พริษฐ์: แขวนพริกกระเทียมหน้าทำเนียบฯ

อัปเดตล่าสุด: 29/07/2563

ผู้ต้องหา

พริษฐ์

สถานะคดี

อื่นๆ

คดีเริ่มในปี

2562

โจทก์ / ผู้กล่าวหา

ไม่มีข้อมูล

สารบัญ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี แถลงผลการดำเนินงานปีที่ 4 ของรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล ตอนหนึ่งของการแถลงพล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่มีคนเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งหลังมีกระแสข่าวว่าเขาอาจลงเป็นผู้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐทำนองว่า ไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลต้องลาออกก่อนการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆรัฐบาลที่บริหารประเทศในขณะนั้นก็ไม่ได้ลาออก พล.อ.ประยุทธ์ยังพูดถึงกระแสการขับไล่ตอนหนึ่งด้วยว่า "มึงมาไล่ดูสิ"
 
ในวันเดียวกันผู้ใช้เฟซบุ๊ก ฟ้าใส ศศิกัญจน์ โพสต์คลิปวิดีโอที่ ธนวัฒน์ หนึ่งในจำเลยคดีนี้พูดตอบรับว่าจะพาเพื่อนไปขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ตามคำท้า นอกจากนั้นก็มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอตัดเหตุการณ์ที่พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า "มึงมาไล่ดูสิ" กับคลิปที่พริษฐ์พูดต่อทำนองว่าจะไปไล่ตามคำท้า ต่อมาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ธนวัฒน์ พริษฐ์ นำพริกและกระเทียมไปแขวนที่รั้วของทำเนียบรัฐบาล หลังพวกทำกิจกรรมได้ครู่เดียวก็ถูกเชิญตัวไปที่สน.ดุุสิต และถูกแจ้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
ในวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ศาลพิพากษาปรับพริษฐ์และธนวัฒน์เป็นเงินคนละ 2000 บาท ในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุม    
 

ภูมิหลังผู้ต้องหา

พริษฐ์หรือเพนกวิ้นเป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิดแต่ไปใช้ชีวิตสมัยเด็กๆอยู่ที่จังหวัดลำปาง พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า ขณะเกิดเหตุคดีนี้พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 พริษฐ์ไปทำกิจกรรมกินมาม่าซ้อมยากจนที่บริเวณสกายวอล์ก เพื่อประท้วงกรณีที่คสช.ยังไม่ยอมประกาศวันเลือกตั้งให้ัชัดเจนขณะที่เศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น นอกจากนั้นพริษฐ์ยังเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกลุ่มที่จะจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วย แต่ขณะนั้นพริษฐ์ไม่ได้ร่วมจดจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกพรรคเพราะขณะนั้นเขายังอายุไม่ถึง
 
ธนวัฒน์ เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเกิดเหตุศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนวัฒน์เคยเป็นประธานนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เพื่อประท้วงกรณีที่กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางคนไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ  
 

ข้อหา / คำสั่ง

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

การกระทำที่ถูกกล่าวหา

พริษฐ์และธนวัฒน์ ไปทำกิจกรรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลแต่ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จึงถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุม 

พฤติการณ์การจับกุม

พริษฐ์และธนวัฒน์ถูกควบคุมตัวจากที่เกิดเหตุไปแจ้งข้อกล่าวหาที่ส.น.ดุสิตหลังจากทำกิจกรรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลแล้วเสร็จ

บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล

ไม่มีข้อมูล

หมายเลขคดีดำ

อ.370/2562

ศาล

ศาลแขวงดุสิต

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

อ่านความในใจของพริษฐ์ (เพนกวิ้น) หนึ่งในจำเลยคดีนี้ที่มีต่อคดีและต่อพ.ร.บ.ชุมนุม https://freedom.ilaw.or.th/node/716

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีข้อมูล
1 กุมภาพันธ์ 2562
 
ประชาไทรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และนายกรัฐมนตรี แถลงผลการดำเนินงานปีที่ 4 ของรัฐบาล โดยตอนหนึ่งพอสรุปได้ว่า

การตัดสินใจลาออกหรือไม่ลาออก เป็นคนละเรื่องกับการรับหรือไม่รับเป็นหนึ่งในรายชื่อบัญชีนายกการรับหรือไม่รับการเสนอเป็นชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของนโยบายว่ารับกันได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการจะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่

ทั่วโลกทั้งที่เป็นระบอบประชาธิปไตยและสังคมนิยม ผู้นำและทุกรัฐบาลเมื่อมีการเลือกตั้งไม่มีใครลาออก เช่น บารัค โอบาม่า อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ในการลงเลือกตั้งครั้งที่ 2 และสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน รวมถึงประธานาธิบดีที่อยู่ในอาเซียน ก็ไม่มีใครลาออก

พล.อ.ประยุทธ์ยังระบุอีกตอนหนึ่งโดยสรุปได้ว่า ไม่ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายทั้งในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นว่าหากมีการเลือกตั้งผู้ที่อยู่ในรัฐบาลต้องลาออกไปและการเลือกตั้งครั้งก่อนเช่นปี 2554 คนในรัฐบาลก็ไม่ได้ลาออก จึงขอร้องว่าอย่ามาไล่ล่ากัน พล.อ.ประยุทธ์พูดตอนหนึ่งอีกว่า " มึงมาไล่ดูสิ"

 
 
 
ดูคลิปคำปราศรัยของหัวหน้าคสช. ที่นี่

ธนวัฒน์ และ พริษฐ์ นักกิจกรรมทางสังคมอัดคลิปวิดีโอรับคำท้าพล.อ.ประยุทธ์ คลิปดังกล่าว ถูกโพสต์บนเฟซบุ๊กของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ฟ้าใส ศศิกัญจน์ จากนั้นช่วงประมาณหนึ่งทุ่มในวันเดียวกัน พริษฐ์โพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊ก เชิญชวนประชาชนร่วมขบวนแห่เชิญพล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยนัดหมายให้ประชาชนมาพบที่ประตูสี่ ทำเนียบรัฐบาล พริษฐ์ยังให้เบอร์โทรศัพท์ของตัวเองไว้ในโพสต์ดังกล่าวด้วย 
 
2 กุมภาพันธ์ 2562
 
เฟซบุ๊กของณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะและติดแท็กถึงพริษฐ์และธนวัฒน์โพสต์ข้อความตอนหนึ่งว่า ธนวัฒน์และพริษฐ์เดินทางไปทำกิจกรรมตามที่ได้ประกาศไว้ มีการอ่านจดหมายเชิญให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกซึ่งสรุปความได้ว่า

นับจากการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลยังคงมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ เช่นสามารถอนุมัติงบประมาณที่มีผลผูกพันธ์ถึงรัฐบาลถัดไปได้ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ และพล.อ.ประยุทธ์ยังคงมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ และอำนาจดังกล่าวก็อาจส่งผลได้ผลเสียต่อการเลือกตั้ง จึงขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกเมื่อตกลงรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจที่จะส่งผลได้ผลเสียต่อการเลือกตั้ง   

นอกจากการอ่านจดหมายทางผู้ทำกิจกรรมยังนำพริก เกลือ และกระเทียม ไปแขวนที่รั้วทำเนียบรัฐบาลเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แสดงถึงการขับไล่ผีดิบจากการดูดกินภาษีประชาชนด้วย จากการสอบถาม

ธนวัฒน์หนึ่งในผู้ต้องหาให้ข้อมูลว่า พวกเขาสามารถทำกิจกรรมจนแล้วเสร็จโดยใช้เวลาทำกิจกรรมสั้นๆประมาณห้านาที จากนั้นจึงถูกควบคุมตัวไปที่สน.ดุสิตเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุม พร้อมทั้งยึดพริก กระเทียม และเกลือที่ใช้ทำกิจกรรมไว้เป็นของกลาง
 
พริษฐ์หนึ่งในผู้ต้องหาให้ข้อมูลว่า พวกเขาถูกคุมตัวไปที่สน.ดุสิตตั้งแต่เวลาประมาณ 13.30 น. แต่กว่ากระบวนการทุกอย่างจะแล้วเสร็จก็เป็นเวลาประมาณ 20.00 น. จากนั้นจึงปล่อยตัวทั้งสองไปโดยไม่ต้องวางหลักประกัน
 
4 กุมภาพันธ์ 2562
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.ดุสิตยื่นผัดฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองต่อศาลแขวงดุสิตเนื่องจากขณะนั้นครบกำหนด 48 ชั่วโมงที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาแล้วแต่ยังไม่สามารถฟ้องคดีต่ออัยการได้เนื่องจากขั้นตอนการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องไปเป็นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562  โดยในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้เดินทางมาด้วยแต่อย่างใด 
 
24 กุมภาพันธ์ 2562
 
มติชนออนไลน์ รายงานโดยอ้างอิงทวิตเตอร์ของพริษฐ์ว่า พนักงานสอบสวนนัดเขาและธนวัฒน์ส่งตัวฟ้องต่ออัยการในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ศาลแขวงดุสิต 
 
1 มีนาคม 2562
 
นัดฟังคำสั่งอัยการ
 
มติชนออนไลน์รายงานว่า อัยการมีความเห็ฯสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองต่อศาลแขวงดุสิต 
 
22 เมษายน 2562
 
นัดพร้อมและสอบคำให้การ
 
จำเลยทั้งสองพร้อมทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาถึงศาลตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. โดยนอกจากคดีนี้แล้วศาลยังนัดทั้งสองสอบคำให้การคดีไม่แจ้งการชุมนุมอีกคดีหนึ่งจากกรณีจัดกิจกรรมที่หน้ากองทัพบกคัดค้านแนวคิดในการเปิดเพลงหนักแผ่นดินของผบ.ทบ.ด้วย
 
ศาลเริ่มการพิจารณาคดีนี้ในเวลาประมาณ 10.20 น. จากนั้นได้อ่านและบรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟังแล้วถามว่าทั้งสองเข้าใจฟ้องหรือไม่และจะให้การอย่างไร ทั้งสองตอบว่าเข้าใจฟ้องแล้วขอให้การปฏิเสธ

อัยการแถลงต่อศาลว่าจะนำพยานเข้าสืบรวมสามปาก ขอใช้เวลาสืบพยานหนึ่งนัด โดยพยานทั้งสามคนได้แก่ผู้กล่าวหาหนึ่งคน พยานผู้เห็นเหตุการณ์หนึ่งคนและพนักงานสอบสวนอีกหนึ่งคน ฝ่ายจำเลยแถลงว่าจะสืบพยานสองปากได้แก่ตัวจำเลยทั้งสองขอใช้เวลาสืบพยานสองนัดเช่นกัน

ในนัดนี้โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานหลักฐานต่อศาลด้วย แต่มีพยานเอกสารบางส่วนที่โจทก์ไม่ยื่นต่อศาลให้ทนายจำเลยตรวจสอบ โดยอ้างว่าเป็นเอกสารประกอบการสอบปากคำในชั้นสอบสวนซึ่งโจทก์ขอสงวนสิทธิ์นำหลักฐานดังกล่าวเข้าสู่ชั้นศาลระหว่างการสืบพยานเลย ทนายจำเลยจึงแถลงคัดค้านพยานหลักฐานส่วนนี้ไว้ จากนั้นศาลให้คู่ความไปกำหนดวันนัดสืบพยานกันเองซึ่งตกลงกันได้ในวันที่  12 – 13 มิถุนายน 2562

12 มิถุนายน 2562
 
นัดสืบพยาน
 
13 มิถุนายน 2562
 
นัดสืบพยาน

21 สิงหาคม 2562
 
นัดฟังคำพิพากษา
 
เบื้องต้นศาลนัดจำเลยทั้งสองฟังคำพิพากษาในเวลา 9.00 น. แต่ในช่วงเช้าธนวัฒน์ จำเลยที่สองซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงรายเพราะไปรายงานตัวกับอัยการในคดีการชุมนุมอีกคดีหนึ่ง โทรมาแจ้งทนายจำเลยว่า เขาพลาดเที่ยวบินรอบหกโมงเช้า ต้องเดินทางด้วยเที่ยวบินต่อไปในเวลาเกือบ 11.00 และจะมาถึงกรุงเทพมหานครในเวลาประมาณ 12.15 น. ทนายจำเลยจึงแถลงต่อศาลขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นช่วงบ่าย

ศาลกำชับกับทนายจำเลยว่าให้แจ้งให้ธนวัฒน์รีบมาศาลพร้อมกล่าวว่าตัวจำเลยเองก็ทราบนัดมาก่อนหน้านี้แล้ว น่าจะบริหารเวลาให้ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตามศาลเห็นว่าธนวัฒน์มีการแจ้งเหตุขัดข้องและไม่มีเจตนาหลบหนีจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปเป็นเวลา 13.30 น. โดยก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งได้สอบถามพริษฐ์ จำเลยที่หนึ่งซึ่งอยู่ในห้องพิจารณาแล้วว่าจะคัดค้านการเลื่อนเวลานัดหรือไม่ พริษฐ์แถลงไม่คัดค้าน
 
ในเวลา 13.40 น. หลังธนวัฒน์มาถึงศาล ศาลได้สอบถามธนวัฒน์ถึงสาเหตุที่มาช้าพร้อมทั้งกำชับว่าในนัดฟังคำพิพากษาหากมาช้าจะเป็นผลเสียต่อตัวธนวัฒน์เองเพราะหากศาลเห็นว่าเป็นพฤติการณ์หลบหนีก็อาจออกหมายจับได้ซึ่งจะไม่ดีต่อตัวธนวัฒน์ แต่ในกรณีนี้ศาลเห็นว่าธนวัฒน์ไม่ได้มีเจตนาหลบหนีจึงเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาให้ ในช่วงบ่ายนอกจากพริษฐ์ ธนวัฒน์ กับทนายความของทั้งสองคนแล้ว ในห้องพิจารณาคดียังมีทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและจำเลยคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งประมาณสองถึงสามคนที่มีนัดมาฟังการพิจารณาคดีที่ศาลแขวงดุสิตในห้องพิจารณาคดีข้างๆเข้ามานั่งฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจทั้งสองด้วย 

หลังศาลชี้แจงกับธนวัฒน์ก็อ่านคำพิพากษาลงโทษปรับธนวัฒน์และพริษฐ์ในความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯเป็นเงินคนละ 2000 บาท 
 
ธนวัฒน์ให้ความเห็นหลังศาลมีคำพิพากษาว่า คำพิพากษาออกมาลักษณะนี้ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของเขา ซึ่งมันก็สะท้อนว่าเนื้อหาและการตีความกฎหมายฉบับนี้มีปัญหา และการจะมานิยามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีนี้เป็นการชุมนุมมันก็น่าจะยังมีปัญหาอยู่ จึงคิดว่าหากกฎหมายนี้ยังไม่ถูกแก้ไข มันก็จะถูกใช้ในจำกัดสิทธิของประชาชนไปเรื่อยๆ มีทนายท่านหนึ่งเคยบอกว่าพ.ร.บ.ชุมนุมฯถูกออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุมแต่กลับกลายเป็นว่าในทางปฏิบัติกฎหมายนี้ก็ถูกใช้เพื่อจำกัดการชุมนุม ซึ่งมันน่าจะเป็นคนละเรื่องกับจุดประสงค์ในการออกกฎหมายนี้เลย ดังนั้นจึงเป็นกฎหมายอีกฉบับที่สะท้อนได้ชัดเจนว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ผู้ออกกฎหมายอ้างในการออกกฎหมายกับตอนที่นำกฎหมายมาใช้มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งหากยังปล่อยให้มีการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตสิทธิเสรีภาพของคนไทยก็จะถูกจำกัดมากขึ้นมากขึ้น
 
28 พศจิกายน 2562
 
ธนวัฒน์ จำเลยที่สองโพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กเพจของเขาว่า ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์และศาลได้รับคำอุทธรณ์เข้าสู่สารบบความแล้ว พร้อมระบุว่าตัวเขาจะสู้คดีจนถึงที่สุด  
 
16 กรกฎาคม 2563
 
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 

ที่ห้องพิจารณาคดี 510 ศาลแขวงดุสิต ศาลอุทธรณ์นัดพริษฐ์และธนวัฒน์ฟังคำพิพากษาในเวลา 9.00 น.

ธนวัฒน์เดินทางมาถึงศาลตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. ขณะที่พริษฐ์และทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 9.10 น.

ทั้งนี้ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหนึ่งนายที่มักปรากฎตัวตามพื้นที่การชุมนุมมานั่งอยู่ที่ชั้นล่างของอาคารศาลแขวงดุสิตด้วยแต่ไม่ได้ขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี

ศาลขึ้นบัลลังก์ 9.25 น. และเริ่มอ่านคำพิพากษาในทันทีโดยใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 15 นาที ซึ่งสรุปได้ว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิด เพราะมีพฤติการณ์เชิญชวนให้บุคคลอื่นมาร่วมกิจกรรมจึงมีพฤติการณ์เป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมและมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย เมื่อปรากฎว่าทั้งสองไม่แจ้งการชุมนุมจึงเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้ปรับเงินคนละ 2000 บาท ตามศาลชั้นต้น
 
เนื่องจากจำเลยทั้งสองชำระค่าปรับตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว และศาลอุทธรณ์ไม่ได้ปรับแก้โทษปรับ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชำระค่าปรับอีก 
 
หลังศาลมีคำพิพากษา พริษฐ์ให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า คำพิพากษาที่ออกมาไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เขาไม่ได้รู้สึกเสียดายค่าปรับ 2000 บาทที่เสียไป เพราะถือว่าแลกกับการได้แขวนพริกกระเทียมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนตัวยังเห็นด้วยว่าคดีนี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานว่าในประเทศนี้ไม่ใช่แค่อาวุธ ปืน หรือยาเสพย์ติดร้ายแรง ที่เป็นของกลางในคดีอาญา ของอย่างพริก เกลือ และกระเทียม ก็เป็นของกลางได้เหมือนกัน

ตัวเขาหวังว่าในอนาคตจะมีการยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพของประชาชนอย่างพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ต่อให้มีการยกเลิกพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เขาก็เชื่อว่าสุดท้ายผู้มีอำนาจก็สามารถนำข้อกฎหมายอื่นมาจำกัดเสรีภาพการชุมนุมได้อยู่ดี

คำพิพากษา

สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น

การชุมนุมสาธารณะ หมายถึง "การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการประชุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่” ผู้จัดการชุมนุม หมายถึง ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์ จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือ มีพฤติการณ์ทําให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น 
 
จำเลยทั้งสองรับว่า ไม่เห็นด้วยกับที่พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า "มึงมาไล่ดูสิ" และรับว่าทั้งสองเป็นผู้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กจริง โดยพริษฐ์ จำเลยที่หนึ่งโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนร่วมกันเดินขบวนไปที่ประตูสี่ ทำเนียบรัฐบาล เพื่ออ่านจดหมายขับไล่พล.อ.พล.อ.ประยุทธ์ 
 
ส่วนธนวัฒน์โพสต์ข้อความทำนองว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 บ่ายโมงพบกันที่ประตูสี่ ทำเนียบรัฐบาลและยืนยันว่ากิจกรรมจะเป็นไปอย่างสันติ จำเลยทั้งสองมีการเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยให้มาร่วมการชุมนุม จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้จัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสน.ดุสิต สน.เจ้าของท้องที่ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้งการชุมนุม
 
ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเมื่อผู้กำกับสน.ดุสิตมาแจ้งว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายเพราะไม่มีการแจ้งการชุมนุม และแนะนำให้จำเลยทั้งสองย้ายไปจัดกิจกรรมที่สำนักงานกพรหรือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน จำเลยทั้งสองจึงประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมที่ประตูสี่ แต่ย้ายไปจัดกิจกรรมที่ประตูสามแทน โดยที่การย้ายสถานที่กิจกรรม ประชาชนทั่วไปไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรมได้เพราะมีแต่เจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าว เห็นว่า จำเลยทั้งสองยังมีพฤติการณ์แจกจดหมายเปิดผนึกทั้งยังไม่ได้แสดงพฤติการณ์ว่าจะกีดกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อการชุมนุมจัดบริเวณทำเนียบรัฐบาลที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ การชุมนุมนี้จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าร่วมได้ 
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า การเผาพริกเกลือเป็นการเป็นการสาบแช่งตามศาสนาฮินดูหรือตามความเชื่อของชาวล้านนา จึงไม่ใช่การชุมนุมที่ต้องแจ้งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์อ่านจดหมายแสดงความไม่พอใจต่อพล.อ.ประยุทธ์ และจำเลยก็ไม่มีพยานมาเบิกความยืนยันว่าการเผาพริกเผาเกลือเป็นการกระทำตามความเชื่อจริง มีแต่เพียงการเบิกความกล่าวอ้างลอยๆของจำเลย พยานหลักฐานจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้ชุมนุมแต่ไม่แจ้งการชุมนุม ลงโทษปรับ 2,000 บาท 
 
สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
 
โจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเบิกความเป็นพยานว่า ได้ทำการตรวจสอบและพบว่า จำเลยทั้งสองโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมชุมนุมเเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามวันและเวลาเกิดเหตุ 
 
จากนั้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่เดินทางไปที่ประตู 4 ของทำเนียบรัฐบาลพบประชาชนทั่วไปที่ทราบเรื่องการชุมนุมของจำเลยทั้งสองยืนรออยู่ประมาณห้าคนและผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าว และพบเห็นจำเลยทั้งสองกับพวกที่เป็นนักศึกษาเข้ามาในพื้นที่เกิดเหตุ 
 
เจ้าหน้าที่แจ้งจำเลยทั้งสองว่าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่สาธารณะ และการแจ้งข้อความผ่านเฟซบุ๊กของทั้งสองเป็นการเรียกชุมนุมสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้จัดการชุมนุมซึ่งต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทั้งสองย้ายไปชุมนุมที่สำนักงานกพร.ซึ่งเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของรัฐบาลหรือไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน 
 
ต่อมาจำเลยทั้งสองประกาศยกเลิกการทำกิจกรรมที่ประตู 4 และแจ้งว่าจะไปทำกิจกรรมที่ประตู 3 แทน เจ้าหน้าที่ได้บอกกับจำเลยทั้งสองว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการเรียกให้บุคคลทั่วไปร่วมชุมนุมสาธารณะเช่นกัน จากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกได้นำพริก กระเทียมไปแขวนที่รั้วทำเนียบรัฐบาล ตามที่ปรากฎในวัตถุพยานแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์  
 
เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองและเบิกความสอดคล้องกันกับเหตุการณ์ตามที่ปรากฎในแผ่นซีดี

ทั้งบันทึกคำให้การผู้ต้องหาของจำเลยทั้งสองก็สอดคล้องกับคำเบิกความพยานโจทก์ ว่ามีประชาชนทั่วไปอยู่ในบริเวณดังกล่าวห้าคน และจำเลยทั้งสองได้แจ้งกับกลุ่มบุคคลที่มาว่าจะยกเลิกกิจกรรมที่นัดไว้และได้เดินไปที่ประตู 3 จึงเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามจริง
 
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าไม่มีประชาชนมาร่วมทำกิจกรรม และอุทธรณ์ว่าไม่ได้ประกาศต่อประชาชนที่มาอยู่ที่ประตูสามว่าจะไปทำกิจกรรมที่ประตู 3 แทนและระหว่างเดินไปที่ประตู 3 ก็ไม่มีบุคคลใดมาร่วมเดินขบวนหรือทำกิจกรรม มีเพียงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและผู้สื่อข่าวติดตามมา เห็นว่า

แม้ตามภาพเคลื่อนไหวในแผ่นซีดีที่เป็นหลักฐานจะไม่ปรากฎว่าทั้งสองพูดคุยกับบุคคลอื่น แต่ตามพฤติการณ์ที่มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนบุคคลทั่วไปมาร่วมกิจกรรมและมีประชาชนห้าคนมาสนใจรอทำกิจกรรม จำเลยทั้งสองย่อมคาดหมายได้ว่าประชาชนที่มีจะสนใจการสนทนาระหว่างจำเลยกับเจ้าหน้าที่และได้ยินการเจรจาระหว่างจำเลยทั้งสองกับเจ้าหน้าที่

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีภาพบุคคลใดเดินตามไปทำกิจกรรม มีเพียงจำเลยทั้งสองและผู้สื่อข่าวกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ติดตามไป เห็นว่าภาพในแผ่นซีดีวัตถุพยานอาจไม่ได้บันทึกภาพบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุทั้งหมด พยานหลักฐานที่จำเลยยกมาอ้างในการอุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น 
 
เมื่อมาตรา 10 วรรคหนึ่งของพ.ร.บ.ชุมนุมฯกำหนดให้ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมต่อต่อผู้รับแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และวรรคสองของมาตราเดียวกันกำหนดว่า ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นร่วมการชุมนุมด้วยวิธีการใดๆ เป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุม

การที่จำเลยที่หนึ่งโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนร่วมเดินขบวนเชิญให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งตามวันและเวลาที่กำหนด อันมีลักษณะเป็นการเชิญชวนและนัดให้ผู้อื่นมารวมตัวในพื้นที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลคนอื่นเข้าร่วมได้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่หนึ่งเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุม
 
ส่วนจำเลยที่สองมีการโพสต์ข้อความย้ำถึงวันเวลาและสถานที่ที่จำเลยที่หนึ่งประกาศนัดหมายทำกิจกรรม และได้เบิกความยอมรับว่าได้นัดหมายกับจำเลยที่หนึ่งเพื่อซื้อพริกแห้งและกระเทียมมาใช้ในการทำกิจกรรม และจำเลยที่สองยังมีส่วนร่วมในการพิมพ์จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจำเลยที่สองยังขอให้เพื่อนที่ดูแลบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองโพสต์ข้อความวันเวลาแลแะสถานที่นัดหมายทำกิจกรรม

พฤติการณ์ของจำเลยที่สองจึงบ่งชี้ว่าต้องการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมตามที่จำเลยที่หนึ่งนัดหมาย อันมีผลเสมือนว่าจำเลยที่สองเป็นผู้เชิญชวนผู้อื่นมาร่วมการชุมนุม จำเลยที่สองจึงถือเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมด้วย 
 
การที่จำเลยทั้งสองเปลี่ยนจุดทำกิจกรรมซึ่งอยู่ใกล้เคียงบริเวณที่นัดหมายเดิม และแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และผู้ที่ผ่านไปมาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสองจัดกิจกรรมตามที่นัดหมายผู้อื่นไว้แล้ว เพียงแต่เคลื่อนย้ายไปทำกิจกรรมในสถานที่ใกล้เคียง
 
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่ากิจกรรมของทั้งสองเป็นกิจกรรมที่ผู้อื่นไม่สามารถเข้าร่วมได้เพราะมีการแบ่งหน้าที่เป็นการภายในอย่างชัดเจนแล้ว เห็นว่า

พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะไม่ได้บัญญัติว่า การกระทำที่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ ผู้ชุมนุมทุกคนต้องมีส่วนร่วมทำกิจกรรมด้วยตัวเอง การที่มีประชาชนมาในที่เกิดเหตุตามที่จำเลยทั้งสองเชิญชวนแต่ไม่มีหน้าที่ใดๆในการทำกิจกรรม จึงไม่ใช่ข้อที่บ่งชี้ว่าบุคคลอื่นไม่สามารถร่วมการชุมนุมได้ 
 
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการประกอบพิธีตามความเชื่อทางศาสนาผีของจำเลยที่หนึ่ง และความเชื่อฮินดูกับคตินิยมล้านนาของจำเลยที่สอง เห็นว่า

จำเลยทั้งสองไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความยืนยัน และไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนให้เชื่อถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำตามประเพณีความเชื่อซึ่งไม่ใช่การชุมนุมที่อยู่ในบังคับของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ 
 
พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานหลักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรค 1 
 
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่สองโพสต์ข้อความเรื่องการชุมนุมบนเฟซบุ๊ก ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และศาลจะนำข้อเท็จจริงที่ปรากฎในชั้นพิจารณามาพิพากษาลงโทษจำเลยที่สองไม่ได้ เห็นว่า

การโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กไม่ใช่องค์ประกอบความผิดฐานจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯมาตรา 10 วรรค 1 ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

แต่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่สอง ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่สองมีพฤติการณ์เป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาและมีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีการพิพากษาถึงข้อเท็จจริงที่ไม่ได้บรรยายในฟ้องและโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดชั้นชอบแล้ว พิพากษายืน ให้ปรับเป็นเงินคนละ 2000 บาท  
 
 

ดูแฟ้มคดีอื่นๆ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์: ข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย

คดีชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จ

รุ่งทิวา