรถยนต์ในรูปภาพโปรไฟล์ไลน์ ตรงกับชื่อของจำเลย
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ 8 : พนักงานสอบสวน
 
พยานเบิกความว่า เคยเป็นรองผู้กำกับการ​กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. มีหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน คดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ได้รับสำนวนคดีนี้เมื่อใด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 และได้รับหนังสือจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ให้ไปรับตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ หลังจากรับตัวจำเลย ก็ส่งตัวจำเลยไปฝากขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง
 
อัยการถามว่า สรุปข้อเท็จจริงของสำนวนคดีนี้ ได้ข้อสรุปอย่างไรบ้าง พยานตอบว่า สรุปตามการสืบสวนของผู้กล่าวหา ทั้งแอพพลิเคชันไลน์ และข้อมูลรถยนต์ที่ตรงกับจำเลย และชื่อบัญชีไลน์ก็ตรงกับชื่อจำเลย มีคณะกรรมการที่พิจารณาคดีนี้ซึ่งมีความเห็นพ้องกับพยาน คือ เห็นควรสั่งฟ้องคดีนี้ 
 
อัยการถามว่า หลังจากมีความเห็นคำสั่งฟ้อง แล้วดำเนินการใดต่อ พยานตอบว่า ได้ส่งให้อัยการทหาร เพราะอยู่ในยุค คสช. ที่ต้องขึ้นศาลทหาร 
 
ทนายจำเลยถามว่า หลังจากที่พยานได้รับสำนวนมาก็ไม่ได้สอบความจริงเพิ่มเติมใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้สอบเพิ่มเติม ทนายจำเลยถามว่า พยานทราบหรือไม่ ในช่วงรัฐประหาร คดีการเมืองจะต้องส่งไปให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รองผู้บัญชรการตำรวจแห่งชาติพิจารณา พยานตอบว่า ไม่ทราบ 

 
ทนายจำเลยถามว่า หากมีคนนำพยานหลักฐานเท็จ เพื่อใช้มาตรา 112 ดำเนินคดี จะเป็นการทำลายพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ให้เสื่อมเสียใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
 
 
25 สิงหาคม 2565
 

สืบพยานจำเลย

พยานจำเลยปากที่ 1 คือ สุริยศักดิ์ ตัวจำเลยในคดีนี้
 
ทนายจำเลย ถามว่า จำเลยได้ใช้ไลน์หรือไม่ ก่อนที่จะถูกจับในดคีนี้ สุริยศักดิ์ตอบว่า ไม่เคยใช้ เนื่องจากไม่ถนัดใช้เทคโนโลยี เริ่มใช้ไลน์หลังจากที่ได้รับการประกันตัวชั่วคราวจากศาลทหาร ประมาณเดือน มีนาคม 2565 ใช้บนอุปกรณ์แทบเล็ด เนื่องจากสายตาไม่ดี และใช้นิ้วกดโทรศัพท์มือถือไม่ถนัด ทั้งไลน์และเฟซบุ๊กลูกชายเป็นคนสมัครให้
 
ทนายจำเลย ถามว่า การเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กทำอย่างไร สุริยศักดิ์ตอบว่า ให้ลูกชายเป็นคนเคลื่อนไหว ล่าสุดไม่ได้ใช้แล้ว เพราะจำรหัสผ่านไม่ได้ ทนายจำเลยถามว่า เมื่อจำเลยไม่เคยใช้ไลน์ โทรศัพท์มือถือที่ถูกยึดพร้อมกับจำเลย และเมื่อนำไปตรวจสอบ พบข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีไลน์ที่เกี่ยวกับคดี และพบข้อความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ สุริยศักดิ์ ตอบว่า ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 
ทนายจำเลยถามว่า ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา ม.112 มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหรือไม่ สุริยศักดิ์เล่าว่า สองเดือนก่อนถูกจับมีโทรศัพท์จากใครไม่ทราบโทรมาขู่ถึง 3 ครั้งว่า ให้หยุดการทำงานในนามของคนเสื้อแดง และให้ไปสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งคือฝ่ายที่ทำการปฏิวัติครั้งที่ผ่านมา หากตอบรับข้อเสนอจะได้รับตำแหน่งทางการเมือง 

ทนายจำเลยถามว่าคดีนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองใช่หรือไม่ สุริยศักดิ์ตอบว่า ใช่
 
อัยการถามค้านว่า ในชั้นสอบสวนพยานปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบัญชีไลน์ใช่หรือไม่ สุริยศักดิ์ตอบว่า ใช่ อัยการถามต่อว่า ตามที่จำเลยอ้างว่ามีการโทรศัพท์หาเพื่อข่มขู่ถึงสามครั้ง จำเลยไม่ได้ตรวจสอบ และอัดเสียงไว้ ใช่หรือไม่ สุริยศักดิ์ตอบว่า ไม่ได้ตรวจสอบ เพราะโทรกลับไปก็ติดต่อไม่ได้ และไม่ได้อัดเสียงไว้ เพราะบันทึกเสียงไม่เป็น
 
อัยการถามค้านว่า ตามเอกสารที่จำเลยเคยยื่นขอความเป็นธรรม ยื่นต่อศาลทหารอย่างเดียว โดยไม่ได้ยื่นกับ พนักงานสอบสวนใช่หรือไม่ สุริยศักดิ์ตอบว่า ใช่
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง : ธิติพงษ์ ศรีแสน ทนายจำเลย
 
ศาลถามว่า พยานเกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร  ธิติพงษ์ตอบว่า ได้รับการติดต่อจากญาติของจำเลย ให้ทำหน้าที่แก้ต่างคดีก่อการร้าย ในขณะจำเลยถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ต่อมาได้รับแจ้งว่า จำเลยได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม คือ ความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และได้สอบถามกับจำเลยเกี่ยวกับคดีนี้ ซึ่งจำเลยบอกว่าปฏิเสธข้อกล่าวหา เมื่อหมดเวลาฝากขังคดีก่อการร้าย จำเลยได้ถูกอายัดตัวต่อในคดี ม.112 โดยจำเลยถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร และได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อศาลทหาร 
 
ธิติพงษ์ อธิบายว่า ในคดีนี้พยานหลักฐานจากพนักงานสอบสวน มีเพียงเอกสาร 2 แผ่น โดยไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบบัญชีไลน์ และจากประสบการณ์ คิดว่าหลักฐานดังกล่าว สามารถกระทำขึ้นมาใหม่ได้ในเวลาอันสั้น โดยได้ทดลองทำในบัญชีไลน์ของตนเอง ก็พบว่ากระทำได้เหมือนเอกสารหลักฐานของโจทก์ และได้ทดลองกับเพื่อนที่รู้จัก โดยใช้วิธีให้เพื่อนใส่ชื่อเล่นของบัญชีไลน์ของตนเองที่เป็นคู่สนทนา ให้เป็นชื่อของจำเลยก็สามารถทำได้ 
 
ธิติพงษ์ทราบว่า จำเลยในคดีนี้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จากทัศนคติดังกล่าว จึงทำให้จำเลยถูกเชิญให้ร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานของรัฐ ธิติพงษ์เห็นว่า ตามหลักฐานของโจทก์ ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางเทคโนโลยีได้ ที่จะระบุว่าจำเลยเป็นผู้โพสข้อความ
 
อัยการถามค้านว่า ในช่วงปี 2559 พยานรู้จักจำเลยมาก่อนหรือไม่ ธิติพงษ์ตอบว่า ไม่รู้จักมาก่อน อัยการถามว่า ตามเอกสารที่ทำมาเป็นหลักฐาน บัญชีไลน์ดังกล่าวเป็นของพยานใช่หรือไม่ ธิติพงษ์ตอบว่า ใช่ ทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า เอกสารหลักฐานของโจทก์นั้น สามารถทำขึ้นโดยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงได้โดยง่าย 
 
 
5 ตุลาคม 2565
 
นัดฟังคำพิพากษา
ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลา 11.00 น. โดยมีคำสั่งยกฟ้อง ยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีมีความขัดแย้งกันและพบพิรุธหลายประเด็น เช่น การเบิกความของพยานโจทก์ การพิสูจน์ตัวตนของจำเลยในการใช้บัญชีไลน์ 
 
หน้าห้องพิจารณาคดี มีเพียง รปภ.ศาล 1 คนเท่านั้น ไม่มีตำรวจศาลมาประจำการเหมือนคดีการเมืองอื่นๆ โดยรปภ.ศาลแจ้งว่า อนุญาตให้เฉพาะจำเลยกับทนายเข้าฟังเท่านั้น อีกทั้งยังให้จำเลยมอบทรัพย์สินมีค่ากับญาติไว้ด้านนอก 
 
ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 20 นาที จากนั้นมีผู้คุมเรือนจำเดินออกจากห้องพิจารณาคดีเพื่อแจ้งผลคำพิพากษาให้ญาติที่มานั่งรอหน้าห้อง รวมทั้งแจ้งว่าตนมาปฏิบัติตามหน้าที่เท่านั้น ขอให้สบายใจได้ 
 
เมื่อญาติได้ยินว่ายกฟ้อง ต่างก็ดีใจกันมาก จากนั้น สุริยศักดิ์และทนายได้ออกมายืนพูดคุยกับคนอื่นๆ โดยทนายกล่าวว่า ยังมีสิ่งที่น่ากังวลอยู่ประเด็นหนึ่งคือการลุ้นว่า “อัยการจะอุทธรณ์คดีหรือไม่” และหากอุทธรณ์แล้วผลจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ในภาพรวม สุริยศักดิ์กล่าวว่ารู้สึกสบายใจเป็นอย่างมาก รู้สึกหมดทุกข์ที่ต้องทนมาหลายปี

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา