K Thong Bomb Bangkok

อัปเดตล่าสุด: 02/12/2559

ผู้ต้องหา

พรวัฒน์ ท.

สถานะคดี

ชั้นศาลอุทธรณ์

คดีเริ่มในปี

2553

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

นายชูเกียรติ ชโลธร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา

สารบัญ

เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ผู้ใช้ชื่อแฝง K Thong Bomb Bangkok ประกาศในแคมฟร็อกว่าจะเกิดระเบิดขึ้นในกรุงเทพฯ เขาถูกจับกุมในความผิดฐานก่อการร้าย และเผยแพร่ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคง ศาลพิพากษายกฟ้อง

ภูมิหลังผู้ต้องหา

นายพรวัฒน์ ทองธนบูรณ์ หรือ เคทอง  หนึ่งในแกนนำนักรบพระเจ้าตาก ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยให้กับการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) และเป็นลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และผู้ก่อตั้งพรรคขัตติยะธรรม (ขตธ.) โดยนายพรวัฒน์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคและรับตำแหน่งโฆษกพรรค รวมถึงมีบทบาทในการโพสต์ข้อความโต้ตอบในเว็บไซต์ เสธ.แดงดอทคอม
นอกจากคดีนี้แล้วนายพรวัฒน์ยังถูกออกหมายจับในข้อหาร่วมกันก่อเหตุลอบยิงอาวุธใส่กองบัญชาการกองทัพบก ใกล้ห้องทำงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการกองทัพบก

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ, มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์เวลา 1.23 น. ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2553  เวลา 3.22 น. นายพรวัฒน์ ใช้โปรแกรมแคมฟรอก จัดรายการโหราศาสตร์คู่การเมืองในห้องสนทนาวอยซ์ออฟเชนจ์ (voice of change ) กล่าวข้อมูลซึ่งมีการปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา ด้วยภาพและเสียง มีคำพูดตอนหนึ่งว่า

“อย่างที่ผมบอก สัญญาณของระเบิดจะดังขึ้น และไม่ต้องห่วงนะครับ ไม่ต้องถามเลยนะครับว่าใครทำ เพราะมึงไม่มีสิทธิที่จะรู้เลยว่าใครทำ เอาเป็นว่าตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป เราจะได้ยินเสียงระเบิดดังถึงประตูบ้านท่าน ดังเข้ามาในหน้าต่างบ้านท่าน ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ประกาศสงครามกลางเมืองนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป สงครามกลางเมืองเกิดแล้วครับ ใครที่เล่นหุ้น ใครที่ถือหุ้น ถอนออกมาซะ (หัวเราะ) ระเบิดจะดังขึ้นทุกวัน มึงเอาไม่อยู่หรอก ไม่ว่ามึงจะเอาทหารออกมากี่พัน กี่ร้อยกองพัน มึงเอาไม่อยู่หรอก สัญลักษณ์ของอำมาตย์จะถูกทำลายนับแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปและไม่มีสิทธิป้องกันด้วย ไม่มีสิทธิป้องกันนะครับ ก็รอฟังสัญญาณ พรุ่งนี้ก็คงมีข่าวแล้วหละนะครับ พรุ่งนี้ก็คงมีข่าว ตามหน้าสื่อทีวี พรุ่งนี้ตื่นมาก็คงจะได้ฟังกันนะครับ คืนนี้ผมก็ ตั้งแต่เมื่อคืน ยังไม่ได้นอน ตั้งแต่เมื่อคืนยังไม่ได้นอนเลยนะครับ ก็คืนนี้คงต้องอำลาแล้วกันนะครับ พรุ่งนี้เช้า”

โดยระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จ ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ  หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และเป็นการเผยแพร่เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ทั้งเป็นการขู่เข็ญให้ประชาชนทั่วไปเกิดความกลัวหรือความตกใจ

พฤติการณ์การจับกุม

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 53 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 12 คน ภายใต้การดูแลของ สุพจน์ คำวงศ์ษา กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เข้าจับกุมนายพรวัฒน์ตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ เลขที่ 243/2553 ลงวันที่ 4 มี.ค. 53  ตั้งข้อหาตามมาตรา 116 (2) และหมายจับเลขที่ จ124/2553 ลงวันที่ 5 มี.ค. 53  ตั้งข้อหาตามมาตรา 14 (2) (3) ที่ย่านลาดกระบัง

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.1342/2553

ศาล

ไม่มีข้อมูล

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีข้อมูล

แหล่งอ้างอิง

2 มีนาคม 2553
พ.ต.อ.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตรวจสอบพบคลิปวีดีโอเป็นภาพและเสียงของจำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าว และมีการนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูป จึงเก็บบันทึกคลิปวีดีโอไว้ และได้กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.สุพจน์ คำวงศ์ษา พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยีให้ดำเนินคดีแก่จำเลย

พันตำรวจเอกศิริพงษ์ ติมุลา รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตรวจสอบว่าคลิปวีดีโอดังกล่าวเป็นการจัดรายการโดยใช้โปรแกรมแคมฟรอก (camfrog) ผ่านทางอินเทอร์เน็ตและตรวจสอบทราบว่าคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต ติดตั้งที่อาคาร CAT Tower  จึงร้องขอต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ออกคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการทำสำเนาถอดรหัส ตรวจสอบ หรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ตลอดจนยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ และขอให้ออกหมายค้น อาคาร CAT Tower  ห้องเลขที่ 17 ในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

3 มีนาคม 2553
เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นอาคาร CAT Tower  ห้องเลขที่ 17 ในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (RACK SERVER) ยี่ห้อ IOK หมายเลขเครื่อง (S/N) BTH IDC # 05 ip address 122.155.14.82 จำนวน 1 เครื่อง จากนายณัฐวุฒิ บุญยืนมั่น และร้อยโทหญิงกัลยภัทร ชูประทีป เจ้าของร่วม เป็นของกลาง

6 มีนาคม 2553
พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามเพื่อติดต่อคดี แต่พันตำรวจตรีชยเดช ไคยฤทธิ์ กับพวก ได้ตรวจสอบรถยนต์ที่พลตรีขัตติยะใช้เป็นพาหนะเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน พบจำเลยซ่อนตัวอยู่ จึงแสดงหมายจับของทั้งศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลจังหวัดมีนบุรีและจับกุม และนำส่งพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน

ในชั้นสอบสวน เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า

1.ข้อหาทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ประมวลกฎหมายอาญา ม.116

2.ข้อหาทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ ประมวลกฎหมายอาญา ม.392

3.ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2)

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างสอบสวน จำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันถูกจับ และถูกขังอยู่ตามหมายฝากขังของศาลอาญา ตามคำร้องขอฝากขังคดีหมายเลขดำที่ พ.555/2553

10 มีนาคม 2553
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของกลาง ได้ส่งมอบคืนแก่ร้อยโทหญิงกัลยภัทร ชูประทีป

14 มิถุนายน 2553
จำเลยยื่นคำให้การปฏิเสธ

21 ธันวาคม 2553
สืบพยานโจทก์ปากแรก พ.ต.อ. นิธิธร จินตกานนท์ ผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในฐานะผู้กล่าวหาที่ 1

สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นผู้ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาในวันที่ 2 มีนาคม 2553 ให้ตรวจสอบเว็บไซต์ยูทูบ เนื่องจากมีการโพสต์คลิปวีดีโอของจำเลยที่พูดข้อความอันทำให้ประชาชนตื่นตระหนก

22 ธันวาคม 2553
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พันตำรวจโทณรงค์ แม้นเหมือน พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นผู้ตรวจค้น

สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ พ.ต.ท.สุรเดช แถวศรีสุวรรณ์ สารวัตรสืบสวน สน.ลาดกระบัง เป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ลาดกระบัง ซึ่งกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) และมาตรา 392 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553

สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า ร.ต.อ.อดุลย์ ทองเพ็ชร์ พนักงานสอบสวน สน.ลาดกระบัง เป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน กรณีผู้นำคลิปวีดีโอมาโพสต์ทำให้เกิดความตกใจกลัวแก่ประชาชน

สืบพยานโจทก์ปากที่หก ร้อยตำรวจโทนิมิตร เจริญบุญ รองสารวัตรสืบสวน สน.ลาดกระบัง ว่าได้เข้าร่วมฟังการสอบสวนนางศิริพร กมลวรรณธนกุล อดีตภรรยาของจำเลย

สืบพยานโจทก์ปากที่เจ็ด นายนิกร ตั้งพร้อมจิตต์ เป็นผู้ดูคลิปของจำเลยที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูบและมีความรู้สึกตกใจกลัว

สืบพยานโจทก์ปากที่แปด นายรณชัย สังฆมิตกุล ผู้ดูคลิปของจำเลยผ่านช่องเอเอสทีวี ทางโทรทัศน์ และมีความรู้สึกตกใจกลัว

23 ธันวาคม 2553
สืบพยานโจทก์ปากที่เก้า นายณัฐวุฒิ บุญยืนมั่น เจ้าของเซิร์ฟเวอร์ที่ตรวจยึดและตรวจสอบ

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบ นายธนะกฤษฎิ์ ศิรกรโรจนนันท์ เจ้าของบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโลตัส ทาวน์อินทาวน์ หมายเลขบัญชี 4017391569 ประเภทออมทรัพย์ ซึ่งได้เปิดให้นางสาวสุนิเพชร (น้าสาว) ทำธุรกิจในการซื้อขายห้องพัก และได้โพสต์หมายเลขบัญชีในเว็บไซต์แคมฟรอก

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบเอ็ด นางสาวสุนิเพชร ภัทรศิริโชติ เป็นผู้เสียค่าบริการเช่าห้องสนทนา voice of change แทน นางสลักจิต แสงเมืองซึ่งถึงแก่กรรม

24 ธันวาคม 2553
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสอง ร.ท.หญิงกัลยภัทร ชูประทีป เจ้าของเซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการโปรแกรมแคมฟรอก

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสาม นายณัฐ พยงค์ศรี พนักงานเจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อธิบายลักษณะโปรแกรมแคมฟรอก

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบสี่ นายศักรินทร์ สิริรัตน์ ผู้ใช้บริการโปรแกรมแคมฟรอก

25 มกราคม 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบห้า ร.ต.ท. อมร ขว้างแป้น พนักงานสอบสวน สน.ท่าข้าม ผู้ได้รับแจ้งว่ามีคนพบวัตถุคล้ายระเบิดที่บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพระราม 2

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบหก พ.ต.ท.สมคิด ชีวะผลาบูรณ์ พนักงานสอบสวน สถานนีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดง ผู้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุพระประแดงว่ามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาพระประแดง

สืบพยานโจทก์ปากที่สิบเจ็ด นางสาววุฒิพร ขำเขียว ผู้ดูห้องสนทนา voice of change อ้างว่าเปิดไว้เฉยๆ ไม่ได้ยินเสียงของจำเลย เพราะเล่นเกมอีกเว็บไซต์หนึ่ง

27 มกราคม 2554
สืบพยานโจทก์ปากที่สิบแปด พ.ต.ท. สุพจน์ คำวงศ์ษา พนักงานสอบสวนประจำกอง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ พนักงานสอบสวนในคดี

8 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานจำเลยปากแรก นายพรวัฒน์ หรือเคทอง ขึ้นให้การเป็นพยานให้ตัวเอง

จำเลยเบิกความว่า มีความรู้ด้านโหราศาสตร์และด้านคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี ปลายปี 2549 จำเลยฟังการจัดรายการในห้องสนทนาวอยซ์ออฟเชนจ์ (voice of freedom ) ผ่านโปรแกรมแคมฟรอก (camfrog) ซึ่งมีนางสาวสลักจิต แสงเมืองเป็นเจ้าของห้องสนทนา ต่อมาจำเลยถูกชักชวนให้เป็นผู้ดำเนินรายการเกี่ยวกับโหราศาสตร์และการเมือง เมื่อห้องสนทนาดังกล่าวถูกปิดบริการไป นางสาวสลักจิตได้เปิดห้องสนทนาใหม่ ชื่อว่า “วอยซ์ออฟเชนจ์” (voice of change)

จำเลยจัดรายการในห้องสนทนาจริง แต่ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงบางส่วนของการจัดรายการ ซึ่งทำนายโหราศาสตร์เกี่ยวกับการเมืองราว 1 ชั่วโมง มีผู้ใช้บริการเข้ารับฟังการจัดรายการ 60 ถึง 80 คน โดยจำเลยได้กล่าวตามคำฟ้องจริง แต่มิใช่กล่าวความเท็จ เพราะเป็นการทำนายทางด้านโหราศาสตร์ ไม่ได้เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และจำเลยไม่ได้บันทึกการจัดรายการ และไม่ได้เป็นผู้นำเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูป (youtube) แต่เป็นผู้อื่นที่ใช้ชื่อว่า didysister นำภาพและเสียงของตนที่กล่าวถ้อยคำเพียงบางส่วนไปเผยแพร่ ในเว็บไซต์ดังกล่าว

10 กุมภาพันธ์ 2554
สืบพยานจำเลยปากที่สอง นายเอกชัย มูลเกษ จำเลยที่ 1 ในคดีดำหมายเลข 1252/2553 ในข้อหาร่วมกันมีเครื่องกระสุนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ และทำให้เกิดระเบิดขึ้น และศาลพิพากษาแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 121/2554 จำคุก 8 ปี อ้างว่า ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553

สืบพยานจำเลยปากที่สาม นางสาวศศิญาภา ปาระมี พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินแอร์สยามและสายการบินคาเธยส์แปซิฟิก ผู้ชมรายการ voice of freedom

18 มีนาคม 2554
ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ตัดสินยกฟ้องคดี

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า

1.ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว โจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏว่า ถ้อยคำใดเป็นคำเท็จ กล่าวรวมๆ กันมา และไม่บรรยายว่าความจริงเป็นอย่างไร ยากที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม

2.แม้การนำสืบของโจทก์ ไม่มีการแจ้งข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือการก่อการร้าย ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) แต่การแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบตาม ป.วิอ.ม.134 หมายความเพียงให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าตนต้องถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใดอันเป็นประธาน มิได้หมายความต้องแจ้งกระทงความผิดทุกกระทง ดังนั้นเมื่อมีการแจ้งข้อหาซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน ก็ถือได้ว่าความผิดข้อหาดังกล่าวนี้ได้มีการสอบสวนความผิดแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

3.โปรแกรมแคมฟรอก (camfrog) เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนภาพและเสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยสามารถใช้ให้มีการประชุมออนไลน์ได้หลายคนพร้อมกัน สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ตลอดจนแสดงภาพวีดีโอได้ และมีการใช้งานแบ่งออกเป็นห้องโดยแต่ละห้องจะแบ่งออกตามหัวข้อในการสนทนา ซึ่งผู้ใช้บริการห้องสนทนาไม่จำกัดว่าจะเป็นบุคคลใด สามารถเข้ารับฟังและชมการจัดรายการได้โดยเสรี ถือได้ว่าเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนแล้ว

การจัดรายการดังกล่าวซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนภาพและเสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อพูดคอมพิวเตอร์

ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้อง ต้องพิจารณาข้อความทั้งหมดรวมกัน ไม่ใช่จับมาแต่เฉพาะคำใดคำหนึ่ง หรือข้อใดข้อหนึ่ง เพื่อหยั่งถึงเจตนาภายใน แต่ถ้อยคำตามฟ้องและการนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏถ้อยคำอื่นที่มีมาก่อนหรือหลังจากนั้น มีเพียงส่วนหนึ่งของถ้อยคำที่จำเลยกล่าวในการจัดรายการโหราศาสตร์คู่การเมืองในโปรแกรมแคมฟรอก ซึ่งมีความยาวเพียง 2.50 นาที แต่ตอนที่จำเลยจัดรายการในวันเกิดเหตุใช้เวลาจัดไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

เมื่อพิจารณาถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้องแล้ว เห็นได้ว่าเป็นถ้อยคำที่คนทั่วไปรับฟังแล้วย่อมเกิดความตระหนกตกใจ แต่ไม่ได้มีข้อความใดๆ ในทำนองยุยงส่งเสริมหรือปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วน หรือก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน จนถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง คดีจึงไม่อาจรับฟังลงโทษในฐานความผิด มาตรา 116 เมื่อไม่สามารถลงโทษในฐานความผิดดังกล่าว อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้จำเลยจะกล่าวถ้อยคำ ในห้องสนทนาผ่านอินเทอร์เน็ตอันจะถือได้ว่าเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ได้

4.ส่วนที่บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับก่อการร้ายนั้น โจทก์กลับไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยว่าเข้าในลักษณะใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ถึง 135/4 จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัย

5.ลักษณะการจัดรายการของผู้ดำเนินรายการในห้องสนทนาจะต้องให้เป็นที่น่าสนใจเพื่อให้มีผู้ใช้บริการเข้าร่วมฟังรายการของตน การกล่าวถ้อยคำต่างๆ ของจำเลยเป็นการกล่าวต่อผู้ใช้บริการที่เข้ามาร่วมฟังการสนทนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บริการที่เคยฟังการจัดรายการมาอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งและชื่นชอบลักษณะการจัดรายการ จึงไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าเป็นการขู่เข็ญเพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความกลัว หรือตกใจ

6.ส่วนการเผยแพร่คลิปวีดีโอในเว็บไซต์ยูทูบอันเป็นที่ปรากฏแพร่หลายแก่ประชาชน โจทก์ไม่สามารถสืบให้ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับ didysister ผู้นำคลิปวีดีโอไปเผยแพร่ได้อย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้นำคลิปวีดีโอดังกล่าวไปเผยแพร่ให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อให้เกิดความตระหนกตกใจกลัว

ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

12 พฤษภาคม 2554
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา10 ในฐานะโจทก์ ยื่นอุทธรณ์คดี

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา