อานนท์: คดีดูหมิ่นศาล จากการโพสต์เฟซบุ๊ก

อัปเดตล่าสุด: 12/03/2561

ผู้ต้องหา

อานนท์

สถานะคดี

ชั้นสืบสวนสอบสวน

คดีเริ่มในปี

2560

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

พ.ต.ท.สุภารัตน์ คำอินทร์ รอง ผู้กำกับการสอบสวน กองกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้

สารบัญ

อานนท์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ถูกตำรวจร้องทุกข์กล่าวโทษว่าทำความผิดฐานดูหมิ่นศาลและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์คำสั่งคดีนักกิจกรรมละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น จากกรณีที่ศาลมีคำสั่งว่าการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่นของทั้งเจ็ดเป็นความผิด 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

อานนท์ นำภา เป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ด จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนเริ่มทำงานเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้านี้อานนท์เคยทำคดีให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ แต่หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในปี 2553 อานนท์เข้าช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมากโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เช่น คดีเผาศาลากลาง คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีมาตรา 112

การทำคดีเหล่านั้นทำให้อานนท์เป็นทนายความที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในหมู่นักกิจกรรมทางการเมือง ในเวลาต่อมาเขาตั้งสำนักงานของตัวเองชื่อว่า สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์

นอกจากจะทำคดีทางการเมืองโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแล้ว อานนท์ยังรับทำคดีเอกชนเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพด้วย
 
หลังการรัฐประหารในปี 2557 อานนท์เป็นหนึ่งในทนายความที่ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกจับกุมและดำเนินดคีทางการเมืองในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้ว่าความในฐานะทนายอาสาของศูนย์หลายคดี เช่น คดีมาตรา 112 ของสิรภr คดีมาตรา 116 ของพลวัฒน์ คดีมาตรา 116 ของสมบัติ บุญงามอนงค์ คดีชูป้ายต้านรัฐประหารของนักศึกษากลุ่มดาวดิน ฯลฯ
 
นอกจากการทำหน้าที่เป็นทนายความแล้ว อานนท์ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยร่วมกับเพื่อนตั้งกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมคุมขังทางการเมือง ทำให้ก่อนหน้าคดีนี้อานนท์เคยถูกดำเนินคดีแล้ว 5 คดี ได้แก่

คดีจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก, คดีจัดกิจกรรมรำลึกลุงนวมทอง, คดียืนเฉยๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข, คดียืนเฉยๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแอดมินเพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" และคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์

อานนท์ยังใช้เฟซบุ๊กของตัวเองเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่ตลอด โดยเป็นการแสดงความคิดเห็นในทางต่อต้าน คสช. รวมทั้งใช้เฟซบุ๊กของตัวเองเป็นพื้นที่นัดหมายทำกิจกรรมทางการเมือง โดยมีผู้ติดตามกว่า 40,000 คน
 

 

ข้อหา / คำสั่ง

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาลงวันที่ 10 มกราคม 2561 อธิบายว่า

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 อานนท์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก มีใจความว่า

"ศาลทำตัวเองแท้ๆ ถ้าการทำหน้าที่ของท่านจะถูกชาวบ้านชื่นชมหรือดูแคลน พึงรู้ไว้วว่ามันเกิดจากท่านทำตัวท่านเอง ผมหมายถึงศาลจังหวัดขอนแก่นนั่นหล่ะครับ"

และอีกข้อความหนึ่งว่า

"ทั้งยังสั่งห้ามคบค้าสมาคม …. ศาลเอาอำนาจอะไรไปสั่งใครห้ามคบกับใคร ตลกจริงๆ" ในโพสต์ดังกล่าวอานนท์ยังใส่ URL ซึ่งเมื่อกดจะเชื่อมไปที่ข่าวศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งว่าการทำกิจกรรมของนักกิจกรรมทั้งเจ็ดเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลบนเว็บไซต์ประชาไทด้วยด้วย
 
การโพสต์ข้อความเช่นนี้ ทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าศาลไม่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ซึ่งในความเป็นจริงศาลสามารถสั่งกำหนดเงื่อนไขในการคุมประพฤติได้ โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ให้อำนาจไว้ ใน (3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก จึงเป็นการโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ 
 
หลังจากโพสต์ไปแล้วมีผู้มาแสดงความคิดเห็นคล้อยตาม ในเชิงดูหมิ่นศาล ด่าศาล แสดงให้เห็นว่า เป็นการทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนในลักษณะที่ว่าศาลลุแก่อำนาจ ทำให้ผู้อ่านไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

โพสต์ดังกล่าวมีผู้มาแสดงความรู้สึกจำนวนมากถึง 1,000 คน และแชร์ต่อหรือส่งต่อถึง 45 คน แสดงให้เห็นว่า มีประชาชนอีกจำนวนมากได้รับข้อมูลเท็จ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกเป็นวงกว้าง
 
การกระทำดังกล่าวเป็นการนำเข้าข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กอันเป็นเท็จ น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และเป็นข้อความดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 198 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) 
 

Anon post 1


Anon post 2
สถานะเฟซบุ๊กของอานนท์ที่เป็นเหตุแพ่งคดีทั้งสองสถานะ

พฤติการณ์การจับกุม

วันที่ 14 ธันวาคม 2560 อานนท์โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (ปอท.) ในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 แต่เนื่องจากอานนท์ไม่สะดวกในวันดังกล่าว จึงเลื่อนไปรับทราบข้อความกล่าวหาที่ ปอท. ในวันที่ 10 มกราคม 2561 แทน หลังรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จแล้วตำรวจปล่อยตัวอานนท์โดยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว แต่ให้มารายงานตัวทุกๆ 12 วัน คดีนี้จึงไม่มีการจับกุม
 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
เหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องจากกรณีที่จตุภัทร์ หรือ "ไผ่ดาวดิน" ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะจำเลยมีประวัติการทำกิจกรรมมายาวนาน ในระหว่างการพิจารณาคดีมีกลุ่มเพื่อนมาให้กำลังใจไผ่ที่ศาลจำนวนมากทุกครั้งที่มีนัดพิจารณาคดี 
 
10 กุมภาพันธ์ 2560 

จตุภัทร์ถูกนำตัวจากเรือนจำไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อสอบคำให้การ โดยมีเพื่อนไปให้กำลังใจที่ศาลเป็นจำนวนมาก กลุ่มเพื่อนของจตุภัทร์ในนาม เครือข่ายนักศึกษาสี่ภาค ทำกิจกรรมให้กำลังใจบริเวณรั้วศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นเหตุให้ต่อมามีนักกิจกรรมเจ็ดคนถูกดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาล 
 
2 พฤศจิกายน 2560 
 
ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้นักกิจกรรมทั้งเจ็ดคนมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล นักกิจกรรมหกคนที่ยังเป็นนักศึกษา ศาลให้รอการกำหนดโทษ แต่นักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษาแล้วศาลสั่งจำคุกหกเดือน ปรับ 500 บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุก

ศาลยังมีคำสั่งเพิ่มเติมด้วยว่า ให้นักกิจกรรมทั้งเจ็ดรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ให้บำเพ็ญประโยชน์ และห้ามคบค้าสมาคม หรือจัดกิจกรรม หรือรวมตัวกันในลักษณะที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก
 
หลังศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งคดี อานนท์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะแสดงความเห็นทำนองว่า ศาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งห้ามใครคบค้าสมาคมกัน พร้อมวางลิงค์เชื่อมโยงไปยังข่าวคำสั่งคดีดังกล่าว
 
5 ธันวาคม 2560 
 
สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกหมายเรียกส่งถึงอานนท์ให้มารับทราบข้อกล่าวหาดูหมิ่นศาล และข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่กระทบต่อความมั่นคงหรือทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) จากการโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าว โดยสั่งให้อานนท์ไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (ปอท.) ในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 แต่อานนท์ไม่สะดวกจึงขอเลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 10 มกราคม 2561
 
10 มกราคม 2561
 
เวลาประมาณ 10.00 น. อานนท์ เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาที่ ปอท. ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยมีเพื่อนนักกฎหมายและทนายความด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนกว่า 40 คน พร้อมด้วยประชาชนและลูกความของอานนท์จำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจในการรับทราบข้อกล่าวหาด้วย
 
ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา อานนท์ กล่าวว่า จะปฏิเสธข้อกล่าวหาและพร้อมใช้สิทธิต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานทนายความและการเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็น แต่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้เข้มแข็งขึ้น เปรียบเสมือนว่าวที่มีลมพัดมามากขึ้น
 
สมชาย หอมละออ ที่ปรึกษาสมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน เป็นตัวแทนเพื่อนร่วมวิชาชีพกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า คดีนี้เป็นการดำเนินคดีเพื่อปิดปากทนายความที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือคดีสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลานาน

โดยปกติแล้วข้อหาดูหมิ่นศาลควรจะเป็นเจ้าหน้าที่ของศาลเป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษแต่คดีนี้กลับเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าวัตถุประสงค์การดำเนินคดีอาจเป็นไปเพื่อส่งสัญญาณให้ทนายความและนักกิจกรรมคนอื่นเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้อาจถูกดำเนินคดีได้
 
สมชายกล่าวด้วยว่า โดยหลักแล้ว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ใช่อาชญากรและการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ใช่อาชญากรรม จึงหวังว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งศาลจะมีความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย
 
สมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของทนายความสิทธิมนุษยชนก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ใช้กฎหมายอาญาโดยตีความอย่างเคร่งครัดและการตีความของเจ้าหน้าที่ต้องกระทำโดยสุจริต ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่อาจมีความรับผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

แถลงการณ์ดังกล่าวยังขอให้ประชาชนทั่วไปและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมติดตามตรวจสอบเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้องและเป็นธรรมด้วย

 

Anon with Lawyers
 

อานนท์และทนายสิทธิมนุษยชนถ่ายภาพร่วมกันในอาคารศูนย์ราชการ สถานที่ตั้งของปอท.ในวันที่อานนท์เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

 

8 มีนาคม 2561 

หลังได้รับหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม อานนท์พร้อมทนายความ เดินทางมาที่ บก.ปอท. อีกครั้งในวันนี้ เวลา 10.00 น. ตามที่ได้นัดหมายไว้กับพนักงานสอบสวน
 
เมื่อมาถึงพนักงานสอบสวนแจ้งว่า วันนี้จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มจากการโพสต์เฟซบุ๊กอีกสองครั้ง เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน เมื่อรวมกับข้อกล่าวหาที่แจ้งครั้งที่แล้ว ก็เท่ากับว่า คดีนี้อานนท์ถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กสี่ครั้ง เป็นการกระทำสี่กรรม โดยถูกกล่าวหาว่า ซึ่งเป็นการนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) และความผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษา ตามมาตรา 198 ของประมวลกฎหมายอาญา
 
การโพสต์เฟซบุ๊กทั้งสองครั้งที่ถูกตั้งข้อหาในวันนี้ ได้แก่
 
1) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 อานนท์ โพสต์ภาพตัวหนังสือที่น่าจะเป็นคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่นในคดีละเมิดอำนาจศาล พร้อมกับแสดงความคิดเห็นประกอบรูปว่า
 
"เอาเข้าจริงๆศาลจังหวัดขอนแก่นได้พิพากษาในคดีละเมิดอำนาจศาล มีลักษณะ “ดูถูกดูแคลน” กลุ่มนักศึกษาว่าการไปทำกิจกรรมให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” ว่าเกิดจากความด้อยประสบการณ์และตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี
 
ความจริงเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมกับไผ่ดาวดิน คนทั้งโลกล้วนเห็นประจักษ์ ทั้งนักศึกษากลุ่มดาวดินก็ล้วนแต่มีประสบการณ์ต่อสู้กับความอยุติธรรมของสังคมมาโดยตลอด ไม่ใช่คนที่ใครจะไปสั่งการหรือหลอกลวงได้
 
การดำเนินคดีกับผมในข้อหาหมิ่นศาลจังหวัดขอนแก่นจึงเป็นการดีที่จะได้นำเรื่องความอยุติธรรมที่เกิดกับไผ่ และนักศึกษากลุ่มดาวดิน มาตีแผ่ให้สังคมได้เห็นอีกครั้ง"
 
การกระทำของผู้ต้องหาเป็นการก้าวล่วงวิจารณ์คำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่น ว่าเขียนทำนอง "ดูถูกดูแคลน" ผู้ถูกกล่าวหา ทำให้สถาบันศาลยุติธรรมขาดความศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้พิพากษา ผู้พิจารณาตัดสินคดีได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกทำให้เสียชื่อเสียง
 
2) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 หลังได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนในคดีนี้ อานนท์ได้ถ่ายภาพหมายเรียกและโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความที่แต่งเป็นกลอนในลักษณะพาดพิง ดูหมิ่นศาลซ้ำอีก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพต่อศาล หรือผู้พิพากษาซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ขาดสำนึกในการกระทำที่ผิดพลาดไป ไม่มีความเคารพยำเกรงต่อกฎหมาย
 
โดยข้อความที่อานนท์เขียน มีดังนี้
 
"คือตราชู ผู้ชี้ เสรีสิทธิ
คือศาลสถิต ยุติธรรม นำสมัย
คือหลัก ประกัน ประชาธิปไตย
มิใช่ อภิชน คนชั้นฟ้า !
 
ครุยที่สวม นั้นมา จากภาษี
รถที่ขี่ เงินใคร ให้หรูหรา
ข้าวที่กิน ดินที่ย่ำ บ้านงามตา
ล้วนแต่เงิน ของมหา ประชาชน
 
มิได้ อวตาร มาโปรดสัตว์
แต่เป็น "ลูกจ้างรัฐ" ตั้งแต่ต้น
ให้อำนาจ แล้วอย่าหลง ทนงตน
ว่าเป็นคน เหนือคน ชี้เป็น-ตาย
 
เสาหลัก ต้องเป็นหลัก อันศักดิ์สิทธิ์
ใช่ต้องลม เพียงนิด ก็ล้มหงาย
ยิ่งเสาสูง ใจต้องสูง เด่นท้าท้าย
ใช่ใจง่าย เห็นเงิน แล้วเออออ !
 
ต้องเปิด โลกทัศน์ อย่างชัดเจน
ใช่ซ่อนเร้น อ่านตำรา แต่ในหอ
ออกบัลลังค์ นั่งเพลิน คำเยินยอ
เลือกเหล่ากอ มากอง ห้องทำงาน
 
ตุลาการ คือหนึ่ง อธิปไตย
อันเป็นของ คนไทย ไพร่-ชาวบ้าน
มิใช่ของ ใครผู้หนึ่ง ซึ่งดักดาน
แต่เป็น "ตุลาการ" ประชาชน
 
ฉะนั้นพึง สำนึก มโนทัศน์
ใช่ด้านดัด มืดดับ ด้วยสับสน
เปื้อนราคิน กินสินบาท คาดสินบน
แล้วแบ่งคน แบ่งชั้น บัญชาชี้
 
เถิด"ตุลาการ" จงคิด อย่างอิสระ
รับภาระ อันหนักหนา ทำหน้าที่
หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี
ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย !
 
: อานนท์ นำภา ๖ พฤศจิกายน ๕๓
แก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิม ๓ กันยายน ๕๓"
 
หลังการแจ้งข้อกล่าวหา อานนท์ให้การปฏิเสธ โดยจะขอส่งคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน แต่พนักงานสอบสวนให้ส่งภายใน 15 วัน หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนก็ลงบันทึกประจำวัน และปล่อยตัวอานนท์ โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา