ปรียนันท์: คดีพ.ร.บ.คอมฯ จากการวิจารณ์ว่าแพทยสภาไม่เป็นธรรม

อัปเดตล่าสุด: 30/12/2560

ผู้ต้องหา

ปรียนันท์

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

แพทยสภา เป็นผู้ยื่นฟ้องคดีนี้ น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เป็นผู้รับมอบอำนาจในการยื่นฟ้อง ต่อมามีการเปลี่ยนตัวผู้รับมอบอำนาจเป็น นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์

สารบัญ

ปรียนันท์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้ป่วยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเรื่องความไม่เป็นธรรมของแพทยสภา และเรียกร้องให้ปฏิรูปแพทยสภา ต่อมาแพทยสภาเห็นว่า ข้อความที่โพสต์เป็นเท็จ ทำให้แพทยสภาเสียชื่อเสียง จึงยื่นฟ้องปรียานันท์ต่อศาลจังหวัดนนทบุรีในข้อหาหมิ่นประมาท และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิผู้ป่วย ทำงานรณรงค์กับเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์มากว่า 20 ปี เพื่อผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ปรียนันท์ได้รับรางวัลผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชนดีเด่นประจำปี 2551
 
ปี 2534 ปรียนันท์คลอดลูกที่โรงพยาบาลพญาไท 1 หลังการทำคลอดลูกของปรียนันท์มีความพิการ ปรียนันท์ฟ้องคดีต่อศาลว่าเกิดความผิดพลาดระหว่างการทำคลอดซึ่งส่งผลให้ลูกของเธอพิการ ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุดยกฟ้องโรงพยาบาล
 
ระหว่างที่เธอฟ้องคดีกับแพทย์และโรงพยาบาล ปรียนันท์ก็เปิดรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข และแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง
 
ก่อนหน้านี้ปรียนันท์เคยถูกโรงพยาบาลฟ้องหมิ่นประมาทมาแล้วอย่างน้อย 2 คดี
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ฟ้องโจทก์ระบุว่า ปรียนันท์หมิ่นประมาทโจทก์ต่อสาธารณชน และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีเจตนาให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากประชาชนทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในองค์กรของโจทก์ โดยกระทำการดังต่อไปนี้
 
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ปรียนันท์โพสต์เฟซบุ๊กซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะว่า 
 
"แพทยสภาไม่มีความเป็นธรรมอย่างไร? 
14 ปี ของการก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รับเรื่องร้องเรียนจากคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษา ทั้งจากรพ.รัฐและเอกชน เมื่อนำเรื่องไปร้องเรียนแพทยสภา พบว่า
1.มีมติต่อข้อร้องเรียนของคนไข้ว่า "ไม่มีมูล" แทบทุกคดี
2.ใช้เวลาพิจารณานาน 3-10 ปี บางคดี 13 ปีก็ไม่ชี้มูล
3.ดึงเวลาสอบสวนจนหมดอายุความทางแพ่ง 1 ปี
4.ล็อบบี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สภาทนายความ, ราชวิทยาลัยแพทย์ฯลฯ ให้ขอความเห็นแพทยสภาก่อนจะดำเนินการใด ซึ่งไม่มีมูลแทบทุกคดี
5.นายกแพทยสภานำทีมแพทย์เบิกความสู้กับคนไข้ในศาล
6.ตั้งทีมกก.แพทยสภาที่จบกฎหมายเพื่อสู้กับคนไข้โดยตรง
7.อบรมวิธีเขียนเวชระเบียนป้องกันการฟ้องร้อง
8.อบรมพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อสู้กับคนไข้
9.พยายามเอาบริการทางการแพทย์ออกจากพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 เพื่อไม่ให้คนไข้ใช้ต่อสู้คดีได้โดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม
10.ประกาศให้แพทย์ที่มีวี่แววจะถูกตรวจสอบส่งเวชระเบียนให้ทีมกม.ของแพทยสภาตรวจสอบก่อน เวชระเบียนของคนไข้ส่วนใหญ่มักถูกแก้ไข ส่วนสำคัญหายไปฯลฯ
11.คัดค้าน ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ทุกวิถีทาง ทั้งที่จะช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ เนื่องจากจะทำให้รพ.เอกชนเสียประโยชน์ ในการขายประกันให้แพทย์ และดูดแพทย์ออกจากรพ.รัฐได้ยากขึ้นฯลฯ
12.เคยมีปัญหาเจ้าของรพ.เอกชนนั่งเป็นประธานสอบสวนกรณีร้องเรียนรพ.ของตนเอง
13.หลายคดีที่แพทยสภาชี้ว่าเป็นคดีไม่มีมูล เมื่อศาลพิพากษาให้คนไข้ชนะ แพทยสภามักปลุกระดมให้แพทย์ออกมาคัดค้านคำพิพากษา บางคดีนายกแพทยสภาออกมาหมิ่นศาลว่าตัดสินคดีโดยไม่มีความรู้ ไม่เคารพกติกา สร้างความแตกแยกให้กับสังคม ทั้งที่ศาลท่านเปิดโอกาสให้ต่อสู้กันได้อย่างเต็มที่แล้ว และทุกครั้งแพทยสภาไม่เคยเสียเปรียบ
14.หลายคดีที่แพทยสภาชี้ว่าเป็นคดีไม่มีมูล แต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาเพิกถอนมติว่าไม่เป็นธรรมหลายคดีแล้ว…."
 
โจทก์เห็นว่า ปรียนันท์มีเจตนาให้ประชาชนเห็นว่า องค์กรโจทก์เป็นองค์กรวิชาชีพที่ไม่ดี ไม่มีควาเป็นธรรม ขาดจริยธรรมในการสอบสวนคดีแพทย์ที่ถูกร้องเรียน ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้ประพฤติตนหรือกระทำการดังที่จำเลยพิมพ์โฆษณาเลย ข้อความที่จำเลยพิมพ์จึงเป็นเท็จทั้งสิ้น อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ 
 
ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

คดีนี้ไม่มีการจับกุมจำเลย

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ. 5436/2559

ศาล

ศาลจังหวัดนนทบุรี

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
27 กันยายน 2559
 
ปรียนันท์ โพสต์ข้อความและภาพบน เฟซบุ๊ก  เป็นภาพพวกหรีดไว้อาลัยแพทยสภา พร้อมข้อความว่า "แพทยสภาไม่มีความเป็นธรรมอย่างไร? …." และยกกรณีตัวอย่าง 4 กรณี พร้อมวางลิงก์ให้เข้าไปลงชื่อในเว็บไซต์ Change.org เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปแพทยสภา จากการเข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 โพสต์ดังกล่าวมีคนแชร์ 20 ครั้ง
 
9 ธันวาคม 2559
 
แพทยสภาเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องปรียนันท์ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ด้วยข้อหาผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลเท็จที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)
 
15 มกราคม 2560
 
ปรียนันท์ โพสต์เฟซบุ๊ก เป็นภาพหมายศาลแจ้งว่าถูกฟ้อง และนัดให้ไปไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560
 
ข้อมูลจากเฟซบุ๊กของปรียนันท์ระบุว่า แพทยสภาประชุมเมื่อ 12 เมษายน 2560 มีมติให้เปลี่ยนตัวผู้รับมอบอำนาจฟ้อง จากศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา อดีตนายกแพทยสภา เป็นนพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ และคดีนี้ยังมีนัดไต่สวนมูลฟ้องอีกในวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 และ 24 กรกฎาคม 2560
 
3 สิงหาคม 2560
 
หลังการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งว่าคดีมีมูลและรับฟ้องคดีไว้พิจารณา
 
27 กันยายน 2560
 
ปรียนันท์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า เดินทางไปที่ศาลจังหวัดนนทบุรีพร้อมกับทนาย เพื่อยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท โดยมี น.พ.เทพ เวชวิสิฐ ช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัว และศาลนัดสอบคำให้การในวันที่ 10 ตุลาคม 2560
 
10 ตุลาคม 2560
 
ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดสอบคำให้การ ปรียนันท์เดินทางมาศาลพร้อมกับทนาย ส่วนแพทยสภาซึ่งเป็นโจทก์ให้ทนายมาศาล เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ได้ถามว่าปรียนันท์จะให้การอย่างไร ปรียนันท์ให้การปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้ทำความผิด
 
เมื่อศาลถามว่า แนวทางการต่อสู้คดีของจำเลยเป็นอย่างไร ทางทนายจำเลยแถลงว่า จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์เพื่อให้โจทก์เกิดการปฏิรูป โดยตัวจำเลยนอกจากเป็นผู้เสียหายซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์แล้ว ยังเป็นประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ซึ่งให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของแพทย์ 
 
โดยเมื่อร้องไปยังโจทก์ก็ได้รับความไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์อีก การติชมของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นซึ่งจำเลยและผู้เสียหายต้องพบเจอในการร้องขอให้โจทก์พิจารณาถึงการกระทำความผิดของแพทย์ โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาการให้บริการและการปฏิรูปในองค์กรโจทก์โดยไม่มีเจตนาใส่ความใดๆแก่โจทก์ทั้งสิ้น นอกจากนี้จำเลยยังเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติเพื่อเยียวยาผู้เสียหายโดยไม่ต้องฟ้องแพทย์อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อบรรดาแพทย์ทั้งหลายและต่อองค์กรโจทก์
 
ศาลถามต่อไปว่า คดีนี้ฝ่ายโจทก์และจำเลยเคยมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันบ้างหรือไม่ ทนายจำเลยตอบว่า ยังไม่เคย และฝ่ายจำเลยไม่ขัดข้องหากจะมีการเจรจา
 
ทนายโจทก์แถลงว่า คดีนี้มีการไต่สวนมูลฟ้องพยานปากที่เป็นนายกแพทยสภาไปแล้ว จึงขอให้นำคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานทั้งสองปาก มาเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความในชั้นพิจารณาคดีนี้เลย และขอสืบพยานเพิ่มอีก 1 ปาก รวมเป็น 3 ปาก ทนายจำเลยแถลงว่าขอให้ศาลเรียกพยานสองปากแรกที่เคยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาศาลอีกครั้งเพื่อให้ฝ่ายจำเลยถามค้าน และแถลงว่าฝ่ายจำเลยจะนำพยานเข้าสืบรวม 14 ปาก ประกอบด้วย นายแพทย์ชั้นผู้ใหญ่ที่เคยมีตำแหน่งในแพทยสภา แพทย์ที่เคยทำงานร่วมกับจำเลย และผู้เสียหายทางการแพทย์ที่เคยยื่นเรื่องร้องเรียนต่อแพทยสภา
 
หลังเสร็จกระบวนการ คู่ความหาวันที่ว่างตรงกัน และกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19 เมษายน 2561 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 20,และ 24-26 เมษายน 2561
 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา