สุธารี: ฟาร์มไก่ฟ้องนักสิทธิ จากทวีตเรื่องสิทธิแรงงานพม่า

อัปเดตล่าสุด: 11/05/2563

ผู้ต้องหา

สุธารี

สถานะคดี

ชั้นศาลชั้นต้น

คดีเริ่มในปี

2561

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มไก่หลายแห่ง เป็นคู่ค้าที่ขายไก่ให้กับเบทาโกร ในการดำเนินคดีนี้มี ชาญชัย เพิ่มผล เป็นผู้รับมอบอำนาจ

สารบัญ

หนึ่งในคดีมหากาพย์ข้อพิพาทระหว่างฟาร์มไก่ ของบริษัท ธรรมเกษตร และลูกจ้างชาวพม่า สุธารี เจ้าหน้าที่องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ ผลิตวีดีโอคลิปความยาว 107 วินาที เล่าปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน และการดำเนินคดีต่อแรงงาน และทวีตข้อความพร้อมลิงก์วีดีโอสามข้อความ เป็นเหตุให้ฟาร์มไก่ตัดสินใจดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และยังฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 5,000,000 บาทด้วย

ภูมิหลังผู้ต้องหา

สุธารี วรรณศิริ ขณะที่ทวีตข้อความตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เป็นเจ้าหน้าที่องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร จดทะเบียนในสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ทำงานในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เก็บข้อมูล และสนับสนุนคนทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน
 
 

ข้อหา / คำสั่ง

มาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

 
คำฟ้องคดีอาญาของบริษัท ธรรมเกษตร ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2561 ระบุรายละเอียดการกระทำที่กล่าวหาต่อจำเลยว่ากระทำความผิดสามกรรม จากการใช้ทวิตเตอร์ในช่วงเวลากลางคืนของวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ดังนี้
 
1. จำเลยทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัว @SuthareeW ว่า "วันนี้แรงงานพม่า 14 คน ต้องขึ้นศาลนัดสอบคำให้การคดีหมิ่นประมาทฟาร์มเลี้ยงไก่" พร้อมกับลิงก์ไปยังคลิปวีดีโอบทสัมภาษณ์แรงงาน" ขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ซึ่งฟาร์มเลี้ยงไก่นั้นหมายถึงโจทก์
 
2. จำเลยทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัว @SuthareeW ว่า "นานวิน แรงงานชาวพม่าระบุว่า บริษัท (ฟาร์มไก่) ให้ค่าจ้างเรา 230 บาทต่อวัน โดยแทบไม่มีวันหยุดและเราต้องทำงานตลอดเวลา พร้อมกับลิงก์ไปยังคลิปวีดีโอบทสัมภาษณ์แรงงาน ขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights)
 
3. จำเลยทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัว @SuthareeW ว่า "นานโท แรงงานชาวพม่าที่ถูกฟ้องกล่าวว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิดต่อบริษัท เราเพียงแค่เรียกร้องค่าจ้างรายวันที่เราสมควรได้รับ" ดพร้อมกับลิงก์ไปยังคลิปวีดีโอบทสัมภาษณ์แรงงาน ขององค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ซึ่งบริษัทที่กล่าวถึงนั้นหมายถึงโจทก์
 
โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า คลิปวีดีโอ ความยาว 107 วินาทีที่จำเลยทวีตนั้น มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์เป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งโจทก์แปลเป็นภาษาไทยและเขียนลงในคำฟ้องว่า "14 แรงงานข้ามชาติจากเมียนมาร์  ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหา กรณีแจ้งเหตุทารุณกรรมแรงงานในฟาร์มเลี้ยงไก่ในประเทศไทยแห่งนี้" "ในเวลาเช้า จะเริ่มงานเวลา 7.00 นาฬิกา และเราจะได้พักกินอาหารมื้อกลางวันเวลาเที่ยง จากนั้นเราจะหยุดงานในเวลา 17.00 นาฬิกา แต่ถึงเวลา 19.00 นาฬิกาเราจะต้องเริ่มงานอีกครั้งไปจนถึงเวลา 5.00 นาฬิกา ซึ่งหนังสือเดินทางและเงินของเราถูกยึดไปหมด" "เราไม่มีวันหยุด เราต้องทำงานตลอดเวลา พวกเขาได้แจ้งเรื่องเหตุทารุณกรรมแรงงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของไทยไว้แล้ว"
 
โจทก์เห็นว่า ข้อความในคลิปวีดีโอทำให้โจทก์ถูกดูถูก ดูหมิ่น เกลียดชัง กล่าวคือ เป็นเหตุให้บุคลลที่สามเข้าใจว่า โจทก์เป็นผู้ทารุณกรรมแรงงาน ละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง ใช้งานลูกจ้างเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมถึงยึดเงินของลูกจ้างอันเป็นการกระทำในลักษณะเอาเปรียบลูกจ้าง ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยโจทก์อ้างอิงรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเช่นนั้นเป็นหลักฐานยืนยัน
 
โจทก์ของให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 พร้อมกับขอให้ศาลพิพากษาให้ จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์สามฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิว์ มติชน ติดต่อกันเป็นเวลาสามวัน และให้สั่งทำลายข้อมูลหมิ่นประมาทในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย
 
 
 

พฤติการณ์การจับกุม

ไม่มีการจับกุมในคดีนี้ 

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

ไม่มีข้อมูล

ศาล

ศาลอาญา

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

 
การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยธรรมเกษตรครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมา ธรรมเกษตรเคยเป็นโจทก์ฟ้องแรงงานข้ามชาติจำนวน 14 คนเป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาท แจ้งข้อความอันเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จากกรณีที่ 14 แรงงานยื่นจดหมายร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวหาว่า ธรรมเกษตรละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จ่ายค่าแรงให้คนงานต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด  ไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาและยังมีการยึดเอกสารประจําตัวของพวกเขารวมทั้งหนังสือเดินทาง  โดยศาลแขวงดอนเมืองได้ยกฟ้องคดีนี้ไปเมื่อ 11 กรกฎาคม 2561
 
เมื่อ 4 พฤษจิกายน 2559 ธรรมเกษตรยังเคยฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานในคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ทวิตเตอร์ อย่างน้อย 20 ข้อความ เรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมและให้มีการชดเชยอย่างเพียงพอต่อคนงานข้ามชาติ 14 คน
 
 
 

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
12 ตุลาคม 2561
 
บริษัท ธรรมเกษตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อสุธารี วรรณศิริ  ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 326, 328 จากการโพสต์ทวิตเตอร์สามครั้งถึงเรื่องข้อพิพาทแรงงานนี้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 โดยเป็นการทวีตพร้อมกับแนบลิงก์ไปยังคลิปวีดิโอความยาว 107 วินาทีที่องค์กรผลิตขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกการดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทต่อคนงานทั้ง 14 คน โดยมีคำให้สัมภาษณ์ของคนงานสามคนเล่าถึงสภาพการทำงานและการถูกดำเนินคดีเป็นส่วนหนึ่งของคลิปวีดิโอ และส่งหมายเรียกไปยังสุธารีว่า ศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 3 ธันวาคม 2561
 
 
26 ตุลาคม 2561
 
บริษัท ธรรมเกษตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อสุธารี วรรณศิริ ต่อศาลแพ่ง กล่าวหาจำเลยจากการกระทำเดียวกับในคดีอาญา โดยระบุว่า การกระทำของจำเลยเป็นการไขข่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ และขาดประโยชน์ในทางทำมาหาได้ กระทบต่อความเชื่อมั่นทางการค้า เพราะใครก็ตามที่ทราบเรื่องก็คงไม่อยากคบค้าทำธุรกรรมกับโจทก์ รวมถึงเป็นการกระทำที่นานาชาติ โดยเฉพาะลูกค้าของโจทก์ในต่างประเทศไม่ยอมรับ ซึ่งโดยปกติบริษัทโจทก์ได้กำไรประมาณ 90 ล้านบาทต่อปี แต่การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ไม่สามารถทำการค้ากับใครได้ จนต้องปิดกิจการ
 
ในคำฟ้องคดีแพ่ง โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท ให้ทำลายข้อความในระบบอินเทอร์เน็ต และให้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เนชั่น บางกอกโพสต์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ และทวิตเตอร์ของจำเลยติดต่อกัน 30 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย โดยคดีนี้โจทก์ส่งหมายเรียกไปยังสุธารีให้มานัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดี ในวันที่ 24 ธันวาคม 2561
 
 
3 ธันวาคม 2561
 
สำนักงานกฎหมายเอ็นเอสพี ซึ่งเป็นทนายความให้กับจำเลย โพสต์เฟซบุ๊กรายงานว่า ตามที่ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องในวันนี้ เนื่องจากทนายความจำเลยเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความในวันนี้ ประกอบกับคดีมีรายละเอียดที่จะต้องศึกษาจำนวนมาก ทนายจำเลยจึงแถลงศาลขอเลื่อนคดีไป 1 นัด คู่ความไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 11 มีนาคม 2562 เวลา 09:00 น.
 
 
24 ธันวาคม 2561
 
สำนักงานกฎหมายเอ็นเอสพี โพสต์เฟซบุ๊ก รายงานว่า วันนี้ชาญชัย เพิ่มผล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ทนายโจทก์ และทนายจำเลยมาศาล ทนายจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีและยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาจากคดีอาญา โจทก์ได้รับสำเนาแล้วแถลงคัดค้าน โดยอ้างว่าการพิจารณาคดีแพ่งไม่จำต้องรอคดีอาญา
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 424 ในการพิพากษาคดีความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ คดีนี้ยังไม่มีเหตุที่จะให้รอการพิจารณาคดีแพ่งไว้เพื่อรอฟังผลคดีอาญาให้ยกคำร้อง
 
ศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ แล้ว คดีมีประเด็นพิพาท ดังนี้
 
1. จำเลยกระทำละเมิดและต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด
 
2. คดีฟ้องขาดฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
 
ประเด็นทั้งสองข้อโจทก์กล่าวอ้าง จำเลยให้การปฏิเสธภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ ให้โจทก์นำสืบก่อนแล้วให้จำเลยนำสืบแก้ ทนายโจทก์แถลงว่ามีความประสงค์จะสืบพยานจำนวน 4 ปาก ใช้เวลาสืบ 1 นัด ทนายจำเลยแถลงว่า มีพยานประสงค์จะสืบ 14 ปาก ใช้เวลานำสืบ 3 นัด เนื่องจากพยานส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวพม่า และเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงมีพยานหลายปาก ศาลอนุญาตให้นัดสืบพยานโจทก์จำนวน 1 นัด สืบพยานจำเลยจำนวน 3 นัด
 
คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงว่า จะยื่นบันทึกถ้อยคำพยานเป็นเอกสารแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาล และทั้งสองฝ่ายไม่คัดค้าน และศาลอนุญาตตามขอ โดยให้คู่ความแต่ละฝ่ายยื่นคำร้องและส่งบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามล่วงหน้าต่อศาลและคู่ความอีกฝ่ายไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันสืบพยานปากนั้น
 
ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 27 สิงหาคม 2562 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 28-30 สิงหาคม 2562 และศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 ตุลาคม 2562
 
 
11 มีนาคม 2562
 
สำนักงานกฎหมายเอ็นเอสพี โพสต์เฟซบุ๊กรายงานว่า ตามที่ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องวันนี้ ศาลกำหนดให้โจทก์นำสืบในประเด็นว่า จำเลยกระทำการโดยเป็นการติชมด้วยเจตนาสุจริตหรือไม่ โดยโจทก์อ้างพยานเข้าสืบ 1 ปาก คือ นายชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และแถลงหมดพยาน
 
ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 25 มีนาคม 2562 เวลา 9:00 และให้เวลาคู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 7 วัน
 
อนึ่ง ศาลได้สอบถามโจทก์ว่าในกรณีที่คดีมีมูล โจทก์มีเหตุให้ต้องควบคุมตัวจำเลยหรือไม่ โจทก์แถลงต่อศาลว่าไม่มี ศาลบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า คดีนี้ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวจำเลย และให้ทนายจำเลยแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีที่รับฟ้อง เพื่อที่จำเลยจะไม่ต้องดำเนินการยื่นคำฟ้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
 
 
25 มีนาคม 2562
 
ศาลอาญามีคำสั่งรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา และศาลแจ้งว่า จะพิจารณาว่าจะให้รวมคดีนี้เข้ากับคดีที่บริษัท ธรรมเกษตร ฟ้องร้องต่อ นาน วิน คนงานชาวพม่าก่อนหน้านี้หรือไม่ และศาลสั่งนัดพร้อม สอบคำให้การในคดีนี้วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยต้องเดินทางไปศาลด้วยตัวเอง แต่จะไม่ถูกควบคุมตัวเพราะโจทก์แถลงไว้แล้วว่า ไม่มีเหตุให้ต้องควบคุมตัวจำเลย
 
หลังจากนี้ความเคลื่อนไหวในส่วนคดีอาญา จึงจะบันทึกความเคลื่อนไหวต่อในหน้าคดีของนาน วิน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีที่ถูกนำไปรวมกัน
 
 
27 สิงหาคม 2562
 
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 411 ณ ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เวลาประมาณ 10.00 น. นัดสืบพยานโจทก์
 
ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลขอให้ผู้สังเกตการณ์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และฝ่ายจำเลยออกจากห้องพิจารณาคดีก่อน เพื่อขอคุยกับฝ่ายโจทก์ โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที ต่อจากนั้น จึงเรียกทนายจำเลยและจำเลยเข้าไปคุย และอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมฟังการสืบพยานได้
 
ในคดีนี้พยานโจทก์มีเพียง 1 ปาก คือ ชาญชัย เพิ่มผล ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ซึ่งเบิกความ สรุปได้ว่า ฟาร์มไก่ของบริษัทดูแลลูกจ้างทั้งชาวไทยและชาวพม่าเป็นอย่างดีและให้สวัสดิการลูกจ้างพม่าเท่าเทียมกับลูกจ้างไทย ฟาร์มไก่ของบริษัทจัดรถรับส่งแรงงานพม่าจากฟาร์มไปตลาดทุกวันอาทิตย์ เพื่อซื้ออาหารและของใช้จำเป็น เนื่องจากเห็นว่า ในตลาดขายสินค้าราคาถูก ไม่ได้มีการกักขังไม่ให้คนงานออกไปไหนตามที่ถูกกล่าวหา
 
ชาญชัย เบิกความด้วยว่า กรณีที่บัตรตอกเวลาเข้า-ออกงานของแรงงานพม่าที่ถูกขโมยไปเผยแพร่ต่อสื่อและองค์กรระหว่างประเทศ ปรากฏการลงเวลาทำงานในช่วงกลางวันระหว่างเวลา 07.00 – 17.00 น. และ กลางคืนระหว่างเวลา 19.00 – 05.00 น. นั้น เป็นเพราะลูกจ้างต้องการเข้ามาใช้พื้นที่สันทนาการซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ภายในออฟฟิศ หากมีการเข้าออกจะต้องตอกบัตร แต่พยานยืนยันว่าไม่ได้มีการบังคับให้ทำงานในเวลากลางคืน ในประเด็นนี้ศาลถามต่อไปว่า ทำไมจึงอนุญาตให้ลูกจ้างเข้ามาพื้นที่ที่ทำงานเป็นเวลาข้ามคืนโดยไม่มีการจ้างงาน เนื่องจากตามหลักการประกอบธุรกิจ เจ้าของกิจการต้องพิจารณาเรื่องมีต้นทุนและความปลอดภัย หากไม่มีเหตุจำเป็นให้ลูกจ้างเข้าไปในพื้นที่ทำงาน ทำไมโจทก์จึงยังคงอนุญาตให้เข้าไป ชาญชัยตอบศาลว่า แม้ว่าลูกจ้างเข้าไปใช้พื้นที่ในส่วนโรงเลี้ยงสัตว์ แต่อาจจะเข้าไปเพื่อการสันทนาการ เพราะในบริเวณนั้นมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรทัศน์ที่ทางบริษัทจัดไว้ให้สำหรับลูกจ้าง 
 
ในประเด็นการนำเข้าข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ชาญชัยเบิกความว่า การกระทำของจำเลยทำให้ฝ่ายโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อให้โจทก์เริ่มธุรกิจใหม่แต่ข้อความที่จำเลยทวีตยังคงปรากฏอยู่บนอินเทอร์เน็ต เมื่อคู่ค้าค้นหาชื่อบริษัทของตนในกูเกิ้ลก็จะปรากฏข้อความดังกล่าวและรายงานด้านการละเมิดสิทธิแรงงาน เอกสารดังกล่าวมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ทำให้คู่ค้าซึ่งเป็นชาวต่างชาติไม่มีกล้าคบค้าสมาคมด้วย
 
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ทนายจำเลยถามค้าน ในประเด็นชั่วโมงการทำงานซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีวันหยุดเพียงพอ และไม่ได้หยุดตามวันหยุดราชการ รวมถึงประเด็นเรื่องการแปลข้อความในคลิปวีดีโอจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยของฝ่ายโจทก์ ซึ่งมีความคลาดเคลื่อน
 
การสืบพยานปากนี้ยังไม่จบภายในวันนี้ แต่เมื่อเสร็จการพิจารณาในช่วงเย็น ศาลยังคงเรียกฝ่ายโจทก์มาปรึกษาเป็นการส่วนตัวเป็นเวลาประมาณ 20 นาที โดยที่ผู่สังเกตการณ์ยังอยู่ในห้องพิจารณาคดี 
 
 
28 สิงหาคม 2562
 
นัดสืบพยานโจทก์ปากเดิมต่อ ศาลขึ้นบัลลังก์แล้วคุยกับพยานโจทก์และทนายจำเลย โดยยังคงมีผู้สังเกตการณ์คดีทั้งชาวไทยและต่างประเทศประมาณ 8 คนนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี จนถึงเวลาประมาณ 10.30 น. ศาลได้ขอให้ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดออกจากห้องพิจารณาคดี และเปิดให้มีการไกล่เกลี่ยกันในห้องพิจารณาคดี กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
 
ทนายจำเลยเปิดเผยภายหลังว่า ศาลประสงค์ให้มีการไกล่เกลี่ยกัน เนื่องจากประเด็นที่นำสืบคือเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและประเด็นนี้ก็ได้มีการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นและศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแล้วในคดีก่อนหน้านี้ และเรื่องความเสียทางธุรกิจที่โจทก์ได้รับผลกระทบจากการเผยแพร่รายงานก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องไปเจรจากับคู่ค้าเอง ในกระบวนการไกล่เกลี่ย ต่างฝ่ายต่างเขียนข้อความแสดงเจตนารมณ์เพื่อหาจุดกึ่งกลางที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ 
 
เวลาประมาณ 14.00 น. ทนายและจำเลยออกมาจากห้องพิจารณาคดี และเปิดเผยเพียงว่า โจทก์ได้ถอนฟ้องคดีนี้แล้ว โดยฝ่ายจำเลยแสดงเจตนารมณ์ต่อศาลว่า "หากข้อความในคลิปวีดีโอดังกล่าวมีส่วนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ก็ขอแสดงความเสียใจด้วย"  ทั้งนี้ จำเลยไม่จำเป็นต้องทวีตข้อความหรือประกาศลงหนังสือพิมพ์แสดงความเสียใจต่อโจทก์สู่สาธารณะแล้ว โจทก์ไม่ติดใจและขอถอนฟ้องจำเลยในคดีนี้ แต่ในส่วนของคดีอาญาในข้อหาเดียวกัน โจทก์ยังคงเดินหน้าดำเนินคดีต่อไป 
 
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการไกล่เกลี่ยจำเลยมีสีหน้าค่อนข้างเศร้า และกล่าวกับผู้มาสังเกตการณ์ว่า "เราถอยเท่าที่ทำได้แล้ว" ด้านทนายจำเลยเปิดเผยว่า จำเลยจะใช้สิทธิของจำเลยแสดงเจตนารมณ์ต่อศาลถึงวัตถุประสงค์ของการทวีตข้อความดังกล่าวต่อไป 
 
 
 

คำพิพากษา

ไม่มีข้อมูล

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา