ฟาร์มไก่ ธรรมเกษตร vs ลูกจ้างชาวพม่า 14 คน

อัปเดตล่าสุด: 18/07/2562

ผู้ต้องหา

จำเลยทั้ง 14 คน อายุระหว่าง 24-35 ปี เชื้อชาติพม่า สัญชาติพม่า

สถานะคดี

ศาลไม่รับฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2559

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ผู้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่เพื่อส่งให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม โดยมีนายชาญชัย เพิ่มผล เป็นผู้รับมอบอำนาจเพื่อดำเนินการต่างๆ ในทางคดี

สารบัญ

คนงานชาวพม่า 14 คน เปิดโปงเรื่องราวการละเมิดสิทธิแรงงาน และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ขณะทำงานกับนายจ้างในฟาร์มเลี้ยงไก่ ต้องทำงานตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. โดยไม่มีวันหยุด ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกฟาร์ม และได้ค่าจ้างรายวันให้เพียงวันละ 230 บาท ต่อมาศาลแรงงานพิพากษาให้ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง 1.7 ล้านบาท
 
แต่นายจ้าง คือ บริษัท ธรรมเกษตร เอาเหตุที่ยื่นเรื่องให้กรรมการสิทธิมายื่นฟ้องคนงานทั้ง 14 คน ฐานหมิ่นประมาทและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ทำให้จำเลยทั้ง 14 ที่ย้ายไปทำงานที่ใหม่แล้วยังต้องเดินทางมาขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากจำเลยไม่ได้ใช้ข้อความเท็จ และมีเจตนาสุจริต
 

 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

จำเลยทั้ง 14 คน อายุระหว่าง 24-35 ปีในวันที่ถูกฟ้อง เชื้อชาติพม่า สัญชาติพม่า ส่วนใหญ่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา, อื่นๆ
มาตรา 137 ของประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 จำเลยที่ 1 ถึง 14 แจ้งความอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ และรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 
 
โดยจำเลยทั้ง 14 ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีเนื้อหาว่า จำเลยสัญชาติเมียนมา เป็นลูกจ้างของโจทกื ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ในจังหวัดลพบุรี ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน กล่าวคือ โจทก์ให้ทำงานตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. โดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์  และวันหยุดพักผ่อนประจำปี และจ่ายค่าจ้างรายวันให้เพียงวันละ 230 บาท นอกจากนี้จำเลยยังถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง สามารถออกจากฟาร์มได้เพียงสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่คนไทยตลอดเวลา และยังถูกโจทก์ยึดเอกสารประจำตัวหรือ พาสปอร์ต เอาไว้ด้วย 
 
โจทก์อธิบายในคำฟ้องว่า ข้อความที่จำเลยแจ้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นความเท็จ เพราะ ตามข้อบังคับของโจทก์ ชั่วโมงการทำงานเริ่มตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. เท่านั้น โดยมีพัก 1 ชั่วโมง ตามมาตรฐานโปรแกรมการเลี้ยงไก่ที่คู่ค้าสหภาพยุโรปกำหนดนั้น ต้องปิดไฟส่องสว่างในโรงเรือนตอนกลางคืน เพื่อให้ไก่ได้พักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ลูกจ้างจึงไม่สามารถทำงานได้ โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องให้ลูกจ้างททำงานล่วงเวลา หากลูกจ้างจะเข้าไปดูแลไก่เป็นพิเศษ โจทก์ไม่ขัดข้อและจะจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษให้ หากไก่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้การเลี้ยงไก่ยังทำเป็นรุ่น เมื่อจับไก่ขายแล้วจะพักเล้าประมาณ 30-35 วัน ระหว่างนี้ลูกจ้างยังได้รับค่าจ้างตามปกติ แต่ไดหยุดพักผ่อน
 
โจทก์จ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน ในอัตราวันละ 300 บาท คิดเป็นเดือนละ 9,000 บาท ตั้งแต่มีการประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยตกลงกับลูกจ้างว่า ลูกจ้างต้องจ่ายค่าเช่าที่พักคนละ 1,600 บาท ค่าไฟฟ้าคนละ 400 บาท และค่าน้ำประปาคนละ 200 บาทต่อเดือน และหักค่าน้ำดื่มที่สั่งจากข้างนอกเข้ามาเฉลี่ยคนละ 80 บาทต่อเดือน หลังรับเงินค่าจ้างแล้วลูกจ้างก็นำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาจ่ายรวมเป็นเงิน 2,280 บาทแก่โจทก์ จึงไม่ใช่การหักเงินค่าจ้างจนทำให้จ่ายค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
 
โจทก์ไม่ได้จำกัดสิทธิในการเดินทาง ลูกจ้างสามารถเข้าออกจากฟาร์มได้โดยอิสระ โดยรั้วของสถานที่ประกอบกิจการเป็นเสาไม้เตี้ยๆ ล้อมไว้เท่านั้น หากจะหนีก็สามารถทำได้โดยง่าย โดยมีภาพถ่ายที่ลูกจ้างโจทก์รวมทั้งจำเลยก็ออกไปซื้อของใช้ส่วนตัวและสังสรรค์ตามร้านค้ารอบๆ สถานที่ประกอบกิจการ โจทก์ไม่ได้ยึดหนึงสือเดินทางของลูกจ้าง จำเลยยังคงเดินทางเข้าออกประเทศไทยกับเมียนมาได้ 
 
การที่จำเลยทั้ง 14 ยื่นหนังสือร้องเรียนจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยเอกสารต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำให้เข้าใจว่า โจทก์เป็นนายจ้างที่กดขี่ผู้ใช้แรงงาน ละเมิดสิทธิแรงงาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง กระทบต่อธุรกิจของโจทก์ทั้งทางทำมาหาได้และทางเจริญ ทำให้คู่ค้าระงับการสั่งไก่จากฟาร์มของโจทก์ จนต้องปิดกิจการลงทำให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่ง 
 
คำฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 และ 326 โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพราะประสงค์จะดำเนินคดีกับต่อเลยด้วยตัวเอง
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีข้อมูล

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

2769/2559

ศาล

ศาลแขวงดอนเมือง

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล

ข้อมูลจาก สำนักข่าวโมเมนตั้ม เล่าถึงคดีนี้ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เมื่อแรงงานชาวพม่า 14 คน ยื่นคำร้องต่อสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า มีการใช้แรงงานบังคับและการละเมิดสิทธิแรงงานในฟาร์มไก่ของบริษัทธรรมเกษตร ซึ่งเคยทำสัญญาส่งไก่ให้กับบริษัทเบทาโกร

ก่อนหน้านั้น แรงงานชาวพม่าเปิดเผยกับสื่อต่างชาติและองค์กรด้านสิทธิแรงงานหลายแห่งว่า พวกเขาทำงานวันละ 20 ชั่วโมง ตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และต้องทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. ต้องนอนในเล้าไก่ข้ามคืน ไม่มีวันหยุดประจำปีหรือวันหยุดตามประเพณี ได้ค่าจ้างเพียงวันละ 230 บาท โดยไม่มีประกันสังคมและค่าล่วงเวลา แต่นายจ้างจะให้เป็นเงินพิเศษ หากลูกจ้างทำงานได้ตามเป้าที่วางไว้ พวกเขาถูกยึดใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทาง โดยอ้างว่าจะดูแลเรื่องการต่ออายุให้ และได้ออกจากฟาร์มเพียงสัปดาห์ละสองชั่วโมง โดยอยู่ในการควบคุมของผู้แทนนายจ้าง ซึ่งการออกจากฟาร์มจะต้องขออนุญาตทุกครั้ง
 
ในเวลาต่อมา พวกเขายื่นฟ้องบริษัทเบทาโกร เจ้าของฟาร์มไก่ และเจ้าหน้าที่รัฐ ให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหายรวม 46 ล้านบาท ซึ่งในวันที่ 15 กันยายน 2560 ศาลก็มีคำพิพากษาให้ฟาร์มไก่จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานชาวพม่า 14 คน จำนวน 1.7 ล้านบาท โดยคำตัดสินของศาลสอดคล้องกับคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลพบุรี ที่ก่อนหน้านั้นมีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มไก่ชดเชยเงินให้กับกลุ่มแรงงาน
 

 

7 กรกฎาคม 2559

แรงงานชาวพม่า 14 คน ยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ามาตรวจสอบ แต่ผลการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ กสม. ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 สรุปได้ว่า

“..นายจ้างไม่ได้มีการกระทำที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ไม่ใช่การใช้แรงงานทาส ไม่พบการกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือยึดพาสปอร์ต และไม่พบการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเป็นประเด็นที่มีลักษณะการบังคับใช้แรงงานตามความใน พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์..”

6 ตุลาคม 2559

บริษัท ธรรมเกษตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาล กล่าวหาว่า ลูกจ้างชาวพม่า 14 คน หมิ่นประมาทและแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย


4 ตุลาคม 2560

จำเลยทั้ง 14 คน พร้อมทนายความจากสำนักงานกฎหมาย NSP เดินทางมาขึ้นศาล โดยมีล่ามภาษาไทย-พม่าจากมูนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนามาช่วยในเรื่องการสื่อสาร ฝ่ายโจทก์มีตัวแทนจากฟาร์มมาสองคนพร้อมด้วยทนายความ

ศาลเริ่มจากการอ่านบรรยายคำฟ้องให้จำเลยฟัง หลังจากนั้นจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ฝ่ายโจทก์แถลงขอสืบพยาน 4 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยแถลงขอสืบพยาน 7 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดให้สืบพยานฝ่ายโจทก์ 1 วัน และสืบพยานฝ่ายจำเลยอีก 2 วัน และให้กระทรวงยุติธรรมจัดหาล่ามให้สำหรับจำเลยตลอดการสืบพยานสามวัน

ศาลสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยทั้ง 14 คนชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี โดยให้จำเลยสาบานตัวว่าจะมาศาลตามที่นัดหมายทุกครั้ง ศาลแจ้งกับจำเลยว่า ในคดีนี้ศาลไม่ได้เรียกให้จำเลยต้องนำเงินหรือหลักทรัพย์มาวางต่อศาลเพื่อประกันตัว แต่ถ้าหากจำเลยไม่มาศาลตามนัดหรือหนีคดี จะต้องถูกปรับเป็นเงิน 20,000 บาท ต่อคน และสั่งจำเลยว่า หากมีการเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือที่อยู่ต้องแจ้งต่อศาลทันที หากต้องการจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยต้องขออนุญาตต่อศาลก่อน โดยที่ศาลไม่ยึดหนังสือเดินทางของจำเลย

ในการพิจารณาคดีวันนี้ มีตัวแทนจากสถานทูตฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
 

 
7 กุมภาพันธ์ 2561
 
นัดสืบพยานโจทก์
 
ที่ศาลแขวงดอนเมือง ชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทโจทก์และเจ้าของฟาร์มธรรมเกษตร และพยานโจทก์อื่นอีก 3 ปาก เดินทางมาศาลเพื่อเบิกความ พร้อมด้วยทนายโจทก์ 2 คน ฝั่งจำเลยเป็นแรงงานชาวพม่ามาฟังการสืบพยานในวันนี้เพียง 13 คน ส่วนอีก 1 คนลาคลอด พร้อมทนายจำเลย 4 คน ผู้พิพากษา 1 ท่านขึ้นบัลลังก์เพื่อพิจารณาคดี ราว 10.20 น. 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง ชาญชัย เพิ่มพล ผู้กล่าวหา
 
ชาญชัย ขึ้นเบิกความเริ่มจากการตอบคำถามทนายจำเลย โดยเอาคำเบิกความตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องของพยานมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความในชั้นนี้ด้วย ชาญชัยเบิกความว่า บริษัทธรรมเกษตรไม่ได้เก็บเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน จากแรงงานเพื่อทำพาสปอร์ตให้ แต่จำเลยได้ยืมเงินสำรองไปก่อน หลังจากจำเลยได้พาสปอร์ตแล้วเจ้าหน้าที่ของบริษัทก็ไม่เคยเก็บพาสปอร์ตของจำเลยไว้ โดยวันที่จำเลยไปทำพาสปอร์ตนั้น ไม่ได้ไปด้วย แต่มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทไปด้วย และสำหรับจำเลยที่ไม่มีพาสปอร์ตก็จะมีการทำบัตรสีชมพูซึ่งเป็นใบอนุญาติให้ทำงานจากกรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงานประจำจังหวัดลพบุรี โดยชาญชัยเป็นผู้ประสานเรื่องการทำบัตรให้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบแต่ก็ทราบความเคลื่อนไหว
 
จากนั้นทนายจำเลยถามถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานในฟาร์มไก่ ชาญชัย เบิกความว่า แรงงานสามารถลากลับบ้านได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะแต่ช่วงพักเล้าไก่ ซึ่งตอนที่มีแรงงานป่วยก็พาไปรักษาและให้กลับบ้านจนหายเป็นปกติ ไม่มีข้อห้ามเรื่องการลา คนงานทั้ง 14 จะต้องดูแลเล้าไก่คนละเล้า ในช่วงที่ไก่อายุ 1-8 วัน จะมีการปิดไฟเล้าไก่อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง โดยทั่วไปแล้ว ไก่แต่ละช่วงอายุจะต้องมีการเปิดไฟกระตุ้นไม่เหมือนกัน จากนั้นทนายให้ชาญชัยดูเอกสารเกี่ยวกับตารางการปิดไฟ ซึ่งมีข้อมูลแสดงว่า ช่วงเวลาที่ต้องปิดไฟคือ 19.00-20.00 น. ชาญชัยเบิกความต่อไปว่า ช่วงไก่อายุ 1-8 วัน แรงงานไม่ต้องดูแลเล้าไก่ตลอดเวลา
 
ทนายถามว่า จากหลักฐานการตอกบัตร แสดงว่าจำเลยได้เข้าทำงานในช่วงเวลา 19.00- 05.00 น. ใช่หรือไม่ ชาญชัยเบิกความว่า มีการตอกบัตรตามเวลาดังกล่าวแต่ไม่แน่ใจว่าพวกเขาทำงานหรือไม่ ทนายให้ดูเอกสารซึ่งเป็นบันทึกลงเวลาทำงานของจำเลย ชาญชัยเบิกความว่า บันทึกมีไว้เพื่อทำหน้าที่สองอย่าง คือ บันทึกลงเวลาทำงานและบันทึกการผ่านเข้าออกเฉยๆ การคิดค่าแรงให้คนงานจะคิดจากเวลาที่ปรากฎในบัตรตอก
 
จากนั้นทนายถามถึงเรื่องที่พักของแรงงาน ชาญชัยเบิกความว่า  มีการจัดที่พักให้แรงงานแยกต่างหากจากโรงเลี้ยงไก่ โดยมีระยะห่างจากโรงเลี้ยงไก่ไม่เกิน 100 เมตร ทนายถามต่อว่า ในตอนกลางคืนคนงานจะมีที่นอนอยู่ในห้องควบคุมไฟฟ้าภายในเล้าไก่ใช่หรือไม่ ชาญชัยเบิกความว่า แล้วแต่คนงานจะจัดที่นอนไปเอง ทางฟาร์มไม่ได้ให้ไปนอนที่นั่น ทนายถามว่า คนงานประจำเล้าต้องไปตรวจดูเล้าไก่ในช่วงเวลา 03.00-05.00 น. หรือไม่ ชาญชัยเบิกความว่า ไม่จำเป็น จะทำหรือไม่ทำก็ได้เพราะเป็นระบบอัตโนมัติ บางคนหวังได้เงินเปอร์เซ็นต์ก็ขยันทำ ทนายถามว่า ขยัน หมายถึงการกระตุ้นให้ไก่กินเยอะๆ ใช่หรือไม่ ชาญชัยเบิกความว่า ขยันหรือไม่นั้นวัดจากผลการเลี้ยง คือ น้ำหนักของไก่ ทนายถามต่อว่า ในช่วงที่ไก่อายุ 30-40 วัน แรงงานต้องทำงานหนักขึ้นเนื่องจากต้องเช็คดูว่า มีไก่เป็นโรคหรือไม่ ใช่หรือไม่ ชาญชัยตอบว่า มันเป็นหน้าที่ของคนงาน และต้องทำในช่วงที่เปิดไฟ
 
ทนายถามว่า ชาญชัยเคยไปดูงานที่เล้าไก่หรือไม่ ชาญชัยตอบว่า ไม่ได้เข้าไปดูงานที่เล้าไก่โดยตรง ส่วนมากจะตรวจเช็คงานทางไลน์ โดยจะใช้วิดีโอคอลดู ศาลไม่ได้บันทึกประเด็นนี้ ทนายถามต่อว่า ในช่วงเวลา 19.00-05.00 น. จะมีแรงงานอีกชุดหนึ่งเข้าไปทำงานหรือไม่ นายชาญชัยตอบว่า ไม่มี แต่มีการใช้ระบบอัตโนมัติ
 
จากนั้นศาลก็รวบรัดว่า ประเด็นที่จำเลยร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมี 3 ประเด็น คือ มีการใช้แรงงานนานเกินไป จ่ายค่าจ้างเพียง 230 บาทต่อวัน และการที่ไม่มีวันหยุดให้แรงงาน
 
ชาญชัยแย้งแต่ละประเด็นว่า เรื่องการใช้แรงงานนานเกินไปนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครสามารถนอนเพียง 2 ชั่วโมงเป็นเวลาหลายวันได้ เรื่องค่าจ้างที่เหลือเพียง 230 บาทต่อวันนั้น ก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่า หักค่าอะไรไปบ้าง และเรื่องวันหยุดนั้นทางฟาร์มก็ได้พาแรงงานไปข้างนอกในวันที่มีตลาดนัด
 
จากนั้นทนายถามต่อว่า มีการตกลงเกี่ยวกับการหักเงินต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ชาญชัยตอบว่า มีการตกลงด้วยวาจา โดยที่แต่ละเดือนจะจ่ายเต็มจำนวน ให้ค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน จ่ายเป็นเงินสด เพราะแรงงานไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ และจะมีการหักค่าต่างๆ ทีหลัง ไม่ทราบว่าในการจ่ายเงินและหักเงินแต่ละครั้งนั้นมีการออกใบเสร็จให้แรงงานหรือไม่ ชาญชัยกล่าวด้วยว่า โดยวิสัยของแรงงานนั้นจะชอบให้ฟาร์มออกเงินไปก่อนแล้วมาจ่ายคืนทีหลัง
 
ทนายอ้างเอกสาร และถามว่า ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ทางฟาร์มมีการออกกระดาษเล็กๆ คล้ายสลิปให้แรงงานเป็นหลักฐานรายรับรายจ่ายใช่หรือไม่ ชาญชัยขอดูเอกสารและตอบว่า ไม่ทราบ ไม่เคยเห็น เพราะมีเจ้าหน้าที่คนอื่นทำ และไม่ทราบว่าเอกสารประกอบบการจ่ายเงินก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 นั้นมีหน้าตาอย่างไร
 
จากนั้นทนายถามเรื่องวันหยุด โดยชี้ว่า ในเอกสารนั้นแสดงการลงเวลาทำงานของแรงงานเต็มเดือน ชาญชัยเบิกความว่า แรงงานทำงานทุกวัน แต่บริษัทก็จ่ายค่าแรงครบทุกวัน ทนายถามว่า มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไหม นายชาญชัยตอบว่า ทางฟาร์มให้เลี้ยงไก่ 40 วัน และให้หยุด 30 วัน ช่วงพักเล้าไก่ และอธิบายว่า แรงงานไม่ได้ทำงานหนักเพราะเป็นระบบอัตโนมัติ แต่ช่วงพักเล้า แรงงานก็ต้องตอกบัตรตามปกติ อย่างน้อยต้องอยู่ในฟาร์ม
 
ศาลแสดงความเห็นว่า การหักค่าแรงของแรงงานก็ถือว่า หักมากเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้
 
ทนายถามต่อเรื่องการออกไปร้านค้าของแรงงาน ชายชัยเบิกความว่า มีร้านค้า 2 แห่งที่แรงงานไปได้ ร้านแรกอยู่ห่างจากฟาร์มประมาณ 100 เมตร และอีกร้านอยู่ห่างประมาณ 4-5 กิโลเมตร โดยร้านแรกนั้นแรงงานสามารถเดินไปเองได้ ส่วนร้านที่สองนั้นจะให้พิเชษฐ์ คนขับรถของฟาร์มไปส่ง โดยยืนยันว่า ไม่มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงาน ศาลแนะว่าแบบนี้ไม่ได้เรียกว่าการกักขังหน่วงเหนี่ยว
 
ศาลพักสืบพยานเวลา 12.10 น. และเลื่อนไปสืบต่อในช่วงบ่าย
 
ช่วงบ่าย ศาลขึ้นบัลลังก์ราว 14.05 น.
 
ทนายถามชาญชัยต่อว่า ทราบหรือไม่ว่า เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้ชาญชัยคืนเอกสารประจำตัวแก่แรงงาน ชาญชัยเบิกความว่า ไม่ทราบ ไม่ได้สั่ง จากนั้นทนายให้ดูภาพที่จำเลยกำลังเซ็นต์เอกสารอะไรบางอย่าง ชาญชัยเบิกความว่า ที่มาของรูปนี้ คือ เป็นการมอบพาสปอร์ตให้คนงานหลังจากที่ต่ออายุใบอนุญาติทำงาน ไม่ทราบว่าใครเป็นคนถ่ายรูป และไม่ทราบว่ากระทำในวันที่ 8 มิถุนายน 2559 หรือไม่
 
จากนั้นทนายถามว่า สนธยา แดนกาศัย เป็นพนักงานชาวไทยใช่หรือไม่ ชาญชัยตอบว่า ใช่ เป็นสัตวบาลและผู้จัดการซึ่งมีหน้าที่ดูแลไก่ทุกเล้า มีเวลาทำงานและวันหยุดเหมือนกับแรงงาน ทนายถามต่อว่า ได้มีการประกาศวันหยุดไว้ล่วงหน้า 1 ปีหรือไม่ ชาญชัยเบิกความว่า มี สามารถนำมาแสดงต่อศาลได้ โดยในปี 2559 ประกาศให้มีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน รวมกับวันหยุดทั้งปีเป็น 71 วัน เมื่อรวมกับวันพักเล้าไก่ก็ 150 วัน สรุปแล้ว แรงงานได้หยุดพักเยอะมาก จากนั้นทนายชี้ว่า ตามรายการค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เดือนพฤษภาคม 2559 พบว่า มีการจ่ายค่าจ้าง 30 วัน แสดงว่าแรงงานได้พักเพียงแค่วันเดียวใช่หรือไม่ ชาญชัยแย้งว่า ไม่แน่ใจว่าแรงงานได้เลี้ยงไก่หรือไม่
 
ชาญชัยเบิกความว่า ที่ฟาร์มจะมีการจัดแข่งขันกีฬาและงานเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งจะพยายามจัดตอนที่มีการพักเล้าพร้อมกันหลายๆ เล้า
 
จากนั้นทนายจำเลยอีกคนขึ้นถาม ชาญชัยตอบคำถามว่า ที่ฟาร์มมีพนักงานประมาณ 25 เคน เป็นคนไทย 7 คน ที่เหลือเป็นคนพม่า โดยชาญชัยได้ไปที่ฟาร์มแทบทุกอาทิตย์ เข้าไปเฉพาะส่วนสำนักงาน เพราะกลัวว่าจะเอาเชื้อโรคจากข้างนอกไปติดไก่ จะเข้าไปในเล้าเฉพาะเวลามีปัญหาเท่านั้น ทุกครั้งที่เข้าไปก็จะไม่แจ้งคนงานก่อน ส่วนการจ่ายค่าจ้างให้คนงานนั้นจะจ่ายพร้อมกันหมด
 
จากนั้นทนายถามต่อว่า แน่ใจหรือไม่ว่า ทางฟาร์มไม่เคยยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานไว้  ชาญชัยตอบว่าขอนิยามคำว่า “ยึด” ซึ่งหากตามนิยามของตน ไม่ได้ยึด เพราะแรงงานสามารถถือเอกสารของพวกเขาได้ จากนั้นทนายถามว่า ตอนจำเลยไปตลาดได้ถือเอกสารไปด้วยหรือไม่ ชาญชัยตอบว่า ไม่ทราบ เพราะเป็นสิทธิของเขา
 
ทนายจำเลยหมดคำถาม
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พิมพ์ธนัช ลีลาชัย เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
พิมพ์ธนัชย์ เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 57 ปี รับราชการอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องเป็นการส่วนตัวกับใครในคดีนี้ ทนายโจทก์ให้ดูเอกสารและถามว่า จะยืนยันข้อความที่จำเลยได้ร้องเรียนตามเอกสารหรือไม่ พิมพ์ธนัชตอบว่า ใช่ จากนั้นเบิกความต่อว่า เมื่อรับเรื่องร้องเรียนจากจำเลยแล้ว ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ประชุมกันในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 พิมพ์ธนัชย์ได้ร่วมประชุมด้วย และก่อนหน้านั้นก็มีประชุม 1 ครั้งในวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 รวมแล้วมีการประชุมทั้งหมด 3 ครั้ง เรื่องนี้ถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมทั้ง 3 ครั้ง โดยในการประชุมวันที่ 1 สิงหาคมนั้นมีจำเลยร่วมอยู่ด้วยและมีล่าม คือ สุธาสินี
 
พิมพ์ธนัชย์ให้การต่อไปว่า ในวันที่รับคำร้อง ผู้ร้อง คือ จำเลยทั้ง 14 คนเดินทางมาที่สำนักงาน ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้ประชุมด่วน เมื่อดูประเด็นในหนังสือร้องก็สรุปกันได้ว่ามี 3 ประเด็น คือ ค่าจ้างไม่เป็นธรรม การถูกควบคุมโดยคนของฟาร์ม และ เวลาทำงานที่มากเกินไป คือ 07.00 – 17.00 น. และ 19.00 – 05.00 น. จากนั้นสรุปต่อได้ว่ามี 2 ประเด็นคือ ละเมิดสิทธิ และ ค้ามนุษย์ ตนได้รับมอบหมายให้หาหลักฐานประกอบ จึงประสานให้ทางจังหวัดลพบุรีช่วย ผ่านกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและกรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพบว่าได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบไปแล้ว  
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
พิมพ์ธนัชย์เบิกความว่า ในการตรวจสอบของอนุกรรมการฯ ไม่ได้ลงพื้นที่ โดยทำกันอย่างเร่งรัดเนื่องจากแรงงานพม่าต้องรีบกลับพม่า ซึ่งปกติแล้วการดำเนินการตรวจสอบการร้องเรียนแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาเป็นปี ทนายจำเลยถามต่อว่า ในกรณีที่แรงงานได้ร้องเรียนเรื่องที่พวกเขาทำงานติดต่อกัน 40 วันนั้น ทางอนุกรรมการสิทธิฯ ได้ตรวจสอบใบลงเวลาของแรงงานหรือไม่ พิมพ์ธนัชย์ตอบว่า ใบทำงานกับเวลาทำงานจริงๆ นั้นเป็นคนละส่วนกัน
 
พิมพ์ธนัชย์เบิกความต่อไปว่า ไม่ติดใจเรื่องกักชังหน่วงเหนี่ยวเพราะแรงงานได้เอกสารคืนแล้ว ไม่ทราบว่าทางฟาร์มได้คืนพาสปอร์ตให้แก่แรงงานเมื่อใด และเมื่อคณะกรรมการสิทธิได้ตรวจดูพาสปอร์ตของแรงงานก็พบว่า มีการเดินทางเข้าออกหลายครั้ง
 
จากนั้นทนายจำเลยที่ 2 เริ่มถามค้านโดยยกประเด็นค้ามนุษย์ขึ้นมา แต่ศาลแย้งและขอตัดประเด็นไม่ให้ถามต่อและเชิญให้พิมพ์ธนัชย์ออกไปรอข้างนอกเพื่อให้พยานโจทก์ปากที่สามเข้ามาเบิกความ และจะเบิกความปากพิมพ์ธนัชย์ต่อหลังสืบพยานโจทก์ปากที่สี่เสร็จเรียบร้อย
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม ขวัญ วนิดา แม่ค้าร้านของชำใกล้ฟาร์มธรรมเกษตร
 
ทนายจำเลยเป็นผู้ถามค้าน ขวัญเบิกความว่า ไม่เคยเข้าไปในฟาร์มธรรมเกษตรและไม่เคยเห็นสภาพของเล้าไก่ ที่ผ่านมาเคยเห็นพวกจำเลยเดินทางไปซื้อของที่ร้านของตนเป็นประจำ แต่ไม่เคยเห็นไปกันเอง ต้องมีคนไทยไปด้วยซึ่งเป็นคนขับรถของฟาร์ม เคยคุยกับจำเลยเป็นภาษาไทย โดยที่แต่ละคนก็สื่อสารภาษาไทยได้เล็กน้อย มีอยู่คนหนึ่ง คือ โทน โทน วิน จำเลยที่หนึ่ง ที่สามารถสื่อสารได้มากกว่าเพื่อน ตนรู้จักจำเลย 5-7 คน จากนั้นศาลก็ให้ชี้ตัวจำเลยซึ่งนั่งฟังอยู่ในศาลด้วย
 
ขวัญเบิกความต่อไปว่า ขณะที่จำเลยมาซื้อของที่ร้านก็มีทั้งจ่ายเป็นเงินสดและเซ็นต์ค้างจ่ายไว้ก่อนในสมุด ซึ่งจำเลยจะมาจ่ายคืนทีหลัง เดือนละประมาณ 2 ครั้ง โดยที่มีคนไทยมาด้วยเวลาจ่ายเงิน
 
ทนายโจทก์ถามติง
 
ทนายโจทก์ถามว่า สาเหตุที่ต้องมีคนไทยมาที่ร้านด้วยเพราะร้านอยู่ไกลเดินทางไม่สะดวกใช่หรือไม่ ขวัญตอบว่า เพราะร้านอยู่ห่างจากฟาร์มประมาณ 5 กิโลเมตร
 
 
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ สังวาลย์ เปี่ยมศรี แม่ค้าร้านของชำใกล้ฟาร์มธรรมเกษตร
 
ทนายโจทก์ถาม สังวาลย์เบิกความว่า ตนอายุ 45 ปี ทำอาชีพค้าขาย มีร้านค้าอยู่ห่างจากฟาร์มธรรมเกษตรราว 1 กิโลเมตร เป็นร้านขายอาหารตามสั่งและของชำทั่วไป แต่ละสัปดาห์จะมีชาวต่างชาติ คือ จำเลยชาวพม่า ประมาณ 5-6 คนเดินทางไปซื้อของ ซึ่งบางครั้งจะมีนายพิเชษฐ์ คนขับรถของฟาร์มเดินทางไปด้วย และบางครั้งพวกจำเลยก็เดินทางมากันเอง จากนั้นศาลให้ชี้ตัวจำเลยที่เคยไปที่ร้าน
 
สังวาลย์เบิกความต่อไปว่า จำเลยไปที่ร้านแต่ละครั้งก็จะกินอาหาร ดื่มเบียร์ นั่งกันเป็นชั่วโมง ขากลับถ้าซื้อของเยอะก็จะให้รถที่ร้านพาไปส่งที่ฟาร์ม นอกจากนั้นยังเคยเห็นจำเลยเดินทางไปตลาดนัดวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ซึ่งอยู่ห่างจากฟาร์มไปราว 2 กิโลเมตรอีกด้วย
 
ทนายจำเลยถามค้าน
 
สังวาลย์เบิกความว่า ร้านค้าของตนอยู่ห่างจากด่านตำรวจประมาณ 7-8 กิโลเมตร จึงไม่มีตำรวจเดินทางมาลาดตระเวน ทนายถามต่อว่า เคยเห็นแรงงานพม่าถือพาสปอร์ตหรือบัตรสีชมพูติดตัวไปที่ร้านหรือไม่ สังวาลย์ตอบว่า ไม่เคย
 
จากนั้นศาลเชิญให้พิมพ์ธนัชย์มาสืบพยานต่อ โดยทนายจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถามค้าน ทนายถามว่า เข้าใจว่า การบังคับใช้แรงงานเป็นอย่างไร พิมพ์ธนัชย์ตอบว่า เป็นการให้ใช้แรงงานโดยไม่เต็มใจ จากนั้นทนายถามว่า การหักเงินในกรณีที่ลูกจ้างไม่เข้าทำงาน ถือเป็นการขูดรีดหรือไม่ พิมพ์ธนัชย์ไม่ขอตอบ ทนายถามย้ำ ก็ไม่ตอบ ศาลบันทึกตามนั้น
 
ทนายโจทก์ไม่ถามติง
 
การสืบพยานในวันนี้มีเจ้าหน้าที่จาก ฟอตี้ฟายไรท์, ไอลอว์, MWRN, HRDF และสถานทูตสวีเดนมาร่วมฟังด้วย
 
 
8 กุมภาพันธ์ 2561
 
สืบพยานจำเลย
 
จำเลยจำนวน 13 คน เดินทางมาที่ศาลเพื่อทำการสืบพยานจำเลย โดยวันนี้คาดไว้ว่า จะทำการสืบพยาน 4 ปาก ศาลขึ้นบัลลังก์ราว 09.55 น.
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง โทน โทน วิน จำเลยที่หนึ่ง แรงงานพม่าที่ทำงานในฟาร์มธรรมเกษตร
 
โทน โทน วิน เบิกความว่า เข้ามาทำงานในฟาร์มเลี้ยงไก่ธรรมเกษตรเมื่อปี 2555 เข้ามาทำงานผ่านนายหน้าโดยเสียเงินสดเป็นค่าเดินทางจำนวน 9,000 บาท ขณะที่มาสมัครทำงานก็ไม่ได้แสดงเอกสารอะไร โดยงานที่รับทำนั้นเป็นงานดูแลไก่ในฟาร์ม ที่ฟาร์มมีเล้าไก่จำนวน 14 เล้า โดยแต่ละเล้าจะมีแรงงานชาวพม่าดูแลอยู่เล้าละ 1 คน ก่อนหน้าที่จะเริ่มทำงาน ผู้จัดการฟาร์มบอกว่า จะให้ค่าจ้าง 230 บาทต่อวัน
 
ต่อมาในปี 2556 ได้รับบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นใบอนุญาติทำงานหรือบัตรสีชมพูที่ทางจังหวัดกาญจนบุรีได้จัดทำให้ โดยเสมียนฟาร์มเป็นผู้ดำเนินการ และเจ้าพนักงานเป็นผู้ออกบัตรให้
 
ทนายถามถึงพาสปอร์ต โทน โทน เบิกความว่า นายจ้างเป็นคนจ่ายค่าดำเนินการเรื่องพาสปอร์ตให้ โดยจะหักจากค่าจ้างในภายหลัง ทนายให้ดูเอกสาร โทน โทน ยืนยันว่า ภาพในเอกสารคือภาพสำเนาพาสปอร์ตของตน โทน โทน เบิกความต่อไปว่า หลังจากทำเอกสารและพาสปอร์ตที่กาญจนบุรีแล้ว ก็ไม่ได้เก็บเอกสารและพาสปอร์ตไว้กับตัว และไม่ได้จับเอกสารและพาสปอร์ตเลย จนได้รับคืนวันที่ 8 มิถุนายน 2559 หลังจากที่ไปร้องเรียนกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี โดยหลังจากร้องเรียน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้เข้ามาตรวจสอบฟาร์มและขอให้ทางฟาร์มคืนเอกสารให้ ซึ่งเสมียนของบริษัทเป็นผู้คืนให้ มีการเซ็นต์รับเอกสารตามที่ปรากฎในเอกสารที่ทนายให้ดู
 
โทน โทน เบิกความต่อว่า ที่พักอยู่ใกล้ที่ทำงาน คือ อยู่ในรั้วเดียวกัน เวลาทำงานอยู่ระหว่าง 07.00 – 17.00 น. และ 19.00 – 05.00 น. การลงเวลาทำงานจะทำโดยการตอกบัตร หน้าที่ที่ตนรับผิดชอบในช่วงที่ไก่อายุระหว่าง 1- 8 วันนั้น ได้แก่ ช่วง 07.00 น. จะทำการฉีดยาให้ไก่ โดยจะใส่ยาในสายพานลำเลียงให้ไก่กิน จากนั้นจะทำความสะอาดร่างกายตัวเองก่อนเข้าไปในเล้า จากนั้นก็จะแบกกระสอบอาหารไก่ จำนวน 8 กระสอบ ใส่เครื่องป้อนอาหาร ตรวจสอบท่อน้ำและระบบแก๊สที่ใช้เลี้ยงไก่ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะกระตุ้นให้ไก่กินอาหารอีกครั้ง คอยเติมยา คอยดูว่า มีไก่ตายหรือไม่ แล้วจดบันทึกจำนวนไก่ตาย และคัดแยกไก่ตายออกแล้วแช่ในน้ำยา อุดรูกันงู พับเก็บกล่องกระดาษบรรจุไก่ ตัดหญ้าและทำความสะอาดบริเวณใกล้เล้าไก่ จากนั้นก็ทำซ้ำกระบวนการเดิมอีก ช่วง 19.00 น. ก็ทำแบบเดิม แต่จะเพิ่มการเฝ้าระวังขโมย ในช่วงสี่ทุ่มห้าทุ่มก็จะงีบหลับบ้าง ระหว่างนั้นจะมีคนมาปลุกให้ทำงานต่อ จะมีคนไทยขับรถมอเตอร์ไซค์มาตรวจเช็คการทำงานของตนและแรงงานคนอื่นๆ ที่เล้าไก่ คิดว่าน่าจะเป็นสัตวบาล ในช่วงกลางคืน จะต้องเปิดไฟไว้ให้สว่างตลอดเวลาเนื่องจากต้องกระตุ้นให้ไก่ตื่นและกินอาหาร
 
ทนายถามถึงการทำงานในช่วงที่ไก่อายุ 9-20 วัน โทน โทน เบิกความว่า ทำเหมือนเดิม แต่ไม่ต้องแบกกระสอบอาหารแล้ว จะคอยตรวจสอบอาหารในสายพานให้อาหาร และคอยคัดแยกไก่ที่โตขึ้นออกไปอยู่ในเล้าอื่น เพราะต้องการพื้นที่มากขึ้น คอยเก็บอุปกรณ์ที่ใช้ตอนที่ไก่อายุ 1- 8 วันออกไป ช่วงนี้จะมีการปิดไฟมากขึ้น คือ ปิดตั้งแต่ 19.00 – 03.00 น. แต่ก็ต้องคอยเฝ้าระวังหมาและขโมย จากนั้นก็จะกระตุ้นให้ไก่กินอาหารช่วง 03.00 – 05.00 น. โดยจะมีเวลานอนคืนละประมาณ 3 ชั่วโมง
 
สำหรับไก่ในช่วงอายุ 21 – 30 วันนั้น จะมีการปิดไฟเวลา 19.00 – 20.00 น. และ 22.00 – 03.00 น. จากนั้นในช่วงระหว่าง 03.00 – 05.00 น. ไก่จะแย่งกันกินอาหาร ต้องคอยดูแลให้ไก่ได้กินอาหารอย่างทั่วถึง
 
เมื่อไก่อายุ 30 วันขึ้นไป จะต้องเปิดไฟไว้ตลอดเวลา ต้องคอยดูแลเรื่องอาหารเป็นพิเศษเพราะไก่จะกินเยอะ เมื่อสายพานมีปัญหาก็ต้องคอยดูแล และต้องคอยเปลี่ยนถาดอาหารตรงต้นทางอยู่เรื่อยๆ บางครั้งเวลาระบบมีปัญหาก็จะต้องซ่อมแซมด้วย โดยจะมีช่างมาคอยกำกับบอกว่า ให้ทำอะไรบ้าง ช่วงเวลาพักผ่อนจะไม่ได้ระบุตายตัว ส่วนมากจะได้นอนตอนสี่ทุ่มถึงห้าทุ่ม เพียง 1 ชั่วโมง ในเล้าอื่นๆ ก็มีการทำงานเหมือนกันหมด ช่วงที่มีไก่อยู่ในเล้าจะไม่มีวันหยุดงานเลย แม้ไม่สบายก็ยังต้องมาทำงาน
 
โทน โทน เบิกความต่อว่า หลังจากจับไก่แล้ว แรงงานจะได้พักเป็นเวลา 3 วัน แต่จะไม่ได้จับไก่พร้อมกันทุกเล้า หลังจากนั้นจะมีการพักเล้า ไม่มีไก่มาเลี้ยงในเล้าเป็นเวลา 25 – 28 วัน แต่ก็ยังต้องเข้าทำงานตามปกติเฉพาะเวลากลางวัน มีการลงเวลาเข้าออกฟาร์มด้วย โดยแต่ละวันที่ทำงานนั้นจะแยกหน้าที่ระหว่างชายหญิง คือ ผู้ชายจะล้างท่อน้ำ ล้างระบบอาหาร ล้างพื้นเล้าไก่ ตัดหญ้า เก็บขยะ ทำความสะอาด ตรวจดูความเรียบร้อยของเล้าไก่ ตรวจระบบน้ำบาดาล หลังจากที่มีคนมาส่งแกลบก็จะฉีดยาเล้าไก่ ส่วนผู้หญิงก็จะล้างถาดอาหารและพื้นเล้าไก่ ในช่วงพักเล้าไก่นี้ หากไม่สบายก็สามารถลางานได้ แต่วันที่ลาจะไม่ได้รับค่าจ้าง
 
โทน โทนเบิกความต่อว่า ทางฟาร์มจ่ายเงินเดือนให้หลังจากสิ้นเดือนแล้วเป็นเวลา 10 วัน โดยจะให้สลิปเป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ ระบุยอดเงินค่าจ้างและรายการหักให้ แต่รายการหักต่างๆ จะเป็นภาษาไทยหมด อ่านไม่ออกเลยไม่ทราบว่าหักค่าอะไรบ้าง โดยยอดที่ได้รับจะเป็นยอดสุทธิหลังจากหักค่าต่างๆ ออกแล้ว ซึ่งรายการหักต่างๆ เท่าที่ทราบจะเป็นการหักค่าทำของเสียหาย เช่น ทำกระจกแตก ค่าปรับในกรณีที่ไม่ได้เอาไก่ตายออกจากเล้าตัวละ 5 -10 บาท ซึ่งปกติแล้วพวกตนจะไม่สามารถเอาไก่ออกได้ทันเวลาเนื่องจากมีจำนวนไก่ตายมาก และค่าน้ำดื่มอีก 80 บาท
 
โทน โทน เบิกความต่อไปว่า ก่อนหน้าที่จะมีโอกาสได้ออกไปทำบัตรประจำตัวแรงงานและพาสปอร์ต ไม่มีใครทราบว่าค่าจ้างขั้นต่ำต่อวัน คือ 300 บาท จึงทำงานมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีโอกาสได้ทราบจากการได้เห็นสัญญาจ้างในวันทำพาสปอร์ต จึงทำการร้องเรียนกับนายจ้างให้ขึ้นเงินให้และได้ผลว่า หากต้องการค่าจ้าง 300 บาทต่อเดือน ก็ให้ไปทำงานที่อื่น นอกจากนี้ จริงๆ แล้วค่าจ้างในเดือนกรกฎาคม 2557 ก็เพียงแค่ 220 บาทเท่านั้น เพิ่งขึ้นมาเป็น 230 บาทภายหลัง
 
โทน โทน เบิกความต่อไปว่า ตนและพวกไม่ได้ออกมาข้างนอกฟาร์ม เพราะไม่ได้ถือพาสปอร์ตและเอกสารประจำตัวไว้ จึงกลัวว่าจะถูกจับ จะออกไปพร้อมกับคนไทยชื่อนายพิเชษฐ์เท่านั้น ส่วนมากจะออกไปสัปดาห์ละครั้งเพื่อไปจ่ายตลาด เวลาที่ออกไป คือ ช่วงพักงานระหว่าง 17.00- 19.00 น. และมักจะไปกัน 7-8 คน มีความอึดอัดใจมากเนื่องจากไม่มีพาสปอร์ตหรือเอกสารประจำตัวติดตัว ต่อมาเมื่อทางฟาร์มคืนพาสปอร็ตและเอกสารประจำตัวให้ ก็ยังคงทำงานต่อไป ในช่วงที่พักเล้าไก่ก็จะออกไปข้างนอกไกลๆ ได้บ้าง
 
โทน โทน เบิกความต่อไปว่า ทางฟาร์มได้เก็บเอกสารประจำตัวและพาสปอร์ตไว้ โดยไม่ได้มีการเซ็นต์ยินยอม
 
ทนายถามต่อถึงเรื่องการแข่งขันกีฬา และงานเลี้ยงสังสรรค์ภายในฟาร์ม โทน โทน เบิกความว่า ในช่วงที่จัดก็จะเป็นช่วงที่ไก่ยังเล็ก จะผลัดกันไปเล่นและผลัดกันไปทำงาน ประมาณ 4 รอบ ตอนกลางคืนหลังจากกินเลี้ยงเสร็จก็ต้องกลับไปทำงานตามเดิม
 
โทน โทน เบิกความต่อว่า ในวันที่ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ก่อนที่จะทำการเซ็นต์ท้ายหนังสือร้องเรียน ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับค่าจ้าง เรื่องการเรียกร้องค่าล่วงเวลา และเรื่องพาสปอร์ตที่ถูกนายจ้างเก็บไว้ให้แก่เจ้าหน้าที่ฟัง แต่ไม่ได้เล่าอย่างละเอียด โดยก่อนเซ็นต์มีล่ามแปลให้ด้วย สิ่งที่ต้องการจากการร้องเรียน คือ อยากให้มีการชดใช้ค่าล่วงเวลาที่ได้ทำงานไป
 
ทนายหมดคำถาม
 
ทนายของจำเลยที่ 11- 14 ต้องการจะถามโทน โทน วิน ต่อ ศาลแย้งและพยายามระงับไม่ให้ถาม และกล่าวว่าไม่รู้จะบันทึกคำเบิกความไปในฐานะอะไร เพราะจำเลยที่ 11 – 14 ไม่ได้ขึ้นเบิกความในตอนนั้น แต่สุดท้ายก็อนุญาต
 
ทนายจำเลยที่ 11- 14 ถามว่า หากไม่ทำงานตอนกลางคืน จะถูกหักเงินหรือไม่ โทน โทน ตอบว่า ใช่ จะถูกหักเงินจำนวนคืนละ 500 บาท ทนายแถลงหมดคำถาม
 
ทนายโจทก์ถามค้าน
 
โทน โทน เบิกความว่า  คนจากเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งภายใต้สหภาพแรงงานเป็นผู้พาไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯ โดยรู้จักผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งได้เล่นเฟซบุ๊กบ้างขณะที่ทำงานในฟาร์ม ตอนแรกได้ติดต่อในเฟซบุ๊กก่อน จากนั้นจึงได้เบอร์โทรศัพท์และได้คุย จำได้ว่าได้ร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างน้อย ค่าล่วงเวลา และนายจ้างยึดพาสปอร์ต
 
ทนายโจทก์ถามว่า มีเวลาพักเที่ยงหรือไม่ โทน โทน ตอบว่า มี เวลา 12.00 – 13.00 น. ทนายถามต่อว่า ที่บอกคณะกรรมการสิทธิฯ ไปว่า ไม่ได้นอนตอนกลางคืนเลย จริงๆ แล้วมีเวลานอนระหว่าง 22.00 – 03.00 ใช่หรือไม่ โทน โทน ตอบว่า ใช่ แต่ไม่ใช่ทุกช่วงอายุของไก่  
 
ทนายโจทก์ถามต่อว่าได้ขึ้นค่าจ้างบ้างหรือไม่ โทน โทน ตอบว่า มีขึ้นให้ 2 ครั้ง โดยจำได้ว่า ในปี 2559 ได้ขึ้นค่าจ้าง 10 บาท แต่ครั้งแรกนั้นจำไม่ได้แล้ว
 
จากนั้นศาลให้พักการพิจารณา และกลับมาสืบพยานต่อในช่วงบ่าย
 
ช่วงบ่าย ศาลขึ้นบัลลังก์ราว 13.55 น. ทนายโจทก์ถามค้านเรื่องการแบกกระสอบอาหารไก่ในช่วงที่ไก่มีอายุ 1-8 วัน ระบุว่า นายโทน โทน ให้การต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ต่างจากที่ให้การในศาล โดยขณะที่ให้การต่อคณะกรรมการสิทธิฯ โทน โทน บอกว่าแบกกระสอบอาหารไก่เป็นจำนวนวันละถึง 70 กระสอบ โทน โทน เบิกความว่า คงเป็นการเข้าใจผิด
 
ทนายโจทก์ถามต่อว่า ที่ต้องไปทำงานกลางคืนนั้นเพราะมีแรงจูงใจเรื่องการให้เปอร์เซ็นต์จากนายจ้างใช่หรือไม่ โทน โทน เบิกความว่า มีแรงจูงใจจากนายจ้างว่า จะให้เงินเป็นเปอร์เซ็นต์หากไก่มีน้ำหนักเพิ่ม แต่นายจ้างก็บอกด้วยว่าถ้าไม่ไปทำงานตอนกลางคืนจะหักเงินคืนละ 500 บาท ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยถูกหัก แต่มีจำเลยคนอื่นถูกหัก จากนั้นทนายแย้งว่า จำเลยไปให้การต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ว่าไม่มีใครถูกหัก นอกจากนั้นทนายยังแย้งว่า ขณะที่มีการซ่อมแซมในเล้าไก่ก็ยังมีช่างมาด้วย โทน โทน เบิกความว่า ช่างเป็นคนคอยดูและควบคุมสั่งให้ตนทำการซ่อม ทนายถามต่อว่า แรงงานหญิงก็ได้ลงมือซ่อมด้วยหรือไม่ ตอบว่า ไม่ ทนายถามว่าพยานจบช่างมาหรือไม่ โทน โทนตอบว่า ไม่
 
ทนายโจทก์ถามว่า จำเลยได้เดินทางออกไปที่ร้านค้าเอง ซึ่งไม่ตรงกับคำให้การว่าไม่ได้ออกไปที่ร้านค้าเอง โทน โทน เบิกความว่า ได้ออกไปเองหลังจากที่ได้พาสปอร์ตคืนแล้ว โดยได้รับพาสปอร์ตตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2559 ทนายกล่าวว่า จำเลยได้ลาออกในวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นไม่กี่วันหลังจากนั้น แสดงว่า จำเลยได้ออกไปข้างนอกเองเพียงไม่กี่วันเท่านั้นในตลอดระยะเวลาทำงานที่ฟาร์ม จึงถามโทน โทน ว่า ได้ติดต่อกับเครือข่ายแรงงานข้ามชาติได้อย่างไร โทน โทน เบิกความว่า ติดต่อทางเฟซบุ๊ก เล่นเฟซบุ๊กที่ฟาร์ม และขอร้องให้เจ้าหน้าที่เครือข่ายดังกล่าวมาหาที่ฟาร์ม
 
ทนายโจทก์ถามว่า ตอนที่เกิดเพลิงไหม้ นายจ้างก็ให้การช่วยเหลือใช่หรือไม่ โทน โทนเบิกความว่า ใช่ แต่ให้การช่วยเหลือหลังจากเวลาผ่านไปแล้ว 5 วัน และวันเกิดเหตุ ก็ยังคงต้องไปทำงาน ขณะนั้นไม่มีข้าวให้กิน ขอร้องให้เสมียนฟาร์มไปซื้อให้ก็ไม่ไป
 
จากนั้นทนายถามว่า เวลา 16 วัน หลังจากที่จำเลยได้รับพาสปอร์ตก็เดินทางไปทั่ว เช่น ไปงานวัด ไปตกปลา และไปทำกิจกรรมมากมาย ใช่หรือไม่ โทน โทน ตอบว่า เรื่องไปงานวัดนั้นได้ไปมาก่อนที่จะได้รับพาสปอร์ตแล้ว ประเด็นนี้ศาลบันทึกยืดยาวและมีคำว่า "ไปทะเล” ซึ่งทนายจำเลยแย้งว่า ศาลควรลบคำว่า "ไปทะเล” ออก เพราะโทน โทน ไม่ได้เบิกความเช่นนั้น เกรงว่าจะเป็นประเด็น จากนั้นศาลบันทึกใหม่ให้อีกรอบ
 
โทน โทน เบิกความต่อว่า ได้เดินทางเข้า – ออก ประเทศไทยก่อนที่จะได้รับพาสปอร์ตอยู่แล้ว
 
ศาลชี้ว่า ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ระบุว่า ผู้ถูกร้องซึ่งก็คือโจทก์แจ้งว่า รั้วฟาร์มเตี้ย เกรงว่า จำเลยซึ่งเป็นแรงงานพม่าจะหลบหนี ไม่ยอมทำงาน จึงเก็บพาสปอร์ตไว้ ไม่ได้มีเจตนากักขัง ศาลถามว่า ทางฝั่งจำเลยจะแก้ไขประเด็นที่เคยร้องกับคณะกรรมการสิทธิฯ เรื่องถูกกักขังหรือไม่ โทน โทน แจ้งว่า ไม่ทราบว่าเป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวตามกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่ากฎหมายว่าอย่างไร แต่เข้าใจเพียงว่า มีการยึดพาสปอร์ต ซึ่งทำให้เดินทางไปไหนไม่ได้
 
ทนายโจทก์ถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีผลตรวจสอบว่า โจทก์ไม่ได้ยึดพาสปอร์ตเพราะมีเจตนากักขังหน่วงเหนี่ยว โทน โทน ตอบว่า ไม่ทราบ
 
ทนายจำเลยถามติง
 
ทนายให้ดูภาพในเอกสาร โทน โทน เบิกความว่า ในภาพเป็นภาพของพวกตนนั่งดื่มกินกันที่ร้านค้าหลังกลับจากการตระเวนหาที่พักข้างนอก โดยก่อนหน้านายจ้างบอกว่า หากอยากได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ให้ออกไปหาที่พักเองข้างนอก จากนั้นเบิกความต่อว่า ช่วงที่เดินทางกลับพม่ากันนั้นเป็นช่วงที่ไม่มีไก่ ซึ่งหากเป็นช่วงมีไก่จะขอลากลับบ้านไม่ได้ โดยการลาแต่ละครั้งต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน
 
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม ศาลถามว่า จะมีพยานอื่นๆ มาเบิกความหรือไม่ และหากคำให้การคล้อยตามกันอาจจะไม่ต้องเบิกความเป็นรายบุคคลก็ได้ อาจให้ทำเป็นคำเบิกความส่งมา ทนายจำเลยบอกว่า ขอทำคำเบิกความเป็นเอกสารและยื่นต่อศาล
 
เสร็จสิ้นการสืบพยานเวลา ราว 15.27 น. วันนี้มีเจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรป, ไอลอว์, ฟอตี้ฟายไรท์, MWRN และ  HRDF มาสังเกตการณ์ และเนื่องจากการสืบพยานเป็นไปอย่างยาวนาน จึงสืบพยานได้เพียงปากเดียวเท่านั้น
 
 
9 กุมภาพันธ์ 2561
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ราว 10.10 น. เริ่มสืบพยานเวลาราว 10.40 น. เนื่องจากหารือกันก่อนเกี่ยวกับการเพิ่มวันสืบพยานเพราะเห็นว่าทางฝั่งจำเลยยังมีพยานจำนวนหลายปาก และอยากให้พยานได้เบิกความต่อหน้าศาล เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของกระบวนการยุติธรรมไทยในสายตาต่างชาติ เนื่องจากจำเลยเป็นชาวต่างชาติ ทั้งสองฝั่งไม่คัดค้านการขยายเวลาสืบพยาน
 
สืบพยานจำเลยปากที่สอง กิ่งดาว สีสาวหา อดีตนิติกรปฎิบัติการจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดลพบุรี
 
กิ่งดาว เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 36 ปี รับราชการอยู่ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก่อนเกิดเหตุตนเป็นนิติกรปฎิบัติการสังกัดสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดลพบุรี เข้าไปเกี่ยวข้องในคดีนี้เนื่องจากได้รับการประสานจากหัวหน้างานว่า มีการร้องเรียนเรื่องแรงงานเดือดร้อนไม่ได้รับค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนด โดยหลังจากรับเรื่องแล้ว เวลาราว 19.00 น. ของวันที่ 6 มิถุนายน 2559 กิ่งดาวและเจ้าหน้าที่อื่นอีก 3 – 4 คน ได้เดินทางไปที่ฟาร์มธรรมเกษตรเพื่อตรวจสอบ เข้าไปพบตัวแทนของนายจ้าง และแรงงานครบทั้ง 14 คน เหตุที่ต้องไปตอนเย็นเนื่องจากสามารถตรวจสอบพื้นที่ได้ทุกเมื่อหากแรงงานยังคงทำงานอยู่ เมื่อไปถึงก็เข้าไปคุยกันในห้องประชุมของฟาร์ม
 
ระหว่างนั้น ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ คือ ชาญชัย เดินทางไปต่างประเทศ จึงให้ผู้แทนเข้ามาเจรจา ส่วนแรงงานชาวพม่า มีคนที่สื่อสารภาษาไทยได้ 2- 3 คน ตอนนั้นยังไม่ทันจัดหาล่ามไปด้วย จึงสื่อสารกันง่ายๆ มีพูดคุยกันเรื่องค่าจ้าง ได้ถามกลับไปกลับมาว่า ได้ค่าจ้างเท่าไหร่ ได้คำตอบว่า 220 – 230 บาทต่อวัน ขณะนั้นทางการกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำ ในจังหวัดลพบุรีเป็น 300 บาท
 
มีการสอบถามเกี่ยวกับวันหยุด โดยแรงงานตอบมาว่า นายจ้างให้ทำงานทุกวัน และมีพาไปตลาดนัดบ้างในวันอาทิตย์ ศาลบันทึกว่ามีการหยุดงานวันอาทิตย์ วันนั้นไม่ได้ตรวจสอบและไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่คนอื่นได้ตรวจสอบดูพาสปอร์ตและบัตรสีชมพูของแรงงานหรือไม่ เพราะดึกแล้ว และคิดว่าจะเข้าไปอีกทีในวันรุ่งขึ้น 
 
เมื่อถึงวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันที่ 7 มิถุนายน ตนกับเจ้าหน้าที่ก็ไปที่ฟาร์มอีกครั้ง ตอนแรกนัดล่ามไว้แต่ล่ามไม่ว่างจึงไม่ได้ไปด้วย พอไปถึงฟาร์มก็พบแรงงานทั้ง 14 คน และผู้แทนนายจ้าง จึงได้ชี้แจงข้อกฎหมายเรื่องค่าจ้าง ได้สอบถามเกี่ยวกับเวลาทำงาน ทางผู้แทนแจ้งว่า ทำงาน 08.00 – 17.00 น. และพักเที่ยงเวลา 12.00 – 13.00 น. มีลูกจ้างบางคนบอกว่า ทำงานตั้งแต่ 05.00 – 17.00 น. จากนั้นพักอาบน้ำกินข้าว และทำต่อ 19.00 – 05.00 น. ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวแล้ว คนควรทำงานวันละ 8 ชั่วโมง
 
กิ่งดาว เล่าว่า ได้แนะนำว่า ควรมีการลงเวลาทำงานไว้เป็นหลักฐาน ผู้แทนโจทก์แจ้งว่า มีการตอกบัตร จึงได้ขอดู แต่ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า ทางนายจ้างจ่ายค่าจ้างตรงตามเวลาทำงานหรือไม่เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ประกอบกับวันที่ 13 มิถุนายน ชาญชัยจะเข้ามาอยู่แล้ว จึงนัดกันอีกรอบ พร้อมกับนัดล่ามมาด้วย
 
ในระหว่างวันที่ 7- 13 มิถุนายน ก็ได้ไปประชุมหารือร่วมกับคณะทำงานว่าจะทำอย่างไร ระหว่างนั้นทางฟาร์มได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายเงินมาให้ เป็นสลิปเล็กๆ บอกรายการของเดือนพฤษภาคม 2559 ระบุรายการหักค่าใช้จ่ายหลายอย่าง
 
วันที่ 13 มิถุนายน กิ่งดาวได้ไปที่ฟาร์มอีกครั้งตามนัดหมาย มีล่ามจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และมีสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้แทนจากเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติเข้าฟังด้วย สาระสำคัญในการหารือวันนั้น ได้ให้นายจ้างนำเอกสารการลงเวลามาให้ดู และตรวจสอบเรื่องค่าจ้าง พบว่า มีรายการหักเงินเดือนเป็นการหักค่าทำพาสปอร์ต ซึ่งไม่ได้มีการเซ็นต์ยินยอมล่วงหน้า แต่นายจ้างแจ้งว่าได้เจรจาด้วยวาจาแล้วว่าจะหัก จึงแนะนำให้นายจ้างคืนเงินส่วนที่หักไปให้แก่ลูกจ้าง แนะนำว่าลูกจ้างต้องมีเอกสารประจำตัวติดตัวเวลาออกไปข้างนอก แนะนำนายจ้างไปว่า มีค่าอะไรที่หักได้ และมีค่าอะไรที่หักไม่ได้ นายจ้างแจ้งว่าค่าจ้าง คือ 300 บาทต่อวัน ที่บอกว่า 230 บาทนั้น เป็นของเฉพาะบางคนเท่านั้น และแต่ละคนก็โดนหักไม่เท่ากัน
 
กิ่งดาว เบิกความด้วยว่า วันที่ 15 มิถุนายน มีการบันทึกข้อตกลงสภาพการจ้างของบริษัท ได้ข้อยุติว่าจะให้ฟาร์มจ่ายค่าจ้างแก่แรงงานชดเชยให้ในกรณีทำงานในวันหยุด ปี 2558 มีการนัดจ่ายเงินในวันที่ 25 มิถุนายน 2559
 
ศาลให้พักการพิจารณาคดีและเลื่อนให้ไปสืบพยานต่อในช่วงบ่าย
 
ช่วงบ่ายศาลขึ้นบัลลังก์ราว 13.46 น. ศาลเชิญ โทน โทน วิน ขึ้นมาฟังอ่านทวนคำเบิกความก่อน จากนั้นทำการสืบพยานต่อ
 
กิ่งดาว เบิกความต่อว่า แรงงานพม่าต้องการคืนเงินเปอร์เซ็นต์ที่เป็นแรงจูงใจเรื่องน้ำหนักไก่ให้นายจ้าง แต่ต้องการเรียกร้องค่าจ้างล่วงเวลาย้อนหลัง 2 ปี ซึ่งแต่ละคนจะได้รับเงินประมาณ 78,000 บาท ส่วนเงินเปอร์เซ็นต์นั้นตกราวคนละ 8,000 บาท หักลบแล้วแต่ละคนจะได้รับเงิน 70,000 บาท ซึ่งนัดหมายว่าจะจ่ายในวันที่ 25 มิถุนายน
 
ในวันที่ 25 มิถุนายน ทุกคนมาตามนัดและทางนายจ้างได้ใส่ซองเงินเตรียมไว้ให้ลูกจ้าง มีการระบุว่า จ่ายค่าอะไรบ้าง แต่แรงงานทั้ง 14 คน ไม่รับไว้ เพราะเห็นว่านายจ้างยังคงจ่ายน้อยเกินกว่าที่คิดไว้ และได้ยื่นใบลาออกให้เป็นผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2559
 
หลังการสืบพยานปากกิ่งดาวเสร็จ มีการเจรจากันเรื่องการขยายเวลาสืบพยานอีกครั้ง โดยศาลได้นัดหมายให้สืบพยานอีกในวันที่ 4, 5 และ 11 เมษายน 2561 จบการสืบพยานในเวลาราว 16.30 น.
 
การสืบพยานในวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติ, ไอลอว์, ฟอตี้ฟายไรท์, MWRN, HRDF และสถานทูตฟินแลนด์ เข้าฟังด้วย
  
 
4 เมษายน 2561
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
นัดสืบพยานจำเลยต่อในวันนี้ โดยจำเลยทั้ง 14 คนมาศาลพร้อมกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และทนายจำเลย 3 คน โดยฝ่ายโจทก์มีทนายความ 2 คนมาศาล พร้อมกับชาญชัย เพิ่มผล ตัวแทนของบริษัทและมีล่ามของศาลมาเป็นผู้แปลคำเบิกความของพยาน
 
เวลา 9.40 น. ศาลขึ้นบัลลังก์  ศาลเรียกทนายจำเลยมาสอบถามเรื่องคำเบิกความของจำเลยทั้ง 14 คนที่นำส่งต่อศาลก่อนหน้า ทนายจำเลยแจ้งว่า จำเลยจะเบิกความตามเอกสารที่ทำไว้ แต่จะให้ขึ้นเบิกความตามปกติและถามตามประเด็นในเอกสาร ศาลถามเพิ่มเติมว่า นอกจากคดีนี้แล้วมีคดีที่พิพาทกันอะไรอีกบ้าง ทนายจำเลยตอบว่า มีคดีที่ศาลแรงงานและคดีลักทรัพย์ที่ศาลจังหวัดลพบุรี
 
จากนั้นศาลเรียกโจทก์และทนายจำเลยมาถามว่า ตกลงคุยกันไม่ได้เลยหรือ โจทก์บอกว่า คุยกันไปหลายรอบแล้ว จริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โต แต่ประเด็นดังกล่าวกลับกระจายไปในสังคมโลก ถ้าไม่มีสังคมโลกมาเกี่ยวข้องก็จะไม่มีคดีนี้ โจทก์ยินดีถอนฟ้องแต่ขอให้นำความจริงมาแถลงต่อสังคมโลกว่า บริษัท ธรรมเกษตรไม่ได้ทารุณกรรม ใช้แรงงานเยี่ยงทาส และกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่อานดี้ ฮอลล์ คนที่มาช่วยเหลือบอกว่า ทำไม่ได้ เพียงแต่บอกว่า เขาแถลงไปแล้วว่าไม่ใช่การค้ามนุษย์ ศาลบอกว่า สามคำนั้น แรงงานได้พูดหรือไม่ ควรไปดำเนินคดีที่ต้นตอดีกว่าไหม?
 
โจทก์กล่าวว่า ตอนนี้ตนมีสองทางเลือก คือ ขอบารมีศาลพิสูจน์ข้อเท็จจริง และให้อานดี้ หรือแกนนำออกมาบอกว่า การทารุณกรรม, ใช้แรงงานเยี่ยงทาสและกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่เป็นความจริง ถ้า ไม่ ก็ต้องใช้สิทธิในคดีนี้พิสูจน์ต่อสาธารณะว่า ข้อกล่าวหาไม่เป็นจริง โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ฟาร์มไก่ของเขาต้องปิดตัวลงมาเป็นเวลา 22 เดือน
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม: นัม ตู จำเลยที่สอง แรงงานพม่าที่ทำงานในฟาร์มธรรมเกษตร
 
นัม ตู เบิกความว่า อายุ 34 ปี ประกอบอาชีพรับจ้าง ทำงานที่ฟาร์มไก่ ธรรมเกษตรมาตั้งแต่วันที่ 31 กันยายน 2558-25 มิถุนายน 2559 ทำหน้าที่เลี้ยงไก่ในฟาร์ม อัตราค่าแรงสุดท้ายก่อนออกจากงาน คือ 230 บาท ครั้งแรกที่เข้ามาทำงานไม่มีเอกสารประจำตัว ทำงานได้สามเดือนจึงได้ไปทำบัตรประจำตัวเป็นหนังสือเดินทางสีม่วง โดยนายหน้าที่นายจ้างจัดหามาให้พาไปทำที่จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากทำเสร็จ นายจ้างเป็นผู้เก็บรักษาหนังสือเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือเดินทาง นายจ้างหักจากเงินเดือน 5 เดือนรวม 11,000 บาท เดือนที่หนึ่งถึงสี่ เดือนละสองพันบาทและเดือนที่ห้าสามพันบาท นายจ้างไม่ได้ให้เซ็นเอกสารยินยอมในการเก็บรักษาหนังสือเดินทาง
 
นัม ตู เล่าว่า ระหว่างที่ทำงานที่ฟาร์มไก่ได้เดินทางออกนอกฟาร์มในวันอาทิตย์ และเคยเดินทางกลับประเทศพม่าหนึ่งครั้ง โดยต้องไปขอหนังสือเดินทางจากเสมียนที่อยู่ในสำนักงานล่วงหน้าหนึ่งเดือน และกลับไปอยู่พม่าหกเดือนกลับมาอีกที คือ วันที่ 31 กันยายน 2558 ผู้จัดการของบริษัทก็ได้เก็บหนังสือเดินทางไว้ ก่อนที่จะได้คืนอีกครั้งในวันที่ 8 มิถุนายน 2559 หลังจากที่เจ้าพนักงานตรวจแรงงานได้เข้ามาในฟาร์ม มีการลงลายมือชื่อตอนที่รับเอกสารไว้ เหตุที่เจ้าพนักงานมาตรวจเนื่องจากว่า แรงงานไปร้องเรียนไว้
 
ช่วงสุดท้ายก่อนที่จะลาออกจากฟาร์มไก่ มีตำรวจเข้ามาจับกุมแรงงานในฟาร์มไก่ไปที่สภ.โคกตูม จังหวัดลพบุรีและยึดโทรศัพท์และหนังสือเดินทาง ก่อนจะถามแรงงานว่า มีใครใช้เฟซบุ๊กบ้าง โดยบอกว่า คนที่ใช้เฟซบุ๊กห้ามกดไลค์และกดแชร์ ไม่เช่นนั้นจะเจอข้อหาติดคุกหลายปี พร้อมกับให้ถ่ายรูปคู่กับป้าย ต่อมาตำรวจปล่อยตัว และได้พูดคุยกับเพื่อนๆ แรงงานว่า จะลาออกจากงานและไปเรียกร้องการคุ้มครองแรงงานที่สมุทรสาคร
 
การทำงานที่ฟาร์มไม่มีข้อตกลงเรื่องค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ นายจ้างจะเป็นผู้ออกให้และให้จ่ายค่าน้ำเดือนละ 80 บาท และจ่ายเงินเดือน มีสลิปเงินเดือนเป็นกระดาษเส้นๆ ช่วงที่มีไก่ในเล้ามีการตอกบัตรเข้าทำงานเวลา 07.00 น.-17.00 น. และ 19.00น.-05.00 น. การตอกบัตรจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูและถ่ายรูปทุกครั้ง ถ้าไม่ไปตอกบัตรหรือตอกบัตรสาย เครื่องตอกบัตรจะขึ้นสีแดงและถูกหักเงิน 50 บาท ข้อมูลในบัตรจะถูกนำมาคำนวณเป็นเงินเดือน
 
ช่วงที่ไก่อายุ 0-8 วัน หน้าที่ของตน คือ ให้อาหาร ให้น้ำ ให้ยาตอนกลางคืนสามห่อ การผสมยาต้องเฝ้าก๊อกน้ำและยาจะไหลไปตามท่อ ถ้าเกิดอุปกรณ์ขัดข้องต้องคอยดูแล ต้องดูด้วยว่า แก๊ซหมดหรือไม่ ถ้าแก๊ซหมดก็ต้องเปลี่ยนโดยจะต้องไปยกถังแก๊สมาเปลี่ยน แต่ละคืนใช้แก๊ซประมาณสามถัง อาหารหมดหรือไม่ ส่วนอุปกรณ์ที่ขัดข้องจะต้องเรียกช่างมาซ่อมแซม แต่ก็ต้องช่วยช่างซ่อมด้วย ตอนกลางคืนนอนในเล้าไก่ นอนบ้าง ทำงานบ้างตลอดคืน
 
เมื่อไก่อายุ 9-20 วัน จะมีช่วงเปิดไฟในเล้าไก่ในเวลาประมาณ 19.00-21.00 น. และปิดไฟช่วง 21.00-06.00 น. ช่วงที่ปิดไฟตนจะต้องสังเกตสัตว์อื่น ทำงานอื่นๆ เหมือนตอนช่วงที่ไก่อายุ 0-8 วัน โดยจะตื่นขึ้นมาดูเป็นระยะๆ ช่วงที่ไก่อายุ 10-30 วัน ตนทำงานเหมือนเดิม ดูแลความปลอดภัยด้วยการใช้ไฟฉายส่อง การนอนจะมีเตียงในเล้าไก่ ช่วงไก่อายุ 30-40 วัน เปิดไฟทั้งคืน จะต้องดูแลให้ไก่กินอาหาร ช่วงที่มีไก่ในเล้าจะไม่ได้รับเงินล่วงเวลา(โอที) ส่วนข้อเสนอที่เคยบอกจะให้เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยได้
 
นัม ตู เล่าด้วยว่า หลังจากที่ขายไก่ได้จะมีวันหยุด 3 วัน ไม่ได้ทำงานเลยแต่ได้รับค่าจ้าง หลังจากนั้นก็ทำความสะอาดเล้าไก่ อ่างเก็บน้ำ อาหารฉีดยาแกลบและล้างพัดลมประมาณ 20-25 วัน ไม่ต้องทำงานตอนกลางคืน โดยจะต้องตอกบัตรวันละสี่ครั้ง เวลา 07.00-12.00น.-13.00-17.00 น. มีคนมาตรวจดูเป็นบางครั้ง
 
ส่วนที่เบิกความไปช่วงแรกว่า ได้ไปตลาดนั้น รายละเอียด คือ จะไปในวันอาทิตย์ ช่วง 17.00 น. มีคนในบริษัทไปส่งที่ตลาด ไม่กล้าไปเองเพราะไม่ได้ถือหนังสือเดินทาง แต่ละครั้งที่ไปใช้เวลาไม่เกินสองชั่วโมง ต่อมาได้รับหนังสือเดินทางคืนวันที่ 8 มิถุนายน 2559 มีการระบุว่า หากจะเรียกร้องแบบนี้ให้ออกไปหาที่พักข้างนอก
 
ที่ผ่านมาได้ติดต่อไปขอความช่วยเหลือกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และได้ไปร้องที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ว่า ทำงานตั้งแต่เวลา 7.00-17.00 น. และ 19.00-05.00 น. โดยไม่มีวันหยุดประจำปี ได้ค่าแรงวันละ 230 บาท และถูกจำกัดเสรีภาพการเดินทาง
 
ทนายโจทก์ถามค้าน
 
นัม ตู เบิกความตอบทนายโจทก์ว่า ช่วงแรกที่ตนเข้ามาทำงานมีหน้าที่เก็บไก่ที่ตายไปขาย ทำงานเฉพาะตอนกลางวัน จากนั้นจึงเดินทางกลับไปยังพม่าและกลับมาทำงานฟาร์มไก่ ธรรมเกษตรอีกครั้งหนึ่ง เคยไปร้องเรียนกับกรรมการสิทธิฯ ว่า การทำงานไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ออกจากฟาร์มได้สองชั่วโมงต่อสัปดาห์ หลังจากการร้องเรียน กรรมการสิทธิฯ ได้เชิญไปร่วมประชุมหนึ่งครั้ง และเคยติดต่อกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ได้บอกเล่าข้อเท็จจริงให้กับตัวแทนของเครือข่ายฟังเรื่องค่าจ้าง การทำงานล่วงเวลา สภาพการทำงานให้เจ้าหน้าที่ทราบ
 
ทนายโจทก์ถามว่า เวลา 22.00-03.00 น. พยานได้นอนหรือไม่ นัม ตูตอบว่า นอนเป็นระยะๆ เนื่องจากต้องฟังเสียงมอเตอร์ เสียงสุนัขเห่า ต้องคอยใช้ไฟฉายส่องตลอด ตามที่ได้เบิกความตอบทนายจำเลยไปแล้ว ทนายโจทก์ถามต่อว่า นัม ตูเคยไปร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีรายละเอียดว่า ลูกจ้างได้นอนพักในช่วง 22.00-03.00 น. โดยไม่มีการทำงาน ถูกต้องหรือไม่ นัม ตู ตอบว่า เหตุที่บันทึกไว้แบบนั้นเนื่องจากตนไม่ประสงค์ที่จะเรียกร้องค่าล่วงเวลาในช่วงระหว่าง 22.00-03.00 น. แต่ในความเป็นความจริง คือ ไม่ได้นอน
 
ทนายโจทก์ถามว่า เคยขอให้เพิกถอนบันทึกการตรวจแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าล่วงเวลาหรือไม่ นัม ตู ตอบว่า จำไม่ได้ ทนายโจทก์ถามว่า ในวันที่ให้การต่อกรมสวัสดิการฯได้มีล่ามแปลด้วยใช่ไหม นัม ตูตอบว่า ใช่  เป็นล่ามจากกรมสวัสดิการฯ ทนายโจทก์ให้นัม ตู ดูบันทึกการตรวจแรงงานที่ระบุว่า ล่ามที่แปลคือ อา มา โช ซึ่งเป็นล่ามจากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) นัม ตู เบิกความเพิ่มเติม เรื่องการนอนหลับในเวลา 22.00-03.00 น. ว่า เป็นการตกลงกันของแรงงานว่า จะไม่เอาค่าล่วงเวลาในช่วงนั้น ทางกลุ่มแรงงานเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกร้องค่าล่วงเวลาทั้งหมด ซึ่งไม่ปรากฏในบันทึกการตรวจแรงงาน
 
ทนายโจทก์อ่านคำให้การที่นัม ตูเคยให้การต่อพนักงานตรวจแรงงานวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ระบุว่า ช่วงไก่อายุ 20-30 วัน จะมีการปิดไฟในช่วง 22.00-03.00 น. นัม ตูจะนอนพัก และถามนัม ตูว่า เป็นตามนี้หรือไม่ นัม ตูตอบว่า ขอยืนยันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวตนต้องทำงาน ทนายโจทก์อ่านเอกสารที่นัม ตู เคยไปให้การกับสหวิชาชีพ ได้แก่ ผู้กำกับสภ.โคกตูม จังหวัดลพบุรี, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดลพบุรี, พัฒนาสังคม จังหวัดลพบุรี และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ระบุว่า ในช่วง 22.00-03.00 น. นัม ตูได้นอนพักในห้องควบคุมโดยไม่ได้มีการทำงาน นัม ตู ฟังและตอบว่า จริงๆ แล้วตนไม่ได้นอนในช่วงเวลาดังกล่าวและไม่ได้ออกไปนอนในห้องพักของตนเอง ทนายโจทก์ให้ดูเอกสารว่า ท้ายที่สุดแล้วสหวิชาชีพมีความเห็นว่า ได้นอนพัก ศาลบันทึกตามที่เอกสารระบุไว้
 
ทนายโจทก์ถามว่า คดีที่ศาลแรงงานภาคหนึ่ง นัม ตูกับพวกรวม 14 คนได้เรียกร้องค่าเสียหาย คำพิพากษามีระบุว่า แรงงานทั้ง 14 คนไม่ได้ทำงานล่วงเวลา 11 ชั่วโมงตามที่กล่าวอ้าง นัม ตูตอบว่า จำไม่ได้ แต่คดีนี้ได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ทนายโจทก์ถามต่อว่า ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรกำหนดให้เงินเปอร์เซ็นต์หากไก่มีน้ำหนักมากใช่หรือไม่ นัม ตูตอบว่า นายจ้างเคยบอกว่า จะมีการแบ่งเงินเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เคยได้เลยตั้งแต่ทำงานมา ส่วนใหญ่จากสิบคนได้หนึ่งคน
 
ทนายโจทก์ถามว่า ตอนกลางคืนอยู่กับภรรยาหรือไม่ นัม ตูตอบว่า ภรรยาของตน คือ จำเลยที่ 14 เลี้ยงไก่อยู่เล้าติดกันกับเล้าของภรรยา มีการไปหากัน ทนายโจทก์ถามว่า ก่อนเข้าทำงานต้องเปลี่ยนชุดก่อนหรือไม่ นัม ตู ตอบว่า เวลา 06.30 น. จะไปที่จุดชำระล้างเชื้อโรคเพื่อเปลี่ยนยูนิฟอร์ม
 
ทนายโจทก์ถามต่อว่า นัม ตู ได้รับเงินเดือนเดือนละเท่าไหร่ นัม ตู ตอบว่า 230 บาทต่อวัน ต่อเดือนไม่แน่นอนบางเดือนหกพันกว่า ทนายโจทก์ให้ดูเอกสารสลิปเงินเดือนระบุว่า ได้ค่าแรง 301 บาท และถามว่า หมายความว่าอย่างไร? นัม ตูตอบว่า เงินจำนวนนี้ให้หลังจากที่พนักงานตรวจแรงงาน จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไปตรวจ ซึ่งวันที่รับเงิน คือ วันที่ 6 มิถุนายน 2559 ก่อนหน้าพนักงานตรวจจะเข้าไปตรวจหนึ่งวัน ทนายโจทก์ถามแย้งว่า แต่วันที่พนักงานตรวจแรงงานเข้าไปตรวจคือวันที่ 13 มิถุนายน 2559 นัม ตู เบิกความอธิบายอีกครั้งว่า โดยปกติจะได้รับเงินเดือนในวันที่สิบของเดือนถัดไปและจะให้สลิปเงินเดือนไว้เป็นหลักฐานมีลักษณะเป็นกระดาษเส้นยาว ต่อมานายจ้างทราบว่า พนักงานตรวจแรงงานมาตรวจวันที่ 13 มิถุนายน 2559 นายจ้างจึงจ่ายค่าจ้างและให้สลิปเงินเดือนมาใน วันที่ 6 มิถุนายน 2559
 
ทนายโจทก์ถามว่า นัม ตู เคยออกจากฟาร์มไปที่ไหนบ้าง นัม ตูตอบว่า เคยไปตลาดโคกตูม เคยออกนอกฟาร์มไปซื้อของใช้เองและครั้งสุดท้ายที่ไป คือ ครั้งที่นายจ้างบอกว่า ไม่ให้อาศัยในฟาร์มแล้ว จึงออกไปหาที่อยู่ ทนายโจทก์ถามว่า นัม ตูสามารถออกไปทานข้าวที่ร้านค้านอกฟาร์มได้ แต่ไม่ไปเนื่องจากว่าไม่สะดวกในการเดินทางใช่หรือไม่ นัม ตู ตอบว่า ใช่
 
ทนายโจทก์ถามว่า สภาพแวดล้อมบริเวณฟาร์มเป็นรั้วเตี้ยๆ ถ้าจะหนีไปก็สามารถทำได้ใช่หรือไม่ นัม ตูบอกว่า ไม่ได้ เพราะไม่มีหนังสือเดินทางติดตัว ทนายโจทก์ถามต่อว่า ในครั้งแรกที่ทำงานกับธรรมเกษตรและเดินทางกลับพม่า ทำไมถึงไม่มีการร้องเรียน นัม ตูตอบว่า ที่ไม่ได้มีการร้องเรียนเพราะไม่ทราบสิทธิตามกฎหมาย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต่อมาทราบแล้วจึงมีการร้องเรียนหน่วยงานราชการและเหตุที่หลังจากกลับมาจากพม่าและกลับมาทำงานที่ฟาร์มไก่ของโจทก์อีกครั้ง เนื่องจากว่า ค่าแรงที่บ้านเกิดน้อย ประกอบกับไม่ทราบว่า จะไปทำงานที่ไหน จึงกลับมาทำงานกับโจทก์อีกครั้ง
 
ทนายโจทก์ถามถึงช่วงที่จัดงานปีใหม่ว่า ต้องทำงานหรือไม่ นัม ตูตอบว่า ช่วงที่จัดงานเป็นช่วงที่มีไก่ ผู้ชายเล่นกีฬา ผู้หญิงจะเป็นคนวิ่งไปให้อาหารสลับกันไปมา พอกิจกรรมปีใหม่เสร็จก็จะกลับไปนอนที่เล้าไก่เหมือนเดิม เคยร่วมงานปีใหม่สองครั้ง ครั้งหนึ่งจัดที่ฟาร์มที่ทำงาน และอีกครั้งหนึ่งไปร่วมงานของอีกฟาร์ม ปีที่เหลือโจทก์ไม่ได้จัดให้ ทนายโจทก์ถามต่อว่า แต่ในบัตรบันทึกเวลาวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ไม่ได้ตอกบัตรและช่วงดังกล่าวไม่มีไก่ นัม ตู ตอบว่า ตอนนั้นไปแข่งขันที่ฟาร์มอื่น
 
 
5 เมษายน 2561
 
นัดสืบพยานจำเลย
 
นัดสืบพยานจำเลยต่อในวันนี้ โดยจำเลยทั้ง 14 คนมาศาลพร้อมกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และทนายจำเลย 3 คน โดยฝ่ายโจทก์มีทนายความ 2 คนมาศาล พร้อมกับชาญชัย เพิ่มผล ตัวแทนของบริษัทและมีล่ามของศาลมาเป็นผู้แปลคำเบิกความของพยาน เวลา 9.30 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์และให้ทนายจำเลยถามติงทันที
 
สืบพยานจำเลยปากที่สาม: นัม ตู จำเลยที่สอง แรงงานพม่าที่ทำงานในฟาร์มธรรมเกษตร (ต่อ)
 
ทนายจำเลยถามติง
 
นัม ตู เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ยืนยันว่า ในช่วงเวลา 22.00-03.00 น. ต้องทำงานและไม่ได้นอนหลับเพราะต้องดูระบบน้ำไฟไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยไม่ได้กลับนอนที่ห้อง มีผู้จัดการมาดูการทำงานของตนและแรงงานคนอื่นๆ ในช่วง 03.00 น. และอีกคนหนึ่งในช่วง 00.00 น. เหตุที่ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเงินล่วงเวลาในช่วงดังกล่าว เพราะไม่ได้ตกลงหรือเจรจากับพนักงานตรวจแรงงาน 
 
สืบพยานจำเลยปากที่สี่ : เม ลิน จำเลยที่สาม แรงงานพม่าที่ทำงานในฟาร์มธรรมเกษตร
 
ศาลเรียกทนายโจทก์และจำเลยมาบอกว่า เนื่องด้วยข้อเท็จจริงมีความคล้ายคลึงกับจำเลยที่สองที่เบิกความไปแล้ว ทนายจำเลยจึงทำคำเบิกความมาล่วงหน้าและให้ถามตามนั้น ถ้าจำเลยเบิกความไม่ตรงกับคำเบิกความล่วงหน้า ศาลจะแก้ไข
 
ทนายโจทก์ถามค้าน
 
ทนายโจทก์ถามว่า จำเลยมีบัตรสีชมพูใช่หรือไม่ เม ลินตอบว่า มี ทนายโจทก์ขอให้หยิบออกมาให้ดู เม ลิน ตอบว่าอยู่ในกระเป๋าด้านนอก เม ลินเบิกความตอบทนายโจทก์ว่า มาทำงานที่ฟาร์มไก่ด้วยการชักชวนของสามี ซึ่งคือจำเลยที่แปด ในการทำงานต้องเปลี่ยนยูนิฟอร์มถึงเข้าไปในเล้าไก่ได้ ทนายโจทก์ถามว่า ช่วงเวลา 05.00-07.00 น. จำเลยทำอะไร เม ลินตอบว่า จะใช้เวลาทำกับข้าวในห้องพักของตนเอง ทนายโจทก์ถามว่า ช่วงเวลา 17.00-19.00 น. จำเลยทำอะไร เม ลินตอบว่า จะใช้เวลาทำกับข้าวในห้องพักของตนเอง ทนายโจทก์ถามว่า ดังนั้นในการทำงาน เบ็ดเสร็จ 24 ชั่วโมงได้นอนกี่ชั่วโมง เม ลินระบุเพียงว่า ในช่วงวันทำงานต้องตื่นนอนเป็นระยะเพื่อทำงานที่เล้าไก่
 
ทนายโจทก์ถามว่า เคยนอนกับสามีหรือไม่ จำเลยตอบว่า สามีเคยมาหา เตียงจะอยู่ในเล้าที่ตนทำงานอยู่ ก็จะไปๆมาๆ เนื่องจากเล้าของสามีไม่มีเตียง ทนายโจทก์ถามว่า ช่วงเวลา 22.00-03.00 น. ได้นอนหรือไม่ จำเลยตอบว่า ไม่ได้นอน ทนายโจทก์ถามถึงเรื่องการไปให้การกับคณะกรรมการตรวจแรงงาน จำเลยตอบว่า ในการให้การกับคณะกรรมการตรวจแรงงานมี อา มา โช ล่ามของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติเป็นผู้แปล แต่จำไม่ได้ว่าให้การว่าอย่างไร ทนายโจทก์ให้จำเลยดูเอกสารคำให้การ จำเลยยืนยันตามเอกสาร โดยมีระบุด้วยว่า ถ้อยคำที่ให้การไปสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้
 
เม ลิน เบิกความว่า คำให้การในส่วนที่ระบุว่า เวลา 22.00-03.00 น. ได้นอนพักโดยไม่ได้ทำงาน น่าจะเป็นความเห็นของสหวิชาชีพ แต่ตนยืนยันว่า ได้ทำงานในเวลาดังกล่าว ทนายโจทก์ถามว่า ช่วงที่ไก่อายุประมาณ 10-20 วันได้นอนหรือไม่ จำเลยตอบว่า ไม่ได้นอน ช่วงปิดไฟถือเป็นช่วงสำคัญ ต้องดูขโมย ดูแลเรื่องน้ำไฟ ทนายโจทก์ถามต่อว่า ช่วงไก่อายุ 20 วัน เวลา 22.00-03.00 น. จำเลยได้นอนพักหรือไม่ จำเลยตอบว่า ไมได้นอนเหมือนกัน เพราะมีเสียงพัดลม น้ำ ถ้านอนลงที่พื้นจะมีหนอนหรือแมลง ต้องลุกขึ้นมานั่งที่เตียง แต่จำเลยยอมรับว่า ก่อนจับไก่ห้าวันได้พักช่วง 12.00 – 14.00 น. และไม่ได้มีการตกลงกับโจทก์ในเรื่องการทำงานล่วงเวลา
 
ทนายโจทก์ให้จำเลยดูภาพสถานที่และถามว่า เคยไปหรือไม่ เม ลินเบิกความว่า เคยไปตลาดโคกตูม แต่ที่อื่นตามภาพที่ทนายโจทก์ให้ดูนั้น ไม่เคยไป และเบิกความตอบทนายโจทก์ว่า ในงานเลี้ยงปีใหม่เป็นช่วงมีไก่ ตนอยู่ในงานเลี้ยงสลับกับไปดูไก่ด้วย
 
ทนายจำเลยถามติง
 
เม ลินเบิกความตอบทนายจำเลยว่า การชำระล้างร่างกายจะต้องทำก่อนเข้าฟาร์ม มีที่ชำระล้างอยู่บริเวณหน้าฟาร์ม ตอนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบถามข้อเท็จจริงไม่ได้มีการนำบัตรตอกมาดู เรื่องเงินค่าล่วงเวลาไม่ได้มีการตกลงกัน เหตุที่เข้าไปทำงานตอนกลางคืนเพราะถ้าไม่ทำจะถูกหักค่าจ้าง 500 บาท และถ้าหากไม่มีคนไปเฝ้าฟาร์มไก่ และเกิดพัดลมเสีย ไก่จะตาย 200-300 ตัว อย่างไรก็ดีตอนที่ไม่มีไก่ตนสามารถกลับไปนอนได้
 
เม ลิน ตอบคำถามทนายความด้วยว่า ตอนแรกในบัตรตอกเข้าเวลาจะมีระบุค่าแรง 244 บาทอยู่ ไม่มีรายละเอียดการหัก พอไปคำนวณจะระบุการหักค่าใช้จ่ายอีก ส่วนเรื่องเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายไก่ ไม่เคยมีการตกลงกัน แต่ทำงานมาสามปี เคยได้รับเงิน 14 บาทครั้งเดียว
 
 
26 เมษายน 2561
 
นัดสืบพยานจำเลยต่อในวันนี้ โดยจำเลยทั้ง 14 คนมาศาลพร้อมกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และทนายจำเลย 4 คน โดยฝ่ายโจทก์มีทนายความมาศาล พร้อมกับชาญชัย เพิ่มผล ตัวแทนของบริษัท และมีล่ามของศาลมาเป็นผู้แปลคำเบิกความของพยาน โดยฝ่ายจำเลยทำคำเบิกความพยานเป็นเอกสารมายื่นต่อศาลก่อน และทนายจำเลยจะถามจำเลยประกอบตามเอกสารที่ทำมาด้วย
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 14: นานวิน จำเลยที่ 13
 
พยานเบิกความว่า อายุ 29 ปี พักอาศัยอยู่ในโรงงานที่ทำงานปัจจุบัน เริ่มทำงานในฟาร์มไก่ของโจทก์ตั้งแต่ 11 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ทำหน้าที่ให้อาหารไก่ ทำความสะอาด นำยาให้ไก่ ได้ค่าแรงวันละ 230 บาท ก่อนเข้าทำงานไม่ได้ตกลงกันเรื่องการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยนายจ้างทำบัตรการทำงานสีชมพูให้ เมื่อทำเสร็จแล้วเก็บไว้กับนายจ้าง ในวันที่ฟาร์มมีไก่ ต้องตอกบัตรเข้างานตอนเจ็ดโมงเช้า และออกตอนห้าโมงเย็น และเข้างานอีกรอบตอนหนึ่งทุ่ม จนถึงตีห้า
 
นานวิน เล่าว่า ระหว่างทำงานก็พักผ่อนในเล้าไก่ ไม่มีที่พักต่างหาก เมื่อจับไก่ขายแล้วได้พักสามวันโดยยังไม่รับค่าจ้างอยู่ ระหว่างทำงานไม่มีวันหยุด การทำงานตอนกลางคืนไม่ได้ค่าล่วงเวลา โดยนายจ้างบอกว่า จะได้ค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งทำงานประมาณสามปีได้มาหมื่นกว่าบาท ระหว่างทำงานไม่ได้ออกไปข้างนอกถ้านายจ้างไม่ได้ไปด้วย เคยออกไปตลาดวันเสาร์อาทิตย์ โดยมีคนไทยที่โรงงานตามไปด้วย ไม่เกินหนึ่งทุ่มต้องกลับมาถึงฟาร์ม
 
นานวิน เล่าด้วยว่า เคยไปตลาดแล้วเจอตำรวจเข้ามาสอบถาม แต่ฟังภาษาไทยไม่เข้าใจ เมื่อคนขับรถคนไทย ชื่อ พิเชษฐ์มาคุยกับตำรวจ ก็ได้กลับ ระหว่างวันหยุดสามวันคนงานเคยรวมเงินกันซื้อหมูกะทะมากินกันตามที่ปรากฏในภาพถ่าย พยานเคยไปเที่ยวงานวัดใกล้ๆ ฟาร์มตามที่ปรากฏในภาพถ่าย โดยมีผู้จัดการฟาร์มพาไป ซึ่งไปเองไม่ได้เพราะไม่มีบัตรติดตัว กลัวจะถูกตำรวจจับ
 
ตอบคำถามทนายโจทก์ถามค้าน
 
นานวิน ตอบคำถามว่า พี่ชายเคยทำงานที่ฟาร์มไก่นี้มาก่อนแล้วชวนมาทำงานด้วย การเข้าทำงานต้องใส่ชุดเครื่องแบบ ถ้าไม่ใส่เข้าเล้าไก่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนวันละสามชุด เปลี่ยนหลังจากที่เอาไก่ที่ตายไปทิ้ง
 
ทนายโจทก์ถามว่า ระหว่างช่วงพักเวลาตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า ได้นอนหรือไม่ พยานตอบว่า เป็นช่วงพักผ่อนที่จะทำอาหารและกินข้าว จึงไม่ได้นอน ทนายโจทก์ถามต่อว่า เวลาพักระหว่างห้าโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่มได้นอนหรือไม่ นานวินตอบว่า บางครั้งก็หลับ บางครั้งก็ทำกับข้าว ทนายโจทก์ถามว่า ระหว่างทำงานเคยล้มป่วยหรือไม่ นานวินตอบว่า ไม่เคย ซึ่งแรงงานที่เป็นผู้หญิงก็ต้องทำงานลักษณะเดียวกัน แต่ช่วงที่ฟาร์มไม่มีไก่ไม่ต้องทำงานตอนกลางคืน ตอนกลางวันต้องทำความสะอาด ล้างพัดลม ตัดหญ้า
 
นานวิน เบิกความว่า ในฟาร์มมีคนไทยอีกห้าคน คือ พิเชษฐ์ ซึ่งเป็นช่าง มีเสมียน สัตวแพทย์และภรรยา โดยทุกคนผลัดกันควบคุมคนงานพม่า ตอนที่พยานให้การต่อเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้การผ่าน อา มา โช ล่ามของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ แต่ไม่รู้ว่า ใครให้การว่าทำงานในช่วงเวลาสี่ทุ่มถึงตีสาม
 
นานวิน รับว่า เคยขับมอเตอร์ไซค์ออกไปซื้อเหล้าเบียร์นอกฟาร์มไก่ แต่ไม่ได้ไปคนเดียว ต้องไปกับคนไทย ที่ไม่หลบหนีเพราะไม่มีบัตรและไม่มีหนังสือเดินทางติดตัว ถ้าหนีอาจถูกจับ ที่ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากตำรวจเพราะพูดภาษาไทยไม่เก่ง นานวินรับว่า มีโทรศัพท์มือถือที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ และมีเฟซบุ๊ก ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตร้องเรียนกับหน่วยงานในพม่า ร้องเรียนแต่กับเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนในไทย โดยร้องเรียนผ่านทางเฟซบุ๊ก เคยไปร้านขายของชำ โดยมีพิเชษฐ์ไปส่ง
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
ทนายความถามว่า ทำไมไม่เคยร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานไปยังหน่วยงานของพม่า นานวิน ตอบว่า เพราะไม่รู้ว่า มีหน่วยงานอะไรอยู่บ้าง
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 15: กา ทะ วา โซ จำเลยที่ 14
 
กา ทะ วา โซ เบิกความว่า อายุ 25 ปี ทำงานที่ฟาร์มไก่ของโจทก์ตั้งแต่ 31 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 24 ปี 2559 จำเดือนไม่ได้ มีหน้าที่นำอาหารให้ไก่กิน ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท นายจ้างพาไปทำหนังสือเดินทาง เสร็จแล้วนายจ้างเก็บไว้ ได้รับคืนมาแล้วแต่จำไม่ได้ว่า ได้คืนเมื่อไร โดยในวันที่รับคืนได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย
 
ก่อนเริ่มทำงานตกลงกันว่า จะหักค่าน้ำ 80 บาท ไม่มีการหักค่าไฟฟ้า และค่าห้องพัก การบันทึกเวลาทำงานบันทึกวันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน บ่าย เย็น ช่วงที่มีไก่ในฟาร์มต้องทำงานตั้งแต่ เจ็ดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น และหนึ่งทุ่มถึงตีห้า เวลาที่มีไก่ต้องทำงานตอนกลางคืน ต้องให้อาหารไก่ ให้ยาไก่ และดูแลสุนัขและแมวไม่ให้เข้ามากินไก่ และนอนที่เล้าไก่ ไม่ได้รับค่าทำงานล่วงเวลา หลังจากขายไก่ จะพักเล้าไก่และได้พักสามวัน หลังจากสามวันแล้วต้องทำความสะอาดอ่างอาหารไก่ ทำความสะอาดฟาร์มไก่ เมื่อเสร็จแล้วก็ไปตัดหญ้า แต่ไม่ต้องทำงานตอนกลางคืน
 
กา ทะ วา โซ เล่าว่า เคยออกไปนอกฟาร์มช่วงวันอาทิตย์ เวลาห้าโมงเย็น โดยมีคนไทยพาไปส่ง ไม่มีเอกสารติดตัวไป ไม่เคยไปที่อื่นนอกจากตลาด หลังจากร้องเรียนแล้วได้รับหนังสือเดินทางคืน จึงออกไปทำงานที่อื่น การทำงานที่ใหม่ตอนทำงานใหม่ๆได้ค่าแรง 300 บาท หลังจากนั้นได้ 325 บาท มีหนังสือเดินทางและมีวันหยุดประจำสัปดาห์
 
ตอบคำถามทนายโจทก์ถามค้าน
 
กา ทะ วา โซ เบิกความว่า เป็นภรรยาของจำเลยที่สองในคดีนี้ เข้ามาทำงานที่ฟาร์มเพราะพี่ชายชวนมาทำงาน เมื่อเข้าไปในเล้าไก่ต้องใส่ชุดเครื่องแบบตลอด เมื่อทนายถามว่า ตอนพักเที่ยงต้องถอดเครื่องแบบเพื่อมากินข้าวใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้เปลี่ยน เพราะจะทานข้าวอยู่บริเวณเล้าไก่เลย จะเปลี่ยนชุดก็ตอนที่เก็บไก่ตายออกไปข้างนอก ช่วงที่ทำงานตอนกลางคืนไม่มีช่วงได้พักผ่อน แต่อาจได้งีบหลับ 10-15 นาที
 
กา ทะ วา โซ เบิกความว่า เคยไปร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ไม่ทราบว่าในหนังสือร้องเรียนเขียนว่าอะไร เพราะไม่เข้าใจภาษาไทย ไม่เคยบอกว่า ต้องทำงานตอนสี่ทุ่มถึงตีสาม
 
กา ทะ วา โซ เล่าด้วยว่า ระหว่างทำงานกับโจทก์เคยกลับไปบ้านที่พม่าเพื่อแต่งงาน และกลับมาทำงานต่อ เมื่อกลับบ้านก็ไม่ได้ไปร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานเพราะไม่รู้ว่าต้องไปหาหน่วยงานใด ทนายโจทก์พยายามถามให้เห็นว่า พยานมีแฟนอยู่ในที่ทำงานและไปนอนด้วยกันที่ไหน อย่างไร แต่พยานตอบว่า ไม่ได้ไปหากันเลย เพราะต่างคนต่างทำงานและพักผ่อนของตัวเอง
 
ตอบทนายจำเลยถามติง
 
ทนายความถามว่า ช่วงที่ฟาร์มมีไก่ จะไม่ทำงานตอนกลางคืนได้หรือไม่  กา ทะ วา โซ ตอบว่า จะถูกหัก 500 บาท จากเงินเดือน
 
ทนายความถามว่า เมื่อจะกลับบ้านที่พม่าต้องทำอย่างไร  กา ทะ วา โซ ตอบว่า ต้องขออนุญาตนายจ้างล่วงหน้าหนึ่งเดือน และเมื่อกลับมาถึงที่ฟาร์มแล้ววันรุ่งขึ้นเสมียนก็จะมาเก็บเอกสารทันที
 
 
สืบพยานจำเลยปากที่ 16: สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ
 
สุธาสินี เบิกความว่า ปัจจุบันอายุ 49 ปี ทำงานที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ผู้ประสานงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยปกติแรงงานอาจมาร้องเรียนการละเมิดสิทธิที่สำนักงาน โทรศัพท์มา หรือติดต่อทางเฟซบุ๊กก็ได้ ในคดีนี้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 มีคนโทรศัพท์มาขอให้ช่วยเหลือเนื่องจากต้องทำงานเยอะ ถูกยึดหนังสือเดินทาง ได้ค่าจ้าง 230 บาท ไม่ครบตามที่กฎหมายไทยกำหนด โดยรู้จักเครือข่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก จากการพูดคุยรู้ว่า คนงานอยู่ที่ฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี แต่คนงานไม่สามารถบอกตำแหน่งได้
 
หลังได้รับแจ้ง เครือข่ายฯไม่มีทรัพยากรจะเดินทางไปจังหวัดลพบุรี จึงติดต่อไปยังกระทรวงแรงงานให้เข้าไปแก้ปัญหา และโทรศัพท์ไปหาหัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดลพบุรี และทราบว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปที่ฟาร์มไก่ของโจทก์ในวันเดียวกันนั้น หลังจากนั้นได้รับการประสานงานว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปแล้วคุยไม่รู้เรื่องเพราะไม่มีล่าม จึงประสานให้หาล่ามไปเจรจากันใหม่วันที่ 13 มิถุนายน ก่อนถึงวันนัดหมาย จำเลยที่หนึ่งได้ติดต่อทางเฟซบุ๊กและส่งสลิปเงินเดือนให้ดู
 
ในวันที่ 13 มิถุนายน 2559 สุธาสินีก็พาล่ามและเจ้าหน้าที่เครือข่ายรวมสี่คนเดินทางไปที่ฟาร์มไก่ของโจทก์ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้พบชาญชัย และทีมงานอีกสองสามคน ได้คุยกันเรื่องเวลาทำงาน เรื่องค่าจ้าง และวันหยุด ระหว่างพูดคุยก็มีแรงงานอยู่ด้วย และเอาบัตรตอกเข้างานมาให้ดู เท่าที่ดูในบันทึกเห็นว่า ต้องเข้างานทุกวันไม่มีวันหยุด เจ้าหน้าที่ก็อธิบายข้อกฎหมายว่า ทางนายจ้างทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
สุธาสินี เล่าว่า วันดังกล่าวคนงานขอให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยคนละ 30,000 บาท และจะขอออกจากฟาร์ม แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงนัดเจรจาใหม่วันที่ 15 มิถุนายน 2559 ซึ่งก็ยังตกลงกันไม่ได้อีก แต่ได้ทราบว่า นายจ้างคืนหนังสือเดินทางให้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2559 และต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2559 คนงานก็แจ้งว่า ถูกตำรวจจับไปที่ สภ.โคกตูม จึงติดต่อให้ล่ามและทนายความเข้าไปช่วยเหลือ เมื่อไปถึงสภ.โคกตูม คนงานก็ถูกปล่อยแล้วและถูกส่งกลับไปทำงานต่อที่ฟาร์มเหมือนเดิม แต่คนงานไม่อยากอยู่แล้วเพราะกลัว จึงโทรศัพท์หาอธิบดีกรมแรงงาน ให้จัดรถไปรับแรงงานทั้ง 14 คน มาอยู่ด้วยที่จังหวัดสมุทรสาครในคืนนั้น
 
สุธาสินี เล่าต่อว่า หลังสอบข้อเท็จจริงแรงงานทั้ง 14 คน และอธิบายข้อกฎหมายให้ฟังแล้ว แรงงานก็ตัดสินใจไปเขียนคำร้องยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งต่อมาสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้คนงาน 1,700,000 บาท และได้แนะนำให้แรงงานส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของเครือข่ายเป็นคนร่างหนังสือ และได้แปลให้จำเลยทุกคนฟังก่อนแล้ว ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2559 คณะอนุกรรมการ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรียกให้เข้าไปชี้แจง โดยเมื่อไปถึงให้แรงงานส่งตัวแทน 3-4 คนเข้าไปชี้แจงพร้อมล่าม สุธาสีนี ไม่ได้เข้าไปประชุมด้วย
 
ตอบคำถามทนายโจทก์ถามค้าน
 
สุธาสินี เบิกความว่า เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ไม่ได้จดทะเบียน แต่เป็นสาขาของมูลนิธิสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หลังจากติดต่อกับจำเลยทางเฟซบุ๊กก็ยังไม่ได้เชื่อทั้งหมด ก็อยากได้ข้อมูลจากทางบริษัทด้วย ทนายถามว่า เนื่องจากแรงงานระบุสถานที่ตั้งของฟาร์มไม่ได้แล้วเจ้าหน้าที่ไปหาที่ฟาร์มได้อย่างไร สุธาสินีตอบว่า ไม่ทราบ และไม่ทราบว่า โจทก์มีฟาร์มไก่กี่แห่ง
 
สุธาสินี รับว่า ไม่เคยเข้าไปตรวจฟาร์มไก่ของโจทก์ด้วยตัวเอง ไม่เคยเข้าไปที่เล้าไก่ ทราบข้อเท็จจริงจากจำเลยเท่านั้น และเชื่อจำเลยทั้ง 14 คน สุธาสินี บอกว่า ตนพาจำเลยทั้ง 14 คนไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเท่านั้น ส่วนทีมสหวิชาชีพที่เข้ามาสอบสวนเรื่องค้ามนุษย์ ตำรวจเป็นคนพาไป
 
ทนายโจทก์เอารายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ดู แล้วถามว่า เหตุใดมีความเห็นของพยานอยู่ในบันทึกด้วย สุธาสินี ยืนยันว่า วันที่ไปไม่ได้เข้าประชุม และไม่ทราบว่ามีชื่ออยู่ในรายงานการประชุมได้อย่างไร แต่ได้ลงชื่อในใบลงทะเบียนเพราะเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องใช้เบิกค่าใช้จ่าย
 
สุธาสินี ทราบว่า จำเลยเคยฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงาน ซึ่งศาลพิพากษาแล้ว ส่วนในคำพิพากษาศาลจะระบุเรื่องการนอนพักอย่างไรไม่ทราบ สุธาสินี จำไม่ได้ด้วยว่า วันที่ไปที่ฟาร์มของโจทก์แล้วจำเลยเอาบัตรตอกเข้างานมาให้ดู เป็นจำเลยคนใด
 
ตอบคำถามทนายจำเลยถามติง
 
สุธาสินี อธิบายว่า สาเหตุที่เชื่อจำเลยเพราะนอกจากฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยแล้ว ยังดูจากบัตรตอกเข้างานและสลิปเงินเดือนด้วย
 
การสืบพยานปากนี้เสร็จในเวลาประมาณ 15.30 น. โดยทนายความทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยแถลงว่า จะขอยื่นคำแถลงปิดคดี ศาลสั่งให้ส่งภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 กรกฎาคม 2561
 
11 กรกฎาคม 2561
 
ศาลแขวงดอนเมือง นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีที่ฟาร์มไก่ธรรมเกษตร ฟ้องลูกจ้างชาวพม่า 14 คนฐานหมิ่นประมาท และแจ้งความเท็จจากการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า มีการละเมิดสิทธิแรงงานระหว่างการทำงาน ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า จำเลยร้องเรียนด้วยเจตนาสุจริต รับฟังไม่ได้ว่า ใช้ข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพส่วนได้เสียของตน จึงไม่เป็นความผิด 
 
ในวันฟังคำพิพากษ ฝ่ายโจทก์มีชาญชัย เพิ่มผล ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และผู้รับมอบอำนาจจากทนายโจทก์เดินทางมาฟังคำพิพากษา ขณะที่ฝ่ายจำเลยมาศาลพร้อมกับเจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) โดยมีตัวแทนจากสถานทูตฟินแลนด์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม สวีเดน และเจ้าหน้าที่องค์กรสหประชาชาติเดินทางมาสังเกตการณ์ด้วย ด้านศาลมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ภาษาอังกฤษมาต้อนรับ และมีกลุ่มนักศึกษาที่มาดูงานเข้าสังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาประมาณ 15 คน โดยศาลจัดเจ้าหน้าที่ล่ามมาแปลคำพิพากษาให้จำเลยฟัง
 
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.35 เพราะรอล่ามเดินทางมาถึง โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 4 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน เข้ามารอให้ห้องในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำเลย ศาลเริ่มจากขานชื่อจำเลยทั้ง 14 ทีละคน แล้วเริ่มอ่านคำพิพากษาทันที โดยอ่านอย่างละเอียดใช้เวลาประมาณ 45 นาที หลังอ่านคำพิพากษาจบ เจ้าหน้าที่ MWRN และล่ามต้องพาจำเลยทั้ง 14 คนออกไปนอกห้องพิจารณาและนั่งคุยเพื่อแปลคำพิพากษาให้ฟังกันต่อ ส่วนโจทก์เดินทางกลับทันที
 
 
30 พฤษภาคม 2562

เฟซบุ๊กของสำนักงานกฎหมายเอ็นเอสพี รายงานว่า ศาลแขวงดอนเมือง นัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ กรณี บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ 
 
หลังศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดี โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา
 
โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามที่จำเลยทั้งสิบสี่ได้ร้องเรียนต่อ กสม. จากคำเบิกความของโจทก์และจำเลยทั้งสิบสี่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสิบสี่รู้อยู่แล้วว่า โจทก์ไม่ได้กระทำตามที่กล่าวอ้างในหนังสือร้องเรียน แต่กลับแจ้งความอันเป็นเท็จ ต่อ กสม. เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังมีผลกระทบต่อธุรกิจของโจทก์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้ออ้างของฝ่ายโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง มีผลให้คดีถึงที่สุดแล้ว
 
ในวันนี้จำเลยมาฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ 10 คน เนื่องจากจำเลยอีก 4 คนได้เดินทางกลับประเทศไปแล้ว

 

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทประกอบธุรกิจฟาร์มไก่ จำเลยทั้ง 14 คนเคยเป็นลูกจ้างทำงานกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 7 ทำหน้าที่แม่บ้านส่วนจำเลยคนอื่นทำหน้าที่ดูแลไก่ จำเลยได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวหาว่าถูกละเมิดสิทธิในสามประเด็น คือ 

1) จำเลยต้องทำงานตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. และทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. โดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ และวันหยุดประจำปี 
 
2) จำเลยได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน 
 
3) จำเลยถูกจำเลยเสรีภาพในการเดินทาง หากจะออกไปนอกฟาร์มต้องมีคนของโจทก์ไปด้วย จำเลยถูกยึดหนังสือเดินทางและเอกสารประจำตัวในระหว่างทำงานให้โจทก์
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัย คือ จำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานหรือไม่ ซึ่งต้องวินิจฉัยทีละประเด็น
 
ประเด็นแรก เรื่องเวลาการทำงาน โจทก์อ้างถึงข้อบังคับการทำงานของโจทก์ที่กำหนดเวลาทำงานแต่ช่วงกลางวัน และมีชาญชัย ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์มาเบิกความลอยๆ ไม่ได้นำข้อบังคับมานำสืบสนับสนุน โจทก์ยอมรับว่า การทำงานต้องลงเวลาเข้างานตามบัตรตอกและจะคำนวนค่าจ้างตามบัตรตอก เจือสมกับที่จำเลยทั้ง 14 เบิกความถึงการตอกบัตร 
 
ชาญชัย เคยให้การต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า จะให้คนงานเข้าฟาร์มในเวลาประมาณ 7.30-7.45 และเป็นการให้การก่อนที่จำเลยจะไปร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิฯ จึงเชื่อว่า ให้การตามความจริง และก่อนเข้าเล้าไก่คนงานต้องอาบน้ำ และเปลี่ยนชุดเครื่องแบบ จำเลยจึงต้องเข้างานตั้งแต่เวลา 7.00 การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยตอกบัตรและเข้างานก่อนเวลาเอง ไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้ 
 
การที่โจทก์อ้างว่า ตามระเบียบวิธีการเลี้ยงไก่คนงานไม่ต้องทำงานช่วงกลางคืน แต่ระเบียบดังกล่าวบอกว่า การเปิดปิดไฟในเล้าไก่จะแตกต่างกันตามช่วงอายุของไก่ บางช่วงอายุต้องเปิดไฟ 16 ชั่วโมง และช่วงสามวันก่อนจับไก่ต้องเปิดไฟ 23 ชั่วโมง ไม่ตรงกับที่โจทก์กล่าวอ้าง และโจทก์ได้บอกว่า หากจำเลยเข้าไปทำงานช่วงกลางคืนเองก็ไม่ขัดข้อง แสดงว่า โจทก์ยอมรับว่า จำเลยทำงานช่วงกลางคืนจริง สอดคล้องกับสำเนาบัตรบันทึกเวลาทำงานที่ระบุเวลาการทำงานช่วงกลางคืน หากจำเลยเข้าไปทำงานเพียงเพื่อหวังให้ไก่มีน้ำหนักเยอะและจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ก็ไม่มีเหตุที่พนักงานของโจทก์ต้องให้ตอกบัตรและเขียนว่า "เวลาทำงาน" 
 
ลูกจ้างของบริษัทโจทก์ เคยให้การต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า การลงไก่ทุกรุ่นจะลงหลังเวลา 18.00 น. หลังลงไก่ก็ต้องอนุบาลไก่ต่อ ทำให้ต้องทำงานในเวลากลางคืน แม้คำให้การต่อพนักงานตรวจแรงงานจะเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ไม่ได้นำพยานปากนี้มาสืบในชั้นศาล แต่ลูกจ้างคนนี้ก็ทำงานกับโจทก์จริง มีหน้าที่ดูแลไก่ มีความรู้ความชำนาญ ไม่มีส่วนได้เสีย เชื่อว่าให้การตามความจริง น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/3
 
ชาญชัยเบิกความต่อศาลว่า โจทก์ไม่ได้กำหนดเวลาเข้าออกตอนกลางคืน โจทก์จัดห้องพักไว้ในเล้าไก่ให้ แสดงว่า จำเลยต้องเข้าทำงานเวลากลางคืนเพื่อดูแลน้ำ อาหาร โดยเฉพาะช่วงไก่อายุ 1-7 วันจริง ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยเข้าไปเองเพื่อต้องการค่าตอบแทนพิเศษ ไม่สามารถรับฟังได้ จึงเชื่อว่า จำเลยทำงานล่วงเวลาจริง โดยไม่มีวันหยุด ส่วนช่วงที่พักเล้าไม่มีไก่ จำเลยทำงานแค่ช่วงเวลากลางวัน
 
การที่จำเลยให้ข้อมูลกับกรรมการสิทธิฯ เพิ่มเติมว่า ได้นอนช่วงเวลา 22.00-03.00 น. แม้จะเป็นสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเวลานอนพัก ไม่ได้ทำงานตลอดทั้งคืน แต่การร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิฯ เป็นการแจ้งให้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนรายละเอียดที่ไม่ได้ระบุไว้ กรรมการสิทธิฯ ก็สามารถหาข้อเท็จจริงได้เอง เมื่อพิจารณาจากเอกสารหลักฐานแล้วไม่เห็นว่า จำเลยจงใจปกปิดข้อเท็จจริงส่วนนี้ จึงไม่เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
 
ประเด็นที่สอง เรื่องการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ชาญชัยเบิกความถึงข้อตกลงการจ้างงานว่าให้หักค่าที่พักเดือนละ 1,600 บาท ค่าไฟฟ้า 1,400 บาท ค่าน้ำประปา 1,200 บาท และค่าน้ำดื่ม 80 บาท โจทก์เพิ่งทำใบรับการจ่ายค่าจ้างขึ้นเมื่อพนักงานตรวจแรงงานเข้าไปตรวจ ส่วนใบรับก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้นำมาแสดงต่อศาล จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอรับฟังได้ว่า มีการตกลงกันให้หักค่าใช้จ่ายดังกล่าว และจำเลยทั้ง 14 ต่อสู้ว่า มีเพียงการตกลงให้หักค่าน้ำดื่ม 80 บาท พนักงานตรวจแรงงานก็มีคำสั่งว่า เมื่อตรวจจากสลิปการจ่ายเงินแล้วพบว่า มีการหักค่าจ้างเพียงค่าน้ำดื่ม ไม่ได้หักอย่างอื่น และจ่ายค่าจ้าง 230 บาทต่อวัน เมื่อคำนวนค่าแรงและหักค่าใช้จ่ายตามที่โจทก์ให้การไว้แล้ว ไม่ตรงกับที่จำเลยได้รับ ยังขาดไป 200 บาท ประกอบกับศาลแรงงานเคยวินิจฉัยไว้ว่า โจทก์จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำจริง
 
ส่วนที่กรรมการสิทธิฯ เคยวินิจฉัยไว้ว่า โจทก์เอาค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายนั้น รายงานของกรรมการสิทธิฯ ไม่ปรากฏที่มาและเอกสารสนับสนุน ที่จำเลยบอกว่า ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย จึงไม่อาจฟังได้ว่า เป็นความเท็จ
 
ประเด็นที่สาม เรื่องการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง ชาญชัยเคยเบิกความว่า ฟาร์มอยู่ห่างจากตลาดหลายกิโลเมตร จึงจัดให้คนของโจทก์ขับรถพาคนงานไปส่งตลาด เจือสมกับที่จำเลยบอกว่า พนักงานของโจทก์ต้องพาไปทุกครั้ง 
 
ที่โจทก์กล่าวว่า ไม่มีการยึดหนังสือเดินทาง โจทก์มีเพียงชาญชัยที่เบิกความลอยๆ เจ้าหน้าที่คนอื่นของโจทก์ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้เอามาเบิกความต่อศาล ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยหลายคนสามารถเดินทางกลับบ้านได้ ความเป็นจริงก็ต้องขออนุญาตล่วงหน้าหนึ่งเดือน และจำเลยขอลาได้ในช่วงที่ฟาร์มไม่มีไก่เท่านั้น จึงไม่อาจฟังได้ว่า ไม่มีการยึดหนังสือเดินทางจริง 
 
ข้อเท็จจริงตามภาพถ่ายเห็นว่า โจทก์เรียกจำเลยไปรับหนังสือเดินทางคืนและลงชื่อไว้กับเสมียนของโจทก์ ด้านพนักงานตรวจแรงงานก็เบิกความว่า ได้ขอดูหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงาน ซึ่งทราบว่า อยู่ที่ผู้แทนของนายจ้าง แม้ชาญชัย จะเบิกความว่า ภาพดังกล่าวเป็นการคืนหนังสือเดินทางหลังจากเอาไปดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานให้ แต่ก็ไม่ได้แสดงเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน หรือนำคนของโจทก์ในภาพถ่ายมาเบิกความ
 
จึงฟังได้ว่า โจทก์เก็บหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานของจำเลยไว้ ทำให้จำเลยไม่มีเอกสารประจำตัวที่สามารถแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเดินทางออกไปนอกฟาร์มได้ จำเลยจึงรู้สึกถูกจำกัดเสรีภาพ ข้อเท็จจริงตรงกับที่ร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิฯ ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จ
 
ข้อเท็จจริงที่กรรมการสิทธิฯ พบว่า จำเลยสามารถออกไปซื้อของที่ร้านค้าได้ โดยมีสมุดเชื่อที่ร้านค้าเป็นหลักฐาน และรั้วของฟาร์มเป็นรั้วไม้เตี้ยๆ ที่จำเลยสามารถเดินออกไปได้ กรรมการสิทธิฯ ลงความเห็นว่า กรณีนี้ไม่ใช่การละเมิดสิทธิและไม่ใช่การค้ามนุษย์ ศาลเห็นว่า กรรมการสิทธิฯ เพียงวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้จำเลยต้องทำงานแต่กับโจทก์เท่านั้น แต่กรรมการสิทธิฯ ไม่ได้บอกว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียนเป็นเท็จ
 
จำเลยทั้ง 14 เป็นลูกจ้างชาวต่างชาติ มีสิทธิได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานเรื่องค่าจ้าง วันหยุด และเวลาการทำงาน มีสิทธิถือหนังสือเดินทางของตัวเองหากถูกตรวจสอบจะต้องสามารถแสดงเอกสารได้ จำเลยทำหนังสือร้องเรียนถึงกรรมการสิทธิฯ ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จ เพราะเห็นว่า มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยรองรับ จึงมีความชอบธรรมที่จะร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิฯ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมาย
 
ศาลแรงงานเคยมีคำพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าจ้างเพิ่มให้แก่จำเลยทั้ง 14 แล้ว จึงเห็นว่า จำเลยมีเจตนาสุจริต ไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย แม้กรรมการสิทธิฯ จะบอกว่า กรณีนี้ไม่ใช่การละเมิดสิทธิ ไม่ใช่การบังคับใช้แรงงาน แต่กรรมการสิทธิก็บอกว่า มีการละเมิดสิทธิแรงงานด้วย 
 
จึงเชื่อว่า จำเลยมีเจตนาสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329(1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษาให้ยกฟ้อง
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา