ดร.ชยันต์ : เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร เชียงใหม่

อัปเดตล่าสุด: 07/08/2562

ผู้ต้องหา

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ, ภัควดี วีระภาสพงษ์, นลธวัช มะชัย, ชัยพงษ์ สำเนียง และ ธีรมล บัวงาม

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

18 กรกฎาคม 2560 มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เชียงใหม่ จำนวนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

พวกเขาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” และถ่ายภาพ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าราย ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก โดยทั้งห้าคนให้การฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

คดีนี้ต่อสู้กันในชั้นศาลที่ศาลแขวงเชียงใหม่ ฝ่ายจำเลยต้องการนำสืบถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ระหว่างการสืบพยานฝ่ายโจทก์มีคำสั่งหัวหน้า คสช. 22/2561 ให้ยกเลิก คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ศาลจึงให้ยกเลิกการสืบพยานที่นัดไว้ และอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากฐานความผิดถูกยกเลิกแล้ว

ภูมิหลังผู้ต้องหา

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ

นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม
 
 

 

ข้อหา / คำสั่ง

ฝ่าฝืนประกาศคสช. 7/2557

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 นักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนหนึ่งเดินทางไปชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” บริเวณห้องประชุมสัมมนาและด้านหน้าห้องประชุม ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พฤติการณ์การจับกุม


บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลแขวงเชียงใหม่

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


แหล่งอ้างอิง


 
12 สิงหาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ได้รับการแจ้งจาก ธีรมล บัวงาม บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม ว่าได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
หมายเรียกยังระบุถึง ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ต้องหาที่ 1 ทั้งนี้หมายเรียกดังกล่าวระบุว่า ผู้ต้องหาว่ามีจำนวนทั้งหมดรวม 5 คน
พบว่านอกจากดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และธีรมล บัวงาม แล้ว เจ้าหน้าที่ยังออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 3 ราย ได้แก่ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเดียวกันเมื่อช่วงกรกฎาคม 2560
 
ทั้งนี้ หมายเรียกระบุให้ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 สิงหาคม 2560 แต่มีการแก้วันนัดเข้าพบด้วยปากกาใหม่เป็นวันที่ 15 สิงหาคม 2560 เวลา 10.00 น.

 
 21 สิงหาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ, นลธวัช มะชัย, ชัยพงษ์ สำเนียง, ภัควดี วีระภาสพงษ์ และ ธีรมล บัวงาม 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนผู้ต้องหาทั้งห้าจะปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายหลัง

 
 1 กันยายน 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน เดินทางเข้ายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวน ทั้งนี้พวกเขาต่างยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีรายละเอียดของคำให้การโดยสรุปดังนี้ งานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) เป็นงานประชุมวิชาการในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งมีหัวข้อเกี่ยวข้องกับประเทศและสังคมไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกสามปีต่อครั้งหมุนเวียนกันไปในประเทศต่างๆ โดยเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ที่มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย และในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะการจัดงาน เป็นงานประชุมที่มีนักวิชาการมาเสนอบทความทางวิชาการ ที่มีลักษณะเป็นงานปิด กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมงานจะต้องสมัครลงทะเบียนล่วงหน้า และชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ตามอัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้จัดกำหนด 
ผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะต้องลงทะเบียนแจ้งชื่อ นามสกุล สังกัด และหมายเลขโทรศัพท์ ณ บริเวณจุดรับลงทะเบียนด้านหน้าก่อนทางเข้าห้องประชุมก่อนเสมอ โดยเมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รับบัตรเข้างานซึ่งมีลักษณะเป็นป้ายคล้องคอ ระบุชื่อและนามสกุลของผู้เข้าร่วมงาน หากบุคคลใดไม่ลงทะเบียนบริเวณโต๊ะลงทะเบียนหน้างานหรือไม่ได้รับอนุญาตจากผู้จัดงานจะไม่สามารถเข้าภายในงานได้
การประชุมวิชาการนานาชาตินี้จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักและไม่มีล่ามหรือเครื่องแปลจัดให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะต้องเตรียมล่ามและอุปกรณ์แปลภาษามาเอง โดยตลอดทั้งงานมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวน 1,224 คน เป็นชาวไทยจำนวน 814 คน เป็นชาวต่างชาติจำนวน 410 คน และมีการนำเสนอผลงานวิชาการจำนวนทั้งสิ้น 202 เวทีย่อย
 
ในการจัดงาน ได้รับความร่วมมือระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการตั้งคณะทำงานจัดการประชุมที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมี ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย ทั้งผู้ต้องหาที่ 1 ยังเป็นรองประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุม ทำหน้าที่ประสานงานนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้กล่าวปาฐกถานำ วิทยากร ผู้แทนสถานทูตและสถาบันการศึกษาที่เป็นภาคีร่วมจัด เป็นผู้คัดเลือกบทคัดย่อของบทความวิชาการเนื้อหาที่จะนำเสนอในงานประชุม จัดกำหนดการและเวทีการประชุมในแต่ละห้องประชุมย่อย และอำนวยการในการประชุมตลอดงาน
 
ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ และร่วมเป็นวิทยากรในงานประชุม ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 3 และที่ 4 ร่วมเป็นอาสาสมัครในคณะผู้จัดงาน (Staff) มีหน้าที่ดูแลการจัดการประชุมและรับผิดชอบประสานงานในห้องประชุมย่อยต่างๆ โดยผู้ต้องหาทุกคนมีบัตรผู้เข้าร่วมประชุม และมีข้อมูลการนำเสนองานวิชาการในสูจิบัตรงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา เป็นพยานหลักฐานยืนยัน
 
ในระหว่างการประชุมตั้งแต่วันที่ 15 ถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 มีเจ้าหน้าที่ทหารแต่งกายในเครื่องแบบทหาร และมีบุคคลลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่ จำนวนประมาณ 20 คน เข้ามาในพื้นที่ประชุมโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้จัดงานทราบ ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน และไม่มีบัตรผู้เข้าร่วมงาน
กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาภายในบริเวณที่จัดงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการยินยอมจากผู้จัดงาน ได้ทำการถ่ายภาพเฉพาะเจาะจงผู้นำเสนอบทความวิชาการและผู้เข้าร่วมประชุม และสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมประชุม ได้ทำการบันทึกเสียงการนำเสนอของวิทยากรและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม และพูดคุยโทรศัพท์เสียงดังขณะที่มีการนำเสนอบทความวิชาการในห้องประชุม
 
พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ที่จะเข้ามาร่วมประชุมตามปกติ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเกิดความอึดอัดและวิตกกังวล ทั้งยังทำลายบรรยากาศของเวทีประชุมวิชาการที่จำเป็นต้องนำเสนอหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเปิดกว้าง การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการแทรกแซงการจัดการประชุมทางวิชาการและกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอย่างร้ายแรง ซึ่งในเวทีวิชาการระดับโลกถือว่าเป็นการเสียมารยาทในการประชุม
ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม ผู้ต้องหาทั้งห้าได้เข้าร่วมงานประชุมตามปกติ ต่อมาในเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักการประชุมของห้องประชุมย่อย ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งได้พบเห็นว่ามีการแทรกแซงและรบกวนการประชุมจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ และในเวลานั้นได้รับคำบอกกล่าวจากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศแสดงความอึดอัดและวิตกกังวล
 
ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงได้นำกระดาษเอสี่ที่มีข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาถือในบริเวณหน้าห้องประชุมย่อยเพื่อแสดงออกให้เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาแทรกแซงการประชุม ซึ่งเป็นการทำลายบรรยากาศของเวทีวิชาการที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ได้ตระหนักถึงความไม่พอใจของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้ง ยังเป็นแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการในฐานะนักวิชาการและนักศึกษา โดยมีนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมงานได้ถ่ายภาพผู้ต้องหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขณะถือกระดาษดังกล่าว โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที หลังจากนั้นได้แยกย้ายกันไป
 
ในส่วนของผู้ต้องหาที่ 1 ไม่ได้รับทราบและไม่ได้ร่วมดำเนินการเกี่ยวกับนำกระดาษเอสี่ดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่ทราบว่าผู้ใดนำมาติดภายในงาน แต่เนื่องจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ประชุมฯ ให้ไปตรวจสอบว่ามีผู้นำกระดาษเอสี่ซึ่งมีข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณห้องประชุมย่อยภายในงาน และจะมีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 ม
 
เมื่อเวลาประมาณ 15.20 น. ผู้ต้องหาที่ 1 จึงไปบริเวณที่มีข้อความดังกล่าวติดอยู่ และนั่งรอพบเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ระหว่างที่นั่งรอนั้น มีบุคคลอื่นมาถ่ายภาพผู้ต้องหาที่ 1 โดยไม่ได้ตั้งใจให้ถ่ายภาพและไม่ทราบว่าจะมีการนำไปเผยแพร่แต่อย่างใด ผู้ต้องหาที่ 1 รอเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 15 นาที ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารมาพบผู้ต้องหาที่ 1 ตามที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ประชุมฯ แจ้งไว้แต่อย่างใด และเนื่องจากผู้ต้องหาที่ 1 ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเตรียมพิธีปิดการประชุมต่อ จึงออกจากบริเวณดังกล่าวและไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ อีก
 
ผู้ต้องหาที่ 1 เห็นว่าข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นข้อความบอกเล่าปกติทั่วไป ไม่ได้มีเนื้อหาที่ส่อไปในทางการเมืองหรือมีความหมายเป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมือง ประกอบกับผู้ต้องหาที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดงานซึ่งได้ให้คำสัญญาต่อผู้เข้าร่วมงานว่า เวทีวิชาการจะต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและไม่ควรมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมจะชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าใจ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารไม่มาพบ จึงไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับข้อความดังกล่าวอีก
 
ส่วนผู้ต้องหาที่ 5 หลังจากการนำเสนอบทความวิชาการแล้ว ได้เข้าร่วมการเสวนาที่ห้องประชุมย่อย จนถึงเวลาประมาณ 15.50 น. จึงได้พบเห็นข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ติดอยู่ก่อนแล้ว โดยผู้ต้องหาที่ 5 ไม่ได้ร่วมติดและไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้นำมาติด ผู้ต้องหาที่ 5 เห็นว่ามีบุคคลที่มีลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่ มาถ่ายภาพผู้นำเสนอและผู้เข้าร่วมงานในห้องประชุม และอัดเสียงการประชุม ผู้ต้องหาที่ 5 รู้สึกอึดอัด และเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่เหมาะสมต่อพื้นที่ทางวิชาการที่จะต้องเปิดกว้างทางความคิดเห็น ผู้ต้องหาที่ 5 จึงไปถ่ายภาพกับข้อความดังกล่าว เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการในการ
จัดการประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้กำลังถูกลิดรอน
การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อเจตนารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่ได้กระทำในพื้นที่เปิด ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง จึงไม่ใช่การชุมนุม และไม่ได้ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นและเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการโดยสงบและสุจริต ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ไม่ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาล ยุยง ปลุกปั่น หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมือง ไม่มีบุคคลใดนำข้อความหรือภาพของผู้ต้องหาทั้งห้ากับข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ไปเผยแพร่ขยายผลเพื่อให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบแต่อย่างใด
 
การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และไม่ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาล ยุยง ปลุกปั่น หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมือง อันจะถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง จึงไม่เป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 และไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
คำให้การระบุต่อว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า เป็นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ที่ถือเป็นภารกิจของนักวิชาการหรือนักศึกษาในสังคมไทยที่ต้องยืนยันถึงความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการไว้ตามมาตรา 34 และรับรองเสรีภาพในการชุมนุม ไว้ในมาตรา 44
 
ทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังได้รับการรับรองไว้ในข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี นับแต่ปี พ.ศ. 2539 ทำให้ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าว
 
เมื่อพิจารณาการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นทั้งโดยทั่วไปและในทางวิชาการ อันล้วนได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศก็ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า ที่ได้แสดงออกเพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการเช่นนี้ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริต
ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลได้ยืนยันมาโดยตลอดว่ารัฐบาลจะเคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตามหลักการของสหประชาชาติ การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า จึงเป็นไปโดยชอบธรรมและได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และไม่เป็นความผิดอาญา
หากกิจกรรมเช่นนี้ ถูกตีความว่าเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย ก็ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางวิชาการจำนวนมากอันมีวัตถุประสงค์เพื่อความงอกงามทางปัญญาและเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่อาจดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน กรณีย่อมไม่มีกฎหมายที่ชอบธรรมใดประสงค์ให้เกิดผลเลวร้ายเช่นนี้ขึ้น
นอกจากนี้ หากประชาชนทั่วไปจะเข้าไปใช้ศูนย์ประชุมนานาชาติจะต้องขออนุญาตผู้ครอบครอง ไม่ใช่สถานที่ที่ประชาชนจะเข้าไปใช้โดยพลการได้โดยชอบธรรม และไม่ใช่สถานที่ที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ สถานที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่สาธารณะ ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าจึงไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะตามคำนิยาม และไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่อย่างใด
ในท้ายคำให้การ ผู้ต้องหาทั้งห้าคนยังระบุกับพนักงานสอบสวนว่าประสงค์จะนำพยานบุคคลโดยเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั้งทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ จำนวนทั้งหมดห้าคน มาให้ปากคำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งจะได้ระบุวันมาพบพนักงานสอบสวนต่อไป
สำหรับพยานนักวิชาการทั้ง 5 คน ได้แก่ 1.ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. ดร.จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 3. ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 4. ศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 5. รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้หลังจากเข้ายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว พนักงานสอบสวนได้นัดหมายผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ให้เข้าพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 11 กันยายน 2560 เวลา 10.00 น.
 
11 กันยายน 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 5 ผู้ต้องหาเดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือกตามนัดหมาย ด้านพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก ระบุว่าเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 ที่ประชุมของทางจังหวัดเชียงใหม่มีมติให้พนักงานสอบสวนสั่งฟ้องคดีนี้ต่ออัยการ และให้นัดหมายผู้ต้องหาไปส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการศาลแขวงในวันนี้
 
การเข้ารายงานตัวครั้งนี้ ผู้ต้องหาพร้อมกับทนายความยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้กับพนักงานอัยการศาลแขวงเชียงใหม่ เพื่อขอให้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาอ้างก่อนหน้านี้ด้วย
 
หนังสือร้องขอความเป็นธรรมระบุว่าทางผู้ต้องหายื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนและอ้างบุคคลให้สอบปากคำในฐานะเป็นพยานเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนคำให้การของผู้ต้องหาทั้งห้า แต่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนยังมิได้สอบพยานบุคคลตามที่ผู้ต้องหาทั้งห้าอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ต้องหาได้ให้การเอาไว้ ผู้ต้องหาทั้งห้าจึงยังมีความประสงค์จะขออ้างพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
 
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาจากนั้นอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้ง ในวันที่ 15 กันยายน 2560 
 
 
วันที่ 15 กันยายน 2560
 
ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ทาง 5 ผู้ต้องหาเดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลแขวงเชียงใหม่ตามการนัดหมายรายงานตัวเพื่อผัดฟ้องเป็นครั้งที่ 4 แต่ก่อนนั้นอัยการได้เชิญ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติผู้ต้องหาที่ 1 เข้าพบกับหัวหน้าฝ่ายข่าวมทบ.33 โดยมีการพูดคุยร่วมชั่วโมง ก่อนนัดหมายรายงานตัวครั้งต่อไปในวันที่ 21 กันยายน 2560 เวลา 13.30 น.
 
19 กันยายน 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางเข้ายื่นคำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อพนักงานสอบสวน
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ระบุว่าเคยเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษามาแล้วหลายครั้ง ทั้งยังเคยเข้าร่วมนำเสนองานวิชาการในการประชุมมาโดยตลอด ทำให้ทราบถึงความเป็นมาของงานและลักษณะของงานประชุม อีกทั้ง ในการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2539 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ยังเคยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ร่วมจัดการประชุมครั้งนั้นด้วย
 
อานันท์ระบุว่างานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2524 ด้วยความร่วมมือกันของนักวิชาการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งต้องการให้มีการจัดสัมมนาร่วมกันขึ้นมา มุ่งหมายให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีมองและวิธีศึกษาสังคมไทย ในการจัดงานประชุมช่วงแรกๆ จะเน้นไปที่มิติเรื่องวัฒนธรรมและวรรณกรรม โดยการประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีทั้งนักวิชาการไทย นักวิชาการอินเดีย นักวิชาการจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายประเทศเข้าร่วม ทั้งยังมีนักวิชาการไทอาหม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทอาศัยอยู่ในรัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย เข้าร่วมด้วย
งานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษามีลักษณะเป็นการจัดงานสัมมนาวิชาการขนาดใหญ่ มีนักวิชาการมาร่วมนำเสนอผลงานในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสังคมไทย จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี ต่อหนึ่งครั้ง โดยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพไปมาระหว่างมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
 
ในการประชุมแต่ละครั้ง นักวิชาการที่เข้าร่วมจะร่วมกันทบทวนว่าในรอบสามปี งานวิชาการที่ศึกษาเรื่องเมืองไทยมีความเคลื่อนไหวไปถึงไหนบ้าง มีใครศึกษาอะไรบ้าง และมีมุมมองเน้นในเรื่องอะไร ซึ่งมีทั้งประเด็นในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ในงานประชุมจึงมีการนำเสนอผลงานวิชาการครอบคลุมแทบทุกเรื่อง และหลากหลายแง่มุมของสังคมไทย ซึ่งรวมทั้งประเด็นหัวข้อทางการเมืองต่างๆ ด้วย เช่น ระบบการเมืองไทยเป็นอย่างไร การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นอย่างไร เป็นต้น
 
สำหรับในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ที่หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ อานันท์ระบุว่าตนได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของการจัดงานประชุม มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาหารือในการจัดหัวข้อ และจัดโปรแกรมนำเสนองานวิชาการในการประชุม
อานันท์ให้การว่าในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาแต่ละครั้ง รวมทั้งครั้งที่ 13 นี้ มีลักษณะเป็นงานปิด บุคคลที่จะเข้าร่วมงานต้องลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อน และต้องเสียค่าลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงาน เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1,500 บาท ขึ้นไป เพราะผู้จัดงานต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าหอประชุม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
อานันท์ระบุว่าในการประชุมครั้งนี้ ได้รับทราบจากเพื่อนนักวิชาการทั้งนักวิชาการไทยและต่างประเทศว่าได้มีกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาในงานประชุม ซึ่งเพื่อนนักวิชาการระบุกันว่าบางส่วนเป็นเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมประชุม ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน และมีการเข้าถ่ายรูปผู้เข้าร่วมประชุมโดยไม่ได้ขออนุญาต โดยตนยังได้เห็นรูปภาพจากเพื่อนนักวิชาการ ซึ่งเป็นรูปเจ้าหน้าที่ทหารในชุดเครื่องแบบทหารเดินอยู่ในงานประชุม
เนื่องจากงานประชุมมีผู้เข้าร่วมไม่ใช่เพียงคนไทย แต่เป็นนักวิชาการและผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศทั่วโลก การกระทำดังกล่าวของกลุ่มบุคคลที่เข้ามาโดยไม่ได้รับเชิญ อานันท์เห็นว่ามีลักษณะเป็นการแทรกแซงงานประชุม เป็นการละเมิดสิทธิของผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ ที่ต้องเสียค่าลงทะเบียนเข้าร่วม และยังเป็นการละเมิดสิทธิของการนำเสนองานทางวิชาการ การกระทำดังกล่าวได้ทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศซึ่งมีการแทรกแซงเข้ามาในงานประชุม
อานันท์ระบุว่าตนไม่ได้เห็นเหตุการณ์ตอนที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมถือป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” แต่ก็เห็นว่าข้อความดังกล่าวแสดงออกถึงความอึดอัดและความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในบรรยากาศโดยรวมของที่ประชุม ซึ่งเกิดขึ้นทั้งผู้เข้าร่วมการประชุมที่เป็นนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศ ข้อความดังกล่าวเป็นคำบอกเล่าทั่วไป ที่ต้องการสื่อสารว่าการประชุมทางวิชาการจำเป็นต้องมีอิสระ และจำเป็นต้องมีเสรีภาพ หากมีการแทรกแซงต่อการประชุมหรือการทำงานวิชาการ ก็จะทำให้การศึกษาและการให้ความรู้ต่อสังคมไม่ตรงกับความเป็นจริง
 
อานันท์เห็นว่าการถือป้ายดังกล่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสงบและสุจริตภายใต้การประชุมทางวิชาการ ไม่ได้มีลักษณะของการชุมนุมที่ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาล หรือปลุกระดมทางการเมืองใดๆ โดยการกระทำดังกล่าวต้องพิจารณาภายใต้บริบทและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในงานประชุมวิชาการนานาชาติ มิใช่พิจารณาแต่เพียงตัวข้อความดังกล่าวเพียงลำพัง
 
อานันท์ระบุว่าเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานประชุมทางวิชาการ เนื่องจากนักวิชาการและนักศึกษาควรได้คิดอย่างอิสระเสรี โดยเฉพาะภายใต้สังคมโลกาภิวัตน์ ที่ประเทศไทยต้องอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในโลก ไม่สามารถอยู่โดยลำพังได้ งานวิชาการจึงจำเป็นต้องมีอิสระ เพราะนานาชาติต้องการจะแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดกับประเทศของเราอย่างมีอิสระ โดยเฉพาะความรู้และความเป็นไปของสังคมไทย
 
อีกทั้งการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการจะทำให้เราเข้าใจตัวเราเองดีขึ้น ว่าเรามีปัญหาใด หรือเราได้ก้าวหน้าไปถึงไหน การเปิดกว้างให้นักวิชาการนานาชาติและนักวิชาการไทยได้พูดถึงสังคมไทยอย่างที่เป็นจริงจึงมีความสำคัญ
อานันท์ยืนยันว่าการดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา อาจทำให้เกิดภาวะของการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว และยังทำให้เกิดบรรยากาศของปิดกั้นการสามารถพูดถึงความจริง อันทำให้เกิดผลเสียต่อสังคมไทยเอง ทางอัยการศาลแขวงยังได้นัดหมายผู้ต้องหามาผัดฟ้องเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 กันยายน 2560 เวลา 13.30 น
 
 
21 กันยายน 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 5 ผู้ต้องหาเดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลแขวงเชียงใหม่ตามการนัดหมายเพื่อผัดฟ้องเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นผัดสุดท้ายตามกฎหมายวิธีพิจารณาความในศาลแขวงฯ โดยอัยการยังอยู่ระหว่างการทำสำนวน และเปิดโอกาสให้คู่ความนำพยานมาให้การเพิ่มเติม จึงยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี และยังต้องส่งสำนวนให้อธิบดีอัยการภาค 5 มีความเห็นทางคดีต่อไปด้วย จึงนัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 24 ตุลาคม 256
 
วันที่ 10 ตุลาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางเข้ายื่นคำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่
คำให้การโดยสรุป ผศ.ดร.จันทจิรา เห็นว่าว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ได้ให้การรับรองเสรีภาพชองบุคคลในการแสดงความคิดเห็นไว้อย่างชัดแจ้ง ทั้งโดยบัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ และโดยปริยาย ตามพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามผูกพันแล้ว โดยเฉพาะตามข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UDHR) และข้อ 19 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองและคุ้มครองนี้ ย่อมมีผลบังคับผูกพันสถาบันของรัฐโดยตรงทุกองค์กร ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่สำคัญๆ ในระดับที่เป็นสากลตามหลักสิทธิมนุษยชนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยพิจารณานำเอาหลักการในพันธกรณีระหว่างประเทศมาพิจารณาประกอบกับตัวบทรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีโดยตรง ดังปรากฏในคำวินิจฉัยที่ 12/2555 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2555
 
24 ตุลาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลแขวงเชียงใหม่ตามการนัดหมาย เจ้าหน้าที่ที่สำนักงานอัยการได้ให้ผู้ต้องหาลงนามรับทราบนัด และนัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 และ 25 ธันวาคม 2560 เหตุที่ให้ผู้ต้องหาลงนามทราบนัดล่วงหน้าในเดือนพฤศจิกายนเอาไว้ด้วย เพื่อความสะดวกของผู้ต้องหา และให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 ธันวาคม 2560
 
ผู้ต้องหาทั้งห้าคนยังยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเพิ่มเติมกับทางอัยการศาลแขวง โดยขออ้างพยานบุคคลให้พนักงานสอบสวนได้สอบเพิ่มเติมอีกหนึ่งปาก เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของฝ่ายผู้ต้องหา ได้แก่ ดร.อิสระ ชูศรี อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทางอัยการได้รับเรื่องเอาไว้
 
25 ธันวาคม 2560
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องหาทั้งหมดได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลแขวงเชียงใหม่ตามนัดหมาย หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 มกราคม 2561 โดยระบุว่าทางผู้กล่าวหาได้นำพยานเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ โดยยังเหลือพยานอีก 1 ปาก จึงให้เลื่อนการนัดหมายออกไปอีกครั้ง
 

25 มกราคม 2561

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องทั้งหมดได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลตามนัดหมาย หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13.30 น. โดยระบุว่าหลังจากนี้ทางอัยการแขวงจะสรุปสำนวนทำความเห็นเสนอให้อัยการภาค 5 พิจารณาก่อนจะมีคำสั่งว่าจะมีคำสั่งฟ้องต่อผู้ต้องหาทั้งหมดหรือไม่ต่อไป

26 กุมภาพันธ์ 2561

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 3 ผู้ต้องหาในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมไทยศึกษา ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการตามนัดหมาย ส่วนอีก 2 ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากติดภารกิจ หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2561 เวลา 13.30 น. นับเป็นการเลื่อนฟังคำสั่งของอัยการแขวงครั้งที่ 7 ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนให้อัยการแขวงพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่

26 มีนาคม 2561

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 4 ผู้ต้องหาในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมไทยศึกษา ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการตามนัดหมาย ส่วนอีก 1 ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากติดภารกิจ หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคม 2561 เวลา 9.00 น. เพื่อฟังผลการพิจารณาเรื่องการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุด

30 มีนาคม 2561 

สื่อสาธารณะเพื่อพัฒนาสังคมชาวเหนือ รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องทั้งหมดได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการศาลตามนัดหมาย หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้ง ในวันที่ 30 เมษายน 2561 เวลา 13.30 น. เนื่องจากรอคำสั่งอัยการสูงสุดเป็นที่สุด
 
30 เมษายน 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 3 ผู้ต้องหาในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมไทยศึกษา เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการตามนัดหมาย ส่วนอีก 2 ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากติดภารกิจ หลังจากเซ็นชื่อรายงานตัว ทางอัยการระบุว่าสำนวนคดีได้ถูกส่งให้อธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อพิจารณาว่าจะทำการส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดตามที่ผู้ต้องหาร้องขอหรือไม่ จึงให้เลื่อนการฟังคำสั่งในคดีออกไปอีกครั้ง โดยนัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวใหม่ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.30 น.
 
24 พฤษภาคม 2561
 
ูนย์ทนายความเพื่อนสิทธมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ 4 ผู้ต้องหาในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการตามนัดหมาย ส่วนอีก 1 ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากติดภารกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศ
 
หลังจากผู้ต้องหาทั้ง 5 ได้เซ็นชื่อรายงานตัว อัยการแขวงระบุว่ายังไม่มีคำสั่งทางคดีในวันนี้ จึงให้ผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 เวลา 13.30 น.
 
25 มิถุนายน 2561
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องหาได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการตามนัดหมาย
 
ในนัดนี้ ทางอัยการเจ้าของสำนวนแจ้งกับผู้ต้องหาว่าสำนวนคดีได้กลับมาจากทางอัยการภาค 5 แล้ว และทางอัยการภาคยังคงยืนยันความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2561 อัยการภาค 5 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้มาก่อนแล้ว แต่ทางผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดผ่านทางอัยการภาค โดยยืนยันว่าการสั่งฟ้องคดีนี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยที่ทางอัยการภาคมีอำนาจจะสั่งฟ้องคดี โดยยังไม่ต้องรอความเห็นอัยการสูงสุดก่อน
 
แต่เนื่องจากในวันนี้ ทางผู้ต้องหายังไม่สามารถมาพร้อมกันทั้งห้าคน เนื่องจากติดภารกิจ และได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการเข้ารายงานตัวกับอัยการไว้ก่อนแล้ว ทำให้พนักงานอัยการได้กำหนดวันนัดใหม่ เพื่อนำตัวผู้ต้องหาไปสั่งฟ้องต่อศาลพร้อมกันทั้งห้าคน ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแขวงเชียงใหม่
 
4 กรกฎาคม 2561 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 10.00 น. ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องหา 5 คนในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ได้เข้ารายงานตัวตามนัดของอัยการคดีศาลแขวง โดยเป็นการนัดผู้ต้องหาทั้งหมดมาส่งฟ้องคดีต่อศาลในวันนี้ และทำให้ผู้ต้องหาต้องเปลี่ยนสถานะเป็นจำเลยในคดี
 
พนักงานอัยการคดีศาลแขวงได้ยื่นฟ้องและส่งสำนวนคดีต่อศาลไว้ก่อนแล้ว โดยฟ้องทั้ง 5 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย
 
คำฟ้องระบุถึงพฤติการณ์ในคดีว่าเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 จำเลยทั้งห้าคนได้รวมกันมีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมทางการเมืองโดยการแสดงแผ่นป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” และปิดแผ่นป้ายดังกล่าวไว้ที่บริเวณห้องประชุมสัมมนา ภายในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ พร้อมกับการชูนิ้วสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง)  อันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น ประกอบการถ่ายภาพกับป้ายข้อความซึ่งปิดไว้ที่บริเวณหน้าห้องประชุมสัมมนา เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาล และทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล เป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล
 
จากนั้น ศาลได้ประทับรับฟ้องไว้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 6792/2561 และกำหนดวันนัดพร้อมและคุ้มครองสิทธิต่อไปในวันที่ 14 สิงหาคม 2561 เวลา 9.00 น.
 
หลังการรับฟ้อง จำเลยทั้งห้าคนได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นศาล โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว เนื่องจากไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และคดีไม่ได้มีโทษร้ายแรง ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งในห้องควบคุมตัวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดไป โดยให้สาบานตัวต่อพระธาตุดอยสุเทพว่าจะมาตามนัดศาล และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกัน
 
20 สิงหาคม 2561 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมรุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ จำเลยทั้งห้าคน เดินทางมาศาลตามนัดพร้อมของศาลเพื่อสอบถามคำให้การ หลังจากได้เลื่อนนัดจากวันที่ 14 สิงหาคม 2561 เนื่องจาก ดร.ชยันต์ ไม่สามารถมาศาลได้ และเดินทางมาศาลในวันนี้แทน 
 
เมื่อเริ่มต้นกระบวนการศาลได้อ่านคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งห้าคนฟัง พร้อมทั้งสอบถามคำให้การจำเลยว่าจะให้การอย่างไร จำเลยทั้งห้าคนยืนยันขอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้นศาลได้ถามถึงพยานของฝ่ายโจทก์ และจำเลยที่จะนำเข้ามาสืบพยาน โดยฝ่ายโจทก์มีพยาน 11 คน และมี 2 คนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และพยานเอกสารอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนฝ่ายจำเลยมีพยาน 15 คน และพยานเอกสารอีกส่วนหนึ่ง นัดต่อไปศาลนัดตรวจพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 24 กันยายน 2561 เวลา 9.00 น.
 
24 กันยายน 2561
 
ศาลแขวงเชียงใหม่นัดตรวจพยานหลักฐาน เวลาประมาณ 8.30 น. จำเลยทั้งห้าคนเดินทางมาถึงศาลแขวงเชียงใหม่ โดยมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจจำเลยทั้งห้าคนประมาณ 10 คน ในเวลาประมาณ 9.30 น. ศาลเริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาคดี อัยการแถลงจะนำพยานเข้าสืบรวม 11 ปาก ส่วนจำเลยแถลงจะนำพยานเข้าสืบรวม 15 ปาก 
 
ระหว่างการพิจารณา ชยันต์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่า เหตุใดตามฟ้องโจทก์จึงฟ้องว่า "ร่วมกันจัดกิจกรรม" ทั้งๆที่ในความเป็นจริงตัวเขามีสถานะต่างจากจำเลยคนอื่นคือเป็นผู้ดูแลงาน แต่ไม่ได้ร่วมทำกิจกรรมดังกล่าว ศาลตอบชยันต์ในประเด็นดังกล่าวว่า การที่จะให้โจทก์แก้ฟ้องเป็นเรื่องยุ่งยาก ประเด็นเหล่านี้ไว้ให้ข้อเท็จจริงในขั้นตอนสืบพยานดีกว่า ศาลจะได้บันทึก และรับฟังอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากนั้นศาลกำหนดสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 6 – 7 ธันวาคม และนัดสืบพยานจำเลยระหว่างวันที่ 12 – 14 ธันวาคม 2561
 
6 ธันวาคม 2561
 
ศาลแขวงเชียงใหม่นัดสืบพยานโจทก์เป็นวันแรก ในวันนี้จำเลยเดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.00 น. โดนทั้งห้ามีสภาพจิตใจดีพร้อมต่อสู้คดี มีผู้เดินทางมาให้กำลังใจ และต้องการเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีประมาณ 20 คน เช่น เจ้าหน้าที่จากสถานฑูตสวีเดนและสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา​, น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับรางวัลปาล์มทองคำ 
 
เนื่องจากห้องพิจารณาคดีมีที่นั่งไม่เพียงพอต่อผู้มาฟังการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลจึงแจ้งว่าศาลแขวงเชียงใหม่จะถ่ายทอดสดภาพ และเสียงในห้องพิจารณาคดีออกจอที่จัดเตรียมไว้บริเวณกลางศาลให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้นั่งชมจากการถ่ายทอดแทน
 
ศาลเริ่มพิจารณาคดีในเวลาประมาณ 9.40 น. โดยเริ่มจากการถามคำให้การจำเลยทั้งห้าคนอีกครั้ง ทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธ ก่อนเริ่มสืบพยานทนายจำเลยแถลงคัดค้านการเผยแพร่เสียงในห้องพิจารณาคดีผ่านการถ่ายทอดสด เนื่องจากเกรงว่าพยานโจทก์ปากอื่นๆ ที่อยู่นอกห้องพิจารณาคดีอาจจะไปดูการสืบพยานจากที่ถ่ายทอดสดดังกล่าว ศาลอนุญาตให้งดถ่ายทอดเสียงให้ถ่ายทอดเพียงภาพในห้องพิจารณาคดี
 
อัยการแถลงต่อศาลว่าวันนี้จะมีการสืบพยานโจทก์เจ็ดปาก และทำการเริ่มสืบพยานปากแรก ในเวลา 9.45 น. พยานปากแรกคือ พ.อ.สุรศักดิ์ สุขแสง หัวหน้ากองข่าว ประจำมณทลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวีละ จังหวัดเชียงใหม่ (มทบ.33) ซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวในวันเกิดเหตุให้กับผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่ามีความผิดหรือไม่ ใช้เวลากว่าค่อนวันจึงสืบพยานปากแรกเสร็จในเวลาประมาณ 15.10 น.
 
และเริ่มสืบพยานโจทก์ปากที่สองต่อ คือ พ.ท.พิษณุพงษ์ ใจพุทธ รองหัวหน้ากองยุทธการ และช่วยราชการในตำแหน่งรองหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง ซึ่งเป็นผู้จัดทำ และตรวจสอบรายงานการข่าวในวันเกิดเหตุให้กับหัวหน้ากองข่าว ประจำมทบ.33 โดยสืบพยานปากที่สองแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 17.20 น. 
 
7 ธันวาคม 2561
 
ศาลแขวงเชียงใหม่นัดสืบพยานเป็นวันที่สอง วันนี้สืบพยานเสร็จสี่ปาก เป็นนายทหารพระธรรมนูญ และนักวิชาการฝ่ายโจทก์สามปาก ศาลนัดสืบพยานโจทก์อีกสี่ปากที่เหลือในวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561 เวลา 9.00 น.
 
11 ธันวาคม 2561 
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เฉพาะข้อที่ 12 เรื่อง ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.
 
12 ธันวาคม 2561
 
ศาลแขวงเชียงใหม่ นัดสืบพยานโจทก์ต่ออีกสี่ปากที่เหลือ ในคดีที่จำเลยนักวิชาการและนักกิจกรรมห้าคนถูกฟ้องว่า ชูป้ายเขียนว่า "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ในงานประชุมวิชาการไทยศึกษา ในห้องพิจารณาคดีที่ 9 จำเลยทั้งห้าคนมาศาล พร้อมทั้งมีผู้มาให้กำลังใจและผู้สังเกตการณ์ประมาณ 20 คน พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ในคดีนี้ทั้งสองคน 
 
ก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณาคดี อัยการได้มาปรึกษากับทีมทนายจำเลยถึงการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 22/2561 เมื่อหนึ่งวันก่อนหน้านี้ ที่ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อที่ 12 ฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ใช้ฟ้องคดีนี้ ทำให้คดีนี้ไม่มีฐานความผิดที่จะลงโทษจำเลยทั้งห้าคนได้ เมื่อศาลขึ้นบันลังก์ในเวลาประมาณ 9.35 น. อัยการได้แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ออกมายกเลิกความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองแล้ว จึงขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายในประเด็นนี้ก่อน ศาลจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานทั้งหมดที่นัดไว้ในวันนี้ และอีกสองวันข้างหน้า และนัดฟังคำสั่งในประเด็นนี้วันที่ 25 ธันวาคม 2561 
 
ด้านอัยการแถลงด้วยว่า หากศาลไม่รับวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว อัยการก็จะส่งเรื่องไปที่อธิบดีอัยการเพื่อขอพิจารณาการถอนฟ้อง
 
แม้ศาลจะสั่งงดสืบพยานไปแล้ว แต่ทนายจำเลยยังแถลงขอให้จำเลยทั้งห้าคนได้เบิกความเพื่อเป็นการแก้ต่างในคดี และเป็นการบันทึกติดสำนวนคดีไว้ เนื่องจากมีเพียงฝ่ายโจทก์ที่ได้สืบพยานกล่าวหาจำเลยไว้ ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งคนแถลงต่อศาลและศาลบันทึกไว้ในสำนวน โดยถือว่า เป็นการแถลงการณ์ต่อศาล ยังไม่ถือว่าเป็นการเบิกความในฐานะพยาน อีกทั้งศาลยังให้ฝ่ายจำเลยมีโอกาสเขียนคำแถลงปิดคดีเป็นเอกสารส่งให้ศาลก่อนวันที่ 25 ธันวาคม 2561
 
 
25 ธันวาคม 2561
 
ศาลแขวงเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 10.00 โดยฝ่ายจำเลยและทนายจำเลยมาศาล ส่วนฝ่ายอัยการโจทก์ส่งผู้ช่วยอัยการมาฟังแทน ท่ามกลางผู้มารอฟังผลการตัดสินกว่า 20 คน
 
ศาลเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ระหว่างการพิจารณาคดีนี้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ออกมาให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในคดีนี้แล้ว และมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง
 
จึงเป็นกรณีที่ ตามกฎหมายที่บัญญัติภายหลังมีผลให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดที่มีกฎหมายกำหนดไว้ เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งห้าไม่เป็นความผิด จึงมีเหตุยกฟ้อง
 
อย่างไรก็ดี ศาลยังรับรองไว้ด้วยว่า ส่วนการกระทำที่ได้กระทำไปตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ก่อนหน้านี้ไม่กระทบกระเทือนหรือไม่เสียไป ซึ่งเป็นไปตามข้อ 2. ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561
 
คดีนี้เป็นคดีแรกที่ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากคำสั่งห้ามชุมนุมถูกยกเลิกก่อนการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น และเป็นบรรทัดฐานให้คดีอื่นๆ ต่อไปด้วย
 

คำพิพากษา

25 ธันวาคม 2561
 
คำพิพากษาศาลชั้นต้น 
 
ศาลเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ระหว่างการพิจารณาคดีนี้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ออกมาให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในคดีนี้แล้ว และมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง
 
จึงเป็นกรณีที่ ตามกฎหมายที่บัญญัติภายหลังมีผลให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดที่มีกฎหมายกำหนดไว้ เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งห้าไม่เป็นความผิด จึงมีเหตุยกฟ้อง
 
อย่างไรก็ดี ศาลยังรับรองไว้ด้วยว่า ส่วนการกระทำที่ได้กระทำไปตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ก่อนหน้านี้ไม่กระทบกระเทือนหรือไม่เสียไป ซึ่งเป็นไปตามข้อ 2. ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา