เจ็ดแม่หญิงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ติดตามการประชุมสภา อบต.เขาหลวง

อัปเดตล่าสุด: 18/04/2561

ผู้ต้องหา

1.พรทิพย์ หงชัย

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2558

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผกก.สภ.วังสะพุง แจ้งความคดีชุมนุม

สารบัญ

ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน และชาวบ้านกว่า 150 คน ไปรวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงาน อบต. เขาหลวง เพื่อติดตามการประชุมสภาในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 7 ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวง ให้กระทำหรือยอมจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้หวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน และ พรทิพย์ หงชัย ถูกกล่าวหาว่า จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมหลังเพียงคนเดียว

 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน เป็นชาวบ้านจากกลุ่ม 'ฅนรักษ์บ้านเกิด' ซึ่งมาจากการรวมตัวกันของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยกลุ่มชาวบ้านดังกล่าวเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

ข้อหา / คำสั่ง

อื่นๆ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน และชาวบ้านกว่า 150 คน ไปรวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงาน อบต. เขาหลวง เพื่อติดตามการประชุมสภาในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว เนื่องจาก การอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในชุมชน 

ต่อมา ผู้ต้องหาทั้ง 7 ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวง ให้กระทำหรือยอมจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้หวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน และ พรทิพย์ หงชัย ถูกกล่าวหาว่า จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมหลังเพียงคนเดียว

ในคำฟ้องที่พนักงานอัยการยื่นต่อศาล ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 จำเลยที่ 1 คือ พรทิพย์ หงษ์ชัย เป็นผู้จัดการชุมนุมคัดค้านมิให้มีการจัดการประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลัวง สมัยสามัญ ครั้งที่ 4 เรื่อง การให้ความเห็นชอบการต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ โดยเชิญชวนนัดหมายให้จำเลยที่ 2-7 และชาวบ้านหลายร้อยคนเข้าร่วมชุมนุมสาธารณะ บริเวณรอบอาคารห้องประชุมสภาอบต.เขาหลวง โดยจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
 
จำเลยทั้งเจ็ด ได้ร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหาย 16 คน ซึ่งเป็นสมาชิกอบต. ไม่ให้เข้าร่วมการประชุม โดยการพูดปราศรัย โน้มน้าว ให้ชาวบ้านกว่าร้อยคนที่มาเข้าร่วมชุมนุมปิดล้อมขวางทางเข้าห้องประชุม พร้อมทั้งปลุกระดมชาวบ้านให้โห่ร้องและต่อต้าน ขัดขวาง ไม่ให้ผู้เสียหายทั้ง 16 คน เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว อันเป็นการกีดขวางทางเข้าออก และรบกวนการปฏิบัติงาน สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และเป็นการทำให้ผู้เสียหายทั้ง 16 คน ซึ่งประสงค์จะเข้าประชุมเกิดความกลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จนผู้เสียหายทั้ง 16 คนไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
 
กระกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 4, 8, 10, 27, 28 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 309
 

 

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ไม่มีการจับกุมเนื่องจากผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

2858/2560

ศาล

ศาลจังหวัดเลย

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
8 ธันวาคม 2559 
 
ร.ต.อ.วสันต์ แสงโทโพ ได้นำหมายเรียกตัวมามอบให้กับ พรทิพย์ หงษ์ชัย ซึ่งเป็น 1 ใน 7 คนที่ถูกออกหมายเรียกรายงานตัวเพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 11ธันวาคม 2559 แต่ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 7 ราย ไม่สามารถเดินทางไปรายตัวได้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร จึงได้ขอเลื่อนมารายงานตัวในวันที่ 18 ธันวาคม แทน
 
18 ธันวาคม 2559 
 
ผู้ต้องหา 7 คน จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียกของตำรวจและรับทราบข้อกล่าวหา โดยมี พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผกก.สภ.วังสะพุง เป็นผู้สั่งการแจ้งความเอาผิดใน 2 ข้อหา คือ จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอีกข้อหาคือร่วมกันข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวง ให้กระทำหรือยอมจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้หวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน 
 
แต่ชาวบ้านทั้ง 7 คน ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะเสียค่าปรับ เนื่องจากเห็นว่าพวกตนไม่ได้ไปชุมนุม เพียงแต่ไปติดตามการประชุมสภา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยได้รับหนังสือเชิญจากประธานสภา อบต. ให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
 
8 มีนาคม 2560 
 
ผู้ต้องหา 7 คน จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเดินทางมาสำนักงานอัยการจังหวัดเลย เนื่องจากพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนเสร็จแล้ว จึงส่งตัวผู้ต้องหามาพบพนักงานอัยการ ต่อจากนี้ อัยการก็จะพิจารณาสำนวนว่ามีหลักฐานจะสั่งฟ้องหรือไม่อีกครั้งวันที่ 30 มีนาคม 2560 
 
30 มีนาคม 2560
 
อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 25 กรกฎาคม 2560
 
 
25 กรกฏาคม 2560
 
นัดฟังอัยการยื่นฟ้อง
 
7 แม่หญิงชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เดินทางมาสำนักงานอัยการจังหวัดเลย เพื่อฟังว่าจะมีการสั่งฟ้องชาวบ้านหรือไม่ 
 
อัยการมีคำสั่งฟ้องแม่หญิงทั้ง 7 คน ในข้อหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออก และรบกวนการปฏิบัติงานในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน แต่เฉพาะ พรทิพย์ หงชัย ที่ถูกฟ้องข้อหาเพิ่มฐานจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าตาม มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
 
ตำรวจนำทั้ง 7 คน ไปขออำนาจศาลฝากขังและทำเรื่องประกันตัวที่ศาลจังหวัดเลย ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ต้องหาต้องมาตามกำหนดนัดของศาล ซึ่งศาลนัดครั้งถัดไปในวันที 11 สิงหาคม 2560
 
11 สิงหาคม 2560
 
นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
ที่ศาลจังหวัดเลย ฝ่ายโจทก์และจำเลยมาตามนัดของศาล โดยข้อต่อสู้ของฝ่ายโจทก์ คือ จำเลยทั้ง 7 คนได้ร่วมตัวชุมนุมกีดขวางทางเข้าออก และรบกวนการปฏิบัติงานในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน รวมถึง จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า โดยจะนำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 9 ปาก ได้แก่ สมาชิก อบต. เขาหลวง 6 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 คน
 
แต่ฝ่ายจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และมีข้อต่อสู้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่การจัดการชุมนุม เพียงแต่เข้าร่วมการประชุมตามจดหมายเชิญของประธานสภา อบต. เขาหลวง และขอให้ที่ประชุมยกเลิกการประชุมในวันดังกล่าว และไม่ได้ข่มขู่หรือคุกคาม สมาชิก อบต.เขาหลวงไม่ให้เข้าประชุมแต่อย่างใด โดยฝ่ายจำเลยจะนำพยานเข้าสืบ 11 ปาก ได้แก่ จำเลย 7 คน และพยานผู้เชี่ยวชาญ 4 คน
 
ศาลนัดสืบพยาน 31 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2561 และ 6 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2561 ตามลำดับ
 
31 มกราคม 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 10.30 น. ศาลเริ่มการพิจารณาคดี โดยก่อนการสืบพยาน ศาลแจ้งอัยการว่า ที่สมาชิก อบต.เขาหลวงขอเป็นโจทก์ในคดีนี้ ให้เป็นได้เฉพาะในส่วนของข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 เท่านั้น ส่วนข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมได้
 
หลังจากนั้นศาลสอบถามข้อมูลว่า โจทก์ร่วมในคดีนี้มีใครบ้างและให้เข้ามาพบเพื่อให้ศาลถามรายละเอียด เบื้องต้นมีผู้แสดงความประสงค์เป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ 16 คน แต่ในวันนี้มีคนที่แสดงความประสงค์มาศาลเพียงหกคน ศาลจึงตัดโจทก์ร่วมที่ไม่มาศาลออก และสั่งให้เริ่มสืบพยาน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ศักดิ์โชติ เรียนยศ อบต.เขาหลวง 
 
ศักดิ์โชติเบิกความต่อศาลว่าขณะเบิกความเขาอายุ 45 ปี ประกอบอาชีพทำนา และเริ่มทำงานเป็นสมาชิก อบต.เขาหลวง ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันตามคำสั่งคสช. มีหน้าที่พิจารณาข้อบัญญัติและเห็นชอบแผนพัฒนา
 
เกี่ยวกับคดีนี้ ศักดิ์โชติเบิกความว่า ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาหลวงจัดประชุมสภา อบต.เนื่องจากบริษัททุ่งคำ จำกัด ยื่นเรื่องให้ทางอบต.เขาหลวงพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุหนังสืออนุญาตให้บริษัททุ่งคำจำกัดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติโคกภูเหล็ก
 
ในวันนั้นตัวศักดิ์ชายไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้ เนื่องจากมีชาวบ้านประมาณ 100 คนปิดล้อมสำนักงาน อบต. ตั้งแต่บันไดทางขึ้น มีการกางเต็นท์และปราศรัยไม่ให้สมาชิกอบต. เข้าร่วมการประชุม
 
ศักดิ์ชายเบิกความต่อว่าเขาจำใบหน้าของจำเลยที่หนึ่ง พรทิพย์ และจำเลยที่สอง วิรอนได้ และระบุว่าทั้งสองผลัดกันพูดเพื่อไม่ให้สมาชิก อบต.ขึ้นไปบนอาคาร 
 
ศักดิ์ชายเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุสมาชิกอบตเขาหลวงไปร่วมการประชุมทุกคนแต่ไม่สามารถเข้าประชุมได้ โดยตัวเขาไม่กล้าเดินฝ่าผู้ชุมนุมขึ้นไปประชุมเนื่องจากกลัวจะถูกทำร้าย เพราะเคยมีกรณีชาวบ้านขว้างปาข้าวของมาก่อน 
 
ศักดิ์ชายเบิกความด้วยว่า ตนนอดูสถานการณ์จนถึงเวลาเที่ยง เมื่อดูแล้วไม่สามารถเข้าประชุมได้จึงยกเลิกและแยกย้ายกลับ จากนั้นสมาชิก อบต. เขาหลวงทั้งหมดได้มอบอำนาจให้มาแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดีกับแกนนำทั้งเจ็ด
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ศักดิ์ชายเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ตัวเขาทราบว่ากระทรวงมหาดไทยมีระเบียบว่าด้วยการประชุมสภาท้องถิ่น ซึ่งตามระเบียบประธานสภาจะต้องแจ้งให้คนในชุมชนทราบและจะต้องจัดที่ให้ประชาชนเข้าร่วมการประชุม และประธานสภา อบต. ต้องทำหนังสือให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการประชุมทุกครั้ง 
 
นอกจากนี้ก็จะมีการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นที่มีการประชุมเข้ารับฟังด้วย ซึ่งในคดีนี้ จำเลยทั้งเจ็ดและชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ถือเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการประชุมครั้งนี้มีการเชิญบริษัททุ่งคำเข้าร่วมด้วย
 
ศักดิ์ชายเบิกความตอบคำถามค้านต่อว่า เขาทราบว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าและพื้นที่สปก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ โดยมีการประชุมเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้งและการประชุมแต่ละครั้งก็จะมีชาวบ้านมาร่วมรับฟังการประชุมด้วย หากมีประชาชนมาร่วมการประชุมจำนวนมากก็จะมีการจัดพื้นที่ในการรับฟัง เช่น กางเต๊นท์ และต่อเครื่องขยายเสียงเพื่อให้ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมได้ร่วมฟังการประชุมด้วย
 
ศักดิ์ชายเบิกความตอบทนายต่อว่าในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทั้งในและนอกเครื่องแบบอยู่ในพื้นที่เพื่อค่อยดูแลระมัดระวังความปลอดภัยด้วย
 
เมื่อทนายจำเลยถามว่า อาคารที่ใช้ในการจัดประชุม เป็นคนละอาคารกับที่ให้ประชาชนใช้ติดต่อราชการใช่หรือไม่ ศักดิ์ชายตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่าการปราศัยในวันเกิดเหตุของชาวบ้าน เป็นการคัดค้านการประชุม โดยเล่าถึงผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองในพื้นที่ โดยไม่มีการข่มขู่หรือลุกขึ้นมาข่มขู่ เป็นเพียงการนั่งเฉยๆ อยู่บริเวณทางเข้า ใช่หรือไม่ ศักดิ์ชายตอบว่าใช่ และเบิกความด้วยว่า ในวันเกิดเหตุไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง นิกร ศรีโนนสุข สมาชิก อบต. เขาหลวง
 
นิกรเบิกความต่อศาลว่า ขณะเบิกความเขาอายุ 44 ปี ประกอบอาชีพทำนาและเริ่มทำงานที่อบต.เขาหลวง ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันตามคำสั่งคสช. มีหน้าที่พิจารณาข้อบัญญัติและพิจารณารายจ่าย
 
เกี่ยวกับคดีนี้ นิกรเบิกความว่าในวันเกิดเหตุ เขาได้รับเชิญให้มาประชุมเรื่องการขอต่ออายุหนังสืออนุญาตให้บริษัททุ่งคำจำกัด เรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติและที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.)
 
นิกรเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ นิกรเดินทางมาถึงที่จัดการประชุม 8 โมง สถานที่นัดประชุมคือห้องประชุมของอบต.เขาหลวง โดยห้องประชุมอยู่ชั้นสองของอาคาร ทางขึ้นห้องประชุมมีทางเดียว แต่นิกรเห็นว่า มีประชาชนประมาณ 100 กว่าคนอยู่ และนิกรไม่ทราบว่ามาทำอะไร ทราบแต่เพียงว่าปิดทางไม่อยากให้นิกรและสมาชิกอบต.ขึ้นไปประชุม
 
นิกรเบิกความว่าเขาได้สอบถามประธานสภาคือ สมัย ภักดิ์มีซึ่งบอกว่าชาวบ้านไม่ให้ขึ้นไปประชุม นิกรรู้สึกกลัว ไม่กล้าขึ้นไปประชุม เพราะครั้งก่อนที่มีการประชุมเรื่องนี้ก็มีความวุ่นวาย เคยมีการถูกทำร้าย
 
เมื่ออัยการนำภาพถ่ายมาให้ดู นิกรเบิกความว่าเขาจำใบหน้าของจำเลยบางคนได้ เช่น พรทิพย์จำเลยที่หนึ่งซึ่งเป็นคนพูดว่า ไม่ให้สมาชิกอบต.ขึ้นไปประชุม และวิรอน จำเลยที่สองซึ่งพูดลักษณะเดียวกัน จำเลยที่สามและสี่นิกรทราบว่าชื่อระนองและมล ส่วนจำเลยที่ห้าถึงเจ็ดนิกรจำไม่ได้ว่าทำอะไรในวันเกิดเหตุ อย่างไรก็ตามเมื่ออัยการให้ชี้ตัวจำเลยในห้องพิจารณา นิกรพรทิพย์ จำเลยที่หนึ่งได้เพียงคนเดียว
 
นิกรเบิกความต่อว่าเมื่อไม่ข้าร่วมการประชุมได้ประชุม เขาจึงลงชื่อมอบอำนาจให้ ศักดิ์โชติ พยานโจทก์ปากที่หนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกอบต. เขาหลวงเป็นผู้ไปแจ้งความในคดีนี้
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
นิกรเบิกความตอบทนายจำเลยว่า เขาทราบว่าตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย การประชุมอบต.จะต้องมีการประกาศให้ประชาชนเข้าร่วมประชุมและรับฟังได้ และก่อนมีการประชุมจะต้องทำหนังสือ ไปให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบเพื่อมารับฟัง โดยชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิดเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีสิทธิเข้ารับฟังการประชุมครั้งนี้ 
 
นิกรเบิกความตอบทนายจำเลยต่อว่า ที่ผ่านมาถ้ามีชาวบ้านเข้ารับฟังการประชุมจำนวนมากจะมีการเตรียม สถานที่และต่อลำโพงเพื่อให้ชาวบ้านได้รับทราบเนื้อหาการพูดคุยในห้องประชุม สำหรับการประชุมครั้งที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้มีการเชิญเจ้าหน้าที่บริษัททุ่งคำมาร่วมรับฟังด้วย 
 
นิกรยืนยันกับทนายจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอยู่ในพื้นที่จริง โดยเจ้าหน้าที่มาเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย สำหรับการรวมตัวของชาวบ้าน นิกรเบิกความว่าไม่ได้มีการข่มขู่คุกคามแต่อย่างใด มีเพียงการปราศรัยเพื่อพูดถึงผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ และขอให้เลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไป
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม แตง ตองหว้าน สมาชิก อบต. เขาหลวง
 
แตง เบิกความต่อศาลว่าขณะเบิกความเขาอายุ 50 ปี  ทำงานที่อบต.ตั้งแต่ปีไหนจำไม่ได้ แต่ปัจจุบันยังทำงานอยู่ตามคำสั่งคสช. มีหน้าที่พิจารณาแผนพัฒนาและงบประมาณ  
 
เกี่ยวกับคดีนี้แตงเบิกความว่าในวันเกิดเหตุ อบต.เขาหลวง มีการพิจารณาหนังสือความเห็นชอบต่อการเข้าไปทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ป่าและพื้นที่ สปก.ของบริษัททุ่งคำจำกัด โดยในวันดังกล่าวตัวเขาแต่งชุดสีกากี แตงเบิกความต่อว่าเมื่อเขาเดินไปถึงสถานที่จัดการประชุมก็เห็นชาวบ้านนั่งปิดบันไดทางขึ้น ไม่ให้ขึ้นไปประชุมและพูดว่าไม่ให้ประชุม
 
แตงเบิกความว่าเขาจำเลยที่หนึ่งคือพรทิพย์ได้ เพราะเป็นคนปราศรัย ส่วนจำเลยอื่นเขาจำไม่ได้ ในวันเกิดเหตุตองไม่ได้ขอกลุ่มชาวบ้านเข้าห้องประชุม เพราะไม่กล้าเขาเนื่องจากกลัวว่าจะถูกทำร้าย สาเหตุที่กลัวถูกทำร้ายเพราะการประชุมคราวก่อนในหัวข้อเดียวกัน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเคยขึ้นไปขว้างเก้าอี้และขวดน้ำมาแล้ว
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
แตงเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ญัตติในการประชุมที่ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับบริษัททุ่งคำ จำกัด กระทบต่อประชาชนและมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก แต่การประชุมดังกล่าว ประธานสภาอบต. สมัย ภักดิ์มี ได้มีหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมจัดหวัดเลย กรมป่าไม้ ตัวแทนจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร(สปก.) ชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมาร่วมรับฟังการประชุมหรือไม่นั้น แตงไม่ทราบเพราะประธานเป็นคนทำหนังสือ
 
แตงเบิกความว่า การวาระการประชุมที่มีปัญหาในครั้งนี้ มีการประชุมมาหลายครั้งและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมาประชุมทุกครั้ง และ อบต. ได้จัดที่ให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟังที่ด้านล่างของอาคาร และมีการต่อเครื่องขยายเสียให้ประชาชนรับฟังการประชุมด้วย
 
แตงเบิกความต่อว่า  ในวันเกิดเหตุ อบต. ได้จัดเต็นท์ให้ชาวบ้านนั่งรับฟังไว้อยู่แล้วและชาวบ้านก็นั่งอยู่บริเวณดังกล่าวตามที่จัดไว้ไม่มีการลุกขึ้นตะโกน โห่ร้อง ส่วนการปราศรัยที่ชาวบ้านพูดคือ ข้อร้องให้ สมาชิก อบต. เลื่อนการพิจารณาวาระดังกล่าวออกไป เพราะกลุ่มชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของบริษัททุ่งคำ จำกัด
 
หลังจากที่เห็นชาวบ้านนั่งชุมนุมกันหน้าทางขึ้น แตงจึงเดินไปหลบบริเวณด้านหลังห้องน้ำห่างจากชุดชาวบ้านอยู่ประมาณ 20 เมตร ชาวบ้านไม่ได้พูดจาข่มขู่อาฆาตมาดร้ายสมาชิก อบต. เขาหลางทั้ง 16 คนที่แจ้งความร้องทุกข์
 
สิ้นสุดการสืบพยานในช่วงเช้า ศาลนัดสืบพยานต่อในชวงบ่าย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ สุรศักดิ์ ดวงจำปา สมาชิก อบต. เขาหลวง (ช่วงบ่าย)
 
สุรศักดิ์ เบิกความว่า ดำรงตำแหน่งสมาชิก อบต. เขาหลวงมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีอำนาจหน้าที่บริหารและพัฒนาตำบลเขาหลวง ความเกี่ยวข้องกับคดีนี้ คือ สุรศักดิ์ ได้รับหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบการต่อสัญญาเพื่อเข้าทำเหมืองแร่ทองคำและทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโคกภูเหล็ก และที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด 
 
ในวันเกิดเหตุ สุรศักดิ์ เดินทางไปถึงบริเวณทีี่จัดประชุมตอน 8 โมง เห็นกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านประมาณ 100 กว่าคน นั่งขวางทางบันได้ขึ้นห้องประชุมของอบต. และนั่งอยู่ตามใต้ถุนห้องประชุม โดยกลุ่มชาวบ้านพูดกันว่าจะไม่ให้มีการประชุมในวันดังกล่าว ขอให้เลื่อนการประชุม สุรศักดิ์ คิดว่า หากตนกับพวกยื้อเข้าไปเกรงจะถูกทำร้าย กลุ่มชาวบ้านแจ้งให้ตนและพวกเลื่อนการประชุมอย่างเดียว สุรศักดิ์ไม่กล้าเข้าไปเพราะกลัวจะเกิดเหตุร้าย เพราะครั้งก่อนเคยเกิดการทำร้ายในห้องประชุม
 
สุรศักดิ์ จำได้ว่า กลุ่มชาวบ้านมีจำเลยที่ 1 คือ พรทิพย์ หงษ์ชัย เป็นผู้นำการชุมนุมคอยพูดโทรโข่งปลุกระดม และจำเลยที่ 2 วิรอน รุจิไชยวัฒน์ พูดปลุกระดมไม่ให้มีการชุมนุม และจำเลยที่ 3 มล คุณนา พูดปลุกระดมให้เลื่อนการประชุม ซึ่งสุรศักดิ์ จำจำเลยที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ได้เพียงเท่านี้ ที่เหลือจำไม่ได้
 
อัยการโจทก์ถามสุรศักดิ์ว่า หากที่ประชุม อบต. มีมติเห็นชอบจะมีผลอย่างไร สุรศักดิ์ตอบว่า ไม่มีผลใด เพียงแต่คณะกรรมการจะนำความเห็นไปพิจารณาอีก โดยหลังเกิดเหตุ สุรศักดิ์ มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมที่ 1 เข้าร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อจำเลยทั้ง 7 
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
สุรศักดิ์ เบิกความว่า วันเกิดเหตุมีการนัดประชุมเพียงวาระเดียวว่า จะให้ความเห็นชอบเรื่องที่บริษัทุ่งคำขออนุญาตต่ออายุการใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนและเขต สปก.หรือไม่ โดยก่อนประชุม อบต. จะมีหนังสือเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ชาวบ้าน ป่าไม้ สาธารณสุข และ บริษัททุ่งคำ เข้าร่วมการประชุม 
 
เกี่ยวกับคดีนี้ มีกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านที่ได้รับแจ้งเข้าร่วมประชุมด้วย มีการประชาสัมพันธ์ผ่านกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ให้ชาวบ้านที่สนใจมานั่งฟังประชุมด้วย และทาง อบต. เขาหลวงได้จัดเต็นท์ให้ชาวบ้านที่มานั่งฟังการประชุม โดยมีเอกสารเป็นหนังสือเชิญผู้ได้รับผลกระทบลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 
 
ในวันเกิดเหตุ ชาวบ้านเคลื่อนย้ายเต็นท์เองไปปิดกั้นทางขึ้นลงของห้องประชุมของ อบต. เขาหลวง สุรศักดิ์ ได้ยินกลุ่มชาวบ้านพูดว่าให้เลื่อนการประชุม ทำยังไงก็ได้ไม่ให้มีการประชุมเกิดขึ้น แต่ในวันเกิดเหตุไม่เห็นมีใครถูกทำร้าย
 
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า วีระพล กัตติยะ สมาชิก อบต. เขาหลวง 
 
วีระพล เบิกความว่า ดำรงตำแหน่งสมาชิก อบต.เขาหลวงมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนา ให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติ ตรวจสอบการทำงานของนายกอบต. เขาหลวง 
 
เกี่ยวกับคดีนี้ วีระพล ได้รับหนังสือเชิญเข้าประชุมจาก อบต. เขาหลวง เรื่องการต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโคกภูเหล็กและพื้นที่สปก. ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 
 
ในวันประชุม วีระพลไปถึงเวลา 8 โมง เมื่อเข้าไปพบกลุ่มคนใส่เสื้อสีดำเป็นส่วนมาก ประมาณกว่า 100 คน ยืนและนั่งอยู่บริเวณอาคารห้องประชุม อบต.เขาหลวง ตรงบริเวณบันได และยืนขวางพร้อมทั้งนำเต็นท์มาขวางเพื่อบังแดด
 
กลุ่มชาวบ้านมีการใช้โทรโข่งปราศรัย วีระพล เล่าว่า เท่าที่จำได้ จำเลยที่ 1 ใช้โทรโข่งพูดว่า จะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะมีการเลื่อนการประชุม และวีระพลยังจำได้อีกว่า จำเลยที่ 3 ก็ถือโทรโข่งปราศรัยด้วย
 
วันดังกล่าววีระพลไม่สามารถเข้าประชุมได้ เพราะกลัวว่า ถ้าพยายามจะเข้าประชุมจะมีการทำร้ายร่างกายเหมือนการประชุมคราวก่อน โดยวีระพลรอจนถึงเวลา 9 โมง และได้คุยกับประธานสภา อบต. ให้ไปเจรจากับชาวบ้าน แต่ไม่ได้รับความยินยอม จึงไปแจ้งนายอำเภอวังสะพุง และชี้แจงว่าไม่สามารถประชุมได้ เพราะมีชาวบ้านขัดขวาง
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
วีระพล เบิกความว่า ที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาประชุมในวันเกิดเหตุเพราะประธานสภา อบต. เขาหลวงแจ้งให้ทราบ โดยมีหลักฐานเป็นเอกสาร ทั้งนี้ การประชุมหัวข้อดังกล่าวเคยมีมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีมติที่ประชุม เพราะมีความเห็นต่างกันระหว่างคนสนับสนุนและคัดค้าน 
 
วันที่ 13 พฤษภาคม 2559 เคยมีเหตุอลเวงและเกิดความขัดแย้ง และมีการฟ้องร้องเป็นคดีกัน ในคดีนั้น วีระพลเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวที่ฟ้องร้องชาวบ้าน
 
วีระพล เบิกความว่า การประชุมในวันเกิดเหตุเกิดจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นคนเสนอเรื่องให้อบต. ออกมติให้ความเห็นชอบเพื่อให้บริษัใช้ประโยชน์ในที่ป่าสงวนและเขต สปก. และการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีมติ
 
วีระพล ยอมรับว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ได้รับหนังสือเข้าร่วมการรับฟังการประชุมด้วย โดยกลุ่มสมาชิกฅนรักษ์บ้านเกิดได้ทำหนังสือขออนญาตใช้สถานที่ในการรับฟังด้วย
 
วีระพล เบิกความด้วยว่า ในวันเกิดเหตุ ชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมบางส่วนก็นั่งในเต็นท์ที่จัดให้ บางส่วนนั่งที่ใต้ถุน บางส่วนก็นั่งที่หน้าอาคาร การประชุมมีการนั่งขวางที่บันได ทำให้ประชุมไม่ได้ กลุ่มชาวบ้านใช้โทรโข่งพูดไม่ให้ประชุม และจะทำทุกวิถีทาง โดยมีการใช้ขวดน้ำเคาะพื้นให้เสียงดังเป็นระยะๆ แต่ในวันดังกล่าวไม่มีเหตุรุนแรง
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หก วัชรพงษ์ บัวบานบุตร สมาชิก อบต. เขาหลวง
 
วัชรพงษ์ เบิกความว่า ดำรงตำแหน่งสมาชิก อบต.เขาหลวงมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนา ร่างข้อบังคับตำบล ตรวจสอบการทำงานของนายกอบต. เขาหลวง เกี่ยวกับคดีนี้ วัชรพงษ์ ได้รับหนังสือเชิญเข้าประชุมจากอบต. เขาหลวง เรื่องการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่สปก. ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 
 
ในวันดังกล่าว วัชรพงษ์มาถึงที่ทำการ อบต. เขาหลวง เวลาประมาณ 8 โมง เมื่อมาถึงก็เห็นกลุ่มชาวบ้านปิดกั้นทางขึ้นห้องประชุม มีการกางเต็นท์นั่งกีดขวางที่บันได้ทางขึ้นห้องประชุม จำได้ว่า มีประมาณ 100 คน โดยกลุ่มชาวบ้านใช้โทรโข่งพูดต่อต้านไม่ให้สมาชิก อบต. เขาหลวงเข้าประชุม ขอให้เลื่อนการประชุมออกไป ซึ่งมีจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 4 เป็นผู้ใช้โทรโข่ง 
 
วัชรพงษ์ เบิกความว่า จำเลยที่ 1-4 ชักชวนให้ชาวบ้านกีดขวางทางขึ้น มีการตะโกนโห่ร้อง และพูดว่า หากไม่เลื่อนการประชุมไม่รับรองความปลอดภัย โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนพูด ทำให้ไม่กล้าขึ้นห้องประชุม เพราะการประชุมคราวที่แล้วมีการขว้างปาสิ่งของ
 
เมื่อ สมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต. เขาหลวงไปเจรจาปรึกษากับชาวบ้าน และชาวบ้านไม่ยินยอมด้วย สมัยจึงกลับมาบอกว่า ชาวบ้านไม่ตกลงด้วยจึงให้เลื่อนการประชุม โดยประธานสภาแจ้งให้สมาชิกทราบแต่แรกแล้วว่า จะมีชาวบ้านมารับฟังการประชุมด้วย แต่ไม่ได้เข้ามาในลักษณะกีดขวาง ในวันดังกล่าวชาวบ้านมา แต่ไม่มีผู้ใดขึ้นห้องประชุม ทางขึ้นห้องประชุมมีทางขึ้นทางเดียว
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
วัชรพงษ์ เบิิกความว่า เต็นท์ที่ชาวบ้านไปนั่งอยู่เป็นเต็นท์ของ อบต.เขาหลวง โดยปกติมีเจ้าหน้าที่ตั้งเต็นท์ให้ และมีทั้งชาวบ้านนำมาตั้งเพิ่มเติม ในวันเกิดเหตุ พ.ต.ต.ยศพล วรรณทองสังข์ มาดูแลความสงบเรียบร้อย มีปลัดอำเภอพาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาดูแลความสงบเรียบร้อย โดยตนและพวกรออยู่หน้าอาคารประชุม
 
วัชรพงษ์ ตอบทนายจำเลยว่า ที่บอกว่าได้ยินจำเลยที่ 1 พูดว่าไม่รับรองความปลอดภัยนั้น ตนไม่ได้ไปแจ้งให้ พ.ต.ต.ยศพล รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและฝ่ายปกครองซึ่งดูแลความสงบเรียบร้อยทราบด้วย
 
หลังจากที่เห็นชาวบ้านชุมนุมกันทำให้ไม่สามารถเข้าประชุมได้ ตนและสมาชิกอบต. รวมถึงประธาน ได้ปรึกษากันแล้วเห็นควรให้เลื่อนการประชุมเพราะอาจไม่ปลอดภัย โดยตอนนั้น วัชรพงษ์ และพวกยืนอยู่ห่างจากอาคารหอประชุมและกลุ่มชาวบ้านประมาณ 30 เมตร
 
ในหนังสือมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์ที่วัชรพงษ์กับพวกมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมที่ 1 ไปแจ้งความ ไม่มีข้อความที่ว่ากลุ่มของชาวบ้านกับพวกทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต หนังสือมอบอำนาจระบุแต่ว่า กลุ่มชาวบ้านขัดขวางไม่ให้มีการประชุม ไม่มีข้อความว่า มีการข่มขู่หรือทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตราย รวมถึงในชั้นสอบสวนก็ไม่เคยให้การว่า กลุ่มชาวบ้านข่มขู่หรือจะทำร้าย
 
1 กุมภาพันธ์ 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
เวลา 10.30 น. ศาลเริ่มการพิจารณาคดี โดยจะเป็นการสืบพยานโจทก์ต่ออีก 3 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความเรียบร้อยในวันที่เกิดเหตุและพนักงานสอบสวน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด พ.ต.ท.ยศพนธ์ วันทองสังข์ สารวัตรปราบปรามฯ สภ.วังสะพุง
 
พ.ต.ท.ยศพนธ์ เบิกความว่า ดำรงตำแหน่งสารวัตรป้องกันและปราบปรามของ สภ.วังสะพุง มีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เกี่ยวกับคดีนี้  พ.ต.ท.ยศพนธ์ ได้รับแจ้งจากศูนย์สื่อสารว่า มีเหตุชุมนุมที่ อบต.เขาหลวง หลังจากได้รับแจ้ง ก็ได้แจ้งให้ผู้กำกับทราบ และผู้กำกับได้สั่งให้นำกำลังตำรวจไปดูแลความสงบเรียบร้อยที่ อบต.เขาหลวง โดยแต่งกายชุดสีน้ำเงินสำหรับปราบจราจล รวมกำลังเจ้าพนักงานมีประมาณ 30 นาย และเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุเวลา 7 โมงครึ่ง
 
ในที่เกิดเหตุมีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดประมาณ 50 นาย กำลังนั่งรวมกลุ่มเรียกร้องเพื่อคัดค้านเรื่องการประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง พ.ต.ท.ยศพนธ์ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลความสงบเรียบร้อย จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบางส่วนมาจากทางบ้านนาหนองบง จนรวมได้ประมาณ 200 คน
 
พ.ต.ท.ยศพนธ์ เบิกความต่อว่า ตนได้พุดคุยกับชาวบ้าน และสอบถามวัตถุประสงค์ที่มา พร้อมบอกว่า หากต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจขอให้แจ้ง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำ นอกจากนี้ยังเห็นจำเลยที่ 2-4 เป็นผู้นำการชุมนุมด้วย พฤติกรรมของผู้ชุมนุมอยู่ในสถานที่ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงจัดไว้ให้ บางส่วนอยู่ในเต็นท์ บางส่วนเดินเขาห้องนำ ไม่มีเหตุวุ่นวาย 
 
พ.ต.ท.ยศพนธ์ เบิกความว่า ห้องประชุมจะอยู่บนอาคารหอประชุม มีบันไดทางขึ้น-ลงแค่ทางเดียว จึงได้สั่งให้มีเจ้าหน้าที่ไปรักษาความปลอดภัยอยู่จำนวนหนึ่งก่อนถึงเวลาประชุม และไม่มีชาวบ้านไปนั่งปิดทางขึ้น ต่อมามีกลุ่มผู้ชุมนุมนั่งบริเวณทางขึ้นประมาณ 4-5 คน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ขึ้นประชุมได้ พอประชุมไม่ได้ สุดท้ายชาวบ้านก็เลิกชุมนุม
 
ระหว่างเกิดเหตุ  พ.ต.ท.ยศพนธ์ ได้สอบถามผู้กำกับแล้วว่า ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะชุมนุมกันที่บริเวณหน้าทางขึ้นห้องประชุม ได้แจ้งล่วงหน้าก่อน 24 ชัั่วโมงตามกฎหมายหรือไม่ ผู้กำกับแจ้งว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งให้ทราบ และหลังเกิดเหตุ ผู้กำกับ สภ.วังสะพุงมอบหมายให้ตนไปร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีที่จำเลยที่ 1 กับพวก ฐานชุมนุมโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ช่วโมง
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.ท.ยศพนธ์ ตอบทนายจำเลยว่า การชุมนุมของชาวบ้านในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบ มีการปราศรัยเรื่องชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จึงขอให้เลื่อนการพิจารณาญัตติของอบต.เขาหลวงออกไป 
 
พ.ต.ท.ยศพนธ์ เบิกความว่า นอกเหนือจากเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมให้ทราบล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมงตามกฎหมาย ก็ไม่เห็นว่ากลุ่มชาวบ้านกระทำความผิดอื่น
 
สืบพยานโจทก์ปากที่แปด พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผู้กำกับฯ สภ.วังสะพุง
 
พ.ต.อ.สุจินต์ เบิกความว่า ตนเป็นผู้กำกับ สภ.วังสะพุงมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีอำนาจหน้าที่บริหารงานพนักงานตำรวจในด้านงานสืบสวนและสอบสวน และมีหน้าที่เกี่ยวกับการขออนุญาตให้การจัดการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
 
เกี่ยวกับคดีนี้  พ.ต.อ.สุจินต์ ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า มีการชุมนุมกันของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง จึงสั่งการให้สารวัตรปราบปรามและนำกำลังเจ้าพนักงานไปที่เกิดเหตุเพื่อตรวจสอบ โดยตนก็ไปที่เกิดเหตุด้วย
 
ในวันดังกล่าวมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณกว่า 100 คน นั่งอยู่ใกล้กับหอประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง บางส่วนยืนขึ้น มีลักษณะการกล่าวปราศรัย แสดงป้ายเพื่อแสดงความคิดเห็น คัดค้านการประชุมในญัตติการขอใช้ที่ดินป่าสงวน พร้อมกับมีการส่งเสียง แต่ตนไม่ได้เข้าไปเจรจากับฝ่ายแกนนำ เท่าที่จำได้ เห็นจำเลยที่ 1 เป็นแกนนำ
 
ในที่เกิดเหตุนอกจากกลุ่มชาวบ้านแล้วยังเห็นกลุ่มสมาชิก อบต. เขาหลวง สวมชุดข้าราชการเพื่อรอการประชุม โดยตนไม่ได้รับแจ้งมาก่อนว่า กลุ่มชาวบ้านจะมาร่วมชุมนุมในที่เกิดเหตุ ทั้งไม่ได้รับแจ้งการขอผ่อนผันเรื่องการขอระยะเวลาในการแจ้งว่าจะจัดการชุมนุม หลังเกิดเหตุได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ยศพนธ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งสารวัตรป้องกันและปราบปรามไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินคดี
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
พ.ต.อ.สุจินต์ ตอบทนายจำเลยว่า ตนทราบเรื่อง อบต.เขาหลวงจะจัดประชุมที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และจะต้องแจ้งให้ชาวบ้านหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบถึงการประชุมด้วย โดยต้องให้โอกาสผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ารับฟังการประชุม ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน อบต. เขาหลวง แจ้งให้ตนทราบว่าจะมีการจัดประชุมที่ อบต. เขาหลวง และได้ขอกำลังเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดููแลความสงบเรียบร้อยในการประชุม โดยตนได้ขัดส่งกำลังเจ้าพนักงานตำรวจประมาณ 30 กว่านาย เข้าดูแล
 
ในวันเกิดเหตุ ได้เดินทางมากับผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่จะเข้าไปห้ามปรามการปราศัย เนื่องจากไม่มีลักษณะที่จะเกิดความรุนแรง เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ ตนได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ อบต. และได้สอบถามว่า จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ อบต. บอกว่า ขอดูท่าทีว่าจะประชุมอีกครั้งได้เมื่อใด
 
พ.ต.อ.สุจินต์ ตอบทนายจำเลยอีกว่า การจัดประชุมของ อบต. เขาหลวง เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มารับฟังการประชุม พร้อมทั้งได้แจ้งให้ทางตำรวจทราบล่วงหน้าว่าจะมีการจัดประชุมขึ้้นที่ห้องประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยลักษณะกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในที่เกิดเหตุมีบางส่วนปิดทางขึ้น มีการส่งเสียดัง แต่ไม่มีเหตุการณ์เข้าไปทำร้ายผู้ใด
 
ศาลถาม พ.ต.อ.สุจินต์ ว่า ในที่เกิดเหตุได้ยินกลุ่มผู้ชุมนุมพูดว่า หากขึ้นห้องประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัยหรือไม่ พ.ต.อ.สุจินต์ ตอบว่า ไม่ได้ยิน
 
สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า ร.ต.อ.วสันต์ แสงโทโพธิ์ พนักงานสอบสวน
 
ร.ต.อ.วสันต์ เบิกความว่า ตนปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการที่ สภ.วังสะพุง ตั้งแต่เวลา 8 โมงของวันที่ 16 พฤศจิกายน จนถึง 8 โมง ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ในระหว่างเข้าเวร ได้รับแจ้งจากโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา อ้างว่า ได้รับมอบอำนาจจากสมาชิก อบต. เขาหลวง ให้มาแจ้งความดำเนินคดีจำเลยที่ 1 กับพวก ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันทำให้เสื่อมเสียต่อเสรีภาพหรือชื่อเสียง ซึ่งตนได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้
 
หลังรับแจ้งความร้องทุกข์จากโจทก์ร่วมที่ 1 แล้ว ได้สอบปากคำโจทก์ร่วมที่ 1 ไว้ด้วย และยังสอบปากคำ แตง ตองหว้าน, วชัรพงษ์ ศรีทองสุข, นิกร ศรีโนนสุข อีกด้วย
 
ในคดีนี้ ร.ต.อ.วสันต์ ได้จัดทำแผนที่โดยสังเขปเกี่ยวกับที่เกิดเหตุไว้ด้วย ซึ่งพบว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นอาคารมีห้องประชุมอยู่ด้านบน มีทางขึ้นทางเดียว ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง 
 
ต่อมา พ.ต.ท.ยศพนธ์ วันทองสังข์ ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม เรื่องที่จำเลยทั้งเจ็ดร่วมชุมนุมกันโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมง อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 จากนั้น พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ยศพนธ์ มาร้องทุกข์กล่าวโทษอีกครั้งในข้อหาเดียวกัน
 
ร.ต.อ.วสันต์ เบิกความว่า ระหว่างสอบสวน ได้ออกหมายเรียกจำเลยทั้ง 7 คนมาสอบปากคำในวันที่ 18 ธันวาคม 2559 และแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่าร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดและทำให้กลัวทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สินของผู้อื่น โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปและยังแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ส่วนจำเลยที่ 2-7 ได้แจ้งข้อหา ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดและทำให้กลัวทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สินของผู้อื่น โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งจำเลยทั้ง 7 คนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
 
แต่ทว่า หลังจากทำความเห็นส่งพนักงานอัยการแล้ว พนักงานอัยการได้แจ้งให้ตนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มว่า ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในลักษณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติของที่ทำการหน่วยงานรัฐ เมื่อแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแล้ว จำเลยทั้งเจ็ดก็ยังให้การปฏิเสธ
 
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
 
ร.ต.อ.วสันต์ ตอบทนายจำเลยว่า ในคดีนี้มีผู้กล่าวหาทั้งหมด 16 คน แต่ตนได้สอบปากคำผู้กล่าวหาเพียงบางส่วน หรือเพียงแค่ 6 คนเท่านั้น และในการสอบปากคำผู้เสียหาย ก็ไม่มีการระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคน และไม่มีการชี้ชัดว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดในลักษณะใดอย่างเป็นขั้นตอน แต่เป็นการกล่าวโทษในลักษณะรวมๆ ไม่มีขั้นตอนรายละเอียดที่ชัดเจน
 
ส่วนประเด็นการแจ้งข้อกล่าวหาว่า จำเลยทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 (ข่มขืนใจผู้อื่นฯ) นั้น ผู้ถูกกล่าวหาระบุว่า หากเดินขึ้นไปประชุมอาจจะเกิดเหตุร้ายขึ้น แต่ก็ไม่ปรากฎว่ากลุ่มชาวบ้านที่นั่งอยู่ทำร้ายผู้ถูกกล่าวหา
 
2 กุมภาพันธ์ 2561
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
เวลา 10.30 น. ศาลเริ่มการพิจารณาคดี โดยจะเป็นการสืบพยานจำเลย โดยมีจำเลยทั้ง 7 คนขึ้นเบิกความเป็นพยาน แต่ก่อนจะเริ่มสืบพยาน ศาลเห็นว่า จากการสืบพยานโจทก์ ระบุผู้เกี่ยวข้องในคดีได้แค่จำเลยที่ 1 ถึง 4 จึงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องสืบจำเลยทุกคน ให้สืบพยานเฉพาะคนที่ถูกพาดพิงถึง ฝ่ายทนายจำเลยไม่คัดค้าน 
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง พรทิพย์ หงชัย จำเลยที่หนึ่ง
 
พรทิพย์ เบิกความต่อศาลว่า พักอาศัยอยู่ที่หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน มีอาชีพเกษตร ปลูกข้าว ปลูกฝ้าย ปลูกข้าวโพด จนกระทั่งในปี 2549 บริษัททุ่งคำมาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ มีการระเบิดหินเพื่อสกัดแร่ทองคำ และที่ตั้งของบริษัทอยู่บริเวณภูเขาชื่อภูทับฟ้า มีหมู่บ้านรอบเหมืองรวม 6 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 12, 13 
 
หลังบริษัทเริ่มประกอบกิจการชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านได้รับผลกระทบได้แก่ ฝุ่น มลภาวะทางเสียง ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันในชื่อกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เพื่อเฝ้าระวังติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองและเคยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เมื่อชาวบ้านร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ก็มีหน่วยราชการก็ออกตรวจสภาพสิ่งแวดล้อม และมีประกาศจากสาธารณสุขจังหวัด ให้งดอุปโภค ปริโภคน้ำใต้ดิน ปี 2553 มีประกาศให้งดบริโภคหอยขม จากล่องน้ำห้วยเหล็กเพราะมีสารโลหะหนักปนเปื้อน ในน้ำมีสารปรอด สารหนู แมงกานีส โดยในหอยขมจะพบสารหนูเยอะที่สุด 
 
จากการสุ่มตรวจเลือดชาวบ้านประมาณ 700 คน ก็พบว่า ชาวบ้านประมาณ 100 กว่าคนมีสารโลกหนักทั้งเกินและไม่เกินค่ามาตรฐาน บางรายมีไซยาไนด์ สารหนู แมงกานีส และปรอทอยู่ในร่างกายเกินค่ามาตรฐาน ในปี 2555 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยได้ทำหนังสือถึงบริษัททุ่งคำให้หยุดทำเหมืองและดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องการทรุดตัวของสันเขื่อนด้านทิศเหนือของบ่อกักเก็บกากแร่ ซึ่งส่งผลให้น้ำในบ่อเก็บกากแร่ไหลลงสู่บ่อน้ำธรรมาชาติ 
 
วันที่ 6 มีนาคม 2558 กรมควบคุมมลพิษทำหนังสือรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในและรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ พบว่า ลำห้วยเหล็กบริเวณท้ายน้ำมีการปนเปื้อนของสารหนู แมงกานีส ไซยาไนด์ และคุณภาพบ่อน้ำสังเกตการณ์กับบ่อน้ำธรรมชาติยังมีสารแคดเมียม ตะกั่ว แมงกานีส สารหนู และไซยาไนด์เกิดมาตรฐาน 
 
ในปี 2558 บริษัททุ่งคำ เคยพยายามขอขนกากแร่ดังกล่าวออกมา แต่เนื่องจากใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดินหมดอายุตั้งแต่ปี 2555 บริษัททุ่งคำจึงพยายามขอให้ อบต.เขาหลวงยื่นญัตติเข้าสู่สภาให้ความเห็นชอบต่ออายุให้บริษัททุ่งคำเข้าทำประโยชน์ ดังนั้น ตนและพวกจึงพยายามคัดค้านไม่ให้สภาให้ความเห็นชอบ เพราะตั้งแต่ชาวบ้านได้รับผลกระทบยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขเยียวยา
 
พรทิพย์ เบิกความว่า วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ตนได้รับแจ้งการประชุมผ่านเสียงตามสายของผู้ใหญ่บ้านว่า จะมีการจัดประชุมในญัตติต่ออายุให้บริษัททุ่งคำใช้พื้นที่ป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดิน และ สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต.เขาหลวง ได้ทำหนังสือถึงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และตนก็ได้รับหนังสือเชิญดังกล่าวด้วย
 
วันที่เกิดเหตุคดีนี้ วันที่ 16 พฤศจิกายน จึงเดินทางไปที่ทำการอบต.เขาหลวง เวลา 6 โมงเช้า เมื่อไปถึงเห็นชาวบ้านนั่งกระจัดกระจายทานข้าวบ้าง พูดคุยกันบ้าง ที่หน้าอาคารห้องประชุม อีกทั้งยังมีการใช้โทรโข่งเพื่ออธิบายให้กลุ่มบ้านที่มาฟังทราบถึงความจำเป็นในการรับฟังการประชุม โดยในบริเวณที่เกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย มีเจ้าพนักงานตำรวจชุดปราบจราจล เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง 
 
ก่อนถึงเวลาประชุม สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต. เขาหลวง เข้ามาพูดคุยกับตนและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดว่า ใกล้ถึงเวลาประชุมแล้ว ให้ชาวบ้านเตรียมส่งรายชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมประชุม ตนจึงแจ้งว่า ชาวบ้านต้องการให้ยุติการประชุม เพราะชาวบ้านเดือดร้อนยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา และสมัยตอบว่า จะขอไปพูดคุยกับสมาชิกอบต. ท่านอื่นก่อน
 
จากนั้น สมัย ภักดิ์มี มาแจ้งว่าจะเลื่อนการประชุมไปก่อน แต่ตนขอว่า ให้ยกเลิกไปเลยได้หรือไม่ เพราะหากอบต. เอาเรื่องนี้มาเป็นญัตติอีก ชาวบ้านก็ต้องมาประชุมอีก สมัยจึงแจ้งให้ตนกับพวกทำหนังสือมา และกลุ่มชาวบ้านได้ร่างหนังสือถึงประธานสภาเพื่อขอให้ยกเลิกการประชุมและญัตติดังกล่าว และได้นำหนังสือดังกล่าวไปส่งให้กับนายอำเภอ จากนั้นจึงแยกย้ายกลับบ้าน
 
พรทิพย์ เบิกความว่า กลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังการประชุมมีการอภิปรายกันเฉพาะผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ กลุ่มชาวบ้านไม่ได้ปิดกั้นหรือขวางทางขึ้นลง และตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
 
ตอบอัยการโจทก์และทนายโจทก์ร่วมถามค้าน
 
พรทิพย์ เบิกความว่า ทราบว่า สารหนูและไซยาไนด์อาจจะมีอยู่ในธรรมาชาติอยู่แล้วจากการใช้ยาฆ่าแมลง และการพิจารณาญัตติของอบต.เขาหลวง ไม่ใช่การพิจารณาอนุญาตเป็นเพียงการให้ความเห็นประกอบการอนุญาต
 
พรทิพย์ ตอบทนายโจทก์ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการเชิญจำเลยและพวกไปเข้าร่วมการประชุม โดยอบต.เขาหลวงให้ชาวบ้านเข้าร่วมได้ 20 คน และที่เหลือนั่งอยู่ในเต็นท์ที่ทางอบต.จัดให้ แต่ในวันเกิดเหตุไม่มีการต่อแถวขึ้นห้องประชุมอย่างเคย และชาวบ้านก็ไม่ได้อยู่แค่ในเต็นท์ แต่นั่งกระจัดกระจายรอบอาคาร
 
ในการประชุมก่อนหน้านี้คือวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ในห้องประชุมเคยมีการขว้างปาขวดน้ำกันในห้องประชุมจริง
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
พรทิพย์ เบิกความว่า ปกติในการเข้ารับฟังการประชุม อบต.เขาหลวงจะจัดเต็นท์ให้นั่ง แต่บางส่วนก็นั่งหน้าบันได นั่งใต้หอประชุม
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง วิรอน รุจิไชยวัฒน์ จำเลยที่สอง
 
วิรอน เบิกความว่า อาศัยอยู่ที่หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน และชาวบ้านที่อยู่ใน ต.เขาหลวง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตกร ในปี 2549 บริษัททุ่งคำมาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยพื้นที่ทำเหมืองแร่อยู่ห่างจากหมู่บ้านของตนเพียง 500 เมตร และส่งผลกระทบ เช่น เกิดเสียงรบกวนและฝุ่นควันจากการระเบิดหิน น้ำในบริเวณหมู่บ้านไม่สามารถอุปโภคได้ ฝนตกก็ชะล้างเอาสารเคมีปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ กลุ่มชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมากจากการประกอบกิจการของบริษัททุ่งคำ ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป
 
วิรอนและพวกเคยไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาตรวจสอบ ทำให้พบว่า เกิดปัญหาในแหล่งน้ำ มีสารปนเปื้อนโดยการตรวจสอบของสาธารณสุขจังหวัด จากการตรวจสอบสัตว์น้ำก็พบสารเคมีหรือโลหะหนัก เช่น ในหอยขม
 
วิรอน เบิกความว่า บริษัททุ่งคำประกอบกิจการและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเรื่อยมา จนในปี 2555 ก็หยุดกิจการเนื่องจากสันเขื่อนเก็บกากแร่ซึ่งมีสารไซยาไนด์ทรุด ทำให้อุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ จนมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพื่อให้บริษัทซ่อมแซมให้เรียบร้อย แต่สารพิษไม่ได้ลดน้อยลง ยังคงปนเปื้อนที่หมู่บ้านและบริเวณโดยรอบ แม้ว่าบริษัททุ่งคำจะหยุดประกอบกิจการแล้ว แต่การตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังพบว่า ปัจจุบันยังคงมีสารปนเปื้อนอยู่ในร่องน้ำธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถประกอบเกษตรกรรมได้ ไม่สามารถเก็บผักที่ปลูกในพื้นที่กินได้
 
เมื่อหนังสืออนุญาตให้ทำเหมืองแร่พร้อมประทานบัตรของบริษัทหมดอายุ ทางอบต.เขาหลวง ได้รับหนังสือจากบริษัททุ่งคำ เพื่อให้เสนอญัตติให้ความเห็นชอบว่า จะอนุญาตให้บริษัทเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตปฏิรูปที่ดินที่เคยได้รับมา
 
เมื่อพวกตนได้รับแจ้งจากประธานสภาอบต.เขาหลวงให้เข้าร่วมประชุมพื่อรับฟังความคิดเห็น ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลกระทบโดยตรง จึงปล่อยให้มติดังกล่าวผ่านไปไม่ได้ หาก อบต. เห็นชอบในประเด็นนี้ ฝ่ายชาวบ้านจะได้รับผลกระทบโดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา 
 
การประชุม อบต. ในวาระดังกล่าว ตนได้รับหนังสือเชิญ โดยทราบจากทางผู้ใหญ่บ้านและรับแจ้งจากอบต.เขาหลวงด้วย และเดินทางไปวันที่มีการประชุมในตอน 6 โมงเช้า จากนั้นก็รับประทานอาหารกับชาวบ้านคนอื่นๆ มีคนนั่งฟังการประชุมกันตามอัธยาศัย มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยมาสอบถามถึงการเข้าร่วมประชุมอยู่บ้าง แต่ตนแจ้งว่า ใช้สิทธิตามที่มีมาร่วมประชุม  
 
ต่อมาเวลา 9 โมงเช้า สมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวงเดินมาสอบถามชาวบ้านเพื่อให้ส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม แต่กลุ่มชาวบ้านชี้แจงว่า ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา ขอให้ยกเลิกการประชุมไปก่อน ทำให้สมัยไปปรึกษากับสมาชิกอบต. คนอื่นๆ และได้คำตอบกลับมาว่าจะเลื่อนการประชุม ซึ่งชาวบ้านบอกกับสมัยว่า ถ้าเลื่อนไปวันนี้เดี๋ยวก็มาประชุมอีก ขอให้ยกเลิกไปเลยได้หรือไม่ เพราะมีคนเดือดร้อนจำนวนมาก จำนวนสมาชิกอบต. แค่ 16 คน จะมาตัดสินชีวิตชาวบ้านไม่น่าจะถูกต้อง 
 
วิรอน เบิกความว่า หลังจากนั้นสมัยแจ้งกับตนว่า การยกเลิกไม่น่าจะทำได้ แต่ขอให้กลุ่มชาวบ้านทำหนังสือมายังอบต. เพื่อไปให้ยังนายอำเภอวังสะพุง แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ไปยื่นแก่นายอำเภอด้วยตัวเอง เมื่อยื่นหนังสือแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน
 
ตอบอัยการและทนายโจทก์ร่วมถามค้าน
 
วิรอน เบิกความว่า ตนเคยไปร่วมรับฟังการประชุมที่อบต.เขาหลวงเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 17 สิงหาคม 2559 โดยก่อนไปประชุมได้รับหนังสือแจ้งให้ไปร่วมรับฟังด้วยทุกครั้ง และในวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 เคยมีเหตุการณ์ขว้างปาขวดน้ำในห้องประชุมจริง
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม มล คุณนา จำเลยที่สาม
 
มล เบิกความต่อศาลว่า ตนอาศัยอยู่ที่หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน 
 
ในปี 2549 บริษัททุ่งคำได้เข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำใกล้กับหมู่บ้านที่พักอาศัยอยู่ ซึ่งห่างออกไปประมาณ 500 เมตร โดยพื้นที่รอบเหมืองแร่มีชาวบ้านอาศัยอยู่รวม 6 หมู่บ้าน หลังบริษัททุ่งคำเข้ามาประกอบกิจการ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนเพราะมีการระเบิดหิน มีการขนส่งสินแร่ทำให้เกิดฝุ่นละอองแพร่กระจาย น้ำในแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้ ทำให้ตนและพวกตั้งกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดขึ้น 
 
ชาวบ้านเคยทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดเคยมาตรวจสอบบริเวณที่ประกอบกิจการและได้ออกประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนบริโภคสัตว์น้ำที่ผ่านลำห้วยเหล็ก เพราะสารพิษจะไปปนเปื้อนสะสมในร่างกาย ปัจจุบันบริษัททุ่งคำ ไม่ได้ประกอบกิจการเหมืองแร่แล้ว เพราะปี 2555 สันเขื่อนที่กักเก็บแร่ทรุด และอุตสาหกรรมจังหวัดมีคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการชั่วคราว แต่ชาวบ้านก็ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ 
 
ต่อมาใบอนุญาตในการทำเหมืองหมดอายุ บริษัททุ่งคำได้ขอให้อบต.เขาหลวงให้ความเห็นชอบการต่อหนังสืออนุญาตดังกล่าว ทำให้อบต.เขาหลวงต้องจัดประชุม ทั้งนี้ ทางอบต.เขาหลวงได้ส่งขาวประกาศให้ชาวบ้านทราบ และตนได้ทราบจากเสียงตามสายที่ผู้ใหญ่บ้านประกาศให้ฟัง 
 
มลเล่าว่า ในวันเกิดเหตุ ตนได้เดินทางไปถึงที่ทำการอบต.เขาหลวงเวลา 7 โมงเช้า เมื่อไปถึงก็พบว่ามีกลุ่มชาวบ้านอยู่ก่อนแล้ว จึงไปอยู่ด้านล่างของอาคารหอประชุมและรับประทานอาหารกับกลุ่มชาวบ้าน ทั้งนี้ อบต.เขาหลวงได้จัดเจ้าหน้าที่ตำบล ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาคอยรักษาความปลอดภัย
 
ก่อนการประชุม สมัย ภักดิ์มี เดินมาถามกลุ่มชาวบ้านว่า ใครจะขึ้นไปประชุมในห้องประชุมบ้างให้เอารายชื่อมา แต่กลุ่มชาวบ้านพยายามชี้แจงกับสมัยให้ยกเลิกการประชุม ซึ่งในวันดังกล่าวไม่มีผู้ใดปราศัยว่าหากมีการประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัยเลย
 
ตอบอัยการและทนายโจทก์ร่วมถามค้าน
 
อัยการไม่ขอถามค้าน แต่ทนายโจทก์ร่วมขอถามค้าน โดยมล ตอบคำถามว่า ตามเอกสารที่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมชี้แจงผลกระทบของการทำเหมืองแร่ในห้องประชุม ในหนังสือไม่ได้เขียนว่า ยินยอมให้ชาวบ้านใช้โทรโข่งปราศรัย และการประชุมคราวก่อน ก็เคยไปร่วมหลายครั้ง สาเหตุที่คัดค้านการประชุมดังกล่าวเพราะได้รับผลกระทบจากบริษัททุ่งคำ โดยต้องการให้บริษัทปิดเหมืองแร่
 
ทนายจำเลยถามติง
 
มล ตอบคำถามทนายจำเลยว่า ในการประชุมก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะเกิดเหตุในคดีนี้ ชาวบ้านก็เคยจัดการปราศรัยกัน และโดยปกติชาวบ้านก็เคยส่งตัวแทนทำหนังสือไปยัง อบต.เขาหลวงเพื่อขอใช้พื้นที่ในอบต.เข้าร่วมประชุมและได้รับการอนุญาตจากอบต.เขาหลวงแล้ว
 
มล เบิกความอีกว่า หากบริษัททุ่งคำ แก้ไขฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ กลุ่มชาวบ้านอาจยินยอมให้ประกอบกิจการต่อได้ แต่จนถึงปัจจุบัันยังมีปัญหาการปนเปื้อนของโลหะหนักในดินและแหล่งน้ำอยู่เลย
 
สืบพยานจำเลยปากที่สี่ ระนอง กองแสน จำเลยที่สี่
 
ระนอง เบิกความต่อศาลว่า อาศัยอยู่ที่หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่ที่ 3 ประกอบอาชีพเกษตรกร ในปี 2549 บริษัททุ่งคำได้เข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำใกล้กับหมู่บ้านที่พักอาศัยอยู่ ซึ่งห่างจากบ้านประมาณ 500 เมตร โดยการประกอบกิจการของบริษัททุ่งคำเป็นการทำเหมืองแร่ ใช้วิธีระเบิดหินซึ่งทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย ก่อให้เกิดเสียงดัง และมีเสียงเครื่องจักรรบกวนเวลานอน
 
ตั้งแต่ปี 2555 เหมืองทองคำยุติการประกอบกิจการไป เพราะใบอนุญาตใช้พื้นที่หมดอายุ อีกทั้งเคยมีกรณีที่สันเขื่อนกักเก็บแร่แตก ทำให้อุตสาหกรรมจังหวัดมีคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการชั่วคราว แต่ผลกระทบในตะกอนดินก็ยังไม่หายไป กรมควบคุมมลพิษต้องคอยมาตรวจสอบแหล่งน้ำ
 
ระนองเบิกความว่า ที่ผ่านมา เคยมีการประชุมเรื่องอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บริษัททุ่งคำใช้พื้นที่ป่าและเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้วหลายครั้ง และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมรับฟังการประชุมทุกครั้ง และชาวบ้านก็จะไปประชุมทุกครั้ง และก่อนการประชุมในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ก็ได้ทราบข่าวจากเสียงตามสายของผู้ใหญ่บ้าน และให้ตนกับพวกชาวบ้านเข้าร่วมนังฟังการประชุมที่อบต.เขาหลวงได้ ตนจึงเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ 
 
เมื่อตนเดินทางไปถึงที่ประชุมตอน 6 โมงเช้า เห็นกลุ่มชาวบ้านประมาณ 50 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำบล ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาคอยรักษาความปลอดภัย จากนั้นตอนเวลาประมาณ 9 โมงเช้า สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต. ได้มาสอบถามชาวบ้านเพื่อให้ส่งรายชื่อเข้าห้องประชุม แต่กลุ่มชาวบ้านชี้แจงว่าขอให้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านได้รับมาก่อนได้หรือไม่ สมัยจึงขอตัวไปคุยกับสมาชิกอบต. รายอื่นๆ ก่อน
 
หลังจากหารือกับสมาชิกอบต. แล้วจำไม่ได้ว่า สมัย ภักดิ์มี มาพูดอะไรต่อ แต่จำได้ว่า ชาวบ้านขอให้ยุติการประชุมไว้ก่อนเพราะไม่มีเรื่องเร่งด่วน โดยในวันเกิดเหตุไม่ได้ยินผู้ใดพูดปราศัยว่า หากใครเข้ามาประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัย โดยระนองอยู่ในสถานที่ดังกล่าวจนถึงเวลาสี่โมงเย็นถึงเดินทางกลับ
 
ตอบอัยการและทนายโจทก์ร่วมถามค้าน
 
อัยการไม่ขอถามค้าน แต่ทนายโจทก์ร่วมขอถามค้าน โดยถามระนองว่า ที่พยานเบิกความว่า เกิดเขื่อนแตกในพื้นที่เหมือง แต่ตามเอกสารหลักฐานแล้ว เขียนว่าเขื่อนทรุดใช่หรือไม่ ระนองตอบว่า ใช่
 
ทนายโจทก์ถามต่อว่า หากไม่มีการทำเหมืองแร่ทองคำก็จะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ ระนองตอบว่า ใช่ หากไม่มีการทำเหมืองแร่ทองคำในตำบลเขาหลวงก็จะไม่มีฝุ่นฟุ้งกระจายหรือมีสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ส่วนปัญหาเรื่องเสียงดัง ฝุ่นละอองและเสียงระเบิดหินนั้นไม่ได้ยินตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 แล้ว
 
ทนายจำเลยถามติง
 
ระนอง เบิกความต่อศาลว่า ผลกระทบของตะกอนดินและน้ำเป็นพิษเพราะมีสารโลหะหนัก สารหนูยังคงอยู่ในแหล่งน้ำและผิวดินในธรรมชาติ ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้บริษัททุ่งคำจะไม่ได้ประกอบกิจการแล้วก็ตาม
 
 
8 กุมภาพันธ์ 2561
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
เวลา 10.00 น. ศาลเริ่มการพิจารณาคดี โดยจะเป็นการสืบพยานจำเลย 2 ปากสุดท้าย ซึ่งเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
สืบพยานจำเลยปากที่ห้า นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
นพ.นิรันดร์ เบิกความต่อศาลว่า ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เคยเป็นอดีต ส.ว. ที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2552 จนถึง 2558 ขณะดำรงตำแหน่ง ได้เป็นประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนด้วย โดยมีหน้าที่ตรวจสอบและคุ้มครองการละเมิดสิทธิชุมชนจากภาครัฐและเอกชน เมื่อตรวจสอบแล้วก็มีหน้าเสนอนโยบาย กฎหมาย ต่อรัฐบาลและรัฐสภา รวมถึงมีหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจต่อสังคมและต่อหน่วยงานของรัฐ 
 
ตอนดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสิทธิฯ เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีสารพิษ ประชาชนมีปัญหาสุขภาพ และปัญหาการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของบริษัททุ่งคำ นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนกรณีความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ในขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขององค์การสัปทานเหมืองแร่ทองคำ และความรุนแรงตอนที่บริษัททุ่งคำขนแร่ทองคำออกจากพื้นที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและความรุนแรงขึ้น
 
จาการตรวจสอบพบว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบชัดเจนเรื่องสุขภาพ มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลที่ห้ามกินน้ำจากแหล่งน้ำ ห้ามกินพืชผักที่ปลูกในพื้นที่ เพราะมีการปนเปื้อนสารพิษ และที่สำคัญคือตรวจพบสารพิษในร่างกายประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก อีกปัญหาหนึ่งที่ตรวจสอบพบ คือ เรื่องการใช้พื้นที่ทำมาหากิน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกเพื่อนำพืชผลทางการเกษตรไปบริโภคหรือขายได้ ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน
 
ส่วนปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงเป็นความผิดพลาดในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและชาวบ้าน ซึ่งรัฐไม่เข้าใจกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งควรเป็นกระบวนการศึกษาวิจัยและการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย
 
สำหรับคดีนี้ บริษัททุ่งคำต้องการขยายพื้นที่ประกอบกิจการไปยังพื้นที่ป่าสงวนและที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน(สปก.) จึงต้องรับฟังความของหน่วยงานราชการทั้งสองฝ่าย แต่กฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นระบุว่า เรื่องนี้กระทบต่อสิทธิชุมชนและกระทบต่อหลักการของการให้ใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ทำให้องค์การส่วนท้องถิ่นอย่างอบต. ต้องให้ความคิดเห็นว่า จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติการขยายสัปทาน
 
ขณะเกิดเหตุ สิทธิของประชาชนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 มาตรา 66 และ 67 ซึ่งระบุชัดเจนถึงเรื่องสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากร รวมถึงสิทธิในการให้ความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในกระบวนการของการศึกษาวิเคราะห์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งในมาตรา 87 ระบุว่า หน่วยงานของรัฐต้องยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นต่อนโยบายและการพัฒนาต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่
 
ตอบอัยการและทนายความโจทก์ร่วมถามค้าน
 
นพ.นิรันดร์ เบิกความว่า ทราบเรื่องที่อุตสาหกรรมจังหวัดเลยมีคำสั่งให้บริษัททุ่งคำปิดกิจการ ส่วนประเด็นว่า ความเดือดร้อนของชาวบ้านเกิดขึ้นระหว่างที่เหมืองประกอบกิจการหรือหลังจากนั้น รายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้ระบุไว้ แต่ชาวบ้านแจ้งว่า ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ชาวบ้านดื่มน้ำไม่ได้ หาอาหารในพื้นที่ไม่ได้ พบสารพิษและเจ็บป่วยมาเป็นเวลา 10 ปี และปัจจุบันมีปัญหาเรื่องบ่อเก็บกักแร่แตกทำให้น้ำเจือปนแร่ที่บริษัทใช้ทำเหมือง ซึ่งผลดังกล่าวมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัททุ่งคำ
 
หลังปี 2555 ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบ ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ส่วนที่เบิกความว่า บริษัทขออนุญาตขยายพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ในเขตป่าสงวนและที่ดินสปก. นั้น ความจริงแล้วเป็นการต่ออายุใบอนุญาตในพื้นที่เดิมที่เคยขอไป
 
สำหรับการขอใช้พื้นที่ดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า ต้องเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพราะในที่ป่าไม้นั้นมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ต้องระงับความขัดแย้งก่อน ที่สำคัญ คือ ต้องชี้แจงและตรวจสอบการใช้พื้นที่ในเขตสปก. เพราะที่ดินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร
 
นพ.นิรันดร์ ตอบทนายโจกท์ร่วมถามค้านว่า ก่อนบริษัททุ่งคำประกอบกิจการเหมืองแร่ในช่วงปี 2549 ไม่เคยมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับกลุ่มชาวบ้าน พอปิดกิจการในปี 2555 ก็เคยได้รับอนุญาตให้ทำการขนบ้านแร่ออกจากพื้นที่ 1 ครั้ง ในปี 2556
 
ตอบทนายความจำเลยถามติง
 
นพ.นิรันดร์  เบิกความว่า เหตุที่ชาวบ้านคัดค้านการขนย้ายแร่เพราะมีความจำเป็นต้องตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางว่า บริษัทจัดอุปกรณ์ขนย้ายได้เหมาะสมหรือไม่ เมื่อได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องตรวจสอบและแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า การขนย้ายนั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
 
สืบพยานจำเลยปากที่หก รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
 
รศ.สมชาย เบิกความต่อศาลว่า ประกอบอาชีพรับราชการตำแหน่งรองศาสตราจารย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชาที่สอนคือกฎหมายรัฐธรรมนูญและนิติปรัชญา
 
เกี่ยวกับคดีนี้มีงานวิชาการที่ทำร่วมกับอาจารย์ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนในหัวข้อการชุมนุมโดยสงบและเปิดเผยโดยปราศจากอาวุธ พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะซึ่งโดยทั่วไปรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายต่างๆ จะให้การรับรองเสรีภาพในเรื่องนี้ไว้ว่า เป็นสิทธิและเป็นที่สิ่งที่มีความจำเป็น
 
ในคดีของชาวบ้านซึ่งได้รับการเชิญให้ไปร่วมประชุมที่สภาอบต.เขาหลวง เข้าข่ายข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 3 (5) ที่ระบุว่า ให้งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายนี้กับการประชุมหรือการชุมนุมซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งเท่ากับว่า การชุมนุมในคดีนี้ไม่เข้าตามลักษณะที่เป็นความผิดตามกฎหมายเพราะเป็นการเรียกประชุมโดยฝ่ายปกครองหรือองค์กรของรัฐ การที่ชาวบ้านเข้าร่วมชุมนุมหรือการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายชุมนุม
 
การรับรองสิทธิในการชุมนุมสาธารณะจะต้องเป็นไปอย่างกว้างขว้าง การจำกัดจะเป็นไปเท่าที่เห็นได้ชัดว่าการชุมนุมนั้นกระทบต่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ต่อส่วมรวมอย่างชัดเจน ซึ่งในคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการโดยเฉพาะศาลปกครองมีคำวินิจฉัยไว้หลายกรณี เช่น การชุมนุมของชาวบ้านที่สงขลาเรื่องท่อก๊าซเมื่อปี 2555 ระบุว่า การชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และศาลให้คำรับรองหากเป็นการชุมนุมที่เป็นไปอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธ และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยเรื่องกิจกรรม "เดินมิตรภาพ" ว่า เป็นการเดินชุมนุมโดยสงบที่สามารถทำได้
 
เสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญวางหลักการพื้นฐานไว้ว่า การใช้เสรีภาพดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่การจำกัดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกระทบต่อประโยชน์สาธารณะที่เห็นได้ชัดว่ากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ในแง่ดังกล่าวรัฐธรรมนูญให้การรับรองเสรีภาพเป็นหลักหากเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
 
ส่วนประเด็นเรื่องว่า ใครเป็นผู้จัดการชุมนั้น ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หมายถึง บุคคลที่ทำหน้าที่ชักชวนให้คนเข้าร่วมและเป็นผู้บริหารการชุมนุม ซึ่งบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ในการแจ้งการชุมนุม แต่ในคดีนี้ ประชาชนมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยไม่ได้นัดหมายในลักษณะของการเตรียมการมาก่อน แต่มารวมกันและเกิดการเรียกร้อง ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเข้าลักษณะตามกฎหมาย กรณีที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องคดีนี้ ไม่มีบุคคลใดมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า
 
ทนายจำเลยถาม รศ.สมชายต่อว่า หากการประชุมในคดีนี้มีข้อเท็จจริงปรากฎว่า อบต.เขาหลวงได้ยื่นหนังสือเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงจำเลยทั้งเจ็ดเข้าร่วม และการที่กลุ่มชาวบ้านให้ตัวแทนชี้แจงผ่านประธานสภาว่า ขอให้เลื่อนการประชุมไปก่อนจะเป็นความผิดหรือไม่ รศ.สมชาย ตอบว่า ไม่ผิด เพราะการประชุมดังกล่าวมีการเชิญโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรียกให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ารับฟังการประชุม จึงเข้าข้อยกเว้น ดังนั้นการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านเพื่อยื่นข้อเสนอดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิด เพราะไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมายว่า เป็นการชุมนุมสาธารณะตั้งแต่ต้น และเมื่อไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีบุคคลใดแจ้งการชุมนุมให้แก่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายทราบ
 
โจทก์ไม่ขอถามค้าน
 
เมื่อสิ้นสุดการสืบพยาน ศาลได้ถามทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยว่าจะมีคำแถลงปิดคดีหรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายตอบว่า มี แต่ขอนำส่งคำแถลงปิดคดีเป็นเอกสาร โดยศาลให้เวลาในการส่งเอกสารคำแถลงปิดคดีเป็นเวลา 30 วัน พร้อมกับนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 เมษายน 2561

 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา