พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวสี่ปี คสช.

อัปเดตล่าสุด: 26/09/2562

ผู้ต้องหา

วัฒนา เมืองสุข

สถานะคดี

อัยการสั่งไม่ฟ้อง

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 17 พฤษภาคม 2561 พรรคเพื่อไทยเตรียมจัดแถลงข่าวเรื่อง "4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย" ที่ที่ทำการพรรค แต่ในวันดังกล่าวมีตำรวจเข้ามาที่ที่ทำการพัก ขอให้งดการแถลงข่าว ให้เหตุผลว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.

หลังพูดคุยกับตำรวจ กรรมการบริหารพรรคตกลงจะไม่แถลงข่าว แต่ให้สมาชิกพรรคสามคนแสดงความคิดเห็นส่วนตัวแทน ต่อมาผู้ร่วมการแถลงข่าวสามคนถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และมีแกนนำพรรคอีกเก้าคนถูกตั้งข้อหาชุมนุมตั้งแต่ห้าคนตามคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558
 
ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 อัยการมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีในส่วนของข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคนเพราะกฎหมายถูกยกเลิกไปแล้ว แต่จาตุรนต์ วัฒนาและชูศักดิ์ ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ให้คดีดำเนินต่อไป
 
ในวันที่ 24 กันยายน 2562 ทนายของผู้ต้องหาทั้งสามให้ข้อมูลว่าอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีและทางตำรวจก็มีความเห็นพ้อง คดีจึงเป็นอันยุติ
 
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

วัฒนา เมืองสุข เป็นอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบบบัญชีรายชื่อ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ในยุคคสช.วัฒนาเคยถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อยห้าคดี ได้แก่

คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร คดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจากกรณีโพสต์ข้อความวิจารณ์พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว คดีละเมิดอำนาจศาลจากการนัดผู้สื่อข่าวมาแถลงข่าวบริเวณบันใดทางขึ้นศาลอาญาโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีละเมิดอำนาจศาลด้วยการไลฟ์เฟซบุ๊กในบริเวณศาลอาญาและคดีฝ่าฝืนข้อตกลงกับคสช.เรื่องจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง


ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
 
จาตุรนต์ ฉายแสง เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทั้งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรก่อนการยึดอำนาจในปี 2549 และในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก่อนการยึดอำนาจในปี 2557 นอกจากนี้ก็เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและเคยดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หลังคสช.ยึดอำนาจจาตุรนต์ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารและจัดแถลงข่าวอธิบายเหตุผลที่เขาไม่ยอมรายงานตัวกับคสช.ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย  
 
พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เคยดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของชวน หลีกภัย และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอ่างทอง พรรคชาติไทย และเป็นอดีตสส.พรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ยังเคยรับราชการตำรวจเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางด้วย
 
ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และเป็นอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย
 
ชัยเกษม นิติศิริ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเคยเป็นที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดสมัยที่รับราชการด้วย
 
นพดล ปัทมะ เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รวมทั้งเคยเป็นทนายความและผู้แทนทางกฎหมายในประเทศไทยของทักษิณ ชินวัตร
 
กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
 
ศักดา นพสิทธิ์ เป็นอดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และอดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จ.ชลบุรี 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา
คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

พรรคเพื่อไทยกำหนดจัดแถลงข่าวเนื่องในโอกาสครบรอบสี่ปีการรัฐประหารและสี่ปีที่คสช.บริหารประเทศ "4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย" ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ที่ที่ทำการพรรค ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาที่ที่ทำการพรรคและแสดงความกังวลว่าการจัดแถลงข่าวอาจเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 

หลังหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางพรรคตัดสินใจงดการแถลงข่าวโดยกรรมการบริหารพรรค แต่ให้สมาชิกพรรคสามคนได้แก่จาตุรนต์ วัฒนา และชูศักดิ์แสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับการทำงานของคสช.แทน ในช่วงค่ำวันเดียวกันคสช.มอบหมายให้พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจาตุรนต์ วัฒนา และชูศักดิ์ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ส่วนแกนนำพรรคคนอื่นๆถูกตั้งข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 

พฤติการณ์การจับกุม

ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัด ในชั้นสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขและไม่ต้องวางเงินประกัน

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ภาพ Wall Paper จากพรรคเพื่อไทย

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
17 พฤษภาคม 2561 
 
แกนนำพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค, ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการ, ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย, จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ชัยเกษม นิติศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมตั้งโต๊ะแถลงข่าว เรื่อง 4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช. นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย ที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรี
 
แนวหหน้าออนไลน์รายงานว่า ก่อนการแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.มักกะสันจำนวนหนึ่งนำโดยรองผู้กำกับนครบาล 1 เข้ามาขอพูดคุยกับแกนนำพรรค พล.ต.ท.วิโรจน์ ภูมิธรรม และชูศักดิ์เป็นตัวแทนแกนนำพรรคไปพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ห้องสมุดชินวัตร 
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ทางพรรคดำเนินการใดๆด้วยความระมัดระวังอย่าให้ขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และการแถลงข่าวเกิน 5 คน สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งขอให้หลีกเลี่ยงประเด็นทางการเมือง และอย่าทำให้เกิดความวุ่นวาย
 
การพูดคุยดำเนินไปประมาณห้านาที แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ข้อสรุปว่า จะให้ตัวแทนขึ้นแถลงสามคนคือ ชูศักดิ์ จาตุรนต์ และวัฒนา ซึ่งทั้ง 3 คน ไม่ใช่คณะกรรมการบริหารพรรค ส่วนแกนนำพรรคคนอื่นๆ จะยืนรออยู่ข้างล่าง ทางพรรคยังเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย และมีรายงานว่าบริเวณนอกอาคารพรรคเพื่อไทยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 20 นาย กระจายกำลังอยู่โดยรอบ
 
ในการแถลงข่าว ชูศักดิ์ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ใช่การแถลงข่าว เป็นการแจกแถลงการณ์ให้กับผู้สื่อข่าวแล้วสมาชิกพรรคสามคนที่ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคจะแสดงความเห็นเป็นการส่วนตัว 
 
ชูศักดิ์ระบุว่า คสช. เคยประกาศจะสร้างความปรองดองแต่คสช. ก็กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง คสช. ประกาศว่า จะเลือกตั้งภายใน 15 เดือน แต่ผ่านมาสี่ปีก็เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วสี่ครั้ง คสช. ประกาศว่า จะปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง แต่สิ่งที่ได้คือรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองที่ถอยหลังประชาธิปไตยไปมากมาย ได้ประกาศและคำสั่งที่ทำลายพรรคการเมือง ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมมาตั้งแต่ตอนยึดอำนาจมาถึงตอนนี้ จึงเห็นว่า ความตั้งใจที่ประกาศไว้ตอนยึดอำนาจล้มเหลว รวมทั้งล้มเหลวด้านภาวะผู้นำในการบริหารประเทศ
 
"วันนี้เรามากันสามคน ไม่ได้มากันสามหมื่นคนอย่างในสนามฟุตบอล เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า อะไรเป็นกิจกรรมทางการเมืองมากกว่ากัน"
 
ขณะที่จาตุรนต์กล่าวว่า  การที่ คสช.ส่งเจ้าหน้าที่มาบอกว่า การแถลงข่าวนี้จะเป็นขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ถือเป็นการประจานไปทั่วโลกว่า คสช. ไม่ได้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
ในปีที่สี่ของ คสช. เกิดความชัดเจนว่า ที่ คสช. อ้างว่าจะมาทำทั้งหลายไม่ได้ทำ และล้มเหลวหมด ไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้น ไม่มีการปรองดอง ไม่มีการต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่มีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งที่ดำเนินการในช่วงหลัง คือ การทำลายระบบพรรคการเมือง เพื่อให้ตัวเองมีความพร้อมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปหลังเลือกตั้ง ภายใต้ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่สามารถกำหนดอะไรได้ เพราะ คสช. กำหนดไว้หมดแล้วในยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลการทุจริตคอร์รัปชั่น
 
ด้านวัฒนา กล่าวว่าการรักษาความสงบของบ้านเมืองภายใต้อำนาจปืน เป็นความสงบที่ไม่จริง วันนี้จะแสดงความคิดเห็นก็ถูกห้าม เป็นการปิดกั้นความรับรู้ของประชาชน เป็นความสงบภายใต้สภาพบังคับ ทั้งที่รัฐบาลบริหารประเทศด้วยภาษีอากรจากประชาชน ไม่ว่าจะได้อำนาจมาด้วยวิธีใดก็ตามต้องถูกตรวจสอบได้ ถูกวิจารณ์ได้
 
รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาบอกว่า เป็นฉบับปราบโกง แต่สุดท้ายคนที่โกงเองก็คือ คสช. การโกงอำนาจถือเป็นการคอร์รัปชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตัวอย่างเช่น เมื่อมีกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว กลับออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม อันนี้เป็นการโกงอำนาจไปจากประชาชน โกงแม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเองเขียนไว้ด้วยซ้ำ และยังไปเพิ่มเติมการใช้งบประมาณแผ่นดินสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนขาดดุลงบประมาณสูงสุดอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยมี
 
"การใช้อำนาจแทนประชาชน หากเกินเลยจากความชอบธรรมไม่สมประโยชน์ของประชาชน ย่อมไม่ผูกพันประชาชน เมื่อหมดจากอำนาจแล้วขึ้นศาลได้ ติดคุกได้เสมอ"

คลิปวิดีโอการแสดงความเห็นของสามสมาชิกพรรคเพื่อไทย
 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานในเวลาต่อมาว่า ในเวลา 19.40 น. ของวันเดียวพล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก เข้าพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อพรรคเพื่อไทย กรณีจัดแถลงข่าว เรื่องครบรอบ 4 ปี คสช.นำพาประเทศสู่ความมืดมนและอันตราย โดยกล่าวหาว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ห้ามการประชุมพรรคการเมือง แต่พรรคเพื่อไทย กลับมีการแถลงข่าวพาดพิง คสช.

ผู้รับมอบอำนาจจากคสช.ระบุว่าการกระทำของแกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทยอาจเข้าข่ายความผิดรวมสี่ประการ 1. ฝ่าฝืนประกาศคสช. ที่ 57/2557 เรื่องการห้ามดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเก่า ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประชุมพรรค 2.ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 คือ ที่มีการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง 3. ความผิดตามพ.ร.บ คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากมีการไลฟ์สดการแถลงข่าวทางเฟซบุ๊ก 4. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
 
21 พฤษภาคม 2561 
 
ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า แปดแกนนำพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย วัฒนา จาตุรนต์ ชูศักดิ์ นพดล ชัยเกษม ภูมิธรรมกิตติรัตน์ และพล.ต.ท.วิโรจน์ เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและให้ปากคำ โดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนเข้าร่วมการสอบปากคำด้วย 
 
พล.ต.อ.ศรีวราห์  กล่าวว่า พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายไม่มีซ้าย ไม่มีขวา ไม่มีนอกไม่มีใน สำหรับข้อหานั้นจะแตกต่างกันไปโดย 3 คนที่เป็นผู้นั่งแถลงข่าวจะถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ส่วนคนอื่นๆจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558
 
 

Pue Thai

แกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทยเข้ารายงานตัวที่กองบังคับการปราบปราม
 
30 พฤษภาคม 2561 
 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่าศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และอดีตประธานนปช. จังหวัดชลบุรี เข้าพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเป็นผู้ต้องหารายที่เก้าในคดีนี้โดยระบุว่าในวันที่ 21 พฤษภาคมเขาติดภารกิจจึงไม่ได้มารายงานตัวพร้อมกับแกนนำและสมาชิกพรรคอีกแปดคน
 
ศักดาชี้แจงถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุด้วยว่า วันนั้นมีตำรวจจากหลายสน.เข้ามาพบและประสานว่าไม่ควรจะมีผู้บริหารพรรคร่วมแถลงข่าว จึงได้หารือกันจนมีข้อสรุปว่า กรรมการบริหารพรรคจะไม่ร่วมการแถลงข่าว ส่วนสมาชิกพรรคสามคนที่พูดในงานวันนั้นก็เพียงแต่แสดงความคิดเห็นเป็นการส่วนตัวเท่านั้น

17 ตุลาคม 2561
 
ว๊อยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยสามคนได้แก่วัฒนา จาตุรนต์ และชูศักดิ์ ที่เคยถูกแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากกรณีจัดแถลงข่าวครบรอบสี่ปีการรัฐประหารที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทย 
 
ชูศักดิ์ ระบุหนึ่งในผู้ต้องหาระบุถึงขั้นตอนในวันนี้ว่าเป็นการมารับทราบความเห็นของพนักงานสอบสวนที่มีความเห็นส่งสำนวนคดีฟ้องต่ออัยการ สำหรับการดำเนินการขั้นต่อไปทางผู้ต้องหาจะยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการ เนื่องจากการกระทำตามข้อกล่าวหาเป็นเพียงการจัดการแถลงข่าว ไม่ใช่ความผิดทางอาญาและอาจเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาเกินความเป็นจริง เพราะเป็นการแถลงข่าวภายในพรรค ไม่ใช่การปลุกระดม 
 
หลังการเข้าพบ อัยการแจ้งให้ผู้ต้องหาทั้งสามมาฟังคำสั่งคดีในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561
 
28 พฤศจิกายน 2561

นัดฟังคำสั่งคดี

โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ รายงานว่า อัยการสำนักงานคดีอาญา 4 เลื่อนการสั่งคดีวัฒนา จาตุรนต์ และชูศักดิ์ออกไปเป็นวันที่ 10 มกราคม 2562 เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสามทำเรื่องขอความเป็นธรรม และอัยการได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามไปสอบปากคำพยานเพิ่มเติม 

30 พฤษภาคม 2562

โพสต์ทูเดย์ออนไลน์รายงานว่า อัยการมีคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ในส่วนของจาตุรนต์ วัฒนา และชูศักดิ์ ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ให้นัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 27 มิถุนายน 2562
 
27 มิถุนายน 2562
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า อัยการเจ้าของสำนวนเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 24 กรกฎาคม 2562
 
24 กรกฎาคม 2562
 
ไทยโพสต์ออนไลน์รายงานว่า อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 27 สิงหาคม 2562
 
27 สิงหาคม 2562
 
มติชนออนไลน์รายงานว่าอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 24 กันยายน 2562 เนื่องจากอัยการยังสรุปสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ
 
24 กันยายน 2562
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า นรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่า อัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี และทางตำรวจมีความเห็นพ้องกับอัยการ คดีจึงถือเป็นที่สิ้นสุด
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา